ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม้ต่างสี

๑o มี.ค. ๒๕๕๕

 

ไม้ต่างสี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๘๐๖. เนาะ นี่ว่าจะไปโรงพยาบาล

ถาม : ข้อ ๘๐๖. เรื่อง “ไปสวดมนต์ให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลฟัง มีความรู้สึกว่าเหมือนโดนดูดพลัง และรู้สึกอ่อนเพลีย”

กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมไปสวดมนต์ให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาล สวดคนเดียว สวดมนต์เย็น สวดธัมมจักฯ แล้วแผ่เมตตา ในระหว่างที่สวดมีความรู้สึกว่าเหมือนโดนดูดพลังและรู้สึกอ่อนเพลีย กลับมาที่บ้านรู้สึกไม่สบายอาทิตย์กว่าๆ จึงกราบเรียนถามอาจารย์ดังนี้

๑. บทธัมมจักฯ สามารถสวดที่โรงพยาบาลได้หรือไม่?

๒. เหตุใดโยมสวดมนต์ทำวัตรเย็น สวดบทธัมมจักฯ และแผ่เมตตาที่โรงพยาบาล แต่ในระหว่างที่สวดมีความรู้สึกว่าเหมือนโดนดูดพลัง และรู้สึกอ่อนเพลีย กลับมาที่บ้านรู้สึกไม่สบายอาทิตย์กว่าๆ

๓. เคยอ่านหนังสือเขียนไว้ว่า “ห้ามยืนบริเวณศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้าของคนใกล้ตาย เนื่องจากจะมีพวกภูต ผี วิญญาณดูดกินน้ำเหลืองของคนใกล้ตาย ถ้าไปยืนบริเวณดังกล่าวอาจถูกพวกภูต ผี วิญญาณรุมทำร้ายเอา” จริงหรือไม่เจ้าคะ

ตอบ : เอาข้อที่ ๑. ก่อน

ข้อ ๑. สวดธัมมจักฯ มันสามารถสวดที่ไหนก็ได้ สวดที่โรงพยาบาลก็ได้ สวดบทธัมมจักฯ เห็นไหม ดูสิเวลาเขาสวดมนต์ สวดบทธัมมจักฯ มันจะเป็นงานใหญ่ ฉะนั้น การสวดมนต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เป็นครั้งแรก

ทีนี้สวดธัมมจักฯ สวดที่ไหนก็ได้ ถามว่าสวดที่ไหนได้ไหม? สวดได้ เพียงแต่ว่ากาลเทศะ การสวดมนต์มันต้องสวดในที่เป็นระเบียบเรียบร้อยใช่ไหม? เราไม่ได้สวดที่คนสัญจรไปมามาก เราจะหาที่บริเวณของเรา แล้วสวดมนต์ของเรา อย่างเช่นในบ้านของเรา เราก็มีห้องพระของเราใช่ไหม? เวลาสวดมนต์ เวลาพระ ถ้าทำวัตรเราก็ทำพร้อมกันที่ศาลา แต่เวลาพระเราอยู่ในป่าในเขา หลวงตาท่านบอกว่าท่านอยู่ในป่าในเขานะท่านสมมุติเอา สมมุติเอาว่าตานี่เป็นเทียน นิ้วเป็นดอกไม้ นี่นึกเอา แล้วสวด แล้วกราบเลย เราสวดด้วยความถึงหัวใจ

ฉะนั้น เวลาสวดในป่าในเขานะ ไปองค์เดียว ไปธุดงค์ เราก็สวดมนต์ทำวัตรเหมือนกัน นี่เวลาพระอยู่ที่นี่ เห็นไหม วันปกติเราก็สวดมนต์ที่กุฏิของใคร กุฏิของมัน ร้านใครร้านมัน เพราะ เพราะอยู่กับหลวงตา อยู่ที่ครูบาอาจารย์ท่านทำอย่างนี้ ท่านทำอย่างนี้ท่านหมายความว่า ถ้าทำพร้อมกัน คนชอบสวดบทนั้น คนชอบสวดบทนี้ คนชอบสวดสั้น คนชอบสวดยาว แล้วนั่งสมาธิพร้อมกันก็เหมือนกัน บางคนนั่งที ๒-๓ ชั่วโมง บางคนนั่งที ๗-๘ ชั่วโมง บางคนนั่งสักพักหนึ่ง แบบว่ามันไม่ค่อยสะดวกท่านถึงให้ทำส่วนตัว

การทำส่วนตัวของเราหมายความว่าทุกคนได้สะดวกสบาย ใครจะนั่งทั้งคืนก็ได้ ใครจะนั่ง ๓ วัน ๔ วันก็นั่งไป มันทำได้สะดวกไง ทีนี้มันเสียอย่างเดียว เสียอย่างเดียวพอทำส่วนตัวมันขี้เกียจ แล้วมันก็แอบ มันไม่ค่อยอยากทำ ถ้าทำที่บนศาลา ถ้าเรานั่งครึ่งชั่วโมง เขานั่ง ๒ ชั่วโมงก็ยังลากกันไป ทนเอา ไม่ได้ก็ทนเอา มันดีตรงฝึกผู้ปฏิบัติใหม่ แต่เวลานั่งไปแล้ว มันถึงเวลาคนจิตมันจะดีๆ แล้วเลิก นี่ท่านก็เลยแยกให้ทำเป็นส่วนตัว ทีนี้การทำส่วนตัว นี่ส่วนตัวนะ

ฉะนั้น สวดบทธัมมจักฯ มันเป็นมงคล ความเป็นมงคลมันเป็นสิ่งที่ดี สวดไปแล้วมันจะมีโทษมันไม่มีหรอก มันมีแต่คุณงามความดี นี่ถามว่าสวดที่โรงพยาบาลได้ไหม? ได้ สวดที่ไหนก็ได้ แต่ แต่ให้เป็นกิจจะลักษณะ คือหลบเขา อย่าไปสวดขวางทางเขา อย่าไปทำที่พลุกพล่าน นี่เราทำได้หมดแหละ

ทีนี้ข้อ ๒.

ถาม : ๒. เหตุใดโยมสวดมนต์ทำวัตรเย็น สวดบทธัมมจักฯ และแผ่เมตตาที่โรงพยาบาล แต่ในระหว่างที่สวดมีความรู้สึกว่าเหมือนโดนดูดพลัง และรู้สึกอ่อนเพลีย กลับมาที่บ้านรู้สึกไม่สบายเป็นอาทิตย์

ตอบ : อืม อันนี้มันคนละเรื่องแล้วแหละ เวลาหลวงตาท่านบอกว่าโรงพยาบาลนี่นะ ถ้าคนเข้าไปรักษาหายก็ออกมา คนเข้าไปรักษาไม่หายก็ตายอยู่ที่นั่น ฉะนั้น เวลาเราติดเชื้อ เห็นไหม นี่ที่โรงพยาบาลเชื้อจะมีมากที่สุด เพราะว่าคนเจ็บ คนป่วยมันอยู่ที่นั่น จิตวิญญาณเวลาเกิด เดี๋ยวนี้ทะเบียนบ้านไปดูสิ เกิดที่ไหน? เกิดที่โรงพยาบาล ใครๆ ก็เกิดที่โรงพยาบาลทั้งนั้นแหละ เกิดก็เกิดที่นั่น ตายก็ตายที่นั่น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจิตวิญญาณ สิ่งนั่นน่ะมี มีทั้งดี และมีทั้งที่ว่า ในสังคมทุกสังคมนะ ทั้งสังคมมนุษย์ สังคมผี สังคมต่างๆ มีทั้งดีและไม่ดี ฉะนั้น เวลาไปสวด ถ้าเป็นบุญ นี่ถ้าภูต ผี ปิศาจ ถ้าดีเขาเรียกว่าเทพ ถ้าไม่ดีเขาก็เรียกว่าผี สิ่งนั้นถ้าสวดแล้วเขาต้องอนุโมทนากับเรา ถ้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าสิ่งที่ไม่ดี ที่มีพลังดูดอะไรนี่มันต้องมีอย่างนี้ มันต้องมีว่านี่เวลาคนไปสวดมนต์ที่โรงพยาบาล เขาก็สวดกันเป็นร้อย เป็นพัน ทำไมคนอื่นไม่โดน มาโดนที่เราล่ะ?

นี่มันต้องมีเวร มีกรรมไง คำว่ามีเวร มีกรรม ทำไมเราถึงเป็นอย่างนั้น? ทำไมเราถึงเป็นอย่างนั้น? คนอื่นก็ทำเหมือนเรา แล้วเขาได้ผลด้วยนะ ไปทำที่นั่นแล้วเขาได้บุญกุศล เขาได้คุณงามความดี เราก็ไปทำที่นั่นเหมือนกัน ทำไมเราทำแล้วเราโดนพลังดูดล่ะ? นี่พลังเราโดนดูด จะดูดอย่างไรก็แล้วแต่นะเราแผ่เมตตาให้เขาไป ถ้าเราทำเป็นประโยชน์ก็เป็น ถ้าไม่เป็นประโยชน์เราก็วางซะ

ถาม : นี่กลับไปบ้านแล้วรู้สึกว่าไม่สบายเป็นอาทิตย์ๆ เลย

ตอบ : เรากลับไปบ้านแล้วเราก็ดูแลร่างกายของเรา กลับบ้านแล้วก็ดูแลไป ถ้าจิตเราวิตกจริต แล้วจิตอ่อนแอมันจะมีผลอย่างนี้ ถ้าจิตเราเข้มแข็งนะ เราทำคุณงามความดีแล้ว นี่เวลาเขาทำคุณงามความดี ไปเกิดเป็นเทพ ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เขาก็อนุโมทนากับมนุษย์ เพราะเขาได้สมบัติที่ดี เวลาเกิดไปแล้ว เกิดด้วยบุญ ด้วยทุกข์ ด้วยความเข็ญใจ ไปเกิดเป็นผี เป็นต่างๆ เป็นสัมภเวสี เขาก็อยากรอส่วนบุญกับเรา อันนั้นมันเป็นผลกรรมของเขา

นี้เป็นผลกรรมของเขา นี่เวลาเราทำดีของเรา แล้วมันมีผลกระทบอย่างนั้นเราก็ต้องรู้จักหลบหลีกของเราเองสิ รู้จักหลบหลีกของเราเอง มันมีทั้งแง่บวกและแง่ลบนะ แง่บวกหมายถึงว่าทำแล้วมันเป็นแง่บวกหมด ถ้าแง่ลบ ลบเฉพาะบุคคล เราทำดีมันเป็นลบได้อย่างไร? เราทำดีแต่ไปเจอผีพาล ไปเจอคนพาลเข้า ถ้าทำอย่างนั้น นี่มันก็อยู่ที่เวรกรรมของคน ถ้าเวรกรรมของคน นี่ส่วนหนึ่งนะ

ส่วนที่ ๒ ส่วนที่ ๒ ถ้าศีลของเราปกติ ถ้าเรามีศีลสมบูรณ์ ทุกอย่างสมบูรณ์ เรื่องนี้มันจะมาเกี่ยวเนื่องกับเราไม่ได้ ถ้าศีลนะ เวลาเราเข้าป่าเข้าเขากัน เห็นไหม ถ้าศีลปกติ ศีลคุ้มครอง

“สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา”

ศีล เห็นไหม ศีลทำให้เรามีโภคทรัพย์ ศีลทำให้เรามั่นใจของเรา ศีลคุ้มครองเราได้นะ ผู้ที่มีศีล เราถือว่าเราศีลบริสุทธิ์ เขาจะทำอะไรเรา นี่ถ้ากรณีอย่างนี้เรายกแบบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นที่ถ้ำสาริกา เวลาท่านภาวนาพิจารณาของท่าน แล้วจิตท่านลงสงบรวมหมดเลย พอรวมหมดเลยท่านมีความสุขมาก พอมีความสุขมาก เจอยักษ์ ยักษ์ถือตะบองมา เขาว่าเขาเป็นเจ้าที่อยู่ที่นั่น เขามีบุญมาก ทุกคนต้องกลัวเขา เขาจะมาทุบ มาตีไง เขาอยากมีอำนาจ

พออยากมีอำนาจ นี่หลวงปู่มั่นจิตท่านสงบ ท่านมีสีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา เห็นไหม ศีลเป็นโภคทรัพย์ โภคทรัพย์จิตมันสงบร่มเย็น ศีลทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ฉะนั้น พอจิตมันมั่นคงขึ้นมามันไม่หวั่นไหวสิ่งนี้ไง เทศน์สอนยักษ์นะ ว่ายักษ์นี่มีอำนาจจริงหรือ?

“โอ๋ย มีอำนาจนะ อยู่นี่ปกครองมาหมดเลย ผมมีอำนาจมาก”

“คนมีอำนาจต้องตายไหม? อำนาจนี่ต้องตายหรือเปล่า? ถ้ามีอำนาจต้องตายนะ แล้วถ้าคนตายไป ถ้าตายไปด้วยมีบุญกุศลจะไปเกิดในสิ่งที่ดี ถ้าตายด้วยบาปอกุศลจะไปเกิดในสิ่งที่ชั่ว เราเป็นสมณะ เรามาหาความสงบระงับ เรามาเอาชนะตนเอง แล้วมาทำลายสมณะ มันยิ่งเกิดกรรมหนักเข้าไปอีก”

อู๋ย ยักษ์กลัวจนตัวสั่นเลย (หัวเราะ) เรานี่กลัวยักษ์เนาะ โอ้โฮ ยักษ์ที่ถ้ำสาริกานี่กลัวจนตัวสั่นเลย วางไว้ไม้ตะบองนะกราบหลวงปู่มั่น กราบอย่างดีเลยนะ นี่แล้วก็อาราธนาว่า

“ให้หลวงปู่มั่นอยู่ที่นี่นะ ต่อไปนี้จะไม่มีใครมารังแก เพราะเขาเป็นเจ้าที่ เขาคุ้มครองบริเวณนั้น ต่อไปนี้จะเชิดชู จะป้องกัน จะดูแลหลวงปู่มั่นอย่างดีที่สุด”

นี่ไงทำไมท่านไปทำแล้วท่านได้บุญของท่านล่ะ? แล้วเราทำของเรา กรณีนี้ถ้าบอกว่าเราทำแล้วมันเป็นอย่างนั้นๆ ฉะนั้น คนทำความดีกันไม่ได้เลยหรือ? เราจะไม่กล้าสวดบทธัมมจักฯ เลยหรือ? เราจะไม่กล้าสวดมนต์กันอีกแล้วใช่ไหม? สวดไปแล้วจะมีแต่เวร แต่กรรม ไม่ใช่หรอก เป็นคุณงามความดี เป็นความดี แต่ แต่ที่เราเป็นอย่างนี้มันก็เป็นเฉพาะเรา ถ้าเป็นเฉพาะเรา เราก็แก้ไขของเรา แล้วเราก็หาข้อบกพร่องของเรา แล้วทำให้มันถูกต้องขึ้นมา

นี่ทำดีต้องทำให้ถูกกาลเทศะ ต้องทำดีกับสิ่งที่ดี แล้วถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี นี่เราไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถที่เราจะไปเคลียร์ปัญหานี้ได้เราก็วางไว้ มันสุดความสามารถของเรา เราก็สร้างคุณงามความดีของเราไป แต่ถ้าวันใดจิตเราสงบ จิตเราระงับ จิตเรารู้แจ้งเห็นเรา เราจะเทศนาสอนเขา เราจะบอกเขาให้เขาอนุโมทนากับเรา เขาจะซาบซึ้งสิ่งนั้น มันเป็นกาล เป็นเวลาไง มันเหมือนกับเด็กก็รับผิดชอบได้ส่วนหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็รับผิดชอบได้ส่วนหนึ่ง ผู้ที่มีอำนาจมากเขาก็รับผิดชอบได้ส่วนหนึ่ง จิตใจเรายังอ่อนแออยู่เราก็มีแต่ความสงสัยไปอย่างนี้ จะทำดีก็มีแต่ปัญหาไปหมด

ฉะนั้น ทำดีต้องได้ดี สวดบทธัมมจักฯ เป็นความดี สวดที่ไหนก็ได้ ฉะนั้น เพียงแต่ที่นั่นเวลาสวดแล้วมีปัญหาขึ้นมา อย่างนี้เราต้องหาทางแก้ไขของเรา กาลเทศะไง

ถาม : ๓. เคยอ่านหนังสือเขียนไว้ว่า “ห้ามยืนบริเวณศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้าของคนใกล้ตาย เนื่องจากภูต ผี วิญญาณจะดูดกินน้ำเหลืองของคนใกล้ตาย ถ้าไปยืนบริเวณนั้นอาจถูกผี วิญญาณรุมทำร้ายเอา”

ตอบ : อันนี้มันเป็นนิยายปรัมปราแล้ว ไม่มีหรอก มันเป็นนิยายแล้วเขียนกัน นี่เห็นไหม เวลาเขียนมาบอกว่าอ่านหนังสือธรรมะมา หนังสือเขียนไว้อย่างนั้นๆ ทำไมหลวงพ่อไม่ยอมรับๆ ก็ไอ้คนเขียนมันยังตาบอดเลย ไอ้คนเขียนยังตาบอดนะ แล้วเราไปอ่านมา เราตาก็บอดด้วย ใจก็บอดด้วย

เขาว่ายืนทางปลายเท้าเนาะ เราเอาอย่างนี้นะ คนที่เรารัก นี่คนที่เรารักสุดหัวใจเลย แล้วใกล้ตาย เราจะวิ่งหนีเขาหรือ? หรือเราจะยืนที่ไหน? เราก็ต้องอยู่ใกล้ตัวเขา ก็ดูใจกันจนถึงที่สุด ถ้าเราดูใจถึงที่สุด เห็นไหม เราจะปลื้มใจเรา เราปลื้มใจว่าเราได้ทำหน้าที่เราดีที่สุดแล้ว ถ้าคนเรารัก คนเราบูชานะ ถ้าเราไม่ดูแล เวลาเราวิ่งหนีเลยเพราะกลัวจะดูดน้ำเหลือง เวลาตายไปแล้วจะมานั่งคอตก คิดได้จะเสียใจทีหลัง

นี่ไม่มีหรอก จิตออกจากร่างนะ เวลาเวรกรรมเขาต้องออกจากร่างของเขาไป สุดวิสัย คนเรานี่ ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เวลาคนตายก็คือตาย ถ้าตายเขาก็ไปตามเวร ตามกรรมของเขา เขาจะมาดูดน้ำเหลืองอะไรอีก พอตายไปแล้วเขาไม่มีปากแล้ว มันเป็นเรื่องวิญญาณาหาร มันเป็นเรื่องของเขา ไอ้นี่นิยายปรัมปราเนาะ เขียนแล้วก็เชื่อกัน เชื่อแล้วก็ไม่มีประโยชน์ ฉะนั้น อันนี้ถ้าประสาเรานะ ไร้สาระ เป็นเรื่องไร้สาระเลยล่ะ ฉะนั้น ข้อ ๑ ๒ ๓ จบเนาะ

ข้อ ๘๐๗. มันขอยกเลิกคำถามเนาะ ข้อ ๘๐๗.

ข้อ ๘๐๘. เรื่อง “ธรรมะจากวัดป่า” เขาเขียนมาชม เขามาวัดแล้วเขาเขียนมาชม เขาไม่ต้องการคำตอบ เขาเขียนมาชม

ฉะนั้น ข้อ ๘๐๙.

ถาม : ข้อ ๘๐๙. เรื่อง “เร่งพุทโธ”

กราบนมัสการครูบาอาจารย์ที่เคารพ กระผมมีเรื่องเรียนถามปัญหาธรรมะในการปฏิบัติ ช่วงมีปัญหาติดขัด มีเรื่องอยู่ว่าเมื่อบริกรรมพุทโธเร่งมากๆ แล้วมันดับ มันเงียบ สักพักเร่งไม่ออก บริกรรมไม่ออก นั่งนิ่งๆ อยู่อย่างนั้น สักพักมันจะหลับ จะแก้อาการหลับได้อย่างไรครับ ถ้าจะใช้บริกรรม ก็ติดที่ใช้แล้วมันหายเงียบไปแล้วก็หลับ แล้วต้องทำอย่างไรต่อครับ

ตอบ : เร่งบริกรรมเนาะแล้วมันเงียบ นี่เวลาเราพูดนี่นะ เวลาเราพูด ในการปฏิบัติเราศึกษาตามแนวทางใช่ไหม? เราบอกต้องบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วจิตมันก็จะสงบ ฉะนั้น เวลาพุทโธ พุทโธไป เราทำไปนี่คนมันไม่เคยทำงาน เวลาพุทโธ พุทโธไป นี่เขาว่า

ถาม : เร่งมากๆ แล้วมันจะเงียบ แล้วสักพักมันเร่งไม่ออก มันนิ่งๆ แล้วสักพักมันก็จะหลับ

ตอบ : ถ้ามันหลับไปแล้ว เวลามันหลับ นี่แล้วจะแก้อย่างไร? ถ้าแก้ ยิ่งเร่งพุทโธมันก็ยิ่งจะหลับ ฉะนั้น เราก็ต้องตั้งสติใหม่ แล้วเราก็ทำของเราใหม่ นี่เราทำของเราใหม่ แล้วเวลาเราเร่งพุทโธ ดูรถนะ รถมันหนัก เวลาเราขับรถไป อาการรถมันหนัก อาการเคลื่อนย้ายมันจะช้านัก ฉะนั้น รถมันหนัก เราจะทำอย่างไรทำให้รถมันเบา

ถ้าทำให้รถมันเบา นี่ดูสิรถเขาเตรียมมาเต็มที่เลย เบาะ ๓ ชั้น ๔ ชั้น มีเครื่องอำนวยความสะดวกเต็มรถเลย แต่คิดว่าเราไม่ได้ใช้งานมันเลย เพราะเรานั่งขับรถไปมันก็มีเรากับรถเท่านั้นแหละ แล้วรถนี่ทำไมมันต้องมีเครื่องอำนวยความสะดวกเต็มรถไปหมดเลย ว่าไปแล้วมันจะใช้ประโยชน์ได้ทั้งนั้น นี่เวลาไปรถมันก็อืดอาด ถ้าเรามีความจำเป็นนะ ของในรถนั้นเราเอาออกบ้าง ถ่ายออกบ้างให้รถมันเบาลง ถ้ารถเบาลงนะรถมันก็คล่องตัวหนึ่ง เครื่องยนต์ไม่ต้องทำงานมาก น้ำมันก็กินน้อย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะเร่งบริกรรมพุทโธ พุทโธ เรารู้ว่าร่างกายเรา ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ พลังงานนี้มันเหลือใช้จริงๆ นะ เห็นไหม ดูทางตะวันตกสิ โลกอ้วนเป็นโรคที่มีปัญหามาก โรคอ้วน โรคอ้วนเพราะอะไร? เพราะมันกินไปแล้วร่างกายพลังงานมันเหลือใช้ นี่ก็เหมือนกัน พลังงานเรามหาศาลเลย แล้วเวลาพุทโธ พุทโธมันหน่วงนะ ฉะนั้น พุทโธแล้วถ้ามันจะหลับมีส่วนนี้ นี่รถมันหนัก ถ้ารถมันหนักเราจะผ่อนถ่าย เราจะเอาสิ่งใดในน้ำหนักจากรถเราออกบ้างล่ะ? ถ้าเอาออกบ้างนะ นี่ผ่อนอาหาร การผ่อนอาหารนะ ผ่อนอาหารไม่ใช่ผ่อนน้ำ

น้ำ น้ำปานะต่างๆ เราต้องดื่ม ต้องกินอยู่ตลอดเวลา เพื่อร่างกายขาดน้ำไม่ได้ แต่อาหารนี่ขาดได้ แล้วต้องใจแข็ง พอใจแข็งไปนะ ใหม่ๆ คนทำใหม่ๆ มันจะมีอาการต่อต้าน เพราะโดยธรรมชาติคนเราเคยกินอาหารวันละ ๓ มื้อ หรือถ้าเราวันละมื้อ ถ้าเรามาปฏิบัติวันละมื้อ วันละมื้อเราก็กินตามสิทธิ์ วันละมื้อเราภูมิใจมากเลย เราถือธุดงค์ เอกา ฉันอาหารมื้อเดียว อู้ฮู แบบว่ามีความภูมิใจมาก แต่ก็ยังนั่งหลับนะ ยังนั่งหลับอยู่ ถ้านั่งหลับอยู่เราผ่อน เห็นไหม สักครึ่งมื้อ ๑ ใน ๔ ของมื้อ แล้วเราภาวนาดู

ทีนี้พอ ๑ ใน ๔ หรือครึ่งหนึ่ง อื้อฮือ มันฝืนใจฝืนยากนะ มันฝืนยากมากเลย เราถือศีลศีลก็บริสุทธิ์อยู่แล้ว แล้วยังกินอาหารมื้อเดียว แหม เก่งแล้ว นี่มันก็ว่ามันถูกต้องแล้ว แล้วทำไมต้องมาผ่อนอีก มาลดทอนมันอีก นี่มันต่อต้าน กิเลสมันจะต่อต้าน ความเคยชินมันจะยึดมั่น ถือมั่นของมัน นี่ต้องฝืนกันเต็มที่เลย ถ้าฝืนมันจะเกิดการฝืนใจหนึ่งนะ สองพอธาตุขันธ์มันเคยมีอาหารอยู่ในท้อง พอเวลาอาหารมันขาดแคลนมันจะร้อง มันจะครวญครางเลยแหละ กระเพาะมันจะปั่นป่วนเลย นี่อันนี้ทำให้เรา อืม มันจะผิดพลาดๆ

ไม่หรอก เราจะบอกว่ามันต้องฝืนขนาดนั้น แล้วพอฝืนไป ใหม่ๆ มันจะมีอาการต่อต้านอย่างนี้ แต่พอภาวนาไปนะ พุทโธ พุทโธไป ถ้ามันไม่หลับ นี่พอรถมันเบานะมันจะชัดเจนของมัน แล้วมันจะทำได้ง่ายของมัน ถ้าทำได้ง่ายของมัน เห็นไหม พุทโธนี่ ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : พุทโธ พุทโธ พอเร่งขึ้นไปแล้วมันจะเงียบ สักพักมันก็จะหลับ แล้วหลับจะทำอย่างไรล่ะ? หลับทำอย่างไร?

ตอบ : นี่เวลามันหลับ ถ้าหลับบ่อยครั้งเข้าๆ มันจะตกภวังค์นะ พอหลับแล้วๆ หลับจนเคย เพราะหลับนี่ใครบอกว่าหลับ คนบอกว่าหลับเพราะมันหลับไปแล้ว ตื่นขึ้นมามันถึงบอกว่าหลับ ฉะนั้น ไอ้ตื่นมาแล้วบอกว่าหลับนี่นะ กับขณะที่มันจะหลับ ที่มันวูบหายไป อันนั้นสำคัญกว่านะ เราบอกว่าเราตื่นตลอดเวลา จิตใจตื่นตลอดเวลา ใจนี้ตื่น แต่มันหลับไปแล้วยังว่าตื่นอยู่นะ เพราะคนที่ว่าหลับนี่มันหลับมาแล้ว ยิ่งว่าตื่นๆ นั่นล่ะหลับมาก่อน พอหลับนะ เพราะมันไม่รู้ตัว ขณะไม่รู้ตัว ปัจจุบันธรรมไง

ปัจจุบันที่พุทโธ พุทโธ พุทโธอยู่ แล้วจิตมันดี จิตมันลง อันนั้นแหละสำคัญ แต่ส่วนใหญ่จะออกมาแล้วค่อยรู้ไง ส่วนใหญ่พอตื่นมาแล้วถึงจะรู้ อ๋อ เป็นอย่างนั้น ถ้ามันเป็นอย่างนั้น มันต้องค่อยๆ แก้ไป เพราะอันนี้เป็นพื้นฐานนะ ถ้าพุทโธ พุทโธนี่นะ ถ้าพุทโธไม่ได้จริงๆ เราก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ คนเรานี่นะถ้ามันพุทโธไม่ได้ บางคนพุทโธไม่ได้ พุทโธขนาดไหน ประสาเราว่าทำงานแต่ไม่มีผลงาน คนเรานี่นะ ทำงานเหนื่อยยากมากเลย แต่มันไม่มีผลมันก็ท้อใจอยู่เหมือนกันนะ

ถ้ามันท้อใจเราก็เปลี่ยน หลวงตาใช้คำว่า “อุบาย” อุบายเราจะเปลี่ยนไปอย่างอื่น อุบายใช้ปัญญาอบรมสมาธิ คือใช้สติตามความคิดไป ดูความคิดไปให้มันสบายใจ ให้มันดีขึ้นมาก่อน นี่ถ้าทำถูกทางมันจะเป็นไป แต่ถ้ามันพุทโธแล้วมันได้ประโยชน์ อันนี้สำคัญ อันนี้สำคัญคือว่ามันเป็นหลักไง พุทธานุสติ เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน ๔๐ ห้องอันนี้อันแรกเลย พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ

พุทธานุสติ พุทโธ พุทธะ อันนี้เป็นอันแรก เป็นหลัก ถ้าหลักนี่ ถ้าอันนี้เราทำได้ ถ้าเราบังคับหน่อยถ้ามันได้ผลนะ อันนี้ดีมากๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ เพราะเราได้หลักแล้ว คนเรานะ ในการศึกษา ในการศึกษานะ ถ้าเราศึกษาในภาคบังคับ ในหลักมันจะไปได้ง่าย แต่ถ้าเราศึกษาไม่ได้ เรามีความจำเป็น เราศึกษานอกระบบ ศึกษาทางเลือก ศึกษาทางเลือก นี่เราศึกษาไปทางเลือกมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราประกอบสัมมาอาชีวะได้ แต่ถ้าเราศึกษาทางเลือกขึ้นไปแล้ว พอเข้าไปในระบบ ทางวิชาการเราจะอ่อนกว่าเขา อ่อนกว่าเขามันไม่สะดวกใช่ไหม?

ฉะนั้น ถ้าพุทโธ พุทโธถ้ามันเป็นไปได้นะ ศึกษาในระบบ พอศึกษาในระบบปั๊บมันเป็นไป นี่พูดถึงการศึกษานะ แต่พูดถึงเปรียบเทียบในปฏิบัติในการศึกษา เปรียบเทียบในการปฏิบัติ พุทโธ พุทโธมันเหมือนอยู่ในระบบ มันจะรู้ของมัน มันจะเป็นของมัน ทางวิชาการมันจะแน่น แน่นเพราะอะไร? เพราะเราพุทโธ มันจะมีสิ่งใดก็แล้วแต่เราจับพุทโธไว้ จับพุทโธไว้ หลวงตาท่านเตือนประจำ

“อยู่กับผู้รู้ อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย”

ไม่เสียหรอก มันจะเห็นสิ่งใด จิตมันจะแว็บไปหาอะไร จิตมันจะดูสิ่งใด จิตมันจะหลงสิ่งใด ถ้าเราจับพุทโธไว้ๆ นี่โดยหลัก เห็นไหม โดยหลัก ทางวิชาการนี่โดยหลักเรามีอยู่ เราทำสิ่งใดอาจจะผิดพลาดได้ แต่พอมาเทียบกับหลักปั๊บเรายึดหลัก เราก็ทิ้งอันนั้น ทิ้งอันนั้น มันจะไปได้ไง แต่ถ้าเราทิ้งหลักปั๊บ พอเราไปทำสิ่งใด มันเกิดประสบการณ์มันจะเชื่ออันนั้น มันทิ้งหลัก พอทิ้งหลักไปแล้ว เวลามันเสื่อมนะ เวลามันเสื่อม

เพราะเราทิ้งหลักมาแล้วใช่ไหม? เราอยู่ในทางเลือกของเรา ทีนี้พอมาเจอสิ่งใดเราก็ตามมันไป พอมันเสื่อมหมด พอมันเสื่อมหมดทีนี้เรารวนเรเลย แต่ถ้าเรามีหลักอยู่ มันจะเสื่อม มันจะเจริญเรามีหลัก เรามีหลัก เห็นไหม เราจับหลักไว้ เราจับพุทโธไว้ มันจะดี มันจะเลวก็แล้วแต่ เราจับพุทโธไว้นะมันจะไม่เสีย แล้วมันจะไปได้เรื่อยๆ ฉะนั้น เอาตรงนี้ไว้ เอาตรงที่จับหลักนี้ไว้

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : แล้วต้องทำอย่างไรต่อไป?

ตอบ : ทำอย่างไรต่อไป พุทโธก็คือพุทโธนี่แหละ พุทโธก็คือพุทโธ เพียงแต่ว่าวิธีการ วิธีการที่ว่าถ้ามันเงียบหายไปเราก็ระลึกขึ้นมา ระลึกขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ถ้ามันระลึกขึ้นมานะ ถ้ามันผิดพลาดขึ้นมาเราก็ตั้งต้นใหม่ เราตั้งต้นใหม่ แล้วเราหาทางไป ทีนี้เวลาปฏิบัติมันมีอยู่อย่างหนึ่ง คนมันเบื่อ นี่ ๑. เบื่อ ๒. ทำแล้วเห็นว่าไม่ได้ผล นี่ทำแล้วทำเล่ามันไม่ได้ผล มันเบื่อหน่าย มันไม่ตื่นตัวไง นี่เพราะไม่มีหมู่คณะไง

เวลาเราอยู่ ดูสิอย่างเช่นหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาพระเดินไปเดินมา ถ้าใครขาดสติท่านบอกเลยนะ “ซากศพเดินได้” ถ้าในปัจจุบัน ในวันๆ หนึ่งเราปล่อยตัวเราไปตามธรรมดาเลย แล้วถึงเวลาเราก็จะมาพุทโธ พุทโธ เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าพูดถึงพระปฏิบัติ เวลาเคลื่อนไหวของเขา ชีวิตประจำวันของเขา เขาจะเดินไปไหน คนมีสติเดินกับคนขาดสติเดินต่างกันไหม? คนมีสติเดิน เขาจะเดินของเขามีสติสัมปชัญญะพร้อมเลย นี่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเห็นอย่างนั้นท่านจะคอยชี้นะ คอยชี้แนะ เห็นไหม

ฉะนั้น เวลามาปฏิบัติ เราควบคุมดูแลเรามาตลอดเวลา พอเรามาภาวนาพุทโธ พุทโธมันก็ต่อเนื่อง แต่ถ้าวันทั้งวันเราปล่อยเราตามสบายเลย คือกิเลสมันขี่หัวทั้งวันเลย ถึงเวลาจะมาพุทโธ พุทโธ เราก็จะต้องมาเริ่มต้น มาหักดิบกัน พอหักดิบกัน พอทำไปแล้วมันก็เหนื่อย มันก็ล้า มันก็ไม่ได้ประโยชน์เลย เราไม่ดูมันมาตั้งแต่ต้น

นี่เราจะบอกว่าถ้าอยู่กับครูบาอาจารย์ด้วย ๑.เราก็เคารพท่านอยู่แล้วใช่ไหม? ๒. มันก็ระวังตัว ๓. มันก็ดูแลจิตใจ คือว่ามันได้รักษามาทั้งวัน แล้วเวลาปฏิบัติมันก็ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราปล่อยมัน นี่ปล่อยมันตามกำลังของมันเลย แล้วถึงเวลาก็จะมาหักดิบกันเลย พอหักดิบขึ้นมามันก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาภาวนา เราคิดนี่มันเหมือนกับทำงานไง เอาเอกสารมาเซ็น จบ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธ ก็พุทโธแล้ว ก็พุทโธแล้วไง ก็ได้ทำทุกอย่างพร้อมเลย แต่เอกสารเซ็นมันเป็นตัวอักษรนะ เอกสารมาเซ็นฉับเรียบร้อย แฟ้มปิด เสร็จแล้ว แต่พุทโธก็พุทโธแล้ว เซ็นเอกสารก็พุทโธตัวหนึ่ง นี่พุทโธก็เซ็นแล้ว พุทโธ พุทโธ เซ็นเป็นพันๆ ล้านๆ ครั้งเลย ทำไมมันไม่เป็นงานขึ้นมาล่ะ? ทำไมไม่เป็นงานขึ้นมา?

พุทโธ พุทโธ นี่พุทโธส่วนพุทโธนะ เวลาจิตสงบนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธจะเริ่มงง พุทโธแล้วเบา พุทโธจนตัวเบาหมดนะ พุทโธ พุทโธจนตัวลอยเลย พุทโธ พุทโธ พุทโธไป เอ๊ะ ทำไมพุทโธเป็นแบบนี้? เวลาพุทโธ พุทโธไป พอมันละเอียดก็ละเอียดกัน พุทโธจนพุทโธไม่ได้เลย มันนึกไม่ออกนะ มันนึกพุท นึกโธไม่ได้ นึกพุท นึกโธยังหยาบอยู่ มันวิตก วิจาร พอเวลามันถึงธรรมชาติรู้มันแยกพุทกับโธไม่ได้ไง มันรู้เฉยๆ เอ๊อะ เอ๊อะ นึกเป็นพุทโธไม่ได้เลย ถึงตอนนั้นจะเห็นเลยว่า โอ้โฮ มันขนาดไหน

นี่เวลามันทำงานขึ้นมา งานทางโลกเราทำจบก็คือจบ แต่งานทางธรรม ทำๆ ไปแล้วมันเป็นสิ่งที่มีชีวิต เวลามันละเอียดลึกซึ้ง นี่มันเป็นความรู้สึกที่ละเอียดเข้าไปๆ ละเอียดเข้าไปแล้วมันชัดเจน ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิมันไม่มีเว้นวรรคเลย จิตมันจะต่อเนื่อง เหมือนไฟ ไฟเวลามันเผาไปเรื่อยๆ เชื้อไปเรื่อยๆ เราจะดับไฟกองนี้แล้วไปจุดไฟกองหน้าหรือ?

เป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิข้างหน้า ไม่ใช่ ไฟนี่มันอยู่ไฟกองเดียวนี่แหละ แต่ไฟมันละเอียดไปๆ จนเป็นไฟเย็นไม่มีเลย สักแต่ว่ารู้เลย นี่เวลาเป็นสมาธิมันจะรู้ของมัน อันนี้เป็นผลของสมาธิ ผลของพุทโธนะ

เขาถามว่า

ถาม : จะทำอย่างไรต่อไป? เร่งพุทโธ เร่งแล้วมันก็หลับ มันก็เงียบ มันก็หายไปหมดเลย

ตอบ : คนเป็นอย่างนี้เยอะนะ แล้วถ้าปฏิบัติต่อไปนะ ถ้ามีปัญหาขึ้นมา ถ้ามีเวลาเปิดเว็บไซต์ฟังสิ ในเว็บไซต์เราไอ้เรื่องปัญหาอย่างนี้มีเยอะมาก ถ้าพูดบ่อยๆ ไปก็หาว่าหลวงพ่อไม่ค่อยมีสติ ปัญหาตอบแล้วตอบอีก ตอบปัญหาเดิมเป็นร้อยๆ หนเลย ไม่เบื่อหรือไงเนี่ย ไอ้คนถามก็ถามมา

อ้าว ข้อ ๘๑๐. เนาะ

ถาม : ๘๑๐. เรื่อง “พิจารณาความรู้สึก ติดในความรู้สึกของตัวเอง”

กราบนมัสการหลวงพ่อ กระผมเองมีอำนาจวาสนาแค่เล็กน้อย และไม่กล้าประมาทใดๆ ผมจึงส่งคำถามเพื่อขอความเมตตาหลวงพ่ออีกครับ

กล่าวคือ ผมพิจารณานิมิตกาย จนจิตไม่ยึดกาย เพราะเห็นว่ากายประกอบมาจากดิน แล้วจิตจะทิ้งกายมาตั้งที่หน้าอกครับ พอหลังจากนั้นผมกำหนดกายอีก พิจารณาเข้าไปเจอเหลวๆ เยิ้มๆ อย่างไรของเยิ้มเหล่านั้นมันก็แปรสภาพกลายเป็นเกล็ดดินเล็กๆ แล้วหายไป จิตก็มาตั้งอยู่กลางหน้าอกเหมือนเดิมอีก ผมไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี ก็เป็นจังหวะที่นึกถึงคำที่หลวงพ่อเมตตาเคยตอบคำถามไว้ว่า

“เราพิจารณาจิตที่ตั้งอยู่กลางหน้าอก รอดูเวลาที่มันออกก็ได้”

ผมก็ได้ผลอย่างดีครับ แต่ผมสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่จิตออกไปจากกลางอก

๑.ออกไปปรุงแต่งเรื่องสมมุติ ซึ่งล้วนแต่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่จำเป็นกับเรื่องชีวิตของเราเลย

๒. ประการที่สำคัญคือจิตนี่แหละครับมีลักษณะที่ติด ออกไปเจออะไร แล้วปรุงอะไร จะติดกับสิ่งนั้นทั้งหมด หลงใหลอยู่กับสิ่งที่มันไปติด และจิตจะไม่รู้จักกับสภาวะความเป็นจริง เรื่องราวที่ปรุงเป็นสมมุติก็ไม่รู้ เรื่องที่ปรุงผ่านไปแล้วก็ไม่เคยรู้ว่าผ่านไปแล้ว ยึดอยู่อย่างนั้น พอมีอะไรมาทำให้สิ่งที่ยึดเปลี่ยนไปก็ทุกข์ร้อนใจ

ผมเห็นกระบวนการเช่นนี้เป็นประจำ และนำมาซึ่งทุกข์ทั้งนั้น แล้วผมรู้สึกเบื่อที่จะทุกข์แบบนี้อีกต่อไป ผมจึงไม่ค่อยออก คือความรู้สึกตั้งอยู่ที่กลางอกเฉยๆ แม้ใครจะทำอะไรที่โลกจะคิดว่ากระทบกับผม ผมก็ไม่ออกจากกลางอก คิดว่ามันเป็นเรื่องของเขา สิทธิการใช้ชีวิตของเขา เรื่องของผมคือผมไม่ออกไป เพราะการติดสิ่งต่างๆ แล้วเกิดความทุกข์มาสู่ใจตนเองแบบไร้ประโยชน์ ผมไม่ทำเช่นนั้น ผมจะออกไปเรื่องสมมุติก็คือเรื่องที่เป็นภาระหน้าที่ และเรื่องที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ก็สุขสบายพอสมควรเลยครับ

แต่ที่ส่งคำถามมาเรียนถามหลวงพ่อ เพราะจิตที่ส่งออกแล้วมันมีลักษณะอย่างหนึ่งที่ติดทุกอย่าง มันตั้งอยู่กลางอก แล้วมันก็ติดตัวมันเอง แล้วผมสังเกตเห็นว่าแม้ตั้งจิตที่หน้าอก จิตไม่ออกไป แต่มันมีอะไรสักอย่างเข้ามาติดที่ตัวจิตเอง จิตมันเปลี่ยนสภาพความตั้งมั่น ความสงบ สะอาด ความโล่ง แล้วมันก็ทุกข์อีกครับ เพราะมันยึดติดกับสภาวะของตัวมันเองในทุกขณะที่มันรู้สึก ทั้งๆ ที่ตัวมันคือความรู้สึกนั่นแหละครับ

ขอเรียนถามหลวงพ่อว่า

๑. ทุกข์อันละเอียดเกิดได้แม้จิตไม่ต้องส่งออกไปกระทบสิ่งอื่นนอกจิต เกิดจากอะไร? มันเป็นพลังงานนอกจิตใช่หรือไม่ครับ

๒. จิตหรือพลังงานที่อยู่กลางหน้าอก สร้างทุกข์ได้หลายแบบ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด ผมอยากละตัวความรู้สึกเพราะว่ามันเป็นภาระต้องคอยรักษา และแม้จะสบายพอสมควรก็จริง แต่มันก็ไม่คงตัว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีภาระบางอย่างให้ต้องรักษา ถือว่าเป็นภาระ เป็นทุกข์ละเอียดเกิดขึ้นในใจ แต่ไม่ทราบว่าจะละมันอย่างใดครับ

ข้อ ๑. ทุกข์อันละเอียดเกิดได้แม้จิตไม่ต้องส่งออกไปกระทบสิ่งอื่นนอกจิตคืออะไรครับ มันเป็นพลังงานนอกจิตใช่หรือไม่?

ตอบ : ไม่หรอก มันเป็นภพ นี่เวลาเป็นสมาธิ เห็นไหม ฐีติจิตเวลาเป็นสมาธิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านพูดเลย อวิชชาเกิดจากอะไร? อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง อวิชชา ปัจจยา สังขารา เราบอกอวิชชาเป็นกิเลส อวิชชาเป็นปู่ อวิชชาคือความไม่รู้ แล้วอวิชชามันเกิดบนอะไร? นี่หลวงปู่มั่นบอกว่าอวิชชาเกิดบนฐีติจิต เพราะมีจิตถึงมีอวิชชา มีฐีติจิต จิตละเอียดนั้น อวิชชาถึงเกิดที่นั่นได้

ฉะนั้น นี่ก็เหมือนกัน เวลาทุกข์อันละเอียดมันเกิดที่ไหน? จิตนี้มันต้องส่งออกไป มันต้องส่งออกไปมันคืออะไรล่ะ? มันก็คือภพไง ภพมันคืออะไรล่ะ? นี่จิตผ่องใสๆ นี่คือพลังงานที่มีชีวิตไง พลังงานที่มีชีวิตมันมีของมัน แล้วจะไปแก้มันอย่างไรล่ะ? ถ้าไปแก้อย่างไร พอจิตสงบแล้วมันต้องออกมาพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันไม่เคลื่อนออกไปไหนเลย ใช่ไม่เคลื่อนก็คือไม่เคลื่อน แต่เวลาวิธีที่ทำงานก็ต้องออกไปพิจารณา พิจารณานี่ธรรมารมณ์ นี่ถ้ามันไม่เคลื่อนสิ่งใดเลย มันอยู่กลางหน้าอก เห็นไหม พลังงานอันละเอียดคืออะไร? นี่ธรรมอันนั้น ธรรมารมณ์ อารมณ์อันละเอียด ละเอียดมันกระทบอะไร? มนัส มะโน มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ

มโนคือใจ นี่มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ ตัวใจ ตัวผ่องใสก็น่าเบื่อหน่าย นี่มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ มโนสัมผัส ความสัมผัสนะ ความรู้สึกมันสัมผัสแล้ว ความสัมผัส นี่ความสัมผัสมันก็น่าเบื่อหน่าย ผลที่เกิดจากความสัมผัสนั้นก็น่าเบื่อหน่าย นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติไง มันต้องมีการกระทำ อยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ อยู่เฉยๆ แล้วอยู่อย่างไรต่อไปล่ะ? มันอยู่เฉยๆ นะมันมีผลกระทบไง มโนมิงปิ นิพพินทะติในอาทิตต์ฯ อาทิตตปริยายสูตร ในอนัตฯ อาทิตต์ฯ ธัมมจักฯ ในบทนี้

“นี่มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ”

มโน เห็นไหม มโน มโนก็น่าเบื่อหน่าย นี่ไอ้ที่ว่าละเอียดๆ ที่ว่าทุกข์อันละเอียด จิตมันคืออะไร? จิตไม่กระทบสิ่งใดเลย เห็นไหม นี่มันก็น่าเบื่อหน่าย ผลจากความรู้สึกนึกคิดก็น่าเบื่อหน่าย ผลจากความสัมผัสก็น่าเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่าย นี่นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ ฉะนั้น ต้องทำไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) เวลาพูดถึงมโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ ถ้าทิ้งจิตนะ นี่พูดถึงเวลามันมีผลสัมผัส มันมีความกระทบไง

ฉะนั้น เราไม่ชอบทั้งนั้นแหละ แต่มันก็ต้องมีสติ มีปัญญาการใคร่ครวญ การแยกแยะ มันต้องพิจารณาหมด ถ้าตรงไหนมันมีอยู่ มันมีความรู้สึกอยู่ ต้องพิจารณาทั้งหมด ฉะนั้น สิ่งที่มันทิ้งมาแล้วก็ต้องพิจารณา เพราะมันมีตัวมันไง พอมันหดสั้นเข้ามาก็เป็นอย่างนี้ เห็นไหม เวลาจอมแห เวลายกขึ้นมานี่มันอยู่กำมือ เวลาเราทอดแหไป โอ้โฮ มันกว้างขนาดไหน? จิตนี่เวลามันส่งออกไป มันออกจากจิตมันก็กว้าง มันก็ยึดหมดแหละ เวลามันหดเข้ามาก็เหลือจอมแห เหลือจอมแหมันกำเดียว แต่เวลาทอดออกไป นี่มันกว้างออกไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาหดเข้ามามันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็หดเข้ามา เดี๋ยวก็กว้างออกไป เดี๋ยวก็หดเข้ามา มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นของมันอยู่อย่างนี้แหละ ฉะนั้น ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้ วิธีการแก้ไขต้องออกไปสู้กับมัน ต้องออกไปสู้กับมันไง ออกไปพิจารณาไง พิจารณาธรรมารมณ์นี่แหละ สิ่งที่มันกระทบนี่แหละ สิ่งที่มันผ่องใส สิ่งที่ว่าจิตอยู่กลางหัวอก หัวอกมันเป็นอย่างไร? พิจารณามันไปเรื่อย จับมันได้ พิจารณาของมันได้ นี่ข้อที่ ๑.

ถาม : ข้อที่ ๒. จิตหรือพลังงานที่อยู่กลางหน้าอก สร้างทุกข์ได้หลายแบบ ตั้งแต่หยาบไปจนถึงละเอียด ผมอยากละตัวความรู้สึกเพราะว่ามันเป็นภาระต้องคอยรักษา และแม้จะสบายพอสมควรก็จริง แต่มันก็ไม่คงตัว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีภาระบางอย่างให้ต้องรักษา

ตอบ : นี่ไงมันต้องรักษาทั้งหมดแหละ

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ความผ่องใส ความเศร้าหมอง ถ้าไม่รักษามัน คนที่ไม่รักษามันคือปุถุชนนี่ไง คนที่ปุถุชนเวลาคิด เห็นไหม เวลาความคิด คิดมาจากไหน? ความคิดมาจากไหน? ความคิดมันก็มาจากพลังงานนี่แหละ ทีนี้พอพลังงาน โดยสัญชาตญาณใช่ไหม? สัญชาตญาณของคนมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความคิดมันเกิดดับโดยธรรมชาติของมัน เราเกิดเป็นคน เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เป็นเทวดานี่ขันธ์ ๔ เพราะเขาไม่มีร่างกายมนุษย์ เวลาเกิดเป็นพรหมล่ะ? เกิดเป็นสัตว์ล่ะ? มันก็มีสัญชาตญาณของมัน มีทั้งนั้นแหละ

ถ้ามันมีของมันอย่างนี้ มันมีของมัน สัญชาตญาณนี่ถ้าเรามีสติปัญญา ธรรมชาติของมัน มันก็ออกอยู่อย่างนี้แหละ นี่เวลาความรู้สึกนึกคิด เวลาความทุกข์ ความยากของเราก็เป็นอยู่อย่างนี้ แต่พอเรามีสติปัญญาขึ้นมา เรามีสติปัญญา เราศึกษาธรรมะแล้วเราปฏิบัติ เห็นไหม มันเริ่มมีสติ จิตมันก็สงบได้ คือเวลามันสงบมันก็ไม่ได้คิด เวลามันคิดมันก็ฟุ้งซ่าน ทีนี้พอมันฟุ้งซ่าน พอสงบบ่อยครั้งเข้าๆ เราใช้ปัญญาขึ้นมามันถึงเห็นสภาวะแบบนี้ ถ้าเห็นสภาวะแบบนี้ เห็นไหม พอสภาวะแบบนี้มันปล่อยเข้ามาๆ

นี่เขาว่า

ถาม : สิ่งนี้มันสบาย มันสบายแต่มันไม่คงตัว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

ตอบ : ไม่คงตัว ไม่คงที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่คงที่หรอก เพราะอะไร? เพราะมันมีตัวยุแหย่ มีตัณหา มีสมุทัยอยู่ ถ้ามีสมุทัยอยู่เราจะพิจารณาอย่างไร? ถ้าพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ถ้ามันขาด พอมันขาดแล้วมันไม่ต้องบอกว่าคงตัว ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันเป็นของมันเอง มันเป็นกุปปธรรม อกุปปธรรมเลย เวลามันขาดไปแล้วนะมันจะเป็นธรรมเลย ถ้าเป็นธรรมมันต้องมีเหตุผลของมัน

ฉะนั้น เวลาพูด นี่เขาภาวนามา พอภาวนามันก็รู้ของมันว่าเป็นพลังงาน รู้เลยว่าถ้าพลังงานทางโลกเป็นอย่างหนึ่ง แต่เวลาพิจารณาไปแล้วมันไม่ถึงที่สุดไง พอไม่ถึงที่สุดมันไม่จบ พอไม่จบมันก็คากันอยู่อย่างนี้ พอมันคาอยู่นี้ เพราะคาอย่างนี้มันถึงจะต้องรักษาไว้ ถ้ามันไม่รักษาไว้นะมันก็ถอยออกมา เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขานี่แหละ ต้องยันไว้ ถ้าปล่อยมันก็ทับตัวเราเอง

นี่ก็เหมือนกัน ความคิด เรามีสติปัญญาไล่เข้ามา มันก็นี่ มันก็สบายๆ อยู่ แต่ถ้าเราไม่รู้จักการเข็นครกขึ้นภูเขาเลย นี่มันก็ไหลลงจากภูเขา มันทำลายคนไปหมด ทำลายชีวิตเรา ทำลายทุกอย่างพร้อม แต่นี้เราเข็นขึ้นไปเพื่อจะเข็นครกขึ้นภูเขา พอถึงภูเขาแล้วตั้งครกไว้บนนั้นเลย จบ แต่นี้มันยังขึ้นไม่ถึงไง มันมีความลาดเอียงใช่ไหม? มันก็ไหลลงมา นี่ต้องยัน พอต้องยันไว้ก็ต้องมีพละรับไว้ มีพละยันไว้ นี่มันก็ไม่คงที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ อืม แต่มันก็ดีกว่ามันทับเรานะ

โดยปกติมันทับเราตายเลยล่ะ ความรู้สึกนึกคิดเป็นเรา สรรพสิ่งเป็นเรา ทุกข์เป็นเรา อะไรก็เป็นเราหมดเลย นี่มันเดือดร้อนไปหมด แต่ตอนนี้มันยันไว้ มันวางได้ มันไม่เป็นเรา มันไม่เป็นสิ่งใด แต่ก็ต้องออกมา เวลาออกมา นี่ถ้าออกมาพิจารณาจิต เห็นไหม กาย เวทนา จิต ธรรม จิตผ่องใส จิตเศร้าหมอง นี่เวลาจิต พิจารณาจิต จิตเดี๋ยวมันดี เดี๋ยวมันร้าย พิจารณาถ้าจับได้นะ ถ้าจับได้พิจารณาไป อันนี้ก็เป็นมรรค

ถ้าเป็นมรรคนะ นี่สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ต้องพิจารณาอย่างนี้ ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ ในสติปัฏฐาน ๔ ถ้าไม่ทำมันก็ไม่เป็นงานขึ้นมา ไม่เป็นมรรค ถ้าทำงานมันก็เป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคมันก็จบ นี่ให้ขยันทำ แล้วต้องทำอีก ทำต่อไปจนกว่ามันจะเป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นอกุปปธรรมนะมันเกิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ด้วย มันคงที่ที่ใครจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แต่นี่มันไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เพราะว่าเวลาทำมันเจริญ มันก็ควบคุมได้ ดูแลรักษาได้ ก็สบาย แต่เวลากิเลสมันมีกำลังมากกว่า มันก็ทำให้ล้มลุกคลุกคลานนะ

เอ๊ะ ภาวนาก็ดีเนาะ แต่ภาวนาแล้วมันก็ไม่เห็นจบสักทีเนาะ เลิกดีกว่าเนาะ นี่มันไปนู่นเลยนะ นี่ภาวนาก็ดี ถ้าภาวนาก็ดี สรรพสิ่งก็ดี แต่ภาวนาละล้าละลังๆ แล้วมีความจำเป็นเข้ามาบีบคั้นต่างๆ เดี๋ยวมันก็ถอย แต่ถ้ามันสู้นะ มันสู้เข้าไปเรื่อยๆ ถ้ามันมีสติปัญญา มันสู้มันก็ชนะขึ้นไป ต้องทำอย่างนี้ คนเราจะดี จะชั่ว เห็นไหม อยู่ตรงนี้ อยู่ที่การปฏิบัติของตัว แล้วถ้าใครทำได้ คนนั้นจะเป็นประโยชน์ของคนนั้น ถ้าทำไม่ได้มันก็ล้มลุกคลุกคลาน แล้วชีวิตมันก็จะเวียนไปแบบนี้

ฉะนั้น

ถาม : ข้อ ๑. ทุกข์อันละเอียดเกิดได้แม้จิตไม่ต้องส่งออกไปกระทบสิ่งอื่นนอกจิต เกิดจากอะไร?

ตอบ : เกิดจากอวิชชา เกิดจากความไม่รู้ตัวมัน ถ้ามันรู้ก็จบ

ถาม : พลังงานที่อยู่กลางอกสร้างทุกข์ให้หลายแบบ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียด ผมอยากละตัวความรู้สึก เพราะมันเป็นภาระต้องคอยรักษา เพราะแม้แต่จะสบายพอสมควร แต่ก็ไม่คงที่ มีภาระต้องรักษาไว้ ถือว่าเป็นภาระ เป็นทุกข์ละเอียดเกิดขึ้นในใจ ไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อไปครับ

ตอบ : ทำอย่างไรต่อไปก็จับมัน จับมันพิจารณา จับมันพิจารณา นี่ยังดีนะ ถ้าภาวนาแล้วเป็นภาษาเดียวกัน ยังพูดกันได้ ถ้าไม่เป็นภาษาภาวนานะ เวลาเราพูดไปนี่คนฟังงงเนาะ เออ หลวงพ่อพูดเรื่องอะไร? พูดอยู่คนเดียว ไอ้คนฟังไม่รู้เรื่องเลย แต่ถ้าคนภาวนา เห็นไหม เพราะคำถามของเขา เราคุยกันรู้เรื่องหน่อยหนึ่ง

มันก็ดีตรงนี้ ดีที่ว่าพอเป็นภาษานักภาวนา ภาวนาก็คุยกันได้ ถ้าคุยกันไม่ได้นะ ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ นิยายปรัมปรา พูดไปแล้วไม่มีเหตุผลรองรับ แต่นี้มีเหตุผลรองรับ เพราะคนพูดกับคนถามรู้กัน เพราะคนพูดพูดออกมาจากประสบการณ์ ไอ้คนถามกำลังติดขัดอยู่ มันผลัวะ มันเข้ากัน เออ แสดงว่าการภาวนานี้ก็มีเหตุมีผล การภาวนา นี่ภาวนาไปแล้วมันมีเหตุมีผลรองรับ มีข้อเท็จจริงรองรับ มันไม่ใช่นิยายปรัมปราจนจับต้นชนปลายไม่ถูกเลยเนาะ เอวัง