ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เรื่องศาสนา

๒๗ พ.ค. ๒๕๕๕

 

เรื่องศาสนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะเอานี่ก่อน เพราะว่าให้หู ตาสว่างก่อน จะได้ฟังชัดๆ ไง

ถาม : การปฏิสนธิจิตที่อยู่ในครรภ์ของมารดา จิตนี้รับรู้เต็มตั้งแต่ปฏิสนธิใช่ไหม? แล้วติดตัวมาจนโตใช่ไหม? (นี่พูดถึงปฏิสนธินะ)

ตอบ : ปฏิสนธิจิต เวลาลงในครรภ์ เพราะเวลาเขาทำกิฟต์ ถ้าพูดถึงเขาทำ บางทีเขาทำแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จเพราะอะไร? แล้วถ้าประสบความสำเร็จเป็นเพราะอะไร? ฉะนั้น เวลาพ่อแม่มีเพศสัมพันธ์ ถ้าพ่อแม่มีเพศสัมพันธ์ ลูกก็ต้องเกิดโดยธรรมชาติของมันสิ ทำไมบางคนเป็นหมันล่ะ? คนเป็นหมันทำไมลูกไม่เกิด? เพราะอะไร? เพราะมันไม่มีปฏิสนธิจิตลง

ถ้าปฏิสนธิจิต การกำเนิด ๔ ที่พระพุทธเจ้าพูดไว้การกำเนิด ๔ ถ้าการกำเนิดนะ กำเนิด ๔ เห็นไหม เกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในครรภ์ เกิดในโอปปาติกะ โอปปาติกะนี่เทวดาเกิดไม่ต้องอาศัยอะไรเลย อาศัยบุญกรรมพั่บไปเลย แต่เวลาเราเกิดเป็นมนุษย์ที่ว่าลงในครรภ์ จิตมันสมบูรณ์มาตลอด แต่ด้วยสิ่งที่ว่ามันธรรมชาติของการเกิดในครรภ์ ๙ เดือน การเกิดในครรภ์ ๙ เดือน ธรรมชาติของเขารู้ได้แค่นั้น

ถ้าธรรมชาติรู้ได้แค่นั้น ทีนี้เรามาคิดถึง นี่เวลาเราคิด เราคิดกันเองว่าในปัจจุบันนี้เราเป็นอย่างไร ถ้าเราอยู่ในครรภ์เราต้องรู้อย่างนี้ ถ้ารู้อย่างนี้ปั๊บเด็กมันก็ต้องรู้ของมันโดยธรรมชาติของมัน ทีนี้โดยธรรมชาติของมัน นี่ไงในทางจิตวิทยา เห็นไหม นี่เป็นไปตามวัย วัยนี่มันครอบไว้ วัยของเด็ก วัยของผู้ใหญ่ วัยของผู้ราตรียาวนาน นี่มันเป็นไปตามวัย ถ้าเป็นไปตามวัย นี้เป็นตามวัยเพราะว่ามันได้ฝึกมา แล้วถึงที่สุดแล้วมันก็ต้องพลัดพรากไป เวลาตายนะจิตนี้ออกจากร่างไป แล้วร่างกายก็เหลือไว้ แต่เวลาพระอรหันต์ตายล่ะ?

เวลาพระอรหันต์ตาย กับปุถุชนตายแตกต่างกัน เวลาพระอรหันต์ตาย เพราะพระอรหันต์ฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสคือสังโยชน์ที่มันร้อยรัด ร้อยรัดระหว่างความรู้สึกนึกคิดกับจิตที่ผูกพันกัน ถ้ามันขาดแล้วมันไม่มีสิ่งร้อยรัด ถ้ามีสิ่งร้อยรัดปั๊บ พลังงานนั้น นี่ถ้าธรรมธาตุ ธรรมธาตุ เขาบอกว่าจิตปฏิสนธิ จิตปฏิสนธิ จิตอย่างไร? จิต ที่ไหนมีจิต ที่นั่นมีภพ มีจิตมีสถานที่ มีเจ้าของ มีผู้รับรู้ แต่ถ้าทำลายจิตแล้ว ทำลายจิตแล้วแล้วมันเหลืออะไร? มันเหลืออะไร?

นี่พูดถึงว่าปฏิสนธิจิตไง เพราะเขาถามว่า ถ้าเด็กนี่ เวลาถ้าจิตมันรับรู้ตั้งแต่ในครรภ์ ในครรภ์มันเป็นน้ำมันใส น้ำมันข้น กลายเป็นปัญจกะ เป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นต่อม เป็นแขน เป็นตุ่มแล้วยื่นออกไป ฉะนั้น ไอ้อย่างนี้มันรู้ในระดับนั้นไง แต่รู้อย่างนั้นรู้ไม่ได้ รู้แบบเรานี่ไม่ได้ เพราะอยู่ในครรภ์ ทางวิทยาศาสตร์ เวลาคนท้องให้ลูกฟังเพลงไงเพื่อให้สุขภาพจิตดี

นี่วิทยาศาสตร์คิดได้เท่านี้ วิทยาศาสตร์คิดได้สภาวะแวดล้อม คนเราจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี จะเป็นคนที่ดี สภาวะแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ ที่ไม่ดี จะทำให้เด็กไม่ดี วิทยาศาสตร์คิดได้แค่นี้ แต่ถ้าเป็นธรรมนะ กรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมที่มันมีแต่อดีต กรรมมันฝังใจมา อชาตศัตรูเวลาเกิดนะ เวลาคลอดออกมา อาวุธในพระราชวังแสงแวววาวหมดเลย มันเกิดความประหลาด พอเกิดความประหลาดเขาก็ประชุมพราหมณ์ ประชุมพราหมณ์ว่าคนนี้เกิดมามันจะมีสิ่งใดกับแว่นแคว้นของตัว

พราหมณ์นี้ทายแล้วว่าลูกนี้เกิดมาจะฆ่าพ่อ เขาบอกว่าให้ฆ่าลูกทิ้ง ทีนี้พระเจ้าพิมพิสารทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ก็จะเลี้ยงดูในสภาวะแวดล้อมที่ดีมากๆ ตั้งชื่อว่า “อชาตศัตรู ไม่เป็นศัตรูกับใคร” อชาตศัตรู เป็นคนดีมาก แล้วเลี้ยงในสภาวะแวดล้อมที่ดีมากๆ นี่แก้เคล็ดไง แก้เคล็ด นี่สภาวะแวดล้อมที่ดี ทีนี้ด้วยกรรมเก่า พอกรรมเก่า เห็นไหม กรรมที่มันสะสมมานั่นแหละ เวลาโตขึ้นมาๆ ก็เป็นคนดี เป็นคนดีเพราะว่าเลี้ยงมาอย่างดี สภาวะแวดล้อมที่ดี แต่ถึงที่สุดแล้วเวรกรรมมันให้ผลหมดนะ เวรกรรมให้ผล

เวลาพระเทวทัต พระเทวทัตนี่เป็นลูกพี่ลูกน้องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พ่อของพระเทวทัตกับพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพี่น้องกัน ฉะนั้น เป็นพระมาด้วยกัน เวลานางวิสาขามาเยี่ยมพระนะ อันนี้มาฝากพระอานนท์ อันนี้มาฝาก.. ไม่คิดถึงพระเทวทัตเลย มันก็เกิด อืม เราก็ลูกกษัตริย์เหมือนกัน แล้วจะทำอย่างไรให้เขาสนใจ เราก็ต้องหา ถ้าประสาโลกก็ว่าหามวลชน หาคนที่มีศักยภาพ จะเอาใคร? ก็มองไปที่อชาตศัตรู

นี่เลี้ยงมาดี เลี้ยงมาดีที่สุดเลย เวลามาถึงแล้วนี่แปลงกาย เพราะมีฤทธิ์ไง ฌานโลกีย์มีฤทธิ์แปลงเป็นงูไปพันบนศีรษะ อชาตศัตรู วัยรุ่น เด็กๆ แล้วมีสิ่งที่มาพันศีรษะของตัว คิดดูว่าจิตใจคนจะคิดอะไร? จิตใจคนมันก็ยอมจำนนไง พอยอมจำนนก็นี่บอกว่า

“ให้ฆ่าพ่อซะ ยึดอำนาจ”

“ทำไมต้องฆ่า? พ่อให้อยู่แล้ว ถึงเวลาพ่อก็ต้องให้”

“แล้วเกิดถ้าเอ็งตายก่อนล่ะ?”

เริ่มคลอนแคลนแล้ว ยุทุกวัน แต่คนดีนะ อย่างนั้นก็จับพ่อไปขังไว้ไง จับพระเจ้าพิมพิสารไปขังไว้ ฆ่าไม่ลง ฆ่าไม่ได้ แล้วคนดีวัดกันตรงไหน? เพราะท่านก็มีภรรยาเหมือนกัน ทีนี้พอวันสุดท้ายเขามาส่งข่าวไง อำมาตย์มาส่งข่าว เพราะยึดอำนาจ เอาพ่อไปขังแล้วยึดอำนาจ พอยึดอำนาจเสร็จเขามาส่งข่าวว่าลูกเกิดกับพ่อตาย นี่มาเจอกันที่ประตูว่าใครจะรายงานก่อน ก็ตกลงกันว่าให้รายงานว่าลูกเกิดก่อน ก็เข้าไปรายงานว่าลูกชายเกิดแล้ว

พอลูกชายเกิดนะ อู้ฮู ลูกคนแรกมันมีความสะเทือนใจมาก พอลูกเกิด อู้ฮู เรารักลูกเราขนาดนี้ พ่อเราต้องรักเราอย่างนี้ คิดถึงพ่อนะ ปล่อยพ่อ ไอ้คนที่สองเข้ามาบอกว่าพ่อตายแล้ว นี่พูดถึงว่าสภาวะแวดล้อมทางวิทยาศาสตร์คิดกันอย่างนี้ ตอนนี้วิทยาศาสตร์ จิตวิทยาพยายามจะคิดมาก พยายามจะบริหารจัดการให้มนุษย์เป็นคนดีให้หมด ให้มนุษย์เป็นคนดี ทุกคนก็คิดปรารถนาอย่างนั้น แต่เรื่องกรรม เรื่องกรรมคือการกระทำ ถ้าทำดีได้ดี

นี่พูดถึงว่า “ปฏิสนธิจิต”

ถาม : พอปฏิสนธิจิต ถ้าอยู่ในครรภ์แล้วเขาจะรับรู้เหมือนเราไหม?

ตอบ : ถ้าบอกว่ารับรู้ เขาเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่ในท้องหรือ? เขาก็เป็นเด็กในท้อง เขาก็รับรู้ได้ในสภาวะแบบนั้น ในสภาวะของทารก แล้วพอเขาโตขึ้นมาในครรภ์ ๙ เดือน ๙ เดือนนั้นเขารับรู้ของเขาได้ขนาดนั้น แล้วเวลาคลอดมาแล้ว ดูสิเด็กที่ไร้เดียงสาเราต้องดูแลอย่างดีเลย เป็นไปตามวัยไง แต่อภิชาตบุตร พระพุทธเจ้าเกิดที่สวนลุม เห็นไหม เด็กเกิดมาเดินได้ ๗ ก้าวมันเป็นไปได้อย่างไร? เด็กเกิดเดี๋ยวนั้นแล้วเดินได้ ๗ ก้าวมันเป็นไปได้อย่างไร? บารมีธรรมนะ นี่เรื่องนี้มันมี

ฉะนั้น ปัญหานี้เขาถามมา เพราะถามนี่ เรารู้ว่าถามนี่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วถ้าตอบเป็นวิทยาศาสตร์นะ วิทยาศาสตร์ไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะเหนือวิทยาศาสตร์มาก พุทธศาสตร์เหนือวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ สสาร พิสูจน์ได้เรื่องวัตถุ แต่พิสูจน์เรื่องจิต เรื่องนามธรรมไม่ได้ แต่เวลาพูดถึงธรรมะก็ต้องอิงวิทยาศาสตร์ เพราะมันเป็นนามธรรม ต้องอิงวิทยาศาสตร์ ฉะนั้น อิงวิทยาศาสตร์แล้วมันถึงจะเป็นตามจริงนั้น

ฉะนั้น เรื่องที่ว่า เห็นไหม

ถาม : การปฏิสนธิจิตที่อยู่ในครรภ์ของมารดา จิตนี้จะรับรู้ตั้งแต่ปฏิสนธิใช่ไหม? แล้วติดตัวมาจนโตใช่ไหม?

ตอบ : คำว่าติดตัวมาจนโตนี่ไม่ใช่ มันเป็นอย่างนั้นเลย จิตหนึ่งเกิดในสถานะเป็นอย่างนั้นตลอด ปัจจุบันตลอดไง เขาก็เป็นจิตตั้งแต่เด็กนั่นแหละเขาโตมา อย่างเช่นในปัจจุบันนี้เป็นนาย ก. เวลานาย ก. ตายแล้วไปเกิดเป็นนาย ข. จิตนาย ก. อยู่ไหน? แล้วจิตนาย ข. กับนาย ก. เป็นอันเดียวกันหรือเปล่า?

ทีนี้บางคนเขาสอนอย่างนี้ไง บอกว่ามันเป็นเหมือนต้นกล้วย ต้นกล้วยเวลาเกิดแล้ว ต้นกล้วยมันแตกหน่อใหม่ ว่าจิตแตกหน่อใหม่ ไม่ใช่ ทีนี้บอกว่ามันเป็นจิตนั้น มันเป็นจิตนั้น

อันนี้ปัญหามันเยอะมาก นี่พูดถึงจิตนี้ก่อนนะ แล้วจะมาเรื่องนี้

ถาม : วิธีปล่อยวางจิตจากความสงบ ในจิตที่มีความรู้คาดหวัง มีตัณหาแฝงมาอยู่ทำอย่างไรคะ?

ตอบ : กรณีอย่างนี้ เวลาเราศึกษานะ ศึกษาทางปริยัติ ปริยัตินี่มันก็เป็นการศึกษา สุตมยปัญญาคือการศึกษา พอศึกษามันเป็นวิชาการทั้งหมด ทีนี้เวลาปฏิบัติหน้างาน เวลาไปหน้างานมันจะมีอุปสรรค มันจะมีสิ่งกีดขวาง การทำงานหน้างานมันจะมีอุปสรรคไปหมดเลย ฉะนั้น การปล่อยจิตว่าง ถ้าเราศึกษาปริยัติมามันก็เป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นทฤษฎีหมดเลย นี่ทำจิตให้สงบ พอจิตสงบแล้วก็วิปัสสนา ใช้ปัญญาวิปัสสนาฆ่ามัน พอฆ่ามันเสร็จ ทำลายแล้วมันก็วาง ว่างจริง

หลวงตาบอกว่า “ว่างข้างนอก ไม่ว่างข้างใน” ว่างข้างนอก เห็นไหม เรากำหนดให้ความรู้สึกว่าว่างหมดเลย เราปล่อยวางหมดเลย แต่เวลาพระพุทธเจ้าสอนนะ

“เธอจงมองโลกนี้เป็นความว่าง แล้วกลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิเพราะผู้รู้ว่าว่าง”

ทุกคนบอกว่าว่างๆ ว่างหมดเลย แต่ตัวทั้งตัวนี่ขวางมันอยู่เลย อ้าว ว่างๆ หันไปไหนก็ว่าง แต่ไอ้คนที่เห็นว่างมันยังยืนขวางตลอดเลย ให้กลับมาถอนอัตตานุทิฏฐิตัวนี้ ให้กลับมาถอนไอ้ผู้รู้ว่าว่าง ถ้าถอนผู้รู้ว่าว่างได้จริง มันจะว่างจริง แล้วถ้าถอนไอ้ผู้รู้ว่าว่างมันอยู่ไหนล่ะ? นี้ก็ย้อนกลับมาคำถามไง

ถาม : นี่วิธีการปล่อยจิตว่าง ถ้าจิตมันสงบแล้วเราจะทำอย่างไร?

ตอบ : พูดแล้วนะ พูดทางทฤษฎีทุกคนพูดได้หมด ทางการศึกษา เห็นไหม ดูสิจบปริญญาตรีทั้งหมดเลย จบปริญญามาด้วยกันทั้งหมดเลย คนทำงานมีเชาวน์ปัญญาทำงานเก่งมาก บางคนจบปริญญาตรีมานะหัวหกก้นขวิดทำอะไรไม่ถูก ทำอะไรทำไม่ได้ จบมาเหมือนกัน เรียนมาเหมือนกัน รู้มาเหมือนกัน แต่ทำไมทำไม่ได้?

อันนี้ก็เหมือนกัน มันจะวางได้จริงมันต้องรู้จริง เห็นจริง คือมันจับได้ไง ปริยัติคือการศึกษา ศึกษามาแล้วถ้าปฏิบัติได้จริง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้าปฏิบัติ การปฏิบัติคือการจับต้องแล้วใคร่ครวญ ทำให้มันว่างได้จริง ขยำมันจนว่าง นี่เวลาเกิดไตรลักษณ์มันเกิดอยู่ แล้วมันย่อยสลายต่อหน้า แล้วผู้รู้มันเห็นสลายต่อหน้า มันช็อก มันช็อกแล้วช็อกเล่า ช็อกทีเดียวไม่จบนะ พิจารณาแล้วปล่อยวางไม่ใช่ เพราะนี่ตทังคปหานมันชั่วคราวนะ การปล่อยวางนี่ชั่วคราว นี่เวลาจิตเราดีๆ เราพิจารณาดีๆ เราปล่อยวางโล่งโถงหมดเลย วัน ๒ วันคิดอีกแล้ว วัน ๒ วันมันมาอีกแล้ว มันขาด มันปล่อยวางชั่วคราว

กรณีอย่างนี้มันต้องมีครูบาอาจารย์ เราจะพูดว่าจะรู้จริงมันต้องมีการปฏิบัติจริง มันเป็นภาคปฏิบัติที่จะต้องพิสูจน์ตรวจสอบ พิสูจน์ตรวจสอบ พิสูจน์ตรวจสอบจนจริง แต่ของเราส่วนใหญ่แล้วพอไปเจอแล้วมันทึ่ง คนไม่เคยเจอ คนไม่เคยเจอแล้วไปเจอนี่อึ้งนะ อู้ฮู อู้ฮู อู้ฮูนั่นมันเพิ่งเจอครั้งแรกไง พอมันเจอบ่อยๆ เข้ามันไม่อู้ฮูแล้ว ชักชิน ชักรู้แล้ว แต่ถ้าอู้ฮู อู้ฮู ตทังคปหานบ่อยครั้งเข้า

ฉะนั้น เวลาคนไปถามปัญหาหลวงตา ท่านตอบปัญหามาเยอะ เวลาท่านตอบปัญหาท่านบอกว่า

“ถูกต้อง”

“แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ?”

“ให้ซ้ำ”

ให้ซ้ำคือการทำงานให้ครบวงจรของมัน มันก็จะปล่อยอีก ซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป พอซ้ำเข้าไป มันปล่อยบ่อยครั้งเข้ามันเกิดความชำนาญ พอเกิดความชำนาญ ระยะห่างไง ระยะห่างของจิตมันเริ่มปล่อยชำนาญขึ้น สังโยชน์เครื่องร้อยรัด สังโยชน์เหมือนน็อต เหมือนสกรูที่มันจับ เวลาสิ่งใดที่น็อตจับไว้ ถ้าน็อตมันจับอยู่เราจะทำอย่างไร? จะดึงออกไปได้อย่างไร?

สังโยชน์ ๓ นะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิ นี่ทิฐิ จิตใต้สำนัก แน่นอนของเรา เกิดมาของเราแท้ๆ กินอิ่ม นอนอุ่นก็เราทั้งนั้นแหละ บอกไม่ใช่ ไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ แต่จิตใต้สำนึก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของเรา เราปล่อยวางกันได้แค่สัญญา แค่ความศึกษา แต่เราปล่อยจิตใต้สำนึกที่สังโยชน์มันรัดอยู่นั้นไม่มีใครเคยเห็น แล้วเวลาพิจารณาซ้ำไปๆ มันจะลึกเข้าไปถึงตรงนั้น

คำว่าซ้ำมันจะชำนาญขึ้นๆ จนถึงที่สุดนะ ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า มันตทังคปหานมาบ่อยๆ เวลามันสมุจเฉทมันขาดนะ ผลัวะ! กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ จิตรวมลง แล้วสิ่งนั้นจะเข้ามาสู่จิตนี้อีกไม่ได้เลย นี่โสดาบันนะ นั่นแหละว่างจริง แล้วก็ว่างขึ้นไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น คำว่าทำอย่างใด? ทำอย่างใด นี่พอทำเราก็แบบว่าทำงานให้เสร็จก็เสร็จใช่ไหม? อย่างเช่นเขาล้างถ้วย ล้างจานเสร็จแล้ว เขาเก็บใส่ตู้เสร็จแล้ว เสร็จ นี่เสร็จแล้ว แล้วพรุ่งนี้กินไหมล่ะ? ล้างทุกวันนะ นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันจบแล้วนี่มันเสร็จ แต่เรายังดำรงชีพต่อไป กิเลสมันปล่อยวางชั่วคราวนี่มันยังมีของมันอยู่ เดี๋ยวมันมา เดี๋ยวมันมา แล้วเวลาปฏิบัตินะ เวลาจิตเสื่อมแล้วพยายามเอาขึ้นมานี่ยากมาก แต่ถ้าจิตเราดีอยู่แล้วเราใคร่ครวญของเรา แล้วเราทำของเราไปเรื่อยๆ มันจะเป็นของเรา

นี่เขาบอกทำอย่างใด? เห็นไหม ทำอย่างใด ถ้าทำอย่างนี้ปั๊บมันก็มี เรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ท่านมีประสบการณ์ ท่านจะรู้เลยว่า อย่างเช่นขึ้นบันไดนี่ ๑ ๒ ๓ ๔ ก้าวขึ้นมาเลยบันไดจะเป็นอย่างนั้น จิตมันจะพัฒนาของมัน โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี เป็นอื่นไปไม่ได้ อริยสัจมีหนึ่งเดียว มีหนึ่งเดียวเท่านั้น ถ้าขึ้นมานี่มันต้องมาเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย ถ้าเป็นอย่างอื่นนะต้องผิดคนหนึ่ง ต้องผิดคนหนึ่ง อาจารย์กับลูกศิษย์ต้องผิดเด็ดขาด ต้องผิดคนหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ามันเหมือนกัน นี่ครูบาอาจารย์ผ่านมาแล้ว ตรงนี้เป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึง “ทำอย่างใด” นะ

ข้อต่อไป

ถาม : จิตสงบแล้วให้ใช้ปัญญาต่อ ใช้ปัญญาพิจารณาทำอย่างไร? กราบนมัสการ

ตอบ : จิตสงบแล้วนะ จิตสงบ ถ้าคำว่าจิตสงบ เมื่อก่อนเราจะบอกว่าต้องจิตสงบ ถ้าจิตไม่สงบ เวลาใช้ปัญญาแล้วมันจะเป็นโลกียปัญญา ปัญญาแบบโลก

ปัญญาโลกหมายถึงว่ามันเกิดจากภวาสวะ เกิดจากภพ เกิดจากความรู้สึกของเรา ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกของเรานะแล้วเกิดความคิด ความรู้สึกอันนี้เป็นอวิชชา อวิชชานี่คิดไปมันก็คิดเจือปน เห็นไหม ที่ว่าเจือปนไปด้วยตัณหา ทีนี้พอเราทำความสงบ ความสงบนี่จิตมันสงบลง พอสงบลง เวลามันออกมามันออกมาโดยพลังงานสัจจะที่มันเป็นจริง เป็นจริงมันถึงจะเป็นมรรค ถ้ามันเป็นมรรคนะ จิตสงบแล้ว เวลาจิตมันสงบ เขาบอกว่า

“แล้วเมื่อไหร่จิตสงบล่ะ? ทำไมต้องจิตสงบแล้วค่อยใช้ปัญญา?”

ฉะนั้น เราก็ถือว่าเราอยากได้ของจริงใช่ไหม? เราก็พยายามทำจิตให้สงบ พอทำจิตสงบมันทำเพียวๆ ทำจิตสงบอย่างเดียว ทีนี้จิตสงบ เห็นไหม จิตสงบ ถือศีลก็ต้องมีปัญญา ทำทานก็ต้องมีปัญญา เราทำอะไรก็ต้องมีปัญญา เพราะปัญญาแยกแยะว่าควรทำอย่างใด ควรทำอย่างใด ฉะนั้น เวลาจิตสงบแล้วมันฝึกใช้ปัญญาได้ ปัญญาที่เป็นโลกียปัญญานี่แหละ แต่ปัญญาอย่างนี้มันทำให้เราทำความสงบของใจได้ง่ายขึ้น ทำความสงบของใจใช่ไหม? จิตมันมีความชำนาญ คนชำนาญการแล้วทำอะไรได้ง่ายขึ้น

การใช้ปัญญาอย่างนี้ เราจะรู้ว่ามันเป็นปัญญาแบบโลกก็ต้องใช้ ฝึกหัดเริ่มต้นจากนี้ไง ฝึกหัดเริ่มต้นจากโลก ฝึกหัดเริ่มต้นจากเรา ถ้าเริ่มต้นจากเรา เริ่มต้นจากเรามันมีกิเลสอยู่ก็ใคร่ครวญมันไป พอมันปล่อยวางเข้าๆ มันก็เป็นสัมมาสมาธิ แต่พอมันไปจับโดยที่จิตมันเป็นสากล จิตที่มันไม่มีสมุทัยเจือปนเข้ามา ที่ว่าสัมมาสมาธิของท่านมันมีสมุทัยเจือปนเข้ามา นี่เวลาพิจารณาไปมันก็มีความเจือปนของกิเลสเข้าไปด้วย พอจิตมันสงบจริงๆ มันไม่มีความเจือปน พอมันจับมันเป็นสัจจะ สัจจะคือมันเป็นมรรค เป็นมรรค ๘ พอมรรค ๘ พอมันจับปั๊บ พอมันจับได้ กาย เวทนา จิต ธรรม ตามความเป็นจริง มันสะเทือนนะ

แบงก์เวลาเขาพิมพ์ออกมา แบงก์จริงก็มี แบงก์ปลอมก็มี นี่เราใช้แต่แบงก์จริง แบงก์จริงเรารู้ได้ว่าแบงก์จริง แล้วแบงก์ปลอมมาล่ะ? นี่เรามีแต่ของปลอมๆ เราใช้แต่ของปลอมอยู่ พอมาเจอของจริงนี่มันแตกต่าง ความคิดที่มันเป็นความจริงจิตมันรู้ ถ้ามันจับความจริงนะมันสะเทือน สะเทือนเพราะมันสะเทือนอะไร? ธรรมดาของคนเราอยู่ใต้อำนาจของกิเลส แต่พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบแล้วมันจับกาย เวทนา จิต ธรรม โดยความเป็นจริงมันสะเทือนกิเลส อย่างเช่นเราอยู่ปกติของเรา เราว่าเราทำถูกต้องทุกคน แต่ถ้าวันไหนเราสำนึกว่า อืม ทำมานี่ผิดตลอดเลย เราสะเทือนใจไหม?

จิตถ้ามันรู้ของมัน พอมันรู้ว่าสิ่งที่เราทำมานี่มันไม่ถูกต้อง มันสะเทือนใจมาก มันพิจารณา ใช้ปัญญาพิจารณามาเรื่อยๆ ไง พอมันเจอความจริงเข้ามันรู้ว่าอันนั้นไม่จริง เพราะเราต้องรู้ว่าอะไรจริงกับไม่จริง ถ้าเราไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง เราจะแยกได้อย่างไรว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง นี่ไงพอมันเจอความจริงเข้า เอ๊อะ ที่ทำมานี่มันไม่จริงเลยนี่นา พอไม่จริงปั๊บมันก็จะพลิกมาอันที่จริง

นี่พูดถึงว่า

ถาม : จิตสงบแล้วใช้ปัญญาต่อ ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างไร?

ตอบ : จะใช้ปัญญาพิจารณาอย่างไร ใช้ปัญญาพิจารณามันก็อยู่ที่บัว ๔ เหล่า คนที่มีบุญวาสนา คนที่มีบุญวาสนาคือมันทำง่ายไง คนที่มีวาสนานะ ปฏิบัติแล้วมันจะปลอดโปร่ง มันจะโล่งโถง คนที่ไม่ค่อยมีวาสนานะมันก็มีอุปสรรคปานกลาง คนที่ทำวาสนามาต่ำต้อยนะ ปฏิบัติไปนี่ล้มลุกคลุกคลาน กระเสือกกระสน ทุกข์อย่างไรก็ตาม มันอยู่ที่ต้นทุนไง ต้นทุนอันนี้มันทำให้จริตของคน ความคิดของคนแตกต่างกัน

นี่ไงธรรมะเป็นแบบนี้ มันถึงไม่เป็นวิทยาศาสตร์ไง ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์นะ สิทธิเสรีภาพ ยกมือๆ หนึ่งคนเท่ากับหนึ่งคะแนนเสียง จริงหรือ? หัวหน้ามันไม่ให้ยก ยกได้ไหม? เขาสั่งไม่ให้ยก ยกหรือเปล่า? นี่ไงเวลาคิดคิดอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมมันจะเป็นแบบนี้ มันเป็นธรรมมันเป็นโดยข้อเท็จจริง คือเราทุกข์เอง เราทุกข์เอง เราสุขเอง เราได้ของเราเอง เราต้องทำของเราเอง

ถาม : นี่เราพิจารณาอย่างไร?

ตอบ : พิจารณาโดยหลักที่ศึกษามาถูกต้องแล้วแหละ แต่ แต่มันพิจารณาไปมันอยู่ที่วาสนาของคน ถ้าคนทำได้มันจะเป็นความจริง แล้วมันจะเห็นจริงได้ง่าย แต่ถ้าคนที่เห็นจริงไม่ได้เราก็พยายามทำของเรา ฉะนั้น เราพูดบ่อย คนปฏิบัติอย่าไปเทียบวาสนากัน ถ้าเขาพิจารณาแล้ว เขาทำได้นะสาธุ เราก็อยากทำให้ได้เหมือนกัน ทำไมเขาทำได้ ทำไมเราทำไม่ได้? มันจะใช้จำนวนเลขมานับกันไง จะทำให้เหมือนกันๆ

ไม่ใช่ ใครทำได้สาธุ โอ้ เก่งเนาะทำได้ บอกบ้างเนาะ ช่วยแนะนำบ้าง แต่ของเราเราก็ทำของเราไป อย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ เขาทำของเขามา เราพยายามทำของเรา ถ้าได้แล้วมันจะเป็นความจริงเหมือนกัน

ถาม : บางทีก็เกิดคำถามว่า ตามรู้แล้ว รู้ร่างกายแล้ว แล้วจากนั้นทำอย่างไรต่อ? หรือก็แค่ตามรู้ไปเฉยๆ คะ

ตอบ : อันนี้มันเป็นที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เราบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าให้เราพูดได้เต็มปากนะเขาเรียกว่า “เป็นโลก” เป็นโลกกับเป็นธรรม ถ้าปฏิบัติเป็นโลกมันก็ได้โลก ถ้าปฏิบัติเป็นธรรมมันก็ได้ธรรม

เราปฏิบัติแบบโลก เราก็ได้โลกนะ ไปปฏิบัติกัน ได้ปฏิบัติไหม? ได้ แล้วได้อะไรมา? ได้ประกาศนียบัตรมาค่ะ ได้ประกาศนียบัตรมา ทำแล้วได้ประกาศนียบัตรมา แต่ถ้าทางธรรมล่ะ? ไปปฏิบัติแล้วได้อะไรมา? ได้ความรู้ ความเข้าใจ ได้ความสำนึกในชีวิต ได้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นว่าชีวิตนี้สั้นนัก แล้วหน้าที่การงานของเราเป็นอย่างไร? ถ้ามันได้อย่างนั้นมันเป็นความจริงไง นี้ได้แบบโลก

ทีนี้บอกว่า

ถาม : บางทีเกิดคำถามว่าตามรู้แล้ว รู้ร่างกายแล้ว

ตอบ : ตามรู้แล้วนี่นะมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าตามรู้แล้วนะ ตามรู้ ตามเห็น ตามรู้ความรู้สึกนึกคิด ถ้าตามความรู้สึกนึกคิด เราคิดอะไรอยู่? ที่เราคิดกันอยู่นี่เพราะสติมันขาด พอขาดมันก็คิดมา พอสติเราตามความคิดมันหยุดเลยนะ ถ้าสติทันความคิดหยุดเลย หยุดมานี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าหยุดแล้วทำอย่างไรต่อ? หยุดแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก คิดแล้วใช้ปัญญาไล่ต่อไปมันก็หยุดอีก มันก็เป็นสมถะ

นี่ตามรู้กาย รู้ตัวทั่วพร้อม ก็แค่นั้นจริงๆ แค่นั้นจริงๆ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะถ้ามันเป็นสมาธิ เขาบอกเป็นสมาธิอยู่แล้ว สมาธิเกิดเอง ใช่ ทุกคนมีสมาธิอยู่แล้ว ถ้าไม่มีสมาธิ เราต้องเข้าโรงพยาบาลหมดเลย เพราะมันเป็นสติ สมาธิของปุถุชน สมาธิของมนุษย์ แต่เวลาปฏิบัติแล้วเขาต้องการสมาธิ พื้นฐานของสมาธิมากกว่านี้ มากกว่านี้เพราะอะไร? เพราะว่าปุถุชน กัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนหนานะ เวลาคนหนา รูป รส กลิ่น เสียงมานี่รับรู้แบบวิทยาศาสตร์ รู้เต็มๆ หู รู้เต็มๆ เสียงหมดเลย แต่ถ้าเราพิจารณาของเราเข้าไปนะ จิตมันเริ่มสงบนะ

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

นี่รูป รส กลิ่น เสียงมันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร มันล่อไง อู๋ย เสียงเพราะ เสียงดี เวลาเขาด่ามา ไม่เอาๆ เสียงนี้ไม่เอา เวลาเขาชม โอ๋ย เสียงดีๆ เวลาเขาว่ามา ไม่เอาๆ มันเป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เป็นบ่วงของมาร มันรัดคอ พอรัดคอ แต่ถ้าเรามีสติปัญญารู้ตัวทั่วพร้อม เสียงสักแต่ว่าเสียง มันก็ปล่อยเสียง เราเป็นเรา เสียงเป็นเสียง

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

ถ้าปัญญามันไล่ทันนะ ถ้าไล่ทันนี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ถ้าเกิดสมาธิมา พอเสียงมามันรู้ก่อนเลย นี่เราอยู่เฉยๆ นะ เสียงนี้จะไปกระทบหูเอง แต่ถ้าอยากจะฟังว่าพูดอะไร? หลวงพ่อว่าอะไรนะมันส่งมาที่นี่หมดแล้ว แล้วพอฟังแล้ว อืม ตกๆ หล่นๆ นะ แต่ถ้านั่งเฉยๆ นะ อืม พูดนี่เข้าใจหมดเลย นี่เสียงมันมากระทบ ถ้าเรารักษาจิตนะ เสียงอันเดียวกัน ถ้าคุณภาพของจิตมันดีมันควบคุมได้ เสียงอันเดียวกัน คุณภาพจิตนี้มันเรรวน เป็นขี้ข้าให้เสียงเลย พอเสียงมาทีหนึ่งก็ผลัวะเจ็บ ผลัวะปวด ผลัวะปวด

ฉะนั้น ถ้ารู้แล้วๆ รู้แล้วมันก็อย่างที่ว่าประสบการณ์ไง รู้แบบโลก รู้แบบธรรม รู้แบบโลกก็รู้ว่าเขาพูดอะไรนะ เขาพูดเรื่องสิ่งใด เห็นไหม รู้ความหมายของคำพูดนั้น นี่รู้แบบโลก ถ้ารู้แบบธรรมนะ เสียงสักแต่ว่าเสียง เสียงมีอำนาจเหนือเราหรือ? เสียงเขาพูดกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แล้วคนๆ นี้เขาเพิ่งมาบอกต่อ เหตุการณ์ตั้งแต่ปีที่แล้วทำไมเราเพิ่งมาตกใจเอาตอนนี้ นี่ถ้าจิตใจมันมีนะ จิตใจมันพัฒนาขึ้นมา พอตามรู้ตัวทั่วพร้อม ถ้ารู้แล้วก็คือรู้แล้ว แต่ถ้ามีสมาธิมันลึกซึ้งกว่านี้นะ ความที่รู้จะชัดเจนมาก เหมือนที่ว่าจิตมันเป็นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่หรือเด็กมันแตกต่างกัน

ฉะนั้น

ถาม : หรือตามรู้ไปเฉยๆ

ตอบ : ตามรู้ไปเฉยๆ ก็เป็นปฏิบัติในชีวิตประจำวัน (หัวเราะ) เป็นห่วงนักว่าจะไม่ได้ใช้ชีวิตประจำวัน ปฏิบัติเพื่อชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวัน แล้วถ้าเกิดเป็นเทวดาต้องใช้ชีวิตประจำวันอย่างนี้ไหม? ถ้าเป็นพรหมจะใช้ชีวิตประจำวันอย่างนี้หรือเปล่า? ปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ฉะนั้น ถ้าปฏิบัติมันจะรู้ไปมากกว่านี้ นี่พูดถึงการปฏิบัติเนาะ

ถาม : วิธีการตรวจสอบว่าคิดดี ทำดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง มาถูกทางแล้ว ไม่หลงไปกับสิ่งอื่น

ตอบ : วิธีตรวจสอบนะ วิธีตรวจสอบเริ่มต้นถ้าเราอยู่ในศีล เวลาความคิดของเรามันคิดนอกกรอบออกไป ถ้าเราคิดแล้วมันตัดสินกันไม่ได้นี่ศีล เราตัดสินกันไม่ได้ว่าเราคิดถูก คิดผิดเอาศีลมา ทีนี้เวลาเอาศีลมา เวลาพระนี่นะ เวลากายกรรมเป็นอาบัติ มโนกรรมเป็นอาบัติไหม? ความคิดเป็นอาบัติไหม? ถ้าความคิดเป็นอาบัตินะ โอ้โฮ พระเป็นอาบัติตายเลย เพราะความคิดมันคิดร้อยแปด ถ้าความคิดเป็นอาบัติ

ความคิดไม่เป็นอาบัติ แต่มีกรรม มโนกรรม ถ้ามโนกรรม ถ้าเธอย้ำคิดย้ำทำ เธอจะคิดบ่อยครั้ง ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริต จนเป็นนิสัย นิสัยคิดอย่างนี้ตลอดไป แต่ถ้ายับยั้งแล้วเราจะเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิด ฉะนั้น ว่าเราคิดดี ทำดี เห็นไหม แล้วทำอย่างไรที่ถูกต้อง ความถูกต้องนะ ความถูกต้องเวลาคิดแล้วมันมีเหตุ มีผล กิเลสนี่นะมันไม่มีเหตุมีผล กิเลสไม่มีเหตุมีผลกับใครเลย แล้วกิเลสขี่หัวทุกคน แต่กิเลสมันกลัวธรรม ธรรมคือเหตุและผล เวลาเรามีเหตุมีผลไปพูดกับมันนะ นี้ผิด นี้ไม่ถูกต้อง คุยกับมัน

เวลาปัญญามันเกิดมันเหมือนเก้าอี้ดนตรี เวลาความคิดที่ดีเกิดขึ้น เพราะมีศีล สมาธิ ปัญญารองรับมันจะคิดที่ดี นี่มันนั่งอยู่เต็มหัวใจมีความสุข แต่ถ้าเวลาจิตใจมันตกต่ำนะ มันคิดทางฝ่ายมาร มารมันนั่งบนเก้าอี้ในหัวใจนะ มันคิดแต่เรื่องของมัน เห็นไหม นี่เปรียบเทียบคิดดี ทำดี ถ้าฝ่ายดีมันนั่งอยู่บนหัวใจนะ นี่ธรรมะนั่ง ฝ่ายธรรมะนั่งอยู่ในหัวใจ เราจะมีความสุข เราจะมีความปลอดโปร่ง ถ้าฝ่ายกิเลสนั่งบนหัวใจนะ อึดอัดขัดข้อง คับแค้นไปหมดเลย จะต้องทำให้ได้ จะต้องทำให้ได้ นั้นคือฝ่ายมารมันนั่งอยู่ แต่ถ้าฝ่ายธรรมนั่งอยู่นะ เราคิดสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดี

นี่เวลาปฏิบัติไปมันจะรู้ไง สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิก็รู้ได้ เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา ปัญญาที่ฟาดฟันกิเลส กับปัญญาที่หลอกให้เราหลงไปกับการกระทำนี่มันแตกต่างกัน มันจะรู้อย่างนี้ขึ้นมา การปฏิบัติมันถึงเจริญขึ้นไปเรื่อยๆ การปฏิบัติมันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าการปฏิบัติมันดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะถูกต้องไปเรื่อยๆ อันนี้พูดถึงว่า “คิดดี ทำดีตรวจสอบอย่างไร?”

อันนี้เขาว่า

ถาม : ทำอย่างไรให้เลิกใจร้อนได้คะ?

ตอบ : ทำอย่างไรจะให้เลิกใจร้อน ส่วนใหญ่แล้วเวลาเขาปฏิบัติกันนะ เวลาคนปฏิบัติใหม่ๆ คนไม่ปฏิบัติมันก็ไม่มีสิ่งใดควบคุมใจเลย เหมือนคนที่ว่านับถือศาสนาพุทธโดยทะเบียนบ้าน ทุกคนบอกนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธสอนอะไร? ไม่รู้ พอมาศึกษาปั๊บ ศาสนาพุทธสอนอะไร? มันก็ว่ากันไปตามแต่ใครจะมีวุฒิภาวะรู้ได้มาก แต่ถ้าตามความจริง ศาสนาพุทธสอนอะไร? สอนอริยสัจ สอนสัจจะความจริง ทุกข์ ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ทุกข์ สมุทัย สมุทัยตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม นิโรธคือการดับทุกข์ ดับทุกข์ด้วยมรรคญาณ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาศึกษาขึ้นมาแล้ว มันจะรู้ได้มาก ได้น้อยขนาดไหน ถ้ารู้ได้มาก ได้น้อยขนาดไหน เวลาคนส่วนใหญ่เขาจะพูดกันอย่างนี้ พูดว่าเมื่อก่อนเป็นคนใจร้อนนัก เมื่อก่อนเมาหยำเปต่างๆ เดี๋ยวนี้มาปฏิบัติธรรมแล้วเลิกหมดเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดีหมดเลย เราก็ตาพองเลยนะ โอ้โฮ คนนี้เป็นคนดี มันดีแบบโลกไง มันดีแบบโลก แต่ถ้าว่าคนใจร้อนนะ ถ้าเขาใจร้อนนะเขายังไม่โดนจี้ใจดำ ถ้าโดนจี้ใจดำมันก็หลุด มันหลุดไง มันควบคุมไว้ด้วยมารยาท

ฉะนั้น เวลาคนที่ว่าใจร้อน เพราะคนเรา นี่เขาเรียก “คนเราเข้ากันโดยธาตุ” ถ้าคนธาตุไฟเข้ากับไฟ คนธาตุน้ำเข้ากับน้ำ หมายความว่าถ้าเรานิสัยเหมือนกัน เราจะไปชอบเหมือนกัน จะไปกันโดยธาตุ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาพูดกับพระสารีบุตร เห็นไหม นี่คนเป็นไปโดยธาตุ ลูกศิษย์พระโมคคัลลานะพวกมีฤทธิ์หมดเลย พวกมีฤทธิ์เป็นลูกศิษย์พระโมคคัลลานะเพราะชอบเหมือนกัน พอชอบเหมือนกันมันมีวุฒิภาวะที่ใจมันจะทำได้เหมือนกัน เวลาลูกศิษย์พระสารีบุตรนี่ปัญญาหมดเลย ลูกศิษย์ของเทวทัตลามกหมดเลย มันชอบ มันชอบเหมือนกันหมดเลย ฉะนั้น นี่คือธาตุ

ฉะนั้น ถ้าเราเป็นธาตุไฟ ใจร้อนนี่ธาตุไฟ ใจร้อนนี่คนมีปัญญา คนที่มีปัญญานี่นะจะมีปัญญา แต่พวกนี้จะร้อน แต่ถ้าคนเย็นๆ นะ เรือเกลือ เรื่อยๆ นะ นั่นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ทีนี้พอธาตุไฟมันร้อน คำว่าร้อนนะ ร้อนแต่มีปัญญา ทีนี้มีปัญญาเราจะใช้สติปัญญา ใช้สติปัญญาเรายับยั้งของเราเอง ยับยั้งของเรา ถ้ามันมีปัญญาไล่ทันนะ ไล่ทัน เวลามันทำไปนะปัญญามันจะเข้ามาที่เราว่าคุ้มค่าไหมล่ะ? ทำไปแล้วมันคุ้มค่าไหม?

เริ่มต้นนะมันจะทำได้ยาก แต่ถ้ามันมีสติปัญญามันจะฝึกตัวเราเอง ทุกคนต้องฝึกนะ เราดูสิเวลาสัตว์ เห็นไหม พวกวัว พวกควาย ถ้าเขาฝึกแล้วเขาจะขายได้ราคาหนึ่ง ถ้าวัวฝูงเขาขายราคาหนึ่ง จิตใจที่เราไม่ได้ฝึกเราก็ปล่อยหัวใจไปแบบวัว แบบควาย ไม่มีเจ้าของ ถ้ามีสติยับยั้งมัน สติควบคุมมัน เราก็ควบคุมฝูงวัว ฝูงควายนั้น ฝูงวัว ฝูงควายนั้นเราฝึกขึ้นมาแล้วมันจะใช้งานได้ดี ใช้งานคือเราควบคุมมันได้

นี่ถ้าควบคุมมันได้ ใจร้อน พอบอกใจร้อนปั๊บเราจะเปลี่ยนให้จากไฟเป็นน้ำเลย เกิดมาเราสร้างบุญ สร้างกุศลมาขนาดนี้ เราทำมาขนาดนี้ แล้วเราจะเปลี่ยนจากไฟมาเป็นน้ำเลยหรือ? แล้วเอาอะไรมาเปลี่ยนล่ะ? แต่ถ้านี่มันเป็นไฟใช่ไหม? เราจะรักษาไฟนี้ให้ไฟนี้ใช้ประโยชน์ ให้ไฟมันอยู่เฉพาะของมัน เราก็ดูแลรักษาของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่เขาพูดกัน เขาพูดกันแค่นี้ไง แล้วเราก็เชื่อกัน แต่เราไม่เชื่อนะ เขาบอกว่าเมื่อก่อนนะ อู๋ย โมโหโกรธามาก เดี๋ยวนี้ไม่โมโหเลย เดี๋ยวนี้เป็นคนดี จริงหรือเปล่า? เขาชอบอะไรนี่ขอเขาเลย ทำให้ผิดใจเขาเลย ดูซิว่าเดี๋ยวนี้เขาจะดีจริงหรือเปล่า? ดีอย่างนี้มันดีแบบมรรยาทไง ทีนี้มรรยาทนี่คือโลก แต่ปฏิบัติถ้าความเป็นจริงนะมันต้องถอดถอนกิเลสไง พยายามทำใจของเราให้สงบ ถ้าสงบแล้วนะเราพิจารณาของเรา แยกแยะของเรา

ไอ้เรื่องใจร้อน นี่ใจร้อน คุณสมบัติไง มันมีลูกศิษย์คนหนึ่งมาเหมือนกัน เขาก็มาพูดนี่แหละ สามี ภรรยา เขาบอกว่า

“หลวงพ่อ ดูสิสามีใจร้อนมากเลย”

เราก็ถามเขากลับนะ “เอ็งมีสามี แล้วเวลาออกไปสังคมเป็นทันคน ไม่โดนเขาหลอก ไม่โดนเขาข่มขี่ เอ็งชอบไหมล่ะ? เอ็งชอบสามีเอ็งสงบเสงี่ยม ออกไปแล้วนะไม่ทันเขาเลย เอ็งชอบไหม? อ้าว มันก็ต้องเลือกเอาสิ”

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นโดยธาตุไง โดยธาตุคือเราทำมาแบบนี้ เราแก้ไขแบบนี้ ทุกคนก็รู้ว่ามันไม่ดี อยากฉลาดด้วย อยากจะควบคุมได้ด้วย อยากจะได้ทุกอย่างเลย มันไม่ได้ครบหรอก แต่ได้สิ่งที่ดี มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นธาตุไฟ แล้วเราก็ดูแลของเรา ไม่ใช่ว่าเราส่งเสริมนะ ไม่ใช่ แต่เราเห็นด้วยกับความเป็นอย่างนี้

ถาม : โยมได้ยินมาตลอดว่า การกินอาหารเหลือจากประเคนนั้นไม่ควร เพราะว่าชาติหน้าจะต้องไปรับใช้ผู้ที่ประเคนของที่เรากินเข้าไป แท้จริงเป็นอย่างไรคะ? โยมรู้สึกไม่ค่อยกล้ากินของวัดเลยค่ะ

ตอบ : กินได้ มันเป็นแบบนี้ มันเป็นว่าเขาพูดอย่างนี้ไง เขาบอกว่ามันเป็นของสงฆ์ ตามเรื่องจริงๆ มันเป็นของสงฆ์ เวลาเป็นของสงฆ์แล้ว เป็นของสงฆ์แล้วเราไปกินแล้วเป็นเปรต เป็นเปรตเพราะว่าหัวหน้าเขาไม่ได้ทำให้มันถูกต้องไง ถ้าถูกต้องนะ เวลาถูกต้อง นี่เราถวายสงฆ์ เวลาทำเป็นสังฆทานถวายสงฆ์ สงฆ์ต้องสวดไง ยัคเฆ ภันเตฯ คือของนี้เป็นของของสงฆ์ ของของกลาง ของกลางแล้วให้เถระได้ตักก่อน ให้พระได้ตัก ให้สามเณร คฤหัสถ์ นี่ของส่วนกลาง แต่เรามาแบ่งปันกันนี่ถูกต้อง

ฉะนั้น สิ่งที่เราถวายสงฆ์ ถวายพระแล้ว นี่พระอนุญาตอยู่แล้วไง เพราะว่าถ้าพระอนุญาตแล้วไม่มี แต่ของของสงฆ์มันเป็นแบบนี้ ของของสงฆ์นี่ลึกลับซับซ้อนมากนะ ลึกลับซับซ้อนมาก แต่ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะเราขออย่างเดียวจบหมดเลย เพราะมีผู้ให้ ผู้ให้นะ สงฆ์ให้ได้ ของในวัดแบบว่าเราแจกเพื่อประโยชน์สังคมนี่ได้ เว้นไว้แต่ของที่เป็นครุภัณฑ์ ของหนัก เช่นตั่ง เตียงต่างๆ ของวัด วัดให้วัดได้ แต่วัดให้กับญาติโยมไม่ได้

อย่างเช่นเครื่องมือเขาไว้ซ่อมไง เพราะโบราณของพวกนี้มันหาได้ยาก แต่ในปัจจุบันของมันหาได้ง่าย ทุกอย่างก็มีพร้อมหมด ฉะนั้น มีพร้อม แต่ธรรมวินัยมันมีมา ๒,๐๐๐ กว่าปี ยังไม่มีใครแก้ไข ฉะนั้น พระเราก็ไม่ค่อยทำอย่างนั้น ทำให้มันถูกต้อง มันมีวิธีทำได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าของที่ประเคนแล้ว แล้วถ้าเราไปกินแล้วชาติหน้า ไม่มีหรอก เพราะของเขาไม่มี ของเขาได้เสียสละให้กับพระไปแล้ว แล้วพระนี่เป็นของสงฆ์ใช่ไหม? พระก็ได้ตักใส่บาตรแล้ว พระได้ตักใส่บาตรแล้ว พระได้ตักแล้ว ทำตามเลย ทำตามพระพุทธเจ้าสอนเลยว่าให้พระได้ตัก คือว่าให้พระได้เอาไว้ฉันแล้ว เหลือจากนั้นเพื่อประโยชน์

ประโยชน์กับคฤหัสถ์ ประโยชน์ที่เขามา ประโยชน์กับโยมเสร็จแล้วนะ มันประโยชน์กับคนงาน คนที่มาอยู่วัด คนที่ช่วยงานวัด เห็นไหม เสร็จจากคนช่วยงานวัดเสร็จแล้ว เขาก็ยังมีสัตว์ มีพวกสุนัข มีพวกสัตว์นี่เลี้ยง พอเสร็จแล้วนะ เศษเหลือนั้นเขาก็ไปหมักอีเอ็ม จบ ใช้ได้หมด ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ไอ้อย่างที่เขาว่าๆ เขาว่าๆ อย่าไปเชื่อนะ เขาว่าๆ เพราะตอนนี้มันมีพุทธทำนายเนาะ อะไรนะที่เขาว่า ที่พระพุทธเจ้าพยากรณ์ เขียนกันมาเยอะ

เขามาแจกนะ เราจะถามเขาเลยว่า เอ็งเกิดทันพระพุทธเจ้าหรือ? พระพุทธเจ้าพยากรณ์ให้เอ็งได้ยินหรือ? ถ้าเอ็งไม่ได้ยิน ถ้าเอ็งเกิดไม่ทันพระพุทธเจ้านะ ถ้าพยากรณ์เอ็งก็คัดมาจากพระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกเราก็ดูอยู่นะ มันไม่มีหรอกไอ้เรื่องที่เอ็งพูดๆ นี่มันอยู่ตรงไหนในพระไตรปิฎก? ไม่มีหรอก

ทีนี้พอบอกพุทธพยากรณ์ พวกนี้ล้มตึงเลย เชื่อ เชื่อไปแล้ว พระพุทธเจ้าบอก “อจินไตย ๔” พุทธวิสัยไม่มีใครคาดหมายได้ ปัญญาพระพุทธเจ้านี่ โลกนี่เป็นอจินไตย คำว่าอจินไตยมันเหนือการคาดหมายทั้งหมด เรื่องพุทธวิสัย เรื่องโลก เรื่องกรรม เรื่องฌาน ๔ อย่างนี้เป็นอจินไตย เรื่องโลกเป็นอจินไตย โลกนี้แปรสภาพไหม? แปร แต่โลกนี้บอกว่าโลกแตกโลกเติกไม่มี พระศรีอริยเมตไตรยจะไปตรัสรู้ที่ไหนถ้าโลกมันแตก ถ้าโลกมันแตกพระศรีอริยเมตไตรยจะมาตรัสรู้ที่ไหน? อนาคตวงศ์อีก ๑๐ องค์นะ พระพุทธเจ้าข้างหน้ายังมีอีกนะ ถ้าโลกมันแตกไปแล้วพระพุทธเจ้าจะไปตรัสรู้ที่ไหน?

พุทธทำนาย พุทธทำนาย โอ้โฮ แล้วชาวพุทธมันเชื่อกันได้อย่างไร? งงมาก แล้วบอกไม่ได้ ไม่จริง ไม่มีอะไรจริงเลย แต่ความเปลี่ยนแปลงเพราะศาสนาพุทธสอนถึงอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง มันเคลื่อนไหว มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นอนิจจังเราถึงไปยึดมันไม่ได้ เราอยู่กับมันโดยความเข้าใจมัน เพราะชีวิตเราก็เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้ก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจัง เรามีปัญญาบริหารจัดการมัน แหม มันจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นมันเป็นเรื่องหนังวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่ความจริง

ถาม : วิธีการอย่างไรที่จะช่วยเพื่อนให้ลืมอดีตที่เขาเคยนั่นมาต่อกัน

ตอบ : อันนี้มันเป็นอะไรนะ ทุกคนอยากช่วยนะ ทุกคนเวลาใครมีทุกข์อยากให้คนอื่นพ้นจากทุกข์ ทุกคนเวลาใครมีทุกข์เราอยากให้พ้นจากทุกข์ แต่ทุกข์ของคน ทุกข์ของเขานะ ถ้าเขายึดมั่นถือมั่น เขาโอบอุ้มของเขาไว้ขนาดนั้น เราจะไปพูดตามนี่ไม่ได้

มันมีอยู่กรณีหนึ่งเขาเป็นสามี ภรรยากันนะ แล้วสามีนี่แสนดี แสนดีเลย แล้วภรรยาก็รักสามีมาก พอรักสามี บอกว่าสามีเรานี่ดีมากๆ เลย เรารักมาก เราจะดูแลสามีเราให้สุดยอดเลย แปลกนะกรรมนะ พอคิดอย่างนั้น รุ่งขึ้นนะสามีออกจากห้องน้ำมาล้มเสียชีวิตเลย พอเสียชีวิตมันจะตามสามีไปให้ได้ จะทำร้ายตัวเองตามสามีไปให้ได้ จะตามไปให้ได้ เพื่อนฝูงดึงขนาดไหน ดึงแล้วดึงอีกนะจะฆ่าตัวตายอย่างเดียว เผลอจะวิ่งให้รถชนเลย ก็ดึงกันอยู่อย่างนั้นแหละ ดึงกันไป ดึงกันมา สุดท้ายแล้วเขาก็ดันไปหาหลวงตา พอไปถึงหลวงตานะ ขึ้นไปหาหลวงตาบอกว่าเขาจะฆ่าตัวตายตามสามีไป

หลวงตาบอก “เชิญเลยฆ่าตัวตาย ฆ่าได้เลย”

พอจะฆ่าได้เลยเขาบอกเขาจะฆ่าตัวตายใช่ไหม? แต่หลวงตาบอกว่า

“มีข้อแม้อันหนึ่ง ต้องให้ลูกมันฆ่าก่อน” เพราะเขามีลูกคนหนึ่ง ให้ลูกมันฆ่าตัวตายก่อน แม่มันค่อยฆ่าตามไป

เขาบอกว่า “ถ้าลูกฆ่าตัวตายไปแล้วใครจะสืบสกุลล่ะ?” แม่เขาถามนะ

หลวงตาก็ถามกลับ “แล้วถ้าแม่มันตาย แล้วลูกมันอยู่กับใครล่ะ?”

โอ๋ย ช็อกเข้านั่นเลย กลับฟื้นเลย พอฟื้นมานะไปโทษเพื่อน เพื่อนนี่ใจร้าย ไม่เคยดูแลกันเลย ไม่ช่วยเหลือกันเลย ดึงเกือบตาย เวลาดึงอยู่มันไม่เห็นนะ มันจะฆ่าตัวตาย จะฆ่าตัวตาย แล้วเราก็ดึงกันใหญ่เลยนะจะฆ่าตัวตาย เขาก็พาไปหาหลวงตาไง หลวงตาบอก

“ฆ่าได้เลย ฆ่า แต่ก่อนฆ่าต้องให้ลูกมันฆ่าก่อน”

ทีนี้ความคิดของคนระหว่างแม่กับลูกไง “อ้าว ฆ่าได้อย่างไร? แล้วใครจะสืบสกุลล่ะ?”

ท่านก็สวนเลย “แล้วถ้าแม่มันตาย ลูกมันอยู่กับใครล่ะ?”

ฟื้นเลยนะ พอฟื้นมานี่หันมาหาเพื่อนเลย

“อู๋ย เพื่อนนี่ไม่รักกันจริง ถ้ารักกันจริงต้องเตือนกันได้ ไม่มีใครเตือนเลย”

นี่เราจะให้เห็นว่าถ้าเราไปตามอารมณ์ที่เขารู้สึกอยู่มันไม่มีค่า มันต้องสวนกลับ มันสปาร์ก ช็อตให้เขารู้สึกตัว นี่ครูบาอาจารย์ที่เราแก้กัน แก้กันแบบนี้ เวลาหลงมานี่ช็อตอย่างไรให้ล้มไปเลย พอล้มไปเลย เอ๊อะ นี่กรรมฐาน ครูบาอาจารย์สอนกันแบบนี้ แต่นี้คำว่าทำอย่างนี้มันต้องมีวุฒิภาวะ ต้องมีความรู้สึกที่สูงกว่าเยอะมาก ถึงจะเตือนให้ลูกศิษย์มีความคิดได้

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้แล้วจะช่วยอย่างไร? ทุกคนก็อยากช่วยทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ถ้าช่วย ถ้าตามไปมันก็จะตามไปอย่างนี้ ตามไปเราก็จะอยู่กับเขาไปเรื่อยๆ

ถาม : หลวงพ่อคะ หลวงพ่อใช้ชีวิตอย่างไรคะ?

ตอบ : ถ้าเป็นชาวพุทธนะ ชาวพุทธเขาจะรู้ว่าพระใช้ชีวิตแบบใด พระเป็นอารามิก คือเสียสละเรือนทั้งหมด ไม่มีบ้าน ไม่มีเรือน เสียสละมา ถ้าพระจะมีบ้าน มีเรือน พระต้องเสียภาษีด้วย ไอ้นี่พระไม่เสียภาษี เพราะพระไม่มีบ้าน ไม่มีเรือน เสียสละมาหมด ฉะนั้น พระเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง สัมมาอาชีวะที่สะอาดบริสุทธิ์

โยมนี่นะมีเงินอยู่เต็มกระเป๋าเลย จะไปกินอาหารร้านไหน ถ้าเขาหมดโยมก็ไม่ได้กิน มีเงินก็ซื้อไม่ได้ มีเงินจะซื้อความพอใจของตัวยังซื้อไม่ได้ แต่พระนะเวลาออกบิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง โยมตื่นเช้าขึ้นมา ด้วยประเพณีวัฒนธรรมของชาวพุทธ เขาหุงหาอาหาร เขาตักข้าวปากหม้อของเขาใส่ในขัน จะมาใส่บาตรพระ เขายกขึ้นอธิษฐานบนศีรษะ แล้วเขาอธิษฐาน เขาตักบาตรให้พระฉัน พระนี่เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะที่สะอาด ที่บริสุทธิ์ นั้นการเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง

ฉะนั้น สิ่งที่อยู่ เห็นไหม อาหารก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ที่อยู่อาศัยก็โคนไม้ ยาหรือก็น้ำดองมูตรเน่า ผ้า ผ้าก็ผ้าบังสุกุล เออ เก็บเอาตามซากศพ สมัยก่อนเขาห่อศพ ดึงมาซัก คือชีวิตมีอิสระ อิสระจากโลก ชีวิตนี้เหมือนนก มีปีกกับหาง กินเสร็จก็บินไป สบายมาก ใช้ชีวิตแบบพระ ฉันข้าวเสร็จก็บิน บินเลย ไม่อยู่ในอาณัติของใครทั้งสิ้น เพียงแต่สังคมเดี๋ยวนี้มันเจริญขึ้น ถ้าใช้ชีวิตแบบนั้น ถ้าเขาเคารพบูชาเขาก็จะสร้างวัดให้ อะไรให้

ฉะนั้น พระก็อยู่วัดอยู่วา อยู่วัดอยู่วา เห็นไหม ก็อยู่วัดอยู่วาเพื่อเป็นความจริงขึ้นมา นี่เรื่องการดำรงชีวิตอย่างไร? เพราะถ้าดำรงชีวิตนะ พอบวชแล้วนะ โอ้โฮ เหมือนนักกฎหมาย ถ้าไม่ใช่นักกฎหมายเราอยู่อย่างไรก็ได้นะ ไปคุยกับนักกฎหมายนี่ปวดหัวแล้ว นั่นก็ผิด นี่ก็ผิด ถ้าคุยกับนักกฎหมายทำอะไรไม่ได้เลย ผิดทั้งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พอบวชเป็นพระแล้วมันจะรู้ธรรมมันก็ต้องรู้ธรรมวินัย เพราะธรรมวินัยพระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วห้ามไอ้นั่น ห้ามไอ้นั่น ห้ามทุกอย่างเลย จนพระในสมัยพุทธกาลไปลาพระพุทธเจ้าบอกว่า

“จะสึก สึกแล้วไม่เอา”

พระพุทธเจ้าบอก “ทำไมล่ะ?”

“อู้ฮู วินัยมันเยอะมาก อะไรก็ผิด อะไรก็ผิด”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “ถ้ารักษาข้อเดียวได้ไหม?”

“ได้ รักษาอะไรล่ะ?”

“รักษาใจ”

ไม่มีเจตนา ไม่ต้องการทำความผิดสิ่งใด คนเรามีความพลั้งเผลอได้ ความพลั้งเผลอไม่มีเจตนา ไม่มีสิ่งใด รักษาใจตัวเดียว พระองค์นั้นก็ยังอยู่ต่อ ไม่อย่างนั้นจะสึกนะ นู่นก็ผิด นี่ก็ผิด เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงรักษาอย่างนั้นมันเป็นไปของมันขนาดนั้น อันนั้นพูดถึงเรื่อง “หลวงพ่อใช้ชีวิตอย่างไร?”

ถ้ามองเผินๆ คนไม่เข้าใจ เราเคยฟังคำหนึ่ง พระมาหาเรา เขาบอกว่าเขาเป็นเด็กกรุงเทพฯ แล้วเขาจะบวช เขาเป็นทุกข์ร้อนมาก ว่าเขาบวชมาแล้วเขาจะบิณฑบาตที่ไหน? พอเขาบวชเสร็จปั๊บเขาออกบิณฑบาตเขาบอก โอ้โฮ ช็อกเลยนะ คนใส่บาตรเต็มไปหมดเลย เพราะอะไร? เพราะเขาไม่เคยใส่บาตรไง เขาเป็นเด็กวัยรุ่นเขาไม่เคยใส่บาตร เขาไม่เคยเข้าใจเรื่องชีวิตพระเลย เขาคิดว่าเขาบวชแล้วเขาจะบิณฑบาตที่ไหน พอบวชเสร็จแล้วตามพระไปบิณฑบาต อู้ฮู คนถือขันอยู่เต็มไปหมดเลย

เห็นไหม นี่อยู่ด้วยกัน แต่มันอยู่กันโดยที่ว่าคนละสังคม ไม่รู้จักกันเลย พอบวชเป็นพระขึ้นมานี่มีความคิดแตกต่างไปเลย แต่ก่อนบวชพระเป็นทุกข์ เป็นร้อนนะ บวชพระไปแล้วจะกินข้าวที่ไหน? ใครจะดูแล? พอบวชเสร็จแล้วตามพระไปบิณฑบาต โอ้โฮ แล้วเขาก็มาเล่าให้เราฟัง เห็นไหม นี่พูดถึงว่าถ้าคนไม่บวช หรือไม่เข้ามา มันจะไม่รู้เรื่องนี้จริงหรอก ถ้ารู้จริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง

ถาม : จะทำอย่างใดให้คนศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วอ่าน และปฏิบัติธรรมมากกว่ากราบไหว้อธิษฐานขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขูดต้นไม้ขอหวย เข้าวัดเอาธรรมะกลับบ้าน แทนที่จะไปปิดทองขอพรอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ครับ

ตอบ : อันนี้เป็นประเพณีวัฒนธรรม พอเป็นประเพณีวัฒนธรรม คนก็ไปติดที่วัฒนธรรม เห็นไหม เวลาเขาบอกว่า “พระพุทธบังพระธรรม” คนก็ไปคิดเห็นแต่พระพุทธเจ้าบังพระธรรม นี่มันบังไง มันบังกันอยู่ ทีนี้คำว่าบังกันอยู่ อย่างนี้เส้นผมบังภูเขา กิเลสมันก็เป็นแบบนี้ นี่อยากปฏิบัติธรรม อยากจะชำระกิเลส แต่ไอ้เรื่องนี้มันก็บังไว้

ฉะนั้น คำว่าบังไว้นะ กรณีอย่างนี้ กรณีที่แบบว่าเขาจะจัดงานประเพณีวัฒนธรรม กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ถ้าไม่มีวัฒนธรรมเราก็จะฝึกเด็กไม่ได้เลย เด็กมันเกิดมา นี่ที่คำถามมันเกิดมา มันถามเพราะอะไร? เพราะเขายังไม่รู้ อย่างคนนี่ เห็นไหม อย่างชาวพุทธผู้ชายต้องบวชก่อน โบราณนะ ถ้าเอ็งไม่ได้บวชไปขอลูกสาวเขาไม่ให้หรอก คนดิบเขาไม่เอา เขาต้องเอาคนสุก คนสุกหมายถึงว่าคนมาบวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระนี่ศึกษาธรรมะใน ๓ เดือน ใน ๑ พรรษา ๑ พรรษาพระพุทธเจ้าสอนอะไร?

คนเทียมมิตร มิตรเทียม มิตรแท้ มิตรแท้ทำอย่างไร? มิตรแท้จะดูแลเรา ต่อเมื่อเราพลั้งเผลอ หรือเราพลาดพลั้ง มิตรแท้ก็ดูแลเรา มิตรเทียม เห็นไหม อยู่ด้วยกันเขาก็ปอกลอกมึง มิตรเทียมอยู่ในนวโกวาท นี่ถ้ามาศึกษาธรรมะ บริหารทิศ เวลาสึกไปแล้วเป็นทิด เป็นทิศ ทิศเป็นอย่างไร? อ๋อ ทิศก็ทิศทั้ง ๘ ทิศ ไม่ใช่ บริหารทิศ ทิศเบื้องบนเป็นทิศครูบาอาจารย์ของเรา ทิศเบื้องหน้าพ่อแม่ของเรา ทิศทางซ้าย ทิศทางขวา นี่เราจะบริหารครอบครัวของเราอย่างไร?

นี่เวลาศึกษามา พอเป็นทิดเป็นบัณฑิต ทิดกับบัณฑิต พอสึกมาแล้ว โอ้โฮ มันเป็นคนสุก คนสุกเพราะบริหารจัดการชีวิตนี้ มันจะดูแลชีวิตนี้ให้ราบรื่น ราบรื่น ไปขอลูกสาวบ้านใครเขาก็ให้ นี่พูดถึงประเพณีวัฒนธรรมไง ทีนี้วัฒนธรรม นี่คนอ่านธรรมะเขาจะศึกษาชักชวนนะ เราจะพูดอย่างนี้ เราพูดนี่ ถ้าผู้นำ สมัยสมเด็จญาณฯ ท่านเป็นสังฆราช เวลามีวันสำคัญทางพุทธศาสนา พวกเราจะปฏิบัติธรรมกันเต็มไปหมดเลย ถ้าผู้นำมันมีจิตใจอย่างนั้น มันเหมือนกับคนที่มีปัญญา คนที่มีความรู้ที่จะสอนได้ มันก็ฝึกหัดปฏิบัติได้

ทีนี้ในปัจจุบันนี้ เห็นไหม ดูสิทางวิชาการ ทางการศึกษา นี่เวลาวันสำคัญทางพุทธศาสนามีแต่เรื่องทางวิชาการ ประชุมสัมมนาๆๆ สัมมนาทั้งนั้นเลย เพราะว่าผู้นำชำนาญในทางวิชาการ แต่ถ้าผู้นำชำนาญในการปฏิบัตินะ อ้าว เอาการปฏิบัติเป็นหลักไง แต่ในปัจจุบันนี้ไปดูสิประชุมสัมมนา วิชาการทั้งนั้น วิชาการเขาทำไว้ทำไม? วิชาการทำไว้เพื่อปฏิบัติ วิชาการ พอวิชาการจบแล้วทำอย่างไรต่อ? กลับวัด แล้วทำอย่างไรต่อ?

แต่ถ้าปฏิบัตินะ นี่เวลาปฏิบัติ เราทำอย่างไรให้เขาปฏิบัติ ปฏิบัติ ผู้นำไง ถ้าพระเราปฏิบัตินะ อย่างเช่นถ้ามาวัด เห็นไหม มาวัดเรานี่เราต้องพยายามอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมกับการปฏิบัติ ใครมาวัดนะ โอ้โฮ วัดนี้เงียบมาก วัดนี้สงบมาก วัดนี้ดีมาก ดีมากเพราะปากจัดนี่แหละ ลองปากไม่จัดมันจะดีไหมล่ะ? ใครมาก็อยากจะตามใจตัว บอกหลวงพ่อนี่ไม่ดี บอกถ้าติดแอร์แล้วดี หลวงพ่อสิ่งนั้นไม่ดี ก็อย่างนี้ดี

เราต้องเข้าใจอย่างนี้ เข้าใจว่าเขามาวัดนี่วุฒิภาวะเขาแค่ไหน? ถ้าเขายังต่ำต้อยอยู่ เราจะดึงเขาขึ้นมาได้อย่างไร? ถ้าดึงขึ้นมาได้อย่างไรนะ ถ้าดึงขึ้นมาก็ต้องเห็นคุณของมัน ถ้าไม่เห็นคุณของมันนะมันไปหมด เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะถ้าไม่มีหลักนะมันเสียหน้า อย่างใครเข้ามานะ โอ้โฮ วัดนั้นก็ดีอย่างนี้ วัดนี้ก็ดีอย่างนู้น ไอ้ที่ดีๆ ทั้งหมดเราจะมารวมไว้ที่วัดเราหมดเลย กูจะสร้างทุกอย่างให้เหมือนเขา แล้ววัดกูก็เละไง ถ้าเราไม่มีหลัก

ถ้าเรามีหลักนะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ที่ไหน? ที่โคนไม้ ตอนนี้โลกเรียกร้องหาอะไร? หาสภาวะความแวดล้อม หาธรรมชาติ โลกเรียกร้องหาอะไร? แล้วสิ่งนี้มันมีอยู่ในพุทธศาสนาอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นไม้ ถ้าเราอยู่กับโคนต้นไม้ เราอยู่กับป่าเขาอยู่นี่ โลกเขาแสวงหากันอยู่แล้ว เอ็งจะเอาอะไรมาแลก เอ็งจะเอาอะไรมา?

ทีนี้พอเอามาก็เอาวัตถุเข้ามา วัตถุสาธุเอ็งเอาไว้บ้านเอ็งเถอะ กูเอาหัวใจมึงน่ะ เวลาเอ็งมาปฏิบัติเอาหัวใจมาด้วยนะ อย่าทิ้งหัวใจไว้ที่บ้านนะ แล้วเอาวัตถุไปไว้วัด วัดไม่เอาวัตถุ เอาหัวใจเอ็ง เวลามาเอาหัวใจเอ็งมาด้วย แล้วคุมหัวใจให้ได้นะ หัวใจถ้าไม่คุมนะ โอ๋ย สบาย ทุกอย่างดีหมด แต่ถ้าวันไหนเอ็งจะปฏิบัตินะ เอ็งเริ่มตั้งสตินะ หัวใจเอ็งเริ่มดิ้นแล้ว

ถ้าไม่ปฏิบัติอยู่สิ่งใดก็ได้ อยู่บ้านนี่ แหม จิตใจดี๊ดี พอมาวัดนะอึดอัดไปหมดเลย พอตั้งสติพุทโธสักคำหนึ่งอกแทบระเบิดแล้ว เพราะมันยังไม่ดูไง ถ้าปล่อยมันตามสะดวกสบายนะ โอ้โฮ มันสบาย นอนสบาย กิเลสยังไม่ตื่นนะ โอ๋ย นอนหลับเลย พอจะปฏิบัตินะกิเลสมันจะต่อต้าน พอกิเลสมันงัวเงียขึ้นมานะ โอ๋ย ตาย ยากไปหมด ทำอะไรก็ไม่ได้

นี่ถ้าครูบาอาจารย์เราเคยปฏิบัติมาจะรู้นะ เริ่มต้นมันเป็นสเต็ปขึ้นมาเลยว่าคนปฏิบัติจะเป็นอย่างไร? มันจะมีความต่อต้านในใจอย่างไร? ใจมันทุกข์ยากขนาดไหน? แล้วมันจะเรียกร้องหาสิ่งใด? ฉะนั้น เวลาเล็กน้อยใช่ไหมก็ต้องเรียกร้องอย่างนี้ เรียกร้องไปเรื่อย แต่พอมาปฏิบัติถึงที่สุดแล้วนะกลับมาตรงนี้ไง โคนไม้ไง ทำไมหลวงตาท่านไปพลิกฟ้าคว่ำดิน? ทำไมท่านกราบของท่านอยู่ตลอดเวลา? กราบแล้วกราบเล่า กราบแล้วกราบเล่าล่ะ? แต่กว่าเราจะเข้าไปถึงตรงนั้นได้มันจะขวากหนามตลอดทางมาเลย แล้วเราก็อยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนั้น

อยากได้ก็ติด ถ้าเอ็งทิ้งมาหมดเลย อยากได้อะไรก็ทิ้ง อยากได้อะไรก็ทิ้ง ทิ้งมันอิสระเข้ามา ทิ้งมันอิสระเข้ามา แต่นี่ไม่ทิ้ง อยากได้อะไรแล้วนะ อืม อยากได้ หลวงพ่อไม่ทำให้ ไปแล้วไปที่อื่นดีกว่า หลวงพ่อไม่เอาไปที่อื่นดีกว่า เห็นไหม มันก็จบ ใจเขาไม่พัฒนาขึ้นมา ถ้าใจพัฒนาขึ้นมามันเป็นไปได้

ฉะนั้น สิ่งที่เราทำนี่นะ เราศึกษามาแล้วเรามองมา เราถึงซาบซึ้งหลวงปู่มั่นมาก ถ้าไม่มีหลวงปู่มั่นนะ เพราะหลวงปู่มั่นนะ หลวงตา เราอยู่กับหลวงตา หลวงปู่เจี๊ยะ คิดถึงหลวงปู่มั่นนะท่านบอกว่า

“หลวงปู่มั่นเหมือนเศษคน เกิดมาไม่เคยอยู่ในเมือง อยู่ป่า อยู่เขามาทั้งชีวิต ใช้ผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ไม่เคยรับผ้าคหบดีจีวรจากใครเลย หลวงปู่มั่นนี่ ถือธุดงค์มาทั้งชีวิต เป็นแบบอย่างมา”

ใครอยากจะไปทำบุญกับหลวงปู่มั่นต้องซื้อถนนเข้าไป อยู่หนองผือนะไม่มีถนนทางเข้า มีแต่ทางเดินของคน ผู้เฒ่า ผู้แก่จะไปทำบุญเอาเกวียนเข้าไป ต้องซื้อคันนาเขาเข้าไป ซื้อทางนี่เกวียนมันจะบุกคันนาเข้าไป ท่านอยู่ของท่านมาอย่างนั้นตลอด อยู่เพื่ออะไร? อยู่เพื่อให้พวกเราลงใจ ถ้าเราลงใจว่าท่านเป็นผู้นำ ท่านทำของท่านได้ขนาดนั้น เราต้องพยายามทำตามไง ถ้าเราพยายามทำตามเพื่อจะเข้าไปสู่ความจริง

ฉะนั้น ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนปฏิบัติ ถ้าไม่มีผู้ทำให้เราเห็นจริง แล้วเราไม่ปฏิบัติ เมื่อก่อนนะใครปฏิบัติบอกอย่าปฏิบัตินะ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์จะเป็นบ้านะ ห้ามปฏิบัตินะ เป็นบ้านะ เป็นบ้า ทุกคนกลัวหมดไง หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า ในประวัติหลวงปู่มั่น เห็นไหม เวลาท่านธุดงค์ไป

เราต้องย้อนกลับมานะ เราอยู่ในสังคมแบบนี้ เราเห็นพระป่า เห็นพระห่มผ้าสีกรักกันจนคุ้นชินไง เรานึกถึงสังคมสิ สังคมที่ไม่มีผ้าสีกรัก แล้วก็มีพระแต่ผ้าเหลืองธรรมดาที่พระเขาห่มกันแบบธรรมชาตินี่แหละ แล้วสมัยนั้นมันแบบว่าศาสนาทุกอย่างมันไหลไปกับโลกหมดแล้ว แล้วหลวงปู่มั่นท่านมาฟื้นฟู ท่านบอกว่าท่านห่มผ้าสีที่ห่มอยู่นี่ ไปทางอีสานนะ พอคนเขาไถนาอยู่เห็นผ้ามานะ เขาทิ้งคันนานะ เขาทิ้งคันไถวิ่งหนีเลย กลัวกันขนาดนั้นนะ

นี่กว่าที่จะให้สังคมยอมรับ เราจะบอกว่าช่วงชีวิตหลวงปู่มั่นนี่ช่วงชีวิตหนึ่ง ช่วงชีวิตของหลวงปู่ฝั้น ช่วงชีวิตของครูบาอาจารย์ท่านอีกรุ่นหนึ่ง แล้วก็ช่วงชีวิตของหลวงตานะ แล้วก็มาถึงช่วงชีวิตของเราแล้ว หลวงปู่มั่นเสียปี ๙๒ แต่ทั้งชีวิตของท่าน เพราะว่าก่อนที่ท่านประพฤติปฏิบัตินี่สังคมไม่เชื่อ แล้วมีการโต้แย้งว่าเป็นไปไม่ได้ พระอรหันต์ไม่มี มรรคผลไม่มี มรรคผลหมดกาล หมดสมัย หลวงปู่มั่นนี่แหละทำให้คนเชื่อถือ พอหลวงปู่มั่นท่านเสียแล้ว พออัฐิของท่านเป็นพระธาตุขึ้นมา คนยิ่งเชื่อมั่นขึ้นมา

นี่ความเชื่อมั่นของสังคมนะ แต่เริ่มต้นมันเชื่อมั่นมาจากหลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว นี่ครูบาอาจารย์เข้าไปฝึกอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่พรหม หลวงปู่พรหมเป็นนายร้อย คือเป็นเศรษฐีทางภาคอีสาน เป็นพ่อค้าโคต่าง มีเงินทองมาก คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทางโลก นี่เป็นพ่อค้า เป็นพ่อค้าจนเรียกว่านายร้อยๆ นายร้อยคือผู้ที่มีฐานะ เวลาออกบวชนะแจกทรัพย์สิน ๗ วันไม่หมด เพราะอยู่กันสามี ภรรยาสองคน ไม่มีลูกเต้า แล้วพอมีอายุขึ้นมานี่ปรึกษากันว่าสมบัติก็มีขนาดนี้ แล้วไม่มีใครสืบต่อทำอย่างไรกัน?

ปรึกษากัน ลงใจกันว่าจะออกบวชด้วยกัน พอออกบวชก็ประกาศแจกทรัพย์สมบัติ แจกอยู่ ๗ วัน นี่เรา เอาแจกอยู่ ๗ วัน พอแจกเสร็จแล้ว บวชแล้วไปอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่พรหม นี่ พอหลวงปู่พรหม เพราะทางสังคมท่านเต็มที่ใช่ไหม? พอไปหาหลวงปู่มั่นครั้งแรก นี่อยู่ในประวัติของท่าน ครูบาอาจารย์เล่าให้ฟัง พอหลวงปู่พรหมไปเจอหลวงปู่มั่นครั้งแรกนะ โอ้โฮ หลวงปู่มั่นมีชื่อเสียงคับประเทศไทย ตัวเล็กๆ เพราะหลวงปู่มั่นท่านร่างเล็กไง คือเห็นร่างท่านก็ไปคิดไงว่า โอ้โฮ คนร่างเล็กๆ ขนาดนี้ ทำไมคนกลัวกันหมดนะ?

ทีนี้ก็เข้าไปกราบหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านใส่เลยนะ “ดูคนอย่าดูแต่เปลือกภายนอก”

โอ๊ะ ก้มเลย นี่เราจะบอกว่าดูคนอย่าดูแต่เปลือกภายนอก ดูคนให้มันดูจากภายใน นี่เราจะบอกว่าหลวงปู่พรหมท่านเป็นคหบดี ท่านมีสังคมของท่านขนาดนั้น เวลาจะเข้าไปหาหลวงปู่มั่น มันจะตรวจสอบ มันจะยอมรับครูบาอาจารย์ไง นี่ครูบาอาจารย์ยอมรับอย่างนั้น พอยอมรับปั๊บมันก็ทำให้เกิดสังคมยอมรับ พอสังคมยอมรับ การยอมรับมันถึงเกิดการปฏิบัติไง

ถ้าพูดถึงเราไม่มีเป้าหมาย เราไม่รู้จะทำเพื่อสิ่งใดกัน พอเราไม่มีเป้าหมาย ตอนนี้การปฏิบัติมันถึงสัพเพเหระ แตกกระสานซ่านเซ็นไป ทางใครทางมัน แตกกันไปใหญ่ หลวงปู่มั่นท่านบอกไว้แล้ว “ต่อไปมันจะมีคนแซงหน้า แซงหลัง” มันจะแซงท่านไปไง คือไม่ทำตามท่าน จะแซงท่านไป ไปที่มูลนิธิหลวงปู่มั่น นี่คำที่หลวงปู่มั่นท่านธรรมเกิดขึ้นมา แล้วท่านพูดไว้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : จะทำอย่างใด? จะทำอย่างใดจะให้คนปฏิบัติ

ตอบ : จะทำอย่างใด ก็ทำอย่างที่เราทำกันนี่ไง คือปฏิบัติให้เขาดู ต้องทำให้เขาดู ถ้าเขาดู เขาเห็นเขาจะเชื่อ ถ้าเขาไม่เห็นเขาจะเชื่อได้อย่างไร? นี่เวลาเราจะเผยแผ่ใช่ไหม? เผยแผ่ขนาดไหน จะทางวิชาการขนาดไหน มันก็เป็นวิชาการ วิชาการเอ็งก็รู้ ข้าก็รู้ แล้วก็มาเถียงกัน แต่ถ้าปฏิบัตินะ คำเดียว สมาธิเป็นอย่างไร? วิปัสสนาเข้าอย่างไร? เห็นกายเห็นอย่างไร? บอกเห็นกายอย่างนั้น เออ ไอ้นี่มันจินตมยปัญญาไง ถ้าการเห็นกายแบบพวกนี้นะสู้หมอไม่ได้หรอก หมอนี่เขาจะวิเคราะห์โรคได้เต็มที่เลย ถ้าการเห็นกายนะ ถ้าพูดผิดมันไม่ใช่ ถ้าพูดถูกมันถึงเข้าสู่ธรรม ถ้าเข้าสู่ธรรมมามันจะเป็นแบบนั้น

นี่พูดถึงการปฏิบัติไง ใช่ทุกคนก็อยากให้ทุกคนเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันแบบว่าขูดต้นไม้ ขอหวยอะไรนี่ คือเขาต้องการด้วยความง่ายๆ กันไง ทีนี้ความง่ายๆ สอนคน สอนคนต้องให้เขาเห็นดี เห็นงาม แล้วเขาจะละ เขาจะวางของเขาเอง ฉะนั้น ในการปฏิบัติมันก็เหมือนป่าผืนหนึ่ง มันจะมีต้นไม้ที่เป็นแก่นสารเท่าไหร่? ป่าเบญจพรรณ ไม้ล้มลุกคลุกคลานมันมากใช่ไหม? จริตนิสัยของคน เวลาปฏิบัติมันจะมีความเข้มแข็งอย่างใด? มันจะมีความตั้งมั่นขนาดไหน? ถ้าขนาดไหนมันก็เป็นแบบนั้น

ฉะนั้น อยากให้เขาทำ ใช่ เราก็อยากให้เป็นแบบนั้น ก็เหมือนกับเรา เด็กมันยกของไม่ไหว ถ้าของหนักนักให้เด็กมันยก เด็กจะยกไม่ได้เลย ถ้าเด็กมันจะยกสิ่งใดได้เพื่อประโยชน์กับเด็กนั้นก็ให้มันฝึกหัดของมันขึ้นมา ถ้ามันโตขึ้นมาแล้วเราจะยกของเราได้ แล้วเราจะทำของเราได้ นี่พูดถึงว่าถ้าเราทำได้นะ เราคิดของเราอย่างนั้นไง แต่ถ้าคิดทางวิชาการเขาก็ทำกันอยู่นี่ไง พยายามจะปลูกฝังๆ

คำว่าปลูกฝังนะ นี่ประชุมทางวิชาการ เวลาประชุมวิชาการขึ้นมา สิ่งใดที่เป็นความรู้สึกนึกคิดของตัวต้องเก็บไว้ พูดถึงธรรมะของพระพุทธเจ้ากันอย่างเดียว แต่เวลาพ้นจากวิชาการแล้วก็ความรู้สึกนึกคิดใครก็สอนไปตามนั้น สอนไปตามนั้นนะ มันก็เหมือนกับเรานี่มันมีเหตุมีผลไหม? ถ้ามีเหตุมีผลมันถึงจะเป็นจริง ถ้าไม่มีเหตุมีผลมันก็เลื่อนลอย ถ้าเลื่อนลอยก็ปฏิบัติเพื่อชีวิตประจำวัน ชีวิตประจำวันได้ปฏิบัติแล้ว แล้วก็จบแล้ว

ฉะนั้น เราพูดมาถึงตรงนี้ ใครมีอะไรที่เป็นประเด็นอยากจะถาม มันมีไมค์นะ เอาไมค์ให้ทีซิ ใครอยากจะถามอะไร? เพราะเราจะพูดสองฝ่ายไง พูดอยู่ข้างเดียว บังคับให้เขาฟังเอาเปรียบ ทางนู้นไม่ได้ถามอะไรเลย นี่พูดอยู่ข้างเดียว เปิด เปิดไมค์เลย

ถาม : หลวงพ่อครับ คือผมกำลังอยากจะหุ้นกับเพื่อนครับ ไม่ทราบว่าหลวงพ่อจะแนะนำไหมครับว่าต้องทำอย่างไรบ้าง?

ตอบ : พูดใหม่

ถาม : อยากจะหุ้นกับเพื่อนครับ ทำธุรกิจครับ

ตอบ : ถามผิดคนแล้ว (หัวเราะ)

ถาม : คือถามว่าเป็นหลักในการที่เราจะ

ตอบ : อย่างนี้มัน

ถาม : มันไม่ใช่ธรรมะครับหลวงพ่อ

ตอบ : นี่เวลาเราพูดว่าเราอยากให้คนปฏิบัติ แล้วกรณีนี้ เพราะตอนเศรษฐกิจตอนปี ๔๐ ต้มยำกุ้ง ในหลวงพูดเองนะ ตอนนี้เศรษฐกิจกำลังดี เอ๊ะ เราก็งงนะทำไมเศรษฐกิจกำลังดี ในหลวงบอกเศรษฐกิจกำลังดี ดีที่ไหน? ดีที่หมอดูไง คนตกทุกข์ได้ยากไปหาหมอดูหมดเลย ท่านบอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจหมอดูดีมาก แต่เศรษฐกิจประเทศแย่มาก เพราะเราไม่มีที่พึ่งไง พอเราขาดที่พึ่งเราก็วิ่งไปหาเขาหมดเลย เศรษฐกิจหมอดูดีมาก

เราจะพูดอย่างนี้ เช่นจะหุ้นกับเพื่อน เราจะทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ธุรกิจนี่มันก็อยู่ที่เหตุผล เราก็ต้องพิจารณาสิ อย่าเชื่อใครง่ายๆ ไง เพื่อนก็คือเพื่อนนะ แต่เวลาเราจะทำธุรกิจร่วมกันมันก็ต้องดูตามเหตุผลนั้น ถ้ามีเหตุผลนั้นนะแล้วมันก็จะอยู่ที่เชาวน์ปัญญา เชาวน์ปัญญาของเรานะ คำว่าเชาวน์ปัญญา มันพูดกันด้วยเหตุผลมันสะกิดนะ มันสะดุดเลยนะ เวลาพูดอะไรมามันสะดุดหมด ถ้ามันไม่เป็นความจริงเราสะดุดเลย ถ้าเป็นความจริง ใช่ ถ้าความจริงใช่เราก็ดูตามนั้น

นี้พูดถึงโลก โลกกับธรรมนะ โลกเราก็ต้องทันโลก อย่างเช่นการเมือง ถ้าการเมืองซื่อบื้อ ไปเซ็นสัญญานะยกประเทศให้เขาไปเลย เวลาทางโลกนะ เวลาการเมืองเราต้องทันนะ การเมืองเวลาออกไปนี่ ไปตกลงกัน เห็นไหม เวลาเจรจาการค้าต่างๆ ต้องทัน นั่นเพื่อรักษาหม้อข้าว หม้อแกงของเราไว้ แต่เวลาจะปฏิบัติธรรมเราต้องวางไว้ แล้วเราเข้าไปในห้องพระ เออ คราวนี้จะเอาแล้ว งานของตัวเอง คราวนี้เรื่องของหัวใจต้องให้ทันแล้ว

ไม่ใช่ว่าเอาธรรมะ นี่ใช่ ธรรมะนี่เรารู้ ถ้าธรรมะนี่หัวใจที่มีคุณธรรม ทำสิ่งใดมันก็เป็นธรรมนะ ทำสิ่งใดเราไม่เอาเปรียบเขาเด็ดขาด เราไม่เอาเปรียบใคร เราไม่ฉ้อโกงใครเด็ดขาด แต่ถ้ามันเป็นความจริง ดูสินางวิสาขา นางวิสาขาเกิดมานี่ลูกเศรษฐีนะ เครื่องประดับของนางวิสาขาไม่มีใครเหมือนในโลกนี้ นี่นางวิสาขานะ เพราะอะไร? เพราะว่าพ่อเขาสร้างบุญของเขามา เวลาเขาสร้างบุญ เราจะบอกว่าคนที่ร่ำรวยนะโดยธรรม คือว่าเราเกิดมาเรามีบุญกุศลของเราขึ้นมา

บุญกุศลคืออะไร? บุญกุศลคือโอกาส คืออำนาจวาสนา ดูสิทางธุรกิจนะ เวลาคนเขาทำประสบความสำเร็จทุกอย่างเลย บางคนคิดได้นะ แต่ทำไม่ได้เพราะตลาดมันยังไม่พอ อย่างเช่นตลาดมันเล็กเกินไป ตลาดมันทำไม่ได้ ไปทำทีไรนะขาดทุนทุกที แต่ถ้าเขาลงได้พอดีๆๆ นี่คือวาสนาของคน ทีนี้วาสนาเราปฏิเสธบุญเราได้ไหม? นี่ทำบุญๆ เวลาบุญมันให้ผลมามันเป็นแบบนั้น ทำอะไรก็ราบรื่น ดีงามไปหมดเลย แต่ถ้าคนไหนมีบาปมานะ คิดไบร์ท บางคนหัวดีมากๆ เลย แต่ทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง เป็นเพราะอะไร?

อันนี้ถ้ายกมาเป็นเรื่องบุญ เรื่องบาปนะ แต่เรื่องบุญ เรื่องบาป ทุกคนมันมีมากับตัวทุกคน คนเกิดมาทุกคนในโลกนี้ทำดีและชั่วมาทุกดวงใจ ทุกดวงใจ ถ้าเวลาบุญมันให้ผลนะ โอ้โฮ ชีวิตนี้ราบเรียบมาก แต่ถ้าเวลาบาปอกุศล เวลาเราเจอสิ่งใดเราถึงไม่เดือดร้อน เราไม่เดือดร้อนนะ เพราะอะไร? เพราะเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น เวลายามเช้าทุกอย่างสดชื่นมาก สาย บ่าย เย็นมันมีวิกฤติมาในชีวิตเรา เราต้องผ่านไปได้สิ เราต้องมีสติสิ ชีวิตเรา ชีวิตเรา ของๆ เรา เราสร้างมาเอง เราต้องผ่านวิกฤติอันนี้ไปให้ได้ด้วยสติปัญญาของเรา นี่พูดถึงถ้าใจเป็นธรรม

ฉะนั้น ถ้าจะร่วมหุ้น ถ้าเป็นอำนาจวาสนา เป็นสิ่งที่โยมจะทำเพื่อสัมมาอาชีวะก็ด้วยสติปัญญา ด้วยพิจารณา คืออย่างที่ว่าพระพุทธเจ้าสอน “กาลามสูตร” ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อข้อเท็จจริง ต้องพิสูจน์กันด้วยข้อเท็จจริง ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น เชื่อตามข้อเท็จจริงนั้น แล้วเราจะไม่เสียหาย

อ้าว ต่อไป ไม่มีแล้วเนาะ พวกนั้นไม่กล้าพูด จะฟังอย่างเดียว เอวัง