ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฟังเทศน์

๓ มี.ค. ๒๕๕๕

 

ฟังเทศน์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๗๙๙.

ถาม : ข้อ ๗๙๙. เรื่อง “พระอริยเจ้า กับปริยัติ”

นมัสการหลวงพ่อ ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งไปแล้ว แต่ท่านผู้นั้นไม่เคยมีโอกาสศึกษาในทางปริยัติมาก่อนจะบรรลุธรรม หมายความว่าบางท่านไม่รู้จักศัพท์ทางบาลีตามตำรามาก ข้อสังเกตอย่างเช่นในกรณีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ผมแทบจะไม่เจอองค์ใดนิยมใช้คำว่า “เจตสิก” ในการแสดงธรรม เท่าที่ผมพบ เจอแต่หลวงปู่ดูลย์องค์เดียวเท่านั้นครับ ต่างจากผู้ที่นิยมเรียนคัมภีร์ ซึ่งมักจะใช้คำนี้บ่อยๆ และยังมีกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี

(คำถามคือ)

๑. แต่ท่านเหล่านั้นจะสามารถพูดตรงสภาวธรรมที่รู้เฉพาะตนตามที่ละกิเลสได้ แต่อาจจะไม่ตรงศัพท์เป๊ะๆ ใช่หรือเปล่าครับ

๒. สมมุติว่า มีโอกาสฟังธรรมจากหลายที่มา การจะพิจารณาเชื่อมโยงความหมาย หรือแปลเจตนาของคำที่สื่อความหมายของท่านผู้เทศน์ ให้ตรงความจริงได้อย่างไรครับ เพราะบางทีคำอาจแตกต่างกัน

๓. ต้องใช้กรรมฐานหมวดใด พิจารณาอย่างใด จึงจะทะลุผ่านเงื่อนไขของภาษาที่ทำให้เกิดความสับสนในใจได้ครับ ขอบพระคุณ

ข้อ ๑. แต่ท่านเหล่านั้นจะสามารถพูดตรงสภาวธรรมที่รู้เฉพาะตนตามที่กิเลสละได้ แต่อาจจะไม่ตรงศัพท์เป๊ะๆ ใช่หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : ศัพท์นะ นี่เวลาพูดถึงการศึกษาในธรรม จะบอกว่าสมมุติบัญญัติ บัญญัตินี่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าผู้ที่บรรลุธรรมแล้วสมมุติบัญญัติก็คืออันเดียวกัน บัญญัติก็คือสมมุติ แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติ ทีนี้เราใช้คำว่าบัญญัติ อย่างเช่นความรู้สึกนึกคิดมันก็มีแตกต่างหลากหลายใช่ไหม? แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติว่า “สังขาร”

กาย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างเช่นเวทนา นี่บัญญัติว่าเวทนา มันรวบไงรวบมาเป็นแบบภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล นี่ก็เหมือนกัน เวลาพระเรานะถ้าเป็นเถรวาท เวลาเขาไปเจอกันที่อเมริกา พระเล่าให้ฟังบ่อย ถ้ามาจากสายต่างๆ เวลาสวดมนต์เขาจะรู้เลย ถ้าสวดมนต์นี่เป็นบัญญัติใช่ไหม? สวดมนต์คือเจริญพุทธคุณ คือพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการไว้ในพระไตรปิฎก แล้วเราก็ตัดตอนมาสวดเป็นสูตรๆ

ถ้าไปสวดกันที่อเมริกานะ ถ้าเขมร พม่า ลาว ไทย ไปเจอกันนานาชาติ สวดนี่จะไปกันได้ เพราะเป็นภาษาบาลี สวดนี่ไปกันได้ แต่ถ้าเป็นมหายานไปกันไม่ได้ เพราะเขาเป็นสันสกฤต ถ้าเป็นมหายานมันไปกันไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเป็นเถรวาทนะเขาว่ามันจะไปกันได้ เห็นไหม เพราะว่าบัญญัติ นี่บัญญัติ ทีนี้เพียงแต่ว่าไปกันได้ เวลาในเมืองไทยเรา เวลาธรรมยุตกับสวดมอญ เวลามอญดูภาษาเขาแตกต่างกับเราออกไป อันนี้มันเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่น ฉะนั้น ถึงว่าสมมุติบัญญัติ นี่สมมุติบัญญัติ

ถ้าสมมุติบัญญัติ บัญญัติก็คือสมมุติอันหนึ่ง เพราะมันยังไม่เป็นวิมุตติ วิมุตติแล้วพ้นไปเลย ถ้าอ้าปากเป็นสมมุติหมด ถ้าลองได้พูดออกมานี่สมมุติทั้งนั้น มันสมมุติทั้งนั้น แต่ถ้าเม้มปากแล้วนั่งลง ความรู้สึกอันนั้นเป็นความจริง

ฉะนั้น ถึงว่า

ถาม : ๑. แต่ท่านเหล่านั้นสามารถจะพูดตรงสภาวธรรมที่รู้เฉพาะตนตามที่กิเลสละได้ แต่อาจจะไม่ตรงศัพท์เป๊ะๆ ใช่หรือเปล่าครับ

หลวงพ่อ : นี่ตรงนี้มันก็ต้องว่า “ภาวนาจริงหรือไม่จริง?” ถ้าภาวนาจริงนะ อ้าปากพูดเหมือนกันหมดเลย แม้แต่สบสายตานี่รู้แล้ว ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาหลวงปู่มั่นท่านอยู่ที่หนองผือ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง เวลาครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นออกจากป่ามาจะมาคุยธรรมะ จะมาถาม ถ้าใครข้องใจสิ่งใดก็จะไปหาหลวงปู่มั่น ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว หลวงปู่มั่นจะตอบ ตอบเสร็จแล้วท่านจะกั๊กไว้ ให้รวมพระขึ้นบนศาลาแล้วเทศน์

ฉะนั้น เวลาออกจาป่ามา นี่ใครประสบการณ์อย่างใด? เห็นไหม หลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น ท่านจะรู้ว่าใครภาวนาเป็น ไม่เป็น เวลาคุยกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะกรองเลย อย่างเช่นหลวงปู่พรหมอย่างนี้ หลวงปู่พรหม หลวงปู่ตื้อ เวลาหาหลวงปู่มั่นนี่ผลัวะ ผลัวะ ผลัวะ แล้วหลวงตาท่านนั่งอยู่นั่น ท่านจะรู้ว่าใครจริงหรือไม่จริง ถ้าของจริงนะ จริงคือจริงเลย อย่างเช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่มั่นบอกไว้เลยนะ เตือนพระไว้เลยนะ

“หมู่คณะจำหลวงปู่ขาวไว้นะ เพราะหลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้ว”

หลวงปู่ขาวนี่พระอรหันต์แน่นอน ถ้าพูดประสาเรานะยืนยันอย่างนั้น แต่ท่านไม่พูดอย่างนี้ ถ้าคำว่าอรหันต์ คำว่าสิ้นกิเลสมันเป็นภาษาที่บาดใจมนุษย์มาก มนุษย์รับไม่ได้ ฉะนั้น ท่านถึงบอกว่า “ท่านขาวได้คุยกับเราแล้ว” แต่ถ้าเป็นภาษาสมมุติคือว่าหลวงปู่ขาวได้คุยกับเราแล้ว หลวงปู่ขาวเป็นพระอรหันต์ นี่ครูบาอาจารย์ท่านพูดกันอย่างนั้น

ฉะนั้น ที่เขาว่า

ถาม : จะพูดสภาวธรรมที่ถูกต้องได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : ถ้าถูกต้องนะ ถ้าของจริงมันผลัวะ ผลัวะอันเดียวกัน แต่ถ้าของไม่จริงสิ นี่มันจะเช็คกันตรงนี้ไง ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ คนที่ภาวนาแล้ว ถ้าคนภาวนาไม่จริงถึงไม่กล้าเข้าหมู่คณะไง ไม่กล้าเข้าไปเจอพระ อย่างเช่นเรานี่ เราทำธุรกิจนะ เราซื้อขายแลกเปลี่ยน เราจะทอนเงินใช่ไหม? อ้าว มาสิ เอาสตางค์มาสิจะทอนเท่าไร?

ทีนี้คนถ้ามันไม่รู้ มันไม่รู้ใช่ไหม? มันไม่รู้ว่าแบงก์อะไร? ทอนเท่าไร? ไม่กล้าเข้านะ ไม่กล้าหรอก ทอนเงินยังทอนผิดเลย เก็บสตางค์ยังเก็บสตางค์ไม่เป็น แล้วภาวนาอะไรวะ? คนภาวนานี่เก็บสตางค์ถูกนะ นี่ราคาเท่าไร? แบงก์อะไร? ราคาเท่าไร? ทอนเท่าไร? นี่เวลาธัมมสากัจฉามันเป็นอย่างนี้ เราทอนเงิน ทอนทองกันถูกต้อง ราคาเท่าไร? แบงก์อะไร? จ่ายเท่าไร? จะทอนเท่าไร? ฉะนั้น นี่เวลาเข้าหมู่คณะ เวลาธัมมสากัจฉา

เขาถามว่า

ถาม : แล้วจะพูดตรงสภาวธรรมได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : ถ้าตรงสภาวธรรม ถ้าเป็นความจริงนะมันจะตรงกัน อริยสัจมีอันเดียว นี่เวลาละ ละกิเลสอย่างไร? ทีนี้พอถ้าไม่ตรงกัน ตอนนี้ฟังไม่ได้เลย ว่างๆ เหมือนเรา ว่างๆ เหมือนเรา ว่างๆ อย่างไร? ว่างอย่างไร? อยู่ในกรงขังก็ว่าง ในสัตว์ ในกรงขังมันก็ว่างในขอบเขตของกรงมันนั่นแหละ ว่างๆ ว่างๆ อย่างไร? ว่างๆ มันต้องมีเหตุมีผลของมัน เพราะเขาใช้คำว่า

“ละกิเลสได้อย่างไร อาจจะไม่ตรงศัพท์เป๊ะๆ”

ตรงศัพท์นี่มันสัญญา สัญญาเลยนะ เวลากรรมฐาน เวลาหลวงปู่เจี๊ยะ นี่เวลาหลวงปู่เจี๊ยะพูดกับเรา “ไอ้หงบเอ้ย ต่อไปนะ เวลาเอ็งคุยธรรมะ เอ็งอย่าพูดในพระไตรปิฎกนะ ถ้าพูดในพระไตรปิฎกเขาค้านได้” คือว่าในพระไตรปิฎกคือสูตร ทุกคนจำได้ ตะแบงได้ใช่ไหม? แต่ถ้าพูดนอกพระไตรปิฎก ท่านใช้คำว่า “พูดนอกพระไตรปิฎก” นอกพระไตรปิฎกคือความรู้จริงไง

“พูดจากความรู้สึกมึงนั่นแหละ ถ้ามึงรู้อะไรให้พูดตามความรู้สึกนั้น”

นี่หลวงปู่เจี๊ยะเน้นนะ แต่เวลาหลวงตาท่านบอกว่า “จะพูดสิ่งใด จะต้องมีที่มาที่ไป” คือจะพูดสิ่งใดมันก็เกาะพระไตรปิฎกไว้นั่นแหละ เพราะว่ามันอ้างอิงพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกเป็นอันเดียวกันใช่ไหม? เป็นสากล เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ นี่เราก็อ้างอิงพระไตรปิฎกนั่นแหละ แต่ถ้าอ้างอิงแล้ว ดูสิอย่างเช่นในประวัติหลวงปู่มั่น ที่ว่าเวลาคึกฤทธิ์เขาบอกว่า

“หลวงปู่มั่นสอนให้พระโง่หรือพระฉลาด?”

เพราะเวลาหลวงปู่มั่นตรัสรู้ธรรมขึ้นมา พระพุทธเจ้ามาอนุโมทนาอย่างนี้ เวลาพระอรหันต์มาอนุโมทนา เพราะพระอรหันต์ไม่มี พระอรหันต์สูญไปแล้ว ในพระไตรปิฎก พระอรหันต์คือสูญไปไม่มี นี่พูดถึงคนตีความในพระไตรปิฎก ทีนี้คึกฤทธิ์เวลาเขาโต้แย้งในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาท่านถามว่า

“ถ้าอย่างนั้นต้องให้ปฏิเสธพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าพวกเราไม่สามารถปฏิเสธพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รัตนตรัย เราจะปฏิเสธพระพุทธเจ้าไม่ได้ เราจะปฏิเสธพระสงฆ์ไม่ได้ ถ้าเรายังยอมรับอยู่ว่ามีรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วทำไมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาพระสงฆ์มาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น ทำไมจะมาไม่ได้?”

นี่ตรงนี้จะตรงศัพท์เป๊ะๆ ไหมล่ะ? ตรงศัพท์แล้วมีปัญหาเลย พระอรหันต์คือสิ้นไปแล้ว แล้วพระอรหันต์มาอนุโมทนาได้อย่างไร? ในพระไตรปิฎก นี่ตรงศัพท์เป๊ะๆ แต่ถ้านอกพระไตรปิฎก นี่ไงที่หลวงตาท่านเขียนนอกพระไตรปิฎก คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น พระอรหันต์มาอนุโมทนากับหลวงปู่มั่น คึกฤทธิ์เขาบอกว่าไม่มี พระอรหันต์สิ้นไปแล้ว นิพพานไปแล้ว จะมีได้อย่างไร?

นี่ไงนิพพานมีแบบไม่มี “มีแบบไม่มี ไม่มีแบบมี”

“ไม่มีหรอก นิพพานไม่มี แต่มี”

“ถ้านิพพานมีอยู่ นิพพานเป็นอย่างไร?”

“นิพพานไม่มี”

“ไม่มีอย่างไร?”

“ไม่มีแบบมีไง” (หัวเราะ)

นี่ตรงศัพท์เป๊ะๆ เลย อย่างนี้ตรงศัพท์เป๊ะๆ นี่ถ้ามันจริงแล้วมันตรงศัพท์เป๊ะๆ แต่ถ้าไม่จริง ไม่จริงพูดก็ผิด แล้วเวลาพูดศัพท์ก็ผิด เพราะศัพท์นี่เวลาพูดนะ ในพระไตรปิฎกทุกคนอ้างมาก แต่เวลาเราจะอ้างพระไตรปิฎกต้องทเวเม ภิกขเวก่อนเลย นี่เวลาพระพุทธเจ้าพูดกับใคร? พูดที่ไหน? เราต้องดูสิพระพุทธเจ้าพูดเรื่องอะไร? พูดนี่พูดเรื่องศัพท์อะไร? นั่นพูดถึงศัพท์เป๊ะๆ นะ อันนี้ยกไว้ข้อที่ ๑.

ถาม : ๒. สมมุติว่ามีโอกาสฟังธรรมจากหลายที่ การจะพิจารณาเชื่อมโยงความหมาย หรือแปลเจตนาของคำที่สื่อความหมายของท่านผู้เทศน์ให้ตรงความจริงได้อย่างไรครับ

หลวงพ่อ : หลวงตานะ เวลาหลวงปู่มหาเขียนท่าน ๙ ประโยค ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัดด้วย ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด แล้วท่านลาออกจากเจ้าคณะจังหวัด แล้วท่านไปปฏิบัติ พอท่านไปปฏิบัติอยู่ที่โพนทอง แล้วลูกศิษย์ที่ขอนแก่นเป็นลูกศิษย์ของเจ้าคุณเขียนด้วย เป็นลูกศิษย์หลวงตาด้วย เขาจะไปทอดผ้าป่า เขาก็นิมนต์หลวงตาไปด้วย

ทีนี้หลวงตากับหลวงปู่เขียนท่านเรียนเริ่มต้นมาด้วยกัน คือท่านบวชพร้อมกัน เรียนพร้อมกัน แต่หลวงตาพอท่านจบ ๓ ประโยคแล้วท่านออกปฏิบัติก่อน หลวงปู่มหาเขียนท่านเรียนจนจบ ๙ ประโยค แล้วท่านก็อยู่ในฝ่ายปกครองจนท่านได้เป็นเจ้าคณะจังหวัด แล้วท่านเห็นภัย ท่านก็ลาออกจากเจ้าคณะจังหวัด แล้วท่านก็ออกปฏิบัติ ฉะนั้น เวลาลูกศิษย์เขาไปถวายผ้าป่าก็นิมนต์หลวงตาไปด้วย ทีนี้หลวงตากับเจ้าคุณเขียนเป็นเพื่อนกันอยู่แล้วก็ไปงาน แล้วถึงเวลาเขาทอดผ้าป่าใช่ไหมเจ้าคุณเขียนก็ต้องเทศน์ เขานิมนต์เจ้าคุณเขียนเทศน์

หลวงตาท่านบอกท่านก็ฟังเทศน์อยู่ นี่เห็นไหม รู้ความหมายได้อย่างไร? เวลาเราจะรู้ความหมายของผู้เทศน์อย่างไร? พอหลวงตาท่านฟังเทศน์แล้ว ธรรมดาใช่ไหม เป็นพระผู้ใหญ่เราต้องเก็บไว้ในใจว่าคำเทศน์อย่างนั้นความหมายมันคืออะไร? แล้วสุดท้ายแล้ว พอหลวงปู่มหาเขียนท่านสิ้นของท่านไป แล้วเผาแล้วกระดูกเป็นพระธาตุ ท่านบอก

“เออ มันเป็นพระธาตุ มันเป็นพระธาตุอย่างไร?”

อ๋อ พอลูกศิษย์บอกว่า ก็เทศน์ของหลวงตานี่ท่านเปิดฟังตลอด เพราะตอนที่หลวงตาท่านไปฟังเทศน์ตอนนั้นมันเริ่มต้นไง ยังเริ่มต้นอยู่ ท่านบอกว่าเทศน์ตอนนั้น ไปฟังตอนนั้นมันเป็นปริยัติหมด มันตรงศัพท์เป๊ะๆ หมดเลย ตรงศัพท์เป๊ะๆ เพราะ ๙ ประโยค เป็นเจ้าคณะจังหวัดด้วย นี่ตามศัพท์พระพุทธเจ้าเป๊ะๆ เป๊ะๆ เลย แต่หลวงตาบอกว่านี่ปริยัติหมดเลย ไม่มีภาคปฏิบัติ ยังภาวนาไม่เป็นเลย แต่ทีนี้พอท่านภาวนามาอีก ๒๐-๓๐ ปี เห็นไหม แล้วท่านฟังเทศน์ตลอด ฟังเทศน์หลวงตาตลอด พอท่านสิ้นไปนะกระดูกเป็นพระธาตุหมดเลย นี่ไงเวลาจะสิ้น มันมีเหตุมีผลไง

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่า

ถาม : แล้วเราจะแปลความหมายอย่างไร?

หลวงพ่อ : คนเป็นกับคนเป็นฟังทีเดียวก็รู้ แต่ถ้าคนมันไม่เป็นนะ เวลาคนไม่เป็นเราก็ต้อง นี่ปริยัติ เห็นไหม เป็นแผนที่เครื่องดำเนิน ศัพท์เป๊ะๆ เราต้องเกาะไว้ เกาะศัพท์เป๊ะๆ แต่เวลาเราปฏิบัติเราต้องวาง ศัพท์เป๊ะๆ ไง ทุกคนนั่งอยู่นี่นะ ทุกคนอยากได้รถอะไร? อย่างน้อยก็รถเบนซ์ทั้งนั้นแหละ โตโยต้าไม่มีใครเอาหรอก ใครๆ ก็จะเอาเบนซ์ทั้งนั้นแหละ โตโยต้าไม่เอา

นี่ก็เหมือนกัน ศัพท์เป๊ะๆ ก็เบนซ์ไง แล้วมึงมีปัญญาไหมล่ะ? แหม เวลาเป้าหมายจะเอาเบนซ์ทั้งนั้นแหละ เวลาให้หาสตางค์มาซื้อเบนซ์ไม่เอา เอามือสองก็ได้ เอาโตโยต้ามือสองก็เอาแล้วแหละ เพราะอะไร? เพราะหาได้แค่นี้เอง เบนซ์เอาไว้ก่อน เบนซ์ก็ศัพท์ไง ศัพท์พระพุทธเจ้าเป๊ะๆ เป๊ะๆ เรามีปัญญาหรือเปล่า? เราทำได้แค่ไหน?

นี่ความจริงเป็นแบบนี้ เวลาปฏิบัติเราได้แค่ไหน? เป้าหมายเราก็รถเบนซ์นั่นแหละ ใครก็อยากได้อย่างน้อยเนาะ ยิ่งถ้ามันสูงกว่านั้นได้ยิ่งดีใหญ่ ทีนี้เพียงแต่ว่ากำลังเรา ความสามารถของเรา เรามีความสามารถแค่ไหน? เราจะหาเงินได้มากน้อยแค่ไหน? แล้วเราจะไปซื้อรถอะไร? เราพอใช้กำลังของเรา ใช้ประโยชน์ได้เราก็เอาแล้วแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเราฟังธรรมจากหลายๆ ท่าน ถ้าเราเป็นแล้วจบ ถ้าเราภาวนาเป็นนะ อย่างเช่นเราฟังพระที่พูด เราฟังแล้วรู้ว่าผิดเลย ผิดเลยเพราะอะไร? ผิดเลยเพราะว่าเขายังไม่มีสตางค์ แต่เขาบอกเขาเป็นเศรษฐี เออ อย่างนี้ผิด แต่ถ้าเราฟังนะคนนี้บอกว่า โอ้โฮ เขาเริ่มทำงาน ทำการมานะ โอ๋ย เหนื่อยยากมาก โอ๋ย จะได้เงิน ได้ทองมานะ โอ๋ย เขาลำบากลำบนมานะ จนเขาสะสมเงินได้อย่างนั้น แล้วเอาเงินไปทำประโยชน์ต่อเนื่อง เออ ไอ้นี่เป็น ไอ้นี่เป็น ไอ้นี่ใช่ แต่บอกว่านอนมาเมื่อกี้นี้ ตื่นขึ้นมาเป็นเศรษฐีเลย อืม ไม่ใช่แล้ว

นี่ฟังเทศน์รู้เลย คนไม่เป็นฟังไม่ถูกนะ เราฟังในพระนี่เยอะมากที่มันผิดกันตรงนี้ ผิดตรงที่มันพูดธรรมะผิดที่ ผิดทาง ถ้าคนเป็นนะจะพูดธรรมะไม่ผิดที่ ผิดทาง อย่างเช่นเราจะเกิดใช่ไหม? เราก็เกิดในครรภ์ก่อนกว่าจะคลอดออกมา คลอดออกมากว่าจะเป็นทารก กว่าจะโตขึ้นมา มันต้องเรียงมาสิ ไม่ใช่เทวดาเว้ย เกิดมาก็โตเลย โอปปาติกะ เกิดมาก็นี่เกิดมาแล้ว แล้วบอกว่าเกิดกับใคร? ไม่รู้ ตอนเป็นเด็ก ไม่รู้ เกิดมาก็นั่งอยู่นี่ ตัวเท่านี้เลย ไอ้นั่นมันโอปปาติกะแล้ว มันไม่ใช่เกิดกำเนิด ๔ นี่เป็นหรือไม่เป็นมันดูตรงนี้

จะบอกว่า “ทำอย่างไร? จะรู้ว่าคนไหนฟังแล้วจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจ?”

เราทำความสงบ เราอยู่กับครูบาอาจารย์มานะท่านบอกว่าเราภาวนาของเรา ถ้าจิตสงบ เราไปคุยกับใครก็แล้วแต่ ถ้าเขาพูดผิดนะเขาผิด ถ้าเราภาวนาเป็นนะเราฟังออกเลย แต่ถ้าเราภาวนาจิตสงบนะ เขาพูดปั๊บตรงกัน ใช่ โธ่ หลวงตาเวลามานี่ท่านจะพูดถึงเวลารวมใหญ่ ท่านเนตรๆ เสือมันกัดคอนี่ลงอย่างไร? แล้วท่านพูดเลย “คนไม่เป็นไม่รู้นะ”

ท่านพูดเอง ท่านบอก “ถ้าคนไม่เคยรวมใหญ่ ไม่รู้หรอกว่ารวมใหญ่เป็นอย่างไร” เวลาอัปปนาสมาธิ คนไม่เคยเป็นไม่รู้หรอก พูดจนตาย พูดไปเถอะ แต่ถ้าคนเป็นนะ นี่คนเป็นมันเป็นแล้ว เวลาคนพูดมันรู้ทันที หลวงตาท่านพูดบ่อย คนไม่เป็นไม่รู้หรอก ทีนี้เวลาเป๊ะๆ ก็ว่าอัปปนาสมาธิไง เทปมันก็ยังพูดได้เลย เปิดสิ เทปนี่อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิอยู่ในเทป แต่เทปไม่รู้เรื่องหรอก

ฉะนั้น ไอ้เป็นหรือไม่เป็น ไอ้ที่ว่าจะทำอย่างไร นี่เราต้องมีพื้นฐาน เราต้องทำได้ก่อน แล้วเราจะจัดการได้เลย เราฟังได้หมดแหละ

ถาม : ๓. ต้องใช้กรรมฐานหมวดไหน พิจารณาอย่างไรจึงจะทะลุผ่านเงื่อนไขของภาษา ทำให้เกิดความสับสนในใจครับ

หลวงพ่อ : โอ้โฮ ภาษามีภาษาเดียว ภาษาใจ ภาษาความรู้สึกมีอันเดียว ภาษาโลก เห็นไหม ภาษาฝรั่งเศส ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาไทย แม้แต่ในเมืองไทย เราเคยดูข่าว ดูสารคดี เราเคยดูนะว่าในเมืองไทยมีอยู่ ๕๐ กว่าภาษา แล้ว ๕๐ กว่าภาษานี่คนใช้น้อยลง

เฉพาะเมืองไทยนะ ภาษาท้องถิ่น ภาษาท้องถิ่นในเมืองไทยมี ๕๐ กว่าภาษา อย่างเช่นภาษาชอง ภาษาอะไรนี่แต่ละกลุ่มชน แล้วมันไม่ค่อยได้ใช้ไง ตอนนี้ที่เมืองจันท์ ภาษาชองเขาพยายามจะสอนเด็ก มันไม่มีภาษาเขียนไง เขาก็เลยพยายามเขียนเป็นรูป นี่เฉพาะเมืองไทยมี ๕๐ กว่าภาษานะ แล้ว ๕๐ ภาษามันก็ภาษาใครภาษามันไปใช่ไหม?

นี่ถามว่าจะทำอย่างไรจะทะลุผ่านเงื่อนไขของภาษา ก็ภาษาใจไง ภาษาใจมีหนึ่งเดียว รู้สึกเหมือนกันอันเดียวเลยภาษาใจ แล้วถ้าใจรู้นะ ไม่รู้พูดไม่ได้ ยิ่งพยายามจะพูด คนนั้นนะแบบว่าสร้างหลักฐานไว้มัดตัวเอง ใครพูดอะไรออกไปที่ผิดๆ ถูกๆ พูดออกไปแล้วเป็นหลักฐาน เวลาพูดนะอวดอยากจะพูด เวลาเอาคำพูดเข้าไปถามเขา บอกว่าฉันไม่ได้พูด ฉันไม่ได้พูด ถ้ารู้ว่าผิดไม่กล้ารับหรอกว่าพูด แต่อยากพูดนะ ถ้าไม่เป็นแล้วอย่าพูด เพราะคำพูดมันจะกลับไปรัดคอคนพูด

หนังสือไม่เป็นแล้วอย่าพิมพ์ออกมา ถ้าพิมพ์ออกมา มันออกมาเป็นสาธารณะแล้ว ทุกคนก็มีสิทธิจะสอบถามได้ว่ามันคืออะไร? แล้วพอจะไปชี้ว่าพูดอะไร? หนังสือคืออะไร? บอกว่าคนไปพูด คนไปถามนี่จับผิด คนนิสัยไม่ดี โอ้โฮ ตาย ฉะนั้น ไม่เป็นแล้วอย่าพูด ถ้าพูดออกมาแล้วต้องบอกว่ามันคืออะไร? มันคืออะไร? มันเป็นอย่างใด? มันเกิดอย่างใด? มันมีคุณสมบัติอย่างใด? แล้วมันจะทำประโยชน์กับการปฏิบัติอย่างไร? พูดมา ถ้าอยากจะพูด ฉะนั้น ภาษาใจนี่สำคัญ

อันนี้พูดถึงคำถามเนาะ จบ

ถาม : ข้อ ๘๐๐. เรื่อง “ได้รับคำตอบของท่าน โดยท่านไม่ต้องตอบแล้วค่ะ”

หลวงพ่อ : เขาถามปัญหามา สุดท้ายแล้วเขาบอกว่าเขาไปฟังในเรื่อง “อายุธรรม” อายุธรรมใช่ไหม? อายุธรรมแล้วจบเลย เขาถามปัญหามา จบแล้ว เพราะว่าเราก็จะไม่ตอบ เพราะมันเป็นเรื่องกระทบกระเทือน ในเมื่อคนเขามีครู มีอาจารย์ของเขา เขาเป็นกลุ่มของเขา แล้วโยนมาให้เรามันไม่ใช่เรื่อง

ถาม : ข้อ ๘๐๑. เรื่อง “จริงหรือหลอก”

หลวงพ่อ : มาจากชลบุรี ยกเลิก เขายกเลิกเหมือนกัน เขาขอยกเลิก

ถาม : ข้อ ๘๐๒. เรื่อง “มโนกรรม”

กราบนมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ

๑. มโนกรรมที่ไม่ดี นอกเหนือจากการพาจิตให้เป็นอกุศล ซึ่งมีผลอย่างมากตอนก่อนตาย แล้วมีผลอย่างอื่นอีกไหมครับ เพราะเราไม่ได้ทำผิดศีลข้อใดๆ เลย

๒. การทำสมาธิ แม้ว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิ แต่หลวงพ่อเคยกล่าวว่า

“เป็นบุญกุศลแล้ว เพราะไม่คิดเรื่องที่เป็นอกุศล”

อยากทราบว่าตรงนี้เป็นกุศลได้อย่างไร? เพราะไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใครเลย แถมสมาธิก็ยังไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้ที่เขามีสมาธิกับการงานอย่างอื่นก็ไม่ได้คิดเรื่องที่เป็นอกุศลเหมือนกัน เช่นนี้ก็จะเป็นการทำกรรมที่เป็นกุศลเหมือนกันหรือครับ ขอบพระคุณ

หลวงพ่อ : อ้าว เอาข้อ ๑. ก่อน

ถาม : ข้อ ๑. มโนกรรมที่ไม่ดี นอกเหนือจากการพาจิตให้เป็นอกุศล ซึ่งมีผลอย่างมากตอนก่อนตายแล้ว มีผลอย่างอื่นไหมครับ

หลวงพ่อ : มโนกรรม นี่มโนกรรม ถ้าพูดถึงอย่างหยาบ เห็นไหม มโนกรรม เวลาจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้ผ่องใส ผ่องใส เศร้าหมอง นี่มันก็มีกรรมของมันแล้ว นี่มโนกรรมนะ เวลาคนภาวนาไป หลวงตาท่านพูดคำนี้ ท่านบอกว่าท่านปฏิบัติใหม่ๆ ท่านก็มีความตั้งใจว่าตอนปฏิบัติใหม่ๆ ทุกข์ยากมากเลย ทีนี้ปฏิบัติไปๆ มันจะสบายขึ้นไปเรื่อยๆ ท่านว่าอย่างนั้นนะ

คือว่าพอตัดกิเลสไปเรื่อยๆ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีไปแล้วมันจะสบายขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอเวลาไปปฏิบัติแล้วไม่เป็นอย่างนั้นเลย ท่านบอกว่ายิ่งปฏิบัติยิ่งงง ยิ่งปฏิบัติยิ่งสูงขึ้นไปยิ่งทุกข์ แต่ความจริงมันปฏิบัติขึ้นไป พอเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามีขึ้นไปมันชำระกิเลสไปเยอะแล้ว มันเบาของมัน แต่ในเมื่อคนทำงานนะ นี่เราเคยทำงานไหม? ทำงานถ้าเป็นรปภ. เป็นผู้รักษาความปลอดภัย เห็นไหม ก็งานง่ายๆ แต่พอขยับสูงขึ้นๆ ไปมันชักรับผิดชอบเยอะขึ้นๆ จนถ้าเป็นผู้อำนวยการนี่โอ๋ย ปวดหัวเลย รับผิดชอบหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ปฏิบัติเริ่มต้น เป็นผู้รักษาความปลอดภัยก่อน รักษาศีล ปฏิบัติไปก็ยุ่งไปหมดเลย พอเป็นโสดาบันขึ้นมา อื้อฮือ มันหายสงสัยเลยนะ หายสงสัย สักกายทิฏฐิ นี่มันละสักกายทิฏฐิแล้ว หายสงสัย สังโยชน์ขาด ตรงนี้มีความสุข แต่พอหันหน้ามาทำงานนี่ทุกข์ทันทีเลย อู้ฮู เพราะงานมันใหญ่กว่าไง งานมันใหญ่กว่านะ งานข้างล่างจบแล้ว แหม ยอดเยี่ยม ยอดเยี่ยมมากเลย แต่พอหันขึ้นมาอีกทีหนึ่ง โอ้โฮ อย่างกับภูเขา

นี่พอขึ้นไปนะ โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี อนาคามีแล้วมันถึงจะเห็นจิตแท้ๆ จิตผ่องใสๆ ที่ว่ามโนกรรมนี่ไง นี่ไงที่บอกว่า

ถาม : มโนกรรมที่ไม่ดี นอกเหนือจากพาจิตให้เป็นอกุศล ซึ่งมีผลอย่างมากตอนก่อนตายแล้ว มีผลอย่างอื่นไหมครับ

หลวงพ่อ : นี่ตรงนั้นพอเวลาขึ้นไปแล้วมันจะละเอียดขึ้นไป มันงง มันทำอะไรไม่ถูกไปหมดเลย ทำอะไรก็ผิด ทำอะไรก็ผิด แล้วมันจับพลัดจับผลูอยู่อย่างนั้นน่ะ ล้มกลิ้ง ล้มหงายนะ นี่พูดถึงมโนกรรม ฉะนั้น ถ้าไปเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้วมันก็ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ว่าเวลาเทศน์ เวลาบอก เห็นไหม ว่ามโนกรรมมันจะให้ผลอย่างอื่นอีกไหม?

เวลามันทำสิ่งใดมันเหมือนกับกระดาษซับ นี่มันซับสิ่งใดไป ก็ซับลงที่จิต ที่จิต ที่จิต มโนกรรม ทั้งๆ ที่ไม่ได้พูด ไม่ได้ทำอะไรเลย นี่ไม่ได้พูด ไม่ได้ขยับเลย แต่ความคิดมันเกิดจากจิต เห็นไหม นี่มโนกรรม ถ้าคิดอย่างนี้ปั๊บนะ พอมันคิดแล้วมันก็อยากทำ อยากทำ อยากต่างๆ ไป นี่มันมีผลให้เกิดจริตนิสัย ย้ำคิด ย้ำทำ จะเป็นความเคยชิน จะทำให้จิตนี้มีแนวคิดอย่างนั้น มีแนวคิดมันเป็นจริตนิสัยไป นี่ผลอย่างอื่นไง แต่ถ้าเรารักษาได้มันก็เป็นสิ่งที่ดี

เพราะคำตอบข้อที่ ๑ มันจะมีผลอยู่ที่ข้อที่ ๒ ด้วย เพราะข้อที่ ๒ บอกว่า

ถาม : ๒. การทำสมาธิ แม้ว่าจิตยังไม่เป็นสมาธิ แต่หลวงพ่อเคยกล่าวว่า

“เป็นบุญกุศลแล้ว เพราะไม่คิดเรื่องที่เป็นอกุศล”

อยากทราบว่าตรงนี้เป็นกุศลได้อย่างไร?

หลวงพ่อ : ถ้าไม่เป็นกุศลนะ มันก็เป็นบาปอกุศลน่ะสิ ถ้าเราไม่คิดเรื่องดีมันก็คิดเรื่องชั่ว ปล่อยจิตมันคิดไป มันคิดตามประสากิเลส ตัณหามันต้องดันออกไปแล้ว ฉะนั้น ถ้าเราตั้งใจ เห็นไหม กุศลมันเกิดตรงนี้ กุศลเกิดที่ว่ามันให้เราไม่ไหลตามเป็นอกุศล ไม่ไหลตามไป เพราะทำตามกิเลสมันไหลลงต่ำ นี่กุศล ตรงนี้มันเป็นกุศลได้อย่างไร? เพราะมันยังไม่ทำประโยชน์ให้คนอื่นเลย

ประโยชน์ให้คนอื่นมันจะมีคุณค่ากับประโยชน์เราหรือ? อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นที่เอาตนพ้นได้ก่อน ถ้าตนยังทำตนไม่ได้ ตนยังเอาตนไม่ได้ ประโยชน์คนอื่นไม่มี ประโยชน์คนอื่นจะเกิดต่อเมื่อประโยชน์เรามีแล้ว

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาตัวเองรอดก่อน ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปเอาใคร? เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาตนเองได้ก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเป็นศาสดาสอนสามโลกธาตุ

นี่ไงถ้าพูดถึงเราบอกว่า

ถาม : มันเป็นกุศลได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่ทำประโยชน์อะไรเลย

หลวงพ่อ : ประโยชน์ตนยังทำไม่ได้ ต้องเอาประโยชน์ตนก่อน ประโยชน์คนอื่นไม่สำคัญ นี่เราไปมองกันตรงนี้ โลกไปมองกันอย่างนั้นไง มองว่าต้องเป็นคนดี เป็นผู้ที่รับผิดชอบ รับผิดชอบสังคม สังคมมันอยู่เหนือการควบคุมของเรานะ แต่ถ้าเราทำตนของเราได้ก่อน ดูสิเวลาหลวงตาท่านออกมาช่วยชาติๆ ท่านบอกว่าใครมันจะเชื่อใคร? ท่านถึงต้องจำเป็น จำเป็นว่าเอาคุณสมบัติของท่าน เห็นไหม เวลาท่านพูด

เราเคยอยู่กับท่านมานะ เรื่องนี้ท่านจะให้เก็บเงียบเลย ท่านไม่ให้พูดเลย ถ้าใครพูดเรื่องนี้ท่านบอกว่าเป็นคนขาดสติ พูดที่ว่าใครได้มรรค ได้ผล ท่านจะบอกว่าคนนั้นขาดสติแล้ว คนนั้นใช้ไม่ได้แล้ว แต่เวลาท่านออกมาช่วยชาติปั๊บท่านบอกว่า

“ถ้าเราไม่บอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา ใครเขาจะเชื่อถือ?”

ถ้าไม่บอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ไม่บอกถึงว่าสิ่งนี้มันไม่เป็นเรื่องของสังคมโลก มันเรื่องของธรรม นี่ท่านถึงต้องประกาศตนออกมา เห็นไหม ถึงเวลาท่านประกาศถึงความสะอาดบริสุทธิ์ว่าเราไม่มีนอก ไม่มีใน สิ่งใดที่เป็นโครงการช่วยชาติ จะเป็นเรื่องโครงการช่วยชาติจริงๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีนอก ไม่มีใน นี่มันยืนยัน ต้องตัวเองบริสุทธิ์ก่อนไง

นี่มันเป็นกุศลตรงนี้ไง เป็นกุศลนะ บุญกิริยาวัตถุ โดยทางโลก เห็นไหม สิทธิเสรีภาพ มีสิทธิเสรีภาพ ทุกคนก็จะบอกว่าประชาธิปไตย ทุกคนก็จะเบียดเบียนคนอื่น ประชาธิปไตย ขับรถก็จะขวางไปเลย จะไปไหนนะกูต้องอันดับหนึ่ง ประชาธิปไตย ประชาธิปไตยกูได้ก่อนไง ถ้ากูได้ก่อนนี่ประชาธิปไตย แต่ถ้ากูได้ทีหลังไม่ใช่ นี่ประชาธิปไตย นี่พูดถึงทางโลก เห็นไหม โลกเขาคิดกันแบบนั้น ฉะนั้น เวลาเราเสียสละล่ะ?

ในพระไตรปิฎกนะ แม้แต่เราหลีกทางให้คนอื่นก็เป็นบุญแล้ว การให้ทางเป็นบุญ การให้ทาง การบอกทาง เวลาเทวดามาถามพระพุทธเจ้า บอกว่า

“พระอินทร์มีจริงหรือ?”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “เธออย่าถามว่าพระอินทร์มีหรือไม่มี วิธีเป็นพระอินทร์เรายังรู้เลย จะบอกให้ว่าวิธีเป็นพระอินทร์เป็นอย่างไร”

วิธีเป็นพระอินทร์ เห็นไหม นี่เราขุดแหล่งน้ำ เราหาแหล่งน้ำให้ประชาชนเขาใช้ ถนนหนทาง นี่แล้วเวลาที่ว่าเป็นพระอินทร์ ที่บอกว่าเป็นพระอินทร์ ทีนี้พระอินทร์มีภรรยา ๔ คน ทีนี้ภรรยา ๔ คน ภรรยาที่ฉลาด สุธรรมศาลาเห็นไหม นี่พระอินทร์เขาก็สร้างศาลา ภรรยาคนหนึ่งเขาฉลาดมาก เขาทำป้าย แล้วเขาก็ไปติดที่ศาลาเลย “สุธรรมศาลา” ศาลานี้ก็ไปอยู่บนสวรรค์ไง นี่สุธรรมศาลา

ฉะนั้น ภรรยาคนที่ ๔ เขาถือว่าสามีเป็นคนทำ ภรรยาก็ต้องได้ด้วย นั่งหวีผมทั้งวันเลย แต่งหน้าทั้งวันเลย ทีนี้พอพระอินทร์ไปเกิดเป็นพระอินทร์ปั๊บ เอ๊ะ สุธรรมศาลา นี่ภรรยามาหมดเลย เป็นนางฟ้าหมดเลย แล้วอีกคนไปไหน? อีกคนไปไหน? มองไปนู่น เป็นนกกระยาง กำลังไปกินปลาอยู่ นี่พระอินทร์มาเทศน์เลย เพราะคิดเองไง คิดว่าสามีทำภรรยาก็ต้องได้ นี่เวลาไปแล้ว ผู้ที่ทำด้วยกัน เห็นไหม ๓ คนนั้นเขาช่วยขวนขวาย เขาทำกันใหญ่เลย แล้วมีคนฉลาดมาก รอก็ไปแอบทำป้ายไว้เลย เวลาศาลาเสร็จเขาแขวนปั๊บเลย เพราะเขาชื่อสุธรรม สุธรรมศาลา นี่มันก็ไปอยู่บนสวรรค์

พูดถึงสิ่งที่ว่าการเสียสละเพื่อประโยชน์ บุญกุศลมันกลับมาอย่างนั้น ทีนี้ว่าการเสียสละบุญกุศลอย่างนั้น นี้เขาบอกว่า “ก็ยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใครเลย แถมสมาธิก็ยังไม่ได้” สมาธิถ้าได้มันก็เป็นผลนะ ถ้าเราทำสมาธิได้ใช่ไหม? อันนั้นมันเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เป็นของเรา แต่ขณะที่เราทำสมาธิ ที่สมาธิยังไม่ได้ มันได้บุญตรงที่ว่าเราไม่ขยับเขยื้อน เห็นไหม ดูสิเวลาเขาไปเล่นโยคะกันเขาทำอะไร?

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เรานั่งสมาธิมันเป็นการฝึกกาย นี่บุญ เพราะว่าบุญที่เราเสียสละท่าที่สะดวกสบาย เสียสละที่จะนอนตีแปลงก็ได้ เสียสละที่เราจะทำอะไรก็ได้มานั่งสมาธิ นี่คือบุญ บุญคือบุญกิริยาวัตถุ แค่เรามานั่งสมาธิ นี่บุญมันเกิดแล้วเพราะเราเสียสละ เสียสละความสะดวกสบายของเราไง แล้วเราก็มานั่งบังคับใจเราเพื่อให้ลงสมาธิ นี่ลงสมาธิ

อันนี้ไงเขาว่า

ถาม : ไม่ได้สมาธิด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ผู้ที่เขามีสมาธิแล้วทำงานอย่างอื่นก็ไม่ได้คิดเรื่องที่เป็นอกุศลเหมือนกัน เช่นนี้ก็เป็นการกระทำที่เป็นบุญกุศลเหมือนกัน

หลวงพ่อ : อ้าว มีบุญกุศล บุญกุศลใช่ไหม? คนไหนเป็นคนดี มันมีกุศลในตัวเขาเอง คนดีมีกุศลในตัวเขาเอง แต่ แต่กุศลระดับไหนไง ถ้าเขาบอกว่าใช่เขามีสมาธิด้วย เขาทำงานด้วย เขามีบุญกุศล ก็เป็นบุญกุศลของเขาจริงๆ จริงๆ แต่บุญกุศลนั้นมันเป็นบุญกุศลเรื่องโลก โลกียะ หรือโลกุตตระล่ะ? อ้าว ถ้ามันเป็นโลกียะใช่ไหม? ก็เป็นคนดี คนดีก็คนดีไง คนดีก็เป็นบุญของเขา แต่ถ้าเป็นอริยภูมิล่ะ? อริยภูมิก็ต้องทำความสงบมากกว่านั้น

นี่คำถามมา แบบว่าข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้จริง ทีนี้ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้แล้วมันจะละเอียดขึ้นไปอีกไง มันจะละเอียดสูงขึ้นไง ละเอียดสูงขึ้น

เขาบอกว่า

ถาม : ในเมื่อเขาเป็นสมาธิแล้ว เขาทำงานด้วย เขาทำประโยชน์ เขาไม่ทำอกุศลด้วยมันก็เป็นบุญ เป็นกุศลของเขา

หลวงพ่อ : ใช่ เป็นกุศลของเขา ทีนี้คำว่ากุศลของเขา เราก็ไม่ติดอย่างที่พูดเริ่มต้น เห็นไหม บอกว่าเวลาพิจารณาไปแล้ว เวลาได้โสดาบันแล้ว แล้วก็บอกว่าเราก็จะสบายแล้ว แล้วพอไปเจอกิเลสของสกิทาคามี โอ๋ย ปวดหัวเลยนะ พอพิจารณาไป พอจิตมันแยกออก กายเป็นโพธิ จิตเป็นกระจกใส ก็นึกว่าอู้ฮู ว่างหมดนะ โลกนี้ราบเป็นหน้ากลอง อยู่เฉยมีความสุขมากเลย ติดว่านิพพานได้นะ แต่พอออกหาขึ้นไป พอเห็นกามราคะ ปฏิฆะ โอ้โฮ ตายเลย โอ๋ย มันหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดนั้นเชียวหรือกว่าจะผ่านกามราคะ พอทำลายกามราคะไปแล้วนี่หมดเลย โลกนี้ว่างหมดเลย

“โมฆราช เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิผู้รู้ว่าว่าง”

พอมันมองโลกเป็นความว่างแล้วมันบอกว่างแล้ว มันไม่มองตัวมันไง โลกนี้ว่างหมดเลย อืม ว่างหมดเลย มึงขวางอยู่นั่นมึงไม่มองมึง มันไม่เห็นหรอก กว่ามันจะย้อนกลับมาได้ไง นี่ปัญญา กุศลที่มันละเอียดเป็นชั้นๆ ขึ้นไป นี่พูดถึงเวลาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป แต่สิ่งที่เราเป็นสามัญชน เราเป็นสามัญชนอยู่ในสังคมโลก ถ้าสังคมโลก ถ้าเขาทำความดีเป็นความดีไหม? ใช่เป็นความดี แต่ความดีที่ว่าสังคมร่มเย็นเป็นสุขไง แต่ถ้ามันจะชำระกิเลสมันจะต้องดีกว่านี้

ฉะนั้น ถ้าเขาบอกเป็นความดีใช่ไหม? ก็ใช่ ใช่ เป็นกุศลก็ใช่ แต่ถ้ามันเป็นการชำระกิเลสมันไม่เป็นแบบนี้ มันไม่เป็นแบบนี้หมายความว่า โลกียปัญญา กับโลกุตตรปัญญามันคนละมิติกันเลย คนเรานี่นะ เวลาไปยึดมั่นถือมั่น นี่ทางวิชาการ ถ้ามีการศึกษาเขาจะบอกว่าเรามีการศึกษา เรามีปัญญา เราไบร์ทมาก มีปัญญามาก บริหารจัดการได้หมดเลย มันเรื่องโลกๆ หมดเลย เพราะอะไร? เพราะอีโก้มันตัวใหญ่ อีโก้มันใหญ่มาก แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ พุทโธจนกว่ามันจะสงบลงได้ เวลาปัญญามันเกิดมันจะเกิดโลกุตตรปัญญา

ถ้าโลกุตตรปัญญา ตัวนี้ไง ทีนี้เราบอกว่าเป็นกุศลๆ มันก็กอดตายอยู่นั่นไง ถ้ากอดตาย หลวงปู่ชาท่านพูดอย่างนี้นะ หลวงปู่ชาท่านบอกว่า

“ถ้ามีเรือนหลังใหญ่ เอ็งเหนื่อยฉิบหายเลยดูแลรักษา ถ้าเอ็งมีเรือนหลังเล็ก เอ็งรักษาง่าย ถ้าเอ็งมีปัญญามากนะ กว่าจะสงบได้เกือบตาย แต่ถ้าไม่สงสัยนะ พุทโธ พุทโธมันลงได้ ถ้าเรือนหลังเล็กๆ เก็บกวาดสบายๆ มึงลงได้”

นี่ไง นี่หลวงปู่ชาพูดไว้ ท่านบอกว่าไอ้คนมีเรือนหลังใหญ่คือคนที่มีความรู้มาก มึงเช็ดไปเถอะ มึงเช็ด มึงถู มึงเก็บนะ ปิดหน้าต่างบานนี้ หน้าต่างชั้นที่ ๑๐๐ ยังไม่ได้ปิด ขึ้นไปปิดชั้นที่ ๑๐๐ นะ ไอ้ชั้นที่ ๑๐๕ ยังไม่ได้ปิด อู๋ย มึงตาย มึงตาย นี่ไงถ้ามีเรือนหลังใหญ่ มึงก็ต้องเช็ดกวาดจนกว่ามันจะสงบ ถ้ามันสงบแล้วนะมันจะเป็นโลกุตตรปัญญา

นี่เราบอกว่าตอนนี้เวลาเราคิดกันเรายืนกระต่ายขาเดียว เรายืนบนขาข้างเดียวว่าเรามีปัญญากัน เรามีความรู้สึกนึกคิดกัน แต่เราไม่คิดว่าปัญญาอย่างนี้คือปัญญาของกิเลสหมดเลย คือโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากภพ ปัญญาเกิดจากอวิชชา แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามานะ ใจมันสงบเป็นสมาธิๆ ถ้าเป็นสมาธิแล้วนี่ ฉะนั้น เวลากิริยาการภาวนาก็ได้บุญแล้ว แม้แต่เราโยน โทษนะ เราโยนอาหารให้สุนัขก็ได้บุญแล้ว เราโยนอาหารให้สุนัข เรามีอะไรเราแบ่งให้สัตว์มันกินเราก็ได้บุญแล้ว

นี่ไงบุญทำง่ายๆ แต่มันเป็นบุญโลกๆ ไง แล้วให้อาหารสุนัขเป็นบุญไหม? ไม่เป็นหรือ? เป็น นี่ไงเราทำงานเราเป็นคนที่เป็นบุญไหม? ก็เป็น เป็น มีบุญกับบาป ถ้ามึงไม่ทำบุญมึงก็ทำบาป มึงไม่ทำดีมึงก็รังแกเขา มึงก็เอาเปรียบเขา มึงก็ระรานเขา ถ้ามึงไม่ระรานเขามึงก็เป็นคนดี คนดีก็เป็นบุญ อ้าว ถูกต้อง นี่โลกียปัญญา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องโลกๆ ไง แต่ถ้าเราทำความสงบของใจใช่ไหมมันไม่ใช่คนอื่นแล้ว เวลาโลกุตตรปัญญามันเกิดมันไม่ใช่คนอื่นนะ ใจกูกับใจกูซัดกัน

ถ้ามีสมาธิขึ้นมามันจะเห็นกาย เวทนา จิต ธรรมในหัวใจ แล้วเวลาธรรมกับกิเลสมันซัดกันมันไม่เกี่ยวกับใครเลย เวลาวิปัสสนาญาณไม่เกี่ยวกับใครเลย เกี่ยวกับใจกูกับใจกูนี่แหละ เวลาโลกุตตรธรรมมันเกิดที่นี่ เกิดที่สติปัญญาซัดกันอยู่ กิเลสกับธรรมซัดกันกลางหัวใจนี่แหละ นี่โลกุตตรปัญญา มันซัดกันที่นี่ มันไม่เกี่ยวกับใครเลย ไม่เกี่ยวกับโลก ไม่เกี่ยวกับใคร ไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ ๒ ไม่เกี่ยวกับใครทั้งสิ้น เกี่ยวกับใจกูกับใจกูนี่แหละซัดกัน นี่ไงคนเป็นกับคนเป็น ตรงนี้มันก็จบไง ถ้ามันที่นี่แล้วมันก็วิปัสสนาไป มันก็ถูกต้องไง

ฉะนั้น เพราะเขาบอกว่า ก็หลวงพ่อพูดเอง บอกว่า “แม้แต่ไม่เป็นสมาธิก็เป็นบุญ” มันก็เป็นจริงๆ เพราะ เพราะในสังคมโลก ดูสิในครอบครัวหนึ่งมีปู่ ย่า ตา ยาย มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีหลาน มีเหลน ทีนี้เวลาเขาพูดเรื่องบุญๆ พูดให้เหลนฟัง สังคมมันหลากหลายก็พูดให้เหลนฟัง ไอ้ปู่มันบอกว่าเป็นบุญได้อย่างไร? เป็นบุญได้อย่างไร? อ้าว ถามเหลนสิเป็นบุญไหม? บุญในโลกนี้ ระดับความรู้สึกนึกคิดของคนมันกว้างขวางมาก ฉะนั้น สิ่งใดเราพูดให้ใครฟัง? พูดเพื่อประโยชน์กับใคร เราต้องคิดตรงนี้ด้วยสิ

ไม่ใช่ว่า แหม หลวงพ่อพูดอะไร บางคนถามปัญหานะจะบอกว่า หลวงพ่อตอบปัญหาเหมือนไม่ได้ตอบ ทุกคนบ่นมากเลยนะ หลวงพ่อตอบปัญหาเหมือนไม่ตอบเลย ตอบ ตอบแล้ว ฉะนั้น ตอบปัญหาแล้ว อันนี้จบนะ

ฉะนั้น ฟังอันนี้นะ อันนี้เราไม่ต้องตอบปัญหาเลย เราอ่านเฉยๆ แล้วฟังนะ

ข้อ ๘๐๓. อันนี้ฟังเทศน์เลยล่ะ นี่เวลาคนเทศน์มา นี่ผู้ปฏิบัติเทศน์มาให้ฟังนะ

ถาม : ข้อ ๘๐๓. เรื่อง “ฟังเทศน์”

รายงานผลการปฏิบัติครับ กราบนมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ วันนี้ผมขออนุญาตเล่าผลการปฏิบัติที่ผ่านมา พร้อมกับความเข้าใจที่มี เป็นการรายงานผลให้พระอาจารย์ได้ทราบครับ

ผลการปฏิบัติ ถ้าเปรียบสภาวะภายในระหว่างปัจจุบันกับเมื่อก่อนนี้ ผมพบว่าเมื่อก่อนผมค่อนข้างตึงมากพอสมควร ไม่ค่อยได้ผ่อนคลายเหมือนอย่างทุกวันนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกวันนี้ผมจะย่อหย่อนในการปฏิบัติแต่อย่างใด เพียงแต่รู้สึกว่าการปฏิบัติ การรู้ตัวต่างๆ มันมีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ไม่ได้รู้สึกว่าตึงหนักเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว ปฏิบัติพอสบายๆ แต่การมีสติระลึกรู้เป็นไปได้เร็วขึ้น กลับมารู้ตัวไวขึ้น เห็นใจตนเองมากขึ้น เห็นอาการของใจที่มันมีโลภ มีโกรธ มีหลงอยู่ได้เร็วขึ้น

ส่วนมากมักจะเห็นที่ความคิดก่อน บางทีก็ไปเห็นความคิดตอนจิตมันเกิดอาการไปแล้วก็มี ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะคิดเยอะ คิดตามอารมณ์ แต่ความคิดพวกนี้เชื่อไม่ได้ ถ้าใครไปหลงทำตามเข้า ชีวิตจะยุ่งยากมากขึ้น คนส่วนมากพอเกิดความกลุ้ม ความทุกข์ใจปุ๊บ มักจะพยายามคิดๆๆ คิดต่อเพื่อหาทางออกจากทุกข์ให้ได้ทันที คิดไม่ยอมหยุด มันเลยกลายเป็นเหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง คือวนอยู่ในโลกของความคิดของอารมณ์อันเก่าๆ นั่นเอง ไม่พ้นจากโลก จากอารมณ์เสียที

ความจริงที่ค้นพบได้คือ การคิดตอนจิตยังเกิดอารมณ์ เกิดอาการต่างๆ กับการคิดตอนจิตปกติ จิตสงบผ่อนคลายสบายๆ นั้น ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมาก เวลาเราคิดตอนจิตเกิดมันจะไม่ค่อยรอบคอบ ใจร้อน ความคิดมักแฝงไปด้วยความเอาตัวรอดลึกๆ ภายในเพราะความกลัว แต่ถ้าเราคิดตอนจิตปกติได้ มันจะมีเหตุมีผลกว่า สุขุมกว่า มีเมตตา รู้จักการให้อภัยเป็น และมองโลกในแง่ดีเป็นหลักเสมอ

ถ้าคนเราเข้าใจและตระหนักถึงความจริงตรงจุดนี้ได้ เวลาจะคิด จะพิจารณาอะไรให้รู้จักทำให้ใจสงบก่อน แล้วค่อยคิด ค่อยตัดสินใจใดๆ ลงไป สังคมน่าจะอยู่เย็นเป็นสุขมากขึ้นนะครับ คนน่าจะโลภน้อยลง หรือคิดเอาเปรียบคนอื่น สังคม ประเทศชาติ หรือแม้แต่โลกน้อยลง มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากจริงๆ ครับ

ทีนี้ผมขอย้อนกลับมาถึงตอนที่เรามีสติสัมปชัญญะ เรากลับมารู้ตัวไวขึ้น พอเรารู้ตัวแล้ว เรารู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องรู้จักละ รู้จักขัดเกลาจิตใจตนเองให้มันสะอาดบริสุทธิ์ หมดจดจากกิเลสให้ได้บ่อยๆ เสมอๆ ตัวไหนมันจะพาจิตใจเราไปเศร้าหมองได้ เมื่อเราเข้าใจแล้ว รู้โทษของมันแล้ว เราก็ต้องรู้จักละมันออกไป อันไหนมันคือนิสัยที่ไม่ดีของเรา บางทีก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน บางทีเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างก็ช่วยสอนเราได้เหมือนกัน พอเรารู้ตัว อ่านตัวเองออก เรารู้โทษแล้วเราก็ละมันออกจากจิต จากใจของเราทันทีเหมือนกัน เพราะถ้าขืนปล่อยมันไว้ มันจะเป็นมลทินฝังอยู่ในใจของเราตลอดไป ผมก็ค่อยๆ ละไปทีละอย่าง ๒ อย่าง

ผมมาสรุปได้ว่า ใหม่ๆ คนเรามันยังโง่อยู่มาก กิเลสมันก็ทับถมมานานแสนนาน สติก็ยังไม่ได้ฝึกได้หัดอะไรเลย พอเรามาฝึกปฏิบัติแบบนี้ มันก็ต้องหัดฝืน หัดข่ม หัดทวนกระแสให้มากก่อน ใหม่ๆ มันจึงทำให้เรารู้สึกอึดอัดบ้าง หนักบ้าง ไม่ผ่อนคลายเป็นธรรมดา ทั้งนี้เพราะเราเคยชินแต่การใช้วิธีเรียนรู้และแก้ปัญหาแบบโลกๆ พอให้มาเรียนรู้ในวิถีของจิตใจ ให้มาเรียนรู้กระบวนการทางใจมันก็เลยไปกันไม่เป็น ก็ต้องมาปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ศึกษากันใหม่ ทางโลกเขาใช้วิธีการจำ จำแล้วก็นำมาคิด คิดให้ตกผลึก แล้วก็ตั้งเป็นสูตรตายตัวเพื่อเอาไปใช้ แต่ทางธรรมมันไม่ใช่อย่างนั้น

เมื่อเริ่มเรียนรู้คือให้รู้จักหยุดคิด เริ่มตั้งแต่หยุดคิดให้ได้ให้เป็นก่อนเป็นต้นไป ให้กลับมามีสติสงบรับรู้อยู่กับปัจจุบันขณะจริงๆ ให้ได้ก่อน เพราะทุกข์ทั้งหลายมันเกิดจากการหลงคิดไปในอดีต ในอนาคต ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน เราไม่รอบคอบเอง เพราะสติปัญญาเราหยั่งลงไปไม่ถึงปัจจุบันจริงๆ บางทีเราก็สังเกตไม่ทัน เราก็มีแต่จะใจร้อนแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แก้ปัญหาชีวิตแบบเร่งรีบ ลวกๆ ไม่รอบคอบ ฉาบฉวย แล้วก็ติดสุข ติดเสพ หลงเพลินพอใจ หลงตัวเอง เราจึงต้องพากันวนเวียนเป็นทุกข์กันอยู่จนถึงทุกวันนี้

อีกอย่างหนึ่งเรายังขาดกัลยาณมิตร ขาดผู้มีปัญญาที่แท้จริงที่จะมาช่วยชี้แนะให้เรา หรือบางทีชี้ให้เราไม่เอาก็มี อันนี้ก็โทษใครไม่ได้ต้องโทษตัวเอง โทษการกระทำของตนเอง มันบังตา บังใจเราไว้ ทั้งจากอดีตกาลจนถึงปัจจุบันกาลนั่นเอง ก็อยากเหมือนกับครับ ทีนี้พอเริ่มมีสติรู้เท่าทันความคิด เท่าทันอารมณ์ได้มากขึ้นแล้ว ก็ต้องรู้จักสังเกตทำความเข้าใจไปด้วย จิตปกติ จิตไม่ปกติ เราต้องรู้ ต้องแยกให้ออก อันไหนคือความคิดที่มันเข้ามาปรุงแต่งจิตให้เกิดอาการ อันไหนเป็นตัวจิต ความคิดที่เกิดจากตัวจิต ความคิดที่เกิดจากขันธ์ ๕ อาการของขันธ์ ๕ ต้องแยก ต้องคลายออกมาทำความเข้าใจให้หมด ค่อยๆ สังเกต ค่อยๆ ศึกษาไป ใจต้องนิ่ง ต้องสงบ และต้องใช้เวลา

ถ้าเราแยกได้ คลายได้ เราเข้าใจตรงนี้ได้ มันก็จะคลายความสงสัยได้ อัตตามันก็มาจากพวกนี้เอง ก่ออัตตาตัวตนขึ้นมา ก่อภพ ก่อชาติขึ้นมา พอมาเข้าใจตรงนี้ได้มันก็ทำให้เราเกิดกำลังใจมั่นคง ทำให้เราเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยว่ามีจริง มรรค ผลมีจริง รู้จักว่าทางใดถูก ทางใดผิด เราเห็นทางข้างหน้าชัดเจน ต่อไปเราก็สังเกตไปเรื่อยๆ ทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ ปรับปรุงตัวเองไปเรื่อยๆ จิตมันเกิดก็รู้จักดับ รู้จักควบคุม ต่อไปเมื่อมันเต็มที่ เต็มรอบของมันแล้วมันก็จะวางได้เอง

พอจิตมันรู้จักจุดปล่อย จุดวางเป็นแล้ว ทีนี้มันก็มีความเป็นธรรมชาติมากขึ้น ผ่อนคลายสบายๆ ขึ้น แต่มีสติ มีปัญญาแจ่มชัดขึ้น เครื่องไม้ เครื่องมือเราดี เรารู้จักวิธีการเอาไปใช้ รู้จักการปล่อยวาง สภาพจิตใจเราก็ดีขึ้น ก็โล่ง โปร่ง ผ่อนคลาย สบายๆ มากขึ้น ความเครียดก็ลดน้อยลง ลดน้อยลง เรารู้ว่าอะไรมันทำให้เราเครียด ทำให้เราหลง หมักหมมจนแค่หมกมุ่นเราก็ไม่เอา นี่กระมังที่เขาเรียกว่า “จิตมันหงาย”

แต่ก่อนจิตมันคว่ำอยู่ กลัวไปหมด ระวังไปหมด เครียดไปหมด แต่พอเข้าใจเต็มที่ พอปล่อยวางได้ ปล่อยวางเป็นแล้วมันก็เลยสบายใจขึ้น ใจเป็นอิสระมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หลงระเริงไปกับมัน ก็เหมือนกับการเลี้ยงเด็กเล็กๆ เราก็ต้องปล่อยให้เขาวิ่งเล่นตามประสา แต่ก็ดูแลอยู่กับร่องกับรอย ประมาณนั้น ต่อไปเราก็รู้จักบริหารจิต บริหารความคิดของเราด้วยสติ ด้วยปัญญาเอา พัฒนากายไปด้วย พัฒนาจิตไปด้วย นิสัยอันใดมันแย่ๆ ไม่มีประโยชน์ เป็นมลทินแก่จิตใจ รู้แล้วหมั่นละ หมั่นขัดเกลาไปเรื่อยๆ เจริญสติต่อไปเรื่อยๆ ทางไหนที่มันทำให้เราเสื่อม เรารู้แล้วเราก็ไม่ไปทางนั้น

บางทีเราก็ยังเดินตกหลุม ตกร่องบ้าง กว่าจะเดินมาถึงจุดนี้ล้มลุกคลุกคลานไม่น้อย ผิดพลาดมาเยอะ ทำเรื่องโง่ๆ มาก็เยอะ แต่พอมาถึงวันนี้กลับรู้สึกขอบคุณกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมา ไม่ว่าดีก็ตาม ชั่วก็ตาม มันเป็นครูสอนเราให้เกิดปัญญาได้ทั้งหมด ปัจจุบัน ธรรมะที่คอยหล่อเลี้ยงรักษาไว้คือเราต้องไม่ประมาท ไม่เพลิน ต้องมีความละอาย เกรงกลัวต่อบาป ต้องไม่เย่อหยิ่งทรนงตน แต่ก็ไม่เสแสร้ง ดัดจริต เพียรละกิเลสออกจากจิต จากใจไปเรื่อยๆ หมั่นพิจารณาจิตใจให้มันชุ่มชื่น แจ่มแจ้งอยู่เสมอ ลดการหมกมุ่น กายก็จะกระปรี้ประเปร่าได้ก็ต้องไปดูแลเรื่องการกิน การอยู่ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่างๆ

สรุปว่าทางโลกกับทางธรรม มันต้องทำไปควบคู่กันไปตลอดสาย โลกไม่ให้ช้ำ ธรรมก็ต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางอย่างนี้เองนะครับ กราบขอบพระคุณพ่อแม่ครูอาจารย์ที่คอยเมตตาชี้แนะมาตลอด ถึงไม่ได้มาวัด ก็ได้สดับตรับฟังธรรมของอาจารย์อยู่เรื่อยๆ ตามสมควรเหมือนกันครับ กราบนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูง

หลวงพ่อ : สาธุ ฟังเทศน์ เขาเทศน์ให้ฟังกัณฑ์หนึ่ง จบ เอวัง