เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓๑ มี.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โลก เห็นไหม ความเห็นของโลก ถ้าความสุขความสมบูรณ์ เราว่าสิ่งนั้นเป็นบุญกุศล แต่เวลาในทางธรรมนะ พระเจ้าปเสนทิโกศล นี่มาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิ่งต่างๆ จะไปปรึกษาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระเจ้าพิมพิสารต่างๆ ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อชาตศัตรูยิ่งแล้วใหญ่เลย ศรัทธามากนะ ศรัทธามาก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เวลาคนจะไปรายงานว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพาน เขาต้องปรึกษากัน เขาเอาเรือขุด แล้วเขาก็เอาสมุนไพรต้มไว้ เพราะมันจะฟื้นไง พอบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานนะ คือตาย ช็อกเลย พอช็อกก็จับใส่รางไว้แล้วฟื้น พอฟื้นขึ้นมาก็ช็อกอีก ใส่ราง รางเป็นรางขุด นี่พระเจ้าอชาตศัตรูศรัทธามาก ความศรัทธาอย่างนั้น เป็นถึงกษัตริย์ เป็นกษัตริย์หมด แต่เวลาศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเวลาเราไปนั่งอยู่ตรงนั้น ความรับผิดชอบมันสูงมาก พอความรับผิดชอบสูงมากมันเครียดมากนะ มันต้องปกป้องดูแลรักษา นี่เรามองถึงทางโลกไง ว่าถ้ามันประสบความสำเร็จทางโลกมันจะเป็นความสุข

ถ้าความสุขนะ ความสุขในพุทธศาสนา อำนาจเท่ากับกองไฟ ก็ไปกอดกองไฟไว้ ถ้าใครยิ่งมีอำนาจเท่าไหร่ คนที่ยังไม่มีอำนาจ คนๆ นี้ดี๊ดี คนๆ นี้เป็นคนที่เมตตามาก แต่พอคนไปมีอำนาจเข้าไป อำนาจทำให้คนเสีย คนเสียเพราะอะไร? เพราะคนที่มีอำนาจ จะมีคนเข้าไปหาผลประโยชน์กับคนที่มีอำนาจนั้น แล้วเวลาโลกธรรม เห็นไหม นินทา สรรเสริญ แล้วคนที่มีอำนาจ ใครว่าดีครับๆ มันตัดสินใจอะไรไม่ถูกหรอก

แล้วพออยู่อย่างนั้นนะอำนาจทำให้คนเสีย เสียเพราะอะไร? เสียเพราะว่าเราไม่มีจุดยืน ถ้าเรามีจุดยืนของเรา เรามีปัญญาของเรา อำนาจผลัดกันชม อำนาจมันผ่านมาแล้วมันก็ผ่านไป แต่เรายังอยู่นะ นี่พอเวลาเราลงจากตำแหน่งนั้นแล้วเรายังอยู่ ถ้าเรายังอยู่ เห็นไหม สิ่งที่ว่าอำนาจทำให้คนเสีย ถ้าเรามีสติปัญญาเราจะไม่เสีย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำบุญของเรา เราทำบุญกุศลเพื่อบุญกุศลของเรานะ เราอยากทำบุญให้ประณีต เพราะประณีตเรามีความสุขของเรา เราพอใจของเรา ถ้าเราทำบุญของเราด้วยความประณีตของเรา เห็นไหม เราพอใจ แต่เวลาถ้าเป็นพระล่ะ? เวลาเป็นพระ สิ่งที่ว่าเวลาอาบเหงื่อต่างน้ำ เรามีความสุขความทุกข์ขนาดไหน? เราได้พักผ่อนเราก็หายนะ เรื่องของร่างกายนี่บำรุงรักษาได้ง่าย แต่เรื่องของหัวใจ คนมีปมด้อยมาตั้งแต่เด็ก มันจะฝังใจไปจนตาย ปมด้อยของใจมันฝังไป แล้วใครจะไปรื้อมันออกปมด้อยนี่

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน พระเวลาจะประพฤติปฏิบัติต้องเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา แล้วเวลาปัจจัยเครื่องอาศัย นี่ปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม ทำไมครูบาอาจารย์เราต้องอดนอนผ่อนอาหาร ต้องผ่อนมัน นี่สิ่งใดที่เป็นไขมัน สิ่งใดที่เป็นพลังงานมาก กินเข้าไปแล้วมันไม่สะดวกต่อการภาวนา

ฉะนั้น เวลาโยมทำบุญ ทำบุญก็อยากประณีต อยากให้บุญกุศลเราสมบูรณ์ เราก็เห็นใจ ครูบาอาจารย์ท่านก็เห็นใจ แต่เวลาพระของเรา เวลาเรานี่เราเป็นหัวหน้า หัวหน้าเรารับผิดชอบหมดเลย เราเอาทุกอย่างเลย แต่พระของเรา ถ้ามันตรงจริตตรงนิสัยของเขา เขาต้องต่อสู้นะ เวลาทางโลกเราไปภัตตาคาร เขามีเพลงให้ฟัง เขามีอาหาร เขามีทุกอย่างพร้อม เพราะมันเปิดอายตนะทั้งหมดเลย หูก็ได้ยิน ตาก็ได้เห็น ทุกอย่างพร้อม

เวลาพระนะ อาหารมานี่ตาก็เห็น เหมือนกัน ถ้าตาก็เห็นความอยากมีทุกคนแหละ ทุกคน นี่คนเราเกิดมามีกิเลสทั้งนั้นแหละ ทุกคนมีความอยากทั้งนั้นแหละ แต่ต้องมีสติปัญญาควบคุม มีสติปัญญาหาเหตุหาผลกับตัวเอง ว่าสิ่งนี้ ในปัจจุบันถ้าสิ่งนั้นเรากินอยู่โดยที่ว่าไม่มีสติปัญญานะ แล้วพอล่วงสิ่งนี้ไป เวลาไปภาวนาขึ้นมาเราก็ต้องใช้พลังงาน เราต้องไปดูแลไปรีดไขมันของเรากันเอง เพราะอะไร? เพราะมันทำให้ง่วงเหงาหาวนอน มันทำให้การประพฤติปฏิบัติเราไม่ก้าวหน้า

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจะก้าวหน้านะ เวลาความสุขของโลกเขานี่ปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งนั้นถ้าสมบูรณ์ขึ้นมานี่เป็นความสุขของเขา แต่เวลาในทางธรรม เห็นไหม ทางธรรมต้องเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา นี่การฝึกฝนนะ ฝึกฝนใจไว้ในอำนาจของเรา เริ่มต้นจากข้อวัตรปฏิบัติ ใครๆ ก็อยากสะดวกสบายทั้งนั้นแหละ แต่ความสะดวกสบายโดยอะไรล่ะ? สะดวกสบายโดยการกระทำของเรา เราเป็นคนดูแลรักษาตนเอง

ดูสิข้อวัตรปฏิบัติ เราทำวัตรในศาลาโรงธรรม วัตรต่างๆ เราเป็นคนทำความสะอาด เราเป็นคนใช้สอย เราทำความสะอาดเองเราก็ใช้เอง นี่วัตรปฏิบัติของเรา เรากวาดลานเจดีย์ของเรา เรากวาดถนนหนทางของเรา แล้วเราก็เดินเอง นี่เราทำความสะอาด เราเปิดโล่งให้ใจของเราได้ก้าวเดินเอง วัตรปฏิบัติก็เพื่อหัวใจของเรานั่นแหละ ถ้าเราทำหัวใจของเรา สิ่งนี้มันจะย้อนกลับมา ย้อนกลับมาที่ใจของเรา

นี่การประพฤตปฏิบัติ เอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เห็นไหม แต่ใจมันก็ไม่อยากทำ ใจเวลามันทำมันก็โต้แย้ง นี่เวลาบวชมานะ โอ้โฮ เป็นพระ เป็นพระนี่สูงส่งมาก เป็นผู้ประเสริฐมาก เวลาบวชมาแล้วนะมาทำงานอย่างนี้หรือ? มาทำข้อวัตรอย่างนี้หรือ? นี่ถ้ามันไม่ทำอย่างนี้จะทำอะไร? ใจมันแสดงออกในสิ่งที่ไหน? นี่เราว่ากายกับใจๆ เวลาร่างกายนี่เห็นได้ทั้งนั้นแหละ แต่หัวใจใครเห็น? ความรู้สึกของคนใครเห็น? ถ้าความรู้สึกของคนไม่เห็น แล้วมันแสดงออกอย่างไร? มันก็แสดงออกด้วยความเกียจคร้านนั่นไง

ความเกียจคร้าน ความขยัน นี่จิตใจมันแสดงออกตรงนั้นแหละ แล้วเราก็บังคับให้มันทำตามธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ไงจะไปพิสูจน์กับมันไง จะไปดูหัวใจของเราไง จะจับต้องหัวใจของเรามาเพื่อพิสูจน์ไง ถ้าพิสูจน์ขึ้นมา แล้วเวลาบวชขึ้นมา โอ้โฮ เป็นพระแล้วนะจะต้องมาทำงานแบบนี้หรือ? นี่กิจของสงฆ์ กิจของสงฆ์ ๑๐ อย่าง หมั่นประชุมกันเนื่องนิจ ประชุมพร้อมกัน เลิกประชุมพร้อมกัน นี่กวาดลานเจดีย์ ดูแลในสิ่งในอาวาส ไม่ต้องให้ใครมาสอนนะ

เดี๋ยวนี้เขาต้องไปสอนพระกันนะ วัดสกปรกต้องช่วยกันทำความสะอาด นี่มันกิจของสงฆ์ พื้นฐานของพระเลย แต่หน้าที่ของพระไม่ทำไปทำข้างนอก นี่หน้าที่ของพระที่เห็นๆ นะ แต่หน้าที่ของพระจริงๆ คือเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา ใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เห็นไหม ทำไมมันฟุ้งซ่านขนาดนี้ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าวิมุตติสุข มันสุขมหาศาลขนาดไหน? ความสุขอันนั้นมันสุขมาจากไหน? แล้วเรานี่เวลาบวชมาแล้ว ทำไมหัวใจมันดิ้นรนขนาดนี้?

ดูนะ ดูช้างสารต่างๆ เขาเอามันมาฝึกฝนแล้วมาใช้งานมัน เวลาเขาใช้งานช้างนะ เขาใช้ลากซุง คนทำไม่ได้หรอก แต่เวลาเขาฝึกมัน ฝึกช้างจนกว่ามันจะอยู่ในอำนาจของเรา เขาถึงเอามาใช้งานได้ จิตใจของเรานะ จิตใจที่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เวลามันคิดของมัน เรายังคิดไม่ถึงว่ามันคิดได้ขนาดนี้นะ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาควบคุมมันได้ เราควบคุมใจของเราได้

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส”

ถ้าเราควบคุมใจของเราได้นะ เราเอามาใช้งานได้ยิ่งกว่าช้างสารนั้นอีก ช้างสารเขาเอาไปลากซุง ดูสิกำลังของมันขนาดไหน? จิตใจของเรา ถ้าเราดูแลรักษามันนะ แล้วเราพลิกแพลงเอามันมาใช้นะ มันจะเป็นประโยชน์มหาศาลขนาดไหน? เวลาเราตายไป เห็นไหม เราบอกเราตายแล้วไปไหน? เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ตายไปเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหมนะ แต่เขายังไม่รู้จักใจของเขา เวลาเขาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาฟังธรรมครูบาอาจารย์ของเราเพราะเหตุใด? เพราะเขาไม่รู้จักใจของเขา

นี่ใจเขาไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขายังไม่รู้จักใจของเขาเลย แต่นี่เราเป็นมนุษย์ แล้วเรารักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเรา เห็นไหม นี่เราจะบอกว่าเวลาทุกข์ยากทางร่างกาย ทุกข์ยากทางความเป็นอยู่ นี่มันแค่ได้บำรุงรักษา มันฟื้นฟูได้ง่าย แต่จิตใจของเรานี่นะ เวลามันทุกข์มันยาก มันฟื้นฟูได้ยาก ถ้าฟื้นฟูได้ยาก เราจะดูแลรักษา เราจะต้องมีสติปัญญารักษาของเรา เราจะมีครูบาอาจารย์ของเราเพื่อรักษาของเรา ถ้าเรารักษาของเราได้มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา

ถ้าเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก รู้เอง เห็นเอง ถ้ารู้เอง เห็นเอง เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ของเรา เวลาพระบวช บวชมาตั้งแต่เด็กนะ เป็นเณร พอเป็นเณรขึ้นมา เติบโตขึ้นมา เป็นเณรมานะบวชจนเป็นพระเป็นเจ้า ทั้งชีวิตเขาอยู่ได้อย่างไร? นี่ทั้งชีวิตนะ แล้วเขาอยู่อย่างนั้นได้อย่างไร? แต่เขาอยู่ได้นะ เพราะเขาอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข คนเราบวชมา นี่ถ้ามีอำนาจวาสนา เห็นไหม ถ้าปฏิบัติยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ภพชาติก็สั้นเข้า เพราะการบวชการเรียนนี่แหละมันจะไปตัดแต่งพันธุกรรมของจิต เพราะจิตมันได้ฝึกได้หัดมา

นี่ทั้งชีวิตเราอยู่ในกรอบของธรรมวินัย เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส อยู่ในกรอบขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่สอนไว้ นี่มันจะทำให้จิตใจนี้คุ้นเคย พอคุ้นเคย เวลาตายไป เวลาไปเกิดจิตใจนี้มันเป็นพันธุกรรมที่ดี มันตัดแต่งที่ดี แล้วถ้าเราอยู่ทางโลก เราได้แต่เบียดเบียนคนอื่น เราได้ทำอะไรนี่ จิตใจนี่พันธุกรรมของมัน มันได้ตัดแต่งของมันไปอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป ถ้ามันเป็นอย่างนั้นตลอดไป

เวลาคนทำดีทำชั่วมันเรื่องของเขา แต่ถ้าเราอยากดีของเรา เราก็ต้องรักษาใจของเรา เราอยากดีเราก็ดูแลใจของเรา ถ้าดูแลใจของเรา เห็นไหม ใครบอกจะทุกข์จะยาก จะทุกข์ยากจริงๆ นะ เวลาเขาบอกว่าทุกข์ยาก เวลาจะทุกข์จะยากเพราะเขาเห็น อยู่ทางโลกใช้ชีวิตอย่างนี้ มันยังทุกข์ขนาดนี้ ไปบวชแล้วนะ นี่บวชแล้วยังต้องฉันมื้อเดียวอีก ยังต้องธุดงค์อีก อู๋ย ทำไมมันทุกข์ขนาดนั้น?

นี่เวลาเรายังไม่เคยเจอเราก็ว่ามันทุกข์ยากมาก แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้ว เวลาเรานับเงินนับทอง เราอยากมีเงินมีทองขึ้นมาเพื่อใช้จ่ายใช้สอย ใช้เงินเพื่อความสะดวกของเรา เรามีศีล มีธรรม เห็นไหม เวลาบวชขึ้นมานี่ศีล ๒๒๗ พอศีล ๒๒๗ แล้วเรายังถือธุดงควัตรอีก ๑๓ นี่เวลาธุดงควัตร ๑๓ เวลาปฏิบัติไปแล้วเราจะผ่อนอาหาร นี่สิ่งนี้เป็นพื้นฐาน เหมือนเงินไง ศีล สมาธิ ปัญญาจะเข้าไปสู่ธรรม ศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นปัญญาที่เข้าไปค้นคว้าหาธรรม มีเงินมากก็ซื้อของได้มาก มีเงินน้อยก็ซื้อของได้น้อย ถ้าใครรักษาใจของตัวเองได้มาก มีสติปัญญาได้มาก มันก็จะบุกเบิกเข้าไปหาใจตัวเองได้มาก

ฉะนั้น เวลาคนไปทำแล้ว มันทำเพราะความเต็มใจ แต่ถ้าเราเป็นฆราวาสใช่ไหม? โอ้โฮ โอ้โฮ สงสารนะ สงสาร สงสารนั่นนะนี่เตี้ยอุ้มค่อม พอเตี้ยอุ้มค่อม สงสารก็ดึงให้ต่ำไง ดึงให้ต่ำอยู่เรื่อย แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเราท่านเคยผ่านวิกฤติอย่างนั้นมานะ ถ้าลูกศิษย์ลูกหามีการกระทำ ท่านจะแนะนำ ท่านจะคอยดูแลไง คอยส่งเสริม

การส่งเสริมนะ ดูเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ ปฏิบัติอยู่ ๖ ปี ทำทุกรกิริยาต่างๆ เพราะอะไร? เพราะไม่มีใครเคยบอก ไม่มีใครบอก ไม่มีใครสอน เพราะไม่มีคนเป็น เห็นไหม ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ไปศึกษากับครูบาอาจารย์ต่างๆ ก็ทำตามเขา ทำตามเขานั่นแหละ แล้วมันไม่ได้ผล ไม่ได้ผลทั้งนั้นแหละ เพราะมันยังไม่มีครูบาอาจารย์

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว เห็นไหม บอกว่า “ทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ” มัชฌิมาปฏิปทา แล้วมัชฌิมามันเป็นอย่างไรล่ะ? ทุกคนว่าอัตตกิลมถานุโยค ทำตนให้เป็นความลำบากเปล่าๆ แต่ครูบาอาจารย์บอกว่านั่นแหละทางเดิน นั่นแหละเข็มมุ่งที่จะไปสู่ความจริง ถ้าเข็มมุ่งที่ไปสู่ความจริง เวลาทำ เห็นไหม เพราะปัญญาอ่อนด้อยอย่างพวกเรา เราก็มองโดยสายตา แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ท่านมองด้วยหัวใจ ถ้าหัวใจนะหัวใจมันบีบคั้นขนาดไหน? หัวใจมันผ่อนคลายขนาดไหน? มันทำคุณงามความดีได้ขนาดไหน? มันจะเป็นประโยชน์กับมันนะ นี่ถ้าหัวใจทำได้ดี มันจะมีคุณงามความดีของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ารักษาใจมันรักษาได้ยาก เราถึงจะต้องหมั่นดูแล ฉะนั้น เวลาข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งใดที่มันบอกว่าเล็กน้อยๆ ทำไมของเล็กน้อยครูบาอาจารย์ท่านทำไมแผดเสียงดังนัก ไอ้ของเล็กน้อยๆ เพราะเราเห็นว่าเล็กน้อยไง แต่ต่อไปมันก็จะขยายกว้างไปเรื่อยๆ แต่ถ้าของเล็กน้อยเราพยายามหลบหลีกซะ เว้นไว้นะ เว้นไว้แก่เฒ่า เวลาแก่เฒ่าชราขึ้นมามันทำไม่ได้ พอมันทำไม่ได้อย่างนั้นมันก็ยกไว้

เวลาครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ ก็เพราะว่าปาปมุต ปาปมุตคือไม่เป็นอาบัติ ไม่เป็นอาบัติเพราะจิตใจนั้นมันสิ้นจากกิเลสไป พอมันสิ้นจากกิเลสไปแล้วมันไม่มีเจตนา ไม่มีสิ่งใดทั้งสิ้น ถ้ามีเจตนาต่างๆ เป็นสมมุติทั้งนั้นแหละ ตั้งใจ จงใจต่างๆ แต่ถ้าไม่มีเจตนาแล้ว เห็นไหม แบบว่ามันเป็นกิริยาเฉยๆ ที่ไม่มีผู้รับผิดชอบ ฉะนั้น สิ่งนั้นถึงไม่เป็นอาบัติ เป็นปาปมุต แต่เราว่าปาปมุตคือไม่เป็น ไม่เป็นมันก็เกร็งกันตายสิ

นี่เวลาปฏิบัติไปแล้ว ถ้าจิตใจมันเข้าถึงได้สัมผัสแล้วมันจะรู้เรื่องอย่างนี้ ถ้าจิตใจไม่สัมผัสมันก็เป็นวิทยาศาสตร์ไง เอาธรรมวินัยเป็นตัวตั้ง แล้วก็เอามาวิเคราะห์วิจัยกัน แล้วก็เป็นประเด็น มุมมอง แล้วก็เถียงกัน เถียงกันอยู่อย่างนั้นแหละไม่จบ แต่ถ้าเป็นความจริงแล้ว ความจริงกับความจริงนี่อันเดียวกัน ถ้าความจริงอันเดียวกันมันเรียบง่าย แล้วมันสะดวกสบาย แต่ขณะที่จะเข้าไปสู่ความเรียบง่ายเราจะต้องเข้มแข็ง นี่พอเข้มแข็งแล้วพยายามของเราขึ้นไป

ตรงนี้แหละ ตรงนี้ที่ว่าเป็นอุกฤษฏ์ ขณะที่มันจะรุนแรงขนาดไหน มันอยู่ที่ว่ามันจะได้จะเสีย คนเรานี่จะได้จะเสียนะ กำลังได้เสียนี่หัวใจมันกล้าลงทุน ถ้าเราไม่ได้ไม่เสีย ไม่มีสิ่งใดเลยนะ ปฏิบัติไปแห้งแล้ง นี่สมาธิก็ไม่มี ไม่มีความสุขระงับเลย นี่ปัญญาก็ไม่เกิด

ดูสิช้างสารมันลากซุง เห็นไหม มันลากไปนี่ป่านี้ราบไปหมดเลย เวลาปัญญามันเกิด มันฟาดฟันกิเลสไปนี่มันราบไปหมดเลย มันรู้ มันเห็น ถ้ามันรู้มันเห็น มันอยากทำไง ทีนี้พอเราอยากทำขึ้นมาก็บอก อู้ฮู ไปสงสารๆ เขากำลังจะได้เสีย อยากดี อยากได้ มันมีความมุมานะ มีการกระทำ อันนั้นเขาทำได้ด้วยความแบบว่าเหมือนหักกิ่งไม้ ของเล็กน้อยมาก ของเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ปฏิบัติกำลังจะได้จะเสีย แต่มันเป็นของอุกฤษฏ์สำหรับที่เราทำไม่ได้ไง

นี่มุมมองมันแตกต่างกันอย่างนั้น ถึงถ้ามองทางโลก เห็นไหม สิ่งที่เป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามันสะดวกสบายนั่นก็เป็นบุญกุศล แต่ถ้าจิตใจมันยิ่งมีความเมตตาธรรม มีสัจจะความจริงในหัวใจ อันนั้นยิ่งประเสริฐกว่า คำว่าประเสริฐกว่า นี่มันจะเร่าร้อนขนาดไหน โลกจะเร่าร้อนขนาดไหนเราก็ไม่เร่าร้อนไปกับเขา โลกจะร่มเย็น โลกจะเห่อเหิม นี่เวลามีกระแสสังคม มีวัฒนธรรมของเขา เราก็ไม่ไปกับเขาเต็มที่ แต่เราอยู่กับเขานะ เราอยู่กับเขาโดยรู้ตัวของเรา เราดูแลเขา

ฉะนั้น รักษากายกับรักษาใจ แล้วคนเราเกิดมาก็มีกายมีใจทุกๆ คน นี่มีร่างกายและหัวใจ แต่ถ้าคนมองแต่โลกมันมองข้ามตัวเอง มันมองข้ามศักยภาพของมนุษย์ ศักยภาพของมนุษย์คือความรู้สึกนึกคิด คือหัวใจ จิตที่ความคิดที่เร็วกว่าแสง แล้วเราทำให้มันหยุดนิ่งได้ เวลามันเก็บพลังงานขึ้นมา เกิดมรรคญาณ มันทำความมหัศจรรย์ในหัวใจ เห็นไหม ศักยภาพของมนุษย์ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ากิเลสมันสิ้นไปมันมีคุณภาพมาก แม้แต่เทวดา อินทร์ พรหมยังต้องมาฟังเทศน์

ฟังเทศน์ ฟังเทศน์ฟังอะไร? ฟังเทศน์คือฟังสัจจะข้อเท็จจริง วิธีการทำใจนี้ให้พ้นจากกิเลส เอาใจไว้ในอำนาจของเรา ไม่มีใครชนะใจตัวเอง แพ้ใจตัวเองตลอด แต่ผู้ที่กำราบมันแล้ว ชนะมัน นี่ฟังเทศน์ตรงนี้ ฟังเทศน์ว่าทำอย่างไร? วิธีจะเหนี่ยวรั้งอย่างไร? วิธีที่จะส่งเสริมเวลาที่ปัญญามันก้าวเดินอย่างไร? ทำอย่างไร? ทำอย่างไร?

นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านทำของท่านแล้ว ท่านจะเทศนาว่าการสิ่งนี้ให้เทวดา อินทร์ พรหมได้คติ ได้แบบอย่างไปทำของเขา แต่นี้เราเป็นมนุษย์ เราสื่อสารกันได้ เราทำได้ เราไม่มองข้ามศักยภาพความเป็นมนุษย์คือหัวใจของเรา มองแต่ทรัพย์สมบัติ มองแต่แก้ว แหวน เงิน ทอง แต่ไม่มองศักยภาพของหัวใจในใจเราเลย เอวัง