เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะคือเรื่องส่วนตัวของเรา ธรรมะคือเรื่องภายในนะ คำว่าเรื่องส่วนตัวของเราใครอย่ามายุ่ง ขอเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าเรื่องส่วนตัว พูดถึงความเป็นส่วนรวม เห็นไหม ความเป็นสังคม ถ้ามันสงบร่มเย็น เราเองเราก็เก็บปัญหานั้นแหละเอามาทับถมหัวใจ เรื่องสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอาศัยสังคมนั้นอยู่ แต่อยู่ในสังคมโดยมีสติปัญญาไง ถ้ามีสติปัญญานะ เวลาสิ่งใดที่มันเดือดเนื้อร้อนใจ เราก็จะไม่เดือดเนื้อร้อนใจไปกับเขานัก แต่ก็ไม่ใช่ไม่รับผิดชอบ รับผิดชอบนะ เวลาสังคมเราก็ดูแลสังคม เพราะเราต้องการ

นี่สัตว์โลก สัตว์โลกเกิดมาขอให้มันอยู่เป็นสุขเถิด ขอให้อยู่เป็นสุขๆ ถ้าเป็นสุขขึ้นมาสังคมก็ร่มเย็นเป็นสุข เราก็มีความสุขไปด้วย ถ้าสังคมเขาขัดแย้ง สังคมเขามีปัญหาขึ้นมา เราเห็นน่ะ อย่างไรมันก็เห็น เห็นแล้วมันก็เก็บไปคิด พอเก็บไปคิดมันก็เดือดร้อนหัวใจของเรา แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวของเราล่ะ? เรื่องส่วนตัวของเรามันก็เรื่องความสุขความทุกข์จากภายในของเรา ถ้าความสุขความทุกข์จากภายในของเรา โลกเขาบอก เห็นไหม นี่โลกเจริญ คนจะล่วงพ้นด้วยการศึกษาการเล่าเรียน เพราะมีปัญญาไง เพราะมีการศึกษาการเล่าเรียน

ใช่ การศึกษาการเล่าเรียนมันเกิดปัญญา แต่ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่เราศึกษามา ศึกษามาเป็นสุตมยปัญญา ศึกษามาแล้วเข้าใจ บริหารจัดการได้ สังคมควรจะเผื่อแผ่กัน ทำทุกสิ่งได้ แล้วเวลาเราก็เผื่อแผ่ทั้งนั้นแหละ เราทำทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว จิตใจเราเป็นคนดีหมดเลย แต่ทำไมมันยังเดือดร้อนในใจล่ะ? นี่เราก็เป็นคนดีทั้งนั้นแหละ เราทำทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ทำไมเราเอาใจของเราพ้นจากกิเลสไม่ได้ล่ะ?

มันพ้นจากกิเลสไม่ได้เพราะมันเห็นแก่ตัวไง มันเห็นแก่ตัว มันเห็นแก่ใจไง เพราะใจมันคิดว่าใจนี้เป็นของเรา สรรพสิ่งเป็นของเรา เรื่องส่วนตัวของเราๆ เพราะส่วนตัวของเราไงมันถึงไปจมปลักกับกิเลสอันนั้นไง ถ้ามันจมปลักกับกิเลสอันนั้น อันนั้นแหละมันถอดถอนไม่ได้หรอก ถ้ามันจะถอดถอนได้ เห็นไหม นี่เราทำความสงบของใจของเรา ถ้าใจมันสงบเข้ามาได้นะ ทำความสงบของใจ

คำว่าทำความสงบของใจ ทุกคนฟังแล้วเบื่อหน่าย อะไรก็สงบๆ ไม่เห็นสงบสักที ความสงบของใจมันมีคุณค่า นี่ดูสิความฟิตของนักกีฬา เห็นไหม ถ้านักกีฬามีความฟิตขึ้นมา ทักษะนี่เขาฝึกเอาทีหลัง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจมันเข้มแข็งขึ้นมา จิตใจมันสงบร่มเย็นเข้ามา นี่ความคิดของมันไง มันมีกำลังของมัน มันมีจุดยืนของมัน มันแยกแยะได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานมันแยกแยะไม่ได้ เราเองก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่แล้ว

คนเรานะ ดูสิดูเด็กนะ ในมหายานเขาบอกพระอรหันต์อยู่ได้อย่างไร? อ้าว หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ แล้วหิวก็กิน กินอะไรล่ะ? หิวก็กิน เด็กทารก เด็กน้อย ดูสิสมัยคอมมิวนิสต์ใหม่ๆ นะ เขาไปเที่ยวเมืองจีนกัน เขาบอกว่าเขาเอาเด็กน้อยมาทิ้งไว้เพราะเขาไม่มีปัญญาเลี้ยง แล้วมันก็ร้องไห้งอแงกัน มันดูดแต่นิ้วมือมัน ดูดแต่นิ้วมือ เพราะมันไม่มีอาหารจะกิน นั่นแหละถ้ามันนอนจมปลักจมขี้จมเยี่ยว มันก็เอามือคว้าขี้คว้าเยี่ยวใส่ปากมันน่ะมันจะไปไหน นี่ไงหิวก็กิน กินอะไรล่ะ? ก็กินขี้ไง

แต่ถ้ามันมีสติปัญญา เห็นไหม ทำความสงบของใจ ทำความสงบของใจ ถ้าเราเข้มแข้งขึ้นมา ดูสิข้าวปลาเป็นอาหารนะ สิ่งต่างๆ วัตถุ ปัจจัยเครื่องอาศัย ดูวัตถุมันเป็นของล่อใจ มันเป็นสิ่งที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากต้องแสวงหาเพื่อมาประดับเกียรติ แต่สิ่งที่มันเป็นอาหาร อาหารมันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย เห็นไหม เรามีกำลังของเราขึ้นมานะ เราทำไร่ไถนา เราปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกหญ้า เราก็มีอาหารของเรากินไง

นี่ก็เหมือนกัน หิวก็กิน ร้อนก็อาบน้ำ หิวก็กิน กินอะไร? ถ้าจิตใจมันอ่อนแอ จิตใจมันไม่มีหลักมีเกณฑ์มันจะไปกินอะไรล่ะ? มันก็กินอารมณ์ตัณหาความทะยานอยากไง มันกินแต่สิ่งที่เกิดขึ้นมา สัญญาอารมณ์ในหัวใจไง มันไม่ได้กินธรรมะไง แต่ถ้าจิตใจเรามันมีสติปัญญาขึ้นมา เห็นไหม มันยืนตัวของมันขึ้นมาได้ ยืนตัวขึ้นมาได้

ชาวไร่ ชาวนา นี่เราปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกพืชพรรณธัญญาหารของเรา เราจะหาอาหารของเราเพื่อเอาไว้ดำรงชีวิตของเรา ถ้าจิตมันเข้มแข็งขึ้นมามันทำของมันได้ ถ้าจิตมันอ่อนแอนะ เห็นไหม ทารกที่เขาเอาไปทิ้งเป็นกองนะ เขาไปเห็นกันมา เขามาเล่าให้ฟัง มันนอนดูดนิ้วมือของมัน มันหิวไง ทุกคนหิว ทุกคนกระหาย แต่ทำไม...ก็ดูดนิ้วมือก็นึกว่าดูดนมไง มันไปไหนไม่รอด มันนอนรอความตายของมันไง

นี่ก็เหมือนกันนะ ถ้าจิตใจของเราไม่เข้มแข็งขึ้นมา นี่เราว่าเราปฏิบัติธรรมๆ ไง นี่มีการศึกษามีปัญญาทั้งนั้นแหละ แต่ปัญญากิเลสหมดเลย มันกินขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลงไง มันความโลภ ความโกรธ ความหลง มันก็จมปลักอยู่นั่นไง แต่ถ้าเราทำความสงบของใจของเรานะ เราทำความสงบของใจ นี้ทำความสงบของใจมันทำได้ยาก ได้ยากที่ไหน? แม้แต่ตัวตนของเรา เห็นไหม ทุกคนบอกว่าเราทุกข์เรายาก นี่เราก็โทษสังคมไปหมดเลยว่าสังคมรังแกเรา สังคมทำร้ายเรา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาทำความสงบของใจ ใจอยู่ไหนล่ะ? ใจอยู่ไหน? ใจอยู่ที่ความคิดไง ใจมันอยู่ที่ความทุกข์ความยากนี่ไง มันไม่เห็นใจของมันไง นี่แล้วเวลาบอกว่าทำความสงบของใจ แล้วใจมันอยู่ไหน? แล้วทำอย่างไรใจมันถึงจะสงบ แล้วสงบมันเป็นอย่างไร? นี่ไงเวลาเด็ก เด็กมันรับรู้ตัวมันเอง นี่เด็กมันไร้เดียงสานะ แบมือกับพ่อแม่เท่านั้น พ่อแม่เพราะรักลูก มีอะไรก็คว้าให้มัน มีอะไรก็คว้าให้มัน เวลามันได้อะไรมันจะแบมือเอา มันจะเรียกร้องเอาของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาความคิดขึ้นมามันเรียกร้องเอาธรรมะของมัน เวลาทำอะไรก็ให้คะแนนตัวเองว่าฉันดีอย่างนั้น ฉันเก่งอย่างนั้น ฉันยอดอย่างนั้น ฉันเยี่ยมอย่างนั้น แต่ทุกข์ในหัวใจน่าดูเลย เพราะมันไม่รู้จักตัวมันเอง เห็นไหม แต่ถ้ามันทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจ ถ้าเราทำไม่ได้เราก็ระลึกคำบริกรรมของเราเสียก่อน นี่พุทโธ พุทโธ ปัญญาอบรมสมาธิมันต้องทำ ถ้าไม่ทำขึ้นมา ไม่มีเหตุมันจะเอาผลมาจากไหน? ไม่มีการกระทำมันจะเอาคุณงามความดีมาจากไหน?

คุณงามความดีมันเกิดจากการกระทำทั้งนั้นแหละ ทำดี ทำชั่ว เห็นไหม กรรมคือการกระทำ ทำแล้วผลมันตกอยู่ที่ใจ ถ้าใจมันคิดแต่เรื่องโลกๆ จิตใจมันอ่อนแอ เหมือนทารกน้อย การไร้เดียงสาอย่างนั้นมันก็กว้านเอาแต่พิษภัย เอาแต่ความโลภ ความโกรธ ความหลงมาเผาตัวมันเอง แต่ถ้ามีสติปัญญาขึ้นมา มันบังคับให้มันบริกรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ มันเบื่อหน่าย มันน่าเบื่อหน่าย

มันน่าเบื่อหน่ายสิ ดูสิไปโรงพยาบาลทุกคนกลัวเข็มหมดนะ เวลาหมอนัดผ่าตัดไม่อยากจะไปโรงพยาบาลเลย เป็นเพราะอะไรล่ะ? ผ่าตัดแล้วมันหายไหม? ยา เวลาฉีดยาแล้วมันหายไหม? นี่เวลาอยู่บ้าน เห็นไหม อยู่บ้านอยู่สุขอยู่สบาย เวลาจะไปหาหมอมันมีแต่ความอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันอยู่สุขสบายของมันนะ จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ พอมันคิดพุทโธมันเบื่อหน่ายไปหมดเลย เบื่อหน่ายมันเป็นธรรมโอสถ พุทธานุสติ กรรมฐาน ๔๐ ห้อง มันเป็นเครื่องอาศัยของใจ ถ้าใจไม่มีอะไรเกาะเกี่ยว ใจไม่มีที่อาศัยเลยมันจะไปอาศัยอะไรล่ะ? มันก็เร่ร่อนอยู่อย่างนั้นไง เวลาเร่ร่อนก็ว่าเป็นคนดีๆ พอทำอะไรเป็นกติกาเป็นระเบียบขึ้นมาไม่ดีไปสักอย่าง อะไรเป็นกติกาเป็นความดี ไม่เป็นความดีเลย แต่ถ้ามันไหลไปตามความโลภ ความโกรธ มันพอใจ ถ้ามันไหลไปตามอารมณ์ของมันนะ แหม สุข แหม ดีไปหมดเลย นี่มันไหลไปตามตัณหาความทะยานอยาก

แต่ถ้าบังคับมันพุทโธล่ะ? ไม่ดีสักอย่าง ไม่ดีสักอย่าง อะไรก็ไม่ดี มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย แต่ระเบียบ ข้อวัตรปฏิบัตินั่นแหละมันจะพาให้จิตนั้นมันพ้นจากทุกข์ได้ ถ้ามันตั้งสติขึ้นมา มันกำหนดพุทโธ พุทโธ สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่าๆ เวลามันเข้าไปถึงตัวมันนะ พุทโธจนพุทโธไม่ได้นะ เห็นไหม จากที่ว่าใจมันอยู่ไหน? ทำความสงบทำอย่างไร? อะไรมันจะสงบ อะไรมันจะเป็น จิตมันก็ว่างอยู่แล้ว เราก็เป็นคนดีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำสิ่งใดมันก็ว่างๆ มันก็ดีอยู่แล้ว นี่เราก็มีปัญญาของเราอยู่แล้ว

นั่นแหละมันเรื่องโลกๆ ทั้งนั้น นี่กิเลสมันหลอกเอา แต่เวลาเป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม เราบังคับ พอบังคับขึ้นมานี่มันจะแฉลบไปทางไหนก็แล้วแต่บังคับไว้ เพราะว่ามันไม่ยอมหรอก นี่แม้แต่เรื่องส่วนตัวของเรา ทุกคนว่าสงวนเรื่องส่วนตัวนะ ทุกคนอย่ามายุ่งนะ เรื่องของเรานะ เรื่องส่วนตัวของเรานะ แล้วเวลาคุณงามความดี ถ้ารักตัวเองทำไมไม่ทำขึ้นมาให้ดีล่ะ? ถ้ารักตัวเอง เรื่องส่วนตัวทำไมไม่ทำเรื่องส่วนตัวให้มันรู้แจ้งขึ้นมาในใจ

ถ้ามันรู้แจ้งขึ้นมาในใจนะ สรรพสิ่งอะไรมันจะมาหลอกลวงใจดวงนี้ ถ้ามันรู้แจ้งขึ้นมา ถ้ามันพุทโธ พุทโธ ถ้ามันเริ่ม มันเริ่มมันไหวตัวเท่านั้นแหละ พอพุทโธ พุทโธ พอมันเริ่มไหวตัวนะ พอมันไหวตัวมันรับรู้ได้ มันไหวตัวมันผ่อนคลาย อืม อืมนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ พอมันไหวตัวมันผ่อนคลาย มันรู้ตัวของมันเองนะ รู้ตัวของมันเอง แล้วเราจะงงมากทำไมมันเป็นแบบนี้ เราไม่เคยเห็นสภาวะแบบนี้เลย เราไม่เคยเห็นเป็นแบบนี้เลย มันเป็นเพราะอะไรล่ะ?

นี่ถ้าพุทโธย้ำต่อไป พุทโธย้ำต่อไป พอมันเริ่มอุปจาระมันเริ่มสงบระงับมากกว่านั้น มันเริ่มไหวตัว มันแค่ไหวตัว แต่พอมันรู้ตัวของมันเอง เห็นไหม รู้ตัวของมันเอง แล้วรับรู้สิ่งข้างนอกได้ นี่อุปจาระ ถ้าพุทโธ พุทโธต่อไปจนสักแต่ว่าเข้าไปถึงจิตเดิมแท้ นี่มันทิ้งพุทโธหมด พอมันทิ้งพุทโธ มันทิ้งพุทโธเพราะมันพุทโธไม่ได้ ไม่ใช่ทิ้งพุทโธเพราะรังเกียจ ไม่ใช่ทิ้งพุทโธ พุทโธนี้มันเป็นของไม่ดี แต่พุทโธเป็นวิตกวิจาร เป็นการระลึกรู้อยู่ เป็นการอาศัยให้จิตมันได้เกาะเข้ามา

ถ้ามันเกาะเข้ามา เห็นไหม ถนนหนทางเราอาศัยขับรถไป เราปฏิเสธถนนหนทางไหม? ถ้าเราปฏิเสธถนนหนทางเราจะขับรถไปไหน? เราจะไปบ้านไปเรือนของเรา เราก็อาศัยถนนนั้นเข้าไปสู่บ้านเรือนของเรา พอไปถึงบ้านเรือนแล้วเราต้องการถนนไหม? จะแบกถนนเข้าไปอยู่ในบ้านด้วยเหรอ? ถนนก็คือถนนใช่ไหม? เราเข้าบ้านของเราใช่ไหม? นี้เราพุทโธ พุทโธ พุทโธมันก็เป็นหนทาง มันก็เป็นถนนเข้าไป พอไปถึงบ้านเราต้องพุทโธอีกไหม?

เราไม่ใช่รังเกียจพุทโธ พุทโธเหมือนถนนหนทาง พอเราเข้าบ้านเราแล้วนะเราจะซาบซึ้งมาก มาบ้านนี้ได้เพราะมีถนนหนทางที่รัฐบาลเขาตัดไว้ให้ มาพุทโธ พุทโธจนจิตมันจะสงบได้ ซาบซึ้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะท่านวางพุทธานุสติไว้ให้เราฝึกหัด เพราะสิ่งนี้เป็นสาธารณะสมบัติ เป็นสมบัติสาธารณะ เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วางธรรมและวินัยนี้ไว้ให้เราได้อาศัยเกาะเกี่ยวให้ใจนี้พัฒนาเข้าไป

พอเราเข้าไปถึงใจของเราเอง คือบ้านของเราเอง พอเราเข้าไปถึงบ้านเราเองนะมันพุทโธไม่ได้ ถ้ามันพุทโธได้มันก็ต้องอยู่ที่ถนนนั้นไง ถ้ามันพุทโธไม่ได้มันก็เข้ามาสู่ใจนั้น แต่ถ้าไม่มีถนนนั้น ไม่มีสิ่งนั้นมันก็อาศัยขี้ อยู่กับความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่กับขี้นั่นแหละ แล้วเราบังคับขึ้นมาไม่ให้อยู่กับขี้ ให้มาอยู่กับพุทธานุสติ เห็นไหม มาอยู่กับถนนหนทาง อย่าไปจมปลักอยู่ในห้องส้วมนั่น

ห้องส้วมนั้นคืออารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความหลงไง ถ้ามันสลัดทิ้งของมันได้มันก็มาสู่ถนนหนทางนั้น ถ้าสู่ถนนหนทางนั้นมันก็พุทโธ พุทธานุสติ พอพุทธานุสติมันเข้าสู่ใจมันก็เข้าสู่บ้านนั้น เข้าสู่บ้าน พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้เลย นี่เข้าสู่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานนั้นเวลาสงบระงับแล้ว พอมันคลายตัวออกมาต้องยกจิตนี้ขึ้นสู่วิปัสสนา เข้าไปสู่พุทโธ พุทโธ เข้าไปสู่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานมันก็คืออวิชชา

จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จะผ่องใสเศร้าหมองขนาดไหนก็คือตัวตนของเรา อวิชชาทั้งนั้น ถ้าเป็นอวิชชาเราก็ต้องเข้าไปสู่อวิชชาก่อนสิ เราต้องเข้าไปหาตัวเราก่อนใช่ไหม? ถ้าเราไม่เข้าไปหาตัวเรา เราจะแก้ไขตัวเราได้อย่างไร? ถ้าเราไม่เข้าไปสู่จิตเรา ถ้าจิตเราไม่ออกวิปัสสนา จิตเรามันจะแก้ไขจิตเราได้อย่างไร?

จิตของเรามาเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นอินทร์ เป็นพรหม นี่ปฏิสนธิจิตมันเกิดแล้ว มันเกิดมาได้สถานะมันแล้ว สถานะ เห็นไหน ถ้าเกิดเป็นเทวดาเรารู้จักตัวเราไหม? เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เรารู้จักตัวเราไหม? นรกอเวจีเรารู้จักตัวเราไหม? แต่ขณะนี้เราเกิดเป็นมนุษย์ปัจจุบันนี้ เรารู้จักตัวเรา แต่ไม่รู้จักจิตเรา เราทำความสงบของใจเข้ามาจนรู้จักจิตของเรา เรามีโอกาสนะ เราเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ มีโอกาสที่จะได้มีการกระทำ

ถ้ามีการกระทำอย่างนี้ นี่คุณสมบัติอย่างนี้ นี่วันนี้วันพระวันที่ประเสริฐ ใครประเสริฐ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา นี่เป็นครูสอนทั้งสามโลกธาตุ ประเสริฐไหม? หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นเวลาท่านเทศนาว่าการเทวดา อินทร์ พรหมมาฟังเทศน์ นี่ประเสริฐไหม? มันประเสริฐที่ไหนล่ะ? มันประเสริฐที่นามธรรม ประเสริฐที่ความรู้สึกอันนั้น ถ้าความรู้สึกอันนั้นมันมีสติปัญญาของมัน มันแยกแยะของมัน มันเป็นปัญญาของมันขึ้นมา การกระทำอันนั้นคืออริยสัจ

จิตที่มีการกระทำ ทำความสงบของใจเข้ามาเป็นอย่างไร? จิตที่มันยกขึ้นวิปัสสนามันใช้ปัญญาอย่างไร? มรรคญาณที่หยาบละเอียดมันแตกต่างกันอย่างไร? ธรรมจักรที่มันเคลื่อนเข้าไป จักรที่มันหมุนออกมามันเป็นอย่างไร? นี่ไง เทวดา อินทร์ พรหม เขามาฟังเทศน์เขามาฟังเทศน์ตรงนี้ ฟังเทศน์ผู้ที่กระทำขึ้นมาแล้วนี่ทำอย่างใด? นี่ทำอย่างใดจิตมันถึงจะเป็นแบบนั้น แต่เทวดา อินทร์ พรหมเขาได้สถานะของเทวดามา แต่มันก็ทุกข์ยากอยู่อย่างนั้น

นี่ฟังเทศน์อย่างนี้ขึ้นมา เราจะฟังเทศน์ ฟังเทศน์ว่าเรื่องส่วนตัวห้ามแตะนะ ใครอย่ายุ่งเรื่องส่วนตัวของฉันนะ เรื่องส่วนตัว แล้วส่วนตัวทำอย่างไรต่อล่ะ? ส่วนตัวก็จมปลักอยู่นั่นใช่ไหม? แต่ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมานะเราจะเปิดเผย เราจะทำสิ่งนี้ สิ่งที่มันเป็นสิ่งที่สงวนรักษา ความตระหนี่ถี่เหนียวในลาภสักการะ ในแก้ว แหวน เงิน ทอง ความตระหนี่ถี่เหนียวทิฏฐิมานะในหัวใจ ความตระหนี่ความรู้สึกนึกคิดไง มันหลอกตัวเอง มันสร้างขึ้นมากับจิตนะ แล้วมันก็หลอกจิต จิตมันก็เกาะไว้ ของฉันๆ นี่รักษาอยู่นั่นแหละ มันกำลังจะบ้าอยู่

แต่ถ้ามันมีสติปัญญาขึ้นมานะ แม้แต่ร่างกายยังไม่ใช่ของเรา สถานะของมนุษย์ก็ชีวิตหนึ่ง หมดอายุขัยก็ตาย ใครจะยึดสิ่งใดได้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังนะ มันต้องแปรสภาพไปทุกสิ่ง ไม่มีสิ่งใดคงที่ สรรพสิ่งในโลกนี้ต้องแปรสภาพ มันจะเปลี่ยนแปลงของมันไป โลกนี้ไม่มีอะไรคงที่ ไม่มีอะไรคงที่ที่มันจะอยู่อย่างนี้ตลอดไป มันเปลี่ยนแปลงนะ กาลเวลามันกลืนกินทุกอย่างนะ ชีวิตนี้จะสิ้นไปข้างหน้านี้ แล้วเราจะทำสิ่งใด? รอให้ตายไปแล้วค่อยมาปฏิบัติใช่ไหม? รอให้ตายไปแล้วค่อยคิดได้ใช่ไหม? ถ้ายังไม่ตายยังคิดได้นะมันมีโอกาสกระทำ

แม้แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม อนุปุพพิกถาให้ทำทาน ทำทานแล้วจะได้มรรคได้ผล จะได้เกิดเป็นเทวดา เกิดเป็นเทวดาแล้วก็ต้องตายเปล่า ให้ถือเนกขัมมะ ให้ถือพรหมจรรย์ ให้ประพฤติปฏิบัตินะ พระพุทธเจ้าพยายามจะยกแต่ละชั้นแต่ละตอนขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเราจะประเสริฐมันประเสริฐตรงนี้ไง มันไม่ได้ประเสริฐที่เนื้อหนังมังสา ความรู้สึกนึกคิดของคนหรอก มีเหมือนกันทุกคน ใครไม่มีบ้าง? แต่คุณธรรมในหัวใจนี้สิสำคัญกว่า คุณธรรมในหัวใจที่เราประพฤติปฏิบัติกันอยู่นี่ เราทำนี่เราแสวงหาอันนี้กันต่างหากไง เนื้อหนังมังสา ความรู้สึกนึกคิดในใจทุกคนมี กายกับใจทุกคนมีหมดแหละ คิดได้เหมือนกัน ทุกข์ได้เหมือนกัน แต่การกระทำในหัวใจขึ้นมาให้มันเกิดมรรคเกิดผลอันนี้ต่างหากมันถึงจะเป็นความจริง แล้วเกิดมามันจะได้เป็นประโยชน์กับเรา เกิดมาพบพุทธศาสนา เกิดมาไม่เสียชาติเกิด เอวัง