ฟังธรรมใน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ๗๗๔. เรื่อง ธรรมะมหัศจรรย์
กราบหลวงพ่อ ช่วงนี้โยมกลับมาปฏิบัติด้วยการพิจารณาเวทนาทางกายอีกครั้ง พิจารณาอย่างไร ก็รู้ได้แค่การเกิดขึ้นและตั้งอยู่ของเวทนาเท่านั้น แต่โยมก็พยายามต่อไป ให้กำลังใจตัวเองว่าอย่างน้อยก็เป็นการฝึกความอดทน โยมจึงพิจารณาซ้ำๆ ทุกครั้งที่นั่งสมาธิ ปกติเวลาโยมนั่งสมาธิจะเปิดฟังธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์ไปด้วย จน ๒-๓ วันที่ผ่านมาโยมเปิดฟังธรรมของหลวงตา ขณะที่เวทนาเริ่มรุนแรงขึ้นจนเกือบจะถอดใจ หลวงตาก็เทศน์ถึงเรื่องการพิจารณาทุกข์และเวทนา โยมจึงตั้งใจฟังและปฏิบัติตาม เมื่อพิจารณาและใคร่ครวญจนเห็นจริงตามนั้น มันก็รู้ได้ถึงใจที่คลาย และเวทนาก็คลายลงตามใจที่คลายนั้นเป็นลำดับ
โยมจึงได้รู้ว่า ที่เราเห็นแต่เวทนาเกิดขึ้นและตั้งอยู่ แต่ไม่ยอมดับนั้น เป็นเพราะเราไม่เห็นจิตที่ยึด เมื่อไม่เห็นจึงไม่รู้ว่ามีความยึดมั่นอยู่ แม้ว่าเราจะบอกกับตัวเองว่าเราไม่ยึดแล้วนะ เราก็เห็นเวทนาเป็นสักแต่ว่า เวทนาแล้วนะ แต่ทำไมยังเจ็บ ยังปวดอยู่ เพราะจริงๆ แล้วเรากำลังยึดโดยที่ไม่รู้ว่ายึด และยึดด้วยความไม่รู้ ถึงแม้ว่าสภาวะครั้งนี้จะแตกต่างจากสภาวะครั้งแรกที่เห็นเวทนาดับสนิทแบบฉับพลัน แต่ครั้งนั้นก็ไม่ได้เห็นจิตที่คลายลงแบบนี้
หลวงพ่อเจ้าคะ โยมเคยได้ยินหลายคนพูดว่าจิตมหัศจรรย์ แต่สำหรับโยมแล้ว ธรรมะต่างหากที่มหัศจรรย์เหลือเกิน
หลวงพ่อ : ธรรมะต่างหากที่มหัศจรรย์เหลือเกิน เห็นไหม คำถามว่า ธรรมะมหัศจรรย์ คำว่ามหัศจรรย์ คำว่ามหัศจรรย์ที่เขาเห็น นี่เวลาเราฟังธรรม ธรรมนี่ของเหนือโลก ธรรมเหนือโลก ธรรมะเหนือโลก เพราะโลกคือโลกียปัญญา แต่ธรรมะคือโลกุตตระ คือพ้นจากโลก แต่พ้นจากโลก เราจะพ้นจากโลกได้อย่างไร?
ดูสินักบินอวกาศ เวลาเขาไปท่องอวกาศ เขาพ้นจากแรงโน้มถ่วง เขาไปในอวกาศเขาจะลอยตัวของเขา เขาจะทำงานอย่างไร? แต่ถ้าเราอยู่บนโลกนี้มีแรงดึงดูด เราโยนสิ่งใดขึ้นไปก็กลับมาตกที่โลกหมดเลย มนุษย์ไม่ต้องกลัวตกจากโลกหรอก แรงดึงดูดมันดูดไว้ นี่เวลาโลกียปัญญา เวลาคิดมันคิดแบบเราอยู่บนโลกนี้ไง กิเลสคืออวิชชา อวิชชาคือแรงดึงดูดไว้
ธรรมะ ศึกษาธรรมะรู้ไปหมดเลย แต่กิเลสมันดึงดูดไว้ มันก็คิดแบบโลกียะ คิดแบบมีความสงสัย คิดดีมากนะ คิดดี ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อีก ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์นี่ อืม มันมีความสงสัย นี่ความสงสัยนั้นเวลามันหดตัวเข้ามานะ เวลาเราปฏิบัติไปแล้วนะเรามีความท้อแท้ อ่อนแอ ไอ้ความสงสัยกลายเป็น ๙๙ เปอร์เซ็นต์ คือมันคลุมหมดเลย ไอ้ที่ว่ารู้ๆ เข้าใจๆ หดจนไม่เหลือสิ่งใดเลย นี่โลกียปัญญาเป็นแบบนั้น
ฉะนั้น เราศึกษาธรรมอย่างนี้ ที่เราฟังธรรมๆ กัน ฟังธรรมกันอย่างนี้ ฉะนั้น การฟังธรรม เห็นไหม นี่หลวงปู่มั่นเวลาสมเด็จนะ สมเด็จมหาวีรวงศ์ มาถาม ท่านอยู่กับพระไตรปิฎก เห็นไหม มาถามว่า หลวงปู่มั่น เวลาอยู่ในป่า ในเขาท่านไปฟังเทศน์มาจากใคร? ไอ้เราอยู่กับตำรับ ตำรา อยู่กับกองพระไตรปิฎก อยู่กับตำรับ ตำราเรายังสงสัยเลย
หลวงปู่มั่นท่านบอกเลย เกล้ากระผมฟังเทศน์ทุกเวลา เกล้ากระผมมีธรรมะเทศน์ให้ฟังตลอดเวลา เห็นไหม
นี่ฟังธรรมๆ ไง เวลาธรรมมันเกิด ธรรมจากภายนอกหรือธรรมจากภายใน? ธรรมจากภายนอกก็ศึกษา ศึกษาธรรมจากภายนอกก็เหมือนนักกฎหมาย นักกฎหมายเวลามันศึกษา เห็นไหม ดูสิมันเรียนกฎหมาย มันก็รู้กฎหมาย มันท่องได้หมดเลย มันรู้หมดเลยกฎหมาย เราก็ไปศึกษากันก็เหมือนนักเรียน ท่องเอา ศึกษาเอา แต่ความจริงมันรู้อะไร?
นี่เวลารู้กฎหมายมาแล้วนะ อาจารย์มหาวิทยาลัยเขาบอกเลยว่าเวลาไปว่าความเขาอาจจะแพ้ลูกศิษย์เขาก็ได้ เขาไปว่าความนะ เวลาเขาสอน เขาสอนนักกฎหมาย เห็นไหม จบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก แต่เวลาไปว่าความกันบนศาล เออ อาจารย์กับลูกศิษย์ได้เสียเลย อาจารย์แพ้ก็ได้ ในแง่มุมของการว่าความ เพราะประสบการณ์ของเขาลูกศิษย์จะเก่งกว่าก็ได้
อันนี้พูดถึงการศึกษา การฟังธรรมจากภายนอก เห็นไหม นี่ว่าธรรมะมหัศจรรย์ เขาบอกว่าจิตมหัศจรรย์ โดยทั่วไปเขาว่าจิตมหัศจรรย์ จิตนี้มหัศจรรย์มาก เวลาดีนะดีสุดยอด สุดยอดคนเลย เวลามันร้ายนะมันร้ายสุดยอดเลย มันคิดอะไรก็ได้ที่ลึกลับซับซ้อน ที่คนคิดได้ไม่ถึงมันเลยนะจิตเนี่ย จิตนี้มันเป็นไปได้หลากหลาย เป็นไปได้ทุกอย่าง คนทำดี ทำชั่วใครเป็นคนพาทำ จิตทั้งนั้น แล้วเวลาคนภาวนาขึ้นไปนะ ดูสิหลวงปู่มั่นทำไมสอนเทวดาได้ เทวดา อินทร์ พรหมเขาเป็นใคร?
นี่เราดูว่าสิ่งที่เป็นเทวดา อินทร์ พรหมจะมาฟังเทศน์ๆ มาฟังเทศน์มนุษย์ แล้วมนุษย์เอาอะไรไปเทศน์ให้เขาฟัง มนุษย์เอาสิ่งที่ไปเทศน์ให้เขาฟัง เพราะมนุษย์ได้ปฏิบัติไง จิตมันได้ปฏิบัติ จิตมันได้พัฒนาขึ้นมา จิตมันเป็นธรรมขึ้นมาแล้วนะ พอเป็นธรรมขึ้นมาแล้ว ก็เอาประสบการณ์ เอาความรู้สึก เอาประสบการณ์ของจิตนี่แหละเอาเทศน์ให้เขาฟัง อยากฟังเรื่องอะไรล่ะ? อริยสัจมุมไหนล่ะบอกมาสิ เพราะถ้าจิตมันเป็นไปแล้ว นี่มันเป็นไปแล้ว
นี่ไงเวลาจิตมหัศจรรย์ เพราะดีดีจนคาดไม่ถึง ดีจนคาดไม่ได้ เวลามันร้ายนะมันร้ายจนคาดไม่ถึง จิตดวงเดียวนั้น แล้วเวลาจิตดวงเดียวนั้น เวลาเกิดในวัฏฏะ เห็นไหม ดูสิเกิดในวัฏฏะ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดในนรกอเวจี จิตดวงเดียวนี่แหละที่มันออกไปแล้วมันไปเกิด นี่มันไปเกิด ไปเกิดเพราะอะไร? ไปเกิดเพราะกรรม กรรมดี กรรมชั่ว
มันมีนะ มีในพระไตรปิฎกไง นี่เศรษฐี มหาเศรษฐีเลย เวลาลูกป่วยขี้เหนียว เวลาขี้เหนียวนะจะรักษาลูกไง รักลูกนะมีลูกชายคนเดียว รักลูกมากเลย แต่ถ้าเอาลูกไว้ในบ้าน แล้วไปตามหมอมา หมอมาเห็นสมบัติเดี๋ยวหมอจะเรียกค่ารักษาแพง เอาลูกไปทิ้งไว้หน้าบ้าน แล้วจะไปเรียกหมอมารักษา ทีนี้พระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต พระพุทธเจ้าอนาคตังสญาณ เล็งญาณแล้วเห็นว่าลูกของเขามีจริตนิสัย พระพุทธเจ้าเลยบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านไป
แค่ผ่านหน้าบ้านไปนะ เพราะนอนอยู่หน้าบ้านไง พอนอนอยู่หน้าบ้าน พระพุทธเจ้าไปถึงก็เปล่งฉัพพรรณรังสีแสงออกจากกายพระพุทธเจ้าไป ไอ้นี่เขานอนอยู่หันหน้าเข้าบ้าน เอ๊ะ นี่มันแสงอะไร? หันหน้าออกไปดู โอ๋ย พระพุทธเจ้า โอ๋ย มันปลื้มมากนะ ปลื้มมากเลยแล้วตาย แค่นี้ไปเกิดเป็นเทวดา พอไปเกิดเป็นเทวดา พอตายไปเกิดเป็นเทวดา ทีนี้พ่อรักลูกมาก โอ๋ย รักลูกมากเอาลูกไปฝังไว้ไง ไปร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกนะ โอ๋ย รักลูกมาก คร่ำครวญมาก
ไอ้ลูกที่ไปเกิดเป็นเทวดามันเห็นพ่อ เอ๊ะ นี่เราไม่ได้ทำอะไรเลย พระพุทธเจ้าเดินผ่านมาเฉยๆ เปล่งแสงฉัพพรรณรังสี เห็นแสงนั้น ด้วยความปลื้มใจไปเกิดเป็นเทวดา แล้วถ้าพ่อเราสมบัติมหาศาลเยอะแยะไปหมดเลย ถ้าพ่อเราทำคุณงามความดี ทำบุญกับพระพุทธเจ้าพ่อเราจะได้ไปถึงขนาดไหน นี่ก็จะมาโปรดพ่อ อยากจะมาช่วยพ่อไง พ่อก็มาร้องไห้ที่หลุมฝังศพลูกทุกวัน มาคร่ำครวญๆ อ้าว มีลูกคนเดียวลูกตายไปแล้ว มาคร่ำครวญถึงลูก รักมากๆ แต่ขี้เหนียวนะไม่กล้ารักษา
ทีนี้วันนั้นเทวดาแปลงเป็นเทพบุตร แล้วมานั่งคร่ำครวญที่หลุมฝังศพนี้ก่อน มาถึงก็นั่งคร่ำครวญร้องไห้โฮๆ เลยนะ ไอ้พ่อก็มาจะมาร้องไห้ที่เก่า เอ๊ะ วันนี้ใครมาร้องไห้ก่อน เออ ใครมาร้องไห้ก่อน ก็ไปถามว่า
เอ็งเป็นใคร? เอ็งมาร้องไห้ที่หลุมฝังศพลูกเราทำไม? เอ็งมาร้องไห้ทำไม? โอ้โฮ มาร้องไห้คร่ำครวญเลย เอ็งร้องไห้ทำไม? เอ็งร้องไห้เรื่องอะไร?
โอ๋ย ร้องไห้จะเอาดาว เอาเดือน
ทีนี้พ่อเขามีสติใช่ไหม บอกว่า เอ็งจะบ้าหรือ? จะไปเอาดาว เอาเดือนมันจะไปเอาได้อย่างไร?
นี่เขาจะแก้พ่อเขาไง สวนกลับเลย แล้วเอ็งจะบ้าหรือ? มาร้องไห้คนตายไปแล้วให้มันฟื้นได้อย่างไร?
โอ๋ย ได้สติเลยนะ ได้สติเลย นี่ลูกจะมาแก้ไขพ่อ พออย่างนั้นก็เทศน์สอนไง สอนให้พ่อรู้จักเสียสละ รู้จักต่างๆ นี่บอกว่าเวลาคนตายแล้ว เห็นไหม ตายแล้วไปไหน? ไปอย่างไร? เวลาจิตออกจากร่างแล้วไปไหน? มันไปตามบุญ ตามกรรม แต่บุญเรื่องอะไร? บุญเรื่องอะไร? เวลาบุญนี้เราทำไว้ แล้วเราทำของเรา เราภาวนาของเรา เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา
โธ่ ถ้าภาวนานะ เรื่องตายนะ สิ่งที่ว่านี่สบายมาก เพราะถ้ามึงไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ ไม่เข้าใจเรื่องเกิด เรื่องตาย เอ็งจะสิ้นกิเลสได้อย่างไร? คนที่กลัวกันอยู่นี่กลัวเรื่องอะไร? ก็กลัวเรื่องเกิด เรื่องตายนี่แหละ คนตาย ทุกคนบอก โอ๋ย ไม่กลัวตายๆ บอกพรุ่งนี้มึงตายสิ โอ๋ย วันนี้อยู่ไม่ได้แล้ว บอกพรุ่งนี้เอ็งต้องตาย เราลองตั้งกติกาสิว่าอีก ๗ วันกูต้องตาย ๗ วันนี้จะทำอะไรบ้าง? ในอีก ๗ วันนี้ นี้เราบอกว่า อู๋ย เราจะตายอีก ๕๐๐ ปี โอ้โฮ ยังทำกันสะดวกสบาย ลองบอกพรุ่งนี้ตายสิเอ็งจะทำอะไรบ้าง?
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาจิตมันออกมันอยู่ที่เวร ที่กรรม ถ้าเวรกรรมอันนั้นมันออกจากร่างไป มันไปแล้วไปไหนล่ะ? นี่มนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ก็มี มนุษย์เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็มี มนุษย์ เห็นไหม ดูสิพระในสมัยพุทธกาล ที่ว่าตัดเย็บจีวร ด้วยความผูกพันกับจีวรนั้น ทั้งที่เป็นพระนะ พระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เวลาตายไปเกิดเป็นเล็นอยู่ในจีวรนั้น อยู่ในจีวรนั้นเลย เพราะความผูกพัน นี่ความผูกพันแค่นี้มันก็ไปติดแล้ว พอติดมันก็ไปเกิดอยู่ในผ้าจีวรนั้น
ทีนี้โดยหลัก โดยธรรมวินัย ถ้าใครอุปัฏฐากพระ พอพระองค์นั้นตาย บริขาร ๘ จะเป็นของพระองค์นั้น แต่ถ้าพระองค์นั้นไม่มีใครอุปัฏฐาก บริขาร ๘ นั้น คือจีวร บริขาร ๘ จีวร บาตรจะตกเป็นของสงฆ์ แล้วสงฆ์จะแบ่งกัน ฉะนั้น พระองค์นี้ตายปั๊บ โดยหลักเขาจะแบ่งผ้านี้กัน คือว่าพระองค์ไหนผ้าเก่าชราคร่ำคร่า องค์ไหนของชำรุดก็จะได้สิทธินี่ถ่ายบริขาร พระพุทธเจ้ามาเลยนะ บอกว่าอย่าเพิ่งแจกนะ ให้เก็บไว้อย่างนี้อย่าแตะต้องเลยให้ครบ ๗ วัน เพราะเล็นมีอายุ ๗ วัน
ทีนี้พอไม่แตะ ๗ วัน เล็นมันอยู่ที่บนผ้าจีวรมันก็มีความสุข ของกู ของกู นี่มีความสุขมาก พอหมดอายุขัย หมดอายุขัยจากเล็นนั้น เพราะเขามีความสุขไง เขาพอใจ ด้วยความพอใจเขาไปเกิดเป็นเทวดา เพราะหมดอายุขัยเขาแล้วนี่ไปเกิดเป็นเทวดา พอเกิดเป็นเทวดาพระพุทธเจ้าบอกว่าแจกได้ เล็นตัวนี้ไปเกิดเป็นเทวดาแล้ว แต่ถ้าแจกก่อนที่พระพุทธเจ้าบอกนะ พอแจกปั๊บเล็นอยู่ในผ้าเราไม่เห็น พวกเราตาเนื้อเราไม่เห็น พอแจกให้พระ พระเอาไปพระก็เอาไปใช้ เล็นที่อยู่ในผ้านั้นมันก็อาฆาตมาแย่งผ้ามัน ถ้าไปแย่งผ้ามัน ด้วยจิตอกุศลจิตจะไปไหน?
นี่ไงจิตมหัศจรรย์มันมหัศจรรย์อย่างนี้ ถ้าพูดถึงว่าตายไปด้วยความสุข ความปล่อยวาง ไม่มีใครมาแย่งผ้าของเรา ผ้าของเราอยู่กับเรา จนตายไปกับผ้านั้น เพราะเล็น ๗ วันก็ตาย แต่ผ้ายังอยู่ พอตายไปแล้ว จิตวิญญาณนั้นไปเกิดได้ประโยชน์ ผ้านั้นพระเอามาแจกกันทีหลังก็ได้ประโยชน์ นี้พระพุทธเจ้าฉลาดมาก นี่ไงกรณีแค่จิตมันติดมันเป็นไป นี่จิตมันติดนะ จิตมันติด แต่เวลาเวรกรรม ดูสิเราทำบุญ เห็นไหม ใครทำบุญ แล้วฝังใจว่าสิ่งใดเป็นบุญมันจะอยู่กับใจเรา
ถ้าใครภาวนาแล้วจิตมีความสงบ จิตใครสงบ พอจิตสงบแล้ว เวลามันใกล้ตายขึ้นมา ถ้ามันคิดถึงเรื่องดีๆ แต่ถ้าจิตของคนเคยทำความสงบไว้ แต่เวลาใกล้ตายคิดแต่เรื่องทรัพย์สมบัติ มันก็ไปเกิดเป็นนั่นน่ะ เกิดเป็นตุ๊กแก เกิดเป็นจิ้งจก เกิดอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเสียสละได้ ดูสิปัจจุบันคนที่ฉลาดใช่ไหม? พอแก่เฒ่านะให้หมดเลย ให้ลูกไปหมดเลย สบาย ให้หมดแล้ว ไม่มีอะไรในหัวใจเลย ปลดหมดเลย นี่มันก็สะดวกสบาย ไอ้นี่มันอยู่ที่ว่าผู้ฉลาดและไม่ฉลาด สมบัติโลกนะ สมบัติโลกกับสมบัติธรรม
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจิตมหัศจรรย์นี้มหัศจรรย์จริงๆ จิตก็มหัศจรรย์ ถ้าปฏิบัติไป รู้ไปมันมหัศจรรย์มาก เพราะ เพราะแค่คนที่อยากปฏิบัติกับไม่อยากปฏิบัติ คนที่ไปวัดกับคนที่ไม่ไปวัดแตกต่างกันแล้ว ทำไมเขาถึงไม่ไปวัด? แล้วคนที่ไปวัดแล้วเขาบอกว่าไอ้คนนี้ทำไมต้องไปวัด? ไปวัดทำไม? ทำไมไม่อยู่บ้าน? ทำไมถึงไปวัด? นี่ความรู้สึกนึกคิดมันแตกต่าง แค่ความรู้สึกนึกคิด เวลาพระเทศน์นี่นะ เวลาพระเทศน์เผยแผ่ธรรม เพื่อให้คนที่มันเร่าร้อน นี่เวลาพระพุทธเจ้าเผยแผ่ศาสนา พระยสะ แล้วก็ปัญจวัคคีย์
เธอทั้งหลายกับเราด้วยเป็น ๖๑ องค์ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธอจงไปอย่าซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้ต้องการธรรม
โลกนี้เร่าร้อนนัก คือหัวใจมันเดือดร้อนนักต้องการที่พึ่ง นี่อย่าซ้อนทางกัน เธอจงแยกทางกันไป เห็นไหม ไปเทศนาว่าการ ถ้าใครเร่าร้อนนัก ใครมีที่พึ่ง ใครมีศรัทธาความเชื่อ นี่เขาก็สละทางโลกมา พอมาบวชขึ้นมา เห็นไหม
เธอจงภิกษุมาเถิด เอหิภิกขุ เธอจงภิกษุมาเถิดเพื่อปฏิบัติให้พ้นทุกข์
ถ้าใครฟังเทศน์แล้วเป็นพระอรหันต์เลย เธอจงภิกษุมาเถิด ไม่ต้องปฏิบัติแล้วเพราะเธอเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์นะ เธอจงภิกษุมาเถิดเพื่อปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ นี่เวลาเทศนาว่าการก็คนมีศรัทธา มีความเชื่อ มีความตั้งมั่น มีอะไรนี่ จิตใจมันพัฒนาขึ้นไป มันเสียสละจากโลกแล้วมาเป็นธรรม พอเป็นธรรมแล้ว ถ้าปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์มันก็จบเลย พอจบแล้วนะเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทรแล้ว พอจบแล้วนะ จบเพราะอะไร?
ถ้าไม่มีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค จะไม่มีโสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล ถ้าไม่มีเหตุจะไม่มีผล ถ้ามีเหตุ เหตุอย่างไร? สร้างเหตุอย่างไรมันถึงเป็นผล ผลโสดาบันเป็นอย่างไร? สกิทาคามีเป็นอย่างไร? นี่ถ้าพ้นจากทุกข์แล้วมันเผยแผ่ไป ระดับจิตใจของมนุษย์ มนุษย์จิตใจสูงส่งก็มี มนุษย์แต่ละคนมันแตกต่างกัน มนุษย์แค่ศรัทธาก็มี มนุษย์บางคนเขาประพฤติปฏิบัติ แล้วมนุษย์ที่ปฏิบัติแล้วเขามีขั้นตอนของเขา เขาติดขั้นตอนไหนเขาจะถามปัญหาของเขา เราก็บอกเขา
เหมือนกับหมอนี่แหละ คนนี้เจ็บไข้ได้ป่วยธรรมดา เป็นหวัด เป็นไอ คนนี้เป็นโรคที่หนักขึ้นมาก็รักษาตามอาการ อาการของใครมันติดหนัก มันก็แก้ไขมา มันก็จบมา อันนี้นี่จิตมหัศจรรย์ แต่ที่แก้ไขอะไรแก้ไข ธรรมไง เขาบอกว่าจิตมหัศจรรย์เขาไม่เชื่อ เขาบอกว่าธรรมะมหัศจรรย์กว่า เพราะทำแล้วมันได้ผล ได้ผลว่าภาวนาพุทโธ พุทโธมันได้ผลเพราะอะไรล่ะ? เขาบอกว่าสิ่งที่เขาเคยเป็น เวทนามันเคยดับ แต่ดับแล้วไม่เหมือนคราวนี้ คราวนี้เวลาเวทนาเพราะเห็นจิตไปยึด
คำว่าเห็นจิตไปยึด การพิจารณาเวทนานะ เวทนานี่เป็นนามธรรม สิ่งหนึ่ง เหตุการณ์หนึ่ง คนๆ หนึ่งเห็นแล้วมีความทุกข์โศกมาก คนๆ หนึ่งเห็นแล้วมีอาการปกติ คนๆ หนึ่งเห็นมีอาการธรรมดา บอกว่าโศกแต่ไม่หนักหนาสาหัสสากรรจ์ แล้วแต่จิตใจของคนมันหยาบ ละเอียดแตกต่างกัน ถ้าหยาบ ละเอียดแตกต่างกัน นี่พูดถึงเวทนามันเป็นนามธรรม
ทีนี้เวทนาเป็นนามธรรม คนหนึ่งว่าโศกมากก็ยึดมาก คนหนึ่งปานกลางก็ยึดปานกลาง อีกคนหนึ่งเห็นเป็นเรื่องปกตินะ เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา อันนี้เป็นเรื่องของจริตนิสัย แต่ถ้าเวลาเราพิจารณาเวทนาไป สิ่งที่เวทนาเป็นนามธรรม ถ้าจิตมันสงบแล้วนะมันพิจารณาเวทนาใช่ไหม? เวลานั่งมันเจ็บ มันปวด เราทุกข์ใจ น้อยใจ
นี่สิ่งที่เขาบอกว่าเห็นเวทนามันดับ แล้วมันปล่อยคลายออกเพราะเห็นจิตไปยึด ถ้าเห็นจิตไปยึดนะ เพราะถ้ามันปล่อย จิตไปยึด แล้วเวลาจิตมันโง่มันก็ยึด ยึดแล้วมันก็เกิดนามธรรม เกิดความรู้สึกนึกคิด ถ้าจิตมันฉลาดจิตมันก็ปล่อย ถ้าจิตปล่อยจิตมันก็เป็นอิสระ เป็นอิสระมันก็ต้องพิจารณาซ้ำเข้าไปๆ ถ้าซ้ำเข้าไปมันก็จะเกิดขึ้น
การซ้ำเข้าไป นี่เวลาคนภาวนาเป็นมันจะเห็นผลไง นี่ถึงว่าธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ถ้าไปจำมา จำมานี้มันก็เป็นลิขสิทธิ์ ลิขสิทธิ์ของผู้ภาวนาเป็น ภาวนาไม่เป็นก็ไปจำขี้ปากมา พอจำขี้ปากมาก็พูดเหมือนเลย แต่พอพูดครั้งที่ ๒ นะมันชักคลาดเคลื่อนแล้ว อย่าซักนะ ยิ่งซักยิ่งงงใหญ่เลย แต่ถ้าคนเป็นนะ คนที่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโกที่เขารู้ เขาเห็นของเขา ถ้ามันเห็นจิต จิตมันไปยึดอย่างไร? จิตมันยึดอย่างไร? จิตมันโง่มันยึดอย่างไร? แล้วถ้ามันพิจารณาของมัน มันรู้จริงของมันมันปล่อยอย่างไร? ถ้ามันปล่อยขึ้นมามันจะรู้ของมัน
นี่การรู้อย่างนี้ เห็นไหม ที่เขาบอกว่า ธรรมะมันมหัศจรรย์กว่าจิต มหัศจรรย์กว่าสิ ธรรมะมันเหนือกว่า แต่จิตนี้มันมหัศจรรย์ มหัศจรรย์เพราะมันเป็นนามธรรม เพราะจิตนี้มันข้ามภพ ข้ามชาติ นี่พระเวสสันดรเกิดเป็นพระพุทธเจ้า เวลาพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้วจิตของพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? จิตพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? แต่พระเวสสันดรกับพระพุทธเจ้า จิตดวงเดียวกันแล้วมันมาอย่างไร?
นี่ไงจิตมหัศจรรย์อย่างนั้น แต่ถ้ายังไม่บรรลุธรรม ยังไม่สิ้นกิเลสนะจิตมันก็เวียนตายเวียนเกิด จิตมหัศจรรย์มันไปได้หมด มันเกิดได้ในวัฏฏะ มันไปได้หมด แต่เพราะธรรมะนี่ไง ธรรมะทำให้จิตนี้มันคลาย คลายถึงความไม่รู้ คลายถึงสิ่งที่ว่าลุ่มหลงให้จิตนี้ไปเกิด ถ้าธรรมะมันเหนือกว่าจิต ถ้าไม่เหนือกว่าจิตมันจะแก้จิตอย่างนี้ได้อย่างไร?
นี่การฟังธรรมจากข้างนอกคือการฟังธรรมจากเสียง นี่ฟังจากข้างนอก ฟังจากธรรมชาติ ฟังจากสิ่งที่กระทบ แต่การฟังธรรมจากภายใน การฟังธรรมจากภายใน เวลาจิตมันสงบแล้วมันเห็นเวทนาอย่างไร? นี่การฟังธรรม ธรรมะนี่มรรคญาณมันเป็นสัจธรรม มรรคมันเกิด แล้วมันพิจารณาของมัน การฟังธรรมจากภายในละเอียดกว่า แล้วการฟังธรรมจากภายในมันปล่อยวางได้ด้วย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าธรรมะมหัศจรรย์ มหัศจรรย์มาก นี่ขนาดว่าเริ่มต้นปฏิบัติยังว่ามหัศจรรย์นะ แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปแล้วมันโอ้โฮ มันจะเห็นที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านพูด เห็นไหม หลวงตาท่านบอก เวลาท่านภาวนาตลอดรุ่ง บอกว่าหลานเวทนามันมาก่อน ๒-๓ ชั่วโมงหลานเวทนามันมาแล้ว แล้วพิจารณาไปมันปล่อยนะ พอมันนั่งไปอีก ๓-๔ ชั่วโมงนะพ่อเวทนามันมาแล้ว ทีแรกหลานมาก่อนนะ แล้วก็ลูกเวทนามันมา นี่พอลูกเวทนามันมาพิจารณาไปมันก็ปล่อย พอปล่อยไปแล้วนะ พอ ๖-๗ ชั่วโมงพ่อเวทนามันมา แล้วท่านนั่งตลอดรุ่ง ๑๐ กว่าชั่วโมง ท่านบอกเวลาปู่เวทนามันมา เห็นไหม ปู่เวทนามันมา นี่มันมีหยาบ มีละเอียดไง
ถ้ามันพิจารณาของมัน หลานเวทนามันมาแล้ว ลูกเวทนามันมาแล้ว พ่อเวทนามันมาแล้ว พอพิจารณาเวทนาซ้ำไปๆ พอซ้ำไปพอเราพิจารณาไปแล้วมันปล่อย กิเลสมันรู้ใช่ไหมว่าถ้ามันปล่อย หรือถ้ามันขาดไป สังโยชน์มันขาด จิตดวงนี้จะพ้นจากอำนาจของมาร ฉะนั้น อำนาจของมาร ดูสิมาร เหล่าเสนามาร พวกลูกเวทนา หลานเวทนาคือเหล่าเสนาของมัน คือลูกหลานของมัน มันเอาแค่สิ่งที่ว่าเป็นลูกเป็นหลานมาหลอกเรา เราก็ล้มลุกคลุกคลานแล้ว เรายังไม่เจอพ่อมัน ยังไม่ไปเจอปู่มัน แล้วเวลาไปเจอพ่อมัน พ่อมันจะใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกเราขนาดไหน? เวลาใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกเรา เราจะมีสติ มีปัญญาขนาดไหนที่จะต่อสู้กับมัน
นี่เขาว่าไปวัดๆ เขาบอกไปวัดก็ไปทำบุญๆ ไปวัดไปทำบุญ ทำบุญเสร็จแล้วก็ได้ฟังธรรม ฟังธรรมนี่ก็เป็นบุญ ฟังธรรมคือฟังสิ่งที่ว่าอารมณ์ความรู้สึกของเราทำไมมันเร่าร้อน ทำไมมันทุกข์ แล้วถ้ามันพิจารณาด้วยปัญญา มันปล่อยนี่มันเย็น อ้าว มันเย็นแล้วมันปล่อยอย่างไร? แต่เวลามันปล่อยกว่าจะเย็นนี่ อู๋ย นั่งกันขนาดไหนมันจะพัฒนาของมัน ไปวัดมันก็ไปเพื่อวัดใจ เพื่อพิสูจน์หัวใจ เพื่อพิสูจน์ความเร่าร้อน เพื่อพิสูจน์ว่ามันร้อนจริงไหม? ถ้ามันสงบมันสงบได้ไหม? นี่มันพัฒนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป มันจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ทำมันทำเพื่อหัวใจไง ฉะนั้น ถ้าเขาฟังธรรมจากภายนอกก็อย่างหนึ่งนะ ถ้าฟังธรรมจากภายใน ฟังธรรมจากภายในมันจะเป็นประโยชน์กับเรา แต่บางคนมันไม่มีธรรมจะฟังทำอย่างไร? มันไม่มีธรรมจะฟัง ปฏิบัติไปแล้วไม่เคยเจออะไรเลย ทำไมธรรมะไม่ได้ยินเลย ไม่มีวี่แววว่าธรรมะจะมาเยี่ยมเยียนเลย เห็นไหม ถ้าธรรมะไม่เยี่ยมเยียนเลย เรารักษาใจเราแล้วพิสูจน์กัน พิสูจน์ถึงใจของเราว่ามันเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นไปได้นะ มันเป็นไปได้มันสงบได้ เราคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราก็จะคิดว่าเราไม่มีอำนาจวาสนา เราเป็นคนทุกข์ คนเข็ญใจ
ในการปฏิบัตินะเป็นคนทุกข์เข็ญใจในการปฏิบัติ บางคนนั่งปฏิบัติแค่วูบวาบก็ไปแล้ว ไอ้ที่ว่าวูบวาบไปแล้วนะ ขิปปาภิญญาเป็นเรื่องจริงนะ แต่ถ้าเรื่องไม่จริงนะ มันสำคัญที่ว่าอาจารย์ ผู้นำ ถ้าอาจารย์เป็นความจริง อาจารย์เข้มแข็ง อาจารย์นะหรือผู้นำเป็นผู้นำมีหลัก เพราะคำว่ามีหลัก การทำงานอย่างเช่นเราทำผักสวนครัว กว่าที่มันจะออกเป็นผักสวนครัวมาให้เรากิน เราก็ต้องลงทุนลงแรง ต้องเป็นความจริงนะ แต่ถ้าขนาดผักสวนครัวเรายังจะต้องดูแลน้ำ ดูแลพืชพันธุ์ ดูแลทุกอย่างเพื่อให้มันเป็นผักให้เราได้กิน เรายังต้องดูแลขนาดนั้น แล้วการปฏิบัติ ผักสวนครัวนี่ปากกิน สติ สมาธินี่ใจกิน ถ้าใจกินมันต้องละเอียดรอบคอบกว่านั้นไง
ถ้าละเอียดรอบคอบกว่านั้น ถ้าผู้นำที่ดี ถ้าเคยทำมาแล้วจะคอยแนะนำ แล้วแนะนำนะ คนทำไม่เป็นมันก็ไม่เป็น พอเป็นขึ้นมา เห็นไหม โอ๋ย เวลาผักสวนครัวมันแตกหน่อออกมา มันเจริญงอกงาม โอ๋ย มันชื่นใจนะ ใครทำผักสวนครัวแล้วมันเติบโตมาต่อหน้าเรา มันโตมากับมือเราจะพอใจมากนะ ในการปฏิบัติ ถ้าเราทำความจริงมันจะเติบโตขึ้นมากลางหัวใจของเรา ครูบาอาจารย์ที่ดีท่านจะบอกสิ่งที่ถูกต้องกับเรา แต่ถ้ามันเป็นผู้นำที่ไม่มีประสบการณ์ ผู้นำที่ไม่จริง นี่มันเป็นกระแส พอเป็นกระแสปั๊บเราจะย้อนกลับมาตรงที่แบบว่าเวลาทุกข์ทนเข็ญใจ ภาวนาไม่ได้ ทำไมคนนู้นภาวนาได้ ภาวนาดี คนนั้นก็ดีไปหมดเลย
คำว่าดีไปหมดเลย ผู้นำ ผู้นำเห็นชอบแล้วหรือว่ามันถูกต้อง ถ้าผู้นำไม่เห็นว่าถูกต้อง เห็นไหม นี่เราทำผักสวนครัว กว่ามันจะเติบโตขึ้นมาเราต้องรู้ต้องเห็นมันเป็นผัก มันเอามาทำอาหารได้ แต่เขาบอกเขาทำของเขาบอกว่ามันเป็นผักๆ แล้วอยู่ไหนล่ะ? คนเราถ้ามันนึกเอามันเป็นนามธรรม มันไม่มีผัก มันไม่มีพืชผักสวนครัวมาให้เราทำอาหาร คนที่ภาวนาว่าง่ายๆ ง่ายๆ มีเหตุผลอะไรบอกมา
นี่เราจะพูดถึงคนที่เวลาทุกข์ทนเข็ญใจไง เวลาปฏิบัติไม่ได้ไง เวลาคนนู้นปฏิบัติง่าย คนนี้ปฏิบัติง่าย ง่ายแล้วความจริงมันอยู่ไหน? สติมันคืออะไร? สติก็ ส.เสือ ต.เต่า สระอิไง มันไม่บอกสติคือความระลึกรู้ มันไม่บอกอย่างนั้น แล้วสมาธิเป็นอย่างไร? สมาธิคือว่างๆ ไง อ้าว ว่างๆ มันก็เป็นสาธารณะ แล้วจิตดวงนี้มันไม่มีเจ้าของหรือ? จิตดวงนี้ไม่รู้ตัวเองว่างหรือ? เราจะบอกว่าถ้ามันทุกข์ทนเข็ญใจนะเราก็รักษาของเรา ถ้าทุกข์ทนเข็ญใจ เพราะทุกข์ทนเข็ญใจนี่แหละถึงเป็นเหยื่อ พอใครมาเสนออะไรที่สะดวกสบายไง
นี่ไม่ต้องทำอะไรเลยนะ มันจะมาอย่างนั้น มันจะมาอย่างนั้นนะ พืชผักสวนครัวนะนึกปั๊บมาเลย จินตนาการผักอะไรก็ได้ จะแกงอะไร จะทำอะไรเต็มไปหมดเลย ถ้าอย่างนั้น เพราะเราทุกข์ทนเข็ญใจเราก็อยากจะปฏิบัติได้ แล้วพอมีคนมาเสนอแนวทางแบบนี้ ถ้าผู้นำที่ไม่มีเหตุมีผล เราก็จะออกนอกลู่นอกทางไป แต่ถ้าเราจะมีหลักมีเกณฑ์ของเรา จะทุกข์ทนเข็ญใจขนาดไหน เป็นผักสวนครัวก็ต้องผักสวนครัวรั้วกินได้ ผักสวนครัวรั้วกินได้ ของเราต้องกินได้ จะหักกระถิน จะหักผักบุ้ง ผักอะไรมาจิ้มน้ำพริก ทำได้ทั้งนั้นแหละ ถ้าเราทำจริงของเรานะ
เราจะพูดว่าเวลาเราปฏิบัติแล้วมันทุกข์ มันยากเราอย่าเชื่อใครง่ายๆ เราอย่าให้คนชักนำไปจนสิ่งที่เป็นอากาศธาตุ จับต้องสิ่งใดไม่ได้เลยนี่ไม่ใช่ สติก็จับต้องได้ เพราะจิตมันไม่จับต้อง สติมันจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นสติ จิตมันไม่เป็นสมาธิ มันไม่จับต้องสมาธิ มันรู้ได้อย่างไรใครเป็นสมาธิ สมาธิในตำรา เห็นไหม นี่สาธารณะ สมาธิของเราก็คือของเรา จิตมันรู้ จิตมันมีความรู้สึกว่านี่ แหม มีความสุข แหม อื้อฮือ อย่างนี้เอง อย่างนี้เอง ฉะนั้น บอกมาสิ บอกไม่ถูก เออนั่นล่ะ ถ้าบอกความว่างเป็นอย่างนั้นนะมันกำลังจะสร้างนิยาย ถ้ามันกำลังจะสร้างนิยายนะมันก็จินตนาการไปเลย ไอ้อย่างนั้นเป็นอากาศธาตุ
ฉะนั้น ถ้ามันทุกข์ มันยากให้เข้มแข็งไว้ ถ้าปฏิบัติจะเป็นอย่างนี้ ธรรมะมันมหัศจรรย์ก็ต้องมหัศจรรย์ มหัศจรรย์จริงๆ ทีนี้คำว่ามหัศจรรย์ พอมหัศจรรย์ปั๊บคนก็จินตนาการเลยนะ เรื่องมหัศจรรย์ไม่ใช่เรื่องจิตอีกแล้ว มันเป็นเรื่องจิตมหัศจรรย์ เรื่องธรรมะที่จิตมหัศจรรย์ แล้วมันจะเกิดขึ้นอย่างไรให้มันเกิดขึ้น แล้วปฏิบัติไป นี่เขาพูดถึงว่า จิตมหัศจรรย์ นะ เขาถามมาโดยที่ไม่ได้ถามเป็นคำถามเนาะ
นี้ว่าจิตมหัศจรรย์ ฟังธรรมสำคัญมาก หลวงปู่มั่นก็ฟังมาแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านก็ฟัง ฟังธรรมจากภายในยิ่งสำคัญใหญ่
ข้อ ๗๗๕. นะ
ถาม : ๗๗๕. เรื่อง อุบายประกอบความเพียร
กราบเท้าพระอาจารย์ ผมจับเวทนาแล้วมันวิ่งพิจารณากายสลายลงไป แล้วมันย้อนกลับดับทุกข์ที่จิตลงสู่ว่าง แล้วเร็วขึ้นจนไม่ทันปรากฏกายส่วนใดเลย พอแย็บเท่านั้นดับเลยๆ ใจสะเทือนมากมาย สุดท้ายจิตเด่น สติปัญญาหมุนรอบจิต มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ามา ปัญญาจะทำความเข้าใจแล้วปล่อยๆ จนจิตถอนขึ้นมา ขออุบายพิจารณาประกอบความเพียรครับ
หลวงพ่อ : ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริงนี่นะ ถ้ามันเป็นตามจริง ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจับเวทนาได้ เวทนานี่มันจับได้ง่ายนะ เวทนามันจับได้ง่ายหมายความว่าถ้าคนเวลาภาวนาทุกคนจะบอกว่า นี่จะวิปัสสนาอย่างไร? จะวิปัสสนาอย่างไร? ถ้าวิปัสสนานะนั่ง ถ้าจิตสงบแล้วนั่ง เวทนานี่มันเกิดแน่นอน เวทนากาย เวทนาจิต บางทีเวทนากายยังไม่เกิด เวทนาจิตมันเกิดก่อน มันหงุดหงิด มันไม่พอใจ นั่นล่ะเวทนาจิต
เวทนาจิตคือมันไม่ต้องอะไรกระทบเลย มันพอใจตัวมันเอง เวทนาจิตไม่ต้องอาศัยสิ่งใด แต่ถ้าเวทนากาย เห็นไหม เวทนากายเวลาที่มันเกิดจากกาย นี่พอเรานั่งไป นานๆ เข้ามันจะเกิดความเจ็บปวดเป็นธรรมดา แต่แปลกนะ พอบอกเราจะจับเวทนา เวทนากลับไม่มี นั่งครึ่งวันก็ไม่เจ็บนะ เวลาจิตมันรู้ทัน นั่งครึ่งวัน ค่อนวันเวทนาไม่มี เพราะอะไร? เพราะกำลังจะสู้กับเวทนา แต่ถ้าไม่ต้องการเวทนานะเวทนามันมาแล้ว
ฉะนั้น จิตนี่ร้ายนัก ดูสิบางทีที่เขาบอกว่าฉันไม่โกรธเลย ฉันไม่โกรธเลย คนนี้เป็นคนดีนะไม่เคยโกรธใครเลย นี่พยายามจะกดไว้ ข้างในใจนะอย่างกับไฟ แต่มรรยาทนะฉันไม่โกรธ ฉันไม่โกรธ เพราะกลัวเขาจะเห็นว่าเราโกรธ แต่ถ้าเป็นความจริงนะมันต้องล้างให้จิตนี้สะอาด ฉะนั้น ถ้าจับเวทนาได้นะ แล้วมันวิ่งไปพิจารณากายแล้วสลายลง ถ้ามันสลายลงนะ พอมันสลายลงเพราะจิตมันเป็นสมาธิ พอพิจารณาแล้วมันจะสลายลง นี่กลายเป็นสถานะเดิมของมัน
ถ้ามันกลายเป็นอากาศ เป็นต่างๆ เป็นเน่า เป็นเปื่อย ผุ พองต่างๆ นั้นคือสมาธิดี ถ้าสมาธิดี พิจารณาไปนะ พิจารณาไป ตั้งสติแล้วให้ทำไป มันจะรู้เลย นี่ถ้าเราพิจารณาแล้วมันปล่อยหมด มันปล่อยหมดใช่ไหมแล้วทำอย่างไรต่อไป? พอปล่อยแล้ว มันปล่อยไปแล้วกิเลสมันยังไม่ขาด นี่มันปล่อยไปแล้วกิเลสมันยังมีอยู่ ถ้ากิเลสมีอยู่ เหมือนการซักผ้า เราซักผ้าแล้ว เราซักผ้ายังไม่สะอาดเราต้องซักผ้าซ้ำ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณากายแล้วมันปล่อยแล้วนะ ตั้งจิตขึ้นมาแล้วพิจารณากาย พิจารณาซ้ำอีก พิจารณากายแล้วมันเบื่อ มันไม่ยอมพิจารณากาย มันบอกมันไม่ยอมพิจารณา ไม่ยอมพิจารณากายใช่ไหม? ถ้ามันเบื่อเราก็ใช้อุบายสิ อุบายให้พิจารณา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แล้วย้อนกลับมาพิจารณากายอีก นี่ถ้ามันยังไม่สมุจเฉทปหาน มันไม่มีสิ่งใดบอกเหตุว่ากิเลสมันขาด ถ้าไม่มีสิ่งใดบอกเหตุ ถ้าเราพิจารณามาถึงขนาดนี้ แล้วเราละล้าละลังนะเดี๋ยวจิตเสื่อม
จิตเสื่อม เสื่อมจากอะไร? เสื่อมจากการใช้ปัญญา เสื่อมจากสมาธิ พอเสื่อมจากสมาธิแล้วนี่ มีดหรือเครื่องยนต์เขามีอายุการใช้งาน เครื่องยนต์พอหมดอายุการใช้งานเครื่องยนต์นั้นจะเสียหาย จิต จิตมันเป็นสมาธิขึ้นมาแล้วมันพิจารณาของมัน มันมีอายุการใช้งานเร็วกว่าวัตถุด้วย เพราะถ้าไม่รักษาจิตจะเสื่อมทันที นี่พอมันพิจารณาไปแล้ว แล้วจะทำอย่างไรต่อ? ทำอย่างไรต่อ? นี่ไงความลังเลสงสัย วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส มันสงสัยไปหมดเลย พิจารณากายแล้วก็พิจารณากายแล้ว พิจารณาทุกอย่างก็พิจารณาแล้ว ทำอะไรไม่ได้เลย นี่มันสงสัย สงสัยแล้วละล้าละลัง จับต้องสิ่งใดก็จับต้องด้วยการจับพลัดจับผลู ไม่มีหลักมีเกณฑ์สิ่งใดเลย
ฉะนั้น ไม่ต้องไปสงสัย เพราะถามตัวเองว่ายังมีกิเลสไหม? มี ถ้ามีกิเลสแล้วสู้เลย ไม่ต้องสงสัยสิ่งใด แล้วตั้งเป้าพิจารณาซ้ำ ซ้ำเข้าไป ซ้ำอย่างที่เคยทำมาแล้ว ถ้าอย่างที่เคยทำมาแล้วบอกว่าหลวงพ่อ มันไม่ทำ มันเบื่อ มันเบื่อ เบื่อเป็นอะไร? เบื่อเป็นกิเลส เบื่อเป็นการหักเหให้จิตนี้ออกสู่โลก เพราะว่ามันเบื่อสิ พอมันเบื่อมันก็ต้องหาทางไง หาทางว่ามันจะพลิกกลับอย่างไร? อ้าว ถ้าเบื่อแล้ว เบื่อการเกิดและการตายไหม? มันเบื่อความทุกข์ยากไหม? มันเบื่อแต่มันก็ทุกข์ การเกิด การตายก็เบื่อแต่มันก็เกิด
ฉะนั้น มันเบื่อมันก็ต้องพลิกไง ต้องพลิกแล้วหาโอกาสเข้าไปพิจารณาซ้ำๆๆ ถ้ามันทำได้นะ ถ้าสมาธิดีพิจารณากายแล้วมันจะสลายลง สลายลงนี่นะ สลายลงแล้วก็ทำซ้ำอีก การสลายมันอยู่ที่กำลังของจิต อยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกไง นี่อารมณ์อย่างนี้มันพิจารณาแล้วมันปล่อยอย่างนี้ มันกระเทือนอารมณ์อย่างนี้ พออารมณ์มันดื้อด้าน พอมันดื้อด้าน มันพิจารณาไปมันก็จะกลายเป็นพุพองขึ้นมาเป็นอะไร เพราะถ้ากิเลสมันหยาบนะ
กิเลสมันหยาบ สิ่งที่เห็นมันต้องหยาบ หยาบให้เสมออันนั้นจิตมันถึงได้ปล่อย ถ้ากิเลสมันละเอียดนะมันอ้อยสร้อย มันอ้อยสร้อย มันหลอกกินอยู่อย่างนั้นนะ พิจารณาไปแล้วมันก็จะอ้อยสร้อย จิตมันก็จะสว่างเป็นแสง เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งให้มันอ้อยสร้อย นี่สวะนะมันอยู่บนน้ำ ถ้าน้ำสูงสวะลอยอยู่บนน้ำ ถ้าน้ำมันลงนะสวะมันก็ลงตาม กิเลสของคนมันมีขึ้น มีลง มันไม่แน่นอนหรอก พอมันไม่แน่นอน มันไม่มีขึ้นมีลง เราไปบอกว่า โอ๋ย จิตเราดีมากเลย เราจะพิจารณา คือว่าเกิดมาชาตินี้ไม่กินข้าวจะกินแต่ของหวานไง จิตเราดีแล้ว ข้าวไม่ต้องกิน ไม่ใช่ จิตมันต้องกินอาหาร เสร็จแล้วก็กินของหวาน
นี่ก็เหมือนกัน มันจะดีขนาดไหนเราพิจารณาซ้ำไปเรื่อยๆ ดูแลจิตของเรามันเป็นไปได้ นี่ถ้าพิจารณากาย ถ้ามันสลายลงไปแล้ว สลายลงไปแล้วก็พิจารณาซ้ำ
ถาม : เมื่อมันย้อนกลับมาสู่จิตที่มันลงสู่ว่าง เร็วขึ้นจนไม่ปรากฏกายส่วนใดเลย
หลวงพ่อ : ไม่ปรากฏกาย มันปรากฏนะ ถ้าไม่ปรากฏกายสิ่งใดเลย ถ้ารำพึงไปที่กายนะ มันไม่ปรากฏกายที่หยาบนะ มันก็จะปรากฏกายที่ละเอียด มันไม่ปรากฏกายสิ่งใดเลย แต่มีจิตอยู่ใช่ไหม? มีกิเลสอยู่ใช่ไหม? นี่แล้วสติปัฏฐาน ๔ มันอยู่ที่ไหน? สติปัฏฐาน ๔ มันก็ดึงจิตออกมาเพื่อพิจารณาไง ฉะนั้น พอมันแย็บไปเท่าไหร่มันก็ดับไง มันดับนี่กิเลสบังเงาไง คนไม่ภาวนาจะไม่รู้จักว่ากิเลสบังเงานะ นี่ทำงานเก่ง ทำงานดีมันก็เลยเก่งเลยหน้าไปเลย กิเลสมันไม่ตกข้างซ้ายมันก็ตกข้างขวา ไม่พิจารณาเลยมันก็ไม่ทำงาน พอทำเสร็จแล้วมันบอกว่าทำเสร็จแล้ว ทำเสร็จแล้วทำไมงานไม่เสร็จล่ะ? เออ (หัวเราะ) งานเสร็จแล้ว
นี่กิเลสมันบังเงา ปฏิบัติไปๆ ไม่ต้องปฏิบัติเลย นั่งเฉยๆ กิเลสมันจัดพิธีปฏิบัติให้เลยนะ นั่งสมาธินะ พอจิตเป็นสมาธิแล้วพิจารณานะ พิจารณาเสร็จแล้วจบเลิก กิเลสมันจัดให้เลยนะ มันจัดวงรอบการปฏิบัติให้เลย โอ้ กิเลสนี่ถ้าปฏิบัติไม่ได้มันก็ถ่วงทำลายเรา พอปฏิบัติได้นะมันก็จัดธรรมะสำเร็จรูปมาให้เลย แล้วพอสำเร็จรูปเสร็จแล้วมันก็บอกนี่จบแล้ว นี่เป็นโสดาบันแล้ว แล้วก็เชื่อนะ นี่มันจัดมาให้เรียบร้อยไง แล้วพอเราเชื่อปั๊บนะ พอมันเห็นว่าเราผ่อนคลายนะ เดี๋ยวมันเสื่อมหมดนะ โอ้โฮ โดนกิเลสหลอกอีกรอบหนึ่งแล้ว
คนปฏิบัติจะรู้ว่ากิเลสมันหลอกหลายรอบมาก กว่าเราจะทำลายมันได้นะ ถ้าปฏิบัติไม่ได้ก็หลอกแบบปฏิบัติไม่ได้ ถ้าปฏิบัติได้มันก็หลอกแบบปฏิบัติได้ มันหลอกไปทุกอย่างเลย เห็นไหม เวลาเราปฏิบัติไปแล้ว เวลาฆ่ากิเลสนะข้ามทั้งดีและชั่ว ดีก็ข้ามไง ปฏิบัติได้คือดี ดีก็ติด ปฏิบัติไม่ได้ ชั่ว ชั่วก็ติด แล้วถ้าไม่ทำอะไรเลยนะ อุเบกขา อุเบกขาก็ติด นี่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าพิจารณาของมันไป นี่เขาถามว่า ขออุบาย เขาขออุบายไงว่าแล้วจะทำอย่างไรต่อไป? นี่มันทำทุกอย่างหมดแล้ว
เวลาคนเขียนปัญหามา เขาจะตอบหมดเลยว่าที่หลวงพ่อพูดทำมาทุกอย่างหมดแล้ว คือเขาจะไม่ให้มีทางออกเลยล่ะ มีปัญหาเขียนถามมาเยอะมาก เพราะเขาฟังในเว็บไซต์เขาฟังมาหมดแล้ว แต่มันไม่ตรงกับปัญหาของตัวเอง ถ้าตรงกับปัญหาของตัวเอง ถ้าปัญหาตัวเองเป็นแบบนี้ พอแย็บมามันก็รู้เท่ามันก็ดับหมด มันสะเทือนใจมาก นี่ถ้ารอบจิตแล้วมันจะเข้ามานะ สุดท้ายแล้วปัญญามันจะหมุนรอบมัน แล้วสิ่งหนึ่งเข้ามาปัญญาต่างๆ ก็เข้าใจแล้วปล่อย เข้าใจแล้วปล่อย ถ้าพอมันปล่อยถึงที่สุดแล้วนะไม่ให้ปล่อย เพราะว่าเวลาพิจารณาขันธ์ ๕ นะ เวลาพิจารณาขันธ์ ๕ มันปล่อยหมดแล้วมันก็ยังไม่จบ ไม่จบก็พิจารณารูป ในรูปก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕
ในสัญญานะ อย่างสัญญาความจำได้ ความจำได้มันต้องมีอารมณ์เหมือนกัน มันต้องมีความรู้สึก มันต้องมีวิญญาณ มันต้องมีขันธ์ ๕ เหมือนกัน ในสังขารนะ สังขารอย่างหยาบ สังขารมันก็มีสิ่งละเอียดของมัน สังขารคิด คิดมันก็ต้องมีสัญญา สัญญาอันละเอียดถึงคิดได้ มันปรุงไง ขยายมันอีกไง นี่พอมันปล่อยแล้ว ในสิ่งที่มันปล่อยแล้ว เอาสิ่งที่เฉยๆ อยู่ สิ่งที่ไม่รับรู้มาขยายความได้ ในเวทนานอก เวทนาใน เวทนาในเวทนา พิจารณาซ้ำมันไปๆ อยู่อย่างนี้ นี่ทำอยู่อย่างนี้ เพราะการปฏิบัติมันอยู่ที่การทดสอบจิตเรา
นี่อุบายในการประกอบความเพียรนะ ปฏิบัติไม่ได้มันก็หลอกแบบปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติได้มันก็หลอกแบบปฏิบัติได้ พอปฏิบัติดีมันก็หลอกปฏิบัติว่าสิ้นกิเลสแล้ว แต่ความจริงไม่มีอะไรเลย ถ้ามีมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจนะ มันจะรู้เองเวลาสังโยชน์ขาด พระพุทธเจ้าพูดในพระไตรปิฎก เราพูดให้มันชัดเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าบอกว่า ดั่งแขนขาด
แขนนี่เอามีดตัดขาด เวลาคนเขาอุบัติเหตุ เห็นไหม เวลาแขนขาด เขาว่ามันชาๆ ไง มันขาดไปมันชาหมดเลยไม่รู้ พอยกขึ้นมา อ้าว แขนไม่มี อันนี้มันเป็นอุบัติเหตุ แต่เวลาพิจารณาของเรา พอสติปัญญาเราพร้อม ของมันอยู่ซึ่งหน้า เวลากิเลสมันสมุจเฉทปหานมันขาดนี่ดั่งแขนขาด ดั่งกิเลสขาดซึ่งๆ หน้า ฉะนั้น ถ้ายังไม่มีสิ่งที่ว่าดั่งแขนขาด สิ่งทุกอย่างมันสรุปได้ อย่างที่ว่ามันปล่อยๆ ปล่อยนี่คือตทังคปหานมันปล่อยชั่วคราว
ขอให้มีความมุมานะ ให้มีความทำจริง แล้วเราจะประสบความจริงของเรา ให้ทำจริงๆ นี่ถ้ามันจริงของมันแล้วดั่งแขนขาด เอวัง