ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม่พอดี

๒ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

ไม่พอดี
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๙๐๘. ไม่มี ข้อ ๙๑๐. ก็ไม่มีเนาะ

ถาม : ข้อ ๙๑๑. เรื่อง “การทำบุญ”

(เขาถามมามันเรื่องเด็กๆ มากเลยแหละ แต่มันเป็นคิว)

๑. ให้คนทำบุญ โดยให้เขาถวายปัจจัยต่างๆ ด้วยตนเองกับพระ ได้ใกล้ชิด ได้มีโอกาสทำบุญกับมือทำด้วยตนเอง

๒. ผู้นำรวบรวมปัจจัยทั้งหมดแล้วถวายทีเดียว เพราะหากทำคนเดียวจะได้เท่านั้น แต่ถ้ารวมกันแล้วได้รวมยอดจะได้บุญใหญ่ ได้อนุโมทนายอดใหญ่ได้บุญกว่า รวมถวายเป็นหมู่คณะกองใหญ่ได้บุญมากกว่าไหมครับ? แล้วจะได้บุญเต็มๆ หรือบริวารของผู้นำคณะนั้น เพราะอัครสาวกส่วนใหญ่ หรือท้าวสักกะก็ทำบุญด้วยตนเอง แม้ทรัพย์ที่ให้มีค่าน้อย ไม่เคยได้ยินว่าองค์ไหนร่วมเป็นบริวารแล้วได้บุญเต็มๆ ได้แค่เป็นบริวาร เพราะอยากให้คนอื่นทำบุญได้บุญเต็มที่จริง และมีแนวทางที่ถูกต้อง

๓. กรณีการทำบุญที่เป็นเครือข่ายกับครอบครัวเดียวกัน ก็ควรจะร่วมกันทำ หรือต่างคนต่างทำ

๔. จะร่วมกันทำ หรือต่างคนต่างทำ เกิดชาติหน้าจะเจอกันไหม? ถ้าไม่อยากเกิดเจอกันจะทำบุญอย่างไรครับ

ตอบ : นี่พูดถึงว่าการทำบุญเนาะ นี่แบบว่าเขาถามมา ไอ้อย่างนี้มันเป็นเรื่องคนศรัทธาใหม่ พอศรัทธาใหม่ พวกเราศรัทธาปั๊บจะมีติดปัญหากันอย่างนี้ทุกคน คือเราไม่ทำบุญก็ทำไม่เป็น พอทำบุญขึ้นมาก็ละล้าละลังว่าอะไรเป็นบุญ อะไรไม่เป็นบุญ แล้วอยากได้บุญมาก คำว่าได้บุญมากนะ นี่ศรัทธาตั้งไว้มาก อันนั้นแหละได้มาก มันอยู่ที่ศรัทธามาก

หลวงตาใช้คำว่า “ประตูเปิดมาก อากาศเข้าได้มาก ประตูเปิดน้อย อากาศเข้าได้น้อย”

คำว่าประตูเปิดเป็นเจตนาไง คำว่าเจตนา ศรัทธา ความเชื่อ แม้ของน้อยก็ได้มาก แต่ถ้าไม่มีศรัทธา สักแต่ว่าทำ ทำแบบโยนทิ้งไง คำว่าโยนทิ้งนะ เวลาทำจริงๆ เขาให้โยนทิ้งจริงๆ เวลาทำแบบทิ้งเหว ทิ้งเหวคือไม่ติดข้อง ทิ้งด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนทิ้งเหว แต่เวลาเราประชด พูดภาษาโลกไง ทำแบบสักแต่ว่าทำ คือทำโยนทิ้ง

ทำโยนทิ้งกับทำทิ้งเหวต่างกัน ทำทิ้งเหวคือว่าเขาตั้งใจของเขา แต่เขาไม่ยึดติดไง พอเขาทำแล้วก็จบไง อันนี้ได้บุญมาก แต่พอทำแล้วละล้าละลัง ละล้าละลัง นี่พอเริ่มทำบุญเป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้เพราะอะไร? เพราะเรื่องบุญกุศลเป็นเรื่องบุญ ไม่ใช่บาปอกุศล เรื่องบุญกุศลเป็นเรื่องที่ดี แต่พอทำดีแล้วคนมีกิเลสไง กิเลสมันก็เข้ามาต่อต้าน เข้ามาโต้แย้ง เข้ามาต่อต้านนะ เข้ามาบังเงา บังเงาว่าทำบุญต้องได้บุญอย่างนั้น มันก็เลยทะเลาะกันเรื่องทำบุญ

ฉะนั้น เวลาทำบุญ เห็นไหม ฉะนั้น ถ้าใครมาวัดนี้ วัดนี้จะไม่มีพิธีกรรมใดๆ เลย วัดนี้เอาศรัทธา เอาความเชื่อ เอาศรัทธาเป็นตัวตั้ง ใครมีศรัทธาอย่างใด มาถึงถวายจบ ไม่ให้มีพิธีกรรมใดๆ เลย เพราะมีพิธีกรรม เพราะว่าคนมาก็ถามอย่างหนึ่ง คนมาก็ถามอย่างหนึ่ง คนมาถามมาก ทำบุญอย่างไรได้บุญมาก? ทำบุญอย่างไรได้บุญน้อย? แล้วก็บอกว่าสิ่งที่ได้มาสะอาดบริสุทธิ์หรือไม่สะอาดบริสุทธิ์? นี่ก็ว่ากันไป เพราะเราไปวิตกกังวล มันไม่พอดีไง

แต่ถ้าความพอดีนะ แล้วพอดี นี่บางคนนะ พอทำบุญเขาเรียก “เจริญศรัทธา” พอเจริญศรัทธาขึ้นมา พอใครมาแล้วถวายสังฆทาน กล่าวคำถวายบุญ กล่าว ๕ ชั่วโมงใช่ไหม? พระก็นั่งกัน แหม ด้วยความปลาบปลื้ม พอได้สาธุ อู๋ย โยมก็สบายใจ อู๋ย บุญลอยมาเท่าก้อนเมฆ แต่ถ้าพระเขาไม่นั่งเป็นประธาน เราไม่ได้กล่าวคำบุญอะไรเลย เราไปถึงแล้ววางแล้วก็กลับ นี่เราจะได้บุญหรือ? โอ๋ย ก็ตกไปนะ โอ๋ย พระยังไม่ได้รับเลย

นี่เพราะความเกรงใจกันอย่างนั้น ของที่เอามาทำบุญมันมีสัตตาหกาลิก ยาวชีวิก ยามกาลิก คือของชั่วยามก็มี ของมีอายุ ๗ วันก็มี ของตลอดชีวิตก็มี แล้วจะแบ่งแยกกันอย่างไร? แล้วพอบอกขึ้นไปมันก็เป็นเรื่องเป็นราว แล้วเมื่อก่อนนะเวลาศาสนาที่ยังไม่เจริญรุ่งเรือง เห็นไหม นี่ยังไม่เจริญ คนยังไม่เข้าใจก็ทำบุญกันเป็นประเพณี แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านรื้อค้นขึ้นมา ท่านบอกว่า “พืชคาม ภูตคาม”

พืชคาม ภิกษุทำให้พรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์

ภูตคาม ของที่มันเกิดได้ ภิกษุทำลายมัน ภิกษุเป็นอาบัติปาจิตตีย์

ฉะนั้น พอปาจิตตีย์ เพราะมันมีอยู่ในพระไตรปิฎก มีพระองค์หนึ่งเขาฉันถั่วเขียวไง ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ในสมัยพุทธกาล แล้วไปถ่าย ถ่ายแล้วมันก็ไปงอกอีก ไปเกิดได้ พอเกิดได้ก็รังเกียจ รังเกียจเขามาถวายถั่วเขียวต้มน้ำตาลท่านก็ไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับ โยมคนนั้นก็น้อยใจก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เรียกพระองค์นั้นมาว่า

“ทำไมเธอทำแบบนั้น?”

“ข้าพเจ้าฉันเข้าไปแล้วนะ พอไปขับถ่ายแล้วมันยังงอกได้ มันยังเกิดได้ ก็เลยคิดว่ามันมีชีวิต ก็เลยรังเกียจ”

พอรังเกียจพระพุทธเจ้าก็เลยบัญญัติข้อใหม่มา เห็นไหม “ภูตคาม สิ่งใดที่มันเกิดได้ให้กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต”

กัปปิยัง กโรหิ ของเป็นกัปปิยภัณฑ์ ของนี้สมควรแก่ภิกษุไหม? เวลาพระจะถามโยมนะ ว่า “ของนี่มันควรแก่ภิกษุไหม?” กัปปิยัง กโรหิ

ไอ้โยมที่เอามาเป็นเจ้าของแล้วใช่ไหม? สิทธิเป็นของเราอยู่แล้วใช่ไหม?

“กัปปิยะ ภันเต” ของนี้เป็นกัปปิยภัณฑ์ สมควรแก่ภิกษุที่จะฉันครับ นี่มันเป็นอีกชั้นหนึ่งไง ถ้าไม่ทำ เห็นไหม ไม่ทำมันก็เป็นปาจิตตีย์ พอเป็นปาจิตตีย์ พอฉันเข้าไปเป็นปาจิตตีย์นะ

ฉะนั้น พระที่เขาปฏิบัติเขารู้ รู้กันเพราะว่าสมัยพระจอมเกล้าฯ พระปฏิบัติก็แล้วแต่ความเห็นของตัว พระจอมเกล้าฯ มาตั้งเป็นคณะใหม่ แล้วพยายามศึกษาเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ก็มารู้เรื่องนี้เข้ามา นี่เพราะว่าในประวัตินะเวลาหลวงปู่มั่นท่านทำแบบนี้ พระฝ่ายปกครองเขาไม่ค่อยมีใครเห็นด้วยหรอก เพราะตอนนั้นเขาอยู่กันสุขสบาย แล้วพอสุดท้ายหลวงปู่มั่นท่านทำสิ่งใด ฝ่ายปกครองก็มีปัญหาพอสมควร

แล้วนี่เรื่องกัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต หลวงปู่ฝั้นท่านมาแสดงให้กับสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ที่จังหวัดนครราชสีมา จำชื่อวัดไม่ได้ นี่บอกว่าของนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก เรื่องผ้านิสีทนะ กว้าง ๖ คืบ พวกนี้ผ้ารองนั่ง ถ้าผ้ารองนั่ง ภิกษุนะถ้านั่งอย่างนี้นั่งโดยปกตินะ นั่งโดยไม่มีสิ่งใดรองนั่งนะ แล้วไขมันเลอะ นี่เป็นอาบัติทันที เวลาจะพิงมันต้องมีอะไรนะ มันถึงมีผ้าปูนอน ผ้าปูนั่ง พระกรรมฐานเขาจะมีของเขาพร้อมหมดนะ เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้มันอยู่ในวินัยหมดเลย วินัยพระนี่ละเอียดมาก

ฉะนั้น พอหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านไปฟื้นฟูตรงนั้นมา เห็นไหม ฟื้นฟูมา พระก็ทำตามกันมา แต่เมื่อก่อนไม่เคยทำ นี่กัปปิยัง กโรหิ กัปปิยะ ภันเต แล้วพอทำไปทำมา พระในเมืองก็เลยเห็นเป็นของเท่ห์ เห็นเป็นของเท่ห์นะ แหม เวลากัปปิยังนี่วางฟอร์มกัน วางมาดกัน นี่เห็นเป็นของเท่ห์ไป ไม่เห็นเป็นเรื่องธรรมวินัย ถ้าเรื่องธรรมวินัย นี่สิ่งที่ทำบุญ เห็นไหม ทำบุญไม่เป็นมันก็มีปัญหากันมาตลอด

พอมีปัญหามา หมายความว่า สิ่งใดถ้ามันเป็น นี่เขาเรียกว่า “สัปปายะ ๔” ถ้าหมู่คณะเป็นสัปปายะ ผู้ที่มีความเห็นเหมือนกัน ผู้ที่มีธรรมเสมอกัน เวลาปฏิบัติปฏิบัติง่าย อย่างเราปฏิบัติอยู่ฝั่งนู้น ถ้าปฏิบัติแล้วนะ คนทุกคนก็ปฏิบัติใช่ไหม? ทุกคนก็นั่งกันสงบเสงี่ยมนะ ทุกคนก็ให้โอกาสต่อกันนะ เราปฏิบัติง่าย แต่พอเราปฏิบัตินะเขาจะมาตีตาด เขาจะมาทำเสียงหนวกหูเรานะ เรารำคาญตายเลย

นี่ก็เหมือนกัน สัปปายะ ๔ คือความเห็นเสมอกัน ความรู้เสมอกัน ทีนี้เสมอกัน ถ้ามันไม่เสมอกัน เห็นไหม นี่เวลาพระไปด้วยกัน หมู่คณะที่เขาไม่ทำกัปปิยะ เขาไม่รู้จักภูตคาม เขาก็ว่าไม่เป็นอาบัติ ไม่รู้เรื่อง ถ้าพรากของเขียวเป็นอาบัติปาจิตตีย์ แล้วภูตคามของที่มันเกิดนะ ถ้าเราไปทำตกล่วงหรืออะไรก็เป็นปาจิตตีย์เหมือนกัน ฉะนั้น พระที่เขารู้เขาก็รังเกียจ

คำว่ารังเกียจมันก็มีเหมือนกัน แต่ถ้ารู้เหมือนกันแล้ว ทำเหมือนกันแล้วมันก็เป็นเรื่องปกติ คือเป็นเรื่องสามัญสำนึก เหมือนกับการทำบุญนี่แหละ ถ้าทำบุญนะ เราไปทำบุญแล้ว ถ้าพระเขามีเจตนาบริสุทธิ์อยู่แล้ว สิ่งที่ทำบุญมันก็เหมือนอย่างที่ว่า มันเป็นอามิส มันเป็นวัตถุ เป็นวัตถุทาน เห็นไหม วัตถุทาน ธรรมทาน อภัยทาน เราให้อภัยเขาก็เป็นทานแล้ว อนุโมทนาทาน เราไม่มีสักสลึงเลย เห็นเขาทำบุญกันเราก็ดีใจกับเขา นี่อนุโมทนา เราพอใจนี่ก็เป็นบุญแล้ว นี่บุญถ้าคนฉลาดมันมีให้เราหาได้ทั้งนั้นแหละ มีเยอะแยะไปหมด

ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่ว่า

ถาม : เราทำบุญทำอย่างไร? สิ่งนี้เราต้องรวมกันไหม?

ตอบ : ถ้ามันมีเจตนานะ คนที่เขามีเจตนาเสมอกัน เขามารวมกัน มันทีเดียวมันก็ไม่วุ่นวาย แต่ถ้าเขาไม่เห็นด้วยล่ะ? คนที่ไม่เห็นด้วยเขาก็อึดอัด สิ่งนี้มันเป็นที่ว่าความพอดีไง ถ้ามันพอดีมันก็ถูกต้อง

ฉะนั้น คำถามนะ

ถาม : ๑. ให้คนที่ทำบุญได้เข้าไปถวายปัจจัยต่างๆ ด้วยตนเองกับพระ ได้ใกล้ชิด ได้มีโอกาสทำบุญกับมือ ทำด้วยตนเองดีกว่าไหม

ตอบ : อ้าว สิ่งนี้ ประสาเรา แม้แต่พระนะ แม้แต่พระต้องอาวุโส ภันเตนะ ถ้าเราเป็นภันเต เราพรรษาน้อยกว่า ถ้าเราไปนั่ง ถ้านั่งที่สูงกว่า ถ้าเจตนานะเป็นอาบัติทุกกฎโดยอัตโนมัติเลย แต่ถ้านั่งเขาต้องถามพรรษากัน ว่าอาวุโสต้องนั่งหน้า ภันเตต้องนั่งต่อมา นี่โดยหลักเลย ถือวินัยนี้โดยเคร่งครัดเลย

ทีนี้คำว่าอาวุโส ภันเตมันเป็นวินัยนะ เป็นอาวุโส ภันเตโดยธรรมวินัย แต่ถ้าพูดถึงคนมีคุณธรรมในหัวใจล่ะ? มีคุณธรรมในหัวใจนะ พระเขาจะรู้กัน เขาเคารพอีกชั้นหนึ่ง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้น สิ่งที่อาวุโส ภันเต ฉะนั้น คราว มหาสมโย สมณภตฺตสมโย ในปาติโมกข์ไง คราวภิกษุมาก ภิกษุเป็นพัน อาวุโส ภันเตนี่วางไว้เลย นั่งฉันได้โดยที่ว่ายกเว้น ในปาติโมกข์มียกเว้นนะ มหาสมโย สมณภตฺตสมโย คราวที่ภิกษุมาก คราวที่ภิกษุมากเราจะมาถามบวชเมื่อไหร่? เมื่อไหร่? มันจะเช็คกันมันไม่ไหว พอไม่ไหวเขาถึงให้ยกเว้นไง

มหาสมโย สมณภตฺตสมโย คือว่าภิกษุคราวเดินทาง คราวไปทางรถ คราวไปทางเรือ คราวที่ภิกษุมาก นี่ปรมฺปร นี่มันอยู่ในโภชนวรรค นี่ไงแม้แต่พระนี่นะ ถึงเวลาเขาเรียก “กาลเทศะ” ไง ไม่ใช่เถรตรงต้องเป็นอย่างนั้นตลอดนะ อาวุโส ภันเตก็ต้องอาวุโส ภันเตนะ แล้วเวลาพระมาสักพันองค์ พรุ่งนี้เช้ายังไม่ได้กินข้าว

วันนี้นะ อ้าว บวชเมื่อไหร่? บวชวันเดียวกัน เวลาใครสูงกว่า บวชพร้อมกัน บวชพร้อมกันใครอยู่ซ้าย อยู่ขวา ขวาอาวุโส ซ้ายภันเต ต้องเรียง แต่ถ้าเป็นปกติอย่างนี้จริงๆ อยู่บ้านตาด เช้าขึ้นมาจะเรียงอย่างนี้เลย แต่ถ้าเวลาไปงาน แต่ถ้าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ พระที่จัดงาน พระที่คอยรับภิกษุ ถ้าไม่เป็น ตรงนี้คือว่าเราทำไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าเป็นอาบัติปั๊บ ตัวคนทำนี่มันติดตัวมันก่อน เห็นไหม

หลวงตาจะบอกว่าถ้าไม่ติดตัวเราเองนะ ทำสิ่งใดนี่ปลอดโปร่งหมดเลย ถ้าตัวเองติดนะ ตัวเองติดใช่ไหม? เพราะตัวเองรู้ถูก รู้ผิด แต่ไม่รู้ว่ามันมีคราวยกเว้น พอตัวเองติดตัวเองต้องทำตามระเบียบ พอทำตามระเบียบตัวเองก็ต้องจัดตามนั้น แล้วไปทำอย่างอื่น ตัวเองมันติดตัวเองมันทำไม่ได้ แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่มีประสบการณ์ พูดถึงผู้ที่เข้าใจธรรมวินัยนะ อ้าว มหาสมโย สมณภตฺตสมโย คราวที่ภิกษุมาก ภิกษุมากไม่เป็นอาบัติ เราไม่เป็นอยู่แล้ว แต่นี่พอเราไม่เป็นอาบัติแต่เขาเป็น หรือเขาไม่เป็น ความเห็นมันแตกต่าง เห็นไหม โอ้โฮ ทำงานนี่ยากมากนะ มันจะขัดแย้งกัน แล้วมันจะไม่ราบรื่น

นี้พูดถึงความเห็นนะ ทีนี้ย้อนกลับมาที่ทำบุญมันจะลงตรงนี้ ตรงที่บอกว่า

ถาม : จะต้องทำด้วยมือของตัวเองไหม?

ตอบ : มันมีนะในสมัยพุทธกาล มีกษัตริย์นิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉัน แล้วถวายด้วยมือ แล้วให้ลูกออกไปรบกลับมาไง ให้ขอพรอย่างหนึ่ง ขอว่าอย่างไรรู้ไหม? ขอได้ถวายอาหารกับพระพุทธเจ้า ขอให้ได้ถวายกับมือ สมัยที่เวลาคนศรัทธานะอยากได้ถวายกับมือแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเยอะมาก ทีนี้เวลากิจนิมนต์ต่างๆ มันก็จะมีไอ้นั่นไป นี่พูดถึงความที่เขามั่นคง เขาเชื่อถือ ศรัทธา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามั่นคง เราเชื่อถือ ศรัทธา ประสาเรานะเราก็แอบทำไง คือทำไม่ต้องบอกใคร คือถ้าเราศรัทธาองค์ไหนเราก็ถือของเราไว้ เวลาเขาประเคนเราก็ประเคน พั่บ! จบเลย แต่ถ้าบอกว่าฉันก็จะประเคน คนนั้นก็จะประเคนนะ พรุ่งนี้เช้า พรุ่งนี้เช้าไม่ได้กินข้าว

นี่พูดถึงจะอังคาสภิกษุด้วยมือ เขาว่าอังคาสภิกษุด้วยมือของตนเองนี้ได้บุญมาก ฉะนั้น มันเป็นกาลเทศะ เพราะเราจะไปอังคาสเมื่อไหร่ก็ได้ เราจะไปถวายกับมือเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ แต่ถ้ามันเป็นกาล เป็นคราวที่มันคนเยอะหรืออย่างไรนี่เราก็ต้อง เพราะว่าแม้แต่ในปาติโมกข์ มหาสมโย สมณภตฺตสมโย นี่ยังยกเว้น บางคราว บางกาลยังยกเว้น เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้ มันทำไม่ได้ อันนี้ยกไว้ แต่ถ้าเป็นปกติต้องบังคับหมด

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าใจแบบนี้ปั๊บ เราไม่เถรตรงไง เถรตรงจนเป็นไม้บรรทัด แล้วเข้ากับสังคมไม่ได้ อยู่ไหนอยู่ยาก มันจะปั่นป่วนวุ่นวายไปหมดเลย แต่ถ้าเรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นจริง สิ่งนี้เป็นจริง แต่เป็นคราว เป็นกาลมันมีได้ นี่ข้อที่ ๑.

ข้อที่ ๒.

ถาม : ผู้ที่รวบรวมปัจจัยทั้งหมดแล้วถวายทีเดียว เพราะความที่ให้ทำคนเดียว เรื่องทำบุญใหญ่ได้อนุโมทนาร่วมกัน

ตอบ : อันนี้มันเรียกว่า “บารมี” ไง เราทำบุญเองกับชวนคนอื่นทำบุญด้วย หรือเราทำบุญเองไม่ชวนคนอื่นเรียกว่าบารมี คำว่าบารมีอย่างนี้มันอยู่ที่จริตนิสัย อันนี้เราไม่ตอบเป็นของตายตัวไง คนที่ชอบก็มี บางคนไม่ชอบก็มี บางคนไม่ชอบ เห็นไหม ดูสิพระโพธิสัตว์ พระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้านี่ตรัสรู้เองโดยชอบ แต่สอนคนอื่นไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าสอนคนอื่นได้ พระพุทธเจ้าเป็นธรรม ไอ้อย่างนี้มันอยู่ที่การทำมา แล้วนิสัยมันเป็นอย่างนี้ นิสัยก็คือนิสัย แต่ไอ้นี่มันเป็นข้อเท็จจริงที่พระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัย แต่คนเรานี่วิธีการแตกต่างหลากหลายมากมายเลย แล้ววิธีการของใครจะดีกว่าวิธีการของใคร? วิธีการของใครนะ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติแล้วถึงที่สุดแห่งทุกข์อันนั้นประเสริฐที่สุด เพราะในการปฏิบัติของเรา เราก็ต้องการการพ้นทุกข์ นี่เราอยากให้ถึงเป้าหมาย

ถ้าถึงเป้าหมาย วิธีการของเราทำแล้วเราถึงเป้าหมาย เราบอกว่าเราอยากได้อย่างนั้น อยากได้อย่างนั้น ไปทำตามเขา ทำแล้วไม่ได้ผล ทำแล้วล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนั้นแหละ เราอยากได้บารมีใหญ่ ทำเสร็จแล้วจะมีคนเข้าใจมากมาย แต่เวลาทำแล้วกลับไปไม่รอด กับเราทำของเราไป ทำของเรา ใครทำอย่างไรก็ได้ประโยชน์อย่างนั้น ทำตามนั้นไป ขออย่างเดียวขอให้พ้นจากทุกข์ ขออย่างเดียวขอให้ได้ประสบความสำเร็จ อันนี้ต่างหากล่ะสำคัญกว่า ถ้าสำคัญกว่าอันนี้ก็จบไง แล้วมันก็ทำได้

ฉะนั้น เรื่องบริษัท บริวาร เรื่องต่างๆ ใครๆ ก็อยากมีทั้งนั้นแหละ ทีนี้กรรมเก่า กรรมใหม่นะ คำว่ากรรมเก่าคือสิ่งที่เป็นจริตนิสัย กรรมเก่า เห็นไหม เราเกิดมารูปร่างกลางตัวไม่เหมือนกันสักคนหนึ่ง เพราะอะไรล่ะ? เพราะเราสร้างบุญมาแตกต่างกัน เราสร้างบุญ สร้างต่างๆ มาแตกต่างกัน ไม่มีใครสร้างอะไรมาเหมือนกันเลย นี่กรรมเก่า

กรรมใหม่ก็มาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ แล้วก็จะบังคับให้เป็นอย่างนี้ ก็เหมือนกับรสชาติหรือจริตนิสัยจะทำให้เหมือนกันหมดเลย ทุกอย่างให้เป็นด้วยกันหมดเลย มันไม่มีหรอก มันเป็นไปไม่ได้ พอมันเป็นไปไม่ได้ปั๊บ ตอนนี้โดยหลักเป็นอย่างนั้นไม่ว่ากัน โดยหลักต้องทำอย่างนั้น ถ้าเราทำแล้วเราชักชวนคนด้วย สังคมก็ดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น เราเห็นด้วย แต่มันที่นิสัย นิสัยของคนนะมันไม่ชอบ มันไม่เป็นไป แม้แต่ภาวนามันก็ไม่ได้ ภาวนาไปเถอะ เห็นเขาทำอย่างนั้นก็อยากจะทำตามเขาไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราทำตามของเรานี่แหละ ทำอย่างไรค้นหาๆ ของเรา ถ้ามันลงตัวของเรา เออนี่ของเรา พอของเราแล้ว พอเราทำได้แล้วเราเข้าใจนะ เข้าใจว่าทำอย่างอื่นก็เป็นอย่างนี้ เราเข้าใจ แต่เราทำแล้วเราไม่ถนัด

ฉะนั้น ดูครูบาอาจารย์ของเราสิ ดูหลวงปู่เจี๊ยะสิท่านก็ไปอย่างหนึ่ง หลวงตาท่านก็ไปอย่างหนึ่ง นี่ครูบาอาจารย์แต่ละองค์มันไปอย่างหนึ่งๆ นะ อย่างหนึ่งมันอยู่ที่จริตไง เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกเลยนะ

“หงบเอ้ย ทำไมหลวงตาท่านเทศน์น้ำไหลไฟดับเลยวะ ทำไมเราเทศน์มันไม่ค่อยมีเลยนะ แต่ แต่ถ้าใครถามไม่ได้นะ ใครถามไหลเลย”

ท่านพูดกับเรานะ ถ้าใครถามปัญหานี่ไหลเลย แต่หลวงตาท่านไปตลอดเลย ท่านไปได้หมด ท่านไปของท่านได้ นี่มันอยู่ที่ทำมาแบบข้อที่ ๒.

ฉะนั้น ทุกคนก็อยากให้เป็นแบบนั้น ทุกคนก็อยากจะทำประโยชน์กับสังคมทั้งนั้นแหละ แต่ แต่ก่อนที่จะทำประโยชน์กับสังคม ถ้าเราทำของเราให้เราเข้าใจเหตุผล เราจะทำประโยชน์สังคมได้ดีมากเลย แต่ถ้าเรายังติดที่เรา ยังแก้เราไม่จบ ทำประโยชน์สังคมก็คือประโยชน์สังคมนั่นแหละ แต่ประโยชน์เรา ประโยชน์สังคมที่ลึกซึ้งกว่านั้นมันยังไม่เกิดขึ้น แล้วมันขุ่นข้องหมองใจนะ พอทำอะไรไม่ถูกกับที่ว่าเราตั้งเป้าไว้แล้วมันขุ่นหมดเลย แต่ถ้าเราไม่ตั้งอันนี้ไว้นะ อะไรมามันก็ไม่ขุ่น ใจเราไม่ขุ่นข้องหมองใจ เราทำสิ่งใดมันก็เป็นประโยชน์กับเรานะ อย่าให้มันขุ่นข้องหมองใจ

ถาม : ข้อ ๓. กรณีที่การทำบุญเป็นเครือข่ายกับครอบครัวเดียวกันควรจะทำอย่างใด?

ตอบ : ครอบครัวเดียวกันนี่สำคัญมาก ครอบครัวเดียวกันนะ เพราะการกระทำ ครอบครัวเดียวกัน การครองเรือนนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุด พระพุทธเจ้าบอกการครองเรือนนี่ทุกข์มาก การครองเรือน คือทุกข์มากอย่างไร? อ้าว การครองเรือนคือการครองใจนะ การครองเรือน เห็นไหม ในใจเรานี่เราคิดอะไรร้อยแปด แล้วใจของคู่ครองล่ะ? แล้วถ้ามีลูกอีกคนหนึ่ง แล้วใจของมันล่ะ?

การครองเรือนคือการบริหารความรู้สึกนึกคิดในบ้าน ทีนี้การบริหารความรู้สึกนึกคิดในบ้าน ถ้าความรู้สึกนึกคิดในบ้านมันเห็นไปทางเดียวกัน โอ้โฮ นี่ประเสริฐมากนะ อันนี้มีค่ามากกว่าเงินทองหลายเท่าเลย มีค่ามากกว่าเงินทองหลายเท่า หมายความว่าในครอบครัวเดียวกันมีความคิดเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกัน มันจะไม่มีขัดแย้งในบ้าน โอ๋ย มีความสุขมากนะ แต่ถ้ามันมีอะไรขัดแย้งกันในบ้านนะ นี่สามีคิดไปอย่างหนึ่ง ภรรยาคิดไปอย่างหนึ่ง

กรณีนี้มี เราเคยเห็นมา ในพระไตรปิฎกก็มีนะ สามีหรือภรรยาคนใดคนหนึ่งไปวัด อีกคนหนึ่ง แหม ไปเที่ยวที่ไหน? ไปทำอะไร? โอ๋ย มันคิดไปร้อยแปดเลย เป็นห่วงไปหมด นี่มันมีความขัดแย้ง เห็นไหม แต่ถ้าในทางเดียวกัน ไปด้วยกัน ทำด้วยกัน โอ้โฮ มันไว้ใจไง

๑. ความไว้เนื้อเชื่อใจ

๒. ความอบอุ่น

นี่อันนี้ได้บุญแล้ว แล้วพอไปทำด้วยกัน ไปทำแล้วมันก็เกิดประโยชน์ ทีนี้พอเกิดประโยชน์ แล้วลูก หลานถ้าไปด้วยกัน อะไรกัน ทีนี้พอเด็กมันเริ่มโตขึ้นมามันไปไม่ได้ พ่อแม่ไปเถอะ หนูนัดเพื่อนไว้แล้ว (หัวเราะ) พ่อแม่ไปนะหนูนัดเพื่อนไว้แล้ว มันต่างกันโดยวัย มันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ฉะนั้น ไอ้กรณีนี้นะ ที่ว่าถ้าครอบครัวแล้วมีความเห็นทำบุญร่วมกัน ถ้าทำได้ดีมากๆ แต่ถ้าพ่อแม่ที่ฉลาดนะ ลูกเราในวัย ถ้าเราต่อรองไปกับเพื่อน ๒ หน ต้องไปกับแม่หนหนึ่งไปวัด ไปกับเพื่อน ๓ หน ต้องไปกับเราหนหนึ่ง ถ้ามีการต่อรอง ถ้าพ่อแม่ฉลาดนะมันก็มีต่อรอง คำว่าต่อรองนะ หลวงตาท่านพูดบ่อย ถ้าครอบครัวไหนเอาเด็กมาวัด ท่านพอใจมาก ท่านพอใจมาก เพราะเด็กนี่เราได้ฝังไว้ในจิตของเขา ได้มีประสบการณ์ เพราะเด็กบางคนไปวัดอย่างไรก็ไม่รู้ แล้วพระทำอย่างไรก็ไม่รู้ พอพระทำอย่างไรก็ไม่รู้ปั๊บ พระก็เลยทำตามสบายใจไง แต่พอเราไปวัดเรารู้นี่

นางวิสาขา เห็นพระนั่งคุยกับผู้หญิงไปฟ้องพระพุทธเจ้า มันเป็นเรื่องบังตา คือไม่มีใครเห็น อยู่ตัวต่อตัวไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบัญญัติอนิยต ๒ ไง พออนิยต ๒ ปั๊บ ภิกษุก็ไปนั่งคุยกันโดยที่ไม่บังตา ก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้าอีก พระพุทธเจ้าบอกว่าบังหู บังหูคือคุยกันโดยส่วนตัวไม่มีบุคคลที่ ๓ เป็นอนิยตนะ อนิยตหมายความว่าถ้าบุคคลนี้เชื่อได้ เหมือนนางวิสาขา นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน นี่ถ้าไปฟ้องพระพุทธเจ้าหรือไปฟ้องพระ ให้ถือเอาที่ถามตามนั้น เป็นอาบัติได้ทุกตัวเลย นี่เวลาคนเขารู้ เขาเป็น พระทำอะไรเขารู้ไง

ฉะนั้น กรณีนี้ก็เหมือนกัน กรณีที่ว่าสิ่งที่เราไปวัด เราฝังให้เด็กมันเข้าใจแล้ว มันรู้ของมัน มันเข้าใจเรื่องพระ ว่าพระนี่ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ เราถึงพูดบ่อยไง เวลาเขาไปเมืองนอกกันไปเผยแผ่ธรรม เพราะไปอยู่กับสังคมที่เขาไม่ใช่พุทธ เขาไม่รู้หรอกว่าธรรมวินัยคืออะไร? แต่อยู่กับสังคมไทยสิ ลองพระออกไป เห็นไหม พระอยู่วัดก็เรื่องหนึ่งนะ พระไปบิณฑบาต ทำตัวไม่ดีชาวบ้านก็เห็น พระทำอย่างไรชาวบ้านเขารู้หมดแหละ นี่มันถึงรู้ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าครอบครัวทำอย่างใด? ถ้ามันเป็นไปได้ ความเป็นไปได้หมายถึงว่า ถ้าครอบครัวไปด้วยกัน ทำด้วยกัน ไอ้เรื่องนี้เป็นผลบุญเลยล่ะ เป็นผลบุญมาก เราดูโดยส่วนรวมนะ แม้แต่ครอบครัวของเราเองก็เหมือนกัน ครอบครัวของเราเองมันก็ไปกันไม่ได้ ดูสิกว่าเราจะมาบวชอยู่ได้ ถ้าคนอยู่ข้างบ้านเราจะรู้ว่ากว่าเราจะบวชได้เราต้องทำอย่างใด? แล้วบวชมาแล้วมีคนเห็นชอบกับเราไหม?

คนจีนเขาจะรู้ เวลามานี่สึก สึกอย่างเดียว จะเอาสึกอย่างเดียว ไม่เอาไว้หรอก สึก มาถึงนี่สึก สึก (หัวเราะ) เขาเห็นด้วยกับเราไหม? ไม่มีใครเขาเห็นด้วยหรอก โธ่ ในครอบครัว คำว่าครอบครัวนะ แต่ถ้าครอบครัวใด แบบว่ามีความเห็นตรงกัน หรือว่าไปด้วยกัน โอ้โฮ อันนี้บุญมากๆ เลย บุญมากๆ เพราะเราไปเห็นครอบครัวไหนที่เขาขัดแย้งกัน เราเห็นถึงความกระทบกระเทือนไหม? ถ้าเราเห็นความกระทบกระเทือน นี่บุญไง แต่ครอบครัวของเราเห็นตรงกัน ไม่กระทบกระเทือน นี่บุญ

บุญคือความสุขของใจ บุญคือความอบอุ่นใจ ทุกๆ หัวใจในนั้นมีความเห็นร่วมกัน นี่คือบุญ มันนับเป็นเงินไม่ได้ไง แล้วถ้าเป็นเงินนั้นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเงินนะเป็นอามิส คือเราทำมาดี ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงครอบครัวนะ ฉะนั้น ในธรรมของพระพุทธเจ้าพูดเรื่องนี้ไว้เยอะมาก การครองเรือน ครองยากมาก การครองเรือนนะ แม้แต่ ๒ คนนั่งคุยกัน เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย ๒ คนนั้นแหละไม่ต้องใครหรอก เอา ๒ คนนั่งคุยกัน เดี๋ยวก็เห็นด้วยกัน เดี๋ยวก็ขัดแย้งกัน

การครองเรือน เราไปมองการครองเรือนคือมีบ้าน แต่พระพุทธเจ้าไม่พูดอย่างนั้นนะ การครองเรือนคือการครองใจ ใจเราก็ยังครองแทบลำบากอยู่แล้ว ยังไปครองใจระหว่างคู่สามี ภรรยา ยังไปครองใจเด็กๆ อีกนะ ดูสิต้องหลอก ต้องล่อนะ แล้วถ้าพ่อแม่เป็นอย่างนี้ ลูกของเราเองใช่ไหมก็ต้องต่อรองกัน อ้าว นัดเพื่อนไว้ ก็ได้นัดเพื่อนไว้ แต่คราวหน้าต้องไปกับฉันนะ ต้องผลัดกัน ต้องผลัดกัน เพราะอะไร? เพราะเราต้องโน้มน้าวเขามา พอโน้มน้าวเขามาให้เขาได้สัมผัส ให้เขาได้รู้ ได้เห็น

เรื่องอย่างนี้มันมีเรื่องตลกไว้เยอะมาก บางคนเขาพาลูกๆ มานี่บอกไปวัด เขาต่อรองเอามาวัด พอมานั่งกันอยู่นี่ลูกก็ถามพ่อแม่

“แม่ว่าจะพาหนูไปวัด พาหนูไปวัด ไม่เห็นไปวัดสักที”

ก็นั่งอยู่ที่นี่นะ เพราะเด็กมันเข้าใจว่าวัดมันต้องเป็นโบสถ์ เป็นวิหาร พอมาเจอวัดเรามันงงนะ แล้วมันคิดว่าออกจากวัดเราแล้วต้องไปวัดอีก เสียเวลามันเยอะไง มันบอกเมื่อไหร่จะพาไปวัดสักที ก็เขาคิดว่าออกจากนี่ต้องไปวัดอีกใช่ไหม เด็กมันกลัวเสียเวลา

“แม่ แม่ว่าจะพาหนูไปวัด พาหนูไปวัด ไม่เห็นไปวัดสักที” มันไม่รู้ว่ามันนั่งอยู่ที่วัด

นี่มันได้เปรียบเทียบ เด็กมันรู้ มันเห็นของมัน เรื่องตลกอย่างนี้มีเยอะ เด็กๆ พามานี่เขาจะรู้อะไรของเขา ฉะนั้น ถ้าเวลาโดยหลักมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้เพียงแต่ว่ามนุษย์เดี๋ยวนี้นะ ๗,๐๐๐ กว่าล้าน เวลาของผู้ที่เป็นหลักที่จะคอยบอก คอยแนะเขามันไม่มี ฉะนั้น เวลาใครมาหาเรา เราไม่มีเวลาให้หรอก ยิ่งกลางวันด้วยนะ เจอแล้ววิ่งหนีเลยล่ะ เว้นไว้แต่ตอนนี้ ตอนนี้เป็นหน้าที่ พอจบแล้วนะไม่ว่าง ไม่ให้ใครเข้าใกล้เลย จะขอเวลาเป็นของส่วนตัว

ถาม : ข้อ ๔. ทำร่วมกันกับต่างคนต่างทำ เกิดชาติหน้าจะมาเจอกันไหม? ถ้าไม่อยากเจอกันจะทำบุญอย่างไร?

ตอบ : ถ้าไม่อยากเกิดมาเจอกันนะ คำว่าเจอกัน เวลาเจอกัน เราอธิษฐาน เห็นไหม ผู้ที่สามีภรรยามีความดีต่อกันมากก็บอกให้เกิดชาติหน้าได้พบกันอีก ไอ้ผู้ที่มีความขัดแย้งก็อย่าให้เกิดร่วมกันอีกเลย ไอ้ไม่อยากให้เกิดร่วมกันนี่เกิดทุกที เกิดเพราะอะไร? เกิดเพราะอย่าให้เกิดมันผูกใจมากกว่า จะเจอหรือไม่เจอมันเป็นเรื่องของใจ ถ้าใจมันมีบาป มีบุญต่อกัน มันเกี่ยวเนื่องกัน มันจะไปเจอกัน

ฉะนั้น ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “คนที่เกิดเป็นมนุษย์นี่ ที่ไม่เคยเป็นญาติพี่น้องกัน คือไม่เคยเกิดร่วมครอบครัวเดียวกันไม่มีเลย”

ไม่มีเลยเพราะอะไร? เพราะเราเกิดตาย เกิดตาย มันเป็น ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันยาวไกลมาก ทีนี้การเวียนเกิดเวียนตายของจิตดวงหนึ่งมันเกิดตายมามหาศาล ทับซ้อนกันมาจนนับไม่ได้ นับกันไม่ได้หรอก ทีนี้นับกันไม่ได้ก็ผลัดไปใช่ไหม? ฉะนั้น บอกว่าจะมาเจอะเจอกันหรือไม่เจอกันไหม?

ชาติหนึ่ง มันอยู่ในธรรมบท เห็นไหม ที่บอกว่าแม่ชีรู้วาระจิต พระเขาไปปฏิบัติกัน แม่ชีรู้วาระจิต พอแม่ชีรู้วาระจิตนะ ไปถึงปั๊บเขาก็รู้วาระจิต เขากำหนดว่าพระอยากกินอะไร? อยากอยู่อย่างไร? เขาทำให้อย่างนั้นเลย พระมันก็ยิ่งเกร็ง ยิ่งกลัว ยิ่งปฏิบัติจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็เห็นคุณของเขามาก พอเห็นคุณของเขามากก็อยากจะรู้ว่า เอ๊ะ เรามีความผูกพันอะไรกับแม่ชีองค์นี้หรือเปล่า? ทำไมเขาทำให้เราเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาได้

กำหนดไปดูนะ โอ้โฮ ดูแล้วคอตกนะ ชาติที่แล้วก็โดนแม่ชีนี้ฆ่า ชาติต่อไปก็โดนแม่ชีนี้ฆ่า ชาติต่อไปก็โดนแม่ชีนี้ฆ่า ฆ่าๆๆ อู๋ย คอตกเลยนะ ก็เห็นคุณของเขา แม่ชีนี้ก็รู้วาระจิตอยู่เหมือนกัน ก็ส่งมาทางจิตเลยบอกว่าให้ภิกษุองค์นี้น้อมไปอีกชาติหนึ่งชาติที่ ๑๐๐ โดนฆ่ามา ๙๙ ชาติ พอไปชาติที่ ๑๐๐ นะพระองค์นี้เป็นคนฆ่าแม่ชี พอฆ่าแม่ชีนะ ชาตินั้นมันก็ความผูกโกรธ แม่ชีนั้นก็มาฆ่าคืนอีก ๙๙ ชาติ แล้วมาชาติที่สำเร็จทั้งคู่

เป็นพระอรหันต์ทั้งคู่ไง แม่ชีนั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามีก่อน แล้วก็แบบว่ารู้วาระจิตไง ใครมาปฏิบัติที่นั่น นี่พระอยากได้อะไร? พระอะไรนี่เขารู้หมด แล้วเอามาให้ตลอด พระอายนะ ยิ่งพระอาย พระยิ่งระมัดระวังตัว ยิ่งเข้มข้นขึ้นมา มันก็เลยสำเร็จได้ไง นี่ที่ว่าจะเจอกันหรือไม่เจอกันนี่นะ เขาเรียกให้อธิษฐาน แบบว่าถ้ามีเวร มีกรรมให้อโหสิต่อกัน ให้อโหสิต่อกัน ให้มันเหลือแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นตะกอนที่ดี อะไรที่ไม่ดีเราอโหสิ ให้อภัยต่อกัน

นี้เราให้อภัยกันได้ยาก นี่การให้อภัยต่อกัน ให้ต่างๆ ฉะนั้น สิ่งที่จะเกิดร่วมกันหรือไม่เกิดร่วมกัน เราไม่สามารถที่จะตั้งโปรแกรมได้ แต่ไอ้ความอาฆาตมาดร้าย ไอ้ความผูกพันของใจ ไอ้สิ่งที่ตกผลึกในใจ ไอ้ตัวนั้นต่างหาก ไอ้ตัวนั้นต่างหากที่มันจะทำให้เกิด ให้ตายจะเจอกันหรือไม่เจอกัน ไอ้เราพอใจ เห็นไหม ก็อยากจะเจอ ไอ้ไม่พอใจก็อยากจะผลัก ไอ้ตัวนี้แหละ

ก็เหมือนเอานิ้วไปจิ้มของเหม็น รู้ว่าเหม็นนะ ดมตลอดเลย ไอ้นี่อาฆาตไม่ต้องการเจอ นี่ดมตลอดเลย ไม่ต้องการเจอแล้วดมทำไม? ไม่ต้องการเจอเลย (ฟืด ฟืด) ของเหม็นชอบดม ไอ้นี่ลองได้ไม่พอใจ คิดแต่ตรงนั้นนะ คิดแต่ตรงนั้นแหละ แล้วบอกไม่เจอกัน ไม่เจอกัน แล้วไม่เจอไหม? มันยังมาดมอยู่เลย ไม่เจออะไร? ไม่เจอกันๆ นั่นแหละเจอ ไอ้จะเจอกันมันจะไม่เจอ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นความผูกพันของใจ

นี่พูดถึงว่า

ถาม : ถ้าทำบุญร่วมกัน แล้วไม่อยากเจอกัน

ตอบ : ที่เราพูดนี่โดยหลักการนะ โดยหลักเป็นแบบนี้ โดยหลักคือเรื่องของตัณหาความทะยานอยาก เรื่องของอวิชชา แต่โดยแอคซิเดนส์มีนะ โดยหลักเป็นแบบนี้ แต่มันแบบว่าบุญมาก หรือเวรกรรมที่รุนแรงมันจะให้ผลเฉพาะ เหตุการณ์เฉพาะมีนะ เหตุการณ์เฉพาะเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่เหตุการณ์โดยธรรมชาติมันเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงการทำบุญร่วมกันนะ จบ

ข้อ ๙๑๒. ไม่มี

ข้อ ๙๑๓. ไม่มี

ข้อ ๙๑๔. ไม่มี

ข้อ ๙๑๕. นี่โอ้โฮ

ถาม : ๙๑๕. เรื่อง “ปัญหาภาวนา ปัญหาทั่วไป”

ตอบ : เขาถามมายาวมาก เขียนมานี่ โอ้โฮ เขียนมายาวมากเลย อารัมภบท ๒-๓ หน้า มันอ่านไม่ได้ เดี๋ยวเที่ยงวันก่อน ทีนี้เอาคำถามเลย

ถาม : ๑. หลังจากการนั่งภาวนาเสร็จแล้ว นอนโดยกำหนดลมหายใจเป็นส่วนใหญ่ พอหลับตาลง สักพักก็มีลมพัดผนังในห้องที่นอนแรงมากๆ เหมือนพายุทอร์นาโด เสียงดังมากๆ เหมือนผนังจะพังลงมา แล้วพัดตัวของลูกแรงมากๆ ลูกรู้ทุกอย่างเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ตกใจมาก ลืมตาแล้วลุกขึ้น ได้แต่อ้าวนี่มันฝันนี่หว่า แล้วทำไมเวลามันผ่านไปไม่นานนี้เอง แล้วมันเหมือนเหตุการณ์จริง ลุกขึ้นแล้วไปนอนที่อื่น นอนไม่ตรงเลย

อีกกรณีหนึ่ง เวลาภาวนาเสร็จแล้วนอน หลับตาลงสักพักเหมือนหล่นจากที่สูงลงมาที่ต่ำ เป็นการภาวนาลงแบบมีอัตราเร่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เร็วและแรงมากๆ ความแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นลูกรู้สึกทุกอย่าง จากนั้นความแรงก็ลดลงและค่อยๆ หมุน เมื่อลืมตาขึ้น อ้าว นี่มันฝันนี่หว่า บางกรณีเหมือนพุ่งลงไปข้างหน้า โดยอัตราเร่งเพิ่มขึ้นอย่างแรงอย่างมาก จนมีลมพัดที่หน้าของลูกอย่างรุนแรง ทนไม่ไหว ลืมตาขึ้นมา นี่ก็ฝันนี่หว่า (นี่พูดถึงเวลาเขาปฏิบัตินะมันเหมือนฝัน)

ขอเรียนถามว่า กรณีนี้เกิดขึ้นมาเกี่ยวกับภาวนาด้วยหรือไม่ครับ แล้วลูกควรทำอย่างใด?

๒. เวลาฟังเทศน์จบจิตจะนิ่ง ดี และอบอุ่น ออกพิจารณาด้านปัญญาเลย ทำถูกต้องไหมครับ

๓. อ่านหนังสือธรรมะแล้วจิตนิ่งอ่อนนุ่ม แล้วพิจารณาธรรมะเลย ทำถูกต้องไหมครับ

๔. เดินไปไหนทุกหนแห่ง เห็นสิ่งต่างๆ แล้วสะเทือนใจ ได้แง่คิดพิจารณาเข้าสู่ธรรม จะเป็นผลแบบไหนครับ

๕. พระอนาคามี เมื่อละจากโลกนี้ไปเกิดบนพรหม ๕ ชั้นแล้วนิพพานไปเลย มีกรณีที่สามารถขอมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อบรรลุในโลกมนุษย์แทนที่จะเป็นพรหม ๕ ชั้นได้ไหมครับ คือในเคสพิเศษลูกไม่เชื่อว่าขอได้ แต่อยากฟังจากปากหลวงพ่อเท่านั้น

ตอบ : อ้าว ไม่เชื่อแล้วก็จบ

กรณีข้อที่ ๑. เวลาภาวนาไป ถ้าจิตมันเป็นแบบนั้นนะ ถ้าจิตมันเป็นที่ว่ามันมีอาการวูบวาบ มันมีอาการต่างๆ กำหนดพุทโธไว้ชัดๆ กำหนดลมหายใจให้ชัดๆ ไว้ กรณีที่เกิดขึ้น พอมันเกิดขึ้น บางคนพอเกิดขึ้นแล้วแบบว่ามันแหยงไง มันแหยงแล้วมันฝังใจ มันกลัว พอมันกลัวแล้วนี่มันจะไม่ได้ประโยชน์ไง

สิ่งที่มันเกิดขึ้น ถ้าเรามีสตินะไม่ต้องกลัวสิ่งใด คนที่เวลาปฏิบัติไปแล้วสติแตก หรือว่าเสียสติไปอะไรนี่ อันนั้นเพราะมันไม่กลัว มันกล้า มันบ้า มันบิ่นจนมันเสียหายกันไป แต่ส่วนใหญ่คนที่กลัว คนที่แบบว่ามันจะวูบวาบ มันจะดิ่งลงต่างๆ พวกนี้กลัว กลัวแล้วมันเลยไม่ได้ผล แต่ถ้าเรามีสติอยู่มันไม่เป็นแบบนั้น

มีสตินะเราตั้งสติไว้ พอเราตั้งสติของเราไว้ นี่พุทโธ พุทโธ เวลามันลงมันเป็นเฉพาะจิตประเภทนี้ จิตประเภทที่มันจะดิ่ง มันจะวูบ มันจะหายไป มันเป็นเพราะว่าถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธมันละเอียดเข้ามาเฉยๆ มันก็สงบเฉยๆ อ๋อ นิ่งๆ นิ่งๆ พอนิ่งๆ เข้าไปแล้ว พอมันคุ้นชิน พอคุ้นชินมันจะปล่อยพุทโธ พอปล่อยพุทโธมันก็จะนิ่งอยู่อย่างนี้มันไม่ไปไหนหรอก

ส่วนใหญ่เวลาคนพุทโธ พุทโธไปแล้ว พอจิตมันสบายๆ เวลาคนเดือดร้อนมาก็พยายามจะแก้ไขตัวเองให้เป็นคนดีนะ แต่เวลาคนที่มันพอช่วยเหลือตัวมันเองได้นะมันจะลืมตัว มันจะปล่อยวางไง พุทโธ พุทโธ มันก็พุทโธมาแล้ว พุทโธมาแล้ว ทั้งๆ ที่มันไม่ได้พุทโธหรอก มันเหมือนความเคยชิน มันว่ามันพุทโธอยู่ แต่ไม่ได้พุทโธหรอก ถ้าไม่พุทโธอย่างนี้จิตมันก็จะไม่พัฒนา แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธอย่างนี้นะ พอจิตมันจะดิ่งลง มันจะวูบวาบอย่างนั้น มันมีอาการอย่างนั้น ถ้าเราเกาะพุทโธไว้ เราเกาะสติไว้ไม่เสียหาย มันจะลงไปเลย

ถ้ามันลงไปไม่ได้ ถ้ามันลงไป เห็นไหม กรณีที่เกิดขึ้น เขาว่าหมายความว่าอย่างไร? อันนี้จบ เพราะว่าเขาถามมา ๓-๔ ประเด็นนะ สุดท้ายว่า “นี่ฝันนี่หว่า นี่ฝันนี่หว่า” (หัวเราะ) ถ้าฝันนี่หว่า นี่ก็ละเมอนี่หว่า

ถาม : ๒. เวลาฟังเทศน์ก็เหมือนกัน เวลาฟังเทศน์ เห็นไหม จิตมันนิ่งอยู่ อบอุ่น เวลาพิจารณาด้านปัญญาไปเลยถูกต้องไหม?

ตอบ : ใช่ ใช้ได้ จิตอบอุ่นหัดใช้ปัญญาไป พอหัดใช้ปัญญาไปแล้วมันจะกลับมาทำให้จิตมั่นคงขึ้น มั่นคงเพราะอะไร? เพราะมันช่วยตัวมันเองได้ไง ในปัจจุบันนี้จิตเราช่วยตัวเองไม่ได้ เราไม่มีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราอาศัยฟังเทศน์ อาศัยครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง แต่พอเราพุทโธของเรา ใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาของเรานี่ เห็นไหม เหมือนเช่นเราเจองู เราเจอสัตว์ร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าคนจับไม่เป็น หรือคนไม่คุ้นเคยมันจะกลัวมาก แต่ถ้าคนที่เขามีอาชีพนี้ คนที่เขาจับงู เขาจับงูเขาจับได้ เห็นงูนี่เขาปกติ พอปกติเขาใช้ห่วงเขาจับงูได้ เขาก็เอาไปปล่อยได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิต เห็นไหม ถ้าจิตมันคุ้นเคย พุทโธ พุทโธจนมันไม่มีสิ่งใด พอมันเจออะไรมันก็วูบวาบ เจองูก็ตกใจ เจออะไรก็ตกใจ แต่ถ้าจิตของคนนะ จิตของคนที่มีอาชีพนี้ คนที่เขาคุ้นเคยนะ ดูสิไปดูไอ้พวกที่อยู่เสาวภาที่เขาจับงูมารีดพิษ เขาเจองูเขาเฉยเลย เพราะเขาจับทำมาทุกวัน แต่เราไปเจองูนี่วิ่งหนีเลย ตกใจตาย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิตถ้ามันฝึกหัดใช้ปัญญาไง พอจิตมันพุทโธ พุทโธแล้วมันฝึกหัดใช้ปัญญา มันก็เหมือนกับคน เหมือนเสาวภาที่เขาจับงูนั่นแหละ พอเห็นงูเขาก็ใช้ประสบการณ์ของเขา เขาก็จับไปใช้ประโยชน์อะไรของเขา นี่ก็เหมือนกัน พอฝึกหัดใช้ปัญญา มันใช้ปัญญาอย่างนี้ปั๊บจิตมันจะเหมือนกับคนชำนาญ แล้วมันจะไม่ตกใจ มันจะไม่ตกใจ มันเจอสิ่งใดมันเป็นปกติหมด เจองูก็จับงู เจออะไรก็จับสิ่งนั้น มันแก้ไขของมัน มันแก้ไขเพราะอะไร? เพราะมันใช้ปัญญาอย่างนี้ไง

ถาม : เวลาฟังเทศน์จบแล้ว จิตนิ่งอบอุ่น ควรออกพิจารณาปัญญาได้หรือไม่ ถูกต้องไหมครับ

ตอบ : นี่พิจารณาไปเลย พิจารณาไปมันก็เหมือนกับพิจารณาให้เราเจอสิ่งใดมันก็เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จิตมันดีขึ้นมา พอมันไปภาวนาก็ภาวนาง่าย

ถาม : ๓. เวลาอ่านหนังสือธรรมะจิตก็อ่อนนุ่ม แล้วพิจารณาธรรมะถูกต้องไหม?

ตอบ : ถูกต้อง

ถาม : ๔. เดินไปทุกหนทุกแห่ง

ตอบ : มันก็ถูกต้องอยู่ดีแหละ

ถาม : ๕. พระอนาคามีที่ละโลกนี้ไป

ตอบ : นี่คำถามก็บอกแล้วว่ามันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่มีคนเขาว่าเคสพิเศษไง ว่าจะต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ไหม? ไม่มี มันไม่มีเพราะอะไร? มันไม่มีเพราะว่าเวลาเป็นพระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติ นี่เป็นพระสกิทาคามีมาเกิดบนโลกนี้ได้ เป็นพระอนาคามีเพราะมันตัด ตัดกามภพ กามภพ รูปภพ อรูปภพนี่วัฏฏะวน จิตมันเกิดในวัฏฏะนี้ พอจิตนี้มันตัดไปแล้ว เหมือนกับในเมื่อแบตฯ มันหมดไฟแล้วมันก็คือหมด ถ้าแบตฯ มันยังปกติอยู่ก็ชาร์ตไฟได้

นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเป็นพรหมมันพ้นจากกามภพไปแล้ว เพราะมันเป็นอกุปปธรรมไง อกุปปธรรม อฐานะที่มันจะแปรเปลี่ยน แต่ถ้ามันไม่ใช่ เราเข้าใจว่าเราได้ขั้นใดขั้นหนึ่ง แต่มันไม่มีอะไรเลยมันก็เป็นปุถุชนธรรมดา ไม่มีสิ่งใดที่จะมาตัดขั้นตอนอันนี้ไปได้ แต่ถ้ามันเป็นพระอนาคามีแล้วมันจบในตัวของเขาเอง

กุปปธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรม เห็นไหม สัพเพ ธัมมา อนัตตาเป็นกุปปธรรม อกุปปธรรม นี่อกุปปธรรม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ

“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา”

นี่พระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม

“อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ”

นี่เป็นอกุปปธรรม นี่มันอฐานะที่จะเปลี่ยนแปลงเลย ถ้าเป็นธรรมนะ สัพเพ ธัมมา อนัตตาคือสภาวะ คือวิธีการ คือจิตที่มันเปลี่ยนแปลง พอมันถึงที่สุด ถึงเป้าหมายแล้ว นี่มันพ้นจากอนัตตา พ้นจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา

สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา แล้วอกุปปธรรมมันจะเป็นทั้งหลายได้อย่างไรล่ะ? ในเมื่อมันเป็นอฐานะไปแล้ว มันเป็นธรรมแท้ๆ ไปแล้ว มันไม่กลับมาแล้วมันจะเป็นอนัตตาได้อย่างไร? มันเป็นอนัตตาไม่ได้ ฉะนั้น มันเป็นอนัตตาไม่ได้ มันก็เป็นนี่ไง เป็นที่ว่าอนาคามีแล้วกลับมาไม่ได้ ไม่ได้หรอก

ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นสัจจะของเขาอยู่แล้ว จบ

ข้อ ๙๑๖. ไม่มี

ข้อ ๙๑๗. ข้อ ๙๑๘. ถึงข้อ ๙๒๐. เนาะมันไม่มี

ถาม : ข้อ ๙๒๑. เรื่อง “กราบขอบพระคุณอย่างสูงเจ้าค่ะ”

ตอบ : เขาเขียนมาว่าขอบพระคุณเฉยๆ นะ

ถาม : นี่ขอบพระคุณอย่างสูงเจ้าค่ะ กราบนมัสการ เข้ามาวัดแล้ว มาปฏิบัติแล้ว กราบขอบพระคุณอย่างสูงที่เมตตาเจ้าค่ะ โยมพากเพียรภาวนาเพื่อความอบอุ่นของใจ ที่ความรู้ของตัวเอง

ตอบ : นี่จบ อันนี้จบแล้วนะ จะอ่านให้จบไป

ข้อ ๙๒๒. เนาะ

ถาม : ๙๒๒. เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ”

ตอบ : ขอขอบพระคุณหลวงพ่อที่เมตตาตอบคำถามที่ได้ถามไปเรื่อง “บิดาไม่อยู่ในศีล” เมื่อวันที่ ๖ ที่ผ่านมา ได้พิจารณาตามคำของหลวงพ่อแล้วมีกำลังใจขึ้นมาก จะพยายามฝึกจิตต่อไปค่ะ เพื่อลด ละ และลอกกิเลสที่หุ้มห่อ ขอบพระคุณค่ะ เอวัง