เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๕ มี.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยมมาทำบุญ ทำบุญคือเสียสละ สิ่งที่เสียสละ ความรู้สึกนี่มันเป็นนามธรรม ที่มองเห็นไม่ได้ว่าเราจะเสียสละอย่างใด? เราถึงต้องมีวัตถุทาน พอวัตถุทานนี่ วัตถุทานเกิดจากความเสียสละของเรา ถ้าเราเสียสละของเรา เห็นไหม นี่คือการฝึกฝนหัวใจ ถ้าหัวใจเป็นสาธารณะนะ ถ้าหัวใจเป็นสาธารณะคือเรามองเห็นความเสมอภาค ใจเขาใจเรา ถ้าเรารู้สึกว่าใจเขาใจเรา ความเป็นอยู่มันจะดีขึ้น แต่ถ้าไม่รู้สึกใจเขาใจเรา มันมีแต่ใจเราไง

ถ้ามีแต่ใจเรานะมันมีแต่ความแผดเผา มันมีแต่ความเร่าร้อน เพราะ เพราะโดยสัจจะ โดยสัจจะ โดยอริยสัจจะความจริงคือทุกข์เป็นอริยสัจ ถ้าทุกข์เป็นอริยสัจ ในหัวใจของสัตว์โลกมันมีความทุกข์เผาลนของมันอยู่ ถ้ามีความทุกข์เผาลนของมันอยู่ ทุกคนถ้ามองแต่หัวใจของตัวมันจะมองเห็นแต่ทุกข์ที่เผาลนใจของตัว แต่ถ้าจิตใจมันเป็นสาธารณะ เห็นไหม ทุกคนมันก็เหมือนกัน เขาก็มีความแผดเผาอย่างนี้เหมือนกัน แต่ทำไมเขาเก็บงำของเขาได้ ถ้าเขาเก็บงำของเขาได้ เขามีเหตุผลอย่างใด? ถ้าเขามีเหตุผลอย่างใดใช่ไหม? แล้วเรามีเหตุผลอย่างใด?

นี่เวลาบอกว่าเราทุกข์ๆ ทุกดวงใจเหมือนกัน ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ ทุกข์นี้เป็นความจริง ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ แล้วทุกข์ดับไป แล้วเกิดมาทำไม? เกิดมาทุกข์เกิดมาทำไม? นี่เราปฏิเสธไม่ได้ เราปฏิเสธความเกิดความตายไม่ได้หรอก ถ้าเราปฏิเสธได้นะเราจะปฏิเสธความคิดที่มันให้ความทุกข์กับเรา เราจะปรารถนาแต่ความรู้สึกนึกคิดที่มีแต่ความสุข ความพอใจ แต่เราปฏิเสธความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้นไม่ได้เลย

ฉะนั้น สิ่งที่การเกิดและการตายเราปฏิเสธไม่ได้ เราปฏิเสธไม่ได้เพราะอะไร? เพราะมันเหนือการควบคุม เหนือการจัดการของเรา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ตรัสรู้ธรรม เวลาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไปเที่ยวสวนเห็นยมทูต คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย

เวลาเกิดขึ้นมา นี่เราเกิดขึ้นมาแล้วเป็นเราใช่ไหม? เราก็ว่าเราไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไง เราก็จะแสวงหาแต่ความพอใจของเราใช่ไหม? คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ? ถ้าเราต้องเป็นเช่นนั้นด้วยหรือ ฝั่งตรงข้ามมันต้องมี ถ้าฝั่งตรงข้ามมี ท่านแสวงหาของท่าน เห็นไหม ท่านแสวงหาของท่านจนท่านเข้าใจ เห็นความเป็นจริง

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชนะมารนะ “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา บัดนี้เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีกแล้ว เจ้าจะเกิดบนหัวใจของเราไม่ได้เลย” เห็นไหม

เจ้าจะเกิดบนหัวใจเราไม่ได้เลย คือมันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายไง สิ่งที่มันเกิด มันแก่ มันเจ็บ มันตายก็ความอยากของเรานี่ไง ความอยาก ความแสวงหา ความต้องการนี่แหละทำให้เราเกิด นี่อยากได้สิ่งใด อยากได้ อยากดี อยากเป็น อยากไปหมดเลย แล้วความอยากมันคืออะไรล่ะ? ความอยากมันเป็นกิเลส แล้วเวลามาวัดนี่เป็นความอยากไหม? เรามาวัด เรามาเสียสละนี่เป็นความอยากไหม? ความอยากที่เป็นมรรคไง

นี่เราอยากดี อยากดีต้องทำดี ชั่วไม่ต้องอยากนะ ความเผอเรอ ความพลั้งเผลอ ความสะเพร่า ความเหงาหงอยไม่ต้องอยากนะ มันมีเอง แต่ความตื่นตัว มีสติสัมปชัญญะ การขวนขวาย การทำสิ่งที่เป็นความดี เห็นไหม ต้องขวนขวาย แล้วอย่างนี้เป็นกิเลสไหม? สิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยาก ตัณหา วิภวตัณหา มันเป็นสมุทัย สิ่งที่เป็นสมุทัย สมุทัยควรละ แต่สิ่งที่ควรละ แล้วเอาอะไรไปละมันล่ะ? สิ่งที่เราจะควรละมัน เห็นไหม เราก็ละด้วยความมีสติ มีปัญญา ด้วยความขยันหมั่นเพียรเป็นคนละ อันนี้เป็นมรรค

คำว่าเป็นมรรคนะ นี่มรรค มรรคญาณ สิ่งที่เป็นมรรคเป็นพลังงาน สิ่งที่เป็นความทุกข์เป็นพลังงานไหม? มันเป็นพลังงานโดยอวิชชา ด้วยความไม่รู้ ตัวพลังงานคือตัวปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธิ นี่เราอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน คนเราเกิดมาเหมือนกันนะ เราอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน แต่พออยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน เห็นไหม แรงกดและแรงยก เวลาแรงกดขึ้นมา นี่กด แรงกดและแรงยก ถ้าแรงยก แรงยกคือมรรค แรงยกคือความปรารถนาดี แรงกด ความกด เราอยากมีอำนาจวาสนา นี่เราจะกด อยากจะนั่งอยู่บนหัวคน ไม่มีใครเขาให้นั่งหรอก

แรงกดนะกดเท่าไหร่ก็ไม่ได้ แรงยก เห็นไหม เรายกทุกๆ คนขึ้น เรายกทุกคนขึ้น นี่เราทำคุณงามความดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ปรารถนาสิ่งใดเลย รื้อสัตว์ขนสัตว์ ปรารถนาดีกับเขาทั้งนั้นนะ ชี้ทาง บอกทางเขา ปรารถนาดีกับเขาทั้งนั้นเลย นี่เพราะไม่ต้องการสิ่งใดเลย จนปัจจุบันนี้ ๒,๐๐๐ กว่าปี ๕,๐๐๐ ปีนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราทำไมเชื่อถือ เราทำไมยอมรับล่ะ? เรายอมรับเพราะท่านปรารถนาดีกับเรา ท่านชี้ทาง บอกทางเรานะ แต่ถ้าเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่แรงกด แรงกดกดเท่าไหร่ก็ไม่อยู่หรอก แรงยกล่ะ?

นี่แรงกดและแรงยกมันเกิดมาจากใจของเรา ถ้าเกิดมาจากใจของเรา ถ้าแรงยกล่ะ? แรงยกมันต้องใช้กำลัง ถ้าแรงยกใช้กำลัง เห็นไหม เราปรารถนาดี เราทำคุณงามความดีต้องใช้กำลัง ถ้าใช้กำลังขึ้นมาเราต้องมีสติปัญญาของเรา แรงกดเราเข้าใจว่าแรงยก แรงยกเราบอกว่านี่เป็นแรงกด แรงยกมันเหนื่อย มันลำบาก มันลำบน แรงกดนี่ไม่ต้องทำอะไรมันไหลไปเลยนะ แรงกดของกิเลสไง ของอวิชชาไง แรงกดไม่ต้องทำสิ่งใดมันมีของมัน

เราเกิดใต้ฟ้าเดียวกันนะ นี่เวลาสังคม เวลาความขัดแย้งทางสังคม สังคมที่เขามีการแข่งขัน เห็นไหม เพราะแรงกด แรงยก สังคมมันถึงมีการพัฒนาไป ถ้าสังคมไม่มีแรงกดและแรงยก มันจะมีการพัฒนาไปไหม? นี่พูดถึงสังคมนะ แล้วเราอยู่กับสังคมนั้น แต่แรงกดและแรงยกในใจเราล่ะ? แรงกดและแรงยกของใจเป็นปัจจัตตัง ความสุข ความทุกข์ที่เผาลนในใจนี่เรารู้ของเราเอง พอเรารู้ของเราเอง แล้วเราจะบริหารจัดการอย่างไร?

ถ้าเราบริหารจัดการ เห็นไหม นี่มรรค มรรคเกิดจากการบริหารจัดการความรู้สึกนึกคิดของเรา เราพยายามจัดการความรู้สึกนึกคิดนี้ให้มันเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเป็นประโยชน์นะ เป็นประโยชน์ของเด็กๆ พ่อแม่ไม่ดุ ไม่ด่า พ่อแม่ส่งเสริม นี่เป็นความปรารถนาของเด็ก ถ้าความปรารถนาของผู้ใหญ่ เด็กถ้ามันไม่มีความรับรู้ มันออกไปสังคมมันก็เป็นเหยื่อเขาใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของเรา นี่สิ่งที่เป็นความปรารถนาดี ความอะไร สิ่งนี้เราจะพัฒนาของเรา เด็กๆ มีศรัทธาความเชื่อนะ โอ๋ย ไปวัดนะ ไปวัดนะพระก็ต้องโอ๋สิ โอ๋ย ทำความดีขนาดนี้ ไปวัดพระก็ อู๋ย ต้องดูแล นี่สิ่งที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่ เห็นไหม ไปวัด วัดเป็นอารามิก เป็นที่อยู่ของผู้ทรงศีล ผู้ที่ทรงศีลเขาต้องการความสงบระงับ นี่สัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ หมู่คณะเป็นสัปปายะ อาหารเป็นสัปปายะ ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ

สัปปายะคือที่ความสงบสงัดใช่ไหม? เราเข้ามาใหม่ เราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องต่างกันอยู่ โอ้โฮ พระที่นี่ไม่ถูกกันหรือ? โอ๋ย ไม่คุยกันเลยนะ โอ๋ย ต่างคนต่างอยู่นะ โอ๋ย พระที่นี่เห็นแก่ตัว นี่เพราะว่ามันยังเด็กอยู่ เห็นไหม เราไปวัด ไปวัดทำไมพระไม่โอ๋ สิ่งที่โอ๋นั่นนะมันเรื่องของกิเลสทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เราทำของเราเอง เห็นไหม ปัจจัตตัง เราจะพัฒนาของเรา เราจะยืนอยู่ ดูสิเราออกเรือไป เรามีเรือแคนู ออกไปกลางทะเลไปเจอพายุ ไปเจอสิ่งพายุร้าย เราจะฝ่าคลื่นลมนั้นไปได้อย่างไร?

ชีวิตของเรา เห็นไหม ถ้าเราพัฒนาของเรา ถ้าเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่พายุร้ายมันพัดกระหน่ำหัวใจเรา ถ้าเราไม่มีพัฒนาการของเราเลย สิ่งที่จะโอ๋กันอยู่อย่างนั้นนะ นี่ถ้าโอ๋เราก็ออกทะเลไม่ได้ ถ้าเราออกทะเลนะ นี่วัฏฏะ กามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตนี้จะท่องเที่ยวไปในวัฏฏะ จิตนี้จะมีสติปัญญาพาหัวใจนี้พ้นไปจากวัฏฏะ เราจะพ้นจากวัฏฏะมันต้องพัฒนาการของมันใช่ไหม? ถ้าเราพัฒนาการของเรา นี่สิ่งที่เป็นสัปปายะเราเห็นนะ พระทั้งหมด หรือสังคมในสังคมนั้นเขาไม่พูดกันเลย เขานั่งเฉย เราไปนั่งพล่ามๆ อยู่คนเดียวเราเป็นคนบ้านะ

นี่สภาวะแบบนั้นมันจะสอนเรา ถ้าเราไปอยู่ในสังคมอย่างนั้น เขาไม่พูดกันเพราะอะไรล่ะ? นี่เขาไม่พูดกันนะ แต่ความรู้สึกนึกคิดในหัวใจเขานี่สว่างโพลงนะ คนไม่พูดกันด้วยปาก เห็นไหม เขาบอกว่าพระเขาปฏิบัติเขาบอกไม่พูด แต่มีสมุดไว้เล่มหนึ่งเขียนทั้งวัน เขียนทั้งวัน เขียนไม่ทัน นี่คือว่าไม่พูดไง เราไม่พูด แต่หัวใจ ความรู้สึกนึกคิด พลังงานนี่ใครยับยั้งไม่ได้หรอก ความฟุ้งซ่าน ความวิตกกังวล ความต่างๆ มันมีของมันอยู่ ถ้ามีของมันอยู่ เราจะต้องรักษาของเรา

ถ้าเรารักษาของเรา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนี่รู้จักวิธีการรักษาใจ แล้วรู้จักการพาหัวใจออกไปวิปัสสนา พาหัวใจนี้ออกไปทำงาน ไม่ใช่ว่ารักษาไว้นะ เหมือนก้อนหิน เอาก้อนหินมาวางไว้ ก้อนหินนะ นายช่างผู้ที่ฉลาด เขาเอามาเรียงกันๆ เป็นกำแพงนะ เขาเอามาเรียงๆ กัน เขาเอามาก่อสร้างบ้านก่อสร้างเรือนได้นะ

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราจะไปกดไว้ กดไว้เฉยๆ โดยที่ไม่ใช้ปัญญามันเป็นไปไม่ได้หรอก เวลาที่มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุลของมัน แต่ถ้ามันอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ความสุดโต่งไปสองข้าง แล้วสิ่งที่มัชฌิมาปฏิปทานี่เราทำอย่างใด? ถ้าเราทำอย่างใดนะ เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเพราะอะไร? เรามองสิ ถ้าจิตใจของคนสงบนะ มันอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ได้ แต่ถ้าจิตใจไม่สงบ เรานั่งอยู่นี่หัวใจมันเดือดพล่าน พอมันเดือดพล่านนะมันหาที่ระบาย นี่แล้วไม่มีใครฟังมันนะ มันก็ไปเที่ยวโพล่งๆๆ ให้คนฟัง ไอ้คนฟังเขาก็รำคาญจะตาย เพราะเขาต้องการความสงบ

แต่ถ้าเรารักษาใจของเรา พอเรารักษาใจของเรา พอจิตมันสงบมันรู้เลยนะ นี่รู้ที่ว่าความสงัด ความวิเวก สิ่งนี้สิ่งที่แสวงหา เรานะอยู่ในสังคม เขาต้องมีมหรสพสมโภช เขาต้องมีงานรื่นเริง เขาต้องมี อู๋ย มีศักยภาพไปหมดเลย แต่ถ้าในการปฏิบัติ เห็นไหม อยู่โคนไม้ รักษาใจของตัว ถ้าใจมันสงบนะ “สุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี”

ถ้าจิตมันสงบระงับนะมันจะมีความสุขของมันมาก ถ้ามีความสุขของมัน เห็นไหม นี่คนที่ทำความสงบของใจจนหลงได้ว่าเป็นนิพพานนะ ใช่ มันสงบระงับจากกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันแสดงตัว แต่อวิชชา แต่สังโยชน์ที่มันร้อยรัดใจไว้ มันยังไม่ได้ปลดเปลื้อง ถ้าไม่ปลดเปลื้อง เห็นไหม เวลาเข้าฌานสมาบัติ เวลาตายไปไปเกิดเป็นพรหม พรหมเพราะเขารักษาจิตเขามั่นคง

นี่ถ้าเป็นพรหม พรหมนี่ผัสสาหาร ถ้าเป็นเทวดานี่วิญญาณาหาร วิญญาณคืออารมณ์ความรู้สึก ถ้าเป็นมนุษย์นี่กวฬิงการาหาร ถ้าพูดถึงออกจากวัฏฏะไป จะเข้ามาในวัฏฏะล่ะ? ออกจากวัฏฏะไปคือพ้นไปจากกิเลส เจตนา มโนสัญเจตนาหาร มโน เห็นไหม มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนก็ทิ้ง แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดจากมโน เกิดจากภพ แม้แต่ภพเราก็ได้ทำลายมันแล้ว แล้วเวลาพระอรหันต์ที่ว่าสิ้นกิเลสไปแล้วมาสื่อสังคมกับโลกได้อย่างไร? พระอรหันต์ตายไปแล้ว พระอรหันต์ไม่มีแล้ว แล้วพระอรหันต์จะมาสอนลูกศิษย์ลูกหาได้อย่างไร?

นี่มโนสัญเจตนาหาร นี้ผลของวัฏฏะนะ ถ้าการเวียนตายเวียนเกิด นี่เวียนตายเวียนเกิดไป ถ้าเรารักษาจิตของเรา ถ้าจิตมันสงบ เห็นไหม ความสุขสิ่งใดเท่ากับจิตสงบไม่มี ความสงบนี่สงบจากความฟุ้งซ่าน สงบจากโลก แต่เราพาใจเราออกวิปัสสนา มันจะรื้อค้นเอาจิตนี้มากางออก แล้วพิจารณาของมันว่ามันมีสิ่งใดอยู่ในจิตใต้สำนึกนั้น เวลามันมีสิ่งใดนี่มันนอนเนื่องมากับใจ อวิชชามันนอนเนื่องมากับความรู้สึกนึกคิด

ดูน้ำใสสิ แล้วน้ำผสมไปด้วยสิ่งสกปรกโสโครก นี่น้ำใส น้ำสะอาด น้ำสะอาด แต่น้ำสะอาดจริงๆ มันไม่มี ในน้ำใสขนาดไหนมันก็มีเชื้อโรค มีจุลินทรีย์ มันมีของมันทั้งนั้นแหละ มันต้องมีของมัน น้ำใสแท้ๆ ไม่มี ถ้าน้ำกลั่น เห็นไหม เขาจะบอกว่าน้ำกลั่นมันเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ น้ำใสๆ นี่จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส เพราะจิตเดิมแท้มันก็เป็นน้ำใสๆ มันก็มีตัวตนใช่ไหม? มันก็มีภพใช่ไหม? มีสถานที่ไหม? แต่ถ้ามันทำลายหมดแล้วนี่นิพพาน

นิพพานคือไม่มีอะไรเลยแต่มีนะ ถ้าไม่มีอะไรเลย พอไม่มีอะไรก็ว่างๆ ไง ไอ้พวกคนบ้ามันก็ว่านิพพานไง นิพพานแบบคนบ้าไง เพราะมันขาดสติ มันไม่เห็นตัวมันเอง แต่ถ้านิพพานนะ มันพ้นไปจากวัฏฏะ พอพ้นไปจากวัฏฏะนี่เพราะอะไรล่ะ? เพราะเราพาใจเรารื้อค้น เห็นไหม งานของโลกนะ กรรมกรอาบเหงื่อต่างน้ำได้เงินเดือนเท่านั้น ผู้บริหารองค์กรนั้นได้เงินเดือนมากกว่า ผู้ที่กำหนดนโยบายเจ้าขององค์กร เขาได้ผลประโยชน์มากกว่า

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นปัญญาที่ละเอียด ละเอียด ละเอียดเข้าไป ผลตอบแทนมันมากกว่า ฉะนั้น เราบอกว่าพวกนี้ไม่ทำงาน ไม่ทำสิ่งใดเลย เห็นไหม พระบวชแล้วก็ไม่ทำอะไรเลย นี่งานอันละเอียดนะ งานภายในนะผลตอบสนองมันมหาศาลมาก แต่ แต่จะรักษาใจนี้ได้อย่างไร? รักษาใจนี้ เพื่อเอาใจนี้มาเพื่อประโยชน์กับเรา นี่แรงกด แรงยก ถ้าแรงกดนี่กิเลสมันกด แรงยกคือมรรคมันจะยกขึ้น ฉะนั้น แรงกด แรงยกมันก็มีผลตอบสนองไป โมเมนตัมมันมี มันจะหมุนของมันไป นี่จิตมันมี ความรู้สึกมันมี

นี้เราเกิดมาพบพุทธศาสนา นี่เป็นผลของวัฏฏะนะ ผลของธรรมที่เราศึกษา แล้วถ้าใครพิจารณาใจของตัวเองเข้ามานะ มันเป็นผลไง เป็นธรรมะส่วนตน ถ้าธรรมะส่วนตน เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ใจดวงนั้นจะรู้ได้ แต่เวลาศึกษาธรรมๆ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา วางธรรมและวินัยนี้ไว้ เราศึกษาของเรา ศึกษาของเราเป็นทฤษฎี เป็นสัญญา แล้วเราปฏิบัติขึ้นมามันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมา นี่มันจะเป็นประโยชน์มาก

นี่ปริยัติ ปฏิบัติ ปริยัติคือการศึกษา ศึกษาคือนกแก้ว นกขุนทอง แต่ไม่มีการศึกษาเลยเราก็ปฏิบัติไม่ได้ แต่ปฏิบัติมันจะได้น้ำได้เนื้อมา มันจะได้ข้อเท็จจริงมา แต่ถ้าปฏิบัติไป ข้อเท็จจริงนี่งานที่ละเอียด การกระทำมันต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ถ้ามีความผิดพลาดโดยไม่มีเจตนา ความผิดพลาดของเราโดยที่กิเลสมันหลอกนี่น่าสงสารมาก แต่ส่วนใหญ่พอคนมันผิดพลาดไปแล้วมันตกกระไดพลอยโจน พอมันผิดพลาดไปแล้วมันบอกความผิดนี้เป็นความถูก แล้วพยายามตะแบงๆๆ การปฏิบัติมันถึงไม่เข้าไปสู่สัจธรรม

ถ้าเข้าไปสู่สัจธรรมนะ มรรคญาณ มรรคมีหนึ่งเดียว นี่ความเห็นต่างของพระอรหันต์ในเรื่องอริยสัจไม่มี แต่อำนาจวาสนาบารมี ความหยาบ ละเอียดของพระอรหันต์มี แต่ว่าความเห็นต่างในอริยสัจไม่มี ทีนี้เพียงแต่ว่าผู้ที่เข้าไม่ถึง เห็นไหม เวลาพูดธรรมะ นี่ความแตกต่างมันพิสูจน์ได้ว่าเวลาหลงผิดไปแล้วตะแบง แต่ถ้ามันตะแบงไปมันก็ดินพอกหางหมู ทิฐิมานะมันสะสมไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องดีงามมันจะเป็นความจริงของเรา

นี่เราอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันนะ ถ้าอยู่ใต้ฟ้าเดียวกัน เราจะเมตตา เราจะสงสาร แล้วเราจะรักษาใจของเรา เพราะในฟ้าเดียวกันนี่พูดถึงเรื่องสังคม แต่ในหัวใจเรานะ ในหัวใจของเราเป็นเรื่องส่วนตน ในการปฏิบัติเป็นเรื่องส่วนตนเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเราเป็นผู้ชี้ทาง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นจะได้ข้อเท็จจริง เราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นบริษัท ๔ เราจะทำความจริงของเรา

เราทำบุญกุศลเพื่อบุญกุศลของเราแล้ว ทำบุญกุศลเพื่ออำนาจวาสนา เพื่อให้จิตใจเป็นสาธารณะ แต่เวลาทำขึ้นมามันมีมรรค มีข้อเท็จจริง มีเหตุ มีผล มีการกระทำในหัวใจ แล้วมันจะรู้ธรรมจริงๆ เอวัง