ปัญญาธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ข้อ ๙๗๗. เนาะ
ถาม : ๙๗๗. เรื่อง เส้นขนาน
ตอบ : นี่เวลาคนปฏิบัติธรรม หรือคนเข้าวัดแล้วมันจะเป็นแบบนี้ มันเป็นปัญหาให้ตัวเองสงสัยตัวเองไง ว่าคนเข้าวัดแล้วมันทำไมเป็นแบบนี้
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง หลังจากที่ได้กราบหลวงพ่อ ได้ฟังธรรมที่ผ่านมาแล้ว ตอนหนึ่งหลวงพ่อได้พูดว่า เดี๋ยวจะเจอบททดสอบที่ยิ่งกว่านี้ แล้วก็จริงตามนั้นเจ้าค่ะ เล่นเอาเสียศูนย์ไปเลย รู้สึกสังเวชใจตัวเอง แต่ไม่ท้อเจ้าค่ะ ยิ่งได้เจอยิ่งมีมานะ ยิ่งอยากจะเอาใจของตัวให้รอด เราเห็นทางแล้ว และมีจุดหมายปลายทางอยู่ ล้มได้ก็ลุกได้ จะหมั่นคราด หมั่นไถอย่างที่หลวงพ่อเคยพูดเสมอ แต่ยิ่งเรารักษาจิตมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งเหมือนกับเรายิ่งเดินออกห่างจากเส้นทางที่คุ้นเคย
ที่เริ่มทำความลำบากใจให้มากขึ้นก็คือความคิดที่เราเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายคนมองว่าเราเป็นคนไม่กล้าที่จะสู้รบตบมือกับใคร ไม่สามารถให้อุบายในการช่วงชิงความได้เปรียบ เสียเปรียบ ไม่สามารถให้คำแนะนำปัญหาชีวิตอย่างเป็นรูปธรรมได้ โยมไม่รู้จะบอกเขาเหล่านั้นอย่างไร สิ่งที่อยู่ในใจ เพราะเรามีหลายหน้าที่ หลายบทบาทเกินไป คำแนะนำที่โยมมักจะใช้ก็คือ
เกิดที่ใจ เราก็ให้จบที่ใจเรา
มันเหมือนดูเป็นคำแนะนำของคนที่จนตรอกและยอมจำนน แต่สำหรับโยมแล้วอะไรจะยากไปกว่านี้ จะมีใครกำหนดทิศทางของใจเราได้ดีไปกว่าตัวเราเอง แต่นั่นแหละเจ้าค่ะโยมก็คิดว่าตัวเองโชคดีนักหนาแล้วที่ได้เกิดมาและมีโอกาสที่จะสร้างสมสิ่งที่ดีให้ใจตัวเอง โยมทำหน้าที่และบทบาทของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วก็จะเดินไปอย่างมั่นคงในทางที่ปรารถนาด้วย
ตอบ : นี่คำถามนะ นี่เวลาปฏิบัติมันรู้ผิด รู้ชอบไง พอรู้ผิด รู้ชอบขึ้นมา เวลาทางโลก เห็นไหม เขาบอกคนที่ไม่สู้คน คนที่ไม่สู้สังคม คนที่ไม่กล้าเผชิญปัญหา นี่เวลาโลกเขามองคนปฏิบัติธรรมอย่างนี้ แต่เวลาคนปฏิบัติธรรมนะเราประเสริฐกว่าเขาเยอะมากเลย เราประเสริฐเพราะอะไร? เพราะเรารู้ไง
นี่ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ถ้าเราเจอคนที่โกรธเรานะ อันนี้มันก็เป็นสิ่งที่เราไม่อยากพบหรอก พบคนพาล บัณฑิตกลัวคนพาลมาก แล้วคนพาลเขาพาลใส่เราตลอดเวลา แล้วเวลาทางโลก ถ้าในทางธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า
ถ้าใครโกรธเรา ใครพาลเรา เราโกรธตอบพาลตอบ เราโง่กว่าเขา
พระพุทธเจ้าสอนนะว่าเราโง่กว่าเขา แต่นี้บอกเราไม่กล้าสู้รบตบมือ เห็นไหม เวลาพระพุทธเจ้าสอนนี่ไปอย่างหนึ่งนะ พระพุทธเจ้าสอนว่าไม่คบคนพาล คบคนพาลเป็นที่น่าเบื่อหน่ายมาก เราจะคบบัณฑิต นี้โลกมันเป็นแบบนี้ไง ถ้าโลกมันเป็นแบบนี้นะ พอเวลาเราเจอคนโกรธเรา คนพาลที่จะกลั่นแกล้งเรามีสติปัญญา เห็นไหม สติปัญญาคือว่าเหมือนกับของเหม็น เราไม่ลงไปคลุกด้วย ถ้าเราไม่ลงไปคลุกด้วย แล้วของเหม็นทำอย่างไรล่ะ? เราจะไม่ให้มันเข้ามาใกล้ตัวเรา แต่เรามีปัญญาอย่างไรล่ะ? เราจะกันไว้อย่างไรไม่ให้มาเหม็นเรา
ทีนี้พอไม่ให้มาเหม็นเรา พูดถึงทางวิทยาศาสตร์ก็อย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องอย่างนี้ คนพาลนะเขาก็จะเข้ามาจองล้างจองผลาญ จองล้างจองผลาญมันก็เรื่องของกรรมแล้ว เรื่องของกรรมเราก็ต้องสู้ของเราไป ทีนี้ถ้าเรามีปัญญา ถ้าเรามีปัญญานะ คนที่มีปัญญาที่มันพัฒนาขึ้นมา เห็นไหม ปัญญาทางธรรมเป็นแบบนี้ ปัญญาทางธรรมมันก็เหมือน ดูสิพ่อแม่กับลูก พ่อแม่กับลูก เวลาลูกมันไม่รู้เรื่องหรอก มันไม่รู้ประสามัน ไร้เดียงสา เรียกร้องเอาแต่ความต้องการ แต่พ่อแม่รู้ทั้งนั้นแหละ พ่อแม่รู้ทั้งนั้น แล้วพ่อแม่ก็รู้กำลังของตัวว่าจะดูแลได้แค่ไหน ฉะนั้น ถ้าดูแลได้แค่ไหนเราก็จะดูแลลูกของเรา
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจเรามันเป็นธรรมขึ้นมามันรู้อย่างนี้ไง ถ้ามันพูดว่าเราไม่กล้า ถ้ากล้าก็นักเรียนอาชีวะอย่างนี้ใช่ไหม? นักเรียนอาชีวะเขากล้ามาก ที่นักเรียนอาชีวะเขามีปัญหากันเพราะอะไรล่ะ? เพราะรักสถาบัน ศักดิ์ศรีของตัวก็ปะทะอย่างเดียวไง ปะทะแล้วเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ? เดือดร้อนกันไปหมด แต่ถ้าคนๆ หนึ่งมีสติล่ะ? คนๆ หนึ่งมีสตินะ ถ้ากล้า กล้าก็ต้องไปชายแดน กล้าก็ต้องรักษาประเทศ กล้าแล้วเอามาสู้กันบนรถเมล์
นี่ถ้าเรามีสตินะเราควบคุมอย่างนี้ได้ แต่เพราะขาดสติไปกับเขา นี่มันเป็นสังคมของเขา ถ้าเป็นสังคมของเขา เมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้น เมื่อก่อนเราก็อยู่ในสังคมแบบนั้น เวลาอยู่ในสังคมเรามองเห็นสังคมนะ แต่เวลาเรามองถึงความคิดสิ ถ้าความคิดเรานะมีวุฒิภาวะแค่นี้ เราก็อยู่ในสังคมเดียวกันไง แต่ถ้าวุฒิภาวะมันสูงขึ้นมันคนละสังคมแล้ว สังคมของเราสูงกว่า ถ้าสังคมของเราสูงกว่า เรามองไปจะรู้ได้
นี่ผู้ปฏิบัติธรรมจะโดนตรงนี้ ทุกคนโดนตรงนี้หมด เวลาบอกนะถือศีล ๕ ผู้ชายเวลาไปในสังคมเขายื่นแก้วเหล้าให้ ถ้าไม่รับนะไม่กินเหล้าคบไม่ได้ ไม่กินเหล้าไม่ใช่ลูกผู้ชาย คบไม่ได้ โอ้โฮ ไหวหมดเลย แล้วถ้าเรามีสติล่ะ? มีสติปากสกปรก เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ถือศีล ๕ ถ้าถือศีล ๕ เราเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเชื่อปากของพระพุทธเจ้า ถ้าเราเชื่อปากพระพุทธเจ้านะ แล้วสุขภาพเราก็ดี เวลาเมาแล้วห้ามขับรถ เวลาเขาเมาแล้วเขาขับรถเขาไปเจออุบัติเหตุ เราไม่ได้เมาเราทำสิ่งใดก็ได้ เราดีไปทุกอย่างเลย แต่ แต่ในเมื่อจิตใจเขาต่ำกว่าเขาพูดอย่างนั้นนะ จิตใจในสังคมเดียวกันมันทนไม่ได้มันก็เป็นอย่างนั้น เห็นไหม เขาโดนชักนำไป
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเดี๋ยวจะเจอบททดสอบ แล้วบททดสอบมันจะมีมากนะ บททดสอบจะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ บททดสอบจากสังคม แล้วบททดสอบจากเรา นี่เวลาสังคม คือว่าเพื่อนฝูงพูดอย่างนี้เราแก้ไขเขาไม่ได้ เดี๋ยวเวลาเพื่อนฝูงเขาไม่พูดหรอกเราจะคิดเอง เวลาจิตใจเราเสื่อม เวลาจิตใจเราถอยนะ เราจะคิดเองว่าเราทำมาเพื่ออะไร? เราปฏิบัติแล้วได้อะไร? เราเสียดายเวลาที่เรามาปฏิบัติไหม? เราเสียดายโอกาสไหม?
นี่ถ้าจิตใจเราเสื่อม จิตใจเราคิดเองเลยนะ ถ้าจิตใจเราคิดเอง นี่บททดสอบหนึ่งมันจะเกิดกับเรา ถ้าปัญญาทางธรรมมันเกิดขึ้น ปัญญาทางธรรมมันเกิดขึ้นนะ เวลาคนเกิดมาแล้วทุกคนต้องตายหมด มันพลัดพรากอยู่แล้ว แต่การพลัดพรากของเขา การพลัดพรากที่เขาควบคุมไม่ได้ ของเราการพลัดพรากที่เราเป็นคนคุมบังเหียนชีวิตเราเอง เราดูแลชีวิตของเรามา เรารักษาชีวิตเรามา ฉะนั้น บททดสอบที่มันเกิดขึ้นคือบททดสอบอันหนึ่งนะ
ทีนี้เวลาคำถามว่า
ถาม : เราไม่เป็นคนกล้าที่จะสู้รบตบมือกับใคร
ตอบ : แล้วจะไปสู้รบตบมือกับใครล่ะ? เราจะสู้รบตบมือกับกิเลส ถ้าเราสู้รบตบมือกับกิเลสได้นะเราต้องเห็นกิเลสก่อน ในการประพฤติปฏิบัตินะต้องเห็นกิเลส ถ้าไม่เห็นกิเลสเราจะไปชำระกิเลสที่ไหน? ฉะนั้น เวลาทำความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามานะ เวลาเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงหมายความว่ากิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันก็อาศัยความรู้สึกนึกคิดเรานี่แหละออกไปหาผลประโยชน์ของมัน
ฉะนั้น ถ้าจิตสงบแล้ว เห็นไหม จิตสงบแล้วมันเห็นสิ่งที่มันนอนเนื่องมากับความคิดอันนั้น ถ้ามันเห็นกายนะ เห็นกายโดยไตรลักษณ์ เห็นกายโดยความเป็นจริง เพราะกายมันเป็นไตรลักษณ์ กายนี้มันแปรสภาพของมันโดยความเป็นจริง มันเห็นจริงรู้จริงขึ้นมา นั่นแหละมันเห็นกิเลส พอเห็นกิเลส มันชำระกิเลส ต่อสู้กับกิเลส พิจารณาแล้วมันปล่อยวาง มันปล่อยวางตรงนั้น เราจะไปสู้รบตบมือ สู้รบตบมือกับสิ่งที่เป็นตัณหาความทะยานอยากในหัวใจของเรา เราจะไม่สู้รบตบมือกับกิเลสของคนอื่น กับความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น จากความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นมันไม่เป็นประโยชน์อะไรกับเราหรอก มันไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย
ชนะเขา ทำลายเขา ควบคุมเขาได้หมดเลย เห็นไหม เวลาผู้ที่ชนะอันประเสริฐ คือผู้ที่ชนะตนเอง เกิดสงครามนะ นี่สงครามคูณด้วยล้านนะ ชนะสงครามคูณด้วยล้าน คนแพ้นะเขาก็กลับไปรวบรวมกำลังพลของเขาขึ้นมาใหม่ เขาก็ไปสร้างสมกำลังของเขาขึ้นมา เดี๋ยวสงครามไม่มีที่สิ้นสุดหรอก สงครามข้างนอกไม่มีวันจบ ไม่มีหรอก พระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ พระพุทธเจ้าบอกไม่เป็นประโยชน์ มันสร้างเวร สร้างกรรม ชนะเขาก็ต้องปกครองเขา ดูแลเขา นี่เป็นเวรเป็นกรรมทั้งนั้นแหละ ถ้าแพ้ แพ้ก็เสียใจ แต่ถ้าเราจะสู้รบตบมือกับกิเลสของเรา อันนี้ประเสริฐมาก ถ้าประเสริฐขึ้นมาจิตใจเราสูงแล้ว
นี่ไงเวลาพระพุทธเจ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ มันรื้อสัตว์ขนสัตว์ที่ใจ ถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ที่ใจนะ นี่เพราะอะไร? เพราะว่าใจมันไปเกิดในวัฏฏะ ถ้ารื้อภพรื้อชาติที่นี่มันก็จบที่นี่ ถ้ารื้อภพรื้อชาติที่นี่ นี่งานทางธรรมนี่นะ หนึ่งสังคมเขาเสียดสี สังคมเขาเสียดสีนะว่าคนที่ไม่เอาไหน คนที่ใจไม่สู้ คนที่หลบสังคม เขาถึงได้หนีสังคมมา นั้นแรงเสียดสีทางสังคม แต่ถ้าแรงเสียดสีของกิเลสนะ กิเลสมันน้อยเนื้อต่ำใจทั้งนั้นแหละ
เวลาทำแล้วก็จะประสบความสำเร็จ ทำแล้วก็ต้องได้มรรคได้ผล แล้วพอมันไม่ได้ผลนะมันก็น้อยใจ ความน้อยใจมันจะหักขาไง มันจะขาอ่อน มันจะไม่เข้มแข็ง ถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งใดมันจะขวางหน้านะ นี่เราพิสูจน์หมดแหละ พิสูจน์จนมันผ่านไปได้ ผ่านไปได้ มันจะสู้รบ สู้รบตบมือนะ เก็บแรงไว้ เดี๋ยวได้เจอ ถ้าคนปฏิบัติแล้วมันต้องเจอของมัน ถ้าไม่เจอของมันนะ เวลาจิตเสื่อม เวลาภาวนานี่จิตมันจะเสื่อม เพราะมันใช้งานแล้วมันเสื่อม พอเสื่อมแล้ว ถ้ามันเสื่อมปั๊บความเห็นมันจะบิดเบี้ยวไปเลย แต่ถ้ามีสมาธินะความเห็นจะถูกต้อง
นี่สัมมาทิฏฐิความเห็นถูกต้อง สัมมาทิฏฐิ มันพิจารณาของมัน แยกแยะของมัน นี่ถ้าสู้รบตบมือ เราสู้รบตบมือกันอย่างนี้นะ ถ้าสู้รบตบมือกับแบบนี้ เวลาผู้ที่บรรลุธรรมนะ เทวดา อินทร์ พรหมนี่นะสาธุการเลยล่ะ เราคิดว่าความรู้สึกนึกคิดของเราไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นไง ความรู้สึกนึกคิดมันเป็นสิ่งที่บังตาเราทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่บังตาสำหรับผู้ที่มีตาทิพย์ ผู้ที่มีตาทิพย์หูทิพย์ สิ่งนี้บังเขาไม่ได้หรอก เขารู้หมดแหละ แต่มันบังได้เพราะตาเนื้อเรานี่แหละ ตาเนื้อเราเห็นแต่หน้า เราไม่รู้ใจ แต่ความรู้สึกนึกคิดมันเกิดที่ใจ
นี่ถ้าคนที่จิตใจเขาเป็นธรรม เขารู้ของเขา เขาเห็นของเขา ถ้าเราสู้รบตบมือตรงนั้น นี่ไงอริยทรัพย์ ทรัพย์ที่มันละเอียดลึกซึ้ง นี่ปัญญาของธรรม ถ้าปัญญาของธรรมนี้เกิดขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์แบบนี้ ทีนี้พอเราเป็นอย่างนี้แล้วนะ เขาบอกว่า
ถาม : โยมไม่รู้จะบอกเขาอย่างไรว่าสิ่งที่อยู่ในใจของเรา
ตอบ : บอกก็ไม่รู้ บอกกันก็เถียงกันไม่จบ อธิบายจนปากเปียกปากแฉะ อธิบายไปเถอะ วุฒิภาวะไม่รู้ก็คือไม่รู้ รู้ไม่ได้ เขารู้ไม่ได้ ยิ่งในปัจจุบันนี้นะพยายามเอาธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์ อธิบายธรรมะเป็นวิทยาศาสตร์กัน พอวิทยาศาสตร์ปั๊บนะเขียนหนังสือเลย แล้วอธิบายเป็นแบบนั้น รู้ไม่ได้หรอก ถ้ารู้ได้นะ ถ้ารู้ได้มันมีภาวนามยปัญญาทำไม? มันมีมรรคหยาบมรรคละเอียดทำไม?
มรรคละเอียดอย่างไรก็รู้ไม่ได้ ถ้ารู้ไม่ได้ปั๊บก็พยายามฟัง ปีนบันไดฟังนะ พอฟังแล้วก็เก็บไว้เป็นสัญญา พอสัญญาก็พูดเหมือนเลย อ้าว กินก็คือกิน เพราะเขาบอกว่าทาน ทานนี้ให้เสียสละทาน หรือว่าทานข้าว? งงแล้วนะ อ้าว กิน กินนี่รู้กันหมดนะ บอกทาน ทานอะไรล่ะ? รับประทานหรือจะทานสิ่งของ? อ้าว ทานอะไร? งงแล้ว คำพูดคำเดียวกัน เห็นไหม กินกับรับประทานก็คือกิริยา คำกิริยา ทีนี้คำกิริยาเรารู้ได้ แต่ถ้าคนไม่เข้าใจศัพท์ ไม่เข้าใจความเป็นจริง พอความเป็นจริงนี่รู้ไม่ได้
ฉะนั้น เวลาพูดเป็นวิทยาศาสตร์ก็พูดเหมือนกันไง ธรรมะเวลาพูด ถ้าสัญญาพูดนะมันไม่มีเหตุมีผลไง พูดแล้วคนที่เขารู้ เขารู้หมดแหละ ฟังปั๊บรู้เลยว่ามันไม่เป็นความจริง ถ้าเป็นความจริงแล้ว สิ่งที่ว่าเราจะบอกเขาได้อย่างไร? ถ้าจิตใจเราสูงกว่าเราจะบอกให้เขารู้มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้นะ เวลาหลวงตาท่านเทศน์สอนพระนะท่านจะยืนยันกับพระตลอด
ปฏิบัติไปนะ แล้วถ้าวันไหนพวกท่านรู้นะพวกท่านจะมากราบศพผม
ท่านบอกไม่ได้ไง คือท่านจะบอกให้รู้ไม่ได้ แต่ท่านท้ากับลูกศิษย์ประจำ
พวกท่านปฏิบัติไปนะ ถ้าพวกท่านรู้นะพวกท่านจะมากราบศพ
เวลาหลวงตาอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเคี่ยวเข็ญขนาดไหน ติดสมาธิอยู่ ๕ ปีนะ
มหา จิตเป็นอย่างไร?
ดีครับ
มหา จิตเป็นอย่างไร?
ดีครับ ดีครับ
เวลาจะเอา เห็นไหม ดีอย่างนี้มันดีแบบเศษเนื้อติดฟัน สุขแบบนี้มันสุขแบบเศษเนื้อติดฟัน สุขแบบนี้มันสุขแค่เศษเนื้อในปากเท่านั้นแหละ ความจริงมันมีกว่านี้อีก แล้วซัดเข้าไปๆ ถึงได้ออก พอได้ออกมา ออกมาก็มาเจออสุภะ นี่สิ่งที่ว่าเคี่ยวเข็ญมาขนาดนี้นะ เวลาเคี่ยวเข็ญดูแลกันมาขนาดนี้ แล้วเวลาติดขึ้นมาแล้ว เวลาติดจะไปบอกมันก็เกิดทิฐินะ เหมือนเด็กเลย
เด็กมันมีตุ๊กตาอยู่ตัวหนึ่ง จะไปดึงออกจากมือมันร้องตาย ไม่มีทาง ตุ๊กตาที่เด็กมันรักนะ เอ็งไปดึงจากมือมันสิมีปัญหาทันที แต่ถ้าเอ็งจะเอาตุ๊กตาจากเด็กนะเอ็งจะเอาอะไรมาแลกเปลี่ยน เอาตุ๊กตาที่สวยกว่า เอาสิ่งที่ดีกว่า เอาตัวนี้ดีกว่าไหม? เอาตัวนี้ดีกว่าไหม? ตัวนั้นไม่ถูกต้อง นี่วุฒิภาวะมันรู้ไม่ได้หรอก
ฉะนั้น กรณีอย่างนี้นะ ผู้ที่ปฏิบัติจะซึ้งมาก ถ้าเรายังไม่รู้นะเราจะบอกว่ารู้ จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนั้น อธิบายใหญ่โตเลย ไอ้คนไม่รู้มันอธิบายใหญ่เลย แต่ไอ้คนที่รู้นะเงียบ เงียบหมายความว่าเวลาหลวงตาท่านเผาศพหลวงปู่มั่นแล้ว แล้วท่านไปบรรลุธรรมที่ดอยธรรมเจดีย์ เห็นไหม ท่านกลับมาที่วัดป่าสุทธาวาส มากราบ มากราบอัฐิของหลวงปู่มั่น มาขอขมาลาโทษตอนที่ว่าหลวงปู่มั่นสอน แล้วทิฐิมานะของเราเห็นอย่างไร
เวลาท่านพูดนะ หลวงตาท่านบอกว่าสิ่งที่ท่านพูด ท่านโต้แย้งไม่ได้โต้แย้งด้วยทิฐิมานะหรอก มันโต้แย้งด้วยเราปฏิบัติไปเราก็จะรู้ เราก็จะเห็นของเราไปแบบนี้ ถ้าเรารู้ เราเห็นไปแบบนี้ แต่เรายังมีกิเลสยังมีอวิชชาในหัวใจ มันก็มีกิเลสอวิชชาบวกเข้ามาในความรู้ ความเห็นอันนั้น ฉะนั้น พอรู้เห็นอย่างนั้น ไม่รู้มันจะบอกว่ารู้ทั้งนั้นแหละ ไม่รู้มันจะอวดอธิบายได้หมดเลย เพราะ เพราะมันทางวิชาการ ทางจินตนาการ เห็นไหม จินตมยปัญญามันทำได้ทั้งนั้นแหละ แต่มันไม่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริงแต่เรามีจิตรับรู้ จิตรับรู้เราก็รู้ของเราอยู่อย่างนี้ เราก็มีความเห็นของเรา เราจะอธิบายความเห็นของเราไง
อย่างเช่นใครรู้ ใครเห็นสิ่งใดมา บอกให้ปล่อยวาง เหมือนตุ๊กตาจากเด็ก ให้เด็กมันปล่อยวาง ที่มันรักของมันจะให้มันปล่อยวาง ที่มันรักของมันจะให้มันปล่อยวางมันเป็นไปไม่ได้หรอก ถ้ามันเป็นไปไม่ได้เราบอกตุ๊กตาก็ผิด เขาเอาตุ๊กตาเขามาเลย เขาอธิบายได้หมดเลย ตุ๊กตาเขาดีขนาดไหน สวยขนาดไหน ถูกใจขนาดไหน ยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่มันก็เป็นตุ๊กตาของเขา ไม่ใช่ธรรมของเขา ทีนี้ไม่ใช่ธรรมของเขามันก็มีทิฐิ นี่เวลาติดติดกันอย่างนี้
นี่เวลาครูบาอาจารย์ที่เขาแก้กันเขาแก้กันแบบนี้ สุดท้ายแล้วนะพอหลวงปู่มั่นท่านแก้หลวงตามาเรื่อย แล้วหลวงปู่มั่นท่านเสียไปก่อน เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติจบแล้ว ท่านมากราบอัฐิของหลวงปู่มั่น มาขอขมาลาโทษ นี่ผู้ที่พูดอย่างนี้ท่านมีประสบการณ์ของท่าน ท่านถึงได้ท้าทายพระประจำ ตอนที่เราอยู่กับท่านนะ
ให้ปฏิบัติมา ถ้าใครปฏิบัติมาถึงที่นี่นะจะต้องมากราบศพผมถ้าผมตายไปแล้ว
ถ้ายังปฏิบัติไม่ได้นะมันเก่ง มันปากเก่ง มันยังเถียงอยู่ ถ้ามันยังปฏิบัติไม่ถึงนะ แต๊ดๆๆ เก่งไปหมด เก่งนั้นคือจินตนาการไง ในเมื่อเรามีของเรา เรารู้ของเรา แต่รู้แบบกิเลสไง รู้แบบกิเลส นี่ไงคำถามเขาบอกว่า แล้วโยมจะพูดให้เขาเข้าใจได้อย่างไร? นี่เพราะความเราอยากให้เขาเข้าใจไง เพราะความอยากให้เขาเข้าใจ เราพยายามอธิบายให้เขาฟังนะ กิเลสเขายิ่งเพิ่มมากขึ้น มากขึ้นเพราะอะไร? เรามีตุ๊กตาตัวหนึ่ง แล้วเขาจะมาเอาตุ๊กตาตัวอื่นมาแลก แล้วเขาพยายามอธิบายว่าตุ๊กตาเขาดีกว่า เราจะยอมไหม? เราก็ต้องอธิบายว่าตุ๊กตาเราดีกว่า มันเกิดทิฐิที่หนักขึ้น เกิดความยึดมั่นถือมั่นที่รุนแรงขึ้น
นี่ไงเวลาครูบาอาจารย์ท่านจะสอนนะ ท่านจะทำอย่างไรให้เขาไม่เกิดมีทิฐิในความเห็นเขาก่อน แล้วถ้าเขาเกิดไม่มีทิฐิในความเห็นเขาแล้ว ถึงเอาเหตุเอาผลมาอธิบายกันอีก พอเอาเหตุเอาผลมาอธิบายกันเขายังไม่เชื่อหรอก ไม่มีใครเชื่อใคร ไม่มี แต่ถ้าเขาเอาไปตรวจสอบ เอาไปประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าเขาไปถึงจุดนั้นนะ อ๋อ จบ ถ้าไม่อ๋อนะไม่มีทาง เรื่องกรณีอย่างนี้ นี่ไงเวลาบอกว่าทำไมไม่ไปแก้คนนู้น ทำไมไม่ไปดูแลคนนี้ ไปเขาก็เยาะเย้ยถากถาง กิเลสมันจะยอมใคร? มันทั้งเยาะเย้ย ทั้งถากถาง ทั้งดูถูก ทั้งดูแคลนนะ แล้วจะไปแก้ใคร? มันก็เวรกรรมของเขา แต่ถ้าเขามีอำนาจวาสนานะเขาจะตรวจสอบความเห็นของเขา
ความเห็นของเรานี่ตรวจสอบสิจริงหรือเปล่า? เรากล้ายืนยันเลย ทุกดวงใจว้าเหว่ ถ้าไม่เป็นความจริงมันสงสัย มันมีความลังเลสงสัยในใจของมันทุกดวงใจ ทุกดวงใจที่ยืนยัน ที่คุยโม้กันอยู่นั่นน่ะทุกดวงใจมันสงสัย แล้วมันสงสัยนะสงสัยแบบเด็กๆ ไง มันยึดมั่นถือมั่นตุ๊กตามันไว้ แล้วมันจะอ้างว่าตุ๊กตาถูก ตุ๊กตาถูก แต่ไม่เทียบเคียงกับคนอื่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีบารมีนะมันจะเทียบเคียงไง
ดูสิเวลาลูกศิษย์กรรมฐาน นี่เราได้ฟังเขาเล่ามา ว่าก่อนที่ในหลวงพยายามจะเข้ามากรรมฐาน ให้ด็อกเตอร์เชาวน์ไปตรวจสอบกับพระ เพราะไปแล้ว แบบว่าสถานะแล้วมันจะเสียหาย ด็อกเตอร์เชาวน์ก็ไปคุยกับพระแทบทุกองค์ แล้วไปสรุปกับในหลวงว่า เวลาพูดถึงวิธีการแตกต่างกันมาเกือบทั้งนั้น แต่ผลอันเดียวกัน ด็อกเตอร์เชาวน์ไปยืนยันกับในหลวง พอยืนยันกับในหลวงแล้ว ในหลวงถึงมาหาครูบาอาจารย์ของเราค่อยมา นี่ไงถ้ามันถึงที่สุดแล้วมันเป็นอันเดียว พูดถึงถ้ามันเป็นความจริงนะ
ฉะนั้น ถ้าเขาไม่จริง แล้วโยมจะบอกเขาได้อย่างไร? เราจะบอกเขาให้เขาเข้าใจ โดยทางวิชาการทางโลกจะพูดอย่างนี้ ครูบาอาจารย์อยากให้นักเรียนนักศึกษาของเรามีความรู้ อยากให้ทุกคนเป็นคนดี ทุกอย่างเป็นคนดี ทุกคนคิดแบบนี้หมดเลย แล้วเวลาสอนไปมันก็ เห็นไหม นักเรียนที่ดีก็มี นักเรียนปานกลางก็มี นักเรียนที่มันยังเกเรในตามนิสัยเขาก็มี
ไอ้กรณีนี้มันเป็นที่ผู้รับด้วย ฉะนั้น ในทางวิชาการจะบอกว่าเราจะต้องสอนให้ดี เราต้องทำให้ดี เราต้องแก้ไขเขาให้ได้ ถ้าแก้ไขเขาให้ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นอำนาจวาสนาของเขามี ถ้าเราสอนไป เพราะอย่างว่าเครื่องส่งกับเครื่องรับมันเข้ากันได้ ประโยชน์นี่เกิดมากเลย แต่ถ้าเครื่องรับมันไม่ยอมรับล่ะ? เครื่องรับมันรับไม่ได้ เครื่องส่งจะส่งอย่างไร?
เครื่องรับรับไม่ได้ อันนี้พูดถึงทางวิชาการนะ แล้วถ้าเป็นปฏิบัติ จิตใจที่สูงกว่า จิตใจที่ต่ำกว่ารู้ไม่ได้ ไม่ได้ จิตใจที่ต่ำกว่า จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมาได้ แต่จิตใจที่ต่ำกว่า จะรู้จิตใจที่สูงกว่าไม่ได้ ปุถุชนจะรู้วุฒิภาวะของพระโสดาบันเป็นไปไม่ได้ พระโสดาบันจะรู้วุฒิภาวะของพระสกิทาคามีเป็นไปไม่ได้ พระสกิทาคามีจะรู้วุฒิภาวะของพระอนาคามีเป็นไปไม่ได้ พระอนาคามีจะรู้วุฒิภาวะของพระอรหันต์เป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ แต่ผู้ที่สูงกว่ารู้หมด พอรู้หมดคำพูดมันก็ชัดเจนไง
นี่พูดถึงว่า
ถาม : แล้วเราจะบอกเขาได้อย่างไร?
ตอบ : แล้วทำไมเราต้องไปบอกเขา จำเป็นต้องให้เขารู้ล่ะ? เราก็สอนเขา บอกเขาเท่าที่เขาจะเข้าใจได้ ถ้าเขาเข้าใจไม่ได้ หลวงตา นี่ประสบการณ์หลวงตาทั้งชีวิตนะ หลวงตานี่นะบวชมาเกือบ ๑๐๐ ปี นี่เวลาประสบการณ์ชีวิต ถ้าถึงที่สุดแล้วท่านจะสรุปลงว่ามันเป็นกรรมของสัตว์
ถ้ากรรมของสัตว์ สัตว์มันมีทิฐิ มีความเห็นแบบนั้น มันก็จะเป็นกรรมแบบนั้น วันใดกรรมของเขา คุณงามความดีของเขาทำให้จิตใจของเขาเบาบางลง เขาจะแสวงหา เขาจะฟัง แล้วเขาจะเข้าใจ แล้วพอเขาเข้าใจนะเขาก็จะคิดน้อยใจ ทำไมไม่มีใครบอกฉัน? ทำไมไม่มีใครบอกฉัน? ถ้าคนเข้าใจแล้วนะจะอุทานอย่างนี้เกือบทั้งนั้นเลย ทำไมไม่มีใครมีความเมตตาบอกเราเลย เขาพูดกรอกหูทุกวันมันไม่เชื่อ แต่ถ้าวันไหนหัวใจมันพลิกนะ ทำไมไม่มีใครบอกฉัน? ทำไมไม่มีใครบอกฉัน? มันจะเศร้าใจมาก แต่ถ้าคนภาวนาไปแล้วนะมันจะเห็นโทษของกิเลสไง สิ่งที่เป็นแบบนั้นเป็นโทษของกิเลส
นี่พูดถึงปัญญาธรรมมันสูงกว่า แต่ถ้าปัญญาธรรมที่มันสูงกว่า แต่ถ้าเราไม่มีวุฒิภาวะเราก็จะไปเดือดร้อนอย่างนี้ไง ไปเดือดร้อนอย่างนี้ ไปเดือดร้อนว่าถ้าเราสูงกว่า หรือเราเป็นคนดีแล้ว คนต้องเข้าใจความดีของเราสิ เราเป็นคนดี เราเป็นคนที่ทุกคนต้องเห็นคุณงามความดีของเราสิ กิเลสมันไม่เห็นหรอก ยิ่งดีเขายิ่งไม่พอใจ ยิ่งดียิ่งเปรียบเทียบนะ ในใจเขาคิดอีกอย่างหนึ่งนะ แต่ปากเขาพูดอีกอย่างหนึ่ง
ฉะนั้น เราทำความดีทิ้งเหว ความดีก็คือความดีของเรา ทำแล้วก็คือทำแล้ว ถ้าทำแล้วนะ อย่างเช่นครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่มั่นนี่เราซึ้งมาก ซึ้งมากที่ไหน? ซึ้งมากที่ท่านใช้ชีวิตของท่านทั้งชีวิตอยู่ในป่า ในเขา ท่านไม่เคยออกมาสังคมเมืองเลย เว้นไว้มาจำพรรษาที่วัดบรมฯ อยู่ ๒ ปี แต่ไม่ติดกันด้วย มาจำพรรษานะก็ด้วยความจำเป็น มาจำพรรษาก็มาจำพรรษากับเจ้าคุณอุบาลี เพราะมันไม่มีครูบาอาจารย์มันก็ต้องมาตรวจสอบการปฏิบัติของตัวไง
มาตรวจสอบกับเจ้าคุณอุบาลีด้วย แล้วมารื้อค้นทางวิชาการมาเปรียบเทียบด้วย ที่ท่านมาจำพรรษานี้ไม่ใช่มาจำพรรษาด้วยอยากมา แต่มาจำพรรษาเพราะมันไม่มีใครตรวจสอบความเป็นจริงอันนั้น แล้วพอสุดท้ายแล้วท่านจะอยู่ในป่าในเขา นี่ไม่คุ้นชินกับใคร แล้วการอยู่ในป่า ในเขาอย่างนั้น สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์กับความเชื่อมั่นของลูกศิษย์ลูกหาไง ลูกศิษย์ลูกหาจะเชื่อมั่นการกระทำของท่าน
หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านพูดบ่อย หลวงตาท่านบอกนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเล่าให้ฟัง ถึงตอนที่อยู่ในป่า แล้วท่านอยู่คนเดียว เวลามันทั้งอดทั้งอยาก ทั้งต่างๆ ท่านพูดไปปกติ ท่านเล่าไว้เป็นคติแบบอย่าง แต่หลวงตาบอกว่าท่านต้องเบือนหน้าเข้าข้างฝาแอบเช็ดน้ำตา หลวงตานะ คนเล่าท่านเล่าไว้เป็นคติ ไอ้คนฟังนะต้องเบือนหน้าเข้าข้างฝา แล้วเช็ดน้ำตาตัวเอง ชีวิตของท่านเป็นแบบนั้น ถ้าพูดถึงทางโลก ความสุขทางโลกไม่มีเลย นี่มันเป็นแบบอย่างไง แล้วมันมั่นคงในหัวใจได้อย่างไรล่ะ?
หลวงปู่เจี๊ยะท่านพูด เวลามีอาหารนะท่านคิดถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นไม่เคยฉันแบบนี้ แล้วเวลาหลวงปู่กงมามาเที่ยวภาคกลาง มาเห็นพระกรรมฐานนะร้องไห้เหมือนกัน ถ้าลองขบฉันกันแบบนี้ กรรมฐานตายหมด กรรมฐานจะไม่เหลือรอด ถ้าขบฉันกันแบบนี้กรรมฐานตายหมด นี่ไงทีนี้ทางโลกคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ทางธรรมคิดไปอีกอย่างหนึ่ง ทีนี้คิดอย่างหนึ่ง ถ้าปัญญาทางธรรมมันสูงแล้วมันก็จบ นี่ปัญญาทางโลก
ฉะนั้น เราไม่ต้องไปตกใจไงว่าจะทำอย่างไรให้เขารู้ ให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนดี เราจะทำอย่างไรให้เขาเห็นว่าเป็นคนดี ทำอย่างไรให้คนอื่นเขาเข้าใจได้ ไม่ต้องหรอก เรารักษาใจเรา กรรมของสัตว์ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็ต้องทำตัวเราให้เหมือนเขา ทำตัวเราให้เหมือนเขาเราก็ทำให้ตกต่ำไปอย่างนั้น ตอนนี้เราไม่ทำตัวตกต่ำแบบนั้น เราทิ้งแล้ว เราจะขึ้นมาให้สูงกว่า ทีนี้ขึ้นมาให้สูงกว่าเขาเข้าใจเราไม่ได้ เขาเข้าใจเราไม่ได้มันก็กรรมของสัตว์ใช่ไหม? เพียงแต่ว่าเราจะเอาความดีของเรา หรือเราจะทำตัวเราให้ลงไปอยู่แบบเดียวกับเขา
นี่พูดถึงความเห็นนะ ผู้ปฏิบัติธรรมจะมีปัญหาอย่างนี้แทบทุกคนเลย เวลาอยู่กับเขาอยู่กันปกติ เวลาปฏิบัติไปแล้วมันเริ่ม บางอย่างเรางดเว้น พอเริ่มงดเว้น ลูกผู้ชายไม่กินเหล้าคบไม่ได้ (หัวเราะ) ลูกผู้ชายไม่กินเหล้าคบไม่ได้ แล้วคบได้หรือเปล่าล่ะ? คบได้ไหม? เราก็เห็น ถ้าเราทำดีแล้วเรายืนหยัดอยู่ได้นี่สำคัญมาก สำคัญที่เรายืนหยัดอยู่ได้ คนดียืนหยัดอยู่กับความดีของตัวเองไม่ได้ เวลาเจอแรงเสียดทาน ทิ้งความดีของเราลงไปทำกับเขามันเป็นไปได้อย่างไร?
ทีนี้แนะนำเขาไม่ได้ เขาก็บอกว่า
ถาม : มันดูเหมือนคำแนะนำของเราเหมือนคนจนตรอก คนยอมจำนน
ตอบ : เวลาคนยอมจำนนนะ มันยอมจำนนเพราะคนโง่ คนยอมจำนนเพราะคนขาดปัญญา คนยอมจำนนเพราะไม่มีทางออก แต่นี้ของเราปัญญามันสว่างไสว อาโลโก อุทะปาทิ นี่มีวิชา เกิดญาณ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา มันสว่างกระจ่างแจ้ง มันจำนนตรงไหน? มันรู้แจ้งไง มันรู้แจ้งว่าถ้าทำอย่างนี้มันจะเกิดโทษอย่างนั้น ทำอย่างนั้นมันจะเกิดปัญหาอย่างนั้น ปัญหามันเป็นลูกโซ่ไม่มีวันจบ แล้วถ้าปัญหาเป็นลูกโซ่ไม่มีวันจบ ถ้าเราตัดต้นเหตุไปแล้ว มันไม่มีปัญหาไปแล้ว อย่างนี้ยอมจำนนหรือ? คนยอมจำนนคือมันไม่รู้ว่าปัญหามันเกิดอย่างไร? พอปัญหามันเกิดอย่างไร ถ้ามีปัญหาแล้ว มันเป็นปัญหาทางลูกโซ่ไปมันจะจบลงตรงไหน?
นี่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร กิเลสหรือ? กิเลสมันไม่มีเหตุมีผล กิเลสมันจะขี่หัวเราตลอดไป กิเลสต้องฆ่า อ้าว ฆ่ากิเลสแล้ว กิเลสมันก็มีพญามาร ฆ่าลูกมัน ฆ่าหลานมันก็เป็นโสดาบัน ฆ่าลูกมันเป็นสกิทาคามี ฆ่าพ่อมันก็เป็นอนาคามี ฆ่าปู่มันเลย ฆ่าพญามารเลยมันก็จบ มันก็เป็นพระอรหันต์
อ้าว ฆ่ากิเลสแล้วมันมีใครเขาจะมาทำลายต่อล่ะ? มันเป็นลูกโซ่ต่อไปไหน? แต่ถ้าเป็นเรื่องสังคมมันเป็นปัญหาลูกโซ่ มันสัมพันธ์ มันปฏิสัมพันธ์กันไม่มีที่สิ้นสุด แล้วบอกว่าเป็นคนจนตรอก เป็นคนที่อธิบายได้จบสิ้น เป็นคนอธิบายที่เหตุที่ผลมา แต่โลกคิดกันอย่างนั้น นี่บอกว่าเป็นลัทธิยอมจำนน อะไรก็ยกให้กรรมให้หมด อะไรก็ยกให้กรรม ยกให้กรรมหมดเลย พอยกให้กรรม
กรรมคือการกระทำ ในเมื่อเรากระทำมาแล้ว ถ้าเราไม่เคยกระทำมา ปัญหาที่เกิดขึ้นมันจะไม่เกิด ถ้าปัญหาที่มันเกิดขึ้น เห็นไหม นี่การกระทำในปัจจุบันนี้มันกรรมปัจจุบัน แล้วกรรมปัจจุบัน คนทำกรรมปัจจุบัน ทำกรรมแล้วมีคนมาเคลียร์ให้ มีคนแก้ไขปัญหานี้ให้มันก็จบกันไป ถ้าเราทำกรรมปัจจุบัน แล้วมันมีกรรมมาจากอดีต กรรมมาจากอดีตที่มันเป็นเวร เป็นกรรมมันผูกพันกันมาไม่มีใครรู้ได้ มันเป็นอนาคตังสญาณของพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ได้ว่ามันมีเวรมีกรรมอย่างไรมันถึงมาเกิดผลอย่างนี้
ถ้าเวรกรรมในปัจจุบัน ถ้าแก้ไขได้ เคลียร์ได้มันก็จบกันไป ถ้ามันมีเวรกรรมอดีตขึ้นมา มันไม่จบ มันเป็นปัญหาต่อเนื่องกันไป ปัญหาต่อเนื่องกันไปเราก็ต้องดูแลใจเรา เพราะในปัจจุบันนี้เราเข้าใจเรื่องของกรรมแล้ว ถ้าเรื่องของกรรมมันยอมจำนนไหมล่ะ? แต่ถ้ามันไม่ยอมจำนน มันไม่มีเหตุมีผลมันจบไม่ได้ มันจบไม่ได้ อู้ฮู ฆ่ากันตายไปแล้วยังอาฆาตไปชาติหน้านะ ยังอาฆาตกันไปต่อเนื่อง มันจบไหม? มันไม่จบ ถ้ามันไม่จบ คำว่ายอมจำนนมันเป็นโวหาร แต่ถ้าเราบอกว่าเราทำ เราทำตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามธรรมๆ เราระงับได้
เวรระงับด้วยการไม่จองเวร จบสิ้นกันไป เราอโหสิกรรม เรายกให้ จบ พอเรายกให้แล้วเวรกรรมของเรามันไม่มี แต่เขามี ถ้าเขายังผูกโกรธอยู่นะ ถ้าเรายกให้แล้วเขาไม่มีก็จบกันไป นี่พูดถึงว่าจนตรอก ยอมจำนน โดนอย่างนี้ทุกคนนะ อย่างนี้จะโดนกันทุกคน ถ้าเราแก้ไขของเรามันก็จบของเรา ถ้าจบของเรามันก็จบสิ้น ถ้าปัญญาธรรมมันมีมันจะทำให้เราไม่จุดไฟเผาตัวเองไง เวลาอย่างนี้โดนเขาเผามาแล้วนะ เดี๋ยวใจตัวเองมันจะเผาตัวเองอีกรอบหนึ่ง เวลาใจมันเผาตัวเองอีกนะ โอ้โฮ ยิ่งร้อนเข้าไปใหญ่เลย
ฉะนั้น สิ่งนี้เราเกิดแล้ว นี่เราเกิดแล้วเรารู้ทัน อันนี้เราเป็นบัณฑิต เราเป็นบัณฑิตเราดูแลได้ เรารักษาใจของเราได้มันก็จบกันไป ฉะนั้น เราดูแลใจของเราดีกว่า ปฏิบัติไปนะ เราจะบอกว่าอย่างเช่นปฏิบัติกัน เห็นไหม เริ่มต้นเขาบอกว่าพิจารณาอสุภะๆ พิจารณากามราคะ เราบอกไม่ต้องหรอก พิจารณากายนี่แหละ พิจารณากายเป็นสักกายทิฏฐิ ถ้าพิจารณากาย ถ้ามันปล่อยวางได้นะ พิจารณาธาตุขันธ์มันก็เป็นสกิทาคามีนะ เดี๋ยวไปเจออนาคามี ไปเจออสุภะ ไปเจอกามราคะ ไปเจอของจริงนะมันจะรุนแรงกว่านี้เยอะเลย ถ้าไปเจอเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงของกามราคะ นั่นแหละ เพราะทุกคนต้องผ่าน ถ้าไม่ผ่านสิ่งนี้มันไปไม่รอด
ฉะนั้น ไปถึงตรงนั้นนะ มันไปเจอข้อเท็จจริง นี่น้ำป่าที่มันพลัดใส่ มหาสติ มหาปัญญาสู้กันอย่างไร? ถึงตอนนั้น นี่ถ้าปฏิบัติไปนะปัญหาของเรา งานของเรายังอีกล้นเหลือ ถ้างานของเรานะเรายังต้องต่อสู้ ยังต้องแก้ไขในใจเราอีกมากมายมหาศาล งานสาธารณะ งานสังคมเนาะ ถ้าจำเป็นต้องทำก็ทำ ถ้าไม่จำเป็นต้องทำเราก็วางไว้ งานของเรายังมีอีกเยอะ
ข้อ ๙๗๘. ไม่มีนะ ข้อ ๙๗๙. รายงานผลนี่เขายกเลิก แต่เราอยากพูดนิดหนึ่ง อยากพูดที่ว่า เขาสงสัยว่า
ถาม : เวลาเขาภาวนาไปเขาเห็นความอยากของเขา เขาบอกความอยากเกิดขึ้นมันคือภพหรือเปล่า?
ตอบ : ถ้าคือภพนะ คำว่าภพ ภวาสวะ เห็นไหม กิเลสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ กิเลสวะนี่เรารู้ได้ว่ากิเลสคืออวิชชา กิเลสคือกิเลสใช่ไหม? อวิชชาคือความไม่รู้ แล้วภพนี่ก็เป็นภวาสวะ แล้วทีนี้บอกว่าพอความคิดเขาว่าตรงนั้นเป็นภพ ถ้าหยาบๆ มันก็เหมารวมกันได้ มันอนุมานเอาได้ มันอนุมานเอาว่าสิ่งนี้เป็นภพ เพราะความคิดมันเกิดบนนั้น ถ้าเราตามไปมันน่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าพูดถึงโดยข้อเท็จจริง ภพนี่นะมันละเอียดลึกซึ้ง ภพนี่มันเป็นจิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ข้ามพ้นกิเลส
แม้แต่ผ่องใสๆ นี่ยังไม่เห็นภพเลยนะเพราะมันส่งออก แต่ถ้าความผ่องใสนี้มันย้อนกลับเข้าไปหาตัวมันเอง นี่มันถึงจะไปรู้จัก จะไปเห็นภพ ถ้าไปเห็นภพเห็นไหม เห็นภพนั่นแหละคืออวิชชา นั่นแหละคือจิตเดิมแท้ นั่นแหละปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิคือการเริ่มต้นของมันไง ถ้าการเริ่มต้นของมัน ทีนี้ภาวนาไปมันจะรู้จะเห็น
ฉะนั้น เพียงแต่ว่า เขาว่า
ถาม : เห็นภพหรือไม่?
ตอบ : ถ้าอนุมานเอาว่าเป็นภพ อนุมานเอาหมายถึงว่าเราใช้ทางวิชาการ แล้วเราเปรียบเทียบกับความรู้สึกของเรา ถ้าอนุมานว่าเป็นภพได้ไหม? ได้ อนุมานเอาหมายความว่าเราจะใช้ปัญญาของเรา เราจะแก้ไขของเรา แล้วปัญญามันต้องเคลียร์ ปัญญามันต้องแบบว่าถึงที่สุด ถ้ามันถึงที่สุด เวลาความคิดเราหมุนไปแล้ว เราจะสรุปเอาได้อย่างไรว่าความคิดเราเกิดที่ไหน ดับที่ไหนใช่ไหม? พอความคิดเราเกิดที่ไหน ดับที่ไหน เราก็ว่าที่นั่นคือภพ
ถ้าว่าอนุมานเอาได้ไหม? ได้ แต่ถ้าเป็นตัวจริงนะไม่ใช่ ถ้าเป็นตัวจริงไม่ใช่ เพราะตัวจริงยังอีกไกลนัก อีกไกลนักหมายถึงว่ามันต้องเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี แล้วต้องเป็นอรหัตตมรรคต่างหากถึงจะจับตัวภพได้ อรหัตตมรรคคือจับตัวภพ ถ้าจับตัวภพ ทำลายภพ ทำลายชาติไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าคำถามเขายกเลิกไปแล้ว ก็เลยอธิบายมากไม่ได้ หาว่า แหม หลวงพ่อ หนูเข้าใจแล้วหลวงพ่อยังมาตอบอีกหรือ? (หัวเราะ) ปัญหานี้ทีแรกว่าจะหนักตรงนี้เลย ทีนี้เขาอีเมล์มาว่าขอยกเลิก สงสัยเข้าใจแล้ว
ฉะนั้น เขาถามว่าเขาคิดแล้วโดยปัญญาของเขา นี่เขาเห็นว่าอันนั้นคือตัวภพ อยากคือภพเกิด อยากคือภพเกิด คือภพอยู่ที่การอยาก การรู้สึกนึกคิด ฉะนั้น ถ้าอนุมานเอาก็ใช้ได้อยู่ คำว่าใช้ได้หมายถึงว่าอย่างเช่นเราพูดเมื่อกี้นี้ ว่าถ้าเป็นครูบาอาจารย์ก็อยากจะสอนให้นักเรียนเป็นคนดี ทุกอย่างให้เป็นคนดี
อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อการปฏิบัติใหม่มันก็เหมือนอนุบาล เราเหมือนกับอนุบาล เหมือนกับเราฝึกหัด ถ้าฝึกหัดแล้วเราจะแบบว่าอ้างอิง หรืออาศัยว่าสิ่งนั้นเป็นจุดหมาย เป็นเป้าหมาย อันนี้เป็นภพ อันนั้นเป็นความคิด ความรู้สึก อย่างเช่นทางปริยัติ นี่ขันธ์ ๕ เป็นอย่างนั้น ความรู้สึกเป็นอย่างนี้ นี่อนุมานเอาได้
ฉะนั้น อนุมานเอาก็แบบว่าทำให้เรามีหลักมีเกณฑ์ ทำให้เรามีการฝึกหัด ทำให้เรามีเป้าหมาย ถ้าอย่างนี้เราปฏิบัติแบบอนุมานเอา นี่แล้วปัญญามันจะเกิดนะ ถ้าปัญญาทางธรรมมันเกิดมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น แหม ยกเลิกไปแล้ว อธิบายไม่ได้ (หัวเราะ)
ข้อ ๙๘๐. เนาะ
ถาม : ๙๘๐. เรื่อง ผมอยากทราบวิธีการวิปัสสนาที่เหมาะสม
อยากให้หลวงพ่อแนะนำวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสม รวมถึงวิปัสสนาด้วยครับ เนื่องผมตั้งสัจจะไว้กับรูปหลวงปู่มั่นไว้ว่า ๔ เดือนจะปฏิบัติถวาย ขอหลวงพ่อแนะนำด้วย
ตอบ : นี่เขาบอกว่าเขาต้องทำ คือว่าเขาตั้งสัจจะกับหลวงปู่มั่น เพื่อผลประโยชน์กับน้ำท่วมของเขา แล้วน้ำมันไม่ท่วมบ้านเขา (หัวเราะ) เขาเลยต้องปฏิบัติ ๔ เดือน แล้วจะปฏิบัติอย่างไรให้ดีที่สุดไง
ถ้าวิปัสสนาด้วย วิปัสสนามันต้องเกิดอย่างนี้ วิปัสสนามันต้องเกิดจิตสงบ พอจิตสงบแล้วจิตเห็นตามข้อเท็จจริงมันถึงเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาหมายความว่ามันเห็นตามข้อเท็จจริง มันมีคุณค่าทางธรรม มีคุณค่าทางธรรมะ ทางธรรมะมันไม่ใช่อธรรม อธรรมคือธรรมฝ่ายต่ำ อธรรม ธรรมที่ผิดเพี้ยน ธรรมที่บิดเบี้ยว ถ้าธรรมะมันจะถูกต้องใช่ไหม?
ฉะนั้น วิปัสสนา วิปัสสนาญาณมันเกิด สัจธรรมมันจะเกิดต่อเมื่อจิตสงบ พอจิตสงบมันตรงสัจธรรม มันไม่บิดเบี้ยวเพราะอะไร? มันเป็นสัจธรรม เพราะจิตมันสงบแล้วอวิชชา ถ้าจิตสงบมันไม่มีกิเลส สังเกตได้เวลาถ้าจิตเป็นสมาธิมันจะสุข มันจะสบาย มันจะไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากคอยยุแหย่ แต่ถ้าจิตใจของเราเรายังลังเลสงสัย อยากปฏิบัติธรรม อยากวิปัสสนา
ถ้าวิปัสสนากาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเห็นกายเราก็ระลึก เราก็คิดว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนา เป็นวิปัสสนาทางวิชาการ เพราะวิชาการเขียนไว้อย่างนี้ เราก็ทำตามวิชาการนั้นได้ ถ้าทำวิชาการนั้นได้เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นวิปัสสนา วิปัสสนา เราคิดเอาเองไง เราให้ค่ากันไปเองไง แต่ถ้ามันเป็นความจริง ถ้าจิตมันสงบมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริงจากที่จิตสงบแล้ว มันจะมีคุณค่า มีคุณค่าหมายความว่ามันขนพองสยองเกล้า มันมีรสมีชาติ
รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง
เวลาปฏิบัติธรรม รสของธรรมนะเวลาเป็นธรรมขึ้นมา เป็นสมาธิมันก็มีรสของธรรม มันก็มีสุขข้างของสมาธิ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา มันวิปัสสนา มันใช้ปัญญาแยกแยะขึ้นไปมันก็จะมีรสของธรรม รสของธรรมที่ลึกซึ้ง รสของธรรมที่มันคลายออก ดูสิเรากินอาหาร อาหารที่รสชาติมันไม่อร่อยก็อย่างหนึ่ง อาหารที่รสชาติอร่อยมันฝังใจ จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นวิปัสสนามันจะมีความเห็นของมัน มีความรู้ของมันนะ มันแยกมันแยะของมัน อันนี้มันจะเป็นความจริงขึ้นมา
ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา ความเหมาะสมไง ความเหมาะสมเราก็พยายามทำความสงบของใจ สิ่งที่เขาทำกันทั้งหมด เราพูดบ่อยมากว่าเป็นสมถะไม่ใช่วิปัสสนาหรอก แต่สมถะถ้ามันเป็นความจริงนะ แต่มันไม่เป็นสมถะเพราะมันเป็นมิจฉา มิจฉาคือความเข้าใจผิด เข้าใจเป้าหมายผิด เราจะไปสถานที่หนึ่ง แต่เราเข้าใจว่าสถานที่อยู่อีกสถานที่หนึ่ง เราหาสถานที่นั้นไม่เจอ
นี่ก็เหมือนกัน เราบอกว่านี่เป็นวิปัสสนาๆ ทางวิชาการแล้วเราก็ทำของเราตลอดไป แล้วก็สบายๆ เราหาที่ของเราไม่เจอ เรายังไม่รู้ว่าเราถูกเราผิดเราก็ยังสบายใจอยู่ เราหาที่ของเราไม่เจอ เราหาสถานที่ของเราไม่เจอ เราพยายามค้นหาอยู่ ถ้าเรารู้ว่ามันไม่เจอ เรารู้ว่าหลงทางนะมันเฉามาก มันไม่สบายๆ หรอก แหม เวลาเดิมเป็นแม่เป็ด พ่อเป็ดนะ แม่เป็ดมันเดิน ลูกเป็ดเดินตามเป็นแถวเลยนะ สบายๆ
อย่างนั้นหรือ? อย่างนั้นหรือวิปัสสนา? แต่ถ้ามันรู้ว่าอันไหนมันผิดนะ มันรู้ว่ามันผิดนะ ไอ้แม่เป็ดพาลูกเป็ดเดินเป็นแถวๆ นั่นแหละ พอมันรู้จริงขึ้นมามันสังเวช พอมันสังเวชขึ้นมา นี่ความเหมาะสม ความเหมาะสมคือว่าเราพยายามทำความสงบของใจ ถ้าใจมันใช้ปัญญา มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ สิ่งที่มันคิดขึ้นมา สิ่งที่บอกว่าเป็นวิปัสสนา ปัญญาอบรมสมาธิทั้งนั้นแหละ อบรมสมาธิคือว่าปัญญามันดิบๆ ไง ปัญญาเกิดจากสัญชาตญาณ ปัญญาเกิดจากความเป็นมนุษย์ ปัญญาเกิดจากความรู้สึกนึกคิด
นี่เกิดจากกิเลสทั้งนั้นแหละ แต่มันไปตรึกในธรรมๆ ไง พอตรึกในธรรมมันก็มีความสบายใจ ความสบายใจ มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ความสบายใจคือมันจะเป็นธรรม แต่มันเข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาไง วิปัสสนานี้คือว่าวิปัสสนาแล้วมันเป็นญาณ มันเป็นหยั่งรู้ มันก็เลยมองข้ามสิ่งนี้ จิตสงบถ้ามันรวมตัวมันมีสติมีปัญญา มันจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสัมมาสมาธิ ถ้ามันใช้ปัญญาต่อเนื่องกันไป ใช้ปัญญาต่อเนื่องไปมันเห็นจริงปั๊บมันสะดุดเลย วิปัสสนา อ๋อ วิปัสสนาเป็นแบบนี้
หลวงปู่มั่นท่านพยายามปฏิบัติของท่านนะ นี่เวลาจิตสงบแล้วพิจารณากาย เวลาออกมาแล้วก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรดีขึ้น เอ๊ะ แปลกมาก พิจารณาแล้วพิจารณาเล่าทำไมมันไม่เป็นไป เป็นวิปัสสนาไหม? ถ้าเป็นวิปัสสนามันก็ต้องบรรลุธรรม มันก็ต้องไปได้สิ เวลาหลวงปู่มั่นท่านจิตสงบนะแล้วเห็นกาย พอพิจารณากายเสร็จแล้ว ออกมามันก็ปกติ ไม่มีอะไรเลย
เอ๊ะ ถูกหรือผิดท่านค้นหาของท่าน จนท่านมาสรุปของท่านว่า อ๋อ ท่านปรารถนาพุทธภูมิไว้ ท่านถึงลาพุทธภูมิของท่าน พอลาพุทธภูมิของท่านนะ จิตท่านสงบเข้าไปแล้วเห็นกาย แล้วพิจารณากาย อืม รสชาติมันเปลี่ยน รสชาติมันเปลี่ยนแล้ว เพราะอะไร? เพราะมันเป็นปัญญามันแยกแยะ มันถากถาง พอมันเปลี่ยนขึ้นมา พอมันเป็นจริงขึ้นมานะ เออ อันนี้ใช่ นี่ไงผิดท่านก็รู้ว่าผิด เวลาท่านถูกขึ้นมาท่านก็รู้ของท่านถูก
อันนี้พูดถึงว่าวุฒิภาวะของครูบาอาจารย์นะ แต่ถ้าบอกว่า
ถาม : อยากให้หลวงพ่อแนะนำวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ตอบ : เราก็พยายามทำความสงบของใจ เรากำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ แล้วถ้าจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา เราสังเกตอย่างนี้สิ สังเกตที่เราใช้ปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาของเราเราก็แยกแยะของเราได้ มีความรู้สึกได้ แต่มันมีสุข จับความรู้สึกอันนี้ไว้ แล้วพอถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จิตมันสงบแล้วเราใช้ปัญญาของเราอีก แล้วดูคุณค่าของมันสิ ดูคุณค่าของมันว่าเราใช้ปัญญาปกติที่มันสงบเข้ามา กับคุณค่าที่จิตมันสงบแล้วมันใช้ปัญญามันแตกต่างกันอย่างไร? จับให้ได้สิ มันรู้ มันจับได้เลยล่ะ แล้วมันเทียบเคียงได้ แต่ที่มันเป็นอยู่นี้ที่มันไม่ได้เพราะอะไร? ที่มันไม่ได้เพราะว่าจิตมันไม่เคยสงบไง
จิตของเขาไม่เคยสงบ จิตของเขาไม่เคยเป็นสมาธิ พอจิตของเขาไม่เคยเป็นสมาธิเขาก็ใช้ปัญญาตรึกในธรรมๆ ตรึกสติปัฏฐาน ๔ อยู่นี่ แล้วก็บอกว่าวิปัสสนาๆ มันก็แค่นั้นแหละ นี่คนเรามันไม่เคยลิ้มรสสิ่งที่แตกต่าง มันจะรู้ได้อย่างไรว่ามันแตกต่าง แต่ถ้าเขาได้ลิ้มรสแตกต่างนะ เขาได้ลิ้มรสเองนะ ใครจะมาพูดอย่างไรเขาก็ไม่เชื่อหรอก ใครจะพูดอย่างไรเขาไม่เชื่อ แต่นี่เขาไม่เคยได้ลิ้มรส เขาไม่เคยรู้เคยเห็น เขาก็อ้างอิงพระไตรปิฎก อ้างอิงอันนั้นแหละ แต่ไม่เคยลิ้มรส ไม่เคยสัมผัส ไม่เคยรู้อะไรเลย
นี่พูดถึงความเห็นที่ว่าแม่เป็ดพ่อเป็ดนะ เขาทำอย่างนั้นแหละ เดินเป็นแถว แล้วก็สบายๆ แม่เป็ดกับลูกเป็ดเดินกันเป็นหางเลย วิปัสสนา วิปัสสนา ไอ้นั่นเราจะพูดอย่างนี้ เพราะว่าแนะนำวิธีที่ถูกต้อง เขาอยากได้วิธีที่ถูกต้อง แล้วเขาก็ทำของเขาเอง คือเป็นเรื่องของตัวเองไง ถ้าเรื่องของตัวเอง มันเป็นของตัวเองมันจะทำอย่างนั้น
ฉะนั้น เราทำความสงบของใจเข้ามา เรากำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าจิตสงบแล้วฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ ถ้าปัญญามันฝึกหัดใช้ได้ การฝึกหัดใช้แบบนั้นคือธรรมารมณ์ สติปัฏฐาน ๔ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมะนั่นแหละ ธรรมะ อารมณ์สงบแล้วมันถึงจะเป็นธรรม เป็นธรรมถึงเป็นวิปัสสนา มันเป็นวิปัสสนา พิจารณาไปแล้วมันจะรู้ของมัน มันจะรู้ของมัน เห็นไหม
นี่ปัญญาธรรมเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ปัญญาโลก ปัญญาโลกเขาอยู่ของเขาไปประสาเขา ปัญญาธรรม ปัญญาธรรมตั้งแต่เริ่มต้น จะโดนแรงเสียดสี โดนแรงกระแทกกระทั้น แล้วเราจะรักษาตัวเรามาอย่างไร? แล้วปฏิบัติมา ปฏิบัติไปแล้ว พอเราเริ่มปฏิบัติไปแล้วมันจะถูกต้องอย่างไร? เราจะดูแลอย่างไร? ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมนี่เยอะแยะไปหมดเลย แต่ทำแล้วมันจะได้ประโยชน์ ได้ผลกับตัวเองจริงมากน้อยได้ขนาดไหน? อันนี้อยู่ที่อำนาจวาสนา เอวัง