ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ฝึกงาน

๗ ก.ค. ๒๕๕๕

 

ฝึกงาน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อันนี้มันจำไม่ได้แล้วล่ะ มันข้อ ๙๘๑. ข้อ ๙๘๒. ข้อ ๙๘๓. ไม่มี

ข้อ ๙๘๔. ปัญหานะ คำถาม

ถาม : ๑.หนึ่งปี สิ่งที่เกิดขึ้นจากการภาวนา

ตอบ : คือเขาภาวนามาปีหนึ่งแล้วล่ะ เขาไปทดสอบปีหนึ่ง เสร็จแล้วเขาก็เอาผลเพื่อมาตรวจสอบไง

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง ด้วยผมได้เกิดเหตุการณ์ปฏิบัติเมื่อราว ๑ ปีที่ผ่านมา และได้เรียนถามว่าเป็นผลลัพธ์ เพราะถึงแม้จะแน่ใจในระดับหนึ่ง แต่กิเลสที่ร้ายเหลือ มักหลอกให้ความโง่เขลาเบาปัญญาถือเอามาเป็นจิต เป็นใจ เป็นตัว เป็นตน และหลงจมอยู่อย่างนั้นได้เสมอ เหตุการณ์มีดังนี้ครับ หลังจากฟังเพลงประวัติหลวงตามหาบัวโดยเพลิน พรมแดน ชื่อเพลง “ปฏิบัติแบบอุกฤษฏ์” นั่งตลอดทั้งคืน มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า

“กระดูกอันนี้หรือคือตัวทุกข์ หรือว่าทุกข์เป็นกระดูก ไตร่ตรองให้ถูกจิต คอยคิดผูกพิจารณา ถ้ากระดูกเป็นทุกข์จริงจังดังว่า ทุกข์กลับไปไม่มาแต่กระดูกยังมี แยกกาย จิต เวทนาดูให้ดี พิเคราะห์ควรถ้วนถี่มีสติปัญญา”

ก็คิดซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ตลอด เพราะคิดว่าทุกข์เป็นกระดูก หรือทุกข์เป็นกระดูก เวทนาและจิตเป็นอย่างไร? ก็คิดย้อนไป แต่ก่อนคิดได้ บริกรรมพุทโธจนจิตนิ่งสนิทดี และออกพิจารณาเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ โดยอนุโลม ปฏิโลมจนเห็นจิตเข้ามาอยู่ภายใน ก็เริ่มพิจารณาตัดส่วนต่างๆ ของร่างกายออก มันก็เหตุเดิมๆ คือกายที่ตัดรู้ว่าเป็นเรา แต่เราไม่สามารถควบคุมเขา และเขาก็เป็นไปตามสภาพของธรรมชาติ อาจย่อยสลายผุพัง แต่สิ่งที่ยังไม่เป็นไปคือส่วนที่จิตยังครองอยู่

ตัดไปจนตัดคอก็เกิดจิตดวงลอยเด่นกลายเป็นก้อนธาตุ เวทนาก็เป็นส่วนของเขา ทุกข์ก็เป็นส่วนของทุกข์ มีจิตยึด แต่จิตนี้เองที่เป็นตัวประชุมของกาย เวทนา ทุกข์ โลกที่เห็นว่าว่างไป ภาพที่เห็นอยู่ยังมีแต่ไม่เข้ามาเกาะในจิตในใจให้เกิดความสุข ความทุกข์ แต่ที่แปลกคือไม่ได้อยู่เฉย การปฏิบัตินั้นเกิดเหตุจากทั้งวันก็ทำให้พิจารณาจิตว่าสิ่งใดที่เป็นจิต หลงยึดอะไรที่ทำให้เกิดไปยึด ไปเกาะ และขณะที่ยังพิจารณาตัวยึดอยู่นะครับ ขอกราบเรียนครูบาอาจารย์เท่านี้ (เขียนมายาว)

ตอบ : เวลาไปฟังเพลง เริ่มต้นจากฟังเพลงว่าทุกข์หรือกระดูกเป็นอันเดียวกันไหม? ถ้ามันเป็นอันเดียวกัน เวลาทุกข์หายไปทำไมกระดูกยังอยู่ ถ้าเวลาพิจารณาจนกระดูกหายไปทุกข์มันก็ยังอยู่ นี้เวลาฟังเพลงแล้วมาใคร่ครวญตาม

การใคร่ครวญตามไง เราใคร่ครวญตาม การใคร่ครวญตาม นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าใคร่ครวญตาม เพราะเราใคร่ครวญ เราจับตัวมันไม่ได้ เราไม่รู้หรอกว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรไม่เป็นทุกข์ แต่เราฟังเพลงมา เราฟังเพลงมาเราทำตามนั้นไง นี่ถ้าเราทำตามนั้น เห็นไหม มันเหมือนคนฝึกงาน ถ้าคนฝึกงานนะ เวลาคนฝึกงาน ทำงานไม่เป็นแต่เขาฝึกงาน ฝึกงานพยายามให้เอาตัวงานนั้นเป็นตัวฝึกหัด การฝึกหัด ถ้าทำงานเป็นแล้วงานก็คืองาน นี่ผู้ที่เป็นงานมันเป็นประสบการณ์ของจิต ถ้าการฝึกงาน เห็นไหม นี่เขาฝึกงานกันอย่างนั้น เราไม่ใช่เจ้าของงานนั้น

นี่ก็เหมือนกัน เวลาบอกว่ากระดูกเป็นเราไหม? ทุกข์เป็นเราไหม? ถ้าพูดประสาเราว่ามันเป็นภาคปริยัติ คือได้ฟังเพลงมา จำมา พอจำมาเราก็มาใคร่ครวญของเรา ถ้าใคร่ครวญของเรา เราทำของเราไปทำไมมันไม่ได้ผลตามนั้น เวลาคนปฏิบัติ ส่วนใหญ่แล้วผลตามความเป็นจริงมันยังไม่เกิดหรอก แต่ถ้ามันเกิดนะมันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นสันทิฏฐิโก มันรู้ของมันนะมันไม่เป็นแบบนี้ เวลาเราทำกันโดยสามัญสำนึกของโลกที่ว่าการปฏิบัติธรรมๆ เพราะคัดค้านการทำความสงบของใจก่อนไง

ถ้าจิตใจทำความสงบ เราทำความสงบของใจ พอคนทำความสงบของใจบอกว่าสิ่งนั้นเป็นสมถะ สิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์ นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ต้องใช้ปัญญา ก็นี่ไงก็พิจารณาเป็นสัญญา สัญญาฝึกงาน ฝึกงานให้จิตมันได้ฝึกหัด ถ้าได้ฝึกหัด ถ้ามันเป็นความจริงนะ ถ้าเรารู้ว่าเป็นการฝึกหัด เรารู้ว่าฝึกหัดเรามาฝึกงาน ถ้าเป็นงานนะอย่างนักเรียนมาฝึกงาน เวลาจบแล้วเขาต้องให้เซ็นรับว่าเขาทำงานได้ไหม? เพื่อเขาจะได้คะแนนนั้นผ่าน แล้วถ้าเขาไม่เซ็นให้ล่ะ? เขาไม่เซ็นให้เขาไม่รับผิดชอบนะ เราทำงานของเรา เราเรียนก็ไม่จบ เราฝึกหัดสิ่งนั้นไม่ได้คะแนน

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราบอกว่าเราพิจารณาตามเพลงนั้น นี่กระดูกเป็นทุกข์ไหม? ทุกข์เป็นกระดูกไหม? สิ่งใดเราพิจารณาของเราไป มันพิจารณาไปแล้วมันได้อะไร? มันได้ตรรกะ มันได้ตรึก พอมันได้ตรึก เห็นไหม พอมันได้ตรึกมันก็มีความเข้าใจ ความเข้าใจเสร็จแล้วมันจะเป็นความจริงแบบที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำไหมล่ะ? มันไม่เป็น มันไม่เป็นหรอก

ถ้าการฝึกงาน การฝึกงานเป็นเรื่องหนึ่ง เวลาถ้าเราทำงานของเราจริง นี่เราเรียนจบแล้วเราจะทำธุรกิจของเรา เราจะทำงานของเรา เราต้องสมัครงาน เราต้องไปสมัครงานเป็นคนงาน เป็นพนักงานต่างๆ รัฐวิสาหกิจต่างๆ มาเป็นพนักงาน นี่ถ้าเราทำผิดเราจะได้รับการลงโทษ ถ้าเราทำถูกเราจะได้รับรางวัล เห็นไหม เพราะเราทำงานตามหน้าที่ นี่แล้วถ้าเราเป็นเจ้าของธุรกิจ ถ้าเราไปทำธุรกิจของเรา ถ้าเราทำผลประโยชน์ของเรา เราทำได้ เราก็ได้ผลกำไรมา ถ้าเราทำผิดพลาดเราก็ขาดทุน

นี่มันมีผลไง แต่ถ้าไปฝึกงาน เห็นไหม ฝึกงานคือกระดูกเป็นเราไหม? ในเพลง ในเพลงนั้นเขาเอามาจากประวัติของหลวงตา เวลาหลวงตาท่านเทศนาว่าการของท่าน เวลาท่านประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านทำของท่านอย่างนั้นจริงๆ ท่านทำของท่านอย่างนั้นจริงๆ เพราะท่านเป็นเจ้าของงานของท่าน ท่านทำของท่าน ท่านรู้ของท่าน ท่านเห็นจริงของท่าน ท่านทำความเป็นจริงของท่าน

นี่ไงเหมือนกัน เหมือนเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา วางธรรมวินัยเป็นความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านรู้จริงเห็นจริงอย่างนี้นะ แล้วเวลาเทศนาว่าการเป็นธรรมวินัย ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ นี่เวลาท่านยังพูดกับพระสารีบุตร เห็นไหม

“ธรรมที่เป็นความจริงมันเหมือนใบไม้ในป่า สิ่งที่ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์มันแค่ใบไม้ในกำมือเท่านั้น”

ใบไม้ในกำมือเท่านั้น เพราะมันเป็นสิ่งที่เราจะเอามาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ สิ่งที่เราจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นสมบัติของเราได้ แต่ความจริงมันยังกว้างขวางมหาศาลอีกมากมายนัก แต่ แต่ถ้าจะบอกกันหมดมันทำให้เราฟั่นเฝือ ทำให้เรายิ่งมีความสงสัยมากขึ้น

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราศึกษาธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่เป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราเราก็ต้องฝึกฝนของเราขึ้นมา ถ้าฝึกฝน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม นี่เราปฏิบัติ เราตรึกในธรรม เราฟังเพลงแล้วเราตรึกในธรรม ตรึกในธรรมเรามีสติสิ

เวลาตรึกในธรรมถ้ามันปล่อย เห็นไหม ดูสิเวลามันปล่อยขึ้นมา มันบอกว่ามันปล่อยแล้วมันเลื่อนลอย มันเลื่อยลอยเพราะมันไม่เข้าใจ แต่ถ้าเวลาตรึกในธรรมนะ เวลามันปล่อยนะมันมีสติมันไม่เลื่อนลอย มันมีสติ เพราะเราเข้าใจ เรามีเป้าหมายไง เราเป็นเจ้าของงานไง เพราะเราตรึกในธรรมแล้ว ถ้าผลของมันก็คือสมถะไง ผลก็คือเข้าใจแล้ว เข้าใจมันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางถ้ามีสตินะ มีสติปั๊บมันก็คุมจิตนี้ไว้ ถ้าคุมจิตนี้ไว้ เออ ว่าง นี่ปล่อยวาง ปล่อยวางหมดเลยถ้ามีสตินะ แต่ถ้าไม่มีสติมันคิดว่าสิ่งนี้เป็นมรรคผลไง

นี่ไงพอสิ่งนี้เป็นมรรคผล แล้วมันก็เลื่อนลอย มันเลื่อนลอยเพราะว่ามันจับต้นชนปลายไม่ได้ มันจับต้นชนปลายไม่ได้เพราะมันไม่ใช่สมบัติของเราไง มันเป็นสมบัติของหลวงตา มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเอามาตรึก เห็นไหม ถ้าเราเอามาตรึก ดูสิเวลาเราทำงาน นี่เทคโนโลยีต่างๆ เราซื้อของเขามา เราซื้อของเขามาเป็นของเขา แต่ถ้าเรามาทำงานของเรา ผลตอบแทนนี้เป็นของเราล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราตรึก เราพุทโธ พุทโธ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพุทธานุสติ แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามาเป็นเราล่ะ? นี่จิตมันสงบมาเป็นเรา พอจิตสงบมาเป็นเรา เวลาเราฝึกฝน เราปฏิบัติ ถ้าเราจะใช้ปัญญาเราก็ฟั่นเฝือ เราก็ใช้ปัญญาตามปริยัติ ปัญญาตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ปัญญาที่พระพุทธเจ้าสอนบอกว่ากายนี้ไม่ใช่เรา สรรพสิ่งไม่ใช่เรา แต่ไม่ใช่เรา เราจะใช้เทคนิคอย่างไรไม่ใช่เรา ถ้าไม่ใช่เราเราจะพิจารณาอย่างไร? มันจะปล่อยวางอย่างไร?

ถ้ามันพิจารณาแล้วมันปล่อยวางไม่ใช่เรา แต่มีสติปัญญารู้ ถ้ารู้ตามความเป็นจริง นี่ไม่เลื่อนลอยหรอก นี่ถ้าเป็นความจริงจะเป็นแบบนี้ ถ้าไม่เลื่อนลอยมันถึงว่าปริยัติ ปฏิบัติไง ปริยัติคือการศึกษา พอการศึกษา พอเราปฏิบัติแล้ว พอปฏิบัติขึ้นมา นี่ที่ปฏิบัติแล้วมันยังไม่ได้ผลกันก็เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุนี้ว่าเราทำแล้วมันแบบว่าผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้ามันสมควร สมเหตุสมผลมันจะเป็นความจริง นี้มันไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าความไม่รู้ของเรามันคาดหมายไป

เวลาคนทำงาน ทุกคนจะบอกนะทุกข์มาก เหนื่อยมาก ลำบากมาก แต่คนที่เขาเข้มแข็ง คนที่เขาได้ผ่านการผ่านงานมาด้วยความอุกฤษฏ์ของเขา ทำงานเขานี่เป็นงานธรรมดา นี่ทุกคนเวลาทำงานไปแล้วบอกว่า อื้อฮือ งานนี้หนักมาก งานนี้ฟากตาย งานนี้ นี่กิเลสอยู่ฟากตาย เราทำฟากตายแล้วมันต้องเป็นธรรมๆ เราคาดหมายกันไปก่อน จะฟากตายของใครล่ะ? ถ้าฟากตายของใคร ถ้าฟากตายมันจะตายกี่รอบล่ะ? มันจะฟากตายแล้วกี่ครั้ง กี่หนมันถึงจะได้เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาอย่างนี้ นี่เราทำไปแล้วมันถึงจะเป็นประสบการณ์นะ

คำว่าประสบการณ์มันเป็นตทังคปหาน คือจิตใจมันเริ่มเป็นไปตามความเป็นจริง ถ้าเป็นตามความเป็นจริงนะมันไม่เลื่อนลอยแล้ว ถ้ามันเลื่อนลอยนะ ลองผิด ลองถูก นี่การปฏิบัติมันสำคัญตรงนี้ สำคัญว่าเราปฏิบัติมา ๑ ปี ๑ ปีปฏิบัติมาแล้วมันจะทำอย่างไรต่อไป สิ่งที่ทำมาถูกต้องไหม? ถูก ถูกต้องหมายความว่าเราจะเริ่มต้นทำงาน ถ้าเราไม่ฝึกฝนเราเลยเราจะทำงานเป็นได้ไหม? นักกีฬาทุกประเภท นักกีฬาทุกชนิดเขาต้องออกกำลังกายของเขา แล้วพวกเทคนิคเขาจะฝึกของเขาทีหลัง

นี่โดยพื้นฐานของใจทุกๆ ดวงต้องทำความสงบของใจเข้ามา พยายามทำใจให้สงบระงับ ถ้าใจสงบแล้ว เวลามันพิจารณา มันใช้ปัญญาขึ้นมา มันจะไม่ใช้ปัญญาของอวิชชา ปัญญาของความไม่รู้ งงนะปัญญาของความไม่รู้ ถ้าไม่รู้มันเป็นปัญญาได้อย่างไร? บอกเป็นปัญญาสิ ปัญญานี้เพราะเป็นปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามทฤษฎี ตามตำรามันมีอยู่แล้วไง เราก็ไปก็อปปี้มา เราก็เอาสิ่งนั้นเอามาเป็นของเราเลย

นี่ปัญญาโดยอวิชชา ปัญญาโดยความไม่รู้ เราก็คิดตามนั้น คิดตามนั้นก็คิดจบ พอคิดจบแล้ว พอคิดจบเพราะกิเลสมันบังเงามันหลอก มันหลอกยิ่งกว่านี้อีก พอคิดจบแล้วว่างหมด สว่างหมด ว่างหมด ปล่อยหมด แล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ? กิเลสมันก็หลบอยู่นั่น พอเราไม่มีสติควบคุม เดี๋ยวพอมันตีกลับนะหมดเลย หมดเลย

แต่ถ้ามันจะเป็นปัญญาของเรานะ นี่คำว่าถูกไหม? ถูก ถูกที่ในเมื่อเราจะเริ่มต้น เราจะเริ่มต้นใช่ไหม? ปัญญาอย่างนี้โลกุตตรปัญญาเรายังจุดประเด็นไม่ได้ เรายังใช้ของเราไม่เป็น เราก็พิจารณา ที่ว่ามันเป็นอนัตตา สรรพสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ต้องดับไป ถ้าดับไปเราใช้เป็นตัวนำ เป็นสื่อนำ เป็นตัวนำ นี่พอเป็นตัวนำเราก็พิจารณาของเราไปเรื่อย พิจารณาไปเรื่อยๆ อาการที่มันเกิดไง สิ่งที่มันเกิด ถ้ามันเป็นอนัตตามันเป็นอย่างไร? เรารู้ เราเห็นอย่างไร?

ถ้ามันเป็นอนัตตามันเป็นต่อหน้า มันย่อยสลายอย่างไร? ถ้าเราเห็นอย่างนั้นปั๊บ นี่เราเห็น จากที่เราเป็นสัญญามา เห็นไหม สัญญา คือว่าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะฝึกหัดใช้ปัญญา เราเริ่มต้นของเราไม่ถูก เราก็ใช้ของเราอย่างนี้เป็นตัวนำ แต่เราพิจารณาไปในช่องทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปูนหมายป้ายทางที่ให้เราเดินตาม เราเดินพิจารณาไป พอมันเป็นสมบัติของเรา เป็นสมบัติของเราๆ อันนี้ต่างหาก อันนี้มันจะเป็นความจริง ความจริงเพราะอะไร? เพราะมันรู้มันเห็น พอมันรู้มันเห็นก็สะเทือนใจ พอสะเทือนใจนะน้ำหูน้ำตาไหลนะ

เวลาหลวงตาท่านพูดถึงว่าน้ำตาของทางโลก น้ำตาสะสมภพชาตินะ ความเสียใจ ความน้อยใจ ความเศร้าโศกเสียใจเราคร่ำครวญรำพันกันน้ำตาไหลท่วมท้น แต่เวลาเรามาพิจารณาในธรรมนะ เวลาน้ำตาที่มันจะชำระล้างนะ เวลามันสะเทือนหัวใจ น้ำตามันก็แตกนะ มันพรั่งพรูออกมานะ แต่มันพรั่งพรูออกมาด้วยความสะท้อนใจ ด้วยความสะท้อนใจเรื่องชีวิต เรื่องความสะท้อนใจว่ามันเวียนตาย เวียนเกิด มันสะท้อนใจมาก

เวลาน้ำตาอย่างนั้นมันน้ำตาชำระล้าง น้ำตาล้างภพล้างชาติ ถ้ามันพิจารณาไปนะ เวลาถ้ามันเป็นความจริง แต่ถ้าใครไม่มีน้ำตาก็ไม่ต้องมีนะ บางทีมันก็ไม่มี มันไม่ใช่ว่าทุกคนต้องมีน้ำตานะ โอ้โฮ ถ้ามีน้ำตาก็ต้องไปกลั่นน้ำตามาจนได้มันถึงจะครบ มันก็ไม่ใช่อีกแหละ เวลาคนน้ำตาแตกพรากเลย ไอ้นั่นมันก็สะเทือนหัวใจมันก็เป็น แต่บางคนไม่มีหรอก มันเป็นสะเทือนหัวใจ มันเศร้าใจ มันสะเทือนใจ มันสะเทือนใจนะ มันสำรอกออก มันสำรอก ถ้าเราฝึกฝนอย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้น นี่เขาว่า

ถาม : สิ่งที่ ๑ ปีที่ทำมา แล้วควรทำอย่างไรต่อไป? แล้วมีอย่างไรที่ควรจะเอาให้ได้จริง

ตอบ : เพราะว่าเขาบอกว่าเขาก็ทำจริงนะ เอาลมหายใจแลกธรรมนี้มา เขาแลกมาด้วยการประพฤติปฏิบัติ มันแลกมาด้วยการประพฤติปฏิบัติจริงๆ ถ้าในการปฏิบัติมันต้องเอาใจเข้าไปทดสอบ ถ้าเข้าไปทดสอบนะ เข้าไปทดสอบ เพราะนี่ภาคปฏิบัติเป็นแบบนี้ มันต้องทดสอบกัน ทดสอบกันด้วยความเข้มแข็ง

“คนเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ในทางโลกนะผู้บริหารจัดการ ผู้อำนวยการต่างๆ เขาต้องกำหนดนโยบาย นี่ไงสิ่งที่กำหนดนโยบาย งานที่เป็นการบริหารจัดการ งานที่รับผิดชอบสูงส่งมากนี่ก็เหมือนกัน ใจของเรา เราจะพิจารณาของเรา มันต้องเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา เราจะได้ความจริงอันนี้ สิ่งที่ทำมา เห็นไหม

ฉะนั้น

ถาม : ที่ทำมานี่ถูกไหม?

ตอบ : ถูก ทำมาถูก แต่ผลของมัน นี่คนถามคงจะแบบว่าสงสัย ว่าทำถูกแล้วทำไมไม่เป็นโสดาบัน ทำถูกแล้วทำไมไม่ได้ผลสักที ส่วนใหญ่คำถามมันจะอยู่ตรงนี้ไง ทำถูกไหม? ถูก ถ้าถูกแล้วทำไมมรรคผลมันไม่เกิดกับเราสักที มรรคผลมันจะเกิดนะ มรรคผลมันจะเกิดมันต้องปฏิบัติสมควรแก่ธรรม มรรคผลของใครไง นี่อย่างที่ว่า เวลาปฏิบัติไป พันธุกรรมของจิต จิตของคนไม่เหมือนกัน จิตหยาบ จิตละเอียดมันถึงเป็นบัว ๔ เหล่า ผู้ที่ขิปปาภิญญา ปฏิบัติเร็ว รู้เร็ว ผู้ที่ปฏิบัติเร็ว เห็นไหม ปฏิบัติเร็วแต่รู้ยาก ปฏิบัติเร็วรู้ยาก ปฏิบัติยากรู้เร็ว มันมีของมันไง

ฉะนั้น ถูกไหม? ถูก มันถูกจากจุดเริ่มต้น จิตของใครนะมันจะทุกข์ยาก หรือว่ามันจะนุ่มนวลขนาดไหน เวลาปฏิบัติไปก็ต้องเริ่มต้นจากตรงนั้นแหละ มันเริ่มต้นจากความรู้สึกของเรา เริ่มต้นจากจิตของเรานั่นแหละ จิตของคนอื่นก็เรื่องของเขา นี้พอเราเริ่มต้นไปแล้วมันก็จะเป็นข้อเท็จจริงของเราแล้ว ถ้าเป็นข้อเท็จจริงของเราแล้ว เราปฏิบัติของเราไป ปฏิบัติของเราไปนะ ถ้าผิดถูกตรวจสอบกันอย่างนี้ดี

ถ้าปฏิบัติไปแล้วถูกต้องไหม? นี่ถูก ถูกในขั้นตอนแบบนี้ ถ้าไม่เริ่มต้นจากตรงนี้ เห็นไหม เราลัดขั้นตอน เราจะเอาปลายเลย แล้วโคนมันไม่มี ถ้าต้นไม้มันไม่มีโคน นี่ยอดต้นไม้มันจะลอยอยู่บนอากาศมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันไม่มี แต่ต้นไม้ถ้าเป็นกล้วยไม้เขาแขวนไว้ แขวนไว้มันก็มีที่เขาแขวนไว้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันก็ต้องมีกระถาง มันต้องมีโคนต้นวันยังค่ำ

ฉะนั้น เวลาเริ่มต้นมันต้องมีสติ มันต้องมีสมาธิ มันต้องมีหลักมีเกณฑ์ แล้วถ้าปฏิบัติไปมันก็จะเริ่มต้นเป็นแบบนี้ ทีนี้พอปฏิบัติไปมีหลักมีเกณฑ์ นี่ล้มลุกคลุกคลานก็มี คนสะดวกสบายก็มี คนปานกลางก็มี แล้วเราทำของเรา เห็นไหม ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ เราทำของเรา เราตรวจสอบของเรา เราจะไม่เชื่อใครทั้งสิ้น เราเชื่อผลของการปฏิบัติของเรา แล้วถ้าผลการปฏิบัติของเรา เราคิดตามนั้น เราดูตามนั้น ถ้ามันเป็นประโยชน์นะ ได้

นี่เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจก็ได้ จิตสงบแล้วจับอย่างนี้พิจารณา การพิจารณาอย่างนี้คือการฝึกหัดใช้ปัญญา แต่เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันปล่อยวางขึ้นมาเราก็มีสติพร้อมกับความปล่อยวางนั้น แล้วเวลามันออกมาพิจารณาเราก็พิจารณาซ้ำอีก กระดูกนั่นแหละ ทั้งกระดูก ทั้งเวทนา ทั้งอะไรนี่พิจารณา พอพิจารณาเสร็จแล้วมันก็ปล่อยเข้ามา เราก็มีสติ มีสติมันก็เป็นความปล่อยวางที่มีสติ มันก็เป็นสัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิคือการปล่อยวางชั่วคราว เดี๋ยวก็คิดอีก คิดอีกก็พิจารณาอีก พอมันปล่อยอีกก็มีสติ เพราะสติตัวนั้นมันจะทำให้จิตดวงนี้เพิ่มพูน จากสัมมาสมาธิมันก็จะเป็นเอกัคคตารมณ์ มันก็ตั้งมั่น ถ้าพิจารณาไปซ้ำๆ เดี๋ยว เดี๋ยวจะเห็นเลยว่าเวทนาที่จิตมันจับเวทนามันชัดเจนอย่างไร จิตมันจับกระดูก มันเห็นกายมันจะชัดเจนอย่างไร?

ความชัดเจนแบบนั้น เวลาชัดเจนแบบนั้นนะ พิจารณาไปนั่นแหละมันจะไปสะเทือนกิเลส แต่ถ้ามันยังใช้กระดูก ใช้เวทนาเป็นเหมือนคำบริกรรม คือให้จิตฝึกหัด ให้จิตนี้มันฝึกหัดพิจารณาของมัน มันไม่ให้คิดนอกเรื่องนอกราว ไม่ให้คิดไปทางโลก ไม่ให้คิดไปตามกิเลส ให้คิดอยู่ในทำนองครองธรรม ให้คิดอยู่ในสัจธรรม

ถ้าคิดอยู่ในสัจธรรม มันพิจารณาอย่างนั้นแหละ มันไม่มีตัณหาความทะยานอยากเข้ามาเสริม ถ้าเราคิดเรื่องโลก ดีใจ เสียใจ ไม่พอใจ นี่ตัวนี้ ถ้าคิดอย่างนี้มันก็จะซ้ำรอย คือว่ามันก็อยู่โดยสัญชาตญาณอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเรามาคิดในเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ คิดถึงกระดูก คิดถึงทุกข์ คิดถึงเวทนา มันเหมือนพุทโธ พุทโธนี่เอามาเป็นคำบริกรรม พุทธานุสติ นี้คือปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอย่างนี้อบรมสมาธิ อบรมให้จิตมันปล่อยวางเข้ามา

ถ้าจิตมันปล่อยวางเข้ามา มีสติเดี๋ยวก็คิดซ้ำ คิดต่อ พอมันคิดก็สติตามไป ถ้ามันปล่อยมา ปล่อยบ่อยๆ ครั้งจิตมันตั้งมั่น พอจิตมันตั้งมั่น พอมันเห็นอันเดิมนี่แหละ เห็นกระดูก เห็นเวทนา เห็นเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจนี่แหละ แต่ แต่เห็นต่าง เห็นต่างเพราะจิตมันจะเป็นสมบัติของเราแล้ว มันไม่ใช่สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไม่ใช่การฝึกงานแล้ว เราฝึกงานมาจนเราเป็นเจ้าของกิจการ เราฝึกงานมาจนเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าจิตเป็นสัมมาสมาธิ เป็นเจ้าของกิจการ เป็นผู้ที่ได้รับบรรจุเข้าทำงาน

ถ้าเราได้รับบรรจุเข้าทำงาน ผลประโยชน์มันจะตอบสนองกับจิต ผลประโยชน์ตอบสนองกับจิต มันพิจารณาไปแล้ว ถ้าทำงานรัฐวิสาหกิจเราก็ได้ประโยชน์ ได้ ๒ ขั้น ๓ ขั้น ได้คุณงามความดี ได้อะไรไป แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของกิจการเราจะได้ผลตอบแทน ผลตอบแทนคือกำไรขาดทุน ผลตอบแทนคือว่าผลที่มันได้รับรู้จากการพิจารณา นี่มันไม่ใช่ฝึกงาน เป็นเจ้าของกิจการ เจ้าของกิจการคือมีผู้ได้ผู้เสีย ถ้ามีผู้ได้ผู้เสียมันพิจารณาไป นี่วิปัสสนาเกิดตรงนี้

ถ้าวิปัสสนาเกิดตรงนี้ นี่ทำมาถูกไหม? ถูก ถูกแล้วทำไมมันไม่ได้โสดาบันเสียที มันไม่ได้โสดาบันเสียทีเพราะเราฝึกงานอยู่ เรายังอยู่ระหว่างฝึกงาน เรายังไม่ได้บรรจุทำงาน ถ้าวันไหนได้บรรจุทำงาน วันนั้นแหละทำไม่ดีไล่ออก ไล่ออกๆ แต่ถ้าฝึกงานอยู่เขายังไม่รับ มันจะหนีงานก็ได้ มันไม่ทำงานก็ได้ สิ่งที่ได้ผล ได้ผลอย่างนี้

ฉะนั้น ระหว่างฝึกงาน แล้วทุกคนต้องฝึกงาน ถ้าไม่ฝึกงานเราจะทำงานไม่เป็น ถ้าเราทำงานไม่เป็นมันก็เป็นสัญญา เป็นสิ่งที่เราเป็นชาวพุทธรับรู้ได้ ความรับรู้ได้อย่างนี้เราทำของเราไปจนกว่าเราจะเป็นเจ้าของกิจการ หรือจนกว่าเราจะได้รับการบรรจุเข้าทำงานนะ ให้เข้มแข็ง ให้เข้มแข็ง ให้ทำของเราไป ถูกนะ นี่ดูสิ ๑ ปีสิ่งที่เกิดจากการภาวนา ๑ ปีถึงได้ถามมา ไปทดสอบมา ๑ ปี แต่ก็นับว่าใช้ได้ ใช้ได้เพราะเราทำของเรานะ เราทำของเราไปเป็นสมบัติของเรา สิ่งใดที่เป็นสมบัติของเรา มันจะเป็นสมบัติของเรา เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ

คำถามนะ

ถาม : ได้ฟังหลวงตาเทศน์ว่า “สังขารปรุงยิบๆ ยับๆ ส่วนวิญญาณ ถ้าไม่มีผัสสะก็เป็นสังขาร” ขอคำอธิบายเกี่ยวกับผัสสะ

ตอบ : สังขารที่ปรุงยิบๆ ยับๆ นี่เป็นส่วนของวิญญาณ ทีนี้คำว่าเป็นส่วนของวิญญาณนี่นะ สังขารคือสังขารความคิด ความปรุง ความแต่ง นี่สังขารนะสมมุติบัญญัติ สมมุติคือภาษาสมมุติเรา ภาษาโลก บัญญัติ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติมาเห็นไหม ให้ความคิดเป็นสังขาร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บัญญัติสมมุติบัญญัติ บัญญัติคือบาลี

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าสังขารมันปรุงยิบๆ ยับๆ ของหลวงตาท่านปฏิบัติท่านจะบอกว่า สังขารอย่างหยาบๆ สังขารอย่างหยาบๆ สังขารคือขันธ์ ๕ แล้วท่านบอกว่าพิจารณาขันธ์ ๕ พิจารณาเวทนากาย เวทนา จิต ธรรมมันปล่อยไปจนเป็นขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ คือขันธ์ที่ละเอียด ขันธ์ละเอียดคือว่าขันธ์ที่มันเป็นนามธรรม ท่านใช้คำว่า “ขันธ์ที่เป็นนามธรรม กับขันธ์ที่เป็นรูปธรรม”

ขันธ์ที่เป็นรูปธรรมคือขันธ์ปุถุชน ขันธ์อย่างหยาบคือขันธ์ของโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันยังเป็นสังขารขันธ์ สังขารขันธ์คือใช้ความคิด ความปรุง ความแต่งเป็นการชำระกิเลส ปัญญาคือสังขารขันธ์ ปัญญาคืออาศัยความคิด แต่พอมันละเอียดขึ้นไปท่านเลยบอกเป็นขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ หมายความว่าพิจารณาขันธ์ ๕ จนขันธ์ ๕ ทำลายหมดแล้ว มันเหลือเป็นนามธรรมคือความรู้สึกล้วนๆ ท่านบอกว่าเป็นขันธ์ ๔ สังขารอันละเอียดยิบๆ ยับๆ

นี่เวลาท่านพูดนะท่านจะบอกว่าขันธ์หยาบ ขันธ์ละเอียด เห็นไหม หลวงตาท่านพูดบ่อย ฉะนั้น คำว่าพูดบ่อย สิ่งที่เราเวลาฟังเทศน์ท่านเทศน์ให้ใคร ถ้าเทศน์กลางคืนนะ ท่านเทศน์สอนพระมันเป็นแบบว่าสิ่งที่ละเอียดแล้ว เพราะพระเป็นนักรบ พระเป็นนักรบจะพูดกันแต่สิ่งที่เข้มข้น แต่ถ้าพูดเป็นแกงหม้อใหญ่ เทศน์ตอนเช้า หรือเทศน์กับโยมส่วนใหญ่ท่านก็จะพูดอย่างนี้ ว่าสังขารเป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง แต่ถ้าสังขารในขันธ์ ๔ ของท่าน มันจะเป็นปัญญาญาณที่ลึกซึ้ง นั่นจะพูดกับผู้ที่เป็นนักรบด้วยกัน

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : สังขารที่ปรุงยิบๆ ยับๆ ส่วนวิญญาณไม่มีผัสสะก็เป็นสังขาร

ตอบ : ฉะนั้น ขอคำอธิบายที่ว่า “ผัสสะ” คำว่าผัสสะเหมือนไฟฟ้า แบตเตอรี่มันต้องมีขั้วบวกขั้วลบมันถึงจะใช้งานได้ การว่าขั้วบวกขั้วลบ นี่ไฟฟ้าสถิตมันจะมีของมันอย่างนั้น มันถึงจะใช้งานได้ ทีนี้คำว่าผัสสะ ผัสสะคือการกระทบ ผัสสะคือการกระทบ ถ้าผัสสะนะ คำว่าผัสสะ นี่อายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน อย่างเช่นลมกับผิวหนัง บางทีถ้าเราไม่รับรู้สิ่งใด ลมพัดมาเราก็ไม่รู้สิ่งใดเลย แต่ถ้าพอลมมันพัดมานี่คือผัสสะมันกระทบ

ถ้ามีจิตรับรู้ เห็นไหม จิตรับรู้ไง ถ้าจิตเราสมบูรณ์นะ จิตเราเวลาไม่เผลอ เหมือนลมพัดมาเราก็รับรู้ถึงว่าลมเย็นพัดมา แต่ถ้าเราคิดเรื่องอื่นเพลิน ลมมันพัดมามันก็มีผัสสะ มันก็กระทบ แต่ทำไมเราไม่รับรู้ถึงความเย็นของลมล่ะ? นี่อายตนะภายนอกกับอายตนะภายในกระทบกัน แต่คำว่าผัสสะมันจะสมบูรณ์ สมบูรณ์เพราะมีจิตรับรู้ไง ถ้าจิตไม่รับรู้ อย่างเช่นตากระทบรูป นี่รูปนี้รูปหญิง รูปชาย รูปดี รูปไม่ดีเรารู้เราเห็น แต่บางทีเราก็เห็นรูป แต่ไม่รู้ว่าอะไร เห็นรูปเฉยๆ แต่ไม่รับรู้ไง

นี่ผัสสะ ผัสสะคือการรับรู้ ผัสสะคืออายตนะภายนอกกับอายตนะภายในมันกระทบกัน อันนี้อายตนะภายนอกกับอายตนะภายในกระทบกัน มันก็เปรียบเหมือนกับว่าลมพัดใส่ต้นเสา วัตถุกระทบวัตถุไง ถ้าลมมันพัดมา เห็นไหม ดูสิดูอย่างศาลา ศาลาลมพัดมานี่เสียงดังมากเลย เพราะลมมันพัด ทุกอย่างมันจะมีลมมันกรรโชก แล้วศาลารับรู้อะไรไหม? ศาลามันรับรู้ไหม? มันทุกข์ไหม? ไม่ทุกข์เลย

ฉะนั้น คำว่าผัสสะ ผัสสะมันเป็นระหว่างการกระทบกันก็ถูกต้อง แต่กระทบกันถูกต้องนั้น วัตถุนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นธรรมนะ ผัสสะ ผัสสะนี่ถ้าไม่มีผัสสะนะเราจะไม่รู้ดี รู้ชั่วเลย ผัสสะแล้วถ้ามีปัญญา เราจะแยกผิด แยกถูกได้ ถ้าแยกผิด แยกถูกได้ ดูมรรคหยาบ มรรคละเอียดสิมันจะละเอียดเข้าไป ฉะนั้น คำว่าผัสสะนี่ เวลาจิตรับรู้ จิตรับรู้ จิตหยาบ จิตละเอียดไง วุฒิภาวะ วุฒิภาวะที่มันหยาบๆ มันก็รู้เรื่องหยาบๆ ถ้าเรื่องที่ละเอียด ละเอียดรับรู้ไม่ได้

อย่างทางโลก นี่ทางโลกเห็นไหม ดูสิ เด็กเวลามันเกเรของมัน มันคิดของมัน เราจะบอกมันขนาดไหนมันก็ว่ามันถูก มันก็ว่ามันถูก มันไม่ยอมฟังหรอก แต่ถ้าพอมันโตขึ้นมามันจะรู้เลยว่า อ๋อ ไอ้นี่ถูก ไอ้นี่ผิด ไอ้นั่นถูก ไอ้นั่นผิด มันจะโตขึ้นมา อันนี้เวลาวุฒิภาวะมันโตขึ้นมา แต่ถ้าเป็นจิตล่ะ? นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชนก็แตกต่างกันแล้วนะ

ถ้าปุถุชน อย่างพวกเราปุถุชน เวลาปฏิบัติล้มลุกคลุกคลานนี่ทุกข์มาก ทุกข์มาก แต่พอมันใช้ปัญญา ใช้สติปัญญาควบคุมดูแลหัวใจ พอหัวใจมันดูแลแล้ว มันพิจารณาไปแล้ว รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม มันเหมือนวัตถุเลย เหมือนลมพัดใส่ศาลาเลย ศาลามันก็ไม่รับรู้ว่าลมพัดใส่มัน ลมพัดใส่ ลมก็ไม่รู้ว่าลมพัดไปกระทบศาลา มันไม่รู้เรื่องหรอก

นี่ก็เหมือนกัน เวลารูป รส กลิ่น เสียงนะมันก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่เพราะจริตนิสัยของเรา เราชอบและเราไม่ชอบไง พอเราชอบ เราไม่ชอบ สิ่งที่ชอบก็สุข สิ่งที่ไม่ชอบก็ทุกข์ สิ่งที่ไม่ชอบก็ไม่ต้องการ สิ่งที่ชอบก็พอใจ แล้ว ๒ สิ่งนี้ไม่สมความปรารถนาทั้งสิ้น ทั้งความชอบและความไม่ชอบ เราไม่มีสิทธิควบคุมทั้งสิ้น ถ้าไม่มีสิทธิควบคุมทั้งสิ้น เวลามันกระทบเรา เราจะทำอย่างไร? แต่ถ้าเราทำอย่างไร เรามีสติปัญญาของเรา เห็นไหม ถ้ามีสติปัญญา รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

เป็นบ่วงด้วย เป็นพวงดอกไม้ด้วย พวงดอกไม้คือมันเยินยอ ถ้าเป็นบ่วง บ่วงมันก็ทำร้ายเอา รูป รส กลิ่น เสียงมันทั้งทำร้ายด้วย ทั้งส่งเสริมด้วย ทั้งเยินยอด้วย ถ้ามีสติปัญญานะเรารับรู้ เห็นไหม นี่มันคลอนมันขาด นี่ปุถุชนและกัลยาณปุถุชน ปุถุชนมันรับรู้ตามนั้นไง อย่างวัตถุมันได้รับกระทบแต่มันไม่รู้สึก แต่จิตมันรู้สึก แล้วมันรู้สึกแล้วมันหลงด้วย พอใจมันก็วิ่งไปตามเขาเลย ไม่พอใจก็คัดค้านเขาเต็มที่เลย

นี่ไงมันปุถุชนไง มันไม่มีปัญญา พอมีปัญญาปั๊บ พอมีปัญญามันพิจารณาของมัน พิจารณาจนมันเท่าทันหมด เท่าทันจนเห็นโทษมันขาดได้เลยนะ ขาดหมายถึงว่ามันคงที่ นี่กัลยาณปุถุชน เขาเรียกว่า “ศรัทธา อจลศรัทธา” อจลศรัทธานี่มั่นคงแล้ว ถ้ามั่นคงแล้ว ยิ่งเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี นี่อจลศรัทธา คือศรัทธาที่ไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน ไม่คลอนแคลนแน่นอน แต่นี้ถ้ามันยังไม่มีสติปัญญา ผัสสะมันก็ไหลไปตามเขา นี่ผัสสะ คือผัสสะอย่างนี้

เราจะบอกว่าผัสสะมันมีหยาบ มีละเอียดไง ถ้าผัสสะเป็นอย่างนี้มันก็เป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? เป็นแบบเครื่องยนต์ มันต้องมีผลตอบแทนอย่างนี้ มันถึงให้ผลอย่างนั้น แล้วต่อไป ดูสิเขาจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์แล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ แผงโซล่าเซลล์มันเปลี่ยนพลังงาน เปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานแล้ว

ฉะนั้น ผัสสะมันจะละเอียดนะ เวลาขั้นที่ละเอียดมันลึกซึ้ง ลึกซึ้ง พอลึกซึ้ง นี่สติปัญญามันทัน มันถึงเป็นมหาสติ มหาปัญญา จากสติปัญญานะ สติปัญญาที่ล้มลุกคลุกคลาน ถ้ามันฝึกฝนไปมันจะเป็นมหาสติ มหาปัญญา เพราะคำถามว่า “ผัสสะ” คำเดียว ถ้าผัสสะคำเดียว ถ้ามันตอบตายตัวมันเหมือนกับสูตรทฤษฎีที่หยาบ ละเอียด ทฤษฎี สูตรที่มันละเอียดขึ้นมา ถ้าอย่างหยาบๆ มันก็เป็นแบบนั้น มันตายตัว แต่ผัสสะมันมีตลอดไง จิตใจต้องรับรู้ตลอด

สุขและทุกข์ เวลาปฏิบัติสมความปรารถนาก็รู้ ถ้ามันไม่สมความปรารถนา หรือทำแล้วล้มลุกคลุกคลานมันก็รู้ มันผัสสะทั้งนั้นแหละ มันผัสสะ ทีนี้ผัสสะในลักษณะใด? ในรูปแบบใด? ในรูปแบบใด แต่ถ้ามีสติปัญญา เห็นไหม มันถึงคำว่า “สติปัญญา” นี่ก็ผัสสะอย่างหยาบๆ ทั้งนั้นแหละ รับรู้ของมัน พิจารณาของมัน ล้มลุกคลุกคลานไปกับมัน รับรู้ได้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันเป็นมหาปัญญาล่ะ? ถ้าเป็นมหาสติมหาปัญญามันละเอียดกว่านั้น มันลึกซึ้งกว่านั้น นั่นก็เป็นผัสสะเหมือนกัน

นี้คำว่าผัสสะ เห็นไหม ถ้าไม่มีผัสสะมันก็เป็นสังขาร เวลาหลวงตาพูดนะ

“ถ้ามันยิบๆ ยับๆ วิญญาณ ถ้ามันไม่มีผัสสะมันก็เป็นสังขาร”

สังขารก็เป็นความคิด ความปรุง ความแต่ง ถ้าวิญญาณ วิญญาณมันเพราะว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าวิญญาณมันไม่หลอมรวมขึ้นไป อารมณ์ความคิดมันเกิดไม่ได้ไง อย่างเช่นเราเห็นรูปนะ เราเห็นรูปแต่เราไม่รู้ เราเห็นรูปแต่เราไม่รู้ว่ารูปอะไรนะ เพราะว่าความรับรู้ของจิตมันไม่รับรู้ ความรับรู้ของจิต จิตก็คือวิญญาณรับรู้ ถ้าวิญญาณไม่รับรู้นะมันไม่เชื่อมต่อเป็นความรู้สึก ถ้าวิญญาณเชื่อมต่อกันนะ มันมีความรู้สึกปั๊บมันก็เป็นวิญญาณ วิญญาณก็เป็นอารมณ์ แต่ถ้าวิญญาณไม่รับรู้ก็เป็นผัสสะเฉยๆ กระทบเฉยๆ เป็นผัสสะเฉยๆ

นี่คำของหลวงตานะ ถ้าวิญญาณนี้ไม่มีผัสสะมันก็เป็นสังขาร มันเป็นสังขาร สังขารก็เป็นที่มันยังไม่เป็นอารมณ์ไง สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่งก็ขันธ์ ๕ ไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา คือขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ จิตเป็นพลังงานเฉยๆ ทีนี้พลังงานเฉยๆ ที่เราเฉยๆ แต่เราไม่รับรู้มัน เห็นไหม เราไม่รับรู้มัน มันก็เป็นแค่สังขาร สังขารก็ดับ แต่ถ้าเรารับรู้มัน นี่พอเรารับรู้มัน จากสังขารก็เป็นวิญญาณ วิญญาณก็เป็นอารมณ์ อารมณ์ก็เป็นชอบ ไม่ชอบ พอชอบ ไม่ชอบ มันก็ต้องการและไม่ต้องการ มันก็ต่อเนื่องกันไป แต่ถ้ามันไม่มีผัสสะมันก็ไปแก้สังขารมันก็ดับ มันก็ดับ

นี่พูดถึง นี่เราจะบอกว่าธรรมะหยาบละเอียดนะ ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างนี้ เรามีปัญญาอย่างนี้ นี่คำพูดของครูบาอาจารย์ดี ฟังเทศน์แล้วเรามาใช้ปัญญาใคร่ครวญอย่างนี้ แต่เพียงแต่ที่เวลาเราพูด เราพูดว่าหลวงตา เราไม่ได้ฟังเทศน์เองนี่ว่าท่านพูดอย่างไร พูดที่ไหน ถ้าเราฟังเทศน์เองเราจะรู้ว่าหลวงตาท่านพูด มันต้องแบบว่าเขาเรียกว่าอะไรนะ แบบว่าเวลาพิจารณาอะไรเขาจะเรียกเฉพาะคำไม่ได้ ต้องดูว่าพูดเรื่องอะไรมาแล้วมาถึงตรงนี้ แล้วหวังอะไร? แต่ถ้าเฉพาะคำมา

เพราะคำว่าเฉพาะผัสสะคำเดียวเราถึงอธิบายเป็นคุ้งเป็นแควนี่ไง ตั้งแต่ผัสสะอย่างหยาบ ผัสสะอย่างกลาง ผัสสะอย่างละเอียด แล้วผัสสะไหนล่ะ? ก็มึงเอาผัสสะคำเดียว (หัวเราะ) ถ้าตอบอย่างนั้นมันก็ตายตัว ถ้าตายตัวอย่างนี้นะ นี่พูดแล้วสะเทือน ในพระไตรปิฎกไง เวลาพระนี่สมัยพุทธกาลนะ ก่อนออกบิณฑบาต เวลามีเวลาเหลือพระเขาจะไปคุยกับพวกลัทธิต่างๆ แล้วมันมีพระองค์หนึ่งเขาถามว่า

“เวทนามีเท่าไร?”

เขาบอก “มีเวทนา ๒ ทุกขเวทนา สุขเวทนา” แล้วก็ยืนกระต่ายขาเดียวอย่างนั้นไงเสร็จแล้วก็ร่ำลือกันไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า “โมฆะบุรุษ” เอ็ดพระองค์นั้นว่าโมฆะบุรุษ โมฆะคือคนที่ไม่มีคุณค่าไง

“เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้ เธอพูดอย่างนั้นไม่ได้”

ถ้าประสาเรานะ ถ้าไม่รู้อย่าพูดซะดีกว่า พอไปพูดอย่างนั้นปั๊บว่าเวทนา ๒ เพราะเวทนามันมีเวทนา ๓ ใช่ไหม? สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา แล้วเวทนา ๖ เวทนาอายตนะใช่ไหม? เวทนาจากตา เวทนาจากหู อายตนะ ๖ อายตนะภายนอก อายตนะภายใน นี่อายตนะภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม อายตนะภายนอก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายใน แล้วอายตนะ ๑๘ มันมีของมันไป ถ้าพูดถึงว่าถ้าละเอียดนะมันจะขยายไปเรื่อยๆ แต่ถ้ามันหยาบมันก็ได้แค่นั้น

ฉะนั้น ถ้าเวลาไปพูดโดยที่ว่าเป็นแบบว่าเถรตรง พระพุทธเจ้าพูด เวลาพระไปคุยธรรมะกับลัทธิต่างๆ กลับมา ถ้าพูดผิดพลาดมา พระพุทธเจ้าจะบอกเลย “โมฆะบุรุษ โมฆะบุรุษ” แล้วเวลาพระพุทธเจ้าก่อนออกบิณฑบาต มีเวลาก็จะไปสนทนากับพวกเดียรถีย์ พระพุทธเจ้าต้อนจนหมดเลย ต้อนจนเพราะท่านรู้ของท่านใช่ไหม? มันมีหยาบ มีละเอียด มันมีของมันไป แต่ถ้าเรารู้เฉพาะ แล้วเราไปพูดเฉพาะ ทีนี้พอพูดเฉพาะปั๊บมันก็เหมือนที่เราบอก

นี่เราพูดบ่อย พูดว่า “วิทยาศาสตร์แก้กิเลสไม่ได้” เพราะมันเป็นสูตรสำเร็จ สูตรทฤษฎี แต่กิเลสมันมีเล่ห์ มีเหลี่ยม มีหลบ มีหลีก สูตรทฤษฎีมันตายตัวไง โลกมันตายตัวนะ แต่ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่ตายตัว ธรรมะพระพุทธเจ้านะ เหมือนเชื้อโรค มึงหนีไปไหนล่ะ? มึงไปอยู่ที่ไหน? ยาตามไป ยาตามไป

นี่ก็เหมือนกัน พอกิเลสใช่ไหม? โอ๋ย เมื่อก่อนนะเป็นคนชอบโมโหโกรธา ดื่มสุรา เดี๋ยวนี้ไม่ดื่มสุราเลย แล้วไม่เคยโกรธเลย แล้วกิเลสล่ะ? อ้าว เดี๋ยวนี้ไม่ดื่มสุราแล้วนะ เดี๋ยวนี้เป็นคนไม่กินเหล้าเมายา เป็นคนที่ไม่เคยโกรธใครเลย แล้วกิเลสล่ะ? กิเลสก็ยังเต็มตัวอยู่อย่างเดิม อ้าว แล้วกิเลสไปไหนล่ะ? อ้าว ก็ยังไม่ได้ฆ่ากิเลสเลย อ้าว ก็ไม่กินเหล้าก็เป็นคนดี ไม่โกรธก็เป็นคนดี แล้วคนไม่โกรธมีกิเลสไหม? คนไม่โกรธไม่ใช่กิเลสมันหมดไปแล้วนี่ แล้วบอกทางโลกกันว่าไม่โกรธ เราไม่โกรธ ไม่มีโทสะ เราไม่กินเหล้าเมายา เราอยู่ในศีลเป็นคนดีไหม? ใช่คนดี แล้วทำอย่างไรต่อ ทำอย่างไรต่อ? มันไม่เห็นไง แต่ถ้าเป็นธรรมนะมันแทรกไปเรื่อย เราบอกว่าสูตรทฤษฎีทำไม่ได้

ฉะนั้น พอย้อนมาธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน พระพุทธเจ้าสอนนะ สอนแต่ละคนไม่เหมือนกัน สอนพระโมคคัลลานะก็อย่างหนึ่ง สอนพระสารีบุตรก็อย่างหนึ่ง เวลาจะสอนนะ เวลาพระผู้เฒ่าบวชมา เห็นไหม บอกว่าบวชมาเป็นผู้เฒ่า จะไปขอกรรมฐานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วจะได้เข้าป่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะให้เลย ให้พิจารณาเรื่องอะไร? พอพิจารณาก็เข้าป่าไปเลย แต่ถ้าเราบวชแล้วนะ เพราะมันไม่มีตำราให้เรียน

สมัยนั้นมันออกมาจากมุขปาฐะ ออกมาจากปาก เวลาบวชมาแล้วก็ต้องมาศึกษา ศึกษาก็ท่องจำกัน พอท่องจำแล้ว กว่าจะท่องจำได้ แต่เวลาขอกรรมฐาน ขอกรรมฐานแล้วพยายามเอาตรงนั้นเป็นแบบที่เราใช้พุทโธ พุทโธ พุทธานุสติใช้เป็นตัวตั้งแล้วตรึก ตรึกแล้วพอจิตเราสงบ จิตเรามันมีหลักมีเกณฑ์มันจะขยายความ ปัญญามันจะเกิด มันจะขยายความไป มันจะคุ้ยความเห็นของเราขึ้นมา อันนั้นมันก็เป็นประโยชน์ไง มันเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติ

ฉะนั้น ปฏิบัติมันถึงมีหยาบ มีละเอียด ไม่ให้ตอบผูกมัดตัวเองว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้าไม่ตอบผูกมัดตัวเอง ถ้าทางโลกก็บอกว่าฉ้อฉล เป็นแบบว่ามีเล่ห์กล ไม่พูดให้เด็ดขาด ไม่พูดให้ตรงประเด็น ตรงประเด็น แต่ตรงประเด็นแล้วมันอย่างที่ว่า เมื่อก่อนกินเหล้าเมายา เดี๋ยวนี้ไม่กินเลย ไม่กินเลย แล้วไม่ฆ่าสัตว์ ต้องเมตตาสัตว์ด้วย ต้องเลี้ยงสัตว์ด้วย ต้องดูแลสัตว์ด้วย ต้องให้สัตว์นั้นอยู่ด้วยความเป็นสุขด้วย ไม่ใช่ไม่ให้ฆ่าสัตว์ ไม่ให้ฆ่าสัตว์ เออ เอ็งก็อยู่ของเอ็ง ข้าก็อยู่ของข้า ไม่ให้ฆ่าสัตว์ก็เท่ากับวัตถุธาตุสิ ไม่ฆ่าสัตว์ต้องเมตตาสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์ต้องดูแลสัตว์ สัตว์โลกเราช่วยดูแลเขา ถ้าเราช่วยเหลือเจือจานเขาได้ ถ้าเราช่วยเหลือเจือจานเขาได้เราก็บอกวิธีการกับเขาว่าจะดำรงชีวิต

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมามันมีเหตุมีผลของมัน มันเข้าไปของมัน ไม่ใช่ฉ้อฉล ไม่ใช่เล่ห์กล ไอ้เล่ห์กลนั่นมันเป็นกิเลสนะ เล่ห์กลนั้นมันหาผลประโยชน์ใส่ตัว แต่เวลาปฏิบัติธรรม แม้แต่ชีวิตเรา เรายังเสียสละมาทุกๆ อย่างแล้วนะ เราเสียสละมาทุกอย่างเลย อยากเอาชีวิตนี้รอด ไม่ให้ชีวิตนี้ไปแบกรับ นี่ต้องไปดูแล ไปแบกหามอะไรอีก เราสละมาหมดแล้ว ทุกอย่างเราเสียสละมาเหลือแต่ชีวิตเพียวๆ แล้วมาปฏิบัติ แล้วเราจะไปเอาอะไรอีก? จะไปมีเล่ห์กลอะไร? มีแต่เสียสละ มีแต่ไม่ต้องการ มีแต่ปล่อยวาง มีแต่ทิ้งเพื่อจะให้ชีวิตนี้รอด

ถ้าชีวิตนี้รอด รอดเพราะอะไรล่ะ? รอดเพราะเวลาปฏิบัติธรรม ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมามันก็เป็นธรรม ถ้ามันไม่เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม มันก็เป็นสิ่งที่ว่าเป็นฝึกงาน เราฝึกงานกันไป แต่ต้องฝึกนะ ไม่ฝึกงานเลยเราก็จะโตกันไม่ได้ ถ้าเราจะโตเราต้องฝึกงานของเรา ฝึกงานจนพอเป็นงานแล้ว พอเป็นงานแล้วนี่ปัจจัตตัง เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูธรรมเพราะอะไร? เพราะเขาไม่รู้ เรารู้ไง เพราะเขาไม่รู้ว่าเขาทำอะไร

ดูสิเวลาคนหลงทาง เขาไปผิดทางทั้งนั้นแหละ คนบอกทางบอกนี่ไปทางนี้ เลี้ยวซ้ายก็ถึงแล้ว มันก็ไปนะอ้อมโลกเลย ไอ้คนรู้นะบอกแค่นี้แหละ แต่ถ้าคนไม่เชื่อนะ อู้ฮู ขนาดไปมารอบโลกมันยังไม่ถึงเลย แค่เลี้ยวซ้ายมันจะเป็นไปได้อย่างไร? มันก็ไปอ้อมโลกเลย มันไม่เชื่อ ถ้าเป็นความจริงนะ แค่นี้ก็จบ ถ้ามันจบแล้วเราก็ได้เป็นความจริงของเราเนาะ เราฝึกงานก็ส่วนฝึกงาน ฝึกไปเรื่อย แล้วถ้ามันเป็นจริงของเรามันจะเป็นประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง