ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

อบรมนักศึกษา

๑๘ ก.พ. ๒๕๕๕

 

อบรมนักศึกษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ขออ่านคำถามก่อนทีหนึ่งเนาะ แบบว่ามันจะได้เร้าใจอยากจะฟังไง

ถาม : ๑. ต้องบวชเท่านั้นถึงจะบรรลุธรรมใช่หรือไม่?

๒. เกิดเป็นชาย-หญิง แสดงว่าชายทำบุญมามากกว่าใช่หรือไม่?

๓. ทำไมลูกบวชแม่ถึงได้บุญ แสดงว่ามีลูกสาวบวชไม่ได้ แม่ก็ไม่ได้บุญ

๔. คนที่อยากนิพพาน นี้คือเป็นกิเลสหรือไม่? ผิดหรือเปล่า?

๕. โดนหลอกให้มาทำบุญ จะได้บุญหรือบาป

๖. ผู้ชายไม่บวชผิดไหม?

๗. ถ้าไม่สนใจเรื่องศาสนา แต่ทำดีจะบาปไหม?

๘. คนเราจะอยู่โดยไม่นับถือศาสนาใดเลยได้หรือไม่?

๙. ถ้าไม่ได้เป็นเพศปกติ ในพุทธศาสนาคิดอย่างไร?

๑๐ แสดงว่าเราต้องพยายามทำบุญไปเรื่อยๆ จนกว่าชาติหนึ่งเราจะมีบุญพอจะนิพพานได้ใช่หรือไม่?

๑๑. ทำดีลบล้างบาปได้หรือไม่?

๑๒. กรรมจะติดตัวเราไปตลอดทั้งชาตินี้ ชาติหน้าใช่หรือไม่?

๑๓. สวดมนต์แต่ใจไม่นิ่งได้บุญหรือไม่?

๑๔. ทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิได้นานๆ

๑๕. ไสยศาสตร์ มนต์ดำมีจริงหรือไม่?

๑๖. การยึดติดในเครื่องราง ของขลัง ของบูชา วัตถุมงคลมากเกินไป ถือว่าเป็นอย่างไร?

๑๗. คนเราจะถอดจิตได้หรือไม่?

๑๘. นิพพานอะไร? แล้วดีจริงหรือไม่? และเหมือนการไม่มีตัวตนไหม?

๑๙. ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วต้องอยู่คนเดียว ไม่พบปะผู้คน แล้วดีจริงหรือถ้าไม่ได้พบปะผู้คนอื่นเลย

๒๐. อนิจจังในไตรลักษณะเป็นจริงทุกกรณีหรือไม่? แล้วถ้าเป็นจริง แล้วทำไมนิพพานถึงเที่ยงแท้นิรันดร์

๒๑. การที่อยากบรรลุอยากเป็นโสดาบัน พอเป็นแล้วก็อยากเป็นอนาคามีต่อ เป็นกิเลสหรือไม่?

๒๒. คนที่เป็นฆราวาสบอกว่ามีจิตสัมผัส เป็นเรื่องจริงหรือโกหก แล้วถ้าโกหกจะเป็นบาปหรือไม่?

ถาม : ข้อ ๑. ต้องบวชเท่านั้นถึงจะบรรลุธรรมใช่หรือไม่?

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพ่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้บวชเป็นพระอรหันต์ ฆราวาสก็เป็นอริยบุคคลได้ ฉะนั้น คำว่าบวช เพราะว่าบวชมันเป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม นี่เดี๋ยวจะต่อว่าชาย-หญิงบวช

ถาม : ต้องบวชเท่านั้นหรือถึงจะบรรลุธรรม

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ไม่ใช่ บางคนไม่มีโอกาส บางคนอยากบวชมากแต่ไม่ได้บวช แล้วถ้าโอกาสของคนมันแตกต่าง เรามีความรับผิดชอบ นี่เราเป็นพระเราเป็นศูนย์กลาง จะมีพวกโยมจะบอกว่ามีความอยากจะบวช มีความอยากจะทำคุณงามความดี แต่ แต่มีภาระรับผิดชอบ มีพ่อ มีแม่ มีทุกอย่างต้องรับผิดชอบ อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าเรารับผิดชอบเราก็รับผิดชอบ

กรณีอย่างนี้ไม่ใช่มีเฉพาะตอนนี้หรอก มันมีตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระกัสสปะเป็นลูกชายคนเดียว แล้วที่บ้านเป็นตระกูลเศรษฐี พอเศรษฐีนี่พระกัสสปะอยากบวชมาก แต่พ่อแม่ก็อยากจะให้รับมรดก พอรับมรดกพ่อแม่ก็หาคู่ครองให้ ทีนี้บังเอิญไปได้ผู้หญิงที่เขาก็มีความคิดเดียวกัน สองคนสัญญากันว่าแต่งงานแบบพ่อแม่แต่งให้ แต่สองคนสัญญากันว่าเราจะไม่ล่วงพรหมจรรย์ต่อกัน คือจะอยู่กันเป็นโสดทั้งคู่ แล้วอธิษฐานให้ปักดอกไม้ไว้บนที่นอน ถ้าเราไม่ล่วงเกินกันดอกไม้จะสดตลอดไป

นี่อธิษฐานไว้อย่างนั้นนะ แล้วก็อยู่กับพ่อกับแม่ จนพ่อแม่เสียกันไปหมด อยู่จนพ่อแม่เสียไปหมด พระกัสสปะกับภรรยา สองตระกูลที่มีทรัพย์สมบัติมาก นี่ตีฆ้องร้องป่าวว่าจะแจกสมบัติทั้งหมดเลย แจกเสร็จแล้วสองคนออกบวชด้วยกัน พระกัสสปะไปบวช เพราะอายุมากแล้ว เพราะรอพ่อแม่เสียหมดแล้ว ทีนี้พระกัสสปะจึงเป็นพระบวชตั้งแต่มีอายุมาก ภรรยาก็บวชออกเป็นภิกษุณี สำเร็จทั้งคู่นะ

พระกัสสปะเป็นที่ว่าถือธุดงควัตร เพราะบวชเมื่อแก่ พอบวชเมื่อแก่ก็พยายามปฏิบัติเต็มที่ จนถือธุดงควัตรตลอด จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระกัสสปะเป็นต้นแบบที่ว่าถือธุดงค์กันมา ที่ว่ามีความเคร่งครัด ถือธดุงควัตรคือถือผ้า ๓ ผืน แล้วถือธุดงควัตรคือเก็บผ้า เก็บผ้าที่เขาทิ้ง เขาห่อศพ เขาทิ้ง ไปเก็บนำมาซัก มาล้าง แล้วมาปะมาทำเป็นจีวร ซักแล้วซักเล่าจนสังฆาฏิ ๗ ชั้น พอ ๗ ชั้นมันก็หนา มันก็หนัก

พระพุทธเจ้าเวลาเห็นพระกัสสปะ “กัสสปะเอย เธอก็อายุปานเรา”

คืออายุเท่าพระพุทธเจ้าเลย “แล้วก็เป็นพระอรหันต์แล้ว ทำไมยังต้องถือธุดงค์อีก” เพราะถือธุดงควัตร บิณฑบาตทุกวัน ถ้าไม่บิณฑบาตก็ไม่ฉัน ต้องทำกิจตลอด

“เธอก็มีอายุปานเรา เธอเป็นพระอรหันต์แล้วทำไมไม่อยู่สุขสบาย?”

“ข้าพเจ้าไม่ได้ทำเพื่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังไว้เป็นคติแบบอย่างที่จะอ้างอิง” ท่านทำขนาดนั้นนะ นี่พระอรหันต์หมดนะ

ฉะนั้น เวลาที่ว่าต้องบวชหรือเปล่า? คนเราจะบวชมันก็มีปัญหา ถ้าคนแบบว่าเกิดมา ถ้าพ่อแม่อยากให้บวช เห็นไหม เราจะบอกว่าเวลาคนที่เราเห็นว่าทุกข์ทนเข็ญใจ เราจะบอกว่าเวลานักบวชส่วนใหญ่แล้วไม่มีโอกาสทางโลก ที่ว่าบวชแล้วเป็นชาวไร่ ชาวนา บวชเสร็จแล้วก็มาเรียนทางพระ แล้วก็เรียนทางโลกด้วย เสร็จแล้วก็ได้อาชีพ ได้ต่างๆ นั่นโลกเขามองกันไป แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์เราเกิดจากชายขอบสังคมทั้งนั้นเลย พอเกิดชายขอบสังคม พ่อแม่อนุญาตอยู่แล้วไง อนุญาตอยู่แล้ว มีโอกาสไง ถ้าไปเกิดเป็นลูกเศรษฐี มหาเศรษฐีนะไม่ได้บวชหรอก พ่อแม่ไม่ยอมหรอก

นี่พูดถึงว่า “ต้องบวชเท่านั้นหรือ?”

ไม่บวชก็ได้ ไม่บวชนะ พระเจ้าสุทโธทนะก็เป็นพระอรหันต์ เป็นฆราวาส เป็นพระอรหันต์ นี่พระเจ้าสุทโธทนะ แล้วในปัจจุบันนี้ ในปัจจุบันของเรานี่นะ ผู้ที่ไม่บวชแล้วปฏิบัติ เขาก็มีหลักมีเกณฑ์ของเขา เพียงแต่ว่าการบวชมันได้สิทธิ ได้สิทธิว่าเราจริงหรือเปล่า? เราเสียสละมาทุกอย่างแล้ว แล้วเราจะเอาจริงของเรา เราจะเอาจริงหรือไม่จริง แล้วพอจริง พอมาบวชแล้วอายุแก่เฒ่าไป ถ้าปฏิบัติไม่ได้แล้วอนาคตจะทำอย่างไร? เราจะมีหลักประกันอะไรของเรา ทีนี้เราก็ห่วง นี่มันก็ละล้าละลังไปตลอด

ฉะนั้น ว่า

ถาม : ต้องบวชหรือไม่? ต้องบวชเท่านั้นหรือ?

หลวงพ่อ : ไม่บวชก็ได้ แต่บวชนี่ได้สิทธิ ได้สิทธิเป็นนักพรต นักบวช มีโอกาส ๒๔ ชั่วโมง ในพระไตรปิฎก ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าบอกว่า

“ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบ ตีบตัน ทางของพระ ทางของนักบวชกว้างขวาง”

กว้างขวางที่ไหน? กว้างขวางที่ ๒๔ ชั่วโมงปฏิบัติได้ทุกวินาที เห็นไหม ดูสิชีวิต นี่ข้อวัตรของพระ เช้าขึ้นมาบิณฑบาต บิณฑบาตฉันเสร็จแล้วก็ไปปฏิบัติ ไปปฏิบัติถึงบ่ายโมงเวลาฉันน้ำร้อน ฉันน้ำร้อนเสร็จทำข้อวัตร ทำข้อวัตรเสร็จนี่กลับไปส่วนตัวแล้ว ๒๔ ชั่วโมงนะ นี่พระป่าเรามีข้อวัตร ๒๔ ชั่วโมง จะปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมงเลย เราต้องรักษาใจเรา ๒๔ ชั่วโมงเลย

นี่ไงทางกว้างขวาง กว้างขวางที่เราได้ปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง ทางคฤหัสถ์คับแคบ คับแคบเช้าก็ต้องรีบไปทำงาน ทำงานเสร็จกลับมาแล้วก็ต้องมาดูแลครอบครัว ดูแลครอบครัวจนเหงื่อไหลไคลย้อย ทำทุกอย่างเสร็จแล้วนะตี ๒ สวดมนต์ นั่งภาวนา ๒ นาทีสัปหงกแล้ว ตี ๔ ตื่นแล้ว ทำงานอีกแล้ว นี่ไงทางของคฤหัสถ์คับแคบ คับแคบเพราะไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา รับผิดชอบงานไปหมดเลย แต่ถ้าเราบวชแล้วนี่ทางกว้างขวาง ถ้ามีผู้นำที่ดี ๒๔ ชั่วโมงเป็นเวลาปฏิบัติทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดมาแย่งชิงความรู้สึกเราไปเลย เราจะอยู่ในการปฏิบัติทั้งหมด

นี้ที่บอกว่า “ต้องบวชหรือเปล่า?” ไง ถ้าบวชได้โอกาสตรงนี้ไง ได้โอกาส ๒๔ ชั่วโมงนี่ไง แต่ถ้าเราไม่ได้บวชเราจะ ๒๔ ชั่วโมงได้ไหม? ทุกคนต้องมีหน้าที่การงาน ถ้าไม่มีหน้าที่การงานเราจะเอาอะไรดำรงชีพ นี่การดำรงชีพเป็นกิเลสไหม? ไม่ ไม่หรอก ปัจจัย ๔ ไม่ใช่กิเลสนะ การหาปัจจัย ๔ เป็นหน้าที่นะ พระนี่ก็หาปัจจัย ๔ เวลาบวชนะ ไปบวชนี่บริขาร ๘ บาตรคืออาหาร ต้องบิณฑบาตเป็นวัตร ฝากชีวิตนี้ไว้กับศรัทธาญาติโยม เห็นไหม มีผ้า เครื่องนุ่งห่มก็ผ้า ๓ ผืน มีผ้า ๓ ผืน มีธมกรก มีที่อยู่ ที่อยู่ก็เรือนว่าง ยารักษาโรคก็น้ำดองมูตรเน่า นี่ไงปัจจัย ๔ พระก็ต้องหานะ เช้าขึ้นมาบิณฑบาตทุกวัน ไม่บิณฑบาตก็อด เลี้ยงชีพไว้เพื่อปฏิบัติไง

ฉะนั้น เวลาเราไม่ได้บวชพระใช่ไหม? เราเป็นประชาชน เราเป็นฆราวาสเราก็ต้องทำมาหากิน เราก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา นี่มีหลักมีเกณฑ์ของเราแล้ว เรามีสติปัญญา เราจะทำดีหรือทำไม่ดี

ฉะนั้น ที่ถามว่า

ถาม : ต้องบวชเท่านั้นหรือที่จะบรรลุธรรม

หลวงพ่อ : ไม่ ไม่บวชนะบรรลุธรรมก็มี ทีนี้การไม่บวช นี่เวลาบวชแล้ว พอเรารู้ว่าสิ่งใดดีแล้วเราก็ปรารถนาสิ่งนั้น เราก็อยากได้สิ่งนั้น ฉะนั้น ไม่บวชก็บรรลุธรรมได้ แล้วเก่งด้วย เก่งเพราะอะไร? เพราะเราอยู่ในกติกาที่คับแคบ เราอยู่ในกติกาที่เราพยายามดิ้นรนใช่ไหม? แล้วเรายังทำได้ พระนี่เห็นแก่ตัว แหม บวชแล้วปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมงนี่ไง แต่ถ้าปฏิบัติแล้วไม่ได้ล่ะ?

นี่ทางของนักพรต ทางของนักบวชเป็นทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมงอย่างที่ว่านี่เลือกเอา ฉะนั้น เราจะไปเพ่งโทษใครไม่ได้หรอก สิทธิเสรีภาพทุกคนมีเหมือนกันหมด อยู่ที่เราจะเอาหรือไม่เอาเท่านั้นแหละ เพราะพระบวชแล้ว นี่ว่าต้องบวชเท่านั้นหรือ? ต้องบวชเท่านั้นหรือ? ไม่ต้องบวชก็ได้ ไม่ต้องบวชยิ่งภาวนาเก่งได้ยิ่งยอดใหญ่

ถาม : ข้อ ๒. เกิดเป็นชาย-หญิง แสดงว่าชายทำบุญมากกว่าหญิงใช่หรือไม่?

หลวงพ่อ : ไม่ใช่ ไม่ใช่ เกิดเป็นหญิง เกิดเป็นชาย พระอานนท์เคยเป็นผู้หญิงมาก่อน พระอานนท์เป็นผู้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราอยากเป็นหญิง เป็นชายได้ด้วยแรงปรารถนา พอแรงปรารถนานี่ ๕๐๐ ชาติมันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป ๕๐๐ ชาติเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ขณะที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงนี่อยู่ระหว่าง แล้วในธรรมวินัยบอก “บัณเฑาะก์” บัณเฑาะก์นี่มันเป็นกติกาอันหนึ่งที่ว่ามาบวชแล้วมันจะมีปัญหา ทีนี้บัณเฑาะก์ห้ามบวช ไม่ให้บวชนะ

บัณเฑาะก์คืออะไร? บัณเฑาะก์เป็นศัพท์ในพุทธศาสนา บัณเฑาะก์ก็อยู่ระหว่างเพศตรงกลางไง เห็นไหม อย่างนี้มันมี ฉะนั้น หญิงหรือชายนี่นะ ทุกคนบอกว่าทำไมหนูเป็นอย่างนี้? ทำไมคนนั้นเป็นอย่างนั้น? กรรมไงอย่างที่พูดตอนเช้า กัมมะพันธุ กัมมะปฏิสะระโณ กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เรามีแรงปรารถนา มีแรงพอใจมา นี่เวลาเกิดเป็นหญิงก็อยากเป็นชาย ชายก็อยากเป็นหญิง ก็ว่ากันไป แต่ถ้าเราทำ หญิงหรือชายนะ ถ้าว่าเกิดเป็นชายหรือหญิง แสดงว่าชายทำบุญมากกว่าหญิง ไม่ใช่ เป็นเพราะเราอยากเป็นนั่นน่ะ

นี้พูดถึงสิทธิเสรีภาพ พอเกิดมาแล้วเป็นหญิงเป็นชายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เวลาปฏิบัติไปแล้วสมาธิไม่มีหญิง ไม่มีชาย ธรรมะไม่มีหญิง ไม่มีชาย นี่ถ้าทำไปแล้วนะ ความรู้สึกมันเป็นสากล

ถาม : ข้อ ๓. ทำไมลูกบวชแม่ถึงได้บุญ แสดงว่าลูกสาวบวชไม่ได้ แม่ก็ไม่ได้บุญใช่ไหม?

หลวงพ่อ : เวลาบวชนี่นะมันเหมือนกับว่า นี่ศาสนา เวลาศาสนาใครทรงศาสนามา ทีนี้ใครทรงศาสนามา ภิกษุถ้าบวชมาแล้วนะ แล้วถ้าศึกษาแล้ว ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติมันก็เหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วง มดแดงเฝ้ามะม่วงมันไม่ได้กินมะม่วงหรอก นี่เจ้าของสวนมันเด็ดมะม่วงกินหมดเลย บวชแล้วไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ บวชแล้วนี่มันบวชเพื่ออะไร? ถ้าบวชแล้วประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม บวชแล้วนี่พระสงฆ์เหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วง แล้วถ้าใครบวชแล้วปฏิบัติขึ้นมา มันจะได้ธรรมขึ้นมา

ฉะนั้น ผู้ที่มัวมาเฝ้ามะม่วง ผู้ที่มาสืบต่อศาสนา ภิกษุตั้งแต่สมัยพุทธกาลมา ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าปรินิพพานมา จนป่านนี้ภิกษุยังไม่ขาดช่วง ภิกษุณีขาดช่วงไปแล้วไง พอขาดช่วงไปแล้วใครจะบวชต่อไป แต่ภิกษุยังสืบต่อมา การสืบต่อมา นี่ไงการสืบต่อศาสนา การสืบต่อทรัพย์สมบัติ การสืบต่ออริยทรัพย์ ทรัพย์คือ ถ้าประสาเราว่าสืบต่อทางวิชาการ แล้วใครเข้ามาค้นคว้าดูแล ๒,๐๐๐ กว่าปีนะ

ไปศึกษาสังคมไทยสิ ตั้งแต่สมัยรบกับพม่า พระไตรปิฎกโดนเผาทิ้งหมดเลย สุดท้ายแล้วรบราฆ่าฟันกันมาก็ทำลายกันทั้ง ๒ ฝ่าย สุดท้ายแล้วเราจะพิมพ์พระไตรปิฎกได้สมัย ร.๕ นี่เอง นี่พระจุลจอมเกล้าเป็นผู้รวบรวม แล้วพิมพ์พระไตรปิฎกครบชุดแล้วแจกจ่ายไปทั่วโลก เห็นไหม นี่มันมีของมัน

นี้ว่า

ถาม : ทำไมลูกบวชแม่ถึงได้บุญ

หลวงพ่อ : ได้บุญตรงนี้ไง เวลาบวชได้บุญตรงนี้นะ พ่อกับแม่ ถ้าไม่มีพ่อหรือไม่มีแม่ ลูกก็ไม่ได้เกิด ถ้ามีพ่อหรือมีแม่ ลูกถึงได้เกิด พอลูกเกิด ลูกเกิดมาแล้วนะ นี่ไงพันธุกรรมๆ พันธุกรรมหมายความว่าเรานะ สมัยโบราณเวลาเราคลอดลูกไปแล้ว ลูกดื่มนมจากอกแม่ ลูกได้กินเลือด กินเนื้อจากแม่ ร่างกายเติบโตขึ้นมาจากไข่ของแม่ แล้วเอาไข่ของแม่นี้ไปค้ำจุนศาสนา แล้วแม่ได้บุญไหม?

แม่ไม่ได้เข้าไปคุ้มครองศาสนา แต่เรามีลูก แล้วลูกเรากินเลือด กินเนื้อเรา น้ำนมคือน้ำเลือด แล้วเอาสิ่งนี้ไปค้ำจุนศาสนา นี่ไงได้บุญตรงนี้ไง มันได้บุญตรงนี้เพราะลูกเราไปค้ำจุน ไปจากเราไง เห็นไหม พระเจ้าอโศกอยากจะเป็นญาติกับศาสนามาก ไปถามอาจารย์ตัวว่าเป็นญาติศาสนาหรือยัง? ยัง สร้างวัด ๘๔,๐๐๐ วัดนะ ไปถามอาจารย์ว่า

“เป็นญาติศาสนาไหม?”

“ไม่”

“แล้วถ้าเป็นญาติศาสนาต้องทำอย่างไร?”

“เอาลูกมาบวชไง”

ก็ได้พระมหินทร์ พระมหินทร์นี่ลูกสาวกับลูกชายมาบวช ขอร้องให้มาบวช พอบวชเสร็จแล้วเป็นญาติศาสนาหรือยัง? สายเลือดไง สายเลือดเข้าไปดองกับศาสนาไง ฉะนั้น ลูกเวลาบวช สายเลือดมาดองกับศาสนา นี่ได้บุญตรงนี้

ถาม : ทำไมลูกบวชแม่ถึงได้บุญ แสดงว่าลูกสาวไม่ได้บวช แม่ก็ไม่ได้บุญ

หลวงพ่อ : ถ้าลูกสาวนะ ลูกสาวถ้าประพฤติปฏิบัติของเรา เพราะเป็นลูกสาวใช่ไหม? นี่มีการทำบุญมันมีทางออกหลากหลาย เวลาทางออกหลากหลาย เราเกิดมาเป็นชาวพุทธหรือยัง? เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ในชาวพุทธเรามีหน้าที่สิ่งใด? เราทำสิ่งใดนะ เวลาทุกคนอยากจะไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ ที่อินเดีย ไปเฝ้านู่น เฝ้านี่นะ ทำไมไม่เฝ้าพระพุทธเจ้าที่หัวใจ

“พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”

นี่เวลาพระ สมัยพุทธกาลนะพระพุทธเจ้าบอกว่าถ้าบวชกับเรา ไม่ทำเหมือนเรา ก็เหมือนอยู่ห่างไกลเรา ถ้าบวชกับเรา อยู่กับเรานะ ปฏิบัติเหมือนเรา ถึงอยู่ห่างไกลขนาดไหน เวลาภิกษุเผยแผ่ศาสนาไป ไปหมดนะสมัยชมพูทวีป อัฟกานิสถาน ปากีสถานต่างๆ มันเป็นชมพูทวีปหมด พระไปหมด

“เธออยู่ถึงชนบทประเทศ ถ้าปฏิบัติตามเรา ปฏิบัติเหมือนเรา เหมือนอยู่กับเรา ผู้ที่จับชายจีวรไว้ไม่ปฏิบัติเหมือนเรา เหมือนอยู่ห่างไกลเรา”

นี่ไงถ้าเราเป็นชาวพุทธเราปฏิบัติอย่างไรล่ะ? เราปฏิบัติแล้วเราจะได้บุญหรือไม่ได้บุญล่ะ? นี่เราดูแลพุทธะ ดูแลหัวใจของเรา ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าในหัวใจหมดเลย จะหญิงหรือชายตรงไหนล่ะ? ฉะนั้น มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราพูดบ่อย “วัฒนธรรมไม่ใช่ธรรม” วัฒนธรรมนะ เวลาพระนี่ เวลาบวชแล้วนะธุดงค์ไปทั่วประเทศไทยสิ ทั่วประเทศไทยประเพณีก็ไม่เหมือนกัน ที่ไหนก็ไม่เหมือนกัน ขนาดประเพณีท้องถิ่นยังไม่เหมือนกันเลย ท้องถิ่นไม่เหมือนกันแล้วเราจะปฏิบัติอย่างไร?

หัวใจไง กลับมาที่หัวใจเรา กลับมาดูที่ใจเรา ถ้าใจเรานะ เรารักษาความสงบของใจ นี้เป็นประเพณีท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่นปั๊บเราก็สับเลย มันเหมือนกับกฎหมายเทศบัญญัติ กฎหมายเทศบัญญัติมันขัดแย้งกับกฎหมายอาญาไหม? กฎหมายอาญาขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไหม? เราก็ดูเข้ามาในพระไตรปิฎกสิ เราจะเอาตัวรอด ทางของภิกษุทางกว้างขวางใช่ไหม?

นี่พูดถึงว่า “ถ้ามีลูกสาวไม่ได้บวช แม่ก็ไม่ได้บุญใช่ไหม?”

ได้ บุญก็คือบุญกุศล เราทำสิ่งใดก็ได้ ฉะนั้น การบวชมันก็บวช ถ้าเดี๋ยวนี้บวชใจก็ได้ บวชสิ่งใดก็ได้ มันไม่ถึงกับว่าไม่บวชแล้วจะทำสิ่งใดไม่ได้หรอก อันนี้เราจะตั้งประเด็นขึ้นมา ให้เราเอาเป็นประเด็นขึ้นมาโต้แย้งกันทำไม? เราจะต้องทำเพื่อประโยชน์กับเรา

ถาม : ข้อ ๔. คนที่อยากนิพพาน นี้ถือเป็นกิเลสหรือไม่? ผิดหรือเปล่า?

หลวงพ่อ : เราอยากเป็นคนดีผิดหรือไม่? เราอยากเป็นคนดีผิดหรือไม่? ถ้าเราอยากเป็นคนชั่วสิผิด ถ้าเราอยากเป็นคนดีไม่ผิด ความอยากนะ ดูสิเราทำแล้วเราอยากประสบความสำเร็จใน ชีวิต เราอยากทำคุณงามความดี อย่างนี้มันผิดหรือไม่? เขาบอกว่า ไม่ใช่เขาบอก ในสัจจะความจริงมันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือมรรค มรรคคือทำคุณงามความดี นี่ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นลบ ฉะนั้น ถ้าเราอยากดีนี่ไม่ผิด ถ้าเราไม่อยากดีเราจะทำอะไรกัน

ฉะนั้น ถ้าอยากนิพพานนะ ถ้าอยากนิพพาน แต่ยังไม่รู้จักนิพพาน นี่อยากไปไหน? อยากไปดวงอาทิตย์ ไม่รู้จักว่าดวงอาทิตย์มันร้อนนะ เข้าไปดวงอาทิตย์นี่ไหม้หมดนะ อยากไปดวงอาทิตย์ อยากไปดวงอาทิตย์ เข้าไปดวงอาทิตย์สิ นี้อยากไปนิพพาน นิพพานคืออะไร? นิพพานอยู่ที่ไหน? เราจะไปแสวงหานิพพานที่ไหน? แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วเราแสวงหา นิพพานคือการเอาชนะตนเอง เอาชนะหัวใจเรานี่แหละ นิพพานมันอยู่ที่นี่ ถ้าอยู่ที่นี่แล้วมันไม่มีอะไรผิดหรอก

ทีนี้เราไม่รู้นี่นิพพานอยู่ที่ไหน? นิพพานจะต้องให้คนนู้นบอก นิพพานจะต้องไปสยบยอมกับคนนั้น นิพพานต้องไปยอมจำนนกับคนนั้น นิพพานอย่างนั้นหรือ? นิพพานต้องให้คนอื่นประเคนให้หรือ? นิพพานต้องให้คนอื่นประกันให้หรือ? นิพพานอยู่กลางหัวอกนี่ ถ้าอย่างนี้มันจะผิดตรงไหน? ยิ่งอยากจะไปนิพพาน อยากจะทำนิพพาน อยากเข้าสู่นิพพาน คนนั้นยิ่งเป็นอิสรภาพ เป็นเสรีชน เป็นผู้ที่ทรงตัวเองได้โดยที่ใครหลอกไม่ได้เลย

ไม่ผิดหรอก ไม่ผิด เพียงแต่ว่าเวลากิเลสมันท่วมหัวมันก็อยากไปนิพพาน มันบอกว่านิพพานเป็นความว่าง มันก็อยากไปอยู่เป็นสุญญากาศ เดี๋ยวนี้เวลานักบินอวกาศ เวลาเขาจะไปอวกาศ เขาต้องไปฝึกในห้องลมนั่นน่ะ อย่างนั้นเป็นนิพพานไหม? ห้องสุญญากาศเป็นนิพพานไหม? ไม่เป็น ไม่เป็นหรอก เพราะเราเริ่มตีความคลาดเคลื่อนแล้ว แต่ถ้าเข้ามาความจริงเป็นความจริง

นี่พูดถึงว่า “คนอยากไปนิพพานจะผิดหรือไม่?”

ปรารถนาความดีไม่ผิด

ถาม : ข้อ ๕. โดนหลอกให้มาทำบุญ จะได้บุญหรือบาป

หลวงพ่อ : โดนหลอก โดนหลอกเขาเรียกอุบาย เราพยายามชักนำให้คนเป็นคนดี ถ้าเขาไปทำ รู้หรือไม่รู้เขาได้บุญหมด รู้หรือไม่รู้ ได้บุญหรือบาปไง ได้บุญหรือบาปเพราะว่า ถ้าเราคัดค้านในใจใช่ไหม? เวลาเขาหลอกเราไปทำบุญ ถ้าใจเรายังคัดค้านอยู่มันเป็นอกุศล ถ้ายังเป็นอกุศลอยู่มันก็ได้บาปไป เพราะมันคับแค้น คับข้องใจ แต่ถ้ามันเข้าใจนะ มันปรับความเห็นของมันนะ ปรับใจแล้วนี่ได้บุญ ได้บุญเพราะว่า

อ้าว เขาชวนมาทำความดี ถึงเขาจะหลอก หลอกก็ไม่เป็นไร ดูพ่อแม่สิ พ่อแม่ที่พูดกับลูก ลูกนี่นะเด็กเล็กเกินไป มันยังเข้าใจคำพูดไม่ได้ พ่อแม่ต้องใช้อุบายนะ ไปอย่างนั้นไม่ได้นะมันอันตรายอย่างนั้นนะ แต่บอกนี่เด็กมันจะฟังไหม? เขาก็ต้องมีอุบายของเขา

อันนี้ก็เหมือนกัน

ถาม : โดนหลอกให้มาทำบุญ จะได้บุญหรือบาป

หลวงพ่อ : ถ้าโดนหลอกมาแล้ว แล้วเราเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี ได้บุญ ถ้าโดนหลอกมาแล้วยังติดใจการหลอกนั้น เสียศักดิ์ศรี เสียชั้นเชิง อันนั้น กุศลและอกุศลมันแค่พลิกนะ เหรียญสองด้าน พลิกก็จบ

ถาม : ๖. ผู้ชายไม่บวชผิดไหม?

หลวงพ่อ : พูดถึงผิดไหม? ไม่ผิด เพราะไม่บวชตำรวจไม่จับ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ชายต้องบวชพระ ไม่มีกฎหมายบังคับ ถ้ามีกฎหมายบังคับผิด นี้ไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องบวช ไม่ผิดหรอก ผู้ชายไม่บวชผิดไหม? ไม่ผิด แต่เวลาคนรู้เหตุ รู้ผล รู้ดี รู้ชั่ว รู้โอกาส รู้อำนาจวาสนา เขาอยากบวชของเขาเอง

คนที่เขาอยากบวชนะ เรากระเสือกกระสน เราพยายามทำของเราขนาดนี้ เรายังทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วถ้าพูดถึงเราประพฤติปฏิบัติขึ้นไป แล้วคนที่เขาอยากบวช เวลาเขาปฏิบัติเขาเป็นฆราวาสก่อน พอจิตมันเริ่มสงบ เห็นไหม เขาเห็นคุณค่าไง เขาเห็นคุณค่าถ้าเราทำได้ขนาดนี้ ถ้าเรามีโอกาสเราจะได้มากขนาดไหน? เราจะรู้ได้มากขนาดไหน? เขาอยากบวชเพื่อทดสอบ

การบวชนี้ไม่ใช่บวชกล้วยบวชชีไง กล้วยบวชชีบวชไปอยู่ในหม้อเอาไว้กินไง บวชพระเขาไม่ได้บวชว่านี่ไงไปวัดแล้วจะไปพักผ่อน ไปวัดจะไปพักผ่อน เพราะเราคิดกันเองว่าไปวัด พระนี่โดนตัดหางปล่อยวัดไง คนที่บวชสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีทางไปถึงต้องมาบวชพระ สมัยพุทธกาลกษัตริย์บวชพระเยอะนะ กษัตริย์บวชพระเยอะ เพราะเขาปรารถนาของเขา

ถาม : ผู้ชายไม่บวชผิดไหม?

หลวงพ่อ : ไม่ผิดหรอก แต่คนที่เขารู้ เขาปรารถนา เขาอยากได้นั้น มีคนปรารถนาบวชมาก แต่ แต่มีความรับผิดชอบเป็นไปไม่ได้ มันต้องพลิกที่ใจนี้ก่อนไง ถ้าใจนี้มันพลิก มันคิดว่าเป็นคุณงามความดีแล้วมันขวนขวาย ถ้ายังไม่พลิกเป็นคุณงามความดี มันว่าไม่มีประโยชน์อะไร ขนาดโลกเขาว่านะ พระไม่มีหรอก มีแต่คนหัวโล้นห่มผ้าเหลือง เขาว่าอย่างนั้นนะ เออ พระไม่รู้จัก รู้จักแต่มนุษย์คนหนึ่ง โกนหัวแล้วก็ห่มผ้าเหลือง

แต่ แต่มันมีพิธีกรรมบวช บวชนี่ต้องญัตติจตุตถกรรม สงฆ์ต้องยกคนๆ นั้นเข้ามาเป็นพระ ถ้าสงฆ์ยกมาเป็นพระนะ เวลาประชุมสงฆ์มันเหมือนเข้าสภา เวลาสภานะต้องสมาชิกพร้อมต่างๆ ถึงจะลงมติได้ เวลาลงอุโบสถ เวลาทำมติกรรมของสงฆ์ ถ้าไม่ใช่สงฆ์เข้ามานะมตินั้นจะเสียหมด ฉะนั้น มันต้องบวชตามธรรมวินัย

ถาม : ๗. ถ้าไม่สนใจเรื่องศาสนา แต่ทำดีจะบาปไหม?

หลวงพ่อ : ไม่ ศาสนาสอนให้ทำดี ถ้าเราทำดีอยู่แล้ว ศาสนาก็เป็นตัวศาสนา แต่ถ้าเราพิจารณาของเราเข้าไปแล้วนะ ถ้าเราทำดีของเราแล้ว ถ้าเราพิจารณาจนจิตใจเรารู้ ถ้าจิตใจเราเห็น ทำความดีนะ เพราะความดีมันดีโลก ดีธรรม ดีแบบโลก เป็นคนดี เราเสียสละเราเป็นคนดีไหม? ดี แต่ดีแบบโลกไง แล้วถ้าดีแบบธรรมล่ะ? เราเสียสละความรู้สึกภายในได้ไหม? เราควบคุมหัวใจเราได้ไหม?

นี่พูดถึงหลักศาสนานะ แล้วเวลาหลักศาสนา เห็นไหม ดูสิลัทธิศาสนาต่างๆ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า “นั่นลัทธิไม่ใช่ศาสนา” ตัวศาสนาคือตัวตอบโจทย์ได้ว่าชีวิตนี้คืออะไร? ชีวิตนี้มาจากไหน? ชีวิตนี้มาจากไหน? นั่งอยู่นี่นั่งเพื่ออะไร? แล้วถ้ากระบวนการนี้จบสิ้นไปแล้ว นี่มันจบสิ้น นี่คือศาสนา ศาสนาตอบเรื่องชีวิตเราได้ ศาสนาจะตอบหมดนะ แต่ลัทธิไม่ใช่ ลัทธิอ้อนวอน ลัทธิขอกันไป นี่ต้องให้คนมาควบคุมดูแล นั้นคือลัทธิ แต่ถ้าตัวศาสนานะ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่ศาสนาพุทธนะ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอน มันสัจจะความจริง สัจธรรมอันนั้นมันมีอยู่โดยดั้งเดิม เวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว อันนั้นแหละทำให้ไม่เกิดอีก ไม่เกิดคือมันไม่ขับเคลื่อนไป แล้วไม่ขับเคลื่อนไปอย่างไร? ฉะนั้น ถามว่า ถ้าไม่สนใจเรื่องศาสนาแต่ทำดี ดีอะไรล่ะ? ดีอย่างไร? เราว่าดีก็ดีนะ แต่ว่าเวลาเราไปรู้แล้ว ความดีที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ยังอีกมหาศาล อันนั้นเรารู้เองไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ขึ้นมา อนาคตังสญาณท่านรู้หมด แล้วท่านวางไว้ เพียงแต่เราเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงไง

ศึกษาทฤษฎีมา ไม่รู้อะไรเลย ศึกษาทฤษฏีมา แต่ถ้ารู้จริงแล้วนะ รู้จริงนะ คนเรานะมีความรู้สึกอันหนึ่ง แล้วมีคนชี้นำให้เราเห็นอีกอันหนึ่ง เราจะระลึกถึงคุณของเขา นี้พระพุทธเจ้าท่านวางธรรมวินัยไว้ ถ้าใครรู้จริงขึ้นมา โอ้โฮ นี่ไงเมตตาคุณ ปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าครอบ แค่วัฒนธรรม เห็นไหม ยิ้มสยามๆ มันมาจากไหน? มันมาจากใจ มาจากความรู้สึก แล้วความรู้สึกนี้มันมาจากไหน? พุทธศาสนาสอนเข้าถึงก้นบึ้งของใจเลย แล้วมีศาสนาไหนสอนถึงหัวใจบ้าง? มีศาสนาสอนถึงการเกิดและการตาย แล้วการดำรงอยู่มันมีที่ไหน?

นี่ให้ไปศึกษาค้นคว้า แล้วจะบอกว่าจะถือหรือไม่ถือนั่นสิทธิ รัฐธรรมนูญรับประกันให้หมดนะ สิทธิความเป็นมนุษย์นี่เชิญตามสบาย

ถาม : ข้อ ๘. คนเราจะอยู่โดยไม่นับถือศาสนาใดเลยได้หรือไม่?

หลวงพ่อ : เพราะตอนนี้มันเป็นลัทธิที่โก้เก๋นะ เวลาเขาลงในทะเบียนบ้าน ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลย แล้วตอนนี้นะนับถือศาสนาเทคโนโลยีไง นับถือศาสนาวิทยาศาสตร์ ศาสนาพุทธ ศาสนาใดก็แล้วแต่ ว่าศาสนาเป็นของครึ ของล้าสมัย ของไม่มีประโยชน์

ถาม : ไม่นับถือศาสนาใดๆ เลยได้หรือไม่

หลวงพ่อ : ได้ สิทธิเสรีภาพเชิญตามสบาย เชิญได้หมดเลย คนเรานะมันรู้ถูก รู้ผิดเอง คนนั้นถึงจะรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ถ้าเราไม่รู้สิ่งใดเลย เห็นไหม เราจะไปแก้ตรงไหน? ไม่นับถือสิ่งใดๆ เลยนะ ได้เลย ได้ ไม่ผิดหรอก ศาสนาพุทธเป็นสิทธิเสรีภาพ ไปดูศาสนาอื่นนะ ถึงเวลาทำกิจกรรมของเขา ถ้าไม่เข้าไปทำกิจกรรมเขามีตำรวจศาสนาจับนะ ศาสนาพุทธไม่เคยลงโทษใคร ศาสนาพุทธไม่เคยบังคับใคร เว้นไว้แต่พระที่เห็นแก่ตัวไปหลอกลวง นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

หลอกไปทำบุญ โดนหลอกมาทำบุญ นี่มันเป็นบุญหรือบาป? เวลาพระหลอกจะรู้ว่าบุญหรือบาป ไอ้อย่างนั้นถึงจะรู้ นั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ

ถาม : ข้อ ๙. ถ้าไม่ได้เป็นเพศปกติ ในพุทธศาสนาคิดอย่างไร?

หลวงพ่อ : คิดอย่างที่ว่านี่แหละ คิดอย่างที่พูดมาแล้ว เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงเพศไม่ปกติบัณเฑาะก์ ถ้าบัณเฑาะก์ เห็นไหม อยู่ระหว่างกลาง เวลาเราบวชพระนะเขาจะถามว่าเป็นมนุษย์หรือเปล่า? มนุสโสสิ มนุษย์โสสิคือว่าเป็นมนุษย์ เป็นขี้ทูดกุดถังหรือเปล่า?

เวลาที่อุปัชฌาย์ เพราะเวลาบวชเข้ามาแล้ว เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าเปิดกว้างมาก แล้วมีคนบวชเข้ามาแล้ว มีอย่างไรก็บวชเข้ามา สุดท้ายแล้วมีพวกประชาชนเขาติเตียนว่านี่เป็นสมณะ ศากยบุตรพุทธชิโนรสมันควรจะเป็นที่เคารพนบนอบ ทีนี้ข่าวนั้นมาก็มาบอกพระพุทธเจ้า นี่พวกที่บิณฑบาตไปก็มาบอกพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตั้งบัญญัติมา บัญญัติมาว่าห้ามๆๆ

อย่างสัตว์ อย่างนาคที่เขามาบวชเป็นพระ เห็นไหม เขาแปลงกายได้เป็นมนุษย์ไง อยากบวชมาก พอบวชเสร็จแล้วนี่บวชเป็นพระ พอเป็นพระ เวลานอนหลับเขาก็ปล่อยจิตเขาหมดเลย มันก็กลายเป็นงูใหญ่อยู่ในกุฏิ เวลาพระเปิดเข้าไปเจอ พอเจอเข้าเขาก็ตกใจตื่น ตื่นขึ้นมาเขาก็กลับมาเป็นมนุษย์อีก นั่นน่ะเขามาฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่านาคห้ามบวช นี่มีคนห้ามบวช แล้วก็ถ้าเป็นเพศไม่ปกติ ถ้าพูดอย่างนั้นเขาก็แบบว่าไม่ให้บวช

ฉะนั้น คติไง นี่พูดถึงเฉพาะบวชนะ แต่พระพุทธเจ้าหรือศาสนาพุทธ คติในพุทธศาสนา ทุกคนมีชีวิต ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ การทำสัตว์ให้ตกล่วง แม้แต่เซลล์ร่างกาย แม้แต่อะไรนี่ไม่ได้เลย ให้สิทธิเสรีภาพ พระพุทธเจ้านี่ ชีวิตทุกชีวิต รักชีวิตของตัวเอง ทุกชีวิตเกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข ทุกชีวิต ฉะนั้น ในศีล ๕ ถึงห้ามล่วงเกินกัน แล้วปาณาติปาตาที่ว่าฆ่าเขาแล้วจะเป็นกรรม ไม่ใช่ แม้แต่เราถากถาง เราแสดงเจตนา นี่คือปาณาฯ แล้ว

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงเรื่องชีวิตนะ จะเพศใดก็แล้วแต่ ไม่ต้องเพศหรอก แม้แต่สัตว์ พุทธศาสนายังเมตตาเลย แม้แต่สัตว์ เห็นไหม ดูสิเวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์ เดี๋ยวมันจะไปนอกเรื่อง นี่อย่าว่าแต่ชีวิตมนุษย์เลย พุทธคิดอย่างไร? ชีวิต ที่ไหนมีชีวิต ที่ไหนมีความรู้สึก พระพุทธเจ้าเมตตา เมตตาแล้วให้เป็นผลบวกหมด นี้เราคิดอย่างไร? นี่เราตั้งประเด็นกันเอง แล้วเราก็ไปน้อยเนื้อต่ำใจกันเอง

ถาม : ข้อ ๑๐. แสดงว่าเราต้องพยายามทำบุญไปเรื่อยๆ จนกว่าชาติหนึ่งเราจะมีบุญพอจะนิพพานใช่หรือไม่?

หลวงพ่อ : ทำบุญไปเรื่อยๆ นี่นะ แสดงว่าเราต้องทำบุญไปเรื่อยๆ ไม่ใช่หรอก ศาสนาพุทธนี้เป็นศาสนาแห่งปัญญา การทำบุญของเรานี่ทำบุญอะไร? ทำบุญ เห็นไหม ทำบุญแค่นั่งสมาธินี่ได้บุญมากที่สุด นั่งสมาธิ ทำใจของเรา เพราะถ้าเราแก้ไขที่หัวใจของเราได้แล้วมันจบ แต่ทีนี้คำว่าทำบุญๆ คำว่าทำบุญกันมันเป็นระดับของทาน ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา พุทธศาสนาต้องการที่นี่ที่สุด คือระดับของภาวนา คือต้องการทำให้คนฉลาดที่สุด ต้องการทำให้คนมีปัญญาไม่ให้โดนใครหลอก

ฉะนั้น ถามว่า “เราต้องทำบุญไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?”

ทำบุญไปเรื่อยๆ นี่เขาว่าทำดีดีกว่าทำชั่ว ถ้าเราไม่คิดเรื่องดี จิตมันไพล่ไปคิดชั่ว ฉะนั้น การทำบุญของเรา ทำดีของเรา ทำบุญ เห็นไหม นี่ที่เราพูดอยู่นี้เราทำบุญอยู่นะเนี่ย เพราะขณะที่พูดนี่ให้ธรรมเป็นทาน ให้ธรรม ให้ปัญญา นี่บุญ

เราให้ปัญญาคน เราให้คนฉลาด นี่ไงแค่นี้ก็เป็นบุญ ทำบุญ ทำบุญด้วยอะไร? เราทำบุญด้วยอะไร? ทำบุญเรื่อยๆ จนกว่าจะไปนิพพานใช่ไหม? ไม่ได้นิพพานหรอก ทำบุญจนตายก็ไม่ได้นิพพาน นิพพานมันเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ทำบุญกุศลมันทำให้เรามีศรัทธา มีความเชื่อ มีหลักมีเกณฑ์ ฉะนั้น ทำบุญจนนิพพานเอามาจากไหน? ซื้อตั๋วหรือ? จะเอาเงินไปซื้อมาหรือ? สมาธิซื้อได้ไหม? สมาธิก็ซื้อไม่ได้ ปัญญาก็ซื้อไม่ได้ ทำบุญจนถึงนิพพาน ทำบุญแล้วต้องมีปัญญา พอมีปัญญาแล้วมันจะประพฤติปฏิบัติ พอประพฤติปฏิบัติ อันนั้นแหละ อันนั้นทำให้จิตเรามันดีขึ้น

โอ้โฮ นิพพานยังต้องทำอีกเยอะ แหม แล้วทำบุญๆ จะนิพพาน โอ๋ย เศรษฐีมันซื้อหมดนะ มันซื้อนิพพานไปหมดเลย ไอ้พวกเราไม่มีสตางค์มันไม่ได้นิพพานหรอก ไม่มีทาง ทำบุญจนตายก็ไม่มีนิพพาน นิพพานมันอยู่ที่การประพฤติปฏิบัตินี่ เอานิพพานมาจากไหน? เพราะมันคนละเรื่องกัน เราขับรถ เราเติมน้ำมันรถเอาไว้ทำไม? เราเติมน้ำมันรถเพื่อขับรถไปเป้าหมายปลายทาง เพื่อจะเป็นยานพาหนะใช่ไหม? แล้วเราเติมน้ำมันรถแล้วเราได้อะไร? เราก็ได้นั่งรถนั้นไป แล้วเราล่ะเราคืออะไร?

นี่ก็เหมือนกัน ทำบุญ บุญก็คืออามิส สิ่งที่เป็นอามิส ก็เหมือนรถเราเติมน้ำมันๆ เติมน้ำมันก็เพื่อเป้าหมายของเรา เพื่อความสะดวกสบายของเรา เพื่อความสะดวก เพื่อทุกอย่างของเรา แล้วเราได้อะไรล่ะ? ถ้าเรายังไม่กลับมาเจ้าของรถคือตัวจิต ถ้าเรายังไม่กลับมาที่ตัวเรา ยังไม่เกิดมรรค ๘ ยังไม่เกิดการกระทำจะเอานิพพานมาจากไหน? รถมันก็คือรถ เราก็คือเรา บุญก็คือบุญ เวลาปัญญามันเกิดมันอีกเรื่องหนึ่งนะ

นี่พูดถึงว่า “ต้องทำบุญไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?” ถ้าอย่างนั้นก็อย่างที่ว่านี่ไง ว่าอย่าให้พระหลอกไง เดี๋ยวเราก็จะหลอกอีกคนหนึ่ง เออ ได้ ใช่ ทำมาเยอะๆ เลย แล้วเอ็งจะได้นิพพาน แล้วเมื่อไหร่ล่ะ? เมื่อไหร่?

ถาม : ข้อ ๑๑. ทำดีลบล้างบาปได้หรือไม่?

หลวงพ่อ : ไม่ได้ บาปคือบาป บุญคือบุญ พระโมคคัลลานะ มีอยู่ชาติหนึ่งเป็นลูกชาย แม่ตาบอด ลูกชายคนนี้ดีมากๆ ดูแลแม่ แม่รักลูกชายคนนี้มาก แล้วแม่ก็ห่วงลูกชายคนนี้มาก พอแม่ห่วงลูกชายคนนี้มากนะ แม่ก็พยายามออดอ้อนขอให้ลูกชายมีครอบครัว ลูกชายไม่อยากได้ ลูกชายรักแม่ ลูกชายอยากจะดูแม่จนถึงที่สุด แม่ก็รักลูกมาก รักลูกมาก ก็ขอร้องให้ลูกมีครอบครัว พอให้ลูกมีครอบครัวก็ไปขอผู้หญิงมาให้ลูกชาย

พอขอผู้หญิงมาให้ลูกชายนะ พอลูกชายใช่ไหมเมื่อก่อนก็ดูแลแม่อย่างดี สมัยนั้นเขาก็ออกป่าหาของป่า กลับมานี่ลูกสะใภ้ก็บอกว่าแม่ทำนู่นตก แม่ทำนี่ตก เป่าหูทุกวัน เป่าหูทุกวัน จากที่รักแม่มาก รักแม่มาก ทีนี้สุดท้ายนะ ไม้สุดท้ายภรรยาบอกว่าต่อไปนี้จะเอาแม่หรือจะเอาตัวฉัน? ถ้าเอาตัวฉันต้องเอาแม่ไป

นี่ไงทีแรกก็รักแม่มาก แต่ด้วยเป่าหูทุกวันๆ สุดท้ายก็บอกแม่ จะพาแม่ไปเยี่ยมญาติอีกตำบลหนึ่ง ก็เอาแม่ขึ้นเกวียน พอแม่ขึ้นเกวียนก็ขับเกวียนไป แล้วก็ให้แม่จับเชือกเกวียนนั้นไว้ แล้วก็บอกว่าจะไปทำธุระ พอลงจากเกวียนนั้นไปก็ทำเป็นว่าโจรปล้นๆ โอ๋ย ปล้นๆ แม่ก็อยู่บนเกวียนนะ ลูกหนีไปโจรปล้น ก็ลูกชายนั่นแหละกลับมา เพราะแม่ตาบอด มาทุบตีแม่ ทุบตีแม่ จนแม่บอกว่าลูกหนีไปนะ นี่โจรนะ ลูกมันได้คิด พอได้คิดขึ้นก็ว่าไอ้โจรถอย ถอยเลยนะ แล้วก็กลับมาดูแลแม่ แม่ด้วยความแบบว่าโดนทำร้ายจนสาหัส แล้วแม่ก็ตายไป

นี่ด้วยบาปอันนั้นนะ บาปอันนั้นให้พระโมคคัลลานะตกนรกอเวจี เวียนตาย เวียนเกิดอยู่ในกรรมมหาศาลเลย สุดท้ายพระโมคคัลลานะมาเกิดเป็นสหายกับพระสารีบุตร แล้วนี่เป็นลูกเศรษฐี เห็นไหม เวลาประพฤติปฏิบัติถึงรวบรัดเป็นพระอรหันต์ เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย มีฤทธิ์ มีเดชมาก พอมีฤทธิ์ มีเดชมากนะ พระพุทธเจ้าเวลาแผยแผ่ธรรมขึ้นมามันมีศาสนาอยู่เต็มไปหมดแล้ว

ทีนี้พระโมคคัลลานะก็เป็นผู้ที่ทำประโยชน์ ที่ว่ามีฤทธิ์ มีเดช ก็เอาสิ่งที่เป็นฤทธิ์ เป็นเดชต่างๆ มาการันตีว่าเป็นความจริง พระพุทธเจ้าบอกเป็นความจริง ลัทธิ ศาสนาอื่นๆ เขาอยากจะทำลายศาสนาพุทธ เขาบอกว่าถ้าทำลายศาสนาพุทธต้องทำลายใครก่อน? ต้องทำแม่ทัพก่อน คือต้องฆ่าพระโมคคัลลานะก่อน จ้างโจรมาทุบมาตี เป็นสมณะ เป็นพระนี่แหละ พอเขาจะมาตีนี่รู้ก่อน เหาะหนี เขาจะมาตี รู้ก่อนเหาะหนี เขาจะมาตี รู้ก่อนเหาะหนี ก็มาพิจารณาอยู่มันเป็นเพราะอะไร? นี่ไง “ทำดีลบล้างบาปหรือไม่?”

นี่บาปกรรมอันนั้น เวลาบาปกรรมอันนั้น คิดดูสิว่ามีฤทธิ์ทุกอย่าง ไปนรก สวรรค์ ไปได้ทุกอย่างเลย ทำไมนั่งเฉยๆ ให้โจรตีจนตาย นี่เวลาทำสิ่งใดนะ ในธรรม ในศาสนานะ ถ้าเราขาดสติ ทำสิ่งใดแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย นี่ไงถึงว่าทำไมต้องทำบุญเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำความดีมันก็ต้องทำความชั่ว มันจะไหลไปทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ตั้งสติไว้ๆ รั้งไว้อยู่ในแวดวงของความดี ฉะนั้น ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว แต่มันจะให้ผลตอนไหนไง

นี่ที่เราทุกข์ เราเสียใจ น้อยใจ ทำดีทุกคน ทุกคนเป็นคนดีหมดเลย ทำบุญกุศลทุกอย่างเป็นความดีหมดเลย ทำไมไม่สมความปรารถนา? กรรมเก่า กรรมใหม่ พันธุกรรมของจิต เราบอกว่าจิตนี้มันเหมือนผลไม้ เมล็ดพันธุ์ผลไม้ชนิดใด เวลาลงปลูกขึ้นมามันก็จะออกตามเมล็ดพันธุ์นั้น จิตใจของคน มีอำนาจวาสนา มีบุญ มีบาปมากน้อยแค่ไหน? วาระที่มันมานะ วาระที่เราจะเจอเหตุการณ์แบบนั้นนะมันไม่มีเหตุมีผลเลย มันมาได้อย่างไรก็ไม่รู้ ว่ารักษาใจขนาดนี้ทำไมมันยังเป็นอย่างนั้น?

นี่ไงเพราะว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมใหม่คือการกระทำในปัจจุบันนี้ ปัจจุบันนี้ก็ทำดีทุกคนแหละ ปรารถนาดี ทำดีได้หมดเลย ทำไมมันมีเหตุการณ์ให้แอคซิเดนส์ ให้เรา ฮื้ม ปวดหัวไปหมดเลย อันนั้นมันคืออะไร? นี่มันมีกรรมเก่า กรรมใหม่นะ ฉะนั้น ว่าสิ่งนี้ลบล้างกันไม่ได้ เราถึงบอกว่าให้ทำความดีไว้ ถ้ามันต้องการทำตามอำนาจของมัน ฝืนมันไว้ ฝืนมัน แก้ไขมัน เพื่อเราไม่ใช่เพื่อใครหรอก เพื่อบุคคลคนนั้น เราเป็นคนที่โมโหโกรธา มีใครมาทำให้เสียใจก็ฆ่าเขาทิ้งเลย ผลที่ได้รับติดคุกครับ ครอบครัวก็แตกสลาย ทุกอย่างเสียหมด

ด้วยความสะใจได้ทำตามอารมณ์ไง เราไม่พอใจก็ทำลายเขาซะ ผลของมันก็ต้องหนี พ่อแม่ก็เป็นห่วง เป็นทุกข์ ทุกอย่างนี่ฟังผลต่อเนื่องสิ จากการตัดสินใจหนเดียว ผลต่อเนื่องมหาศาลเลย แต่ถ้าเราคิดของเรานะ คนนั้นมาดูถูกเหยียดหยามเรา ถ้ามันดูถูกเหยียดหยามเรานะเรารักษาใจของเรา ไอ้คนนี้มันดูถูกเหยียดหยามเรา เดี๋ยวมันจะไปดูถูกเหยียดหยามคนอื่น เดี๋ยวคนอื่นจัดการมัน ถ้าเรารักษาใจเราได้ แต่นี้มันไม่อย่างนั้น เขามาดูถูกเหยียดหยามเรานี่เสียศักดิ์ศรี เสียศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีกินไม่ได้นะมึง สติกินได้ ศักดิ์ศรีมันจะทำให้เอ็งเจ็บ

ถาม : ข้อ ๑๒. กรรมจะติดตัวเราไปตลอดทั้งชาตินี้และชาติหน้าใช่หรือไม่?

หลวงพ่อ : ใช่ กรรมมันไปกับเรา กรรมคือการกระทำ ความลับไม่มีในโลก คนอื่นไม่รู้เรารู้ คนไหนทำสิ่งใดไว้คนนั้นรู้ ความลับไม่มีในโลก เพราะเราเป็นคนทำ เพราะเราเป็นคนทำ เราเป็นคนรู้ ความรู้อันนั้นติดตัวเราไป แต่พอไปเกิดชาติใหม่จำไม่ได้ เอ๊ะ ทำอะไรมาไม่รู้

“อวิชฺชา ปจฺจยา สงฺขารา สงฺขารา ปจฺจยา วิญฺญาณํ”

อวิชชา ปัจจยา สังขารา เห็นไหม นี่คือสัญญา คือว่าปฏิสนธิจิต เวลาเราเกิดมาแล้วนะ มนุษย์มีสัญชาตญาณ สัญชาตญาณคือรูป คือความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกเราประกอบไปด้วยข้อมูล อารมณ์ความรู้สึกของเราประกอบไปด้วยความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ความรู้สึกของเราประกอบไปด้วยความรับรู้คือวิญญาณ ขันธ์ ๕ อันนี้เป็นขันธ์ ๕ โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ ฉะนั้น มนุษย์มันถึงไม่รู้ว่าเราเคยทำสิ่งใดมา

ในชาติปัจจุบันทำสิ่งใดมาแล้วลืม เกิดเป็นคนใหม่แล้วก็ลืมไปหมดเลย แต่เวลามันให้ผลนะ มันให้ผลกับเจ้าของความคิด มันให้ผลกับปฏิสนธิจิตอันนั้น ปฏิสนธิจิตอันนั้น เวลาทำความสงบของใจ นี่ที่เราทำความสงบของใจเข้ามาก็เพื่อเข้าสู่ฐีติจิต เข้าสู่ข้อมูลเดิม ถ้าเข้าสู่ข้อมูลเดิมแล้วมาพิจารณาอันนั้น มันจะไปแก้ไขกิเลสตรงนั้น แต่ในปัจจุบันนี้เราใช้สัญชาตญาณ ใช้ความรู้สึกนึกคิดกัน แล้วบอกสิ่งนี้เป็นธรรมๆ เป็นธรรมมันเป็นธรรมของโลกๆ เป็นไปไม่ได้หรอก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากรรมติดตัวไปไหม? ติด ติด แต่ติดในแง่ดีและแง่บวก นี่ถ้าพูดถึงพระโมคคัลลานะก็ติดมา ติดมากี่ชาติ มันติดมาขนาดไหน? มันติดมามหาศาล เห็นไหม ฉะนั้น กรรมดี กรรมชั่วติดเราไป แต่ แต่บางคนจะเสียใจนะ บางคนบอกว่าเราเคยทำผิดไว้ทีหนึ่ง แล้วจิตใจมันก็ผูกมัดกับอารมณ์นั้น จะทำสิ่งใดทำให้ชีวิตเรานะลุ่มๆ ดอนๆ เลยนะ คนเรามันมีความผิดพลาด ขาดสติได้ ถ้าทำสิ่งใดแล้วเรามีสติยับยั้ง สิ่งนั้นเคยทำมาแล้ว สิ่งนั้นไม่ดีเลย เราตั้งสติอย่าทำอีก แล้วอย่าไปหมกมุ่นจนเกินไปนักให้มันเป็นความวิตกกังวล จนให้ชีวิตนี้เสียรูปขบวนของชีวิตเราไปเลย

ฉะนั้น สิ่งใดที่ทำมาแล้วมันเป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันนี้ทำปัจจุบัน พระพุทธเจ้าสอนที่นี่ พระพุทธเจ้าสอนปัจจุบัน ปัจจุบันธรรม การแก้แก้ในปัจจุบันนี้ อดีต อนาคตแก้กิเลสไม่ได้ คนเราเคยสร้างสิ่งดีและสิ่งไม่ดีมาต่างๆ นั่นมันเป็นอดีตมาแล้ว ในปัจจุบันนี้เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา สิ่งนี้เป็นคุณงามความดี เราสร้างตรงนี้ เราทำตรงนี้ เห็นไหม ฉะนั้น ไอ้ที่ติดมาก็คือติดมา มันเป็นกรรมเก่า เวลากรรมมันทำให้โยมแตกต่างกันอยู่นี่ไง

ทำให้เกิดมาแล้วรูปร่างแตกต่าง คนที่อายุยืนก็ได้ถือศีล ๕ มาดี ไม่ฆ่าสัตว์ คนที่อายุสั้น ดูสิคนฆ่าสัตว์ตัดชีวิตใช่ไหม? คนลักขโมยมา คนต่างๆ มา เก็บของหายหมดเลย เก็บไว้ที่ไหนของก็หาย ทำอะไรก็คนมาลัก มาขโมย เขาทำไมเอาแต่ของเรา ของคนอื่นเขาไม่เอา นี่มันจะตามมา มันจะตามมา แล้วนี่โดยรูปร่าง รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ รูปสมบัติมันมาจากศีล มันมาจากการกระทำ จากอดีตชาติทั้งนั้นแหละ ที่เป็นมาๆ

เขาบอกเดี๋ยวนี้เขามีศัลยกรรม ไม่ดีก็ทำให้มันดีได้ เออ อันนั้นมันเป็นโลก มาพิสูจน์กันสิ พิสูจน์กันความจริง ศาสนาต้องการให้พิสูจน์

ถาม : ข้อ ๑๓. สวดมนต์แต่ใจไม่นิ่งได้บุญหรือไม่?

หลวงพ่อ : ได้ คำว่าสวดมนต์ คือเรามีจิตใจที่อยากทำดี เราอยากสวดมนต์ จิตใจมันเร่ร่อน จิตใจมันร้อนนัก คนเราหิวกระหายก็ต้องการดื่มน้ำเพื่อประทังความหิว จิตใจมันร้อนเหมือนอยู่กลางทะเลทราย จิตใจนี่นะ คนเราขาดน้ำ ขาดอาหารนี่ตาย จิตใจเวลามันเร่าร้อนมันไม่เคยตาย ใจนี้ไม่เคยตาย เวียนตาย เวียนเกิด ตกนรกอเวจีขนาดไหน พอหมดกรรมมันก็มาอีก มันไม่ตาย ฉะนั้น พอมันไม่ตายมันเร่าร้อน มันมีต่างๆ เราสวดมนต์ สวดพร เราพรมน้ำ เราให้ความชุ่มชื้นกับใจเรา

คนนะ เด็กนะเวลามันหิวกระหาย เราจะให้น้ำมันกินมันไม่รู้จักหรอก มันสาดทิ้ง เททิ้ง มันไม่รู้จักของมัน เห็นไหม สวดมนต์ สวดพรมันเป็นสิ่งที่ชุ่มชื่นหัวใจ เขาไม่รู้ เขาไม่เคยทำ แต่พอทำแล้วมันเป็นประโยชน์ขึ้นมา เดี๋ยวจะรู้

ฉะนั้น

ถาม : สวดมนต์แต่ใจไม่นิ่งได้บุญไหม?

หลวงพ่อ : ได้ ได้ ขอให้ทำ มันชอบมีนิทาน หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบท่านไปอยู่ที่เพชรบูรณ์ แล้วพอตกกลางคืนนะท่านก็สวดมนต์นี่แหละ ท่านก็สวดมนต์ พระองค์เดียวอยู่ในป่า อยู่ในถ้ำ นะโมตัสสะ ภควโต ก็สวดประสาเรานี่แหละ ฉะนั้น คำสวดมนต์ของท่าน จิตท่านสะอาดบริสุทธิ์มันกังวานไปทั่ว มันกังวานไปทั่ว

นี่ไงหูทิพย์ ตาทิพย์มีไหม? มันกังวานไปทั่ว พอท่านจะออกจากที่นั่นไป หลวงปู่ชอบท่านสัมผัสเรื่องนี้มาก ท่านบอกพวกเทวดาขอร้อง พวกเทวดาขอร้องหลวงปู่ชอบว่าอย่าไปได้ไหม? ขอให้อยู่ที่ถ้ำนี้ไปก่อน หลวงปู่ชอบถามถึงเหตุผล เหตุผลท่านบอกว่าเวลาหลวงปู่อยู่ที่นี่นะ เวลาหลวงปู่สวดมนต์นะ พวกเทวดาเขาได้ความร่มเย็นเป็นสุข มันมีความสุข มีความรื่นเริง นี่จิตใจมันก็มีความมั่นคง สิ่งที่ว่าเคยมีปัญหา สิ่งที่เคยมีความขัดแย้ง มันนุ่มนวล มันดีไปหมด นี่หลวงปู่ชอบสวดมนต์ ทีนี้ถ้าเราสวดมนต์บ้างล่ะ?

เราสวดมนต์ จิตใจเราไม่สะอาดบริสุทธิ์พอขนาดนั้น ผลกระทบมันจะไม่กว้างขวางไปขนาดนั้น แต่มันจะกระทบกับหัวใจของเรา เพราะเราเป็นผู้สวด ฉะนั้น การสวดมนต์มีผลไหม? มี

ถาม : ข้อ ๑๔. ทำอย่างไรจึงจะมีสมาธิได้นานๆ

หลวงพ่อ : “ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ” สมาธิเกิดจากการที่เรามีสติยับยั้ง มีสติดูแล นี่ถ้าอยากมีสมาธินานๆ เราต้องมีสติ มีคำบริกรรม มีการรักษา เงิน เงินอยู่ในกระเป๋าเรา มันจะอยู่กับเรานานๆ เพราะเรารู้จักประหยัดมัธยัสถ์ จิตใจมันจะเป็นสมาธิได้ เราต้องมีสติปัญญารักษามันถึงเป็นสมาธิ พอมีสมาธิขึ้นมาแล้วจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย มันจะเป็นสมาธิกับเราไหม? นี่ถ้าจะรักษาสมาธิให้ได้นานๆ กลับไปที่เหตุ กลับไปที่มีสติ กลับไปที่คำบริกรรม กลับไปที่เราทำสมาธิ ถ้าเรารักษาสิ่งนั้นได้ สมาธิจะอยู่กับเราตลอดไป

ถ้าเราทำนะ เราสร้างขึ้นมานะ เราหาเงินมา เงินอยู่ในกระเป๋าของเรา เราบอกไม่ใช่ เงินไม่เอาๆ มันจะไปไหน? มันก็อยู่กับเรานี่แหละ มันไปไหนไม่ได้หรอก มันเป็นของเรา สมาธิถ้าเราทำได้แล้วมันจะเป็นของเรา ฉะนั้น สมาธินี้มันเป็นผล ผลจากการกระทำ ผลจากมีสติ มีคำบริกรรม มีปัญญาอบรมสมาธิมันถึงเป็นสมาธิ ฉะนั้น ถ้าจะมีสมาธินานๆ ต้องกลับไปที่ผลนั้น

ถาม : ข้อ ๑๕. ไสยศาสตร์ มนต์ดำมีจริงหรือไม่?

หลวงพ่อ : มี มีมาก่อนพุทธศาสนา ในเมื่อมีคน มีมนุษย์ ในเมื่อมีคน มีมนุษย์ มนุษย์หรือคนก็ต้องแสวงหา ต้องแสวงหาของตัว ทีนี้การแสวงหาอย่างนั้นมันแสวงหาโดยที่ไม่มีบุญญาธิการเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปแสวงหากับเจ้าลัทธิต่างๆ ก็พวกนี้มาหมด พวกไสยศาสตร์ พวกต่างๆ แต่เขาไม่มีปัญญา เขาไม่มีอริยสัจ เขาไม่มีอริยสัจคือว่าเขาไม่ทวนกระแสกลับมาที่จิต แล้วจิตนี้มันมีอริยสัจ การชำระกิเลส นี่ศาสนาพุทธมีตรงนี้

ฉะนั้น ไสยศาสตร์ มนต์ดำมันมาจากไหน? มันมาจากมิจฉาสมาธิ สมาธินี่ถ้าไม่มีสติปัญญาพอมันจะไพล่ออกไปทางนี้ ทุกคนอยากมีฤทธิ์ มีเดช ทุกคนอยากให้คนยอมรับ ทุกคนอยากจะมีกำลัง นี่ไงมันเป็นเรื่องกำลังของจิต สมัยโบราณของเรา เห็นไหม สมัยออกทัพจับศึก นี่เพราะเขามีสมาธิของเขา เขามีของเขา เขาฟันไม่เข้า เขาหนังเหนียว นี่มันเป็นไปได้ทั้งนั้นแหละ แต่ในปัจจุบันนี้พุทธคุณสำคัญที่สุด เพราะจะดีขนาดไหน เทคโนโลยีมันฆ่าตายได้หมด ระเบิดต่างๆ มันรุนแรงมาก ไม่ต้องไปคิดเรื่องนั้น

ฉะนั้น คำว่ามีจริงไหม? มี แต่มันเป็นมิจฉาและสัมมา มี แต่เราไม่ไปสนใจ เราไม่ไปยุ่งเกี่ยว นี่กรรมติดตัวไปหรือไม่? กรรมจะติดตัวเราไปตลอดชาติหรือไม่? ถ้าเราไปยุ่งเกี่ยว เห็นไหม จิตใจเราไขว้เขวไง ดูสิเข็มทิศ เอาไปวางที่ไหนมันก็ชี้ไปทิศเหนือ เข็มทิศชี้ไปทิศเหนือ นี่ก็เหมือนกัน สัจธรรมมันก็ชี้ไปที่ความดี แล้วเราบอกว่าเข็มทิศเราจะชี้ลงทิศใต้ นี่เราพยายามจะทำเข็มทิศลงทิศใต้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปสนใจอย่างนี้เข็มทิศเราจะเปลี่ยนแปลงไง สัจธรรมชีวิตเราจะมันจะไขว้เขว

ฉะนั้น มีจริงไหม? มี แต่เราไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเขา เรารักษาใจของเราให้มันเป็นสัมมา ให้มันถูกต้องดีงาม

ถาม : ข้อ ๑๖. การยึดติดในเครื่องราง ของขลัง ของบูชา วัตถุมงคลมากเกินไป ถือว่าเป็นอย่างไร?

หลวงพ่อ : เครื่องราง ของขลังนี่นะ ถ้าพูดถึงเขาเรียกว่ามีพุทธคุณๆ ของใครก็จะอวดว่าใครจะมีพุทธคุณแรง

เครื่องราง ของขลังเราต้องย้อนกลับมาถึงสังคมไทย สังคมไทยสมัยโบราณ เวลามีงานวัด มีงานวาเขาจะแจกของชำร่วย เขาแจกของชำร่วย แล้วของชำร่วยเขาเอาไปเป็นพุทธคุณ เอาไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ พอยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่เดิมนะเราธุดงค์มา นี่เราธุดงค์ไปตามสังคมต่างๆ พวกไทยใหญ่ต่างๆ สมัยโบราณเขาถือ เขาไม่เอาพระ ไม่เอาสิ่งนี้เข้าบ้าน แต่พอแจกของชำร่วยเราก็เอาเข้าบ้าน เอาต่างๆ เราก็เอาไปบูชากันเพื่อความสะดวกสบายของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ถ้าเรามีเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เห็นไหม เวลาอยู่กับหลวงตานะ ใครไปถวายพระท่าน พระพุทธรูปท่านบอกว่าหลวงตารับแล้ว แล้วให้เอากลับไปบูชาที่บ้าน ให้กราบ ให้ไหว้นะ อย่าขี้เกียจ ให้กราบ ให้ไหว้ เรามีพระ มีต่างๆ ไว้เพื่อยึดเหนี่ยวหัวใจ ยึดเหนี่ยวเพื่อให้เราทำคุณงามความดี ถ้าเรายึดของเรา ฉะนั้น อย่างที่ว่าเขามีเครื่องราง ของขลัง ถ้ามันยึดเหนี่ยวหัวใจมันก็เป็นสังคมไทย สังคมไทยทำตามใจเป็นไทยแท้ สังคมไทยเนาะ

ฉะนั้น เพียงแต่ว่าวัตถุมงคลมันทำให้เรายั่งยืนไม่ได้ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา ชีวิตเราจะมีเป้าหมายนะ

ถาม : ข้อ ๑๗. คนเราถอดจิตได้หรือไม่?

หลวงพ่อ : ถ้าคนเราธรรมดาถอดไม่ได้ แต่คนที่เขาทำของเขานะ ในมหายาน ในทิเบตเขาจะถอดของเขา เขาจะถอดจิตของเขา เขาฝึกอย่างนั้น การฝึกอย่างไรมันก็ได้อย่างนั้น อยู่ที่เขาฝึกไง ถ้าเขาฝึกถอดจิตมันก็มีอย่างที่ว่าระดับฝึกใหม่ ฝึกเก่าเขาจะชักนำกันมา

การถอดจิตแล้วถอดไปทำไม? ถอดจิตแก้กิเลสได้ไหม? ก็ไม่ได้ การถอดจิต ในเรื่องจิตนี่เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก ทำได้ร้อยแปดพันเก้า ทำทางดีก็ได้ ทำทางชั่วก็ได้ ถ้าทำทางดี ดีที่สุด ดีถึงจบกระบวนการเลย จบแล้วนะมันจะดีไปไหนอีกล่ะ? มีอะไรดีไปกว่านี้ แต่ถ้ามันไม่ทำจนถึงจบกระบวนการมันไปตามนี้ จะถอดจิตก็ได้ ไอ้พวกเราถอดจิตก็ แหม น่าจะเก่งเนาะ เวลาคนมันจะตาย สัตว์มันจะตาย ไม่ต้องถอดมันก็ตายเอง จิตมันก็ออกจากร่างเหมือนกัน

ฉะนั้น คนเราจะถอดจิตได้ไหม? ได้ แต่มันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ มันเป็นความดีหรือไม่ดี

ถาม : ข้อ ๑๘. นิพพานอะไร? แล้วดีจริงหรือไม่? และเหมือนการไม่มีตัวตนหรือไม่?

หลวงพ่อ : ไม่มีตัวตนไม่มีเพื่ออะไรล่ะ? เรามีตัวตน เราถึงมีอีโก้ แล้วมันถึงปะทะกัน แต่ถ้าเราลดของเรา เราลดของเรานะ การติฉินนินทามันผ่านจากเราไปโดยที่เรามีสติปัญญานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเขาจ้างคนมาด่า จนพระอานนท์ทนไม่ไหวนะ พระอานนท์บอกว่า

“ไปเถอะ ไปอยู่ที่เมืองอื่น”

“จะไปที่ไหนอานนท์”

“ไปที่เมืองนั้นๆ”

พระพุทธเจ้าถามว่า “ถ้าไปแล้วเขาก็ตามไปด่าอีกล่ะ? แล้วเราจะไปเมืองไหนล่ะ?” เห็นไหม เขาด่าขนาดไหน? ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมมันไม่กระเทือนเรา

ฉะนั้น สิ่งที่มันไม่กระเทือนเรา นี่คำว่าตัวตนๆ ตัวตนมันคืออะไร? แล้วตัวตนมันอยู่ที่ไหน? แล้วการละสักกายทิฏฐิ ละตัวตนนี่ละอย่างใด? โลกทัศน์ เห็นไหม ทิฐิมานะ ความเป็นทิฐิมานะมันเกิดมาได้อย่างไร? แล้วเวลาเราชำระล้าง ชำระล้างสิ่งที่เป็นมิจฉาทิฏฐิหมดเลย แล้วสัมมาทิฏฐิที่ทางวิชาการที่เราว่าถูกต้องดีงาม ต้องพิสูจน์ว่าสิ่งนี้เป็นจริงๆ เราจะต้องมีหลักการไหม? ถ้าเรามีหลักการในความถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิมันผิดตรงไหน? แล้วนี่ถามว่า

ถาม : นิพพานมันดีอย่างไร?

หลวงพ่อ : มันเป็นเป้าหมายของศาสนา ศาสนานี่สิ้นสุดแห่งทุกข์คือนิพพาน มันเป็นคำสมมุติหนึ่ง คำสมมุติว่านิพพาน นิพพานคือความสงบเย็น คนเขาก็ตีความกันว่าเนาะเข้าห้องเย็น เข้าช่องฟรีซนี่นิพพาน เย็นเลยล่ะ โอ้โฮ เข้าไปอยู่ในนั้นร้อนเป็นไฟ โอ้โฮ ใจมันร้อนนะ แต่ไปอยู่ในห้องเย๊นเย็น โอ๋ย นิพพานสงบเย็น จริงหรือเปล่า? เย็นจริงหรือ? แล้วนิพพานมันคืออะไรล่ะ? นิพพานมันคืออะไร?

มันเป็นเป้าหมายของชาวพุทธทั้งหมด เพราะชาวพุทธเราเวียนตาย เวียนเกิด เพราะมันเกิดซ้ำ เกิดซาก ตายซ้ำ ตายซากมันเป็นสิ่งที่ว่าทุกคนเบื่อหน่าย แต่ทุกคนอยากจะไม่เกิด แต่มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทุกอย่างมันมีเหตุมีผล มันมีที่มาที่ไป ไม่มีสิ่งใดลอยมาจากฟ้าโดยที่ไม่มีเหตุมีผลหรอก ชีวิตนี้มันมีเหตุมีผลมานะ แล้วมีเหตุผลมา ถ้ามันทำถึงที่สุดแล้ว มันสิ้นกระบวนการของมันแล้วนะ นิพพานคือการไม่เกิด

ถาม : นิพพานเหมือนการไม่มีตัวตน

หลวงพ่อ : เหมือนอย่างไรล่ะ? เหมือนก็ไม่รู้เรื่องน่ะสิ ต่อไปข้างหน้าจะมีอีกข้อหนึ่ง เดี๋ยวไว้ไปข้างหน้า

ถาม : ข้อ ๑๙. ทำไมปฏิบัติธรรมแล้วต้องอยู่คนเดียวไม่พบปะผู้คน แล้วดีจริงหรือถ้าไม่ได้พบปะผู้คนเลย

หลวงพ่อ : เวลาอยู่ด้วยกันก็ทะเลาะกัน เวลาแยกไปก็บอกว่าไม่ได้พบปะผู้คน คนเรานะแยกไปอยู่คนเดียวนี่เพื่อนเยอะที่สุดเลย ถ้ายังไม่ได้ไปอยู่ที่ไหนคนเดียวนะ นักเลงนะ นักเลงขนาดไหน เวลาโทษประหารชีวิตมันคิดถึงแม่มันก่อนเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราไปอยู่ในที่วิกฤติขนาดไหนนะ มันจะคิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงทุกคนไปหมดเลย ฉะนั้น อยู่คนเดียวมันจะได้เห็นรากแท้ รากเหง้าของความรู้สึกนึกคิด เวลาอยู่ด้วยกัน อยู่ด้วยกันนะ ๒ คนก็ยังว่า เออ เราช่วยกันเนาะ เราจะไม่กลัวผี ถ้าอยู่คนเดียวนะ กลางคืนขึ้นมานะ โอ้โฮ หัวตั้งเลย อยู่คนเดียวเพื่อจะค้นหาตนเอง อยู่คนเดียวเพื่อจะรื้อค้นจิตใจของตัว ถ้าอยู่ด้วยกัน มีคนมาคอยดูแลแล้วมันนอนใจ มันไม่ยอมหาตัวมัน คนเราไม่จนทุกข์ คนเราไม่จนตรอก มันจะไม่เข้าไปหาตัวมัน

ฉะนั้น ไปอยู่ด้วยกัน ไปอยู่คนเยอะๆ แล้วปฏิบัติจะไม่ดีหรือ? ดี ดีจะได้กินอิ่มๆ นอนอุ่นๆ มันจะได้มียศถาบรรดาศักดิ์ มันจะมีพรรคพวกเพื่อนพ้องนะ เวลาทุกคนต้องมีพรรค มีพวก ต้องมีหมู่คณะ จะได้ส่งเสริมกัน จะได้มีหลักเกณฑ์ไง แต่พระปฏิบัติเขาจะหักวัฏฏะ เขาจะหักหัวใจของเขา เขาจะหาชัยภูมิที่จะชำระกิเลสของเขา โดยที่โลกนี้ไม่ต้องมายุ่ง แต่เวลาใครทำสิ่งนั้นได้แล้วโลกแสวงหา สมัยหลวงปู่มั่นนะใครจะไปทำบุญกับท่านต้องซื้อถนนเข้าไป ท่านอยู่ในป่าที่ไม่มีถนนหนทางจะเข้าไปถึงท่านได้ แต่ก็มีคนพยายามซื้อทางเข้าไปหาท่าน ไปทำบุญกับท่าน เพราะอะไร? เพราะท่านหักวัฏฏะในหัวใจของท่านได้

ฉะนั้น ถามว่า “ทำไมต้องอยู่คนเดียว?”

นี้เพียงแต่ว่าถ้าอธิบายมันมีเหตุมีผลเยอะมาก ฉะนั้น การอยู่ด้วยกันมันมีความกังวล มันมีอะไรร้อยแปด มันเหมือนเป้าเทียม เราต้องการเป้าจริง เป้าจริงคือหัวใจของเรา พอมีพรรค มีพวก นี่เป้าลวงหมดแหละ มันออกหมดไง มันไม่เข้าสู่เป้าจริงไง ถ้าวันไหนอยู่คนเดียวนะมันจะเจอเป้าจริง

ถาม : ข้อ ๒๐. อนิจจังในไตรลักษณะเป็นจริงทุกกรณีหรือไม่? แล้วถ้าเป็นจริง ทำไมนิพพานถึงเที่ยงและแท้นิรันดร์

หลวงพ่อ : นี่ไงในการปฏิบัตินะ ปริยัติคือการศึกษา ทีนี้ปริยัติคือการศึกษา พอเราศึกษาขึ้นไปแล้ว เราศึกษาธรรมะเราก็ว่าทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์หมด พอเป็นไตรลักษณ์หมดแล้ว นิพพานทำไมถึงไม่เป็นไตรลักษณ์ด้วยล่ะ? เพราะเราศึกษาแล้ว เราศึกษาด้วยความไม่รู้ เหมือนเทศน์เมื่อคืน เมื่อคืนพยายามจะบอกตรงนี้ จะบอกที่ว่าถ้าเราใส่แว่น เห็นไหม มีการศึกษา มีต่างๆ ไม่รู้อะไรเลย มันไม่รู้หรอก แต่ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา แล้วทำไมนิพพานถึงเที่ยงล่ะ? นิพพานถึงนิรันดร์ล่ะ? มันนิรันดร์เพราะอะไรล่ะ?

มันเป็นว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมที่เป็นอนัตตา มันเป็นสัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรม ก็เมื่อก่อนเราไม่รู้ ที่ฤๅษีชีไพรเขาไม่รู้เรื่องนี้ ไม่รู้เรื่องอะไรเลยนะ เขาก็รู้ว่าเป็นจริงเป็นจังไปหมดแหละ แต่พระพุทธเจ้าศึกษาขึ้นมา แล้วเห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นอนิจจัง มันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริงขึ้นมา พอทำลายแล้ว พอทำลายสิ่งนั้นขึ้นไปแล้วมันเหลืออะไร?

สิ่งที่เป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา มันมีกุปปธรรม อกุปปธรรม แล้วอกุปปธรรม อฐานะที่ไม่เป็นอนัตตาล่ะอยู่ที่ไหน? พอเราเป็นขึ้นมา เป็นโสดาบันก็ไม่เป็นอนัตตาแล้ว เพราะโสดาบันตามติดตัวเราไปตลอด ถ้าเป็นโสดาบันนะ จิตที่เป็นโสดาบัน จะไปเกิดชาติไหนก็เป็นโสดาบัน มันไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นอฐานะ คือเป็นอื่นไปไม่ได้ เป็นอื่นไปไม่ได้ แล้วเป็นอย่างไรล่ะ? คนเป็นรู้ คนไม่เป็นเถียงกันหัวหกก้นขวิด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าสรรพสิ่งในโลกนี้ สัพเพ ธัมมา อนัตตา แล้วทำไมนิพพานถึงเที่ยงล่ะ? นี่เขาบอกว่านิพพานก็เป็นอนัตตาไง นี่ไงที่เขาเถียงกัน โลกเขาเถียงกัน เถียงกันทางวิชาการ ใส่แว่น แล้วก็มุมมองแตกต่างกัน แล้วก็เถียงกัน แต่ถ้าคนรู้จริงแล้วนะ อืม จบ รู้แล้วไม่เถียง แต่ถ้ายังเถียงอยู่คือไม่รู้

ถาม : ข้อ ๒๑. การที่อยากบรรลุ อยากเป็นโสดาบัน พอเป็นแล้วก็อยากเป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีต่อ เป็นกิเลสหรือไม่?

หลวงพ่อ : คำว่ากิเลสนะ นี่ความอยาก เพราะสังคมไทยแต่เดิมตีธรรมวินัยผิด คำว่าตีผิด ที่ไหนอยากที่นั่นเป็นตัณหาความทะยานอยาก ที่ไหนอยากที่นั่นเป็นกิเลส ทีนี้ถ้าอยากเป็นกิเลส คนสร้างคุณงามความดีมันอยากทำความดีไหม? มันก็อยากดีทั้งนั้นแหละ คนอยากดี อยากเป็นคนดี อยากต่างๆ ความอยากนี้เขาเรียกว่าเป็นมรรค เป็นมรรคคือเครื่องดำเนินไง ถ้าไม่มีเครื่องดำเนินเลยคนมันจะดีได้อย่างไร? ถ้าคนมันจะดีอย่างไร?

“นี่กามราคะ กามฉันทะ”

กามฉันทะคือความพอใจในการทำคุณงามความดี นี่ฉันทะ ฉันทะคือความพอใจ อันนี้ต่างหากที่ว่ามันเป็น แต่ถ้ามันเป็นความอยาก เป็นตัณหา อย่างเช่นปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ หน้าที่การงานของเรา เราทำหน้าที่การงานของเราหาปัจจัย ๔ มา อันนี้เป็นกิเลสหรือ? ไม่เป็นกิเลส แต่สิ่งที่ไม่เป็น ไม่เป็นไป สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เราพยายามคิด เราพยายามให้เป็นไป อันนั้นต่างหากมันถึงเป็นตัณหา มันถึงเป็นกิเลส

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าถ้าอยากบรรลุธรรม อยากเป็นโสดาบันมันเป็นกิเลสไหม? อยากดี ความอยากอันนี้เป็นมรรค อย่างที่เราอยากทำความดีกันอยู่นี่ ความอยากมันมีหลายระดับ ในการปฏิบัติใช่ไหม? ทางฝ่ายอภิธรรมเขาบอก “ถ้ามีความอยากปฏิบัติไม่ได้เป็นกิเลสหมด” อืม ถ้าไม่มีกิเลส ก็โต๊ะนี่ไม่มีกิเลส ไอ้นี่ปฏิบัติได้ คนสงสัยทำไมปฏิบัติไม่ได้ล่ะ? เพราะคนมีกิเลส

มันเริ่มต้นไม่ได้ ไม่มีที่เริ่มต้นแล้วมันจบที่ไหน? มันต้องมีจุดเริ่มต้นสิ ในเมื่อคนเกิดมามันมีความรู้สึก มันมีกิเลสอยู่แล้ว แล้วบอกไม่มีความอยาก ก็อยากน่ะ อยากจะบรรลุธรรม อ้าว แล้วอยากอย่างนี้มันกระต้นให้การกระทำนี้มันผิดพลาด เวลาเราอยากใช่ไหม? เราแทงหวย พอถูกขึ้นมาแทงอีกเท่าเลย แทงเกลี้ยงเลย นี่มันอยากได้ ๒ เท่า ๓ เท่า

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตเราทำความสงบของใจ มันก็เหมือนได้ลาภมา สงบร่มเย็นมาก อยากได้ เห็นไหม แทงหวย ๒ เท่าแล้ว ไม่ได้สักที ไม่ได้สักที ทุกข์มาก พอทุกข์มากก็ไม่แทง ทำมาหากิน ทำของเรา พอทำของเรานะ ไม่แทงหวย ไม่มีตัณหาซ้อนตัณหา เดี๋ยวมันก็สงบอีก เออ มันจะเห็นนะว่าอยากอะไรทำให้ฟุ้งซ่าน อยากอย่างใดทำให้ขัดสน อยากอย่างใดทำให้จิตใจนี้ล้มลุกคลุกคลาน อยากอย่างใดที่ทำให้เราเกือบเป็นเกือบตาย แต่ความตั้งใจทำที่มันทำแล้วได้ประโยชน์ ที่มันไม่อยาก มันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะรู้หมด มันจะรู้ของมัน มันจะเห็นของมัน มันจะรู้เลยว่าคำสอนมันเป็นแบบใด แต่สังคมที่ตีกันแตกต่างไป มันจะตีแตกต่างไป

ฉะนั้น อยากได้โสดาบัน อยากได้สกิทาคามี อยากได้อนาคามี นี่เป้าหมาย อธิษฐานบารมีนะ บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเป้าหมาย ถ้าเรามีเป้าหมาย เราอยากจะปฏิบัติ เราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ เวลาเราปฏิบัติ เห็นไหม นิพพานคืออะไรก็ไม่รู้ เป้าหมายคืออะไรก็ไม่รู้ แล้วคนที่ทำงานโดยที่ไม่มีเป้าหมายมันก็เคว้งคว้าง มันจะไปไหนล่ะ?

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : อยากบรรลุธรรมนี้เป็นกิเลสหรือไม่?”

หลวงพ่อ : เออ เราว่าไม่ ไม่เป็นกิเลส มันเป็นมรรค มันเป็นเป้าหมาย มันเป็นจุดหมายปลายทาง มันเป็นสิ่งที่ชีวิตเราจะดำเนินไป มันจะเป็นกิเลสมาจากไหน?

ถาม : ข้อ ๒๒. คนที่เป็นฆราวาสบอกว่ามีจิตสัมผัส เป็นเรื่องจริงหรือโกหก แล้วถ้าโกหกจะบาปไหม?

หลวงพ่อ : ไอ้อย่างนี้นะ ไอ้เรื่องจิตสัมผัส บางคนเซ้นส์ของคนมันมีเหมือนกัน แต่มีแล้วมันไม่ยั่งยืนหรอก มันไม่ยั่งยืน สังเกตได้ไหม? พระบางองค์ ไม่ต้องว่าบางองค์ เกือบทุกองค์เลยที่เขาออกพุทธคุณ ออกเครื่องราง ของขลัง มันจะมีดังเป็นรุ่นๆ มันไม่มีดังตลอดไปหรอก จิตใจของคนนี่นะมันไม่สม่ำเสมอหรอก ฉะนั้น สิ่งที่สัมผัสได้นี่สัมผัสได้ แต่สัมผัสแล้วได้อะไรต่อไป? ถ้าเรามีสติปัญญานะ สัมผัส ความสัมผัส เดี๋ยวนี้สัมผัสก็ไฟช็อตสิ สะดุ้งเลย แล้วสัมผัสมันทำไม?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเขามีสัมผัสของเขาได้ สัมผัสได้ ทำไมไม่เอาไปใช้ประโยชน์ ถ้าสัมผัสได้ ทำไมไม่สัมผัสจิตของตัวเอง ทำไมไม่เอาจิตของตัวเองให้ไปสู่คุณงามความดี ทำไมไม่เอาจิตของตัวเองให้มันถึงพ้นซึ่งกิเลสไป เพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มีอยู่ ถ้าเรามีจริงนะ อย่างเช่นเรามีเงิน มีทอง เราจะใช้สอยเพื่อสิ่งใด ถ้าเรามีเงิน มีทองเราก็ใช้สอยเพื่อประโยชน์ ประโยชน์อะไร? ประโยชน์สาธารณะกับประโยชน์เรา ถ้าประโยชน์สาธารณะประโยชน์เพื่อใคร?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันสัมผัสได้ มันทำได้ เรื่องอย่างนี้นะมันเป็นเรื่องที่ว่ามันไม่มีประเด็นสิ่งใดๆ เลย ดูความคิดเราสิ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เวลามันดีมันก็ดีใจหาย เวลามันร้ายล่ะ? นี่ไงเวลาสัมผัส นี่สัมผัสอารมณ์ อารมณ์ดี อารมณ์ร้ายเราก็สัมผัสได้ เราสัมผัสความคิดเราก็สัมผัสได้ แล้วมันจะมีประโยชน์สิ่งใดต่อไป

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ถ้าไม่เป็นจริงเขาโกหกไหม?

หลวงพ่อ : เราว่าโกหก โกหกที่ไหนรู้ไหม? โกหกที่ว่ามันจะสัมผัสไปได้ทุกคราวไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็สัมผัสได้ เดี๋ยวก็สัมผัสไม่ได้ แล้วถ้าพอสัมผัสไม่ได้เราจะพูดอย่างไรล่ะ? เราก็ต้องบอกว่าเราสัมผัสได้ อันนี้โกหก จิตของคนที่จะนิ่งแล้วจะสัมผัสได้ตลอดไปไม่มี ไม่มี มันมีเป็นบางครั้ง บางคราว มันจะสม่ำเสมอไม่มี แต่ถ้ามันสม่ำเสมอ ที่ว่าสมาธิมันจะตั้งมั่นอย่างไรเราต้องรักษาตรงนั้น รักษาตรงนั้น ตรงนี้มันถึงจะตามมา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : เป็นเรื่องจริงหรือว่าโกหก

หลวงพ่อ : อันนี้อันหนึ่ง อันนี้แบบว่าจริงก็ได้ โกหกก็ได้

ถาม : แล้วถ้าโกหกจะบาปไหม?

หลวงพ่อ : ถ้าเป็นพระนะ เป็นพระพูดเรื่องอย่างนี้มันทำให้ศาสนาไม่มั่นคง แต่ถ้าเขาเป็นฆราวาส เขาเป็นเรื่องทางโลก โลกตอนนี้จะเอาจุดเด่นตรงนี้ ทุกคนอยากจะเหนือคนอื่น แล้วเหนือไปทำไม? เหนือแล้วได้อะไร? แต่ถ้าทุกคนเหนือความรู้สึกนึกคิดของเรา ควบคุมตัวเราได้ ควบคุมความรู้สึก ควบคุมชีวิตเราได้ อันนี้สำคัญกว่า

ฉะนั้น สิ่งที่โลกมันก็เป็นเรื่องธุรกิจ เป็นเรื่องกระแสของโลก ถ้าเรื่องของโลกมันเป็นแบบนั้น ฉะนั้น เราวางเรื่องสิ่งนี้ไว้ เพราะมันเป็นผลประโยชน์ของทางโลกเขา เวลาเราพูดถึงธรรมะ ธรรมะเป็นประโยชน์ เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เทวดา อินทร์ พรหมเขาฟังเลยนะ ฟังที่ไหน? ฟังเพื่อเข้าไปสู่ใจของเขา เพราะเรื่องของตัวตน เรื่องของเราแท้ๆ เราไม่รู้จักตัวของเรา เราไม่รู้จักชีวิตจิตใจของเรา เราไม่รู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของเรา มันถึงมีอำนาจเหยียบย่ำทำลายเรา ผลักไสให้เราเป็นแบบนี้

ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราเข้าไปทันมัน เราควบคุมนะ เราควบคุมชีวิต เราควบคุมความรู้สึกนึกคิด เราสั่งได้ สั่งความคิด อย่างนี้ไม่คิด อย่างนี้คิด อันนี้สำคัญกว่า ถ้าสำคัญกว่าเรารักษาตรงนี้ แล้วเราจะดำเนินชีวิตของเราดีที่สุด

จะเอวังแล้ว จะเอวังเนาะ ใครมีอะไรไหม? จะจบนะ ถ้าไม่มีอะไรจบแล้ว ๓ โมงแล้ว นั่นแหละไมค์เลย

โยม : ก็คือจะถามอย่างหนึ่งครับ สมมุติว่าถ้าผมเจอผู้ป่วยในระยะสุดท้าย อย่างสมมุติว่าอายุจะเหลืออีกสัก ๑ เดือนอย่างนี้ครับ คืออยากจะทราบว่าเราจะแนะนำเขาอย่างไรให้ถึงทางธรรม

หลวงพ่อ : ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มันแบบว่าถ้าระยะสุดท้ายเรารู้อยู่แล้วทางการแพทย์ว่าต้องเป็นแบบนั้น บางทีมันมีความมหัศจรรย์นะ ในวงการพระเรามีความมหัศจรรย์มาก พระของเรา บางทีทางแพทย์บอกว่าไม่เกิน ๖ เดือน อยู่มาหลาย ๑๐ ปีเลย ถ้าพูดถึงเขามีจิตใจที่มั่นคง จิตใจเขาทำได้ นี่ธรรมโอสถมีนะ ในทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ ทางยาอันหนึ่ง แต่ทางพระเรานี่นะมีธรรมโอสถ ใจนี่ จิต พลังงานของจิตสามารถรักษาใจได้

นี่พูดตรงนี้ก่อน จะย้อนกลับมาที่ว่าถ้าเขาอยู่เดือนหนึ่ง แล้วเราจะทำอย่างไรกับเขา ทางวิชาการเราก็ต้องบอกเขานั่นแหละ เราต้องบอกเขาแล้วดูแลเขา ช่วยเหลือเขาเต็มที่ เพราะถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องถึงเวรกรรมของเขา เพราะว่ามันเป็นระยะสุดท้าย เราอยู่ที่นี่นะ มีพวกผู้ป่วยที่ระยะสุดท้ายมาขอพักกับเราเยอะเหมือนกัน ทีนี้พอพักกับเรา เราก็จะดูแล เพราะว่ามันที่พึ่งทางใจไง ที่นี่เป็นที่พึ่งทางใจนะ อยู่ที่คนเขามีสติปัญญาพอไหม? ถ้าเขามีสติปัญญาพอ เขารู้อยู่แล้วว่าในทางการรักษามันจบแล้ว แล้วชีวิตนี้เป็นอย่างไร?

มีอยู่คนหนึ่งเขาเป็นพยาบาลมั๊ง แล้วระยะสุดท้ายเหมือนกัน เขากินอะไรไม่ได้เลย สุดท้ายเขากินอะไรไม่ได้เลยนะ แล้วเขาก็ได้แต่จิบน้ำ จิบน้ำอย่างเดียว แล้วพอไม่ได้จิบน้ำมันก็จะกระวนกระวายมาก จิบน้ำๆ ไปจนเสียไปแล้ว แล้วเขามาหา มาคุยทีแรกทำใจไม่ได้ ทีแรกยอมรับสิ่งนี้ไม่ได้ ก็มา นี่ตอนเช้าก็มาฟังเทศน์ๆ สุดท้ายแล้วเขาก็จะขอน้ำมนต์เรา แล้วพอเขาหนักมากนะเขามาเองไม่ได้ เพื่อนเขาจะมา เอาขวดน้ำมาหาเรา ให้เราเป็นงูเห่าพ่นฟู่ๆ

เขาเอาไปจิบของเขา เขาบอกรักษาตรงนี้ไง แล้วเขาฝากมา บอกให้บอกหลวงพ่อด้วยว่าเดี๋ยวนี้ทำใจได้แล้ว ทำใจได้แล้วคือพร้อมที่จะไปไง สุดท้ายเขาก็ไป ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันอยู่ที่ผู้ป่วยไง ผู้ป่วยจิตใจเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน? ถ้าคนอย่างเช่นถ้าเป็นลูกศิษย์กรรมฐานเขาพร้อมอยู่แล้วนี่นะดูแลง่าย เพราะมันถึงคราว ถึงวาระที่จะต้องเป็นอย่างนี้ มันเป็นความจริง ความจริงนะ การเกิดและการตายเป็นความจริงอันหนึ่ง แล้วเราจะขวางอันนี้ไม่ได้ เราจะบอกไม่ให้เป็นความจริงอย่างนั้นไม่ได้

นี้เราพูดถึงธรรมโอสถมันมีบางประเด็นที่มันสามารถ ทีนี้คนเราถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอนี่นะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยต้องไปหาหมอ ต้องไปหาหมอก่อนให้หมอดูแลใช่ไหม? แล้วถ้ากำลังใจเราดีเรารักษาตัวเราไปด้วย มีลูกศิษย์บางคนนะ พอไปหาแพทย์เขาบอกว่าอีก ๖ เดือน เพราะเป็นพวกมะเร็ง ๖ เดือน เขาไม่ไปหาเลย เขากลับเลย แล้วเขาดูแลใจเขาเอง มีคนอย่างนี้หลายคน ทีนี้ในทางการแพทย์ก็บอกว่า พวกนี้ส่วนใหญ่พอยังไม่หนักก็ชอบไปทำเอง พอหนักหนาสาหัสสากรรจ์ก็มาหาหมอ หมอก็ปวดหัว

มันอยู่ที่การตัดสินใจ อยู่ที่การตัดสินใจ แล้วพอมีประสบการณ์ไป เรื่องนี้มัน.. เราเป็นพระนะ ทีนี้เรื่องการรักษา เรื่องอะไรเราก็ต้องไปหาหมอ แต่ถ้าเขาถึงแบบว่าเขาตัดสินใจแล้ว สิ้นสุดแล้ว เขาจะมาพักอาศัยกับเรา เราก็รับ ดูแลไว้ แล้วเขาก็ต้องไปต้องมา เพราะมันเป็นที่พึ่งทางใจอันหนึ่ง คนเราถ้าทำใจไม่ได้นะ มันละล้าละลังมากเนาะ เราจะต้องไปแล้ว แล้วก็ห่วงไปหมดเลย แต่ถ้าทำใจได้แล้วนะ ทำใจได้ เราเคยเป็นอย่างนี้มาหลายครั้งหลายหนแล้ว คราวนี้ถึงวิกฤติว่าเราต้องเป็นแบบนี้ เราพร้อมไหม?

นี่ไงที่ว่าต้องทำบุญเรื่อยๆ ก็ตรงนี้ไง ถ้าคนพร้อม มีเสบียงพร้อม ออกเดินทางสบาย คนที่ไม่มีเสบียงเลย ออกเดินทางจะมีปัญหา อ้าว ต่อไป คือของอย่างนี้เรากำหนดไม่ได้ไง เราไม่สามารถคอนโทรลอย่างนี้ได้ มันเป็นเรื่องเวรกรรม เรื่องของเขาด้วย เรื่องของเราด้วย แต่เป็นหน้าที่ เรามาอยู่ตรงนี้พอดี อ้าว

โยม : คือผมสงสัยว่าทุกครั้งที่ทำบุญ แล้วแบบนึกถึงพ่อแม่ หรือว่ากล่าวถึงพ่อแม่ หรือว่าทุกครั้งที่สวดมนต์แล้วแผ่เมตตาให้กับเจ้ากรรมนายเวร อยากทราบว่าจะถึงจริงไหมครับ

หลวงพ่อ : นี่พูดถึงในพระไตรปิฎกนะ ผู้ที่รับส่วนกุศลได้มันเปรต ในปรมัตถ์ว่าเปรตรับส่วนบุญกุศลได้ แต่เขาบอกว่าถ้าพ้นจากนั้นไปรับไม่ได้ เขาว่านะ นี่ในตำรา ในพระไตรปิฎกว่าอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าพูดถึงในความรู้สึกของเรานะ ในความรู้สึก ในการอุทิศส่วนกุศล นี่ถ้าเราทำบุญแล้ว บุญกุศลนี้มันเรื่องมหัศจรรย์นะ มันเป็นเรื่องนามธรรม อย่างเช่นเปรียบเทียบนะเราจุดเทียนเล่มหนึ่ง แล้วนี่เราก็จุดเทียนเล่มหนึ่ง แล้วโยมเข้ามาต่อเทียนจากเราไป ต่อเทียนจากเราไป เทียนเล่มเราแสงสว่างก็ยังอยู่เต็มใช่ไหม? แต่ต่อเทียนเล่มอื่นก็สว่างขึ้นๆ

ถ้าเราทำบุญแล้ว เราอุทิศส่วนกุศลคือความรู้สึกของเราไป ยิ่งอุทิศได้เท่าไรนะ เหมือนต่อเทียนไปทุกเล่มๆ ฉะนั้น ต่อเทียน นี่พูดถึงความรู้สึกนะ พูดถึงบุญกุศลไง พูดถึงจิตที่เป็นสาธารณะ ทีนี้ถ้าอย่างเราบางคนนะตระหนี่ เราทำบุญเป็นของเรา เห็นไหม นี่จิตใจของคนมันมีไง มันตระหนี่ มันบอกอยากได้บุญเยอะๆ ทุกอย่างต้องเป็นของเรา ไปทำบุญแล้วจะแย่งบุญกัน บุญมันเป็นนามธรรม บุญคือความอบอุ่น มีความสุขใจ นี้คือบุญ

ส่วนที่เขาว่า ถ้าในพุทธศาสนาบอกว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก ควรทำบุญในศาสนานี้มาก ทำไมเศรษฐีโลกไม่เห็นเป็นชาวพุทธเลย มีแต่ศาสนาอื่น เราบอกกำลังจะเป็นๆ เมืองจีนกำลังจะมาอยู่ เราไปมองกันที่ตัวเลขไง เราไม่ได้มองที่ในครอบครัว บุญนะ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย มีความเห็นอกเห็นใจ พูดยิ้มแย้มแจ่มใส ในครอบครัวนั้นมีความร่มเย็นเป็นสุข อันนั้นบุญ หายากมาก แล้วไอ้พวกเงินทองมันมาทีหลัง ถ้าในบ้านเรานะมีแต่คนพูดเข้าใจกัน พูดแต่ความอบอุ่นในบ้าน ทุกคนอยากกลับบ้าน ทุกคนอยากกลับบ้าน โอ๋ย กลับบ้านแล้วมีความสุข

บุญ สิ่งที่เป็นบุญ การครองเรือน เห็นไหม เขาบอกว่าการครองเรือนเป็นเรื่องแสนยาก ถือพรหมจรรย์อยู่คนเดียว เวลาครองเรือนหัวใจนี้ก็เต้นตุบๆ ตุบๆ โอ้โฮ เร่าร้อนไปหมดเลย คู่ครองก็หัวใจตุบๆ ตุบๆ ร้อนไปหมดเลย มีลูกคนหนึ่ง ลูกมันก็ตุบๆ ตุบๆ ร้อน เราต้องครองหัวใจเขา ผู้นำ เราจะดูแลจิตใจของคนอย่างใด? นี่คือการครองเรือน แต่เราก็ไปมองตรงนั้นไง ฉะนั้น ว่าอุทิศส่วนกุศล อุทิศส่วนกุศลมันอุทิศไป สิ่งที่เป็นความรู้สึกที่ดีๆ อันนี้เป็นประโยชน์ ว่าอย่างนั้นเลย

เคลียร์ไหม? ไม่เคลียร์ต่อมา ฮึ มันมีตำรานะ พระไตรปิฎกเขาบอกว่าประเภทนี้รับได้ ประเภทนี้รับไม่ได้ ไอ้เราก็พอแผ่เมตตาไป หรือเราอุทิศส่วนกุศลไป เขาบอกว่ารับไม่ได้ รับไม่ได้แล้วแผ่ทำไม? นี่ทางวิชาการ ทางในผู้ที่เรียนมานะ อุทิศส่วนกุศลไป นู่นก็รับไม่ได้ นี่ก็รับไม่ได้ แล้วพวกนี้อุทิศส่วนกุศลทำไม? อุทิศส่วนกุศลเพื่อจิตเป็นสาธารณะไง อุทิศส่วนกุศลเพื่อความร่มเย็นเป็นสุขไง อุทิศส่วนกุศลเพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจกันไง มันผิดตรงไหน?

นี่บางทีตำราถ้าคนไปยึดไว้ไง ต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วอย่างนี้กรรมฐานก็สอนผิดน่ะสิ นี่เรามาสอนกันผิดๆ ให้จิตใจเป็นสาธารณะก็ผิด อุทิศไม่ได้ นู่นก็อุทิศไม่ได้ มีขนาดที่บอกว่านะ เวลาปฏิบัติว่าอย่างนั้นทำไม่ได้ๆ ทำก่อนสิ ทำแล้ว แล้วได้หรือไม่ได้มันรู้กัน นี่ไงการปฏิบัติมันทันกันได้ ลูกศิษย์กับอาจารย์นะ บางทีลูกศิษย์นะ ดูสิหลวงปู่เสาร์เป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น เอาหลวงปู่มั่นมาบวช เวลาหลวงปู่มั่นท่านปฏิบัติไป ท่านไปแก้หลวงปู่เสาร์นะ ลูกศิษย์ไปแก้อาจารย์นะ อ้าว วาสนาของใคร ใครจะรู้

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติสิ ปฏิบัติมา แล้วบอกผิด ถูกอย่างไรบอกมาเลย อาการอย่างไรบอกว่าผิดบอกมา ถ้าบอกอาการไม่ได้ แสดงว่าเอ็งไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น เอ็งก็นกแก้ว นกขุนทองไง ปลวกมันกินตำราทั้งเล่มเลย ปลวกมันกินหมดนะ

อ้าว ว่าเลย

โยม : อยากให้หลวงปู่แนะนำวิธีนั่งสมาธิค่ะ คือหนูนั่งแล้วก็ไม่ค่อยมีสมาธิเลย

หลวงพ่อ : นั่งสมาธินะ การนั่งสมาธิคือทุกคนเห็นคุณงามความดี ความดีของเรา ความดีของเราคือ “สุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” ถ้าจิตมันสงบ การที่เรานั่งสมาธิเราทำจิตใจให้เราเป็นกลาง สบายๆ ทำจิตใจของเรานะ ถ้ามันจะเครียดมาขนาดไหนก็แล้วแต่ลบหมดเลย เรียนอยู่นี่เครียดแน่นอน แล้วว่าสบายๆ อย่างไร? หัวจะระเบิดอยู่นี่

ก็มันจะระเบิดน่ะสิ ก็เราวางสิ มันจะระเบิดก็วางไว้ก่อน อ้าว พอก่อน หยุด พอหยุดแล้วเราจะพักเครื่อง เราก็นั่งทำใจสบายๆ แล้วนั่งกำหนดลมหายใจชัดๆ นะ ให้เข้านี่นึกพุท ออกนึกโธ เพราะมันชัดเจน คำว่าชัดเจน ในทางปฏิบัติเข้าใจว่ามันหยาบ เพราะมันชัดเจน มันต้องเบลอๆ แล้วต้องหายไปเลย ไม่ต้อง เวลามันจะละเอียดนะ เวลาชัดๆ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธชัดๆ เพราะว่าชัดๆ มันจับให้มั่น คั้นให้ตาย จิตมันคงที่ จิตมันไม่แตก เห็นไหม เราอยู่กับอย่างนี้ แต่เราบอกว่าเราพุทโธแฉลบๆ นี่จิตมันแตก

ทีนี้เราพุทโธชัดๆ ชัดๆ แล้วมันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร? ชัดๆ เดี๋ยวมันเป็นสมาธิขึ้นมาเราจะรู้ชัดเจนมาก เพราะถ้ามีสมาธินะ ถ้ามีสติ มีสติ มีสมาธิมันจะรู้ชัดเจนมากเลย แล้วพอจิตมันลงนะ จิตมันสงบขึ้นมาเป็นสมาธินะ มันชุ่มชื่น หนังสือมาเป็นกองๆ อ่านเข้าใจหมดเลย ถ้าจิตมันไม่เป็นสมาธินะ หนังสือเล่มหนึ่งอ่านก็ปวดหัว นี่พุทโธชัดๆ ลมหายใจชัดๆ ชัดๆ พอชัดๆ มันผ่อนคลายหมดไง

ลมหายใจสื่อชัดๆ เลย พุท เวลามันออกโธ พุท โธ นี่มันปล่อยหมด พอปล่อยหมด สิ่งที่มันค้างไว้ในหัวใจมันปล่อยหมดเลย ค้างไว้ในหัวมันปล่อยหมด แล้วอยู่กับตรงนี้มันร่มเย็น เพราะเรานึกถึงศาสดาของเรา พุทโธ พุทโธคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วมันเป็นสากล สากลหมายความว่าเทวดา อินทร์ พรหมเขาเป็นชาวพุทธ เขาก็ระลึกถึง พุทโธ เหมือนกัน แล้วเรานึกถึงพุทโธ เห็นไหม เหมือนกับสี เราไปอยู่ไหนก็สีเดียวกัน เออ สีเดียวกัน มันชุ่มชื่นไปหมด

พุทโธชัดๆ แล้วถ้าพูดถึงใครฝึกมาทางอื่น เขาบอกว่าต้องรู้สึกตัวทั่วพร้อม อะไรเนี่ย อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะถ้าพุทโธ บอกเราจะพักจิต เราไม่ต้องการปัญญา เราไม่ต้องการอะไรเลย ตอนนี้กำลังปวดหัวมากเราจะพัก พักเราก็ทำความสงบของใจ สูดลมหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ พุทโธ พุทโธ สักพักหนึ่ง แล้วถ้าใครเห็นประโยชน์ของมัน

นี่ถ้าจิตมันสงบแล้ว มันเป็นไปได้แล้ว แล้วเราค่อยมา อย่างที่ว่าน่ะทั้งกองเลยอ่านเข้าใจหมดแหละ ถ้าจิตมันเป็นสมาธิ จิตมันได้พักมานะ นี่มันพะรุงพะรังไปหมดเลย วิตกกังวลไปทุกอย่าง นู่นก็จะเอา นี่ก็จะเอา นู่นก็จะเอา เอาจนแบกไม่ไหว เอา อยากได้ อยากดี อยากประสบความสำเร็จ แต่ก็ไม่บีบคั้นตัวเองจนเกินไปนัก เราก็ไม่บีบคั้นตัวเองจนเกินไปนัก เราทำหน้าที่ของเรา คนดี เครื่องหมายของคนดี ความขยันหมั่นเพียร กตัญญูรู้คุณ เห็นไหม เครื่องหมายของคนดี ความกตัญญูกตเวที แล้วสิ่งนี้มันจะตอบสนองกลับมา

“กลิ่นของศีลหอมทวนลม”

คนดี เวลาผู้ใหญ่ว่าคนนั้นดี คนนี้ดีมันกระจายไป สิ่งนี้เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา มีอะไรต่อ?

โยม : อยากถามพระอาจารย์ว่า ทำอย่างไรเราถึงจะมีสติได้ตลอดเวลาครับ สติที่ไม่ใช่สติของทั่วไปปัจจุบัน สติที่ละเอียด

หลวงพ่อ : สติ การมีสติตลอดเวลา ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกหมด ดูสิเวลาโค ควายต่างๆ ที่เขาเอามาฝึกงาน โคฝูงไม่มีราคา โคที่ฝึกงาน ไถนาได้ ทำนาได้ โคนั้นจะมีราคา จิตของเราก็เหมือนกัน สติมันเกิดจากการที่เราฝึกนะ สติคือความระลึกรู้ ความพร้อมนี่คือสติ สติคือความระลึกรู้ ระลึกถึงตัวเอง พอระลึกถึงตัวเอง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน นี่นอนอยู่ท่ามกลางสงฆ์นะ แล้วเวลาเทศนามาตลอด จนคำสุดท้ายนะ

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด” แล้วเงียบ

ประมาทนะ สติตรงข้ามกับประมาทไง มีสตินี่ตรงข้ามกับความประมาท ทีนี้พอเราขาดสติใช่ไหม? คำว่าประมาทมันเลินเล่อ นี่ก็นึกว่าตัวเองพร้อมทุกอย่าง เดินไปหกล้ม แต่ถ้าเรามีสติ เห็นไหม ตรงข้ามกับประมาท มีสติระลึกถึงตัวเองตลอด จะก้าว จะเดินนี่ระลึกรู้ ต้องฝึกอย่างนี้ สติจะมีได้ต่อเมื่อเราฝึกหัด อยากมีสติ ตาลอยเลยนะ อยากมีสติ แล้วปล่อยไปอย่างนั้น แล้วเมื่อไหร่จะมีสติ ทุกอย่างเกิดจากการฝึกฝน ไม่มีของสิ่งใดมาได้เปล่า ไม่มี เพียงแต่ว่าจริตนิสัยคนเรามันมีช่องทางมาก น้อย มันจะสะดวกไหม? นี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่อยู่ที่เราตั้งใจ เราฝึกของเราไป ทำจนเคยชิน สตินี่

ก็ต้องฝึกไง ก็มันชอบลืม แล้วจะไปซื้อเอาที่ไหนสติน่ะ เดี๋ยวจะสั่งให้ ไปส่งถึงที่เลย เราต้องฝึกเอง เอาเนาะ มีอีกไหม?

โยม : หนูอยากถามว่า คือคนรู้จักเขาชอบเถียงแม่ แต่ว่าแม่เขาเองก็เป็นคนใจร้อนอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่คือใจร้อนทั้งคู่ จริงๆ บางเรื่องที่เขาเถียง โอเค แม่เขาก็ผิดจริง แต่อยากรู้ว่าคนที่เถียงแม่ บางครั้งอาจจะไม่เถียงแต่คิดในใจ เออ ถือว่าเราผิดไหม? แบบบางทีเทียบกับฝรั่งอย่างนี้ค่ะ คือโอเคเขาอาจจะไม่ใช่คนพุทธ แต่เขาก็แบบเหมือนกล้าที่จะคิด กล้าที่จะพูดออกมา อยากจะรู้ว่า เออ เรามีสิทธิ์ที่จะคิดบ้างไหม?

หลวงพ่อ : ได้ มโนกรรม ความคิดนี่เราคิดได้ เรานี่ฉลาดกว่าพ่อแม่นะ ถ้าเราจะฉลาดกว่าพ่อแม่ เราจะแก้ไข หรือเราจะคอนโทรลพ่อแม่ มันอยู่ที่การกระทำของเรา ไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูก แล้วถ้าลูกเป็นคนดีนะ ลูกเป็นคนดี แสดงความดีออกมาให้แม่เห็นนะ

ทีนี้คำว่าพ่อแม่ ถ้าการเถียง การต่างๆ การแสดงออก ถ้าระหว่างพ่อแม่ ลูกกับพ่อแม่เถียงกัน นี่สังคมต้องว่าลูกผิดแน่นอน ฉะนั้น ถ้าลูกผิดเราไม่ควรเถียงไง เราไม่ควรเถียง แต่เราคิดได้ไหม? เราคิดได้ แล้วถึงเวลาถ้าแม่อารมณ์เย็นขึ้นมา เหตุผลนี่พูดได้ พูดครั้งที่ ๑ แม่มีเหตุผล แม่ผิดอย่างนั้นๆ แม่ไม่ควรทำอย่างนั้น หนูรักแม่นะ หนูทำเพื่อแม่นะ ๑ ๒ ๓ ถ้าไม่ฟังพูดไปเรื่อยๆ พูดไปเรื่อยๆ แม่นี่ผิดบ่อย แม่นี่ผิดหลายทีแล้วนะ แม่นี่ผิดหลายทีแล้วนะ จนกว่าแม่จะยอมรับ

ลูกนี่อภิชาตบุตร บุตรที่เอาพ่อแม่ได้ พ่อแม่นี่นะเบ่งเรามา คำแรกเลยนะ

“กูเลี้ยงมึงมากับมือ กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึง”

แน่นอน การแก้พ่อแม่เป็นเรื่องที่ยากที่สุด มันเป็นความสัมพันธ์ไง มีนะลูกศิษย์คนหนึ่ง เขาบอกเขาเป็นอาจารย์สอนนะ นี่ลูกเขา ในโรงเรียนเขาเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก เด็กนักเรียนทั้งโรงเรียนเลยกลัวคนนี้มาก เขาบอกว่ามันเสียหน้าที่ลูกไม่กลัว ลูกก็เรียนอยู่ด้วย เวลาตีนะ ตีลูกมากกว่าเขา ๒ เท่า ๓ เท่า ทำไมมันไม่กลัวหนูหลวงพ่อ? ไม่มีสิทธิ์ เพราะมันถือว่าแม่มัน แต่ถ้าเป็นคนอื่นนะมันเกรงใจ แต่ถ้าแม่มัน มันไม่เกรง มันจะเอาชนะพ่อแม่มันไง

นี่สายบุญ สายกรรมระหว่างพ่อกับแม่ ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม? แล้วเราศึกษาแล้วใช่ไหม? พอเราศึกษาแล้วนี่รู้ รู้ว่าเรื่องทิฐิมานะเป็นแบบนี้ แล้วเราเป็นแม่ เป็นลูกกัน เห็นไหม แม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะแม่เบ่งเรามา ชีวิตนี้ได้มาจากแม่ ไม่มีแม่จะไม่มีชีวิตนี้ แม่นี่เป็นเจ้าของชีวิตเราเลย แล้วทำไมจะไม่มีคุณกับเรา?

ทีนี้มีคุณส่วนมีคุณนะ แม่เป็นแม่ที่ดีก็ได้ แม่เป็นแม่ที่ร้ายก็ได้ นี่ความรู้สึกนึกคิดของคนมันไม่เหมือนกันใช่ไหม? ถ้าแม่เราร้ายทำอย่างไร? ก็แม่เรา พระอรหันต์ของเรา แต่มีพฤติกรรมอย่างนี้ เราจะแก้แม่ของเราอย่างไร? แม่เป็นพระอรหันต์ของเรา แต่ แต่นิสัยเป็นแบบนี้ นี่มันก็เป็นบาป เป็นบุญที่เราโคจรมาเจอกัน แล้วพอโคจรมาเจออย่างนี้แล้ว ชีวิตเรา เราจะดูแลอย่างใด?

ฉะนั้น คิดแบบฝรั่ง ฝรั่งเขาบอกเขาเถียงได้ ฝรั่งนี่มันวัฒนธรรมหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วนะ เวลาเด็กเราไปเรียนทางยุโรป แล้วไปดูแลเขา เวลาจะจากมานะ เขารักคนที่ไปดูแลเขายิ่งกว่าลูกเขาอีก นั่นคือวัฒนธรรมของเขา นี่ไงพวกเรา เห็นไหม เราอยากจะเป็นครอบครัวที่เสรี เราอยากจะเป็นครอบครัว แต่เมื่อก่อนเราเป็นครอบครัวใหญ่ นี่ปู่ ย่า ตา ยายอยู่ด้วยกันหมดเลย ลูกหลานดูแลมา เด็กมันอบอุ่น เดี๋ยวนี้ต้องแยกครอบครัว เพราะเราอยากเป็นฝรั่งกันหมดไง

วัฒนธรรมของเขา นี่เราไม่ติเตียนใคร เพียงแต่สังคมมันต้องหมุนเวียนไปเป็นธรรมดา ทีนี้เราศึกษาเพื่อเห็นคุณ เห็นประโยชน์ แล้วเราเอามาเป็นประโยชน์กับชีวิตเรา

อ้าว ต่อไป

โยม : คือแบบหนูก็อยากนั่งสมาธิ แต่ว่าเวลานั่งแล้วมันจะเมื่อย แล้วก็ขยับตัวตลอดเลยค่ะ พอขยับแล้วมันก็จะแบบเสียสมาธิ แล้วเหมือนเคยได้ยินว่าถ้านอนสมาธิแล้วคิดพุทโธ มันได้ไหมคะ บาปไหมคะ

หลวงพ่อ : ได้ การทำสมาธิ อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่าหัวเราะนะ นอนทำสมาธิได้ ได้ นอนทำสมาธิได้ เพียงแต่ว่าคนทำได้น้อย เพราะนอนมันจะหลับไปเลย แต่นอนสมาธิได้จริงๆ ยืน เดิน นั่ง นอน มันเป็นอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอนเพื่อรักษาใจ เพื่อใจสงบ ฉะนั้น มี เรามีพระเพื่อนองค์หนึ่ง บอกต้องนอนสมาธิ เขานั่งสมาธิไม่ได้ เขานอน แล้วได้สมาธิจริงๆ แต่ได้เฉพาะเขานะ

นี่อย่างที่บอกว่าโกหกไหมๆ ส่วนใหญ่แล้วก็พระพุทธเจ้าองค์เดียว นอกนั้นก็เลียนแบบหมด นี่ก็เหมือนกัน ผู้ที่ทำได้ก็ได้คนเดียว คนที่ทำได้น้อยมาก นอนสมาธิมีไหม? มี แต่น้อยมากฉะนั้น เวลาเรานั่ง ถ้านอนสมาธิได้จบ ถ้านอนไม่ได้นะเรานั่งของเรา ถ้านั่งไม่ได้ ยืน เดิน เดินจงกรมนี่ดีมากๆ นี่เดินจงกรมนะ ถ้ามันนั่งแล้วปวด นั่งแล้วมันกระสับกระส่ายนะ

แล้วการทำสมาธิ อย่างที่ว่าหายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธเราสอนโดยพื้นฐานนะ แต่ถ้าคนทำไม่ได้จริงๆ นะ เขาเรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ คือเรามีความคิด สติตามความคิดนี้ไป สติตามความคิด เพราะความคิดมันต้องหยุดโดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะมันไม่มีสติ ไม่มีเจ้าของ ความคิดนี่เวลามันคิดเตลิดไปเลย แต่ไม่มีใครดูแลมัน แต่ถ้ามีสติตามความคิดนี้ไป สติมันทันนะ คิดเรื่องอะไร? คิดทำไม? มันหยุดนะ

ปัญญาอบรมสมาธิก็มี มีปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ นี่พระสารีบุตร มันเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นสมาธิอบรมปัญญา นี่พระโมคคัลลานะ เจโตวิมุตติ ถ้าเจโตวิมุตตินี่สมาธินำ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติปัญญานำ ทีนี้หมอเขาต้องแก้อาการไข้ อาการหัวใจแต่ละบุคคลเป็นเฉพาะๆ เฉพาะๆ ไง เฉพาะบุคคลคนนั้น เฉพาะจิตดวงนั้น ฉะนั้น เวลาฟังแล้วมันก็มั่วไปหมด ฉะนั้น ใครทำแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

จบ จบยัง? จบแล้ว จบเนาะ เอวัง