ถ้าลูบคลำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ถาม : ๙๖๖. เรื่อง การทำบุญอย่างใดช่วยภาวนาดีขึ้น
กราบเท้าหลวงพ่อ กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงที่มีคำตอบเกี่ยวกับทำบุญครับ ลูกทำบุญตลอดตามวัดต่างๆ ตามพ่อแม่ครูบาอาจารย์เพราะความศรัทธา แต่ช่วงหลังใจมันอยากภาวนานั่งสมาธิ ไม่อยากไปไหน จึงผ่อนการทำบุญการให้ทานการใส่บาตร อยากถามว่าถูกไหมครับ
(คำถามนะ)
๑. การทำบุญให้ทานต้องทำอย่างใดถึงพอ
๒. เวลาภาวนาแล้วอยากแต่ภาวนาอย่างเดียว แล้วผ่อนการทำบุญ ผิดไหมครับ?
๓. ทำบุญมากๆ ทำให้ภาวนาดี เป็นสมาธิไวไหมครับ? แล้วทำบุญอย่างใดช่วยเสริมให้การภาวนาดีขึ้น จะทำอย่างไรครับ ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าเกิดเป็นเศรษฐี ทำบุญ ทำทานตลอด แต่ไม่พอ พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องมาโปรดเพื่อให้บารมีถึงจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะให้ทานกับคนธรรมดาเป็นล้านๆ คนก็ไม่เท่ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์เดียว
๔. การทำบุญให้ทานเป็นไปเพื่อให้เสียสละ ถึงที่สุดคือปล่อยวางละตัวตนใช่ไหมครับ?
๕. เวลาไปภาวนาที่วัดหลายวัน เห็นเขาตุนอาหารกันไปใส่บาตรได้ไหม? ถือศีล ๘ อดอาหาร แต่ตุนอาหารใส่บาตรผิดไหมครับ? หรือขับรถไปหาซื้อทุกเช้าแทนการตุน หรือเอาข้าวสารอาหารมาหุงเอง เหมาะไหมครับ? หรือตัดไปเลย ไปวัดคือถือศีลงดใส่บาตร ทานข้าววัดไป
๖. บางทีเห็นเขาใส่บาตรมากๆ พิจารณาดูเหลือทิ้งเยอะ บุญเราทำไปแล้วเหมือนทิ้งเหวไม่สนใจ แต่บางทีทำบุญใส่บาตรในงานใหญ่ๆ อาหารก็ทิ้ง เหลือและเสียหายมาก เราควรพิจารณาใช้ปัญญาหรือไม่ต้องไปพิจารณาตรงนั้น เพราะให้แล้วเป็นเรื่องของพระ เพราะบางทีก็มองว่าไปทำลายพระหรือเปล่า? เช่นคนเป็นพันใส่บาตรท่าน ท่านรับแล้วเททุกวัน เราได้บุญ แต่พระลำบาก สงสารพระท่านมาก ทรมานทางกายมาก แต่พระพุทธเจ้าท่านให้บิณฑบาตเสมอ บาตรให้สองบาตรเอง แต่เราเป็นพุทธศาสนิกชนพากันควรพิจารณาอย่างไรดีครับ
๗. ทำบุญกับพระอรหันต์องค์เดียว ได้บุญมากกว่าทำบุญกับพระบ้านทั่วไปเป็นพันครั้ง ถ้าอย่างนั้นปีหนึ่งใส่บาตรพระอรหันต์วันเดียว เท่ากับใส่บาตรพระได้ทุกวันไหมครับ?
ตอบ : เฮ้อ คำถามเนาะ เขาเขียนมาตอนท้ายไง เขาบอกว่า
ถาม : เป็นปัญหาเด็กๆ แต่มันคาใจ มันเลยอยากถาม
ตอบ : เขาก็รู้ว่าเป็นปัญหาเด็กๆ แต่ปัญหาเด็กๆ ทำให้คนงงมาก
ถาม : ๑. การทำบุญให้ทานต้องทำอย่างใดถึงพอ
ตอบ : การทำอย่างใดถึงพอมันอยู่ที่หัวใจ หัวใจของคน เห็นไหม บางคนต้องการประณีต บางคนต้องการหยาบ บางคนไม่อยากทำเลย ถ้าไม่อยากทำเลย ดึงเขามาทำอันนั้นสูงส่งมาก สูงส่งเพราะอะไร? เพราะจิตใจขาวกับดำ ถ้าขาวกับดำนะดึงมาเป็นกลางก็เทาๆ ถ้ามันเป็นดำ เห็นไหม ถ้าเป็นเทาๆ เทาๆ ต้องดีกว่าดำอยู่แล้ว ถ้าจิตใจมันดำมืดบอด มันตระหนี่มันให้ไม่ได้หรอก แต่ถ้าให้โดยสิ่งใดก็แล้วแต่ สิ่งนั้นเป็นเทาๆ เทาๆ มันก็ดีกว่าดำ แต่ถ้าเป็นหัวใจที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์นะ เขาทำของเขา เขาทำจนเรามองแล้วเราก็ว่าทำลงได้อย่างไร? ทำลงได้อย่างไร? เห็นไหม
ถามว่า
ถาม : ทำบุญอย่างไร ทำเท่าไรถึงพอ?
ตอบ : ความพอมันอยู่ที่หัวใจของคนสูงส่ง หรือหัวใจของคน หัวใจของคน เห็นไหม นี่หัวใจของคนมันแตกต่างกัน ดูอย่างนางวิสาขา นางวิสาขานี้ปรารถนาเป็นมหาอุบาสิกา คือผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้านะ การปรารถนามาเป็นผู้อุปัฏฐากก็ต้องสร้างบุญกุศลนะ ไม่อย่างนั้นไม่มีสิทธิ์ เพราะในสมัยพุทธกาลนะ เวลาพระพุทธเจ้า นี่มันมีกษัตริย์ไงให้ลูกชายไปรบ รบกลับมานี่ให้พรอยากได้อะไร? กษัตริย์นั้นนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันในราชวัง
ขอให้ได้อังคาสพระพุทธเจ้าด้วยมือของตน
เท่านั้นเองนะ คือรบชนะกลับมาเขาให้ขออะไรก็ได้ ขออันเดียว ขอเข้าไปถวายอาหารกับพระพุทธเจ้า เท่านั้นแหละ เพราะอะไร? เพราะมีความศรัทธา เห็นไหม นี่ว่าใจของคนไง ถ้าพูดถึงเป็นเรานะ เขาบอกไปรบกลับมาอยากได้อะไร? ก็อยากได้เมืองเมืองหนึ่งเลย จะขอปกครองเมืองเมืองหนึ่ง นี่ความคิดของคน ถ้าหยาบมันก็ดูได้แต่วัตถุ อยากได้ปกครองเมือง อยากได้สถานะ อยากได้สมบัติ แต่ถ้าคนที่ฉลาดขึ้นมานะ คนที่ละเอียดขึ้นมา เขาก็เห็นว่าถ้าหัวใจมันหลุดพ้นได้ หัวใจมันวางได้มันแตกต่างกันไง
ฉะนั้น คำถามว่า
ถาม : ทำบุญให้ทานต้องเท่าไรถึงพอ
ตอบ : ต้องเท่าไรถึงพอ คำว่าต้องเท่าไรมันก็เหมือนทางโลก ทางโลกบอกว่ามรรค ๘ มรรคสามัคคี นี่สมาธิน้ำหนักเท่าไร? มีปริมาณเท่าไร? ปัญญามีปริมาณเท่าไร? สติมีปริมาณเท่าไร? เพราะต้องการให้มรรค ๘ สมดุล มันจะได้มรรคสามัคคี มันต้องใช้เท่าไร? เราก็ไปตั้งค่ากัน วัดกันที่ความรู้สึกเลย มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะว่าจริตของคนไม่เหมือนกัน อย่างเช่นคนกินรสจัด คนกินอาหารรสจัดนะเขาบอกพอดีของเขา ไอ้คนกินรสจืดนะ พอไปกินอาหารพอดีของเขา โอ๋ย กินไม่ได้เลย รสมันเข้มข้นเกินไป นี่ไงก็ย้อนกลับมาตรงนี้ ตรงที่ว่า
ถาม : ทำบุญให้ทาน ต้องทำเท่าไรถึงพอ?
ตอบ : คำว่าพอไง ทีนี้ว่า
ถาม : ทำบุญอย่างไรให้ภาวนาดี
ถ้าภาวนาดี เราเสียสละของเราไปแล้ว เราพอใจของเราแล้วเราก็ภาวนาของเรา เราภาวนาของเราเพราะอะไร? เพราะทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีทานนะ เวลามีศีล เห็นไหม ศีลคือความปกติ มันไม่ขุ่นข้องหมองใจ เวลาภาวนาไปแล้วมันก็ไม่วิตกกังวล ไม่วิตกกังวลนะเวลาภาวนาไปแล้ว พอภาวนาไปแล้วพอเจออุปสรรค เอ๊ะ มันเป็นเพราะอะไร? มันเป็นเพราะอะไร? นี่ขัดข้องไปหมดเลย แต่ถ้าเป็นพระนะ เวลาพระเรานี่นะถ้าอยู่ในป่า ถ้าใครไม่แน่ใจปั๊บปลงอาบัติทันที พอปลงอาบัติไปแล้วนะ ถ้ามันจะอ้างว่าศีลเราไม่บริสุทธิ์ ก็เพิ่งปลงอาบัติมา
ปลงอาบัติปั๊บ สิ่งที่ทำมาแล้วก็ล่วงไปแล้ว คือปลงอาบัติคือเริ่มต้นไง เวลาเป็นอาบัติแล้ว พอปลงอาบัติไม่ใช่ว่าสิ่งที่ปลงอาบัติมาแล้วมันจะไม่มีนะ มันจะแบบว่าสะอาดบริสุทธิ์ สิ่งที่ทำมาแล้วก็จบ สรุปจบตรงนั้น แล้วเริ่มต้นตั้งแต่ปลงอาบัติไป นี่ตอนนี้เราบริสุทธิ์ ตอนนี้เราตั้งต้นดี ถ้าตั้งต้นดีเราก็ทำตรงนี้ของเราไป สิ่งนั้นเราปลงอาบัติ สาธุ สุฏฐุ คือข้าพเจ้ามีความผิดพลาดมาแล้ว ข้าพเจ้าขอสารภาพ แล้วข้าพเจ้ามีการกระทำมาอย่างนั้น แล้วพระก็ถามว่าท่านทำจริงหรือ? นี่เวลาปลงอาบัติ พอปลงอาบัติเสร็จ ข้าพเจ้าจะไม่ทำอย่างนั้นอีก กรรมก็คือกรรม แต่มันก็ไม่ให้เป็นนิวรณ์ไง ไม่ให้เป็นนิวรณ์กางกั้นการภาวนา
นี่ทานก็เหมือนกัน ถ้าระดับเราฝึกหัดใหม่ นี่เวลาภาวนาไปแล้วนะ เอ๊ะ เรายังขาดเรื่องการทำคุณงามความดีไหม? เอ๊ะ เอ๊ะ พอเอ๊ะ ภาวนามันก็ติดขัด พอติดขัด นี้ถามว่า
ถาม : ทำบุญอย่างใดเพื่อให้การภาวนาดี?
ตอบ : ถ้าทำบุญแล้วก็จบ บางคนนะอย่างเช่นเรา ทุกๆ คนเคยทำบุญมาเป็นพื้นฐาน พอเคยทำมาเป็นพื้นฐาน พอมาศึกษาแล้ว อืม พระประเภทนี้ดีกว่าพระประเภทนี้ เสียดาย เสียดายที่ทำไปแล้ว อยากจะไปเอาคืน อยากจะเอาคืนมาทำกับพระที่พอใจ นี่ไง แต่ขณะนั้นก็ไม่รู้ ขณะที่ทำก็ได้ทำไปแล้ว ศรัทธา มีความเชื่อทำเต็มที่เลย ตอนนั้นถ้าพูดตรงๆ ก็ว่าตอนนั้นยังโง่อยู่ ตอนนั้นยังโง่อยู่ก็ทำบุญเต็มที่เลย พอที่ไหนพอใจก็ทำเต็มที่เลย นี่พระพุทธเจ้าบอกว่าควรทำบุญที่ไหน? เขาไปถามพระพุทธเจ้าว่า
ควรทำบุญที่ไหน?
ควรทำบุญที่เธอพอใจ
เราเคยพอใจ เราเคยนี่เราก็ทำ ทำเต็มที่เลย ทีนี้พอเรามาศึกษาธรรมะ อืม ถ้าทำบุญกับพระปฏิบัติมันจะได้มากกว่า เสียดาย เสียดาย เสียดายมากแต่ก็ทำไปแล้ว แต่ถ้าตอนนั้นไม่ได้ทำก็ไม่ได้ศึกษา ถ้ายังไม่ได้ศึกษามันก็ยังโง่อยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าตอนนั้นไม่ทำก็ไม่มีอะไรเลย แต่พอทำแล้วมันก็พอใจ เพราะมันศรัทธา มันพอใจมันก็ทำของมัน พอทำแล้วมาศึกษา เพราะได้ฟังธรรม ฟังธรรมแล้วศึกษา ศึกษาแล้วอะไรมันดีขึ้น พอดีขึ้นมานะเสียดาย เสียดายก็แล้วไปแล้ว พอแล้วไปแล้วเราก็ทำปัจจุบันนี้
ทีนี้พอทำขึ้นไป สิ่งนี้ดีกว่าสิ่งนั้น แต่ว่านี่ระดับของทานใช่ไหม? แล้วพอทำเราถือศีล ถ้าศีลของเราปกติ ศีลของเราดี เราไม่ผิดพลาดสิ่งใด พอไม่ผิดพลาดสิ่งใด เวลาภาวนาขึ้นไปมันก็ไม่มีความกังวล มันก็ทำได้ดีขึ้น พอภาวนานะ อืม เมื่อกี้ก็เพิ่งหลอกลวงเขามา เขาบอกว่าจะไปไหน? จะบอกว่าไปวัดก็ไม่กล้าบอกเขา แล้วตอนนี้มาวัดมาปฏิบัติ เมื่อกี้ยังไม่กล้าบอกเขาเลยว่าไปวัด พอมาวัด มาปฏิบัติขึ้นมา เออ เมื่อกี้ยังเพิ่งโกหกเขามาเมื่อกี้เอง แล้วจะมาภาวนาอะไร?
นี่มันติดขัดไปหมด ถ้ามันติดขัดไปหมด นี่ทำอย่างใดถึงพอ? ทำอย่างใดถึงพอ ถ้าจิตใจเรามั่นคง จิตใจเราเข้มแข็งแล้วนี่มันพอ มันพอว่าเราทำ เราทำเพื่อประโยชน์สังคม นี่เรามาวัดเราก็ทำเพื่อประโยชน์กับสังคม นี่เขาต้องการความสงบสงัด ดูสิเวลาไปที่วัดป่าบ้านตาด ที่นี่เป็นที่ภาวนา ไม่ควรมาเที่ยวเล่น เวลาไม่ควรเข้ามาเที่ยวเล่น ไม่ควรเข้ามาส่งเสียงดังในที่ปฏิบัติ เห็นไหม นี่เขาต้องการตรงนั้น
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไปวัดไปวา ไปปฏิบัติแล้วเราก็ไม่กวนใคร เราก็ไม่ไปสร้างสิ่งใดให้กระทบกระเทือนใคร แล้วเราก็พยายามรักษาใจของเรา นี่มันก็เป็นว่าถ้าพอมันพอตรงไหนล่ะ? นี่ทำอย่างไรถึงพอ ทีนี้คำว่าพอ ทางวิทยาศาสตร์ก็บอกว่าเหมือนกับสอบ สอบเสร็จแล้วก็คือจบ เวลาเรียนอยู่ก็อยากสอบให้จบ จบแล้วก็ แหม เราจบแล้วจะหางานทำ นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่าทานทำอย่างไรถึงพอ ก็เหมือนกับนั่งร้านไง นั่งร้านที่เขาทำตึก สร้างตึกเขาต้องมีนั่งร้านขึ้นไป นี่ก็เอานั่งร้านขึ้นไปแค่ไหนถึงพอ? เราถึงจะได้ตะกายไปอีกชั้นหนึ่งได้
นี่ก็เหมือนกัน ระดับของทานมันพอแล้วก็ระดับของศีล ระดับของศีล ระดับของภาวนา ระดับใดถึงพอ นี่เราคิดกันเป็นวิทยาศาสตร์นะ แต่ความรู้สึกนึกคิดของคนเป็นนามธรรม เวลาจิตใจมันดีนะมันโล่ง มันโถง มันปลอดโปร่งหมดเลย เวลาจิตใจมันคับแคบ มันคับแค้นใจนะ นี่มันพลิกไปพลิกมา มันพอตรงไหนล่ะ? เวลาทำความสงบของใจ ทำแล้วเดี๋ยวก็เสื่อม ถ้าเสื่อมแล้ว ฝึกฝนเข้มแข็งขึ้นมันก็สงบลง นี่ตรงไหนมันพอ? มันพอมันอยู่ที่ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันอยู่ที่เหตุ อยู่ที่เหตุ อยู่ที่การกระทำ ชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าออก
นี่เราจะทำทาน เห็นไหม นี่เราทำบุญกับพระมามหาศาลเลย เราไปเจอข้างหน้า เจอคนทุกข์จนเข็ญใจ เขาลำบากลำบน เราช่วยเหลือเขาก็ได้ เราช่วยเหลือเขาเราก็พอใจ ถ้าเราพอใจ นี่ระดับของทาน ระดับของทานเราทำมันเหตุการณ์เฉพาะหน้า เหตุการณ์ที่เราเห็นเขามีความทุกข์ ความยาก ถ้าเราช่วยเหลือเขามันก็จบ ถ้าเขาจบเราก็ภูมิใจ นี่เวลาเราภาวนาเราก็ง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่าจะต้องอย่างไร? จะต้องอย่างไร? อยู่ที่เราจะเจออย่างใด มันมีเหตุผลอย่างใด นี้ว่า ทำอย่างไรถึงพอ
ข้อ ๒. นี่เป็นปัญหามาก
ถาม : ๒. เวลาภาวนาแล้วมันอยากภาวนาอย่างเดียว แล้วผ่อนการไปวัดทำบุญผิดไหมครับ?
ตอบ : เวลาภาวนาแล้วอยากภาวนา ถ้ามีโอกาสมันอยู่ที่โอกาสไง นี่โอกาสนะมีคนถามมาก เช้าขึ้นมาต้องหุงข้าวใส่บาตร พอหุงข้าวใส่บาตร นั่งทั้งคืนเลยหัวค่ำก็ไม่ดี แต่พอตี ๔ ตี ๕ ต้องหุงข้าวใส่บาตรมันนั่งดี๊ดีเลยแหละ แล้วระหว่างลุกไปหุงข้าวกับนั่งภาวนานี้จะเอาอะไร? เออ ถ้าลุกไปหุงข้าวเราก็ไม่ได้ภาวนาใช่ไหม? แต่ถ้าภาวนาอยู่ ภาวนามาทั้งคืนเลยมันไม่ดี แต่ถึงเวลาจะต้องไปหุงข้าวใส่บาตร ภาวนานี่ แหม ใจมันดีมากเลย ไม่อยากลุกเลย ไม่อยากลุกเลย นี่กิเลสมันหลอกเอา
นี่แล้วถ้ามันดีมันก็ดีมาทั้งคืนสิ ทำไมทั้งคืนมันไม่ดีเลย ทำไมมันมาดีเอาตอนนี้ล่ะ? นี่กิเลสมันหลอกเอาไง แต่ถ้ามันหลอกเอาอย่างไรนะเราก็พยายามของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าถึงเวลาอย่างไรเราก็ทำแบบนั้น เหมือนพระนี่ เวลาทำข้อวัตรปฏิบัติก็ทำข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิบัติเสร็จแล้วเราก็ภาวนาต่อ นี้ถ้าเรามีโอกาส เราจะทำได้เราก็ทำ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องออกไปทำอย่างนั้น ถึงเวลาแล้วภาวนาก็ได้ภาวนา อย่างนี้มันอยู่ที่การบริหารของเรา ถ้าเราบริหารจัดการได้มันก็เป็นไปได้
มันเป็นไปได้ ถ้าเรายังทำไม่ได้นะมันก็ติดขัดไปหมดระหว่างทำบุญกับภาวนา ออกไปทำบุญมันต้องมีกิจกรรมใช่ไหม? แล้วถ้าเรานั่งภาวนาในบ้านมันดีกว่าๆ คำว่าดีกว่าปั๊บมันก็ต้องตัดกังวลอันนี้ได้ ถึงคราวทำก็ทำ ถึงคราวจบก็ต้องจบ นี่ที่ว่าทำทานร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง มีสมาธิร้อยหน พันหน มีสมาธิร้อยหน พันหน ไม่เท่ากับเกิดปัญญาหนหนึ่ง
นี่มันเป็นปัญญาขึ้นมา แต่ แต่พอมันยังไม่เกิดละล้าละลังไปหมดเลย จับพลัดจับผลู ลูบๆ คลำๆ มันลูบๆ คลำๆ เพราะจิตใจเราไม่มั่นคง จิตใจเรายังโลเลอยู่ ถ้าจิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมาทำอย่างไรก็ได้ พิสูจน์กัน พอพิสูจน์กันนะ เวลาทำบุญแล้วก็ทำบุญ จบแล้วก็คือจบ จบหมายถึงว่าเวลาทำบุญแล้วเราก็มาภาวนา เพราะทำบุญกับภาวนามันทำคนละคราวก็ได้ ไม่ต้องให้มันมาแย่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าแย่งอยู่อย่างนี้มันไปไหนไม่รอดหรอก
ถาม : ๓. ทำบุญมากๆ ทำให้ภาวนาดี เป็นสมาธิได้เร็วไหมครับ และทำบุญอย่างใดจะเสริมให้การภาวนาดีขึ้น ทำอย่างไรครับ ในครั้งพุทธกาลพระพุทธเจ้า (นี่พูดถึงเศรษฐีไง แล้วทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า)
ตอบ : อันนี้มันเป็นข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริง เวลาถ้าเราไม่เจอทำอย่างไร? ถ้าเราไม่เจอเราทำอย่างไร? ทำอย่างไรจึงภาวนาดีไง ถ้าการภาวนาดีของเรา ถ้าเราภาวนาของเรานะมันอยู่ที่เวลาเราศรัทธา เรามีความเชื่อมั่นเราทำของเราได้ ถ้ากิเลสมันฟื้นตัวขึ้นมา เวลากิเลสมันนอนหลับ กิเลสมันเผลอทำอะไรดีไปหมดเลย เวลากิเลสมันขึ้นมาแล้วมันต่อรองหมดล่ะ ถ้ามันต่อรองหมดมันก็ล้มลุกคลุกคลาน
ฉะนั้น คำว่าถ้าภาวนาดี การทำบุญแล้วภาวนาดี สมัยพุทธกาลทำเพราะอะไร? เพราะว่าเวลาพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องสร้างบุญญาธิการมามาก การสร้างบารมีนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ การสร้างบุญบารมีเป็นพระพุทธเจ้า กับการสร้างบารมีเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วการสร้างบารมีเพื่อให้การภาวนา เพราะว่าในอภิธรรม นี่ในพระอภิธรรมบอกว่าพระอรหันต์อย่างน้อยต้องทำบุญสืบเนื่องมาเป็นแสนกัป
พระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ต้องทำตามพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย นั่นทำมาเพื่อเป็นการสร้างบารมีเพื่อให้มันเป็นไปได้ แต่ของเราเราทำของเราแล้ว ตรงนี้ถ้าเราเอาตรงนี้มาเป็นมาตรวัด เราก็จะเริ่มสงสัยแล้ว แล้วเราจะนับตรงนี้ ถ้าเรานับชาตินี้เป็นชาติที่ ๑ แล้วแสนกัปนี่มันจะเมื่อไหร่? ถ้าเราทำมาแล้ว นี่ ๙๙,๙๙๙ กัป แต่เราไม่รู้ มันจะแสนกัปชาตินี้ไหมล่ะ? คือเราทำมานี่ ๙๙,๙๙๙ กัป อ้าว เราทำมาเรารู้ไหม? แล้วปัจจุบันนี้เรารู้ไหม? เรารู้อดีตได้อย่างไร? เราจะย้อนไปรู้อดีตได้อย่างไร?
นี้ถ้าเราย้อนรู้อดีตไม่ได้ ตอนนี้มันก็จะเข้าไปสู่พวก ๑๘ มงกุฎแล้ว ๑๘ มงกุฎก็อยากให้เขาดูให้ ก็อยากให้เขาบอกให้ ๑๘ มงกุฎมันก็จะบอกเลยนะ จะแก้กรรมอย่างนั้น จะสร้างบุญอย่างนั้น จะทำอย่างนั้น เพราะอะไร? เพราะเราสงสัยไง พอเราสงสัยเราก็เลยไปหาเขา พอไปหาเขา เพราะตำรามันมีใช่ไหม? ก็อ้างตำรานั้นนะ เสร็จเลย แต่ถ้าเราไม่ไปหาเขาล่ะ? เราไม่ไปหาเขา เราเชื่อมั่นของเรา เราทำของเรา มันจะกี่แสนกัปมันก็อยู่ที่เราทำมาในปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันนี้เราทำอย่างนี้ปั๊บนะเขาจะอ้างสิ่งใดไม่ได้
สิ่งที่ว่าเป็นพระไตรปิฎก ธรรมวินัยมันเป็นประวัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเคยทำอย่างนั้นๆ มา แล้วประวัติพระพุทธเจ้า เห็นไหม ประวัติพระสารีบุตร พระสารีบุตรทำอย่างไร? อัครสาวกทำอย่างไรถึงได้เป็นอัครสาวก มันเป็นประวัติ แต่เราไม่ได้เกิดร่วมสมัย ฉะนั้น ประวัติอันนั้นมันก็เป็นประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราทำของเรา เราทำของเรา ทีนี้ทำบุญให้ทำสมาธิได้เร็ว อยู่ที่บางคนทำสมาธิได้ง่าย บางคนทำสมาธิไม่ได้เราก็ใช้ปัญญาของเราไป
ฉะนั้น อย่างครั้งสมัยพุทธกาลทำบุญกับพระมาก ฉะนั้น ทำบุญกับพระองค์เดียว ทำบุญกับคนธรรมดาเป็นล้านๆ คน ของอย่างนี้มันอยู่ที่เราคิด แต่ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์ ตอนนี้นะทางวิทยาศาสตร์เขาอยากสร้างสาธารณะประโยชน์เพื่อทุกคนได้ใช้ ถ้าไปวัดไปวา วัดเป็นที่สะสม สะสมแต่วัตถุข้าวของไว้ แล้วไม่ได้เผื่อแผ่โลกเลย
ฉะนั้น ถ้าเป็นหัวหน้าที่เขาไม่เห็นประโยชน์ แต่ถ้าเป็นหลวงตาออกหมดนะ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นธรรมนะออกหมด ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือโลก เพราะของอย่างนี้ถ้าจิตใจที่มันสูงส่งแล้วนะ ไอ้วัตถุธาตุ ไอ้วัตถุข้าวของหลวงตาบอก ไอ้หลังลาย ไอ้พวกนี้มันเป็นเรื่อง ถ้าใช้เป็นประโยชน์มันจะเป็นประโยชน์นะ ถ้าคนใช้เป็นประโยชน์ไม่ได้มันก็ไม่เป็นประโยชน์กับคนๆ นั้นเหมือนกัน ฉะนั้น นี่พูดถึงเขามองกันตรงนั้นไง
ถาม : ๔. การทำบุญให้ทานเป็นไปเพื่อให้สละให้ถึงที่สุดคือการปล่อยวางตัวตนใช่ไหมครับ?
ตอบ : ใช่ ทีนี้การปล่อยวางตัวตนนะ แล้วเราย้อนกลับสู่สังคมโลกสิ เวลาเขาทำบุญกันเขาปล่อยวางไหมล่ะ? เขาทำบุญ บางคนยิ่งทำบุญยิ่งต้องบอกเขาเป็นคนทำ เขาต้องยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของๆ เขา นี่พูดถึงเป็นอย่างนั้นนะ จนต้อง.. ไม่อยากพูดนะ อย่างที่ว่าทางทั่วไปต้องสลักชื่อกันไว้ ต้องประกาศโฆษณาชวนกัน นี่ทำบุญอะไรกันอย่างนั้น แต่เขาก็เอาสิ่งนั้นมาเป็นเหตุให้คนอยากได้ทำ ถ้าเอาสิ่งนั้นมาเป็นเหตุให้คนอยากได้ทำ ทำแล้วได้สลักชื่อไว้ ได้อะไรไว้ แต่ถ้ามันทำแบบทิ้งเหวนะมันทำแล้วมันจบไง บุญอย่างนี้ได้มากกว่า
เราเห็นไหมว่าสิ่งที่เป็นโบราณวัตถุ อย่างสมัยพุทธกาลเรารู้ว่าพระอโศกฯ เป็นผู้สร้าง ฉะนั้น ในสมัยพุทธกาล สิ่งที่เป็นถาวรวัตถุเยอะแยะไปหมดเลย เราไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้างนะ แล้วสร้างไว้เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก แล้วใครเป็นคนสร้างล่ะ? เขาสร้างมาเพราะหัวใจของเขา เขาสร้างได้ หัวใจของเขาเป็นประโยชน์มาก เขาเห็นประโยชน์สาธารณะ สาธารณะหมายความว่าสร้างเจดีย์ไว้หลังหนึ่ง นี่เจดีย์ใส่พระบรมสารีริกธาตุไว้ ชาวพุทธที่ไหนเขาอยากกราบอยากไหว้ เขาระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็ได้ไปกราบไปไหว้ เพื่อความเป็นบุญกุศลของเขา บุญกุศลที่ไหน?
การกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มาคิดถึงเพราะใครเป็นคนกราบ หัวใจเป็นคนกราบ ถ้าหัวใจใครคิดถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เขาก็ใกล้ศาสนา แล้วคนๆ นั้นเขาเห็นเหตุไง เห็นเหตุวัตถุที่เราสร้างไว้ให้เขาจูงใจ ให้เขาได้ไปกราบ ให้เขาได้คิดถึงตัวเขาเอง เขาได้บุญของเขา แล้วเราเป็นต้นเหตุเราได้บุญไหม? แล้วทำไมต้องไปติดชื่อ ต้องไปประกาศชื่ออีกล่ะ? นี่พูดถึงว่าทำบุญให้เสียสละ นี่ต้องการให้เป็นแบบนั้น แต่จริงๆ แล้วเขาเสียสละกันไหมล่ะ? เขาไม่เสียสละเพราะว่ากิเลสไงต้องการให้เขารับรู้ ต้องการให้เขารับรู้ถึงความเป็นไปของเรา
แต่ถ้าเป็นความจริงนะเราจะสละตัวเราเอง เห็นไหม เราปิดทองหลังพระ เราทำสิ่งใดไว้ ดูศาลาโรงทานสิ ทุกคนมาก็ได้มานั่ง มาพัก มาผ่อน ทุกคนมาได้ใช้ความร่ม ความเย็น นี่ใครใช้กี่คน เราได้บุญทั้งนั้นแหละ เราได้บุญแล้วทีนี้ได้บุญตรงไหนล่ะ? ได้บุญที่เขาได้ความร่มเย็นเป็นสุข เราก็มีความชื่นใจ ถ้ามีความชื่นใจของเรา ใครจะรู้ ไม่รู้นี่เรื่องของเขา ฉะนั้น เรื่องการภาวนามันก็เข้ามาตรงนี้ไง ถ้ามาตรงนี้ได้มันก็ได้ประโยชน์ ถ้ามันได้ประโยชน์ขึ้นมามันก็เป็นจริงขึ้นมา แต่ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นความจริง นี่พูดถึงปัญหาเด็กๆ นะ
ถาม : ๕. เวลาไปภาวนาที่วัดหลายวัน เห็นเขาตุนอาหารกันไว้ใส่บาตรได้ไหมครับ ถือศีล ๘ งดอาหาร แต่ตุนอาหารใส่บาตรผิดไหมครับ หรือขับรถไปซื้ออาหารทุกเช้าแทนการตุน หรือเอาข้าวสารอาหารมาหุงเองเหมาะไหมครับ หรือตัดไปเลย ไปวัดแล้วถือศีล งดใส่บาตรทานข้าวที่วัด
ตอบ : ถ้าพูดถึงจิตใจเรามั่นคง จิตใจเรามั่นคง จิตใจเราเข้มแข็งทำได้ แล้วทำแล้วดีด้วย ดีด้วยหมายถึงว่ามันไม่เป็นความกังวลไง แต่คนไม่เหมือนกัน เราที่มาที่นี่เราก็พยายามบังคับบอกว่าไม่ต้องนะ แล้วถ้าใครอยากใส่บาตรนะ เดี๋ยวเข้าธุดงค์ ใส่บาตรก็ให้เอาอาหารในครัว เอาอาหารในครัว เพราะในครัวเราก็หุงอาหารตลอด ทีนี้คนมันก็คิดไปร้อยแปด เออ มันก็ไม่ใช่ของๆ เราเนาะ ใส่แล้วจะได้บุญหรือเปล่าเนาะ มันต้องเอามาจากบ้านเอง เราเป็นคนซื้อมาเองมันถึงจะได้บุญเนาะ มันก็คิดกันไป
นี่ไงความคิดของคน แต่ถ้าเราให้ความเสมอภาค ถ้าใครมาแล้วก็อาหารที่ครัว เพราะของครัวเรามีก็เป็นของกลางใช่ไหม? ครัวนี่มาจากไหนล่ะ? ก็โยมนี่แหละเป็นคนเอามาให้ทั้งนั้นแหละ แต่เรามีคนครัวเขาทำแล้วเราก็ใส่บาตรร่วมกัน ถ้าจิตใจมันอยากทำกิจกรรม นี่มันแบบว่าโอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ทีนี้จิตใจของเราเป็นนามธรรม เพราะเราอยากใส่บาตร นี่บุญกุศล เรียกบุญกุศล เรียกธรรมมาให้หัวใจเราแช่มชื่น ถ้าแช่มชื่น เราอยากทำกิจกรรมเราก็เอาอาหารที่ครัวมาใส่บาตร
โอปนยิโก จิตใจมันได้กระทำแล้วมันดูดดื่ม มันปล่อยวาง มันดีใจของมัน โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอได้ทำแล้วหัวใจมันปลอดโปร่ง หัวใจมันดี เรียกร้องอารมณ์ความรู้สึกนี้มาดูหัวใจของเรา เราค่อยทำอย่างนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเห็นเขาตุนอาหารกัน ไอ้อย่างนี้มันเป็นนิสัยของคน นิสัยของคนนะ ผู้ชายนี้ไปอย่างหนึ่ง ผู้ชายไม่ค่อยได้คิดอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นผู้หญิง ผู้หญิงเพราะว่าเขาเคยตัวของเขา เคยตัวคือไปไหนเขาต้องมีอาหาร เขาต้องรับผิดชอบเรื่องครัว เขาก็จะคิดว่าถ้าไปแล้วต้องทำอย่างนั้นนะ ความเคยชิน ความเคยชินถ้าเขาตุนของเขา ถ้าตุนของเขานะเป็นของแห้ง แต่ถ้ามันไปทำให้คนอื่นเดือดร้อน คือว่าไปฝากไปฝัง มันมีปัญหาไปหมดเลย แต่ถ้าเป็นพระไม่ได้ พระกักตุนอาหารไม่ได้เพราะเหตุนี้ไง เก็บไว้ในห้อง เก็บไว้ในกุฏิก็เป็นอาบัติ ภิกษุเอาของไปเก็บไว้ในกุฏิเป็นอาบัติทันทีเลย
ฉะนั้น ในวัดเขาจะมีโกดังเป็นกองกลาง ทุกอย่างเขาจะไปเก็บไว้ที่นั่น ภิกษุจะเอาของไปเก็บไว้ที่กุฏิตัวเองไม่ได้ นี่ภาษาบาลีเรานึกไม่ออก หลวงตาพูดบ่อย การเก็บอาหารไว้ในกุฏิ เพราะการเก็บอาหารไว้ในกุฏิมันจะทำให้พวกหนูเข้าไป ให้อะไรเข้าไป การเอาอาหารไปเก็บกุฏิผิดหมดเลย ภิกษุกักตุนไม่ได้ นี่ไงที่แบบว่าภิกษุอาหารแรมคืน เวลาบิณฑบาตมาแล้วก็ได้แค่ชั่วยาม ช่วงเที่ยงๆ ถ้าไปเป็นสันนิธิ แล้วเอาไปไว้ที่กุฏิ
อะไรนะ พยายามนึกอยู่นี่นึกไม่ออก ภาษาบาลีไง อะไรนะนึกไม่ได้ เอาไปเก็บไว้ในกุฏิซะเอง ทำสุกเอง อะไรเองไม่ได้หมดเลย นี้ถ้าเป็นพระไม่ได้เลย แต่นี้เขาบอกเป็นโยมไง ถ้าเป็นโยมนะเราเห็นถึงการเอาไปเก็บไว้ในกุฏิ เก็บไว้ที่พัก มันมีกลิ่นไหม? พอมันนอนแล้วมันคิดถึงไหม? (หัวเราะ) ไอ้อย่างนี้มันควรไหมล่ะ? แต่ถ้าคนเขาเคยทำนะ นี่พูดถึงว่าโดยทั่วไป ถ้าวัดที่เขาเข้มงวดเขาไม่ค่อยให้ทำ ฉะนั้น ไม่ค่อยให้ทำ ทำไมที่วัดหลวงพ่อยังทำ?
หลวงพ่อไม่ได้ทำ พระก็ไม่ได้ทำ แต่โยมที่เขามาเขาทำของเขาเอง ถ้าภาษาเราพูดก็ว่าเขาแอบทำ เขาทำของเขาเอง ถ้าเขาทำของเขาเองมันอีกเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องหนึ่งเลยนะ แต่โดยทั่วไปแล้ว เพราะการปฏิบัติ ถ้าไม่มีเรื่องอย่างนี้เข้ามายุ่งด้วยมันจะปฏิบัติได้ง่าย ได้ง่ายกว่านี้เยอะเลย ฉะนั้น การกักตุนอาหาร การกักตุนนี้ไม่ได้กักตุนเพราะว่านั่นนะ นี่เขาบอกเขาซื้อมาเอง ขนาดซื้อมาเอง อะไรมาเอง แต่เขาทำของเขา
นี้เวลาเราคิดถึงการภาวนาเราต้องการให้ไม่เป็นภาระใช่ไหม? เขาถึงบอกว่าควรหรือไม่ควร? แต่เขาคิดว่าไม่ควร เพราะไปวัดแล้วควรปล่อยวางหมด ตอนนี้ก็คิดว่าไม่ควรนะ เดี๋ยวพอไปคุยกับพรรคพวก พรรคพวกก็บอกมันจะเป็นประโยชน์อย่างนั้นๆ นะ ไอ้คนที่ว่าไม่ควร หูตาตั้งเลย อยากทำบ้าง พอพรรคพวกบอกมันได้บุญอย่างนั้นนะ เราทำแล้วเป็นประโยชน์อย่างนั้นนะ ไอ้ที่ว่าทำไม่ได้ๆ มันหูตาตั้งเลย เสียดายอยากทำบ้าง
นี่เราจะบอกว่ามันอยู่ที่ความคิด มันอยู่ที่ทิฐิ ทิฐิว่าความเห็น เห็นว่าเป็นอย่างใด แล้วถ้ามันยังสูง ยังต่ำกันอยู่มันถึงไม่เสมอกัน พอมันไม่เสมอกัน การกระทำมันถึงแตกต่างกัน พอมีการแตกต่างกัน มันก็มีการที่ว่าใครถูกใครผิด แต่นี้ใครถูกใครผิดนี่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าพวกเราปฏิบัติเราต้องเอาธรรมวินัยนี้เป็นตัวตั้ง สิ่งที่เป็นกฎที่ว่าห้ามก็ไม่ควรทำ หรือว่าสิ่งใดให้ทำก็ต้องทำ นี่มันต้องเอาตรงนั้นเป็นตัววัด แต่ถ้าเอาอารมณ์ความรู้สึกของเรามาวัดมันวัดไม่ได้ มันวัดไม่ได้หรอก เพราะคนเราจิตใจมันไม่เหมือนกัน จิตใจมันสูง มันต่ำต่างกัน นี่เรื่องของทานนะ
ถาม : ๖. บางทีเห็นเขาใส่บาตรมากๆ พิจารณาดูแล้วมันเหลือทิ้งเยอะ บุญเราได้แล้วจริง แล้วทำไปเหมือนทิ้งเหวไม่สนใจ แต่บางทีใส่บาตรในงานใหญ่ๆ เห็นอาหารก็ทิ้งเหลือแล้วเสียหายมาก เราควรพิจารณาใช้ปัญญา หรือไม่ต้องพิจารณาตรงนั้น เพราะให้เป็นเรื่องของพระ
ตอบ : นี่เรื่องของพระอันหนึ่ง แล้วในธรรมวินัยมันมีไง ที่พระบิณฑบาตได้ ๓ บาตร เขาว่าอย่างนั้นนะ บิณฑบาตได้ ๓ บาตร หมายถึงว่าเราบิณฑบาตทั่วไป มันมีเสขะ อเสขะบุคคล ไม่ให้พระเข้าไปบิณฑบาต อย่างอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาตอนสมัยโบราณเขาเอาเงินไปซ่อนไว้ ฝังใส่ไหแล้วฝังดินไว้ แล้วสมบัติของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาเขาฝังดินไว้แล้วน้ำมันเซาะ สิ่งนั้นหายไปหมดเลย
อนาถบิณฑิกเศรษฐีนี่ถึงเวลายากจน เขากินข้าวกับน้ำผักดอง กินข้าวกับน้ำผักดอง ขนาดจะกินข้าว เห็นพระมาเขาไม่กินข้าวนะ เขาเอาข้าวที่จะกินไปใส่บาตร แล้วคนก็ติเตียนมาก ติเตียนว่าพระไม่รู้จักพอ เขาทุกข์ยากขนาดนั้นก็ยังไปเบียดเบียนเขาอีก พระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติวินัยข้อนี้ขึ้นมาว่า อเสขะบุคคล คือตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป พระไม่ควรเข้าไปบิณฑบาต เว้นไว้แต่เขาจะใส่ของเขาเอง ถ้าบิณฑบาตไป เขามีเท่าไรเขาให้หมดนะเพราะใจเขาเป็นธรรม
ขนาดอนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่มีจะกินนะเขายังเอาอาหารของเขา จะกินข้าว เอาอาหารที่จะกินมาใส่บาตร จนเขาติเตียนกันไปหมดไง พอติเตียนไปหมด ฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติวินัยข้อนี้ขึ้นมา ที่ว่าบิณฑบาตได้แค่ ๓ บาตร ถ้าบ้านไหนเขาร่ำรวย เขาเป็นอเสขะบุคคลเขาจะใส่มาก ให้ภิกษุรับได้แค่ ๓ บาตร ๓ บาตร เต็มได้ ๓ บาตร ห้ามเข้าไปอีกไง คือบิณฑบาตมาแล้ว
พระในสมัยพุทธกาลนะ สมัยพุทธกาล พระไปบิณฑบาตมาใช่ไหม? พระที่อาวุโสกว่าก็ให้พระที่อาวุโสน้อยกว่าใส่บาตรพระผู้ใหญ่ แล้วพระที่อาวุโสน้อยกว่าไม่มีจะฉันไง ก็จะไปบิณฑบาตอีกมันก็ไปติดตรงนี้ไง ทีนี้พระพุทธเจ้าถึงว่าให้บิณฑบาต ๓ บาตร แค่ ๓ บาตร
ทีนี้ย้อนกลับมาครูบาอาจารย์ที่ว่าบิณฑบาตวันหนึ่งเป็นร้อยๆ บาตร อย่างนี้มันผิดวินัยไหม? นี่มันผิดวินัยไหม? บางทีเป็นร้อยบาตร บิณแล้วเอาออก บิณแล้วเอาออก เพราะมันเกิน ๓ บาตร มันเกิน ๓ บาตรมันถึงว่าไปบิณฑบาตที่บ้านเขา แล้วเขาขัดสน เขาอะไรนี่อีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้ามันบิณฑบาตเป็นร้อยๆ บาตร ส่วนใหญ่แล้วมันเป็นที่วัด ไม่มีบ้านไหนที่ใส่บาตรทีหนึ่ง ๓ บาตร ๔ บาตร แล้วเราเท แล้วเรารับที่นั่นไม่มีหรอก แต่ถ้าเป็นที่วัดมันมา คนมันมาก คนมากมันก็เป็นเรื่องน้ำใจของคน
ฉะนั้น ถ้าน้ำใจของคนนะ นี่เอาผู้ถาม ผู้ถามเวลามานะ พระจะรับบาตรที่อื่นแค่ ๓ บาตรแล้วเขาก็กลับ กลับเลย แล้วเราก็ไปถืออาหาร ถือใส่มือแล้วก็ยืนเก้ๆ กังๆ โยมจะคิดอย่างไร? เขาครบ ๓ บาตรแล้ว เขามาไม่ถึงเราสักที เราก็ไม่ได้ใส่บาตรเลย คำว่า ๓ บาตรมันอยู่ที่เจตนาไง เจตนาว่าไม่ให้เบียดเบียนญาติโยม ไม่ให้เอาเกินกว่านั้น เพราะจิตใจเขาสูงส่ง เขาอยากใส่ทั้งนั้นแหละ แต่เราเท่านี้ เพียงแต่ว่าเวลาที่เขามาวัด ส่วนใหญ่แล้วมันจะบิณฑบาตหน้าวัด ที่ว่าบิณแล้วถ่าย บิณแล้วถ่ายส่วนใหญ่จะบิณฑบาตหน้าวัด บิณฑบาตหน้าวัดคือเขามามันก็คนๆ หนึ่งมันก็บาตรหนึ่งแล้ว คนหนึ่งใส่ถุงๆ มา แล้ว
ไอ้กรณีนี้พูดถึงว่าเราจะแก้เรื่อง ๓ บาตรนี้ก่อน ฉะนั้น เรื่อง ๓ บาตรนี้นะ ๓ บาตรนี้เพียงแต่ว่าไม่ให้ไปเอาเจาะจงกับผู้ที่จิตใจเขาขัดสน เขาอะไร แล้วเราจะไปเอามันไม่ควร มันไม่ได้ แต่ถ้าไอ้ที่มานี่เขามากันทีเป็นร้อยเป็นพัน เป็นร้อยเป็นพันเขาใส่ ๓ บาตรจะรับอย่างไร? ๓ บาตรมันรับไม่ได้ ฉะนั้น รับไม่ได้ เขาไม่ใช่เสขะบุคคล หรือเป็นอเสขะบุคคลเราก็ไม่รู้ แต่เขาตั้งใจให้ เขาตั้งใจให้อันนั้นเราใส่ของเราไป เรารับไปเพื่อเป็น เขาเรียกอะไรนะ เขาเรียกว่าปฏิสันถาร รักษาน้ำใจของเขา ถ้าอย่างนี้พูดบอกไหนบอกว่าธรรมวินัยเป็นใหญ่ไง แล้วรักษาน้ำใจของเขามันก็เหยียบย่ำธรรมวินัย นี่พูดถึงอยู่ที่คนจะตัดสินใจนะ ฉะนั้น นี้เรื่องหนึ่ง
๒. เรื่องที่ว่าไปพิจารณาดูแล้วเหลือทิ้งเยอะมาก อาหารเททิ้งเยอะมาก มันเป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้น ถ้ามองในทางธรรมนะ ถ้าอาหารมันเยอะ ดูพระนะ พระที่เป็นพระอรหันต์ ในสมัยพุทธกาลที่ไม่เคยกินข้าวอิ่มเลย ฉันข้าวไม่เคยอิ่มแม้แต่มื้อเดียว นี่เวลาไปอยู่ข้างหลังเขาก็ใส่ข้างหน้าซะหมดแล้ว ไม่ถึงข้างหลัง พระที่ไปด้วยมีน้ำใจมาก อย่างนั้นพรุ่งนี้ไปอยู่ข้างหน้าก็แล้วกัน ให้ได้ฉัน ทีนี้โยมที่เขาใส่เมื่อวานนี้เขาก็ แหม เมื่อวานใส่แล้วก็คิดว่าใส่แต่ข้างหน้า ข้างหลังไม่ถึง ก็เก็บไว้ใส่ข้างหลัง ข้างหน้าไม่ใส่อีก
นี่อันนี้มันเกิดมาจากไหนล่ะ? ก็เกิดมาจากเหลือทิ้ง เหลือขว้างนี่ไง เห็นแต่ของเขา แต่ตัวเองไม่ได้ทำ ถ้าตัวเองทำขึ้นมา ทำแล้ว อาหารนะพูดถึงอาหาร สิ่งที่อาหารก็เป็นวัตถุ น้ำใจมันมีค่ามากกว่านะ น้ำใจของคนที่เสียสละมันมีค่ามากกว่าอาหารนั้น ทีนี้พอมีค่ามากกว่าอาหารนั้น พอเสียสละมาแล้วมันอยู่ที่พระวัดนั้น หรือหัวหน้าที่วัดนั้นเขาจะบริหารจัดการสิ่งนั้นอย่างใด?
อาหารนะคนทุกข์คนยากเยอะแยะ คนในคุก คนในสถานพินิจ คนในสถานที่ต่างๆ ที่เขาอดอยากมีมหาศาลเลย ถ้าคนเป็นนะ อย่างเช่นโรงพยาบาลขาดแคลนทั้งนั้นแหละ ถ้าขาดแคลน ถ้าพระที่เขาเป็นพระ นี่เขาบริหารจัดการตรงนี้ได้ ถ้าบริหารจัดการตรงนี้ได้นะ สิ่งที่ว่าเหลือทิ้งๆ มันไม่มีหรอก ถ้าพระที่จัดการได้ เว้นไว้แต่พระเขาไม่จัดการ ถ้าพระจัดการได้ อ้าว ก็ดูของเรานี่มีเหลือทิ้งไหม? สิ่งใดมา ข้าวแม้แต่เม็ดเดียวไม่เคยทิ้งเลย ไม่เคยทิ้งเลย อยู่ที่การบริหารจัดการ จะมาก จะน้อยอยู่ที่การบริหารจัดการ ถ้าบริหารจัดการได้มันก็จบ ถ้าหัวหน้าเป็นธรรมนะ ถ้าหัวหน้าไม่เป็นธรรมก็อย่างที่เห็น นี่เป็นเรื่องของพระ เป็นภาระของพระ
เรื่องภาระของพระเรื่องหนึ่งนะ มันมีที่นี่เหมือนกัน เขามาสารภาพเอง เขามาจากสุพรรณฯ เขามาครั้งแรกนะ ตอนนั้นมาธุดงค์พอดี เขาบอกเลยเขาบอก เขานึกในใจนะว่าหลวงพ่อนี่โลภมาก บิณฑบาตอู้ฮู หลายสิบบาตรอยู่นะ ในธุดงค์นี่เยอะมากหลายสิบบาตร เขาคิดเลยว่ามันจะฉันหมดได้อย่างไร? แล้วก็เหมือนกับคนบ้า รับบิณฑบาตเป็นร้อยๆ บาตรเหมือนพระบ้าๆ เขาติเตียนในใจนะ เขาติเตียนในใจ
นี่เขาบอกเขาติเตียนในใจ เสร็จแล้ว พอบิณฑบาตเสร็จแล้วเขาก็เดินตามมาที่นี่ไง เดินตามเข้ามาข้างในใช่ไหม? พอเดินตามเข้ามาข้างใน พอบิณฑบาตมาก็ธุดงค์ ธุดงค์เขาก็ใส่บาตรหมด พอใส่บาตรหมดเสร็จแล้วมันก็จัดแค่ในบาตร พอในบาตรก็ฉันแค่อิ่มเดียว แล้วสิ่งที่เหลือในก้นบาตรก็ยังไว้ให้กับสัตว์อีก เขาตามมาดู พอเขาดูเสร็จ รุ่งขึ้นเขามานะ เขาเอาอาหารเขามาเต็มเลย เขามาใส่เหมือนกัน วันแรกเห็นแล้วเขารับไม่ได้ เขาบอกพระอะไรนี่โลภมาก รับบาตรจนไม่รู้จักพอประมาณ มันจะฉันก็ฉันไม่หมดหรอก นี่เขามองด้วยทางโลก แล้วเขาตามมาดูการกระทำ
เขามาสารภาพเอง บอกวันนี้ผมก็มาใส่บาตร แล้วเอามาเต็มเลย เพราะใส่ไปแล้ว ทุกเม็ดอาหารที่ใส่บาตรไปไม่มีเสียทิ้งเลย ไม่มีเสียทิ้งเพราะอะไร? เพราะเราคิดว่าพระองค์หนึ่งใช่ไหม นี่ ๕-๖๐ บาตรจะฉันหมดหรือ? แล้วคนที่มาวัดมันก็เป็นร้อยคน พันคนเหมือนกัน แล้วอาหารเขาก็ใส่บาตรพระนั่นแหละ พระก็ฉันแค่อิ่มนั่นแหละ แต่อาหารของพระก็ให้โยมได้กินกัน พอโยมกินกันเสร็จแล้ว นี่สัตว์มันก็ได้กิน พอเศษอาหารเหลือแล้วก็ไปหมักเป็นปุ๋ย นี่มันใช้ได้หมดเลย ถ้าคนที่เป็นสัมมาทิฏฐิแล้วเขาทำดีมันก็เป็นดีหมด
อันนี้มันต้องย้อนกลับมาใจเราด้วย ย้อนกลับมาใจเราด้วยว่าใจเราคิดอย่างไร? เราเห็นวัตถุมีคุณค่า หรือเห็นน้ำใจมีคุณค่า ถ้าเราเห็นวัตถุมีคุณค่า จิตใจของเราก็ต่ำต้อย ถ้าเราเห็นน้ำใจเรามีคุณค่า วัตถุนั้นมันก็แค่วัตถุที่คนแสวงหามา อยู่ที่บริหารจัดการให้มันดีมันก็ดี ถ้าจัดการไม่ดีมันก็เป็นภาพลบให้กับบุคคลคนนั้นทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
นี้มันอยู่ที่จิตใจของคน เห็นไหม นี่บอกว่าปัญหาเด็กๆ ปัญหาเด็กๆ มากเรื่องนี้ ทุกคนเข้าวัดใหม่ต้องคิดอย่างนี้หมด เพราะเข้าไปแล้วมันจินตนาการว่าพระนี่ต้องเป็นสิ่งที่เราจินตนาการว่าต้องเป็นสิ่งที่เหนือการคาดหมายของเรา แล้วพอไปแล้วพระก็มาจากมนุษย์ พระก็ต้องกิน ต้องขับต้องถ่ายเหมือนกัน พอขับถ่ายเหมือนกัน อืม ทำไมพระต้องกินล่ะ? ทำไมต้องถ่ายเหมือนเรา ก็เหมือนกันเราไปไหว้พระทำไม? อ้าว พระก็มาจากมนุษย์ แต่ถ้าหัวใจมันพัฒนาไปแล้วมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ เราจะรู้ของเรา
ถาม : ๗. ทำบุญกับพระอรหันต์องค์เดียว ได้บุญมากกว่าทำกับพระบ้านทั่วไปเป็นพันครั้ง ถ้าอย่างนั้น ปีหนึ่งใส่บาตรพระอรหันต์วันเดียวเท่านั้น ก็เหมือนใส่บาตรพระบ้านทุกวันไหมครับ
ตอบ : ถ้าคิดอย่างนี้โดยทฤษฎีมันได้ คิดอย่างนี้โดยทฤษฎี เพราะทำบุญกับพระอรหันต์มันก็ได้บุญมากมายมหาศาล แล้วทีนี้ในปัจจุบันนี้มันมีหันไปไหนล่ะ? พระอรหันต์มันมีอยู่โดยดั้งเดิม คือว่าจิตมันเป็นพระอรหันต์อยู่แล้วไง แค่แหวกเข้าไปเจอพระอรหันต์ก็เป็นพระอรหันต์ อย่างนั้นไม่เป็นพระอรหันต์ ถ้าพระอรหันต์อย่างนั้นมันเป็นพระอรหันต์หรือเปล่า ถ้าจิตมันมีอยู่โดยดั้งเดิม เป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว เราจะบอกว่าที่ไหนมีพระอรหันต์ แล้วพระอรหันต์เป็นอย่างไร? แล้วเรามั่นใจอย่างไรที่เป็นพระอรหันต์ล่ะ?
ฉะนั้น พอเราไปทำอย่างนั้นปั๊บมันไม่ได้สมประโยชน์ของตน ก็บอกว่าทำบุญแล้วไม่ได้บุญ ทำบุญก็ไม่ได้บุญ แต่ถ้าบุญกับพระอรหันต์ ดูสิอย่างเช่นในสังคมกรรมฐานเรา เห็นไหม หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงตานี่พระอรหันต์ เช่นหลวงปู่ลีพวกเราเชื่อมั่นกันว่าท่านเป็นพระอรหันต์ เราก็ทำบุญกับท่าน ทำบุญกับท่านแล้ว เราอธิษฐานแล้ว ส่วนใหญ่แล้วประสบความสำเร็จ ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ที่ทำบุญโดยหัวใจที่เป็นธรรมนะเขาไม่หวังเรื่องธาตุ วัตถุธาตุ เพราะวัตถุธาตุมันเป็นเรื่องของเวร ของกรรม
แต่ถ้าเขาหวังว่าให้จิตใจของเรามันมีเจตนาที่บริสุทธิ์ มันมีปัญญา มันมีสิ่งที่ว่ามีอำนาจวาสนาบารมีที่จะแทงทะลุ ถ้ามีศรัทธา มีความเชื่อให้มันมั่นคง สิ่งนี้แหละสำคัญ ถ้ามันสำคัญอย่างนี้ พอมันปฏิบัติเข้าไปเราก็จะเข้าไปสู่จุดนั้น ฉะนั้น บอกว่าพระอรหันต์มีอยู่โดยดั้งเดิม มีอยู่โดยดั้งเดิม ทุกคนก็มีจิตอยู่เหมือนกัน ทุกคนมีจิต ทุกคนก็มีความรู้สึกนึกคิด แล้วความรู้สึกนึกคิดทุกคนก็งงหมดแหละ
ฉะนั้น ทำบุญกับพระอรหันต์องค์เดียวได้บุญมาก ใช่ ฉะนั้น ทำบุญกับพระบ้านทั่วไปมันไม่เท่ากัน มันไม่เท่ากันนี้โดยคุณค่าของการพิสูจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเราทำของเราเพื่อความมั่นคงของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา อันนั้นอีกเรื่องหนึ่งนะ เพราะเราสร้างของเราขึ้นมา ฉะนั้น สิ่งนี้มันอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะว่าไปถามพระพุทธเจ้าว่า
ทำบุญสิ่งใดได้มากที่สุด?
ทำบุญกับพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน แล้วถ้าไม่มี ไม่มีให้ทำสังฆทาน ให้ทำสังฆทานขึ้นมาเพื่อจะรากเหง้าอันนี้ ให้รากเหง้าอันนี้มันเป็นมา
ถาม : ต้องกราบขออภัยหลวงพ่อที่คำถามนี้เป็นปัญหาเยอะและปัญหาเด็กๆ แต่มันคาใจ คิดเองว่าอันนั้นไม่ใช่ก็กลัวผิด แล้วทำผิดๆ ด้วยความศรัทธาและความเคารพ ขอหลวงพ่อเมตตาด้วย
ตอบ : เพราะมันคาใจ คาใจเพราะว่าจิตใจเรายังลูบๆ คลำๆ ถ้าจิตใจเรายังลูบๆ คลำๆ อยู่อย่างนี้มันก็จะเป็นแบบนี้ นี่พูดถึงปัญหาของเขานะ ถ้าลูบคลำมันก็สงสัยไปหมด นี่สีลัพพตปรามาส ถ้าไม่สีลัพพตปรามาสมันก็มั่นคง
ฉะนั้น ของอย่างนี้มันจะหาที่ไหน? ส่วนใหญ่แล้วมันก็สีลัพพตปรามาส พวกเรานี่พวกลังเล เพราะความลังเล นี่วุฒิภาวะของใจ ถ้าใจมันพัฒนาขึ้นมามันก็หายจากความลังเล มันมีความมั่นคงขึ้น ถ้ามันยิ่งมั่นใจนะ ยิ่งปฏิบัติไปแล้ว พอมั่นใจทำอะไรไม่กลัวผิดเลย ทำไปเลยนะ ทำโดยเต็มไม้เต็มมือเลย พอเต็มไม้เต็มมือ เห็นไหม มันเป็นเอกภาพ จิตมันเป็นเอกภาพขึ้นมา
ดูสิแสงเลเซอร์ แสงเลเซอร์ถ้ามันคุมของมัน มันมีกำลังของมัน มันชำแรกไปทุกอย่าง จิตของเราถ้ามันมีความมั่นคงของมัน เห็นไหม ทำทาน ศีล ภาวนา เพราะมันมีสมาธิขึ้นมา มั่นคงขึ้นมา พอมันทะลุทะลวงขึ้นไป ทะลุทะลวงอะไร? ทะลุทะลวงอวิชชา ทะลุทะลวงขึ้นไป ถ้ามันมั่นคงขึ้นมา ถ้ามันไม่มั่นคงก็ลูบๆ คลำๆ แบบนี้ ทีนี้การลูบๆ คลำๆ แบบนี้แล้ว นี่เราใช้ปัญญาของเราไล่ต้อนกลับมาอย่าให้มันสงสัย แล้ววาง สงสัยแล้วก็วาง นี่พิสูจน์เลย ที่ไหนดีเราก็ว่าที่นั่นดี ที่ไหนไม่ดีก็ว่าที่นั่นไม่ดี ไม่ถูกต้อง
เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเขาทิ้งๆ ขว้างๆ นี่เขาไม่รักษา ไม่ดูแลของเขา ทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น? ถ้าเราสังเกต เราดูแล เราจะรู้เลยเขามีเหตุผลของเขาอย่างใด เหตุผลของเขา เขายังไม่มีเวลา เขายังไม่ถึงเวลากระทำ เขาต้องให้พ้นวาระนั้นก่อน ให้ผู้มีสิทธิ์ ให้ผู้ใช้สอยได้ใช้สอยก่อน หมดเวลาแล้วเขาจะค่อยเก็บ ค่อยกวาด ถ้าเราสังเกตเราจะเห็น แต่ถ้าเขาไม่ทำ เขาไม่ทำ เขาทิ้งๆ ขว้างๆ จนเป็นของเสีย ของเน่า ของบูด อันนั้นเป็นความบกพร่องของเขา
ถ้าความบกพร่องของเขาคือเขาผิด ถ้าเขาผิด เขาทำผิดเพราะอะไร? เขามีกฎกติกาอยู่แล้ว ธรรมและวินัยบัญญัติไว้แล้วให้คนทำอย่างนั้นๆ ถ้าเขาไม่ทำแสดงว่าเขาฝืน เขาฝ่าฝืนธรรมและวินัย แต่ถ้าเขารอเวลาให้คนได้ใช้ ได้สอย จนถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่เหลือแล้วเขาเก็บของเขา เขาทำของเขา เขาทำตามธรรมวินัย อันนั้นเขาทำถูกต้องของเขา แต่ แต่เราไปเหมารวมก่อนเพราะเรายังไม่เห็นเขาทำถูกต้อง ไม่เห็นเขาทำคุณงามความดี
เราไปเหมารวมเองว่าสิ่งนั้นถูก สิ่งนั้นผิด เราไปตัดสินเขาเองด้วยความไม่รู้ของเรา อย่างนี้เราเป็นคนผิด แต่ถ้าเราใช้สติ ใช้ปัญญาแยกแยะพิสูจน์แล้ว สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดีเราจะรู้ของเรา แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เห็นไหม ถ้าเป็นประโยชน์กับเรา นี่ถ้ามีปัญญาพิสูจน์อย่างนี้แล้วมันจะมาแก้ไขไอ้ความไม่แน่ใจของเรา ไอ้ความลูบๆ คลำๆ ของเรา
ธรรมและวินัยมันถูกต้องอยู่แล้ว มันอยู่ที่คนกระทำ คนเขาไม่ทำของเขาเอง คนที่เขาทำ คนที่เขามีหลักมีเกณฑ์ของเขา เขาทำของเขาตามธรรมและวินัย มันถูกต้องดีงามทั้งนั้นแหละ แล้วถ้าจิตใจเป็นธรรม เขาต้องทำถูกต้องเลย ถูก ทำความดีเลย แต่เราต่างหาก เราต่างหาก เราศึกษามาด้วยความลูบๆ คลำๆ แล้วจิตใจเราก็ลูบๆ คลำๆ ความไม่เข้าใจของเราก็ลูบๆ คลำๆ ความลูบๆ คลำๆ ก็ทำให้ความลังเลสงสัยอย่างนี้ไง ทำให้ชาวพุทธหาทางเดินกันไม่ได้
เพราะจิตใจเราไม่มั่นคงของเรา จิตใจเราไม่มีหลักเอง เราก็ลูบๆ คลำๆ ของเราไปเอง ถ้าจิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์ มันก็จะเป็นประโยชน์ไง เพราะอะไร? เพราะว่ามันลูบๆ คลำๆ มันถึงเป็นปัญหา แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านไม่ลูบคลำนะ ท่านฟันธงเลย มีมากเราอยู่บ้านตาด บอกว่าพระที่บ้านตาดโลภมาก แจกอาหารทีหนึ่ง ๒ ถาด ๓ ถาด เราบอกเอาอย่างนี้ไหม? แจกของทุกคนหมดเลย ของโยมไม่ต้องเอาเพราะมันไปไว้นี่ถาด มันเสียของ ไม่ยอม ไม่ยอม
เวลาทุกคนก็อยากได้บุญหมดเลย ถ้าอยากได้บุญขึ้นมาแล้ว เพราะคนมันเยอะใช่ไหม? พระเขาก็ทำสิทธิ์ เขาก็ใส่ถาดๆ ไว้ให้ แล้วในถาดนั้นใครจะหยิบใส่บาตร หรือใครต้องการฉันก็ฉัน ไม่ต้องการฉัน ถาดนั้นก็เอามาให้โยมนั่นแหละได้กินกัน แต่เพื่อต้องการประหยัดเวลา ต้องกระชับ ต้องให้พระนี่ได้เวลาปฏิบัติ โยมมาทำบุญก็ได้บุญอยู่แล้ว จัดการให้มันเสร็จไป แล้วพอพระฉันแล้วก็ไปภาวนาต่อ พระก็ได้ประโยชน์ของพระ ได้ดำรงชีวิต แล้วก็มาปฏิบัติไป โยมก็ได้ประโยชน์ของโยม โยมมาทำบุญแล้วก็จบกันไป
แต่นี้ตัวเองเป็นโยม เป็นโยมแล้วก็ต้องเอาแต่ฉันคิด ฉันพอใจ เอาใส่บาตรด้วยความประณีต แล้วก็ฉันกันด้วยขุนนาง ฉันเสร็จแล้วก็นั่งพะเน้าพะนอกัน สอพลอ ออเซาะ เสร็จแล้วก็พากันหัวทิ่มบ่อตายหมดไง แล้วว่าอย่างนี้ถูกต้อง ถ้ามันถูกจริตของตัวนี่ถูกต้อง แต่ถ้ามันทำความเป็นจริงนะผิด ไม่ออเซาะฉันเลยนะ มาก็ไกลนะ อุตส่าห์หามาด้วย ถ้าออเซาะซะหน่อยพระองค์นี้ดี๊ดี ถ้าไม่ออเซาะนะพระองค์นี้ผิด
นี่เพราะความลูบๆ คลำๆ ของเรามันเลยทำให้เสียหายไปหมด ถ้าไม่ลูบๆ คลำๆ มันจะถูกต้องนะ เอวัง