ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กิเลสฉลาดกว่า

๒๔ มิ.ย. ๒๕๕๕

 

กิเลสฉลาดกว่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๙๖๗. เนาะ

ถาม : ๙๖๗. เรื่อง “รู้ตัวผู้ก่อปัญหาให้ใจ เป็นเหมือนแฝดสยามอิน-จัน” (โอ้โฮ ชื่อยาวมาก)

กราบนมัสการหลวงพ่อ หลังจากได้อุบายธรรมมาเกือบปีแล้ว ผมก็นำมาปฏิบัติตามกำลังความสามารถอยู่ตลอด แต่สิ่งที่จับได้ตอนนี้คือใจจะสงบนิ่งเป็นพักๆ ภายใน เห็นอาการเกิดดับๆ ได้ต่อเนื่องมากขึ้น เช่นบางทีมันคิดปรุงขึ้นมาเองจากสัญญาภายใน ผมก็ตั้งสติตัดกระแสไม่ให้มันปรุงอะไรต่อ และเมื่อมีสัมผัสกระทบจากภายนอก พอมันจะโงหัวจะปรุงกระแส ผมก็ตัดอีก เหมือนมีอะไรงอกออกมาผมก็ตัดทิ้งเลย แล้วปัญหาคือมันงอกเก่งมากครับ ตัดจนเหนื่อย เดี๋ยวนี้มันโผล่ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างๆ บางทีตัดไม่ทันครับ เหนื่อยก็หยุดวางมีดไปพักเข้าสมาธิ สวดมนต์ หรือเร่งบริกรรมกำหนดให้สงบ พอมีแรงบ้างก็เอากันอีก ผมอยากขอโอกาสถามว่า ผมทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะถูกไหม?

ตอนนี้รู้เพียงว่าตัวก่อปัญหา ก่อเรื่องจริงๆ อยู่ที่กลางทรวงอกนี่เอง ปัญหาไม่ใช่เกิดจากคนอื่น หรือดินฟ้าอากาศข้างนอกเลย แต่มันแปลกตรงที่ไอ้ตัวก่อปัญหามันไม่มีตัวตนสัณฐาน เหมือนมันปรุงมาจากความว่างตรงกลางโพรงหัวอก มันเหมือนแฝดสยามอิน-จัน แต่ไม่ใช่แค่ตัวติดกันอย่างเดียว มันดันใช้หัวใจดวงเดียวกันเสียด้วย คือตัวรู้กับตัวก่อปัญหามันเป็นอันเดียวกัน ผมคิดว่าตอนนี้จะปฏิบัติอย่างนี้ไปซ้ำๆ ก่อน เหมือนกับต้องอาบน้ำล้างตัวทุกวัน จะถูก-ผิดอย่างใด เมื่อมีอุบายเพื่อความก้าวหน้าอย่างไร ขออาราธนาหลวงพ่อช่วยโปรดด้วยครับ

ตอบ : นี่ภาวนามาปีหนึ่ง เวลามันเกิด เวลาความคิดมันเกิดก็ตัด ความคิดมันเกิดก็ตัด แต่คำว่าความคิดมันเกิดก็ตัดๆ ถ้ามันตัดนะมันก็เหมือนกับว่าเกิดดับๆ ถ้าเกิดดับนะมันก็เหมือนกับอุตสาหกรรม เหมือนเครื่องจักร ถ้าเครื่องจักรนะมันตัด แต่ก่อนที่มันจะตัด เครื่องจักรนี่ใครเป็นคิดมันขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดเราขึ้นมา เราจะตัดๆ ก่อนที่จะตัด เราไม่รู้หรอกว่าเราจะตัดตรงไหน? ทำตรงไหน? แก้ไขตรงไหน? แต่คนถ้ามีปัญญานะ มันไล่ความคิดมา พอไล่ความคิดมา มันเห็นความคิดเกิดดับ เห็นไหม มันจะตัดที่ไหน? ตัดที่ความเกิดดับของความคิด ถ้ามันมีความคิดเกิดดับ ถ้ามันตัดเพราะมันต้องมีปัญญานำ เพราะมันตัดจนชำนาญมันถึงจะตัดได้ๆ ถ้ามันไม่มีปัญญานะความคิดก็เป็นเรา ความคิดเป็นเรา ก็ความคิดจะมาตัดเรา เราจะไปตัด คือว่าเราจะใช้ปัญญาแยกแยะให้มันปล่อยวางขันธ์ ๕

ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดคือขันธ์ ๕ แต่ขันธ์ ๕ เราก็บอก หลวงตาบอกว่าขันธ์ ๕ นี่เหมือนภูเขา ๕ กอง กองหนึ่งคือกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ แต่ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นนามธรรม เราว่ามันกองอยู่ไหน? มันกองอยู่ไหน? แต่ถ้าคนมีสติปัญญานะ นี่มันรู้เท่าทันปั๊บ คำว่าตัดมันก็ตัดความรู้สึกนึกคิด พอความรู้สึกนึกคิดมันก็ปล่อย มันก็วางชั่วคราว มันต้องมีปัญญาไง

ฉะนั้น มันมีปัญญาเกิดดับๆ มันต้องจับ บางทีเราตัดๆ เราต้องใช้ปัญญาบ้าง ใช้ปัญญาว่าความคิดมันเกิดมาจากไหน? ความคิดมันเกิดมาจากไหน? แล้วความคิดเกิดมาแล้วมันให้ผลเป็นอย่างไร? นี่มันต้องแยกแยะไง คือถ้าก่อนจะตัด ถ้าไม่มีปัญญาเลยเราก็ตัดไม่ได้หรอก คำว่าตัดไม่ได้ ก็เหมือนกับเราคิดว่าในทางที่เขากำหนดนามรูป กำหนดนามรูปเขาใช้ปัญญาอะไร? พอรู้เท่าๆ มันก็ดับ มันก็ดับ มันไม่มีปัญญาไง ไม่มีปัญญาการแยกแยะ แต่ถ้ามีปัญญา ปัญญามันเกิดอย่างไร? ปัญญามันเกิดอย่างไร? ปัญญาอย่างนี้ปัญญาอะไร?

มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ กิเลสมันฉลาดมากนะ มันฉลาดมาก มันอ้างอิงเลยนะ อ้างอิงว่าสิ่งนี้เป็นธรรม เวลาคิดว่าคิดเป็นธรรม ตรึกในธรรมว่าเป็นธรรม ตรึกในธรรมนั่นแหละเพียงแต่เราตรึกในธรรม ตรึกในธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสอนพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นพระโสดาบัน แล้วเวลามาขอบวชกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั่งภาวนาสัปหงกโงกง่วงไง พอสัปหงกโงกง่วง นี่ให้ตรึกในธรรม ให้ตรึกในธรรม ให้แหงนหน้าดูดาว ให้เอาน้ำลูบหน้า

ตรึกในธรรมๆ คำว่าตรึกในธรรม พอเราตรึกในธรรม เห็นไหม ตรึกในธรรมเพื่ออะไรล่ะ? มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ มันตรึกในธรรมให้จิตใจเราอยู่ในธรรม เหมือนกำหนดพุทโธ พุทโธว่าตรึกในธรรม เราบังคับให้เราพุทโธ พุทโธ พุทโธมันไม่คิดนอกเรื่อง คิดเรื่องอื่น ให้มาคิดเรื่องพุทโธซะ ถ้าคิดพุทโธ พุทโธมันตัดๆ มันตัดเพราะมันแค่พุทกับโธ พุทกับโธมันไปไหนไม่ได้ พอไปไหนไม่ได้ พลังงานมันอยู่คงที่ปั๊บ เดี๋ยวมันมีสติปัญญาขึ้นมา พลังงานมันรวมตัวกัน ความสงบร่มเย็นจะเกิดขึ้นกับใจ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าบอกว่านี่เรากำหนดนามรูป กำหนดใช้ปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันเป็นตรึกในธรรม ถ้ามันตรึกในธรรมมันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธินะเพราะมันตัด พอมันเกิดเราก็ตัด ตัดแล้วมันเหลืออะไร? นี่มันเหลืออะไร? ก็เหลืออิน-จันนี่ไง เหลืออิน-จันเพราะมันเป็นเรา มันเป็นทั้งความคิดด้วย มันเป็นทั้งผู้รู้ด้วย ถ้ามันเป็นอิน-จันมันให้ความแผดเผาเราด้วย แต่ถ้าเรามีปัญญาเราต้องจับมาพิจารณา ถ้าเราจับพิจารณานะ ก่อนที่เราจะตัดได้ คนจะตัดได้ เราเปรียบเทียบเหมือนเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ นายช่างเขาเป็นผู้ฉลาดนะ เขาถึงประกอบเป็นเครื่องยนต์กลไกขึ้นมา นายช่างผู้ฉลาด เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เราเป็นผู้ฉลาดในธรรม ผู้ฉลาดในการเกิด ผู้ฉลาดในความสุข ความทุกข์ในหัวใจของเรา เราเห็นว่าความสุข ความทุกข์ ความเข้าใจ ความสุขคือความพอใจ ความทุกข์คือความอัดอั้นตันใจ ถ้าเรารู้ เราเห็นขึ้นมาปัญญามันทัน นี่มันเหมือนนายช่างที่เขาสามารถประกอบเครื่องยนต์ขึ้นมาได้ ทีนี้พอเครื่องยนต์ขึ้นมา นี่ธรรมชาติของจิต ธรรมชาติการเกิดดับ ธรรมชาติที่มัน ธรรมชาติของมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ความคิดมันมีอยู่แล้วไง นี่ความคิดมันมีอยู่แล้ว ถ้าธรรมชาติมันมีอย่างนั้น พอมันปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วมันเป็นอย่างไรต่อไป? นี่ไงพอปล่อยแล้วมันถึงเป็นสมถะ ถ้าปล่อยแล้วมันถึงเป็นปัญญาอบรมสมาธิ

เครื่องยนต์ เห็นไหม ดับเครื่อง เครื่องยนต์มันจะติดเครื่อง มันจะประกอบเป็นอุตสาหกรรมไหมพอเราดับเครื่อง ถ้าเราติดเครื่องขึ้นมามันถึงมีผลงานของมันขึ้นมา มีพลังงานขึ้นมา ถ้าเป็นเครื่องยนต์ อุตสาหกรรมมันมีการผลิตมันก็มีผลตอบแทนมา จิต ถ้าเกิดดับๆ ตัดๆ นี่ตัดอะไร? ถ้าตัดแล้วนะ ตัดแล้วเป็นสมถะใช่ไหม? พอตัดแล้วพอมันคิดอีก มันคิดเราใช้ปัญญาอีก สังเกตตรงนี้ สังเกตถ้าจิตมันออกใช้ปัญญา ถ้าจิตมันจับได้ ถ้ามันจับได้มันจับกิเลสได้

เวลาการภาวนานะมันต้องขุดคุ้ยหากิเลส ถ้ามันเจอตัวกิเลสมันก็เป็นวิปัสสนา เป็นการแก้ไข เป็นการที่เราจะชำระล้างมัน แต่ถ้าเริ่มต้นปัญญาอบรมสมาธิไม่เห็นกิเลสหรอก ไม่เห็นกิเลส เพราะตัวกิเลสคือตัวเรา ตัวกิเลสคือธาตุรู้ของเราเอง ถ้าธาตุรู้คือความรู้สึกนึกคิดเราเป็นกิเลสหมด ถ้าเป็นกิเลสแล้วทำอย่างไรต่อไป? ถ้าเป็นกิเลสแล้วเราถึงพยายามทำความสงบของใจ ถ้าจิตใจมันสงบเข้ามากิเลสมันสงบตัวลง พอมันออกจับได้ ที่ว่าขนพองสยองเกล้า นี่มันเห็นตัวกิเลส มันเห็นตัวมันรู้ มันรู้ว่านี่วิปัสสนาจะเกิดตรงไหน?

วิปัสสนาคือการชำระล้าง วิปัสสนาคือว่าจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แต่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรมทุกคนก็มีอยู่แล้ว ทุกคนก็จับต้องได้ นี่มันเป็นโลก มันเป็นโลก มันเป็นที่ว่าโลกมันมีอยู่โดยดั้งเดิมใช่ไหม? ทุกคนสามารถจับต้องได้ใช่ไหม? ทุกคนมีอยู่แล้ว ทุกคนพิจารณาได้ใช่ไหม? พิจารณาได้อย่างนี้นี่กำปั้นทุบดิน กำปั้นทุบดิน นี่พอพิจารณาแล้วมันก็ปล่อยวางเข้ามา นั่นคือการตัด ถ้าตัดขึ้นมาแล้วมันก็เกิดขึ้น ตัดขึ้นมาๆ จนกว่ามันสงบมาได้ ถ้าสงบมาได้มันก็เป็นประโยชน์นะ

นี่พูดถึงเขาถามว่า เขารายงานผลการปฏิบัตินะ

ถาม : เห็นอารมณ์เกิดดับๆ โดยต่อเนื่องมากๆ เลยครับ

ตอบ : ถ้ามันต่อเนื่อง ทำต่อเนื่อง นี่มันเป็นประโยชน์ ประโยชน์คือว่าเป็นผู้รู้ผู้เห็นซะเอง ถ้าผู้รู้ผู้เห็นเอง มันรู้เอง เรารู้เองแล้วมันเกิดอย่างไร? มันดับอย่างไร? ถ้ามันรู้มันเป็นผลงานของเราไง มันไม่ใช่เขาเล่าให้ฟัง ไม่ใช่ผลงานที่เราศึกษามา แต่ถ้าเราปฏิบัติมามันจะเป็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นแบบนี้นะ ฉะนั้น เวลาปัญหา

ถาม : แล้วปัญหาคือมันงอกเก่งมากครับ ตัดจนเหนื่อย เดี๋ยวก็โผล่ข้างหน้า โผล่ข้างหลัง

ตอบ : มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่คนไม่เคยไปเห็นมัน เวลาความคิดมันเกิดขึ้น นี่ความคิด เห็นไหม จิตนี้เร็วกว่าแสง ความรู้สึกนึกคิดของคนมันไปรอบโลกเลย คิดรอบโลกมันไปรอบโลก ทีนี้พอมันเร็วมาก คำว่าเร็วมากๆ ใครไปเห็นความคิดตัวเอง ว่าความคิดตัวเองเร็วมาก แล้วจะทำอย่างไรได้ สติยับยั้งได้หมด สตินะ ถ้ามีสติยับยั้งได้หมด สติมันทันไง ทันความคิด พอสติทันความคิด ความคิดมันก็ดับ

นี่สิ่งที่ว่ามันงอกเก่งมาก งอกเก่งมาก ของมันมีอยู่ดั้งเดิมอย่างนี้ ธรรมชาติของจิตมันเป็นแบบนี้ ถ้าธรรมชาติของจิตเป็นอย่างนี้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงเป็นผู้ที่ฉลาด ถึงบอกว่าให้เราตั้งใจกำหนดพุทธานุสติ กำหนดเอาความรู้สึกนึกคิดที่มันคิดที่มันงอกเก่งมาก ที่มันเป็นได้มากมาอยู่ที่พุทโธ นี้โดยกรรมฐาน ๔๐ ห้อง พุทธานุสติ เห็นไหม แล้วถ้าเกิดเป็นปัญญาอบรมสมาธิล่ะ?

การพิจารณาธรรม การพิจารณาธรรม เห็นไหม นี่ที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิคือธรรมารมณ์ คือธรรมะกับอารมณ์ของเรา แล้วเราใช้ปัญญาไล่เข้าไปๆ คือปัญญาอบรมสมาธิ ทีนี้อบรมสมาธิ ถ้ามันมีปัญญาขึ้นมา มันทันขึ้นมา นี่มันถึงรู้ถึงเห็น มันถึงเห็นว่ามันงอก มันงอกเก่งมาก มันคิดเก่งมาก มันเร็วมาก แสดงว่าเรารู้เท่าทันตัวเรา ถ้าเราไม่รู้เท่าทันตัวเรา สมาธิอยู่ที่ไหน? ปฏิบัติกันนี่ปฏิบัติกันที่ไหน? สรรพสิ่งเราทำกันที่ไหน? เราทำเราก็เปรียบเทียบตำรา

โดยธรรมชาติทุกคนต้องเปรียบทฤษฎี เปรียบเทียบตำราว่าเราทำถูกไหม? เราก็เอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องเปรียบเทียบ แต่ถ้าพอมันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม นี่มันเป็นปัจจัตตัง มันรู้เองเห็นเอง มันเป็นขึ้นมา ถ้ามันงอกเก่งมาก อย่างที่ว่าถ้ามันตัดมันก็ตัด ถ้าตัดไม่ได้ก็จับนั่นแหละ จับตัวนั้นแหละ เราต้องหาเหตุหาผล ใช้ปัญญากับเขา ถ้าไม่หาเหตุหาผล ใช้ปัญญา แบบว่ามันจะคุ้นชินไง สิ่งใดถ้าทำคุ้นชินกับสิ่งนั้นแล้ว คนเรานะถ้าสนิทชิดเชื้อ เห็นไหม นี่รู้หน้าไม่รู้ใจ สนิทชิดเชื้อจนไว้วางใจนะ เวลาเขาพลิกแพลงขึ้นมา เขามีปัญหาขึ้นมาเราเจ็บช้ำน้ำใจมาก

นี่ก็เหมือนกัน ไปคุ้นเคยกับจิตของตัวเองไง เวลาทำๆ ไป ไปคุ้นเคยกับมัน ไปคุ้นเคยกับมันไม่ได้ ต้องใช้ปัญญาของเราตลอดนะ ต้องใช้ปัญญาของเราด้วย ต้องใช้ปัญญาของเรา ใช้ปัญญาคือว่าเราต้องหาความผิดพลาดในใจของเรา เราผิดพลาดได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรามันจะรู้เลย มันจะเหนื่อยขนาดไหนนี่เหนื่อย คำว่าปฏิบัติไปแล้วเหนื่อยมาก เหนื่อยสุดๆ ถ้าเหนื่อยสุดๆ มันก็ย้อนกลับมาว่า เวลาบวชพระขึ้นมาทำอะไร? เห็นพระไม่ทำอะไรเลย นี่เวลาบิณฑบาตมาฉันนะ โดยทั่วไปเขาก็ว่ากินแล้วก็นอน กินแล้วก็นอน

ถ้ากินแล้วก็นอนมันทำได้ใหม่ๆ แต่คนเรานี่นะพอกินแล้วก็นอน กิเลสมันก็แก่กล้าขึ้นมาในใจ เวลาเราสะดวก เราสบายกายนะ แต่ทุกข์ใจนี่ทุกข์มาก กินแล้วก็นอนมันทำได้ ถ้ามันทำได้มันก็ทำได้เริ่มต้น พอมันจะไปใหญ่ใช่ไหม? ฉะนั้น ถ้าเวลาปฏิบัติไป เขาปฏิบัติแล้วเหนื่อยมากๆ เหนื่อยจริงๆ นี่เหนื่อยนะ เวลาเราใช้ปัญญาไปแล้วนะมันลงทุนลงแรง เวลากลับมาสงบ มาพักผ่อน กลับมาทำความสงบร่มเย็นมันก็ยังพอทน พอใช้ปัญญาไปแล้วนะมันไม่มีขอบเขตนะ ขั้นของปัญญามันไม่มีขอบเขต เพราะเวลากิเลสมันพลิกแพลงนะ มันอ้างอิงนะ มันเอาสิ่งต่างๆ มาหลอกมาลวง เรานี่ถลำหน้า ตกหน้านะ ถลำหน้า ถลำหลังจนไม่ได้

นี่พูดถึงเวลาเหนื่อยมาก เหนื่อยมากนี่เหนื่อยจริงๆ ถ้าเหนื่อยจริงๆ แล้ว เขาถึงบอกว่าเขามาสวดมนต์ นั่งสมาธิภาวนาเพื่อผ่อนแรงมาก อันนี้มันเป็นการเราจะหาทางออกของเราเองนะ คนเรานี่นะเวลามันต้องหาทางออกของเรา เราต้องใช้อุบาย การปฏิบัติต้องใช้อุบาย ถ้ามีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะคอยชี้นำ คอยบอก คอยแนะ ฉะนั้น คอยบอก คอยแนะ ครูบาอาจารย์คอยบอก คอยแนะ แต่ แต่เรานี่เราปฏิบัติโดยฆราวาส เรามีหน้าที่การงานของเรา เราจะแบ่งเวลาของเรา เป็นความสมดุลของเรา

ในการปฏิบัตินี่แสนยาก คำว่าแสนยากคือการเอาชนะตนเอง เอาความคิด เอาความรู้สึกนึกคิดของเราไว้ในอำนาจของเรา ถ้าไว้ในอำนาจของเรานะ เราฝึกหัดใช้ปัญญานะมันจะเห็นโทษ พอเห็นโทษนะ เรื่องโลกมันจะวางไว้เลย เราจะอยู่กับเขาได้ นี่หยดน้ำบนใบบัวไง อยู่กับโลกโดยไม่ทุกข์ไม่ร้อนไปกับเขา แต่อยู่กับเขานะ ถ้าไม่ทุกข์ไม่ร้อนไปกับเขา จิตใจเราสงบร่มเย็นไง แต่ต้องอยู่กับเขา ทีนี้เรามองกัน เรามองกันแต่ชีวิตความเป็นอยู่ เราไม่รู้ว่าใจของใคร ใจของใครจะสูงส่งขนาดไหน ใจของใครจะเป็นปุถุชนเหมือนเรา ใจของใครมันจะต่ำต้อย ต่ำต้อยหมายถึงว่ามันหาแต่เรื่องให้ใจดวงนั้นเดือดร้อน

ฉะนั้น ถ้ามีความสงบร่มเย็นมันก็ถูกต้อง เราต้องพลิกแพลง ต้องใช้อุบาย

ถาม : ผมอยากขอโอกาสถามว่า ผมทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ถูกไหม? ตอนนี้รู้เพียงว่าตัวก่อปัญหามันเกิดจริงๆ อยู่ที่กลางหัวอก ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เกิดกับเราเองไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ดินฟ้าอากาศทั้งนั้น

ตอบ : ถ้าดินฟ้าอากาศ เห็นไหม เวลาร้อนเราก็ร้อนนะ รู้ว่าร้อน หนาวก็รู้ว่าหนาว เวลาร้อนเราก็อาบน้ำ เราก็ผ่อนคลายของเรา เวลาหนาวเราก็หาความอบอุ่นให้ร่างกายของเรา เพราะร่างกายของเราเหมือนรถหรือเรือลำหนึ่งที่เราได้มา เราเกิดเป็นมนุษย์ นี่ปฏิสนธิจิตมาเกิดในไข่ของมารดา อยู่ในครรภ์ ๙ เดือนมันได้ร่างกายนี้มา ร่างกายนี้ก็เย็น ร้อน อ่อน แข็ง มันก็ต้องกระทบรับรู้ไปชาติหนึ่ง นี้คำว่าชาติหนึ่ง เห็นไหม จิตเราอยู่ในร่างกายนี้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เรื่องอากาศมันก็รับรู้ได้

ฉะนั้น ไม่ใช่ว่าพอเราปฏิบัติธรรมแล้วเราจะฝ่าฝืนจนไม่รับรู้มัน มันเป็นไปไม่ได้ มันรับรู้ทั้งนั้นแหละ รับรู้แล้ววางไง รับรู้แล้ววางไม่อึดอัดขัดข้อง ไม่เดือดเนื้อร้อนใจจนเป็นความทุกข์ ความร้อนซ้อนเข้ามาไง มันเป็นความทุกข์ ความร้อนที่เรารับรู้อยู่แล้วใช่ไหม เราก็แก้ไขของเรา แต่จิตใจเรามันไม่เดือดร้อนไปด้วยกับเขา นี่ข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น ถ้าจิตใจมันไม่เดือดร้อนไปกับเขาเพราะอะไรล่ะ? เพราะเรามีสติปัญญาเท่าทันความคิดของเราไง

ถ้าเราไม่มีสติปัญญาเท่าทันความคิดของเรานะ มันก็เดือดร้อนเพราะมันคิดไปแล้ว มันเดือดร้อนไปแล้ว เรายังไม่รู้ว่าเราอยู่ไหนเลย แต่ถ้าเราฝึกหัด เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เรามีสติปัญญา มันจะเดือดร้อน มันจะทุกข์มันยาก สติมันทันมันก็ปล่อย ปล่อยมันก็บอกว่านี่ความทุกข์ความร้อนทั้งหมด มันเกิดที่ใจเราทั้งนั้น มันไม่ได้เกิดที่อากาศ มันไม่ได้เกิดที่คนอื่น มันไม่ได้เกิดที่ใครทั้งสิ้น มันเกิดที่ใจของเราเอง คนๆ นั้นเขามาติฉินนินทา เราเข้าใจผิดว่าเขามายกย่องสรรเสริญเรา เรายังดีใจไปกับเขานะ

นี่เขามาติฉินนินทาแท้ๆ แต่ความเข้าใจของเราว่าเขามาชมเชยเรา เราจะดีใจไปกับเขาเลย เห็นไหม นี่มันเกี่ยวกับเขาไหมล่ะ? มันเกี่ยวกับเราให้ค่าเขาเอง ถ้าเกี่ยวกับเราให้ค่าเขาเองมันจะเห็นผลของมัน นี่รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าเราเข้าใจหมดแล้วนะมันจะวางไว้ ใจเราก็คือใจเรา แต่เราอยู่กับสังคม เราอยู่กับสังคม แต่เราเข้าใจได้ แล้ววางไว้ได้

ฉะนั้น สิ่งที่เราปฏิบัติมา ถ้ามันถูกต้องมาอย่างนี้ก็เป็นอย่างนี้ เป็นขั้นของการทำความสงบของใจ ใจก่อนที่มันสงบ เห็นไหม สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน คนจะมีงานมีการขึ้นมา เขาต้องมีที่ควรแก่การงานของเขา ฉะนั้น เวลาจะภาวนาขึ้นมาเขาต้องมีจิต ถ้าจิตสงบเข้ามา มีจิต จิตนั้นออกวิปัสสนา จิตนั้นมันจะสำรอกคายกิเลสจากจิตดวงนั้น ไม่ใช่ทำกันเลื่อนๆ ลอยๆ ไง ว่าอย่างนี้เป็นปฏิบัติธรรม ธรรมะเป็นอย่างนั้น แต่ตัวตนเราไปอยู่ไหนไม่รู้ ถ้ามีตัวตนขึ้นมาก็บอกว่านั่นแหละเป็นสมถะ อันนั้นมันไม่ใช่เกิดปัญญา

คนที่ไม่เกิดปัญญา แต่เขามีสิทธิที่จะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เดี๋ยวปัญญาจะเกิดกับเขา ถ้าเกิดกับเขา เขาได้ชำระสะสางแล้ว ตัวของเขานั่นแหละจะพ้นจากกิเลส ตัวของเขาจะเป็นผู้ทรงธรรม แต่นี้ของเราเวลาทรงธรรม เวลาปฏิบัติธรรม ธรรมะก็เอาไว้ในพระไตรปิฎก ธรรมะก็ไปไว้อยู่ในตำรา แล้วเวลาเราปฏิบัติไปแล้วมีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความเดือดร้อน แล้วเวลาเดือดร้อน แล้วเก็บไว้ในหัวใจของเรา แต่บอกว่ามันไม่เดือดร้อน ปฏิบัติแล้วมันมีความสบายๆ

สบายแบบนี้มันเป็นสบายแบบโลก เดี๋ยวนี้นะเขาจะเปิดสปาปฏิบัติธรรมกันแล้ว ปฏิบัติธรรมในสปาไง ปฏิบัติธรรมไปด้วย เข้าสปาไปด้วย มันยิ่งสบายไป ๒ ชั้นไง เพราะไปถึงเขานวดให้ด้วย ไปอบไอน้ำด้วย ได้เข้าสปาด้วย สบายแบบนั้นหรือ? นี่สบายแบบโลกๆ ไง ถ้าสบายแบบโลกๆ มันได้อะไรขึ้นมา ถ้ามันไม่ได้อะไรขึ้นมามันต้องลึกไปกว่านั้นไง ถ้าลึกไปกว่านั้นมันจะเข้ามานี่ ถ้าเราปฏิบัติธรรมไปเราจะรู้ของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาถามมา ถามมาว่าทำอย่างนี้ถูกต้องไหม? ถูกต้อง แล้วคำว่าเป็นขั้นเป็นตอนของเรา ขั้นตอนมันจะพัฒนาของมันขึ้นนะ ถ้าพัฒนาขึ้นไปแล้วมันจะเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเรานะ ในการปฏิบัติ นี่ถ้าปฏิบัติแล้วได้ผลมันก็จะให้ภพชาติสั้นเข้า ถ้าปฏิบัติมันได้ผลกับความดำรงชีวิต มันให้ผลกับชีวิตเราไง

ผลกับชีวิตเรา ชีวิตนี้มีสติปัญญา ถ้ามีสติปัญญานะมันหล่อเลี้ยงให้ชีวิตนี้ไม่ทุกข์ยากไปกับโลกมากนัก แต่ถ้าไม่มีสิ่งนี้มาหล่อเลี้ยงชีวิต เราต้องทำสัมมาอาชีวะ เราต้องประกอบอาชีพอยู่แล้ว แต่จิตใจนี้มันก็ร้อนไปด้วย มันไม่มีที่พักที่พิง โลกเขาก็บอกว่าพักร้อน ไปพักร้อนกัน ไปเที่ยวชายทะเลกัน กลับมาก็มาเร่าร้อนอีก แต่ถ้าเรามีธรรมกับการดำรงชีวิตของเรา เราก็เร่าร้อน แต่มันมีธรรมเป็นที่พึ่งไง

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าใครทำความสงบของใจได้เหมือนมีบ้านหลังหนึ่งนะ คำว่ามีบ้านหลังหนึ่ง จิตใจดวงนี้มันได้พักได้อาศัยในบ้านหลังนั้น ในบ้าน ในสัมมาสมาธิ บ้านมีความสงบร่มเย็นไง แต่ถ้าไม่มีบ้านนะ จิตใจเหมือนคนไร้บ้าน ดูสิคนไร้บ้านมันก็ต้องอยู่ตากแดดตากฝนไปธรรมชาติของมัน จิตเวลามันออกไปกระทบอารมณ์รุนแรง นั่นแหละตากแดดตากฝน มันต้องทุกข์มันต้องร้อนของมัน แต่ถ้ามันมีความสงบร่มเย็นมันก็จะมาพักในที่สงบร่มเย็นของตัว ในบ้านของตัว

ถ้าในบ้านของตัว เห็นไหม นี่การดำรงชีวิต ถ้าปฏิบัติมันไม่ได้มรรคได้ผลมันก็ดำรงชีวิตอย่างนี้ไป มันก็อาศัยธรรมนี้ อาศัยให้ชีวิตของเราพอมีที่พึ่ง ที่อาศัย แต่ถ้ามันปฏิบัติขึ้นมา พอจิตสงบแล้วออกวิปัสสนานะ ถ้ามันชำระกิเลสเป็นขั้นเป็นตอนเข้าไป นี่มันเป็นอกุปปธรรมแล้ว ถ้าอกุปปธรรมนะ เป็นโสดาบันไม่เสื่อมจากโสดาบัน อีก ๗ ชาติต้องนิพพานแน่นอน ถ้าเป็นโสดาบันแล้วนะ ทำอย่างไรก็เป็นโสดาบัน จะอยู่ที่ไหนก็เป็นโสดาบัน แล้วอีก ๗ ชาติ คำว่า ๗ ชาติ แล้วถ้าเกิดปฏิบัติถ้าเป็นโสดาบันขึ้นมาแล้ว มันเห็นคุณค่าขึ้นมา มันทำมากขึ้นไปมันจะเป็นสกิทาคามี อนาคามี จนสิ้นกิเลสไปได้

ถ้าสิ้นกิเลสไปได้ นี่พูดถึงปฏิบัติถ้ามันพัฒนาขึ้นไป ถ้ามันไม่พัฒนาขึ้นไป อย่างนี้มันอยู่ที่ความเพียร ความเพียรของเรา อยู่ที่สติปัญญาของเรา นี่เราจะดูแลตัวของเราเองให้มันเกิดขึ้นมาได้ ฉะนั้น สิ่งที่รู้ ที่เห็น ที่ว่าตัวปัญหานี้มันไม่มีตัวตน ไม่มีสัณฐาน มันอยู่ที่กลางหัวอก อยู่ที่กลางหัวอกมันอยู่ที่ไหน นี่เรารู้ของเราเอง แล้วเราหมั่นพิจารณาของเรา แล้วเราแก้ไขของเรา แก้ไขของเราทำซ้ำๆ

ถาม : ผมทำซ้ำๆ อย่างนี้จะถูกต้องไหม?

ตอบ : ถูกต้อง คำว่าทำซ้ำๆ เหมือนกับนักกีฬา นักกีฬาเขาได้ฝึกฝนของเขา เขาได้ทำของเขา เขาจะได้ประโยชน์ของเขา แต่ถ้าเราทำแล้วเราทิ้ง เราขว้าง คำว่าทิ้งขว้างคือไม่รักษานะ อย่างเช่นเราปฏิบัติ สุดท้ายแล้วเราเห็นว่าเราไม่ได้ผล เราปล่อยวางเลย เราไปทางโลก แต่เวลาไปทางโลกนะ เวลามันไปเผชิญกับความทุกข์ในชีวิต มันจะย้อนกลับมาคิดที่นี่ ถ้ามันย้อนกลับมาคิดที่นี่ เหมือนกับเราหันซ้ายไปก็ติด หันขวาไปก็ติด แล้วเราจะไปทางไหน? เราจะไปทางไหนไม่ได้ แต่ถ้าเราไปทางโลกแล้วนะมันไปทุกข์ร้อนขึ้นมามันก็คิดถึง

คนเวลาร้อนแล้วมันก็คิดถึงที่ร่มเย็น ที่ร่มเย็นมันจะไปหาที่ไหน? ถ้ามันหาที่ไหนนะ ถ้าเรามีความร่มเย็นนี้ ที่เราปฏิบัติของเรานี่เก็บไว้ในใจ ไว้เป็นที่พักของใจ ถ้าทำอย่างนี้ได้มันก็เป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ฉะนั้น ทำซ้ำ ซ้ำของเราไปเรื่อยๆ เรามีอำนาจวาสนาแค่ไหน? เราก็หาผลประโยชน์ของเราแค่นั้น

ข้อ ๙๒๗. เนาะ ข้อ ๙๒๗. นี่เขาถามมาเหมือนกัน

ถาม : ๙๒๗. เรื่อง “จะทำอย่างไรต่อไปครับ?”

ตอบ : เขาถามมานะ แล้วเขาถามมาว่าย้อนกลับไปเขาเคยถามมาเยอะมาก ทีนี้ถามมาเยอะมากมันอยู่ที่ปัจจุบัน ทีนี้ปัจจุบันเขาบอกว่าเขารู้ เขาเห็นของเขาต่างๆ

ถาม : นี่จิตมันรวมลง (สรุปนะ) จิตมันรวมลง หยุดนิ่ง สงบลึกซึ้งมากที่เคยเป็นมา แต่กิเลสไม่ขาด แล้วตอนนี้งงมาก งงมาก กิเลสไม่ขาด

ตอบ : ถ้ากิเลสมันจะขาดนะ นี่ถ้าเราพิจารณาของเรา เห็นไหม อย่างพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แล้วเราพิจารณาแล้ว นี่พิจารณาครบสมบูรณ์แล้ว มันปล่อยวางแล้ว ทำไมกิเลสมันไม่ขาด? กิเลสมันไม่ขาดเพราะมันยังมรรคไม่สามัคคี เวลาปฏิบัติไป คนเรานี่อำนาจวาสนาคนเราแตกต่างมาก แม้แต่จิตดวงเดียวนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้นะ จิตดวงเดียวเวียนตายเวียนเกิด ถ้าซากศพของจิตดวงนั้นเอามากองกันนี่ล้นโลกนี้

จิตดวงเดียวนะ แล้วนี่ตอนนี้มนุษย์ ๗,๐๐๐ กว่าล้าน ถ้า ๗,๐๐๐ กว่าล้าน นี่จริตนิสัยของคนมันแตกต่างอย่างใด? ถ้าจริตนิสัยของคนแตกต่างอย่างใด เห็นไหม นี่เราพิจารณากายทุกคนก็เห็นกาย ทุกคนเห็นกาย เวลาจิตมันออกมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เวลาธรรมมันเกิด บางคนนี่ธรรมเกิดนะ ส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นหมดเลย เพราะคนเรามันเคยทำบุญกุศลมา หรือเคยทำบาปอกุศลมา ทุกดวงใจเคยทำมาหมด

พอเคยทำมา เวลาจิตมันไปเสวยผล เสวยผลหมายถึงว่าพอปฏิบัติธรรมขึ้นมาแล้วสิ่งนั้นให้ผล สิ่งนั้นให้ผลนะมันจะเห็น มันจะรู้เห็นของมันไปหมดเลย มันจะเกิดขึ้นมา มันเป็นธรรม เป็นบุญวาสนาที่มากับใจ พอมากับใจนะ รู้สิ่งใดมันตื่นเต้นไปหมดเลย พอตื่นเต้นมันเห็นปั๊บ พอเห็นมันตื่นเต้นมาก สิ่งนั้นมันฝังใจมาก นี่ธรรมเกิด พอธรรมเกิดขึ้นมาแล้วมันก็หนเดียว พอหนเดียว ต่อไปข้างหน้าอะไรจะเกิดล่ะ? ทุกข์เกิดไง เพราะธรรมมันเกิดไปแล้วใช่ไหม? เหมือนอาหารกินเสร็จแล้ว กินเสร็จแล้วถ้วยจานล้างหรือยัง? ถ้าเศษอาหารมันจะเน่าบูดไหม?

นี่ก็เหมือนกัน พอธรรมมันเกิดขึ้นมา นี่โอ้โฮ มีความชื่นใจ พอมีความชื่นใจไปแล้ว ต่อไปอะไรจะเกิดล่ะ? ต่อไปก็มีแต่ความอัดอั้นตันใจรออยู่ข้างหน้า ทำไมไม่เป็นอย่างนี้อีก? ทำไมไม่เป็นอย่างนี้อีก? ทำไมไม่เป็นอย่างนี้? นี่ไงธรรมมันเกิด มันไม่ใช่อริยสัจ ไม่ใช่อริยสัจเพราะอะไร? ไม่ใช่อริยสัจเพราะเราไม่เคยทำความสงบของใจที่มั่นคง พอใจมันสงบมั่นคงแล้ว ใจมันออกพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมโดยความเป็นจริง นี่คืออริยสัจ

อริยสัจหมายถึงอะไร? อริยสัจหมายถึงว่าเราบริหารจัดการของเราเอง แล้วถ้าเป็นอริยสัจ เห็นไหม พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่า กว่ามันจะมัชฌิมาปฏิปทา พอซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าเราเกร็งเกินไป ถ้าเราเคร่งเกินไปก็เป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าเราพุทโธ พุทโธจิตสงบร่มเย็น เราติดสุข เราพอใจกับความสงบร่มเย็น นี่ก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยค นี่มันก็สองส่วน แต่ถ้ามันพิจารณาจนจิตมันสงบแล้ว มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันพิจารณาแยกแยะออกไป พอแยกแยะออกไป แยกแยะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถึงเวลาถ้ามันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ตรงนั้นแหละมันจะขาด แต่กว่ามันจะขาด กว่ามันจะเป็นไปมันจะมีใครทำได้บ้างล่ะ?

คนที่จะทำได้ คนทำได้มันก็รู้ได้จริง นี้โดยข้อเท็จจริงนะ แต่ถ้าปฏิบัตินะ เราปฏิบัติไป สิ่งที่มันเป็นสัญญาอารมณ์ นี่สิ่งที่ว่าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นร้อยแปดพันเก้า เวลาคนเห็นนิมิตไง นิมิตมันเห็นได้ทั้งนั้นแหละ คำว่านิมิตนะ ถ้านิมิต สิ่งนั้นถ้าเรารู้ว่าจิตเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนั้น จิตเป็นอย่างนั้น คนที่โดยนักวิทยาศาสตร์เขาก็รู้ได้ ยิ่งจิตแพทย์เขารู้เลยนะ จิตแพทย์ นี่เวลายามันกดทับประสาท มันจะออกอาการอย่างใด? เวลาเป็นอย่างใด เขาจะขุด เขาจะให้ยาขนาดไหน?

นั้นมันเป็นการรักษาทางโลกนะ แต่ถ้าเป็นทางปฏิบัติ จะรู้ขนาดไหน จะเห็นอย่างไร ถ้ามันเป็นนิมิต มันรู้เห็นเขาไม่ออกตามไป พอไม่ออกตามไป มันรักษาใจไว้ให้มันสงบเข้ามา เขาต้องการความสงบ แล้วพอจิตสงบแล้วมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นธรรมเห็นความรู้สึกนึกคิดแล้วมันจับได้ จับได้เขาถึงแยกแยะไง แยกแยะไปเรื่อยๆ

ฉะนั้น คำถามที่ถามๆ มันเหมือนผู้ใหญ่พูดกับเด็ก เวลาผู้ใหญ่พูดกับเด็กนะ เด็กทำสิ่งใดขึ้นมา ก็บอกสิ่งนั้นถูกไหม? ถูกไหม? มันก็ถูกมาเรื่อยๆ ถูกมาเรื่อยๆ แต่งานมันเสร็จไหมล่ะ? เด็กมันต้องพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ใช่ไหม? ใจก็เหมือนกัน ถ้ามันเห็นนิมิต สิ่งที่เห็นนิมิตนี่เห็นอาการของใจ จับใจได้ถูกไหม? ก็ถูก ถูกอย่างไร? ถูกก็เอ็งรู้จักตัวเองไง เด็กนี่นะ เด็กถ้ามันมีสติปัญญา เห็นไหม เด็กมันจะไม่กวนพ่อแม่ของมัน แล้วเด็กถ้ามีความรู้สึกนึกคิดนะ แม่ทำงานนะหนูจะนั่งเล่นอยู่นี่ หนูไม่กวนแม่

จิต จิตถ้ามีสติปัญญาขึ้นมามันก็จะรักษาตัวมัน แต่ถ้าเด็กนะ เด็กบางทีมันไม่ยอม มันอ้อนแม่ทั้งวันเลย แม่จะทำงานนะ มือหนึ่งทำงานมือหนึ่งต้องอุ้มมันไว้ นี่ก็เหมือนกัน เวลาจิต จิตถ้ามันไปรู้ไปเห็นอะไร นั่นเป็นนิมิตมันไม่เป็นความจริง เห็นไหม นี่มันก็ไปรับรู้อันนั้น แล้วตัวจิตล่ะ? มันก็ทำงานไปมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งก็ไปอุ้มลูกไว้ แล้วงานมันจะเสร็จง่ายไหม? งานมันจะเสร็จไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน พอไปรับรู้อะไรแล้ว ถ้าเป็นนิมิตนี่ให้เขาวาง ทีนี้เพียงแต่เขาบอกว่าเขาเห็นอย่างนั้นถูกไหม? ถูก ถูกไหมเพราะจิตมันเห็น ถ้าพัฒนา เด็กนี้เป็นเด็กไหม? ใช่เป็นเด็ก แล้วเด็กมันจะโตขึ้นมาไหม?

นี่ก็เหมือนกัน จิตถ้ามันรู้มันเห็นของมัน ถ้ามันวางของมัน มันจะวางไหม? ถ้ามันวางมันก็วางเข้ามา ฉะนั้น เวลาตอบปัญหานี่มันตอบปัญหาเพราะเขาเขียนปัญหามาให้ประเด็นเดียว ก็ตอบเฉพาะประเด็นที่เขียนมา แต่สภาวะแวดล้อมนะ ตอบประเด็นอย่างนี้เสร็จแล้วนะเขาต้องดูจริตนิสัย จริตนิสัยหมายถึงว่าผู้ที่ปฏิบัติบางคนชอบเดินจงกรม ผู้ที่ปฏิบัติบางคนชอบนั่งสมาธิ ผู้ที่ปฏิบัติมีสติปัญญาอย่างใด? ทีนี้ประเด็นเหมือนคนไข้เลย เดี๋ยวนี้หมอเขาผ่าตัดทางวีดีโอ เขาผ่าตัดเลยเขายังเห็นนะ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน พอบอกว่ามันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันไม่ขาด ทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้น? อืม มันก็ต้องเทศน์ทางวีดีโอแล้ว ดูว่าอาการเป็นแบบใดไง นี่พูดถึงว่าจิตมันเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้าจิตมันเป็นจริงมันไปอย่างหนึ่งนะ คำว่าจิตมันเป็นจริง ถ้าทางวีดีโอมันเห็นมันรู้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเวลาพูดกันโดยแบบว่าถามปัญหาโดยตรงมันก็อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่โดยตรงมันก็เป็นแบบนี้ มันเป็นแบบนี้เพราะว่าเหมือนกับเขาให้ความรับรู้มาได้แค่นี้ เราก็ตอบไปเท่านี้

นี่ว่าทำไมมันถึงไม่ขาด? ไม่ขาดหรอก ถ้ามันขาดนะ มันขาดมันจะเริ่มต้นจากศีล สมาธิ ปัญญา ศีลคือความซื่อตรงกับตัวเอง ถ้ามีสมาธิขึ้นมาสมาธิมันก็เป็นข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริง เวลาปฏิบัติขึ้นไปมันก็เป็นปฏิบัติตามข้อเท็จจริง ถ้าข้อเท็จจริงนะมันก็เป็นประโยชน์ เพราะ เพราะเว็บไซต์นี่เปิดเพื่อเป็นประโยชน์ ที่พูดนี่ก็พูดเพื่อประโยชน์ เพื่อประโยชน์นะ เพราะในการประพฤติปฏิบัติ มันร้อยพ่อพันแม่ จริตมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว

จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าจริตของคนไม่เหมือนกัน เวลาปฏิบัติเหมือนหมอ หมอเขารักษาคนไข้ คนไข้เวลามานี่แต่ละสถานที่ แต่ละพื้นที่ โรคภัยไข้เจ็บมันมาจากสมมุติฐานโรคที่แตกต่างกัน ถ้ามาจากสมมุติฐานโรคที่แตกต่างกัน เวลารักษาก็รักษาตามอาการนั้น แต่โดยหมู่ของโลกมันก็เป็นหลักอย่างนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน โดยอริยสัจมันเป็นความจริง โดยอริยสัจมันเป็นความจริงอยู่แล้ว แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไป กิเลสของคน กิเลสของคนมันลึกลับซับซ้อน เวลาลึกลับซับซ้อนขึ้นมามันจะแซงหน้าแซงหลังไง แซงหน้าแซงหลังธรรมะในใจของตัวเองนั่นแหละ ไม่ได้แซงหน้าแซงหลังใคร เพราะมันให้ค่ามากกว่านั้น เวลาปฏิบัติไปมันจะให้คะแนนมากกว่าความเป็นจริง แล้วความเป็นจริงนะ แล้วสิ่งที่ความเป็นจริง ความเป็นจริงเราก็ไม่รู้ เพราะเราปฏิบัติมาไม่เคยถึงความเป็นจริง

พอไม่ถึงความเป็นจริงนะ เด็ก เวลาเด็กที่มันทำงานนะ เวลาได้เงินครั้งแรกเขาจะดีใจมาก เพราะเงินที่เขาเคยได้มาเขาเคยขอจากพ่อจากแม่ แต่ถ้าเขาทำงานของเขาได้เอง เขาได้เงินครั้งแรก คิดว่าเงินนี่มีค่ามหาศาลเลย แต่พอเขาทำไปมากๆ เข้า มากๆ เข้า พอทำงานไปนี่เงินไม่พอใช้ เงินไม่พอใช้ขอพ่อขอแม่อีกแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปเริ่มต้นก็ว่าสิ่งนี้มันให้คะแนนมากกว่าตัวเองไง พอปฏิบัติไปแล้วเป็นอย่างนี้ นี่พูดถึงเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องโลกมันเป็นกงกรรมกงเกวียนนะ ทุกชีวิตจะเป็นอย่างนี้ รู้กันอยู่อย่างนี้ แต่ก็เป็นอยู่อย่างนี้ นี้พูดถึงของที่เห็นนี่นะมันยังแก้กันไม่ได้เลย แต่ถ้าเป็นเรื่องของใจมันลึกลับมากกว่านี้อีกมหาศาลเลย ถ้ามันลึกลับมากกว่านี้มหาศาล ฉะนั้น ความเป็นจริงมันจะเป็นจริงอีกอย่างหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้ามันไม่ขาดมันก็คือไม่ขาด มันไม่ขาด เพราะภาวนานะเราไปคิดเองภาวนาแบบโลก หมายความว่าโลกียปัญญา ถ้าโลกียปัญญานะเราภาวนาแบบโลก ทุกคนก็บอกไม่ใช่โลกียปัญญาหรอก เราใช้ปัญญาจริงๆ ของเรานี่แหละ เพราะในเมื่อเหรียญมี ๒ ด้าน แต่เราอยู่ในด้านเดียวด้านของโลก เราไม่เคยอยู่ในด้านของธรรม เราจะไม่เข้าใจเลยว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาในการภาวนาในด้านของธรรมมันเป็นแบบใด

ฉะนั้น ในเมื่อเราอยู่ในด้านของโลก อยู่ในด้านของโลกียปัญญา ปัญญามันเกิดขึ้น สิ่งนี้เป็นปัญญา เราว่าสิ่งนี้เป็นโลกุตตรปัญญา ไม่ใช่โลกียปัญญา เพราะเราใช้ปัญญาแล้ว เราเคยใช้ปัญญาแล้ว มันสงบแล้ว มันมีความรู้สึกที่ละเอียดแล้ว แต่ในเมื่อเรายังอยู่ในเหรียญในด้านของโลกียปัญญา มันเป็นโลกียปัญญาตลอดไป แต่ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ทำความสงบของใจเข้ามา ใจมันสงบแล้วมันออกใช้ปัญญา เราจะเห็นที่มันแตกต่างกันอย่างไร? มันแตกต่าง

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อบอกว่าเราใช้ปัญญาแล้ว เราพิจารณาของเราแล้วมันเป็นสัญญา มันเป็นสัญญา นี่พูดถึงสัญญาอันหนึ่งนะ แต่ถ้ามันเป็นกิเลสนะมันให้ค่ามากกว่าความเป็นจริงอันนั้น ถ้ามันให้ค่ามากกว่าความเป็นจริงอันนั้นมันยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่เลย พอมันเป็นไปไม่ได้มันก็ปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างสมบารมีเท่านั้นแหละ เราปฏิบัติธรรมกัน เห็นไหม เราปฏิบัติธรรม ทำบุญร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหน ไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง ทำสมาธิร้อยหนพันหน ถ้ามันสงบแล้วนะ ถ้าเกิดปัญญา ภาวนามยปัญญาทำให้สิ้นกิเลสได้ นี่เวลาเกิดปัญญาขึ้นมามันเกิดบุญกุศลมหาศาล

ฉะนั้น เราปฏิบัติกันตรงนี้ไง ปฏิบัติกันตรงให้จิตของเรามีกุศล มีกุศล มีหลัก มีเกณฑ์ให้ทำในความดีของจิตนี้ เพื่อประโยชน์กับจิตนี้ เราเกิดมากับโลก โลก เห็นไหม ดูสิโลกนี้เวียนไป ชีวิตหนึ่งกับชีวิตหนึ่ง ชีวิตหนึ่ง อายุขัยหนึ่งนี่มันใกล้เคียงกัน คือมีความสุข ความทุกข์อยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรานะ มันพัฒนาจิตของเรา

จิตเรามีคุณค่ามากนะ จิตเรามีคุณค่ามาก ดูสิคนที่เขาดีจริงๆ คนที่เขาเป็นคนดีเขาดีจริงๆ นะ จิตใจเขาเป็นสาธารณะ คนที่จิตใจเป็นสาธารณะ ที่เขาพยายามจะช่วยเหลือสังคม เขาพยายามช่วยเหลือสังคม เขาอุทิศชีวิตของเขาช่วยเหลือสังคมนะ สังคมที่ไหนมีความลำบาก สังคมที่ไหนมีความเดือดร้อน เขาพยายามจะไปช่วยเหลือดูแล เขาอุทิศชีวิตเขาทั้งชีวิตเลย ทำไมจิตใจเขาสูงส่งขนาดนั้น? แล้วของเรานี่เราใช้ชีวิตของเรา เราทุกข์ยากอย่างไร?

ฉะนั้น ที่เราปฏิบัติเพราะเราต้องการพัฒนาเพื่อเป็นกุศลกับชีวิตของเรา พัฒนาเพื่อให้เป็นกุศลกับจิตของเรา ถ้าจิตของเราเป็นกุศลนะ มันทำให้จิตของเรามีคุณค่า ถ้าจิตของเรามีคุณค่า เราจะทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์นะ ฉะนั้น กิเลสมันละเอียดลึกซึ้งนัก กิเลสมันอ้างอิง ประสาเรานะเหมือนโลกอ้างสิทธิ์ มันอ้างอิงว่าชีวิตนี้เป็นของกิเลส ว่าชีวิตนี้เป็นของเรา เราว่าชีวิตนี้เป็นของเรา สรรพสิ่งเป็นของเรา จิตเป็นของเรา เราดูแลรักษาของเรา

กิเลสมันอ้างอิงข้างหลังว่าจิตก็เป็นของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นของเรา แล้วเป็นของเรามันก็อ้างอิงนะ เวลาปฏิบัติธรรมมันก็ผ่อนให้เรามาปฏิบัติได้ชั่วคราว จะทำอะไรมันก็ผ่อนให้เราได้ปฏิบัติชั่วคราว แต่ถ้ามันไม่พอใจมันไม่ให้ทำ มันควบคุมความคิดเรา มันฝืนความคิดเรา เราก็เชื่อ แล้วเราก็ล้มลุกคลุกคลาน เห็นไหม

นี่ถ้าล้มลุกคลุกคลาน การปฏิบัตินี้ ถ้าการปฏิบัตินี้ปฏิบัติเพื่อกุศล เพื่อให้จิตใจนี้เข้มแข็ง เพื่อให้จิตใจของเราเท่าทัน เท่าทันกับกิเลส เท่าทันกับความรู้สึกนึกคิดของเรา เราถึงจะเอาใจของเราไว้ในอำนาจของเรา เอาความรู้สึกนึกคิดของเราไว้ในอำนาจของเรา ความทุกข์ความร้อน ความทุกข์ความร้อน ถ้าปฏิบัติแล้วไม่ได้ผล ความทุกข์ ความร้อนเพราะเราคาดหมายว่ามันควรจะมีความสุขระงับขนาดไหน แต่ถ้าเราปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สิ่งใดที่เกิดขึ้นนะเราดื่มน้ำ เรากระหายมากเลย เห็นไหม เราดื่มน้ำเราก็ อืม ชื่นใจ

นี่ก็เหมือนกัน จิตนี้มันทุกข์มาก จิตนี้มันมีสิ่งใดบีบคั้นมันมาก เราก็ทำของเราไป เหมือนกับจิตที่มันได้ดื่มน้ำ มันได้ดื่มน้ำ นั่นแหละรสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของธรรมคือมันละเอียดอ่อน มันละเอียดอ่อนจนเราเข้าใจไม่ได้ว่าอะไรที่มันเป็นความสุข อะไรที่มันเป็นสิ่งที่เราปรารถนา แต่ถ้าเราหิวกระหาย เราได้ดื่มน้ำ น้ำนั่นทำให้เราชื่นใจ

ปฏิบัติก็เหมือนกัน เราปฏิบัติไป ความฉลาดของเรา ความฉลาดของใจดวงนั้น พอปัญญามันเกิดมันปล่อยหมดนะ สิ่งที่เป็นภาระรุงรัง ที่เป็นความทุกข์ๆ ที่เครียดๆ ในใจ พอมันปล่อยมันก็ดื่มน้ำไง เฮ้อ จบ แต่นี้พอมันไม่ปล่อยใช่ไหม น้ำก็ไม่ได้ดื่ม แล้วก็บอกว่ามันเป็นอย่างไร? มันเป็นอย่างไร? หนึ่งน้ำก็ไม่ดื่มนะ แล้วยิ่งคิดอย่างนี้มันยังเกิดความเครียดเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า ก็บอกว่าชีวิตนี้มันทุกข์ ชีวิตนี้มันทุกข์ ก็ทุกข์ไปใหญ่เลย

ถ้าเราอยู่กับธรรม อยู่กับปัญญา มันไม่คิดเอาไฟเผาตัวเอง มันปล่อยแล้วไง พอมันปล่อยมันก็ดื่มน้ำ นี่ปัจจัตตัง ปัจจัตตัง เห็นไหม นี่ความรู้สึกธาตุรู้กับความคิดเป็นของคู่ เป็นของคู่ เรามีความรู้สึกอยู่แล้วเราก็คิด แล้วความคิดมันจะเด่นชัด ทีนี้ความคิดมันคิดยาก แต่เวลาพุทโธ พุทโธ นี่ความคิดละเอียดเข้ามาจนคิดไม่ได้ มันเป็นพุทโธ เป็นความรู้สึก ความรู้สึกไง ความรู้สึกที่เป็นสมาธิ ความรู้สึกที่ปล่อยวาง ความรู้สึกรับรู้

นี่ถ้าปัญญามันพิจารณา มันปล่อยอย่างนี้มันก็จะเหลือแต่รสของธรรม เหลือแต่จิตที่มันล้วนๆ นี่เท่าทัน เท่าทันคือเป็นหนึ่ง ถ้าจิตเป็นหนึ่งมันก็พอทนแล้ว ถ้าจิตเป็นสอง จิตกับความรู้สึกนึกคิดร้อนกันอยู่อย่างนี้ จิตเป็นความรู้สึกนึกคิด ทีนี้เราพยายามทำขึ้นมาเพื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ปั๊บ สิ่งที่ว่ามันทุกข์มันร้อน มันทุกข์มันร้อนมันก็จะปล่อย ถ้าทุกข์ร้อนนี่มันวางลงได้ มันก็จะทำให้เราพอมีความร่มเย็นเป็นสุข ในการปฏิบัติมันไม่ต้องทุกข์ทนจนเกินไป ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมเพื่อความสงบร่มเย็น เอวัง