เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๔ มี.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

การทำบุญกุศล การทำบุญกุศลคือการเสียสละ เราก็ว่าการเสียสละนั้นเป็นบุญกุศล เห็นไหม ใช่มันเป็นบุญกุศล เพราะมันเป็นเครื่องแสดงออกของน้ำใจ เพราะใจเป็นประธาน ปฏิสนธิจิต เพราะมีการกำเนิดถึงมีความเป็นมนุษย์ เพราะมีโอปปาติกะถึงเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม แล้วอะไรไปเกิด? แต่สิ่งที่ไปเกิด ปฏิสนธิจิต ปฏิสนธิวิญญาณไปเกิด ฉะนั้น พอเกิดเป็นมนุษย์นี่ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ ความยาก ความลำบากตกลงสู่ที่ใจทั้งหมด พอตกลงสู่ที่ใจ ใจก็แสวงหา

นี่ธรรมะเก่าแก่ ธรรมะของโลกนี้เป็นธรรมะเก่าแก่ สรรเสริญ นินทา โลกธรรม ๘ ในโลกธรรม ๘ เป็นธรรมะเก่าแก่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้ สิ่งนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม เหมือนความเชื่อของมนุษย์ มนุษย์เชื่อถึงนามธรรม เชื่อถึงผี เชื่อภูต ผี วิญญาณ ถ้าไม่มีศาสนาคนเราก็เชื่อผี เชื่อวิญญาณ เชื่อสิ่งที่เคารพ คนเราพึ่งตัวเองไม่ได้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม บอกว่า “เธออย่ากราบไหว้ภูเขาเลากา ต้นไม้ ไฟ ไม่ต้องไปกราบไหว้ เธอจงทำความดี อุทิศส่วนกุศลถึงความดี”

ความดีก็คือใจไง ถ้าใจมันมีความรู้สึกนึกคิดที่ดี เห็นไหม แต่ใจที่มีความรู้สึกนึกคิดที่ดีมันมาจากไหนล่ะ? เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมะเก่าแก่” สรรเสริญ นินทานี้เป็นของมีอยู่ดั้งเดิมนะ สิ่งที่เขาสรรเสริญนินทา มันเป็นความจริงหรือความเท็จล่ะ? มันเป็นความจริงก็ได้ เป็นความเท็จก็ได้ แต่อริยสัจล่ะ?

ความจริงที่เหนือความจริงไง ความจริงแท้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมานี่ไง ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัจธรรมอันนี้ไง ถ้าสัจธรรมนี่มันอยู่ที่ไหน? มันอยู่ที่ตัวหนังสือ มันอยู่ที่ตำรับตำราที่เราค้นคว้ากันมา ค้นคว้าขึ้นมาแล้วรู้เรื่องอะไรไหม? รู้เรื่องสัจจะความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ตัวเองไม่รู้เรื่องของตัวเองไง

นี่ไงธรรมะเก่าแก่ สรรเสริญ นินทา ยกย่อง สรรเสริญ เชิดชู บูชากันไป ไม่รู้ว่าสิ่งที่บูชานั้นเป็นความจริงหรือเป็นความไม่จริง ยกย่อง สรรเสริญ เชิดชูกันไป แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม ความจริงเป็นความจริงในตัวของมัน ใครจะติฉินนินทา ใครจะถากถางอย่างไรมันเป็นเรื่องของเขา นี่คนส่งเสริม คนยกย่องส่งเสริมว่าสิ่งนั้นเป็นความดีๆ ถ้ามันไม่เป็นความดี มันก็เป็นในตัวของมันเอง ถ้าเป็นคุณงามความดี ดีขนาดไหน เขาจะเหยียบย่ำขนาดไหน มันก็เป็นความดีของตัวมันเองใช่ไหม? แล้วความดีนั้นมันอยู่ที่ไหนล่ะ?

ถ้าความดีอันนี้มันอยู่นะ มันอยู่ที่ภวาสวะ อยู่ที่ภพ ฐีติจิต เวลาทำคุณงามความดีกัน เห็นไหม เราอยากสร้างคุณงามความดีกัน พอเรามีศรัทธาความเชื่อเราก็แสวงหา เราก็เสียสละ เพื่อให้จิตใจมันได้ปล่อยวางไป สิ่งใดที่เป็นการกดดันอยู่ในใจ ถ้ามันมีการเปิดออกไปมันจะมีความโล่งโถงมาในหัวใจของเรา สิ่งใดที่มันอัดอั้นตันหัวใจ เห็นไหม เวลาเราเครียด เรามีความวิตกกังวลในหัวใจ เราควักสิ่งนั้นออกไปจากใจเราไม่ได้ แต่การฝึกฝนของการเสียสละทาน การเสียสละคือความตระหนี่ถี่เหนียว ความตระหนี่มันคืออะไร? คือสิ่งที่เรารู้ไม่ได้

เราบอกว่าเราไม่ตระหนี่หรอก เราไม่ตระหนี่หรอก แต่ใจลึกๆ มันหวงของมัน มันหวง นี่ตัณหาความทะยานอยากมันมีโดยธรรมชาติของมัน ทุกข์ สมุทัย ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์มันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าคนเรามีความสุขนะ นี่เวลามันอ้อยอิ่ง จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส เวลามันผ่องใส มันมีความเบิกบานของมัน มันนึกว่าเป็นความสุขไง เห็นไหม มันอ้อยอิ่งของมัน ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นสมุทัย มันมีความหลงในตัวของมันเอง ถ้ามันมีความหลงในตัวของมันเอง มันจะเอาความจริงมาจากไหน? นี่ความจริงมันไม่มี

ฉะนั้น เวลาบอกว่าเรามีความสุข เรามีความพอใจ นี่ตัณหาอันนั้น ความเป็นตัณหา แล้วถ้าเราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติกัน เป็นตัณหาไหม? ความขวนขวาย ความกระทำของเรา ความอยากของเรานี่เป็นตัณหาไหม? ตัณหาความทะยานอยากคือสิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มันตอบสนองเราไม่ได้ สิ่งที่มันไม่มีไม่เป็น แต่การกระทำของเรานี่นะ เห็นไหม อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี มันมีจริงอยู่ไหม? ถ้าเราทำของเรา สิ่งที่เป็นบารมีธรรม เราเสียสละทาน เราทำบุญกุศลมันมีจริงอยู่ไหม? เราเสียสละออกไป สิ่งที่เป็นวัตถุเราเสียสละออกไป มันมีบุญกุศลจริงไหม? ถ้ามันมีบุญกุศลจริง บุญกุศลมันอยู่ที่ไหน? จิตที่มันรับรู้ จิตที่มันเสียสละ สิ่งนี้มันพัฒนาของมัน นี่เราให้ของสิ่งใด เราเสียสละสิ่งใดไปเรารู้ไหม? คนที่ใช้สอยของเรา เขาใช้ของสิ่งนั้นเขาได้ความสุขไหม? นี่สิ่งนี้เป็นบารมี

คนดี เห็นไหม โลกธรรม ๘ คนสรรเสริญ คนนี้เป็นคนดี คนนี้ไม่เอาเปรียบใครเลย คนๆ นี้เป็นคนดีมาก คนๆ นี้เขาช่วยเหลือสังคมมาก นี่ความดีของเขา คนๆ นั้นทำไปแล้วมันเรื่องของเขา แต่คนที่เขามีความดีด้วยเขาบอกนี่เป็นความดีๆ สิ่งที่เป็นความดี บุญกุศลมันเกิดที่นี่ไง ถ้าบุญกุศลเกิดที่นี่ บารมีมันเกิดที่นี่ นี่อธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว แต่โลกมันยอมรับกันไหม? โลกมันก็ต้องนินทาของมัน เป็นไปไม่ได้ นี่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

นี้ในโลกธรรม ๘ เห็นไหม แต่ถ้าเราสร้างของเรา เราเสียสละของเรา เราทำของเราขึ้นมา เพื่อสร้างสมบุญบารมีของเรา ถ้าสร้างสมบุญบารมี นี่ความตระหนี่ถี่เหนียวมันมีของมันในหัวใจ เราเสียสละของมัน เสียสละทานๆ นี้คือทานนะ ทานที่เป็นวัตถุ แล้วทานที่เป็นนามธรรมล่ะ? นี่เวลาเราปรารถนาดีกับเขา เราบอกว่าเราคนทุกข์จนเข็ญใจ สิ่งใดที่เสียสละทานเราหาไม่ได้ เราคนทุกข์ คนจน เราไม่มีเหมือนเขา นี่ถ้าเห็นเขาทำ ถ้าเราอนุโมทนาไปกับเขามันก็เป็นบุญแล้ว อนุโมทนาทาน เขาเสียสละเป็นวัตถุทาน เราอนุโมทนาของเรา เราเห็นดีเห็นงามกับเขาไปด้วย

นี่พูดถึงการอนุโมทนา การเห็นดีเห็นงามไปกับคนที่ทำคุณงามความดี แต่เวลาคนทำคุณงามความดี กิเลสมันก็บอกว่าไม่จริง ไม่จริง นี่มันคิดของมัน เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นการสรรเสริญ นินทา มันเป็นสัญญาอารมณ์ แต่ถ้าเราเชื่อในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อนุปุพพิกถา เวลาฆราวาสธรรม เขารู้ถึงธรรมะเขาไม่ได้ เกิดมายังไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาจากไหน เกิดมาทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นี่ ก็ว่าเกิดมาทุกข์ยากทำไมสังคมรังแกเรา สังคมรังแกเรา เขายอมรับตัวเขาเองไม่ได้เลย เขายอมรับการเกิดมาของเขาไม่ได้

เกิดมาเป็นคนนี่แสนทุกข์แสนยาก ตายแล้วก็แล้วกันไป นี่ทำสิ่งใดพอใจก็ทำกันไป จะขวางโลกขนาดไหน จะถากถางใครขนาดไหนก็ทำของมันไป ทำเพื่อสะใจของตัวเอง พอตายแล้วก็แล้วกันไปไง นี่คนอย่างนี้ใช่ไหมคือคนจะปฏิบัติธรรม จิตใจที่มันหยาบอย่างนี้ใช่ไหมที่มันจะรับรู้ธรรมะที่ละเอียดได้ ถ้าจิตใจอย่างนี้มันรับรู้ธรรมะที่ละเอียดไม่ได้ เห็นไหม นี่ธรรมอนุปุพพิกถา ให้เขาเห็นว่าคุณงามความดีของโลกนี้มีก็พอแล้ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าเขาเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เขาก็จะไม่ระรานคนอื่น เพราะเขาเห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

นี่ฆราวาสธรรม เราเสียสละของเรา ถ้าเสียสละของเราแล้วมันได้สิ่งใดมา? มันได้บุญกุศลมา มันได้สถานะ ถ้ามีอำนาจวาสนาบารมี จิตที่มันเบา นี่สิ่งที่มันเบามันก็ลอยขึ้นสูง ก้อนหิน สิ่งที่หนักหน่วงมันก็ลงต่ำใช่ไหม? จิตใจที่อาฆาตมาดร้าย จิตใจที่ตระหนี่ถี่เหนียว จิตใจที่มันยึดมั่นถือมั่นของมัน มันมีความหนักหน่วงของมัน มันมีแต่โทสจริต มันก็จะกดให้จิตใจนี้ถ่วงหนักลงไป จิตใจที่มันผ่อนคลาย จิตใจที่มันเสียสละ จิตใจที่มันสะดวกสบายของมัน มันเบาของมันใช่ไหม? นี่มันจะลอยสู่ที่สูง

โดยสัจจะความจริงมันเป็นแบบนั้น จะเชื่อหรือไม่เชื่อนั่นอีกเรื่องหนึ่ง สรรเสริญ นินทาเราก็ทำ แต่ในเรื่องของโลกธรรม ๘ ธรรมะมันคือธรรมะ ความจริงคือความจริง ความจริงที่ใครจะรู้ได้หรือรู้ไม่ได้เท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนเขา ถ้าเขารู้ได้เท่านี้เขาก็เสียสละของเขา นี่อนุปุพพิกถา

นี่เสียสละทาน เสียสละเพื่อสังคมมีความร่มเย็นเป็นสุข เอ็งอยู่ในสังคมนั้นให้มีความร่มเย็นเป็นสุข สังคมนั้นไม่เบียดเบียนกัน สังคมนั้นอภัยต่อกัน นี่แล้วเอ็งมีสติปัญญารักษาตัวเองไว้ นี่พูดถึงฆราวาสธรรมใช่ไหม? แล้วฆราวาสธรรมนี่เราเสียสละทานขึ้นมาแล้วเราได้ฟังธรรมะแล้ว เวลาฟังธรรมะ ธรรมะบอกว่า เวลาเกิดนี่เกิดมาจากกรรม กรรมแล้วมันเป็นอย่างไรล่ะ? กรรมมันกรรมอะไรล่ะ? มันกำหรือมันแบ เอ่อ ถ้ามันแบก็จบนะ กำมันก็ทุกข์ แบก็ออก แบก็เลิกกัน นี่แล้วกรรมมันคืออะไร?

กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว สิ่งที่ทำมาเราต้องมีมนุษย์สมบัติขึ้นมา เราถึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์นี้ มนุษย์สมบัติ มีศีล ๕ นี่มนุษย์สมบัติ เพราะเรามีมนุษย์สมบัติ มนุษย์เกิดมามีอายุสั้น อายุยืน เห็นไหม อายุสั้นเพราะได้ทำลายกัน ได้ทำบาปทำกรรมสิ่งนั้นมา ใครทะนุถนอม ใครมีการรักษาต่างๆ อายุของเขา นี่อายุยืน มีทรัพย์ มีสมบัติ มีต่างๆ ทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ นั้นมันกรรมเก่ากรรมใหม่ทั้งนั้นแหละ อันนั้นเป็นเรื่องของโลกๆ ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าจริตนิสัยล่ะ? ถ้ามีความเชื่อล่ะ?

ถ้ามีความเชื่อ มีศรัทธา เขาเรียกทรัพย์อันนี้เป็นอริยทรัพย์นะ อริยทรัพย์คือความเชื่อ เชื่อในอะไร? เชื่อในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สัจธรรม ทุกข์นี้เกิดขึ้น ทุกข์นี้ตั้งอยู่ ทุกข์นี้ดับไป มีเท่านี้แหละ โลกมีเท่านี้ ทุกข์นี้เกิดขึ้น ทุกข์นี้ตั้งอยู่ แล้วทุกข์นี้ดับไป พอทุกข์ดับไป เออ สบาย สบาย พอใจ แต่ความสบาย ความสุขและความทุกข์มันตั้งอยู่บนอะไร? ถ้าไม่มีหัวใจรับรู้ ใครเป็นคนรับรู้มัน? ถ้าไม่มีสิ่งใดที่ตั้งอยู่นี้เอาอะไรมารับรู้มัน? นี่สิ่งที่รับรู้นะ แล้วมันสบาย เดี๋ยวมันทุกข์ เดี๋ยวมันสุขอยู่นี่ แล้วเราจะแก้ไขมันอย่างไร?

นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนที่นี่ ถึงต้องพยายามหาตนเองให้เจอ ถ้าใครหาตนเองให้เจอนะ เห็นไหม เรามีศรัทธา มีความเชื่อ นี่เราก็บอกว่าเราก็รู้จักเรานะ ไอ้นี่มันทะเบียนบ้านนะ กรมการปกครองเขาให้เลข ๑๓ ตัวมา แล้วเลข ๑๓ ตัวนี้เขาเอาไว้ไปเสียภาษี เขาเอาไว้ไปใช้งานนู่น เขาเอาไว้เรียกตัวไปใช้ แต่จิตของเราอยู่ไหน? จิตที่มันตายจากชาตินี้มันก็จะไปเกิดต่อ ที่มันจะไปเกิดชาตินี้ปฏิสนธิจิตมันมาจากไหน?

ถ้ามันมาจากไหนนะ ถ้าเราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เรามีสติปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาที่โลกนี้เขาใช้กัน นี้เป็นโลกียปัญญา ปัญญาวิชาเลี้ยงชีพ การเลี้ยงชีพ ถ้าเรามีสติปัญญา แล้วมีปัญญาขึ้นมามันจะเป็นสัมมาทิฏฐิ มันจะทำให้ชีวิตเราไม่เศร้าหมอง การเลี้ยงชีพนี้เลี้ยงชีพด้วยสุจริต ความสุจริตนี้จะเป็นเกราะคุ้มครองหัวใจ ถ้าหัวใจนี้ทำด้วยสุจริต เห็นไหม มันจะองอาจกล้าหาญ มันจะเข้าสังคมไหนก็ได้ ถ้ามันทุจริต นี่จิตใจนี้หลบๆ ซ่อนๆ ไม่กล้าเผชิญกับความจริง

นี่วิชาชีพนี้มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เพราะการศึกษาขึ้นมาก็ศึกษามาจากจิตนี่แหละ เพราะมีจิต มีพลังงาน พลังงานมันถึงไปที่สมอง สมองนี้ออกไปเป็นวิชาการ เป็นการศึกษา การศึกษามันก็ซับกลับมาเป็นสัญญาอารมณ์กลับมาที่ใจ พอกลับมาที่ใจนะ พอทบทวนนะเดี๋ยวก็ลืม นี่นักกฎหมายเขาเปิดแล้วเปิดเล่านะ กฎหมายข้อนั้นลืม ข้อนี้ไม่ลืม เห็นไหม นี่โลกียปัญญา

โลกียปัญญามันมาจากไหน? โลกียปัญญามาจากภวาสวะ ภวาสวะมันคืออะไร? คือฐีติจิต ฐีติจิตมันมีอะไร? มันมีอวิชชาครอบงำอยู่ ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่กระทำนี่กระทำมาจากอวิชชา คือความชอบของตัวเอง แต่มุมมองไง เวลามุมมอง มีจริตนิสัย นี่มันเพราะกิเลสพาใช้ นี้คือโลกียปัญญา ปัญญาที่มันเกิด ที่มันมีกันอยู่แล้วอยู่นี่ สิ่งนี้เลี้ยงชีพ สิ่งนี้ทำให้พ้นจากทุกข์ไปไม่ได้ พอความเข้าใจสังคมโลกแล้วมันก็ เออ สบายๆ แต่ถ้ามันอยากจะเป็นสัจจะความจริง อยากจะเผชิญความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

นี่โลกนี้ธรรมะเก่าแก่ โลกธรรม ๘ สรรเสริญ นินทา แล้วอริยสัจความจริงที่เหนือ เหนือสรรเสริญ เหนือนินทา มันเป็นความจริงในตัวมันเอง มันเป็นสัจจะในตัวมันเอง นี่มันเกิดที่ไหนล่ะ? ดูสิเพชร นิล จินดานะมันจะกัดกร่อนตัวมันเอง มันย่อยสลายตัวมันเอง ไม่มีสิ่งใดคงที่เลย แต่ถ้ามรรค ผล นิพพานนะ อกุปปธรรม ความคงที่ของจิตมันมี จิตที่มันไหลไปๆ ที่มันทุกข์ยากอยู่นี่ แต่ถ้าความคงที่ของมัน คงที่มันคงที่ เริ่มต้นจากคงที่ที่ไหนล่ะ? ถ้ามันไม่รู้จักสมถกรรมฐาน ไม่รู้จักที่ทำงานของมัน ไม่รู้จักฐีติจิต ไม่รู้จักความเป็นมนุษย์ ไม่รู้จักใจของตัวเอง จะเอาสิ่งใดมาทำงาน? ถ้ามันทำงานโดยสัญชาตญาณของมัน มันก็ไหลไปตามกระแสไง ไหลไปตามตัณหาความทะยานอยากไง ไหลตามอวิชชาไง

นี่สิ่งที่ทำมากันอยู่นี้ โลกียปัญญานี่สัญชาตญาณของมนุษย์ เพราะความเกิดเป็นมนุษย์ต่างหากล่ะเราถึงมีสมอง เราถึงมีขันธ์ ๕ เราถึงได้ศึกษาเล่าเรียนกันอยู่นี้ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ สถานะของมนุษย์เท่านั้น เพราะมีสถานะของมนุษย์มันถึงมีศักยภาพนี้มา แล้วสถานะของเทวดาล่ะ? สถานะของสัตว์เดรัจฉานล่ะ? สถานะของนรกอเวจีล่ะ? เพราะเขาเกิดภพชาติของเขา นี่วัฏวน ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมามันจะย้อนกลับมา

ถ้ามันย้อนกลับมา เห็นไหม ย้อนกลับมาสถานะที่มันจะไปเกิดนี่ ฐีติจิต สัมมาสมาธิ สมถกรรมฐาน ถ้าเข้าไปสู่สัจจะ สู่กรรมฐาน เห็นไหม นี่แล้วฝึกหัดใช้ปัญญาในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะใช้ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่สติปัฏฐาน ๔ นี่อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคนี้มันจะเกิด ถ้าบอกนี่มันมรรคเกิด เราใช้ความเป็นมนุษย์ มิติของความเป็นมนุษย์ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วก็บังคับไว้ให้รู้ในทางวิชาการนี้ มันจะแตกแขนงออกไป จะรู้ตามความเป็นจริงได้ก็ไม่ยอมรับ ว่าสิ่งนี้เหนือพุทธพจน์ เหนือความเป็นจริง

ทั้งๆ ที่ตัวเองโง่นะ ตัวเองเอาวิชชา เอาตัณหาความทะยานอยากครอบงำตัวเองไว้ สัจจะความจริง ความจริงมันจะเกิดขึ้นมาก็ไปครอบงำมันไว้ว่ามันจะเป็นความจริงอย่างนั้นไปไม่ได้ แต่ผู้รู้จริงเขารู้ เขาใช้ปัญญาของเขา เขาชำแรกของเขา เขาทำลายความสกปรกในหัวใจของเขา ถ้ามันทำความจริงขึ้นมา นี่ไงอริยสัจ สัจจะที่มันเหนือการสรรเสริญ นินทาไง เหนือโลกธรรม ๘ สัจจะเป็นสัจจะความจริง เป็นอกุปปธรรมสิ่งที่คงที่ คงที่โดยธรรมนาม คงที่ด้วยความมีอยู่ คงที่ดีกว่าทุกๆ อย่าง

นี่ไงถึงว่านิพพาน ๑ นิพพาน ๑ ความเป็นหนึ่งนี้มีอยู่อย่างไร? นิพพานไม่มีหรือ? ถ้านิพพานไม่มี แล้วจิตที่ไม่เคยตายมันไปไหน? ในวัฏฏะ เวลาเวียนตายเวียนเกิด จิตนี้ไม่เคยตาย มนุษย์นี่ตาย มนุษย์ที่ตาย นี่วิญญาณเคลื่อนออกจากร่างนี้ไปมันไม่ตาย แต่มนุษย์นี่ตาย แล้วพอเคลื่อนไปมันก็ไปของมันต่อไป มันไปของมันเรื่อยๆ นี่มันไม่มีวันจบสิ้นหรอก ถ้าไม่มีวันจบสิ้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาจากไหน?

๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ความเกิดความตายเป็นอสงไขยๆ ที่สร้างสมบารมีมา ความดีซ้อนๆๆ มาจนเป็นจริต เป็นนิสัย จนจิตใจเข้มแข็ง จิตใจแก่กล้า มีสิ่งใดจะชักนำไปทางที่เลวก็ไม่ไป ใครจะดึงไปไหนก็ไม่ไป ขนาดอาฬารดาบส อุทกดาบสบอกเลยนะ บอกว่าเป็นศาสดาเหมือนเรา เก่งแล้วๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะอะไร? เพราะได้สร้างสมบุญญาธิการมา ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย

นี่ไงที่ว่าจิตมันไม่เคยตาย มันสร้างสมตัวมันมาแก่กล้าขนาดนั้น มีอำนาจวาสนาบารมีขนาดนั้น แล้วเวลามันสิ้นกิเลสล่ะ? แล้วมันไปไหนต่อ? ที่ไม่เกิดมันไปไหน? มันไม่เกิดมันไปไหน? ทำอย่างไรถึงไม่เกิด? นี่ไงความคงที่มีอยู่ แล้วความคงที่มันอยู่ที่ไหนล่ะ? อยู่ที่ความเจ็บช้ำน้ำใจเรานี่แหละ อยู่ที่ความทุกข์ระกำนี่แหละ ความทุกข์ระทมในหัวใจ ความเจ็บช้ำน้ำใจ นี่กิเลสมันครอบงำ เวลาเราเอาชนะสิ่งนี้ได้ ความตรอมใจ ความเจ็บช้ำน้ำใจ ความทุกข์ยาก นี่มีสติ มีปัญญาดูแลมัน ดูแลมัน แก้ไขมันจนมันปล่อยวางเป็นสากล เป็นความว่าง คือสัมมาสมาธิ นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งอย่างนี้ แล้วเราค่อยๆ พิจารณาของมัน นี่สำรอกมัน คายมัน พอคายมันออก สิ่งที่คายออก นี่สัจจะความจริงอยู่อย่างนี้

ถ้ามีสัจจะความจริงนะ ธรรมะเก่าแก่ สรรเสริญ นินทา ใครจะยกย่องขนาดไหนมันเรื่องของเขานะ เราชั่วแสนชั่ว เขาว่าดีแสนดี โอ้โฮ สังคมเขาเชื่อถือ นินทา เขาเชื่อถือกันนะ เขาสรรเสริญกัน ไอ้เราชั่วแสนชั่วนี่เรารู้ นั่งบนหลังเสือนะ เขายกย่องสรรเสริญ คุณธรรมในใจเราไม่มีเลย นี่ทุกข์มาก

เราดีของเราสุดยอด สังคมเขาเหยียบย่ำทำลายเรื่องของเขา ใครจะเหยียบย่ำตามสบาย พอจิตนี้มันพ้นไปแล้วนะ ความดีคือความดี กาลเวลามันจะพิสูจน์ สุดท้ายพอรู้ว่าความดี สิ่งนั้นเราก็ไม่มีโอกาสแล้ว เราไม่ได้สัมผัส เราไม่ได้จับต้อง เราไม่มีสิ่งใดชี้นำ นั้นเพราะความโง่ของเราเอง แต่ถ้าความฉลาดของเรานะ ทุกสังคมมีทั้งดีและชั่ว เราต้องมีสติปัญญาคัดเลือก อย่าเชื่อ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “กาลามสูตร ถ้าใครฟังสิ่งใดแล้วเชื่อ คนนั้นโง่มาก ฟังแล้วไตร่ตรอง ใคร่ครวญ พิสูจน์ ตรวจสอบ อย่าเชื่อสิ่งที่เรารู้ เราเห็น พิสูจน์ตรวจสอบให้จริงๆ”

นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้ำแล้วย้ำเล่า กาลามสูตร กาลามสูตร อย่าเชื่อ อย่าเชื่อ ต้องพิสูจน์ ตรวจสอบ เห็นไหม นี่อริยสัจ ไม่ใช่โลกธรรม ๘ สัจจะความจริงอันนี้มีอยู่ แล้วรู้ได้ ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน รู้ได้ ถึงเวลาเรารู้ได้ สิ่งนี้เราสัมผัสได้ หัวใจกับหัวใจนี่ทันกัน เวลาทุกข์ไม่ต้องถาม เวลาสัจจะความจริงต้องปฏิบัติ แต่ใจกับใจนี่ทันกัน ปฏิบัติถึงทันกัน เพราะมีต้นทุนเสมอกัน เอวัง