เทศน์เช้า วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้วันพืชมงคลเนาะ วันพืชมงคลเขาแรกนาขวัญ เห็นไหม ต้องเสี่ยงทาย เสี่ยงทายเพื่อความอบอุ่น ความมั่นคง ความมั่นคงทางจิตใจนะ เพราะเสี่ยงทายแล้วถ้าโคกินข้าว กินน้ำ กินต่างๆ มันเป็นความอุดมสมบูรณ์ แล้วเขาทำไร่ทำนาเพื่อเป็นอาหารของร่างกาย ขนาดทำเป็นอาหารของร่างกายนะเขายังต้องพยายามทำเพื่อประโยชน์ ในปัจจัยเครื่องอาศัยของโลก เราก็มีของเรา เราจะขาดตกบกพร่องบ้างเป็นบางครั้งบางคราว ถ้าบางครั้งบางคราวนะเราก็แสวงหาของเรา สิ่งนี้เป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม เรามีแก้ว แหวน เงิน ทองเยอะแยะ แต่ถ้าเวลาสินค้ามันหมดก็คือมันหมด ฉะนั้น เราต้องบริหารจัดการของเรา
นี้พูดถึงเรื่องของปัจจัยเครื่องอาศัย เรื่องของร่างกาย แต่เรื่องของหัวใจล่ะ? เรามาวัดนะ เรามาประพฤติปฏิบัติ ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม นาของใครนาของมันไง นาของเราคือหัวใจของเราไง เราต้องดูแลหัวใจของเรา ถ้าเราไม่ดูแลหัวใจของเรา เราจะไปดูแลหัวใจใคร? แล้วเวลาประพฤติปฏิบัตินะ เวลาเราอยู่บ้านอยู่เรือนทำหน้าที่การงาน เราก็อยากจะมีเวลาไปวัด ไปวาเพื่อปฏิบัติ แล้วพอมาวัดมาวานะ เราเคยมีพระมาอยู่กับเรา พอมาอยู่กับเรานะเขาบอกว่า
อยู่กับหลวงพ่อดีไปทุกอย่างเลย เสียอย่างเดียว เวลามันเหลือเฟือเกินไป
เวลา ๒๔ ชั่วโมง เห็นไหม ถ้าเราไปที่วัดทั่วไปเขาจะพาพระทำงาน พาพระต่างๆ เพราะเป็นประโยชน์ของเขา เขาดูแลของเขา แต่ถ้าเวลาพระปฏิบัติ ครูบาอาจารย์นะ ดูสิหลวงตาท่านบอกว่าไม่ให้มีงานมีการในวัดเราเลย ในวัดบ้านตาดท่านจะไม่ให้มีงานมีการ เว้นไว้แต่เวร เว้นไว้แต่ผู้ที่บริหารจัดการ แต่ถ้าพูดถึงคนที่ไม่เข้าเวรนะท่านจะให้ปฏิบัติ ๒๔ ชั่วโมง แล้วถ้าใครเดินออกมาจากกุฏิ ใครเดินออกมาจากที่พักโดยที่ไม่มีเหตุมีผล ท่านจะถามว่า ออกมาทำไม? ถ้าออกมาไม่มีเหตุมีผลนะให้เก็บของออกเลย
นี่ไงเวลาวัดปฏิบัติเขาต้องการประพฤติปฏิบัติ ฉะนั้น เรามาวัด เรามานี่เวลามันเหลือเฟือ เวลาเราอยู่บ้านเราก็อยากปฏิบัติ นี่การงานรัดตัวมาก ทำสิ่งใดก็ไม่มีเวลาปฏิบัติ เวลามาวัดนี่ ๒๔ ชั่วโมงทำไมไม่ปฏิบัติ? ถ้าปฏิบัติทำไมไม่ดูแลใจของตัว ถ้าไม่ดูแลใจของตัว ทำไมทางจงกรม ที่นั่งสมาธิของเราทำไมไม่ดู? เราออกไปยุ่งกับใคร?
เวลาเราไปวัดทั่วไปนะเขาจะเขียนกติกาไว้หมดเลย วัดนี้ห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนั้น เราบอกว่าสังคมเสื่อม สังคมเสื่อมถึงต้องมีป้ายบอก ถ้าสังคมดีนะ คนมีจิตใจที่ดี คนที่มีความละอายแก่ใจ นี่เขารู้กฎระเบียบ เขาไม่ก้าวก่าย เขาไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เขาไม่ทำให้เสียงกระทบถึงคนอื่น แต่ถ้าเราไปนะต้องมีกฎกติกา กฎกติกาเขาเขียนไว้นะ แล้วทำจริงหรือเปล่าล่ะ? แต่ถ้าสังคมมันเสื่อมเขาต้องมีนะ บอกว่าที่นี่ที่ปัสสาวะของสุนัข เพราะคนไปปัสสาวะบ่อย เขาเขียนไว้เลยประชด คนมันก็ไปปัสสาวะตรงนั้นแหละ
นี่ก็เหมือนกัน เราเขียนว่าห้ามทำอย่างนั้นๆ มันก็ทำ แต่ถ้าพูดประสาเรานี่เราทำกันเพราะอะไรล่ะ? เราทำกันเพราะ เพราะเรามาเรามีหิริ มีโอตตัปปะ เราแสวงหา แสวงหานะ ทุกคนเวลาจะประพฤติปฏิบัติมันก็บอกว่าอยากจะแสวงหาวัดที่ประพฤติปฏิบัติ อยากแสวงหาครูบาอาจารย์ที่คอยชี้นำ แล้วพอเราไปวัดทั่วไป เห็นไหม วัดนั้นก็ไม่ดี วัดนี้ก็ไม่ดี หน้าที่การงานแบกรับภาระไปหมด แรงงานอริยะเอามาทำงานกัน แต่เวลาเราสมัครใจนะ อย่างเช่นงานของครูบาอาจารย์เป็นครั้งเป็นคราว
เวลาหลวงปู่มั่นนะ หลวงตาท่านเล่าให้ฟัง ไปอยู่กับหลวงปู่มั่นที่หนองผือ มีอยู่คราวหนึ่งหน้าแล้ง มันไม่มีน้ำใช้ ก็คิดจะไปขุดบ่อกัน พระนี่ให้โยมไปช่วยกัน ให้เณรขุด แล้วพระก็ช่วยกันขุดบ่อเพื่อจะเอาน้ำนั้นใช้ หลวงปู่มั่นบอก อย่า อย่านะ ทีนี้บอกอย่าพระเราก็ไม่รู้ พระเรานี่วุฒิภาวะมันไม่ถึงกัน สายตามันสั้น ก็คิดแอบไปทำกัน พอไปทำนะไปขุดบ่อกัน พอขุดบ่อ ถึงเวลาแล้วดินมันถล่มลงมา เกือบตาย พอเกือบตายนะก็เก็บไว้ไม่กล้าบอกใคร เก็บไว้ แล้วพอมาวัดท่านก็ทำปกติ
หลวงปู่มั่นท่านก็เป็นปกตินะ ท่านไม่พูด ท่านปล่อยให้ ปล่อยให้คนเรานะ ให้พระ นี่เพราะไปทำผิด พอทำผิดหัวใจมันก็เดือดร้อน แล้วหลวงปู่มั่นท่านก็ห้ามแล้ว กลัวหลวงปู่มั่นท่านจะเอ็ดเอาก็ไม่พูดกัน เก็บไว้ในใจ ท่านก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ พระก็สบายใจ สบายใจว่าท่านไม่รู้ ฉะนั้น พอเวลาถึงคราวเทศน์บนศาลานะ ท่านใส่เปรี้ยง เปรี้ยงเลยนะ ก็บอกแล้วว่ามันจะอันตราย นี่ไปทำทำไม? ไม่ให้ไปทำ อู๋ย พระนี่ขนหัวตั้งเลย เห็นไหม
เวลาครูบาอาจารย์ สิ่งใดท่านบอกว่ามันจะเป็นโทษๆ เราก็ไม่เข้าใจ เราไม่เข้าใจเราก็ไปฝืนทำ ฝืนทำด้วยวุฒิภาวะของเรากันเองไง ก็มันขาดน้ำ วัดไม่มีน้ำใช้ก็ต้องไปหาน้ำ ก็ไปขุดบ่อกัน แต่ดินมันเป็นดินทราย เวลามันถล่มลงมา แล้วท่านก็ไม่พูด ไม่พูดเพราะอะไร? เพราะพระสำนึก นี่ไงท่านบอกแล้วว่าอย่าทำ อย่าทำ เราก็แอบมาทำกัน พอแอบมาทำกันมันก็ให้โทษอย่างนั้น เห็นไหม นี่พูดถึงวัตถุนะ
แต่ถ้าเป็นจิตใจล่ะ? ถ้าจิตใจล่ะ? จิตใจ เห็นไหม นี่เวลาคนเขามาปฏิบัติที่นี่นะ แล้วเขาออกไปข้างนอก เขาพูดฝากมา ฝากมาถึงหูเราไง บอกเสียใจ อุตส่าห์ตั้งใจมาปฏิบัติ พอมาปฏิบัตินะเห็นคุยกันทั้งวัน เขานั่งปฏิบัติไง แล้วร้านมันใกล้กัน พวกโยมก็ไปสุมหัวคุยกัน ไอ้คุยกันก็คุยกันออกรส ก็สนุกใช่ไหม? ไอ้คนภาวนามันอยู่ข้างๆ นะมันอยากจะประพฤติปฏิบัติ มันออกไปข้างนอกแล้วมันฝากกลับมาบอกว่าเสียใจ ร่ำลือว่าวัดปฏิบัติ พอไปแล้วผู้ปฏิบัติก็ไปสุมหัวคุยกัน หนวกหู เห็นไหม นานาจิตตัง คนก็ไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น สิ่งที่เราบอกว่าห้ามไปคุยกันในกุฏิ ห้ามไปคุยกันในกุฏิ มีสิ่งใดก็มาคุยกันที่โรงน้ำร้อน ถ้าคุยที่โรงน้ำร้อนเสร็จแล้วก็ควรจะกลับ ไม่ควรคุยกัน หลวงตากับหลวงปู่มั่นท่านบอกพระนะ เห็นพระเดินมาโดยขาดสติ ท่านบอกว่า ซากศพเดินได้ ขาดสติจนเป็นคนยังเป็นไม่ได้ เป็นซากศพ เพราะซากศพมันไม่มีจิตวิญญาณ เรามีจิตวิญญาณอยู่กับตัว แต่เผอเรอ เผอเรอจนทำอะไรกันออกไปกระทบกระเทือน กระทบกระเทือนคนข้างนอก เพราะเสียง การเคลื่อนไหว มันมีเสียงไปกระทบกระเทือนกันหมดนะ เราต้องอย่ากระทบกระเทือนใคร เราพยายามนะ เวลาเดินไปให้มีสติ
คนมีสติเดินกับคนขาดสติเดินเห็นต่างกันไหม? เวลาคนขาดสติเดินนะ มันเดินมาเหมือนกับช้างมันเดินมา เสียงมันดังมาตั้งแต่ ๒-๓ กิโลนู่น เสียงมันมาก่อนไง ยังไม่เห็นช้างเลย ช้างเสียงมันเดิน เวลาเดินปกติมันจะเดินดังมาก แต่เวลาช้างมันจะหากินนะมันจะไม่มีเสียงเลย มันจะใช้งวงของมันดันหน้าไปก่อน แล้วพวกต้นไม้มันจะขึ้นจากงวงขึ้นมาพ้นจากตัวมันไป เวลามันเก็บตัวมันนะ ช้างตัวใหญ่ๆ มันจะเดินไม่ให้มีเสียงมันก็ทำได้ แต่ถ้ามันเป็นปกติของมันนะป่าลั่นแล้วกันน่ะ เวลามันเดินมานี่เสียงมาก่อน ลั่นไปหมดเลย
นี้ก็เหมือนกัน เราเดิน เราเป็นนักปฏิบัติเดินกันอย่างนั้นหรือ? เวลาเดินกันก็อย่าให้กระทบกระเทือนคนอื่น เวลาทำอะไรก็อย่าให้กระทบกระเทือนคนอื่น แล้วเรื่องของวัด เห็นไหม หน้าที่ในการบริหารจัดการมันมีคนมีหน้าที่บริหารจัดการอยู่ ฉะนั้น เราเห็นนะ ดูสิเวลาไปวัดครูบาอาจารย์ท่านไม่รับ หรือท่านรับก็รับแค่ ๗ วัน นี่กติกาแค่นั้นแล้วให้ออก เพราะ เพราะเราอยู่กันคุ้นเคยแล้ว ความคุ้นเคยมันทำให้ไม่มีหิริ โอตตัปปะ
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราจะเข้าไปบริหารจัดการสิ่งต่างๆ นี่ไม่ควร ไม่ควรเพราะอะไร? เพราะเราเห็นเวลาไปวัดที่อื่น เห็นไหม นี่ครัวนะที่อื่นเขาปิด หลวงตาท่านบอกว่า อย่าให้มีครัวนะ อย่าให้มีครัวนะ ห้ามมีครัว ครัวนั้นคือตัวปัญหา ใครๆ ก็มีน้ำใจใช่ไหม? จะเอาของมาเข้าครัว แล้วไอ้คนที่ครัวนะก็ต้องเปิดไว้ทั้ง ๒๔ ชั่วโมงไง เดี๋ยวไอ้คนนั้นเอาผักมา ๒ กำ เดี๋ยวไอ้คนนี้จะเอาหญ้ามา ๒ มัด เดี๋ยวไอ้คนนู้นจะเอาเนื้อมา ๒ ขีด เดี๋ยวไอ้คนนู้นจะเอาปลามา ๒ ตัว มันต้องเปิดประตูรับทั้งวัน เราถึงห้ามเอาของเข้ามาในวัดเรา เห็นไหม เราหาอยู่หากินกันเอง จะบอกว่าเรามีลำแข้ง
ฉะนั้น เวลาใครไปใครมาเราห้ามเอาเข้ามา เพราะมันเป็นปัญหา มันเป็นการไปกระทบกระเทือนคนอื่น คนอื่นต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องคอยมารับหญ้า ๒ กำ ผัก ๒ ต้น อยู่นั่นทั้งวันทั้งคืน มันไม่เป็นประโยชน์หรอก ใครมานะให้เอาหัวใจมา หัวใจให้เอามาด้วย แล้วดูแลหัวใจของตัว
วันนี้เขาแรกนาขวัญ เห็นไหม เราต้องดูแลหัวใจของเรา รักษาใจของเรา แล้วถ้ารักษาใจของเรา เรื่องอย่างอื่นเป็นเรื่องหน้าที่ของผู้บริหาร เรื่องในครัว เรื่องในฝั่งนู้นนะ ข้อวัตรที่เขาห้ามๆ คือคำสั่งจากเรา ทีนี้เรานี่เป็นคนจริง ถ้าเราสั่งสิ่งใดทำสิ่งใด ถ้าใครฝืนนะให้ออกอย่างเดียว ฉะนั้น เวลาเราให้คนดูแลแทนเพราะเราไม่อยากไปเห็นกับตา ถ้าเห็นกับตาคนๆ นั้นอยู่ไม่ได้ คนๆ นั้นต้องออกทันที ฉะนั้น เราถึงให้คนบริหารแทน ทีนี้คนบริหารแทนเขารู้นิสัยเรา
ฉะนั้น คนที่เข้ามาเขาบอกว่าทำไมเข้มงวดอย่างนั้น? ทำไมเข้มงวดอย่างนั้น? เวลาเราไปเจอวัดที่เขาไม่เอาไหนเราบ่นทำไม? เราไปเจอวัดที่เขาไม่เอาไหนเราบ่นทำไม? แล้วพอมาเจอวัดที่เข้มข้นขึ้นมา เห็นไหม หลวงตาท่านบอกว่าบ่อน้ำ สระน้ำที่มันสะอาด ท่านเป็นคนดูแลรักษาสระน้ำนั้น แล้วเขาก็เอามูตรเอาคูถ คือเอาความพอใจของเขา เอาทิฐิของเขา เอาความเห็นของเขามาใส่ พอเอามาใส่มันก็เริ่มเน่าเสีย พอเน่าเสียใครจะมาใช้บ่อน้ำนั้น ใครจะมาใช้สระน้ำนั้นเขาก็รังเกียจ แต่เวลาเขาจะเอาสิ่งที่ว่าทิฐิเขา มานะเขา ความเห็นเขามาใส่ คนห้ามผิดไหม?
คนห้ามเขามีเจตนารักษาบ่อน้ำนั้นให้สะอาดบริสุทธิ์ ใครเหนื่อยยากมาจะได้ดื่มกินบ่อน้ำนั้น เขาก็จะมีความสุขในบ่อน้ำนั้น ถ้าบ่อน้ำนั้นมันเน่ามันเสีย เวลาคนเขาไปเขามา นี่เขาหิวกระหายมา เขาอยากกิน เขามาเจอบ่อน้ำนั้น เขาก็ต้องฝืนกินถ้าเขาจำเป็นต้องหิว แต่เวลาเขาฝืนกินเขาก็มีความรู้สึกของเขาใช่ไหมว่าน้ำมันไม่สะอาด น้ำมันมีกลิ่น น้ำมันสกปรก
ฉะนั้น คนห้าม เห็นไหม เราไม่ค่อยพูด เพราะเห็นว่าพวกเราโตๆ กันแล้ว ถ้าโตๆ กันแล้วไม่ควรทำ ให้ดูแลใจของตัว ไม่ใช่หน้าที่ ห้ามเด็ดขาด คือไม่ใช่หน้าที่เราห้ามโดยตรง แล้วไม่ใช่หน้าที่คือไม่ใช่หน้าที่ แล้วบอกว่าไม่เป็นไรๆ เป็น! กูเป็น มึงไม่เป็นกูเป็น ไม่เป็นไรก็พอใจไง แต่ถ้ามันขัดใจไม่เป็นไรได้ไหมล่ะ? พอมันขัดใจก็เจ็บปวด เวลาพอใจก็ว่าไม่เป็นไรครับ ไม่เป็นไรครับ
นี่ไงกติกามันคือกติกา ไม่ได้ก็คือไม่ได้ไง บอกว่าไม่เป็นไรครับ ไม่เป็นไรครับนั่นแหละมูตรคูถมันจะลงสระน้ำนั่นแหละ ไม่เป็นไร ใครมาก็ไม่เป็นไร ขี้ใส่เยี่ยวใส่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราปลดทุกข์ ปลดเบาของเรา เราต้องการความสบายของเรา ไม่เป็นไร แต่คนอื่นเขาเป็น คนที่เขารู้ เขาเห็น เขาได้กลิ่น เขาเหม็นของเขาน่ะ เห็นไหม
นี่พูดถึงนะ นี่ไม่ค่อยพูดนะ แต่เวลาพูดนะ ถ้าผิดแล้วให้ออก ผิดแล้วให้ออกทันที แล้วออกแล้วนะกลับมาอีกไม่ได้ แต่ถ้าใครเปลี่ยนแปลงแก้ไขเราให้ เราบอกว่าผิดด้วยความไม่รู้ อวิชชา ผิดด้วยทิฏฐิมานะ ผิดด้วยถือมั่นว่าตัวเองถูก ความผิดมันมีหลายชั้นนะ
ฉะนั้น สิ่งที่ไม่ควรทำอย่าทำ เราอุตส่าห์รักษาไว้ เขาบอกว่ามาวัดนี้ดี๊ดี เงียบๆ นี่สงบสงัด สงบสงัดก็ต้องคนดูแลรักษานั่นแหละ ถ้าไม่ดูแลรักษามันจะสงบสงัดได้อย่างไร? ทีนี้ดูแลรักษา รักษาแบบไม่รักษาไง รักษาแบบไม่ต้องถือปืนไปจ่อหัวใคร รักษาโดยบอกว่าเรารู้กัน แต่ถ้าใครขืนมาต้องไป ใครขืนมาต้องไป วัดนี้เป็นอย่างนี้มาตลอด สิ่งที่เราเห็นกันว่าอยู่ได้ๆ ทำไมเป็นอย่างนั้น? แต่เวลาพูด เห็นไหม บางทีคนมันเยอะ แล้วที่เขามาปฏิบัติแล้วเขาเสียใจไป เขากระทบกระเทือนแล้วเขาน้อยใจไป นี่กลิ่นของศีลหอมทวนลม กลิ่นของมูตรคูถมันไปตามลม
นี่ก็เหมือนกัน เราได้ยินเขาย้อนกลับมา เรื่องว่ามาแล้วเสียใจ มาแล้วไม่ได้ดังใจ มาแล้วผิดหวัง ไอ้ตรงนี้ถ้าฟังธรรมดานะ ถ้าโลกธรรม ๘ เราสอนประจำว่าโลกธรรม ๘ คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก อย่าไปหวั่นไหวกับมัน เราไม่เคยหวั่นไหวเลยเรื่องอย่างนี้ แต่ แต่คำพูดมันมีเหตุมีผล เราคุยกันจริงๆ แล้วก็ไปกระเทือนเขาจริงๆ เขาก็มาปฏิบัติจริงๆ แล้วเสียงก็ไปกระเทือนเขาจริงๆ เพราะ เพราะเราเป็นคนปฏิบัติไง
อย่างเช่นคนชำนาญการ เราทำสิ่งใดผิดเรารู้ใช่ไหม? เราเห็นคนอื่นทำเราจะรู้ทันทีเลย นักปฏิบัติมันจะรู้ นักปฏิบัติเขาต้องการความสงบสงัดขนาดไหน? เขาต้องการวิเวกขนาดไหน? นักปฏิบัตินี่รู้ แล้วเวลาเขากระเทือนมา นักปฏิบัตินี่เจ็บ เจ็บ เพราะมันสะเทือนใจ แต่ถ้าเป็นโลกธรรม ๘ นะ ก็คือโลกธรรม ๘ เขาพูดแล้วก็คือสัญญาอารมณ์ใช่ไหม? ลมพัดลมเพก็ไปแล้ว แต่ถ้านักปฏิบัติมันจะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรเป็นประโยชน์กับเรา อะไรไม่เป็นประโยชน์กับเรา นักปฏิบัตินี่รู้
แต่คนที่มาปฏิบัติใหม่ เพราะเราศรัทธาใหม่ๆ นี่ไม่รู้ ทำไมดุนัก? ทำไมดุนัก? ดุก็เพื่อหวังไง หวังสร้างศาสนทายาท ผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติควรจะให้เขาได้หลักได้เกณฑ์ ถ้าเขาได้หลักได้เกณฑ์เขาจะรู้เลยว่าอะไรควรและอะไรไม่ควร อะไรผิด อะไรถูก เขาจะรู้ของเขา เพราะเราทำกว่าจิตมันจะสงบขนาดไหน? ถ้าจิตสงบแล้วมันจะรู้ของมัน
เวลาจิตเราใกล้จะสงบแล้วมีคนมากระเทือนให้เราออก แล้วเวลาใช้ปัญญาไป ภาวนามยปัญญาเป็นอย่างไร เขาจะรู้ เขาจะเห็นของเขา ถ้ายังไม่เป็นปัจจัตตัง ไม่เป็นสันทิฏฐิโก คนนั้นไม่รู้ พูดอย่างไรก็ไม่รู้ เอามาจิ้มใส่ตาก็ไม่รู้ แต่ถ้าเขารู้เขาจะรู้ขึ้นมาจากหัวใจเลย พอรู้แล้วเศร้านะ แหม ไม่น่าเลย ไม่น่าเลย ถ้ารู้นะ ถ้าไม่รู้ ไม่เห็นเป็นไรเลย โอ้โฮ หลวงพ่อดุ หลวงพ่อพูดด้วยอารมณ์ แต่ถ้ารู้วันไหนนะคอตกเลย
นี่หลวงตาท่านพูดกับพระไว้ เวลาท่านเทศน์สอนพระนะ หมู่คณะให้ปฏิบัติมานะ จำคำพูดของผมไว้ ถ้าใครปฏิบัติมาถึงตรงนี้นะ ถ้าผมตายไปแล้วจะมากราบศพ
เพราะถ้ามันรู้แล้วมันคอตกไง มันรู้แล้วมันซาบซึ้ง มันซาบซึ้งถึงน้ำใจของครูบาอาจารย์ที่ท่านปกป้องดูแลเรา แล้วพยายามจะดึงเราขึ้นมา ไอ้เรามันก็เหมือนเด็กน้อย ไม่รู้อะไรเลย เรียกร้องจะเอาแต่ความรู้สึกของตัว แต่เมื่อใดมันรู้ขึ้นมานะมันสะเทือนใจ แล้วจะไปกราบศพ ท่านพูดเอง จำคำพูดของผมไว้นะ ถ้าปฏิบัติมาถึงจุดนี้แล้วจะมากราบศพ มากราบศพถึงน้ำใจของท่านไง น้ำใจของท่านที่ท่านปกป้องดูแลพวกเราไง
แล้วตอนนี้ก็เหมือนกัน เวลาเรามาวัดมาวา นี่ของเล็กๆ น้อยๆ อย่าไปยุ่งกับมัน หลวงตาบอกว่านักปฏิบัตินะ เรื่องอยู่เรื่องกินเรื่องปลายเหตุ นักปฏิบัตินะมันต้องการความสงบสงัด ไอ้เรื่องอยู่เรื่องกิน ดูสิพระมาฉันก็ไม่ครบนะ นี่ก็พระอดอาหารประจำ พระที่ลงมาฉันไม่เคยครบสักวันหนึ่ง เขาอดอาหารกันทำไม? เรื่องอยู่เรื่องกินมันเรื่องปลายเหตุ เรื่องภาวนาสิ เรื่องสติ เรื่องปัญญาสิเรื่องต้นเหตุ เรามาหาหัวใจกัน เรามารักษาใจกัน เห็นไหม
วันนี้แม้แต่อาหารเขายังต้องมีการเสี่ยงการทาย เราจะทำหัวใจของเราเราต้องมีสติปัญญาของเรา เรื่องปลายเหตุอย่าไปเอามาเป็นประเด็นให้เรากระทบกระเทือนกัน เราเอาเรื่องต้นเหตุ เรื่องหัวใจของเราที่เรามาดูแลรักษาใจของเรา นี่เราเอาอันนี้ แล้วเป็นประโยชน์กับเราอันนี้ เห็นไหม เอาอันนี้ เพราะเราไม่ค่อยได้พูดแล้วมันก็ไปเรื่อย แล้วผู้มาใหม่ก็มาเรื่อย วัดก็เหมือนวัด
นี่ว่า แหม ฉันก็เคยผ่านวัดมาเยอะ ครูบาอาจารย์ดังๆ ฉันก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้นแหละ หลวงพ่อนี่นะอยู่ใต้บาดาลนู่นน่ะ ใครไม่รู้จักเลย หลวงพ่อมาจากไหนจะมาอวดดีได้อย่างไร? ทิฐิมันเกิดนะ แล้วมันก็เหยียบย่ำเขาไปทั่ว เขารักษาข้อวัตรไว้ เขารักษากติกาไว้ ก็ไปเหยียบของเขา ทำลายของเขาว่าฉันแน่ ฉันเก่ง เศร้า.. เศร้ามาก.. เพราะของอย่างนี้มันเป็นนามธรรมนะ แต่ถ้าใครทำได้มันจะทำได้
ฉะนั้น เตือนนะ เตือน เพื่อจะให้กลับมาเป็นความดี แล้วเราอย่าทำ นี่ไม่ใช่หน้าที่ หน้าที่ของเราคือทางจงกรม นั่งสมาธิภาวนาไปสิ เวลาทำอยู่ที่บ้านก็ไม่มีเวลา เวลามานี่มีเวลาทำไมไม่ทำ? ทำเข้าไปสิ ทำเข้าไป ผิดถูกเราอยู่นี่ ให้มันทำมา ผิดถูกเราแก้เอง เราแก้ของเราได้ แล้วเรื่องปลายเหตุ เรื่องอาหารการกินมันไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่ต้องไปยุ่ง ไม่ต้องไปยุ่งนะ ทำเพื่อเรา เห็นไหม นี่รักษาใจเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง