เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คนที่ไม่ได้ยินได้ฟังเนาะเขาก็สงสัย เอ๊ะ เขาไปวัดกันทำไม? เวลาไปวัด เห็นไหม เวลาไปวัดมันได้เห็นความเปลี่ยนแปลง อยู่บ้านเราอยู่กับความคุ้นชิน ความคุ้นชินพอเปลี่ยนสถานที่ ไปวัด ถ้าไปวัดดูพระสิพระดำรงชีพอย่างใด? ทำไมเป็นมนุษย์เหมือนกัน บวชเป็นพระดำรงชีพอย่างใด? เราเป็นฆราวาส เราอยู่บ้าน เห็นไหม ดำรงชีพอย่างนี้ทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้? มันมีสิ่งใดบีบคั้น?

เป็นพระก็เหมือนกัน ถ้าเป็นพระนะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา งาน คำว่างานนะ เวลาอยู่ทางโลกทำงานเราก็ต้องมีความลำบากเป็นเรื่องธรรมดา การทำงานไง แต่ถ้าทำจนเป็นความเคยชิน ความคุ้นชินของมันนะยิ่งทำยิ่งสนุก ถ้าทำงานสนุกนั้นทำด้วยความพอใจ แต่เวลาทำงานขึ้นมา เวลามันติดขัดขัดข้องมันมีแต่ความทุกข์ยากไปทั้งนั้นแหละ

พระก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมาถ้ามันมีความขัดแย้ง มันมีความขัดแย้งหมายถึงว่ากิเลสมันโต้แย้ง โต้แย้งให้การปฏิบัติมันไม่ราบรื่น การปฏิบัติของเรามันก็ทุกข์ยาก แต่ถ้ามันปฏิบัตินะ จิตมันสงบมันร่มเย็นขึ้นมามันจะมีความสุขมาก ความสุขมาก เห็นไหม นี่สิ่งนี้เป็นสมบัติสาธารณะ สมบัติทุกคนที่แสวงหาได้ เวลาเกิดมาเป็นมนุษย์ โลกนี้เขาบอกว่ารัฐธรรมนูญ สิทธิความเป็นมนุษย์เสมอภาค ความเสมอภาคของรัฐธรรมนูญนี่เป็นกฎหมาย แต่เวลาความเสมอภาคของโลกมันเป็นจริงไหมล่ะ? ถ้าเป็นความไม่จริงเพราะอะไรล่ะ? เพราะเวรกรรมของคนสร้างมาไม่เหมือนกัน

เวลาเรื่องศาสนานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สิทธิเสมอภาคของสิ่งมีชีวิต แม้แต่สัตว์นะสัตว์ก็คุ้มครอง อย่าว่าแม้แต่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คุ้มครอง ไม่ให้ทำลายกัน ไม่ให้เบียดเบียนกัน ให้มีความเมตตาต่อกัน ให้มีความเมตตาต่อกันนะ แล้วเวลาเราล่ะ? นี่เวลาในหัวใจของเรา เห็นไหม ถ้าในหัวใจของเรา สิทธิของเรา สิทธิเสรีภาพของเราเรามองข้ามไง เรามองข้ามความเป็นสิ่งที่มีชีวิต เรามองข้ามชีวิตของเรา ไปมองแต่สมบัติพัสถานประสบความสำเร็จในชีวิตทางโลก แต่บอกว่าถ้าเราทุกข์เรายากมีความลำบากทุกข์จนเข็ญใจ อันนั้นมันก็เรื่องของชีวิต

เรื่องของชีวิต ชีวิตถ้ามีปัจจัยเครื่องอาศัยมันก็พอทน ถ้ามันอยู่ของมันได้ ชีวิตนี้ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามีปัจจัยเครื่องอาศัย สิ่งนี้มันมีชีวิตอยู่ได้แล้ว แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันมากกว่านั้น มันต้องการมากกว่านั้น มันต้องการเหนือคนไง ถ้ามันต้องการเหนือคนนะ ดูพระสิ เวลาพระ เห็นไหม นี่พูดเทศน์ธรรมะ พูดถึงธรรมะ แต่ทิฏฐิมานะของตัว ความเห็นของตัวมันทำร้ายหัวใจของพระองค์นั้น

เวลาเราเป็นคฤหัสถ์ก็เหมือนกัน นี่เราบอกว่าเราเป็นคนดี เราเป็นคนดี ทิฏฐิมานะ เราจมอยู่ในทิฏฐิมานะของเรา ถ้าเราจมอยู่ในทิฏฐิมานะของเรา เห็นไหม นี่มันบีบคั้นเรา ถ้าบีบคั้นเรามันก็เป็นความทุกข์แล้ว ถ้าเป็นความทุกข์ขึ้นมา นี้เวลาสิทธิเสมอภาค เวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติกัน ไปวัดไปวาไปเพื่อเหตุนี้ ไปให้มีธรรมะเป็นอาหารของใจ ถ้าธรรมะเป็นอาหารของใจ นี่พระก็อยู่ได้ เวลาพระฉันมื้อเดียว ผู้ที่อดอาหารผ่อนอาหารเขาก็ทำของเขาได้ นี่เขาอยู่ของเขา

นี่ความมั่นคงของชีวิตใช่ไหม? เช้าขึ้นมาก็บิณฑบาตเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง บิณฑบาตไปแล้วแต่จะได้ จะได้หรือไม่ได้แล้วแต่อำนาจวาสนา ถ้าธุดงค์ไปบางพื้นที่ ถ้าไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ต้องฉัน ไม่ต้องฉันนะ ไม่มีความวิตกกังวลไป ไปเอาวันพรุ่งนี้ ถ้าพรุ่งนี้ยังไม่ได้ ๒ วัน ๓ วันยังไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ นี่เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง

ถ้าเลี้ยงชีพด้วยปลีแข้งนะ นี่พูดถึงเวลาประพฤติปฏิบัติโดยความเป็นจริงนะ ถ้าความเป็นจริง เห็นไหม เราไม่วิตกกังวลกับปัจจัยเครื่องอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นเครื่องดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ชีวิตนี้มันมีค่ากว่า ถ้าเราไม่มีอำนาจวาสนา เราทำของเราบาปกรรมมาเป็นแบบนี้ให้มันเป็นแบบนี้ ให้มันเป็นไปตามแต่เวรกรรมที่เราสร้างมา แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เห็นไหม หลวงตาท่านพูดบ่อย “อยากเห็นนัก พระที่ปฏิบัติแล้วไม่มีปัจจัยเครื่องอาศัย อยากเห็นนักๆ”

อยากเห็นนักไง แต่เราไปวิตกกันเอง ถ้าเราวิตกกังวลกันเอง วิตกกังวลจนเกินไป ถ้าวิตกกังวลจนเกินไป เห็นไหม นี่พูดถึงแค่เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยนะ ปัจจัยเครื่องอาศัยเป็นข้อวัตรปฏิบัติ เวลาหลวงตาท่านไปบรรลุธรรม บอกว่าสิ่งนี้มันลึกลับซับซ้อน จะสอนใครได้ จะสอนใครได้ แล้วท่านย้อนกลับมา เขาก็เป็นมนุษย์ เราก็เป็นมนุษย์ สิ่งที่เรามาได้เรามาได้เพราะเหตุใด? เรามาได้เพราะข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติเครื่องดำเนิน ปัจจัยเครื่องอาศัย

ถ้ามันมีข้อวัตร ข้อวัตรปฏิบัติ ปัจจัยเครื่องอาศัยนี้เป็นเรื่องหนึ่งนะ วัตถุปัจจัย ๔ มันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่จิตใจ จิตใจถ้าเรามีข้อวัตรปฏิบัติ สิ่งนั้นมันเป็นกรอบ มันเป็นกรอบ นี่ข้อวัตรปฏิบัติ นี่ฝึกฝนไง ฝึกฝนใจอย่าให้มันออกนอกลู่นอกทาง อย่าให้มันแซงหน้าแซงหลังกับความเป็นจริง ถ้าความเป็นจริง ข้อวัตรปฏิบัติทำให้เรามาได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจะสอนได้อย่างไร? จะสอนได้อย่างไร? ก็สอนให้คนอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ แต่มันไม่ยอมอยู่น่ะสิ จิตใจมันไม่ยอมอยู่นะ มันจะดิ้นออก มันจะดิ้นออก มันจะหาทางของมันเอง

ถ้าหาทางของมันเอง แล้วทางของมันคืออะไรล่ะ? ทางของมันก็คือกิเลสไง แต่ถ้าเป็นทางของธรรมนะ ข้อวัตรปฏิบัติมันบีบคั้นไว้ มันบีบรัดไว้ให้อยู่ในอย่างนี้ ถ้ามันบีบรัดไว้นะ ถ้าจิตใจมันเป็นธรรมขึ้นมา จิตใจเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม จิตใจเป็นธรรมขึ้นมามันจะโล่ง มันจะโถง ข้อวัตรปฏิบัติ นี่เวลาปฏิบัติมันเป็นธรรมของใจ ถ้าใจมันมีมัคโคทางอันเอก ถ้าทางอันเอก ทางของใจๆ แต่นี้ทางของใจเราหาไม่เจอไง เราเห็นแต่บนถนนหนทาง เราเห็นแต่ทางปัจจัยเครื่องอาศัยก็อยู่ในร้านค้า

นี่ดูเวลาพระปฏิบัติเรานะ หลวงตาท่านพูดบ่อย “วินัยฝากเจ๊กไว้ใช่ไหม? วินัยฝากเจ๊กไว้” คือปัจจัยเครื่องอาศัยเราต้องฝึกหัด จีวรเราก็เย็บได้ ตัดได้ ปะได้ ย้อมได้ ดูแลได้ วินัยอยู่กับเราไง นี่เวลามันขาดเราก็ปะชุนของเรา วินัยฝากเจ๊กไว้ ฝากเจ๊กไว้คือไปซื้อที่ร้านไง สรรพสิ่งในร้านมันมีอยู่แล้ว พระไม่ต้องทำอะไรเลย ปัจจัยเครื่องอาศัยมันมากองอยู่ข้างหน้าไม่ต้องทำสิ่งใดเลย นี่แล้ววินัยฝากเจ๊กไว้ แล้วพระมีวุฒิภาวะอย่างใด? เรามีความรู้อะไร? เราทำอะไรของเราขึ้นมาได้ ถ้าเราทำของเราได้ เห็นไหม นี่ปัจจัย ๔ เราไม่ต้องง้อใครเลย มันเก็บเอา ของที่เขาทิ้งเขาขว้าง ดูสิผ้าบังสุกุล เก็บเอาตามที่เขาทิ้งมาปะมาชุนของเรา มันอยู่ได้ด้วยศักดิ์ศรีนะ ด้วยความเป็นไปของพระ

นี่พูดถึงว่าปัจจัยเครื่องอาศัยนะ แต่ถ้าทางอันเอก ทางมัคโค ถ้ามันมีสติ มีปัญญาขึ้นมา มีสติมีสมาธิขึ้นมา มันจะเห็นคุณค่านะ เห็นคุณค่าว่าเราไม่จมปลักอยู่กับทิฏฐิมานะของตัว เพราะจมปลักอยู่กับทิฏฐิมานะ แล้วก็ฟาดงวงฟาดงาจะเอาชนะคะคานกันอยู่นี่ไง แต่ถ้ามันไม่จมปลักกับทิฏฐิมานะของตัว มันมีสติมีปัญญาของมัน เพราะมีสติปัญญามันจะแยกแยะของมัน พอมันแยกแยะขึ้นมา ทิฏฐิมานะ ถ้ามันมีทิฏฐิมานะมันก็เหมือนกับวัตถุที่มันกดทับหัวใจ เวลามันมีสติปัญญาขึ้นมามันก็เหมือนปุยนุ่น เหมือนฟองอากาศ มันกระจายหายไปในอากาศ มันไม่มีสิ่งใดเลย

ทิฏฐิมานะที่มันมีอยู่มันหายไปไหนล่ะ? มันหายไปจากไหนล่ะ? พอมันหายไปมันก็โล่งโถง พอโล่งโถงมันก็ย้อนกลับมาเห็นคุณค่าไง เห็นคุณค่าของศีลของธรรม ถ้าเห็นคุณค่าของศีล ของธรรม เห็นข้อวัตรปฏิบัติมีประโยชน์ขึ้นมา ข้อวัตรปฏิบัติมันก็บังคับใจเข้ามา บังคับใจเข้ามา พอใจมันเห็นประโยชน์ขึ้นมามันจะเห็นคุณค่าของมัน ถ้ามันเห็นคุณค่าของมัน สิ่งนี้มันจะถนอมรักษานะ

นี่เวลาพระกัสสปะถือธุดงควัตรๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์ เธอก็ชราภาพอายุเท่าเรา ทำทำไม? ทำทำไมในเมื่อใจมันพ้นแล้ว” ใจมันพ้นแล้ว เวลาเราทำธุรกิจไง เวลาเราทำธุรกิจการค้า เราทำงานขึ้นมาเราทำเพื่ออะไร? เราก็ทำเพื่อแลกปัจจัย แลกปัจจัย ๔ แลกผลประโยชน์กับเราใช่ไหม?

พระก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ศีล สมาธิ ปัญญา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาต่อสู้กับกิเลส นี่กำลังทำงาน มัคโคทางอันเอกกำลังต่อสู้ กิเลสกับธรรมในหัวใจกำลังต่อสู้กันด้วยความสามารถ ด้วยมรรคญาณ ด้วยศีล สมาธิ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากการกระทำ เวลามันต่อสู้ขึ้นมา พอมันประสบความสำเร็จไง เราก็ทำหน้าที่การงานจนจบแล้ว เราเกษียณหน้าที่การงานมาแล้วเราก็มีบำเหน็จบำนาญ เราก็มีเงินสะสมที่เราจะใช้ชีวิตของเราไปได้แล้ว

พระกัสสปะเวลาท่านต่อสู้กับกิเลสของท่านมา พอสิ้นกิเลสแล้ว “กัสสปะเอย เธอก็พ้นกิเลสแล้ว เธอก็เป็นพระอรหันต์แล้ว เธอต้องทำทำไมอีก?” คนที่ทำงานจบแล้ว นี่บำเหน็จ บำนาญก็มีพร้อมแล้ว ทุกอย่างมีพร้อม ทำทำไมล่ะ? อยู่พอสุขสบายก็ได้ใช่ไหม? เวลาเราทุกข์ยากเราก็ทุกข์ยากมาแล้ว เรากระเสือกกระสนเราก็ทำมาแล้ว แล้วเธอทำทำไมล่ะ?

ทำเพื่ออนุชนรุ่นหลังเพื่อจะได้เป็นแบบอย่างไง ทรงข้อวัตรปฏิบัติไว้เพื่ออนุชนรุ่นหลัง เพื่อให้คนที่ประพฤติปฏิบัติเดินตามมาเขาได้มีคติ มีตัวอย่าง มีการกระทำ เห็นไหม นี่มันมีประโยชน์ขนาดนั้นนะ แม้แต่คนที่พ้นไปแล้วเขายังทรงของเขาไว้ แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติกัน เราอยากจะเอาหัวใจเราพ้นจากทุกข์ไง ทุกคนทำงานก็อยากประสบความสำเร็จๆ

นี้ก็เหมือนกัน เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเราก็มีหน้าที่การงานของเราขึ้นมา งานของเรานี่มรรคญาณๆ ถ้ามันประสบความสำเร็จขึ้นมามันก็เป็นผลประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์กับเรา แล้วมันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากการกระทำ ทำขึ้นมาแล้วมันเห็นคุณค่า มันจะเห็นคุณค่าของกติกา มันจะเห็นคุณค่าของข้อวัตรปฏิบัติไง

ข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัติเอาไว้ประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นจริงขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาในหัวใจของเรา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาแล้วมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์เราจะเห็นคุณค่าไหม? ดูสิพ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก นี่เรามีความกตัญญูต่อพ่อแม่ของเรา เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ นี่เราเกิดมาจากพ่อจากแม่ เห็นไหม แล้วเราเกิดมาแล้ว บางคนเกิดมาแล้วก็เติบโต พอเติบโตก็ลืมพ่อลืมแม่ นี่มันไม่เห็นคุณค่าของพ่อแม่มัน

จิตใจ จิตใจที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม นี่เห็นธรรม ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รัตนตรัยไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รัตนตรัย พระธรรมๆ เวลาปฏิบัติไปแล้วเห็นคุณค่าไง เห็นคุณค่า เวลากราบนี่กราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กราบจากหัวใจ ทำไมถึงกราบล่ะ? ในเมื่อพุทธ ธรรม สงฆ์ มันก็รวมลงเป็นหนึ่งเดียวในหัวใจแล้วต้องไปกราบอะไรอีกล่ะ?

มันก็กราบบุญกราบคุณไง มันกตัญญูไง มันกราบบุญกราบคุณ เห็นบุญเห็นคุณ เห็นไหม ที่เราปฏิบัติมาเราปฏิบัติมาจากอะไร? เราทำมานี่เราทำมาจากไหน? ที่เราทำมาเราก็มีร่องมีรอยไง เราก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไง นี่เรามีครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ของเรา เราทำขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์กับเรา เป็นประโยชน์กับเราขึ้นมาแล้ว แล้วเราเห็นคุณไหม? เห็นคุณ เห็นคุณแล้วเรารักษาไว้ไหมล่ะ? ถ้าเรารักษาไว้เพื่ออนุชนรุ่นหลัง เพื่อเป็นคติ เพื่อเป็นแบบอย่าง เพื่อให้สังคมเขาได้มีที่พึ่งอาศัย เพื่อประโยชน์ตรงนั้นไง เราจะทำลายทำไม?

เราจะไปจมปลักอยู่กับทิฏฐิมานะของเรานะ เอาทิฏฐิมานะมาคะคานกัน จะเอาชนะคะคานกันด้วยทิฏฐิมานะแล้วมันได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา มันไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย แต่ถ้าทำจริงขึ้นมามันเป็นประโยชน์ เห็นไหม มันเป็นประโยชน์ที่ไหนล่ะ? มันเป็นประโยชน์ว่ามันจะกำราบกิเลสของเราไง มันจะกำราบปราบปรามให้กิเลสของเรามันเบาลง พอกิเลสมันเบาลงมันเห็นคุณค่าเอง แต่นี้ทิฏฐิมานะมันทับหัวใจอยู่นะ มันไม่เห็นคุณค่าเลย อะไรก็จะฝืนไป อะไรก็จะทำลายไป อะไรก็จะเอาแต่ทิฏฐิมานะเอาชนะคะคานกันโดยที่กิเลสอย่างเดียวเลย

กิเลสอย่างเดียวที่มาเหยียบย่ำเลย แต่ถ้าเป็นธรรมมันเหยียบย่ำไหม? เป็นธรรมมันต้องส่งเสริมกันสิ สิ่งที่เป็นธรรมก็ต้องเป็นธรรมสิ มันเป็นธรรมเพราะอะไรล่ะ? มันเป็นธรรมเพราะมันเป็นธรรมและวินัย มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติ มันเป็นที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้แล้ว แล้วเวลาปฏิบัติ หลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาท่านปฏิบัติอยู่ที่วัดนะ “เราไม่เคยกังวลสิ่งใดเลย ใครจะติเตียนเลย เพราะเราไม่ได้ทำของเราเอง เราทำตามหลวงปู่มั่น”

หลวงปู่มั่นท่านก็รื้อค้นมาจากพระไตรปิฎก มันก็ทำมาจากพระไตรปิฎกนั่นแหละ แต่พระไตรปิฎก เห็นไหม เขาบอกเมื่อก่อนธรรมพระพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้ว แล้วสิ่งนี้มันก็เลือนหายไป เดี๋ยวนี้เขาก็มารื้อค้น รื้อค้นอะไร? รื้อค้นในการที่ไม่ต้องทำอะไรเลยไง รื้อค้นโดยทางลัด รื้อค้นโดยทางลัดทางสั้น พระไตรปิฎกมีอยู่แล้ว นี่มันมีอยู่แล้วเข้าไปเจอมันเอง รื้อค้นสิ่งที่ไม่ต้องทำอะไรเลย

แต่หลวงปู่มั่นท่านรื้อท่านค้นของท่านนะ เห็นไหม ไม้จิ้มฟันยาว ๔ นิ้วคืออะไร? ผ้านิสีทนะ ผ้าปูนั่งมันใช้อย่างไร? ผ้าปูนอน ผ้าปูนั่ง ในพระไตรปิฎกมีหมด แล้วหลวงปู่มั่นนะ แล้วก็ครูบาอาจารย์ของเราก็ฟื้นฟูขึ้นมา พยายามปฏิบัติขึ้นมาให้มันเป็นจริง

นี่มันเป็นจริง มันอยู่ในปาติโมกข์เชียวนะ ของอย่างนี้มันอยู่ในปาติโมกข์เลยล่ะ แต่พระเราจะดูแลรักษากันไหมล่ะ? เวลาที่รื้อค้นขึ้นมาก็รื้อค้นตามความเป็นจริงที่มันมีจริง ผ้านิสีทนะมันยาวกี่นิ้ว? กว้างกี่ศอก กี่นิ้ว? นี่ตัดมา ทั้งตัด ทั้งทำ นี่พระมันก็เป็นพระขึ้นมา เป็นพระขึ้นมาเพราะว่าดำรงชีวิตอยู่ด้วยปลีแข้งของตัว ด้วยการกระทำของตัวได้ เราทำตัวได้

นี่อยู่ในป่าในเขามันก็สบายใจ เวลาธุดงค์วิเวกไปที่ไหน เวลามันชำรุดทรุดโทรมขึ้นมาก็แก้ไขของเรา เพราะว่ามันจะเป็นล่วงราตรี ถ้าผ้ามันขาด ไม่ปะไม่ชุนมันจะเป็นล่วงราตรี ล่วงราตรีก็เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ พอเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์มันก็เป็นอาบัติ ฉะนั้น มันก็กังวลใจ กังวลใจทำสมาธิมันก็ไม่ค่อยลง ถ้ามันไม่กังวลใจ ทำสิ่งใด เราปะ เราชุน เราแก้เราไขของเรา อยู่ไหนมันก็อยู่ได้ พออยู่ได้ขึ้นมา มันรักษาใจขึ้นมา มันปฏิบัติขึ้นมามันก็เป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม

เขารื้อค้นกันอย่างนี้ เขารื้อค้นด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เขารื้อค้นด้วยความซื่อตรง เขารื้อค้นด้วยความกตัญญูกตเวที เขาไม่ใช่รื้อค้นด้วยความหน้าด้าน มันมีอยู่แล้วในพระไตรปิฎก มันมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว แล้วประชาชนเขาลืมไป พระพุทธเจ้าไปรื้อค้นขึ้นมานะ รื้อค้นขึ้นมานะมันมีอยู่แล้วไง เข้าไปเจอมันเองไง รื้อค้นขึ้นมาไม่ต้องทำอะไรไง

แต่หลวงปู่มั่นท่านไม่เป็นอย่างนั้น หลวงปู่มั่นท่านรื้อท่านค้นขึ้นมา สุผ้า ย้อมผ้าทำอย่างใด สีผ้าในสมัยพุทธกาลเขาห่มกันอย่างไร? นี่ผ้าปูนอนทำอย่างไร? รื้อค้นมาแล้วเราทรงไว้ เราทรงไว้ เราปฏิบัติไว้ เราทำกันมาไว้ แล้วนี่หลวงตาท่านบอกว่าเดี๋ยวนี้มันกรรมฐานยุคจรวด มันจะไปหมดแล้วแหละ ต่อไปวินัยก็ฝากเจ๊ก ไปซื้อเอาที่ร้าน วินัยจะฝากเจ๊กไว้หมดนะ แล้วตัวเองเหลืออะไรไว้ล่ะ? ก็เหลือแต่ความว่างเปล่าไง

หลวงตาท่านพูดบ่อยนะ เวลาศีลด่างศีลพร้อย ผ้ามันขาด ผ้ามันทะลุ ท่านบอกว่ามันเห็นหำนะ มันไม่รู้จักรักษาของมัน นี่ก็เหมือนกัน ผ้ามันขาด ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด นี่แล้วมันปล่อยอะไรกัน? นี่ก็เหมือนกัน เราจะทำอะไรกัน ถ้ามันเย็บ มันชุน มันก็ทำได้ มันดูแลได้ ถ้ามันดูแลได้ เขารื้อค้นกันมาอย่างนี้ ไม่ใช่รื้อค้นมันมีอยู่แล้ว เข้าไปก็เจอมันเลย นิพพานก็มีอยู่แล้ว มันไม่ต้องไปทำอะไรหรอก ปล่อยวางมันก็เป็นนิพพานเลย

นี่ไอ้พวกที่ปฏิบัติโง่เง่าเต่าตุ่น ทำอะไรให้มันลำบาก อู๋ย ทุกข์มันก็มีอยู่แล้ว วางทุกข์มันก็จบ วางได้จริงหรือ? ทำได้จริงหรือ? แล้วเขาทำจริงเขาทำกันอย่างไร? เขาทำจริงเขาก็เผชิญหน้ากับมันก่อนไง ทุกข์มันคืออะไร? ทุกข์มันอยู่ที่ไหน? แล้วนี่ทำไมมันถึงทุกข์? ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ แล้วไปละได้อย่างไร? พอมันละ ละด้วยอะไร? ละด้วยมรรค มรรคมันเกิดอะไร? มันเกิดนิโรธะ นิโรธ ความแจ้ง ความสว่าง ความผ่องใส นี่มันทำอย่างไร? มันมีจริงของมันนะ

ถ้ามีจริงของมัน เห็นไหม นี่เราช่วยกันรักษา อย่ากีดอย่าขวาง อย่าจมในทิฏฐิมานะ แล้วเที่ยวทำลายเขา แล้วไม่เป็นประโยชน์กับสิ่งใดเลย แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านรื้อท่านค้น ท่านพยายามทำของเราขึ้นมา ทำขึ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์ เห็นไหม ดูสิเวลาพระกัสสปะ

“กัสสปะเอย เธอก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แก่เฒ่าแล้วเธอปฏิบัติทำไม?”

“ปฏิบัติเพื่ออนุชนรุ่นหลังนะ”

เวลาหลวงปู่มั่นท่านบิณฑบาตจนพระขอร้องว่าอย่าบิณฑบาต ท่านบิณฑบาต ท่านฉันในบาตรจนวาระสุดท้าย หลวงตาท่านจะแก่จะเฒ่าขนาดไหนท่านก็ฉันในบาตรให้เป็นคติตัวอย่างเรามาตลอด เขาบอกว่าไม่ต้องลงศาลาก็ได้ ท่านบอกท่านอยู่กับหมู่คณะ กฎของหมู่คณะมันบังคับ กฎของส่วนรวมของสงฆ์มันบังคับ ท่านก็มาฉันจนวาระสุดท้ายเหมือนกัน

นี่ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ถ้าจิตใจเป็นธรรมเขาไม่ต้องการความสะดวกสบายส่วนตน ไม่ต้องให้เราสะดวกสบายคนเดียว ใครจะทุกข์จะยาก ทำไมเราจะอยู่ยืนบนหัวเขามันไม่มี มันไม่มีหรอก แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ท่านทำเป็นตัวอย่างนะ ครูบาอาจารย์ของเราทำเป็นตัวอย่าง แล้วเราไปวัดไปวา เอาสิ่งนี้มาสอนเรา สอนใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง