เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓o มี.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วัตถุที่ไม่มีชีวิต มันไม่มีความสุขความทุกข์ แต่สิ่งที่มีชีวิต แต่ถ้าไม่มีวิญญาณครอง นี่มันมีชีวิตของมัน มันพยายามรักษาดำรงเผ่าพันธุ์ของมัน มันกลายพันธุ์นะ มันกลืนกินกันเอง มันกลายพันธุ์ แต่เวลาจิตใจของเราล่ะ? ถ้าคนนี่สิ่งที่มีชีวิตและมีวิญญาณครอง ถ้าวิญญาณปฏิสนธิจิต เพราะปฏิสนธิจิตถึงได้มาเกิด

ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นต้องมีการตาย ที่ไหนมีการเกิด ชาติปิ ทุกขา ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แต่ความเกิดแบบนั้น ความเกิดอย่างยิ่ง เกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เกิดมาเพื่อผจญกับความจริง เห็นไหม ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ฉะนั้น ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แต่เราคุ้นเคยกับมันไง

โรคหิวเป็นโรคประจำตัวนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา โรคภัยสิ่งนั้นจะทำให้เราเสียชีวิต แต่เวลาเราไม่มีอาหารตกถึงท้อง โรคหิวนี่เป็นโรคประจำตัว แต่ แต่เพราะอาหาร ปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัย ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกปัจจัย ๔ นี้ขาดไม่ได้ อาหารนี่ขาดไม่ได้ อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และเครื่องนุ่งห่ม ปัจจัยอย่างนี้ปัจจัยเพื่อดำรงชีวิตไง นี่คือปัจจัย ๔

ฉะนั้น การหาปัจจัย ๔ มาเพื่อดำรงชีวิต แล้วถ้าดำรงชีวิตแล้ว เห็นไหม ดูสิเวลานักพรตของเรานะ อยู่ในป่าในเขาขึ้นมา สิ่งนี้สิ่งที่แสวงหา แสวงหามาเพื่อดำรงชีวิต แต่เวลาของเรานี่เราไปทุกข์ร้อนกับสิ่งนี้ เราต้องหาสิ่งนี้มาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เพราะความมั่นคงของชีวิต เราเลยมองข้ามชีวิตไปอยู่ที่ความมั่นคงอันนั้นไง ถ้าเรามองอยู่ที่ความมั่นคง ความมั่นคงในโลกนี้มันไม่มีหรอก

ความมั่นคง เห็นไหม สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เราจะบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างใด? นี่ความเปลี่ยนแปลง ถ้าเราบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างใด เราจะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนั้นโดยที่เราไม่ติดข้องกับสิ่งนั้น นี้พูดถึงการบริหารความเปลี่ยนแปลงนะ ถ้าคนเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ นั่นเป็นเรื่องของโลกๆ สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ แต่ถ้าใครประพฤติปฏิบัติเข้าไป เห็นตามความเป็นจริงของจิตนะ ถ้าจิตเป็นความจริง

ดูสิดูความเปลี่ยนแปลงของโลก ดูสิอย่างของที่เป็นวัตถุ กว่ามันจะเสื่อมสลาย มันใช้เวลาเท่าไหร่? แต่เวลาจิตมันสงบนะ พอจิตมันสงบ สิ่งที่เคลื่อนไหวที่เร็วที่สุดมันคงที่ของมัน สิ่งที่เคลื่อนที่ที่เร็วที่สุดมันหยุดนิ่งของมัน ความหยุดนิ่งขึ้นมานั้น ถ้ามันเห็น เห็นอริยสัจ เห็นสัจจะความจริง นี่มันเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนั้น มันเปลี่ยนแปลงด้วยความรวดเร็วมาก เวลาพิจารณากายให้มันแปรสภาพไปตามที่แรงปรารถนา

คำว่าแรงปรารถนา แรงปรารถนาคือความรำพึง รำพึงของจิต เห็นไหม นี่อุคคหนิมิต นิมิตที่เราเห็นขึ้นมาให้เป็นวิภาคะ ให้มันขยายส่วน แยกส่วน มันจะเร็วมาก มันจะสมความปรารถนาเพราะกำลังจิตมันพอ แต่ถ้ากำลังของจิตมันไม่พอนะ นี่แม้แต่ดำรงให้เห็นอริยสัจ ให้เห็นสัจจะความจริงนั้นยังเห็นไม่ได้เลย ถ้าเห็นไม่ได้ เราจะเห็นได้โดยสามัญสำนึก เห็นได้โดยสถานะของการเกิดเป็นมนุษย์

การเกิดเป็นมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ นี่มันจินตนาการได้ มันคาดหมายได้ มันเป็นไปได้ แต่สัจจะความจริงอันนั้นมันเกิดในปัจจุบันธรรม สิ่งที่เกิดในปัจจุบันธรรมเราถึงค้นหา แสวงหากัน ถ้าแสวงหากัน สิ่งนั้นถ้ามันเห็นจริง เห็นตามความเป็นจริงนั้น นี่มันไม่มีสิ่งใดหลอกจิตนี้ได้ จิตนี้มันโดนหลอกอยู่ตลอดเวลาไง โดนหลอกอยู่กับความคุ้นเคยกับสัญญาอารมณ์ เพราะจิตใจเราคุ้นเคย เราเชื่อว่าสิ่งที่เรารู้สึกนึกคิดนี้เป็นความจริง เราเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความจริง

ศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาความเชื่อมีคุณสมบัติมาก มีคุณประโยชน์มาก มีคุณประโยชน์ต่อเมื่อเรามีศรัทธา เราศรัทธากับสิ่งใด เราจะแสวงหา เราจะค้นคว้าในสิ่งนั้น ศรัทธาความเชื่อ ถ้ามีศรัทธาเราแสวงหา เรามีศรัทธา มีความเชื่อแล้วเราแสวงหาของเรา ทีนี้พอเรามีความเชื่อ เราแสวงหาของเราแล้ว ในกาลามสูตร เห็นไหม นี่ไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย คำว่าไม่ให้เชื่อสิ่งใดๆ เลย เพราะศรัทธาความเชื่อเราถึงแสวงหา ขณะที่แสวงหาเราต้องเข้าข้างตัวเราเองเป็นธรรมดา ถ้าเราไปเห็นสิ่งใด เราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นจริง

นี่สิ่งที่เห็นนั้นจริง แต่ความจริงมันละเอียดกว่านั้น ถ้าละเอียดกว่านั้น นี่ธรรมะถึงลึกซึ้งไง เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม นี่ทอดธุระๆ ว่าเพราะมันเป็นคนละมิติกัน มิติของโลกกับมิติของธรรม มิติของโลก “ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ” เพราะเรารู้ได้แค่ว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ เพราะเราศึกษาได้ เราเข้าใจได้ ตรรกะเราเข้าใจได้ แต่ถ้าเหนือธรรมชาตินี่เราเข้าใจไม่ได้เลย

นี้การเกิดและการตายเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เห็นไหม การเกิดและการตายเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะมันเวียนตายเวียนเกิด นี่เวียนตายเวียนเกิดด้วยเวรด้วยกรรมนะ เวรกรรมของคนมันไม่เสมอกัน นี่แม้แต่เกิดในพ่อแม่เดียวกัน สถานะต่างๆ มันก็ยังไม่เท่ากัน ความไม่เท่ากันนั้น ถ้าเราไปเอาสิ่งนี้เป็นประเด็นเราจะมีความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่ถ้าเราไม่เอาสิ่งนั้นเป็นประเด็น เราเอาข้อเท็จจริงเป็นประเด็น

ข้อเท็จจริง เห็นไหม เพราะการสร้างมา นี่สิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเรา เราจะว่าสิ่งที่มีคุณค่านี้เราจะไม่เข้าใจมันเลย แต่ถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงนะ สิ่งที่มีคุณค่ามาก มันก็มีคุณค่าตามข้อเท็จจริงของมัน สิ่งที่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าสิ่งนี้มีคุณค่ามาก แล้วเราว่าสิ่งนี้ไม่มีค่า เราจะไม่สนใจสิ่งนั้นเลย แต่ถ้าเราว่าสิ่งนั้นมีค่าตามข้อเท็จจริงเราจะสนใจสิ่งนั้น

ฉะนั้น กรรม กรรมที่ทำให้เราเกิดมา กรรมที่ทำให้สถานะของเรา นี่คุณค่าของมัน ตามความรู้ของมัน ฉะนั้น ตามความรู้ของมันแล้ว นี่เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไง เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์เราก็ไปยึดว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเรารู้เท่าถึงการณ์ เห็นไหม รู้เท่าถึงการณ์ว่านี้มันเป็นข้อเท็จจริง มันเป็นสิ่งที่เราทำของเรามา ถ้าเราทำของเรามา มันทำให้เรามีความรู้สึกนึกคิดแบบนั้น

ความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละ นี่ความรู้สึกนึกคิด ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริตเป็นนิสัย ถ้าเป็นจริตเป็นนิสัย ความย้ำคิดย้ำทำนั่นแหละ มันย้ำคิดย้ำทำอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วก็เอาความย้ำคิดย้ำทำนั้นแหละว่าสิ่งนั้นเป็นความจริง สิ่งนั้นเป็นความจริง ความย้ำคิดย้ำทำนั่นแหละ เห็นไหม นี่มันไม่มัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามันมัชฌิมาปฏิปทานะ มันเห็นเลย มันรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัว นี่มันไม่ใช่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นไหม ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในความรู้สึกนึกคิดของเรา แต่ถ้ามันมีปัญญานะ ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร

นี่ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นสังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง เห็นไหม ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมามันจะรู้เท่า ถ้ามันรู้เท่าขึ้นมา นี่มัชฌิมาปฏิปทาตามกาลเทศะ ตามความเป็นจริง สมควรและไม่สมควร ความสมควรและไม่สมควรนี่นะ ดูสิเวลาเราพิจารณาของเรา ถ้าพิจารณาเวลาจิตเราสงบแล้วเราพิจารณาของเรา ความสมควรและไม่สมควรของมันนะ ถ้ามันสมควรของมัน นี่เราจะเหนี่ยวรั้ง โน้มถ่วง แรงโน้มถ่วงของกิเลสไง มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันควรจะเป็นอย่างนี้ มันจะพอดีอย่างนั้น

นี่ความโน้มถ่วงของกิเลส ความโน้มถ่วงของทิฐิ ความโน้มถ่วงของการที่ว่าเราจะถนอม เราจะรักษามัน เพราะเราไม่กล้าปล่อยวางตามความเป็นจริงไง แต่ถ้าปล่อยวางตามความเป็นจริงนะ มันจะเป็นสิ่งใดให้มันเป็นไป หน้าที่ของเรามีแต่ฟาดฟันด้วยปัญญานะ เรามีสติ เรามีปัญญาฟาดฟันมันเข้าไป มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป

สมัยแม่ชีแก้วนะ แม่ชีแก้วนี่หลวงตาท่านไล่ลงจากภูเขา พอไล่ลงจากภูเขานะ นี่มาเสียใจว่าเราก็ไม่มีครูไม่มีอาจารย์เลย เราก็หวังว่าหลวงตาจะเป็นครูบาอาจารย์ของเรา บัดนี้ท่านก็ไล่ลงจากภูเขามาไม่ให้ขึ้นไปแล้ว ฉะนั้น สิ่งใดที่ท่านสอนมาเราควรลองทำดู ถ้าลองทำดูนะ แล้วท่านกำหนดจิตให้สงบ พอจิตมันสงบขึ้นมา เห็นไหม นี่กายมันเริ่มละลายลง มันเริ่มทำลายตัวมันลง ทำลายไปเรื่อยๆ มันเหลือหัวใจอยู่ หัวใจนี่มันไม่ทำลาย หมากหัวใจมันเต้นตุบตับๆ สักพักหนึ่งจะเห็นหลวงปู่มั่นมาเขี่ย อันนี้หัวใจ อันนี้หัวใจ

นี่ความที่มันเป็นไป พอออกจากการประพฤติปฏิบัติ ออกจากนั่งสมาธินั้นกราบแล้วกราบอีก กราบแล้วกราบอีก เพราะ เพราะแต่เดิมเวลาจิตมันสงบแล้วนะ ไปรู้สิ่งต่างๆ ไปรู้นั่น รู้นี่ รู้ในวัฏฏะไง ทั้งๆ ที่เป็นธรรมชาติ วัฏฏะมันมีของมันอยู่แล้ว จิตวิญญาณมันมีของมันอยู่แล้ว เรารู้หมดแหละ เรารู้วัฏฏะ เรารู้ธรรมชาติ แล้วมันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ?

รู้แล้วก็ทิฐิมานะมันเกิดไง ถ้าไปรู้ไปเห็นสิ่งใดมา อืม วันนี้ภาวนาดี แต่ถ้าจิตสงบแล้วไม่รู้สิ่งใดเลย อืม วันนี้ภาวนาไม่ดี แล้วเวลาจิตมันสงบเข้าไปแล้วนะบอกว่าไม่ให้ส่งออก รั้งมันไว้ พอไปรั้งมันไว้มันเห็นกาย พิจารณากายของมัน นี่กายของเรามันเรื่องใกล้ชิดกับเราไง มันเป็นเรื่องความคุ้นเคยของเราไง มันจะมีค่าอะไร? ถ้าเราไปเห็นเทวดา อินทร์ พรหม มันจะมีค่ากว่านะ เห็นกายแล้วจะมีค่าสิ่งใด? แต่พอมันเป็นจริงขึ้นมานะ เพราะเป็นจริงขึ้นมา

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” เวลารสของธรรมนะ เราไปรู้สิ่งใดขึ้นมาแล้ว เรารู้เรื่อง เรารู้เห็นสิ่งต่างๆ แต่จิตใจของเราปกติคงที่ แต่เวลาเราพิจารณากายของเรา เห็นไหม เพราะอะไร? เพราะสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นของจิต ในจิตใต้สำนึกความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มันเป็นแรง นี่แรงโน้มถ่วง มันยึดทั้งหมด มันรวบรัดโลกทั้งหมดอยู่ในแรงโน้มถ่วงที่มันยึดของมันไว้

ฉะนั้น เวลาความยึดมั่นถือมั่นของกายกับจิตมันเป็นแรงโน้มถ่วงที่ละเอียดจนเรารู้ไม่ได้ พอเรารู้ไม่ได้ขึ้นมา เรารู้ไม่ได้ เราเห็นไม่ได้ เราว่าสิ่งนั้นเป็นความดี สิ่งนั้นเป็นความดี พอจิตมันพิจารณา เห็นไหม พิจารณาไปๆ สิ่งนั้นมันคลี่คลายของมันออก พอมันคลี่คลายของมันออกนะ นี่ความรู้สึกไง ดูสิอยู่ดีๆ เราหลุดออกจากโลกนี้ไป เราลอยไปกลางอวกาศเลย แล้วมันก็หมุนกลับมาได้อีก มันมหัศจรรย์ขนาดไหน?

แต่เราไปรู้เห็นเทวดา อินทร์ พรหม รู้ก็รู้ แต่เวลาเราพิจารณากายเข้าไป สิ่งที่ใกล้ชิด สิ่งที่คุ้นเคย สิ่งที่เราว่ามันคุ้นเคยจนมองข้าม แต่พอมันพิจารณาของมันไป มันปล่อยของมันไป รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ความรู้สึกมันรู้ขึ้น ให้คนอธิบายขนาดไหน ครูบาอาจารย์ นี่จนต้องโดนไล่ลงจากภูเขานะ แต่เวลาตัวเองไปรู้ เห็นไหม ไปรู้เทวดา รู้อินทร์ รู้พรหมนะ รู้ว่าคนนั้นจะตายแล้วไปเกิดที่ไหน รู้ไปหมดเลย ใครมานี่บอกเขาไปหมดเลย เก่งมาก ทุกคนก็ศรัทธาหมดเลย แต่ตัวเองก็ทุกข์ จิตคงที่เพราะมันออกรู้ข้างนอก

แต่พอเราพิจารณากายนะ พอมันละลายลงเหลือแต่หมากหัวใจ รู้แต่หัวใจเต้นตุบตับๆ อยู่นี่ อันนี้ละลายไม่ได้ เดี๋ยวฟื้นไม่ได้ เห็นไหม นี่พอมันพิจารณาไปแล้ว พอออกมามันสำรอก มันคายของมัน อืม อันนี้ใช่ ร้องไห้นะ ร้องไห้เวลาพิจารณาไป

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เป็นวัตถุที่เราพิจารณาไป เรารู้ได้ เราเข้าใจได้ แต่เวลาเราพิจารณาของเราในหัวใจนะ ถ้าจิตไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง แต่นี้มันไม่เห็นตามความเป็นจริง มันเห็นโดยการสร้างภาพ เห็นโดยสัญญาอารมณ์ เห็นโดยโลก เห็นไหม เห็นโดยโลก โลกมันเห็นได้ ความเห็นนั้นจริงไหม? จริง แต่ความจริงเห็นสิ่งนั้นไม่จริง เวลาพิจารณาไป เห็นกายนี่จริงไหม? จริง แล้วพิจารณาไปมันเป็นไตรลักษณ์ มันละลายลงไป มันทำลายตัวมันเองนี่จริงไหม?

นี่สัจจะ อริยสัจจะ เห็นไหม จิตนี้มันกลั่นออกมาจากอริยสัจ ถ้ามันกลั่นออกจากอริยสัจ มันมีการกระทำของมัน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณมันกลั่นของมัน มันพิจารณาของมัน มันปล่อยวางของมัน มันคลายตัวออกมา แล้วจิตที่มันตุบตับๆ มันทำลายไม่ได้ เดี๋ยวมันกลับมาไม่ได้ เวลามันถอนออกจากการปฏิบัติแล้ว นี่เข้าใจได้ สิ่งที่ว่าเวลาโต้เถียงกันโต้เถียงด้วยทิฐิมานะ ทิฐิมานะว่าถ้ามันไม่ออกรู้มันก็ไม่ใช่ภาวนา ถ้าอย่างนั้นมันก็ต้องออกรู้ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา

นี่ปัญญาโดยกิเลสมันพาใช้ กิเลสมันพาใช้ เห็นไหม ด้วยความที่รู้ที่เห็นมา นี่ความรู้เห็นนั้นยึดมั่นถือมั่น นี่ความรู้ความเห็น แล้วจิตมันคงที่ เวลาเราโดนไล่ลงจากภูเขาไปแล้วมันไม่มีที่พึ่งแล้ว มันไม่มีที่พึ่ง เพราะมีที่พึ่ง ความคุ้นเคย ความคุ้นชินมันทำให้เกิดทิฐิมานะขึ้นมา แต่เวลามันไม่มีที่ไปแล้วมันปล่อยหมดเลย แล้วมันทำตามข้อเท็จจริง เห็นไหม ตามข้อเท็จจริงของโลก นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มันเวียนไปในวัฏฏะ จิตนี้วนไปในวัฏฏะ นี่เป็นธรรมชาติ ใครก็รับรู้ได้ ผู้ที่ปฏิบัติในลัทธิอื่นเขาก็รู้อดีตชาติได้ เขาก็รู้ของเขาได้ แต่เขาไม่มีมรรค “ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนาไหนไม่มีผล”

มรรคมันคืออะไรล่ะ? มรรคมันคืองานชอบ ชอบในอะไร? นี่งานชอบ ชอบรู้เรื่องคนอื่นใช่ไหม? ไม่ชอบรู้เรื่องของตัวเองหรือ? ไม่ชอบรู้เรื่องของจิตหรือ? เรื่องของคนอื่นรู้มาแล้วได้ประโยชน์อะไร? เห็นไหม นี่งานไม่ชอบ งานของโลก

ถ้างานของธรรมนะ งานของธรรมนี่ชาติปิ ทุกขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง แล้วอะไรมันพาเกิด? สิ่งที่เกิดมันอยู่ที่ไหน? นี่เวลามันย้อนกลับ งานชอบ ถ้างานชอบมันย้อนกลับมาไง ทุกข์มันอยู่ที่นี่ ทุกข์อยู่ที่การเกิด แล้วถ้ามันอยู่ที่ทุกข์ เราก็ต้องจับทุกข์ นี่ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ อะไรล่ะ? แรงโน้มถ่วง เห็นไหม แรงโน้มถ่วงควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเกิดชาตินั้น ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นนิพพาน ควรหมดเลย นี่โน้มถ่วง กิเลสมันโน้มไปมันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงมรรคญาณมันจะสะสางของมัน

นี่เวลาจักรมันเกิด เวลาธรรมจักรมันเกิดมันจะสะสางของมัน สะสางด้วยปัญญา เห็นไหม มันพิจารณาของมันๆ ถ้ามันปล่อยวาง ปล่อยวางโดยกำลังของความเหนียวแน่น แก่นของกิเลสมันไม่ยอมคลายง่ายๆ หรอก พิจารณาขนาดไหนแล้วนะมันหลบ มันซ่อน มันยันไว้ นี่ยันไว้ แต่ปัญญาของเราเริ่มต้นมาได้ขนาดนี้มันก็ปล่อย ปล่อยแต่ไม่ขาด นี่ตทังคปหาน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ

ถ้ามันขาดนะ สมุจเฉทปหาน สังโยชน์เครื่องร้อยรัด สิ่งที่ร้อยรัดหัวใจของเรา ให้สิ่งที่เป็นตัวตน สิ่งที่เป็นสามัญสำนึกที่เรารู้กันได้มันเป็นธรรมชาติ แต่เวลาทำลายมัน ทำลายธรรมชาติ ทำลายสิ่งที่มีอยู่ นี่เวลาคนที่ไม่ภาวนาเวียนตายเวียนเกิดเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ถ้าเวียนตายเวียนเกิด เพราะมันมีแรงขับมันถึงเกิด เพราะมันมีตัณหาความทะยานอยากมันถึงเกิด ถ้ามันไม่มีตัณหามันจะเกิดได้อย่างไร?

นี่ถ้ามันเกิดขึ้นมามันก็ต้องมีของมันเป็นธรรมชาติ แล้วเวลามรรค ธรรมจักรนี่เข้าไปฟาดฟันกับมันด้วยงานชอบ เวลามันขาดออกไป นี่ธรรมชาติมันขาดออกไป ธรรมชาติกับธรรมชาติมันแยกออกจากกัน กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แยกออกเป็น ๓ ทวีป ที่กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกไม่ได้เลย ในเมื่อมันขาดไปแล้วจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกไม่ได้เลย แล้วเวลารวมลง จิตรวมลงปล่อยหมดเลย นี่อกุปปธรรมที่ไม่ใช่อนัตตา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมนี้เป็นอนัตตาทั้งหมด อกุปปธรรม กุปปธรรม อกุปปธรรมพ้นจากอนัตตา เป็นธรรมแท้ๆ เหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติเพราะอะไร? เพราะมันไม่ตกอยู่ใต้กฎของใดๆ เลย ไม่ตกอยู่ในใต้กฎของอนิจจัง ไม่ตกอยู่ในใต้กฎของอนัตตา สิ่งใดๆ จะไม่มีอำนาจเหนือสัจธรรมอันนี้

นี่ไงที่มันเหนือธรรมชาติ เหนือธรรมชาติ เห็นไหม นี่มีการกระทำของเรา เราปรารถนากัน เราเกิดมานะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี่เป็นอริยทรัพย์ เกิดมามีหน้าที่การงาน เกิดมาทำมาหากิน เกิดมาเพื่อดำรงชีวิต แล้วลืมอีกตาหนึ่ง ชีวิตเรานี่เวลาตายไปใครจะช่วยเหลือ จิตนี้เคลื่อนออกจากร่างนี้ไปใครจะช่วยเหลือ?

เขาบอกว่า “ตายแล้วสูญ” ..ถ้าตายแล้วสูญนะ ตายแล้วจบนะ มันก็จบกัน ตายแล้วมันไม่สูญ ไม่สูญเพราะความรู้สึกนึกคิดไม่มีใครทำลายมันได้ ไม่มีใครทำลายความรู้สึกนึกคิดได้ แต่เวลาความรู้สึกนึกคิดนะ ธรรมจักรมันก็เป็นความรู้สึกนึกคิด เพราะมันเป็นมรรคญาณ มันเกิดจากจิตวิญญาณ ความรู้สึกนึกคิดมันจะทำลายความรู้สึกนึกคิดด้วยกัน แล้วมรรคหยาบ มรรคละเอียด สิ่งที่ละเอียด ปัญญาละเอียดมันจะกรอง กรองสิ่งที่กิเลสละเอียดๆ จนทำลายภวาสวะ ทำลายภพ ทำลายสิ่งที่เป็นนามธรรมนี้ ทำลายหมดเลย แล้วเหลืออะไร? เหลือสิ่งที่เป็นวิมุตติ เอวัง