ของเก่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
มันข้อ ๘๓๗. ไม่มี
ข้อ ๘๓๘. ยกเลิก เขาเขียนมายกเลิกไงข้อ ๘๓๘.
ถาม : ข้อ ๘๓๙. เรื่อง นั่งสมาธิไปสักพักแล้วรู้สึกว่าข้างในมันสั่น แล้วสั่นออกมาถึงข้างนอก ไม่ทราบว่าหนูทำถูกต้องหรือไม่ แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไปคะ
ตอบ : เวลาไม่นั่งไม่เห็นสั่น เวลานั่งสั่นจากข้างนอกแล้วสั่นไปถึงข้างใน เวลาจะสั่น ธรรมดาเวลาเราไม่เข้มงวด ไม่ดูแลสิ่งใด ชีวิตของเราจะเป็นปกติ จะมีความเรียบร้อยหมดแหละ แต่พอเราเริ่มตั้งกติกา เริ่มควบคุมตัวเองเราจะเห็นความผิดพลาดของเรา นู่นก็ไม่ถูก นี่ก็ไม่ถูกๆ เพราะอะไร? เพราะเรามีสิ่งเปรียบเทียบ
นี่ก็เหมือนกัน ถามว่า
ถาม : นั่งสมาธิไปสักพักแล้วรู้สึกว่าข้างในมันสั่น แล้วสั่นออกมาถึงข้างนอก ไม่ทราบว่าหนูทำถูกต้องหรือไม่คะ
ตอบ : นี่เวลามันสั่นนะ เวลามันจะสั่น มันจะคลอนสิ่งใดก็แล้วแต่ เราไม่ต้องไปคิดถึงมัน เราไม่ต้องไปรับรู้สิ่งใดๆ เลย เรากำหนดพุทโธไว้ หรือถ้าปัญญาอบรมสมาธิเรายึดหลักของเราไว้ ใจนี้เป็นนามธรรม พอใจนี้เป็นนามธรรม นี่พลังงานมันส่งออกโดยธรรมชาติของมัน
นี่ว่าจิตเร็วกว่าแสง มันคิดไป เราคิดถึงอเมริกาสิ ตอนนี้คิดถึงดวงจันทร์สิมันไปแล้ว มันไปกลับมาแล้ว เราคิดเห็นภาพหมดไง นี่จิตมันไปเร็วมาก ทีนี้พอมันเร็วมาก โดยธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น เป็นนามธรรม มันทะลุทะลวงไปทุกๆ อย่างเลยนะ เวลาเราคิดจินตนาการในกำแพงว่าตรงข้ามมีอะไร? มันทะลุกำแพงเข้าไปได้เลย ฉะนั้น สิ่งนี้แต่พอมันทะลุอะไรเข้าไปไม่รู้ไม่เห็นในกำแพงนั้น เราก็เข้าใจสิ่งนั้นไม่ได้
ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนตรงนี้แหละ สอนที่ว่าจิตที่มันมีกำลังมาก จิตที่มันมีความมหัศจรรย์มาก แต่มันใช้งานโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นพลังงานอันหนึ่ง แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็ครอบคลุมไว้ เหมือนกรอบที่มันครอบคลุมความรู้สึกนึกคิดของเราไว้ ใครชอบอะไร จริตนิสัยมันจะครอบคลุมของมันไว้ พอครอบคลุมไว้มันก็ใช้ไปตามจริตนิสัยของตัว
ทีนี้พอเราเห็นคุณ เห็นโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เราจะเริ่มประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะประพฤติปฏิบัตินะ ไม่ใช่ปฏิบัติแบบฤๅษีชีไพร ไม่ใช่ประพฤติปฏิบัติแบบไสยศาสตร์ที่โลกเขาเป็นไป คนที่สอนเขามีวุฒิภาวะอะไรที่เขามาสอนว่านิพพานๆ นิพพานเป็นความว่าง ในโอ่ง ในไหมันก็ว่าง นิพพานอะไรของมึง? ถ้านิพพานมันจะเป็นความว่างมันก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์ก่อนสิ
นี้เราบอกว่าโลกเขาสอนกันอย่างนั้น พอโลกเขาสอนอย่างนั้น เพราะโลกไม่เข้าใจเรื่องพลังงาน เขาไม่เข้าใจเรื่องจิต เขาไม่เข้าใจเรื่องอะไรเลย พอไม่เข้าใจเรื่องอะไรเลย เขาว่าทำความสงบขึ้นมาแล้วมันว่างๆ ว่างๆ ก็สร้างภาพกัน นึกให้มันว่างกัน พอว่างแล้วอย่างไรต่อไป? ว่างคือนิพพานไง แล้วนิพพานมันคืออะไรล่ะ? นิพพานมันไม่มีที่มาที่ไปไง โอ๋ย ยุ่งไปหมดเลย
เราจะบอกว่าสิ่งที่เขาทำกัน ที่เขาสอนๆ กัน เหมือนเขาไม่ใช่หมอ เขาไม่ใช่แพทย์ เขาไม่ใช่หมอเขาวินิจฉัยโรคไม่ได้หรอก เขาวินิจฉัยความเป็นไป อาการของใจไม่ถูกหรอก ถ้าวินิจฉัยอาการของใจไม่ถูกมันก็เป็นพวกผี พวกถือผี ถือสาง พวกถือผี ถือสางใช่ไหม? ถ้าเรามีความเคร่งครัด เรามีความเคารพ เราจะได้ผลตอบแทน เขาจะคุ้มครองดูแลเรา มันเหมือนผี เหมือนสางนะ
นี่ไสยศาสตร์ไง ถ้าไสยศาสตร์มันเป็นแบบนั้น แต่ถ้าตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้มหัศจรรย์นัก แต่มหัศจรรย์นัก เวลามันเกิดมานี่กรอบ เห็นไหม หลวงตาบอกว่าคนที่ปฏิเสธนรก สวรรค์ คนที่ปฏิเสธเรื่องเวร เรื่องกรรมนี่นะ เวลาลมหายใจมันขาดมันจะไปตามเวร ตามกรรมอันนั้น แต่ที่ตอนนี้มันปฏิเสธเรื่องกรรมๆ ได้ เพราะอะไร? เพราะลมหายใจมันยังไม่ขาด ถ้าลมหายใจมันยังไม่ขาด สถานะของมนุษย์มันรับไว้ไง นี่ถ้าลมหายใจมันขาดนะมันก็ตามเวร ตามกรรมอันนั้น
ฉะนั้น เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์มีลมหายใจ ถ้ามีลมหายใจ นี่สถานะของมนุษย์ที่ว่ามนุษย์สมบัติๆ จิตนี้มันจะอยู่ในสถานะ ในร่างกายนี้หนึ่งอายุขัย คือชีวิตหนึ่ง ถ้าชีวิตหนึ่ง ขณะที่ว่ามันทำสิ่งใด ที่ว่ามันปฏิเสธนรก สวรรค์ ปฏิเสธอะไรไปเพราะมันยังไม่ได้เผชิญหน้า แต่ถ้าเวลาลมหายใจมันขาดนะ จิตนี้ออกจากร่างไป นี่สัมภเวสี ถ้ามันเป็นตามเวร ตามกรรมนะ แต่ถ้ามันทำบุญกุศลมันก็ไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ถ้ามันทำชั่วมันก็ไปเกิดนรกอเวจี นี่มันไปอย่างนั้นมันถึงจะรู้จริงของมัน
ถ้ามันรู้จริงของมัน เห็นไหม ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิเสธ สิ่งที่มันเป็นโวหารที่พูดกันอยู่นี้มันเป็นความเข้าใจ แล้วความเข้าใจ นี่ความเข้าใจอย่างนี้มันเป็นตรรกะ คำว่าเป็นตรรกะ นี่ไสยศาสตร์เป็นตรรกะหรือ? ไสยศาสตร์ไม่ได้เป็นตรรกะ ไสยศาสตร์คือไสยศาสตร์ แต่ตรรกะของคน ตรรกะของคนมันจินตนาการเรื่องไสยศาสตร์ได้ ทีนี้ไสยศาสตร์มันจินตนาการได้ มันนึกของมันได้ ถ้านึกของมันได้ นี่เอาตรงนี้เป็นหลัก แล้วก็ว่าตามกันไป
แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเมื่อเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีศักยภาพแล้ว เราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม? พอมนุษย์มีสถานะของความเป็นมนุษย์ แล้วมีสถานะความเป็นมนุษย์ นี่ที่ว่าลมหายใจมันยังไม่ขาด เรื่องเวร เรื่องกรรมมันยังมาไม่ถึง มันมาไม่ถึง สิ่งที่ทำมันมาไม่ถึง เราถึงมีโอกาสได้ทำคุณงามความดี ถ้าเรามีโอกาสได้ทำคุณงามความดี คุณงามความดีอะไร? นี่ถ้าคุณงามความดีก็คุณงามความดีทางโลก ที่เราเลี้ยงพ่อ เลี้ยงแม่เราเป็นคนดีในสังคม นี่คุณงามความดีทางโลก แต่ถ้าคุณงามความดีทางธรรม ทางธรรมนี่เริ่มจะเข้ามาตรงที่ว่า
ถาม : ถ้านั่งสมาธิไปสักพักหนึ่ง แล้วรู้สึกว่าข้างในมันสั่น แล้วสั่นออกมาถึงข้างนอกด้วย
ตอบ : ถ้าข้างในมันสั่นนะ ข้างในมันสั่นมันจะสั่นเพราะอะไร? ถ้ามันสั่น เห็นไหม ถ้าเรามีสติ เรามีสติยับยั้ง เรามีสติอยู่กับพุทโธมันจะสั่นไปไหน? มันจะสั่นไปไหน? ถ้ามันจะสั่น มันจะโคลงเคลงอย่างไรนะ มันจะเอนเอียงอย่างไรมันเป็นอาการรับรู้ทั้งนั้นแหละ คือรถไฟ เห็นไหม ดูรถไฟสิ รถไฟเขาจะสับราง มันจะเปลี่ยนราง รถไฟจะสับรางเขาต้องสับราง แล้วพอรถไฟวิ่งมา พอเขาสับรางแล้วมันจะเข้ารางใหม่ไปอีกเส้นทางหนึ่ง
จิตใจของเรามันเคยคิดโดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าเรากำหนดพุทโธหรือเรามาปฏิบัติเราจะสับราง เราจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของเรา ถ้าเราเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดของเรานะ รถไฟสับรางมันเปลี่ยนรางใช่ไหม? มันข้ามจากรางหนึ่งไปอีกรางหนึ่ง นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิด ธรรมชาติสามัญสำนึกมันก็เป็นปกติ มันไม่เห็นมีอะไรเลย มันไม่สั่น ไม่งันงก แหม มีความชัดเจน แต่พอมากำหนดพุทโธ พอมาภาวนานี่มันสั่น ข้างในมันสั่น มันสั่นเพราะอะไรล่ะ? มันสั่นเพราะอะไร?
ถ้าเรามีสตินะ เรามีสติมั่นคงของเรา มันจะสั่นก็เรื่องของมัน มันจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป แต่นี้ไม่อย่างนั้นน่ะสิ รถไฟเขาจะสับรางนะ เขาสับรางหรือยัง? สับหรือไม่สับ? ไอ้คนขับรถไฟมันจะเอารถไฟพุ่งลงข้างทางนู่นน่ะ มันไปวิตกกังวลไง มันไม่ใช่หน้าที่ นี่การสับรางเป็นนายสถานีเขาสับให้ คนขับรถไฟก็ขับของเราไป
นี่ก็เหมือนกัน เราพุทโธ พุทโธ มันจะสั่นอย่างไรก็เรื่องของมัน มันจะสั่น มันจะไหวเราไม่ต้องไปสนใจมัน เราอยู่กับเรา เรากำหนดสติของเราไว้ สติของเรานะเรากำหนด ถ้าไปพุทโธนะเรากำหนดของเราไว้ เกาะไว้ มันจะสั่น มันจะไหวอย่างไรไม่ต้องไปสนใจมัน เดี๋ยวมันก็จางไปๆ มันจะเบาลงๆๆ จนมาเป็นปกติ ถ้ามันเป็นปกติมันก็หายไป นี่โดยหลักเลย เห็นไหม โดยหลัก แต่ที่มันไม่หายเพราะอะไร? มันไม่หายก็ว่า หลวงพ่อ หลวงพ่อบอกมันจะหายมันไม่หายสักที คำว่ามันไม่หายสักทีนี่คือตัณหา มีตัณหา คนเราเป็นแผลนะแล้วก็รักษาแผล แล้วก็คอยแกะมันอยู่เรื่อย แกะมันอยู่เรื่อยมันจะหายไหม?
นี่ก็เหมือนกัน เมื่อไหร่มันจะหายซะที นั่นแหละมันไปคุ้ยตลอดไง มันไปรับรู้ตลอดไง แต่ถ้าเราไม่ต้องไปรับรู้มันเลย รักษาแผลเรารักษาไป เราไม่แกะให้แผลมันเปิดกว้างขึ้น มันจะสั่นมันจะไหวช่างหัวมัน พุทโธไว้ พุทโธไว้ แล้วมันจะค่อยๆ หายไป หายไปเพราะอะไร เพราะถ้าจิตมันพุทโธโดยเต็มคำพุทโธนะ พุทโธชัดๆ นะมันไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ อาการสั่นมันจะมาได้อย่างไร? อาการสั่นมันไม่มี แต่นี้เพราะจิตมันไปรับรู้ไง คำว่าจิตไปรับรู้ จิตมันไปรับรู้ ดูสิลมพัดใบไม้ไหว ลมพัดนี่ใบไม้ไหว เห็นไหม หมาเห่าใบตองแห้ง เห็นใบไม้ไหวนะหมามันก็เห่า
นี่ก็เหมือนกัน อะไรเกิดขึ้นจิตออกรับรู้หมด จิตมันไวไง จิตมันเร็วกว่าแสง จิตมันไปได้หมด เวลามีอะไรปั๊บจิตมันไปเกาะไว้ก่อนแล้ว นี่ที่ว่าเดี๋ยวมันสั่นข้างนอก เดี๋ยวมันสั่นข้างใน เดี๋ยวมันจะสั่นทั้งบ้าน เดี๋ยวโลกนี้จะสั่นหมดเลย โอ๋ย จิตมันมหัศจรรย์จริงๆ จิตนี้มันสร้างได้หมด ฉะนั้น นั่งสมาธิแล้วมันเป็นอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่านี่ไม่ภาวนาไม่เป็นอะไรเลย เป็นคนดีตลอดเลย พอภาวนาไปมีปัญหาไปหมดเลย
นี่หลวงตาท่านพูดคำนี้บ่อยมาก เวลาคนที่มาติเตียนธรรมท่านบอกว่า ธรรมะนี่นะ ธรรมโอสถ นี่ธรรมารส ธรรมโอสถ เห็นไหม นี่สิ่งต่างๆ มันเป็นโอสถที่ไปรักษา เป็นคุณงามความดี เราทำไม่ได้แล้วเราไปติ เราไปติว่าปฏิบัติแล้วก็ยุ่ง อะไรก็ยุ่งไปหมดเลย แต่ปล่อยชีวิตไหลไปกับกิเลส แหม เป็นคนดีนะ นี่วันๆ ไม่มีอะไรมารบกวนเราเลย เป็นคนดีไปหมดเลย นี่กิเลสมันพาไปกินหมดเลย แต่พอจะประพฤติปฏิบัตินะ ธรรมะนี่เวลาปฏิบัติธรรมทำสมาธิก็ลำบาก ตั้งสตินี้ยิ่งไปใหญ่เลย
เราจะเป็นคนดี นี่ทวนกระแส ถ้าทวนกระแสนะ สิ่งที่มันขัดขวาง สิ่งที่มันทำให้เราปฏิบัติไม่ได้ นี่กิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นเลย ธรรมะต่างหากล่ะ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงความคิดได้นะ คนเรานี่นะถ้ามีความสำนึกมันเปลี่ยนอุดมการณ์ของชีวิตเลยแหละ เปลี่ยนชีวิตเราเป็นชีวิตใหม่ได้เลย ถ้าเปลี่ยนชีวิตใหม่ เราปล่อยชีวิตเราไหลไป นี่เหมือนกับเศษสวะเวียนไปในวัฏฏะ แล้วแต่น้ำมันจะพัดไป ชีวิตนี้ก็ปล่อยมันไปตามกระแส
แต่ถ้าเราฝืนของเรา เห็นไหม เหนื่อยไหม? เหนื่อย ฝืนกระแสนี่เหนื่อย ทำความดีนี่เหนื่อย แต่ถ้าเราทำจนเราชำนาญของเรา เราทำของเรานะ ใครจะติเตียน ไม่ติเตียนเรื่องของเขา ไร้สาระ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาเราทำคุณงามความดี เรามีศีลธรรมเป็นผู้เปรียบเทียบ ถ้าไม่มีศีลธรรม ใครก็ว่าคนดี ดีๆ ของใคร? แล้วดีเอาอะไรมาเป็นมาตรฐาน แต่ถ้าเราดีของเรานะมีศีล เห็นไหม ศีล ๕ นี่กรองแล้ว ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ นี่ดีในศีลในธรรม ดีสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านวางหลักวางเกณฑ์ไว้ ถ้าเราทำอย่างนี้ปั๊บ
ฉะนั้น อาการสั่นมันเป็นเรื่องปกติ เวลารถขับเคลื่อนออกไป รถจะเคลื่อนที่มันก็ต้องมีอาการไหวของมัน รถมันไม่เคลื่อนที่มันจะมีอาการไหวของมันหรือ? นี่อาการไหว รถวิ่งกับรถจอดต่างกันไหม? จิตก็เหมือนกัน จิตเวลาภาวนา ทีนี้พอมันสั่นนะ มันสั่น มันโยก มันคลอน มันทุกข์ มันยาก เราอยู่เฉยๆ ตั้งสติไว้ อยู่เฉยๆ ตั้งสติไว้ เดี๋ยวมันหายไปเอง ถ้ามันไม่หาย มันสั่น มันไหวอย่างไร ถ้ามันสั่น เห็นไหม มันมีคำสอนกลุ่มหนึ่งเนาะ ก่อนเข้าสมาธิต้องสั่นก่อน ก่อนเข้าสมาธิต้องสั่นก่อนนะ โอ้โฮ ต้องโยก ต้องไหวหมดเลย ถ้าไม่โยก ไม่ไหวเข้าสมาธิไม่ได้ เออ ต้องตอบปัญหาแบบนั้นหรือ?
ถ้ามันจะสั่น มันมีพระปฏิบัติบางทีมันจะเคลื่อนไหว เพราะปฏิบัติไปนะมันอยู่ที่ว่าความชำนาญ เพราะปฏิบัติใหม่ๆ เวลาเอียง เอียงข้างซ้าย เอียงข้างขวา โยกหน้า โยกหลัง แล้วพอโยกหน้า จิตมันจะลงมันก็กังวล กังวลก็ดึงกลับมา พอพุทโธ พุทโธไปมันก็ค่อยๆ โยกไป เอียงไปข้างหลัง มันมีไปร้อยแปดเลยอาการอย่างนี้ ดูสิเราไปปักเสาไว้เสาหนึ่ง ลมพัดใช่ไหม? เวลาดินมันอ่อนมันนุ่มมันก็เอียง นี่ศูนย์มันยังไม่ได้มันจะเคลื่อนไง เห็นไหม เขาต้องจับระดับของเขาไว้ แล้วเวลาเขาจะทำอะไรต้องได้ระดับของเขา
นี่ก็เหมือนกัน เรานั่งสมาธิ ร่างกายของเรา เราจะบอกว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เป็นเรื่องธรรมดา คนเราก็มีการเคลื่อนไหว คนเราก็มีความรับรู้สึกทั้งนั้นแหละ แต่เพราะสิ่งที่เป็นธรรมดาเราไปวิตกกังวล วิตกจริต พอวิตกจริตก็เอาสิ่งที่วิตกจริตมาเป็นตัวตั้ง พอเป็นตัวตั้งเราก็กังวลไปหมดเลย จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น แล้วปฏิบัติเพื่อความปล่อยวางนะ เราไม่ได้ปฏิบัติด้วยความไปยึดว่าเป็นนะ เรายังไม่ใช่ขั้นใช้ปัญญา เดี๋ยวเวลาขั้นใช้ปัญญานะ พอจิตสงบแล้วเราพาจิตออกฝึกหัดใช้ปัญญา ตอนนั้นเราจะค่อยเห็นว่ามันจะเป็นอย่างใด แต่ตอนที่เราจะฝึกหัดเพื่อความสงบระงับ ทำจิตให้สงบก่อน ถ้าจิตมันสงบแล้ว เวลามันเกิดปัญญามันจะเป็นโลกุตตรปัญญา
ใจเย็นๆ อย่ามักง่าย อย่าใจเร็วด่วนได้ เราเกิดมาทั้งชีวิต เวลาเราไม่ศึกษาธรรมะเราก็ปล่อยชีวิตของเราสัพเพเหระไป เวลามันจะมาปฏิบัติจะให้ได้เดี๋ยวนี้ ให้ได้วันนี้ จะให้ได้ปีนี้ แล้วก่อนที่จะมาปฏิบัติ เราปล่อยชีวิตเราสัพเพเหระมาตลอด เวลามาปฏิบัติให้เวลาครึ่งวัน นั่งแล้วเป็นพระอรหันต์เลย แต่ทั้งชีวิตปล่อยสัพเพเหระมาทั้งวัน ปล่อยมาตั้งกี่สิบปีปล่อยได้ เวลาจะมาปฏิบัตินี่ใจเย็นๆ
จริงๆ ใครก็อยากได้ ใครก็อยากได้ อยากดีทั้งนั้นแหละ ความอยากได้ อยากดีใครไม่อยากได้ แต่ให้มันได้ มันดีโดยตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่ให้มันได้มันดีด้วยเราไปบิดเบือน เราไปบิดเบือนจะให้เป็นความดีของเรา ให้คะแนน ตัดคะแนนตัวเอง ไปตัดคะแนนทำไม? นี่มันจะสั่น มันจะไหวอย่างไรก็ให้มันสั่นไหวไป เวลาเรากินข้าวยังต้องเคี้ยวเลย ไม่ใช่ไก่ทั้งชิ้นกลืน อึก! เข้าไปเลย ไม่ให้มันสั่นไหว มันก็ไม่ได้ เราก็ต้องเคี้ยว ต้องกลืน เคี้ยว กลืนเข้าไปมันก็ลงไปในกระเพาะ เราก็ได้มีความอิ่มหนำสำราญ
นี่ก็เหมือนกัน พอนั่งไปมีอุปสรรคนะ มันมี เรื่องอุปสรรคมีทุกคนแหละ มีมาก มีน้อย ฉะนั้น สิ่งที่สั่นไหว เพราะว่ามันสั่นไหวนะ อย่างที่ว่า ถ้าเรื่องของร่างกาย เรื่องโรคประจำตัวนั่นก็เรื่องหนึ่ง เรื่องของจิตนี่นะเวลามัน เราจะบอกว่าแค่นี้นะมันแค่เชื้อโรค แค่ไวรัสนิดเดียว มันยังไม่ได้ไปเจอโรคจริงๆ หรอก ไอ้นี่มันแค่หวัด แค่ไอ เป็นหวัด เป็นไอนี่นะ เป็นหวัดเมื่อก่อนไม่ต้องกินยาก็หายนะ เป็นหวัดนี่รักษาร่างกายให้อบอุ่นก็หาย ไม่ต้องกินยาด้วย
นี่ก็เหมือนกัน พอปฏิบัติ ไอ้เรื่องนี้มันแค่เป็นหวัด มันยังไม่ไปเจอกิเลสมันมาดักหน้า ดักหลัง กิเลสบังเงา กิเลสมันล่อลวง กิเลสมันจะพาให้ตกหลุม ตกร่อง ปฏิบัติไปจะเห็นนะ เราจะฆ่ามัน กิเลสนี่เราจะฆ่ามัน ก่อนที่จะฆ่า มันจะหลอกลวงเรา มันจะฆ่าเราก่อน เวลาหลวงตาท่านอดอาหาร เห็นไหม อดอาหาร แล้วเวลากิเลสมันมาตอนที่จะบิณฑบาต เห็นไหม บอกว่าอดอาหารเพื่อจะฆ่ากิเลสๆ ตอนนี้ท่านกำลังจะตายแล้วนะ เพราะว่าการจะฆ่ากิเลส
นั่นแหละปัญญามันเกิดตีกลับเลย อ้าว ก็เวลากินมาตั้งแต่เกิดจนป่านนี้ แล้วนี่เราจะชำระกิเลส เราจะอดอาหารมา แค่นี้มันจะเป็น จะตาย อ้าว อย่างนั้นให้มันตาย กิเลสมันวิ่งหนีเลยนะ กิเลสมันไม่กล้ามาวอแวอีกเลย เห็นไหม เวลาภาวนาไป กิเลสมันยังมีอีกเยอะ ฉะนั้น ระดับของกิเลสมีอีกเยอะ คำว่ามีอีกเยอะหมายความว่าเราจะชำระล้างของเราให้สะอาดบริสุทธิ์
ฉะนั้น กิเลสนี่เราจะบอกว่ามันมีหลาน มีลูก มีพ่อ มีปู่ ถ้าเราฆ่าหลานมันได้คือโสดาบัน เราฆ่าลูกมันได้คือสกิทาคามี เราฆ่าพ่อมันได้ พ่อแม่เป็นผู้หาอยู่หากิน นี่พ่อแม่เป็นหลักเป็นชัยในครอบครัว นี่กามราคะ การสร้างบ้าน สร้างเรือน ปู่ย่า เห็นไหม คืออวิชชา ปู่ย่าอยู่ในบ้านของเรา ผู้เฒ่า ผู้แก่ ผู้ที่ผ่านราตรีมานาน นี่เวลาเราทำลายเป็นชั้นๆ เข้าไป เราจะเห็นนะว่ากิเลสมันขนาดไหน
ที่พูดนี้พูดซะยาว ยาวตรงไหน? ยาวให้เห็นว่าเริ่มต้นเจออุปสรรคนิดเดียวก็ทุกข์แล้ว แล้วทางเดินของเรามันยังอีกตั้งยาวไกล ฉะนั้น ทางเดินเราอีกยาวไกล ไอ้ของแค่นี้นะเราตั้งสติแล้วกำหนดพุทโธดีๆ แล้วใช้ปัญญาดีๆ นะ สิ่งนี้มันจะค่อยๆ จางหายไป จางหายไปคือมันเข้าสมาธิไง จางหายไปคือจิตมันสงบระงับเข้ามา จิตที่ไม่สงบระงับเข้ามามันก็ไปรับรู้สิ่งนี้ แล้วก็ทำให้เราโยก เราคลอน แต่ถ้าเราตั้งสติของเรา แล้วเราทำของเรา
นี่ผู้ปฏิบัติใหม่จะเป็นแบบนี้ ฉะนั้น พอเป็นแบบนี้ปั๊บผู้ปฏิบัติใหม่ก็เป็นภาระใหญ่โต เป็นภาระที่รุนแรงมาก คนที่ปฏิบัติมาแล้วนี่โอ้โฮ เด็กเล่นขายของ เพิ่งหัดเก็บหินมาเล่น ยังไม่ได้จัดถ้วย จัดจานกันเลย เด็กมันเก็บหินมามันต้องมาจัดถ้วย จัดจานของมัน มันจะเล่นขายของมันนะ นี่มันยังไม่ได้เล่นขายของเลย แค่จะหาอุปกรณ์มาเล่นขายของ ฉะนั้น พอจะหาอุปกรณ์มาเล่นขายของมันก็ทุกข์แล้ว
นี่ในการปฏิบัตินะตั้งใจไว้ ตั้งใจไว้ เราหวังว่าเราจะเป็นคนดี เราหวังว่าเราเกิดมาเป็นคน ถ้าเราไม่มาศึกษาเรื่องใจของเราเอง เราจะเกิดมาในชาติหนึ่งให้มีสถิติว่าเคยเกิดมาชาติภพหนึ่งในประเทศนั้น แต่ถ้าเรามาศึกษาหัวใจของเรา เห็นไหม เราเกิดมาชาติหนึ่งเราก็มีทะเบียนบ้าน มีข้อมูลอยู่ในกรมการปกครอง แต่ในหัวใจของเราเราเป็นคนที่มีสติ มีปัญญารื้อค้นของเราเอง ธรรมะนี่เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ใจดวงนั้นจะรู้กับใจดวงนั้น ฉะนั้น ใจดวงนั้นเกิดมาเป็นเรา เราค้นคว้า เราปฏิบัติของเราเพื่อประโยชน์กับเรา จะไม่มีใครรู้กับเราเลย แต่ผู้มีธรรมเขารู้ เพราะผู้มีธรรมเขาต้องปฏิบัติอย่างนี้มาเหมือนกัน เขาถึงมีธรรมในใจของเขา
ฉะนั้น เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันถึงเป็นประโยชน์กับใจของเรา ฉะนั้น ประโยชน์ของเรา เราต้องเข้มแข็ง ถ้าเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม มันจะไม่มีใครรู้ใครเห็นกับเราหรอก เราทำคุณงามความดีของเรา ใครจะติใครจะเตียนอย่างไรมันเรื่องของเขา ไม่ใช่เราพาลนะ ไม่ใช่คนพาลแบบไม่รับรู้สังคมเลย จะเอาแต่สังคมของตัวคนอื่นไม่รับรู้ ไม่ใช่
สังคมที่ดีเราก็อยากได้ แต่สังคมที่เป็นเรื่องโลกๆ สังคมที่เขาไม่มีนักปราชญ์ นักปราชญ์ของเราคือหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตา ครูบาอาจารย์ของเราเป็นนักปราชญ์ นักปราชญ์ไม่ใช่ปราชญ์ทางโลก ปราชญ์ทางโลกคือปราศจาก ปราชญ์ที่ไม่มีสิ่งใดเป็นชิ้นเป็นอัน แต่นักปราชญ์ของครูบาอาจารย์เราท่านมีหลักมีเกณฑ์ของท่าน ท่านสั่งสอนเราได้ ท่านบอกเราได้ เรามีความสงสัยลังเลอย่างไร ท่านเคลียร์ให้เราได้ นี่นักปราชญ์เขามีของเขา เราถึงมีครูบาอาจารย์ของเรา
ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความดีของเราไม่ใช่ความดีที่ว่าเราเข้าข้างตัวเอง ไม่ใช่ความดีแบบเด็กๆ เอาสีข้างเข้าถูกัน ถ้าใครเขาว่าดีนั่นเรื่องของเขา ความดีของเรามีมรรค มีผล มีศักยภาพ มีความเป็นจริง จับต้องได้ จับต้องได้เพราะจิตกับจิตเสมอกัน สงบเหมือนกันมันก็คุยกันรู้เรื่อง จิตที่มีปัญญากับจิตที่มีปัญญาเขาก็คุยกันได้ จิตที่เป็นโสดาบัน เป็นอริยทรัพย์ เขาเห็น เขามีมรรคมีผล เขาจับต้องได้ เขาคุยกันได้ เขาตรวจสอบของเขาได้
ฉะนั้น ความดีอย่างนี้ต่างหากที่เราต้องการ เราไม่ได้ต้องการความดีที่มันไร้สาระ ความดีที่มันว่างเปล่า มันไม่มีสิ่งใดที่เป็นผลประโยชน์เลย อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราเกิดมาแล้วมันเป็นประโยชน์กับเราไง
ข้อ ๘๔๐. เนาะ
ถาม : ข้อ ๘๔๐. เรื่อง ใจสื่อถึงใจ
(นี่พระถามนะ) ใจสื่อถึงใจ ธรรมสื่อถึงธรรม ไม่มีสิ่งใดปิดบังผู้รู้จริงเห็นจริงได้ กระแสของธรรมของผู้รู้จริงไปได้เร็วกว่าเทคโนโลยีสื่อสารมากมาย กระผมขอยอมหลวงพ่อครับ สาธุ
ส่วนเรื่องของผมจะถามหลวงพ่อว่า จะปฏิบัติอย่างใดกับของใช้ที่เพ่งดูระดับจิตของคนอื่น แล้วรู้ว่าจิตเขาอยู่ระดับไหน ไม่ต้องรอให้เขาอธิบายกลัวผิดพลาดครับ แต่ผมไม่ได้อยากทำอย่างนั้นมาเอง เราไม่สนเลยดีไหม? ส่วนการเห็นนิมิตคนอื่นก่อนเขามาหาเราว่าใจลึกๆ เขาเป็นอย่างไรนั้นพอรู้ ความพอดีในการปฏิบัติกับมันพอประมาณ ส่วนสิ่งที่ถามนี้เป็นของใหม่ กราบขออภัยครับ
ตอบ : นี่เขาว่ามา เขาเคยถามมา แล้วเราเคลียร์ไปหมดแล้ว ทีนี้พอเคลียร์เรื่องการปฏิบัติหมดเขาถึงพูดมาไงว่า ใจสื่อถึงใจ ธรรมสื่อถึงธรรม ไม่มีสิ่งใดปิดบังได้ เพราะเขาถามปัญหามาแล้วเราเคลียร์หมด ทีนี้พอเคลียร์หมดแล้ว นี่คือข้อเท็จจริงในหัวใจของเขา แต่เวลาเขาถามมา เขาถามถึงความรู้ความเห็นไงว่ารู้สิ่งนี้ แล้วเราเคลียร์ไปหมดแล้ว ว่าสิ่งนั้นมันเป็นที่ว่าถ้าเป็นความจริงนะ ถ้าเป็นอริยสัจ เป็นสติปัฏฐานไม่เป็นแบบนั้น สติปัฏฐานมันจะมีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วดึงกลับมาให้เป็นความจริง
ฉะนั้น สิ่งที่ถามมาวันนี้เขาถึงบอกว่าแท้จริงแล้วใจของเขาเป็นแบบนี้ คือว่ามันเพ่ง เห็นไหม ระดับที่ว่ามันรู้จิต มันใช้เพ่งดูจิตของคนอื่น แล้วรู้ระดับไหน รู้ถึงระดับไหน เขาคิดอย่างใดเขาต่างๆ สิ่งนี้ถ้ามันเป็นทางฤๅษีชีไพร เวลาสิ่งนี้รู้เป็นฌานโลกีย์ เป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษคือผู้เหนือคนไง ถ้าคนรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น คนรู้ถึงว่าคนอื่นคิดอะไรอยู่มันก็ต้องเหนือเขา แล้วเหนือเขาแล้วได้อะไรล่ะ? ถ้าเหนือเขาแบบครูบาอาจารย์ของเรานะ เหนือด้วยความโอบอ้อมอารี
ดูหลวงตาสิ นี่เกิดภัยพิบัติที่ไหน เห็นไหม หาพวกปัจจัยเครื่องอาศัยไปเจือจานเขา ที่ไหนมีความทุกข์ยาก เครื่องมือแพทย์เขาขาดแคลนก็หาให้เขา ถ้าเหนือด้วยการช่วยเหลือเจือจาน อย่างนี้สิถึงเป็นประโยชน์ แต่ไปรู้วาระจิตเขาแล้วได้อะไร? เขาก็ทุกข์เราก็ทุกข์ อ้าว วาระจิตความคิดเขาก็ทุกข์ แล้วมาหาเราเราก็ทุกข์ แล้วมันได้อะไรล่ะ? มันไม่เห็นได้ประโยชน์อะไรเลย นี่จิตส่งออกอย่างนี้ แต่ถ้าผู้วิเศษเขารู้นะ เขาว่าเขารู้วาระจิตคนอื่น เขาเป็นประโยชน์ นี่สิ่งนี้มันส่งออก แล้วส่งออก สิ่งที่รู้ สิ่งที่เป็นมันเป็นของเก่า
ของเก่านะ ของเก่าหมายความว่าจิตของคนจริตนิสัยมันมี เวลาคอยนั่งสมาธิ ภาวนาไป เห็นไหม บางคนเห็นนิมิต นี่พอเห็นนิมิตขึ้นไป บางคนไม่เห็นนิมิต แล้วบางคนเห็นนิมิตมาก นิมิตน้อย แล้วเห็นครั้งแรก เห็นครั้งที่สองเหมือนกันไหม? แล้วเห็นต่อๆ ไปล่ะ? นี่เห็นต่อๆ ไปล่ะ? โดยพลังงานทั้งนั้นทุกชนิด พลังงาน เห็นไหม ตอนนี้เขาวิตก วิจารกันว่าอนาคตน้ำมันจะไม่มีใช้ น้ำมันจะหมดนะ
ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์เขาพยายามจะคิดค้นแล้ว ว่าต่อไปอนาคตเราจะหาพลังงานอะไรมาใช้กัน เพราะพลังงานมันจะหมดไป แม้แต่น้ำมันที่มันมีอยู่ในโลกเขาใช้กันจนหมดเลย แล้วเวลากำลังของจิต พลังงานนี่เวลาเรากำหนดของเรา แล้วมันออกรู้เราใช้พลังงานไปหรือเปล่า? แล้วใช้ไปแล้วได้อะไรขึ้นมา รถนี่นะ น้ำมันเขาเอามาทำอุตสาหกรรม เขามาใช้รถ รถจะเป็นประโยชน์ ยังประกอบสัมมาอาชีวะได้ แล้วเราไปรู้วาระจิตเขา แล้วเราแก้เขาได้ไหม? เรารู้เขาแล้วเราได้อะไรมา? เราเองเราได้อะไรมา มันไม่มีอะไรเป็นประโยชน์เลย
แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะ นี่เวลาทำความสงบของใจเข้ามาให้ได้ ถ้าใจมันสงบแล้ว เห็นไหม พลังงานนั้นคงที่ พลังงานนั้นสะสม สัมมาสมาธินี่พลังงานนั้นสะสม พลังงานนั้นพาออกใช้ปัญญา ถ้าออกใช้ปัญญามันจะเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนามันแก้ไข มันทำความสะอาดบริสุทธิ์ให้ใจได้ นี่มันเข้าสู่อริยสัจ เข้าสู่ความจริง อันนี้ต่างหากล่ะ หลักของศาสนา อริยสัจมันอยู่ที่นี่ มันอยู่ที่การใช้ปัญญา แล้วไม่ใช่ปัญญาไปฆ่าคน ปัญญาไปสร้างสิ่งที่มหัศจรรย์ ปัญญาชำระกิเลสนี่แหละ ปัญญาในหัวใจเรานี่แหละ ปัญญาที่มันย้อนกลับมานี่แหละ ปัญญาที่เอามาชำระกิเลสในหัวใจของเรา
อันนี้ต่างหากล่ะ ถ้ามันชำระกิเลส มันสำรอกกิเลสได้ มันคลายกิเลสได้ นี่แหละความจริง ถ้าความจริงอย่างนี้เกิดขึ้นมา เห็นไหม ฉะนั้น นี่คือความจริง ถ้าเป็นความจริง สิ่งที่มันไปรู้ ไปเห็นนี่นะเราปฏิเสธไม่ได้ คำว่าของเก่าไง ของเก่าคือจิตได้สร้างมา จิตนี่มันได้สร้างมา ใครมีอำนาจวาสนามา แต่สร้างมาแล้วนี่เผลอไหม? ถ้าสร้างมาแล้วนะเราขาดสติ ดูสิดูอภิชาตบุตร คนเกิดนี่มืดมาสว่างไป สว่างมามืดไป คนสว่างมา สว่างไป มืดมา มืดไป
นี่เวลาเกิดมา เราเกิดมานี่เรามืดหรือสว่างล่ะ? แล้วเราเกิดมาดำรงชีวิต ถ้าเรามืดมา เราจะไปมืดๆ อีก หรือเราจะไปสว่าง ถ้าเราสว่างมาแล้วเราจะมามืดบอดทำไม? ถ้าเราสว่างมา ถ้าจิตใจเราสร้างบุญกุศลมาเราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์แล้วเราได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะสว่างไปหรือเราจะมืดไป ถ้าเราจะมืดไป เรามาเที่ยวรู้วาระจิตคนอื่นแต่ไม่รู้วาระจิตตัวเอง ไปเที่ยวรู้ความสุข ความทุกข์คนอื่น ไปรับรู้ของคนอื่น แล้วตัวเองได้อะไรขึ้นมา รู้ว่าคนอื่นมีสุข มีทุกข์แต่ตัวเองตรอมใจ ในหัวใจแก้ไขอะไรไม่ได้
ถ้าในหัวใจแก้ไขได้ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณ ทำลายอวิชชาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน เวลาทำลายอวิชชาในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว นี่เสวยวิมุตติสุข เพราะทำลายแล้วมันเป็นความสุข พอเสวยวิมุตติสุขแล้ว สุขนี้สร้างสมบุญญาธิการมา นี่จะเผยแผ่ธรรม จะเผยแผ่ธรรมเผยแผ่ธรรมกับใคร?
นี่คนที่มีวุฒิภาวะ เทศนาว่าการแล้วเขารู้ได้ นี่เผยแผ่ธรรม พอเผยแผ่ธรรมออกไป เผยแผ่ธรรมออกไปเพื่อประโยชน์ ตัวเองต้องมีความรู้จริงก่อน ตัวเองต้องมีความสุข นี่เสวยวิมุตติสุขมีความสุข แล้วความสุข นี่โลก ในสังคมโลกควรจะได้สิ่งนี้ ควรจะได้สิ่งนี้ ผู้ที่สร้างบุญญาธิการ มามี นี่มันจะเป็นประโยชน์ไง แต่ถ้าหัวใจเรายังไม่รู้ หัวใจเรามันทุกข์ หัวใจเราไม่รู้เราเอาอะไรไป
หลวงตาพูดบ่อย เวลาเผยแผ่ธรรมๆ เอาอะไรไปเผยแผ่? เผยแผ่ธรรม จะเอากิเลสเผยแผ่ หรือจะเอาธรรมะเผยแผ่? ถ้าเอาความรู้ ความเห็นเรา ความรู้ ความเห็นมันประกอบไปด้วยอวิชชา ความรู้ ความเห็นของเราประกอบด้วยความไม่รู้จริง แล้วเผยแผ่ไปได้อย่างไร? อย่างเช่นรู้วาระจิตเขา เดี๋ยวนี้นะสนามบินเขามีเครื่องจับเท็จ สนามบินเขารู้หมดแหละ ใครจะซ่อนอะไรมา ใครจะเอาอะไรมาสนามบินจับได้ ยิ่งพวกสันติบาลเครื่องจับเท็จ ใครโกหกมดเท็จเขาให้ผ่านเครื่องจับเท็จ แล้วเครื่องจับเท็จคนเดินผ่านเขารู้เลย โอ้โฮ ไอ้นี่ต้องไปนั่งเพ่งนะกว่าจะได้แต่ละคน ๒ คน
ฉะนั้น เราจะบอกว่ามันเป็นของเก่า ถ้าเป็นของเก่าแล้วเราวางซะ ไม่ใช่มีสิ่งนี้แล้วเราจะมีตลอดไป อย่างเช่นเราเกิดมาเรามีนิสัยอย่างนี้ ถ้าเราจะดัดแปลงของเราล่ะ? เราจะดัดแปลงของเรา เราจะแก้ไขของเรา เห็นไหม เราดัดแปลง เราแก้ไขของเรา แก้ไขอะไร? แก้ไขสิ่งที่ไม่ดี ไม่งามในจริตนิสัยของเรา แล้วเราทำคุณงามความดีเพิ่มมากขึ้นๆ เวลาแก้กิเลส กิเลสมันแก้ได้แล้วนะ จริตนิสัยก็เป็นอันเก่านั่นแหละ จริตนิสัยอันเก่าหมายถึงว่าเวลามันแก้กิเลสก็แก้กิเลส เพราะถ้ามันตรงจริต ตรงนิสัย เห็นไหม การกระทำมันก็ตรงกับใจดำ
เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เวลาพูด พูดแทงเข้าไปในอวิชชา แทงเข้าไปในใจดำของคนนั้น ให้คนนั้นสะดุ้ง ให้คนๆ นั้นรู้สำนึกตน ถ้าคนๆ นั้นสำนึกตนเขาจะมีความรู้สึกนึกคิดแก้ไขตนเอง ถ้าเราเวลาพูดธรรมะกันนะลูบหน้าปะจมูกใช่ไหม? นี่คนๆ นู้นทำผิด ทั้งๆ ที่คนทำผิดนั่งอยู่นี่ไม่กล้าพูด มันสะเทือนใจกัน ชี้ไปไกลๆ ไง ไอ้คนที่ทำผิดก็บอก เออ กูไม่ผิด กูไม่ผิด ถ้าบอกว่ามันผิด
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเข้ามาในหัวใจ เวลาเราพิจารณาของเราใครเป็นคนหลงผิด นี่ใครเป็นคนหลงผิด กิเลสมันอยู่ที่ไหน? ถ้ามันตรงตัว มันเข้าไปเผชิญหน้ากับมัน มันก็จะได้ประโยชน์กับมัน ถ้ามันตรงตัวนะ ถ้าไม่ตรงตัวมันก็เร่ๆ ร่อนๆ มันจะเร่ๆ ร่อนๆ ของมันไปนะ ฉะนั้น สิ่งที่พูดนี่จบแล้ว เพราะว่าอะไร? เพราะว่าถ้าคนถามนะมันคงได้ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ประโยชน์จะไม่เขียนมาว่า ใจสื่อถึงใจ ธรรมสื่อถึงธรรม ไม่มีสิ่งใดปิดบังผู้รู้จริงได้ นี่กระแสของธรรมของผู้รู้จริง ไปเร็วกว่าเทคโนโลยี เร็วกว่าสิเพราะมันสะเทือนใจใช่ไหม?
ฉะนั้น ถ้ามันสะเทือนใจมันก็ต้องแก้ไขไง สิ่งที่พูดอยู่นี่เนาะก็เพื่อให้ทุกคนได้นึกคิด ได้รู้สึกนึกคิด ถ้าเรารู้สึกนึกคิดนะ ถ้าคนมันมีสามัญสำนึก มีความรู้สึกนึกคิดนะ มันจะทำความผิดพลาดได้น้อยลง แต่ถ้าคนไม่มีความรู้สึกนึกคิดนะ แล้วยิ่งคนถ้ามีปัญญาจะบอกว่าไม่มีใครรู้ เราทำสิ่งใดจะไม่มีใครรู้ทันเราเป็นไปไม่ได้หรอก ความลับไม่มีในโลก คนทำนี่รู้ คนไหนทำสิ่งใดคนนั้นรู้ กรรมมันถึงไม่มีที่ลับ ที่แจ้ง กรรมมันมีตลอดเวลา
เวลากรรมนี่มโนกรรม เวลามโนกรรมคือความรู้สึกนึกคิด กายกรรม นี่มันก็ต้องคิดแล้วมันถึงทำออกมาเป็นกายกรรม วจีกรรมที่พูดอยู่นี้ วจีกรรมนี่มันมาจากไหน? นี่คนจะพูดพูดมาจากอะไร? ถ้าคนจะพูดนี่พูดมาจากอะไร? ฉะนั้น เวลามโนกรรมนี่ความรู้สึกนึกคิด มโนกรรม ย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำ มันก็จะเป็นการสร้างสม ดินพอกหางหมู แต่ถ้ามโนกรรมมันตีให้กระจายออก มันแผ่ออก ใช้ปัญญาแยกแยะออกไป มันจะไม่มีสิ่งใดตกผลึกในหัวใจ มันจะปล่อยโล่งของมัน มันจะเป็นคุณงามความดีของมัน
นี่เวลาที่เราใช้ปัญญาๆ กัน ปัญญาของจิตๆ ก็มโนกรรมนั่นแหละ มโน นี่ มโนวิญฺาเณปิ นิพฺพินฺทติ มโนสมฺผสฺเสปิ นิพฺพินฺทติ สิ่งที่เป็นมโน เป็นหัวใจก็น่าเบื่อหน่าย เพราะมันเป็นปฏิสนธิจิต มันต้องเกิดต้องตาย สิ่งที่จิตสัมผัสก็น่าเบื่อหน่าย ผลของการสัมผัสนั้นก็น่าเบื่อหน่าย พอความเบื่อหน่าย ถ้ามีสติปัญญาเข้าไป เพราะความเบื่อหน่าย นิพฺพินฺทํ วิรชฺชติ มันปล่อยได้หมดไง แต่ถ้ามันพิจารณาเข้าไป มันละเอียดเข้าไป
ฉะนั้น เวลาทำงาน เห็นไหม เวลาพูดนี่นะเราพูดว่าเราเห็นว่าสังคมเขาคิดกันไง เขาคิดกันว่าพระนี่ไม่เห็นทำอะไร วันๆ ไม่เห็นทำอะไร โยมมาวัดก็ไม่เห็นทำอะไร นั่งอยู่ นี่ที่เราพูดเราพูดว่าความรู้สึกนึกคิดของสังคมเขามองกัน แต่เขาไม่เคยปฏิบัติไง แต่เรานี่ปฏิบัติ เรารู้ ๒๔ ชั่วโมง เนสัชชิกไม่นอนทั้งวัน ๒๔ ชั่วโมง ปัญญามันไม่หยุดเลย อยู่เป็นเดือนๆ มันหมุนติ้วๆๆ มันไม่หยุดเลย มันนอนไม่ได้เลย
นี่ใครปฏิบัติแล้วจะรู้ ที่ว่าขี้เกียจๆ มันขี้เกียจอย่างไร? เอ็งทำงานกันเป็นเดือนโดยไม่ได้นอนเอ็งเคยทำกันไหม? นี่มึงไม่เคยทำหรอก มึงมาดูพระปฏิบัติสิ เวลามันหมุนติ้วๆๆ ขึ้นไปหลับนอนไม่ได้เลย หลับตาลงไม่ได้เลย นี่ปัญญามันจะหมุนขนาดไหน ฉะนั้น เราพูดบ่อย พูดแบบว่าทางโลกเขาเรียกว่าพูดแซว ไอ้พวกไปวัดนี่มันมีเวลาว่างเกินไป มันไม่มีงานทำ เอ็งรู้หรือ? เอ็งรู้หรือว่าเขาไม่มีงานทำ แต่เขาใฝ่ดี เขาหวังดี นี่พอหวังดีขึ้นมา พออยู่บ้านทำงานก็ว่าเหนื่อย พอไปอยู่วัดขึ้นมา อ้าว ว่างๆ แล้วนี่
หลวงปู่ฝั้นท่านพูดบ่อย เวลาทำงานก็ว่าเหนื่อย เวลาให้นั่งเฉยๆ ก็นั่งไม่ได้ ให้นั่งเฉยๆ หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ อ้าว ก็ว่าทำงานก็เหนื่อยไง ก็นี่ให้พักผ่อน ให้นั่งเฉยๆ ไง นั่งเฉยๆ มันก็นั่งไม่ได้ นั่งสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมงมันจะดิ้นแล้ว นี่งานอันละเอียดทำยาก งานอันละเอียด แต่เขาไม่รู้หรอกว่าทำงานโดยหัวใจ เหมือนกับโดยหน่วยราชการ นี่ถ้าเป็นผู้กำหนดนโยบาย ใครได้เป็นผู้มีอำนาจนะปีเดียวผมขาวหมดเลย ถ้าเป็นผู้น้อยสบายมาก พอเป็นผู้นำนะหัวขาวหมดเลย มันเครียด
อันนี้ก็เหมือนกัน เวลามันภาวนาขึ้นมามันต้องรับผิดชอบ โธ่ ฉะนั้น ถึงบอกว่ามันมีงานของเขานะ งานนี่ถ้าครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านผ่านอย่างนี้ท่านจะเข้าใจไง ไม่ใช่ปล่อย จริงๆ เขามองกันอย่างนั้น โลกเขามอง หลวงตายังบอกเลย บอกว่าต่อไปจะไปวัดต้องแอบไปนะ ต้องแอบไป กลัวเขาติฉินนินทา แต่เวลามึงไปทำชั่วกันมึงไม่ต้องแอบไปนะ นี่ก็เหมือนกัน พอไปวัดก็แซวนะ โลกเขาคิดกันอย่างนั้น
ย้อนกลับมาที่หลวงตาว่า คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก? ถ้าในสังคมนี่คนโง่มากเขาก็คิดกันอย่างนั้นมาก ถ้าคนฉลาดมาก คนฉลาดมากโลกจะร่มเย็น แต่คนโง่มากขนาดไหนต้องมีคนฉลาดเจือปนไปอยู่ ถ้าไม่มีเจือปนไปอยู่ สังคมจะอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ถ้าสังคมอยู่อย่างนี้ได้เพราะคนฉลาดเป็นหลักเป็นเกณฑ์ ฉะนั้น สิ่งที่ปฏิบัติมานะ สิ่งที่แล้วก็แล้วกัน แต่สิ่งที่ทำมานี่ส่งออกอย่างนี้ไม่เอา เราจะไปรู้วาระจิตคน เราจะไปรู้สิ่งต่างๆ อย่างเช่นนิมิตมาเราวางให้หมดเลย เพราะนี่มันเป็นสิ่งที่ติด อย่างเช่นเงินหนึ่งล้านกับสองล้าน เราจะเอาเงินหนึ่งล้านหรือเอาเงินสองล้าน
ถ้าเราติด เห็นไหม เรามีเงินหนึ่งล้านเราก็ปลื้มใจกับเงินหนึ่งล้านนั้น ถ้าเราทิ้งเงินหนึ่งล้านนี้ แล้วเราประพฤติปฏิบัติเข้าไปเราจะได้สองล้าน สามล้าน สี่ล้าน ห้าล้าน เห็นไหม เรารู้วาระจิตคนอื่นไร้สาระ รู้วาระจิตเราดีกว่า แล้วถ้าพิจารณาที่จิตของเรา มันแยกแยะของมันนะ เดี๋ยวจะมีเงินที่นับไม่ได้ มีเงินจนนับจำนวนไม่ได้เลย นับจำนวนไม่ได้เพราะคุณธรรมมันสูงส่งนัก ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาได้นะ
ฉะนั้น ให้ทำจริง ให้ทำจริงๆ แล้วจะรู้จริงตามความเป็นจริงนั้น เอวัง