เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๔ มี.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ทำความสงบของใจนะ มันจะทำความสงบได้อย่างไร ในเมื่อเราประเคนของมันกำลังยุ่งเหยิงไปหมดเลย แล้วพอวางมือปั๊บก็จะให้จิตสงบไง จิตสงบหมายความว่าตั้งใจ ความตั้งใจ เสียงมันจะมากระทบเราเอง เห็นไหม

ดูสิในสังคมใดสังคมหนึ่ง ถ้าทำธุรกิจการค้านะ ถ้ามีเงินปลอม แบงก์ปลอมเข้าไป ธุรกิจการค้าในสังคมนั้นปั่นป่วนเลย เพราะอะไร? เพราะเขาไม่ต้องการแบงก์ปลอม พอแบงก์ปลอมเข้าไปเขาต้องตรวจสอบ เขาต้องเช็คเลยว่า แบงก์นี้จริงหรือแบงก์นี้ปลอม แล้วถ้าแบงก์ปลอมเขาจะใช้ในเวลาสลัวๆ เวลาค่ำคืน เขาไม่กล้าใช้ในที่โจ่งแจ้ง เพราะของนั้นไม่ใช่ของจริง

ในการประพฤติปฏิบัติเราก็เหมือนกัน ถ้าในการประพฤติปฏิบัติเรานะ ดูสิเวลาสังคมที่เขาใช้แบงก์ปลอมกัน เห็นไหม เขาจะปั่นป่วนไปหมดเลย มีแต่ความระแวง มีแต่ความไม่ไว้ใจกัน มีแต่การตรวจสอบกัน เพราะอะไร? เพราะมันไว้ใจกันไม่ได้ ฉะนั้น ถ้าไว้ใจกันไม่ได้ สังคมมันจะปั่นป่วนมาก แต่ แต่ถ้าสังคมไหนเขาใช้แบงก์ของเขาโดยความเป็นจริง เขารับแบงก์ของเขา เขาทำของเขาด้วยความมั่นใจ เขาทำอย่างไรก็ได้ เขาทำด้วยความอบอุ่นใจ เขาไม่มีความหวาดระแวง

นี่ก็เหมือนกัน สังคมนั้นจะสงบเรียบร้อย ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าเราปฏิบัติในสังคมไหน สังคมไหนที่ใช้แบงก์ปลอม แบงก์ปลอมเวลาปฏิบัติ เห็นไหม คือสัจธรรมอันนั้นมันเป็นเรื่องของโลกๆ ถ้าสัจธรรมเป็นเรื่องโลกมันไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริงแต่มันเข้ากันได้ไง มันเข้าได้กับหัวใจที่เป็นโลกๆ นี้ไง

เวลาเป็นตรรกะ ปรัชญานี่เราเข้าใจได้ แต่เวลาธรรมะเป็นความจริงขึ้นมาเราเข้าใจไม่ได้ มันกลับว่าที่ไหนปฏิบัติด้วยความจอมปลอมคนเยอะนะ ที่ไหนปฏิบัติด้วยความเป็นจริงนะคนไม่มี ไม่มีเพราะอะไร? ดูสังคมที่เขาเรียบร้อยสิ สังคมที่เขาสงบร่มเย็นของเขา มันสงบร่มเย็น มันดูแล้วมันเป็นเรื่องปกติ แต่สังคมไหนมันวุ่นวาย คนมันเยอะ นี่สังคมนั้นเขาว่าเป็นสังคมที่แบบว่ามันปลอดภัย แต่เวลาปลอดภัยไง ปลอดภัยนั่นแหละเขากำลังจะล้วงตับ แต่สังคมที่สงบสุขร่มเย็น อันนั้นเป็นความจริง

ในการประพฤติปฏิบัติของเรา สัจธรรม เห็นไหม สัจธรรมความจริง ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามา มันรู้ของมันได้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม แต่ถ้าใจมันสงบไม่ได้ มันไม่มีสิ่งใดว่าอะไรผิด อะไรถูก ถ้าอะไรผิด ผิดคืออะไร? ผิดคือความที่เราตะครุบกันอยู่นี่ เราพยายามขวนขวายกันอยู่นี่ มันมีอะไรเป็นความถูกต้องบ้าง แต่มันว่ามันสบายๆ สบายๆ มันก็เรื่องโลกๆ ไง มือเราหยิบของสิ่งใดมันก็มีความรู้สึก คลายมือออกมันก็จบ ก็เท่านั้นเอง แล้วมือนั้นทำอะไรต่อ?

นี่ไง แต่ถ้ามันทำความสงบของใจใช่ไหม? ถ้าใจมันสงบเข้ามานี่ เรารู้อยู่มือเราเคยกำสิ่งใดไว้ ถ้ามันเป็นไฟ มันเป็นถ่านร้อนๆ เราได้วางแล้ว มือเราก็สบาย มือเราได้จับสิ่งใดที่มันเป็นของหนัก เราวางแล้ว มันก็เป็นความหนักหน่วงก็วางไป มือเราจับสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างเช่นจับเงิน มันเป็นความดีของเรา เราก็รู้ของเรา นี่เวลาจับเราก็รู้ เวลาวางเราก็รู้ แล้วถ้าเราจับเราก็รู้ เราวางเราก็รู้ เห็นไหม มันรู้ความหนักกับรู้ความปล่อยวาง

จิต จิตถ้ามันหนักหน่วงของมัน แล้วมันปล่อยวางมันเป็นอย่างไร? นี่ถ้ามันปล่อยวาง มันจะเป็นความจริงของมัน ถ้าเป็นความจริงของมัน เห็นไหม เงิน ถ้าเป็นเงินปลอมนะ เขาต้องใช้ในที่พลุกพล่าน ในที่สลัว เพื่อความไม่มีการตรวจสอบ แต่เวลาเขาตรวจสอบกันเขาตรวจสอบกันที่ไหน? เขาตรวจสอบที่ธนาคาร เขาตรวจสอบที่ผู้ชำนาญการ ถ้าผู้ชำนาญการเขาตรวจสอบกัน เขารู้ว่าถูกหรือผิด แต่โดยแม่ค้าในท้องตลาด นี่ยิ่งค้ายิ่งขายด้วย ยิ่งเวลาทอนเงินมันไม่ได้สังเกต มันไม่ได้ดู เวลามาดูก็ยังงงๆ อยู่นะ แต่ถ้าผู้ชำนาญการเขารู้ของเขาได้ เงินเขาจะรู้ได้ต่อเมื่อผู้ชำนาญการเขาตรวจสอบว่าเงินนั้นเป็นเงินจริงหรือเงินปลอม

ในการประพฤติปฏิบัติถ้าเป็นธรรม เห็นไหม ธรรมผู้ที่เป็นความจริงขึ้นมา ธรรมผู้นั้น ผู้ที่กระทำ ครูบาอาจารย์ของเรา ท่านได้ผ่านสิ่งนั้นมาแล้ว ท่านจะรู้ว่าสิ่งใดเป็นจริงหรือปลอม แม้แต่อ้าปากก็รู้แล้วว่าจริงหรือปลอม เพราะ เพราะที่มามันแตกต่างกัน ที่มาไง ที่มาถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้ ครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ไม่ได้สบประมาทนะ ท่านบอก “แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่ต่อหน้าก็ไม่ถาม” ถ้าถามแสดงว่าเราไม่มั่นใจตัวเราเองสิ แต่ถ้าเรามั่นใจ เรามั่นใจอย่างไร?

สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องดีงาม รื้อค้นเท่าไหร่มันก็ถูก นี่ถ้าแบงก์มันเป็นความจริงขึ้นมา ไปตรวจสอบที่ไหนมันก็ถูก ถ้ามันตรวจสอบนะ แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริงมันตรวจสอบที่ไหนมันก็ผิด ถ้ามันผิดขึ้นมา สิ่งที่ผิด เห็นไหม แบงก์ เงินทองที่มันจะมานะ มันต้องมีประวัติศาสตร์ของมัน ดูสิดูการกระทำนะ แบงก์เวลาที่เขาปลอมแปลงขึ้นมา เขาทำได้สวยกว่า ได้แนบเนียนกว่าก็มี แต่มันไม่มีค่า แต่ถ้าคนที่มือไม่ถึง ทำมาแล้วมันหยาบๆ มันดูรู้ได้เลย แต่ถ้าเป็นแบงก์ของรัฐบาลเขาพิมพ์ออกมาจากธนาคารชาติ มันมีประวัติศาสตร์ของมันไง

มันมีชาติ มันมีสังคม มันมีการเกื้อหนุนกัน มันถึงมีคุณค่าของมัน มันมีคุณค่าของมันเพราะมันมีราคาในตัวของมัน ในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันมีราคาในตัวของมันไง ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันมีราคา มีค่าของมัน ถ้ามันเป็นความจอมปลอมล่ะมันไม่มีค่าของมัน เศษกระดาษมันไม่มีค่า สิ่งที่ได้มาได้ง่ายมันไม่มีค่า

นี่ก็เหมือนกัน ความไม่มีค่าในการปฏิบัติที่มันเป็นความจริงหรือความปลอมใช่ไหม? ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งที่เรามาทำความจริง ความจริงกับความจริงมันเข้ากัน ถ้าความจริงกับความจริงเข้ากัน เริ่มต้นเราต้องจริงของเราก่อน คำว่าจริงนะ แต่ถ้าจริงขึ้นมา ความจริงของเรา เรามุมานะของเรา ความพยายามของเรา แต่ถ้ามันยังไม่ได้ผลตามความเป็นจริงล่ะ? นี่เราทำความจริงแล้วมันยังไม่ได้ผล แต่ทำความจริงแล้ว ความจริงกับความจริงมันเข้ากัน ความจริงมันไม่ได้ผลขึ้นมา เพราะว่ามันมีสัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ถ้ามิจฉาทิฏฐิขึ้นมา เราจริงของเรา

เราจริงของเรานะ แต่เราจริงแบบโลก เพราะเราเกิดมาในโลกใช่ไหม มีอวิชชาครอบงำในหัวใจอยู่ เรามีความจริง เรามีความมุมานะของเรานี่แหละ มีความจริงจังมาก แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง สัมมาทิฏฐิ เห็นไหม สัมมาทิฏฐิ ถ้าความจริงของเรา เราปฏิบัติตามความเป็นจริงของเรา ถูกต้องดีงามของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านตรัสรู้แล้วท่านบอกว่า เราตรัสรู้เองโดยชอบ เราตรัสรู้เองโดยชอบใช่ไหม แต่คนที่เขาปฏิญาณตนขึ้นมา เขาบอกเขาเป็นพระอรหันต์ๆ เขาเป็นศาสดาทั้งนั้นแหละ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ เขาว่าเขาเป็นศาสดาหมดเลย แต่เขาตรัสรู้เองโดยไม่ชอบ! ไม่ชอบเพราะเขาเข้าใจว่าเขาตรัสรู้ไง เขาเป็นศาสดา เขาเป็นพระอรหันต์ แต่ไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะอะไร? ไม่ชอบเพราะเวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษาเล่าเรียนกับเขา นี่ไปศึกษาเล่าเรียนกับเขา เวลาไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบสได้สมาบัติ ๘ เจ้าชายสิทธัตถะนั้นมีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเหมือนเรา สั่งสอนได้

คำว่าเหมือนเรา นี่เหมือนเรานะ แต่เจ้าชายสิทธัตถะเข้าสมาบัติมันยังไม่ได้แก้กิเลสเลย ท่านไม่เชื่อนะ ท่านไม่เชื่อ ขนาดว่าครูบาอาจารย์ยกย่องท่านนั่นน่ะ มีความรู้เสมอเรา มีความเห็นเหมือนเรา สั่งสอนได้แล้ว เป็นอาจารย์ได้ สอนใครก็ได้ คนนี้เก่งมาก ถ้าเป็นพวกเราตูดลอยเลย แต่เจ้าชายสิทธัตถะไม่เอา ไม่ใช่ เพราะทุกข์ในหัวใจเรารู้อยู่ ใครจะส่งเสริม ใครจะเยินยอเราขนาดไหน แต่ความทุกข์ในหัวใจเรามันมีอยู่

นี่มันไม่ชอบ ไม่ชอบเพราะมันมี มันมีแอบแฝง มันมีสิ่งใดมีความลังเลสงสัยในหัวใจคือไม่ชอบ แต่เขาเข้าใจว่าเขาตรัสรู้ เห็นไหม นี่ตรัสรู้เองโดยไม่ชอบ บรรลุธรรมด้วยความไม่ชอบ รู้ธรรมด้วยความไม่ชอบ ไม่ชอบคือว่ารู้ด้วยการศึกษา รู้ด้วยความเป็นไป แต่มันไม่จริง แต่ถ้ามันเป็นความชอบ ความชอบธรรมของมัน เห็นไหม นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เวลาเทศนาว่าการ “เราตรัสรู้เองโดยชอบ” โดยชอบธรรม ชอบธรรมคือสัมมาทิฏฐิ ความถูกต้องดีงาม

สัมมาทิฏฐิ เห็นไหม นี่ปัญญาชอบ ทุกอย่างชอบ ความเพียรชอบ ทีนี้ความเพียรชอบ ในการประพฤติปฏิบัติเรา ที่เราประพฤติปฏิบัติกันด้วยความจริงจัง เราต้องการความชอบธรรม แต่ แต่ในเมื่อเรามีกิเลส คำว่ากิเลสนะ อวิชชาคือความไม่รู้ ดูสิเวลาเราเข้าใจผิดเราไม่รู้ เราโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลย แต่พอเราเข้าใจได้ เฮ้อ เราเข้าใจผิด นี่ทำไมมันปล่อยวางได้ล่ะ? แต่เวลาถ้าเราไม่เข้าใจเราหัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยนะ เราโกรธมาก เพราะความเห็นอันนี้มันเป็นความผิด แต่พอมีคนมาให้เหตุผลว่า มันไม่ใช่เป็นอย่างนั้น เราเข้าใจผิด เราฟังมาผิด โฮ้ มันหมดเลยนะ สิ่งที่มันฝังในหัวใจมันหมดเลย

นี่สิ่งที่ตรัสรู้เองโดยชอบ ความชอบธรรม ถ้าไม่ชอบมันมีความสงสัยอยู่ มันมีสิ่งใดตกตะกอนอยู่ มันมี มันมีของมัน ตะกอนนอนก้นนะ ถ้าขยับตะกอนมันก็กระจายตัวของมัน นี่มีอวิชชาอยู่ มีความไม่เข้าใจอยู่ อย่างไรมันก็มี แต่อวิชชากับอวิชชามันเข้ากันไง มันเข้ากันว่าไม่มีไอ้นี่มันก็เป็นธรรมดาของมันอย่างนี้เอง ธรรมะเป็นธรรมชาติ ความว่างก็เป็นแบบนี้ เห็นไหม ทั้งๆ ที่มี ทั้งๆ ที่อยู่ต่อหน้ามัน มันยังไหลไปตามกันเลย

นี่ความไม่รู้ไง เพราะมันไม่รู้ตัวมันเอง ไม่รู้สิ่งใดๆ เลย แต่ถ้ามันรู้นะ นี่ที่ไหนมีภวาสวะ นี่ไงกิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ อวิชชาคือความไม่รู้ กิเลส เห็นไหม กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ภวาสวะ ภพไง ถ้ามีภพ มีสถานที่อยู่ มันมี จิตเดิมแท้นี้ผ่องใสๆ นี่มันมี ถ้ามันมี มันมีก็คือตัวกิเลสไง นี่ตัวภวาสวะ ตัวภพ สถานที่ ถ้าที่ไหนมี มารหัวเราะเลยนะ มารมันเห็นไง มารมันเห็นร่อง เห็นรอย เห็นเค้า เห็นโครง เห็นหมดเลย มารมันสามารถตะครุบได้ ตะปบได้ แต่ถ้าสิ้นกิเลสแล้วนะ

ดูสิพระสมัยพุทธกาลเวลาสิ้นกิเลสนะ สันตกายปฏิบัติจนสิ้นกิเลส มารพยายามค้นคว้า ค้นหาใหญ่ ฝุ่นนี้ตลบเต็มท้องฟ้าเลยนะ นี้อยู่ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าบอก “มารเอย เธอไม่ต้องหาหรอก เธอหาไม่เจอหรอก หาอย่างไรก็หาลูกศิษย์ของเราไม่เจอ เพราะลูกศิษย์ของเราสิ้นกิเลสแล้ว สิ้นกิเลสสวะ”

อวิชชาสวะคือความไม่รู้ อวิชชาสวะ สิ้นภวาสวะ สิ้นภพ สิ้นชาติ สิ้นทุกอย่าง มึงจะหาที่ไหน? มารรื้อค้นรื้อหานะ เห็นไหม คำว่ามารรื้อค้นรื้อหา นี่ย้อนกลับมา ย้อนกลับว่ามารมันตระหนี่ถี่เหนียวขนาดนี้ จิตใจดวงหนึ่งจะพ้นจากมันไปมันก็ไม่ยอม มันต้องการภวาสวะ ต้องการภพ ต้องการจิตใจของสัตว์โลกเป็นที่อยู่อาศัย ให้มันขับถ่ายกิเลสตัณหาความทะยานอยากไว้บนภวาสวะ บนภพที่มันต้องการ ที่มันจะอาศัยอยู่ แล้วนี่ภวาสวะ ปฏิสนธิจิตก็พาให้เรามาเกิดมาตายอยู่นี่ไง แล้วมารมันครอบงำอยู่ มารมันครอบงำหัวใจของเราอยู่ เราจะมีความสุขมาจากไหน? เราจะหาความสุขมาจากไหน?

ถ้าเราหาความสุขไม่ได้ เราเชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราอยากประพฤติปฏิบัติเพื่อจะประสบสัมผัสกับธรรม เห็นไหม เราจะต้องเข้มแข็ง ปฏิบัติจะล้มลุกคลุกคลานก็ทน จะยากลำบากก็ทน ในเมื่อเราทำมาหากิน เราอยู่กับโลกมา เราก็ทุกข์ยากมาขนาดนี้ แล้วเราจะพ้นไปจากมัน เราจะมาทำจับจด เราจะมาทำแบบมักง่าย มันจะมาจากไหน? แม้แต่เราทำหน้าที่การงาน เราต้องละเอียดรอบคอบ เราขาดสติปัญญา คนก็จะมาคดมาโกง มาแย่งมาชิงความดีของเราไป แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา ในหัวใจของเรา มารมันคอยผลักไส มารมันคอยตะแบง มารมันคอยเบี่ยงเบนให้การประพฤติปฏิบัติของเราล้มเหลวไป

ฉะนั้น เวลาเราว่าเราจริงๆ แล้ว เราจริงแล้วเราต้องได้ความจริงขึ้นมาสิ เราจะปฏิบัติจริง แต่กิเลสมันก็มีกำลังของมัน เห็นไหม มันก็มาเบี่ยงเบน มันก็มาขัดแย้ง มาทำให้การปฏิบัติของเราล้มลุกคลุกคลานไป เราจะต้องมีสติ มีปัญญาของเรา ตรวจสอบของเรา ยืนหยัดของเรา แล้วพิสูจน์ของเราว่าสิ่งใดมันผิด สิ่งใดมันถูก ถ้าสิ่งใดมันถูกขึ้นมานะมันจะมีความร่มเย็นของมัน มีความร่มเย็นเพราะเหตุใด? เพราะมันมีเหตุ มีผล มันมีสติ มีปัญญา

คนเป็นไข้ ได้กินยารักษาไข้แล้ว ไข้นั้นหายไปจากร่างกาย เราก็รู้ว่าหายจากไข้ จิตใจถ้ามันมีกิเลสตัณหาอยู่ในหัวใจ มันมีสติปัญญาใคร่ครวญของมัน มันก็รู้ของมัน มันร่มเย็นของมันอย่างไร เห็นไหม นี่ความสงสัยมันจะมีได้อย่างไร ในเมื่อเรามีสติ มีปัญญาใคร่ครวญของเรา แยกแยะของเรา ดูแลของเรา นี่แบงก์จริงๆ เงินจริงๆ ผลจริงๆ มันจะเกิดกับเราไง

ถ้าผลจริงๆ ผลจริงๆ เกิดกับเรา เราต้องมุ่งมั่น ต้องมีความมุมานะ ก็บอกว่าอันนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค การปฏิบัติต้องนุ่มนวล การปฏิบัติต้องนอนให้มารมันขี่คอไง เวลาไปวัดก็นอนนะ ถึงเวลาแล้วเขาก็เอาอาหารมาส่งนะ มารมันก็ขี่หัวไว้ไง บอกว่าปฏิบัติอย่างนี้ นุ่มนวลอย่างนี้ นี่การปฏิบัติธรรม แต่ถ้าวัดป่า การปฏิบัติมุมานะ อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เวลากิเลสมันขี้รดบนหัวนะ เวลาเจ็บช้ำน้ำใจนะมันไม่บอกว่าอันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค เวลามันทุกข์ในใจของมันนะ มันเก็บไว้ในหัวใจ ทำหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แต่หัวใจมันเผาลน แต่เวลาจะเอาจริงกับมัน เราจะดูแลมัน บอกว่าอันนี้เป็นอัตตกิลมถานุโยค นั้นเป็นความคิดของโลกนะ

นี่ถ้าว่าความมุมานะ ความเข้มแข็งขึ้นมา อันนั้นเป็นอัตตกิลมถานุโยค อันนี้เป็นพวกขี้ครอก ไอ้พวกขี้ทุกข์มันทำกัน ไอ้เรามาปฏิบัติสบายๆ ไอ้เราจะนอนให้มารมันขี่คอ นี่พอเสนอมาอย่างนี้ แบงก์จริง แบงก์ปลอม สังคมจริง สังคมปลอม ธรรมะจริง ธรรมะปลอม แล้วเรามีสิทธิเลือกเฟ้นเอง เรามีสติปัญญา เราจะแยกแยะของเรา อะไรจะเป็นประโยชน์จริง ประโยชน์ปลอมสำหรับชีวิตเรา เอวัง