ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ชัวร์หรือมั่ว

๕ ก.พ. ๒๕๕๕

 

ชัวร์หรือมั่ว
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๗๗๖. เนาะ

ถาม : ๗๗๖. เรื่อง “เริ่มวิปัสสนา”

หลวงพ่อ : ว่าจะไม่อ่านนะ มันต้องอ่านหมด

ถาม : หนูเริ่มเข้าไปเรียนวิปัสสนามาตั้งแต่วันที่ ๑๑ มกราคมที่ผ่านมา ไปเรียน ๑๐ วัน ขอเรียนอธิบายสิ่งที่ได้กระทำก่อนโดยรวมค่ะ ช่วงวันที่ ๑ ถึงวันที่ ๔ ช่วงทำสมาธิโดยอานาปานสติก็สามารถทำได้ตามขั้นตอน สามารถมีสมาธิขึ้นมาจากเดิมพอสมควร ช่วงวันที่ ๕ ถึงวันที่ ๑๐ เป็นช่วงที่ขึ้นทำวิปัสสนา โดยให้ดูความรู้สึกของกายตั้งแต่หัว คือที่กลางกระหม่อมจนถึงปลายเท้า

วันแรกรู้สึกที่กลางกระหม่อมจนถึงหน้าและบริเวณแขนซ้ายและขวา วันต่อไปรู้สึกลงมาเรื่อยๆ จนขึ้นวันที่ ๓ ของการวิปัสสนารู้สึกทั่วทั้งตัว แล้วเริ่มรู้สึกร้อนมากบริเวณหน้า ไล่ลงมาร้อนถึงท่อนบนเหมือนถูกไฟเผา ร้อนมากๆ เป็นชั่วโมงๆ ติดต่อกันทุกครั้งที่นั่ง จนวันที่ ๔ เริ่มรู้สึกร้อนน้อยลง แต่รู้สึกร้อนท่อนล่างด้วย คือร้อนทั้งตัว แต่ไม่นานก็ดีขึ้น แต่ที่ยังร้อนอุ่นตลอดคือที่ใบหน้าและส่วนหัว แต่พอทั่วตัวแค่รู้สึกอุ่น ดูต่อไปถ้าไล่มารู้สึกตัวที่บริเวณหน้าอกจะรู้สึกตัวหัวควงหมุนจากน้อยๆ ไปสู่วงใหญ่ขึ้น แต่ก็ปล่อยให้ควงไปพักใหญ่ รู้สึกว่าส่วนหลังหายปวดเมื่อย เหมือนก้อนที่เคยกดอยู่ได้หายไป พอไปพักแล้วกลับมาทำต่อรู้สึกควงอีก ปล่อยให้ควงพักหนึ่งแล้วก็ต้องกดไว้ไม่ให้ควงเพราะพี่เลี้ยงมาบอก

หลังจากนั้นก็ดูกายเรื่อยมา (ตั้งแต่เริ่มดูกาย รู้สึกว่าก้อนที่ร้อนคือเหมือนมีอะไรตุบๆ อยู่เหมือนชีพจรเต้น) ทุกครั้งที่รู้สึกหลังจากหายร้อน หรือเนื้อเต้นน้อยลง ส่วนนั้นรู้สึกสบายหายเมื่อย ไมเกรนหายสนิทเหมือนได้เกิดใหม่เลยค่ะ พอทำไปจนวันสุดท้ายมีความรู้สึกว่าท่อนบนว่างเปล่า ไม่รู้สึกอะไรเลยไปพักใหญ่ แล้วกลับมารู้สึกเหมือนเนื้อเต้นเบาๆ ตุบๆ เหมือนเดิมจนจบ กลับบ้านมาทำที่บ้านได้ ๒ วันแล้ว นั่งตอนค่ำ ๑ ชั่วโมง แล้วนั่งตอนเช้าตี ๔ ครึ่งอีกประมาณ ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวว่าความรู้สึกเบาลงเรื่อยๆ

ขณะทำงานหรือเวลาที่ไม่ได้นั่งก็รู้สึกตัวบ้างตรงนั้น ตรงนี้ ยิ่งที่ตรงหน้าผากถ้าเครียดจะรู้สึกตุบๆ อย่างแรง ร้อนด้วย แล้วพักใหญ่ก็หาย แล้วจะตุบๆ ทุกครั้งที่ใช้ความคิด น่าจะเป็นตอนที่มีกิเลส

คำถาม

๑. คือหนูจะทำอย่างไรต่อไปดีคะ นั่งเช้า-เย็นให้รู้สึกไปเรื่อยๆ หรือต้องทำอะไรอีกหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าสมาธิไม่นิ่งเลยค่ะ เพราะตอนที่ดูกายอยู่นั้นใจจะวอกแวกไปมา รู้สึกสมาธิไม่ดี

๒. ทำไมทุกครั้งที่รู้ตัวแล้วร่างกายจะหายเมื่อย จนบางครั้งตรงไหนเมื่อยหนูจะพยายามรู้สึกตรงนั้นแล้วมันหายเมื่อยหรือคลายตัวขึ้น

๓. หนูคิดว่าหนูนั่งสมาธิก่อนดีไหมคะ

๔. หนูจะไปเรียนสติปัฏฐาน ๔ ยังไม่รู้คืออะไร แต่มันมีสอน ว่าจะไปเรียน จะเข้ากันไหมคะ กราบนมัสการอย่างสูง

หลวงพ่อ : เราจะเริ่มต้น เห็นไหม เริ่มต้นเรียนวิปัสสนา ผู้ที่เขียนมา ส่วนใหญ่แล้วเราเข้าใจว่าเคยมาปฏิบัติที่นี่ไง แล้วเวลาปฏิบัติแล้วก็ไปเรียนวิปัสสนานี่แหละ เรียนวิปัสสนา กำหนดอานาปานสติ กำหนดต่างๆ ขึ้นมา แล้วมันก็รู้ขึ้นมา เราจะพูดอย่างนี้นะ เราจะพูดว่าการประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ เพราะในวงการพระเขาพูดว่าต่อไปพระสอนปฏิบัติมันจะไม่มี คนที่สอนปฏิบัติจะเป็นฆราวาส เป็นพวกโยมสอนปฏิบัติกัน

ทีนี้การสอนปฏิบัติ เห็นไหม ที่ว่าไปเรียนวิปัสสนา ไปเรียนต่างๆ เราจะบอกว่า “มันชัวร์หรือมันมั่ว?” ถ้ามันมั่วนะ มันมั่วหมายถึงว่าพื้นฐาน ดูสิเราปฏิบัติกัน โดยพื้นฐานของเรา เราไม่มีสิ่งใดเป็นหลักเลย แล้วพอเราไปฟังเรื่องการปฏิบัติเราก็จะเชื่อเขาว่าสิ่งนั้นปฏิบัติๆ นี่กำหนดสิ่งใดก็เป็นปฏิบัติ อย่างนี้เข้าทรงเจ้า เข้าผีทรงเจ้าก็ปฏิบัติหรือ? นี่การเข้าทรงเจ้าเขาทำกันอย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปอะไรเป็นวิปัสสนา เวลากำหนดไปเขาบอก ใช่ อานาปานสติ กำหนดลมใครก็รู้ว่ากำหนดลม นี่เวลาลมโดยพื้นฐานมันมี โดยพื้นฐานคนมันมีอยู่แล้วใช่ไหม? แล้วว่ากำหนดลม อานาปานสติก็คือทำถูกต้อง เวลาอานาปานสติเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำหนดลมหายใจเข้าและออก ทีนี้ลมหายใจเข้า-ออก เวลาทำไปแล้ว กำหนดลมหายใจนี่เราจะบอกว่าวัว ควายมันก็กำหนดลม วัว ควายมันก็มีลมหายใจ สัตว์มันก็มีลมหายใจ แล้วถ้าสัตว์มีลมหายใจ มันมีลมหายใจไว้ทำไมล่ะ? มันมีลมหายใจไว้ดำรงชีวิตของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นมนุษย์ เราพบพุทธศาสนาด้วย แล้วถ้าอานาปานสติเรามีสติพร้อมกับลมไหม? แล้วลม เวลาปฏิบัติไปแล้วลมมันเป็นอย่างไร? ลมมันหยาบ ลมมันละเอียด ตัวเรามีหลักมีเกณฑ์ขนาดไหน? ถ้ามีหลักมีเกณฑ์นะ นี่เราบอกว่าถ้ามันไม่มั่ว ถ้ามันชัวร์ของมันนะ มันชัวร์ของมัน เวลาคนทุกข์ร้อนมา เวลาถ้าจิตมันกำหนดลมแล้วมันสงบของมันมันจะร่มเย็นของมัน มันจะรู้ตัวของมัน ถ้ามันชัวร์ ถ้ามันชัวร์นะมันปฏิบัติไป

คำว่าชัวร์นี่นะหมายถึงเราบอกว่าผู้นำ ถ้าผู้นำที่ดีนะ เวลาปฏิบัติไป ผู้นำจะรู้ก่อน นี่โดยพื้นฐานเลยเรานั่งอยู่นี่ทั้งหมด เวลาเราปฏิบัติขึ้นไปถ้าจิตมันสงบมันจะเป็นอย่างไร? ถ้าจิตมันไม่สงบนะเราก็ใช้ปัญญากันนี่ไง ถ้าปัญญาที่เราคิดกันอยู่นี่มันจะเกิดอาการแบบนี้ เกิดอาการ พอใช้ปัญญาไปมันรู้ตัวทั่วพร้อม มันจะสุข เราจะบอกนะ ถ้าจิตสงบ เวลาเกิดปัญญานี่ปัญญาเกิดจากจิต ถ้ามันส่งออก ถ้ามันส่งออกมันส่งออกมารู้อารมณ์ พอรู้อารมณ์นะ อารมณ์นี่คืออะไร? คือนามธรรมใช่ไหม? แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวร่างกายเรา นี้คืออะไร? นี่คือร่างกาย แล้วจิตใจมันรู้การเคลื่อนไหว เราจะบอกว่ามันส่งออกมา ๓ ชั้น ๔ ชั้น แล้วมันจะเข้าไปสู่ฐานของจิตได้อย่างไร?

นี่ถ้ามันเข้าไปสู่ฐานของจิต นี่ถ้าอานาปานสติมันจะหดเข้ามาถึงตัวของจิต ถ้ามันชัวร์นะ แต่ถ้ามันมั่ว นี่ถ้ามันมั่ว แล้วตอนนี้มันมั่วกันไปหมด เพราะอะไร? เพราะหัวหน้ามันมั่ว นี่เขาว่าพี่เลี้ยงมาบอก พี่เลี้ยงรู้อะไร? นี่เวลาเราปฏิบัติกันไป เห็นไหม เวลาปฏิบัติไปเราจะต้องส่งอารมณ์ๆ อย่างเช่นเราทำอาหาร ใช่ เวลาใครไปฝึกทำอาหาร เวลาทำอาหารเสร็จแล้วเราต้องให้ผู้สอนได้ติ ได้ชมว่าอาหารเราทำแล้วมันถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

นี่พูดถึงอาหารนะ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา อารมณ์ความรู้สึกของเราใครจะชิม? ใครจะชิมให้มันถูกต้อง ปัจจัตตังเราต้องรู้ของเราเอง ถ้าเรารู้ของเราเอง นี่ส่งอารมณ์เอาอะไรมาส่ง คำว่าส่งอารมณ์ ต้องตรวจสอบอารมณ์ การปฏิบัติของเรานะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราเข้าป่าเหมือนหน่อแรด ไปองค์เดียว ไปอยู่ในป่าองค์เดียว แล้วนี่มันจะส่งอารมณ์กับใคร? ใครจะเป็นคนตรวจสอบอารมณ์ แล้วอารมณ์ใครจะตรวจสอบถ้ามันจริงขึ้นมา

ถ้ามันส่งอารมณ์ อยู่กับอารมณ์ มันส่งออกไง มันเป็นสัญญาอารมณ์ ถ้ามันเป็นสัญญาอารมณ์นะ นี่โดยพื้นฐาน โดยทั่วไป เราจะบอกว่าการปฏิบัติ ถ้ามันปฏิบัติเป็นวัฒนธรรม เราดูทิเบตนะ ทิเบตเวลาเขามาทุกคนจะชมนะเวลาเขามาอินเดีย เขาจะมีมรรยาทสังคม เขามาเป็นหมื่นเป็นแสนนะ เขาจะเรียบร้อยมาก เขาจะเดินเป็นแถว แล้วเขาจะมีมนตราของเขาหมุนตลอด ดูคนจีนสิ คนจีนไปไหนนะจะมีเม็ดประคำตลอด นี่มันส่งออกหมดนะ เพราะมันเป็นเรื่องของร่างกายใช่ไหม? ถ้าจะปฏิบัติประเพณีวัฒนธรรม อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ปฏิบัติเป็นประเพณีวัฒนธรรม แต่ถ้าจะปฏิบัติเพื่อจะได้มรรค ได้ผลมันจะเข้าข้างใน มันจะทวนกระแส มันทวนกระแสเราจะนั่งหลับตา นี่นั่งอยู่คนเดียวอยู่โคนต้นไม้ แต่ความคิดในใจมันจะปั่นป่วนมาก ความรู้สึกนึกคิดภายในมันจะปั่นป่วนเต็มที่เลย เราจะควบคุมความคิดภายในที่ปั่นป่วน เราไม่ส่งออกมาข้างนอก มากำหนดอยู่ข้างนอก ทีนี้เวลาเดินจงกรมล่ะ? เดินจงกรมเราเคลื่อนไหวเพื่อให้ความสงบเราเคลื่อนไหวหรือเปล่า? เราก็เคลื่อนไหว

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นวัฒนธรรม ปฏิบัติเป็นวัฒนธรรม นี่ทุกคนจะบอกว่าปฏิบัติแล้วสบาย เรานี่นะเวลาทุกข์ยากมาก เรามีความเห็นผิด คิดผิดมีความทุกข์ยากมาก แค่เราจัดระบบความคิดเราให้ถูกต้องเท่านั้นแหละมีความสุขแล้วแหละ ระบบความคิด ถ้ามันเรียงถูกต้องนะ อืม ว่างหมดเลย สบายหมดเลย แล้วมันคืออะไรล่ะ? ก็แค่ความคิด มิจฉาทิฏฐิ คิดผิดกับคิดถูกเท่านั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ เวลาเรียงระบบความคิด นี่ทำแล้วมันดี มันสบาย เวลามาพุทโธมันเครียดเกือบตาย ทำอะไรไม่ได้เรื่องเลย แต่ถ้าไปจัดความคิดให้เรียบร้อยแล้ว โอ๋ย ดีไปหมดเลย วัฒนธรรมนะ เราฝึกหัดเพื่อเป็นวัฒนธรรมประเพณีเท่านั้น ฉะนั้น วัฒนธรรมมันชัวร์ไหมล่ะ? แต่ถ้ามันมั่วนะ มันมั่วหมายความว่าไงรู้ไหม? สิ่งที่เห็นจริงไหม? จริง แต่ความเห็นนั้นจริงไหม? ไม่จริง สิ่งที่เห็นนี่จริง

นี่ไงเวลามันมั่วไง มันมั่วเพราะจิตพอมันเริ่มว่าสงบขึ้นมาเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เห็นไหม นี่เวลาความสงบมันก็มีหยาบ มีละเอียด มีชั้นของมัน แล้วชั้นนี่ใครต้องมาแบ่ง? ไอ้เวลาแบ่งไม่ต้องแบ่ง เวลาแบ่ง จิตของเราเวลามันสงบตัวลง มันสงบเข้ามามันจะละเอียดเข้าไป เวลามันคลายตัวออกมา จากละเอียดมันก็มาปานกลางแล้วก็มาหยาบ

แล้วเวลาเราบอกว่าเป็นแค่นี้ๆ ไอ้นั่นมันเป็นมาตรวัดไง เขาเอาไว้วัด ชั่ง ตวงสิ่งที่เป็นวัตถุ เขาไม่ได้วัด ชั่ง ตวงสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมเขาจะบอกว่าอารมณ์เป็นอย่างนี้ อารมณ์เป็นอย่างนี้ อาจารย์ฟังเรารู้หมด อาจารย์ฟังแล้วรู้ว่าจิตมันเป็นระดับไหน?

จิตนี่ทำความสงบบ่อยๆ จนเป็นสมาธิไง ทำความสงบบ่อยๆ จนจิตตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่นแล้วนะ ออกจากสมาธิมามันก็ยังเข้มแข็ง ยังตั้งมั่นอยู่ ยังพิจารณาอะไรก็ได้ ถ้าจิตมันตั้งมั่นนะ ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น นี่ได้อย่างนั้นเอามาตรมาวัดนะ วัดก็ไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติถ้ามันชัวร์มันเป็นแบบนั้น แต่ถ้ามันปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติการรู้ตัวทั่วพร้อมมันเป็นวัฒนธรรม เราจะไม่บอกว่ามันใช้ไม่ได้ โดยการปฏิบัติคนเขาก็ปฏิบัติมาจากคนที่ไม่รู้ ไม่เป็นกันทั้งนั้นแหละ คนที่ไม่รู้ ไม่เป็นมันจะปฏิบัติให้รู้ ให้เป็น

ฉะนั้น คนที่ไม่รู้ ไม่เป็น ทำสิ่งใด คนไม่เป็นจับอะไรก็ผิดไปหมด คนเป็นจับอะไรก็ถูกไปหมด ทีนี้คนที่ยังไม่เป็นจับเริ่มต้นมันก็เป็นอย่างนั้น มันจับอะไรมันก็ผิดไปหมด แต่ผิดแล้วพยายามทำให้มันละเอียดเข้ามา ให้มันถูกต้องเข้ามา ถ้ามันถูกต้องเข้ามามันก็จะเป็นความจริงของมัน แต่ถ้ายังมั่วกันอยู่อย่างนั้นนะ มั่วเพราะอะไรล่ะ? มั่วเพราะกิเลสมันแหยง เวลาทำจริงก็กลัว แต่ก็อยากจะพ้นทุกข์ ที่ไหนมีปฏิบัติก็อยากไปปฏิบัติกับเขา ปฏิบัติก็ปฏิบัติเป็นพิธี เป็นพิธีก็มาคุยกันว่าสบายๆ

ทำไมมันไม่สบายล่ะ? ถ้ามันอยู่กับกิเลส กิเลสมันขี่หัวมันก็ทุกข์ใช่ไหม? พอปฏิบัติไปหน่อยว่าฉันเป็นชาวพุทธ ฉันได้ปฏิบัติแล้วไง ว่างๆ สบายๆ นั่นล่ะกิเลสมันวางยาสลบ มันจะรออยู่ไว้ในอำนาจของมันไง แต่ถ้าจะเอาชัวร์มันต้องจริงจัง ถ้ามันจริงจังขึ้นมา เห็นไหม นี่มันจะเข้ามาที่คำถามข้อนี้ นี่คำถามที่ ๓

ถาม : หนูต้องกลับมานั่งสมาธิก่อนดีไหมคะ?

หลวงพ่อ : ก็มันดีอยู่แล้ว กลับมาทำสมาธิทำไมอีกล่ะ? ก็มันดีอยู่แล้วก็ไปสิ ไปมั่วกัน ไปมั่วให้มันเละ พอมันเละขึ้นมาแล้วมันก็จบไง ปฏิบัติดีไง นี่ปฏิบัติดี

คำถามที่ ๑. ยังไม่ได้เข้าคำถามเลยนะ เพราะอะไร? เพราะสังคมเป็นกันแบบนี้ ทุกคนมักง่าย อยากจะเอาของที่สะดวกสบาย อาหารโบราณของเรานะเราเก็บตามริมรั้ว ตำน้ำพริกแล้วจิ้มกินกับข้าว เห็นไหม ร่างกายแข็งแรงมาก เพราะอาหารมันเป็นอาหารธรรมชาติ เดี๋ยวนี้อาหารขยะ จอดรถแล้วก็หยิบเอาได้เลย อาหารที่สะดวก อาหารที่สบายที่เขามาเคนให้ถึงปากเลย กินเข้าไปแล้วก็เป็นโรคอ้วน กินเข้าไปแล้วร่างกายก็มีแต่โรคภัยไข้เจ็บ แต่อาหารตามริมรั้ว พวกผัก ยอดผัก ไอ้ที่เราตำน้ำพริก เราเก็บยอดผักมากินกันน่ะ อันนั้นมันจะให้ประโยชน์กับร่างกาย

การปฏิบัติมันก็ต้องลงทุนลงแรงสิ จะเอาอาหารขยะใช่ไหม? ส่งถึงบ้านๆ แล้วคนมันก็ชอบ มันก็มักง่าย พอมักง่ายขึ้นมา เห็นไหม ศาสนาพุทธเป็นศาสนามักง่ายหรือ? ทีนี้เพียงแต่ว่าศักยภาพถ้ามันปฏิบัติแล้วไม่ได้ผลก็มองข้ามกันไป พอครูบาอาจารย์เราปฏิบัติขึ้นมาจนได้มรรค ได้ผล มายืนยันว่ามันมีความเป็นจริงขึ้นมาก็อยากได้ อยากได้แบบขยะ อยากได้แบบอาหารขยะ อยากได้แบบง่ายๆ อยากได้แบบให้มาส่งถึงที่นอนเลย ถ้าอยากได้แบบนั้น นี่สังคมก็เลยมั่วกันเลยไง มั่วไง อยากจะปฏิบัติ อยากจะว่าเป็นกรรมฐาน เสร็จแล้วทำขึ้นมาแล้วมันได้ประโยชน์สิ่งใดล่ะ?

แต่ถ้าเป็นจริงนะ ถ้ามันชัวร์ สัจธรรมมีหนึ่งเดียว อุณหภูมิเวลามันลบ เห็นไหม มันจะเย็นมาก เวลาอุณหภูมิมันสูงมันจะร้อนมาก มันอยู่ที่อุณหภูมิว่ามันร้อนหรือมันเย็น สัจจะมันเป็นแบบนั้น การปฏิบัติผิดหรือถูกมันก็เป็นแบบนั้น มันมีอันเดียว ไม่มีง่าย มียากอะไรหรอก ง่าย ยากมันอยู่ที่วาสนาของคน ดูเด็กสิ บางคนเรียนหนังสือมันไปไกลมาก เด็กบางคนมันเรียนมันต้องล้มลุกคลุกคลานไปตลอด มันเป็นเพราะอะไร?

ตำราเล่มเดียวกัน เรียนห้องเดียวกัน ครูสอนคนเดียวกัน ทำไมเด็กบางคนมันเรียนแล้วมันบอกว่าครูสอนช้ามากเลย มันจะรีบเรียนให้มันจบๆ ไปเลย ไอ้เด็กบางคนมันเรียนหัวเกือบแตกมันยังเรียนไม่รู้เรื่องเลย นี่มันเป็นเพราะอะไรล่ะ? มันเป็นเพราะอำนาจวาสนาของเขา เขาสร้างของเขามาอย่างนั้น นี่อำนาจวาสนาของเขา มันจะผิด มันจะถูกมันอยู่ที่อำนาจวาสนาของคน แต่โดยสัจจะมันมีอันเดียวเท่านั้นแหละ มันไม่มียาก มีง่าย ลัดสั้นเอามาจากไหน?

ลัดสั้นถ้ามีจริงพระพุทธเจ้าบอกแล้ว พระพุทธเจ้าสอนแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าต้องรู้ดีกว่าทุกคน แล้วนี่เราก็เอาแต่มั่วกันไปไง

ถาม : ๑. หนูจะทำอย่างไรต่อไปดีคะ นั่งเช้า-เย็นให้รู้สึกไปเรื่อยๆ หรือต้องทำอะไรอีกหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าสมาธิไม่นิ่งเลยค่ะ เพราะตอนที่รู้กายอยู่นั้นใจจะวอกแวกไปมาได้ รู้สึกสมาธิไม่ดี

หลวงพ่อ : การรู้กายมันรู้แบบกายนอก นี่ดูสิเราจับแขนเราก็รู้ เราจับร่างกายเราก็รู้กาย ถ้ารู้กายแบบนี้มันกายนอก กายนอก เห็นไหม ดูสิเวลาเราไปเห็นอุบัติเหตุต่างๆ เราเห็นแล้วแบบว่ามันขยะแขยงเลย นี่กายนอก ถ้าเป็นกายในไม่มีขยะแขยง ขยะแขยงนี่จำไว้เลยว่าเรื่องข้างนอก ขยะแขยง อาเจียน ไอ้นี่เรื่องสามัญสำนึกไม่เกี่ยวกับธรรมะเลย ธรรมะมันละเอียดกว่านั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันรู้กายๆ รู้กายแบบนี้ก็รู้แบบสามัญสำนึก รู้แบบเด็ก เด็กทำสิ่งใดที่ถูกต้องผู้ใหญ่ก็ตบมือให้ ทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องผู้ใหญ่ก็เอ็ดเอา พอเอ็ดเด็กก็สลด

นี่ก็เหมือนกัน พอเรารู้กายๆ แล้วมันสลด สลดนี่มันก็จะกลับมาสมถะนั่นแหละ คือมันเป็นสมาธิ เราจะบอกเลยการปฏิบัติทุกแนวทาง การปฏิบัติทุกอย่างในโลกนี้นะผลของมันคือสมถะหมด สมถะ ที่ว่าวิปัสสนาๆ ไม่มีหรอก ไม่มี ผลของมันเป็นสมถะหมด จนจิตมันสงบ จิตเป็นสัมมาสมาธิ แล้วจิตนี้ออกรู้กาย เวทนา จิต ธรรมตามความเป็นจริง วิปัสสนาเกิดตรงนั้น วิปัสสนาจะเกิดต่อเมื่อมีจิต มีจิตออกรู้ จิตออกวิปัสสนา เพราะวิปัสสนาเกิดจากจิต

วิปัสสนาคือใช้ปัญญา ปัญญามันมีสมาธิ มันมีตัวมัน มันใช้ปัญญา ปัญญามันแยกแยะขึ้นไป ตัวจิตนี้เป็นผู้รู้ ตัวจิตนี้เป็นผู้ที่ปล่อยวาง ตัวจิตนี่ นั่นแหละวิปัสสนามันเกิดตรงนั้น ฉะนั้น อย่างพวกเราสามัญสำนึกนี่กิเลสทั้งตัว จิตยังไม่รู้ว่าจิต คือว่าเหมือนเรานี่คนตัวเปล่าเล่าเปลือย ไม่มีสมบัติสิ่งใดเลยบอกเป็นเศรษฐีใครเชื่อ? คนจะเป็นเศรษฐีก็ต้องมีเงิน มีทองสิ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะวิปัสสนาเราก็ต้องมีจิตก่อนสิ มีจิตที่เป็นสัมมาสมาธิมึงอยู่ไหน? ตัวเปล่าเล่าเปลือยนะบอกวิปัสสนา วิปัสสนา อ้าว คนจะวิปัสสนามันต้องมีจิตก่อนสิ เราจะมีบ้าน มีเรือนเราต้องมีบ้านเลขที่ใช่ไหม? มีบ้านเลขที่ มีที่อยู่อาศัยของเราใช่ไหมเราถึงจะซื้อของเข้าบ้านเราได้ บอกจะซื้อของเข้าบ้าน ไปซื้อของมาเต็มเลยแต่หาบ้านไม่เจอ ไปร้านขายเฟอร์นิเจอร์นะขนมาเต็มเลย แล้วจะไปวางที่ไหนล่ะ? อ้าว เราไม่มีบ้านจะไปวางที่ไหน? ก็กลับไปฝากไว้ที่ร้านก่อน

นี่ก็เหมือนกัน บอกวิปัสสนาๆ มึงอยู่ไหน? ไม่มีหรอก ถ้าจะมีวิปัสสนานะเรามีบ้าน เห็นไหม ใครไปซื้อบ้านก็ได้แต่บ้านมาหลังหนึ่ง โล่งๆ ไม่มีอะไรเลยนะ เราก็เอาสิเอาของเข้า เอาเฟอร์นิเจอร์เข้า เอาอะไรเข้า เราก็เข้าไปประดับบ้านเรา นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามีสมถกรรมฐาน มีสัมมาสมาธิมันก็จะมีวิปัสสนา ถ้ามีบ้าน ไปหาเฟอร์นิเจอร์ไม่มีมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ มีสมาธิ วิปัสสนาไม่เป็นก็ไม่เป็นวิปัสสนา ถ้ามีบ้าน เห็นไหม เรามีบ้าน เราซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านเราได้ ซื้อทุกอย่างเข้าบ้านเราได้ เออ มีทั้งบ้าน มีทั้งเตียง มีโต๊ะ มีที่อยู่อาศัย โอ๋ย สมบูรณ์ไปหมดเลย นี่วิปัสสนาเกิดตรงนั้น

ฉะนั้น เขาบอกว่า “จิตไม่เป็นสมาธิเลยค่ะ” ไปรู้กายมาเนาะ นี่มันมั่วไปเรื่อยแหละ แต่มั่วก็มั่วนะ พอบอกว่ามั่วปั๊บทุกคนจะไม่กล้าทำอะไรเลย ก็ไม่ถูกต้องนะ บอกสิ่งนั้นก็ผิด สิ่งนั้นก็ผิด เราก็ไม่กล้าทำสิ่งใดเลย เราต้องทำ ทำผิด ทำถูกแล้วเราค่อยมาแก้ไขของเรา ใครๆ เกิดมาก็อยากดิบ อยากดี อยากจะมีมรรค มีผลใช่ไหม? เราก็ต้องขยันหมั่นเพียรของเรา ทำขึ้นมา ทำขึ้นมาแล้วผิดถูกเราจะรู้เอง

ถ้ามันภาวนานะ ถ้ามันผิด ถ้าผิดนะ นี่สมมุติว่าผิด ภาวนาวันนี้ผิด แต่ภาวนาแล้ว อู๋ย มันว่าง อู๋ย ดีมากเลย นี่มันหลงนะมันว่าดี นี่ถ้าผิดนะ แต่พอผิดปั๊บนะ พอวัน ๒ วันไปนะ เอ๊ะ ไอ้ที่ดีๆ นั้นถูกต้องหรือเปล่า? นี่มันจะรู้ของมันไง เอ๊ะ เอ๊ะ ถ้าเอ๊ะนะไม่ต้องบอกว่าผิดหรือไม่ผิด มันผิดเลย แต่กิเลสยังไม่ยอมนะ พอเอ๊ะ น่าจะไม่ผิด กิเลสมันไม่ยอมหรอก ถ้าเอ๊ะ น่าจะไม่ผิดหรอก มันเป็นอย่างนี้เอง พอไป ๒ วัน

ถ้าผิดมันเป็นแบบนี้ เริ่มต้นอย่างนี้ไปภาวนาแล้ว โอ๋ย ดีมาก โอ้โฮ หลวงพ่อมันว่างหมดเลยนะ แหม มันดี๊ดีนะ ผิดๆ แต่มันยังไม่รู้ตัว วันไหนเอ็งรู้ตัว เอ๊ะ พอเอ๊ะนั่นล่ะใช่แล้ว เอ๊ะ หมายถึงว่าจิตใจนี้มันเริ่มรู้ การฝึกหัดจากเด็กมันจะเป็นผู้ใหญ่ เด็กมันจะไม่รู้ถูก รู้ผิด ผู้ใหญ่จะรู้ถูก รู้ผิด จิตมันได้ผิดมามันก็ได้รู้จักถูก รู้จักผิด มันก็รู้จักแยกแยะ มันก็เริ่มโตขึ้นมา เห็นไหม ใจมันจะโตขึ้นมาเพราะมันรู้ถูก รู้ผิด มันรู้จักแยกแยะอะไรดี อะไรชั่ว มันก็จะทำสิ่งที่ดีๆ มันขึ้นมา มันเป็นอย่างนี้ทุกดวงใจ

ฉะนั้น มันจะผิด มันจะถูกเราทำ แต่เรามีสติปัญญา อย่าไปเชื่อ กาลามสูตรไม่ให้เชื่อใคร อย่าเชื่อ ถ้าเชื่อโง่น่าดูเลย พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้เชื่อ ไม่ให้เชื่อ ให้ประสบการณ์ ประสบการณ์เราให้มันเป็นจริงขึ้นมา ฉะนั้น สิ่งที่มีครูบาอาจารย์ ท่านเทศน์ ท่านสอน ท่านบอกเรา เราอยู่กับท่านเราก็พิสูจน์ไง แต่ไม่ต้องเชื่อ ถ้าเป็นความจริงแล้วนะไม่มีใครค้านใครเลย ถ้ายังมีการคัดค้านกันอยู่ต้องผิดคนหนึ่ง ยังมีการโต้เถียงกันอยู่นะต้องผิดคนหนึ่ง ไม่ใครผิด ต้องมีผิดเพราะมีการโต้เถียง แต่ถ้าพอไปถึงอันเดียวกันแล้วนะ พรึ่บ!

วันมาฆบูชา พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์มาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยไม่ได้นัดหมาย ไปถึงนั่งเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยความสงบนิ่ง ไม่มีขยับเลย ไม่โต้ ไม่เถียง ไม่แอะเลย ของจริง พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ ไม่มีความเห็นต่างกันเลยในเรื่องสัจจะนะ ในเรื่องอริยสัจไม่มีความเห็นต่างกันเลย ความจริงเป็นแบบนั้น ฉะนั้น ถ้ามันจริงแล้วไม่ต้องไปโต้เถียง มันเป็นของมันตามความเป็นจริงเลย แต่นี้ขนาดใจเรามันยังสงสัยเลย นี่หนูเห็นกายนะ พิจารณากายหนูเห็นกาย รู้จักกาย แต่รู้สึกว่าสมาธิมันไม่มีเลย สมาธิมันก็ไม่ดี สมาธิมันก็ไม่นิ่ง แต่หนูเห็นกายนะ

เห็น เรามองด้วยตาเราก็เห็น แต่เป็นเรื่องของโรค แต่ถ้าเป็นเรื่องของธรรม จิตสงบแล้วจิตเห็น ถ้าจิตเห็นนะมันจะสั่นไหวขั้วหัวใจ ขนพองสยองเกล้า เพราะสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เป็นสักกายทิฏฐิ ทิฐิมานะก้นบึ้งของใจมันมีสังโยชน์รัดมันไว้ คำว่ารัดไว้คือว่าความเข้าใจผิดที่มันรัดไว้อยู่จิตใต้สำนึก พอเราไปเห็นกายเข้า เหมือนเราไปเห็นโจทย์ เหมือนกับเรารู้ว่าใครเป็นคนขโมยของไป แต่เราไม่เคยเห็นตัวเขา พอเราไปเห็นตัวเขานี่มันสะเทือนมากนะ

ถ้าใครเห็นกายโดยข้อเท็จจริง วิปัสสนานะ ถ้าจะเห็นกายแล้วเป็นจิตเห็นนะมันสะเทือนหัวใจมาก สะเทือนหัวใจมากปั๊บ แล้วเราจะตั้งจิตให้มันเข้มแข็งนะ ให้มันรับสภาวะแบบนี้ คำว่าสภาวะนะ จิต เห็นไหม ดูสิเวลาความคิดเกิดขึ้น แว็บเดียวก็หาย แว็บเดียวก็หาย แว็บเดียวก็หาย แล้วความคิดที่มันเกิดขึ้นแล้วมันต่อเนื่องเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นไป เราจะให้ความคิดเรา เช่นเราทำงาน ทุกคนบอกทำงานอยากให้สมองปราดเปรื่อง คิดอะไรทะลุปรุโปร่งไปหมดเลย แล้วมันเป็นไหม? แต่วันไหนถ้าเราสมาธิดี เห็นไหม นี่ความคิดเราจะไบรท์มากเลย แหม มันจะคิดสิ่งใดก็ได้เลย มันเป็นเพราะอะไรล่ะ?

นี่ถ้าจิตมันได้พัก จิตมันเป็นประโยชน์ ฉะนั้น ถ้าจิตมันเห็นกายเป็นวิปัสสนานะ แต่ถ้าเห็นกายแบบนี้มันจะเห็นกายโดยสร้างภาพ สร้างภาพก็ไม่ผิดต้องสร้างก่อน แต่สร้างก่อน นี่เราจะพูดถึงว่ามันชัวร์หรือมันมั่วไง ฉะนั้น ถ้ามันชัวร์นะเป็นปัจจัตตัง รู้เอง เห็นเอง เข้าใจเอง มันเป็นจากคนๆ นั้นเอง ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : แล้วหนูนั่งเช้า นั่งเย็น แล้วมันจิตยังไม่เป็นสมาธิเลยหนูจะทำอย่างไรต่อไป

หลวงพ่อ : ถ้าเราใช้รู้กายอย่างนี้ ถ้ามีสติปัญญานะมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณากายแบบนี้ ถ้าปล่อยเข้ามามันก็เป็นสมาธิ อันนี้ถ้ามันเป็นอย่างนั้นนะ ฉะนั้น คำถามที่ ๑ จบ

คำถามที่ ๒

ถาม : ทำไมทุกครั้งที่รู้ตัว แล้วร่างกายจะหายเมื่อย จนบางครั้งตรงไหนเมื่อยหนูก็จะพยายามรู้สึกตรงนั้นเพื่อให้มันหายเมื่อย

หลวงพ่อ : เวลาเราเผลอนะ นี่มันแปลก ฟังให้ดีนะจะงงตรงนี้หน่อยหนึ่ง เวลาเราเผลอ เราเผลอนี่เราคิดไปตามสามัญสำนึกมันก็เจ็บปวด แล้วถ้าเผลอ พอเผลอเราไม่มีสติเลย ต้องไม่รู้อะไรเลยใช่ไหม? แต่นี้เวลาเราเผลอ เผลอจากตัวเราเอง จิตมันก็ไหลไปตามกำลังของมัน พอจิตมันไหลไปตามกำลังของมัน จิตมันไหลไปตามกระแส จิตมันไหลออกไปใช่ไหมมันก็ไปรับรู้ เรานั่งนานเราก็เหนื่อย เราก็เมื่อย เราก็ปวด แต่พอเรามีสติปั๊บความเมื่อยหายเลย เรามีสติ พอเรามีสติปั๊บเพราะจิตมันไม่ไปอยู่ที่ร่างกาย ไม่ไปอยู่ที่ความปวด ความเมื่อยไง แต่ถ้าพอเรามีสติปั๊บ เรามีสตินะ นี่ปวดหลังมากเลย ปวดหลังมากเลย พอมีสติเราก็ค่อยๆ เดี๋ยวหลังก็หาย

สติมันไม่มีไง พอสติไม่มีมันก็ไปรับรู้อารมณ์ แต่พอสติมีมันก็กลับมาสู่ตัวจิต ความเมื่อยมันก็หาย นี่พูดถึงเขาว่าเวลามันเมื่อย มันหายหมดเลย มันหายหมดเลย มันหายโดยไม่ใช้ปัญญาไง นี่เดี๋ยวรู้ตัวมันก็หาย ไม่รู้ตัวมันก็ไปเสวยอารมณ์ ก็เท่านั้นแหละ ขาดสติ ถ้ามีสติล่ะ? แล้วมีสติแล้วมันจะไม่เมื่อยไหม? ถ้ามีสตินะ พอมีสติความนั่งอยู่มันก็เมื่อย ขยับมันก็หาย แต่ถ้าเกิดว่ามันเป็นความเจ็บปวดของเส้นเอ็นต่างๆ มันก็เป็นของมัน มีสติอย่างไรมันก็เป็น ต้องคลายเส้นมันถึงจะหายเจ็บ หายปวดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง นี่มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี้พูดถึงเวลามันเป็นไง ตัวเองเป็นก็ยังสงสัยอยู่ มันจะมั่วไปเรื่อย

ถาม : ๓. หนูคิดว่าหนูนั่งสมาธิก่อนดีไหมคะ

หลวงพ่อ : นี่ถ้าจิตไม่สงบนะ การคิด การใช้ปัญญาของเรา ที่เราบอกว่าการปฏิบัติทุกๆ แนวทาง ผลของมันคือสมถะ แต่เขาบอกว่าเขาใช้ปัญญาแล้วเป็นวิปัสสนา เวลาเขาว่ากันนะ เขาว่าใช้ปัญญาไปแล้วมันจะโล่ง มันจะว่าง นี่ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธินะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เวลามันเป็นสมถะเราใช้ปัญญาไปมันก็ปล่อย มันก็เหมือนกับพอมีสติขึ้นมาความเมื่อยก็หาย พอขาดสติขึ้นไปเดี๋ยวมันก็เมื่อยอีก เวลามันปวดขึ้นมา ไปอยู่ที่ปวดมันก็หาย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาถ้ามันมีสมาธินะ ถ้าเรานั่งสมาธิ พอมันมีสมาธิมันจะออกใช้ปัญญามันก็จะเป็นการคลี่คลายความเห็นผิด แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่เวลาเราใช้ปัญญาของเราในปัจจุบัน ปัญญาอบรมสมาธิ คือว่าปัญญามันมีอยู่แล้ว จิต ธรรมชาติของจิตคือพลังงาน พลังงาน เห็นไหม นี่ปฏิสนธิจิต เวลามันเสวยอารมณ์ก็เป็นความรู้สึกนึกคิด เพราะอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เวลาถ้ามันเป็นตัวจิต ถ้าเราไม่คิด เราอยู่เฉยๆ นี่ตัวจิต

เรากลั้นลมหายใจไว้แล้วอยู่เฉยๆ นี่คือตัวจิตมันไม่คิด แต่พอมันปล่อยปั๊บมันก็เสวยอารมณ์ คือมีความคิดเกิดขึ้น ความคิดเกิดขึ้นเราไม่เห็นวิถีจิต ไม่เห็นจิตมันทำงาน ถ้าจิตมันทำงานมันเสวยอารมณ์ เสวยอารมณ์ก็เป็นความคิดมา พอเรามีปัญญาขึ้นมา สิ่งที่มันเสวยอารมณ์ เห็นไหม อารมณ์มันคืออะไร? เห็นโทษของอารมณ์มันปล่อยอารมณ์ มันก็กลับมาสู่จิต พอสู่จิตมันก็คือสมถะไง สู่จิตมันก็คือตัวจิตไง ถ้ามันปล่อยขึ้นมามันก็ไปสู่ตัวมันเอง นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

นี้ถ้าคนที่ภาวนาเป็น ปัญญาอบรมสมาธิคือสมถะ ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิคือสมถะ แต่ถ้าคนไม่เป็นนะ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา เราได้ใช้ปัญญาใคร่ครวญในร่างกายแล้ว เราพิจารณาของเราแล้ว มันว่าของมันนะ พอว่าของมันปั๊บมันก็มาเข้ากับโลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญา

โลกียปัญญาคือปัญญาสามัญสำนึก ภาวนามยปัญญา เห็นไหม โลกียปัญญามันเป็นสามัญสำนึก นี่โลกุตตรปัญญา คือภาวนามยปัญญาเกิดจากสัมมาสมาธิ เกิดจากสมถะ แล้วออกใช้วิปัสสนา มันคนละปัญญากัน ถ้าคนรู้ คนเห็นมันจะเข้าใจของมัน

ฉะนั้น คำว่า “หนูจะกลับมานั่งสมาธิก่อนดีไหมคะ”

ถ้าจิตสงบ ถ้าจิตมันสงบร่มเย็น กรรมฐานเราครูบาอาจารย์สั่งสอนว่าทำให้จิตสงบก่อน คือเราหาบ้านของเราก่อน ถ้าเรามีบ้าน มีเรือนแล้วเราจะเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือว่าเราจะมีบ้านแล้ว ถ้าเราไม่ทำบ้านเราก็จะเสื่อมไป อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ไม่ใช่ว่ามีบ้านแล้วเราจะเป็นเศรษฐีทุกคนนะ มีบ้านแล้ว อยู่ในบ้านนั้น บ้านนั้นทำธุรกิจการค้าจนเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก็มีคุณธรรมขึ้นมา มีบ้านแล้วนะไม่รู้จักรักษา บ้านนั้นก็จะเสื่อมสภาพไปเป็นธรรมดา

มีสมาธิแล้ว ถ้าใช้ปัญญาเป็นมันก็ถึงจะเป็นวิปัสสนา ถ้ามีสมาธิแล้วใช้ปัญญาไม่เป็นมันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา แต่ต้องมีสมาธิก่อนไง

ทีนี้ว่า “หนูต้องกลับมาทำความสมาธิก่อนดีไหมคะ”

ก็แล้วแต่จะคิด ถ้าไม่มั่ว ถ้าจะเอาชัวร์ๆ ถ้าเอาชัวร์ๆ ศีล สมาธิ ปัญญาก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าจะเอามั่วๆ กัน เอาเป็นวัฒนธรรมเนาะ เป็นว่าเราได้ปฏิบัติกัน เราชาวพุทธปฏิบัติแล้วก็แล้วกันไป ก็เอามั่วๆ กันไปก็สบายดี แต่ถ้าจะเอาชัวร์ๆ มันทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง มันจะแก้ทุกข์ของมัน

ถาม : ๔. หนูจะไปเรียนสติปัฏฐาน ๔ ยังไม่รู้ว่าคืออะไร มันมีสอน ว่าจะไปเรียน จะเข้ากันไหมคะ

หลวงพ่อ : อันนี้เพียงแต่ว่ามันเป็นความมุ่งหมายเนาะ ฉะนั้น เราตอบคำถามมาหมดแล้วว่าอะไรเป็นสติปัฏฐาน ๔ และอะไรไม่เป็นสติปัฏฐาน ๔ ทีนี้คำว่าสติปัฏฐาน ๔ มันเป็นสัจจะในศาสนา ฉะนั้น เวลาคนอ้าง ใครๆ ก็ว่าของฉันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ของคุณไม่ใช่ ของฉันสติปัฏฐาน ๔ ใครๆ ก็สติปัฏฐาน ๔ แต่ แต่มันเป็นสติปัฏฐาน ๔ ที่ปาก ที่ลิ้น ๒ แฉกมันพูด สติปัฏฐาน ๔ ของลิ้น ๒ แฉก แล้วแต่มันจะพลิกไปพลิกมาไง แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐาน ๔ นี่มันชื่อ ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นที่จิต มันไม่ใช่เป็นที่ลิ้น ๒ แฉก มันจะเป็นที่ข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงมันเป็นมันจะเป็นแบบนั้น ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจะเรียนไม่เรียนนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อันนี้พูดถึงว่า “เริ่มต้นวิปัสสนา” เนาะ ต่อไปอันนี้จะงงนิดหนึ่ง คนถามจะงง

ข้อ ๗๗๗. เลย

ถาม : ๗๗๗. เรื่อง “นิพพาน ๓ อย่างต่างกันอย่างไร?”

นมัสการหลวงพ่อ เพราะไม่รู้จะมีบุญได้ฟังธรรมจากหลวงพ่อต่ออีกนานเท่าไหร่ อาจจะตายในวันพรุ่งก็ได้ เพราะภัยพิบัติเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ขออนุญาตถามคำถามไว้ก่อนครับ

๑. นิพพาน ๓ อย่างนี้ต่างกันอย่างไรครับ

อนิมิตตนิพพาน แปลว่านิพพานไม่มีนิมิต

สุญญตนิพพาน แปลว่านิพพานอันความว่าง

อัปปณิหิตนิพพาน แปลว่านิพพานอันไม่มีที่ตั้ง

๒. นิพพาน ๓ อย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ที่บรรลุจะเป็นนิพพานแบบไหนครับ

หลวงพ่อ : เวลาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันมี ๔ ประเภท เวลาเป็นพระอรหันต์คือเป็นผู้ที่บรรลุนิพพานไปแล้ว ถ้านิพพานไปแล้วนะ สุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ นี้พระอรหันต์แต่ละชนิด พระอรหันต์แต่ละชนิดนั้นมันก็จะเป็นเพราะว่าอำนาจวาสนาของจิตที่มันไม่เหมือนกัน อย่างเช่นพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ที่เป็นปัญญาวิมุตติ แต่พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์ในแบบเตโชวิมุตติ ก็มีหลักสมาธิ มีฤทธิ์ มีเดช แต่เวลาพระสารีบุตรนี่เป็นผู้มีปัญญา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเปรียบถึงลูกศิษย์ เปรียบผู้ที่มีศักยภาพในการเผยแผ่ธรรม ที่ช่วยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือพระโมคคัลลานะกับพระสารีบุตร ฉะนั้น เวลาความชำนาญของแต่ละองค์ ๘๐ องค์ เอตทัคคะ ๘๐ อย่าง อย่างพระอานนท์มีทั้ง ๕ อย่าง ๕ อย่างหมายถึงว่ามีความชำนาญทั้ง ๕ ทาง ทางหนึ่งคือว่าเป็นผู้พหูสูต เป็นผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า นี่มีความชำนาญหลายอย่าง ฉะนั้น ความชำนาญมันก็แยกพระอรหันต์เป็นแต่ละชนิดไป

ทีนี้โดยต้นเหตุ โดยต้นเหตุเวลาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันก็ต้องเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาจากมรรค ๘ อย่างเดียว เวลาหลวงปู่มั่นพูดกับเจ้าคุณจูม เห็นไหม อยู่ในหนังสือถาม-ตอบ เขาบอกว่าพระอรหันต์ชนิดนั้นๆ หลวงปู่มั่นถามว่า หือ พระอรหันต์มีหลายชนิดหรือ? ท่านบอกพระอรหันต์มีชนิดเดียว หลวงปู่มั่นว่าพระอรหันต์มีชนิดเดียว พระอรหันต์มีชนิดเดียวคือว่าขณะที่เป็นพระอรหันต์ไง

ดูอย่างที่ว่าพระอรหันต์ ๖ องค์ที่สวนมะพร้าว เห็นไหม มีพระโมคคัลลานะ พระอุบาลี พระสารีบุตรด้วย ๖ องค์เถียงกัน องค์หนึ่งบอกว่าปัญญาเลิศที่สุด คือว่าเป็นแบบใช้ปัญญานี่ดีมาก พระโมคคัลลานะบอกว่าใช้ฤทธิ์ดีมาก พระอุบาลีบอกว่าถ้าไม่มีวินัยนะพระอรหันต์จะไม่เกิด ทุกคนก็ว่าความถนัดของตัวเป็นทางที่ดีกว่า ทีนี้ดีกว่ามันเป็นความถนัดใช่ไหม? ก็บอกความถนัดของตนดีกว่าๆ ก็คุยกัน ธรรมดาคนคุยกัน ใครถนัดก็ต้องพูดอันนั้นได้ชัดเจนกว่า ตกลงกันไม่ได้ ก็เลยนัดกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

นี่ไปถามพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็บอกพระพุทธเจ้าว่า ๖ องค์มีความเห็นอย่างนี้ๆ เป็นพระอรหันต์เหมือนกันนี่แหละ แต่บอกว่าอันใดมันจะมีคุณประโยชน์ที่สุด พระพุทธเจ้าบอกว่า

“อาสวักขยญาณประเสริฐที่สุด”

นี่ไงที่หลวงปู่มั่นบอกพระอรหันต์มีชนิดเดียว อาสวักขยญาณคือญาณหยั่งรู้ ญาณที่ชำระมรรค ๘ ที่รวมลงแล้วฆ่ากิเลสหมด อันนั้นสำคัญที่สุด ถ้าไม่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันก็ยังมีกิเลสอยู่ พอเป็นพระอรหันต์แล้วก็จบ ฉะนั้น ความถนัด

นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่า “นิพพานที่ไม่มีนิมิต นิพพานที่ว่างเปล่า” อันนี้นิพพานไปแล้วนะ นิมิต นิมิตเห็นกายต่างๆ มันเป็นนิมิต การว่างเปล่า สุญญตาๆ ว่างเปล่าเลย นี่นิพพานมันไม่มีที่ตั้ง ที่ไหนมันมีที่ตั้ง? อันนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก หรือว่ามันจะอยู่ในนอกพระไตรปิฎกเนาะ แต่ถ้าในพระไตรปิฎกมันก็เป็นอย่างหนึ่ง นี่มันก็ไปเก็บมา ถ้าพูดถึงเวลาไปเก็บนั่นในพระไตรปิฎกนะ เราจะตอบปัญหาว่าให้กลับไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต ของมหาจุฬาฯ มหามกุฏฯ ดูสิว่ากี่ชนิด

ถาม : นิพพาน ๓ อย่างนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้ที่บรรลุจะเป็นนิพพานแบบไหน?

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นนิพพานแบบไหนนี่รู้ คนที่บรรลุแล้วจะรู้หมด รู้หมดเพราะว่า แบบว่าเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ แต่ แต่พระอรหันต์ไม่สงสัยในเรื่องอริยสัจ ไม่สงสัยสิ่งตกค้างในใจ ถ้าสิ่งตกค้างในใจหมดแล้วนะ สิ่งอื่น สิ่งอื่น เห็นไหม ดูเวลาหลวงปู่มั่นสิ หลวงปู่มั่นนะอยู่ที่ไหนท่านบอกว่าท่านไม่มีเวลาว่างเลย นี่เทศน์สอนเทวดาทั้งหมด แต่ลูกศิษย์ลูกหาทำไม่ได้อย่างนั้น

ลูกศิษย์ลูกหาเวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่หนองผือ เห็นไหม ท่านบอกหลวงปู่ฝั้นหรือหลวงปู่ชอบนี่แหละเวลาไปหาท่าน วันนี้ช่วยจับขโมยให้ทีนะ คือท่านจะเทศน์ พอท่านจะเทศน์ พระจะเต็มกุฏิเลย เวลาเทศน์พระจะเต็มเลย เราเกิดไม่ทัน หลวงตาเล่าให้ฟัง (ยืนยันไว้ก่อน เดี๋ยวจะถามว่าเกิดไม่ทันมาพูดอีกแล้ว) ทีนี้เวลาท่านเทศน์ เวลาคนมันคิดไง เวลาพระฟังเทศน์มันไม่ได้ฟังตรงๆ มันแฉลบ ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่นะ เวลาแฉลบปั๊บท่านจะใส่เลย ใส่เลย

ทีนี้ท่านพูดว่าอย่างนี้ ท่านบอกว่าเวลาเราเทศน์ เวลาเราทำงานอยู่ หนึ่งต้องเทศน์ด้วย สองต้องคอยควบคุมจิตลูกศิษย์ด้วยมันไม่ถนัด ฉะนั้น เวลาถ้าใครมีคุณสมบัติอย่างนี้มานั่งฟังเทศน์ท่าน ท่านบอกว่าช่วยจับขโมยให้ทีนะ ขโมยคิด ไอ้พวกที่ขโมยคิดช่วยจับให้ที นี่เขาก็นั่ง หลวงปู่มั่นก็เทศน์ นี่เวลาครูบาอาจารย์นั่งปั๊บ เวลาใครคิดก็ แหน่ะ แหน่ะ ไอ้คนคิดสะดุ้งหมดนะ จะบอกว่า สิ่งที่ว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นประเภทไหน? ไม่ต้องไปห่วงหรอกว่าเป็นพระอรหันต์ประเภทไหน ขอให้ได้เป็นเถอะ ถ้านิพพานไปแล้วก็จบ

ทีนี้อธิบายไปมันไม่จบหรอก เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเราก็ไม่ใช่ว่าเราจะรู้ดีไปนัก บางทีคนนะ เวลาจะฟัง จะฟังให้เข้าใจให้ได้ จะฟังให้เข้าใจให้ได้ มันมีพระที่มาหาบ่อยไง หลวงพ่อพูดให้เข้าใจ ให้เข้าใจสิ ทีแรกเราก็พยายามพูดแบบว่าสงสาร พูดแบบว่าให้เขามีศรัทธา ให้เขามั่นคง แต่พอฟังไปๆ เขาบอกว่าพูดให้เขาเข้าใจด้วยสิ เราบอก เฮ้ย นกกับปลามันพูดกันไม่รู้เรื่องหรอก คนรู้เขาก็รู้ของเขา ไอ้คนไม่รู้จะพูดให้รู้นี่นะ เวลาพูดไปพอมันถูกใจ เออ ใช่ๆ ใช่ๆ พอมันแว็บเดียว เอ้ย ลืมอีกแล้ว อย่างนี้หรือเปล่า? อย่างนี้หรือเปล่า? แฉลบไปอีกแล้ว

ฉะนั้น ไม่ต้องไปตกใจหรอกว่าคนที่ผ่านไปแล้วจะรู้ไหมว่าเขาเป็นประเภทไหน? รู้ รู้เด็ดขาด เขารู้ของเขา เพราะรู้ของเขามันจะรู้ เพราะว่าเวลาแสดงธรรมนี่นะ เวลาแสดงธรรมหลวงตาบอกว่า ถ้าคนที่มีนี่นะพยายามปิดไว้ขนาดไหน คนฟังก็รู้ได้ แต่ถ้าคนไม่มีนะ พยายามจะพูด พยายามจะพูดแสดงว่าตัวเองมีธรรม ฟังรู้หมดแหละ เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ เหมือนกับขับรถ ถ้าพวกช่างนะเขาขับรถ รถเขาเป็นอะไรเขาจะรู้หมดเลย เรานั่งขับรถอยู่ นี่ขับรถเป็นหมดเลย แต่รถเป็นอะไรไม่รู้ ไปจอดให้ช่าง ช่างดูแล้วก็ยังไม่รู้ แต่ช่างได้ยินเสียงเครื่อง นี่รู้เลยว่ารถเป็นอะไร?

นี่ก็เหมือนกัน คนที่ภาวนามาแล้วนะ ที่ผ่านแล้วนะ รู้เลยพูดถูก พูดผิดนี่รู้หมด แต่ไอ้คนพูดอยู่ไม่รู้นะ ไอ้คนพูดอยู่แจ้วๆๆ มันไม่รู้ว่ามันพูดผิด มันผิดได้อย่างไรก็พูดธรรมะ ก็พูดธรรมะ พูดตามวิชาการหมดเลย ถูกหมดเลย พูดตามวิชาการเลยผิดตรงไหน? ไอ้คนฟังมันรู้แล้วผิด อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง อะไรมาก่อน อะไรมาหลัง นี่ที่ชาวพุทธเขาพูดกันอยู่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาๆ

ปัญญาอะไรของเอ็ง? อันนั้นมันสัญญาทั้งนั้น กิเลสทั้งนั้น แต่ถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมานะเขาพูดคำเดียว มันจะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น มันเป็นลำดับไง ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีสมาธิปั๊บนะ พอพูดปั๊บ ใช่ลงเลย เหมือนมีด มีดถ้ามันคมใช่ไหม? ฟันทีเดียวขาดเลย แต่เราก็มีมีดเหมือนกันแต่มันใส่ปลอกไว้ มีดอยู่ในฝัก เวลาฟันฟันทั้งฝักนะ มีดมันฟันทั้งฝัก มันฟันเลย มันฟันเขาเลย ก็มีดเหมือนกัน มันก็ฟันเลย มันไม่เอาออกจากฝัก มันฟันทั้งฝักเลย แล้วมันจะเป็นเหมือนกันไหม? ไม่เหมือนหรอก

แต่ถ้าเป็นของจริง มีดนะ เวลาชักออกมาจากฝักคมกริบเลย ฟันฉับเรียบร้อย แล้วเขาก็เทศน์เลยนะ นี่มีดนะ แล้วฟันนะฟันทั้งฝักเลย ไอ้คนเห็นก็ โอ๋ย ฟันได้อย่างไร? ฟันมีดทั้งฝักไปเลย เอ็งฟันไปแล้วมันจะเป็น นี่พูดถึงคนพูด ถ้าไม่เป็นไม่รู้นะ ไม่รู้ว่าตัวเองปล่อยไก่ทีหนึ่งเป็นเข่งๆ นะ เวลาแสดงธรรม โอ้โฮ จับไม่ทัน ไก่แตกเป็นเล้าเลย จับไม่ทัน ไอ้คนนั่งฟังอยู่ โอ้โฮ ไก่วิ่งเต็มศาลามันยังไม่รู้ตัว

นี่เราจะบอกว่าไม่ต้องไปคิดหรอกว่าเขาจะรู้ได้อย่างไร? เพราะเราไม่รู้ เราถึงอยากจะรู้ว่า

ถาม : นิพพานทั้ง ๓ อย่างนี้จะรู้ได้อย่างไร? ผู้ที่บรรลุจะเป็นนิพพานแบบไหน?

หลวงพ่อ : ไม่ต้องไปห่วง เขารู้ของเขาได้ จบ

ข้อ ๗๗๘. นะ ให้หมดไปเลย

ถาม : ๗๗๘. เรื่อง “รู้วาระจิต”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง วันนี้หนูขออนุญาตถามคำถามเป็นข้อสงสัย อาจจะไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ขอความเมตตาหลวงพ่อด้วยนะคะ

๑. ผู้ที่รู้วาระจิต ท่านที่เป็นอริยบุคคล กับปุถุชนที่รู้วาระจิต ท่านรู้เท่ากันไหมคะ เฉพาะเรื่องความรู้สึกนึกคิด ณ เวลานั้นๆ ค่ะ รู้ลึกถึงต้นตอไหมคะ

๒. ถ้าเราต้องการแก้ไขความรู้สึกที่มีต่อบุคคลควรทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : นี่เอาข้อ ๑ ก่อน

ถาม : ผู้ที่รู้วาระจิต ท่านที่เป็นอริยบุคคล กับปุถุชนที่รู้วาระจิตท่านจะรู้เท่ากันไหม

หลวงพ่อ : รู้วาระจิต ผู้ที่เป็นอริยบุคคล รู้วาระจิตชัดเจนแล้วเป็นแบบนั้น แล้วรู้ด้วยว่าควร-ไม่ควร กรณีนี้มันอยู่ที่ประสบการณ์ของคน เรื่องอย่างนี้นะ เวลารู้แล้ว ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ค่อยพูดกัน เขาไม่ค่อยพูดเพราะมันมีผลข้างเคียง มีผลข้างเคียงนะ แต่ถ้าคนที่ไม่มีประสบการณ์ รู้สิ่งใดคิดว่าเป็นประโยชน์ พอพูดแล้วเป็นประโยชน์ไป นี่คนฟังเขาไม่เชื่อ คนฟังเขาไม่เชื่อแล้วเขาดูถูกด้วย แล้วเขาจะพูดในทางเหยียดหยาม เพราะอะไร? เพราะในโลกปัจจุบันนี้ ไอ้พวกที่ ๑๘ มงกุฎมันดักหน้า ดักหลังด้วยวิธีหากินแบบนี้มันมี

ฉะนั้น คนที่รู้จริง เขารู้แล้วเขาจะเก็บไว้ นี่ที่ว่าความมหัศจรรย์ของจิต เราจะรู้ของเรา แล้วมันจะควรและไม่ควร ถ้าควรนะ ถ้าควรนี่คนเป็นนะเขาจะค่อยๆ เผดียง เผดียงหมายถึงว่าบอกกึ่งๆ บอกครึ่งๆ คอยบอกว่าเขาจะรับฟังไหม? ถ้าเขาไม่รับฟังก็เฉยไปเลย แต่ถ้าเป็นปุถุชน เห็นไหม ปุถุชนนี่รู้โดยการคลาดเคลื่อน คลาดเคลื่อนที่ไหน? คลาดเคลื่อนที่จิต ถ้าปุถุชนนะมันมีกิเลส พอปุถุชนมีกิเลส การจะรู้วาระจิตได้มันต้องเข้าสมาธิ คือมันต้องทำให้จิตนิ่งไง ทีนี้จิตของปุถุชนมันจะนิ่งไหม? จิตของปุถุชนเดี๋ยวก็นิ่ง เดี๋ยวก็ไม่นิ่ง ถ้าจิตของปุถุชนมันนิ่งมันก็จะรู้ได้ชัด ถ้าจิตของปุถุชนมันคลาดเคลื่อน มันก็จะรู้ได้เทาๆ

ทีนี้ความรู้ของปุถุชนมันแตกต่างกับความรู้ของพระอริยบุคคล พระอริยบุคคลเพราะจิตมันไม่มีกิเลส เหมือนไฟเลย ไฟที่ ๒๒๐ มาเต็มเปี๊ยะ กับไฟ ๒๒๐ แต่มันมา ๑๘๐ ปุถุชนมันมา ๑๘๐ บางทีมานี่แค่ไฟพอติดได้ ไฟอ่อน ไฟมันไม่มาเพราะจิตมันไม่มั่นคง แต่อริยบุคคลจิตเขามั่นคง ๒๒๐ มา ๒๒๐ เปี๊ยะ เต็มเลย มาเต็ม เครื่องใช้ไฟฟ้านี่สุดยอดใช้ได้หมดเลย นี่มันแตกต่างกันตรงนี้ นี่พูดถึงความแตกต่างนะ

ในพระไตรปิฎกเนาะ ฤๅษีเหาะได้เหาะขึ้นไปบนอากาศ แล้วเหาะไปในราชวัง เห็นนางสนมอาบน้ำอยู่จิตมันไปปฏิพัทธ์ พลั่กๆ ตกเลย นี่ปุถุชนไง ปุถุชนมันคุมจิตไม่ได้ ฉะนั้น ความเห็นมันเหมือนไฟ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง แต่เชื่อหรือไม่เชื่อ แล้วเราจะเชื่อคนอย่างนั้นไหม? แล้วรู้วาระจิตแล้วเราได้อะไร? อย่างที่ว่าจิตเราไม่อยากรู้ จิตเราเราต้องรู้เอง

ฉะนั้น ที่บอกว่า “พระอริยบุคคลกับปุถุชนรู้ต่างกันไหม?”

ไอ้รู้ต่างกัน แล้วตอนนี้พอคนเราสนใจขึ้นมาใช่ไหม? ไอ้พวกปฏิบัติ ไอ้พวกมั่วๆ มันก็บอกรู้วาระจิตๆ

เราเคยธุดงค์ไป มีอยู่ที่หนึ่งเขาปฏิบัติกันอย่างนี้ เขาบอกรู้วาระจิตกัน เสียงแก๊ก เขาบอกนี่เขาส่งจิตมาแล้ว เราหน้าเศร้านะ เขาจะส่งจิตมา นี่นกส่งจิตมาแล้ว เสียงแก๊กคือส่งจิตมาแล้ว แล้วเขาเชื่อกัน จนอยู่ๆ ไปนะคนๆ นั้นเสียสติไปเลยตอนนี้ แล้วถ้าเป็นอย่างนี้นะเขาจะมีกลุ่มของเขา กลุ่มของเขาหมายถึงว่าถ้าเอ็งเชื่อแบบเขาที่เชื่อกันห้ามบอกคนอื่นนะ เขาจะมีอยู่กลุ่มของเขา แล้วถ้าใครมีความเชื่อเข้ามาในกลุ่มของเขาเพิ่มมากขึ้น เขาก็จะอยู่ในกลุ่มของเขา แล้วไม่ให้เอาความลับจากข้างในออกไง แล้วกลุ่มอย่างนี้มี

ฉะนั้น เรื่องรู้วาระจิตหรือไม่รู้วาระจิต รู้วาระจิตเราต้องรู้ เรารู้วาระจิตเราเอง อย่างเช่นจิตที่เป็นสมาธิ แล้วพอจิตมันเป็นสมาธิแล้วเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม นี่สิรู้อย่างนี้ดี รู้อย่างนี้มันจะถอดถอนความเร่าร้อนในหัวใจ รู้อย่างนี้มันจะทำให้เกิดอริยทรัพย์ รู้อย่างนี้ดี แต่ไปรู้วาระจิตคนอื่นมันมีประโยชน์อะไร? แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่เป็นอริยบุคคล ถ้าท่านสำเร็จแล้วมันมีเอง คนที่สร้างบารมีมามันมีเอง มันเป็นอย่างนั้นเอง ไม่ได้ไปแสวงหา ไม่ได้ไปสร้างมา มันเป็นของมันเอง

มันเป็นของมันเอง เหมือนกับพระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะนี่พระพุทธเจ้าจะนิพพานนะ พระพุทธเจ้านอนสีหไสยาสน์อยู่ แล้วพระล้อมรอบเลย พระอรหันต์หมดเลยนะ พระอรหันต์หมดเลย แล้วพระอุบาลีก็เป็นพระอรหันต์นะ พระอุบาลีเป็นคนถามขึ้นมาที่กลางสงฆ์ เห็นพระพุทธเจ้านอนนิ่งอยู่นะ

“เอ๊ะ พระพุทธเจ้านิพพานแล้วไม่ใช่หรือ? พระพุทธเจ้านิพพานหรือยัง?”

นี่ผู้ที่ไม่รู้ถาม แต่พระอนุรุทธะรู้ บอกว่า “ยัง ตอนนี้พระพุทธเจ้ากำลังเข้าสมาบัติ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน กำลังเข้าอากาสานัญจายตนะ พระพุทธเจ้ากำลังดำเนินจิตอยู่”

พระอนุรุทธะพูดแจ๊ดๆๆ เลย ไม่ต้องเข้าอะไรก็พูดอย่างนี้ เพราะมันมีของมันโดยตาเนื้อเลย มันมีเหมือนคนที่มีสายตาเป็นพิเศษ แต่ของเราก็มีตาเหมือนกัน แต่เห็นโดยภาพปกติไม่เห็นพิเศษ นี่พูดถึงถ้าคนมีนะ แต่ถ้าคนไม่มีนั่นทำจิตอีกอย่างหนึ่ง ฉะนั้น ถ้าเขามีอยู่แล้วเขาไม่ต้องทำอะไรเลย พอไม่ทำอะไรนี่จะรู้หมด

ก็หลวงตาท่านพูด เห็นไหม บอกว่าหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่ฝั้นท่านเห็นด้วยตาเนื้อนะ เห็นเทวดา อินทร์ พรหม เห็นด้วยตาเนื้อ เห็นเหมือนเราเห็นมีภาพ ๒ ภาพซ้อนกัน ดูมนุษย์ก็ดูอย่างนี้ ถ้าดูอีกทีก็เห็นหมดเลย หลวงปู่มั่นก็เห็นอย่างนั้นนะ เห็นด้วยตาเนื้อเลย นี่ถ้าเห็นแบบนั้นมันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นปุถุชน ถ้าเป็นปุถุชนมันจะเป็นอย่างนั้นไหม? พอเห็นขึ้นมา อยากจะไปอวดโยมสักหน่อยหนึ่ง จบแล้ว เพราะความอยากมันฟุ้งไหม? เห็นแล้วเนาะ เดี๋ยวจะเก็บไว้ก่อน เดี๋ยวจะคุยโม้กับคนนั้น จบ จบครับ นี้ปุถุชน

ฉะนั้น ไอ้เรื่องอย่างนี้เราจะบอกว่ามันมีอยู่ ถ้าเราปฏิบัติแล้วมันมีมาจริงก็เป็นของเรา ถ้ามันไม่มีก็แล้วกันไป แต่ทุกข์ยากเราจะแก้ไขตรงนี้

ถาม : ๒. ถ้าเราต้องการแก้ไขความรู้สึกที่มีต่อบุคคลควรทำอย่างไรคะ

หลวงพ่อ : ถ้าต่อบุคคลนะ บุคคลข้างเคียง บุคคลที่มีบุญคุณ ถ้าบุคคลที่มีบุญคุณกับเรา เห็นไหม คุณก็คือคุณ คนเรานี่นะจะดี จะชั่วอยู่ที่ความกตัญญู

“กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี”

คนใกล้ชิดกันในครอบครัวของเรา มันจะมีกระทบกระเทือนกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่ด้วยกันมันมีสังคมนะ เวลากระเทือนกันได้ มันกระเทือนกันบ้าง ถ้าเรามีสติปัญญาเราเป็นผู้ใหญ่กว่า เราอภัยให้เขาไป เราให้อภัยเขาไป เพราะเราเป็นบุคคลที่สูงกว่า เพราะจิตใจเราประเสริฐกว่าใช่ไหม?

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าในเมื่อเราจะแก้ไขสิ่งที่มีความรู้สึกต่อบุคคลควรทำอย่างใด? ถ้าเขามีคุณต่อเรา แต่ถ้าเขาเป็นหมู่คณะ เป็นเพื่อนกัน ถ้าเราแก้ไขได้ มันเป็นประโยชน์ได้เราก็พูดเป็นบางครั้ง แต่ถ้าไม่ได้ ไม่ได้นะ ดูสิทางโลกไม่ต้องไม่ได้หรอก แม้แต่เอ็งบอกว่าเอ็งมีสตางค์ เอ็งยังอันตรายเลย ใครไปคุยว่ามีสตางค์ๆ เขาจับไปเรียกค่าไถ่เลย แล้วเราจะไปช่วยอะไรเขา? คนเรานี่ ในหัวใจเขาคิดอะไรอยู่เรารู้ไหม? เรารู้ไหมว่าเพื่อนเราหรือคนใกล้เคียงเราเขาคิดเรื่องอะไรกันอยู่

ฉะนั้น เราต้องระวังตัวเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา มีสิ่งที่ควรและไม่ควร ถ้ามันไม่ควร นี่เวลาบอกนะ บอกว่าสิ่งนี้ไม่ควร อ้าว เขาเป็นทุกข์ เขาเป็นยาก อยากจะช่วยเขา นั่น เพราะมันไม่ควร มันไม่ควรนี่เขาไม่ฟัง แล้วเขาทุกข์ เขายาก เขาทุกข์ เขายากเพราะเขาแสวงหาอย่างนั้น แล้วเราจะไปดึง ดูสิเราไปสงสารปลานะ บอกว่าจะเอาปลามาอยู่กับเราได้ไหม? ปลามันต้องอยู่ในน้ำ นี่เห็นปลามันอยู่ในน้ำแล้วลำบาก อยากจะเอาปลามาอยู่ด้วย เอาปลามาอยู่ด้วยมันก็ต้องมีตู้ปลาสิ

นี่เราก็คิดแต่ว่าเราจะคิดเมตตาเขา เราคิดเมตตาเขา แต่บางอย่างเรารู้ไหมว่าเขาคิดอะไรกันอยู่ ฉะนั้น อยู่ที่ความควรและไม่ควรในใจของเรา แต่ถ้าผู้ที่มีคุณนะ ผู้ที่มีคุณนี้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าผู้ที่ไม่มีคุณ ผู้ที่ไม่มีคุณอยู่ในสังคม นี่ความรู้สึกต่อบุคคล เรารักษาใจเราไง รักษาใจของเรา ดูใจของเรา เวลามันกระเพื่อม เห็นไหม นี่บุคคลคนนั้นเขาอยู่ข้างนอก ทำไมใจเราสั่นไหวไปหมดล่ะ? ทำไมใจเรากระเพื่อมหมดเลย นี่ดูใจของเราแล้วตั้งสติ พอเรารักษาใจของเรา พอมันเจอหน้าเขามันก็มีอารมณ์ความรู้สึก มันมีความกระเพื่อมขึ้นมาเราก็รักษาใจเรา

นี่ตั้งสติไว้ พุทโธ พุทโธให้ใจมันมั่นคง พอเรารักษาใจเราได้นะเขาก็เป็นเขาอยู่ข้างนอก เรารักษาใจเราได้ แต่ถ้าเรารักษาใจเราไม่ได้นะ เห็นหน้านี่ อู้ฮู มันกระเพื่อมเต็มที่เลย รักษาใจเรา รักษาใจเราก็เท่ากับรักษาบุคคล มีความรู้สึกต่อบุคคล มนุษย์เป็นสัตว์สังคมนะ นี่กรรมเก่า กรรมใหม่ เราปฏิเสธขนาดไหนนะเขาก็อยู่ข้างๆ เรานี่แหละ ย้ายไป ย้ายมาเดี๋ยวก็มานั่งอยู่ด้วยกัน เดี๋ยวก็นั่งคู่กันเลย ยิ่งเกลียดยิ่งนั่งคู่กันเลย

รักษาใจเรา แต่ถึงที่สุดแล้วนะ ถึงที่สุดนะชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถึงที่สุดแล้วไม่มีสิ่งใดอยู่กับเราตลอดไป สิ่งที่ว่าทั้งรักและทั้งชังจะไม่อยู่ข้างเคียงเราตลอดไปหรอก สักวันหนึ่งต้องพลัดพรากจากกันช้าหรือเร็ว ฉะนั้น รักษาใจเราไว้ อย่าสร้างเวร สร้างกรรมต่อไป

นี่ที่ถามว่า “แล้วเราต้องการแก้ไขความรู้สึกต่อบุคคลควรทำอย่างใด?” บุคคลคนนั้นมีคุณกับเรา บุคคลคนนั้นเป็นญาติ เป็นพี่น้องเรา บุคคลคนนั้นเป็นสหธรรมิก เป็นเพื่อนของเรา บุคคลคนนั้นเขามีอาชีพอะไรเขาก็คิดของเขา เขามีสังคมของเขาเหมือนกัน สังคมของเขากับสังคมของเรา เราก็คบของเรา เราก็ดูแลในความดีงาม ความที่ไม่กระทบกระเทือน ความที่ไม่เป็นภัย ความที่ไม่เป็นภัยกับเรา ชีวิตนี้มันก็กระเสือกกระสนขนาดนี้แล้ว เราจะไปหาเภท หาภัยใส่เราอีกทำไม? ถ้าเราทำคุณงามความดีได้เราก็ทำ นี่รักษาใจเรา เพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง