ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หาทางเดิน

๑๗ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

หาทางเดิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันข้อ ๙๖๓. เรื่อง “นมัสการกราบเรียนถามปัญหา” แล้วก็อารัมภบทมาว่าเขาเคยไปหนอมาก่อน แล้วมาเจอสายหลวงปู่มั่น แล้วเชื่อมั่นมาก นี่คือการอารัมภบทมาก่อน เขาระบุชื่อด้วย ไม่เอา นี้มีคำถาม

ถาม : ๑. ผมเคยซื้อชุดผ้าไตรถวายหลวงตา ผมเคยซื้อชุดผ้าไตรที่ย้อมสีจากร้านถวายหลวงตา แต่ว่าต่อมาภายหลังสังเกตคนอื่นๆ ส่วนมากเห็นเขาถวายเป็นผ้าขาวที่ยังไม่ได้ย้อมกัน ก็เลยไม่แน่ใจว่าที่ผมถวายผ้าที่ย้อมเสร็จแล้วนั้นมันถูกต้องหรือไม่? แล้วหลวงตาและพระที่วัดท่านจะใช้หรือเปล่าครับ ที่ถูกต้องควรถวายอย่างไร?

๒. ผมนั่งสมาธิไม่ค่อยสม่ำเสมอ เคยลองใช้คำบริกรรมพุทโธ พุทโธแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยถนัด แต่จะถนัดใช้อานาปานสติกำหนดความรู้สึกที่ปลายจมูกพร้อมๆ กับนึกในใจว่าเข้า-ออก เข้า-ออก บางทีใช้มรณานุสติหรือคำบริกรรมว่าตายๆๆ อย่างนี้ก็ได้ใช่ไหมครับ แล้วเวลานึกคำบริกรรมเราต้องจินตนาการไปพร้อมๆ กันไหมครับว่าสักวันเราต้องตายแน่ๆ หรือเพียงแต่สักว่านึกบริกรรมเฉยๆ โดยไม่ต้องจินตนาการ แต่ก็เคยได้ยินมาว่าถ้าจะสมถะก็สมถะ ถ้าจะวิปัสสนาก็วิปัสสนา ถ้าจะออกด้านวิปัสสนานั้น ใหม่ๆ ต้องบังคับใช้สัญญาไปเลยใช่ไหมครับ

๓. จำเป็นต้องนั่งสมาธิตลอดรุ่ง หรือเดินตลอดรุ่งเลยหรือเปล่าครับถึงจะได้บรรลุธรรมขั้นใด ขั้นหนึ่ง แต่ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าในชีวิตนี้ก็อยากจะลองนั่งตลอดรุ่งสักที

๔. มีครั้งหนึ่งนั่งไปประมาณ ๒ ชั่วโมง เจอความมหัศจรรย์คือทุกขเวทนา ปวดมาก ที่เกิดขึ้นอยู่ดีๆ ก็กลับซาลง เกือบจะหมดไปเลยครับ หลังจากออกจากสมาธิแล้วปรากฏว่าลุกขึ้นเดินไปได้เลย ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนเคยนั่ง ๑ ชั่วโมง ลุกขึ้นเดินทันที เพราะขาจะยังเหน็บชากิน ไม่ทราบว่าอาการแบบนี้เรียกว่าอะไรครับ ต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป

๕. เวลาเดินจะนึกตายๆๆ บางครั้งก็ใช้จินตนาการว่าเราเป็นโครงกระดูก มีเนื้อหุ้มหนังอยู่เดินไปมา ถูกไหมครับ

๖. เรื่องกามราคะที่หลวงตาว่าเป็นเรื่องสำคัญ ผมใช้วิธีดูภาพศพอสุภะบ่อยๆ เพื่อลดราคะตัณหา และลบสัญญาเดิมๆ ที่ว่าสวยงาม จนพอจะจับได้บ้างว่าเวลาราคะ ตัณหากำเริบก็เป็นเพราะเราไปปรุงแต่งและติดสัญญาอารมณ์เก่าๆ ของเราเอง แต่ว่าผมก็ยังรู้ตัวว่ายังมีราคะ ตัณหาอยู่นะครับ ทำอย่างไรถึงจะลดได้มากกว่านี้

๗. พระโสดาบันที่จะยังมีราคะตัณหาประมาณไหน จึงยังสามารถมีครอบครัวได้

๘. รู้สึกว่าเรามีหิริโอตตัปปะมากขึ้น สติดีขึ้น เวลาโกรธจะรู้ตัวมากขึ้น หายเร็วขึ้น แต่ก็ยังกำเริบบ้างเวลามีสิ่งมากระตุ้น ทำอย่างไรถึงจะไม่มีโกรธเลยครับ ต้องบรรลุขั้นไหน?

๙. คนที่ได้บรรลุธรรม หรือคนที่บวชได้นี่ต้องมีบุญบารมีเก่าๆ มาก่อนใช่ไหมครับ อยากจะบวชแต่กลัวว่าบารมีตัวเองจะยังไม่แก่กล้าพอ กลัวไปเจอเจ้าอาวาสที่ไม่ถูกจริตกับเรา แล้วสอนไม่ถูกทางนะครับ อยากบวชแล้วไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เราแน่ใจนะครับ จะทำอย่างไรดี?

ตอบ : ๙. ข้อ

ถาม : ผมเคยซื้อชุดผ้าไตรย้อมสีไปถวายหลวงตา (แล้วถามว่า) ตอนหลังเห็นคนอื่นเขาถวายแต่ผ้าขาวกัน ผ้าขาวที่ไม่ได้ย้อม ก็เลยไม่แน่ใจว่าผ้าที่ถวายไปย้อมเสร็จนั้นถือว่าถูกต้องหรือไม่ และหลวงตา พระที่วัดท่านจะใช้หรือเปล่าครับ

ตอบ : ถ้าท่านใช้ ท่านก็ใช้เป็นผ้าม่าน ใช้เป็นผ้าม่าน ผ้ามุงร้าน ใช้เป็นอย่างนั้นไป ฉะนั้น เวลาบอกถวายพระ โดยทั่วไปนะ แต่เดิมเขาใช้ผ้าขาวแล้วย้อมเอาหมดแหละ แล้วพอร้านสังฆทานเขาทำ แล้วพระก็ใช้อย่างนั้นจนเคยไป พอเคยไป พระพออยู่ลำบากเข้า หรืออยู่โดยตัวเอง สิ่งใดที่ลำบากเข้า แล้วพระบวชน้อยลง ฉะนั้น ทางเถรสมาคมเขาก็อนุญาตไง อนุญาตให้ใช้ได้อย่างนั้น ใช้ได้อย่างนั้น พอใช้ได้ๆ ไปมันก็ใช้กันมาแบบนี้ มันก็เลยเป็นประเพณี

ถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บมันคิดถึงหลวงปู่ชอบเลย ตอนที่หลวงปู่ชอบไปหาหลวงปู่มั่น แล้วที่ว่าหลวงปู่มั่นท่านให้ออกไปก่อน แล้วสุดท้ายตอนหลังท่านก็ให้คนไปตามหลวงปู่ชอบกลับมาก็กรณีนี้ กรณีนี้เพราะพระวินิจฉัยกันว่าเป็นเพราะเหตุใด? เพราะสมัยนั้นหลวงปู่ชอบท่านเพิ่งบวชไง แล้วท่านมาหาหลวงปู่มั่น แสดงว่าบริขาร ก็บริขารซื้อเอา ทีนี้พวกบาตร พวกอะไรมันก็เป็นสี ดูอย่างย่ามสีเขียว สีแดงอย่างนี้ ทีนี้ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็ติเอา ฉะนั้น เวลาติเอา ติเอาเพราะว่าท่านฝึกไว้อย่างนี้ไง

ฉะนั้น ถ้าถวายผ้าขาว ผ้าขาวมันก็มีอย่างหนา อย่างบาง อย่างบางก็ใช้เป็นผ้าจีวร ถ้าหนาหน่อยก็ใช้เป็นผ้าสบง ถ้าหนาหน่อยก็ใช้เป็นผ้าพวกบริขารโจล พวกย่าม พวกอะไรต่างๆ เขาตัดเย็บกันเอาเองไง ถ้าตัดเย็บกันเอาเองเขาถึงถวายผ้าขาว ถ้าถวายผ้าขาว พระตัดเย็บได้มันก็จบใช่ไหม? แล้วถ้าใช้ผ้าสี ใช้ผ้าสีที่ถวาย โดยทั่วไปพระเขาใช้กัน โดยทั่วไป แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านให้ตัดเย็บเอง ตัดเย็บเองเพราะเหตุใด? ตัดเย็บเองเพราะแบบกางเกงหรือเสื้อ ถ้ามันผิดไซส์เราใส่ได้ไหม?

พระนี่มีสูงมีต่ำนะ ถ้าพระมีสูงมีต่ำ เวลาเขาเย็บผ้าเขาวัดข้อศอก ใช้ศอก เห็นไหม ๔ ศอกคืบ ๗ ศอกคืบ เวลามันหดมาแล้วมันจะเหลือ ๗ ศอกพอดี นี่ ๔ ศอกคืบหดแล้วมันจะเหลือเฉพาะศอกของคน ถ้าศอกมันยาวนะ นี่ทาบศอกไป แล้วศอกมันยาวใช่ไหม? คนสูงขึ้นก็ศอกยาว คนต่ำศอกก็สั้น พอศอกสั้น พอตัดแล้วมันจะคำนวณไว้พอดีว่าถ้ามันหดแล้วจะพอดี

กรณีนี้เป็นกรณีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระอานนท์ไง ให้พระอานนท์ขึ้นไป แบบว่าให้ออกแบบ ทีนี้พอออกแบบมาแล้วเขาก็ตัดเย็บกัน ทีนี้พอตัดเย็บกัน ถ้าพูดถึงเป็นพระบวชนะ ไอ้การตัดเย็บผ้ามันอยู่ในนักธรรมโทมั๊ง เราดูในวินัยมุข ในวินัยมุขนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก นักธรรมโทจะมีวิชาตัดจีวร ทีนี้พอตัดจีวรมันมีวิชาตัดจีวร แต่มันตัดจีวรไม่เป็น

นี่ก็เหมือนกัน เวลากรรมฐานๆ มีกรรมฐาน แต่กรรมฐานแล้ว พระกรรมฐานๆ มีแต่เปลือก แล้วมันทำเป็นหรือเปล่า? ถ้าทำเป็นก็เหมือนตัดจีวรนี่แหละ ตัดจีวรเป็นหรือเปล่า? ถ้าตัดจีวรเป็น เห็นไหม เรียนด้วย แล้วทำได้ด้วย ถ้าเรียนด้วย ทำได้ด้วยมันก็จบใช่ไหม? ถ้าจบแล้วมันก็เข้ามาตรงนี้ ตรงที่ว่าผ้าย้อมสีพระเขาจะใช้หรือเปล่า? ใช้ แต่ใช้ทำอะไรนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะว่าเวลาพระไปแล้วนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเราไม่ศึกษามันก็เหมือนกันหมด แต่ถ้าเราศึกษาปั๊บเราจะเห็นความแตกต่างหมดเลย

ความแตกต่างหมายความว่าครูบาอาจารย์ของเรานะท่านจะใช้ผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลหมายถึงป่าน ฝ้าย ไหม เปลือกไม้ ขนสัตว์ ระคนกัน ๖ ชนิด นี้หมายถึงว่าผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลหมายถึงผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าเปลือกไม้ ผ้าขนสัตว์ แล้ว ๖ ชนิดนี้ระคนกัน แต่ในปัจจุบันนี้พอมันใช้ผ้าผสมไนล่อนเข้าไป ทางอีสานเขาบอกว่าผ้าผสมยาง ผ้าผสมยางอธิษฐานไม่ขึ้น

ถ้าผ้า ส่วนผสมของผ้าไง ถ้าผ้าบังสุกุลมันอยู่ในวินัยปิฎก แล้วไปอยู่ในสุตตันตปิฎกมากมาย เพราะเวลาผ้า เห็นไหม ผ้ากาสี หรือผ้าอะไรที่ว่าถวายพระ แล้วพระพุทธเจ้าห้ามให้พระใช้ ผ้าสิ่งใดที่มันสวยงาม แวววาว ไม่เศร้าหมอง พระพุทธเจ้าไม่ให้ใช้ พระพุทธเจ้าให้ใช้ผ้าเศร้าหมอง ผ้าที่ทางโลกเขาไม่ต้องการ

นี่พูดถึงถ้าศึกษานะ ถ้าไม่ศึกษาเหมือนกัน ผ้าเหมือนผ้า สีเหมือนสี พอผ้าเหมือนผ้า สีเหมือนสีเราก็ใช้กันไป แต่พอไปศึกษามันก็เหมือนกับเรานี่แหละ เราไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เราก็ว่ามันไม่น่าจะมีอะไรผิด แล้วเราคิดด้วยนะ มันจุกจิก ของเล็กน้อย ก็ว่ากันไปนะ แต่ถ้าเวลาคนศึกษาแล้วจะเข้าใจเลยว่านี่ผ้าย้อมเสร็จไง นี่ไงที่ว่าหลวงตาท่านเคยพูดกับเรา วินัยฝากเจ๊กไว้ใช่ไหม? วินัยฝากเจ๊กคือว่าซื้อเอาไง ทุกอย่างไปซื้อเอาที่ร้าน วินัยฝากเจ๊กไว้หรือ? เพราะวินัยกรรมมันมีไง อย่างพินทุ อย่างกัปปิยะ นี่วินัยกรรม

วินัยกรรมมันมีไง วินัยกรรมคือการกระทำ การย้อมผ้า เย็บผ้ามันมีวินัยกรรมของมัน ฉะนั้น ถ้ามีปั๊บเขาถึงถวายผ้าขาว ถวายผ้าขาวให้พระท่านใช้ได้ประโยชน์เต็มที่ แต่เวลาผ้าสีมาถวายพระที่ท่านทำอะไรไม่ค่อยได้ ท่านก็ใช้ไปตามนั้น หรือว่าไม่มีเวลาตัดผ้า สังเกตได้ไหม เวลาที่เขามีงาน ที่เขาถวายผ้าไตรๆ ฉะนั้น ผ้าไตรเขาก็ดูกัน เพราะว่าคนที่เขาถือของเขา เขาไม่ใช้หรอก เอาไปแล้ว ถ้าอย่างดีก็ถวายพระองค์อื่น อย่างของเรานี่เราเก็บไว้ เก็บไว้ แล้วถ้าพระที่ไหนเขาใช้เราก็ให้พระที่นั่นไป หรือไม่ อย่างที่ว่านี่ก็เป็นผ้าม่าน ผ้าต่างๆ ไป นี้ใช้หรือไม่ใช้นะ

แต่ถ้าผ้าขาว แล้วผ้าขาวต้องเป็นฝ้าย ป่าน ไหม เพราะมันย้อมติดไง ถ้าเป็นไนล่อนมันย้อมไม่ได้ ถ้ามันย้อมไม่ได้ มันย้อมไม่ติด เราตัดจนเสร็จแล้วนะ แล้วไปย้อมผ้านะ ย้อมไม่ติด เสียเวลาเปล่า เสียทุกอย่างเลย แต่ถ้าเป็นผ้าบังสุกุลนะ ฝ้าย ไหม เปลือกไม้ ขนสัตว์ ป่าน นี่อย่างนี้ผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลหมายถึง เพราะผ้าบังสุกุลเราขึ้นว่าผ้าที่พาดศพไง เราคิดกันอย่างนั้นไง ไปเปิดดูในพระไตรปิฎก วิธีการบวชพระ เขาจะพูดถึงว่าผ้าบังสุกุลหมายถึงอะไร ผ้าบังสุกุล ผ้าต่างๆ นั่นแหละ

นี่พูดถึงวินัยนะ แล้วพออ่านไปในสุตตันตปิฎกจะเห็นมากเลย พระพุทธเจ้าให้เสียสละผ้าออก ผ้าอันนี้ผิด พระมีผ้าชุดหนึ่ง ผ้าครองชุดหนึ่ง ผ้าใส่เทินไปในศีรษะไป พระพุทธเจ้าให้สละทิ้ง อยู่ในสุตตันตปิฎกเยอะมาก ทีนี้เพียงแต่ว่าศึกษามาแล้ว ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ หรือศึกษามาไว้เพื่อเอาใบประกาศกันล่ะ? ถ้าศึกษามาเพื่อปฏิบัติมันจะเข้าใจนะ ถ้าศึกษามาเพื่อเอาใบประกาศมันก็ได้ประกาศนั่นแหละ นี่พูดถึงผ้าขาวนะ

เวลาโยม ถ้าพูดถึงบอกว่ามันเป็นเรื่องจุกจิก เวลาพูดอะไรไปโยมก็บอกว่า

“หลวงพ่อ อะไรก็ได้ที่โยมถวายๆ หลวงพ่อก็รับๆ ไปเถอะ มันจะได้หมดเรื่องหมดราว หลวงพ่อนี่ยุ่งมากเลย”

ถ้าอย่างนี้ปั๊บเราก็เฉย อ้าว อะไรก็เอา ใครจะถวายก็รับ รับแล้วก็วางไว้นั่นแหละ ไอ้ใช้หรือไม่ใช้นั่นอีกเรื่องหนึ่ง เขาก็รับเอาบุญกันไง เขาเรียกฉลองศรัทธา ทางนั้นก็ศรัทธามา ทางนี้ก็ฉลองศรัทธาก็จบ แต่ถ้าจะอธิบายว่า โฮ้ เรื่องมาก แต่เวลากิเลสมันเรื่องมากมันไม่บอกนะ เวลากิเลสมันขี่คอบอก โอ๋ย สบาย สบาย แต่ถ้ามันเป็นเรื่องนะ นี้พูดไปมันก็เหมือนยกย่องตัวเอง ยกย่องหมู่คณะตัวเอง ก็เลยต่างคนต่างเรื่องของเขา เรื่องของเรา เรื่องของใครจะใช้ ใครจะทำอะไรก็เรื่องของเขา แต่ถ้าเราศึกษา เรารู้ของเราเราก็ดูแลของเรา อะไรที่ใช้ได้เราก็ใช้ อะไรที่ใช้ไม่ได้เราก็พิจารณาไปใช้อย่างอื่นแทน แล้วเราก็ใช้ของเรา

นี่พูดถึงผ้าขาว เพราะเขาถามว่าหลวงตาจะใช้ไหมไอ้ผ้าย้อมสีๆ ไม่มีทาง ไม่มีทางเพราะอะไร? เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านอยากตรวจสอบพระ ท่านตัดผ้าสบง ๕ ขันฑ์ แล้วให้พระไปเย็บด้วยมือนะ ดูว่าใครมีสติปัญญาแค่ไหน แล้วเอามาเทียบ หลวงตาบอกว่าพอให้หลวงตาขันฑ์หนึ่ง คือชิ้นหนึ่ง หลวงตาท่านก็เย็บเต็มที่เลย พอมาต่อกันท่านบอกว่าสุดยอดเลย นี้เวลาหลวงตาท่านได้ฝึกหัดมาจากหลวงปู่มั่น เราอยู่ที่บ้านตาดกันนะ เวลาตัดเย็บผ้าหลวงตาเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องใหญ่มากหมายความว่าผ้าที่หลวงตาท่านใช้อยู่ ใครตัดแล้วนะต้องให้เท่าเดิมเปี๊ยะ แล้วพอตัดมาแล้ว เวลาไปย้อมแล้วมันหดไปทีคืบหนึ่ง

ผ้านี่ตัดเสร็จแล้วหดอย่างน้อย ๑ คืบ เพราะเวลามันต้องไปแช่น้ำให้แป้งออกก่อน ผ้าตัดเสร็จแล้วต้องแช่น้ำให้แป้งออก พอแป้งออกเสร็จแล้วเราต้องรองพื้นด้วยสีหิน สีหินนี่รองพื้น รองพื้นสีหินเสร็จแล้วค่อยย้อมสีมันถึงทน เพราะพวกหินมันจะเข้าไปในเนื้อผ้า ให้ผ้ามันมั่นคง ฉะนั้น เวลาย้อมเสร็จแล้วนะ ผืนเก่ากับผืนใหม่ต้องเท่ากัน ตัดผ้าหลวงตานี่ ฉะนั้น ผ้าขาวมันตัดแล้วมันหดเยอะมาก

ฉะนั้น พระเขาก็มีเทคนิค ก่อนที่จะตัดผ้าหลวงตานะ ผ้าขาวนี่เขาก็ไปซักก่อน ไปแช่น้ำซักให้อย่างดีเลย คือกันหดไง พอซักเสร็จแล้วก็มาพยายามทาบนะ ตัดแล้วนะ เพราะเวลาตัดเสร็จแล้วนะ แล้วเวลาเย็บ กระดูกนี่เราเย็บพลิกกระดูก คว่ำกระดูกมันจะหดลงมานิดหนึ่ง มันจะหดเข้ามาหลายเซ็นเลย ฉะนั้น ต้องคำนวณนะ ตัดผ้าหลวงตาตัดยากมาก ยากเพราะอะไร? ยากเพราะท่านจะฝึกสติปัญญาลูกศิษย์ว่ามันมีความหมั่นเพียรแค่ไหน มันมีสติปัญญาแค่ไหน ไอ้เรื่องอย่างนี้นะถ้าโยมบอกว่าของเล็กน้อยๆ เวลาพูดกับโยมนะ โฮ้ หลวงพ่อยุ่งยาก ทำอะไรผิดไปหมดเลยไม่เอา ไปที่สบายๆ ดีกว่า

สาธุ เชิญตามสบาย ฉะนั้น ถวายผ้ามาก็เก็บไว้ เก็บไว้ทำม่าน ใครถวายผ้ามาก็เก็บไว้ทำม่าน แล้วของเราก็ผ้าขาวตัดกันเอง (หัวเราะ) ศอกนี่วัดไปเลย พอวัดเสร็จปั๊บ พอตัดแล้วมันจะหดไปประมาณสัก ๔-๕ เซ็น เวลาตัดเสร็จแล้ว เพราะตัดมันต้องตัดชายทิ้ง แล้วพับกระดูกมามันจะสูงต่ำ ตัดทิ้งประมาณสัก ๔-๕ เซ็น พอ ๔-๕ เซ็นปั๊บ พอเข้าเขาเรียกอนุวาต อนุวาตเสร็จแล้วไปแช่น้ำเพื่อให้แป้งออกก่อน เขาชุบแป้งมา พอชุบแป้งเสร็จแล้วเราก็ไปรองพื้น มันจะหดลงไปอีกเกือบ ๕ เซ็น ๑๐ เซ็น อู๋ย มันหดเยอะมาก

ฉะนั้น เวลาตัดใหม่ๆ อู๋ย ผืนเบ้อเร่อเลย นึกว่าใหญ่มากนะ พอไปซัก ไปย้อมแล้วนะพอดี พอดี ฉะนั้น เป็นของใช้ส่วนตัวอะไรก็ได้ใช่ไหม? แต่หลวงตา เมื่อก่อนนี้ไม่ได้เลย ถ้าผ้าผืนเก่ากับผืนใหม่นะ ห่างกันแค่เซ็นหนึ่งหรือเซ็นเศษๆ นะจบครับ พระองค์นั้นหัวขาด โดนด่า โดนด่าเละเลย ฉะนั้น ผ้าของท่านผืนเก่ากับผืนใหม่ ฉะนั้น มันเป็นผ้าย้อมแล้วหดมันแตกต่างกัน มันไม่ใช่ผ้าไนล่อน ผ้ามันไม่หดมันไม่อะไร มันตายตัวไง แต่ผ้าฝ้ายนี่หดมากนะ หดเยอะมาก

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้มันเป็นเรื่องความละเอียดอ่อน ถ้าเรื่องอย่างนี้ จิตใจมันยังดูแลรักษาไม่ได้ แล้วจะไปภาวนาอะไรกัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดอย่างนี้เราสะอึกกันหมดนะ เวลาไปเมื่อก่อนเราก็คิดเหมือนโยมนี่แหละ เรื่องเล็กน้อย หยุมหยิม ยุ่งมาก แต่พอเวลาท่านบอกว่าไอ้พวกมักง่าย โอ้โฮ หงายท้องเลยนะ เราเคยโดนมาเยอะ อาจารย์อัดมานี่เยอะมาก พวกมักง่าย วินัยฝากเจ๊ก ปาติโมกข์มีตัวอักษรอยู่ก็ท่องไม่ได้ แล้วยังจะภาวนาพุทโธอีก อู้ฮู แทงใจนะ

ฉะนั้น พอท่านพูดอย่างนั้นต้องฝืน ต้องพยายามขวนขวายเอาจนได้ ปาติโมกข์ก็ต้องสวดให้ได้ ท่านบอกว่าหนังสือมันมีตัวอักษรให้ท่อง ยังท่องไม่ได้ แล้วจะมาภาวนาอะไรกัน ต้องเอานะ นี่พูดถึงผ้าขาวไง นี่ข้อเดียวเท่านั้นแหละไปไกลเลย เพราะว่ามีโอกาสได้พูด ฉะนั้น ทำไมมันเป็นอย่างนั้น? มันทำเพื่ออะไร? ถ้าคนเราจะภาวนาเพื่อหัวใจ ทุกอย่างจะขวนขวาย แล้วพอขวนขวาย แม้แต่วัตถุ ของมันมีอยู่มันยังหด พอมันหดแล้วเราจะจัดการอย่างไร? เราจะควบคุมอย่างไร? เราจะดูแลอย่างไรให้มันใช้สอยได้ประโยชน์พอดี

โอ้โฮ มันต้องใช้ความคำนวณ ใช้ความรอบคอบเยอะเลย ฉะนั้น พอรอบคอบเยอะ นี่ข้อวัตรไง มันจะเข้ามาข้างใน นี่พูดถึงผ้าขาว จบ

ถาม : ๒. ผมนั่งสมาธิไม่ค่อยสม่ำเสมอ และเคยใช้คำบริกรรมพุทโธ รู้สึกว่าไม่ค่อยถนัด แต่ถนัดใช้อานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ฉะนั้น เวลาเข้าออก ทำอย่างนี้ถูกต้องไหม? เวลานึกคำบริกรรมเราต้องจินตนาการพร้อมไป สักวันหนึ่ง

ตอบ : ไอ้เรื่องจินตนาการพร้อมไปนะ เรากำหนดพุทโธเฉยๆ จินตนาการหรือความคิดมันฝึกหัดใช้ปัญญา เราทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเรากำหนดพุทโธหรืออานาปานสติ เราอยู่ตรงนั้นชัดๆ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ใช้ความคิดจินตนาการได้ แต่ถ้าเราใช้ลมด้วยแล้วจินตนาการความตายๆ ไป นี่มันแบบว่ามันใช้สติหลายเรื่อง พอหลายเรื่องมันไปถึง

นี่เหมือนเมื่อวานพูดถึงว่าเวลาพุทโธ พุทโธ เห็นไหม เราอยู่ฝั่งหนึ่ง จะไปอีกฝั่งหนึ่ง ฝั่งหนึ่งคือฝั่งสมมุติ คือฝั่งของเรา เราจะพยายามทำใจเราให้เป็นสมาธิ พอเรากำหนดพุทโธมันก็เหมือนกับเราลงน้ำ หรือกำหนดอานาปานสติเหมือนเราลงน้ำ จะว่ายน้ำเข้าไปอีกฝั่งหนึ่ง พอว่ายไปครึ่งๆ กลางๆ ไง พอถึงกลางแม่น้ำ กลางแม่น้ำมันจะมีน้ำเชี่ยวมาก พอน้ำเชี่ยวมาก น้ำคืออะไร? น้ำเชี่ยวมาก ความเชี่ยวนั้นคือตัณหาของเรา คือความพอใจของเรา คือความคุ้นเคยของเรา มันก็จะพัดเรา

ไอ้พุทโธก็จะพุทโธ ไอ้จินตนาการก็จินตนาการ โอ๋ย มันยุ่งไปหมดเลย พอยุ่งไปหมดนะ พอสุดท้ายก็เหนื่อย ก็คาไว้อย่างนั้นแหละ แม่น้ำก็พัดไป นี่มันไม่ลงสู่สมาธิไง แต่ถ้าเราพยายามว่ายของเราข้ามมาอยู่ฝั่งหนึ่ง เราขึ้นฝั่งไปแล้วนะ พอเราขึ้นฝั่งไปเราต้องพุทโธอีกไหม? ไม่ต้อง เพราะว่ายน้ำคือกำหนดพุทโธ พุทโธ เราพยายามว่ายน้ำข้ามฝั่ง พุทโธ พุทโธ จิตมันพยายามกำหนดคำบริกรรม พอมันขึ้นฝั่งไปแล้วมันต้องคำบริกรรมไหม? พอมันขึ้นฝั่งเพราะมันเป็นพุทโธ เป็นตัวจิตแท้ๆ มันนึกอะไรไม่ได้ มันไม่อยู่ในน้ำ มันไม่ต้องกำหนดพุทโธ มันขึ้นฝั่งไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เราจะข้ามฝั่ง เราจะกำหนดภาวนาของเรานะ ถ้าเราพุทโธหรืออานาปานสติทำอย่างเดียวชัดๆ แล้วถ้าเราฝึกหัดใช้ปัญญา เราถึงออกมาใช้ปัญญา ใช้ปัญญาคือจินตนาการ คือความคิดไปไง ถ้าเราใช้ทำ ๒ อย่าง ๓ อย่างเลยในเวลาเดียวกัน ในเวลาเดียวกันเห็นไหม ฉะนั้น ที่บอกว่าถ้าสมถะก็สมถะเลย วิปัสสนาก็วิปัสสนาเลยนี่ถูกต้อง ถ้าทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าทำสมถะทำสมถะไปก่อน พอทำสมถะ พอพุทโธไปเรื่อยๆ หรืออานาปานสติไปเรื่อยๆ เว้นไว้แต่พอมันพุทโธหรืออานาปานสติจนเต็มที่แล้วปล่อยเลย ปล่อยลมหายใจแล้วมาใช้ความคิด มาใช้ความคิด ฝึกหัดใช้ปัญญาไป สู้ได้ก็สู้ได้ สู้ไม่ได้กลับไปพุทโธอีก กลับไปอานาปานสติอย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าทำ ๒ อย่างพร้อมกันชัดๆ อย่างใดอย่างหนึ่งชัดๆ อย่าทำ ๒ อย่างพร้อมกันไง

ถาม : ๓. จำเป็นต้องนั่งสมาธิตลอดรุ่งหรือไม่ หรือเดินตลอดรุ่งหรือเปล่าครับ

ตอบ : ไอ้คำว่านั่งตลอดรุ่งนี่นะ หลวงตาท่านพูดว่ามันเป็นความลำบากพอสมควร คือว่ามันเป็นงานที่สำคัญมาก ทีนี้งานที่สำคัญมาก คนที่งานที่สำคัญมาก คนที่มีสติปัญญา มีพื้นฐานพร้อมก็ทำได้ ถ้าคนที่ยังไม่มีพื้นฐานพร้อม เราทำแล้วทำลำบาก ฉะนั้น คนที่ไม่มีพื้นฐานพร้อมพยายามทำให้เหมือน พยายามทำให้เหมือน เพราะคนพยายามนั่งตลอดรุ่งนี่ มี คนพยายามนั่งให้ตลอดรุ่ง พอนั่งให้ตลอดรุ่งได้อะไรขึ้นมา ก็นั่งตลอดรุ่ง

ถ้านั่งตลอดรุ่งดีนะ นี่หุ่นยนต์มันก็นั่งตลอดรุ่ง หุ่นที่เขาทำเสร็จแล้วเขาก็ตั้งไว้มันก็ตลอดรุ่ง มันนั่งทั้งวันทั้งคืน ๒๔ ชั่วโมงด้วย นั่งทั้งปีเลย เพราะมันนั่งสักแต่ว่านั่ง เรานั่งตลอดรุ่ง นั่งตลอดรุ่งโดยไม่ใช้ปัญญา นั่งตลอดรุ่งโดยไม่ใช้วิปัสสนา นั่งตลอดรุ่งไปเพื่อประโยชน์อะไร? การนั่งตลอดรุ่ง กิริยาการประพฤติปฏิบัตินี้เรื่องหนึ่งนะ แต่เรื่องปัญญานั่นอีกเรื่องหนึ่งนะ นี่กิริยา ความคิดเป็นกิริยาหนึ่ง กิริยาของใจ นี่ปัญญาเวลามันเกิดมันก็เป็นกิริยาอันหนึ่งของใจ ถ้าใจมันเกิดปัญญาขึ้นมาเราต้องการอันนั้นแหละ

การนั่งตลอดรุ่งมันคืออิริยาบถ ๔ อิริยาบถที่เรานั่ง นั่งเพื่อใช้ปัญญา ถ้ามันเป็นปัญญาขึ้นมามันก็เป็นประโยชน์ ถ้านั่งตลอดรุ่ง นั่งตลอดรุ่งโดยที่ทนเอา อดทนเอา มันก็เป็นสักแต่ว่าทำ ถ้าสักแต่ว่าทำ สักแต่ว่ามันจะไม่ได้ผลไง ฉะนั้นว่าการนั่งตลอดรุ่ง หรือเดินจงกรมตลอดรุ่งมันเป็นโอกาส ถ้าเราเดินจงกรมตลอดรุ่งมันก็ทุกข์ มันก็เหนื่อย อันนี้มันทำให้เราได้พิจารณาไง ว่าชีวิตนี้เวลามันทำงานมันทุกข์มันยากขนาดนี้ ถ้ามันทุกข์ยากขนาดนี้ แล้วเกิดมาทำไม? เกิดมาทุกข์อีกหรือ? มันใช้ปัญญาของมันได้

ฉะนั้น จำเป็นหรือไม่จำเป็น ฉะนั้น สิ่งที่หลวงตาท่านพูด บอกว่า “ลองดูสิ ถ้าใครจริงก็ให้นั่งตลอดรุ่ง” มันเป็นการวัดนิสัย วัดว่าเราจริงหรือเปล่า แล้วเราทำได้หรือเปล่า ถ้าทำได้มันก็ภูมิใจ ทำได้นะมันก็ภูมิใจ แต่ถ้ามันทำได้แล้วเกิดปัญญาด้วย เวลามันชำระกิเลส นั่นแหละมันยิ่งเกิดความมั่นใจเข้าไปใหญ่ มันเป็นความจริงอันหนึ่งเลย ฉะนั้น จำเป็นหรือไม่จำเป็นมันอยู่ที่ว่าอยากได้ผลหรือไม่อยากได้ผล ถ้าเราอยากได้ผลนะ เวลาที่มันก้ำกึ่ง นี่มันจำเป็นแล้ว

อย่างเช่นเวลาพิจารณามา กิเลสกับธรรมมันต่อสู้กันมา โต้แย้งกันมาตลอดเลย นี่ ๕๐-๕๐ ก้ำกึ่งจะทำอย่างไร? เออ อันนี้สมควรมาก มันต้องได้เสียแล้ว อย่างนี้ทันทีเลย แต่ถ้าเรายังไม่มีสิ่งใดที่เป็นพื้นฐาน เราทำนะ เราทำเอาเป็นประสบการณ์ ทุกคนอยากนั่งตลอดรุ่ง นั่งว่าฉันก็นั่งได้ ฉันก็เคยนั่ง อย่างนี้นั่งเอาประสบการณ์ แต่ถ้านั่งแล้วมันใช้ปัญญาด้วยมันเป็นประโยชน์ด้วย เออ นี่มันเหมือนอาวุธไง เหมือนกับอาวุธบางอย่างเขาใช้ทำสิ่งที่หยาบๆ ใช้อย่างปานกลาง ที่ละเอียดอ่อน เครื่องมือของเขาต้องละเอียดอ่อนด้วย

จิตใจเวลาพัฒนาไปแล้ว เวลามันละเอียดอ่อน ตรงนั้นจำเป็นมากนะ แต่ถ้าจิตใจเรายังไม่ละเอียดพอ จิตใจเรายังหยาบๆ อยู่ ของที่ละเอียด เรามาใช้กับสิ่งที่หยาบๆ ต้นไม้จะเอากบ เอาไส เอาอะไรไปไสมันไม่ได้หรอก มันต้องโค่นล้มมันมา แล้วเราเลื่อยทำให้แบบว่ามันราบเรียบก่อน แล้วค่อยมาใส นี่มันเป็นขั้นเป็นตอนนะ ว่าไม่จำเป็นหรือ? ก็จำเป็น ถ้าว่าจำเป็นหรือ? มันก็ถึงเวลาหรือเปล่า? นี่ให้พิจารณาเอา ให้มันสมควรเนาะ

ถาม : ๔. มีครั้งหนึ่งนั่งประมาณ ๒ ชั่วโมงเกิดความมหัศจรรย์ที่เวทนาปวดมากแล้วหายไป นี่เคยนั่งชั่วโมงหนึ่ง ลุกขึ้นมายังเดินไม่ได้ ทำไมนี้เดินได้

ตอบ : เวลาถ้าจิตมันดีนะ จิตมันดีมันจะดีไปหมด ถ้าจิตมันนั่งไปแล้ว ถ้าเวทนามันปวด มันอะไร หลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านพูดบอกว่าเวลาท่านนั่งตลอดรุ่ง ถ้าคืนไหนปัญญามันดี พอปัญญาดี พอเวลาเวทนามันเกิดขึ้น สติมันจะจับเวทนา แล้วพิจารณาพั่บๆๆ มันจะปล่อยหมดเลย นี่พอจิตมันรวมลง มันปล่อยมันก็รวม แล้วเดี๋ยวมันก็ออกมารับรู้เวทนาอีก จิตมันดีนะมันพิจารณาฉับๆๆ มันก็ปล่อย นี่วันนี้ลุกขึ้นเดินไปได้โดยเรื่องปกติเลย

แต่ถ้าบางวันนะ เวลานั่งตลอดรุ่ง เวทนามันมา แล้วสติปัญญาไม่ดี แล้วกำลังมันไม่พอ หรือความสมดุลมันไม่ดี พิจารณาแล้ว พิจารณาเล่า พิจารณาซ้ำ พิจารณาซาก ทั้งถู ทั้งไถ ทุกข์มาก แต่ในเมื่อตลอดรุ่งมันก็ต้องลงเหมือนกัน พอเวลาลงแล้วนะ วันนั้นพอรุ่งอรุณขึ้นมาท่านจะลุกขึ้นนะ ท่านบอกครั้งแรกไม่รู้ ลุกแล้วก็ล้มเลย แต่พอรู้ตัวปั๊บนะ พออรุณขึ้นปั๊บนะท่านต้องนั่งเฉยๆ ก่อน พอแบบว่ามันออกจากสมาธิมาใช่ไหม? นี่ก็เอามือจับเท้า แล้วเอาเท้าวาดออกไปข้างนอกให้เลือดลมมันเดินให้ดีก่อน พอเลือดลมดีแล้วถึงลุกขึ้น

นี่คนๆ เดียวกันมันไม่เหมือนกัน เห็นไหม ถ้าวันไหนภาวนาดี คืนไหนภาวนาดีนะ ฝนตกพรำๆ นะ ภาวนาดีมาก ปัญญามานี่ฟันฉับๆๆ มันปล่อยหมด ปล่อยหมดเสร็จแล้วมันก็เข้ามาปล่อยหมดเลย พอมันออกมา พอมันเจอเวทนาอีก ก็พิจารณาอีกก็ปล่อยอีก ๒ รอบ ๓ รอบก็อรุณขึ้น ก็สว่าง ลุกขึ้นเดินไปได้เลย

นี่ถ้าเป็นสมาธิ เวลาเข้าสมาธิ ร่างกายไม่บอบช้ำนัก คือไม่ทรมานมาก เวลาลุกขึ้นเดินไปได้เลย แต่บางคืนมันไม่ลง พอไม่ลงพิจารณาซ้ำ โอ๋ย กว่าจะลงได้แต่ละทีต้องใช้กำลังอย่างมหาศาล ร่างกายนี้บอบช้ำมาก เช้าขึ้นมานะต้องเอาเท้าออกไปก่อน นี่แล้ววางไว้ มันจะชาไปหมดเลยนะ แล้วสักพักหนึ่งพอเลือดลมมันเดินดีแล้ว พอสติปัญญาดีแล้วท่านถึงค่อยลุกขึ้น

นี่ก็เหมือนกัน ที่ว่าทำไมเวลาทุกขเวทนามันปวดมาก แล้วพอมันรวมลงวันนั้นหายหมด เดินได้เลย แต่บางวันทำไมเดินไม่ได้ มันเป็นโอกาสที่เราทำได้ผลและไม่ได้ผล ถึงได้ผลมันก็เหตุผลต่างกัน มันก็เข้ากับจริตนิสัยของคน จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันถึงเป็นแบบนี้ นี่ภาวนาไปแล้วจะรู้

ถาม : ๕. เวลาเดินจะนึกตายๆๆ บางครั้งก็ใช้จินตนาการว่าเราเป็นโครงกระดูก ถูกต้องไหม

ตอบ : ถ้าเวลาเดินคิดถึงตายๆ เช่นโครงกระดูกนะ ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิได้ แต่ถ้ามันเป็นสมาธิอบรมปัญญา เราต้องการสมาธินะ ถ้าเราพุทโธอยู่ ถ้าเราอานาปานสติอยู่เราอย่างเดียว แต่เวลาเดินจงกรมเขานึกเอาว่าตายๆๆ หรือจินตนาการว่าเนื้อมีแต่กระดูก ถ้าเราเดินจงกรมใช่ไหม เราใช้ความคิด คือปัญญาอบรมสมาธิ ใช้ความคิดคือปัญญาโลกๆ แล้วถ้าใช้ปัญญาแยกแยะแล้วมันเห็นโทษของมันมันก็ปล่อย พอปล่อยนี่คือปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิในการที่ใช้ปัญญาอบรมมันไม่เหมือนกับสมาธิกำหนดพุทโธ

ฉะนั้น ถูกต้องไหม? ถูก วิธีการหลากหลาย แต่เราเลือกใช้ เลือกใช้ว่าอะไรที่ใช้แล้วได้ประโยชน์กับเรา ถ้าได้ประโยชน์กับเรานี่อันนั้นถูกต้อง ถูกต้องเฉพาะตอนนั้น พอครั้งต่อไปๆ มันชักเริ่มชินชาแล้ว มันไม่ได้อีกแล้ว ถึงใช้อุบายเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไง ถูกต้อง ถูกต้องเมื่อทำแล้วได้ผล แต่ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลมันก็ไม่ถูกต้องกับเรา

ฉะนั้น สมาธิอบรมปัญญา ปัญญาอบรมสมาธิ แล้วเราทำแล้วเราใช้เลือกเอา

ถาม : ๖. เมื่อกามราคะที่หลวงตาท่านว่าเป็นตัวสำคัญนัก ผมใช้วิธีดูอสุภะบ่อยๆ แล้วลดตัณหาราคะถึงสัญญาความสวยงาม แล้วจับได้บ้าง เวลาตัณหามันกำเริบก็เพราะว่าเราปรุงแต่งจิตเก่าๆ ของเรานั่นเอง ผมทำถูกต้องหรือเปล่าครับ

ตอบ : นี่ไอ้อย่างนี้เราก็ใช้ปัญญา เหมือนกับปัญญาอบรมสมาธิ สมาธิอบรมปัญญา เราใช้อบรมปัญญาอย่างนี้ มันก็จะแค่สงบตัวลงๆ เพราะเรายังไม่ได้พิจารณาจนถึงที่สุด ถ้าถึงที่สุด ถ้าแบบว่ามันจะตัดกามราคะขาดไปเลย มันต้องขั้นอนาคามี ฉะนั้น สิ่งที่เราทำนี่เราทำของเราไปก่อน ไม่ต้องท้อใจ ไม่ต้องไปคิดมาก เราตั้งใจทำของเรา ถ้าเราทำได้ก็เป็นประโยชน์ของเรา เพราะเราต้องรักษาใจเราไง ในเมื่อราคะสิ่งนี้มันเป็นโทษกับใจ มันทำความทุกข์ให้กับหัวใจ มันทำให้เราเดือดร้อนนัก เราก็พิจารณามันเพื่อจะปลดเปลื้องมัน เราจะทำให้จิตใจเราเป็นอิสระเป็นบางครั้งบางคราว เราก็พยายามทำของเรา ทำของเราเพื่อปลดเปลื้อง แล้วถ้าเราปฏิบัติได้มันจะต่อไปข้างหน้า

ถาม : ข้อที่ ๗. พระโสดาบันที่มีราคะตัณหาประมาณใดจึงยังสามารถมีครอบครัวได้

ตอบ : มีครอบครัวได้ มีครอบครัวได้หมายถึงว่าตัณหาราคะมันอยู่ในกรอบไง พระโสดาบันไม่สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉา เห็นไหม นี่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สังโยชน์ ๓ ตัวนี้ขาดแน่นอน พอขาดแน่นอน สิ่งใดถ้าผิดไง ผิด สักกายทิฏฐิเห็นกายเป็นความจริง วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส วิจิกิจฉาคือไม่สงสัย แล้วก็ไม่ลูบคลำในศีล ทีนี้ไม่ลูบคลำในศีล แต่พระโสดาบันมีครอบครัวได้อย่างไร?

พระโสดาบันมีครอบครัวแบบนางวิสาขา นางวิสาขามีความปรารถนามหาอุบาสิกา พระอานนท์ท่านบวชมาท่านมีความปรารถนาสิ้นจากทุกข์ พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน นางวิสาขาเป็นพระโสดาบัน แต่นางวิสาขามีความปรารถนาเท่านี้ไง มีความปรารถนามาเป็นมหาอุบาสิกา ทีนี้ปรารถนาเป็นมหาอุบาสิกา ได้พระโสดาบันตั้งแต่ ๗ ขวบ พอ ๗ ขวบ เวลา ๗ ขวบพ่อแม่ก็ให้แต่งงานไป ความแต่งงานไป แต่งงานไปกับสามี ทีนี้สามีไป นางวิสาขามีครอบครัวแล้วยังมีบุตรอีก ๒๑ คนเนาะ ถ้าตัวเลขต้องถาม เดี๋ยวผิด (หัวเราะ)

ทีนี้พระโสดาบันมีครอบครัวได้อย่างไร? พระโสดาบัน สักกายทิฏฐิไม่สงสัยในร่างกายนี้ สักกายทิฏฐิ สังโยชน์นี้ตัดขาดแน่นอน นี่แล้วมีครอบครัวอย่างไร? มีครอบครัว มันไม่ผิดศีลไง ศีล ๕ กาเมสุมิจฉาจาร ในเมื่อคู่ครองของเรา เราไม่ผิดในคู่ครองของเรามันไม่ผิดศีล สีลัพพตปรามาส ศีล ๕ ไง ศีล สีลัพพตปรามาส นี่วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส สักกายทิฏฐิก็เข้าใจ พระโสดาบัน พอพระโสดาบัน เพราะซื่อสัตย์ในครอบครัว คือว่าไม่ออกนอกเรื่องนอกราวเลยล่ะ

ฉะนั้น ถามว่า

ถาม : พระโสดาบันที่ยังมีราคะตัณหาประมาณไหน? ประมาณไหนถึงมีครอบครัวได้

ตอบ : (หัวเราะ) เออ เอ๊ะ ก็ไม่รู้เหมือนกันเนาะ เพราะไม่เคยลอง เพราะว่านี่พูดถึงคำถามถามมาอย่างนี้มันตายตัวไง แต่ถ้าความจริงแล้วนะ พอเป็นพระโสดาบันแล้ว เพราะนางวิสาขาปรารถนามาเท่านั้น ถึงอยู่ตรงนั้น แต่พระโสดาบัน พระอานนท์เป็นพระโสดาบัน ขนาดพระพุทธเจ้านิพพานนะร้องไห้เลย พระโสดาบันร้องไห้

“โอ้โฮ เราเป็นพระโสดาบัน เราก็ยังต้องการคนชี้นำอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะปรินิพพานซะแล้ว เราไม่มีคนชี้นำแล้ว”

กรณีความคิดแบบนี้เรามาเทียบกับหลวงตาไง ตอนหลวงปู่มั่นเสีย โอ้โฮ หลวงตาไปนั่งอยู่ปลายเท้าหลวงปู่มั่นร้องไห้ ร้องไห้นะ ร้องไห้แล้วร้องไห้อีก

“จิตนี้มันดื้อนัก เชื่ออยู่ก็ครูบาอาจารย์ของเรา แล้วครูบาอาจารย์ท่านก็มาเสียซะแล้ว ต่อไปนี้จะฟังใคร? แล้วใครจะสอน?”

นั่งรำพันอยู่คนเดียวนะ หลวงตาน่ะ นี่พระอานนท์เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพาน พระโสดาบันนะร้องไห้ พระพุทธเจ้าเรียกเข้ามา

“อานนท์ เราบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ? สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นมา สิ่งทั้งหลายก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา แม้แต่ตถาคตก็ต้องนิพพานในคืนนี้ เธออย่าเสียใจไปเลย เรานิพพานไปแล้ว ๓ เดือนจะมีสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์”

นี่เพราะว่าพระพุทธเจ้าพยากรณ์ก็เลยเป็นโทษ จะเป็นพระอรหันต์ จะเป็นพระอรหันต์ คืนที่สังคายนา จะเป็นพระอรหันต์ จะเป็นพระอรหันต์ มันไม่เป็นสักที เพราะพระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ พอเหนื่อยมากขอพักสักหน่อย พอขอพักเป็นเรื่องส่วนตัวแล้ว ไม่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ว่าจะเป็นเราก็ว่าจะเป็นตามพระพุทธเจ้าบอก ก็ไม่ได้เป็นสักที พอวางพระพุทธเจ้าพั่บ จิตมันเข้ามาเป็นส่วนตัวของเราเอง ผลัวะ คืนนั้นเป็นพระอรหันต์เลย

นี่ไงพูดถึงว่าพระโสดาบัน ถ้าพูดถึงเป็นพระโสดาบันจริงๆ แล้ว ส่วนใหญ่แล้วเรื่องครอบครัวไม่มีหรอก ไม่อยากมี เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะอยากจะสิ้นกิเลส ส่วนใหญ่แล้วพระโสดาบันอยากจะไปต่อข้างหน้าเพราะมันพาดกระแสแล้ว มีสติปัญญาพอ เห็นว่าการมีครอบครัวมันจะมีความทุกข์ เพราะการทุกข์ในครอบครัวนั้นจะเป็นความทุกข์มาก

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าแล้วทำไมพระโสดาบันถึงมีครอบครัวล่ะ? มีขนาดไหนล่ะ? เพราะมหาอุบาสิกา จะเป็นมหาอุบาสิกาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ต้องมีหลัก มีฐาน มีครอบครัว เพื่อจะมาอุปัฏฐากสงฆ์ทั้งหมดไง มันก็มีเป้าหมายของเขานะ ฉะนั้น พูดถึงว่ามันมีได้ แต่ถ้าคนเป็นโสดาบันแล้ว ส่วนใหญ่แล้วอยากมีไหมล่ะ? อยากมีครอบครัวหรืออยากเป็นพระอรหันต์? เออ ถามพระโสดาบันว่าอยากมีครอบครัว หรือพระโสดาบันอยากเป็นพระอรหันต์ (หัวเราะ)

พระโสดาบันก็อยากเป็นพระอรหันต์ พระโสดาบันยังไม่มีครอบครัว แต่นี้เพราะความปรารถนา ปรารถนาเป็นมหาอุบาสิกา คำว่ามหาอุบาสิกา คือมหาอุบาสิกาที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น ผู้ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องมีฐานใช่ไหม? มีคหบดีที่จะมาอุปัฏฐาก นี้เพราะมันมีตรงนั้น มันก็เลยเป็นเรื่องพระโสดาบันที่มีตัณหาขนาดไหนถึงจะมีครอบครัว

ฉะนั้น ถ้าเราไม่ต้องสงสัยว่าเป็นพระโสดาบันแล้วอยากมีครอบครัว เป็นพระโสดาบันก็อยากจะเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นแหละ อันนี้ข้อที่ ๗.

ถาม : ๘. รู้สึกว่าเรามีหิริ โอตตัปปะมากขึ้น สติมากขึ้น เวลาโกรธจะรู้ตัวมากขึ้น หายเร็วขึ้น แต่ก็ยังกำเริบบ้างเวลามีสิ่งมากระตุ้น ทำอย่างไรถึงจะไม่มีโกรธเลย

ตอบ : นี่เวลาโกรธนะ เวลาโกรธขึ้นมา เราจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่อง จะว่าสุดวิสัย สุดวิสัยหมายถึงว่ามันมีอำนาจที่เราควบคุมไม่ได้ เราควบคุมไม่ได้ แต่ถ้าเราฝึกของเราไง แผ่เมตตา โทสจริตนะแผ่เมตตาไว้ เขาเป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้อง เขาไม่ตั้งใจว่าเรา นี่พยายามนึกคิดอย่างนี้ ความโกรธมันจะเริ่มเบาลงๆ เรื่อยๆ แต่ถ้าวันไหนเราพิจารณาเลยนะ กามราคะนะ ปฏิฆะ กามราคะถ้าขาด ปฏิฆะขาด ปฏิฆะคือข้อมูล ปฏิฆะคือสิ่งที่มันฝังใจไว้

นี่โทสัคคินา โมหัคคินา โลภะคิ โทสะคิ คือความโลภเป็นไฟ ความโกรธเป็นไฟ ความหลงเป็นไฟ นี่เพราะ ๓ สิ่งนี้จะทำให้เราเกิดกามราคะ ถ้าพิจารณาตรงนี้ขาดหมดนะมันถึงเท่าทันกับความโกรธจริง ถ้ายังไม่เท่าทันความโกรธจริงเราไม่ต้องไปคิดว่าเราจะดับความโกรธไง เราพยายามจะพิจารณาใช้ปัญญาให้หาเหตุหาผล ถ้ามีปัญญาหาเหตุหาผลปั๊บ มันเบาลงได้ มันเบาลงได้ เพราะถ้าเราปฏิบัติไปนะ พอมันไปตัดเหตุ ตัดปัจจัยหมดมันก็ไม่โกรธ แต่เรายังตัดเหตุ ตัดปัจจัยไม่ได้ ปฏิฆะ กามราคะ นี่สังโยชน์เบื้องบนเรายังตัดไม่ได้

ฉะนั้น เวลาพูดไป โดยทั่วๆ ไปทุกคนจะพูดตรงนี้ แล้วเอาตรงนี้มาอ้างอิงกัน เราก็เลยเอาตรงนี้มาเป็นพยาน แล้วเอาตรงนี้มาเป็นเครื่องหมายการค้าว่าใครปฏิบัติแล้วต้องไม่โกรธๆ นี่ไงแล้วคนทั่วไปก็บอกว่าเมื่อก่อนเป็นคนโกรธมาก เมื่อก่อนเป็นคนที่กินเหล้าเมายามาก เดี๋ยวนี้ไม่กินเลย เดี๋ยวนี้ไม่โกรธเลย ทุกคนพูดอย่างนี้หมด อ้าว ถ้าไม่โกรธเลย สิ่งที่รักที่สุดลองขอเขาสิโกรธไหม? คนเรามันมีปมในใจนะ ถ้าไม่จี้ใจดำมันก็ไม่โกรธ ถ้าจี้ใจดำโดนทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าปฏิฆะ กามราคะมันขาดไปแล้ว มันทำลายหมดแล้ว จี้มาก็ไม่โดน ไม่มีให้จี้ ถ้าไม่มีให้จี้มันก็จบไง แต่ถ้ามันยังมีให้จี้นะเสร็จ

ฉะนั้น เพียงแต่ว่ามันเป็นเครื่องหมายการค้า โอ้โฮ เมื่อก่อนเป็นคนโทสะมาก เดี๋ยวนี้ไม่โกรธเลย อย่าเผลอนะ เผลอแล้วเดี๋ยวออกหมดเลย นี่พูดถึงมันเป็นเครื่องหมายการค้า แต่ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนะ ใช่มันมีหิริ มีโอตตัปปะดีขึ้น ก็ถูกต้อง แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาไป สิ่งนี้มันจะเบาไปๆ แล้วเรารู้ทันไปเรื่อยๆ ปัญญามันจะนำตลอด ปัญญาจะควบคุมตลอด

ถ้าปัญญาควบคุมตลอดนะเราจะควบคุมชีวิตของเราได้ ความโกรธมันจะไม่เกิดขึ้นกับเราง่ายๆ ความหลงนี่ใครจะพูดอะไรต้องมีสติปัญญาฟังก่อน ยับยั้งก่อน ยังไม่เชื่อของง่ายๆ ความหลง หลงก็ต้องดูแลก่อนนี่มันมีสติปัญญาพิจารณาไปเรื่อยๆ พอจิตเราพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็ภาวนาไป ภาวนาตัดสังโยชน์ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันตัดเหตุ ตัดปัจจัยหมดเลย แล้วไอ้เรื่องโกรธจะรู้กัน

ฉะนั้น มันเป็นนิสัยเดิม ทีนี้พอเป็นนิสัยเดิมปั๊บ นี่บอกว่าเราไม่ต้องฝึกเลยหรือ? จะปล่อยไว้อย่างนี้ ก็ไม่ใช่ นี่เราก็ฝึกฝนของเรา เพียงแต่ว่าเครื่องหมายการค้าเราไม่ยอมรับไง เราไม่ยอมรับเครื่องหมายการค้านี้ เรายอมรับความเป็นจริง ปฏิฆะ กามราคะขาดไป นี่สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะขาดไป สังโยชน์อย่างต่ำขาดไป นี้คือพระอนาคามี แล้วความโกรธจะดับ ทีนี้มันก็มีแต่ผ่องใส เศร้าหมอง นี้สังโยชน์เบื้องบนแล้ว

นี่รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มันไม่ใช่ความโกรธ มันเป็นรูปราคะ อรูปราคะ มานะคือถือตัวถือตน อวิชชา อุทธัจจะคือความฟุ้งซ่านนิดหน่อยในหัวใจ ไม่ใช่โกรธ อันนั้นเป็นสังโยชน์เบื้องบน ถ้าอย่างนั้นมันจะดับตรงนี้เลย ถ้ามันดับยังไม่ได้ ไม่ต้องไปเอาเครื่องหมายการค้าของใครมาติดที่เราไง เอาเครื่องหมายการค้ามาติดเลย ฉันไม่โกรธ ฉันไม่โกรธ ไร้สาระ เอาความจริงกันดีกว่า เครื่องหมายการค้าไม่ต้องมาพูดกัน

ถาม : ๙. คนที่จะได้บรรลุธรรม หรือคนที่จะบวชได้ต้องมีบุญญาธิการเก่ามาก่อนใช่ไหม? อยากจะบวชแต่กลัวว่าบารมีไม่ถึง

ตอบ : ไอ้อย่างนี้ใช่ คนบวชมามันก็มี แบบว่ากรรมเก่า กรรมใหม่ กรรมเก่าของคนมันมีมานะ เราถึงมาเกิดร่วมกัน การเกิดร่วมกันต้องมีสายบุญ สายกรรม หลวงตาพูดบ่อย ต้องมีสายบุญ สายกรรมกัน ถึงจะเชื่อถือกัน ถึงเป็นหมู่คณะกัน ถึงรักกัน ถึงอยู่กันเป็นสังคม เพราะมีสายบุญ สายกรรมมา สายบุญ สายกรรมคือชอบด้วยกัน ดูสิชมรม ชมรมอะไรก็ชอบอย่างนั้นแหละ เขามีชมรมมาด้วยกัน มาจากต่างที่ ต่างถิ่นกัน แต่มาอยู่ในชมรมเดียวกัน เพราะชอบสิ่งเดียวกัน

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเรามีบารมีของเราใช่ไหม? เราสร้างของเรามา เราก็มีความพอใจสิ่งนี้เป็นพื้นฐานในใจ ถ้ามันทำได้มันก็มีพื้นฐานในใจใช่ไหม? ถ้าไม่มีพื้นฐานในใจ เข้าชมรมนั้น เราเข้าผิดชมรม ไม่ถูกใจสักอย่าง ทำอะไรไม่ถูกใจสักอย่างเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราไม่อยากบวช เราบวชไปแล้วมันทำอะไรก็รู้สึกขัดข้องไปหมดเลย แต่ถ้าเราเข้าชมรมที่ถูกต้อง เราอยากบวช เห็นไหม เออ มันดี มันงามไปหมดนะ ทำอะไรก็ แหม ถูกใจ อยากทำ พอใจ นี่ก็อยู่สุข อยู่สบาย ถ้าอยู่สุขสบายมันก็เป็นไปได้ อันนี้ก็มีส่วน แต่ แต่บารมีเก่าบารมีใหม่ ถ้าปัจจุบันไม่สร้าง บารมีก็คือบารมีมันตัดช่วงกันไปไง หลวงตาท่านบอกว่า คนที่สนใจในศาสนาคือผู้มีบารมี ถ้าไม่มีบารมีจะมาสนใจในศาสนาหรือ?

นี่เวลาคนที่เขามีกิเลสนะ เขาพยายามจะแสวงหาของเขา เขาว่าวันเวลาของเขาสำคัญมาก เขาต้องรีบทำงานของเขาเพื่อหาผลประโยชน์ของเขา แล้วเขาเห็นคนไปวัด อืม พวกนี้ไปวัดทำไมเสียเวลา เวลาเป็นเงินเป็นทองนะ แล้วเวลาเป็นเงินเป็นทอง แล้วก็เอามากำหนดพุทโธ พุทโธเพื่อจะให้เกิดอริยทรัพย์ขึ้นมา มันก็ปฏิบัติเหมือนกัน แต่คนเขาคิดไง เพราะปฏิบัติแล้วมันจับต้องไม่ได้เป็นวัตถุ มันจับต้องได้เป็นคุณภาพของใจที่พัฒนาขึ้น แต่เขาจับต้องไม่ได้เขาถึงคิดของเขาอย่างนั้น

ฉะนั้น ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราจะสร้างบารมีเราก็ต้องคิดของเราไง ไม่ใช่รอแต่บารมีเก่า นี่สิ่งที่สร้างมาดี มีความสนใจ ถ้าบารมีใหม่คือเราไม่ต่อเติม ไม่สร้างสมของเรา แล้วมันจะมีอะไรต่อไป นี้บารมีก็อยู่ในการกระทำ กรรมคือการกระทำ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าเรามั่นคง เราทำของเรา มันก็ทำได้ ทำได้ ทำของเราให้มันเสร็จสิ้นไป เราก็ทำของเราได้ ถ้าทำของเราได้มันก็ใช้ได้ ฉะนั้น เรื่องบารมีมันมีส่วนอยู่จริง เราถึงบอกว่ากรรมเก่ามี ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แล้วปัจจุบันนี้ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ กรรมเก่ามานี่ ๕๐ นะ ๕๐ หมายถึงว่าให้เป็นจริต เป็นนิสัย เป็นพื้นฐานของบุคคลคนนั้น แล้วปัจจุบันนี้เราจะสู้อย่างไร?

ฉะนั้น นี่พูดถึงสายบุญ สายกรรมนะ แต่ถ้าเป็นวิทยาศาสตร์มันก็ต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่นี่ อดีตมันก็เป็นอดีตมาแล้ว ปัจจุบันนี้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่นี่ ๕๐ เปอร์เซ็นต์แบ่งไปจากไหน? แต่ถ้าภาวนาไปแล้ว ๕๐ เปอร์เซ็นต์มันจะแบ่งมาเห็นๆ เลย เห็นๆ หมายถึงว่าทำสมาธิก็ทำง่าย ทำสมาธิก็เข้าใจ ใช้ปัญญานี่ก็ทะลุปรุโปร่ง แต่ถ้าเบื้องหลังมาไม่ดี ปัจจุบันนี้ต้องทุ่มเทกันเต็มที่ สมาธิก็แสนยาก ปัญญายิ่งพลิกแพลงใหญ่เลย ต่อสู้สุดเขต สุดแดน ถ้ามันเป็นไปได้ เห็นไหม

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงปฏิบัติไปแล้ว คนปฏิบัติไปมันจะเห็นของมัน ฉะนั้น เวลาพระอรหันต์ถึงไม่สงสัยในอดีตชาติ ไม่สงสัยว่าจะไปเกิดเป็นอะไร อดีตชาตินะบุพเพนิวาสานุสติญาณ อนาคตจุตูปปาตญาณ ปัจจุบันอาสวักขยญาณ ถ้าทำลายปัจจุบันจบสิ้นแล้ว อดีต อนาคตจบ ถ้าจบสิ้นแล้วมันก็ไม่ไปไหนอีก ฉะนั้น มันสำคัญตรงปัจจุบันนี้

ดูพระองคุลิมาล ถ้าองคุลิมาล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ไปเอาวันนั้นนะ องคุลิมาลต้องฆ่าแม่ แล้วองคุลิมาลนี่หมดสิทธิ์เลย นิดเดียวนะ แค่แป๊บเดียว พระพุทธเจ้าช้าอีกหน่อยเดียว พระองคุลิมาลหมดสิทธิ์เป็นพระอรหันต์ ด้วยความเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม ไปเอาพระองคุลิมาลมา แล้วเอามาบวชเป็นพระอรหันต์ แล้วนี่ของเรานะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แป๊บเดียวเลยชีวิตนี้จะหมดไป แล้วก็จะไปเกิดใหม่ แป๊บเดียวเลยเกิดมา ๑๐๐ ปี ถ้าสนใจก็จะได้ของเรา ถ้าจะทำ

นี่บารมีเก่า บารมีใหม่ อยู่ที่เราเข้มแข็งขนาดไหน ทำได้ขนาดไหน มันจะเป็นประโยชน์กับเราถ้าเราทำได้ นี่พูดถึงบารมี ถ้าบารมีแล้วมันก็อ้างกันไป บารมีมันก็เลยกลายเป็นข้ออ้าง อ้างเล่ห์กันไป อ้างเล่ห์กันมา แต่ถ้ามันมั่นคงจริงจังแล้วเราต้องทำได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา เอวัง