เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ก.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจ ฟังธรรมะคือเรื่องของเรา ธรรมะคือสัจธรรม แต่สัจธรรมเป็นเรื่องของเราทำไมต้องให้พระบอกล่ะ? ทำไมต้องให้พระบอกพระสอนเรื่องสัจธรรมของเรา เขาบอกธรรมะเป็นธรรมชาติ เราก็บอกธรรมะเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ ถ้าสรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ เขาบอกเลยนะ นี่เอาสัจธรรมมาบังไว้ไง มาบังกิเลสไว้ อ้างธรรม แต่ตัวเองหมักหมมอยู่กับความเห็นของตัว หมักหมมอยู่กับทิฏฐิมานะของตัว แต่บอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาตินะ แต่สัจธรรมมันเป็นเรื่องของเราไง

ฉะนั้น เวลาพระเทศน์พระสอนก็สอนเรื่องของเรานี่แหละ สอนเรื่องก้นบึ้งในหัวใจ เวลามันบีบคั้นในหัวใจ สิ่งนี้ทำไมเราอยากเสียสละ เราอยากจะปลดเปลื้องมัน แล้วเราปลดเปลื้องมันได้ไหมล่ะ? เราปลดเปลื้องไม่ได้ เพราะมิจฉาทิฏฐิ เราบอกมิจฉาทิฏฐิไง สัมมาทิฏฐิ เราทำถูกต้องดีงามทั้งนั้นแหละ ถูกต้องดีงามของกิเลสไง แม้แต่เวลาธรรมะๆ อ้างธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ้างธรรมะนะ แต่มันไม่เป็นธรรมะตามสัจจะความจริง ถ้าเป็นสัจจะความจริงนะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปี อุปัฏฐากมาด้วยกัน ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยกัน หัวหกก้นขวิดมาด้วยกัน เวลาไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ เวลารู้ขึ้นมา พอเทศน์ธัมมจักฯ ขึ้นมา เห็นไหม พระอัญญาโกณฑัญญะ “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา”

สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เราก็เห็นธรรมะเป็นธรรมชาติ พระอาทิตย์ขึ้นก็ตกเป็นธรรมดา แต่มันอยู่ข้างนอก มันเกิดดับอยู่ข้างนอก เวลาเรื่องความผิดของคนอื่นเห็นหมด แต่ความผิดของตัวเองไม่เห็น การกระทำของตัวเองมันไม่เห็นว่าการกระทำของตัวเองผิดถูกอย่างใด แต่เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะรู้จริงเห็นจริงเพราะอะไร?

พระอัญญาโกณฑัญญะ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปีด้วยกัน นี่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นมาหมด จะทำทุกรกิริยาขนาดไหน จะทำทุกข์ยากขนาดไหน กลั้นลมหายใจขนาดไหน ปัญจวัคคีย์เห็นหมดเลย เห็นว่าพระพุทธเจ้าทำมาขนาดไหน แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมาจนเต็มที่แล้ว เพราะทำแต่เรื่องร่างกาย ทำแต่เรื่องร่างกายเพราะว่าสรรพสิ่งเราไม่รู้จักหัวใจของเราไง หัวใจของเรา เราบอกใจของเราอยู่ในร่างกายของเรา แต่สรรพสิ่งในนี้ก็เป็นของเรา

นี่สักกายทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิดไง มิจฉาทิฏฐิ นี่มิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิความเห็นผิดว่าสรรพสิ่งนี้เป็นเรา เนื้อก็เป็นเรา หนังก็เป็นเรา ความรู้สึกก็เป็นเรา ทุกอย่างก็เป็นเรา เป็นของเรา เป็นเราไปทั้งหมดเลย แล้วเราจะแก้ไขที่มัน กลั้นลมหายใจ ทำทุกรกิริยา นี่ร่างกายมันได้รับการทรมาน แล้วทรมานมันก็ว่าจะเป็นทรมานกิเลส แต่มันเป็นทรมานที่ร่างกายแต่ไม่ได้ทรมานที่จิตใจ จิตใจมันก็เร่าร้อนนะ ดูสิทำทุกรกิริยาขนาดนี้ ทำความทุกข์ยากขนาดนี้ ปฏิบัติธรรมขนาดนี้ ทำไมมันไม่รู้ธรรมเสียที ปัญจวัคคีย์ก็นั่งเฝ้าอยู่

ทีนี้พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อสู้ถึงที่สุดนะ ถึงที่สุดมันไปไม่รอดแล้ว ฉะนั้น เราคงเดินไม่ถูกทางแล้ว นี่ทำบุคลาธิษฐาน เทวดาเขาก็มาดีดพิณสามสายใช่ไหม? ถ้ามันตึงไปก็ขาด มันหย่อนไปก็เสียงไม่ดี ถ้ามันปานกลางนี่เสียงดีมาก อันนี้บุคลาธิษฐานนะ แต่ความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทดสอบมาขนาดไหนนะ ฉะนั้น เราต้องมาฟื้นฟูให้ร่างกายเราแข็งแรง ให้ทุกอย่างมันพอเป็นได้

นี่สร้างบุญกุศลมาด้วยกันสหชาติ นางสุชาดาก็อยากจะแก้บนของตัว บนไว้ว่าอยากได้ลูกชาย ได้ลูกชายแล้วจะแก้บน เห็นไหม จะแก้บนกับเทวดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นไม้นะ เห็นว่า อู๋ย นี่เทวดา ฉันอาหารของนางสุชาดาฟื้นฟูร่างกาย แล้วมาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาอานาปานสติกำหนดลมหายใจตั้งแต่โคนต้นหว้า นึกถึงที่โคนต้นหว้านั้น ตั้งแต่ทุกรกิริยาทรมานร่างกายมาตลอด เวลาคิดถึงโคนต้นหว้า นั่งอยู่ที่โคนต้นหว้า กำหนดอานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออก แม้แต่พระอาทิตย์คล้อยไปแล้ว เงามันก็ยังไม่คล้อยตามไป มันมหัศจรรย์นะ แล้วตอนนั้นมันก็มีความสุขมาก แต่ความสุขอย่างนั้นเป็นความสุขที่จิตมันสงบเฉยๆ ความสุขตอนที่เป็นราชกุมารก็ยังคิดได้ ยังจำได้

ฉะนั้น พอมาฉันอาหารของนางสุชาดาแล้ว นี่อธิษฐานว่าคืนนี้เรานั่งแล้วถ้าไม่สำเร็จจะตายคาโคนต้นโพธิ์นี้เลย นี่กำหนดอานาปานสติเข้าไป สิ่งนี้เกิดขึ้นมา สิ่งที่ว่าฟังธรรมๆ ธรรมของใคร? ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ เราก็มองกันสรรพสิ่งนี้เป็นธรรมชาติ วิทยาศาสตร์มันพิสูจน์ได้หมดแหละ สรรพสิ่งพิสูจน์ได้ทั้งนั้น มันก็เป็นธรรมชาติทั้งนั้นแหละ แต่ธรรมชาติมันมีสิ้นสุดไหมล่ะ? มันหมุนเวียนของมันไป มันแปรปรวนของมันไป แล้วมันจบไหมล่ะ? มันไม่จบหรอก

จิตนี้ก็เหมือนกัน กิเลสก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เพราะกิเลสมันอยู่กับจิต จิตมันก็ขับเคลื่อนของมันไป มันก็เวียนตายเวียนเกิดของมันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นธรรมชาติของมัน เวียนตายเวียนเกิดธรรมชาติของมัน แต่! แต่มันมีเวรมีกรรมไง เกิดดี เกิดชั่ว เกิดทุกข์ เกิดยาก นี่การเกิดเหมือนกัน ธรรมชาติเหมือนกัน ธรรมชาติเหมือนกัน แล้วเราจะแก้ไขมันอย่างไรล่ะ? สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับไปเป็นธรรมดา ความคิดก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไปขับดันไง พอใจ ไม่พอใจ

นี่มันเกิดขึ้นเป็นธรรมดา แต่กิเลสมันไม่ธรรมดาไง กิเลสมันบวกมาด้วยไง กิเลสมันบวกมาด้วย ตัณหาความทะยานอยาก ความคิดเราไม่สะอาดบริสุทธิ์ ความคิดเรามีความพอใจ ความไม่พอใจของเราบวกเข้ามา นี่ไงสมุทัยมันบวกเข้ามาด้วย พอพวกเข้ามาด้วย ถ้าสิ่งใดมันเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา ธรรมดาเพราะจิตใจมันรู้เห็น จิตใจมันเป็นสัมมาสมาธิ เพราะว่าอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๖ ปีด้วยกัน มันมีพื้นฐานของมัน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไปมันเห็นของมันตามความเป็นจริง

ตามความเป็นจริง นั่นแหละกิเลสไม่เอาธรรมมาบังหน้า กิเลสเอาธรรมมาบังหน้า สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ สรรพสิ่งเป็นธรรมชาติ อ้างไปหมด แต่ตัวเองมันทุกข์ยาก ทุกข์ยากในหัวใจ หัวใจมันทุกข์ยาก ถ้ามันไม่ทุกข์ยากมันเป็นความจริงอย่างไร? นี่มันเรื่องของเรา เรื่องของเรามันเกิดขึ้นมาที่ไหน? ทางวิทยาศาสตร์เราพิสูจน์ตรวจสอบได้ทั้งนั้นแหละ เราเข้าใจของเราได้ แต่มันไม่ใช่เรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องของเทคโนโลยี เป็นเรื่องของโลกเพื่ออำนวยความสะดวก อำนวยความเป็นอยู่ของชีวิตนี้เท่านั้น แล้วมรรคญาณ มรรคญาณนี้มันก็เป็นวิทยาศาสตร์อันหนึ่งนะ พุทธศาสตร์ ศาสตร์ที่มันจะพิสูจน์ตัวมันเอง

นี่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แล้วใครรู้? ใครตื่น? ใครเบิกบาน? หัวทิ่มบ่ออยู่นี่ตื่นหรือ? ตื่นอะไร? ตื่นในหน้าที่การงานไง ตื่นในทรัพย์สมบัติของเราไง ตื่นแต่เรื่องข้างนอกไง แล้วมันตื่นข้างในไหมล่ะ? ข้างในมันไม่ตื่น ไม่ตื่นมันก็ไม่รู้ ถ้ามันรู้ก็โลกียปัญญา ปัญญาสามัญสำนึก สามัญสำนึกของคนเป็นแบบนี้ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ของมนุษย์มันเป็นแบบนี้ แต่ถ้ามรรคญาณมันเกิดนะ อย่างปัญจวัคคีย์ เห็นไหม จิตมันสงบอยู่แล้ว แต่มันไม่มีทางไป ไปอย่างไร?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปิดทาง ทเวเม ภิกขเว ทางสองส่วนที่ไม่ควรเสพ อัตตกิลมถานุโยค ทรมานตนมา ๖ ปี อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยคก็พอใจ นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ เป็นความสุขก็พอใจ แล้วมันจริงไหมล่ะ? มันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง มัชฌิมาปฏิปทามันเกิดอย่างไร? มัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุล ความพอดีของมัน ความพอดี พอดีที่ไหนล่ะ? พอดีของธรรม ไม่ใช่พอดีของกิเลส ถ้าพอดีของกิเลส ถ้าพอใจนี่มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าอะไรไม่พอใจนี่อัตตกิลมถานุโยค ถ้าพอใจเป็นหมด

นี่พอใจไม่พอใจ ทเวเม ภิกขเว ทางที่ไม่ควรเสพ แต่เราเสพกันประจำ แล้วเสพด้วย แล้วพอใจด้วย แล้วว่าอันนี้เป็นทางถูกต้องด้วย แต่พอเวลาทำความสงบของใจเข้ามานี่ไม่ใช่ อันนี้ไม่ใช่ มันไม่ใช่ปัญญา ทำจิตสงบไม่ใช่ปัญญา อ้าว! ถ้าไม่ใช่ปัญญามันก็เพื่อจะไม่ให้สมุทัยมันบวกเข้ามาไง เพราะมันเป็นปัญญาเราพอใจไง ถ้าไม่ใช่ปัญญาเราก็ไม่พอใจ สมุทัยทั้งนั้น กิเลสทั้งนั้น แต่ถ้ามันสงบเข้ามา เห็นไหม พอสงบ จิตสงบมันเป็นตัวของมันเอง จิตสงบก็คือจิตสงบ เพราะจิตสงบแล้วมีสติ เขาก็ควบคุมใจของเขาได้ แล้วถ้าเกิดปัญญา ปัญญาเกิดอย่างไร? ปัญญาจะเกิดอย่างไร?

นี่ปัญญาที่ชำระกิเลส กิเลสมันคืออะไร? กิเลสมันคือนามธรรม แต่กิเลสมันอาศัยอะไรแสดงออก อาศัยกาย เวทนา จิต ธรรม แสดงออก ดูสิดูกาย ร่างกายถนอมรักษากันนี่อาลัยทั้งนั้นแหละ มันทั้งนั้นแหละ มันแสดงออกของมัน ถ้ามันอาศัยสิ่งนี้แสดงออก การสิ่งที่แสดงออก ถ้าจิตเราสงบเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงคือจิตมันเห็นตามความเป็นจริงที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ใช่เห็นแบบกิเลสไง เห็นแบบการสร้างภาพ เห็นโดยสามัญสำนึก เห็นอย่างนี้มันเห็นอย่างหยาบๆ

เวลากายนอก กายใน เวลากายนอก เวลาพระไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนะสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์กัน แล้วบอกว่าจะเอาธรรมะที่ความเป็นพระอรหันต์จะไปทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ทันก่อนนะ ให้พระไปดักหน้าไว้ บอกไม่ต้องเข้ามาหาเรานะ ให้วกเข้าไปป่าช้าก่อน พอเข้าไปป่าช้า ไปพิจารณาซาศพ จิตใจมันหวั่นไหวนะ รู้หมดเลยว่าไม่ใช่พระอรหันต์

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพระบวชใหม่ เห็นไหม บอกว่าให้ไปเที่ยวป่าช้า ให้ไปเที่ยวป่าช้า กายนอกไง กายนอก กายใน เวลาเรานึกคิดอย่างนี้นึกความคิดนอก ความคิดเรื่องกายไง ความคิดของเรา ความรู้ความเห็นของเรา ความคิดๆ นอก แล้วถ้ามันโลกุตตรปัญญา คิดในภาวนามยปัญญาคิดอย่างไร? นี่ไงถ้าจิตมันเห็นของมัน ถ้าจิตสงบก็รู้ว่าจิตสงบ จิตเห็นกายนี่นะมันสะเทือนเลย เพราะการเห็นกาย

การเห็นกาย เห็นไหม การเห็นกายมันจะเป็นวิปัสสนา ที่ว่าเป็นปัญญาๆ ปัญญามันเกิดอย่างไร? ปัญญาถ้ามันเห็นกายแล้วมันก็สั่นไหวของมันไป แล้วมันก็หลุดไม้หลุดมือไป มันจับต้องสิ่งใดไม่ได้เลย แต่จิตมันสงบมีพื้นฐานนะ นี่ดูสิเวลาทีวี ถ้ามันผิดปกติภาพมันจะสั่นไหวตลอดเวลา จิตมันเห็นชั่วครั้งชั่วคราว เพราะสมาธิฐานมันไม่มั่นคง

นี่เราก็กลับมาทำสมาธิ แล้วพอไปเห็นกายขึ้นมาทุกคนก็อยากเห็นกาย ทุกคนก็อยากพิจารณา ทุกคนก็อยากได้มรรคได้ผล ทุกคนก็เคลื่อนไหวไปหมดเลย แล้วพอไปหมดแล้ว แล้วเป็นอย่างไรต่อ? เป็นอย่างไร ก็ล้มลุกคลุกคลานไง เหมือนกับว่าวเชือกขาด ว่าวเชือกขาดมันควบคุมไม่ได้ มันไปของมัน แต่ว่าวถ้ามีเชือก เราบังคับเชือกมันไว้ ถ้าเรามีสติเรามีปัญญาเราเข้าใจได้ ภาพมันสั่นไหว ภาพมันไม่มั่นคง เราปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วเรากลับมาทำความสงบของใจเข้ามา นี่ไงมันมีเชือกของมัน

เรามีสติปัญญาควบคุมมัน นี่กลับมาทำความสงบของใจให้มั่นคงขึ้นมา แล้วน้อมไปเห็นกาย ถ้าเห็นกายนะ จากภาพที่มันเคลื่อนไหวให้เป็นภาพนิ่ง พอภาพนิ่งแล้วภาพมันคงที่ของมัน แล้วเราทำให้เป็นไตรลักษณ์พิจารณาของมันไป ปัญญาที่มันจะก้าวเดินไป นี่แล้วพอบอกว่าธรรมะเป็นธรรมชาติ มันจะเป็นไหมล่ะ? ถ้าเป็นธรรมชาติมันก็เป็นธรรมชาติ อันนี้มันไม่เป็น ไม่เป็นเพราะอะไร? ไม่เป็นเพราะมีสติ มีปัญญา มีการกระทำ

ดูสิเวลาโสดาบัน เห็นไหม โสดาบันของใคร? ถ้าโสดาบันของครูบาอาจารย์ก็เป็นของท่าน ถ้าโสดาบันของเราล่ะ ก็เป็นของเรา นี่โสดาบันก็ชื่อมัน ชื่อโสดาบัน ชื่อสกิทา ชื่ออนาคาแต่เป็นของใคร? ใครรู้ ใครเห็น ใครได้

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจที่มันรู้ มันเห็น ที่มันพิจารณา เห็นไหม นี่มรรคญาณในหัวใจนั้นมันจะเข้ามาชำระกิเลสในหัวใจนั้น ถ้ามันเข้ามาชำระกิเลสในหัวใจนั้น มันต้องมีการกระทำของมัน มันมีการกระทำของมัน มันมีเหตุมีผล มีข้อเท็จจริงของมัน ถ้ามีเหตุมีผลขึ้นมา เห็นไหม ธรรมะมันต้องเป็นแบบนี้ไง สัจธรรมมันต้องมีเหตุมีผล มีการกระทำ แล้วมีการกระทำแล้ว ถ้าเราเคยทำได้ เราเคยทำของเรา สิ่งที่เราทำมาแล้วเราพูดไม่ได้หรือ? สิ่งที่เรารู้เราเห็น เราทำขึ้นมาเราพูดไม่ได้หรือ?

นี่บอกว่าธรรมะเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอธิบายไป ถ้าอธิบายเป็นทางวิชาการนะ นี่ตอนนี้ศึกษากันแล้วอธิบายทางวิชาการกัน พอวิชาการก็เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ก็ธรรมะเป็นธรรมชาติไง อธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ไง แต่เราล่ะ? เราล่ะ? เห็นไหม ฟังธรรมก็ฟังธรรมเรื่องของเรา ถ้าเรื่องของเรา สิ่งที่รู้แล้วนะ นี่ขนาดทางวิชาการนะเราต้องวางไว้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ปริยัติ ปฏิเวธ ปริยัติแล้วรู้แจ้งไม่มี ปริยัติแล้วนะ ศึกษาแล้วเดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็ทบทวน เปิดหนังสือแล้วเปิดหนังสือเล่า ต้องทบทวนตลอดเวลา ดูปาติโมกข์สิ เวลาสวดปาติโมกข์นะต้องท่องทุกวัน ทวนจนคล่องปาก ถ้าไม่ทวนเดี๋ยวก็หาย นี่ทางการศึกษาของเราเดี๋ยวก็ลืม ปริยัติแล้วปฏิบัติ ถ้าปฏิบัตินะมันเป็นอริยสัจ พระอรหันต์ลืมในสิ่งใด? อยู่ในมิลินทปัญหา พระอรหันต์ลืมในสิ่งใด ลืมในสมมุติบัญญัติ สมมุติที่ชื่อนี่ลืม พระอรหันต์ลืมได้ พระอรหันต์ไม่ลืมในอะไร? พระอรหันต์ไม่ลืมในอริยสัจ สัจจะความจริงที่เกิดขึ้นจากใจ

ทุกข์ที่เกิดขึ้น ทุกข์ที่ตั้งอยู่ ทุกข์ที่ดับไป...ไม่มีวันลืม ถามมาเมื่อไหร่ตอบได้ทั้งนั้น อริยสัจอันนี้มันจะอยู่ที่หัวใจเลย เพราะหัวใจมันเป็นเอง จากที่ปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรคเป็นโสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรคเป็นสกิทาคามิผล อนาคามิมรรคเป็นอนาคามิผล อรหัตตมรรคเป็นอรหัตตผล มรรคกับผลมันแตกต่างกันอย่างใด? ปุถุชนและกัลยาณปุถุชนแตกต่างกันอย่างใด? บุคคล ๘ จำพวก นี่มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันนิพพาน ๑ อย่างไร? มันเกิดขึ้นมาจากสิ่งใด?

ถ้ามันเกิดขึ้นมาจากสิ่งใด นี่ไงสิ่งนี้มันเป็นไปได้ มันเป็นไปได้เพราะว่าเรามีจิตนะ สิ่งที่จะสัมผัสธรรมได้คือความรู้สึกของมนุษย์ ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกของจิต เห็นไหม ดูสิเทวดา อินทร์ พรหมก็รู้ได้ รู้ได้ด้วยหัวใจ ไม่ใช่รู้ได้ด้วยสมอง เวลาทางวิชาการเขาบอกว่าต้องเอาสมองกับหัวใจเชื่อมกัน นี้การศึกษานี่ศึกษาทางสมอง ศึกษาทางสมองแล้วคนก็มีทางวิชาการต้องเชื่อมกับหัวใจ ถ้าเชื่อมกับหัวใจ ถ้าเชื่อมกับหัวใจได้มันมีศีลธรรม จริยธรรม มันรู้ถูกรู้ผิด มันจะเห็นสิ่งใดควรและสิ่งใดไม่ควร ถ้ารู้สิ่งนี้ได้ขึ้นมามันก็จะเป็นประโยชน์

ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นประโยชน์กับเรา ธรรมะนี้เป็นธรรมะของเรา ธรรมะส่วนบุคคล เห็นไหม เวลาพระสารีบุตรจะไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานนะ

“เธอจงสมควรแก่เวลาเถิด”

พระโมคคัลลานะไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ละล้าละลัง รั้งแล้วรั้งอีก เห็นไหม เพราะพระอานนท์ต้องการผู้ที่สั่งสอนต่อไปนะ

“อานนท์ เราไม่ได้เอาธรรมะของใครไปเลย เราเอาแต่ของเราไปคนเดียว”

หัวใจใครก็หัวใจของคนๆ นั้น คนๆ นั้นเวลาถ้ามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากไป ก็ตายไปพร้อมกับความทุกข์ความยากนั้น ตายไปพร้อมกับความวิตกกังวล ห่วงหน้าพะวงหลัง ถ้าคนมีกิเลสตายนะ ตายไปพร้อมกับความทุกข์ยาก ตายไปพร้อมกับกำมือไว้ แต่เวลาพระอรหันต์ตาย เห็นไหม ตายตั้งแต่กิเลสมันสิ้นจากหัวใจไปแล้ว มันไม่มีอะไรตายไง

ฉะนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ เราเอาแต่ของเราไปไง เราไม่ได้เอาของใครไปเลย ฉะนั้น เราก็มีหัวใจของเราไง เราจะเอาความทุกข์ความยากไปกับเรา หรือเราจะเอาความสุขไปกับเรา หรือเราจะเอาธรรมะไปกับเรา ถ้าจิตใจมันได้สัมผัส จิตใจมันได้รู้ นั่นแหละสมบัติของเรา นี้คืออริยทรัพย์ เอวัง