เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
อันนั้นพูดเป็นโลก อันนี้พูดเป็นธรรม เป็นโลกหมายถึงว่า ทางวิชาการเราต้องเข้าใจได้ เป็นธรรมนะ วิชาการ เห็นไหม หลวงตาบอกว่า ถ้าหัวใจมันดี หยิบฉวยสิ่งใดสิ่งนั้นเป็นความดีไปหมด ถ้าหัวใจมันไม่ดี ให้เป็นทองคำ ให้เป็นขนาดไหนมันก็ไม่ดี ไม่ดีเพราะหัวใจของเรา
อย่างเช่นสิ่งที่เราจับต้องไปที่ความไม่รู้ของเรา นี่เราไม่รู้ สิ่งนั้นไม่ดีหมดเลย แต่ถ้ามารู้เรื่องหัวใจแล้ว เห็นไหม วิชาการทุกสาขา ทุกวิชาการ อันนั้นเป็นวิชาชีพ เป็นความรู้ของเราแขนงหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ นั่นก็เป็นวิชาการเหมือนกัน ถ้าเรารู้ เข้าใจของเราหมดแล้วไง ถ้าใจเราเข้าใจหมดแล้ว มันไม่มีภวาสวะ
คำว่าไม่มีภวาสวะนะ คำว่าจิต คำว่าจิตนี่นะ ถ้ามันมีสถานที่ มีภวาสวะ มีภพ นี่จิตปฏิสนธิจิต มันเวียนตายเวียนเกิด พระอรหันต์ต้องทำลายภพ ถ้าทำลายภพแล้ว ทำลายภพมันไม่มีสถานที่ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีสิทธิใดๆ เห็นไหม หลวงตาถึงบอกว่า จิตใจที่พ้นแล้ว ถ้าจิตใจของเรา จิตมันเหมือนกับกำแพง สิ่งใดพัดมามันจะปะทะกำแพง เพราะเรามีภวาสวะ เรามีภพ เรามีความรับรู้ มันต้องมาชนเราแน่นอน มันต้องมีความกระเทือนแน่นอน แต่ถ้ามันไม่มีภวาสวะ มันพบนี่มันผ่านหมด เห็นไหม มันไม่มีสิ่งใดปะทะเลย เพราะมันไม่มีกำแพง
คำว่ากำแพงอันนั้น เห็นไหม นี่เวลาเราบอกว่าจิต จิตของเรามันต้องมี ถ้าคำว่าจิตนะ เวลาสงบ สัมมาสมาธิคือจิต เพราะอะไร? เพราะฐีติจิตเข้าไปสู่ข้อมูลเดิมต่างๆ มันต้องมีจิตก่อน มีจิตหมายถึงว่าปุถุชนเรา แม้แต่พระอนาคามียังมีเลย เพราะมีภวาสวะ มีภพ พระอรหันต์เท่านั้นถึงไม่มีจิต คือไม่มีภพ ถ้าทำลายภพแล้วมันถึงไม่มีภพ ถ้าคำว่าไม่มีภพนะ นั้นเป็นเรื่องทางวิชาการ ถ้าเรารู้ทางวิชาการ แต่เราไม่เห็นมัน ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่ เพราะปฏิบัติไปแล้วมันไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นความจริง ไม่เป็นความจริงไง
นี่ยิ่งทำยิ่งโง่นะ โง่เพราะอะไร? โอ๊ย มันว่างๆ ว่างๆ อะไรว่างๆ แต่ถ้าเราทำนะ เราจะว่าง ใครเป็นคนว่าง? นี่เวลาจิตของเรามันคลุกเคล้ากับอารมณ์ เห็นไหม พอมันคลุกเคล้าอารมณ์ มันก็ทำให้เราฟุ้งซ่าน ทำให้เราทุกข์ยาก ถ้าเราจัดกระบวนการความคิด เราแยกจิตออกจากอารมณ์ แยกจิตออกจากความรู้สึกนึกคิด มันก็แยกออกจากกัน แยกออกมาพักไว้ แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ?
มันก็เหมือนเงิน เงินเราเอามาจับจ่ายใช้สอย เราก็ได้ประโยชน์ตอบแทนมา เราจะทำของเรา เราก็เอาเงินของเราเข้าตู้เซฟไว้ เอาเงินเราเก็บเข้าที่ของเรา คือพยายามพุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิให้จิตมันปล่อยวางความคลุกเคล้ากับอารมณ์นั้น ถ้าความคลุกเคล้ากับอารมณ์นั้นมันก็เป็นตัวของมัน ถ้าเป็นตัวของมันมันก็เข้ามาสู่รากฐานของมัน
นี่รากฐานของมันนะ นี่จิตตัวสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินั่นล่ะคือตอของจิตเลยล่ะ นี่เวลาว่างๆ ก็บอกว่าปฏิบัติแล้วว่าง มีความสบายมาก สบายอย่างไรต่อไป? นี่ก็บอกจิตเรามันไปคลุกเคล้ากับความคิด แล้วเราก็ดูแลจิตเราให้กลับมาสู่ที่ตั้ง เท่านั้นเอง นิพพานกันแล้ว สิ้นกิเลสกันไปแล้ว นี่ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่ แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม พอจิตมันกลับมานะ ทำความสงบของใจก่อน แค่ทำความสงบของใจก่อน ก็นี่จิตกลับมาที่ตั้ง จิตมันกลับมาสู่จิต อารมณ์ก็วางไว้ วางอารมณ์ไว้ เพราะจิตมันเสวยอารมณ์
นี่ไงที่บอกดูจิตๆ จนจิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตมันกลับมาสู่ที่ตั้งแล้วมันเห็นอารมณ์ เห็นสิ่งที่มันคลุกเคล้า คลุกเคล้ามันคืออะไรล่ะ? ขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูป อารมณ์ความรู้สึกนี่รูปอันหนึ่ง เห็นไหม ที่ว่าเวลามีความคิดหนึ่งก็เกิดชาติหนึ่ง อารมณ์เกิดก็เกิดชาติหนึ่ง ความคิดเกิดก็เกิดชาติหนึ่ง เกิดตามความคิดนะ เกิดตามความคิดในอารมณ์ความรู้สึก แต่เวลาตายไป เวลาในวัฏฏะ เวลาจิตเคลื่อนออกจากร่างนี้มันไปเกิดใหม่ เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม นี่เกิดในวัฏฏะ
เกิดในวัฏฏะคือเกิดสถานะมนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน นี่เกิดในวัฏฏะ แต่เวลาธรรมมันเกิด เห็นไหม เวลาธรรมมันเกิด สภาวะที่มันเร็วมาก นี่ธรรมมันเกิด แล้วพอสติมันทันนะ บอกว่าความคิดเร็วมาก นี่ความคิดเร็วกว่าแสง แต่สติมันยับยั้งได้หมดเลย สติมันทันหมด สติมันยับยั้งให้อยู่กับมันได้ ถ้าอยู่กับมันได้ เห็นไหม สติยับยั้งมันได้
นี่ไงสิ่งทางวิชาการ ถ้าทางวิชาการ ถ้ามันรู้นะ ถ้าทางวิชาการเรารู้แล้วนะ แต่เรายังจับไม่ได้ ยิ่งปฏิบัติก็เอาวิชาการมาอ้างไง เป็นอย่างนั้นๆ ธรรมะเป็นอย่างนั้น อู้ฮู พูดร้อยแปดพันเก้าเลย นกขุนทองไง มันพูดได้หมดแหละ แต่มันไม่รู้ความหมายเลย นกขุนทองไปสื่อกับมันมันก็รู้นะ แต่มันไม่รู้ความหมาย แต่คนรู้ คนเราพูดคำไหน เราก็จะรู้ว่าคำนั้นมันมีความหมายว่าอย่างไร แต่ถ้ามันเป็นทางวิชาที่ลึกซึ้งเราก็รู้ได้แค่ศัพท์ เราพูดได้ แต่เราไม่รู้ความหมาย
นี่พูดถึงทางโลกนะ แต่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วมันลึกลับมากนะ คนเวลาเอ๊อะ เอ๊อะเลยนะ โอ้โฮ โอ้โฮ นี่ถึงบอกว่าเวลาใครปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติมาทุกคนจะพูดว่า อู้ฮู จิตนี้มันมหัศจรรย์มาก จิตนี้มันเร็วมาก โอ๋ย ความคิดนี้มันเร็วมาก อู๋ย เร็วมาก อู๋ย ยิ่งมีปัญญาขึ้นมา ละเอียดมากๆ นี่มันยังหยาบๆ อยู่นะ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียดไง คำว่ามรรคหยาบ เห็นไหม มรรคหยาบคือโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรคละเอียดกว่านั้นอีก ปัญญาที่ละเอียดกว่านั้นนะ ละเอียดจนแบบว่ามนุษย์แทบจะทำไม่ได้เลย แต่ได้
ฉะนั้น อย่างนี้ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงทอดธุระไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว จะสอนได้อย่างไรหนอ? จะพูดกันให้ความเข้าใจได้อย่างไร? มันจะพูดให้คนเข้าใจได้อย่างไร? แต่เวลาถ้าประพฤติปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม พอเล็งญาณ นี่ได้ คนที่สร้างคุณงามความดีมา สังเกตได้ไหมทำไมคนมีปฏิภาณไหวพริบ บางคนอย่างกับเรือเกลือ เข็นเท่าไหร่มันก็ไม่ไป บางคนปัญญานี่ไปพั่บๆ พั่บๆ นี่ไงสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิด ปฏิภาณไหวพริบ นี่สิ่งที่ทำได้ ปฏิบัติได้ ถ้ามันทำได้ ปฏิบัติได้ มันก็เป็นประโยชน์ได้
สิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เห็นไหม เรามีการกระทำ ถ้ามีการกระทำ ไม่ใช่ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่ ปฏิบัติไปแล้วว่างๆ ไปหมด นี่มันเป็นมิจฉานะ มันไม่มีสติสัมปชัญญะ ถ้ามีสตินะพอมันละเอียดเข้าไปขนาดไหน เวลามันคลายตัวออกมามันก็รู้ เข้าไปอัปปนาสมาธินะ อัปปนาเลยนะ เข้าไปนี่รวมใหญ่เลยนะ นิ่งสักแต่ว่ารู้เลย มีความสุขนะ แหม มันเป็นความมหัศจรรย์ นี่ความมหัศจรรย์มากนะ แต่เวลามันคลายตัวออกมา อย่างเช่นเราเป็นเหน็บชา พอเราหายจากเหน็บชาเราก็ควบคุมอวัยวะเราได้ใช่ไหม? พอเราเป็นเหน็บชามันควบคุมอวัยวะได้ไหม? มันชาหมดเลย
จิตเวลามันเข้าถึงอัปปนาสมาธิมันเป็นสักแต่ว่ารู้ มันทำอะไรไม่ได้ เวลามันคลายออกมาเราก็รับรู้ อืม พอรับรู้ขึ้นมา พอมันออกใช้ปัญญา นี่อุปจารสมาธิ อุปจาระหมายถึงว่ามันมีวงรอบ รู้ของมัน จิตมันเป็นตัวของมันใช่ไหม? มันยังรู้อาการของมันข้างนอก อาการกระทบที่ว่าจิตคลุกเคล้ากับอารมณ์นี่ไง จิตมันคลุกเคล้ากับอารมณ์ คลุกเคล้ากับความรู้สึกนึกคิดไปหมดเลย สรรพสิ่งเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา พอวางแล้วนะ โอ้โฮ พระอรหันต์ แต่ถ้าเวลาจิตมันสงบเข้าไปมันเป็นอุปจาระ อุปจาระคือมันมีวงรอบ มันมีการกระทบ
นี่พลังงาน เห็นไหม พลังงานคือตัวจิต แล้วมันกระทบกับความรู้สึกนึกคิด จิตเห็นอาการของจิต ถ้าจิตเห็นอาการของจิต นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้ ปัญญาเกิดตรงนี้ นี่วิปัสสนาที่ปัญญาจะเกิด เกิดตรงนี้ ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นอาการของมัน เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม นี่ไงเห็นอาการ เห็นความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดคือธรรมารมณ์ อารมณ์ไง ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เป็นธรรม ถ้ามีสติปัญญาเป็นธรรมนะ เป็นธรรมเพราะอะไร? เพราะมันจะเป็นเศรษฐี มันจะเอาอารมณ์มัน เอาอารมณ์ขันธ์ ๕ มาพิจารณา มาแยก มาแยะ นี่ใช้ปัญญาใคร่ครวญ
คำว่าเศรษฐีคือมันปล่อยวางได้ไง เศรษฐีธรรม มันจะเป็นเศรษฐี ถ้ามันเห็นอารมณ์มัน มันจับต้องอารมณ์มันได้มันจะเป็นเศรษฐี แต่ถ้าเป็นปุถุชนนะ มันจะเป็นทุคตะเข็ญใจ ทุคตะเข็ญใจที่อารมณ์มันเหยียบย่ำตัวไง อารมณ์มันบีบคั้นหัวใจใช่ไหม? พอมันคลุกเคล้าอารมณ์มันก็ใหญ่กว่าหัวใจ เวลามันมีความโกรธ มีความหลง มีความคาดคั้น มีการบีบคั้นหัวใจ อู้ฮู นี่ไงจะเป็นทุคตะเข็ญใจ อารมณ์ความรู้สึกมันบีบคั้น มันบีบคั้น แต่เราปฏิบัติของเรา พอปฏิบัติของเรามันแยกแยะ มันไม่คลุกเคล้าอารมณ์ มันแยกออกมา
พอแยกออกมาเป็นอุปจารสมาธิ เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แต่ แต่ถ้าไม่เห็น ไม่เห็นมันพิจารณาไม่ได้ มันก็มีเงินไง มันมีต้นทุน มันมีความสงบระงับ แต่ทำงานไม่เป็นไง ทำงานไม่ได้ ทำงานไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่เห็นสติปัฏฐาน ๔ ไม่เห็นตามความเป็นจริง แต่จิตเห็นอาการของจิต นี่ไงจิตเห็นอาการของจิต คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด คิดเท่าไหร่ไม่รู้หรอก คิดแล้วมันคลุกเคล้ากับอารมณ์ นี่มันคลุกเคล้าไปหมดเลย มันเป็นทุคตะเข็ญใจ อารมณ์มันเหยียบย่ำเต็มที่เลย นี่คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ คิดเท่าไหร่ไม่รู้หรอก คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ ยิ่งคิดยิ่งบีบคั้น
คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด
เวลาใช้ความคิด นี่ไง นี่ถ้าบอกว่าห้ามคิดๆ ไอ้พวกนั้นภาวนาไม่เป็น มันเป็นไปไม่ได้ที่บอกว่าห้ามคิดแล้วมันเป็นมรรค มันเป็นไปไม่ได้ โลกนี้ไม่มี บอกคนตาบอดจะเป็นผู้ที่หูตาสว่าง คนตาบอดจะเห็นโลกธาตุไปหมดเลย คนตาบอดมันจะรู้ว่าอะไรถูกผิดไปหมดเลย เออ มันก็แปลกนะ ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่ ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่นะ มันรู้ไปหมดเลย แล้วมันจริงไหมล่ะ? คนจะรู้จะเห็นมันต้องเปิดตาก่อน จากคนเราไม่มีตานะก็ต้องไปหาหมอ คิดดูสิเวลาคนเกิดมาพิการ ไปถึงนะ เดี๋ยวนี้เขาต้องพยายามนะ เทคโนโลยีเขาจะผ่า เขาต้องฟื้นความเห็นของเรามาให้ได้ก่อน ฟื้นความรู้สึกนึกคิด ฟื้นความเห็นมาให้ได้
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ นี่มันคลุกเคล้าอยู่อย่างนั้นแหละ ต้องหยุด หยุดกลับมา เห็นไหม เครื่องยนต์ เราจะซ่อมเครื่องยนต์เราซ่อมไม่ได้หรอก เราต้องดับเครื่อง ถ้าดับเครื่องแล้ว เราจะผ่าเครื่อง เราจะเอาสิ่งใดมาซ่อม เราจะเปลี่ยนอะไหล่ชิ้นใดก็ได้ แต่ถ้าเครื่องยนต์มันยังหมุนอยู่ เราบอกว่าเราจะเปลี่ยนลูกสูบ อืม ลองเปลี่ยนให้ดูซิ ลองเปลี่ยนให้ดู กูขอดูซิเปลี่ยนลูกสูบอย่างไร?
นี่บอกห้ามคิดๆ มันเป็นเอง มันเป็นเอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่นะ แต่ถ้าเราจะซ่อมเครื่องยนต์ของเรานะ ดับเครื่อง ถึงมันจะเสียเวลา ถ้าเครื่องยนต์มันติดอยู่ มันทำอุตสาหกรรม มันมีการผลิตอยู่เราจะได้ประโยชน์มาก แต่เครื่องยนต์มันก็ต้องมีการบำรุงรักษา มันก็ต้องซ่อมแซมของมันเหมือนกัน หยุดซ่อมเครื่องยนต์ หยุดซ่อมเครื่องยนต์เพื่อจะกลับมาฟื้นฟูการผลิตใหม่
จิตใจถ้าไม่รู้จักพัก ไม่รู้จักผ่อน ไม่รู้จักทำความสงบของใจ แล้วบอกว่าทำแล้วมันจะได้ประโยชน์ ได้ผลๆ โรงงานอุตสาหกรรม ถ้าไม่มีการบำรุงรักษา มันจะอยู่ได้แค่อายุขัยของมัน นี่เครื่องยนต์พอหมดอายุขัยมันก็เสีย มันก็เป็นเรื่องธรรมดา จิตของเรา เราเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ ถ้าเราไม่บำรุงรักษามัน มันก็เวียนตายเวียนเกิดตามเวรตามกรรมที่มันได้สร้างสมมาของมัน
แต่พวกเราเป็นชาวพุทธ เรามีสติ เรามีปัญญา เรามีศักยภาพ เราอยากจะหยุดเครื่องของเราเพื่อซ่อมเครื่องยนต์ของเรา ถ้าเราซ่อมเครื่องยนต์ของเรา เราซ่อมเครื่องยนต์ ถ้าเป็นทางโลกซ่อมเครื่องยนต์ก็กลับมาใหม่เอี่ยม ใหม่เอี่ยม มันมีกำลังการผลิตที่สมบูรณ์ แต่ถ้าซ่อมของเรา เห็นไหม ถ้าการพักใจของเรา ทำความสงบของใจของเราได้ แล้วเราใช้ปัญญาของเรานะ การซ่อมอย่างนี้จะเป็นอริยทรัพย์เลยล่ะ
อริยทรัพย์คือเราซ่อมหัวใจ ซ่อมความรู้สึกนึกคิด ดูสิเวลามันคลุกเคล้าอารมณ์ ถ้าเราเข้าใจผิด เราเข้าใจผิดเพราะเราไม่รู้เรื่องนั้น อวิชชา เราก็ทุกข์ร้อนไปแล้ว เราเข้าใจถูกมันก็ถูกต้องแล้ว แล้วเข้าใจถูกมันแก้อะไรล่ะ? เข้าใจถูกแล้วมันก็เริ่มต้นเพื่อแยกไม่ให้จิตใจคลุกเคล้ากับมันใช่ไหม? พอเข้าใจถูก เออ ก็สิ่งนี้เขาเอาไว้ใช้ในโลกไง นี่สิ่งนี้เขาเอาไว้ใช้เพื่อความดำรงชีวิตไง แต่ถ้าหัวใจล่ะ? ดำรงชีวิตมันก็ต้องเกิดต้องตายต่อไปข้างหน้า
ฉะนั้น สิ่งที่เราจะไม่เกิดไม่ตายเราทำอย่างไร? ถ้าไม่เกิดไม่ตายนะ เราทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ แค่คำพูดของเรากรรมฐาน เห็นไหม เขาบอกว่ากรรมฐานนี่ไม่พูดเรื่องศีลเลย เขาพูดเรื่องภาวนาไปเลย เพราะศีลเป็นพื้นฐานของชาวพุทธ ทีนี้กรรมฐาน เรื่องความสงบของใจก็เป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ถ้าเป็นพื้นฐานการปฏิบัติ เขาบอกทำความสงบของใจๆ โฮ้ พวกนี้ไม่มีปัญญาเลย อะไรเราก็สงบๆ เป็นสมถะ มันไม่มีปัญญามันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร?
ทำความสงบของใจก็ไม่พูดให้มันเยิ่นเย้อ ไม่พูดให้มันฟั่นเฟือน เขาบอกทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วก็ใช้ปัญญา ไอ้เราก็ว่า เออ เราก็สงบแล้วไง นี่ไง โอ้โฮ สบายนะ จิตใจมีความสงบระงับ เราใช้ปัญญาไปเลย เพราะเราใช้ปัญญาแล้ว ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของโลก ปัญญาของกิเลส เพราะจิตใจมันไม่สงบ เราเข้าใจว่าสงบ กิเลสมันหลอกไง ก็เราสบายใจ อาบน้ำ ทำความสงบร่มเย็นแล้วก็นี่คือสงบ สงบนี้มันก็เป็นสงบของโลกๆ ไง นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิมันแตกต่างกันอย่างไร?
หลวงตาท่านพูดประจำ คนทำสมาธิไม่เป็น พูดเรื่องสมาธิไม่ถูก
ถ้าคนทำสมาธิเป็น พูดถึงเรื่องสมาธิถูก เราจะเข้าไปห้างสรรพสินค้า ถ้าทุกคนไม่มีเงิน ไม่มีสิทธิต่างๆ เราจะเข้าไปในห้างสรรพสินค้านั้น ซื้อของสิ่งนั้นไม่ได้เลย ถ้าจิตมันไม่สงบ ลิขสิทธิ์ สิทธิของคน สิทธิของฐีติจิต สิทธิของความเกิด สิทธิของปฏิสนธิจิต ถ้ามันไม่เข้าไปแก้กันที่นั่น มันจะแก้กันที่ไหน? นี่เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม เห็นไหม นี่เราจะเผยแผ่ธรรมๆ เอ็งเอาอะไรไปเผยแผ่ เอากิเลสไปเผยแผ่หรือเอาธรรมไปเผยแผ่ แล้วธรรมเป็นอย่างไรล่ะ?
อ๋อ ธรรมก็ ธ.ธง ร.เรือ ๒ ตัว ม.ม้า ก็เป็นธรรม
แล้วธรรมในหัวใจของมึงล่ะ?
ธรรมในหัวใจก็พระพุทธเจ้าสอนไง
แล้วสงบ
สงบก็อากาศไง ความว่างไง
แล้วปัญญา
ปัญญาก็คอมพิวเตอร์ไง
มันไปหมดเลยนะ มันไม่เข้าไปถึงตัวมันเลย ถ้าเข้าถึงตัวมัน เห็นไหม เราจะเข้าถึงตัวเรา เพราะอะไร? เพราะทุกข์นี่เราเป็นคนทุกข์ หัวใจนี่ทุกข์ร้อนนัก แล้วถ้ามันสงบระงับ ก็หัวใจนี้จะเป็นผู้สงบระงับ แล้วเวลาเกิดมรรคญาณ ถ้าจิตเป็นสมาธิมันจะรู้ เหตุและผลถึงรวมมาเป็นสมาธิ แล้วถ้ามันเกิดปัญญา มันเกิดใช้ปัญญาแยกแยะ นี่ไงภาวนามยปัญญา นี่ธรรมจักร มันจะรู้ของมัน
โดยธรรมนี่นะ คนฟังธรรมเยอะมาก จะน้อยองค์มากที่บอกว่าเวลาจักรมันเคลื่อน เวลาปัญญามันหมุนติ้วๆ มีหลวงตานี่พูดเป็นหลัก นี่องค์อื่นจะพูดอย่างนี้บ้างไหม? อ้าว ปัญญาๆ ก็จำเอาไง ปัญญาก็สมองไง ปัญญาก็คอมพิวเตอร์ไง แต่ไอ้ธรรมจักรที่มันเคลื่อน ที่มันหมุนไป จักรที่มันเข้ามาทำลายกิเลสไม่มีใครพูดถึงหรอก เพราะ เพราะเขาไม่เคยเห็น เขาไม่รู้จัก เขาไม่เคยเห็นของเขา แต่เวลาพูดถึงธรรมจักร ธรรมจักรก็หินแกรนิตไง อยู่ที่พุทธมณฑลไง แล้วถ้าจักรในหัวใจล่ะ? อ้าว ก็สมองมันคิดอยู่นี่ไง
นี่ด้วยความไม่เป็นนะ ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่ แต่ถ้าปฏิบัติแบบเราเขาว่าโง่ฉิบหายเลย พุทโธ พุทโธ พวกนี้พวกโง่เง่า แต่พวกโง่เง่านะ ครูบาอาจารย์เอาตัวรอดมาหมดแล้ว ครูบาอาจารย์ของเราเอาตัวรอดมาหมดแล้ว เราจะเชื่อใคร? เราจะเชื่อผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติเป็น เราจะเชื่อใคร? ถ้าเราเชื่อใครนะ นี้ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ ต้องเป็นความจริง เราเชื่อแล้ว เราดูปฏิปทาเครื่องดำเนิน นั่นคือแบบอย่าง แบบอย่างแล้วเราปฏิบัติ
ความเชื่อแก้กิเลสไม่ได้ แต่ความเชื่อมันมีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง มีครูบาอาจารย์เป็นหลักชัยให้เรา แล้วเราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเป็นสมบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติเป็นสมบัติของเรา เห็นไหม เรามีเงินทองเอง เราร้อนเราก็ผ่อนคลายของเราเอง เราหิวกระหายเราก็หาอาหารกินเอง เราอิ่มหนำสำราญเอง หิวก็คือเราเป็นคนหิว อิ่มก็เราเป็นคนอิ่ม นี่เป็นปัจจัตตัง เราจะรู้ถูก รู้ผิด เรามีการปฏิบัติของเรา แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับชีวิตนี้นะ
นี่เราปฏิบัติให้ฉลาดขึ้นมา เห็นไหม ยิ่งปฏิบัติยิ่งโง่ นี่มันเป็นอวิชชา ความไม่รู้ ความเข้าใจผิดทำให้โง่ แต่ถ้าเรารักษาใจของเรา ทำใจของเรา ถ้าใจของเรามันฉลาดขึ้นมาแล้วนะ ของสิ่งนั้นมันเป็นเก้อๆ เขินๆ อยู่ข้างนอก ถ้าหัวใจประเสริฐแล้วนะ หยิบจับสิ่งใด สิ่งนั้นดีงามไปหมด เพราะมันไม่มีมารยาสาไถย มันเป็นเหตุและผลรวมลงเป็นธรรม
ไม่มีเพื่อตัวตน ไม่มีเพื่ออีโก้ ไม่มีเพื่อจะเหยียบหัวใคร เพราะสิ่งที่มันเหยียบหัวใคร สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องน่าขยะแขยง เราก็เกลียดนักเกลียดหนา แล้วเราพยายามทำลายหัวใจของเราแล้ว แล้วมันจะไปเหยียบใครอีก ในเมื่อมันไม่มีเหตุให้ไปเหยียบหัวคน ในเมื่อปฏิบัติไม่ใช่เพื่อเหยียบหัวคน ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อโง่ ปฏิบัติเพื่อจะขี่กัน เห็นไหม ปฏิบัติเพื่อฆ่ากิเลสของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง