ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เพราะสงสัย

๒๕ ก.พ. ๒๕๕๕

 

เพราะสงสัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๙๔. ไม่มีเนาะ

อันนี้ข้อ ๗๙๕. “พระชนบท” คนถามนะ

ถาม : ๗๙๕. เรื่อง “สงสัยอาบัติปาราชิกในข้อลักขโมยครับ”

ผมเป็นพระไม่กล้าปรึกษาใครครับ สงสัยในอาบัติดังนี้

หลวงพ่อ : เขาบอกว่าเขาทำหน้าที่ บวชแล้วก็มีความชำนาญทางคอมพิวเตอร์ เขาไปช่วยวัดหนึ่งที่เขาทำคอมพิวเตอร์ แต่ช่วยไปแล้วมันก็สงสัยหลายเรื่อง พอสงสัยไปแล้ว นี่คำถามที่เป็นคำถามของเขา

ถาม : ๑. การซื้อซีดีเถื่อนของผู้ขาย ผู้ขายเป็นฝ่ายทำให้ เป็นของเถื่อนแล้วนำมาขาย ผู้ซื้อก็ไม่ผิดในข้อหาลักขโมย ในการโหลดก็เช่นเดียวกัน ทางผู้ที่ให้โหลดเขาก็ทำให้มันเป็นของเถื่อน แล้วนำมาไว้ให้โหลดตามเว็บไซต์ต่างๆ พอเราไปโหลดก็ไม่น่าจะเข้าข่ายลักขโมยใช่ไหมครับ

๒. ถ้าเขาไม่นำมาให้เราโหลด เราก็ไม่รู้จะไปโหลดที่ไหน เราก็โหลดในสิ่งที่เขาเต็มใจนำมาให้เราโหลด ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์ก็ตาม เมื่อเราโหลดก็ไม่น่าจะผิดในข้อลักขโมยใช่ไหมครับ และที่สำคัญ จิตขณะโหลดนั้นก็ไม่คิดว่าเป็นการลักขโมย คิดว่าเป็นแค่การโหลด ก็ไม่น่าจะผิดในข้อลักขโมยใช่ไหมครับ

๓. บางโปรแกรมเขากำหนดวันใช้งาน เช่น ๓๐ วัน แต่ก็มีบางเว็บไซต์ที่มีผู้นำโปรแกรม เป็นโปรแกรมที่ทำให้กำหนดวันใช้งานนั้นสามารถใช้ได้ไม่จำกัดวัน หรือแนะนำกลวิธีบางอย่างที่ทำให้เราใช้โปรแกรมเหล่านั้นได้ไม่จำกัดวัน หรือบางทีก็แจกรหัสของโปรแกรมเหล่านั้นมาให้ ในกรณีแบบนี้ไม่น่าจะเป็นการลักขโมย แต่น่าจะผิดข้อละเมิดลิขสิทธิ์ จะผิดศีลในข้อไหน? หรือว่าไม่ผิดศีลแต่ผิดธรรม คือเป็นโลกวัชชะใช่ไหมครับ เพราะในทางกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ผิดในข้อหาลักขโมย แต่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ครับ และที่สำคัญ ลิขสิทธิ์กับกรรมสิทธิ์มันก็ต่างกัน เราไม่ได้ไปแย่งชิงกรรมสิทธิ์เขา เพียงแต่เราละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เลยสงสัยครับ

๔. เท่าที่ผมศึกษาเทียบเคียงในพระไตรปิฎก ก็ไม่เห็นจะตรงกับกรณีไหนครับ เพียงแต่คิดว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ผิดศีลแต่ผิดธรรม คือเป็นโลกวัชชะใช่ไหมครับ

๕. (คำถามสุดท้าย) ถ้าเกิดเป็นปาราชิก เมื่อสึกออกไปก็ไม่สามารถจะบรรลุธรรม อย่างเช่นโสดาบันได้เหรอครับ

หลวงพ่อ : นี่เขาพูดถ้าเขาเป็นปาราชิก นี่เวลาทำไปแล้วมันเกิดความสงสัย เราบอกมันเป็นเพราะความสงสัย โดยความปรารถนาดี เขาเป็นพระบวชใหม่แล้วไปช่วยวัด ไปช่วยกันเผยแผ่ธรรมะ พอช่วยเผยแผ่ธรรมะ พอทำไป นี่เวลาพระทำเกิดความสงสัย เพราะสงสัยไง ต้องเพราะสงสัย ต้องเพราะทำความผิด นี่คำว่าต้องเพราะสงสัย

ฉะนั้น เวลาทำไป ถ้าเราไม่มีเจตนานะ เราถึงบอกว่าถ้าทางโลกเขาผิดกฎหมาย ทางโลกผิดกฎหมาย พระนี่ต้องละเอียดอ่อนกว่า แต่ถ้ามีศีล ๕ พอมีศีล ๕ ขึ้นมาแล้วกฎหมายแทบจะไม่ต้องบังคับใช้เลย เพราะศีล ๕ เห็นไหม พอเรามีศีลมันมีความละอาย มันมีความละอาย ไม่มีการกระทำก็จบ นี่เราก็มีศีล แต่ แต่เรามีหมวกอีกใบหนึ่งคืออยากเผยแผ่ อยากจะช่วยเหลือไง อยากจะเผยแผ่ออกไป ทีนี้การเผยแผ่มันก็ต้องใช้ใช่ไหม? ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เวลาเขาไปใช้ตรงนั้น

ฉะนั้น เวลาทำไปแล้ว ทางกฎหมายทางโลก ทางลิขสิทธิ์ทางการค้ามันมี ผู้ที่แอนตี้เรื่องนี้ พวกเอ็นจีโอเขาไม่เห็นด้วยไง ในการขูดรีด ในการค้ากำไรเกินควร เขาก็ไม่ยอมรับตรงนี้ แต่นั่นมันเป็นเรื่องของพวกเอ็นจีโอเขา ไอ้เราเป็นพระมันมีศีลธรรม ศีลธรรมมันเป็นแบบว่าตายตัวอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าทำสิ่งใดไปแล้วมันเพราะสงสัย เราตัดความสงสัยซะก็จบ เพราะสงสัยมันมีปัญหาไปหมด ถ้าเราไม่สงสัยนะ เราไม่สงสัยว่าเราทำด้วยเจตนาที่ดี เราทำต่างๆ แล้วถ้านี่ข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ สิ่งที่คำถามมามันเป็นเรื่องของโลกๆ ไง

ทีนี้เป็นเรื่องของโลกๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องของพระ เรื่องของพระถ้าตัดสินกันเขาเรียกว่า “ตัวบท” ถ้าตัวบทตามกฎหมายนะ แต่ข้อเท็จจริงล่ะ? นี่ตามข้อเท็จจริงคือเราทำของเราอย่างไร? แต่ตามตัวบท ทีนี้เราจะไปชัก ๒ อย่างนี้มารวมกันก็ยุ่งตายเลย ตามตัวบทเราลักหรือเปล่า? ถ้าไม่ได้ลักก็จบแล้ว ไม่ได้ลักขโมย แต่นี้เป็นการเผยแผ่ธรรม ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุด โดยส่วนใหญ่ตอนนี้ พระเขาไปทำตอนนี้ เพราะมีการเผยแผ่กันมาก ฉะนั้น ของเราเราพยายามไม่ให้ไปทำตรงนั้น ให้เจ้าหน้าที่เขาทำซะ ให้เจ้าหน้าที่เขาทำ แล้วเจ้าหน้าที่เขาทำของเขาไป พระคุมนโยบายเฉยๆ

ฉะนั้น โปรแกรมอย่างที่ว่านี่ ถ้าเราไม่สงสัยนะจบเลย จบเลย แล้วข้อสุดท้าย

ถาม : คำถามสุดท้าย ถ้าเกิดเป็นปาราชิก เมื่อสึกออกไปก็ไม่สามารถบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้

หลวงพ่อ : นี่ถ้า เห็นไหม คำว่าถ้าปาราชิก แล้วเป็นหรือเปล่าล่ะ? เออ ถ้าไม่เป็นมันก็ปลดไว้ที่นี่ไง เพราะอะไรรู้ไหม? บอกว่าถ้าเป็นปาราชิก เวลาไปภาวนาตรงนี้มันจะกวนมาก พอจิตไม่ลงก็ว่าเพราะอันนั้น พอมีอะไรก็ว่าเพราะอันนั้น พอมีอะไรก็เพราะอันนั้น อันนี้มันจะมาฝังใจตลอดไป ฉะนั้น เราตัดทิ้งไปเลย ไม่ถ้าแล้ว บอกว่าเราทำเพื่อศาสนาก็จบที่นั่นแล้วแหละ แล้วภาวนา ถ้ามันภาวนาดีก็ดี ภาวนาทุกข์ยากก็ต้องฝืนทำกัน เพราะว่าถ้าอย่างนี้ปั๊บมันก็จะฝังใจไปแหละ พอฝังใจไป พออะไรผิดขึ้นมามันก็จะลงตรงนี้

เดี๋ยวนี้กฎหมายมันออกใหม่ ดูสิเวลากฎหมายออกใหม่ๆ มันไม่ทันหรอกเพราะว่าเดี๋ยวนี้โลกเจริญมาก เวลากฎหมายออกมา ดูสิอย่างเช่นอเมริกา เขาออกกฎหมายมาบังคับประเทศอื่น เวลาการค้า ออกกฎหมายมาบังคับประเทศอื่น โอ้ อย่างนั้นก็มีนะ เออ กูก็งงอยู่ นี่เดี๋ยวนี้กฎหมายเขาออกมาอย่างนี้ ออกมานี่เป็นกฎหมายของเขา แต่ถ้าผิดกฎหมาย นี่แม้แต่ทางโลกเขาก็ยอมรับอยู่แล้ว เอ็นจีโอเขาไม่ยอมรับ

อย่างตอนนี้ที่เขาต่อต้านทุนนิยม เห็นไหม เราไปดูนะ เมื่อก่อนเขาทำธุรกิจ มีนักธุรกิจเขาบอกเมื่อก่อนกำไรอย่างมาก ๑๘ เปอร์เซ็นต์ก็นับว่าสูงมากแล้วล่ะ แต่พอมาพวกการลงทุน หุ้นนี่กำไรทีหนึ่งนะ ๖๐-๗๐ เปอร์เซ็นต์ ยิ่งต้มยำกุ้งเขากำไร ๒๐๐ เปอร์เซ็นต์ เขาบอกอย่างนี้มันมีที่ไหน? แล้วมันอยู่ได้อย่างไร? โลกนี้อยู่ได้อย่างไร? นี่ทุนนิยมไง เขาบอกเขาเป็นนักลงทุนเก่า เขาบอกว่า ๑๘ เปอร์เซ็นต์เมื่อก่อนถือว่าหรูมากแล้ว เดี๋ยวนี้ล่อกันทีหนึ่ง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ๕๐ เปอร์เซ็นต์

นี่พูดถึงทุนนิยมนะ เดี๋ยวจะออกโลกไปแล้วล่ะ เรื่องโลกเป็นเรื่องโลก ฉะนั้น ถ้าเขาแอนตี้กัน นี่คำว่ากฎหมายไง ฉะนั้น ถ้าเราไม่สงสัย ตัดความสงสัยไปเลย อย่างที่พูดนี่ ความสะอาดบริสุทธิ์มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล แล้วนี่จะให้เราไปการันตี หรือให้เรายอมรับ หรือไปชี้นำว่าถูกหรือผิด เพราะคนอื่นเป็นคนทำ เราไม่รู้ว่าเหตุการณ์มันเป็นอย่างใด? ฉะนั้น ถ้าไม่สงสัยนะจบเลย นี่เพราะสงสัยแล้วมันยุ่งอย่างนี้ จบแล้วนะ

ถาม : ๗๙๖. เรื่อง “พระอาคันตุกะมีพรรษาเยอะกว่าเจ้าอาวาส” (นี่คำถามไง)

กราบเรียนหลวงพ่อ ถ้าสมมุติว่ามีพระอาคันตุกะมาวัด แล้วมีพรรษามากกว่าเจ้าอาวาส แล้วเวลานั่งจะเรียงตามอาวุโส ภันเตหรือเปล่าเจ้าคะ หรือให้เจ้าอาวาสนั่งก่อนเพราะเป็นเจ้าอาวาส

หลวงพ่อ : เราจะเคารพเจ้าอาวาส หรือเราจะเคารพพระพุทธเจ้าล่ะ? กรณีอย่างนี้มันกรณีเรื่องโลกไง อย่างเช่นสมณะศักดิ์ ถ้ามีสมณะศักดิ์ต้องนั่งเหนือกว่า ถ้าสมณะศักดิ์เหนือกว่า เห็นไหม เขาอาวุโสทางสมณะศักดิ์ ฉะนั้น เขาก็เลยต้องได้สมณะศักดิ์ก่อน ตอนนี้หนุ่มๆ แหม เป็นสมเด็จกันหมดเลย สมณะศักดิ์ แล้วอย่างนี้ปั๊บ นั่งก็ต้องนั่งตามสมณะศักดิ์ นี่ทางโลกไง

ฉะนั้น เวลาการที่หลวงตาออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น เห็นไหม อาวุโส ภันเต อาวุโส ภันเตมันมีมาพระพุทธเจ้าบัญญัติ เป็นพุทธบัญญัติเลย แล้วบัญญัติมาอย่างนั้น ถ้าเราเคารพพระพุทธเจ้านะ เราเป็นเจ้าอาวาส แต่ถ้าใครมาพรรษาสูงกว่าก็ต้องนั่งเหนือกว่าอยู่แล้ว แล้วเป็นอะไรล่ะ? ถ้าเขานั่งเหนือกว่าแล้วเจ้าอาวาสหน้าแหกเลยใช่ไหม? เจ้าอาวาสจะเสียเกียรติมากเลยหรือ? แล้วถ้าเจ้าอาวาสเสียเกียรติมาก เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่อาคันตุกะมา ถ้าท่านเป็นสมณสารูปนี่ใช่ แต่ถ้าท่านไม่เป็นสมณสารูป หรือบางทีจริงๆ นะ พระบางที อย่างเช่นพระนี่ถ้าไม่เรียบร้อยเราแยกก็ได้

อย่างเช่น ไม่อยากจะพูดเรื่องนี้เลยนะ แต่เวลานี้จะพูด อย่างเช่นเวลาหลวงปู่ฝั้น สมัยหลวงปู่ฝั้นท่านอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร หลวงปู่ชามาเยี่ยมหลวงปู่ฝั้นบ่อยมาก หลวงปู่ชา เวลาหลวงปู่ชาท่านมาเยี่ยมหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นจะจัดให้หลวงปู่ชาไปฉันที่โบสถ์น้ำ แยกเลย เพราะหลวงปู่ชาท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียง หลวงปู่ชาเป็นพระที่มีชื่อเสียง แล้วลูกศิษย์ลูกหาเยอะมาก ฉะนั้น จะมานั่งมันก็ดูอย่างไรอยู่ใช่ไหม? เพราะว่าลูกศิษย์จะทำใจกันไม่ค่อยได้ ท่านถึงแยกหลวงปู่ชาไปฉันที่โบสถ์น้ำ

หลวงปู่ชาจะมาเยี่ยมหลวงปู่ฝั้นบ่อยมาก แล้วพอมาเยี่ยม หลวงปู่ฝั้นจะเอาหลวงปู่ชาไปฉันที่โบสถ์น้ำ แล้วให้ไปอุปัฏฐากที่นั่นเลย แล้วหลวงปู่ฝั้นก็ฉันที่ศาลาเป็นปกติ นี่มันอยู่ที่วุฒิภาวะ อยู่ที่ความสามารถของผู้นำ ของเจ้าอาวาสนั่นแหละ ถ้าเจ้าอาวาสท่านเป็นเจ้าอาวาสที่ดีนะ เราไม่ได้ธรรมนี่เราส่งเสริมนะ เราส่งเสริมแบบว่าอาคันตุกะมาพรรษาเยอะ อาคันตุกะมานี่ลูกศิษย์ลูกหามาก เราก็จัดให้ท่านฉันอย่างเยี่ยมเลย แล้วเราไปฉันใต้ถุนซะ เราเป็นเจ้าอาวาสเนาะ เราไปฉันใต้ถุนศาลาก็ได้ วัน ๒ วันจะเป็นไรไป นี่ถ้าเจ้าอาวาสที่ดีนะ เจ้าอาวาสที่ดีเวลาครูบาอาจารย์มา ท่านเป็นพระที่ดีท่านจะส่งเสริม เราเคารพไง เราเคารพผู้ใหญ่ไง

นี่พูดถึง เราผ่านสังคมมา คือเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เราเห็นเรื่องนี้เยอะ เวลาอยู่กับหลวงตา เวลาหลวงตาท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงมาก ธรรมทูตมาจากศรีลังกา พระธรรมทูตทั้งหมดมาอบรมธรรมทูตเสร็จ พออบรมธรรมทูตเสร็จ เพราะธรรมทูตเขาอยากให้ฝึกงาน เขาส่งมาดูงานที่บ้านตาด เราก็อยู่นั่น โอ๋ย พระมาจากลังกา พระลังกา พระทุกอย่างหมดเลย แล้วจะทำกันอย่างไร? ทีนี้เพียงแต่เขาเป็นธรรมทูต พรรษาเขาน้อยใช่ไหม? เราก็จัดเรียงเลย วัดบวรฯ พามา เรานี่เป็นคนจัด

ฉะนั้น เวลาเราอยู่บ้านตาด เวลามันมีปัญหาขึ้นมา คือพระมามากๆ นี่ทำอย่างไร? นั่นแหละเป็นการฝึก ฝึกเพราะอะไร? ฝึกเพราะหลวงตาท่านเป็นผู้วินิจฉัยอยู่ แล้วเราทำตามนั้นมันก็ได้ซึมเข้าไปในสายเลือดเลยไง มันรู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ไม่ใช่อ่านธรรมวินัยมา เอ๊ะ แล้วมันคืออะไร? เอ๊ะ แล้วมันทำอย่างไร? ปวดหัว แต่เราอยู่ในเหตุการณ์เลย เวลามานี่ทำอย่างไร? นี่แล้วหลวงตาท่านวินิจฉัยของท่าน เห็นไหม

อย่างเช่นถ้าอยู่ที่บ้านตาด ใครมาจะนั่งอย่างไร? หลวงปู่ใช่ท่านยกเป็นกรณีพิเศษ หลวงปู่ใช่ แล้วเวลาพระมา พอนั่งฉัน พอเริ่มแจกอาหารเสร็จ พอใครฉันไม่ถูกระเบียบนะ หลวงตาท่าน แบบประสาเราว่าซัดกลางศาลาเลย อาคันตุกะก็อาคันตุกะ คะมำอยู่กลางศาลาเลย เราเจอประจำ เพราะเรานั่งอยู่นั่น เวลาพวกอาคันตุกะมาทำผิดนะท่านหันไปถามเลย

“ท่านพรรษาเท่าไหร่? แล้วผมยังไม่ทันฉัน ท่านฉันได้อย่างไร?”

หน้าแตกนะ เพราะเวลาคนไปบ้านตาดมันเกร็งอยู่แล้วไง เข้าไปมันก็สั่นอยู่แล้ว พอทำอะไรก็ทำผิด ทำถูกไง พอทำผิดก็ผลัวะ! ผลัวะทันที ทันทีเลย เพราะว่าท่านเป็นผู้นำ ท่านต้องทำให้พวกเรารู้จริงว่าอะไรถูก อะไรผิด ควรหรือไม่ควร เราเจอประจำ เรานั่งอยู่นั่นนะ พอพระมา เราพิจารณาของเราเองนะ มันเป็นเพราะว่าความประหม่าหรือว่าอะไรก็ไม่รู้ มันเรื่องพื้นๆ นะ คือว่าหัวหน้าท่านยังไม่ทันฉัน เราฉันไม่ได้หรอก นี่หัวหน้าท่านยังพิจารณาอยู่ในบาตรเลย ล่อก่อนแล้ว พอล่อก่อนแล้ว ท่านหันมาก็ผลัวะเลย เราก็นั่งดูอยู่

เรานั่งพิจารณาอยู่นะ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ ว่าอันนี้มันเป็นเพราะความประหม่า หรืออันนี้เป็นเพราะความไม่รู้ เราพิจารณานะ เราก็พระเด็กๆ นี่แหละ แต่มันมีประสบการณ์เราชอบคิด เราชอบสร้างปัญญา หาปัญญา เอ๊ะ เป็นเพราะความประหม่าหรือ? ถ้าไม่ใช่เป็นความประหม่า ไอ้นี่มันเป็นมารยาทสังคมเฉยๆ เอง เป็นแค่ผู้ใหญ่ยังไม่กิน เราไปกินก่อนผู้ใหญ่มันก็น่าเกลียดอยู่แล้ว แล้วผู้ใหญ่ตัวท่านเองยังไม่ได้ฉัน จะไปฉันก่อนได้อย่างไร?

นั่งเรียงกันอยู่อย่างนี้ หันมาท่านใส่เลยนะ ให้ใหญ่มาจากฟ้าไม่มีสิทธิ์หรอก หลวงตาไม่เคยกลัวใครเลย ให้ใหญ่มาจากฟ้า จะเจ้าคุณชั้นไหนนะ ชั้นเทพชั้นไหนมาเถอะ ถ้าเข้ามาแล้วเป็นอันว่าเสร็จ ทีนี้เพียงแต่ว่าท่านทำอย่างนั้น อันนี้พูดถึงอาคันตุกะที่พรรษาน้อยกว่า ถ้ามากกว่าก็ต้องนั่งหน้า นั่งหน้าอยู่แล้ว แล้วอาคันตุกะมา นี่มันคารวะ ๖ ใช่ไหม? คารวะ ๗ หรือคารวะ ๖ เวลาอาคันตุกะมา เห็นไหม อาคันตุกะวัตร อาจริยวัตรมันต้องบอกไง ถ้าบอกอย่างนี้ หลวงปู่ฝั้นท่านเน้นตรงนี้มาก แล้วทำให้พระไม่เก้อไม่เขิน จะไปมาหาสู่กันด้วยความสนิทชิดชอบ แล้วมันเข้ากันโดยหลัก

ฉะนั้น ถ้าอาคันตุกะมาต้องนั่งหน้าอยู่แล้วถ้าพรรษามากกว่านะ นั่งหลังไม่ได้หรอก เว้นไว้แต่ คำว่าเว้นไว้แต่ เพราะว่าพระบางทีถ้าภาวนาไปแล้วอาจจะหลุด อาจจะเกินอะไรไป ถ้ามานั่งหน้าแล้วเสียหายเราจะต้องควบคุมเอง อย่างเวลาอาคันตุกะมาพระจะถาม เราจะจัดการเองเลย อย่างเช่นถ้ามาไม่ทันให้นั่งข้างหลัง พูดถึงถ้ามาแล้วไม่ทันเราแยกให้ฉันข้างหลังเลย คือให้โยมนี่เอาไปให้ฉันข้างหลัง เฉพาะวันนี้ เฉพาะวันที่เขามา

คำว่าภิกษุ ถ้าเริ่มจะฉันหรือฉันแล้ว ใครมาก็ขยับไม่ได้ เพราะภิกษุฉันมื้อเดียว พอฉันมื้อเดียว พอเริ่มฉันนี่นะ ให้อาวุโสมาขนาดไหนก็ไม่ต้องลุก ไม่ต้องไหว้ ภิกษุฉันอาหารอยู่ ใครยกมือไหว้เป็นอาบัติทุกกฏ ภิกษุฉันอาหารอยู่ ใครมากราบภิกษุไม่ได้ แล้วถ้าภิกษุเริ่มฉันแล้ว ถ้าพระมาจะต้องแยกให้เขา แต่ถ้ายังไม่ฉันนะ ถ้าเขามาปั๊บภิกษุทั้งหมดต้องเลื่อนลงหมดเลย ไอ้นี่มันไปอยู่ใน นาวาภิรูหนสมโย มหาสมโย สมณภตฺตสมโย

คราวภิกษุมาก คราวภิกษุมากยกเว้นนะ อย่างเช่นเวลาจัดไปงานนี่คราวภิกษุมาก คราวภิกษุมากคือว่าภิกษุเป็นพันๆ เราจะเรียงลำดับไม่ได้หรอกว่าใครอาวุโส ภันเต ถ้าคราวภิกษุมากจับให้นั่ง พอเรารู้ได้ คุ้นเคยเราจะรู้พรรษากัน แต่ถ้าไม่คุ้นเคยปั๊บเราจะแยกเลย มหาสมโย สมณภตฺตสมโย คำที่คราวภิกษุมากไง ปรัมปรโภชนะ คือการฉันหรือการนั่งต้องตามหลักอาวุโส ภันเต แต่คราวภิกษุมาก คราวอะไรมันมียกเว้นอยู่ในปาติโมกข์นั่นแหละ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไม่ใช่ว่า แหม จะเถรตรงอย่างนั้นเลยนะ ต้องอย่างนั้นๆ นะ มันมีคราวยกเว้นอยู่ ทีนี้คราวยกเว้นเราจะยกเว้นอย่างไร?

นี่ไงงานกฐิน เวลาเย็บผ้ากฐินนี่ปรัมปรได้ คือเวลาฉันนี่หมุนเวียนกันฉันไง เพราะว่าเย็บด้วยมือต้องให้เสร็จภายในวันนั้น ฉะนั้น ขึงกฐินเลย ขึงสะดึงแล้วเย็บด้วยมือ ให้ช่วยกันจับ ช่วยกันเย็บ แล้วก็ให้เวียนกันมาฉันข้าว ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เสร็จภายในวันนั้น กฐินมันจะเสีย ฉะนั้น กรณีอย่างนี้นะมันไม่ง่าย ถ้าเจ้าอาวาสถ้าเราเป็น ทีนี้เจ้าอาวาสจะแค่ไหนล่ะ? เวลาเขามานี่รับเขาไม่ได้ ถ้าอันนี้ซึ้งเลยนะ เวลาหลวงตาท่านบอกว่า

“เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแล้วแสดงธรรม”

ก็เหยียบหัวธรรมวินัย อาวุโส ภันเต นี่คือธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แล้วเรายก เรามองข้ามใช่ไหม? แต่เราก็ไปว่าเราเคารพๆ ไง หลวงตาท่านบอกว่า “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไป ข้ามหัวพระพุทธเจ้าไป” นี่ข้ามหัวอาสุโว ภันเตไป อาคันตุกะมา ถ้าพรรษาเขาเยอะกว่าเขาต้องนั่งหน้าอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่า เวลาให้เจ้าอาวาสต้องนั่งก่อน แต่ส่วนใหญ่แล้วมันมี หลายวัดมากเจ้าอาวาสนั่งก่อน ถ้าเจ้าอาวาสนั่งก่อนแล้ว บางทีเจ้าอาวาสโกหกด้วย เอ็งพรรษาเท่าไร? ๒๐ กู ๒๑ ถ้าเอ็ง ๓๐ กู ๓๒ อย่างนี้ก็มี เจอบ่อย เที่ยวไปจะเห็น ถ้าอย่างนี้แล้วมันยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่

นี่คำว่าเจ้าอาวาสๆ ไง เจ้าอาวาส ถ้าเป็นเจ้าอาวาสที่ดีนะ เวลาได้รับการแต่งตั้งเจ้าอาวาส เพราะเราก็เป็นเจ้าอาวาสเหมือนกัน คำแต่งตั้งเจ้าอาวาสเราอ่านแล้วซึ้งมากนะ ของเรานี่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จญาณ ท่านตั้งมานะ นี่ขอตั้งให้เป็นพระสังฆาธิการ แล้วถ้าเกิดอธิกรณ์ในวัดนั้นให้ดูแล ให้ปราบอธิกรณ์ แล้วให้ดูแลพวกคฤหัสถ์ แบบว่ามีอำนาจในวัดนั้นเต็มที่เลยล่ะ เกิดอธิกรณ์ขึ้นเราต้องจัดการ อำนาจเจ้าอาวาสนะ เจ้าอาวาสในการแต่งตั้ง เพราะเขาก็หวังว่าให้ศาสนานี้สงบร่มเย็น ฉะนั้น ถ้าเจ้าอาวาสที่ดีจะดีมากๆ เลย

ฉะนั้น หลวงตาท่านถึงบอกว่าผู้นำนี่สำคัญ ผู้นำนี่สำคัญ แล้วถ้าผู้นำมันไม่มีล่ะ? กรณีที่เขาถามเขาต้องเห็นอะไรแปลกๆ ไง แล้วเราก็เห็นแปลกๆ มาเยอะ พอเห็นแปลกๆ มาเยอะ เราถึงต้องว่าแต่เขาใช่ไหม? เราก็ต้องไม่ยุ่งกับใคร ไม่ยุ่งหมายถึงว่าเราต้องทำตามนี้แหละ เพราะเราเห็นมา ของที่เห็นมา หลวงตาท่านกระหนาบมาอย่างนี้ แล้วพอจะมาทำ ยิ่งถ้าเราทำตามใจมันยิ่งผิด ๒ ชั้นเนาะ เหยียบหัวพระพุทธเจ้าด้วย แล้วข้ามหลวงตาด้วย อู๋ย ๒ ต่อเลย ไอ้คนอื่นมันยังต่อเดียว นี่ถ้าเราทำเอง ๒ ต่อ ๓ ต่อเลย ฉะนั้น เราต้องระวัง นี่เวลาผ่านครูบาอาจารย์ที่ดีๆ มามันต้องคิด

ฉะนั้น กรณีที่เขาถามมานี่เห็นมาเยอะแล้วล่ะ มันเป็นทิฐิมานะกันเอง มันอยู่ในธรรมวินัยอยู่แล้ว แล้วยิ่งระดับเจ้าอาวาสนี่ของพื้นๆ อย่างนี้ ไม่รู้ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว แล้วอย่างนี้เกิดอธิกรณ์ขึ้นมาในวัดจะทำอย่างไร? แล้วเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วจะปกครองอย่างไร? ก็แค่เขามานั่งหน้า นั่งหลังยังจมไม่ลงเลย

ข้อ ๗๙๗. เนาะ ข้อ ๗๙๗. เขาถามมา เรื่อง “ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” เขายกเว้น เขาไม่ให้อ่าน (หัวเราะ) หลวงพ่อไม่ต้องอ่าน เสียเวลา เขาว่า

ข้อ ๗๙๘. อันนี้ยุ่ง

ถาม : ๗๙๘. เรื่อง “เมื่อละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ยังมีอัตตาตัวตนอยู่” (นี่ความเข้าใจของเขาไง)

กราบนมัสการพระอาจารย์ที่เคารพ ติดตามฟังธรรมของท่าน และการถาม-ตอบธรรมะจากเว็บไซต์ของพระอาจารย์มาอย่างสม่ำเสมอ ได้รับความรู้และความเข้าใจในธรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้แนะนำญาติธรรมและเพื่อนๆ หลายคนให้ลองฟังธรรมของท่าน บางคนก็ชอบและคอยติดตามขอกัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อฟังอยู่เรื่อยๆ ทำให้เขาเกิดความเข้าใจ และมั่นใจในการปฏิบัติธรรมของเขาเจริญก้าวหน้าทางตรง และไม่หลงทางแน่นอน

แม้บางคนเมื่อก่อนไม่เคยสนใจปฏิบัติธรรมมาก่อน ก็เริ่มเห็นความสำคัญและสนใจฟังธรรมของท่านมากขึ้น แต่บางคนฟังธรรมของท่านไม่ได้บอกว่าไม่ใช่จริต ทำให้นึกเสียดายแทนที่เขาปิดกั้นโอกาสของตนในการฟังธรรมที่เกิดจากจิตจริง ไม่ใช่ธรรมที่เกิดจากการอ่านหรือการศึกษาค้นคว้า จึงขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ไว้อย่างสูงที่กรุณาตอบทุกปัญหา ตอบทุกคำถามของทุกคน แล้วแต่ความเมตตาและสงสาร

แม้บางคำถามอาจจะไร้สาระ หรืออ่อนเยาว์ต่อธรรมแค่ไหนก็ตาม ท่านก็อุตส่าห์พยายามตอบให้ เพื่อให้พวกเราได้ความรู้ ความเข้าใจตามวุฒิภาวะของแต่ละคน โดยไม่รังเกียจว่าไม่น่าจะถาม หรือน่าจะไปหาอ่าน หาความรู้เอาเองได้ แต่ท่านก็พยายามตอบและสอดแทรกความรู้ทางธรรมให้กว้างขึ้น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อนักปฏิบัติธรรมที่รับฟังคำตอบของท่านอีกมากมาย แม้จะไม่ใช่คำถามของตนก็ตาม แต่คราวนี้ขอกราบขอโอกาสท่านอาจารย์โปรดเมตตาพิจารณาคำถามดังต่อไปนี้

๑. นักปฏิบัติธรรมถือศีล ๘ ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีพ เมื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาจนจิตสงบตั้งมั่น มีสติระลึกรู้อยู่ภายในเด่นชัด นิ่งเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงขึ้นไป ในตอนต้นของสมาธิมีแต่อุเบกขาเวทนา ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในระหว่างนี้ก็จะพิจารณาอารมณ์ที่เกิดในจิตไปเรื่อยๆ จนเริ่มเกิดมีทุกขเวทนาทางกายขึ้น ก็ไปพิจารณาเวทนาที่เกิดกับกาย จนเห็นว่ากายก็ส่วนกาย จิตก็ส่วนจิต เวทนาก็ส่วนเวทนาไม่เกี่ยวกัน จิตไม่เข้าไปคลุกเคล้ากับเวทนา และเวทนาเบาบางจางคลายลง พยายามสังเกตหาอารมณ์ปฏิฆะ กามราคะที่เกิดในจิตก็มีน้อยลง ใช้เวลาในการนั่งสมาธิ เดินจงกรมเป็นประจำทุกเช้า กลางวัน และกลางคืน ครั้งละ ๒ ชั่วโมงบ้าง หรือเกินกว่า ๒ ชั่วโมงครึ่งบ้าง และพยายามเพิ่มความเพียรมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาที่มี จากสภาวธรรมที่ทรงตัวอยู่เช่นนี้ หากต้องการให้เกิดความก้าวหน้าไปมากกว่านี้ ขอท่านอาจารย์โปรดกรุณาให้คำแนะนำด้วยค่ะ

๒. แม้ว่าเราจะพยายามปฏิบัติภาวนาจนแยกกาย จิต เวทนาได้แล้ว แต่เวลาที่ทำอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นหรือหมู่คณะ เขาอาจจะมองว่าเรามีตัวตนอยู่ แต่เราไม่รู้ตัว หรือไม่มีเจตนาที่จะทำให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าเขา เหนือกว่าเขา เก่งกว่าเขา มีความรู้มากกว่าเขา แต่เป็นไปตามธรรมชาติของเราเองที่ทำอะไรๆ ได้ด้วยความมั่นใจในตนเอง มีความรับผิดชอบสูง ยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น และพร้อมที่จะแก้ไขตนเองหากมีคนแนะนำ โดยไม่ยึดถือว่าความคิดของตนเองเป็นใหญ่กว่า ถูกกว่า ดีกว่า และมักมีความสงสารคนที่อ่อนด้อยกว่า อยากให้ความช่วยเหลือ อยากแนะนำในสิ่งที่ถูกที่ควร เมื่อเห็นเขาทำไม่ถูกหรือไม่รู้ดังนี้เป็นต้น

โดยลักษณะตัวตนอย่างนี้ เกี่ยวข้องกับสักกายทิฏฐิหรือทิฐิมานะที่จะต้องไม่ควรให้เกิดมีในตน หรือให้มีน้อยลงไม่ว่าระดับโสดาบัน สกิทาคามี หรืออนาคามีใช่หรือไม่คะ ขออาจารย์โปรดเมตตาให้ความกระจ่างด้วยค่ะ

๓. ขอแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตให้สูงขึ้น ในการละสังโยชน์ต่อจากโสดาบันสู่สกิทาคามี อนาคามีตามลำดับโดยละเอียดเจ้าค่ะ

๔. การเป็นแม่ชีมักจะต้องถือตน ถือตัวว่าสูงกว่าคนอื่นทั่วไป ชอบให้คนมาเคารพนบนอบว่าเป็นสมณะ เป็นนักบวช เมื่อตนทำอะไรแล้วไม่ชอบให้คนอื่นมาเปลี่ยนแปลงแก้ไข แม้ว่าอาจจะไม่ถูกตา ถูกใจนักก็ตาม และชอบสอนธรรมะคนอื่น เพื่อให้เห็นว่าตนปฏิบัติภาวนามานานจนรู้ธรรมแล้ว เช่นนี้เป็นการยกตนข่มท่าน และยังมีสีลัพพตปรามาสหรือความลูบคลำในศีลหรือไม่เจ้าคะ

หลวงพ่อ : เฮ้อ นี่นะเวลาเขาบอกว่าเขาเอาเทปเราไปแจก สงสัยเอาเทปไปแจก แล้วให้คนอื่นฟัง คนอื่นเขาว่าดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี อันนี้ก็อันหนึ่ง

เราจะบอกว่า นี่เวลาเราปฏิบัติมีการศึกษามาก เห็นไหม มีการศึกษาคือถ้าเป็นนักบวชนะ ได้ฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มา ก็มีความเข้าใจไง ทีนี้พอมันเข้าใจแล้วก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นจริง ถ้าสิ่งนี้เป็นจริงนะ มันอยู่ที่การปฏิบัติไง เพราะอย่างข้อที่ ๑.

ถาม : ๑. นักปฏิบัติธรรมถือศีล ๘ ประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีพ เมื่อปฏิบัติสมาธิภาวนาจนจิตสงบตั้งมั่น มีสติระลึกรู้อยู่ภายในเด่นชัด นิ่งเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงขึ้นไป จนตอนต้นภาวนา จิตมีอุเบกขา ไม่สุข ไม่ทุกข์ ในระหว่างนี้ก็จะมีการพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตเรื่อยไป จนเกิดมีทุกขเวทนาทางกายขึ้น ก็พิจารณาแยกเวทนากับกาย จนเห็นว่ากายส่วนกาย จิตส่วนจิต เวทนาส่วนเวทนาไม่เกี่ยวข้องกัน

หลวงพ่อ : นี่ไงถ้าตรงนี้คิดอย่างนี้ใช่ไหม? แล้วคิดว่าเป็นธรรมๆ

ถาม : จิตไม่เข้าไปคลุกเคล้ากับเวทนา และบางครั้งบางเบาจางคลาย พยายามสังเกตหาอารมณ์ปฏิฆะ

หลวงพ่อ : เวลาอย่างที่ว่านี่พูดบ่อย อย่างเช่นเราเป็นคนโกรธมากเลย แล้วบอกเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติธรรม เดี๋ยวนี้เป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเดี๋ยวนี้ไม่โกรธ (หัวเราะ) แล้วทำไมถึงไม่โกรธล่ะ? ก็เป็นพระอรหันต์ไง แล้วทำอย่างไรล่ะ? อ้าว ไม่เชื่อหรือ? ไม่เชื่อลองแหย่ดูสิไม่โกรธหรอก แหย่อย่างไรก็ไม่โกรธ เพราะอยากเป็นพระอรหันต์ (หัวเราะ)

นี่ก็เหมือนกัน เพราะว่าพิจารณาอารมณ์ที่เป็นปฏิฆะ กามราคะ พิจารณาอย่างไรก็ไม่มี อ้าว ก็จิตมันว่าเราเป็นคนดีใช่ไหมมันก็ไม่มี โอ้โฮ กิเลสมันร้อยสันพันคมนะ กิเลสมันร้อยสันพันคม ฉะนั้น อย่างที่ว่านี่ถ้าโดยหลักใช่ กายส่วนกาย จิตส่วนจิต เวทนาส่วนเวทนา เวลาแยกได้ เราจะบอกว่าการทำสมาธินี่นะมันก็แยกได้ เวลาพุทโธ พุทโธจิตรวม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิมันสักแต่ว่า พอจิตสงบขึ้นมามันดับหมดนะ แม้แต่ตา หู จมูก ลิ้น กายดับเลยนะ คือไม่ได้ยินเสียงเลยล่ะ

อย่างเช่นถ้าเราเป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ ลมพัด เสียงโยมคุยเราได้ยิน แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธจนจิตเราเป็นอัปปนา มันสักแต่ว่ารู้นะจะดับหมด คือให้โยมคุยขนาดไหนก็ไม่ได้ยิน ไม่ได้ยินหรอก อายตนะดับหมด แล้วจิตนี้มันเป็นเอกเทศ มันจะเป็นเอกเทศของมันเลย นี่ขนาดนี้ยังเป็นสมถะนะ ยังเป็นสมาธินะ ฉะนั้น ถ้าอย่างนี้ คำว่าสมาธิคือมันแยกกายแล้วแหละ คือมันปล่อยกาย ถ้ามันไม่ปล่อยกาย หูมันมีใช่ไหม? เสียงกระทบหูมันก็ต้องได้ยินเสียงใช่ไหม? แต่นี้ให้เสียงลมดังขนาดไหน เสียงดังขนาดไหนมันไม่ได้ยินหรอก มันสักแต่ว่ารู้ เพราะมันสงบอยู่

แต่ถ้าพอมันออกจากสมาธิมามันจะคลายตัวออกมา พอมันคลายตัวออกมามันจะรับรู้นะ พอคลายตัวออกมาแล้วรับรู้ อย่างเช่นเราออกมารับรู้สึก รับรู้สึกว่ามีหู มีตา มีจมูก มีลิ้น มีกาย พอมีกาย พอลมพัดมานี่ โอ๋ย หนาว เย็นแล้ว แต่ถ้าก่อนหน้านั้นนะ พอมันพุทโธ พุทโธจนมันเข้าไปสู่ตัวมันนะ นี่จากพุทโธ พุทโธ จนคำว่าพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้เพราะมันกำหนดไม่ได้ พุทโธไม่ได้ เพราะกำหนดพุทโธจิตมันส่งออก ส่งออกไปที่พุทโธ มันนึกพุทโธ ธรรมชาติจิตมันเสวยอารมณ์ อารมณ์คือความรู้สึก ความรู้สึกมันคิดเรื่องแตกต่างไป มันก็บังคับให้จิตนี้คิดเรื่องพุทโธ

พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันกลมกล่อม เอาพุทโธนี่กลมกล่อม แบบว่าปรับปรุงจนจิตมันพุทโธ พุทโธ จนมันเห็นโทษของมัน มันก็วาง พอมันวางมันก็สักแต่ว่ารู้ นี่มันพุทโธไม่ได้เลย ถ้าพุทโธไม่ได้มันก็รับรู้หู ตา จมูก ลิ้น กายไม่ได้ เพราะมันพุทโธไม่ได้ มันหดเข้ามา ถ้าหดเข้ามา ถ้าอย่างนี้จิตมันปล่อยกาย นี่แล้วว่ากายเป็นส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา จิตส่วนจิต มันเป็นอย่างไร? มันเป็นอย่างไร?

นี่เราจะบอกว่า เวลาที่เรารับรู้อารมณ์ เราก็เป็นสัญญาอารมณ์ เราก็คิดของเราไป แต่ถ้าเป็นความจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ ถ้าเป็นอีกอย่าง ถ้าจิตมันเข้าอัปปนาสมาธิเป็นแบบนี้ อย่างที่ว่านี่สักแต่ว่ารู้ รวมใหญ่ สักแต่ว่ารู้ มันยังปล่อยได้เลย กายเป็นกาย จิตเป็นจิต แต่ทุกข์เป็นทุกข์นะ มันยังไม่ปล่อยหรอก แต่มันปล่อยเข้ามา ปล่อยความเสวยมา แต่เดี๋ยวมันก็คลายออกมา คลายออกมามันก็เท่าเก่า เท่าเก่า เราจะบอกว่าโสดาบันเป็นอย่างไรไง

ฉะนั้น ถ้าเราบอกว่ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต โธ่ เวลาเราเพลินๆ เนาะ เราเพลินๆ เหม่อๆ อืม ไม่รู้อะไรเลย นี่มันก็ไม่รับรู้ อ้าว เวลาเพลินๆ อย่างนี้เป็นโสดาบันหรือเปล่า? โสดาบันตาลอยไง โสดาบันตาลอยๆ ต้องเอาเข้าส่งโรงพยาบาล โสดาบันอย่างนั้นน่ะ นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต เป็นอย่างไร? กายเป็นกาย จิตเป็นจิต เวทนาเป็นเวทนา มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ถ้ามีเหตุมีผลของมัน

ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดเพื่อยกขึ้นหรือกดลงนะ แต่จะพูดถึงข้อเท็จจริงไง เพราะว่าอะไรรู้ไหม? โทษนะโทษ ตอนนี้นะรำคาญมากเลย โสดาบันทั้งนั้น ใครมาก็โสดาบัน แล้วออกไปก็โสดาบัน บางทีเราไม่รู้เรื่องนะ เขาบอกเขาเป็นโสดาบัน เราก็งงไง เขาบอก

“อ้าว หลวงพ่องงได้อย่างไร? ก็หลวงพ่อเป็นคนรับประกัน”

“หา! เมื่อไหร่ล่ะ?”

“อ้าว ก็เข้ามาคุยกับหลวงพ่อไง”

แล้วก็พอเขาบอกพิจารณาถูกไหม? หลวงพ่อว่าถูกไง เขาบอกนี่เป็นโสดาบัน ตาย! ก็เอ็งเดินมาวัดกูนี่ถูกไหม? ถูก เอ็งเข้าประตูวัดมา เอ็งเข้ามานั่งอยู่บนศาลา เอ็งมาวัดหรือเปล่า? ใช่ไหม? ใช่ อ้าว ก็เอ็งเข้ามาวัด ก็ใช่ ก็เอ็งเข้ามาวัดกูใช่ไหม? เอ็งบอกเข้าประตูมาถูก นี่มาวัดหลวงพ่อถูกไหม? ถูก ก็นั่งมองหน้ากันอยู่ เอ็งเข้ามาวัดแล้วเอ็งรู้อะไรล่ะ? พอกลับไปเป็นโสดาบันเลยนะ นี่เดี๋ยวนี้ปวดหัว

ฉะนั้น พอพูดอย่างนี้ปั๊บมันเลยได้โอกาสอธิบายไง ว่าอย่างนี้ได้โสดาบันหรือเปล่า? นี่จิตมันคลุกเคล้ากับเวทนา แล้วเวทนาก็จะเบาบางจางคลายลงไป ฉะนั้น พูดถึงอย่างนี้ นี่จางคลายลงไป เห็นไหม

ถาม : จากสภาวธรรมที่ทรงตัวอย่างนี้ หากต้องการให้เกิดความก้าวหน้าไปมากกว่านี้ ขอท่านอาจารย์โปรดกรุณาให้คำแนะนำด้วย

หลวงพ่อ : คำแนะนำใช่ไหม? กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ นี่กายกับจิตมันแยกกัน ทุกส่วนมันแยกกัน แยกกันก็แยกกัน แล้วพอถ้าแยกกันแล้วจิตมันสงบไหม? อ้าว สงบสิ ไม่สงบมันจะแยกได้อย่างไร? เวลาเราไม่สนใจสิ่งใดนะ มันก็จะมีโอกาสตลอด แต่พอจะสนใจทำปั๊บโอกาสนั้นหายทันที สังเกตได้ไหมเวลาใครมาบอก

“อู้ฮู สมาธิอย่างนี้ อู๋ย หลวงพ่อ พิจารณาแล้วนี่ดี๊ดี”

“เออ ถูกต้อง ทำอย่างนี้ต่อไปนะ”

พอไปทำอีกไม่ได้แล้ว ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรนี่มันมาได้นะ แต่พอเรารู้เข้า เราจะเอาเหตุเอาผลขึ้นมามันจับจดแล้ว มันหาทางออกแล้ว ฉะนั้น พอหาทางออก เวลาจิตถ้ามันทำความสงบเข้ามา แล้วถ้าจับต้องได้แล้วพิจารณาซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป คำว่าพิจารณาซ้ำนะ อ้าว กายเป็นกาย กายเป็นกายอย่างไร? มันต้องรู้ว่ากายเป็นกาย ทำอย่างไรถึงเป็นกายล่ะ? แล้วจิตมันเป็นจิต จิตมันแยกอย่างไร? แล้วกายกับจิตแยกจากกัน มันแยกออกมามันเอาอะไรแยก? แล้วแยกแล้วมันรู้ได้อย่างไร?

คำว่าแยกนี่นะมันเป็นวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาญาณมันเฉพาะตนของตน นี่เวลาธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างหนึ่ง เวลาเราบอกว่าเราเป็นๆ อ้าว ก็อปปี้มาก็เป็น ดูสิอย่างสินค้าลอกเลียนแบบ ดูภายนอกสวยกว่าด้วยนะ เขาจะทำให้เนียนเลยนะ แต่คุณภาพใช้ไม่ได้เลย คุณภาพไม่มีเลยล่ะ อันนี้ก็เหมือนกัน ของพระพุทธเจ้า ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของครูบาอาจารย์เรา ท่านทำของท่านมาเป็นความจริง มันคงที่ เป็นความจริงในหัวใจนั้น แต่เราบอกว่า อืม เป็นอย่างนั้นๆ แต่มันไม่เป็นความจริงของเรา

ฉะนั้น

ถาม : ควรทำอย่างไร? ในสภาวธรรมที่มันทรงตัวอยู่เช่นนี้

หลวงพ่อ : ถ้าทรงตัวอยู่เช่นนี้นะ ถ้าทรงตัวอยู่ได้จริงนะ ออกใช้ปัญญาจับให้ได้จริงๆ ถ้าพิจารณากาย ถ้าเวทนา พิจารณาเวทนา ใครเป็นเวทนา? เวทนามันเกิดมาจากไหน? แล้วมันดับมันดับไปไหน? ดับแล้วเหลืออะไร? พอดับแล้วนี่ พูดถึงพิจารณาขันธ์ ๕ หมดเลย มันปล่อยขันธ์ ๕ หมดเลย นี่มันทรงอยู่ ทรงอยู่อย่างไร? พอทรงอยู่ นี่มันปล่อยหมดนะ มันปล่อยหมดเลย นี่ตทังคปหาน ปล่อยหมดแล้วเดี๋ยวมันก็กลับมาเสวยอย่างเดิม ตัดสายน้ำ นี่ตัดแล้วก็กลับมาเหมือนเดิม

ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นอย่างนั้น สายน้ำก็คือสายน้ำ ขันธ์ ๕ เห็นไหม ขันธ์ ๕ นี่ขันธมาร แต่เวลาเป็นพระอรหันต์ขึ้นมามันขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ มันเป็นภาระ มันเป็นขันธ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ ไม่ใช่ขันธมาร แต่ถ้าเราเป็นขันธมาร ถ้าขันธมาร เวลามารมันฉลาดกว่ามันก็หลบไป

ถาม : โปรดกรุณาให้คำแนะนำ

หลวงพ่อ : คำแนะนำ นี่ทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบจริงๆ นะมันจับต้องได้ชัดเจน ถ้าจับต้องชัดเจนแล้วเราพิจารณาซ้ำ ต้องซ้ำ พิจารณาแล้วปล่อย อย่างเช่นเราไปตลาดใช่ไหม? เราไปตลาด จ่ายตลาด จ่ายตลาดเสร็จแล้วก็กลับมาหิ้วคนละตะกร้ากลับบ้านเลย แล้วพรุ่งนี้กินหมดแล้วทำอย่างไรต่อ? ก็ไปจ่ายตลาดอีก ก็ไปจ่ายตลาด อ้าว จ่ายตลาดแล้วต้องไปจ่ายตลาดอีกไหม? ชาตินี้จ่ายตลาดหนเดียวแล้วไม่ไปจ่ายตลาดอีกเลยหรือ?

อ้าว จ่ายตลาดก็ไปจ่ายตลาดทุกวัน นี่ก็ต้องพิจารณาทุกวันไง พิจารณาซ้ำ จ่ายตลาดมาแล้ว ก็ใช้ไปหมดแล้ว เพราะอะไร? เพราะมันเป็นนามธรรม มันหมดไปแล้ว อ้าว ก็จ่ายตลาดอีก ก็พิจารณาซ้ำ พิจารณาซ้ำไป พิจารณาซ้ำจนมันอิ่มหนำสำราญแล้ว นี่เลิกกันซะที ไม่จ่าย.. แล้วตลาดน่ะ เลิกกิน เลิกอยู่แล้ว นี่เดี๋ยวจะรู้ เลิกกินอย่างไร? เลิกอยู่อย่างไร?

นี่เวลามันสมุจเฉทปหานไปแล้วเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะที่ว่ามันพิจารณาแล้ว จ่ายตลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตทังคปหานนะ พิจารณาปล่อยหมด ปล่อยหมดแล้วเหลืออะไร? ปล่อยหมดแล้วเหลืออะไร? ใครเป็นคนปล่อย? ปล่อยอย่างไร? ปล่อยแล้วเหลืออะไร? เวลามันปล่อยนะ เวลากิเลสขาดดั่งแขนขาด ซ้ำนะ ถ้าไม่ซ้ำ ตอนนี้จับจดกันมาก แล้วพอพิจารณากายนะ แยกกายแล้ว

นี่ดีนะยังแยกกาย ดีกว่ากำหนดว่างๆ เออ ว่างๆ อย่างนี้เป็นอนาคามีเหมือนเราเลย เราก็ว่างๆ ตอนนี้ว่างๆ อย่างนี้เยอะมาก เออ ถ้าว่างๆ เป็นอนาคามีนะ ในถุงกูก็อนาคามีเต็มเลย ในถุงกูก็ว่างไม่มีอะไรเลย นี่รวบปากถุงหน่อยเดียว เออ อนาคามีอยู่ในถุง เพราะมันมีแต่อากาศ เฮ้อ! มันสำคัญที่ผู้นำ ถ้าผู้นำไม่เป็นจะแนะนำเขาอย่างไร? อ้าว บอกความว่าง อ้าว ความว่าง ในถุงก็ว่าง นี่ไงอนาคามี อ้าว บอกมาสิว่าอนาคามีแท้มันอย่างไร? อ้าว ทำไม? ก็มันเป็นความว่างเหมือนกัน

อ้าว ว่างนี้มันเป็นว่างโลกๆ ว่างอากาศ ความว่างมันว่างจากทิฐิมานะ มันว่าง มันสูญจากกิเลส มันทำลายกิเลสความยึดมั่นถือมั่น มันทำลายอนุสัย ไอ้สิ่งที่จิตใต้สำนึก ไอ้ที่มันฝังมาในหัวใจ ไอ้ที่ความคิดมันอาศัยสิ่งนี้ก่อกำเนิด ทำไมมึงไม่รู้จักมันหรือ? ถ้ามึงไม่รู้จักมันเป็นโสดาบันอย่างไรวะ? เออ มึงจะเป็นโสดาบันมึงก็ต้องรู้จักเนาะ เออ เชื้อโรคมาจากไหน? แล้วมึงใช้ยาอะไร? แล้วพอใช้ยาเสร็จแล้วโรคมันหายอย่างไร? อ้าว โรคมันหายแล้วมันก็ได้จบ นี่ซ้ำนะ

ถาม : ถ้าจิตเป็นอย่างนี้ ถ้าสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ ขอท่านอาจารย์กรุณาบอกด้วย กรุณาชี้แจงด้วย แนะนำด้วย

หลวงพ่อ : แนะนำแล้วเนาะ ซ้ำ ให้ซ้ำไป

ถาม : ๒. แม้ว่าเราจะสามารถปฏิบัติภาวนาจนแยกกาย จิต เวทนาได้แล้ว แต่เวลาที่ทำอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่นหรือหมู่คณะ

หลวงพ่อ : นี่แค่นี้เราก็สงสัยแล้วล่ะ ถ้าเป็นโสดาบันนะมันจะไม่แคร์ใครเลย จริงๆ นะ เป็นโสดาบันมันจะไม่แคร์ใครเลย ไม่แคร์ใครเพราะอะไร? เราเป็นผู้ใหญ่ที่เราทำงานจนเกษียณตัวเองแล้ว แล้วเด็กที่มันทำงานอยู่ เราจะไปตื่นเต้นกับตำแหน่งหน้าที่การงานที่เราเกษียณมาแล้วไหม?

เราทำงานในองค์กรนี้ แล้วจนเราเป็นผู้อำนวยการองค์กร แล้วเราก็เกษียณตัวมาแล้ว แล้วเรามองเข้าไปในองค์กรนั้นเราสงสัยไหม? เราสงสัยในองค์กรที่เราเกษียณตัวเราเองมาไหม? ไม่สงสัย ถ้าไม่สงสัยแล้ว ไอ้คนที่มันทำงานกันอยู่นั่น เขาจะติ เขาจะเตียน เขาจะว่า เอ็งไปตื่นเต้นอะไรกับเขา? นี่ไงถ้าเป็นโสดาบันแล้วมันมีตรงนี้ไง มันมีที่ว่าเรารู้รอบชิดหมดแล้ว

นี่ไงเขาบอกว่า พอมันแยกแล้วเขาบอกว่ามันมีตัวตนไง เขาอาจจะมองว่าเรามีตัวตนอยู่ เรามีเจตนายกตนดีกว่าเขา เราสำคัญว่าเหนือกว่าเขา เก่งกว่าเขาอะไรเนี่ย เราผ่านองค์กรนั้นมาแล้ว เราทำมาทุกอย่างแล้ว แล้วเราเกษียณแล้ว คือเราหมดภาระรับผิดชอบหมดแล้ว ต่อไปนี้เป็นผู้ที่เขามีตำแหน่งหน้าที่การงาน เขาต้องรับผิดชอบองค์กรนั้นของเขาต่อไป เราได้เกษียณตัวเราออกมาแล้ว เราจะไปตื่นเต้นกับองค์กรนั้นอะไรอีก?

นี่ไงโสดาบัน ในเมื่อเราละสักกายทิฏฐิแล้ว เรารู้ทุกอย่างหมดแล้ว เขาจะมาติ มาเตียน เขาจะมาดูแลเรา ไปตื่นอะไร? เอ็งยังห่วงองค์กรนั้นอยู่หรือ? เอ็งจะกลับไปรับผิดชอบอีกหรือ? นี่ถ้ามันผ่านแล้วมันก็จบ ถ้ามันจบแล้ว นี่เขาว่าเราดีกว่าเขา สูงกว่าเขา อ้าว เขาทำไม่เป็น เราทำเป็นเราก็ดีกว่าเขา (หัวเราะ) อ้าว เขาว่าเหนือเขา อ้าว ก็เขาไม่รู้แล้วเรารู้ เราก็เหนือกว่าเขา เราเก่งกว่าเขา เก่งกว่าเขาเพราะกูพิจารณาจบ มึงพิจารณาไม่จบ เก่งก็เก่ง ก็เก่งจริงๆ น่ะทำไม? อ้าว แล้วเก่งแล้วมันผิดตรงไหนล่ะ?

ถ้ามันรู้แล้วคือมันไม่สงสัยไง คือถ้าเราเป็นจริงนะเราจะไม่สงสัย ไม่วูบวาบ ไม่มีอารมณ์กระทบกระเทือนไปกับเขา นี่คือโสดาบันจริงๆ แต่นี้โสดาบัน กลัวเขาจะไม่ยอมรับว่าเป็นโสดาบัน นี่มันยุ่ง องค์กรนี้ของกูนะ กูจะบริหาร ก็เกษียณไปแล้วยังมายึดอะไรอีก? เข้าไปแล้ว ยังดีเขาไม่ดันออกมา นี่ที่เขียนมามันแปลกไง มันแปลกที่ว่าทำไมเราไปคิดอย่างนั้น? แล้วถ้ามันเป็นจริงนะ ถ้ามันไม่เป็นจริงเราก็รักษาตัวเรา ถ้าเราจะปฏิบัติอยู่ใช่ไหม?

นี่โดยลักษณะตัวตนที่ว่า

ถาม : โดยลักษณะตัวตนอย่างนี้มันเกี่ยวข้องกับสักกายทิฏฐิไหม? ทิฐิมานะควรให้น้อยลงเป็นระดับ อย่างเช่นโสดาบัน สกิทาคามี หรืออนาคามีใช่หรือไม่?

หลวงพ่อ : ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันไม่ใช่มัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลยล่ะ ฉะนั้น กรณีอย่างนี้เราปฏิบัติธรรมเพื่อลด เพื่อละไง แล้วลดละที่ไหน? ลดละที่ใจเรา ลดละที่ใจเรา ถ้าเรารู้แล้วนะปัจจัตตัง มือเรานี่นะไม่มีบาดแผลเลย จะทำอะไรเต็มไม้เต็มมือนะ มือเรามีแผลนิดเดียว ขนาดน้ำเกลือก็ไม่ให้ลงแล้ว น้ำสกปรกก็กลัวแล้ว ลงไปแสบหมดมือนี่ แต่ถ้ามือนี้ไม่มีแผลเลย โอ้โฮ จะทำอะไรก็ได้ นี่ไง ถ้าเป็นจริงนะเราทำตามความเป็นจริงของเรา ถ้ามันเป็นจริงแล้วก็คือเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่ สิ่งที่เป็นทิฐิมานะอะไรนี่ยังอีกเยอะนัก ฉะนั้น ทิฐิมานะมันเป็นชั้นเป็นตอนของมัน เราไม่พูดถึงสกิทาคามี อนาคามีเลย เอาโสดาบันนี้ให้ได้ ถ้าโสดาบันได้นะ ละสักกายทิฏฐิ ทิฐิความยึดมั่นถือมั่นของใจ ตัวตนนี่จบแล้ว พอจบแล้วนะ เป็นโสดาบันเท่านั้นแหละ โอ้โฮ มันจะเมตตานะ เป็นโสดาบันจะรู้เข้าใจเรื่องชีวิต เข้าใจเรื่องโลก เข้าใจเกิดดับ โอ้โฮ มันจะเป็นอีกคนหนึ่งเลยล่ะ แต่นี่เห็นโสดาบัน อู้ฮู โทษนะ เห็นโสดาบันตอนนี้เหมือนหมาบ้า เที่ยวเห่า โสดาบันๆ โอ้โฮ มึงจะบ้า หมามันเห่าโฮ่งๆ ไอ้นี่โสดาบันๆ โอ๋ย เห่าใหญ่เลย โสดาบันอะไรอย่างกับหมาบ้า เห่าไปทั่ว

ถาม : ๓. ขอแนวทางปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตให้สูงขึ้นในการละสังโยชน์ต่อจากโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี ตามลำดับ

หลวงพ่อ : โสดาบัน เวลาโสดาบันพิจารณากายนะ อย่างเช่นหลวงปู่คำดี หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่ฝั้น ท่านพิจารณากาย พิจารณากาย พิจารณากายจนสิ้นเป็นพระอรหันต์ไป อย่างเช่นหลวงตาท่านพิจารณาเวทนา อันแรกพิจารณาเวทนา อันที่ ๒ ท่านพิจารณาธาตุ ๔ กับพิจารณากาย แล้วอันที่ ๓ ท่านพิจารณาอสุภะ แล้วพออันสุดท้ายท่านกลับไปพิจารณาจิต นี่เวลาครูบาอาจารย์บางองค์ท่านมหัศจรรย์ แต่ส่วนใหญ่แล้วนะถ้าแนวทาง อย่างเช่นครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ท่านพิจารณากาย พิจารณากายต่อเนื่องกันไป แต่น้อยองค์มากที่จะพิจารณานามธรรม

แม้แต่ความรู้สึกเรา พิจารณากายใช้จิตพิจารณา ขนาดกายนี่นะมันเป็นรูปธรรมยังจับต้องได้ยากมากเลย แล้วเอาจิตพิจารณานามธรรมมันละเอียดกว่านะ แต่คนถ้าพิจารณานามธรรม ส่วนใหญ่แล้วจะเทศนาว่าการได้แตกฉาน เพราะอะไร? เพราะการพิจารณาคือการฝึกหัดใช้ปัญญา อย่างเช่นเราฝึกหัด เราใช้ปัญญาพิจารณานามธรรม พิจารณานามธรรมมันใช้ปัญญาจับต้องแล้วแยกแยะ ปัญญามันกว้างขวางไง แต่ถ้าพิจารณากาย กายนี้เป็นรูปธรรม แล้วจับอย่างนี้มันพิจารณาไป ส่วนใหญ่พวกนี้มีฤทธิ์ มีรู้ทางใจได้ดีมาก แต่การเปรียบเทียบทางธรรมมันไม่ค่อยถนัด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : เวลาพิจารณา เวลาปฏิบัติที่จะละไปสู่สกิทาคามี อนาคามี มันจะทำแนวทางไหน? นี่ตามลำดับละเอียดขึ้นไป

หลวงพ่อ : ละเอียดขึ้นไปถ้าพิจารณากายนะ พิจารณากายครั้งแรก พิจารณากายจนเป็นไตรลักษณ์ เห็นไหม มันละสักกายทิฏฐิเป็นโสดาบัน แล้วพอจิตละเอียดเข้าไปก็จับอีก ได้กายอีก พิจารณากายซ้ำ แต่มันไม่ใช่กายของโสดาบันแล้ว มันเป็นกายของสกิทาคามี เพราะว่าอะไร? เพราะโจทย์ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล ถ้าเป็นสกิทาคามิมรรค กับโสดาปัตติมรรคมันแตกต่างกัน แตกต่างกัน คือกายมันละเอียด หยาบแตกต่างกัน

ถ้าแตกต่างกัน ถ้าเป็นสกิทาคามิมรรค เห็นไหม ถ้าได้ จับกายได้สกิทาคามิมรรค พิจารณาไปแล้วมันจะสู่สภาวะเดิมของมัน คือมันจะแยกออกเป็นธาตุ แล้วถ้าพิจารณาซ้ำเป็นอนาคามิมรรค อนาคามิมรรคมันจับกาย แต่กายนี้เป็นอสุภะแล้ว อสุภะมันจะไปละกามราคะ ถ้าอสุภะมันละเอียดขนาดไหน? ถ้าอสุภะนะ แล้วพิจารณากายขั้นสุดท้าย ที่ว่าจิต รูปที่เป็นกายอันละเอียดอย่างไร?

นี่พูดถึงเขาบอกว่า

ถาม : แล้วจะพิจารณาระดับขั้นโดยละเอียดขึ้นไปได้อย่างไร? (นี่คำถามเขานะ)

หลวงพ่อ : อืม ก็ตอบไม่ถูกเหมือนกันเพราะไม่เคยทำ แล้วทำอย่างไรล่ะ? ทำอย่างไร? จะบอกว่ามันเป็นจริตนิสัยของแต่ละบุคคล ถ้าพอเป็นอย่างนั้นๆ เพียงแต่ว่าถ้ามันมีโจทย์สิ ถ้ามีโจทย์ มีผู้ที่ติดข้อง เหมือนหมอนี่แหละ มีผู้ป่วยมาสิ มีผู้ป่วยจะรักษาเอง ไอ้นี่มันไม่มีผู้ป่วย ให้สมมุติผู้ป่วยขึ้นมา แล้วให้รักษาพร้อมนะ เออ (หัวเราะ) นี่ลำดับขั้นขึ้นมาสิ ก็ต้องสมมุติผู้ป่วย นี่ผู้ป่วยสมมุติ แล้วก็รักษาผู้ป่วยโดยสมมุติ เออ แล้วก็หาย อ้าว ก็มันไม่ป่วยตั้งแต่แรก มันสมมุติว่าเป็นผู้ป่วย แล้วมันรักษาก็ง่ายๆ น่ะสิ แต่ถ้าป่วยจริงๆ นะ

ถาม : ๔. การเป็นแม่ชีมักจะถือตัวตน ถือตัวว่ามีศีลที่สูงกว่าเขา ชอบให้คนมาเคารพนบนอบ

หลวงพ่อ : ไอ้นี่คือมานะ ๙ นั่นแหละ เราเรียกว่าอะไรนะ “ลาภสักการะ” คำว่าสักการะ ทุกคนต้องการสักการะ เหมือนกับทางจิตวิทยา ทางจิตวิทยา ตัวสุดท้ายต้องการให้คนยอมรับไง ต้องการให้คนยอมรับนับถือ ต้องการต่างๆ จิตวิทยา สุดท้ายแล้วการยอมรับ ไอ้นี่ก็เหมือนกัน ก็คือการยอมรับ นี่ถ้าเป็นทางพระว่าอะไรนะ สักการะ ลาภสักการะ อยากได้ลาภด้วย อยากได้สักการะด้วย ลาภก็อยากได้ ยังอยากให้คนเคารพนับถืออีก โอ้โฮ จะบ้า คนเดียวก็พะรุงพะรังพออยู่แล้ว มันยังจะบ้าได้ขนาดนั้นเนาะ

นี่มันเป็นกิเลสโดยธรรมดา กิเลสชัดๆ นี่แหละ ลาภสักการะ อยากให้คนสักการะนับถือ เชื่อเขา ตัวเองยังเชื่อตัวเองไม่ได้ ถ้าตัวเองเชื่อตัวเองได้นะ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก เอาพระปุณณมันตานีบุตร เอาหลานมาบวชองค์เดียว แล้วไปอยู่ในป่าตลอดชีวิตเลย เป็นสงฆ์องค์แรกนะ นี่รองพระพุทธเจ้าเลย เพราะเป็นสงฆ์องค์แรก แล้วเวลาไปอยู่ในป่า ในป่าตลอดชีวิตเลย ไปอยู่ในป่าจนวันมาลาพระพุทธเจ้านิพพานนั่นล่ะ

นี่เวลามันเป็นจริงจังแล้ว อยู่ที่ไหนมันก็มีความสุข มันไม่ต้องการอะไร ทีนี้ไอ้นี่ต้องการให้เขาสักการะ ต้องการให้คนนบนอบนับถือ โอ้โฮ มันก็เบลอเลยล่ะ ฉะนั้น ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องของกิเลสโดยข้อเท็จจริงของมัน ไอ้ของอย่างนี้มันต้องให้ทุกคนรู้ด้วยตัวเขาเอง ถ้าเขารู้ตัวเขาเอง เขาจะแก้ไขตัวเขาเอง แล้วหน้าที่ของเราเราก็ปฏิบัติ เว้นไว้แต่เราต้องอยู่กับเขาเนาะ เราต้องอยู่ในสังคมอย่างนี้เราก็หลบหลีกเอานะ

ในสังคมน่ะ อารมณ์เรายังแปรปรวนเลย แล้วสังคมมันก็แปรปรวน เห็นไหม โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ มีลาภเสื่อมลาภ สรรเสริญกับนินทา เวลาเขาชม เขาสรรเสริญ แหม ดีใจ เวลาเขานินทานี่เจ๊บเจ็บ แล้วมันก็อยู่อย่างนี้ตลอดไป เรารักษาใจเรา สรรเสริญ นินทามันของคู่กัน มีลาภเสื่อมลาภ มีทุกข์เสื่อมทุกข์ นี่มันของคู่ โลกธรรม ๘ มันมีอยู่แล้ว ฉะนั้น ถ้าเราต้องอยู่สังคมอย่างนั้น เวลาถ้าเขาสรรเสริญมาเราก็ เออ ลมพัดมา เวลาเขานินทามาก็ เออ ลมพัดมา แล้วเรารักษาใจเรา ถ้าเราอยู่ในสังคมนะ เว้นไว้ถ้าอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวเรารักษาใจเรา ถ้าอยู่ในสังคมเราต้องรักษาใจเราด้วย เพราะเราอยู่ในสังคมนั้น

ฉะนั้น เวลานักบวชเขาต้องสับหลีกๆ เขาเปลี่ยนสถานที่ เขาเปลี่ยนต่างๆ เพื่อจะไม่ให้สภาวะแวดล้อมบีบคั้นเรา นี่ไปอยู่ที่ไหน ถ้าที่ไหนมันสดชื่น ที่ไหนมันตื่นตัวดี อยู่ ๗ วัน ๘ วัน อยู่ ๑๐ วัน แล้วย้ายที่ไปเรื่อยๆ เพื่อให้มันตื่นตัวตลอด มันจะได้ภาวนาตลอดไง เพราะภาวนาแล้วเราจะได้พ้นจากทุกข์เสียที เราจะไม่ต้องมาทุกข์ยากกับเขาอย่างนี้ ถ้าทุกข์กับเขาอย่างนี้มันก็ทุกข์ตลอดไปเนาะ เอวัง