ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ให้ปัญญา

๑๓ พ.ค. ๒๕๕๕

 

ให้ปัญญา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๘๙๑. เรื่อง “พระทุศีล” (เขาเขียนอย่างนี้)

กราบนมัสการหลวงพ่อ เรียนถามปัญหาว่า หากพระที่เราไปกราบเป็นพระที่หวังลาภสักการะ และพูดจาดีเพื่อให้คนเคารพ โดยใช้เจโตปริยญาณในความรู้ข้อมูลคนอื่น แล้วพูดจาเอาใจ รวมทั้งว่าคนที่ไม่ค่อยเคารพตนเอง ด้วยวิธีการใช้ธรรมะว่าเผื่อให้คนอื่นเข้าใจบุคคลดังกล่าวผิด ถามว่าถ้าเราโมโหและว่าพระ รวมทั้งบอกเล่าความผิดให้คนอื่นฟังจะบาปไหม? ถ้าเจตนาของเราคือให้คนอื่นตาสว่าง แต่ก็กลัวว่าจะไปขัดการทำบุญของผู้อื่นเป็นบาปหนัก

ตอบ : นี่เขาว่านะ ไอ้นี่เป็นสังคม เดี๋ยวจะมีปัญหาต่อไปเป็นปัญหาตรงข้าม ปัญหานี้มันจะแปลกอย่างนี้มาตลอดนะ ฉะนั้น เพียงแต่ว่ามันเป็นเรื่องของสังคม เวลาสังคมนะเราธุดงค์ไปในป่าในเขา ถ้าที่ไหนไม่มีพระ ชาวบ้านที่เขาไปสร้างบ้านสร้างเรือน เขาอยากมีพระมาก พอเขาอยากมีพระมาก พอให้พระได้เขาก็พอใจ แล้วมันเป็นแบบว่าวุฒิภาวะของสังคมสังคมนั้น ถ้าสังคมไหนเขาคิดว่าสิ่งนั้นเป็นความที่พอใจของเขา คือว่าพระกับสังคมนั้นเขาก็อยู่กันได้

แต่ถ้าเราตั้งใจว่าเราอยากจะพ้นทุกข์ เราอยากจะประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าเรามีการศึกษา การศึกษาในปริยัติ การศึกษาในธรรมะ เราจะรู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ถ้ารู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด เราจะเห็นว่าการทำถูก ทำผิดนี่เขาเป็นคนทำ ใช่ไหม? พระเป็นผู้ทำ เราเป็นผู้เห็นเราสามารถรู้ว่าถูกและผิดได้ ถ้ารู้ว่าถูกและผิดมันก็เป็นความเห็นของเราใช่ไหม? แต่ความเห็นของพระที่เขาทำนั้นน่ะ ทำที่ว่าเขาทุศีล เขาทำสิ่งต่างๆ สิ่งนั้นเขาทำ เพราะถูกหรือผิดมันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่มันให้ผลแล้ว ให้ผลตามความผิดนั้น เพราะในพุทธศาสนาบอกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว มันเป็นความจริงของมันทั้งนั้นแหละ

ในพุทธศาสนานะเขาพูดถึงเรื่องธรรมและวินัยนี้เหมือนกับทะเล ถ้ามันมีสิ่งใดอยู่ในทะเลมันจะพัดสู่ฝั่งหมดเลย ทะเลไม่เก็บสิ่งใดไว้เลยนะ มันจะพัดเข้าสู่ฝั่ง พัดเข้าสู่ฝั่ง ถ้าพัดเข้าสู่ฝั่ง ทำไมที่ว่าพระทุศีลที่เราเห็นทำอย่างนั้นๆ ทำไมเขาอยู่ของเขาด้วยความปกติของเขาได้ล่ะ? ความจริงอยู่ในความปกติ เราคิดว่าปกติ แต่จริงๆ แล้วมันปกติหรือเปล่าล่ะ? มันไม่ปกติหรอก มันไม่ปกติ ใครก็แล้วแต่ถ้าเป็นผู้ที่ทำผิด เหมือนเราทำผิดกฎหมาย เราทำผิดกฎหมาย เราเจอเจ้าหน้าที่มันแสดงออกทันทีแหละ แล้วถ้าเราทำของเราผิดเรารู้ของเรา

นี่ก็เหมือนกัน พอเขาทำผิด แล้วเขาบอกว่าทะเลจะซัดซากศพเข้าฝั่ง ทีนี้มันจะไม่มีสิ่งใดตกค้างในทะเลเลยหรือ? มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ทีนี้พูดถึงว่าถ้าพระทุศีล พระเขาทำของเขา เห็นไหม หวังลาภสักการะ มันก็อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม เวลาบวชเข้ามาแล้วเราบวชเข้ามาเพื่อสิ่งใด? ถ้าบวชขึ้นมานะ คนบวชขึ้นมาเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์สิ่งนี้เขาไม่เอานะ เขาจะมองไปว่าใคร หรือผู้ใดจะพาให้พ้นจากทุกข์ได้

ถ้าพ้นจากทุกข์ได้นะ เวลาภาวนา เวลาใครหัดภาวนานะ เริ่มต้นตั้งแต่เราจะทำความสงบของใจ เราพุทโธ พุทโธ เวลาเราพุทโธ เห็นไหม เราพุทโธ พุทโธ เวลาจิตมันพุทโธ เวลามันปล่อยวางจากอารมณ์ต่างๆ เข้ามา แต่ถ้าเรายังอยู่ในสังคม เราอยู่ในสังคมเราอุ่นใจ เราทำสิ่งใด เราก็ว่าเราอยู่ในสังคม สังคมจะช่วยเหลือเจือจานเราได้ อย่างเช่นเราอยู่ในสังคมนะ เราจะปกป้องกัน จะดูแลกัน จะไม่ให้มิจฉาชีพเข้ามาในสังคมนั้น แต่มันจริงไหมล่ะ? มันก็มีเข้ามา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าพอเราคิดเรื่องต่างๆ โดยรอบไปนี่จิตมันส่งออก มันก็คิดของมันได้นะ มันก็อยู่ของมันโดยที่ว่าไม่เห็นโทษ แต่พอเราพุทโธ พุทโธ พุทโธมันจะเริ่มปล่อยวางเข้ามา เหมือนเราต้องออกจากสังคมนั้นไปอยู่ของเราคนเดียว ถ้าอยู่คนเดียวมันต้องระวังใช่ไหม? ของนี้เก็บไว้ที่ไหน? ของสิ่งใดมันจะหาย มันจะสูญหาย ใครจะมาฉก มาลัก เราต้องดูแลของเราแล้ว

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธมันปล่อยวางอารมณ์เข้ามาแล้ว มันปล่อยความคิดที่แตกต่าง ปล่อยความคิดที่หลากหลายเข้ามาอยู่กับพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอเรากำหนดพุทโธ โอ้โฮ นู่นก็ผิดเนาะ เราก็เพิ่งทำผิดมาเมื่อกี้นี้เอง แล้วก็จะมาพุทโธได้หรือไม่ได้ เห็นไหม นี่พอมันปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ มาอยู่กับพุทโธ มันจะรู้ความถูกความผิดของมันแล้ว นี่พอรู้ความถูกความผิด เราพุทโธ เราปฏิบัติเราต้องการความสงบ

๑. เราต้องการความสงบ

๒. เราต้องการปัญญา

ทีนี้พอต้องการปัญญาแล้วจิตมันไม่ลง จิตมันไม่ลง เหมือนเราทำอาหาร เราไม่ได้เปิดแก๊ส แล้วเราทำอาหารอยู่บนเตาอาหารมันจะสุกได้ไหม? ไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจะปฏิบัติเราต้องการความสงบ เราต้องการสมาธิ แล้วถ้ามันไม่มีสมาธิ อืม เวลาเราทำอะไรมันจะต่อเนื่องไปไม่ได้ พอต่อไม่ได้ละล้าละลังแล้ว ละล้าละลังๆ พอละล้าละลังมันก็จะเห็นโทษตรงนี้ไง ที่ว่าทุศีลหรือไม่ทุศีลไง

ทุศีลนี่นะ ศีลถ้าปฏิบัติจะรู้ทันทีเลย แล้วพระที่ปฏิบัติ ศีลนี่แหละมันจะเป็นเครื่องกางกั้น นิวรณธรรมเป็นเครื่องกั้นมรรค ผล นิพพาน นิวรณ์ ความลังเลสงสัย ความลูบคลำ ความต่างๆ ฉะนั้น ถ้าลูบคลำปั๊บ ถ้าพระ โดยธรรมชาติของคน บวชมามันก็ต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดา ธรรมดานะ ถ้ามันเป็นอาบัติ เป็นอะไรเขาก็ปลงอาบัติไง ถ้าพระต้องปลงอาบัติ พอปลงอาบัติแล้วเราก็มานั่งสมาธิ สิ่งที่ทำผิดมันให้ผลไหม? ให้ผล สิ่งที่ทำผิดมาแล้วก็คือกรรม ให้ผลนั่นแหละ แต่ไม่เป็นกังวลเพราะอะไร? เพราะได้ปลงอาบัติ

การปลงอาบัติคือการสารภาพ สาธุ สุฏฐุ ข้าพเจ้าได้ทำความผิดมา ข้าพเจ้าจะไม่ทำความผิดอีกต่อไป ข้าพเจ้าจะพยายามตั้งใจสงบระงับ นี่ให้พระเป็นพยานปลงอาบัติต่อกัน ถ้าปลงอาบัตินะ ภิกษุทำอาบัติมาด้วยกัน ตัวเดียวกัน ปลงอาบัติไม่หลุด ภิกษุทำอาบัติมา ต้องไปปลงอาบัติกับภิกษุที่ไม่ได้ทำมาด้วยกัน คือต้องประจานตนเองไง ต้องไปปลงอาบัติกับภิกษุที่ไม่ได้ทำมาด้วยกัน ภิกษุทำมาด้วยกัน ปลงอาบัติไม่ตก มันเหมือนกับเราทุจริตมาด้วยกัน แล้วเราก็มาปลงอาบัติร่วมกัน แล้วเดี๋ยวเราก็จะทุจริตต่อ แต่ถ้าเราทำกรรมสิ่งใดมา ต้องไปปลงอาบัติกับที่ไม่ได้ทำมาด้วยกัน นี่อาบัติถึงได้ตก ถ้าอาบัติตกขึ้นไป พออาบัติตก แต่กรรมมีไหม? มี เพราะทำแล้วไม่มียกเว้น

ฉะนั้น สิ่งที่เป็นอดีตเราถึงมีกรรม มีเวรต่อกันนี่ไง เวลาปฏิบัติมา ใครปฏิบัติยาก ปฏิบัติง่าย ทุกคนเวลาปฏิบัตินะก็อยากจะให้ชุบมือเปิบ อยากจะได้มรรค ผล นิพพาน อยากได้สมความปรารถนา แต่มันก็อยู่ที่ว่าใครทำมา ฉะนั้น พอใครทำมาปั๊บ เวลาสิ่งใดที่เกิดกับเรา ถ้าเรามีสตินะเราจะไม่เสียใจเลย ก็เราทำมาเอง แต่ถ้าเรามีสตินะ เรามีสติ เรารักษาตัวเรามา เราจะมีความผิดพลาดไหม? ความผิดพลาดมันก็ไม่มี ถึงมีก็มีน้อย ถ้ามีน้อย การปฏิบัติมันก็จะง่ายขึ้น ถ้าการปฏิบัติง่ายขึ้นก็อยู่กับของบุคคลคนนั้น

นี่พูดถึงเราจะพูดว่า นี่บอกว่าพระทุศีล ทำสิ่งใดดีหรือไม่ดี เราตัวคนเดียว เราตัวคนเดียวนะ เรามองเห็นคนอื่นทำผิดหมดเลย ถ้าเรามองเห็นคนอื่นทำผิดหมด เราจะวินิจฉัยว่าคนนู้นผิด คนนี้ผิด แล้วเราจะไปจัดการทำได้ไหม? พูดถึงปัญหาสังคมไง นี่พระทุศีลนะ เราจะพลิกกลับเลย แล้วถ้าโยมทุศีลล่ะ? อ้าว โยมทุศีล เห็นไหม เป็นโยมมาบวชเป็นพระ เป็นโยมนะเดี๋ยวนี้เยอะแยะไปหมดเลย เช้าขึ้นมาก็ห่มผ้าเหลืองออกบิณฑบาต แล้วอย่างนั้นเป็นพระหรือเปล่า? แล้วถ้าโยมทุศีลล่ะ? โยมทุศีลเพราะโยมไม่ละอายต่อบาป ถ้าโยมไม่ละอายต่อบาป โยมก็เข้ามาเป็นพระปลอม มาทำสิ่งนี้ให้เห็น

นี่พูดถึงโดยภาพรวมนะ แต่คำถามนี่เราเห็นใจ เราเห็นใจเพราะคนส่วนใหญ่แล้วพอเราไปคุ้นเคย เริ่มต้นเราเห็นจากภาพภายนอกเราก็ว่า อืม พระองค์นี้ดี พระองค์นี้น่าเคารพนับถือ แต่พอเราเข้าไปคุ้นชิน เราเข้าไปอยู่ใกล้ชิดเราถึงจะรู้ ศีล จะรู้ต่อเมื่อคนอยู่ด้วยกัน คนเรานี่อยู่ด้วยกัน ๕ ปี ๑๐ ปี เราจะรู้เลยว่าคนนั้นทำผิดหรือไม่ทำผิด นี่ศีลจะรู้ต่อเมื่อเราเข้าไปอยู่ใกล้ชิด แล้วอยู่ด้วยกันนานๆ มันจะรู้เลยว่าพระองค์นี้อยู่ในศีลหรือไม่อยู่ในศีล ถ้าไม่อยู่ในศีลปั๊บเราเข้าไปรู้ไปเห็นใช่ไหม?

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไป พอรู้เข้ามา เห็นไหม นี่เขาว่า

ถาม : หากพระที่เราไปกราบไหว้เป็นพระที่หวังลาภสักการะ

ตอบ : นี่พอเข้าไปแล้วมันก็จะรู้ แต่ถ้าเราทำด้วยความเต็มใจของเรานะ เราก็ไม่ได้หวังไง เห็นไหม ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะให้ ให้แล้ว ขณะที่หามา ขณะให้ให้แล้ว แล้วปฏิคาหกผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความบริสุทธิ์แบบหลวงตา

พระพุทธเจ้าบอก “ไม่มีกำมือในเรา”

แต่หลวงตาบอกว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ตกอยู่กับเรา เพราะมันผ่านไปเฉยๆ มันผ่านออกไปเพื่อประโยชน์กับศาสนา”

ถ้ามันผ่านออกไปเพื่อประโยชน์กับศาสนา ลาภสักการะนี่นะ นี่เวลาปลาโง่ ปลาโง่มันตายเพราะเหยื่อ พอเหยื่อนะ เห็นเหยื่อมานี่มันกินเหยื่อ พอกินเหยื่อนะมันนึกว่ามันจะได้เหยื่อไง มันเจอเบ็ดเข้าไป เบ็ดมันเกี่ยวปลา ลากสักการะ นี่ถ้าลากสักการะเป็นเหยื่อของบุคคลที่โง่เขลา “โมฆะบุรุษตายเพราะลาภ” โมฆะบุรุษคือพระที่ปฏิบัติ ถ้าไม่มีสติปัญญานี่ตายเพราะลาภ ตายเพราะเหยื่อ ลาภสักการะคือเหยื่อ แต่เวลาเขาหวังลาภสักการะเขาจะงับเหยื่อหรือ? พองับเหยื่อเขาก็งับเบ็ด พองับเบ็ด เวลาดิ้นเบ็ดมันก็ดึงให้แน่นขึ้นนี่ไง

ฉะนั้น ถ้าลาภสักการะ ลาภสักการะเป็นของๆ เขา ของประจำโลก ถ้าของประจำโลก เห็นไหม ดูสิดูโลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ ถ้ามีลาภนะ พอลาภเสื่อมเราอยู่ได้ไหม? นี่กรณีนี้ พอพูดอย่างนี้แล้วมันนึกถึงไง มันนึกถึงเวลาที่หลวงตาท่านพูดถึงหลวงปู่มั่น เวลาหลวงปู่มั่นอยู่ที่หนองผือ พอพระเยอะๆ ขึ้นมา เวลาไปบิณฑบาตมา ท่านเวลาก่อนจะฉันไง

“โยม ที่นี่อากาศดีเนาะ” ถ้าปิ่นโตของมันเต็มๆ “ที่นี่อากาศดี๊ดี”

แต่ถ้าที่ไหนอากาศไม่ดีนะ ที่ไหนปิ่นโตไม่มีเลย ไม่มีอาหารตามมา “โอ๋ย โยมที่นี่อากาศไม่ดีเลย อากาศไม่ดีเลย”

หลวงตาท่านพูดบ่อย เพราะอะไร? หลวงปู่มั่นนะเวลาพระอยู่เยอะๆ หรือถ้ามีเหตุการณ์อะไร หลวงปู่มั่นจะไม่ปล่อยเหตุการณ์นี้ให้มันผ่านไปโดยไม่เป็นประโยชน์ หลวงปู่มั่นจะเอาเหตุการณ์นี้มาสอนพระ มาบอกพระ เห็นไหม ถ้าที่ไหนเขามีลาภสักการะ เขามีอาหารการกินที่ดี

“โยม ที่นี่อากาศมันปลอดโปร่ง ภาวนาดีมาก”

แต่ถ้าที่ไหนไม่มีอาหารตามมาเลยนะ “โยม ที่นี่อากาศมันทึบ อึดอัดขัดข้อง ภาวนาไม่ดี พรุ่งนี้จะไปแล้ว”

เวลาหลวงตาท่านพูดที่บ้านตาด เราอยู่กับท่าน ตรงนี้เราจำแม่นมาก เวลาอาหารเยอะๆ ขึ้นมาท่านจะบอกเลย บอกว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาออกไปบิณฑบาตนะ คนทุกข์ทนเข็ญใจเขาก็ใส่แค่น้ำพริกห่อมาเล็กๆ แล้วพระ ๕ องค์ ๑๐ องค์มันจะไม่พอกิน พอไม่พอกินท่านจะเอาสิ่งนั้นมาใส่กะลา กะลาที่เขาทำให้สะอาดแล้ว เพราะภาชนะ เราอยู่ในป่า ภาชนะจะหาจากพื้นที่ กะลานี่เอามาขัดให้สะอาดเลย แล้วสุดท้ายเอาน้ำพริกใส่ในกะลา แล้วเอาน้ำเติม เติมให้กะแบ่งตักกันได้คนละ ๑ ช้อน นี่คนๆ แจกอาหาร แจกให้พระ

นี่ท่านจะเตือนไง ถ้าลาภสักการะ ถ้าติดอย่างนี้นะภาวนาไปไม่รอดหรอก นี่พูดถึงภาวนานะ แล้วถ้าพระหวังลาภ หวังสักการะ มันก็เหมือนโมฆะบุรุษ คนโง่ตายเพราะเหยื่อ แล้วเหยื่อลาภสักการะล่อไปยังติดเลย เห็นไหม ลาภสักการะ นี่ถ้าเขามีลาภมาแล้วเขาไม่นบไม่นอบ ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เข้ามากราบมาไหว้ ก็กินเขาไม่ลงอีกแหละ อันนี้ไม่ดี แต่ถ้าใครเอามานะ โอ๋ย นอบน้อมถ่อมตนนะ ยกกันไปก็ยกกันมา อู้ฮู อันนี้ดี๊ดี นี่พูดถึงเวลาคนเขาดูนะ อันนี้มันเรื่องพระ อยู่ด้วยกัน ศีลมันจะรู้ต่อเมื่ออยู่ด้วยกัน ธรรมจะรู้ต่อเมื่ออ้าปากสอน

ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่ถามว่า

ถาม : ถ้าเราโมโหและว่าพระนั้น รวมทั้งบอกกล่าวความผิดให้คนอื่นฟังจะบาปไหม?

ตอบ : ถ้าเราให้ปัญญาคนนะ นี่เวลาทำทาน เห็นไหม เวลาให้ธรรมเป็นทานประเสริฐที่สุด ทานนะให้ธรรมเป็นทาน คือเราให้ปัญญาคน เวลาให้ธรรมเป็นทาน เวลาเทศน์สอนถึงความให้เรามีสติ ให้เรามีปัญญาแยกแยะสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก ถ้าสิ่งนี้ให้ธรรมเป็นทาน “ให้ธรรมเป็นทาน ชนะซึ่งการให้ทั้งปวง” แล้วเราบอกกล่าว ถ้าเราบอกกล่าวนะ บอกกล่าวมันต้องมีเทคนิค มันต้องมีการบอกว่ามันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์มันอยู่ตรงนี้ ตรงที่ว่าคนเขาไม่เชื่อเรา

นี่เราเป็นฆราวาส เขาเป็นพระ เป็นพระที่มีชื่อเสียงด้วย แล้วพูดขึ้นมาเขาจะเชื่อใคร? ถ้าเขาเชื่อใครนะ ถ้าเราพูดเป็นประโยชน์กับในสังคมของเรา ถ้าเราพูดได้เป็นประโยชน์นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพูดแล้วมันเป็นโทษไง เป็นโทษหมายถึงว่าเราพูดไปแล้วไม่มีใครเชื่อเราหรอก น้ำหนักมันไม่มี เห็นไหม เราก็นิ่งซะ เก็บไว้ในใจเรา เรารู้ของเรา นี่เพราะอะไร? เพราะเรารู้เราเห็นของเรา ถ้าเรารู้เราเห็นของเรา เราเก็บสิ่งนี้ไว้ เก็บสิ่งนี้ไว้นะ

นี่ว่ามันจะเป็นบาปไหม? ให้ธรรมเป็นทานจะเป็นบาปไหม? เราให้ปัญญาคนมันจะเป็นบาปไหม? ถ้าเจตนาของเราให้คนอื่นตาสว่าง แต่ก็กลัวว่าจะไปขัดการทำบุญของคนอื่น การทำบุญนะ คนเราทำบุญ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงโครงการช่วยชาติ เวลาท่านบอกว่าอย่าให้ตระหนี่ ให้เสียสละ แต่ถ้าใครไปทำบุญกับท่าน หรือทำบุญต่อเนื่องท่านจะบอกว่า “ของปัจจัยมันหามายาก มันไม่ใช่หามาง่ายๆ หรอก มันไม่ใช่น้ำทะเลจะตักเอาๆ ทำก็ทำให้มีปัญญา ท่านบอกว่าที่ท่านพูดอยู่นี่ท่านพูดถึงคนที่ไม่ได้ทำ”

คนเรานี่นะ คนที่เสียสละ คนที่ใจเป็นธรรม ทำสิ่งใดก็พร้อมที่จะเสียสละ แล้วคนที่มาอยู่ด้วยกัน คนที่ตระหนี่มันก็มีใช่ไหม? คนที่เห็นแก่ตัวในสังคมมีไหม? มี ในสังคมมีคนที่ใจเป็นธรรม กับใจคนที่ตระหนี่ กับใจคนที่เป็นกลางๆ ฉะนั้น เวลาท่านเทศน์ ท่านบอกว่าท่านหมายความถึงคนที่มันไม่ให้ แต่คนที่ให้มันก็ต้องรู้จักบันยะบันยัง มันก็รู้การสมควร จะเอาที่ไหนมาให้ทุกวันๆ ถ้าคนให้ท่านมากๆ ท่านจะพูดอย่างนี้เลย ทั้งๆ ที่โครงการช่วยชาติท่านก็ต้องการเอามาค้ำจุนชาติ แต่ถ้าใครให้มากๆ ท่านจะบอกเลย

“มันไม่ใช่น้ำทะเลนะ เที่ยวไปตักเอามาจากไหน? เราพูดเราพูดถึงคนที่เขาไม่ให้ ไอ้คนที่ไม่ให้เราตอกย้ำไอ้คนนั้น ไอ้คนที่ตระหนี่บอกให้เสียสละ แต่ไอ้คนที่เสียสละอยู่แล้วนะให้พอสมควร”

แล้วสุดท้ายเวลาท่านทำนะ นี่คนทำนะ คนทำที่มีสติปัญญา คนที่เป็นธรรม เวลาท่านมาที่สวนแสงธรรม แล้วถ้าวันสุดท้ายท่านจะกลับนะ ท่านจะพูดบ่อย

“เราทำให้ลูกศิษย์ของเราบอบช้ำ” แหม คำนี้สะเทือนมากนะ

เวลาท่านพูด “เราเป็นคนทำให้ลูกศิษย์ของเราบอบช้ำ” บอบช้ำหมายถึงว่าเราก็ต้องดิ้นรนทำมาหากินใช่ไหม? แล้วเราได้เงิน ได้ทองมาเราก็เสียสละเพื่อประโยชน์กับเราใช่ไหม? แล้วท่านเป็นหัวหน้าที่จะให้ค้ำชาติ เราก็ต้องช่วยเหลือใช่ไหม? เพราะเรา ก็น้ำพักน้ำแรงของพวกเรานี่แหละ แต่ถ้าเราทำเป็นบุญกุศลก็เป็นบุญกุศลของเรา

แต่นี่พูดถึงมุมมองไง มุมมองของพระอรหันต์ มุมมองของครูบาอาจารย์เรา เวลาท่านเห็นเราทำกัน เวลาท่านจะกลับ วันที่ท่านจะกลับวันสุดท้าย เวลากลับจากสวนแสงธรรมท่านจะพูดคำนี้ครั้งสุดท้ายทุกที เวลาเทศน์จบ เห็นไหม “เราทำให้ลูกศิษย์ของเราบอบช้ำ” บอบช้ำ เหมือนพวกเราต้องขวนขวายเพื่อมาช่วยกันค้ำจุนไง เราขวนขวายกันมา นี่พูดถึงคนที่เป็นธรรม เห็นไหม ไม่ใช่ว่าเวลาเขาให้ หรือเขามาทุ่มเทแล้วเราจะลืมตัว ท่านไม่ลืมตัว คนที่มีสติ มีปัญญาไม่ลืมตัว

ฉะนั้น ลาภสักการะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความเชื่อถือและศรัทธา ถ้าความเชื่อถือ ศรัทธามันก็ต้องมีสติ มีปัญญาใช่ไหม? ถ้ามีสติ มีปัญญา เราทำสิ่งใด คนที่เขามีสติ มีปัญญาเขาจะรู้เลยว่าสิ่งใดเป็นธรรม และสิ่งใดที่ไม่เป็นธรรม คนที่ทำจนเกินกว่าเหตุท่านก็ยับยั้งไว้ ไอ้คนที่ไม่ทำ ไอ้คนไม่ทำเพราะอะไร? หมายความว่าเขามีกำลังของเขา แล้วถ้าเขาไม่ทำนี่โอกาสของเขา เพราะทำนี่ค้ำจุนชาติ

เขาบอกว่าการสร้าง การทำบุญนะ การสร้างโบสถ์วิหารสิ่งนี้จะได้เป็นบุญ แล้วโบสถ์วิหารมันเกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ ถ้ามันไม่เกิดจากแผ่นดิน แผ่นดินมันอยู่ที่ไหน? แผ่นดินมันก็คือประเทศชาติ แล้วเราค้ำจุนประเทศชาติให้พวกนั้นได้อยู่ ได้อาศัย นี่เวลาคนพูดมันจะได้บุญอย่างไร? ได้บุญอย่างไรนะ ไอ้บุญอย่างนี้มันเป็นเรื่องของวัตถุทาน แต่เวลาสุดท้ายแล้วเราก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าเราได้ทำสิ่งนั้นแล้ว อย่างเช่นปัจจุบันนี้หลวงตาท่านล่วงไปแล้ว ถ้าสิ่งที่เราได้ทำไป ได้ทำกับหลวงตาท่านไว้ ใครทำบวก ใครทำลบ ใครทำบวก เวลาระลึกถึงมันก็พอใจ เพราะโอกาสคนที่จะได้ทำแบบนั้นมันไม่มีอีกแล้วล่ะ มันผ่านไปแล้ว อดีตมันผ่านไปแล้ว

สิ่งที่เป็นอดีต เราเอามาคิด เอามาพิจารณาเพื่อ เพื่อเป็นบุญกุศล เพื่อให้จิตใจเราอบอุ่น เพื่อให้เราเกิดมา เห็นไหม เกิดร่วมสมัยกับครูบาอาจารย์ของเรา เราได้ประโยชน์ เราได้ตักตวง แต่คนที่เขาไม่ได้ทำ เขาเกิดร่วมสมัยแล้วเขาไม่ได้ประโยชน์ แต่คนที่ทำลบไว้ ทำลบไง ทำลบหมายถึงว่าขัดขวางต่างๆ คนๆ นั้นทำลบไว้ นี่มันก็ล่วงไปแล้ว ทีนี้มันจะแก้ไขกันอย่างไร? ก็อยู่ที่เขาจะแก้ไขกัน นี่พูดถึงคนถ้ามีสติปัญญานะ นี่เขาบอกว่า “พระทุศีล” ไง

ทีนี้คำว่าศีลมันมีหลายชั้น หลายตอน เราถึงบอกว่าสิ่งที่พระทุศีลมันเป็นเรื่องของบุคคลคนนั้น แต่ถ้าสังคมเขายอมรับ สังคมเขาขาดแคลน เขาต้องเอาสิ่งนั้นเจือจานกันไป เห็นไหม มันเป็นปัญหาสังคม ปัญหาของส่วนรวม แต่ถ้าเรามีปัญญาของเรา เราต้องเลือกคัดแยกของเราเอง เราจะไม่ไปร่วมกับอย่างนั้น ร่วมกับอย่างนั้นมันจะเป็นสายบุญสายกรรมกันไปไง สายบุญสายกรรมหมายความว่า พูดสิ่งใด คิดสิ่งใด มองมุมมองคล้ายๆ กัน มันจะร่วมมือกันไป แต่ถ้าเราไม่มีความคิดโต้แย้ง คิดตรงข้ามมันจะไม่ไปกับเขา สิ่งนี้มันจะเป็นประโยชน์นะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ามันจะเป็นบาปไหม? เราว่าไม่เป็นบาป ถ้าเป็นความจริงไม่เป็นบาป ถ้าเป็นเจตนา เจตนาให้คนตาสว่าง ถูกต้อง แล้วถ้ากลัวว่าไปขัดการทำบุญของเขา ขัดการทำบุญของเขามันมีอยู่ ๒ ประเภทนะ ทำบุญหรือทำบาป? ทำบุญแล้วมันเป็นสายบุญสายกรรม มันเป็นเจตนาของมันไปอย่างนั้นนะ อันนี้พูดถึงว่าถ้าพระทุศีลเนาะ จบ

ทีนี้มาอันนี้สิ ถึงบอกว่ามันตรงข้ามไง มันตรงข้าม นี่บอกว่า “รายงานผล” นะ

ถาม : ขอบคุณหลวงพ่อมาก ปัจจุบันเข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้นมากจากเว็บไซต์ของหลวงพ่อ แต่ก่อนเดินหาวัด บางแห่งบอกว่าบ้า บางแห่งบอกว่าโยมอ่านหนังสือปาฏิหาริย์มากเกินไป ปัจจุบันทำ ๒ อย่าง คือฟังหลวงพ่อทางเว็บไซต์และสวดมนต์

ตอบ : ปัจจุบันทำ ๒ อย่าง เราจะบอกว่าเขาไปวัด แล้วเวลาเขาปฏิบัติไปแล้ว พระที่เขาไปปฏิบัติ นี่มันจะเป็นธรรมแล้ว บอกว่าเขาบ้า เพราะมันตอบปัญหาไม่ได้ บอกว่าคนๆ นี้บ้า แล้วบางวัดก็บอกว่า อ่านหนังสือปาฏิหาริย์มากเกินไป ทีนี้คำว่าบ้า มันต้องวัดกันว่ามันบ้าอะไร? มันบ้าอะไร? ถ้าอย่างเราบ้าบุญ บ้าปฏิบัติ อ้าว บ้าก็ยอมรับว่าบ้า ถ้าบ้าปฏิบัตินะ บ้าปฏิบัติหมายความว่าเวลาเราตั้งใจปฏิบัติ เราตั้งใจ เราอยากจะปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีการกระทำเลยมันจะมีผลไหม? มันก็ต้องมีการปฏิบัติ

ทีนี้บอกปฏิบัติแล้วต้องนุ่มนวล ต้องเรียบร้อย นุ่มนวล เรียบร้อยอีกอย่างหนึ่งนะ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เวลากิเลสที่มันละเอียดขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันจะต่อต้าน มันจะต่อต้านนะ นี่เราทำงานยังไม่สำเร็จเลย เรายังมีธุระปะปังอยู่ มันขัดแย้งไปหมดเลย ถ้ามันขัดแย้งในหัวใจเราไปหมด นี่มันเริ่มต่อต้านแล้ว ทำไม่ได้ ทำนู่นก็มีปัญหา ทำนี่ก็มีปัญหา นี่เราต้องเข้มแข็งแล้ว ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมาเราต้องมีความจริงจังของเรา

ถ้ามีความจริงจังของเรา นี่ถ้าเราจริงจังปั๊บกิเลสมันก็จะเบาตัวลง แต่ถ้าเราไม่เข้มแข็งนะ ไอ้สิ่งที่เราคิดมันมีเหตุผลมาก พอมีเหตุผลมากนะ การกระทำขึ้นมานี่ล้มเลย เออ จริง เอาเก็บไว้ก่อนเนาะ เราทำธุระให้เสร็จก่อน ถ้าอย่างนี้ก็จบ แต่ถ้าเราจะเข้มแข็งขึ้นมา เขาบอกว่าเข้มแข็งไม่ได้นะมันเป็นกิเลส มันเป็นกิเลสนะ มันเป็นทิฐิ อ้าว สัมมาทิฏฐิมันก็ต้องมี ถ้าสัมมาทิฏฐิ พูดถึงเวลาว่าบ้า บ้าอะไร? ถ้าบ้าปฏิบัติ บ้าปฏิบัติแล้ว เวลาปฏิบัติแล้วมันก็ต้องมีเหตุ มีผล

นี่เข้าตรงนี้แล้ว ตรงที่บอกว่าเขาบอกว่าบ้า บ้านี่มันก็ต้องวัดผลกันไง ว่าปฏิบัติไปแล้วมันขาดสติอย่างใด? ถ้ามันขาดสติ ไม่มีเหตุมีผลมันก็บ้า แต่ถ้ามันมีสติ เห็นไหม แล้วมันไปรู้ไปเห็นขึ้นมา เวลาปฏิบัตินะ เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่มันต้องมีผลตอบสนอง ถ้าเรานั่งนะอย่างน้อยก็เมื่อย ถ้าเรานั่งไปแล้วจิตไม่ลงนะมันก็โต้แย้ง แล้วถ้าจิตมันลงล่ะ? ถ้าจิตมันลง ถ้ามันเห็นนิมิตล่ะ? เวลาจิตมันลง ถ้าจิตเป็นสมาธิ สมาธิธรรมดาโดยที่ไม่เห็นสิ่งใดเลยก็มี บางคนจิตจะเริ่มลง มันจะเริ่มวูบก็มี จิตมันจะควงก็มี นี่อย่างนี้บ้าไหม? อย่างนี้บ้าหรือเปล่า? ถ้าอย่างนี้มันเป็นอาการของใจ

นี่เวลาอาการของใจที่มันจะลง อาการของใจมันจะมีปัญหาของมัน ถ้ามีปัญหาของมัน เราจะแก้ไขตรงนี้อย่างไร? ถ้าเราแก้เขาไม่ได้ เราแก้เขาไม่ได้แล้วไปว่าเขาบ้า เราแก้เขาไม่ได้แล้วพาเขาออกเลยหรือ? ถ้าเราจะแก้ไขเขา เราจะแก้ไขเขาอย่างไร? ถ้าเราจะแก้ไขเขา เราก็ต้องรู้ ต้องเห็นของเรา เราต้องเข้าใจของเรา ถ้าบอกคนเขาสอนทำสมาธิ คนเขาสอนทำปฏิบัติ แต่เวลามันมีปัญหาขึ้นมานี่ไม่รู้เรื่องเลย พอไม่รู้เรื่องเลยมันก็วัดภูมิไง ว่าภูมิคนสอนมันไม่มี ถ้าภูมิคนสอนไม่มีมันก็พูดทำนองนี้แหละ นี่พูดทำนองนี้บอกว่าอ่านปาฏิหาริย์มากเกินไป

ถ้ามันเป็นปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์จริงๆ สิ ถ้าเขาเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ เขาจะแสดงอภินิหารให้เราดู ถ้ามันเป็นปาฏิหาริย์จริงๆ ถ้ามันเป็นปาฏิหาริย์ไม่จริง ปาฏิหาริย์ไม่จริงนั่นก็คือมันหลงไป ถ้าหลงไปเราก็แก้ตามนั้น นี่ถ้ามันเป็นปาฏิหาริย์จริง ถ้ามีภูมินะ ขอให้ปฏิบัติมาเถอะ พอปฏิบัติไปแล้ว ส่วนใหญ่แล้วมันปฏิบัติแล้วมันไม่มีภูมิมาคุยกันไง สิ่งที่ไม่มีภูมิมาคุยกันคือเขาไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งใด ปฏิบัติไปแล้วล้มลุกคลุกคลาน แล้วสิ่งใดที่มันจะเป็นประโยชน์มันก็ยังไม่ได้เห็นเลย ถ้ายังไม่เห็นเลย มันจะเอาสิ่งใดมาเป็นประโยชน์ล่ะ?

แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันมีภูมิของมัน เห็นไหม ถ้าจิตมันลง คนเรานะส่วนใหญ่แล้ว ๘๐ หรือ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ จิตมันสงบลงเฉยๆ ไม่เห็นอะไรหรอก เพราะสิ่งที่จะรู้ จะเห็นสิ่งใด เขาเรียกว่าจิตคึกคะนอง จิตคึกคะนองมันได้สร้างบารมีของมัน ถ้ามันสร้างบารมีของมันนะ พอมันไปถึงจุดตรงนั้นแล้วมันต้องแสดงอาการแบบนั้น ถ้าแสดงอาการแบบนั้น ถ้าครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ จะบอกว่าให้ตั้งสติแล้วกลับมาที่พุทโธ

ตั้งสติแล้วกลับมาพุทโธ คือกลับมาที่ตัวพลังงาน กลับมาที่ตัวจิต ถ้ากลับมาที่ตัวจิต เพราะจิตมันออก มันสงบแล้วมันถึงไปรู้สิ่งนั้น ถ้ากลับมาที่ตัวจิต สิ่งนั้นมันก็สงบลง เพราะเราต้องการความสงบใช่ไหม? นี่กลับมาที่ตัวจิต ถ้าตั้งสติแล้วกลับมาที่พุทโธ ถ้ากลับมาที่พุทโธ สิ่งที่รู้ ที่เห็นมันจะวางลง วางลงกลับมาสู่ใจ ถ้ากลับมาสู่ใจนั่นมันก็ถูกต้อง

ฉะนั้น ถ้ามันจะรู้จะเห็น มันจะเป็นสิ่งใดวางไว้ นี่ถ้าจิตมันสงบได้ จิตสงบได้เหมือนทุน ถ้าจิตใครสงบได้ พอมีทุนปั๊บเราจะทำธุรกิจ เราจะซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งใดก็ได้ ถ้าจิตมันสงบแล้ว ถ้ามันจะเกิดขึ้นมันจะเกิด ถ้าจิตเราไม่สงบเหมือนเราไม่มีทุน เราเร่ร่อน พอเราเร่ร่อน เราทำสิ่งใดเราก็หยิบยืมเอา หยิบยืมมาจากไหน? หยิบยืมมาจากพระไตรปิฎก หยิบยืมมาจากคำเทศน์ครูบาอาจารย์ว่าเป็นเหมือนเรา มันจินตนาการหมดแหละ ถ้ามันจินตนาการไป ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ เราปล่อยไปๆ นั่นแหละอันนี้ที่ว่ามันจะออกนอกลู่นอกทางไปแต่ถ้ามันมีสติมันก็กลับเข้ามาได้

ถ้ากลับเข้ามาได้ เห็นไหม นี่ถ้าครูบาอาจารย์มีภูมิ สิ่งที่ปฏิบัติแล้วมันจะเป็นประโยชน์ ถ้าสิ่งนี้ถ้าครูบาอาจารย์ไม่มีภูมิก็พูดตามตำรา พอพูดตามตำรานะ เวลาคนไม่ได้ปฏิบัติมีอาการต่างๆ ขึ้นมาแล้วยุ่ง ยุ่งเพราะอะไร? เพราะตอบไม่ได้ พอตอบไม่ได้กรรมฐานมันก็เลย นี่ตอนนี้มันมีปัญหาตรงนี้ ตรงที่ เหมือนหมอเลย เหมือนหมอเถื่อน เจอคนไข้ วินิจฉัยโรคไม่ได้ พอวินิจฉัยโรคไม่ได้บอกว่าเป็นบ้า อ๋อ เป็นบ้าก็ถือว่าจบใช่ไหม? แต่ถ้าวินิจฉัยโรคได้นะ แก้ตามอาการนั้น คนไข้นั้นจะหายจากโรคได้ ถ้าคนไข้คนนั้นหายจากโรคได้นะ เดี๋ยวพอร่างกายแข็งแรง พื้นฐานดี เดี๋ยวปฏิบัติไปเขาจะรู้ของเขา อันนี้อันหนึ่งใช่ไหม

นี่เริ่มต้นบอกว่า “พระทุศีล” ทุศีลเพราะว่าไปแล้วมันเป็นเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ แต่อันนี้เวลาไปปฏิบัติแล้ว นี่พอปฏิบัติมันก็เป็นธรรมะ เพราะมันไม่ใช่ลาภสักการะ เป็นธรรมะ เป็นการให้ผลประโยชน์ เป็นการฟังธรรมเพื่อปัญญา ถ้ามีปัญญามันก็จะแยกแยะได้ ถ้าไม่มีปัญญามันทำสิ่งใดไม่ได้เลย พอทำสิ่งใดไม่ได้เลย นี่เราเสียประโยชน์ ถ้าพูดถึงจิตใจเรามันจะมีคุณค่ามากกว่า คุณค่าเพราะเราแสวงหาในการปฏิบัติ

ปัจจุบันมีอยู่ ๒ อย่าง นี่ปัจจุบัน ในปัจจุบันนี้เขาทำอยู่ ๒ อย่าง หนึ่งฟังหลวงพ่อทางเว็บไซต์ คือว่าคงจะไม่ไปหาใครแล้วแหละ ฟังเว็บไซต์มันยังดีกว่า เว็บไซต์มันไม่มีชีวิตนะ มันยังแยกแยะได้ว่าอะไรผิด อะไรถูก (หัวเราะ) ไปหาพระ พระมีชีวิตด้วย มีชีวิต มีหู มีตา ยังแยกแยะไม่ถูก

ถาม : ปัจจุบันนี้ทำอยู่ ๒ อย่าง ๑. ฟังแต่เว็บไซต์ ๒. สวดมนต์ เดิมเคยตัวโยก

ตอบ : เห็นไหม เมื่อก่อนเขาถามมาว่าตัวโยกมาก คลอนมาก แล้วโยกมา คลอนมากทำอย่างใด? นี่โยกมาก คลอนมาก

ถาม : เดิมตัวโยกมาก คลอนมาก เหมือนจะลงไปในอะไรสักอย่างหนึ่งจนลืมตาไม่ได้ ทำให้ไม่ได้สวดมนต์ เดี๋ยวนี้คงดีขึ้น

ตอบ : ถ้าดีขึ้น ส่วนใหญ่มันต้องดีขึ้น ถ้าเราดีขึ้นนะ คือจิตใจเราจะดีขึ้น ถ้าเรารู้จักแก้ไข โดยปกติ โดยการนั่งภาวนา เรานั่งภาวนาเพื่อจิตสงบ เราไม่ได้นั่งภาวนาเพื่อโชว์ว่าใครนั่งสวย นั่งงาม เราไม่ได้โชว์ท่านั่ง ถ้าใครนั่งแล้วจิตสงบนะ นี่เราเอาตรงนั้น แต่พอเรานั่งไปแล้วมันโยก มันคลอน ถ้าเรามีสตินะเราก็ยับยั้งไว้ นี่มีสติมันจะยั้งไว้ได้ แต่ถ้ามันไม่มีสติ หรือว่ามันยั้งไว้ไม่ได้เราไม่ต้องไปยั้งปล่อยไป ปล่อยอาการอย่างนั้นไป เพราะอาการอย่างนั้นมันไม่ทำลาย เพราะเราไม่ได้นั่งเอาท่าสวย เรานั่งเพื่อเอาจิตสงบ

ถ้าจิตเรามีสติไง เราอยู่กับความรู้สึก ถ้าความรู้สึกมันดีขึ้น จิตมันดีขึ้น สิ่งนั้นเราทำเพื่อความสงบระงับ พอสงบระงับแล้ว พอจิตมันสงบระงับ หมายถึงว่ามันปล่อยวางความฟุ้งซ่าน ปล่อยวางความเครียด ปล่อยวางความกดดันในใจแล้ว พอมันสงบแล้ว ถ้ามันคลายออกมาก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาไตร่ตรอง ทบทวนในการนั่งสมาธิก็ได้ ทบทวนในชีวิตเราก็ได้

ในชีวิตเรานี่เราทบทวน พอทบทวนไปแล้วนี่นะ ทบทวนจิตบ่อยๆ มันจะดูแลรักษาจิต ถ้าดูแลรักษาจิตได้ จิตกับเราจะอยู่ด้วยกัน แล้วการประพฤติปฏิบัติมันจะมั่นคง แต่ถ้าเราไม่ทบทวนนะ ปฏิบัติแล้วปฏิบัติเล่า กิเลสมันจะแทรกทันทีนะ กิเลสมันจะแทรกเข้ามาเลยนะ เห็นไหม นั่งสมาธิแล้วก็ไม่ได้อะไร? เห็นไหม คนนั้นเขาไม่ต้องนั่งเขายังสุขสบายกว่าเรา นี่กิเลสมันแทรกนะ แล้วมันทำให้การปฏิบัติเราไม่มั่นคงตรงนี้ไง ไม่มั่นคงว่าเดี๋ยวมันก็แฉลบไปทางนู้น เดี๋ยวมันก็แฉลบไปทางนี้ แต่ถ้าเรามีสตินะเราพิจารณาของเรา

ชีวิตนี้มีค่า ที่ใดมีค่า ชีวิตต่างๆ เราพิจารณาของเราอย่างนี้ ฝึกหัดใช้ปัญญา พอฝึกหัดใช้ปัญญา การปฏิบัติเราจะมั่นคง พอปฏิบัติมั่นคง เรารักษาดูแลใจของเรา เหมือนวัวผูกไว้ วัวผูกไว้คือใจของเรามีสติปัญญาดูแลรักษาไว้ วัวปล่อย ในทางบ้านนอกนะ ถ้ามันมีแบบว่าที่สาธารณะที่เขาให้เลี้ยงสัตว์ เขาจะปล่อยสัตว์เลี้ยงเขาไปตามที่สาธารณะนั้น เวลาจะใช้งานมันต้องตามหามันนะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาโคของเรา ใจของเรา เรามีสติปัญญารักษาไว้ทั้งวัน เหมือนสัตว์เลี้ยงเรานี่เราดูแลรักษาไว้ เวลาจะใช้งานนะเราก็จับเชือกนั้นน่ะ ปลดเชือกมันที่เราผูกไว้ นี่ใช้งานได้เลย จิตใจที่เราดูแลรักษาไว้ เวลาภาวนาเราภาวนาได้เลย แต่เวลาสัตว์เลี้ยงเราไม่ดูแลรักษา คือทำหน้าที่การงาน วันๆ หนึ่งคิดร้อยแปดพันเก้า พอตกเย็นขึ้นมาจะมาภาวนานะ นี่เราจะวิ่งหาสัตว์ของเรา วิ่งหาใจของเรา แล้วหายาก

พอเริ่มต้นก็ยาก ทุกอย่างก็ยาก พอนั่งแล้วก็เบื่อหน่าย พอจะนั่งสมาธิเราก็เบื่อหน่าย นั่งแล้วมันก็ไม่ได้ผลประโยชน์ แต่วันทั้งวันเราไม่ดูแลรักษาไว้ แต่ถ้าเราดูแลรักษาไว้ทั้งวันนะ เวลาจะนั่ง เห็นไหม มันก็จะดีขึ้น พอดีขึ้น การปฏิบัติของเรามันจะต่อเนื่องๆ แล้วมันจะมั่นคงไปเรื่อยๆ เพราะเราดูแลใจเรา ถ้าดูแลใจเรา อย่างนี้มันจะเป็นประโยชน์นะ

ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูดมา เห็นไหม ถ้าเราวัดผลของเรา เราไปหาครูบาอาจารย์ เราไปตามวัดแล้วเขาตอบสนองเราไม่ได้ เขาบอกถึงวิธีการ ถึงการปฏิบัติของเรามันเจริญรุ่งเรืองไม่ได้ นี่ฟังเว็บไซต์ ฟังเว็บไซต์ดีกว่า เพราะมันไม่ต้องหาใคร คลิ๊กเข้าไปมันก็เห็นแล้ว แล้วก็ฟังเอา แล้วก็แยกแยะอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ แล้วถ้าสวดมนต์ สวดมนต์คือสรรเสริญพุทธคุณ เวลาเราสรรเสริญพุทธคุณ สรรเสริญถึงพุทธคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พุทธคุณ ปัญญาคุณ เมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา

ชีวิตเรานะเรารักษาของเราอย่างนี้ หน้าที่การงานเราก็ทำของเราไป ถึงเวลาเราก็ภาวนาของเรา นี่สิ่งนี้มันจะเปิดตา ๒ ข้าง ข้างหนึ่งคือชีวิตทางโลก เราก็พยายามมีความสงบสุขของเรา อีกข้างหนึ่งเราเปิดตาทางธรรม ทางธรรมคือทางผลของหัวใจของเรา ถ้าหัวใจของเรามันมีสิ่งนี้เป็นที่พึ่งอาศัย คนเรามี ๒ ตา ตาหนึ่งคือตาโลก ตาหนึ่งคือตาธรรม แต่โลก อย่างเช่นปัจจุบันนี้เขาลืมกันตาเดียวคือตาโลก ตาธรรมเขาไม่ค่อยได้สนใจของเขา ถ้าเรามีตาธรรมของเรา เราจะได้ประโยชน์ของเราตรงนี้ไง

นี่ประโยชน์มันเกิดตรงนี้ ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วนะ มีพระเราก็กราบพระ ไม่มีพระเราก็จะกราบพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานในหัวใจของเรา สมัยพุทธกาลนะชนบทประเทศหาพระยากมาก เวลาจะบวชพระนะต้องพระ ๑๐ องค์ถึงเป็นสังฆกรรมบวชพระขึ้นมา พระโสณะ พระกัจจายนะให้พระโสณะไปขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชนบทประเทศ ๕ องค์ขอให้บวชได้ เวลาพระไม่มี พระหายาก เห็นไหม เขาแสวงหากัน เขาก็ขวนขวายหากัน

แต่นี้ของเราพระเต็มบ้านเต็มเมือง แต่เราไปคุย ไปสนทนาธรรมกับท่านแล้วท่านตอบเราไม่ได้ ท่านบอกเราไม่ได้ เราก็กลับมาดูแลใจของเรา รักษาใจของเรา ดูแลใจของเรา แล้วที่ไหนเป็นที่พึ่งพาได้เราก็หาที่พึ่งพานั้น ที่ไหนพึ่งพาไม่ได้เราก็พยายามพึ่งพาตนเอง พึ่งพาหัวใจของเรา ตั้งใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง