เทศน์พระ

ถ้ารู้

๗ ก.พ. ๒๕๕๕

 

ถ้ารู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังเทศน์ เรามาลงอุโบสถไง อุโบสถสังฆกรรม กิจของสงฆ์ สงฆ์ต้องมีกิจกรรม เวลา ๑๕ วันต้องลงอุโบสถ อุโบสถศีล เพื่อความสะอาด เพื่อความผ่องใส เพื่อการเข้าหมู่คณะ

การเข้าหมู่คณะ หมายถึงว่า สิ่งที่เราทำสิ่งใด มันจะมาตรวจสอบกัน เราอยู่ด้วยกัน เราตรวจสอบกัน เห็นไหม ผู้ใดเป็นผู้ที่ชี้จุดบกพร่องของเรา เวลาเราอยู่ของเราคนเดียว เราจะไม่รู้เลยว่าเราบกพร่องสิ่งใด เราก็ว่าเราถูกต้องดีงาม เพราะเราประพฤติปฏิบัติ เราทำของเรา เราก็ว่าเราถูกต้องดีงามด้วยดุลพินิจของเรา

แต่เวลาเข้าหมู่คณะ ทำไมหมู่คณะท่านทำอย่างนั้น ในสงฆ์ทำอย่างนั้น การทำอย่างนั้นท่านมีเหตุผลอย่างใด ถ้าเหตุผลอย่างใด เราไปตรึกตรองของเรา ไปพิจารณาของเรา นี่การเข้าหมู่คณะมันได้ตรวจสอบอย่างนี้ไง ได้การตรวจสอบว่าสิ่งที่เราทำมา สิ่งที่เราประพฤติปฏิบัติมามันถูกต้องดีงามจริงหรือเปล่า ถ้ามันถูกต้องดีงามไม่จริง ทำอย่างไรมันถึงถูกต้องดีงามจริงล่ะ

ความถูกต้องดีงามจริงมันทำให้อบอุ่นนะ สิ่งที่อบอุ่นนะ ถ้าเราอยู่ในศีลในธรรม ผู้มีศีลจะเข้าสังคมไหนก็เข้าสังคมนั้นด้วยความองอาจกล้าหาญ องอาจกล้าหาญเพราะเราไม่รู้ว่าเราผิด แต่ถ้าเมื่อใดรู้ว่าผิดนะ เรารู้ว่าผิด สิ่งที่เราทำมานี่ระลึกถึงแล้วมันละอายเลยล่ะ เพราะเราเคยเป็น เวลาเราไม่รู้นี่เราทำด้วยความยึด ความมั่นอกมั่นใจ แต่เวลาเรารู้ผิดนะ โอ้! คราวนั้นก็ผิด คราวนั้นก็ผิด มันระลึกดูแล้วมันคิดนะ

นี่เหมือนกัน เราเข้าสงฆ์ เราเข้าหมู่สงฆ์เพื่อตรวจสอบไง ตรวจสอบว่าการกระทำของเรา ทั้งที่เราเข้าใจ ด้วยดุลพินิจของเราว่าถูก ด้วยความมั่นใจนะ เรามั่นใจมากว่าถูกต้อง แต่ด้วยกาลเทศะ ด้วยประสบการณ์ของเรา เราไม่รอบหรอก ถ้าเราไม่รอบนะ เราไม่รอบ เวลาเราเข้าไป ทำไมเขาทำแบบนั้น เขาทำแบบนั้นน่ะ เราต้องศึกษาสิ

เราบวชใหม่ๆ นะ เราไปสังคมใดก็แล้วแต่ เห็นเขาขบเขาฉันสิ่งใด เราสงสัยว่าเขาจะฉันได้จริงหรือเปล่า ก่อนเราจะถามเขา เราไปฉันกับเขาก่อน ทั้งๆ ที่เราสงสัยนะ เราฉันกับเขาก่อนเลย ฉันกับเขาเสร็จแล้วถามว่า “เอ๊ะ! ขอโอกาสนะ สงสัยว่าสิ่งนี้มันฉันได้อย่างไร” เขาอธิบายให้ฟังนะ อืม! หูตาสว่างนะ หูตาสว่างหมดเลยว่า เอ้อ!

แต่ถ้าเราจะไปถามเขาโดยที่ว่าเราไม่ฉันนะ เหมือนกับการจับผิดกัน เหมือนเราไปจับผิดเขา เราไปเพ่งโทษเขา พอพูดไปนี่มันกระเทือนกัน เห็นไหม เราทำกับเขาก่อนเลย เขาฉันเราก็ฉัน พอฉันเสร็จแล้ว “ผมขอโอกาสนะ ผมสงสัยว่าอย่างนี้มันฉันได้อย่างใด” เขาจะบอกเลยว่าที่มาอย่างใด

เวลาในสังคมสงฆ์ สิ่งที่ในสังคมสงฆ์นะ เวลาพระจอมเกล้าฯ ท่านบวชแล้ว สงฆ์บวชแล้วสงสัยในธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติไปเรื่อย จนสุดท้ายก็พยายามจะทำให้มันเข้าไปสู่ธรรมวินัยนั้น จนเป็นคณะคณะหนึ่งไป เห็นไหม นี่เพราะความสงสัย ความสงสัยแล้วมันปฏิบัติไป เพราะหมู่คณะเขาทำแบบนั้น

แล้วเวลาของเรา เรามองไปในหมู่สงฆ์สิ เราจะไม่เข้าใจหรอกว่าสิ่งที่เขาทำมามันเป็นประเพณีวัฒนธรรมพื้นถิ่นก็มี มันเป็นการอนุญาตของฝ่ายปกครองก็มี ทีนี้คำว่า “ฝ่ายปกครอง” นี่พ.ร.บ.สงฆ์ แต่ถ้าเป็นธรรมวินัยมันอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มเดียวกัน อยู่ในตู้เดียวกัน พระไตรปิฎกนี่เล่มเดียวกัน

ดูสิ ดูอย่างการปกครองทางโลกเขามีกฎหมายของเขา เวลากฎหมายของเขา เขามีกฎกระทรวงนะ เขามีกฎกระทรวง เขามีข้อตกลงระหว่างกระทรวง เราไม่รู้เรื่องหรอก ทำไมเขาไม่จับ? มันเป็นข้อตกลงระหว่างกัน นี่ก็เหมือนกัน ในสังคมของพ.ร.บ.สงฆ์เขามี เขามีสิ่งใดที่ว่าเขาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ถ้าอนุญาต นี้พูดถึงกฎหมายพ.ร.บ.สงฆ์ พูดถึงธรรมวินัย

แต่เวลาพูดถึงปฏิบัติล่ะ เวลาปฏิบัติขึ้นไป ทุกคน เราอยากจะพ้นจากทุกข์ เวลาเราเห็นนะ เราอยู่ในโลก เราเห็น เราได้ประสบชีวิตมา ชีวิตนี้ เห็นไหม โลกนี้มันต้องมีการพลัดพรากเป็นที่สุด มันมีความทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา เราถึงได้สละไง เราได้สละเพศของฆราวาส แล้วเรามาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระ เห็นไหม ศากยบุตรพุทธชิโนรส

เราเป็นศากยบุตรนะ บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราขอบวชญัตติจตุตถ-กรรม เราขอบวชเข้ามาเป็นพระ พอบวชเข้ามาเป็นพระ เรายอมรับ เราเปล่งวาจายอมรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยอมรับธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราได้เห็นโทษมาจากทางโลก เราพยายามจะปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์

พอถึงที่สุดแห่งทุกข์ปั๊บ เราศึกษาแล้วเราเริ่มแล้ว เห็นไหม ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนั้น นี่ความลังเลสงสัยของเราไง แล้วเราประพฤติปฏิบัติไป ความลังเลสงสัยของเรา ฉะนั้น สิ่งที่เราลังเลสงสัย เราไม่เข้าใจตามความเป็นจริง ฉะนั้น อาศัยครูบาอาจารย์ นี่เรามาลงอุโบสถศีลกันก็เพราะเหตุนี้ เรามาเข้าหมู่กันก็เพราะเหตุนี้ เข้าหมู่กัน ตรวจสอบกัน ดูแลกัน

หลวงตาท่านบอกว่า “ถ้าพระไม่ดูแลกัน ใครจะดูแล”

พระเรานี่ไม่มีน้ำใจต่อกัน ไม่ดูแลกัน แต่การดูแล ดูแลโดยอาวุโส ภันเต ผู้ที่อาวุโสมีประสบการณ์มากกว่า ประสบการณ์นะ ประสบการณ์ในชีวิต ประสบการณ์ในศาสนา เห็นไหม ถ้าประสบการณ์เราไม่มี ภิกษุบวชใหม่ สิ่งที่เป็นความทรมานของภิกษุบวชใหม่คือทนคำสอนนี้ไม่ได้

เวลาคำสอนเราก็รู้ เขาคนเหมือนกัน บวชเป็นพระเหมือนกัน ศีล ๒๒๗ เท่ากัน ทำไมเราจะโง่ไปกว่าเขา แต่เวลาเราใช้ประสบการณ์ของเรา เวลากาลเวลามันผ่านไปนะ เราระลึกถึงสิ่งที่เราเคยทิฏฐิมานะที่เราเป็นนะ เราก็ผิดมาๆ มันเสียใจนะ แต่ในปัจจุบันนี้ทำไมมันยอมรับไม่ได้ล่ะ นี่ดูกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเราสิ กิเลสของเรามันรู้ไม่ได้

ถ้ารู้นะ “ถ้ารู้” จะไม่ทำแบบนั้น แต่เพราะไม่รู้

ดูสิ ดูทางการแพทย์เขา เห็นไหม เขารู้เลยว่าเชื้อโรค ในที่อากาศที่เป็นพิษต่างๆ เขาไม่เข้าไปหรอก ถ้าเข้าไปแล้วมันจะเป็นภัยกับร่างกายของเรา เขาไม่เข้าไปใกล้ แต่เพราะเขาไม่รู้ถึงเข้าไป แต่ผู้รู้เขาไม่ไป นี่ก็เหมือนกัน เพราะเราไม่รู้ เราถึงทำผิดพลาดมา แต่ถ้าเรารู้เราจะทำไหม? ถ้าเรารู้เราไม่ทำหรอก นี้พูดถึงธรรมวินัยนะ

แต่ถ้าเวลาเราจะปฏิบัติธรรม นี่เหมือนกัน ถ้าเรารู้ เราต้องทำถูกต้องสิ นี่เราก็พยายามจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ทำไมมันไม่ได้ดั่งใจเราล่ะ? เพราะมันไม่รู้ ทั้งๆ ที่เราศึกษามา ศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูมรรค ๘ ใครก็รู้

เวลาหลวงปู่อ่อนท่านบอกเลย “ตัน ๘ ทิศ”

เราบอกว่า มรรค ๘ ทางอันเอก

แต่เวลาอวิชชานะ เวลามันลังเลสงสัยนะ มันมืดตันไปหมดเลย ๘ ทางก็ ๘ สงสัย ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ชอบอย่างใด ถ้าชอบอย่างใด ถ้าเป็นความชอบจริงนะ เวลาทำขึ้นมาต้องเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ถ้ามันรู้มันเห็นขึ้นไปมันก็ขวนขวาย มันก็ทำของมันไป

แต่เวลามันไม่รู้ไม่เห็น มันคอตกนะ เวลาปฏิบัตินี่อ่อนอกอ่อนใจ ล้มลุกคลุกคลาน ทำสิ่งใดไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเหตุใดล่ะ มันเป็นเพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม? ไม่ใช่ มันเป็นเพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากของเรา

เราเห็นโทษของมัน เราเห็นโทษด้วยสายตานะ เห็นโทษการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เห็นเวลาคนเขาพลัดพรากเขามีความทุกข์กัน เขาคร่ำครวญต่อกัน เราเห็นโทษของมันทั้งนั้นน่ะ เราเห็นโทษนั้นทำไมเราไม่เอาสิ่งนั้นมาเตือนใจเราล่ะ ถ้าเราเห็นโทษของการพลัดพราก เห็นโทษ ชีวิตเราก็มีการพลัดพรากเหมือนกัน ถ้าเรามีชีวิตการพลัดพรากกัน ความตั้งใจของเรามันต้องมีเหตุมีผลของมัน

เวลาปฏิบัติขึ้นมา ทำไมเราปฏิบัติกันไปแล้วทำไมลุ่มๆ ดอนๆ ลุ่มๆ ดอนๆ มันก็ต้องย้อนกลับมาทั้งหมด ทุกคนก็เป็นแบบนี้หมด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปี เห็นไหม ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด ขนาดล้มลุกคลุกคลานนะ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมาอานาปานสติ แล้วกำหนดเข้ามาสู่จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วพิจารณาไป บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ สิ้นกิเลสไป นี่ด้วยความสามารถในใจดวงนั้น ด้วยความสามารถของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นพิจารณาของใจดวงนั้น แล้วมันจะประสบความสำเร็จไปกับใจดวงนั้น

แต่ในปัจจุบันนี้เราอยากรู้อยากเห็น แต่เราหาใจของเราไม่เจอ เห็นไหม สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราหาที่ตั้งของเราเจอ เราแก้ไขของเราได้ ถ้าเราแก้ไขของเราได้ ดูสิ ถ้าเรามีฐานปฏิบัติการของเรา เราทำสิ่งใดมันต้องมีเหตุมีผล แต่นี้มันไม่มีเหตุมีผล มันเลื่อนลอย พอมันเลื่อนลอย มันเลื่อนลอยแล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลาน พอล้มลุกคลุกคลานมันก็ม้วนเสื่อ พอม้วนเสื่อขึ้นมาแล้วมีสิ่งใดล่ะ

เวลาคนเราตายนะ เวลาจิตนี้มันพลัดพรากออกจากกายนี้ไป เวลาตายจากร่างกายของมนุษย์ มันไปเกิดตามเวรตามกรรมของเขา เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมก็ได้ เกิดในนรกอเวจีก็ได้ เกิดเป็นสัมภเวสีก็ได้ การเกิดอันนั้นเราปฏิเสธไม่ได้ เราปฏิเสธไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นคราวเป็นกาลของมัน มันถึงเวลาเป็นวาระของมัน

แต่ในปัจจุบันนี้เรามีสติปัญญา ในเมื่อมันยังมีลมหายใจ ถ้ายังมีลมหายใจ แม้แต่ในสมัยพุทธกาล เวลาพระประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เดินจงกรม ถ้าเดินจงกรมจนหมดเรี่ยวหมดแรง คลานไปก็เอา คลานไปก็เอา คุกเข่าไปเขาก็ทำ ถ้าเขาทำไปอย่างนั้นมันไม่เป็นไปให้มันรู้ไป ให้มันรู้ของมันไปใช่ไหม แต่นี้ของเราล่ะ เรายังเคลื่อนไหวได้ เรายังทำสิ่งใดได้เลย แต่จิตใจมันอ่อนแอไปเอง ถ้าจิตใจมันอ่อนแอไปเองแล้วมันก็เลือกเฟ้นของมัน มันจะไปทางไหนล่ะ มันจะไปทางไหน

เวลาประพฤติปฏิบัติ ทำคุณงามความดีเราต้องขวนขวาย ต้องทำคุณงามความดีของเรา เพราะไม่ทำคุณงามความดีมันก็ทำความชั่วไง จิตมันต้องไปอยู่แล้ว ถ้าจิตมันไปอยู่แล้ว เราจะต้องควบคุมดูแลแล้วออกล่วงหน้าไปก่อน คำว่า “ล่วงหน้าไปก่อน” ทำแต่คุณงามความดี ทีนี้ทำคุณงามความดีแล้วทำไมทำคุณงามความดีแล้วมันทุกข์ยากขนาดนี้ล่ะ

การทุกข์ยากนะ เราทุกข์ยากเพราะเรามันผ่อนคลาย คำว่า “ผ่อนคลาย” หมายถึงเราเป็นอิสระ เราเลือกเฟ้นของเราได้

เวลาเราเกิดในครรภ์ ๙ เดือนไม่ได้ขยับเลยนะ ๙ เดือนอยู่ในท้องของแม่ นั่งคุดคู้อยู่อย่างนั้น ๙ เดือน ทำไม ๙ เดือนทำไมมันนั่งอยู่อย่างนั้นได้ล่ะ คุดคู้อยู่ในครรภ์ ๙ เดือน ทุกข์ไหม? ทำไมมันผ่านการคลอดออกมาได้ล่ะ ทนทุกข์ทรมานผ่านช่องคลอดออกมาแล้วเกิดมาเป็นเราอยู่นี่ ทำไมมันทนได้ล่ะ

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นู่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ทำไม่ได้ มันทำไม่ได้เพราะจิตใจเราแล้วแต่มันจะเลือกได้ไง แต่ถ้ามันอยู่ในความจำเป็นแบบนั้น ถ้านั่งอยู่ในครรภ์ของมารดา ๙ เดือนอย่างนั้น มันก็ต้องทนของมันได้ มันทนของมันได้ มันอยู่ของมันได้ เพราะเหตุใดล่ะ เพราะมันเป็นวาระ มันไม่มีทางออก มันอยู่อย่างนั้น มันก็ต้องจนตรอกอยู่อย่างนั้น ถึงเวลาคลอดออกมาแล้วมันถึงได้ผ่อนคลายของมันออกมา

แล้วปัจจุบันนี้ ดูสิ ถ้าเรามีความจริงจังของเราขึ้นมา เราตั้งใจของเรา ถ้าเราตั้งใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีสติปัญญาของเรา เราเลือกเฟ้นของเราเองได้ มันเป็นสิทธิของเราไง นี่เพราะไม่รู้ มันถึงได้จับจด เพราะไม่รู้ มันถึงได้แสวงหา มันถึงได้หาทางออกของมัน

“ถ้ารู้” สติมันดีขึ้นมา มันชัดเจนขึ้นมา “ถ้ารู้” เห็นไหม มันจบหมด

ถ้ามันฟุ้งซ่านอย่างไร มันก็ทำให้จิตนี้อยู่ในอำนาจของสติปัญญาได้ ถ้ารู้มันควบคุมได้ ถ้ารู้ เห็นไหม มันฟุ้งซ่านอย่างไร มันหลุดออกไปจากปกติของจิตได้อย่างไร แต่ถ้ามันเห็นของมัน ถ้ารู้ มันควบคุมมันได้

ถ้าไม่รู้ มันไปสุดเขตสุดแดนมันแล้วนะ เราค่อยตั้งสติได้ พอตั้งสติได้ นี่จิตใจอ่อนแอ เสียใจ ทุกข์ใจ ร้อนใจ แล้วทำอย่างไรต่อ ทุกข์ใจ ร้อนใจ เห็นไหม มันมีแต่ถดถอยไปเรื่อยๆ

เวลามนุษย์นะ เวลาสิ้นอายุขัย เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ถ้าหมดอายุขัยก็เวียนลงมาเกิด มนุษย์ นรกอเวจี จะเกิดที่ไหน ในเมื่อบุญกุศลก็ใช้ไปหมดแล้ว นี่มันก็เวียนกลับมา นี่ก็เหมือนกัน ถ้าทนไม่ไหวมันก็เวียนไป การเวียนไปมันอยู่ที่สติปัญญาของเราเท่านั้น นี่เวียนไป

สิ่งที่ประเสริฐที่สุด พรหมจรรย์นี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด แต่ถ้าเวลามันเวียนไป เวียนไปในอะไร? เวลาเวียนไปแล้วนะ ปัจจุบันนี้ก็ทุกข์อย่างนี้ ถ้าเวียนไปแล้วนะมันจะทุกข์มากกว่านั้น ทุกข์จนไม่มีทางออก เราทุกข์จนไม่มีทางออกแล้วทำอย่างไรต่อไป? มันยังมีชีวิตอยู่มันก็ต้องดิ้นรนกันไป

แต่สติปัญญาในปัจจุบันนี้มันเห็นโทษ ถ้ารู้แล้วมันเห็นโทษ เห็นโทษของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เห็นโทษของการครองเรือน เห็นไหม การครองเรือนคือการครองหัวใจ ตั้งแต่คู่ครอง ตั้งแต่บุตรธิดาต่างๆ หัวใจแต่ละดวงใจปกครองยากนัก เรา ถ้าจะปกครองหัวใจของเขา เราต้องปกครองหัวใจของเรา ถ้าเราปกครองหัวใจของเราได้นะ เราควบคุมใจเราได้ เราไม่มีอารมณ์ต่างๆ เราจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริง แล้วเราบริหารจัดการสิ่งนั้นได้ด้วยความถูกต้อง

แต่ถ้าเรามีอารมณ์ของเราขึ้นมา เห็นไหม เราตัดสินด้วยอารมณ์ มันผิดพลาดจากข้อเท็จจริงไป แล้วมีแต่ความผิดพลาดไปตลอด เพราะอะไรล่ะ เพราะเราไม่มีสติปัญญาควบคุมใจเราก่อน เห็นไหม จะครองเรือนน่ะครองหัวใจของเรา ถ้าครองหัวใจของเรา นี่พูดถึงทางโลกเขาครองเรือน

แต่เราจะครองธรรมล่ะ เราจะครองธรรมนะ สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถ้าเราครองธรรมได้มันจะเกิดสุคโต เกิดมรรคญาณ ถ้าเกิดมรรคญาณ เห็นไหม สิ่งที่ทำให้เราเร่าร้อน มันเร่าร้อนแต่เฉพาะกิริยา อย่างเช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ตากแดดตากฝน นี่มันร้อนแต่กิริยา ร้อนจากภายนอก แต่หัวใจนะมันไม่ร้อนตาม มันไม่ร้อนตาม เพราะมันได้เคลื่อนไหว มันได้มีการกระทำของมัน ถ้ามันมีการกระทำของมันนะ

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” ไม่มีธรรมะอันใดที่มันจะลอยมาจากฟ้า ไม่มีธรรมะอันใดที่จะได้มาโดยที่เราไม่ได้ฝึกฝน ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติให้ได้เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ถ้ามันอย่างนั้นมันก็เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ธรรมที่เป็นสาธารณะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ววางธรรมและวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี แล้วเราเกิดมาในร่มโพธิ์ร่มเงาของศาสนาพุทธ แล้วเรามาศึกษา สิ่งนี้เป็นศาสดาของเรา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เราศึกษาแล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเราปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันมีประสบการณ์ มีสัจจะความเป็นจริง นี่การครองธรรม

ธรรม เรารู้เอง เรารู้ได้ สมาธิเป็นแบบใด สมาธิ ถ้าจิตมันสงบเข้ามามีหลักมีเกณฑ์อย่างไร แล้วสมาธิมันเกิดขึ้นมาจากไหน ถ้าไม่มีสติมันสักแต่ว่าทำ ทำกันสักแต่ว่า ทำพอเป็นพิธี แต่ถ้าทำความเป็นจริงขึ้นมา ทำความเป็นจริงทำไมล้มลุกคลุกคลานขนาดนี้ ล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม แล้วถ้าคนเราเข้มแข็ง คนเรามีความจริงใจขึ้นมา นี่มันอดนอน มันผ่อนอาหารของมัน ถ้าอดนอนผ่อนอาหารนะ ธาตุขันธ์ไม่ทับจิต แต่ถ้าธาตุขันธ์มันทับจิต ดูสิ คนเราธาตุขันธ์ทับจิต จิตโดนกิเลสมันเหยียบย่ำอยู่ แล้วเราบอกว่าเราจะภาวนา เราไม่ได้ช่วยเหลือเลย

หลวงตาบอกว่า “จิตนี้เรียกร้องความช่วยเหลือ”

จิตของเรามันทุกข์มันยาก มันเรียกร้องความช่วยเหลือจากเรา เรียกร้องความช่วยเหลือจากที่ไหน? เรียกร้องความช่วยเหลือจากสติปัญญาของเรานี่ไง สติปัญญามันช่วยเหลือโดยการฝึกหัดตั้งตน ฝึกหัดตั้งสติขึ้นมา

สิ่งใดที่จะมีโทษกับมัน อาหารการกิน เห็นไหม ไขมันต่างๆ อาหารที่กินเข้าไปแล้วมันสัปหงกโงกง่วง นั่นน่ะธาตุขันธ์มันทับจิตเอา จิตมันอยากจะเป็นอิสระ แต่ในเมื่อมันมีกิเลส กิเลสมันก็อยาก เสวยไง อยากเสวย อยากกิน อยากอยู่ อยากปรนเปรอมัน อยากไปปรนเปรอ ปรนเปรอเพื่อคิดว่ามันจะเป็นความสุข คิดว่ามันจะเป็นความพอใจ เป็นความสุข แต่เวลามันกินเข้าไปแล้ว มันเป็นไขมันต่างๆ มันก็ไปอยู่ในร่างกายของเรา แล้วเวลามันเหลือใช้ขึ้นมา พลังงานมันเหลือใช้ขึ้นมา เวลาภาวนาขึ้นมามันก็กดทับ เวลากดทับมันก็สัปหงกโงกง่วง เห็นไหม มันเรียกร้องให้เราช่วยนะ แต่เราไม่ได้ช่วยเหลือมัน เราไม่ได้ช่วยเหลือใจเราเองไง

ถ้าเราช่วยเหลือ เราเริ่มผ่อนคลาย เราเริ่มตั้งสติของเราไว้ นี่ฉันแต่น้อย นอนแต่น้อย ภาวนาให้มาก

... ก็มันลำบากลำบน

ลำบากลำบน เห็นไหม ๙ เดือน นั่งคุดคู้อยู่ในครรภ์ลำบากกว่านี้ไหม จะต้องจุติในครรภ์ต่อไป จะต้องเกิดซ้ำเกิดซาก เวลาอยู่ในปัจจุบันนั้น เวลามันผ่านคราวนั้นมาเราก็บอกว่ามันพ้นไปแล้ว แต่ถ้าเราจะต้องไปเกิดอีก เราก็ต้องไปอยู่ในสถานะแบบนั้นอีก ถ้าสภาวะแบบนั้นมันทุกข์ไหม ถ้าสถานะมันทุกข์ เวลาการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาที่เราทำอยู่นี่ก็เพื่อจะพ้นจากเหตุการณ์อย่างนั้น ถ้าเราจะพ้นจากเหตุการณ์อย่างนั้น นี่มันมีสติปัญญาให้พ้นจากเหตุการณ์อย่างนั้น มันก็มีสติ มีปัญญา มีความเข้มแข็ง มีการกระทำ ตั้งใจทำ

ถ้ามันไม่ตั้งใจทำขึ้นมา มันอ่อนแอไง มันไม่เห็นผลตอบแทน ถ้ามันเห็นผลตอบแทน เห็นไหม ทำสติ เราตั้งสติขึ้นมา เราทำสมาธิขึ้นมา แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา มันใคร่ครวญของมันขึ้นมา นี่ผลมันให้มากกว่านั้น ผลมันให้มากกว่านั้นเพราะอะไร เพราะมันแก้กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา แก้ความไม่รู้ไง

ถ้ารู้นะ มันรู้จากมีสติ มันก็รู้ว่ามีสติ มีสมาธิมันก็รู้ว่ามีสมาธิ แล้วใช้ปัญญาอย่างใด

เวลาออกใช้ปัญญา บอกนี่ไง บอกทำสมถะแล้วมันต่อยอดไม่ได้ มันต่อยอดไม่ได้เพราะมันไม่หัดใช้ปัญญา การฝึกหัดใช้ปัญญา จิตมันเริ่มสงบมากสงบน้อยมันก็ฝึกใช้ปัญญาของมัน การฝึกใช้ปัญญา ปัญญามันจะเกิดมาจากไหน

ปัญญามันจะเกิดเองไม่มี ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาเอง เป็นไปไม่ได้ พอมันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พอมันสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พอเป็นสมาธิแล้วจะทำปัญญาอย่างไรต่อไป ถ้าเป็นสมาธิขึ้นมาแล้ว เพราะเป็นสมาธิแล้ว เป็นสมาธิมันเป็นเรื่องของจิต สมาธิเกิดที่ไหน สมาธิเกิดจากสมองเหรอ สมาธิเกิดจากร่างกายนี้เหรอ สมาธิเกิดจากธาตุใด

สมาธิเกิดจากธาตุรู้ก็เกิดจากจิต ถ้าสมาธิเกิดจากจิตแล้ว ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาที่เกิดจากสัมมาสมาธิทำอย่างไร

พอจิตมันเริ่มสงบ เราก็เริ่มใช้ปัญญาของเรา ปัญญาในอะไร? ปัญญาตรึกตรองในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นคุณค่าในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าจิตเป็นสมาธิ พอมันตรึกในธรรมนี่โอ้โฮ! มันซาบซึ้ง

แต่เวลาเราศึกษาธรรมโดยปกติของเรา เราก็ซาบซึ้ง เราซาบซึ้งพอใจในความรู้สึก ซาบซึ้งพอใจในความรู้สึกเพราะว่ามันสัจธรรม ธรรมเหนือโลก ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันฆ่ากิเลส พอเราศึกษา มันเห็นจริง อืม! สุดยอด สุดยอด แต่มันไม่เข้าถึงจิตหรอก มันเข้าถึงสัญญาอารมณ์ เข้าถึงความรู้สึก สัญญาอารมณ์ ขันธ์ ๕ เห็นไหม เวทนา มันเข้าถึงความรู้สึกของเรา

แต่ถ้าจิตมันสงบถึงฐีติจิต เข้าถึงเนื้อของจิต เวลาจิตมันสงบแล้วเราพิจารณาของเรา เราฝึกหัดของเรา จิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาใคร่ครวญ เลาะสิ่งที่สัญญาอารมณ์ สิ่งที่มันพอกเป็นดินพอกหางหมู นี่มันพอกอยู่ที่จิต

โดยจริตนิสัย คนชอบสิ่งใด อารมณ์ความรู้สึกอย่างนั้นก็เกิดขึ้น พอเกิดขึ้นเราก็ใช้ปัญญาใคร่ครวญ จริงหรือ เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราต้องได้ดีมาแล้วสิ เพราะเราก็เคยคิดอย่างนี้มาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้ามันเป็นความจริงมันก็ต้องเป็นประโยชน์กับเรา ทำไมมันคิดจบแล้วเราก็ยังสงสัยอยู่ ทำไมมันคิดจบแล้วเราก็ยังมีความทุกข์ฝังในหัวใจอยู่

มันก็พิจารณาของมัน อืม! ไม่ใช่ ถ้ามันไม่ใช่ มันควรจะละเอียดกว่านี้ขนาดไหน มันควรจะมีความรู้สึกอย่างไร จิตมันก็ใคร่ครวญค้นคว้าของมัน ถ้าค้นคว้าของมันนะ มันเข้าไป พอมันฝึกหัดไป จากจินตมยปัญญา สุตมยปัญญา การศึกษา จินตมยปัญญาคือการจินตนาการ จากจินตนาการที่มีสมาธิมันก็ลึกซึ้งเข้าไปจนมันเป็นภาวนามยปัญญา

ถ้าเกิดเป็นภาวนามยปัญญา นี่ไง ปัญญามันต้องฝึกฝน ฝึกฝนสิ ถ้าไม่ฝึกฝนปัญญาลอยมาจากฟ้าเหรอ ปัญญาใครจะยื่นให้ ชีวิตนี้ใครยื่นให้ จิตต่างหาก จิตมันมีเวรมีกรรมไปเกิดในวัฏฏะนี่ใครยื่นให้ กรรมต่างหาก กรรมมันสร้างมา กรรมมันทำมาตลอด ถ้ากรรมมันทำมา มันเป็นจริตนิสัยของมันแล้วใครจะยื่นให้

ในเมื่อเวลาจิตไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นี่โอปปาติกะ ใครควบคุมไป ใครควบคุมจิตนี้ไปเกิด? กรรมมันควบคุมไปเกิด เห็นไหม เวลาจิตมันมาเกิดเป็นมนุษย์ มาเกิดในครรภ์ของมารดานี่ใครควบคุมมา ใครควบคุมจิต บังคับจิตนี้ให้มาเกิดกับพ่อแม่ ใครบังคับให้จิตดวงนี้ไปเกิดเป็นสัตว์นรกอเวจี ใครบังคับมัน? ก็กรรมบังคับไปทั้งนั้น

แต่เวลาเราจะฝึกหัดใช้ปัญญาขึ้นมา ปัญญาจะเกิดขึ้นมาจากเรา ใครจะบังคับ ใครจะฝึกหัดให้ล่ะ? มันก็ต้องสติปัญญาของเรามันฝึกหัดของเราขึ้นมาสิ ถ้ามันฝึกหัดขึ้นมา มันออกฝึกหัดใช้ปัญญา นี่ไง พอมันรู้มันเห็นเข้าไป เพราะรู้ เพราะเห็น เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ถ้าจิตดวงนี้มันไม่รักษาจิตดวงนี้ จิตดวงนี้ไม่ช่วยเหลือจิตดวงนี้ จิตดวงนี้มันต้องไปตายไปเกิดอีก

แต่ถ้าจิตดวงนี้มันจะมีปัญญาใคร่ครวญ มันช่วยเหลือมัน นี่การฝึกหัดใช้ปัญญา นี่ไง ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงสมถกรรมฐานจะเกิดวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเป็นสมถกรรมฐาน ถ้ามันไม่มีสมถกรรมฐาน มันเกิดปัญญามันก็เป็นโลกียปัญญา มันเป็นตรึกในธรรม มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันเป็นสิ่งที่ใคร่ครวญจากจิตที่มีอวิชชา จากจิตที่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

เราก็ทำความสงบของใจเราก่อน ถ้ามันจะใช้ปัญญาก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เรารู้ว่าอย่างนี้เป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราก็พิจารณาของเราเข้ามา เห็นไหม มันรู้ มันเห็น เวลามันทำ ถ้ารู้นะ ถ้ารู้ถ้าเห็นแล้วนะ พอทำได้รอบสองรอบ ทำได้เป็นแล้ว รู้ช่องทางแล้วมันจะขยันหมั่นเพียร คนจะภาวนานะ มันจะหาที่หลบที่ซ่อน มันจะหาที่ความสงบสงัดของมัน มันจะทำของมันตลอดเวลา เพราะสิ่งนี้เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นอริยทรัพย์

นี่เราทุกข์เรายาก เราเกิดเราตายมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ เราเห็นโลก เห็นไหม ๗ พันกว่าล้านคน คนเกิดคนตายขนาดนั้น แล้วจะไปเกิดกับเขา เราก็จิตหนึ่งเหมือนกัน เขาก็จิตหนึ่งเหมือนกัน แต่จิตของใครมีสติปัญญาพอที่จะเอาตัวรอดได้ จิตของใครมีสติปัญญาพอที่จะควบคุมตัว

ดูสิ เราควบคุมกิริยาเรา นี่มารยาทสังคม เรานั่งอยู่ที่ไหนเรามีมารยาท เรามีมารยาทที่ดี เขาบอกคนๆ นั้นเป็นคนที่ดี แต่มารยาทของเราเข้ากับสังคมไม่ได้ เขาก็บอกคนนั้นมารยาทไม่ดี นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราฝึกหัด เราพิจารณาของเรา เราดูแลจิตของเรา เรารักษาจิตของเรา จิตของเรามันพัฒนาของเราขึ้นมา มันรู้มันเห็นของมันนะ

“ถ้ารู้” นี่มันเห็นคุณค่า พอเห็นคุณค่าขึ้นมามันก็ทำด้วยความเป็นจริง

แต่ถ้าไม่รู้ ไม่รู้นะ มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย

ทำไมชีวิตเราต้องมาทุกข์ขนาดนี้ นี่เวลาจิตมันเสื่อมนะ โลกเขาอยู่กันได้ ทำไมเราจะอยู่กับเขาไม่ได้ โลกเขาอยู่กันเขายังอยู่กันได้ อยู่อย่างมีความร่มเย็นเป็นสุข ทำไมเรามาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระก็ต้องฉันมื้อเดียว ต้องมาอดนอนผ่อนอาหาร ฉันมื้อเดียวแล้วยังต้องผ่อนมันอีก หิวก็หิว กระหายก็กระหาย ทุกข์ยากไปหมดเลย ทำไมชีวิตเราต้องเป็นแบบนี้ ทำไมเราไม่ไปเสวยสุขแบบเขา นี่เวลามันท้อถอยมันคิดของมันไปอย่างนั้น

แต่เวลาถ้าจิตมันเจริญรุ่งเรือง เห็นไหม เวลาเราอดอาหารนะ เราผ่อนอาหารนี่มันหิวมาก ความที่หิวเราก็พิจารณาว่า กระเพาะหรือที่มันหิว ลำไส้หรือที่มันหิว ลิ้นหรือที่มันหิว ความหิวกระหายนั้นมันคืออะไร

พอพิจารณาของมันนะ พอปัญญามันไล่ทันนะ ความหิว ความกระหายมันปล่อยวางหมด มันโล่งหมดเลย อ้าว! แล้วหิวหายไปไหน แล้วเมื่อกี้ก็ยังหิวอยู่น่ะ

เวลามันหิวขึ้นมาน่ะ หิวๆๆๆ แต่เวลาพอจิตมันพิจารณาของมัน มันเป็นธรรม จิตมันมีธรรมเป็นอาหาร จิตมันมีปัญญา มันพิจารณาธรรมเป็นอาหาร พอมันเป็นสัจธรรมขึ้นมา มันอยู่กับธรรม มันปล่อยสัญญาอารมณ์หมดเลย ความหิว ความกระหาย ความต่างๆ มันไปไหนหมด มันไม่มีเลย มันไม่มีเพราะเหตุใด นี่ถ้าคนพิจารณามันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมัน

ถ้าเห็นของมัน พอพิจารณาถึงที่สุดมันก็ปล่อย ปล่อยมันก็โล่งหมด มีความสุขอีกต่างหาก เมื่อกี้ยังหิวกระหายอยู่เลย แต่เวลาจิตมันรวมลง จิตมันปล่อยหมด ความหิวกระหายมันไปไหน? ความหิวกระหายมันไม่มี นั่นจิตมันหลอก

ถ้าจิตมันหลอก เห็นไหม พอจิตมันเข้าสงบแล้ว พอมันคลายตัวออกมา เออ! พอคลายตัวออกมาก็เป็นปกติ พอเป็นปกติโดยธรรมชาติของความรู้สึก จิตมันอยู่ในร่างกายนี้ จิตเป็นนามธรรม ต้องอาศัยรูปธรรม คืออาศัยร่างกาย ปฏิสนธิก็เกิดเป็นมนุษย์ โอปปาติกะก็เกิดเป็นเทวดา

ฉะนั้น พอจิตมันคลายตัวออกมามันก็รับรู้ นี่สามัญสำนึกในร่างกายนี้ ในเมื่อกระเพาะอาหารมันไม่มีอาหารตกไปในกระเพาะ มันขาดของมัน ความขาดของมันมันก็ต้องหิวเป็นธรรมดา ร้องจ๊อกๆๆ กลับมาหิวเหมือนเดิมไง เวลาถ้ามันรวมเข้าไปแล้วมันก็ปล่อยวางได้หมด เวลามันออกมาสู่สามัญสำนึกมันก็รับรู้โดยปกติ

ทีนี้พอรับรู้โดยปกติ แต่เพราะเราได้ฝึกฝน เราได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราพอใจของเรา เราก็หาสิ่งใดหล่อเลี้ยง ดื่มน้ำ ดื่มสิ่งใดประคองของมันไป ถ้าจะฉันข้าวก็ฉันข้าวเพื่อบรรเทา เพื่อสิ่งนั้นไป

แต่เรารู้ เรารู้ว่าถ้าเราพิจารณาโดยปัญญา “ถ้ารู้” เรารู้ของเรา ปัญญาของเรามันจะปล่อยวางอย่างนี้ แล้วเรามีความเข้มแข็ง เพราะมันทำได้ ๑ มันก็มี ๒ มี ๓ ขึ้นไป พอพิจารณาบ่อยครั้งเข้าๆ นะ มันจะละเอียดลึกซึ้งเข้าไป ละเอียดลึกซึ้งเข้าไป จนภาวนามยปัญญาเกิด พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก ถ้าจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นั้นคือโสดาปัตติมรรค

เวลาเราเป็นปุถุชน “ปุถุชน กัลยาณปุถุชน” ปุถุชนคนหนา เวลาเราทำจิตของเรา เราพิจารณาจิตของเราจนปัญญามันตัดขาดนะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าบ่วงของมาร พวงดอกไม้แห่งมาร เราตัดขาด จิตเรา นี่อจลศรัทธา

จากศรัทธา ศรัทธาความเชื่อ อจลศรัทธาคือว่ามันรู้มันเห็น ถ้ามันรู้มันเห็นมันเป็นอจลศรัทธา มันเห็นจริงของมัน พอเห็นจริงของมัน นี่มันควบคุมจิตได้ง่ายขึ้น พอจิตง่ายขึ้น ทำความสงบบ่อยครั้งเข้าจนจิตเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิ หัดใช้ปัญญา พอหัดใช้ปัญญา นี่ไง ถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะเข้าสู่โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคนั้นคือวิปัสสนา

ถ้าจิตเป็นสมถะ แล้วจะวิปัสสนาอย่างไร?

จิตเป็นสมถะแล้ว สมถะฝึกหัดใช้ปัญญา พอใช้ปัญญาแล้วจับต้องได้ตามความเป็นจริง มันจะเกิดสติปัฏฐาน ๔ เกิดสติปัฏฐาน ๔ มันก็เกิดโสดาปัตติมรรค พอเกิดโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติมรรคมันคืออะไร มรรคมันคืออะไร? มรรคคืองานชอบ ชอบในอะไร? ชอบในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ถ้ามันชอบในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันพิจารณาของมัน มันจะแยกแยะของมัน เห็นไหม แยกออกไป แยกออกไป แยกออกไป เป็นตทังคปหาน คือมันพิจารณาแล้วมันปล่อยบ่อยครั้งๆๆ เข้า พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆๆ ด้วยสติปัญญา ด้วยความมุมานะ ด้วยความจริงใจของเรา ด้วยความจริงใจเพราะอะไร เพราะมันเห็นโทษ เห็นโทษเวลาคนประพฤติปฏิบัติขึ้นไปมันเจริญแล้วเสื่อม การเจริญแล้วเสื่อมคือการเดินทาง ดูสิ เดินทาง มีรถอยู่คันหนึ่ง เราเดินทางตลอดไป เราต้องเติมน้ำมันบ่อยครั้งๆ เพราะน้ำมันต้องหมดถังแล้วต้องเติมๆๆๆ

นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาไปแล้ว เวลามันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญเป็นเรื่องธรรมดา พอเรื่องธรรมดา พอเราเข้าใจ เราเห็นโทษของมัน แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงของเรา นี่เวลาน้ำมันมันพร่องเราก็เติม พอจิตใจมันเริ่มไม่มั่นคงเราก็กำหนดพุทโธ เราก็จะพัฒนาขึ้นมา มันก็เข้มแข็งขึ้นมา พอเข้มแข็งขึ้นมาเราก็ไปใช้ปัญญาพิจารณาของมัน พอพิจารณามันก็ปล่อย ปล่อยมันก็เป็นตทังคปหาน นี่ขยันหมั่นเพียรของเราด้วยความรอบคอบ

แก่นของกิเลสนี้เข้มแข็งนัก เราบอกว่า สิ่งใดๆ ที่เข้มแข็ง นี่แก่นของกิเลสนี่เข้มแข็งมากกว่า เวลาเราพิจารณาไป เวลามันปล่อยวางนะ มันบังเงา มันหลบมันเลี่ยงนะ มันหลบมันเลี่ยงเพราะมันพยายามจะรักษาตัวมัน พอพิจารณาไปแล้วมันก็บอกว่าปล่อยแล้ว ขาดแล้ว เป็นธรรมะแล้ว นี่มันบังเงา มันสวมรอยตลอด

พอมันสวมรอยขึ้นมา ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ เพราะกว่าเราจะทำได้ขนาดนี้เราล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน เราทำงานมาวิกฤตขนาดไหน พอมันมีผลตอบสนอง เราก็เคลมว่าใช่ๆๆ นั่นน่ะ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่รอบคอบเพียงพอ ฉะนั้น พอเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอมันเสื่อมแล้วนะ มันก็ล้มลุกคลุกคลาน ออกมาจิตเสื่อมออกมา ทุกข์ยากออกมา พิจารณาซ้ำเข้าไป ทำความสงบมากขึ้น แล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป มันเข้าไปสู่ตำแหน่งที่เราเคยวิปัสสนา เราเคยปล่อยวางมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ละเอียดรอบคอบเข้าไป

ถ้าละเอียดรอบคอบนะ เวลามันถึงที่สุดนะ สมุจเฉทปหาน เวลามันขาดนะ

เวลาพิจารณากาย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์

พิจารณาขันธ์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕

พิจารณาจิต ถ้าจิตมันเป็นอนัตตา จิตมันปล่อยวางจิตแล้ว นี่เวลาจิตมันปล่อยจิต จิตมันปล่อยอาการของจิต จิตมันปล่อยความรู้สึก นี่มันขาด ปล่อยจิต

ปล่อยธรรมารมณ์ สิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์ พิจารณาแล้วมันขาด

เวลามันขาด สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วแต่ความถนัดขณะที่เป็นปัจจุบันธรรม

เวลามันขาดขึ้นมา ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เวลามันสมุจเฉทปหาน นี่มันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ไง ถ้ารู้อย่างนี้ ถ้าคนภาวนาเป็น ถ้าคนภาวนาเป็นนะ เวลาภาวนาเป็นขึ้นมาแล้วมันมีร่องมีรอยของมัน มันเริ่มต้นพัฒนาอย่างไร เริ่มต้นล้มลุกคลุกคลานมา เราเห็นโทษของมัน การล้มลุกคลุกคลานนั้นน่ะมันเป็นครูสอน มันเป็นการบอกว่า ถ้าทำไม่ถูกต้องมันจะเป็นแบบนี้

แต่เวลาเราเดินเข้ามาถูกต้อง จิตมันสงบเข้ามาแล้ว พอเราออกใช้พิจารณา พอพิจารณาไปมันรู้ของมัน มันถอดมันถอนของมัน มันจางคลาย มันคลายความหมักหมมของใจ มันถอดมันถอนของมัน ศรที่ปักในอกมันถอนออกๆ มันรู้ของมัน รู้เพราะเรารู้เอง เพราะเราชั่งน้ำหนักเอง จิตเราเป็นของเราเอง นี่มันเป็นปัจจัตตังหมด

แล้วเวลามันขาด! เวลามันขาดมันแตกต่างกับการปล่อยวาง เวลาเป็นตทังคปหานมันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วก็คือปล่อย ปล่อยแล้วมีความสุขมากนะ แต่ความสุขอย่างนี้มันไม่ตอบโจทย์ มันไม่สิ้นสุดโครงการ มันขาดแล้วมีอะไรล่ะ ขาดแล้วก็ยังเหลือ มันปล่อยแล้วมันก็ยังเหลือ ปล่อยแล้วมีอะไรต่อไป ปล่อยแล้วก็สงสัย ปล่อยแล้ว เอ๊ะ! เอ๊ะ! น่าจะ เอ๊ะ! มันใช่หรือไม่ใช่ มันยังสงสัยอยู่

แต่ถ้าเวลามันขาด มันไม่มีสงสัยนะ “ดั่งแขนขาด” พอขาดแล้วจบ มันมีอะไรน่ะ? ขาด นี่ความสงสัยไม่มี สีลพพตปรามาสไม่มี ทุกอย่างไม่มี ไม่มีเพราะอะไร ไม่มีเพราะมันขาดต่อหน้า ไม่มีเพราะมันตายซึ่งๆ หน้า มันเห็นศพกิเลส มันพลิกเลย กิเลสเป็นอย่างไร ตายอย่างไร ต่อหน้าอย่างไร

ถ้ารู้ ถ้าเห็นนะ จะเห็นคุณค่า สิ่งใดในโลกนี้ไม่มีคุณค่ากับสัจธรรม ไม่มีคุณค่าเลย โลกนี้สมมุติ การเวียนตายเวียนเกิดนะ จะมีศักยภาพสูงส่งขนาดไหน ตายไป เห็นไหม เวรกรรม เห็นไหม ถ้าทำดีก็ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ทำชั่วก็ตกนรกอเวจี ทำเสมอตนก็เกิดมาเป็นมนุษย์อีก สร้างสมบุญญาธิการต่อไป สิ่งที่เวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างนั้น นี่เป็นโลกสมมุติ

แต่สัจธรรมล่ะ สัจจะความจริง ถ้าสัจธรรมแล้วทำความจริงได้เป็นความจริงขึ้นมา เวลามันขาดไปจากใจ เป็นธรรมดานี่แหละ แต่จิตใจมันไม่เป็นมนุษย์ธรรมดาสิ ไม่เป็นธรรมดาเพราะเหตุใด ดูสิ ดูรถมันต้องไปด้วยเครื่องยนต์ ไปด้วยกำลังของเครื่องยนต์ ไปด้วยน้ำมัน เห็นไหม มนุษย์ต้องมีจิต ความรู้สึกนึกคิดนี่ ทำให้ดำรงชีวิตของมนุษย์

แล้วถ้าจิตที่มันเหนือมนุษย์ขึ้นมาแล้ว มันมีคุณค่าอย่างใด แต่อยู่กับโลกเขานะ เขามีสติปัญญาพร้อมนะ ไม่ใช่คนบกพร่อง ถ้าคนบกพร่อง คนขาดสติ นั้นคนบ้า แต่คนนี้มีคุณธรรมในหัวใจ กิเลสมันขาดออกไป เขามีคุณธรรมในหัวใจของเขา เขาใช้ชีวิตของเขา เขารู้ตัวทั่วพร้อม เขาเห็นว่าอะไรควรหรือไม่ควร โลกเขาเป็นอย่างนั้น โลกเขาพูดกันแต่ผลประโยชน์ เขาไม่คุยกันถึงการเสียสละแล้วได้มา การเสียสละคือเสียสละกิเลสออกไป การเสียสละเป็นความจริงในหัวใจออกไป แล้วมันจะได้สัจธรรมความจริงนั้นมา

ถ้ารู้แล้วมันก็จบสิ้นกระบวนการ แต่ถ้ายังไม่รู้นะ เราจะต้องเวียนตายเวียนเกิด ยังต้องทุกข์ยากของเราตลอดไป

ชีวิตนี้อยู่ที่อำนาจวาสนาของคน ถ้าคนมีอำนาจวาสนานะ การบวช ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์นี้ประเสริฐที่สุด แต่ถ้าไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราก็พยายามขวนขวายของเรา ชีวิตนี้มันคือแบบนี้ เราจะใช้ชีวิตแบบใด? แบบคฤหัสถ์เขาก็ต้องใช้ชีวิตของเขา แบบนักบวชนักพรตเราก็ใช้ชีวิตของเรา ชีวิตเหมือนกัน แต่โอกาส นักพรตเรามีโอกาส ๒๔ ชั่วโมง ถ้าเราอยู่ในหมู่คณะที่ดี เราจะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติได้ตลอดเวลา เรามีโอกาสตลอดเวลานะ

โลกเขาขอโอกาสกัน แต่ถ้าเราไปอยู่ทางโลกนะ โลกนี้มีการแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะมีการแข่งขัน การแข่งขันนี้เขาว่าแข่งขันโดยโลกนะ แต่ถ้ามันมีเวรมีกรรมด้วย เวรกรรมนั้นมันแข่งขันในสิ่งมิติที่โลกมองไม่เห็น แต่ถ้าสิ่งที่โลกเขาเห็น สิ่งนั้นสร้างเวรสร้างกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั้นประสาโลก แต่ถ้าเราอยู่ในนักพรตนักบวช เราจะสร้างคุณงามความดีของเรา

โอกาสของเรามีมาแล้ว สิ่งที่จะได้มา เห็นไหม การเกิดเป็นมนุษย์นี้มีอำนาจวาสนามาก เพราะการเกิดเป็นมนุษย์มีโอกาสได้เลือก เลือกทางไหนก็ได้ ฉะนั้น เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเรามีสิทธิเลือก แล้วเลือกอะไร จะเลือกโลกหรือจะเลือกธรรม

“ถ้ารู้” ไม่ต้องมีใครบอก แต่ถ้าไม่รู้ เราก็กระเสือกกระสน แต่ถ้ารู้แล้ว จบ เอวัง