เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๘ พ.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธนะ เราชาวพุทธเพราะเราเกิดมาเราพบพระพุทธศาสนา แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดมาไม่พบพุทธศาสนา เพราะศาสนายังไม่มี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ด้วยตนเอง นั่นแหละธรรม ธรรมสอนโลก

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในหัวใจนั้นเป็นธรรม ไปเทศน์ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” แล้วพยายามเทศน์สั่งสอนอยู่ ปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมดถึงเทศน์อนัตตลักขณสูตร นี่เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ๖ องค์ ไปเทศน์ยสะได้มา ๖๑ องค์ทั้งหมดรวมทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “เธอพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและเป็นทิพย์ เธออย่าไปซ้อนทางกัน โลกนี้เร่าร้อนนัก โลกนี้เร่าร้อนนัก” ...ธรรมะสอนโลก

แต่ในปัจจุบันนี้ “โลกสอนธรรมะ” พอโลกสอนธรรมะ เห็นไหม เราตีความธรรมะกัน นี่ปรัชญา ปรัชญาความเชื่อ เราเชื่อมั่นของเรา แล้วเราก็พยายามตีความธรรมะนั้นด้วยโลก พอด้วยโลกเราก็อยากประพฤติปฏิบัติกัน พอเราประพฤติปฏิบัติกันขึ้นไป เราปฏิบัตินี่รู้กายทั่วพร้อม รู้กาย รู้จิต รู้ทุกอย่างพร้อมแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไป? มันทำสิ่งใดต่อไปไม่ได้ แล้วถามว่า “แล้วเขาทำอย่างไรล่ะ?” เขากำหนดลมหายใจ เห็นไหม

ฉะนั้น บอกว่าถ้ากำหนดลมหายใจ ต้องยึดลมหายใจให้ชัดๆ ไว้ก่อน ถ้ายึดลมหายใจชัดๆ ไว้ก่อนนะ จิตมันละเอียดขึ้นไป คำว่า “ละเอียด” เวลาเราจะร่อนวัตถุ เราร่อนวัตถุเพื่อให้จากหยาบไปสู่อันละเอียดนั้น เวลาเราร่อนไปแล้ว เกิดถ้าลมพัดมา เกิดถ้ามันมีเหตุสุดวิสัย สิ่งที่ร่อนนั้นมันจะมีปัญหาของมัน

จิต! จิตโดยธรรมชาติของมัน สามัญสำนึกของโลก สามัญสำนึกเราพิจารณาธรรม ศึกษาธรรมะแล้วพิจารณาธรรม พิจารณาธรรมก็เข้าใจ เข้าใจ เห็นไหม เพราะเราเป็นโลก เรามีสมอง เรามีความรู้สึกนึกคิด เวลาเราตรึกในธรรมเราเข้าใจได้ พอเราเข้าใจได้ เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราก็รู้ก็เห็นตามที่เราทำในทางทฤษฎีนั้น พอตามทฤษฎีนั้น นี่โลกสอนธรรมไง

โลก แต่สอนเรื่องธรรมะ แล้วธรรมะนี่เราก็จินตนาการกันได้ เราก็คาดหมายกันได้ แต่การคาดหมายนี้มันไม่ใช่ความผิดถูกนะ มันเป็นระดับ มันเป็นวิธีการที่จะต้องพัฒนาขึ้นไป เพราะอะไร? เพราะว่าถ้าเราไม่ยึดโลกเลย แล้วเราจะเริ่มต้นปฏิบัติกันที่ตรงไหน? พระไตรปิฎกก็เป็นทฤษฎี ทฤษฎี ดูสิเวลาทฤษฎีที่เขาศึกษากันไปแล้วมันก็ลอยลม แต่ถ้าเราศึกษา เราศึกษาเรารู้ใช่ไหม? เราศึกษาว่านี่ไงเรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนี่เป็นความคิดแบบโลกๆ ความคิดแบบโลกๆ ถ้าโลกมันโดนครอบงำโดยกิเลส โดนครอบงำโดยกิเลสมันก็เอาแต่ความพอใจของตัว ความพอใจของตัว กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันก็ลากจิตใจนี้ไป พอเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สภาวะนี้เป็นธรรม เราก็พยายามบังคับใจเราให้เข้าสู่ธรรม เข้าสู่ธรรม เห็นไหม พอเข้าสู่ธรรมเราก็มีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ปลอดโปร่ง เป็นสิ่งที่เจริญงอกงามขึ้นมา

พอเจริญงอกงาม นี่มันเรื่องโลกทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร? เพราะเป็นโลกียปัญญาไง เราศึกษาธรรมะด้วยโลก นี่โลกสอนธรรม โลกสอนธรรม แล้วมันก็เข้าใจกันหมดนะ ทุกคนบอกว่า “เวลามันรู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อไป?” พอมันรู้ตัวเสร็จ มันเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกหมดแล้ว แล้วมันก็มาคาอยู่อย่างนี้ แล้วทำอย่างไรต่อไป? ทำต่อไปมันก็เกิดดับๆ อยู่อย่างนั้นแหละ

โดยสามัญสำนึกมันเป็นแบบนั้น พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก เป็นอย่างนี้จริงๆ แต่ถ้าพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก นี้มันเป็นพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกใช่ไหม? แต่ผู้ที่รับรู้พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตกสิ เห็นไหม พอพระอาทิตย์ขึ้นมา นี่ดูสิชาวไร่ชาวนาเขาอยากได้แสงแดดเพื่อพืชสวนไร่นาของเขามันจะได้เจริญงอกงาม เขาอยากได้ฝน อยากได้แดด ไอ้เราไม่ต้องการแดด ไม่อยากให้มีแดดเลย ไม่มีแดดก็ไม่มีอาหาร ไม่มีแดดโลกนี้ก็อยู่ไม่ได้

นี่สิ่งนี้มันเป็นเรื่องของโลก นี่ไงธรรมชาติเป็นแบบนั้น เราศึกษาธรรมมาก็ศึกษาแบบนั้นไง รู้ตัวทั่วพร้อม ทุกอย่างรู้หมดเลย แล้วรู้หมดก็ปฏิเสธไม่อยากให้มีพระอาทิตย์ ไม่อยากให้มีพระจันทร์ อยากจะอยู่กันแบบความสงบร่มเย็น มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก ชีวิตมันไม่มี ชีวิตนี้มันมีมันต้องมีอาหาร อาหารของมันเกิดมามันก็ต้องมีการสังเคราะห์แสง สังเคราะห์แสง แสงทำให้เกิดอาหาร ทำให้เกิดผัก เกิดต่างๆ ให้เป็นอาหารของเรา

แต่เรา ถ้าจิตเราสงบเข้าไป เห็นไหม มันเป็นตัวตนของเรา ถ้าตัวตนของเรา ถ้าจิตเรากำหนดลมหายใจชัดๆ หรือพุทโธก็ได้ หรือปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ ก็เริ่มจากโลกๆ นี่แหละ นี่โลกสอนธรรม โลกสอนธรรม เพราะโลกสอนธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดมาจากโลก เกิดมาแล้วพยายามรื้อค้นขึ้นมาจนเป็นธรรม พอเป็นธรรม เวลาสอน นี่เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะ เห็นไหม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลื้มใจมากนะ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” อยู่ในธัมมจักฯ ท่านปลื้มใจมาก ปลื้มใจมากว่ามีคนรู้ตามแล้ว เพราะเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมาแล้วนี่มันจะสอนใครได้อย่างไร? ปรัชญา ตรรกะ ความเข้าใจ จินตนาการรู้ รู้ได้หมดแหละ

แต่สิ่งที่จินตนาการไม่ได้ นี่เวลาโลก ดูศิลปะสิ เขาไปวาดรูปพวกจิตรกรรมฝาผนัง นี่เขาวาดเทวดาจะเป็นแบบนั้น นรกจะเป็นแบบนั้น นี่จินตนาการได้ ผลของวัฏฏะมันจินตนาการได้ แต่มรรค ผล มันพ้นจากวัฏฏะ จิตใจนี้มันไม่เคยสัมผัส แต่ผลของวัฏฏะ จิตใจนี้มันเคยเกิดเคยตายมาในวัฏฏะอยู่แล้ว จิตใต้สำนึกมันมี มันก็จิตใต้สำนึก คนกลัวผีทำไม? ทุกคนจิตใต้สำนึกกลัวผีทั้งนั้นแหละ เพราะมันเคยเป็นผีมา มันเคยเป็นผี มันเคยเวียนตายเวียนเกิดของมันมา พอเวียนตายเวียนเกิดของมันมา มันก็จินตนาการของมันได้

แต่มรรค ผล จิตใจนี้ไม่เคยสัมผัส เพราะสัมผัสแล้วมันอกุปปธรรม มันจะไม่เวียนไปในวัฏฏะ มันจะไม่มาเกิดมาตายอย่างนี้ไง เพราะเมื่อมันเวียนตายเวียนเกิดมันต้องมีสิ่งนั้นขับไสมา ถ้าขับไสมา เห็นไหม นี่เรื่องโลก

เวลาปฏิบัติเรื่องโลกเรามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ถึงบอกว่า “จะต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันจะวางโลกไว้พักหนึ่ง” ถ้าจิตสงบนั่นแหละมันวางโลกไว้เพราะมันเป็นอิสระ แต่วางโลกไว้นะ อยู่กับโลกเดี๋ยวมันก็คืนไปสู่โลก

จิตสงบแล้วนะ สมาธิเจริญแล้วเดี๋ยวก็เสื่อม เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ต้องอาศัยมัน ดูสิเวลาเขาจะออกจากโลก เห็นไหม นี่ยานอวกาศจะออกจากโลก ก็แรงขับนี่แหละ พอพ้นจากแรงดึงดูดของโลกก็จบแล้ว มันไปได้แล้ว นี่ถ้ามันออกจากแรงดึงดูดของโลกไม่ได้ เวลายิงขึ้นไปก็ตกกลับมานั่นแหละ เป็นไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน พอเป็นสมาธิเราก็ยิงจรวดสักทีหนึ่ง แล้วมันก็ไปไม่รอดหรอก มันก็หัวปักกลับมาโลกนี่ มันก็ปักมาโลกนี้ มันออกไปสู่อวกาศไม่ได้

นี่ถ้าจิตสงบแล้วเรารักษาของเรา รักษาของเรา ถ้าจิตสงบแล้วเราจะออกจากวัฏฏะ ออกจากโลก ออกจากแรงดึงดูดของตัณหาความทะยานอยาก ถ้าออกจากแรงดึงดูดของตัณหาความทะยานอยาก ขอให้มันสงบมาก่อน สงบแล้วเราพิจารณาของเรา ทำไมยานอวกาศของเราไปไม่ได้ล่ะ? อ๋อ! เชื้อเพลิงมันไม่พอ อ๋อ! ยานอวกาศเราชำรุด อ๋อ! ทิศทางเราไม่ดี อ๋อ! อ๋อไปเรื่อยๆ นี่มันฝึกไปเรื่อย มันพัฒนาการของมันไปเรื่อย

นี่ครูบาอาจารย์ของเราล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้มาทั้งนั้นแหละ ถ้าล้มลุกคลุกคลานอย่างนี้ นี่ไงธรรมสอนโลก ธรรมสอนโลกเพราะอะไร? เพราะใจเป็นธรรม ใจเป็นธรรมเพราะอะไร? ใจเป็นธรรมเพราะล้มลุกคลุกคลานมาแล้ว เพราะประสบการณ์ของใจนั้นมันได้ผ่านพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว ถ้ามันไม่ผ่านจากโลกนี้ไปแล้วมันเป็นธรรมไปไม่ได้ ถ้าเป็นธรรมไปไม่ได้ โลกสอนธรรมนะ นี่ลูบๆ คลำๆ งูๆ ปลาๆ ไง นี่ไงพุทธพจน์ นี่ชัดเจนมาก รู้หมดนะ แล้วเข้าใจหมดเลย เข้าใจแล้วได้อะไร?

เข้าใจแล้วตัณหาความทะยานอยากมันก็ยังบีบหัวใจนี่ไง เข้าใจแล้วก็คือเข้าใจไง แต่กิเลสมันไม่ถลอกปอกเปิกเลย แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วนะ พอมันสงบแล้วเราพิจารณาของเรา ถ้าจับต้องได้ จับต้องได้สะเทือนมาก มันจะรู้เลย อ๋อ! เชื้อเพลิงของเราไม่พอ อ๋อ! นี่คอมพิวเตอร์เราควบคุมแล้วมันรวน อ๋อ! มันหักปักทุกทีนะ ยิงขึ้นไปนี่หัวปักทุกที ไปไม่รอดหรอก

แต่ถ้ามันพิสูจน์แล้วพิสูจน์เล่า พิสูจน์ว่านี่ไงพอจิตสงบแล้วก็พิจารณาของเรา เขาจะไปนอกโลก เขาไปจักรวาล เขาจะไปดาวอังคารก็เรื่องของเขา วาสนาของเขา จรวดเรายังไม่ออกจากโลกสักที นี่พยายามของเรา มันเรื่องของเรา ไอ้นั่นมันเรื่องของเขา เรื่องของเขา ใครสร้างอำนาจวาสนามาอย่างไรก็เรื่องของเขา แต่นี้เพียงแต่ความเข้าใจนี่ผลประโยชน์ของเรานะ นี่ฟังธรรมๆ ฟังธรรมเพื่อให้ใจเราฉลาด ถ้าใจนี้ฉลาด เพราะเราประพฤติปฏิบัติของเราเองใช่ไหม? เราล้มลุกคลุกคลานเองใช่ไหม? เราก็ทำทุกอย่างพร้อมแล้ว

ในพระไตรปิฎก นี่ทำทุกอย่างสมบูรณ์หมดเลย สมบูรณ์เสร็จหมดแล้ว งานทางโลกเราคิดว่าเราทำเสร็จแล้วก็คือจบไง นี่เก็บล้างเสร็จแล้วมันก็เรียบร้อยใช่ไหม? ถ้าเอามาใช้สอยอีกมันก็สกปรกอีก

ทีนี้จิตใจล่ะ? จิตใจมันมีของมันอยู่แล้ว อวิชชา นี่อวิชชามันอยู่ที่จิตใต้สำนึก ความคิดเรามันบวกมาตลอดแหละ บวกมาคือว่ามันไม่สะอาดหรอก มันมีตัวตนของเรา มีความเข้าข้างตัวเองบวกมาตลอด อย่างไรมันก็จริตนิสัย แม้แต่จริตเรามันก็ไม่ชอบ ของไม่ชอบก็คือไม่ชอบ ของชอบมันก็คือชอบ

ฉะนั้น เวลาคิดขึ้นมา ถ้าของมันชอบ โอ๋ย.. อันนี้ถูกต้อง เวลาของมันไม่ชอบมันปฏิเสธ แล้วชอบหรือไม่ชอบมันเป็นธรรมไหมล่ะ? ชอบหรือไม่ชอบเราให้ค่ามันเอง มันไม่เป็นความจริง ความจริงคือค่าของมัน ถ้าสัมมาสมาธิมันก็มีความสงบระงับ ถ้ามันไม่เกิดปัญญาขึ้นมาเราก็ฝึกฝนของเรา ถ้าฝึกฝนของเรานะ เราจะรู้ของเราไปเรื่อยๆ รู้ของเราไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่ารู้ตัวทั่วพร้อมหมดแล้ว นี่ทุกอย่างวางหมดแล้ว แล้วมันไปไหนไม่ได้เลย แล้วพอจะบอกให้ทำความสงบของใจเข้ามาก็กลัว คนเรานี่คิดดูสิ เราไม่ฉีดวัคซีน เราไม่ป้องกันตัวเราเองเลย เราจะป้องกันโรคได้ไหม? ถ้าเราไม่ฉีดวัคซีนเราก็ไม่มีวัคซีนป้องกันโรคของเรา ถ้าฉีดมันเจ็บไหม? เจ็บ เวลาเข็มปักเข้าไปเจ็บไหม? เจ็บ เจ็บเพื่ออะไร? เจ็บเพื่อจะมีผลป้องกันโรค

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันสงบไปแล้วมันกลัว นี่ไงจิตใจมันหวั่นไหว มันอยากจะมีวัคซีนป้องกันโรค อยากจะมีทุกอย่างพร้อมเลย แต่ไม่ให้ฉีด ฉีดไม่ได้ เจ็บ นี่จิตใจมันไม่กล้า จิตใจมันหวั่นไหว เห็นไหม

ฉะนั้น เราต้องตั้งสติของเรา ถ้ามันมีสิ่งใดเกิดขึ้นเราแก้ไขตามนั้น พอจิตมันได้สัมผัส จิตมันได้สัมผัสแล้วนะ นี่วัคซีนมีแล้ว อ๋อ! อย่างนี้ผิด อ๋อ! อย่างนี้ถูก มันจะเป็นวัคซีนป้องกันใจเรา แล้วเวลาครูบาอาจารย์เทศน์มานะ อย่าโม้ นี่ผิดทั้งนั้นแหละ เพราะเราเป็นมาแล้ว ไม่มีวัคซีนเราก็รู้ มีวัคซีนเราก็รู้ นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เราประพฤติปฏิบัติของเรา

ฉะนั้น ถ้าธรรมสอนโลกมันก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าโลกสอนธรรมมันเป็นแบบนั้นแหละ เพราะโลกสอนธรรม ถ้าโลกสอนธรรมเพราะเป็นโลก แต่! แต่ความเป็นของโลกใช่ไหม? ถ้าไม่มีโลกเลย ไม่มีผู้นำเลย ไม่มีการกระทำเลย ใครๆ มันก็ไม่เอา นี่สิ่งที่เอามันก็ต้องให้เขามีความพอใจ ถ้ามีความพอใจ เริ่มต้นขึ้นมา จากอนุบาลขึ้นมาก็พัฒนาขึ้นมา

เวลาปฏิบัตินะ เราสังเกตได้ ดูสิในมหายานเขา ในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เขาชาวพุทธ เห็นไหม เขาไปวัดเขาไปนั่งภาวนากัน นี่ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ว่าเขาภาวนาก็โลกทั้งนั้น โลกทั้งนั้นแหละ แต่จิตใจของเราอยู่ในวัฒนธรรม วัฒนธรรม ปรัชญาของพุทธไง ปรัชญาของพุทธว่าเขาดำรงชีวิตของเขาโดยวัฒนธรรมของชาวพุทธ เขาก็พยายามจะภาวนากัน เพราะศีล สมาธิ ปัญญา หลักการภาวนามันมีอยู่แล้ว บำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อให้เกิดบุญกุศลของเราขึ้นมา

นี้บุญกุศลของเรา เห็นไหม เราก็ทำบุญกุศลกัน ว่าอย่างนี้เป็นบุญกุศล แต่เวลาเขาไปวัดไปวา เขาไปบำเพ็ญเพียรของเขา

“ทำทานร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับเกิดสมาธิหนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหนพันหน ไม่เท่าเกิดปัญญาหนหนึ่ง”

เขาบำเพ็ญเพียรของเขา เขาเกิดปัญญาของเขา เขาพยายามสร้างปัญญาของเขา เห็นคนทุกข์จนเข็ญใจเขาก็ไปวัดไปวากัน เขาไปบำเพ็ญเพียรภาวนากัน นั่นแหละเขาทำยอดบุญของเขา ถ้าเขาทำของเขาได้มันก็เป็นประโยชน์ของเขา นี่เขาทำของเขาเพื่อบำเพ็ญเพียรนะ บำเพ็ญเพียรเพื่อสร้างอำนาจวาสนาบารมี

แต่ของเรานี่เรามั่นใจของเราแล้วว่าเรามีอำนาจวาสนาแล้ว เราจะประพฤติปฏิบัติแล้ว เราจะทำของเราเป็นความจริงแล้ว ถ้าความจริงก็นี่ไง ต้องเป็นธรรมไง

ทีนี้พอเป็นธรรมปั๊บ ธรรมกับโลกมันแตกต่างกัน โลกก็คือโลก ธรรมก็คือธรรม แล้วเราเกิดมากับโลก ใจเราเป็นโลก พูดออกไปโลกทุกคำ พูดธรรมะก็ธรรมะของโลก ปากมันอมอะไรมา มันพูดออกมามันก็มีกลิ่นนั้นออกไปทั้งนั้นแหละ นี้กิเลสในหัวใจมันเต็มหัวใจ พูดธรรมะมันก็กิเลสทั้งนั้นแหละ มันก็โลกทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าใจเป็นธรรมขึ้นมาแล้วนะ นี่มันจะดุด่าขนาดไหนมันก็เป็นธรรมทั้งนั้น เพราะใจเป็นธรรม

ถ้าธรรมสอนโลกมันเป็นประโยชน์นะ แต่ถ้าใจมันเป็นกิเลส พูดธรรมะมันก็หวังผลตอบแทน พูดธรรมะมันก็หวังเพื่อตัวมัน แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมานะ นี่แสดงธรรมตั้งแต่เริ่มต้น ท่ามกลาง ที่สุด มันเป็นธรรมแท้ๆ แต่โลกรับไม่ได้น่ะสิ โลกจะต้องให้เอาอกเอาใจกัน เอาอกเอาใจก็เป็นโลกไง นี่โลกต้องการอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ เห็นไหม “เธอกับเรา ๖๑ องค์ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลก ความสรรเสริญเยินยอของโลกเขา พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและพ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์”

บ่วงที่เป็นทิพย์ เทวดา อินทร์ พรหม เขาจะมาอุปัฏฐาก หลวงปู่ชอบท่านอยู่ในป่าในเขา ท่านอดอาหาร เทวดามานี่จะเอาอาหารทิพย์มาลูบให้ มาถูให้เข้าไปในกายท่าน ท่านบอก

“ทำไม่ได้ ทำไม่ได้”

“เพราะอะไร?”

“เพราะว่าเทวดาเป็นผู้หญิงจะมาถูกร่างกายไม่ได้”

“อ้าว เป็นเทวดามันเป็นนามธรรม ใครไม่เห็นหรอก”

“ไม่เห็นแต่เราเห็น”

นี่พ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์ พ้นจากบ่วงที่เป็นโลก พ้นจากบ่วงที่เป็นทิพย์ เวลาแสดงธรรมทั้งเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด มันไม่มีตัวตน มันไม่มีสิ่งใดเพื่อประโยชน์กับสิ่งนั้น มันถึงเป็นธรรม ถ้าเป็นธรรม ถ้าธรรมสอนโลกมันก็จะเจริญก้าวหน้า

ถ้าโลกสอนธรรมนะ “ก็รู้หมดแล้ว พระไตรปิฎกก็เรียนจบแล้ว ก็ทำทุกอย่างแล้ว ทำไมหัวใจมันเป็นแบบนี้? ทำไมหัวใจมันเป็นแบบนี้?” นี่เวลาโลกสอนโลกไง โลกสอนธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกสอนธรรม โลกสอนธรรมมันเป็นแบบนั้นแหละ

แต่ถ้าธรรมสอนโลกนะ ธรรมสอนโลกเป็นตัวอย่าง เห็นไหม นี่หลวงตา เวลาอยู่กับหลวงตาท่านพูดอยู่ประจำ เพราะพระมาบวชกับท่านเยอะ แล้วเวลาพระบวชกับท่าน เวลาเริ่มต้นท่านบอกมีสิ่งใดให้ไปหาท่าน สุดท้ายแล้วท่านบอกให้พระดูแลกัน ดูแลกัน แล้วท่านพูดนะ “เวลาดูแลกันนี่ทุกคนมีกิเลส ทำสิ่งใดมันจะขัดแย้ง ให้ดูท่านเป็นตัวอย่าง ให้ดูท่านเป็นตัวอย่าง ถ้าสรุปกันไม่ได้ให้ดูที่พฤติกรรมของท่าน ท่านทำอย่างไรให้ดูตรงนั้น”

ท่านพูดอย่างนี้จริงๆ ท่านพูดกับพระเลยนะ ถ้าถึงที่สุดแล้วมีความเห็นแตกต่างกัน ให้สรุปลงที่ท่าน ให้ดูท่านเป็นตัวอย่าง เห็นไหม เพราะท่านมั่นใจว่าท่านสามารถพาพวกเราไปได้ ถ้าโคนำฝูงมันฉลาด นี่ธรรมสอนโลก แล้วเราจะได้ประโยชน์ ถ้าโลกสอนธรรมนะ เราต้องมีสติมีปัญญาคัดเลือก แยกแยะ สิ่งใดควรและไม่ควร ถูกและไม่ถูก แล้วใจเรามันสัมผัสแล้วมันรู้

นี่เขาบอกว่าพริกหวานๆ เวลาเรากินพริกเข้าไปมันเผ็ด มันหวานตรงไหน? เผ็ดเกือบตาย มันบอกหวานได้อย่างไรวะ? นี่คำสอนเป็นแบบนั้น แต่เราสัมผัสไง ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก เรารู้ของเรา พริกหวานๆ พริกมันเผ็ด พริกมันหวานเอาจากไหนมา? นี่เวลาเขาว่าไป นี่โลกสอนธรรม แต่ถ้าเป็นจริง เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกเรารู้กัน

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มงคลชีวิต ธัมมะสากัจฉา เอตัมมังคะละมุตตะมัง การสนทนาธรรมเป็นมงคลอย่างยิ่ง เป็นมงคลเพราะเราได้คัดกรองกัน สิ่งใดที่มันไม่ถูกต้องเราก็คัดกรองออกไป เราเอาแต่ความที่ถูกต้อง ถูกต้องแล้วเราคุยกัน เราสนทนากันเพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิตในการประพฤติปฏิบัติ

ถึงจะเป็นโลกพูดถึงธรรมะก็แล้วแต่นี่แหละ แต่สิ่งใดเราต้องพูดกันด้วยเหตุด้วยผล แล้ววางไว้ อย่าเถียงกันหน้าดำหน้าแดงด้วยความไม่มีเหตุไม่มีผล ถ้ามีเหตุมีผลนะ เหตุผลของใคร? เห็นไหม หยาบ ละเอียด อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด เหตุผลมันละเอียดลึกซึ้งเข้าไปอีกหลายชั้นหลายตอน แต่ถ้าปัญญาเราไม่ทันเรางงนะ พูดเหมือนกันมันผิดตรงไหนวะ? พูดเหมือนกัน พูดเหมือนกันนี่ผิดหมดเลย เพราะจำมาพูด ฟังเขาเล่าว่า เขาเล่าอย่างนี้เอ็งพูดจริงๆ นั่นแหละ ถามจริงๆ นี่ไม่รู้ เพราะเขาเล่ามา

นี่ไงพูดเหมือนกันผิดตรงไหน? ผิดเพราะเขาเล่าว่า มึงไม่รู้ ถ้ารู้จริง ถามมาสิ บอกได้หมดแหละ เราบอกได้หมดแล้วมันก็จบ นี่ธรรมสอนโลกกับโลกสอนธรรม

เมื่อวานเขาถามแล้วนะ มันแบบว่าสังเวชมากนะ แต่! แต่ก็เป็นแบบนี้จริงๆ ก็เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ก็เป็นกันแบบนี้ ก็เริ่มต้นจากศรัทธา เริ่มต้นจากความมุมานะ แต่ปฏิบัติไปมันก็จะเริ่มคลายออก สิ่งใดผิดคัดแยกเอา แล้วเราก็จะเข้าสู่ความจริงนั้น นี้การปฏิบัติของเรา เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาเราคิดถึงชีวิตเรานะ เราภูมิใจว่าเราได้พบครูบาอาจารย์ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ รับประกันได้ว่าเราจะต้องเถียงหัวชนฝา แล้วไม่เชื่อหรอก แต่นี้ครูบาอาจารย์ท่านน็อกเอา น็อกเอา เถียงไม่ออกหรอก อ้าปากก็เต็มปาก อ้าไม่ได้เลย นี่เราได้พบครูบาอาจารย์มา เราถึงตะเกียกตะกายมาได้ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ เพราะบารมีของเรามันไม่ไหว ไม่เหมือนหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านเอาตัวท่านรอดได้ อย่างพวกเราถ้าไม่มีใครบอกใครชี้นะ หัวทิ่มดินทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เราเกิดมาพบแล้วเราควรภูมิใจในวาสนา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ ไอ้ที่ผิดก็คือผิด โลกเขาไม่รู้ เราฟังแล้วเราก็คัดแยกเอา อย่าไปเชื่อ แต่อะไรที่เป็นจริงเราเอาตรงนั้นมาเป็นประโยชน์กับเราเพื่อชีวิตของเรา เอวัง