เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ก.พ. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาคนทุกข์จนเข็ญใจนะ จะต้องปากกัดตีนถีบเพื่อดำรงชีวิต ถ้าปากกัดตีนถีบเพื่อดำรงชีวิต ถ้าเขามีสิ่งใดมาเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิตไว้ เขาจะผ่อนคลายพ้นจากทุกข์เป็นเปราะๆ ไป คนเราถ้าไม่มีอาหารตกถึงท้องจะมีความทุกข์มาก ทุกข์นะ โรคประจำตัวคนเราคือโรคหิว โรคกระหาย แต่เราบำบัดมันจนเรามองเป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาคนปากกัดตีนถีบ เขาไม่มีสิ่งใดดำรงชีวิต เขาต้องแสวงหาของเขา ถ้าเขาได้ของเขา เขาก็จะมีความสุขของเขาเป็นชั่วครั้งชั่วคราว แล้วถ้าเขามีปัญญาของเขา เขาแสวงหาของเขา เขาทำปัจจัยเครื่องอาศัยของเขา อยู่ของเขาได้ เขาก็จะมีความสุขเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป จนโลกเขาเจริญขึ้นมา เห็นไหม นี่เราถนอมอาหารกัน ใช้สารเคมี ใช้สารต่างๆ เพื่อถนอมอาหารกัน แล้วเวลากินเข้าไปมันก็ให้ผลข้างเคียงกับร่างกาย

นี้พูดถึงสังคมของมนุษย์ มนุษย์เวลาปากกัดตีนถีบก็แสวงหาเพื่อดำรงชีวิต แต่พอมีสิ่งใดแล้วเป็นความมั่นคง ก็จะเอาสิ่งนั้นเพื่อเป็นความมั่นคงของชีวิต แล้วมันมั่นคงจริงไหม? เพราะ เพราะเราคิดกัน แต่เวลาเดี๋ยวนี้ชีวจิต เรื่องสิ่งต่างๆ ที่เขาขึ้นไปกินอาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย นี่เขาย้อนกลับไปสู่ธรรมชาติ ย้อนเข้าไปสู่ความเป็นจริง แต่เราพยายามจะหนีความจริงขึ้นไปไง เห็นไหม ใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อถนอมอาหารไว้ เพื่อความสะดวกสบายไง

เราคิดแต่ความสะดวกสบาย เราคิดแต่หาความสุขทางโลกไง เราว่าสิ่งนั้นเป็นความสุขๆ มันหาไม่เจอหรอก มันตะกายดาวขนาดไหนก็ไม่มีความสุขหรอก ถ้าใจมันพร่องอยู่นะ แต่ถ้ามันมีความอิ่มเต็มในหัวใจ ถ้าอิ่มเต็มในหัวใจจะแสวงหาได้ที่ไหน? จะแสวงหาด้วยเรามีสติ มีปัญญารักษาใจของเรา จะแสวงหาที่ไหนไม่ได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมขึ้นมา เห็นไหม

“เราเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติผู้นั้นจะต้องเป็นผู้รู้ขึ้นมาเอง ผู้นั้นเป็นผู้รู้สัจจะความจริงขึ้นมาเอง”

นี่ความจริงในหัวใจของเรา เห็นไหม แล้วเวลาไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านถึงพยากรณ์ ฉะนั้น เวลาเราอยู่ทางโลก สิ่งนี้เราเกิดมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม สิ่งที่เกิดเป็นมนุษย์นี่อริยทรัพย์ การเกิดเป็นมนุษย์มีค่ามากนะ มีค่าเพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ สัตว์สังคม เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเรามีสติ มีปัญญา มีสมอง เรารู้จักแสวงหาได้ แต่จะแสวงหาโลกหรือธรรมล่ะ?

ถ้าแสวงหาโลกใช่ไหม เราก็ตะเกียกตะกายไปกับโลก เวลาโลกเขาแข่งขันกันไม่มีวันสิ้นสุด เขาแข่งขันกันไปจนโลกนี้จะเสื่อมสภาพไป เขาก็จะแข่งขันไปไม่มีสิ้นสุดหรอก เพราะ เพราะมันถมตัณหาความทะยานอยากของคนไม่เต็มหรอก คนนี่ เวลาตัณหาความทะยานอยากของคนมันล้นฝั่ง ฉะนั้น พอเราเห็นว่าสิ่งนี้เป็นทุกข์ เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ เราพบพุทธศาสนา เราก็จะมาศึกษาธรรมกัน เวลาเราศึกษาธรรมกัน เราศึกษาด้วยสิ่งใด ศึกษานี่มันเป็นโลกทั้งนั้นแหละ

การศึกษาของเราเป็นโลก เห็นไหม ดูสิเขาถนอมอาหารไว้ เขาใช้สารพิษ เขาใช้สารเคมี พอสารเคมีมันก็ให้ผลเป็นพิษ นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก อยาก! อยากรู้ อยากเห็น อยากเป็นไป อยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากจะให้พ้นจากทุกข์ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมมันไม่เป็นล่ะ?

ดูสิอาหารนะ ถ้าเป็นเด็ก เป็นคนที่ไม่เข้าใจ นี่อาหารหมดอายุก็ไม่รู้ว่าหมดอายุนะ เพราะเวลารูปภายนอก เวลาเชื้อโรค เวลาเชื้อรงเชื้อรามันเห็นได้ แต่เชื้อโรคเราไม่เห็นด้วยตาเปล่า เราไม่รู้หรอก เราไม่รู้เลยว่าสิ่งนั้นมันเป็นพิษหรือไม่เป็นพิษ พอกินไป ดูสิตอนนี้นมโรงเรียนๆ เวลาเด็กไปล้างท้องทีหนึ่งทั้งห้องเลย นี่เพราะอะไรล่ะ? เพราะอาหารมันเป็นพิษ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราศึกษาธรรมะๆ ธรรมะเป็นพิษหรือ? ธรรมะไม่เป็นพิษ สัจธรรม สัจจะนี้เป็นความจริง แต่จิตใจของเราสิ เห็นไหม จิตใจของเรามันเป็นพิษ พอมันเป็นพิษขึ้นไป มันไปศึกษามันก็ต้องบังคับธรรมให้เป็นไปตามอารมณ์ของเรานะ บังคับให้เป็นอย่างนั้น เราต้องการ เราปรารถนาต้องเป็นอย่างนั้นสิ ต้องเป็นอย่างนั้น เราไปบังคับเขา มันเป็นความจริงไหมล่ะ? แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เราตั้งสติของเรา แล้วเราทำของเรา

นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนา ดูสิเวลาเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นอริยทรัพย์ เวลาเกิดเป็นมนุษย์ ชีวิตเรายังลุ่มๆ ดอนๆ ชีวิตใครจะราบเรียบไปทั้งชีวิตมีไหม? นี่มันมีลุ่มๆ ดอนๆ ของมัน ชีวิตของเรามีลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย นี่พูดถึงชีวิตนะ แล้วหัวใจล่ะ? เวลามันดีมันร้ายขึ้นมาล่ะ? เวลาดีขึ้นมา โอ้โฮ โลกนี้สวยงามมาก เวลามันร้ายขึ้นมานะ โลกนี้ไม่มีที่อยู่เลย เห็นไหม

หลวงตาบอกว่า “โลกนี้กว้างขวางมาก มันคับแคบตีบตันที่หัวใจของเรา” มันคับแคบตีบตันในหัวใจเรานี่แหละ ถ้ามันพิจารณาของเรา เวลาจิตใจมันปลอดโปร่งแล้วล่ะ โลกเวลาเราพิจารณาของเรา เราแก้ไขของเรา เราปฏิบัติของเรา เราสิ้นสุดแห่งทุกข์ เห็นไหม นี่ใจมันครอบสามโลกธาตุ เวลามันแก้ไข แก้ไขจนมันครอบสามโลกธาตุ เพราะ เพราะจิตนี้มันเกิดมันตายในวัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ

ฉะนั้น เวลามันเกิดมันตายขึ้นมา เห็นไหม มันเกิดตายสิ่งนั้นคืออะไรล่ะ? เกิดตาย นี่เวลาพระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยนั้นคืออะไร? นั่นสิ่งที่สืบเนื่องต่อมา นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม สิ่งนี้มันอยู่ในหัวใจของเรา เราเกิดในวัฏฏะ เวลาจิตมันพ้นไปมันครอบสามโลกธาตุ สามโลกมันใหญ่กว่าโลกนี้ขนาดไหน? ดูจักรวาลสิ ดูจักรวาลต่างๆ ที่เราพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่เวลาพิสูจน์ทางจิตนะ กามภพ รูปภพ ดูสิตั้งแต่เทวดาลงมา สิ่งต่างๆ รูปภพ อรูปภพ มันสามโลกธาตุมันใหญ่โตแค่ไหน?

เวลาจิตมันแก้ไขความตีบตันมันไปได้หมดเลย แต่เวลามันแก้ไขการตีบตันไม่ได้ มันคับแคบในหัวใจ เห็นไหม ถ้ามันคับแคบในหัวใจ เราเสียสละกันมาเพื่อละความตระหนี่ เราบอกเราไม่ตระหนี่หรอก เราเสียสละของเราตลอดเวลา ถ้าไม่ตระหนี่ เวลาสิ่งที่มันรู้สึกทำไมปล่อยไม่ได้ นี่มันตระหนี่จากวัตถุ แล้วมันก็ตระหนี่จากความรู้สึกนึกคิด แล้วมันก็จะมาตระหนี่กับตอของจิตไง ตอของจิตคือความเศร้าหมอง ความผ่องใส มันจะตระหนี่หรือไม่ตระหนี่มันพ้นจากสิ่งนั้นไปไม่ได้ มันพ้นจากหัวใจเราเองไปไม่ได้ ในเมื่อเราเป็นเราเอง เราจะพ้นจากมันไปได้อย่างไร? แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนจิตใจของเรา นี่โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค

อรหัตตมรรคมันคืออะไร? โสดาปัตติมรรค เห็นไหม เวลาโสดาปัตติมรรค เวลาจิตเราสงบสงัดเข้ามา สงบจนมีหลักมีเกณฑ์ เราย้อนไปพิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม นี่ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ต้องไปพิจารณามันทำไม? มันไม่ใช่เรื่องอะไรของเราหรอก เรื่องของเราคือเรื่องทุกข์ แล้วเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรม มันไม่เป็นทุกข์ เราไปพิจารณามันทำไม?

พิจารณามันเพราะว่าสิ่งที่มันจะเป็นทุกข์นั่นมันเป็นเหตุ จิตใจไปเกาะเกี่ยวมันถึงได้ทุกข์ไง จิตใจไปยึดไปมั่นมันถึงได้ทุกข์ไง แล้วมันยึดมั่นเพราะอะไรล่ะ? ยึดมั่นเพราะมันไม่รู้ไง แล้วมันไม่รู้ เวลาเราพิจารณา พิจารณาเพื่ออะไร? พิจารณาด้วยปัญญาของเราเพื่อให้มันรู้ไง เพื่อให้ใจมันรู้ว่าสิ่งที่เอ็งยึดมันไม่ใช่ของมึงหรอก ที่เอ็งยึดๆ อยู่นี่มันไม่ใช่ของเอ็งทั้งนั้นแหละ แล้วไม่ใช่ มันไม่ใช่อย่างไรล่ะ? อ้าว ปากก็บอกไม่ใช่นี่ไง นี่ก็บอกไม่ใช่ คนเกิดมาก็ตายหมด สมบัติก็ไม่ใช่ของเรา อาศัยมันชั่วคราว แล้วเสียดายมันทำไม? แล้วทุกข์ร้อนกันทำไม?

นี่จิตใต้สำนึก เวลากิเลสมันอยู่ที่นั่น มันถึงไปเกิดไปตายไง ไปเกิดไปตายเพราะอวิชชา เพราะความไม่รู้ของมัน ปฏิสนธิจิตไปเกิดในไข่ ในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ กำเนิด ๔ นี่เวลากำเนิดมันไปหมดเลย ไม่มีเว้นวรรค จิตนี้ไม่มีเว้นวรรค ออกจากร่างนี้เกิดทันที ถ้ามันไม่เกิดในภพในชาติมันก็เป็นสัมภเวสี สัมภเวสีมันก็แสวงหาที่เกิด มันก็วนเวียนของมันไป ถ้าวนเวียนของมันไป เห็นไหม นี่สิ่งที่วนเวียนของมันไปเพราะความไม่รู้ของมันไง แล้วมันจะรู้ รู้อย่างไรล่ะ? มันจะรู้ รู้อย่างไร? รู้ด้วยการเสียสละทานใช่ไหม?

เสียสละทาน เห็นไหม นี่มันเหมือนกำปั้นทุบดิน ในเมื่อเอ็งไม่ให้ข้าก็จะให้ ไหนว่าเป็นของเอ็งข้าก็จะสละ นี่มันกำปั้นทุบดินมันต้องใช้ปัญญาเลย ใช้แต่ศรัทธาตัวเดียว แต่ขนาดศรัทธาตัวเดียวมันยังขัดแย้งอยู่ในหัวใจ แต่เวลาพิจารณาขึ้นไปแล้วนะ นี่สิ่งใดเป็นสมบัติเรา คนเป็นสมาธิ เวลาจิตมันสงบ โอ้โฮ มันลูบๆ คลำๆ สมบัติของเราๆ เสื่อมหมด เสื่อมหมด เพราะอะไร? สมาธิมันเกิดจากอะไร? สมาธิมันเกิดจากสติปัญญาของมัน มีสติขึ้นมามันกำหนดของมันใช่ไหม?

นี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้ารักษาเหตุนั้นสมาธิมันจะเสื่อมไหม? แต่พอมีสมาธิขึ้นมา โอ๋ย สมาธิของเรา ปัญญาของเรา ไม่มีหรอก เดี๋ยวมันก็ไป มันเกิดดับหมดแหละ มันเกิดขึ้นมามันก็สลายไปเป็นธรรมดา แล้วเราทำอย่างไรของมันขึ้นมา เราก็ตั้งสติ เห็นไหม เราตั้งสติ สันตติ ธาตุที่มันเป็นวัตถุธาตุนี่นะ พอสสารมันแปรสภาพไปแล้วนะ มันแปรจากธาตุหนึ่งไปอีกธาตุหนึ่ง สันตติเวลามันเกิด ธาตุรู้มันเกิด สันตติมันเกิดตลอดเวลา ธาตุที่มันเกิดตลอดเวลา นี่มันต่อเนื่องกันตลอดเวลา

ธาตุรู้ ธาตุที่มีชีวิตมหัศจรรย์มาก ทีนี้มหัศจรรย์ขึ้นมา ถ้าเรากำหนดของเรา ถ้าจิตเรากำหนดของเรา เรามีสติของเรา นี่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เวลาสันตติมันก็เกิดของมันตลอดเวลา เวลาเกิดของมันนะ นี่ความคิดเร็วกว่าแสง ถ้าเรากำหนด สิ่งที่มันเคลื่อนที่ที่เร็วที่สุด เราพยายามกำหนดให้มันหยุดนิ่งของมัน สิ่งที่เร็วที่สุด ถ้ามันหยุดนิ่งของมัน มันจะมีกำลังของมัน ถ้ามีกำลังของมันใช่ไหม? นี่กำลังของมัน ถ้าเราขาดสติมันก็ผ่อนคลายของมัน มันก็เสื่อมออกไป มันก็คลายตัวออกไปเป็นธรรมดา แต่ถ้ามันไม่เคยหดสั้นเข้ามา

ดูสิอาหารเป็นพิษ นี่สิ่งที่ว่าเวลาเราทุกข์เรายาก เราก็จะพอแค่ดำรงชีวิตไปชีวิตหนึ่งเพื่อแก้โรคหิวไป จิตมันขัดข้องหมองใจ มันอัดอั้นตันใจนัก ถ้ามันพุทโธ พุทโธ เวลามันผ่อนคลายของมัน นี่มันผ่อนคลายของมัน ผ่อนคลายเพราะอะไร? ผ่อนคลายเพราะมันไม่อมสิ่งที่เป็นพิษไง อมคือเสวย เสวยความคิด เสวยอารมณ์ เสวยความรู้สึก มันอมมัน เห็นไหม เราไม่ให้มันอมอันนั้น เราให้มันพุทโธไว้

เขาว่าพุทโธมันไม่มีรสชาติ พุทโธมันไม่ดี อู๋ย มันใช้ปัญญา มันอมสารพิษ มันไม่รู้ว่าเป็นพิษนะ เพราะความไม่รู้ของมัน แต่ถ้ามันรู้ขึ้นมา มันพิจารณาของมันนะ อ้าว อมแล้วได้อะไรขึ้นมา? เสื่อมหมด นี่สมาธิของเรา โอ๋ย ลูบๆ คลำๆ เสื่อมหมด เพราะมันเป็นผลไง มันเป็นวิบาก ผลเกิดจากสติ เกิดจากคำบริกรรม เกิดจากปัญญาอบรมสมาธิ เกิดจากการศึกษาธรรม ศึกษาด้วยความไม่รู้ ศึกษาด้วยอวิชชา ศึกษาแล้วเราปฏิบัติขึ้นมา พอมันเป็นจริงขึ้นมา อืม นี่ชื่อกับตัวจริงมันแตกต่างกัน

ถ้าชื่อกับตัวจริงแตกต่างกัน แม้แต่ตัวจริงขึ้นมา เรารักษาขึ้นมาแล้วมันก็ยังจะเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเสื่อมเป็นธรรมดานะ เสื่อมแล้วเราก็เสียใจ เสียใจเราก็ไปหวังที่ผลๆ หวังที่ความสงบระงับ แต่ความสงบระงับมันเกิดจากอะไรล่ะ? เกิดจากมีสติปัญญารักษา ถ้าเกิดจากสติปัญญารักษาเราก็ตั้งสติของเรา เราก็ดูแลของเรา เห็นไหม มันจะทุกข์ ทุกข์นะ นี่แรงขับ แรงดันด้วยตัณหา คนเราไม่เคยเห็นไม่เคยมีมันก็อย่างหนึ่ง พอมันมีมันเป็นขึ้นมาแล้วก็อยากได้ จิตมันเคยสงบแล้ว แล้วมันเสื่อมไปเราก็อยากได้อีก นี่มันทุกข์ มันขัดข้องใจ มันขัดแย้งมาก

นี่มันขัดแย้งก็ตั้งสติไว้ ตั้งสติไว้ ฝึกไว้ๆ ทำไว้ นี่พอฝึกไว้นะไม่มีสิ่งใดโต้แย้งเลย ถ้าเรามีสติปัญญารักษาไว้ สิ่งที่รักษาไว้ สิ่งที่มันขับมันดันออกมาเพราะมันอยากได้ผล ถ้ามันอยากได้สิ่งที่มันทะนุถนอมรักษา แต่เวลาเหตุมันไม่ทำ คนเรานี่อยากรวยๆ แต่ขี้เกียจทำงาน เวลาทำงานบอกเหนื่อยยากนัก แต่อยากรวยๆ นี่ก็เหมือนกัน อยากสงบ อยากจิตดี แต่ภาวนาเป็นอย่างไร?

นี่ภาวนาถ้าเป็นมิจฉา คนทำงาน ทำงานแล้วไม่ประสบความสำเร็จก็มี ทำงานแล้วประสบความสำเร็จก็มี นี่จิตถ้ามันพิจารณาของมันไปแล้วประสบความสำเร็จของมัน เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา มันสมดุลของมัน ไม่มีใครไปโต้แย้งได้ ไม่มีใครไปโต้แย้ง ไม่มีใครไปขัดแย้งกับความเป็นจริงได้ ถ้ามันสมดุล มันเป็นความเป็นจริงมันก็ต้องเป็นของมัน แต่ถ้ามันไม่เป็นล่ะ? อ้าว มันไม่เป็นเพราะอะไร? ไม่เป็นเราก็ต้องหาเหตุผลสิ เราหาเหตุผลว่าทำไมมันไม่เป็น มันเป็นมันเป็นเพราะเหตุใด?

นี่ถ้าเราหาเหตุผลของเรา เราแก้ไขของเรา พอแก้ไขของเรา ถ้ามันสมดุล มันเป็นสมดุล สัจจะมีอันเดียว อริยสัจจะมีอันเดียว โสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคมีอันเดียว อันเดียวหมายถึงว่ามันเป็นมรรคเหมือนกัน มันฆ่ากิเลสเหมือนกัน แต่กิริยาท่าทาง อำนาจวาสนาแตกต่างกัน แต่มันต้องลงอันเดียวกัน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อย่างอื่นไม่มี อย่างอื่นไม่มี! มันจะลงอันเดียวกัน แต่ถ้ามันไม่ลงอันเดียวกัน ไม่ลงอันเดียวกันต้องผิดคนหนึ่งเด็ดขาด

จิตมันเป็นอย่างนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไงของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมาของเราองค์ที่ ๔ พระศรีอริยเมตไตรยก็จะมาตรัสอย่างนี้เหมือนกัน นี่ขนาดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์ๆ เวลาตรัสก็ตรัสอันเดียวกัน อริยสัจอันเดียวกัน มันจะแตกต่างกันไปไหน? มันแตกต่างไปไม่ได้หรอก มันไม่มีอะไรที่แตกต่าง มันมีแตกต่างแต่ความเป็นไปของความรู้สึกนึกคิดเราเท่านั้นแหละ แต่ความรู้สึกนึกคิดมันทำให้วิธีการที่ทำเข้ามามันแตกต่าง แต่ผลล่ะ? ฉะนั้น จะขัดแย้งกันที่ผลไม่มี ฉะนั้น คำว่าไม่มี เราปฏิบัติของเราถ้ามันสมดุลมันก็เป็นแบบนั้น

นี่เรามองดูทางโลกสิ เวลาเขาปากกัดตีนถีบ เขาทุกข์เขายากนะ เขาแค่พอมีสิ่งใดเจือจุนชีวิตเขา เขาก็พอใจแล้วแหละ แล้วเราเกิดมานะเราก็มีสิ่งนั้นดำรงชีวิตเราแล้วแหละ แล้วนี่สิ่งใด สิ่งที่ว่าธรรมๆๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราก็ปรารถนา เราก็อยากได้สัมผัส เราก็ต้องขวนขวาย เรานะอายุแก่ เราแก่แล้วต่างๆ เราก็กำหนดลมหายใจสิ ในเมื่อลมหายใจเรามี ลมหายใจเรามี เห็นไหม ลมหายใจไม่ใช่หายใจเพื่อดำรงชีวิตอย่างเดียว ลมหายใจเราหายใจเพื่อดำรงชีวิตอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีสติปัญญากับลมหายใจด้วยมันเป็นอานาปานสติ

อานาปานสติมันคืออะไร? อานาปานสติเพราะจิตมันรับรู้ ลมนะ ลมพัด ลมพายุ มันเป็นอานาปานสติไหม? มันก็ไม่เป็น มันจะเป็นต่อเมื่อสติเรากำหนด สติเรารู้ทัน เพราะตัวสติมันรู้นี่ตัวอานาปานสติ นี่เพราะมีสติปัญญาควบคุมลม ถ้ามีลมเข้ามา เดี๋ยวเราจะรู้เองว่าชีวิตเรามีค่าแค่ไหน? เราเป็นคนกำหนดเอง เราเป็นคนรู้เอง เราจะรู้ว่ามันจะมีค่าที่ไหน? มันมีค่าที่หัวใจ หัวใจที่มันฟุ้งซ่าน มันบีบคั้น มันอัดอั้นตันหัวใจ สิ่งที่อานาปานสติมันผ่อนคลายของมันด้วยกิริยาของใจ ด้วยใจที่มันเสวยอารมณ์ มันอมแต่ทุกข์นั่นน่ะบังคับให้มันมาอยู่ที่ลม มาอยู่ที่สติ

ถ้ามันได้ทำของมัน งานสิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามีการกระทำมันต้องมีผลของมัน ถ้าผลมันเกิดขึ้นมานะเราจะเห็นคุณค่า ถ้าคนเห็นคุณค่าแล้วไม่ต้องพูดกันมากนะ คนรู้คนเห็นพูดง่ายๆ เลย ไอ้คนไม่รู้ไม่เห็นพูดยากมาก มันเป็นอย่างไร? มันเป็นอย่างไร? มันเป็นอย่างไรอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ไม่เป็นซักที แต่ถ้ามันเป็นแล้วนะไม่ต้องพูด ไม่ฟังด้วย อยากได้ของจริง อยากได้ของจริง แต่เวลาแสดงธรรม แสดงธรรมเพื่อเป็นวิหารธรรม ธรรมมันเป็นแบบนี้ ถ้าผู้ที่เป็นธรรมด้วยกัน คนหนึ่งแสดงธรรมนะ แล้วผู้ที่เป็นด้วยกันเขาฟัง เขารู้เลยว่าพูดถูกหรือพูดผิด

สัจจะมีอันเดียว ไม่มีสอง มีอันเดียว ฉะนั้น ถ้าคนพูดผิดนะ ไอ้คนที่เป็นด้วยกันฟังรู้ ฉะนั้น เวลาแสดงธรรม แสดงธรรมเพื่อเป็นวิหารธรรม เอวัง