เทศน์บนศาลา

ถอดจากใจที่รู้

๑๗ ก.พ. ๒๕๕๕

 

ถอดจากใจที่รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์บนศาลา วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มา...ตั้งใจฟังเทศน์ พูดถึงฟังเทศน์นะ ผู้หัดใหม่ นั่งเฉยๆ นั่งเป็นปกติ ไม่ต้องตั้งใจนะ ไม่ต้องตั้งใจจนเกินไป จนเกร็งไง นั่งเป็นปกติ ตั้งสติไว้ เสียงจะมากระทบเราเอง เสียงนี้จะมากระทบเราเอง การฟังเทศน์ในภาคกรรมฐาน การฟังเทศน์นี้สำคัญที่สุด สำคัญเพราะเวลาเราภาวนาพุทโธๆ นี่เราต้องกำหนดเอง

แต่เวลาฟังเทศน์ เห็นไหม ชุบมือเปิบ จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงที่แสดงธรรมนั้นจะต้องมีประสบการณ์ของใจ ถ้าไม่มีประสบการณ์ของใจ สิ่งที่แสดงมานั้นมันเป็นสัญญาทั้งหมด ฉะนั้นสิ่งที่ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เวลาภาคปฏิบัติเขาหวังตรงนี้มาก เพราะเวลาแสดงธรรม ผู้ที่กระเสือกกระสนจะก้าวเดินต่อไป สิ่งนี้จะเป็นผู้ชี้นำ ธรรมนี้ เสียงของธรรมจะชี้นำให้เราเข้าไปสู่ในหัวใจของเรา

การฟังธรรมคือการทวนกระแส ทวนกระแสเข้าสู่หัวใจของตัว

แต่ในทางโลกนะ ในทางโลกเห็นไหม “ส่งออก” ทางส่งออกนี้เป็นธรรมชาติของธาตุ ธรรมชาติของพลังงาน พลังงานทุกชนิดมันจะคลายตัวของมัน พลังงานของใจ พลังงานของจิต ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณ แต่ความกระทบของเรานี่มันเป็นสัญญา มันเป็นของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แต่โดยปกติของมัน โดยธรรมชาติของมัน มันต้องทำงานของมัน การทำงานของมันอย่างนี้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออก ตรัสรู้ธรรมนะ กว่าที่จะตรัสรู้ธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพยายามประพฤติปฏิบัติ ขณะที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกประพฤติปฏิบัตินั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม ยังไม่รู้ธรรม ถ้ายังไม่รู้ธรรม นี่แสวงหา

เหมือนพวกเรานี่ยังแสวงหากันอยู่ ในเมื่อยังไม่รู้ เราก็แสวงหาความรู้ ทุกคนอยากมีความรู้ ทุกคนอยากฉลาด ทุกคนอยากจะเอาตัวรอดได้...แต่เอาตัวไม่รอด! เอาตัวไม่รอดเพราะมันมีอวิชชา มีความไม่รู้อยู่จิตใต้สำนึก ความที่ไม่รู้จิตใต้สำนึกเรานั้นน่ะคืออวิชชา ทำให้เราเวียนตายเวียนเกิดอันนั้น ฉะนั้น สิ่งนี้มันครอบงำหัวใจอยู่ คือความไม่รู้

ไม่รู้เรื่องอะไร? ไม่รู้เรื่องการเกิดการตายของจิตดวงนี้ จิตดวงนี้สร้างบุญญาธิการ สร้างสมบุญญาธิการ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วถึงมาเทศนาว่าการไว้ว่า...เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า บุพเพนิวาสานุสติญาณ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไป การสร้างสมบุญญาธิการมา ถ้าเป็นพระปัจเจก เห็นไหม พระพุทธเจ้า กับพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเวลาสร้างสมบุญญาธิการเป็นพระโพธิสัตว์ นี่ต้องสร้างสมบุญญาธิการอย่างนี้มา

เวลาสร้างสมบุญญาธิการอย่างนี้มา เห็นไหม เวลาคนเกิดมาแล้ว จิตใจ ความรู้สึกนึกคิดของคนแตกต่างหลากหลาย เพราะการสร้างบุญญาธิการนี่สะสมมาต่อเนื่อง และขาดตอน และการสร้างสมบุญญาธิการมานี่มันยังมีความที่ขาดตกบกพร่อง จิตใจของคนมันเลยแตกต่างหลากหลาย

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกแสวงหา ออกประพฤติปฏิบัติ เพราะไปเที่ยวสวนนะ เห็นเทวทูต การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย “การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราก็ต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ ถ้าเราต้องเป็นเช่นนั้นน่ะ ชีวิตนี้มีคุณค่าสิ่งใด มันต้องมีฝ่ายตรงข้าม” นี่เชาวน์ปัญญา

เชาวน์ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นว่า “ถ้ามันมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย แล้วมันเป็นแบบใด” นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาสิ่งนี้ไง เห็นว่า การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันสะเทือนหัวใจ เจ้าชายสิทธัตถะมาก

ฉะนั้น การแสวงหาที่ว่า สิ่งที่ว่าไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ฉะนั้น ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย นี่ก็แสวงหา แสวงหา ออกบวชแล้วไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เห็นไหม เขาก็ปฏิญาณตนกันว่าเขาเป็นพระอรหันต์ เขาเป็นศาสดาทั้งนั้นน่ะ ไปศึกษากับใคร ศึกษากับใคร

แต่ด้วยบุญญาธิการในหัวใจไง สิ่งที่เขาสั่งสอนกันมานั้นมันเป็นความรู้ เป็นความรู้ของโลก แต่มันไม่ใช่เป็นความรู้ของธรรม ถ้าเป็นความรู้ของโลก โลกก็ศึกษากันได้แค่นั้น แต่ถ้ามันศึกษาแล้วมันจะปลดเปลื้องความลังเลสงสัย ความไม่เข้าใจของในหัวใจ นี่ตัวอวิชชานี้ไง ตัวความไม่รู้ในใจมันต้องดับสิ่งนี้ได้

แต่นี่มันดับไม่ได้ ถ้ามันดับไม่ได้มันอยู่กับในหัวใจของเรา เรารู้เอง

ก็บอก สิ่งนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้ไม่ใช่ แสวงหาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงที่สุด นี่ทดสอบๆๆ ทุกกระบวนการ ทดสอบทุกๆ เกจิอาจารย์ ทดสอบทุกอย่างหมดแล้ว มันไม่ใช่ พอไม่ใช่ สิ่งที่ใช่มันคืออะไร

นี่ย้อนกลับมา...ความสะอาดบริสุทธิ์ ความรู้จากภายใน ไม่มีใครทำให้ใครได้ มันจะเป็นความจริงของใจดวงนั้น

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนตรอก “จนตรอก” หมายความว่า ไปกับใครสิ่งใดแล้ว มันรับ ละสิ่งนั้นไม่ได้ ถึงระลึกถึงว่า ขณะที่เป็นราชกุมาร นี่กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก กำหนดลมหายใจอันนั้น จิตมันสงบระงับได้ ถ้าจิตสงบระงับได้มันจะย้อนกลับมาไง ย้อนกลับมาทำลายอวิชชา

อวิชชาคืออะไร? อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา สงฺขาราปจฺจยา วิญฺญาณํ พลังงานนี้ส่งออกไง โดยธรรมชาติของมันเป็นแบบนั้น โดยธรรมชาติของพลังงานมันส่งออกหมด

แล้วถ้าวิชชาล่ะ เพราะอานาปานสติ จิตมันสงบเข้ามา ย้อนกลับมาเห็นน่ะ นี่สิ่งที่ว่าเวลามันสงบระงับเข้ามา สิ่งที่สงบเข้ามาเห็นกระบวนการของจิต เห็นการกระทำของมัน เห็นไหม บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ...สิ่งนี้ไม่ใช่ พอไม่ใช่ขึ้นมา เพราะว่ามันเป็นพลังงานธรรมชาติ พลังงานขับเคลื่อนของมันโดยที่มันมีเหตุมีปัจจัย มันก็ขับเคลื่อนของมันไป

แต่เวลาอาสวักขยญาณขึ้นมา อาสวักขยญาณเกิดจากสิ่งใด? เกิดจากความดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ ความชอบธรรม ชอบงาน ดูสิ เราทำงานสิ่งใดกัน เราพยายามทำหน้าที่การงานของเรา ถ้าชอบธรรม สิ่งนั้นถูกต้องดีงาม เวลาเขาทำสิ่งใด เขาแสวงหาความชอบธรรมกัน เห็นไหม ความชอบธรรม ความถูกต้องดีงาม นั่นหน้าที่การงานประกอบสัมมาอาชีวะไง

แต่ถ้ามันชอบธรรมการเกิด การแก่ การเจ็บ การตายที่ฝั่งตรงข้ามที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เพราะเหตุใด? ปฏิสนธิจิตมันไป เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดในนรกอเวจีมันก็เกิดโดยแรงกรรม กรรมขับเคลื่อนมันไป

แต่เวลามีสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เวลาเข้าไปนี่ก็เป็นกรรมเหมือนกัน การกระทำเหมือนกัน แต่กรรมเป็นการกระทำของจิตไง ถ้าจิตมีกระบวนการของมัน จนชำระสิ่งนี้สะอาดบริสุทธิ์ นี่เสวยวิมุตติสุขนะ นี่ไง “จิตที่รู้”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาความรู้จริง แล้ววางธรรมและวินัยไว้ วางเป็นทางเดินให้เราไว้ เห็นไหม เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ ปู่ ย่า ตา ยายเราเป็นผู้ฉลาด นับถือพุทธศาสนา เรานับถือพระพุทธศาสนา

พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เบิกบานในสิ่งใด? เบิกบานในชีวิตของเราไง ถ้าชีวิตของเรานี่เป็นชาวพุทธ ชีวิตของเราเกิด เกิดมาจากไหน? เกิดมาเราก็เกิดมาจากพ่อจากแม่ของเรา นี่เรามีพ่อมีแม่เรามาเกิด นี้พูดถึงทางโลกนะ

แต่ถ้าพูดเป็นสัจจะความจริงน่ะ เกิดจากกรรม การกระทำของเรา จิตมันมีแรงขับมามันถึงต้องมาเกิด มันเว้นวรรคไม่ได้หรอก มันเกิดในสถานะใดมันเกิดในธรรมชาติของมัน แต่เพราะมีบุญมีกรรมร่วม เราถึงมาเกิดเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกัน เกิดในชาติในตระกูลนี้ นี้เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา นี่ไง ถ้าเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าเรามีการศึกษา มีการศึกษาในหลักสัจธรรมนะ “ชีวิตเป็นอย่างนี้”

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ในเมื่อมีการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย มันต้องมีตรงข้าม ตรงข้ามนี้

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอันนี้ขึ้นมาแล้วนี่ถึงจะเป็นความจริง นี่ไง ถอดออกมาจากใจผู้รู้จริง แล้ววางเป็นธรรมและวินัยนี้ไว้ นี่พอถอดออกมาจากใจผู้ที่รู้จริง

เวลาสอน...เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่รู้ ใจยังไม่รู้ก็ไม่ได้สอน เวลาประพฤติปฏิบัติอยู่ ปัญจวัคคีย์คือพราหมณ์ทั้ง ๕ พราหมณ์ทั้ง ๕ ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่สมัยนั้นเห็นไหม เวลาไม่รู้ก็พยายามแสวงหากันอยู่ แต่เวลารู้ขึ้นมา เวลาจะไปเทศน์ปัญจวัคคีย์เพราะเสวยวิมุตติสุข นี่เป็นความจริง

จะถอดออกมาจากใจผู้รู้ ผู้รู้มีธรรมและวินัยแล้ว มีธรรม สัจธรรม ธรรมที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย มันเกิดมาจากไหน แล้วมันมีวิธีการอย่างไร จะไปเทศน์ธัมมจักฯ กับปัญจวัคคีย์ จะไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ เวลาเทศนาว่าการธรรมนั้นออกไป พอธรรมออกไป ใจของพระอัญญาโกณฑัญญะที่ได้ทำความสงบของใจมาพอสมควรแล้ว มันมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ถ้ารู้เห็นตามความเป็นจริง ความจริงอย่างนี้เกิดขึ้นมาในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมาก

ในเมื่อเราเวียนตายเวียนเกิดกันไม่มีต้นไม่มีปลายนะ เราจะไปนี่ ชีวิตนี้เหมือนกับฝุ่น เหมือนกับฝุ่น เหมือนกับใบไม้ มันปลิวไปตามกระแสลม นี่ก็เหมือนกัน การกระทำของจิตน่ะ เกิดตาย เกิดตายแต่ละชาติๆ มันเวียนตายเวียนเกิดไปตามอำนาจของกรรม ถ้าอำนาจของกรรม สิ่งที่กรรม กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำนี่แหละ มันให้ผลกับใจดวงนี้ สิ่งนี้มันขับแรงมันไป สิ่งที่มันปลิว...จิตนี้เหมือนกับฝุ่นที่มันจะเวียนไปในวัฏสงสาร

แล้วถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา เราจะรักษาของเรา เราจะพิสูจน์ของเรา พิสูจน์ตามความเป็นจริงในหัวใจนี้ ถ้าอาสวักขยญาณเข้ามา มาชำระตรงไหน มันต้องมีที่มาที่ไปนะ เรา เห็นไหม ดูสิ ในปัจจุบันนี้โลกเจริญ เราต้องพิสูจน์กันทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์พิสูจน์กันว่ามันเกิด มันเกิดเพราะอะไร มันตาย ถ้ามันตาย มันหมดอายุขัย มันตายอย่างไร

แล้วถ้ามันไม่เกิด มันต้องมีเหตุมีผลพอสิ ใครจะหลอกตัวเองได้ ถ้าเราหลอกตัวเราเอง เราว่าเราไม่สงสัย ไม่สงสัยจริงหรือ ไม่สงสัยในหัวใจจริงหรือ ถ้ามันมีความสงสัยอยู่เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ ถ้าเราวางธรรมวินัยนี้ไว้ เราศึกษากันนะ นี่เห็นไหมเราเป็นชาวพุทธ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เพราะวางข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรนี่ไง เช่น เรานั่งสมาธิภาวนา นี่ข้อวัตร เราทำของเรา ถ้าเราทำของเรา แล้วใจของเรามันเป็นจริงขึ้นมาไหมล่ะ

ทีนี้ ถ้าเราจะปฏิบัติขึ้นมา เราต้องว่ามีการศึกษา ต้องศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะความไม่รู้ เห็นไหม เพราะเราไม่รู้ เราก็ต้องศึกษา พอศึกษาไป ศึกษาด้วยอะไร? ศึกษาไปด้วยหัวใจที่ยังไม่รู้ พอศึกษาด้วยหัวใจที่ยังไม่รู้

การศึกษานั้นมันเหมือนกันใส่แว่น ดูสิ แว่นขยายของใครใหญ่ แว่นขยายของใครหนา แว่นสายตาของใครสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงต่างๆ มันก็มีแตกต่างหลากหลายไป ฉะนั้น เวลาศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศึกษาไง ศึกษามาด้วยความรู้ของตัวๆ จิตมันไม่รู้ จิตมันไม่รู้จริง แต่ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง ความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมจริง

ดูสิ ความจริงทางวิทยาศาสตร์ ทางวิทยาศาสตร์เขาก็มีนักวิชาการ เขาก็มีความชำนาญของเขาไปแตกต่างกันไป นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อความจริงอย่างนี้เป็นความจริงธรรมะนี่สัจธรรม ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นสัจจะ เป็นธรรมสาธารณะที่เราศึกษากัน

ถ้าเราศึกษากันก็บอก ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันหมุนเวียนไปเช่นนี้เอง...มันก็เกิดตายๆ เช่นนี้เองไง มันมีสิ่งใดทำให้จิตใจนี้หมดกระบวนการของการเกิด หมดกระบวนการสิ่งที่มันจะชักนำไป มันมีสิ่งเร้า มีสิ่งขับ มันถึงหมุนไป ถ้ามันหมุนไป มันหมุนไปเพราะสิ่งใด นี่เวลาศึกษาไป การศึกษาของแต่ละบุคคล ศึกษามาโดยแว่นขยายนั้น ถ้าแว่นขยายนั้น นี่ไง ธรรมที่สิ่งที่ว่าใจมันไม่รู้

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นความจริง ศึกษามาแล้วด้วยแว่นขยายนั้น ด้วยแว่น ด้วยขยาย ด้วยความมุมมองนั้น ด้วยทางวิชาการนั้น นี่คือปริยัติ เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางนะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ในทางปริยัติ ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันก็เลยกลายเป็นนกแก้วนกขุนทอง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นสัจธรรม

สัจธรรมทำไมมันทุกข์ล่ะ สัจธรรมทำไมมันแก้ใจไม่ได้ล่ะ นี่ไง เวลาเราบอกเราเกิดเป็นชาวพุทธ เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ในการศึกษานะ การศึกษามีความจำเป็น ปริยัติมีความจำเป็นมาก ในเมื่อจิตไม่รู้ การจะเดินทางเราก็ต้องมีแผนที่เครื่องดำเนินแน่นอน ทีนี้มีแผนที่เครื่องดำเนิน เขาศึกษาไว้ เขาทำความเข้าใจกับแผนที่เครื่องดำเนินนี้เพื่อเราจะเอามาประพฤติปฏิบัติ เราจะลงไปเดิน เราจะเดิน...

สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ในเมื่อเราจะรักษา เราจะทำหัวใจของเรา ฐานที่ตั้งเราอยู่ไหน?

เวลาเราใส่แว่นนะ เราใส่แว่นขยายหรือเราใส่แว่นสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงก็แล้วแต่ เวลาใส่แว่นเราก็เห็นภาพนั้นลางๆ แต่ถ้าเราถอดแว่นล่ะ ถ้าเราถอดแว่นนั้นออกล่ะ ถ้าถอดแว่นนั้นออก เห็นไหม ดูสิ ถ้าคนมีสายตาอยู่เขาก็เห็นภาพเลือนรางเหมือนกัน แต่ในทางประพฤติปฏิบัตินะ พอถอดแว่นออกมาแล้วตาบอด ถอดแว่นแล้วตาบอด ถ้าเราไม่ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ศึกษาธรรมวินัยนี้ ไม่มีการศึกษาเลย เราก็ไม่รู้สิ่งใดเลย

แต่พอเรารู้ขึ้นมาแล้วนี่เรารู้ เราศึกษาเรารู้หมด ธรรมะเป็นธรรมชาติ นิพพานเป็นความว่าง การเกิดการตายมันเป็นไปโดยกรรม...รู้ไปหมด แต่ใจมันยอมรับว่ารู้ด้วยไหม ใจมันรู้จริงด้วยหรือเปล่า? ใจมันไม่รู้หรอก ฉะนั้น สิ่งที่ศึกษามานั่นคือแว่น ถอดแว่นแล้วก็มืดบอด ถอดแว่นแล้วตาบอดนะ

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านจะสอนประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ก่อนที่เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะต้องรู้จักตัวตนของเรา ถ้ารู้จักตัวตนของเรา เราจะรักษาอาการตาบอดเราให้หูตาสว่าง ถ้าหูตาเรารู้ขึ้นมาจริง นี่ปริยัติ ปฏิบัติ

นี่ออกมาจากใจที่ไม่รู้ มันก็มีการฉ้อฉล มีการเข้าข้างตนเอง มีการเพิ่มคะแนน ตัดคะแนนให้กับตนเอง แต่ถ้าตามความเป็นจริงนะ เราเกิดมาเป็นชาวพุทธ แล้วพบพระพุทธศาสนา ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นหลักเป็นชัยนะ เช่น หลวงปู่มั่น เวลาท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ท่านก็ศึกษา หลวงปู่มั่นท่านก็ศึกษา เวลาหลวงปู่มั่นท่านมีอาจารย์ของท่าน เจ้าคุณอุบาลีด้วย เวลาศึกษาขึ้นมาแล้ว เวลาประพฤติปฏิบัติไปแล้วจิตมันเป็นจริงขึ้นมานี่ยังต้องสอบทาน ตรวจสอบ สอบว่ามันเป็นจริงหรือมันเป็นไม่จริง

เจ้าคุณอุบาลีนะ เป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่นด้วยในทางปริยัติ แต่เวลาในทางปฏิบัตินะ อาจารย์ของหลวงปู่มั่นคือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ท่านออกประพฤติปฏิบัติแล้วท่านไปเอาหลวงปู่มั่นออกมาบวช

แล้วหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ในสายกรรมฐานท่านบอกว่า “การจะประพฤติปฏิบัติทำความสงบของใจก่อน พยายามทำความสงบของใจขึ้นมาให้ได้”

ถ้าใจคนสงบ เราจะทำธุรกิจการค้า เราจะทำหน้าที่การงาน เราจะเปิดบริษัท เราต้องจดทะเบียนไหม เราจะทำธุรกิจการค้า เราต้องมีเครดิตไหม เราจะมีธุรกิจ เราต้องเปิดบัญชีธนาคารไหม ถ้าเราไม่มีสิ่งอย่างนี้เลย เราจะไปประกอบธุรกิจการค้ากับใคร ในเมื่อมันไม่มีบริษัท ไม่มีสถานที่ติดต่อ เราจะไปหาติดต่อกับใคร ติดต่อกับเราเองเหรอ

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เราไม่มีสถานที่ตั้งแห่งการงาน เรายังไม่รู้จักตัวตนของเราเลย เราจะทำอะไรกัน นี่ไง นี่ก็ใส่แว่นกันเข้าไปไง พอใส่แว่นขึ้นไป ใส่แว่นกันใครก็เห็น เห็นในมุมมองของตัว จะมุมมองมุมไหนก็ได้ มุมมองอย่างไรก็ได้ การมองอย่างนี้ทางวิชาการบอกว่าไม่ผิด ทางวิชาการ ความเห็นต่าง ทุกอย่างในทางวิชาการมีมุมมองได้...ถูกต้อง ถูกต้อง

แต่ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะสงบใจเข้ามาได้ไหม ถ้าเราสงบเข้าไม่ได้ มุมมองทางวิชาการนั้นก็เป็นทางวิชาการ แว่นใครแว่นมัน เราวิจารณ์เขาได้ เขาก็ต้องวิจารณ์เราได้ เหตุผลต่างมันก็ต้องมีตลอดไป นี่สิ่งนี้ส่งออก นี่ไง ถอดจากใจที่ไม่รู้ ไม่มีวันจบสิ้น

แต่ “ถอดจากใจที่รู้” แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ อยู่ ๖ ปี ถอดอย่างไรก็ไม่ออก ถอดอย่างไรก็ไม่ได้ ยิ่งถอดยิ่งงง แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาที่อานาปานสติ กลับมาที่คราวที่ออกไปแรกนาขวัญกับพระเจ้าสุทโธทนะ จิตใจมันร่มเย็น

นี่ไง จะตั้งบริษัท จะทำงานของตัว จะต้องมีฐานของที่มั่น ฐานที่ทำงานของตัว ฉะนั้น มีฐานที่ตั้ง เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนกลับมา พอย้อนกลับมา บุพเพนิวาสานุสติญาณ แม้แต่จิตสงบมันยังส่งออกนะ ส่งไปรู้อดีตชาติ เวลาดึงกลับมา ถ้าจิตมันสงบแล้วมันยังไปอนาคต นี่ขนาดสงบแล้วมันก็ยังไปตามกำลังของจิตนั้น ฉะนั้น ต้องมีสติปัญญา ดูสิ เวลาเข้าอาสวักขยญาณ เวลาเข้าถึงสัจธรรม เข้าถึงอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณ งานจากภายใน งานจากการกระทำ มันทำความเป็นจริงของมันขึ้นมา

เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่ภิกษุไม่ควรเสพ

อัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้ลำบากเปล่า

เราก็บอกว่า ปฏิบัติไม่ได้นะ มันจะลำบาก มันจะลำบาก

ไม่ใช่...กิเลสมันจะลำบาก ไม่ใช่เราจะลำบากหรอก

ชีวิตนี้ทุกข์เข็ญใจมากกว่านี้นัก เวลาเกิดในครรภ์ อยู่ในครรภ์ของมารดา ๙ เดือน เวลาคลอดออกมาไม่ตาย มันถึงออกมาเป็นมนุษย์ แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ว่าทุกข์ว่ายาก ว่าทุกข์ว่ายาก เวลามันทุกข์โศก เวลามันมีความเจ็บช้ำน้ำใจมาบีบคั้นหัวใจจนหัวใจแทบสลาย มันไม่บอกว่าทุกข์

เวลาจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมาน่ะ “อัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถานุโยค”

เวลามีความสุขมีความร่มเย็นน่ะ กามสุขัลลิกานุโยค อันนั้นน่ะพอใจ เวลาอะไรที่มันสะดวกสบาย อะไรที่มันจะลงทะเล อะไรที่มันจะทำให้เหิมเกริม อะไรที่จะทำให้มันเสียหาย อันนี้ถูกต้อง นี่กิเลสมันชอบ

แต่เวลาจะเอาจริงเอาจังขึ้นมานี่ไม่ได้ “อัตตกิลมถานุโยค อัตตกิลมถานุโยค”

อัตตกิลมถานุโยคน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ปฏิเสธเอง แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะวางธรรมวินัยให้เป็นอัตตกิลมถานุโยคไหม ถ้าเราทำตามธรรมวินัยที่มี เห็นไหม แว่นขยายนั้นน่ะ ถึงจิตใจเราจะมืดบอด เราจะไม่รู้จริง แต่เราก็อาศัยแว่นขยายนั้นเป็นเส้นทางดำเนิน แล้วถ้ามีครูมีอาจารย์คอยบอกคอยแนะ ครูบาอาจารย์สำคัญมากนะ

เพราะเรารู้เห็นสิ่งใด...ของที่ไม่เคยรู้ ของที่ไม่เคยเห็น ใครไปเห็นเข้าก็ตื่นเต้น ใครไปเห็นเข้าก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม ไปเห็นนะ แล้วพอไปเห็นขึ้นมาเห็นไหม

ดูสิ เวลาน้ำลดนะ สิ่งที่อยู่บนน้ำนั้นมันก็ลดตามไปด้วย ถ้าน้ำมันขึ้นนะ สิ่งที่บนน้ำนั้นมันก็ขึ้นไปด้วย สิ่งที่อยู่บนน้ำคือขยะ สิ่งที่อยู่บนน้ำมันคือกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่อยู่ในหัวใจของเรา ถ้าน้ำมันลด เวลามันทุกข์มันยาก กิเลสมันก็เหยียบย่ำทำลายเรา เวลาน้ำมันขึ้น เวลาทำคุณงามความดีขึ้นมา น้ำมันขึ้นไง เวลาปฏิบัติไป ไปรู้ไปเห็นสิ่งใดที่เป็นมหัศจรรย์ขึ้นมา นี่กิเลสมันก็ขึ้นมาด้วย

ไปยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม สิ่งนั้นเป็นธรรม...ไม่ใช่หรอก ไม่เป็นธรรม

สิ่งที่เป็นธรรมนะ มันจะเป็นความจริง สิ่งที่เป็นธรรม พิสูจน์ตรวจสอบขนาดไหนมันก็เป็นความจริง สิ่งที่มันไม่เป็นความจริง เราพิสูจน์ตรวจสอบได้ ถ้ามัน...เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าจิตใจคนเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันจะไปยึดมั่นถือมั่น ถ้าความยึดมั่นถือมั่นอย่างนั้นมันจะเป็นความจริงไหม? มันถึงไม่เป็นความจริง

ฉะนั้น ถ้าเวลาเรานะ เราเป็นชาวพุทธ แค่มีศรัทธาความเชื่อในศาสนา มีศรัทธาความเชื่อนะ ทำให้เราเป็นคนดี เพราะศาสนาสอนว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ทุกคนว่าทำชั่วได้ชั่ว ชั่วแล้วมันจะได้รับผลของมัน เราก็พยายามจะระงับยับยั้งมัน ทำดีต้องได้ดี แต่กิเลสมันบอกว่า ทำดีเสียเปรียบ ทำดีแล้วไม่ได้ดี เห็นไหม ถ้าเราเชื่อศาสนานะ เราเชื่อสัจจะความจริง นี่เราเชื่อนะ

ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้แต่ความเชื่อจะชักนำให้เราเข้าไปศึกษา ถ้าเราเข้าไปศึกษา อย่างเช่น วันนี้เรามาฟังธรรม ถ้ามาฟังธรรมนะ สิ่งที่เป็นฟังธรรม ธรรมะ ธรรมมันจริงแค่ไหน เห็นไหม เราเข้ามาศึกษาแล้วเรากำลังจะพิสูจน์กันอยู่นี่ ถ้าเราพิสูจน์นะ พิสูจน์ว่า จิตใจของเรามันกวัดแกว่ง มันฟุ้งซ่าน มันไปตามพลังงานของมัน มันไปตามจริตนิสัยของคน แล้วเราจะทำสิ่งนั้นให้สงบได้อย่างใด

ถ้าสงบ การทำความสงบของใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ถึง ๔๐ อย่าง ๔๐ วิธีการ เห็นไหม พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ เวลาเราพูดถึงพุทโธๆ คำว่า “พุทโธๆ”...ต้องทำทำไม ทำเพื่ออะไร? นี่ไง จะทำเพื่อให้รู้จักตนเอง

ถ้าถอดแว่นขยาย ถอดการศึกษา ถอดความรับรู้จากภาคปริยัติทั้งหมดแล้ว ถ้าหูตามันเปิดขึ้นมามันจะรู้จริงของมัน ความสะอาดบริสุทธิ์ของคน ความสะอาดบริสุทธิ์ของใคร เกิดจากใจดวงนั้น ไม่มีใครการันตี ไม่มีใครทำให้ใครได้ มันจะต้องเป็นใจดวงนั้น สะอาดของใจดวงนั้นเอง

ฉะนั้น อำนาจวาสนาของคน เวลาเราเกิดมา ประสบความสำเร็จทางโลก อันนี้ประสบความสำเร็จทางโลก แต่ประสบความสำเร็จมากหรือน้อยก็แล้วแต่ คนคนนั้นก็ต้องตายไป จะประสบความสำเร็จหรือไม่ประสบความสำเร็จ “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” คนเกิดมาทั้งหมด ตายหมด ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าเลย

แต่คนที่สร้างคุณงามความดี คนนั้นเกิดมาแล้วไม่เสียชาติเกิด ได้สิ่งนั้นเป็นสมบัติพัสถานไป นี้สมบัตินั้นในบุญกุศลนะ บุญกับบาป ได้สิ่งนั้นไป แต่ใครมีศรัทธา มีความเชื่อ มาศึกษาธรรมะแล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จากจิตใจที่มันแกว่งไกวอยู่นี่ แล้วถ้ามันสงบระงับได้ ความสงบระงับ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ถ้าจิตสงบนะ มันก็มีความสุขแล้ว ถ้ามีความสุขของมัน พอความสุขจนตื่นเต้น จนตื่นเต้นว่านี่เป็นอะไร นี่เป็นอะไร โอ๋ย! มันอธิบายไม่ได้...สิ่งที่อธิบายได้คือแว่นขยาย อธิบายได้หมด

แต่ถ้าสิ่งที่เป็นความจริงนะ เราจะอธิบายแทบไม่ได้เลย แต่ถ้าคนที่เขาปฏิบัติมาเขาจะรู้จริงกัน ถ้ารู้จริงขึ้นมา นี่ไง สิ่งที่เวลาเราศึกษามา ถอดแว่นนะตาบอด แต่ถ้าพอเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราลืมตาขึ้นมาให้ได้ก่อน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น อาจารย์ของเราพยายามแนะนำตรงนี้

การศึกษาเป็นสิ่งที่ดีไหม? ใช่ เป็นสิ่งที่ดี การศึกษา แผนที่ดำเนิน คนรู้แล้วดี แต่เวลาเราลงไปในพื้นที่นะ ลงไปในพื้นที่ พื้นที่คือหัวใจ เพราะแผนที่กับพื้นที่มันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันไหม เวลาแผนที่เราคำนวณได้หมด แต่ในพื้นที่ มันมีสิ่งที่ว่าแผนที่ไม่ได้เขียนไว้ก็มากมาย

ฉะนั้น ถ้าจิตสงบแล้ว ต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเห็น ถ้าต่างคนต่างรู้ ต่างคนต่างเห็น เห็นไหม เห็นอะไร? เห็นใจของตัว เห็นจิตที่มันสงบ แล้วพอจิตที่สงบแล้ว หน้าที่การงานมันถึงจะเริ่มต้น หน้าที่การงานถึงจะเริ่มต้น เริ่มต้นจิตสงบแล้วให้ออกใช้ปัญญา

แต่เราศึกษาในปัจจุบันนี้ ศึกษาแล้วว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา สิ่งนี้เป็นปัญญา...ปัญญาเป็นปัญญาการศึกษา

ในพุทธศาสนา ปัญญามีอยู่ ๓ ชนิด

ชนิดที่ ๑ ปัญญาคือการศึกษาสุตมยปัญญา

ชนิดที่ ๒ จินตมยปัญญา ปัญญาเกิดจากจินตนาการ แล้วถ้าจินตนาการมีสมาธิ มีจิตมั่นคงขึ้นมา มันจะจินตนาการจนโลกนี้เทียบไม่ได้เลย

แล้วสิ่งที่จะเป็นสมบัติในพุทธศาสนาที่ศาสนาต้องการมากคือภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการภาวนา ปัญญาเกิดจากจิตที่มันสงบแล้วมันออกฝึกหัดใช้ปัญญา แล้วถ้ามันหมุนขึ้นมา พอปัญญามันหมุน นี่ไง ปัญญาอย่างนี้ไงที่จะไปทำให้หัวใจที่มันสงบระงับแล้ว เกิดปัญญาขึ้นมา ถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา ที่มันจะชำระล้างสิ่งที่ว่าสิ่งที่ปฏิสนธิจิต ที่อวิชชาพาไปเกิดๆ

ตัวจิต ตัวจิตเพราะมันมีแรงเหวี่ยงของมัน มันมีกรรมเหวี่ยงของมัน มันมีพลังงานของมัน มันถึงคลายตัวมันโดยธรรมชาติของมัน จิตมันสงบเข้าไป พอจิตสงบเข้าไปแล้ว ถ้ามันเกิดใช้ปัญญาของมัน แรงเหวี่ยงกลับ คืออวิชชา เห็นไหม ทวนกระแส ดูสิ เวลาพลังงานมันส่งออก มันไหลตามไป แต่เวลาพลังงานที่มันย้อนกลับ นี่ไงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทวนกระแสกลับ แต่พวกเราประพฤติปฏิบัติกัน เราไม่ได้ทวนกระแสกลับ

ดูสิ ว่าปัญญาๆ...ปัญญาปากแม่น้ำนะ เวลาปากแม่น้ำ แม่น้ำมันมาจากไหน? กลางน้ำ ต้นน้ำ ต้นน้ำมันอยู่ที่ไหน? ต้นน้ำคือตัวจิต แต่เราแก้ไขกันน่ะ เราแก้ไปแก้ไขที่ปากอ่าวนู่นน่ะ น้ำท่วมเราจะไปทำเขื่อนกั้นที่ปากอ่าว แล้วสิ่งที่ต้นน้ำ กลางน้ำ นี่ปล่อยให้ตายหมดใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากต้นน้ำ สิ่งที่มันเกิดอวิชชา เกิดความทุกข์ความยาก มันเกิดที่ต้นน้ำ

แต่เวลาเราใช้ปัญญากัน เราใช้ปัญญาที่ปากอ่าว ปัญญาที่ปากอ่าวก็ปัญญาแว่นขยายนี่ไง ปัญญาคือการศึกษา ปัญญาคือความเข้าใจ ปัญญาที่ปากอ่าวน่ะ คิดจบแล้วได้อะไรขึ้นมา พอคิดจบแล้วจบอะไร คิดจบก็เหมือนกับความเข้าใจผิดให้มันเข้าใจถูก ก็เท่านั้นน่ะ เข้าใจผิดแล้วเข้าใจถูกมันคืออะไรต่อไป ในเมื่อมีความเข้าใจผิด มีความหลงผิด แล้วมีความทุกข์ในหัวใจ เราก็ใช้ปัญญาตรึกนะ ธรรมของพระพุทธเจ้าบอกว่า สิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง สิ่งนี้เป็นอนัตตา สิ่งนี้มันเป็นของชั่วคราว สิ่งนี้มันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับ...แล้วอย่างไรต่อไป ดับแล้วดับไปที่ไหน

นี่ไง ปัญญาอย่างนี้ จินตมยปัญญา มันไม่ใช่ภาวนามยปัญญา แล้วถ้าเป็นภาวนามยปัญญา มันเกิดอย่างไร นี่ถ้าคนภาวนาไม่เป็น ไม่รู้

แล้วเวลาพูดกันว่าปัญญาๆ ที่หมุนกันอยู่นี่ ว่าปัญญาเป็นอย่างนั้นๆ ปัญญาอะไร ปัญญาเกิดมาจากไหน

ฉะนั้นจิตต้องสงบ พยายามทำความสงบของใจ แล้วเมื่อไหร่เราถึงจะได้ใช้ปัญญาล่ะ เมื่อไหร่จะเกิดภาวนามยปัญญาล่ะ? ภาวนามยปัญญามันก็เกิดมาจากปัญญา โลกียปัญญานี่แหละ มันก็เกิดมาจากความรู้สึกที่ปัญญาปากอ่าว ปัญญาปากอ่าวเป็นเราใช่ไหม

ชีวิตชีวิตหนึ่ง เวลาเกิดขึ้นมาเราก็ศึกษามา เราก็มีปัญญาของเรามา จากจริตนิสัยเห็นไหม โทสจริต โมหจริต โลภจริต จริตของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน นี่เป็นธาตุไฟ ธาตุน้ำ ธาตุลม แล้วแต่ธาตุมันมีพลังงาน มันเป็นนิสัย เป็นอารมณ์ความรู้สึก

ปัญญาอย่างนี้ เวลาเราใช้ปัญญาขึ้นมา ปัญญาเราใคร่ครวญ ตรึกในธรรม สิ่งนี้มันตรึกในธรรมว่าเมื่อไหร่จะใช้ปัญญา เมื่อไหร่จะใช้ปัญญา...ปัญญาอย่างนี้ปัญญาทำให้เราเข้าใจความถูกความผิด สมควร ไม่สมควร ความว่าสมควร ไม่สมควร มันก็ปล่อยวาง ถ้าเรารู้ว่าถูก รู้ว่าสิ่งนี้ไม่สมควร สิ่งนี้ไม่ควรคิด สิ่งนี้มีแต่เติมเชื้อไฟให้หัวใจ เห็นโทษของมัน สติมันทัน ถ้ามีสติ สติมันทันมันก็ดับ นี่ความคิดเกิดดับ

ความคิดเราเกิดดับไหม ความเศร้าโศกเสียใจเกิดดับไหม? ทุกอย่างเกิดดับหมด แต่ใจมันไม่วาง เศร้าโศกเสียใจมันเศร้าโศก คิดแล้วก็เศร้า คิดแล้วก็ทุกข์ คิดอยู่นั่นน่ะ มันคิดแล้วคิดอีก ความคิดเกิดดับ แต่ความเศร้าโศกไม่เกิดดับ ความเศร้าโศกเพราะอะไร เพราะเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นความฝังใจอยู่

เราใช้สติปัญญาใคร่ครวญของเรา โศกแล้วโศกเล่า ทุกข์แล้วทุกข์เล่า มีสติปัญญากัน นี่การฝึกหัดใช้ปัญญาแบบนี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาปากอ่าว “ปากอ่าว” หมายความว่า ชีวิตชีวิตหนึ่ง คนคนหนึ่ง ต้นน้ำก็คือปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิจิตลงในไข่ ลงในน้ำครำ โอปปาติกะ การกำเนิด ๔ เวลาเกิดขึ้นมาเป็นเรานี่กลางน้ำ เวลาความคิดล่ะ ความคิดเราออกไปเป็นปลายแม่น้ำคือสัญชาตญาณของมนุษย์ นี่โลกมันเป็นแบบนี้

เวลาไปศึกษา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ใส่แว่นเข้าไปสิ แว่นขยายเข้าไป ใส่แว่นเข้าไป แต่พอเราถอดแว่น ถอดแว่นหมดเลย เพราะอะไร เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะ ทางวิชาการนี่เราศึกษาทางวิชาการ วิชาการก็วิชาการ แต่ปัญญาเราล่ะ ความรู้ของเราล่ะ เราจะเอาความรู้ของเราไปประกอบวิชาชีพของเรา เราจะเอาความรู้จริงของเราไป เราก็ศึกษาจากตำรามาเหมือนกัน แต่ศึกษามาแล้วเป็นความรู้ของเรา ศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ใส่แว่นไว้ ใส่แว่นไว้

ถ้าเราถอดแว่นล่ะ เราศึกษาแล้วถอดแว่น ถอดแว่น ปฏิบัติให้ได้ ทำให้ได้ ถ้าปฏิบัติให้ได้ ทำให้ได้ เวลาเราใช้ปัญญาขึ้นไป ปัญญาอย่างนี้เราฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา นี่ไง สุตมยปัญญา เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

แล้วเมื่อไหร่จะจิตสงบ แล้วเมื่อไหร่จะได้ปัญญา คำว่า “จิตสงบ” แล้วเกิดสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน อันนั้นมันจะเป็นการไปชำระกิเลส การชำระกิเลสเราต้องเตรียมความพร้อม เวลาเกิดนี่เราเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรมนะ เวลาปฏิสนธิในไข่ ปฏิสนธิในน้ำคร่ำ ในโอปปาติกะ เรารู้ตัวไหม? เราไม่รู้ตัวหรอก ขนาดเกิดมายังไม่รู้ตัวเลย เกิดมานี่พ่อแม่เป็นคนบอกเองว่าเกิดเท่าไร เวลาเท่าไร เราไม่รู้หรอก เวลาเกิดเราก็ไม่รู้ สิ่งที่เวลาเราเกิดนี่เราไม่รู้ตัว นี่คือแรงขับของอวิชชา แรงขับนี่พลังงานของจิต

แต่ขณะที่จิตมันสงบล่ะ เราจะถอดถอนน่ะ เราจะถอดถอน เรามีสติปัญญาพร้อมนะ เราไม่ได้เกิดด้วยความไม่รู้ ถ้าความไม่รู้คืออวิชชา แต่ถ้าเรามีสติปัญญา จิตมันสงบขึ้นมามันมีสติปัญญาของมัน แล้วพอสติปัญญา นี่ฝึกหัดใช้ปัญญา มันจะสงบระงับเข้ามาๆ จนเราใช้ปัญญา เห็นไหม สุตมยปัญญา คือการศึกษา จินตมยปัญญา มันจินตนาการของมันไป แต่ฐานมันอยู่ที่ไหน

แต่ถ้ามันเป็นภาวนามยปัญญา มันเกิดจากจิตที่สงบ จิตที่สงบมันเกิดจากฐีติจิต เกิดจากสัมมาสมาธิ ถ้าเกิดจากสัมมาสมาธิ เห็นไหม นี่บริษัทมันตั้งแล้ว เราตั้งบริษัทแล้ว เราจดทะเบียนแล้ว ใครจะโอนเงินเข้า โอนเงินออก ผลประโยชน์เข้ามาได้เลย เข้ามาได้เลย เพราะเรามีผู้รับรู้ เรามีเจ้าของ เราเป็นผู้รับ นี่ไง ถ้าจิตมันสงบ พอจิตสงบมันรู้ของมัน เวลาออกใช้ปัญญาของมันนี่มันรู้ รู้เพราะอะไร รู้เพราะมันถอดถอนไง ถอดถอนอะไร? ถอดถอนความเห็นผิด

โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เราเกิดมา ชีวิตนี้เป็นเราไหม? เป็น เป็นโดยสมมุติ “สมมุติ”หมายถึงว่า ผลของวัฏฏะนะ เพราะในพุทธศาสนาบอก กามภพ รูปภพ อรูปภพ วัฏวน โลก ๓ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ของนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม ของนี้มีอยู่ แล้วจิตมันเวียนตายเวียนเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ฉะนั้นการเวียนตายเวียนเกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ มันเวียนตายเวียนเกิด เห็นไหม การเวียนตายเวียนเกิดไป

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะมาชำระล้าง เราจะมาชำระล้างจิตของเรา ถ้าเราชำระล้างจิตของเรา เราจะเห็นที่เกิด กำเนิด ว่าจิตมันเกิดที่ไหน จิตมันมีเวรกรรมอย่างใด ฉะนั้น เวลาย้อนกลับขึ้นมา ฐีติจิต ภวาสวะ ภพ สถานที่เกิด สถานที่เกิดมันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา มันรู้ตำแหน่งของมัน ถ้ารู้ตำแหน่งของมัน นี่ไง จากที่ว่าเวลาถอดแว่นแล้วตาบอด ถ้าจิตสงบแล้วนี่มันตาไม่บอด มันรู้ของมัน มันรู้มันเห็นของมัน

ฝึกหัดใช้ปัญญาเข้ามา หัดใช้ปัญญาเข้ามา จนมันเป็นภาวนามยปัญญา

เวลาภาวนามยปัญญา เวลามันพิจารณาของมัน พิจารณาในเรื่องอะไร โดยธรรมชาติของมนุษย์นะ ชีวิตนี้เป็นของเราหรือเปล่า สรรพสิ่งนี้เป็นของเราหรือเปล่า? เป็นโดยสมมุติ เป็นโดยเป็นวาระ สมมุติหมายถึงกามภพ รูปภพ อรูปภพ การเกิดและการตาย มันเป็นจริงตามนั้น แล้วความเห็นผิดของเรามันก็ยึดว่านี่เป็นเรา นี่เป็นเรา โดยตัณหาความทะยานอยากนะ แล้วทุกคนก็ต้องน้ำตาพลัดพราก เวลาชีวิตนี้มันสิ้นไปนะ ทุกคนมันจะมีน้ำตา น้ำตาท่วม น้ำตานองหน้า มันต้องเป็นแบบนั้น

ฉะนั้น เวลาเรามีสติปัญญาเข้ามา มันจะเข้ามาเห็นโทษตรงนี้ ถ้าเห็นโทษตรงนี้นะ นี่จริงตามสมมุติ ชีวิตเราเป็นจริงไหม? จริง จริงตามสมมุติ นี่เป็นของเราจริงๆ ชีวิตนี้เป็นของเราจริงๆ เกิดมาก็เป็นเราจริงๆ ทรัพย์สมบัตินี่ก็เป็นของเรา ของเราทั้งนั้น แต่มันชั่วคราวทั้งนั้นน่ะ มันชั่วคราวในชีวิตหนึ่ง

แต่ในสัจธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่พระโพธิสัตว์ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย การเวียนตายเวียนเกิดแบบพระโพธิสัตว์ การเวียนตายเวียนเกิดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างสมบุญญาธิการ สร้างสมบุญบารมี สร้างสมจนจิตแก่กล้า จิตแก่กล้ามีปฏิภาณ มีปัญญา ไม่เชื่อสิ่งใดๆ ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่จะชักนำให้จิตนี้ออกนอกลู่นอกทาง สร้างสมบุญญาธิการมาจนถึงเป้าหมายได้ ฉะนั้น สิ่งนี้เป็นสมบัติของใจ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราเกิดเป็นมนุษย์ สมบัติเป็นของเราไหม ทุกอย่างเป็นของเรา...”เป็น” เป็นโดยในชาตินี้ไง ฉะนั้น พอเป็นโดยชาตินี้ปั๊บ มันเป็นจริงโดยสมมุติ มันมีจริงโดยสมมุติ กับจริงโดยวิมุตติ จริงโดยวิมุตติมันจริงข้ามโลก ข้าม ๓ โลกธาตุ มันจริงตามสมมุติ เพราะถ้าจิตมันพิจารณาของมันไม่ถึงที่สุด เวลามันตายไป นี่มันตาย หมุนไปในวัฏฏะ

แต่เวลาถ้าเราพิจารณาไป พิจารณาสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้าพิจารณาความเห็นผิดแล้ว มันไม่หมุนไปตามวัฏฏะ ถ้าพิจารณาสักกายทิฏฐิจนกิเลสมันขาด เป็นโสดาบัน มันจะเกิดอย่างมากอีก ๗ ชาติ อย่างมากนะ แต่ถ้าเป็นพระอานนท์ ท่านสำเร็จในชาตินั้นเลย เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคา เป็นอนาคา จนสิ้นกิเลสไป

แล้วสิ้นกิเลสเป็นอย่างไร ทำไมต้องสิ้นกิเลสด้วย คนเรากิเลสเป็นอย่างไร ยังไม่รู้จักเลย แล้วจะไปสิ้น สิ้นตรงไหน

เวลามันสิ้นกิเลส เวลากิเลสนะ มันก็ทำให้เราสงสัย เราระแวง เราทุกอย่างในหัวใจ ในหัวใจทุกคนรู้ ในสัจธรรมนะ ทุกดวงใจว้าเหว่ ทุกดวงใจ เห็นไหม ในสโมสรสันนิบาต มีการรื่นเริง มีการสนุกสนาน ทุกดวงใจว้าเหว่ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นสัจธรรม มันเป็นเรื่องความทุกข์ มันมีโดยสัจจะอยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่โดยสัจจะ ใครจะปฏิเสธ ใครจะรับรู้ ไม่ยอมรับรู้ มันมีในหัวใจมันเด็ดขาด ฉะนั้น ธรรมะจะมาเติมเต็มตรงนี้ ถ้าธรรมะมาเติมเต็มตรงนี้ เห็นไหม แล้วไปเติมเต็มที่ไหนล่ะ

ดูสิ ของที่มันพร่องอยู่ เราจะเติมเต็ม เราต้องหาที่บรรจุเข้าไปนะ แล้วหัวใจของเรามันว้าเหว่ มันทุกข์ร้อน มันเรียกร้องความช่วยเหลือเจือจานจากเรา จากเจ้าของคนคนนั้น ฉะนั้น เราไม่เห็นคุณค่าของหัวใจของเราไง เราไปเห็นคุณค่าจากทรัพย์สมบัติจากภายนอกไง นี่โลกธรรม ๘ นะ

โลกธรรม ๘ เป็นธรรมะเก่าแก่ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ มีนินทา นี่สรรเสริญคู่กับนินทา ของมันมีอยู่โดยดั้งเดิม ถ้าของมันมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่จิตใจเราบกพร่อง เราก็สั่นไหวไปกับมัน แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราจะมาถมเต็มตรงนี้ไง ถ้าเราจะมาถมเต็มตรงนี้ เห็นไหม ดีที่เราบริกรรมพุทโธๆ เราจะถมให้หัวใจเราอิ่มเต็มนะ ถ้าหัวใจเราเต็มนะ มันจะไม่เสวยอารมณ์ ถ้าจิตเราสงบระงับแล้วนะ อารมณ์มันเคลื่อนมาขนาดไหนมันก็ไม่เสวย ความรู้สึกนึกคิดมันจะไม่เข้ามาในใจที่สงบระงับได้เลย

แต่จิตใจเรามันบกพร่อง จิตใจเรามันพร่องอยู่ สิ่งใดมันผ่านมา มันตะครุบ พอมันตะครุบ ความคิดพอมันตะครุบนี่ความคิดเกิดแล้ว ถ้ามีสติปัญญานะมันไม่ตะครุบความคิดมันก็ไม่เกิดแล้ว แล้วถ้าไม่ตะครุบความคิด มันธรรมชาติของมันที่ธรรมชาติรู้ ธรรมชาติคิด ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันต้องอยู่ทรงตัวของมัน ทำอย่างไรล่ะ? ก็พุทโธไง

มันจะคิดเรื่องโลกๆ ก็บังคับให้มันคิดเรื่องพุทโธๆๆ เวลาเราคิดพุทโธมันไม่ยอมคิด แต่เวลามันคิดเรื่องโศกเรื่องเศร้า เรื่องเสียใจ เรื่องไม่พอใจ มันชอบคิด เห็นไหม นี่ความบกพร่อง เวลามันพร่องมันก็ยิ่งทำให้มันพร่องมากขึ้น เวลาเราจะถมให้มันเต็มขึ้นมา มันปฏิเสธ เพราะมันเป็นอวิชชา เพราะมันไม่รู้ เพราะมันเป็นมาร เพราะมันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

แต่ถ้าเป็นธรรม เป็นธรรม เห็นไหม เรามีศรัทธาความเชื่อ แล้วเราเข้ามาศึกษา ศึกษาแล้วเราพิสูจน์ ศึกษาแล้วปฏิบัติ ใครปฏิบัตินะ ถ้าจิตสงบแล้วไม่มีใครคัดค้านได้ ใครจะคัดค้านมันเรื่องของเขา จิตของเราสงบ

ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้ามันสงบ สงบระงับแค่ไหน เรารู้ของเรา เรามีความร่มเย็นของเรา เรามีความสุขของเรา ถ้ามีความสุขแล้วนะ สิ่งที่มีความสุข คนมีความสุข ทำสิ่งใดมันก็เป็นความดีทั้งนั้นน่ะ แต่คนมีความทุกข์ เห็นไหม ทำความดีก็ได้ ทำความไม่ดีก็ได้ ถ้าจิตใจมีความสุขขึ้นมานี่มันรักษาของมัน

เราพยายามทำจิตใจของเราให้มันอิ่มเต็มขึ้นมา แล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาเราใช้พิจารณา พิจารณาในอะไร? ในศาสนานี้บอกปัญญาที่พิจารณาอย่างอื่นไม่มีประโยชน์ ปัญญาที่ต้องการในศาสนาคือภาวนามยปัญญา ใช้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ทำไมต้องใช้ในกาย? ความรักของคน ความรักของมนุษย์ ความรักของสัตว์โลก รักตัวเองที่สุด ฉะนั้น การรักตนที่สุดก็คือการรักร่างกายที่สุด

เวทนา ความเจ็บ ความปวด ความดีใจ นี่ความผูกพันของใจ

นี่กาย เวทนา จิต

จิต ความเศร้าหมอง ความผ่องใส นี่พิจารณาจิต

ธรรม ธรรมคือธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดการกระทำ ธรรม ถ้ามีสตินะ ความคิด ความรู้สึก เราจะรู้ทันหมด

ใช้ปัญญาตรงนี้ นี่อริยสัจ ๔ ใช้ปัญญาในสติปัฏฐาน ๔

พิจารณากาย ถ้าพิจารณากาย การพิจารณากาย เห็นกายเห็นอย่างไร เรานักศึกษา เห็นกายนี่เราผ่าตัดทุกวันเลย...ไม่เห็นกาย นี้คือวิชาชีพ การเห็นกาย จิตมันสงบแล้วพอมันเห็นกายขึ้นมา เห็นกายเป็นภาพจากภายในถ้าเป็นเจโตวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตตินะ จิตมันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมันนะ เห็นของมันแล้วมันพิจารณาของมัน พิจารณาโดยปัญญา ปัญญาเทียบเคียง ปัญญาเปรียบเทียบ

เปรียบเทียบที่ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม “กาย” กายนี้ไม่ใช่เรา แต่เราเกิดมานี่สมมุติว่าเป็นเรา เพราะจิตมันสมมุติว่าเป็นเรา แต่ถ้าพิจารณาไปโดยสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดเป็นเรา ไม่มี ของในโลกนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของจริง เป็นเจ้าของโดยสมมุติ

ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เวลาเขาถ่ายโอนให้กัน เขาเป็นของจริงไหม ใครเป็นของจริง แม้แต่ร่างกายที่ว่าจริงตามสมมุติเป็นของเราๆ นี่เวลาเป็นของเรา แต่ถ้าเวลาถึงที่สุด เราเปลี่ยนถ่ายอวัยวะนี่เป็นของเราไหม เราเปลี่ยนถ่ายไปแล้วเราตัดออกไปไหม

แล้วถ้าพูดถึงว่า...นี่พูดถึงธาตุนะ ธาตุก็คือธาตุ แต่จริงๆ เราไม่ต้องการให้รู้ที่ธาตุ เราต้องการให้รู้ที่ใจ ธาตุรู้ ถ้ามันรู้ของมัน เราปล่อยนะ พิจารณาซ้ำพิจารณาซาก เวลามันปล่อย ปล่อยกายแล้วปล่อยกายเล่า ปล่อยกายแล้วปล่อยกายเล่า ปล่อยนี้คือตทังคปหาน คือการฝึกหัด ตรวจสอบๆๆๆ ตรวจสอบจนถึงที่สุดนะ เวลามันขาด กายกับใจนี่มันขาดนะ ขาดแบบขาดมีไง เวลามันขาดไปแล้ว มันขาดที่สังโยชน์ สังโยชน์คือทิฐิความเห็นผิด ถ้าความเห็นถูกต้องแล้วมันก็อยู่กันอย่างนี้

ในปัจจุบันนี่จริงตามสมมุติมันก็อยู่ด้วยกันอย่างนี้ แต่มันมีกิเลสรัดไว้ สังโยชน์มันรัดไว้ว่าสรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา แต่พิจารณาไปถึงที่สุดแล้วมันไม่มีอะไรเป็นของเราจริง มันมีเป็นของเราโดยสมมุติ โดยโลก เหมือนกับผู้ใหญ่นะ เห็นเด็กมันเล่นขายของเล่นกัน แล้วมันแย่งของเล่นกัน ถ้าผู้ใหญ่ยืนดูอยู่นี่ อืม! มันตลกเนาะ ของเล่นแค่นี้เอง

แต่ถ้าเวลาจิตของเรานะ เวลาเรายึดของเรานะ เราก็เหมือนเด็กคนนั้น เราก็ว่าของเราๆๆ แต่พอเราพิจารณาของเราไปแล้ว พิจารณาถึงที่สุดแล้ว เวลามันขาดนะ อืม! ทำไมเมื่อก่อนความคิดเป็นแบบนั้น ทำไมเวลามันพิจารณาจนขาดแล้ว ทำไมมันเป็นแบบนี้ นี่มันเป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนั้น นี่ไง สิ่งที่รู้จริงไง

จากจิตที่มันไม่รู้ แล้วมันได้เปิดตาของมันด้วยทำความสงบของใจ แล้วมันพิจารณาของมัน ปฏิบัติของมันจนมันรู้มันเห็นของมัน นี้เป็นปัจจัตตัง นี้เป็นสันทิฏฐิโก คำว่า “ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก” คือความรู้จริงจากจิตดวงนั้น ถ้าความรู้จริงจากจิตดวงนั้นขึ้นมา ความจริงอันนั้น

ผู้แสดงธรรม ถ้าไม่มีความรู้จริงอันนี้เป็นพื้นฐาน เวลาแสดงธรรมนะ มันไขว้เขวนะ พูดแล้วอย่าถามนะ ถามแล้วมันตอบไม่ได้อย่างเดิมนะ แต่ถ้าเป็นความจริง มันมีความจริงอยู่ในหัวใจ มีความจริง เพราะธรรมะมันอยู่ที่ใจ มันไม่อยู่ที่อื่น แต่ทางโลกน่ะอยู่ที่สมองไง สมองมันก็ธาตุทั้งนั้นน่ะ สมองก็เนื้อ แล้วหัวใจล่ะ แล้วความรับรู้สึกล่ะ สมองมันเป็นศูนย์ประสาทที่ควบคุมร่างกายนะ แต่ความจริงมันอยู่ที่ไหน นี่มันเป็นเรื่องของนามธรรม

แต่เรื่องนามธรรม ศาสนาสอนเรื่องนี้ ศาสนาสอนเรื่องนามธรรม ศาสนาสอนเรื่องหัวใจ ถ้าเรื่องหัวใจ แต่เรื่องหัวใจ การพิสูจน์ตรวจสอบ การกระทำแล้วนี่ครูบาอาจารย์ของเราตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นน่ะเป็นวิทยาศาสตร์นะ นามธรรมนี่เป็นวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เพราะมันสื่อสารกันได้ มันสื่อสารระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ ต้องตรวจสอบกันมาตลอด อาจารย์จะคอยประคองลูกศิษย์มา เพราะลูกศิษย์จะล้ำหน้าตลอด ไอ้นั่นเป็นธรรม ไอ้นั่นเป็นธรรม ไอ้นั่นเป็นธรรม ยึดมั่นถือมั่นไปหมดน่ะ

เพราะเราไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ทางที่ไม่เคยเดินทุกคนต้องผิดพลาด ในการประพฤติปฏิบัติมีการผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนะ แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ดูสิ หลวงปู่เสาร์ท่านเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น เอาหลวงปู่มั่นมาบวช หลวงปู่มั่นมาบวชแล้วขึ้นมา เวลาเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมาไปถามหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่เสาร์ท่านบอกว่า “แก้ไม่ได้ ท่านต้องแก้ตัวท่านเอง” เห็นไหม หลวงปู่มั่นก็ต้องพยายามขวนขวายของท่าน

อำนาจวาสนาของคนไม่เหมือนกัน ปัญญาบารมีของคนไม่เหมือนกัน แต่เวลากระทำไปแล้วถึงที่สุดแล้วนะ แก้ไขกันปฏิบัติด้วยกัน มันเป็นไปด้วยกัน พอเป็นไปด้วยกันน่ะ มันตรวจสอบกันได้ ถ้าในเมื่อพูดไม่เหมือนกันมันจะเหมือนกันได้อย่างไร

นี่ไง บอกว่า แม้แต่ว่าเป็นธรรมๆ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นวิทยาศาสตร์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาอยู่เขาคิชฌกูฏนะ หลานของพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์ แล้วตระกูลของพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์หลายองค์มาก หลานของพระสารีบุตรจะไปต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เอาตระกูลของพระสารีบุตรมาบวชหมดไง แต่เวลาจะไปต่อว่า ไปถึงเขาคิชฌกูฏแล้ว ด้วยบารมีก็ไม่กล้าพูดไง

“ผมไม่พอใจสิ่งนั้น ผมไม่พอใจสิ่งนั้น” ประชดไง พูดเทียบเคียง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกนั้นมันไม่ใช่ใจ”

“เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย”

พระสารีบุตรนะ ถวายการพัดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ปิ๊ง! เลยน่ะ นี่ไง เวลาปัญญามันเกิด สิ่งนี้เป็นนามธรรม สิ่งนี้เป็นนามธรรม ผู้ที่เป็นนามธรรมนี่เข้าใจได้ แล้วจับต้องได้ จับต้องได้แล้วดูได้ พิจารณาได้ อารมณ์นี่เหมือนวัตถุอันหนึ่งเลย คำว่า “อารมณ์ความรู้สึก” ความคิดนี่ ถ้าพิจารณาจิตมันสงบแล้วมันจับได้ พิจารณาได้ มันแยกแยะได้

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกอารมณ์หนึ่งมันประกอบไปด้วยกระบวนการของมัน รูปคืออารมณ์ มันครบกระบวนการของมัน ในรูปนั้นมันต้องมีวิญญาณคือรับรู้ดีหรือชั่ว มันต้องมีข้อมูลของมันคือมีสัญญา พอมีสัญญาขึ้นมาแล้วความปรุงความแต่งของเรามันเติมเข้าไป แล้ววิญญาณรับรู้คือมันเชื่อมให้สิ่งนี้มันหมุนเวียนไป มันก็เป็นกงจักร กงจักรมันก็หมุนออกไป พอหมุนออกไป จิตมันสงบระงับขึ้นมามันจับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเราได้ แล้วมันออกมาขยายความ มันแยกส่วน ขยายส่วน แยกขึ้นมาแล้วพอมันแยกมันก็เป็นรูป เป็นกอง เป็นกองแล้วมันมีอะไรยุแหย่ล่ะ? เป็นกองแล้วมันก็ยังมีกิเลสอีกนะ

สิ่งที่เป็นกิเลส กิเลสคือนามธรรม กิเลสคือความเคยใจ ใครชอบใจ ใครยึดมั่นสิ่งใด ใครขัดใจ โกรธมาก แต่ถ้าคนไม่ค่อยยึดมั่น คนขัดใจเรื่องนี้ไม่ขัด ขัดเรื่องนั้นไม่ขัดใจเรา เราไม่ผูกพันกับมันเห็นไหม สิ่งที่ว่ากิเลสมันยุแหย่อีก กิเลสมันอาศัยความรู้สึกนึกคิดของเราไปหาผลประโยชน์ ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ สิ่งที่ทำนั้นถูกต้องไหม ความคิดนั้นดีไหม ความคิดทำแล้ว แล้วเป็นประโยชน์ไหม

ความคิดเรานั่นแหละ ความพอใจของเรามันอาศัยความคิดเราไปหาประโยชน์ ไปหาประโยชน์คือทำดีทำชั่วไง ทำสิ่งนั้นมันพอใจไง แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมาเราก็พิจารณาของเราสิ ความคิดก็คือความคิด ความคิดไม่ใช่กิเลส ขันธ์ ๕ ไม่ใช่กิเลส แต่กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ออกไปหาผลประโยชน์ของมัน แล้วเราก็ไม่มีสติปัญญา ปัญญาเราไม่ทันไง

เราคิดก็ถูกน่ะ ยิ่งคิดด้วย ยิ่งมีทางวิชาการเสริมด้วยน่ะ โอ้โฮ! ยิ่งชอบใจเข้าไปใหญ่ แต่ทำไปแล้วมันเป็นจริงหรือเปล่า แล้วมันเป็นประโยชน์จริงหรือเปล่า แล้วมันเป็นประโยชน์ ประโยชน์ของใคร ประโยชน์มากหรือประโยชน์น้อย ถ้ามีสติปัญญา นี่ไงกิเลสตัณหาทะยานอยากมันเป็นอีกส่วนหนึ่ง มันไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดเราหรอก แต่เพราะมีอวิชชา เพราะเราไม่รู้มันเลยรวมกันเป็นเขาเป็นเรา กิเลสเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา

เป็นเราจนทำอะไรไม่ได้เห็นไหม แต่ถ้าเราวางไว้ก่อนนะ ทำความสงบของใจก่อน เสร็จแล้วพอจิตมันสงบแล้ว ใจสงบแล้ว เราพิจารณาของเรา มันเป็นจริงหรือเปล่า มันมีเป็นอย่างนั้นจริงไหม แล้วปัญญามันหมุนเข้าไป ละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไป มันพิจารณาของมัน มันปล่อยหมดนะ ถ้าทำความถูกต้อง นี่ไง พระกรรมฐานเราถึงติดครูบาอาจารย์

ถ้าครูบาอาจารย์ของเรานะ แค่ฟังก็รู้แล้วลูกศิษย์คิดอะไร ลูกศิษย์มาถึงตรงไหน แล้วควรจะดำเนินอย่างไรต่อไป ฉะนั้นสิ่งที่ว่า เวลาเราเข้าไป เราไปเห็นสิ่งต่างๆ เข้า มันจะยึดของมัน มันจะว่าเป็นความถูกต้องของมัน เห็นไหม สิ่งที่มันเป็นความมหัศจรรย์ สิ่งที่เราไม่เคยเห็นมันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ฉะนั้น เราถึงแสวงหาครูบาอาจารย์กัน

แค่แสดงออกก็รู้แล้ว คำว่า “รู้แล้ว” แต่การสอนมันมีเทคนิคมากมายมหาศาลเลย เพราะผู้รู้ ผู้เห็น สิ่งที่เรารู้เราเห็น อาจารย์บอกไม่ใช่ๆ มันเป็นไปได้ไหม แต่ทีนี้สิ่งที่รู้ที่เห็น เราก็รู้ว่าการเห็น เห็นอย่างไร ถ้าเห็นแล้วเราต้องพยายามบอกว่า ถ้าอย่างอื่นล่ะ แนวทางอื่นล่ะ แนวทางที่จะเทียบเคียงล่ะ ถ้าเขาเทียบเคียง เขาเห็นโทษของเขาเอง เขาปล่อยนะ เขาจะไม่ติด แต่ถ้าเราบอกว่า สิ่งนั้นผิด สิ่งนั้นผิด ทั้งๆ ที่เขารู้เขาเห็น เขาทำมากับมือ...ผิดได้อย่างไร ก็อยู่กับมือ จับอยู่กับมือ ผิดได้อย่างไร...แต่ผิด

นี่ไง กิเลสมันถึงร้ายกาจนัก มันถึงทำให้เราเกิดเราตายไง ทำให้เราเวียนตายเวียนเกิด เพราะอะไร เพราะเรายึดมั่นถือมั่นของเราไง เรายึดว่าสิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งนั้นเรารู้ สิ่งนั้นเป็นความจริง ขณะที่เราศึกษามา เราก็ใส่แว่นกัน แบบว่าคนละมุมมอง ให้มีการกระทบมันก็เป็นเรื่องโลกๆ

เวลาเราปฏิบัติแล้วนะ เราไปเผชิญกับกิเลสตามความเป็นจริงนะ กิเลสมันก็ทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน เวลาปฏิบัติขึ้นมาเราบอกว่า “ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง” นี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นสัจจะ เป็นความจริงอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติทำไมต้องเจอความทุกข์อีกล่ะ ก็มันเป็นความทุกข์ เราก็อยากจะหนีทุกข์เราไม่ต้องการเจอความทุกข์

ถ้าใครหลบเลี่ยงความทุกข์ คนนั้นจะไม่เห็นทุกข์ แล้วเห็นความทุกข์ไม่ใช่ว่าต้องไปเห็นทุกข์โดยสัญญานะ เราเห็นทุกข์โดยสัญญานะ ดูสิ เวลาคนเขาเจ็บปวดแสบร้อน เขามีความทุกข์ เขาว่าเป็นความทุกข์ไหม? เป็นความทุกข์นั้นเป็นอาการนะ “อาการ”หมายความว่าเขามีอารมณ์ความรู้สึก เขาทุกข์ของเขาแล้ว เขาถึงแสดงออกว่าเป็นทุกข์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะเห็นทุกข์ของเรานี่นะ เวลากิเลส อวิชชา มันไม่รู้ตัวของมัน มันคิดผิด พอมันคิดผิด มันก็เกิดความเศร้าหมอง เกิดกระเทือนใจ พอการกระเทือนใจก็บอกว่า นี่ทุกข์ๆๆ

หลวงตาบอกว่า “กิเลสมันขี้รดหัวใจเรา แล้วมันก็ไปแล้ว สิ่งที่เหลือไว้คือ ขี้” เห็นไหม สิ่งที่เราคิด เราคิดเรื่องสิ่งใดก็แล้วแต่ คิดขึ้นมามันก็มีอารมณ์ ความคิดดับไปแล้ว ความคิดนั้นดับไปแล้ว อารมณ์ที่มันคิดต่อไง โอ๋ย! เรื่องนี้ทุกข์ เรื่องนี้ทุกข์ เห็นไหม นี่อาการ เราเห็นแต่อาการของมันนะ ฉะนั้นพอเราเห็นอาการว่าอาการเป็นทุกข์ๆ แต่เราไม่เคยเห็นทุกข์

ฉะนั้น เวลาเรามาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ให้จิตสงบให้มันเห็นทุกข์ เห็นทุกข์คืออะไร? เห็นทุกข์คือเห็นเหตุไง เห็นที่ว่าทำไมมันคิด สิ่งที่คิดมาคิดเพื่ออะไร

ถ้ามันเห็นทุกข์ “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ”

“ทุกข์ควรกำหนด ทุกข์ควรกำหนด” ทุกข์ถ้าเห็นทุกข์ใช่ไหม เห็นอาการไง พอมันควรกำหนดนะ สมุทัยควรละ ตัณหา วิภวตัณหา พอมันกระทบความคิดนะ ตัณหาความทะยานอยากผลักไส ถ้าไม่ต้องการก็พยายามผลักออก ถ้าเวลาอยากได้ก็ดึงมา เห็นไหม นี่สมุทัย

กำหนดนะ เห็นทุกข์ เห็นทุกข์เกิดจากไหนล่ะ? ก็เกิดจากการทำความเพียร ความบำเพ็ญของเรา ตบะธรรม มันถึงจะเห็นได้จากหัวใจ เห็นได้จากตาใจ ถ้าเห็นได้จากตาใจ เราก็ต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม มีความเพียร มีความพากความเพียร มีการกระทำ

เราก็บอกว่า “ทุกข์ก็ทุกข์พอแรงแล้ว ไปปฏิบัติก็ยังทุกข์อีก”

ทุกข์เพื่อจะพ้นจากทุกข์

ทำหน้าที่การงาน ถ้าคนชอบมันก็เป็นความสุข ถ้าคนไม่ชอบมันก็เป็นความทุกข์

“จิต” จิตถ้ามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเห็นความสงบระงับ มันได้เสวย มันได้เสวยความสุขของมัน มันได้เกิดปัญญาของมัน...เห็นผลนะ จะมีความขยันหมั่นเพียร นี่เพราะเห็นเป้าหมาย ถ้าคนมีเป้าหมาย เห็นเป้าหมาย มันจะมีความขยัน มีความหมั่นเพียร ความทุกข์หายไปหมดเกลี้ยงเลย

แต่ถ้าจิตเวลามันเสื่อม จิตมันมีความทดท้อ เวลาภาวนาไปมีความทุกข์มากเห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติไปมันก็มีดี มีเสื่อมเป็นธรรมดา เหมือนชีวิตคน ชีวิตคนคนหนึ่ง ทั้งชีวิตมันก็มีลุ่มๆ ดอนๆ มีประสบความสำเร็จ มีความทุกข์ความยาก เพราะจิตทุกดวงทำความดีและความชั่วมาทุกดวง จิตทุกคน ชีวิตของคนๆหนึ่ง เวลาเกิดแต่ภพชาติภพชาติหนึ่ง เขาได้สร้างบุญกุศลมา เขาได้ผิดพลาดพลั้งภัยมา เวลามันเป็นไป มันต้องเป็นไป นี้พูดถึงการดำเนินชีวิต มันยังต้องมีลุ่มๆ ดอนๆ เลย

แล้วเวลาปฏิบัติมันจะราบเรียบไปตลอดนี่เอามาจากไหน แม้เพียงแค่เรามีจุดยืนของเรา ความปฏิบัติสม่ำเสมอ เสมอต้นเสมอปลาย อันนี้สำคัญมาก เวลามันเสื่อมนะ

จิตนี้เร็วยิ่งกว่าแสง ความรู้สึกนึกคิดของเรามันเร็วมาก เดี๋ยวคิดดี เดี๋ยวคิดร้าย แล้วสติปัญญาเราพยายามรักษาไว้ แล้วถ้าเวลาเราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ความเสมอต้นเสมอปลาย ในการรักษาจิต

นักกีฬา ถ้ามีความขยันหมั่นซ้อมขยันทำ เทคนิคมันฝึกกันได้ทีหลัง เขามีความขยันหมั่นเพียรของเขา เขาจะมีโอกาส เขาจะทำคุณงามความดีได้เยอะมากกว่า นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้าเราพิจารณาของเรา เราตั้งใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา มันจะมีคุณงามความดีของมัน คุณงามความดีของมัน ความเสมอต้นเสมอปลาย คือรักษาตัวได้

ถ้ารักษาตัวได้ เวลาเราใช้ปัญญาไป อย่างที่ว่าถ้าจิตสงบแล้ว มันเห็นทุกข์ “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ทุกข์คือเหตุที่มันจะให้เกิดไง

แต่ในทางโลก เวลาทุกข์นี่อาการทั้งนั้น ไม่เห็นทุกข์หรอก ถ้าเห็นทุกข์ เราจะไม่ทำซ้ำทำซาก นี่เวลามันทุกข์ยากขึ้นมาก็ “นี่ทุกข์ๆ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ๆ แล้วเราก็ทุกข์พอแรงแล้ว เราจะไปปฏิบัติให้ทุกข์อีกทำไม” นี้ความคิดแบบแว่นตา

แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ของเรานะ ท่านเคยผ่านมาแล้ว วิกฤตนี้ ชีวิตนี้ จะผ่านได้ด้วยความเพียร “สัตว์โลกจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร” ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ แต่ละบุคคล ความสะอาดบริสุทธิ์ในหัวใจไม่มีใครการันตีให้ใครได้ ไม่มีใครทำให้ใครได้ ความสะอาดบริสุทธิ์จากใจดวงใด ต้องใจดวงนั้นเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเอง

แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติเอง นี่ไง มีความเสมอภาคนะ เวลาเราอยู่ทางโลกเห็นไหม เราเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องความเป็นธรรมเวลาปฏิบัตินี่เสมอภาคหมด ทุกคนต้องปฏิบัติ จะอายุมากอายุน้อยอย่างไร ทุกคนปฏิบัติต้องปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วถ้าปฏิบัติด้วยตัวเองขึ้นมา ใจมันจะเป็นขึ้นมาจริงๆ นะ ถ้าใจเป็นขึ้นมาจริงๆ นี่ร่มโพธิ์ร่มไทร

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สถิตที่ใดเลย เว้นไว้แต่ในใจของสัตว์โลก ธรรมะแท้ๆ อยู่ที่หัวใจ สิ่งที่เราศึกษานั้นเป็นทฤษฎี เป็นตำรา สิ่งที่เป็นตำรา เห็นไหม ธรรมและวินัยที่เราไปใส่แว่นกัน เพราะต้องการรู้ ต้องการความเข้าใจ แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะเกิดจากหัวใจ ถ้าถอดมาจากใจที่รู้แล้วนะ มันจะเป็นธรรมหมดเลย แต่ถ้าถอดมาจากใจที่เราใส่แว่นมา เรายิ่งมานะ ยิ่งถกยิ่งเถียง ยิ่งมีมุมมองต่างๆ นี้มันเป็นเรื่องของมุมมอง

แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้ว นี่มรรค ๘ นี่สัมมาทิฏฐิ นี่ความเห็นชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรม ถ้ามันชอบธรรม มันชอบอย่างใด มันจะชอบของมัน ตามความเป็นจริงนะ ถ้าจิตสงบแล้ว จิตมีความดีแล้ว เราทำเพื่อหัวใจของเรานะ

ใครจะรู้ได้ว่าเราเกิดมาเราได้สร้างบุญญาธิการมามากน้อยแค่ไหน

การประพฤติปฏิบัติของคน ๑. เอาความจริงของเราก่อน เอาความสุขความระงับในหัวใจของเราได้ ถ้าใจของเราสงบระงับได้ แล้วมันเป็นความจริงขึ้นมานะ เราจะเมตตาสัตว์โลกมาก เราจะมองเห็นชีวิตของสัตว์โลกนี่มันเป็นสิ่งที่ความมหัศจรรย์ เราอยากให้อภัย เราอยากให้เขารับรู้ ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมนะ ถ้าจิตใจเราไม่เป็นธรรม มันเดือดเนื้อร้อนใจไปหมด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ การรื้อสัตว์ขนสัตว์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เล็งญาณนะว่าสัตว์ดวงใด สัตว์คือจิต สัตว์คือโลกทัศน์ เห็นไหม ความคิดภายใน ถ้าจิตใจของเขามีอำนาจวาสนาแล้วอายุสั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปเอาผู้นั้นก่อน

คนเรานะ มีอำนาจวาสนา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา สิ่งที่เป็นธรรมนี่มันเหนือโลก เหนือความคาดหมาย เหนือความรู้ทั้งหมด ควรสอนใครก่อน จะไปสอนอาฬารดาบส อุทกดาบส คือสิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยไปศึกษากับเขาเรื่องสมาบัติ ๘ ฉะนั้น เวลากำหนดจิตไปดูแล้ว “น่าเสียดายเพิ่งตายไป” เวลากำหนดดูจิตควรจะสอนใครก่อน ก็เลยไปเอาปัญจวัคคีย์ เพราะเขาได้ทำหัวใจของเขา เวลาอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่

นี่ก็เหมือนกัน เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์น่ะ เล็งญาณ ดูหัวใจของสัตว์โลกว่าใจของเขาเปิดกว้าง ใจของเขามีอำนาจวาสนาไหม คนที่มีอำนาจวาสนาจะคุยกันรู้เรื่อง คนที่มืดบอดนะ เราปรารถนาดีขนาดไหน พูดขนาดไหน เขาหาว่าเราไปจับผิดเขา ไปเพ่งโทษเขา

แสดงธรรมนี่แหละ บางคนก็ว่าดี บางคนก็ว่าไม่ดี อยู่ที่วุฒิภาวะของหัวใจ

นี่ไง รื้อสัตว์ขนสัตว์ เขารื้อสัตว์ขนสัตว์กันแบบนี้ รื้อสัตว์ขนสัตว์จากในเจตนา จากความเห็นของคน ไม่ใช่รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยร่างกาย เห็นไหม ดูสิ สัตว์เวลาเขาเอาไปโรงเชือด เขาขนกันไปขนาดนั้น นั่นเขาเอาเนื้อมัน เขาเอาเนื้อมันมาเป็นอาหาร

แต่เวลามนุษย์เขารื้อสัตว์ขนสัตว์กันที่ความรู้สึก เขารื้อสัตว์ขนสัตว์ที่หัวใจ เพราะหัวใจเวลามันทุกข์มันยาก เวลาถ้ามันสงบระงับขึ้นมา มันจะมีทางออกของมัน ถ้ามีทางออกของมันนะ เวลาเกิดภาวนามยปัญญาไง ปัญญาที่มันรู้แจ้ง ปัญญาที่มันเกิดขึ้นมา นี่ปัญญาอย่างนี้เวลาเกิด จะต้องประพฤติปฏิบัติ มีการศึกษานะ ดูสิ ปริยัติ ศึกษาขนาดไหนก็แล้วแต่ ศึกษามาเท่าไรก็งง ศึกษาเข้ามายิ่ง...เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งศึกษาเข้าไปมันละเอียดลึกซึ้งมาก

ละเอียดลึกซึ้งมันเป็นจินตนาการ จินตมยปัญญา จินตนาการไป แล้วจินตนาการไปโดยถอดจากใจที่ไม่รู้ แต่ในหัวใจมันไม่รู้ พอมันไม่รู้ อย่างไรก็ว้าเหว่ อย่างไรก็งง แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันต้องรู้แจ้งจากใจ ใจที่มันบอด มันมืดมันบอด ทำความสงบของใจเข้ามา มันเป็นไปได้

เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา พิจารณากายๆ จนกายไม่ใช่เรา นี่สักกายทิฏฐิ ๒๐ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พิจารณาซ้ำเข้าไป จิตสงบระงับข้าไปอีก พิจารณากายซ้ำเข้าไปมันจะเห็นเป็นอุปาทานเข้ามา พิจารณาซ้ำแล้ว โลกนี้จะราบหมด

เวลาเราจับต้องสิ่งใด เราจับต้องของเราได้ เรารู้ว่าสิ่งนั้น สิ่งที่จับต้องเราจับต้องด้วยมือของเรา เรารู้ว่าสิ่งนั้นมีอยู่ เวลาพิจารณาไปๆ เวลากายมันละลายหมด มันสู่สถานะเดิมของมัน พอกายละลายหมด จิตมันจะไปอยู่บนสิ่งใด วัตถุต่างๆ จะวางอยู่บนอะไร ความรู้สึกนึกคิดมันวางอยู่บนอะไร นี่มันมีอุปาทานของมัน เวลาพิจารณาไปแล้ว มันพิจารณาซ้ำๆๆ จนมันปล่อยหมด โลกนี้ราบหมดเลย ความว่างมันลึกซึ้งมากกว่า

พอลึกซึ้งมากกว่า ถ้าจิตมันพิจารณาซ้ำเข้าไป ถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไป มันจะเริ่มเข้าไปจับแล้ว เข้าไปจับขันธ์ ๕ ที่อันละเอียด เข้าไปจับสู่กามราคะ ปฏิฆะ

โดยสัญชาตญาณของจิตมันมีกามในตัวของมันเอง มีกามฉันทะ ความรักกาย ความผูกพันของกาย แต่เวลามันผูกพันของจิตล่ะ เพราะมีความผูกพันของจิต มันมีสุภะ อสุภะ เพราะมีความสุภะ อสุภะเข้าไป มันจะมีความผูกพันในกามฉันทะ พอกามฉันทะมันก็เกิดกามราคะ เพราะมันเกิดปฏิฆะ มันก็เกิดกามราคะ

ถ้าพิจารณาซ้ำเข้าไป มันละเอียดลึกซึ้ง มันจะไปถอนของมันได้ ถ้ามันถอนของมันได้ จิตมันอยู่ในกามภพ เวลาจิตมันเกิดตายในวัฏฏะ มันจะเกิดอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ถ้ามันถอนกามอันนี้ได้นะ มันจะเกิดตั้งแต่เทวดาลงมาเลย มันรู้เลยว่าสิ่งที่จิตปฏิสนธิจิตพาเกิดขึ้นมา เวลามันถอนขึ้นมา

ถอดออกมาจากใจที่มันรู้...มันรู้สิ มันถอดมันถอนของมัน มันถอดสิ่งที่อยู่ในใจมัน มันถอนออกหมด พอถอดออกหมดแล้วมันจะเอาอะไรไปเกิด? มันไม่เกิดเป็นกามราคะ มันก็เป็นกิเลสอันละเอียด “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส” ว่าผ่องใส เศร้าหมอง รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สังโยชน์เบื้องบน ความติดอันละเอียด ความติดอย่างหยาบๆ เราก็รื้อถอน เราถอนกันขึ้นมาจนเป็นความจริงขึ้นมา แต่มันก็ไปติดอันละเอียดของมัน นี่ความติดอันละเอียดมันเครื่องมือที่ต้องละเอียด สติปัญญา มหาสติ มหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ ที่ว่าภาวนามยปัญญา ปัญญามันจะเกิด ปัญญามันเกิดอย่างไร

มนุษย์คนหนึ่งใช้สมอง ใช้การบริหารจัดการในประสบการณ์ของตนก็ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์แล้ว โอ๋ย! สร้างสิ่งความเป็นมหัศจรรย์ของโลกไว้มหาศาลเลย มนุษย์คนหนึ่งก็ตายเปล่า แต่มนุษย์คนหนึ่ง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาถอดเวลาถอนในหัวใจของเรา ถอดถอน ถอดกามภพ รูปภพ อรูปภพ ถอดวัฏวนทั้งหมดกับใจดวงนี้เลย แล้วใครเป็นผู้รู้เป็นผู้เห็นกับใจดวงนี้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถอดถอนขึ้นมา ดูสิ ในกามราคะ ปฏิฆะขึ้นมา พอมันปลดเปลื้องไปแล้วมันจะไม่เกิดในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ล่ะ กามราคะ รูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง จิตมันจะเข้าไปจับ จิตถ้ามันจับได้ คนที่มันเป็นไปไม่ได้คือมันไม่รู้ ไม่เห็น จับไม่ได้ ก็เข้าใจว่าไม่มี ก็เข้าใจว่าสิ่งนี้หมดแล้ว สิ่งนี้ไม่มี สิ่งใดเป็นเชื้อไข สิ่งนี้ไม่มีอะไรในหัวใจ นี่ว่างหมดเลย

อำนาจวาสนาบารมีคนไม่เหมือนกันนะ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์จะคอยบอกว่า ถ้ามีความรู้สึก ถ้ามีสิ่งใดอยู่ ถ้ามีภวาสวะ มีภพ มีแสงสว่าง มีผ่องใส มีความรับรู้...มันก็มีน่ะ ในเมื่อมีความรู้สึกอยู่ เรื่องความรู้สึก เห็นไหม ดูสิฝุ่นผงมันหมุนไปในวัฏฏะ ถ้ามีความรู้สึกอยู่ มันก็หมุน มันก็ไปเกิดบนพรหม มันก็มีของมัน

ถ้ามหาสติ-มหาปัญญา จนจิตเป็นอัตโนมัติเข้ามาเห็นสิ่งนี้ได้ ความเศร้าหมอง ความผ่องใสมันก็เป็นกิเลสนะ ดูสิ ความเฉา ความเหงาหงอย มีสมบัติพัสถานทุกอย่างพร้อม แต่มันเฉา มันเหงา มันขาดตกบกพร่อง มันไม่อิ่มเต็มสักที ถ้าจิตมันมีสติปัญญาขึ้นมา มันจับสิ่งนี้ นี่ตอของจิต

สิ่งที่เป็นตอของจิต มันจับแล้วมันพิจารณาของมัน พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ การพิจารณา ถ้าพิจารณาโดยปัญญา มันพิจารณาเข้าไปอย่างนี้ปั๊บ มันเข้าไม่ถึง เพราะมันเป็นขันธ์ มันเป็นสิ่งที่หยาบ แต่ถ้ามันเป็นปัญญาญาณนะ มันซับมันซึม

หนึ่งกับหนึ่ง ไม่ใช่ หนึ่งกับสอง หนึ่งกับหนึ่งบวกเป็นสอง เวลามีสติ มีจิต มีปัญญา มันเป็นสองกระทบ แต่เวลาจิตผ่องใส ตอของจิต มันหนึ่ง มันไม่มีสอง ถ้าหนึ่งไม่มีสองนะ ต้องทำลายหนึ่งนั้น การทำลายหนึ่งนั้น หนึ่งไม่มีสอง มันกระทบกับสิ่งใด ในตัวมันเองจะทำลายตัวมันเองด้วยวิธีการใด

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมวินัย หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านบอกกัน ท่านแนะกัน จนถึงที่สุด ท่านทำลายทุกอย่างหมดจากกระบวนการทุกอย่างของมันหมด นี่ไง สิ่งนี้ ถ้าถอดออกมาจากใจที่รู้ รู้กระบวนการทั้งหมด รู้นั้นก็ทำลาย สิ่งที่ทำลายทั้งหมด ทำลายแล้วมันเป็นประโยชน์ มันเป็นธรรมจริงๆ เป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา แล้ววางธรรมวินัยนี้เป็นทางวิชาการ เป็นทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ศึกษา ศึกษาเข้าไปสู่ความจริง ศึกษาเข้ามาสู่หัวใจ ฉะนั้นปริยัตินี่ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ

ปริยัติ ศึกษามาเพื่อรู้...ไม่มี ศึกษามาเพื่อรู้ก็รู้จำ พอรู้พอจำน่ะ จำแล้วก็ทรงศาสนาไว้ แล้วก็ตายไป แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันทำลายถึงที่สุด ทำลายถึงภวาสวะ ทำลายถึงภพ ทำลายถึงทุกๆ อย่าง ทำลายจบสิ้นกระบวนการของมันแล้ว นี่ธรรมแท้ๆ

พระป่า พระปฏิบัติเขาพอใจ พอใจกับชีวิตนี้ที่ได้ค้นคว้า พอใจกับชีวิตที่เกิดมาแล้วจะพยายามค้นคว้าหาสัจจะ หาความจริงในสัจธรรม เรา เรานะ เราเป็นฆราวาส เราอยู่ทางโลก เราก็พยายามหาความจริง หาวิชาการของเราเพื่อดำรงชีวิต แล้วถ้าใครมีอำนาจวาสนา มีศรัทธาความเชื่อ อยากจะมีความสุขที่เป็นจริง ไม่ใช่ความสุขแบบที่กิเลสมันยื่นให้

กิเลสมันยื่นให้นะ มีสิ่งนั้นแล้วจะมีความสุข ได้สิ่งนั้นแล้วจะเป็นความสุข ได้อย่างใดมาแล้วจะเป็นความสุข พอได้สิ่งนั้นมามันก็บอกว่าต้องเอาสิ่งต่อไป จะมีสิ่งต่อๆ ไปให้ตัณหาความทะยานอยากมันได้แสดงตัวของมัน นี้เป็นสิ่งที่กิเลสมันยื่นให้

ความสุขที่กิเลสมันยื่นให้ กับความสุขที่ธรรมะยื่นให้ สัจธรรมที่จะเป็นความจริงในหัวใจของเรา เราเกิดเป็นมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิ ทุกคนมีเสรีภาพที่จะกระทำ ทุกคนมีโอกาสทั้งหมด ถ้าใครไม่ทำ ใครไม่เชื่อ คนคนนั้นเป็นคนตัดโอกาสของตนเอง เอวัง