เทศน์พระ

มีขึ้น มีลง

๒๑ เม.ย. ๒๕๕๕

 

มีขึ้น มีลง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อากาศร้อน อากาศร้อนนะ เพราะเพิ่งเข้าฤดูกาล เดือนเมษาอากาศร้อน นี่ ๓ ฤดู ฝน หนาว แล้วก็ร้อน ฤดูกาลหมุนเวียนไป แต่ชีวิตของเราล่ะ ถ้าชีวิตของเรา เราอยู่กับฤดูกาลนั้น เราอยู่กับฤดูกาล ในเมืองไทย เวลาทางศาสนา นักวิชาการเขาบอกว่ามันเหมือนกับในอินเดีย ในอินเดีย เวลาวินัยบัญญัติไว้เกี่ยวกับฤดูกาล เวลาเข้าพรรษา เวลาต่างๆ มันเกี่ยวกับฤดูกาล ในเรื่องของมะขามป้อม สมอ พืชในป่าในเขา มันก็เหมือนกับในสมัยพุทธกาล มันเหมือนไปหมด

ฉะนั้น เวลาอากาศร้อน มันร้อนเพราะฤดูกาล ถ้าฤดูกาลนะ เรามีสติปัญญา เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้ เราจะรักษาหัวใจของเราไม่ให้มันเดือดร้อนจนเกิดไปนัก ไม่ให้เดือดร้อนนะ เพราะความเป็นจริงในโลกนี้มันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันเป็นแบบนี้ เพียงแต่หัวใจของเราสูงหรือต่ำ ถ้าหัวใจของเราต่ำ เห็นไหม เราแบกโลก เราแบกโลกแล้วทุกข์ไปหมดน่ะ แต่ถ้าหัวใจเราสูงกว่า เราอยู่กับโลก เราอยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก

แต่จะอยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก มันต้องมีการฝึกฝน มันต้องมีที่มาที่ไป หัวใจเราจะปล่อยไว้เฉยๆ ไม่ได้ ถ้าหัวใจปล่อยไว้เฉยๆ ดูสิ น้ำมันไหลลงต่ำ หัวใจเราปล่อยนะ เราไม่ดูแลรักษามันนะ มันจะไหลลงไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ฉะนั้น เราต้องมีสติปัญญารักษาของเรา

ดูสิ หลวงปู่มั่นนะ ท่านเป็นพระอรหันต์ หลวงตาท่านบอกว่าเช้าขึ้นมาหลวงปู่มั่นท่านเดินจงกรมทุกวัน เวลาของท่าน เช้าขึ้นมาออกจากศาลาแล้วกลับไป ท่านจะพักของท่าน แล้วท่านจะนั่งภาวนาของท่าน ถึงเวลาบ่ายแล้วเขาจะไปทำข้อวัตร แล้วท่านก็จะนั่งต้อนรับแขกต่างๆ ตกหัวค่ำก็จะเดินจงกรม เวลาตอนเช้ามืดก็เดินจงกรม นี่เดินจงกรมตลอดนะ ทั้งๆ ที่หัวใจของท่าน ท่านรักษาของท่าน ท่านประพฤติปฏิบัติจนถึงที่สุดแห่งทุกข์แล้ว ท่านยังรักษาใจของท่านไม่ให้ปล่อยไปตามโลก

แต่เราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะรักษาใจของเราไม่ให้ปล่อยไปตามโลก ทั้งๆ ที่อยู่กับมันนะ เราอยู่กับโลก ดูสิ เราอยู่ทางโลก เราเห็นภัยในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระเป็นเจ้า บวชเป็นพระมาเพื่อประพฤติปฏิบัติ อันนี้ถ้าเราเป็นพระที่ปฏิบัติแล้วเราก็อยู่กับโลก เราก็อาศัยปัจจัยเครื่องอาศัยจากโลกเขา นี่ดำรงเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง เลี้ยงชีพด้วยธรรมและวินัยนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ เรามาบวชในธรรมวินัย บวชในธรรมวินัย เราดำรงชีพโดยธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็อยู่กับโลก แต่เรารักษาใจเราไว้ โลกเป็นโลก ธรรมเป็นธรรม ธรรมเป็นธรรมหมายความว่า เราบวชไปแล้ว เรามีศีล ๒๒๗ เราเป็นพระนะ ถ้าเรามีสติระลึกอยู่ว่าเราเป็นพระ “สมณสารูป” เพื่อรักษาใจของเรา แต่จริตนิสัย เรื่องการแสดงออกก็แสดงออกอย่างนั้นน่ะ นี่การแสดงออกตามจริตนิสัยของคน ตามจริตนิสัยใช่ไหม

แต่ถ้ามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากเข้ามาบวกด้วย ความแสดงออกตามจริตนิสัยนั่นน่ะ แต่มันมีตัณหา มันมีสมุทัย มีสิ่งทำให้เดือดร้อน แต่ถ้าเวลาชำระกิเลสสิ้นไปแล้วจากหัวใจ มันแสดงกิริยาอย่างนั้นน่ะ แต่มันไม่มีพิษไม่มีภัย มันเป็น ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา มันเป็นแค่ภาระ มันเป็นสิ่งที่เหลือ สิ่งที่เหลือเราต้องดูแลรักษาไป ดูแลรักษาไป เห็นไหม เวลาเครื่องยนต์ เวลารถเขาจอดไว้เขาต้องอุ่นเครื่องของเขา เขาต้องดูแลรักษาของเขา เวลาใช้งานของเขาใช้งานของเขาได้

ร่างกายและจิตใจก็เหมือกัน ถ้าเรามีเดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนา ร่างกายมันได้บริหารของมัน จิตใจ ดูสิ ถ้าเราภาวนาของเรา พุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา ทีนี้จิตมันสงบเข้ามาใช่ไหม มันปล่อยอะไรเข้ามา มันปล่อยธาตุขันธ์เข้ามา ถ้ามันปล่อยธาตุขันธ์เข้ามา นี่ไง เครื่องยนต์ เครื่องยนต์ ถ้ามันได้ดูแลรักษาของมัน มันจะแข็งแรง แล้วมันจะใช้ประโยชน์ของมันไปข้างหน้า ขณะที่ผู้ที่เขาพ้นจากกิเลสไปแล้ว เขายังต้องดูแลรักษาขนาดนั้น ดูแลรักษาไว้เพื่ออะไร เพื่อจะไม่ให้ลุกก็โอย นั่งก็โอย เจ็บปวดไปหมดไง มันเป็นธรรมชาติ “ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด” ร่างกายนี้ต้องชราภาพไปเป็นธรรมดา

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ พระอานนท์ละล้าละลังมาก “อานนท์ ร่างกายของเรามันก็เปรียบเหมือนเกวียนที่ชราคร่ำคร่า” แค่จะพาเกวียนนี้ไปให้ถึงฝั่งไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน นี่ชวนพระอานนท์ไปด้วยกัน ภิกษุ ๕๐๐ ตามไป สิ่งต่างๆ เห็นไหม “เราจะไปให้ถึงที่เป้าหมายเท่านั้น ไปเป้าหมาย เราจะทิ้งเกวียนเล่มนี้ไป เพราะเกวียนเล่มนี้ เราใช้เกวียนเล่มนี้มาตั้งแต่เกิด” นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทิ้งเกวียนนี้ไปนะ

แต่ของเราเราจะดูแลของเรา ดูแลของเราเพื่ออะไร? เพื่อดำรงชีวิตของเราไป ดำรงชีวิตของเรานะ ในเมื่อในเรื่องของโลกมันเป็นเรื่องอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีขึ้น มีลง เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เวลามันขึ้นนะ มีขึ้น มีลง ถ้ามีขึ้นนะ เวลาจิตใจของเรามันมีขึ้น ดูสิ ถ้าจิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ มีสติปัญญา เราจะทำสิ่งใดมันจะประสบความสำเร็จ คำว่า “สำเร็จ” สำเร็จที่ไหน งานมันก็คืองานนั่นแหละ แต่มันพอใจไง สำเร็จที่ในหัวใจของเรานี้

แต่ถ้ามันมีขาลงนะ งานก็สำเร็จแล้ว ทุกอย่างทำเรียบร้อยหมดแล้วล่ะ แต่หัวใจมันทุกข์มันร้อนน่ะ หัวใจมันดีดมันดิ้นของมัน งานก็คืองาน นี่ข้อวัตรปฏิบัติ เครื่องอยู่ของเรา ถ้ามันมีเครื่องอยู่นะ ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ “เธอจงมีธรรมเป็นเครื่องอยู่เถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด”

แล้วธรรมมันคืออะไร? นี่สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม นี่พูดถึงธรรมที่เป็นมรรคนะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปแล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์ เห็นไหม “ถึงที่สุดแห่งทุกข์” เวลาอกุปปธรรม เวลาใช้ปัญญาพิจารณาไปจนสมุจเฉทปหาน สังโยชน์มันขาดไป เห็นไหม “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” ธรรมอันนั้นเป็นธรรมความจริงนะ ศีล สมาธิ ปัญญา

สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม มันเป็นมรรค คำว่า “เป็นมรรค” สติเราก็ระลึกรู้ สมาธิเราก็ต้องดูแลรักษา ปัญญาเราก็ฝึกฝนของเรา แต่เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญา เวลามันจับต้องสิ่งใด มันพิจารณาของมันไปแล้ว เวลามันปล่อยวางๆ ปล่อยวางเป็นกุปปธรรมนะ ปล่อยวางคือปล่อยวางตทังคปหาน ปล่อยวางชั่วคราว พอปล่อยวางชั่วคราวเราต้องดูแลรักษาของเรา เราต้องมีความหมั่นเพียรของเรา

แล้วมรรค เวลามรรค เวลาจักรมันเคลื่อน ถ้าเป็นธรรมจักร จักรมันเคลื่อนคือปัญญามันเคลื่อน ถ้าปัญญามันเคลื่อนนะ มันสมดุลไปหมดนะ จับต้องสิ่งใดมันพิจารณาไปแล้วมันจะปล่อยวาง เพราะมันมีกำลังของสมาธิรองรับ มีสติ มีปัญญารองรับ จับงานสิ่งใดมันก็เป็นงานชอบ เพียรชอบ ความระลึกชอบ สติชอบ ปัญญาชอบ ความชอบธรรม เวลาธรรมจักร จักรมันเคลื่อน จักรมันหมุน เวลาปัญญามันหมุนน่ะ ทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ มีความรื่นเริง มีความอาจหาญ มีความ...นี่มรรค ผล นิพพาน อยู่แค่เอื้อมนะ หยิบจับต้องสิ่งใดจะจับได้เลย

แต่ถ้าเรารักษาของเราไม่เป็น มีขึ้น มีลง เวลามันขึ้น ทุกอย่างมันถูกต้องชอบธรรม ดีงามไปหมด เวลาขาขึ้น เวลามันลงนะ เวลามันลง ทำสิ่งใด พิจารณาสิ่งใด มันละล้าละลัง พิจารณาไปแล้วมันไม่ปล่อยไม่วาง พิจารณาไปแล้วทำไมมันเป็นอย่างนั้น แล้วรู้สึกอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย นี่เวลามันลงนะ ชีวิตของเรามันก็มีขึ้น มีลง เวลาประพฤติปฏิบัติมันก็มีขึ้น มีลง แต่มีขึ้น มีลง ถ้าเรามีสติปัญญา เรารักษาของเรา

ถ้ารักษาของเรา เวลาขาขึ้น ขาขึ้นเราก็ต้องมีสติ อย่าเหลิง อย่าทำให้มันพลาดพลั้งไป เวลาขาลง ขาลงเราก็รักษาของเราไว้ ชีวิตเราเวลามันลงนะ เวลามันทดท้อไปหมดเลย สิ่งใดมันก็มีแต่ความทุกข์ ไม่มีสิ่งใดสมความปรารถนาทั้งนั้น ทำสิ่งใดมีแต่ความทุกข์ไปทั้งนั้นเลย ความทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ที่เรามาอยู่ เรามาบวชปฏิบัติอยู่นี้ เราก็เพื่อจะต่อสู้กับมันไง

ถ้าเราจะต่อสู้กับมัน เวลาต่อสู้กับมัน ถ้ามันบีบคั้นเราเกินไปนัก เราก็กัดฟันนะ ขันติบารมี ถ้าเรามีความอดทน มีขันติบารมี เราทำสิ่งใดนะ ดูทางโลกสิ เขามีมารยาทสังคม เวลาเขาเข้าถึงสังคมเขาต้องมีมารยาทของเขา เขาต้องเก็บงำมารยาทของเขา ขณะเขาเก็บไว้ทำไม เขาเก็บไว้เพื่อมารยาทสังคม เพื่อให้เราเป็นคนดี เพื่อให้เป็นที่ชื่นชอบชื่นชมของสังคมเขา เขายังต้องเก็บงำขนาดนั้น แต่เวลาของเรา เวลามันอึดอัดขัดข้องขึ้นมาในหัวใจ เวลามันขาลง มันบีบคั้นใจทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันบีบคั้นใจ เรามีสติของเรา มีขันติธรรม

เขาบอก “ขันติธรรมมันเป็นขันติ ขันติมันคืออดทน ขันติมันไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติ ขันติมันไม่ใช่มรรค”

ขันติมันไม่ใช่มรรค มันก็ทำให้เรายับยั้งได้ รถ ถ้ามันไม่มีเบรก ดูสิ รถเวลาเขาจอดเขาก็ต้องใส่เบรกมือไว้นะ เดี๋ยวมันไหล มันไปชนคนอื่นเขา แม้แต่รถจอด รถจอดแล้วต้องไปเบรกมันทำไมล่ะ เขาเบรกไว้เพื่อรักษารถไว้ไม่ให้มันไหลครูดไป ตัวมันเองก็เสียหาย ไปทำให้คนอื่นเขาเสียหาย เวลารถเขาจะใช้ เวลาเขาติดเครื่องแล้วเขาขับไป เครื่องยนต์มันมีกำลังของมัน มันถึงวิ่งได้ มันวิ่งได้เพราะมันทำประโยชน์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันมีสมาธิ มีปัญญา มันถึงเป็นการประพฤติปฏิบัติ แล้วเราไปอดทนเฉยๆ อดทนไว้ไง ใส่เบรกมือไว้ ถ้าเราทำสิ่งใดไม่ไหว เราก็ใส่เบรกมือไว้ อย่าให้มันถูลู่ถูกังไปทำลายคนอื่นเขา มันครูดไปชนคนอื่นเขา มันไปทำคนอื่นแล้วมันเสียหายไป เห็นไหม นี่ไง เวลาจิตใจมันเสื่อม เวลามันขาลงมันฟาดงวงฟาดงานะ ความรู้สึกนึกคิดนี่มันฟาดงวงฟาดงาในใจเรา ในหัวใจนี่มันฟาดงวงฟาดงาไปหมดเลย สิ่งใดก็จับต้องไม่ได้ ไม่มีสิ่งใดถูกต้องไปสักอย่างหนึ่ง มันเดือดร้อนไปหมดเลย เห็นไหม

เรามีขันติ เรามีความอดทน ถ้ามีความขันติอดทนนะ เดี๋ยวมันจับได้ ถ้าใส่เบรกมือไว้นะ เวลาที่มันลาดชัน ถ้ารถคันไหนเขาไม่ใส่เบรกมือของเขาไว้ เดี๋ยวมันจะไหลไป ไหลไปจะไปชนคันหน้า ไหลไปมันจะมีอุบัติเหตุ นี่เหมือนกัน ถ้าเราใส่เบรกมือของเราไว้นะ เวลารถมันไหลไป มันไหลผ่านหน้าเราไป เราเห็นว่าเขากระทบกระทั่งกัน เขามีปัญหากัน เขาเป็นไปหมดเลย แต่ของเราทำไมไม่เป็นล่ะ เห็นไหม เพราะเราใส่เบรกมือเราไว้

นี่เหมือนกัน เพราะเรามีขันติธรรม เรามีขันติ เรามีความอดทนไว้ เราจะกลับมาเห็นคุณธรรม เห็นว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา เพราะเราใส่เบรกมือ เพราะเรามีขันติ มีความอดทน ถ้ามีความอดทนนะ

“อดทนมันไม่ใช่มรรค อดทนไม่ใช่มรรค”

ใช่ มันไม่ใช่มรรคหรอก แต่! แต่มันก็เป็นการประกอบกัน มันเป็นส่วนประกอบที่จะทำให้เรามั่นคง นี่มันการกระทำนะ เราก็หวังมรรค ผล นิพพาน เราทำสิ่งใดก็ต้องเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมา สิ่งใดที่ไม่เป็นมรรคเป็นผล เราจะไม่จับต้องมันเลย ไม่จับต้องมันเลย เวลามันล้มลุกคลุกคลานนะ ล้มกลิ้งล้มหงายไปนะ ไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราเลย นี่มันต้องเก็บหอมรอมริบสิ

เวลาหลวงตาท่านพูดบ่อยว่าหลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอะไร หลวงปู่มั่นน่ะพวกเราเชื่อกันว่าเป็นพระอรหันต์นะ ท่านเก็บเล็กผสมน้อย ท่านทำสิ่งใดเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่าง ขนาดว่าท่านสิ้นสุดแห่งทุกข์แล้วท่านยังเก็บเล็กผสมน้อย สิ่งใดที่ท่านไม่ก้าวล่วง ไม่ให้เป็นผลเป็นโทษเป็นภัยเลย ท่านทำเป็นตัวอย่าง นี่ขณะผู้ที่มีคุณธรรมขนาดนั้น ท่านยังทำเป็นแบบอย่าง

แล้วอย่างเรา มือเรามีบาดมีแผล จิตใจเรามีบาดแผลทั้งนั้น จิตใจเรามีสิ่งใดฝังใจไว้ทั้งนั้น แล้วเราจะไม่ดูแลรักษาใจเราเลยเหรอ ถ้าเรารักษาแล้วบอกมันไม่ใช่มรรค ไม่ใช่มรรค...อ้าว! ก็ห้ามเลือดไง ห้ามเลือดไว้ก่อน เลือดโชกในหัวใจ มันมีแต่ความทุกข์ความระทมทั้งนั้น ก็ห้ามเลือดมันไว้ ถ้าห้ามเลือดมันไว้ นี่เหมือนกัน ถ้ามันมีสิ่งใดกระทบกระเทือน เราใช้ขันติธรรม พอขันติธรรมมันเกิดขึ้น มันรู้จัก เห็นไหม รู้จักถูก รู้จักผิด ถ้าเราไม่มีขันติบารมี เราไม่ได้อดทนสิ่งใดเลย มันหลุดไป แล้วมันก็ไปกระทบกระเทือนคนอื่นทั้งนั้นน่ะ กระทบกระเทือนแล้วเราได้สิ่งใดมา นี่กรรมเกิดแล้ว ถ้ากรรมเกิดขึ้นมา นี่กรรมเกิดแล้ว

กรรมดีกรรมชั่ว กรรมดีกรรมชั่วมันก็ให้ผลทั้งนั้น มันมีบาดแผล ถ้ามีบาดแผลแล้วมันสิ่งไม่ดีเลย ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ “สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลัง สิ่งนั้นไม่ดีเลย” ถ้าสิ่งนั้นไม่ดีเลยเราก็มีสติของเราไว้ นี่ขันติธรรม ถ้ามีขันติธรรมแล้ว ถ้ามีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา นี่ไม่มีบารมี มันไม่ยอม “ขันติธรรม ขันติธรรมทำไม ทุกคนก็มีศักดิ์ศรี ทุกคนมีเสรีภาพเท่ากัน”

ใช่ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากันทุกคน แต่ในเมื่อเขาสร้างของเขามา เขาทำสิ่งใดแล้วเขาประสบความสำเร็จของเขา เขารักษาใจของเขาได้นะ แม้แต่จะหน้าชื่นอกตรมก็แล้วแต่ ดูสิ มารยาทสังคม เวลาหน้าชื่นอกตรม กิเลสมันบีบคั้นในหัวใจ แต่เขาหน้าชื่นของเขา เขาทำของเขาได้ เขาเป็นประโยชน์ของเขา

แต่ของเราล่ะ ของเรา เห็นไหม เวลามันบีบคั้นในหัวใจ เรารับรู้ของเราน่ะ เวลาทุกข์เราก็รู้ว่าเราทุกข์ แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา นี่เรามาเผชิญหน้ากับมัน ก็เราบวชมาเราจะแก้ไข เราบวชมา เราต้องการอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราจะภาวนาของเรา เราจะวิปัสสนาของเรา เราจะตีแผ่อริยสัจ เห็นไหม จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ จิตนี้มันไม่ได้ฝึกไม่ได้ฝนมา จิตนี้ ดูสิ ดูสัตว์สิ เวลาสัตว์ที่มันไม่ได้ฝึกได้ฝนมา ควายตู้ ถ้ามันไม่พอใจมันขวิดคนตายหมดนะ มันไม่ได้ฝึกไม่ได้หัดมา มันไม่รู้อะไรผิดอะไรถูก

แต่ถ้ามันได้ฝึกได้หัดมา มันได้ฝึกหัดมา มันจะมีสติปัญญา มันจะรู้ถูกรู้ผิด ถ้ามันทำผิด เห็นไหม ดูสิตาเศร้าเลยน่ะ ทำผิดไว้แล้ว แต่เพราะอารมณ์ชั่ววูบมันบังคับบัญชาไม่ได้ ได้ทำลายไปแล้ว ยืนคอตกนะ เห็นไหม เพราะได้ฝึกมันแล้ว แต่ถ้าไม่ได้ฝึก มันขวิดแล้วมันจะขวิดต่อ มันไม่ยอมรับใครทั้งสิ้น นี่สัตว์ที่มันได้ฝึกมาแล้ว

จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ ถ้ามันกลั่นออกมาจากอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มันได้สติ ได้มีปัญญาของมัน พิจารณาของมัน ทุกข์มันคืออะไรล่ะ? ทุกข์มันอยู่ที่ไหน? อาบเหงื่อต่างน้ำ มันอาชีพเขา อาชีพของเขา อาชีพของคน คนเขาทำกรรมกรแบกหาม มันอาชีพเขา เขาทำมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แล้วอย่างนั้นเป็นทุกข์ไหม ถ้าจิตมันมีสติปัญญา มันพิจารณามา มันเศร้าใจเท่านั้นเอง

นี่ไง เวลาไปเที่ยวป่าช้า ไปดูซากศพ ดูซากศพเพราะอะไร เราก็ต้องตาย ไอ้ซากศพเดินได้อยู่นี่ เพราะมันมีชีวิตจิตใจอยู่นี่มันก็เดินอยู่ จิตออกจากร่างมันก็นอนเหมือนเขานั่นแหละ นี่เหมือนกัน เวลาเขาทุกข์เขายาก เขาอาบเหงื่อต่างน้ำมีความทุกข์ๆ มันเป็นจริงเหรอ มันเป็นความจริง มันอาชีพเขา แต่ถ้าเราล่ะ เวลาทุกข์มันทุกข์ที่ไหน เราค้นหาไม่เจอนะ ถ้าเราค้นหาไม่เจอ เราภาวนาไม่ได้ เราเริ่มต้นไม่ถูก แต่ถ้าเราค้นหาเราเจอนะ สิ่งใดเป็นทุกข์ล่ะ

แม้แต่ในครอบครัวเดียวกันนะ เวลาพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ให้กำลังใจกันทั้งนั้นน่ะ เวลาเราเจ็บไข้ได้ป่วย เขาก็ดูแลเราทั้งนั้นน่ะ ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันเป็นเวรเป็นกรรมของคน คนคนนั้นเขาเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็ต้องมีสติปัญญาของเขา ดูสิ เวลาเราเป็นหมอนะ เรารักษาคนไข้ไปหมดเลย เวลาเราป่วยขึ้นมา เราอ่อนแอไปเอง เวลาเราไปเป็นหมอนะ เวลาคนไข้มานะ ต้องมีกำลังใจนะ ต้องตั้งใจนะ ถ้าทำตามหมอแล้วมันจะหายง่าย แต่เวลาเราเป็นขึ้นมาเองนะ ใจแป้วเลย นี่เวลาเป็นกับเรา เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อที่มันทุกข์ทุกข์มันเป็นของเรา ใครมีสติปัญญา แล้วสติปัญญาของใครล่ะ ทุกคนก็หมายมั่นปั้นมือ ทุกคนก็หมายว่าอยากจะให้ทุกคนพ้นจากทุกข์ทั้งนั้นน่ะ เวลาเรามีการศึกษา เราเรียนต้องจบนะ พอจบแล้วเราจะไปทำหน้าที่การงานของเรา นี่จบแล้วมันเป็นปริยัติ

แต่เวลาเราปฏิบัติล่ะ เวลาเราปฏิบัติเราจะปฏิบัติอย่างไร เราจะทำของเราขึ้นมาได้ไหม เห็นไหม เวลาปฏิบัติ เวลาเรามีการศึกษา เราศึกษา เห็นไหม โรงเรียนเขาตั้งไว้แล้ว ตำราเขาก็มีอยู่แล้ว ครูเขาก็สอนตามตำรานั้น ให้เราพ้นเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไปจนกว่าการศึกษาเราจะจบ แต่เวลาเราปฏิบัตินะ เราหาเอง นะ...กระดาษก็ต้องหาเอง หมึกก็ต้องหาเอง ปากกาต้องหาเอง อุปกรณ์การศึกษาเราต้องหาทั้งนั้น สติมันอยู่ที่ไหน สมาธิมันอยู่ที่ไหน แล้วห้องเรียนมันอยู่ที่ไหน

ถ้าห้องเรียนเรียนที่ไหนล่ะ ตามตำรานะ เขาก็บอก ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วศีล สมาธิ ปัญญา มันเป็นอย่างไร มันค้นหาจากที่ไหน เขาก็บอกกันทั้งนั้นน่ะ เวลามันแบบว่าคว้าวัตถุในอากาศ สิ่งใดจับต้องไปมันเป็นนามธรรม เป็นอากาศ ไม่มีสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ ถ้าเราตั้งสติ นี่ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้นน่ะ จับต้นชนปลายไม่ถูก ทั้งๆ ที่ว่าตัวเองก็รู้นะ ชื่อเสียงรู้หมด ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคนี่รู้หมด ศึกษามาตามตำรารู้หมดน่ะ แต่จับต้นชนปลายไม่ถูก

ถ้าจับต้นชนปลายไม่ถูก เราเริ่มตั้งสติแล้วใจเย็นๆ พุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ เวลาจิตมันเริ่มสงบเข้ามา ถ้ามีสติมันก็ทำเป็นชิ้นเป็นอัน เวลาสติเราเป็นชิ้นเป็นอันนะ นี่มันจับต้อง มันจับแล้ว นี่อาการของใจ ความรู้สึกของอารมณ์ จิตมันเริ่มมีที่ยึดมั่น เริ่มมีสติ กำหนดพุทโธ จิตมันเริ่มเกาะ ถ้ามันเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา มันจะเห็นผลงานของมันขึ้นมา อุปกรณ์การศึกษา ทางโลกเขามี โรงเรียนเขาให้เรียนฟรีด้วย นี้มีอุปกรณ์ ทุกอย่างเขาหาให้หมด

แต่ของเราล่ะ เราจะหามาจากไหน ครูบาอาจารย์ท่านพูดก็เป็นสมบัติของท่าน ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ท่านทุกข์มาก่อนทั้งนั้นน่ะ นี่เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมานะ มันต้องผิดต้องถูกมาทั้งนั้นน่ะ เวลาผิด ผิดเป็นอย่างไร เวลาถูก ถูกเป็นอย่างไร แล้วเวลาผิด เวลามันเกิดทิฏฐิ ไม่ยอมรับผิด มันจะให้ผิดเป็นถูก เวลากิเลสมันขี่บนหัวนะ มันจะให้ผิดเป็นถูกนะ มันว่าที่ทำสิ่งนั้นมันเป็นความถูกต้องๆ เพราะมันทำมากับมือ นี่ไง เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกไง ใช่..เราเห็นจริง แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่จริง

ฉะนั้น เวลาเกิดทิฏฐิมานะขึ้นมา มันสิ่งที่เป็นผิดมันจะให้เป็นถูก แล้วมันเป็นถูกไปไม่ได้ เป็นถูกไปไม่ได้หรอก เพราะว่ามันเป็นตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นเรื่องของมาร มันเป็นเรื่องของกิเลส มันคว่ำกินหงายกินในใจเราอยู่แล้ว โดยปกตินะ มันก็ขี่หัวใจเราอยู่แล้ว แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ยังจะให้กิเลสมันมาอ้างอิงธรรมะว่าเป็นตามที่มันพอใจอีก สิ่งนั้นมันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างไร

เวลามีขึ้น มีลงนะ เวลามันลง มันลงไปมันก็มีความทุกข์ความยากของมัน แต่นี่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันอ้างธรรม นี่กิเลสมันบังเงานะ กิเลสโดยเนื้อหาของมัน มันก็เป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นมารที่ครอบคลุมหัวใจเราอยู่แล้ว มันยังเอาธรรมะมาอ้าง อ้างว่ามันเป็นผู้ประเสริฐ มันเป็นธรรม มันเป็นสิ่งที่พอใจ ทั้งๆ ที่มันลงนะ ขาลงขึ้นมามันยังพลิกขึ้นมาว่ามันเป็นความจริง นี่ไง เวลาเราน้อยเนื้อต่ำใจ เราประชดชีวิตก็เพราะเหตุนี้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติไป เวลามันไม่มีกำลังใจ มันก็เป็นด้วยเหตุนี้

แต่ถ้าเรามีขันติ ขันตินะ จับอารมณ์ความรู้สึก จับสิ่งที่มันอ้างอิง สิ่งที่ว่ามันบังเงาๆ บังเงาคือมันเอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นประโยชน์กับมัน ฉะนั้น เราวางไว้ สิ่งใดเป็นธรรม สิ่งใดไม่เป็นธรรม มันจะเกิดกับเรา ถ้าเป็นธรรมจริงนะ มันจะมีความสงบร่มเย็น ถ้ามันสงบร่มเย็นได้ สิ่งนั้นมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เรามีสติดูแล

ถ้ามันสติดูแล ดูแล เห็นไหม จิตนี้เป็นนามธรรม มันต้องอาศัยเกาะนะ เราถึงต้องมีพุทโธๆ ให้มันเกาะไว้ ถ้ามันเกาะสิ่งนี้ไว้ มันพุทโธๆ จนมันพุทโธไม่ได้ สิ่งที่นามธรรม เพราะพุทโธเราก็นึกขึ้นมาเหมือนกัน เรานึกขึ้นมา เรามีสติ เราระลึกรู้ พุทโธๆๆ ถ้ามันระลึกไม่ได้ มันเป็นตัวจริงนะ ตัวจริงคือจิตที่มันตั้งมั่น ถ้าจิตมันมีที่ตั้งมั่น เวลามันลงมันก็ทำให้เราทดท้อ เวลามันตั้งมั่น เพราะมันเป็นที่เวลาที่มันขึ้นเหรอ? ไม่ใช่ เป็นเวลาที่มันเป็นความจริง ถ้ามันเป็นความจริงนะ สมาธิมันเกิดที่ไหน สมาธิมันเกิดบนหัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ

สมาธิ สิ่งที่เป็นธรรมๆ มันจะเกิดมาจากไหนล่ะ สิ่งที่เป็นวัตถุมันไม่มีชีวิต มันรับรู้สิ่งใดไม่ได้ สิ่งที่มีชีวิต เห็นไหม ดวงใจของเราเวลามันสุขมันทุกข์ แล้วเวลามันรับรู้ได้ไง เวลามันรับรู้ได้ มันถึงบอกว่า หลวงตาท่านถึงพูดว่า “สิ่งที่จะสัมผัสธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือหัวใจของสัตว์โลก”

หัวใจของสัตว์โลกมันระลึกรู้ แล้วมันสัมผัสของมัน ถ้ามันสัมผัสของมัน ถ้ามันสัมผัส สัมผัสที่สมาธิธรรม เพราะจิตมันสงบระงับเข้ามา จิตมันสงบต่างๆ เข้ามา มันสงบ เวลามันฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านจากความรู้สึกนึกคิด เวลามันบีบบี้สีไฟในหัวใจ มันก็ความรู้สึกนึกคิด มันไปเอาสิ่งที่มันพอใจขึ้นมาเป็นโทษมาเหยียบย่ำทำลายหัวใจของตัว เวลาพุทโธๆ มันก็เป็นความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน แต่เพราะมันมีสติ มีบารมี มีขันติธรรม มีบารมีธรรม สิ่งที่เราพยายามต่อสู้ขัดขืนกับมัน ขัดขืนนะ มันจะคิด มันจะแฉลบไปทางอื่น เราไม่ยอมไปกับมัน เราให้มันกำหนดพุทโธไว้ เรามีสติยับยั้งมันไว้ เหนี่ยวรั้งสิ่งนี้ไว้ นี่มันก็เป็นของมันขึ้นมาได้ มันเป็นของมันขึ้นมาเพราะเหตุผล

“เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม” ในเมื่อมันมีเหตุมีผล มีสติปัญญา มันดูแลของมัน พุทโธๆๆ จนมันพุทโธไม่ได้ มันพุทโธไม่ได้ มันก็เป็นเนื้อหาสาระเป็นข้อเท็จจริง คือจิตมันมีสติปัญญา มันรับรู้ไง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นสัญญาอารมณ์นะ เราเข้าใจว่าว่างๆ ว่างๆ ก็อยู่อย่างนั้นน่ะ ว่างๆ เห็นไหม เราคิดให้มันว่าง มันก็เป็นสัญญาอารมณ์นะ เวลาเรานึกพุทโธ เราก็ระลึกเราใช่ไหม เราระลึกว่ามันว่าง นี่มันจะชะแวบไปเราก็ไม่ให้มันไปไหน มันอยู่ที่ว่าง

มันอยู่ที่ว่าง แล้วว่างนั้นเป็นอย่างไร? มันหายไป ว่างนั้นมันหายไป เพราะมันไม่มีข้อเท็จจริง มันไม่มีเนื้อของจิต มันไม่มีเนื้อของสมาธิไง มันว่างๆ เพราะตัวจิตมันก็เป็นอัตตา เป็นพลังงานอันนั้น เวลามันส่งออกมาก็ส่งออกที่ว่างๆ นี่มันขาดช่วงกันไป แต่เราอาศัยสัญญาอารมณ์ พุทโธๆๆ มันสะเทือนถึงใจ เพราะมันเป็นกระแสที่ออกมาจากใจ พุทโธๆๆๆ แต่พอมันพุทโธจนมันพุทโธไม่ได้

นี่ไง พลังงานมันพุทโธจนมันยืนตัวของมันได้ มันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นสติระลึกรู้ตลอดเวลา มันเป็นจริงขึ้นมา พอเป็นจริงขึ้นมา เรารู้ของเราขึ้นมา มันบังเงาไม่ได้ กิเลสมันบังเงาไม่ได้ ถ้ากิเลสมันบังเงา มันอ้างอิง แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นความจริงขึ้นมา มันความจริงอย่างนี้ นี่ไง สัจธรรม

สัจธรรม ถ้าจิตมันสงบเป็นสัจธรรม เวลาจิตมันขาดจากสัจธรรมอันนี้ เพราะมันไม่มีจุดยืนอันนี้ มันถึงมีขึ้น มีลง มีขึ้น มีลง ตามสัญญาอารมณ์ มีขึ้น มีลง ตามอนิจจัง มีขึ้น มีลง โดยแรงโน้มถ่วง โดยโลก โดยวัฏฏะ มันมีขึ้นมีลง ชีวิตนี้เหมือนสวะลอยไปตามน้ำ แล้วแต่กิเลสมันจะพาไป เห็นไหม

เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เรามาบวชเป็นพระ เรามีข้อวัตรของเรา อย่างเช่น วันนี้เรามาลงอุโบสถกัน เรามีขอบมีเขต เรามีเวล่ำเวลาของเรา ถึงเวลาเราลงอุโบสถของเรา เราเข้าหมู่ เราเข้าหมู่มาทำสังฆกรรมร่วมกัน เวลาเราฟังธรรมฟังธรรมร่วมกัน ธรรม สัจธรรมมีหนึ่งเดียว จิตของเรามันจะมีจริตนิสัยมาอย่างไรก็แล้วแต่ มันจะประณีตบรรจงมาขนาดไหน มันจะหยาบ มันจะกระด้างมาขนาดไหน จิตของใครของมัน

แต่เวลาถ้าทำความสงบของใจ ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะเข้าสู่หลักอันนี้ หลักของมันคือมันจะเข้าไปสู่สถานที่ทำงาน นักเรียนนักศึกษาเขาต้องมีอุปกรณ์การเรียนของเขา เราประพฤติปฏิบัติ เรามีร่างกาย เราบวชเป็นพระ เป็นสมมุติสงฆ์ เรามีร้าน เรามีทางจงกรม เราประพฤติปฏิบัติของเรา นี่มันเป็นเรื่องของร่างกาย ร่างกายต้องอาศัยปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยนี้หาอาหารมาเพื่อดำรงชีวิตไว้ แต่เวลาสติขึ้นมาล่ะ เราปฏิบัติขึ้นมา เราต้องมีสติ มีสมาธิ แล้วถ้ามันเกิดปัญญา เราฝึกฝน หัดออกใช้ปัญญา

ถ้ามันออกใช้ปัญญานะ ปัญญาในการแยกแยะ ในการดูแล ดูแลหัวใจของเรา ถ้าเราดูแลหัวใจของเรานะ เราดูแลด้วยปัญญาแยกแยะ เราจะเห็นคุณค่า พอมันเห็นคุณค่านะ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยเราเห็นคุณค่าหมดเลย เพราะธรรมวินัยเป็นเครื่องประกอบให้เรายืนตัวขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีธรรมวินัย เราปล่อยใจเราเร่ร่อน ถ้าใจเร่ร่อน เราจะประกอบอะไรมาควบคุมมันล่ะ นี่ควบคุมมัน เห็นไหม ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ วางไว้แบบนี้ วางไว้ให้เป็นกรอบ เป็นพิธีกรรม

ดูสิ วัจกุฏีวัตร วัตรในโรงธรรม มีข้อวัตรปฏิบัติทั้งหมด วัตรปฏิบัตินั้นเป็นเครื่องวัด เห็นไหม เครื่องวัดว่าเราต้องทำอย่างใด ถ้าเรารู้แล้วว่าเราทำอย่างใด เราทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อหัวใจดวงนี้ไง มันเป็นคุณธรรมในใจ ถ้าใจของเรา เราทำสิ่งใดทุกอย่างถูกต้องชอบธรรมแล้ว เราองอาจกล้าหาญ เราทำสิ่งใดก็ได้ เราจะเข้าสังคมไหนก็ได้

แต่ถ้าเราไม่ทำสิ่งใดเลย หลบๆ หลีกๆ แม้แต่เราก็รู้ เราก็รู้ นี่เวลามันบังเงา บังเงาทางนามธรรม บังเงาในข้อวัตรปฏิบัติอันหนึ่งนะ บังเงาในเรื่องโลกๆ มันก็บังเงาของมัน นี่ไง ถ้าจิตใจอย่างนี้มันจะประพฤติปฏิบัติอย่างไร มันไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้ามันซื่อสัตย์กับตัวเอง สุภาพบุรุษถ้ามันซื่อสัตย์กับตัวเอง ถ้ากิเลสมันจะทิ่มตำตรงไหน เรามีสติปัญญารู้ทันมัน

แต่ถ้าเราไม่ได้เคยฝึกหัดเลย เวลามันหลบหลีกอย่างไร เราพอใจไง เวลาเป็นกิเลสมันพอใจนะ ว่าทำสิ่งนั้นแล้วมันได้ประโยชน์ แต่เวลาเขาตีเหล็กนะ เหล็กนี่เขาต้องเผาจนแดง พอเหล็กมันแดงได้ที่ เขาจะตีมันๆ ตีเหล็กมัน นี่ก็เหมือนกัน ข้อวัตรปฏิบัติถ้าเราหลบเราหลีก เราจะดูแลหัวใจของเรา แต่เราไม่กล้าเอาหัวใจ ไม่กล้าเอาเหล็กนั้นเผาไฟ ถ้าไม่กล้าเอาเหล็กมาเผาไฟ เราจะตีเหล็กนั้นให้มันเป็นสิ่งที่เราสมความปรารถนาอย่างใด

แต่ถ้าเราจะตีเหล็กของเรา เราจะดูแลหัวใจของเรา ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม ตบะธรรมมันจะแผดเผา แผดเผาให้ใจเหมือนเหล็กที่แดงขึ้นมา เราจะขึ้นรูปอย่างไรก็ได้ เราจะตีให้มันเป็นอย่างใดก็ได้ ถ้าเราตี ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเรามีความประณีต ถ้าเราทำของเราได้ เราจะตีหัวใจของเรา เราจะดูแลหัวใจของเราให้สมความปรารถนาของเรา

ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราทำอย่างนี้ได้ มันเป็นประโยชน์กับใครล่ะ? มันเป็นประโยชน์กับตัวเรา เห็นไหม ฉะนั้น ถ้ามันเป็นประโยชน์กับตัวเรา ทีนี้คำว่า “ประโยชน์” ประโยชน์เราเห็น ประโยชน์เราได้สัมผัส แต่เวลากิเลสมันขี่หัวนะ จิตใจของเรา ชีวิตของเรามันมีขึ้นมีลงนะ มันไม่มีใครแพ้ตลอดไป แล้วมันก็ไม่มีใครชนะตลอดไปหรอก

ดูสิ ขนาดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังต้องปรินิพพานไป คำว่า “ปรินิพพานไป” ชีวิตนี้มันชราคร่ำคร่า มันอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ ถ้ามันอยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ ถึงเวลาแล้วเราต้องจากมันไป ถ้าจากมันไป นี่ไง มันไม่มีใครชนะตลอดไปหรอก แต่หัวใจของเราถ้าเราดูแลของเรา เราทำของเราให้เป็นอกุปปธรรม คำว่า “อกุปปธรรม” มันพ้นจากอนัตตา มันพ้นจากไตรลักษณ์ มันพ้นจากการครอบงำของวัฏฏะ มันพ้นจากการครอบงำของพญามาร

ฉะนั้น ถ้าชีวิต ถ้าเรายังอยู่ในสมมุติ มันไม่มีใครแพ้ตลอดไป และไม่มีใครชนะตลอดไป ไม่มี นี่อนิจจังทั้งหมด ผลของวัฏฏะมันเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ไม่มีอะไรสิ่งใดคงที่เลย ร่างกายนี้คงที่ไม่มี มันต้องชราคร่ำคร่าไปเป็นธรรมดา แต่หัวใจสิ หัวใจที่มันทุกข์ยากอยู่นี่ ถ้าเรามีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาวิเคราะห์วิจัย เข้ามาพิจารณาของเรา มันจะเป็นวิปัสสนาญาณ วิปัสสนาคือการชำระกิเลส สมถะคือการทำความสงบให้มีกำลังขึ้นมา ให้จับต้อง สมถะนี้เข้าไปจับต้องกิเลส นี่ปัญญาจะเข้าไปฟาดฟันกับมัน ถ้าไปฟาดฟันกับมัน มันต้องใช้ปัญญาเข้าไปฟาดฟันกับมัน มันถึงจะเห็นโทษ มันถึงจะเห็นความจริงขึ้นมา

เห็นโทษ โทษเพราะอะไร โทษเพราะสิ่งนี้มันไม่เป็นความจริงสักอย่างหนึ่ง มันจะดีขนาดไหน สัมมาสมาธิ มีสมาธิขึ้นมามันก็เป็นอนิจจัง มันใต้กฎของไตรลักษณ์ทั้งหมด สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา การกระทำของเรามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่มันเปลี่ยนแปลงมันเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีสิ เปลี่ยนแปลงในทางที่เห็นกิเลสความตัณหาทะยานอยาก แล้วจับต้องมันมาพิจารณา ฆ่า ทำลายมัน ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไปโดยมันเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของมันอยู่แล้วใช่ไหม เปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่มีสิ่งใดเป็นประโยชน์กับเราเลย

ดูสิ วันคืนล่วงไปๆ เราได้อะไรจากประโยชน์จากวันคืนล่วงไปๆ เราได้แต่อายุขัยไง อายุที่เราได้มาคือวันเวลาที่เราเสียไป วันเวลาที่เราเสียไป เราควรจะมีสิ่งใดเป็นประสบการณ์ของชีวิตนี้บ้าง ถ้าประสบการณ์ชีวิตนะ ดูสิ แค่วันคืนล่วงไปๆ เราใช้ชีวิตประจำวัน เราเห็นสิ่งใดว่าที่มันผ่านเวลานั้นไป เราเสียอะไรไปบ้าง นี่อายุขัยมันมากขึ้นมานะ แล้วเรียกกลับคืนมาไม่ได้ ถ้าเราเห็นของมันอย่างนั้น แล้วเราเห็นเรื่องเป็นอย่างนี้ เราถึงใช้สติปัญญารักษาแล้วดูแลใจ พัฒนาใจ เอาใจมาดูแลนะ

ฉะนั้น มันมีขึ้น มีลง เราอย่าเสียใจ ถ้าคำว่ามีขึ้น มีลง เวลามันดี เราก็ดีใจกับมัน เราก็อยู่กับมัน เราก็เพลิดเพลินไปกับมัน แต่เวลามันถึงคราวมันทุกข์มันยากขึ้นมาล่ะ ดูฤดูกาลมันเปลี่ยนแปลง น้ำท่า ถ้าน้ำมันมีมาพอสมควร มันเป็นความพอดี เราก็ทำไร่ทำนาด้วยความอุดมสมบูรณ์ ถ้ามันแล้ง มันก็ทำได้แต่ในที่ลุ่ม ถ้าน้ำท่ามันมากเกินไป เขาก็ทำดีในที่ดอน ที่ลุ่มมันน้ำท่วมหมด นี่มันไม่มีสิ่งใดที่มันจะสมความปรารถนาของคนไปทั้งนั้นน่ะ ทุกคนปรารถนาให้มันพอดีไปหมด ให้มันดีงามไปหมด แต่ความดีงามของใครล่ะ

ความดีงามนะ ความดีงามของใคร ใครสร้างเวรสร้างกรรมมาขนาดไหน นั่นเป็นผลของวัฏฏะนะ นั่นเป็นผลของโลก ถ้าผลของวัฏฏะย้อนกลับมาที่เรา เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ผลของวัฏฏะ ผลของวัฏฏะ มีเวรมีกรรมขึ้นมามันถึงเกิดขึ้นมา แต่เกิดขึ้นมาแล้วทำหน้าที่การงาน ทุกคนจะรู้

เวลาเราไปทำหน้าที่การงาน เราต้องไปเผชิญกับสังคม ในสังคมนั้นความคิดแตกต่างหลากหลาย เราอยู่กับสังคมนั้น ยิ่งที่ผู้บริหารเขาจะต้องสมาน เขาต้องทำให้งานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ ความรู้สึกนึกคิดของคนร้อยแปดพันเก้า ในองค์กรองค์กรหนึ่ง เราจะต้องขับเคลื่อนองค์กรนั้นไป แล้วทำไมเราต้องมาแบกรับภาระเรื่องอย่างนี้ เราแบกรับภาระเรื่องอย่างนี้เพราะเราอยากประสบความสำเร็จไง เราอยากได้ผลประโยชน์ไง เราก็ต้องให้มันสำเร็จไป นี่เรื่องของโลกนะ

แต่ถ้าเรื่องของเรา นี่ผลของวัฏฏะ เราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แต่เราเห็นโทษของมัน การบริหารจัดการทางโลกกับการบริหารจัดการในหัวใจของเรา ทุกคนบอกว่า ทุกอย่างมีพร้อมแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา มีพร้อมอยู่แล้ว ขาดแต่การบริหารจัดการ แล้วกิเลสมันก็สอดเข้ามาไง กิเลสมันก็จะมาบริหารจัดการในชีวิตของพระเราไง ถ้ากิเลสมันเข้ามาบริหารจัดการ มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ไง ถ้าเรื่องโลกๆ มันก็ไม่ใช่ธรรม เรื่องโลกๆ มันก็เป็นเรื่องการตลาด เรื่องของการประชาสัมพันธ์

แต่ถ้าเรื่องของธรรม เรื่องของธรรมมันเป็นการเอาชนะตนเอง มันเอาชนะหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเราที่มันเดือดมันร้อน มันทุกข์มันยากอยู่นี่ ถ้าเป็นเรื่องของธรรมนะ ที่ไหนมีทุกข์ ที่นั่นนะ มีทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ พอละแล้ว ถ้าทุกข์นั้นมันได้ชำระล้างไปจากใจดวงนั้นแล้ว นั่นล่ะเป็นผลประโยชน์ของใจดวงนั้น นี่เป็นธรรม เพราะมันเป็นเรื่องความสุขความทุกข์จากภายใน ถ้าเป็นเรื่องความสุขความทุกข์จากภายใน ถ้ามันมีความสุขจากหัวใจ จะอยู่บนกองไฟมันก็มีความสุข จะอยู่ที่ไหนมันก็อยู่ของมันได้

แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของการตลาดใช่ไหม ถ้าต่อหน้าเขาเราก็ทำอย่างนั้น ลับหลังเขาไปมันไม่เป็นแบบนั้นน่ะ มันไม่เป็นแบบความจริงที่ตรึกอยู่ต่อหน้าสังคม แล้วเราบอกว่าสิ่งนั้นเป็นสุขๆ แต่ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมานะ นี่อยู่ลับหลังเขาก็เป็นสุข อยู่ต่อหน้าเขายิ่งไม่ยุ่งกับเขาเลย เพราะสิ่งนั้นมันจะชักนำให้เราเป็นไป ให้เราไปเป็นโลกไง

เราเกิดมากับโลก เราปฏิเสธโลกไม่ได้หรอก ที่เราอยู่กันนี้นะ ดูสิ เราหายใจอยู่นี่ ออกซิเจนมันมาจากไหน เวลาบิณฑบาตมาเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นน่ะ เพราะชีวิตนี้มันเกิดมาจากโลก แต่โลก เห็นไหม เราเอาโลกนี้มาประพฤติปฏิบัติ เพราะเราเกิดมาเป็นโลก แล้วเรามาบวชเป็นพระ บวชเป็นพระเพราะเราต้องการโอกาส บวชเป็นพระเพราะทางที่กว้างขวาง

นี่สมณะมีทางกว้างขวาง ๒๔ ชั่วโมง เราภาวนาได้ตลอดนะ ๒๔ ชั่วโมง โลกเขาทำกับเราไม่ได้ โลกเขามีหน้าที่การงานของเขา เขาต้องทำมาหากินของเขา เขาต้องรับผิดชอบของเขา ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะเขาต้องเจียดเวลามาเพื่อจะหาอริยทรัพย์ เจียดเวลามาเพื่อภาวนา เจียดเวลามาเพื่อจะทำแบบเรา แล้วตอนนี้เรามาอยู่ในโอกาสที่เราเป็นผู้ที่ทางที่กว้างขวาง

เราอยู่กับโลกเพราะมีข้อวัตรปฏิบัติ ระหว่างคฤหัสถ์กับภิกษุเรา ภิกษุ คฤหัสถ์ เห็นไหม คนศีลต่างกัน ทุกอย่างต่างกัน สมณสารูปแตกต่างกัน เราอยู่กับโลกเราก็ดูแลรักษาของเรา รักษาด้วยชีวิต สมมุตินี่ แต่ถ้าเราดูแลใจของเรา เราจะเป็นธรรม ถ้าเราเป็นธรรมขึ้นมาได้ มันจะไม่มีขึ้นมีลงไง

เวลามันมีขึ้น มีลงนะ เราก็ละล้าละลังไปกับความรู้สึกนึกคิดของเรา เวลาจิตมันดีขึ้นมา เวลาจิตมันสงบระงับเข้ามา แล้วเราใช้ปัญญาของเราแยกแยะ สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ถ้าสิ่งใดถูกขึ้นมา เรารีบบริหารจัดการของเรา สิ่งใดถูก เห็นไหม เวลาขาขึ้น สิ่งใดเป็นประโยชน์ เราพยายามเก็บตักตวงไว้ให้ใจเราได้สัมผัสสิ่งนั้นให้เป็นพยาน

นี่อกาลิโก ไม่ใช่กาล ไม่ใช่เวลา เวลามันจะเกิดไม่มีกาล ไม่มีเวลา มันมาของมัน มันทำของมันเป็นความจริงของมัน เห็นไหม อกาลิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม นี่อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา เวลาจิตของเรามันดี ตักตวงสิ่งนี้ให้มันเป็นปัจจัตตัง ให้มันเป็นพยานกับใจเราว่าสัจธรรมมันมี ศีล สมาธิ ปัญญา เคยทำจิตใจของเราให้ร่มเย็น แล้วเวลาอยู่กับโลก อยู่กับไฟเขา เวลามันขาลง อยู่กับโลก อยู่กับไฟ โลกทั้งนั้น เวลาจิตใจมันอยู่ขาลงนี่ โลกเขาก็ทำได้ โลกเขาก็มีเวลาของเขา เราทำไมต้องทุกข์ต้องยากอย่างนี้ เราไปอยู่กับโลกดีกว่า เห็นไหม นี่ทางคับแคบ

พอไปอยู่กับโลก อยู่กับโลกเขา เวลาไปตรากตรำไปทำงานเข้า “แหม! ไม่มีเวลาปฏิบัติเลย” เห็นไหม อยากจะมาปฏิบัติ เวลามาปฏิบัติน่ะทางกว้างขวางก็ไม่ขวนขวาย ทางกว้างขวาง โอกาสของเรามีแล้วเราต้องขวนขวาย พยายามทำกับเรา ไม่ให้มีขึ้น มีลง ทำความสม่ำเสมอ

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย การปฏิบัติที่ไม่ได้ผลคือขาดความสม่ำเสมอ คือความเสมอต้นเสมอปลาย การปฏิบัติสม่ำเสมอ ถ้าเราปฏิบัติสม่ำเสมอ ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า อย่างน้อย ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี อย่างน้อยได้อนาคามี เห็นไหม ถ้าเรามีความเสมอต้นเสมอปลาย แล้วเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเรา รักษาใจของเรา ดูแลใจของเรา นี่เข้มงวดกับมัน จะตีเหล็ก จะเผาเหล็กนี้ให้แดงๆ แล้วจะตีขึ้นรูป ศีล สมาธิ ปัญญา ใช้ใคร่ครวญมาเพื่อประโยชน์กับใจดวงนี้

ถ้าหัวใจมีสม่ำเสมอแล้วเราจะอยู่ของเราได้ ถ้าหัวใจมีขึ้นมีลงนะ ขึ้นก็มีความสุข ลงก็มีความทุกข์ ถ้ามีขึ้น มีลง ฤดูกาลมันยังเปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งในโลกนี้มันเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น รักษาใจของเราให้มั่นคงอยู่กับใจของเรา ด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย เอวัง