ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ใจที่มีธรรม

๘ ก.ค. ๒๕๕๕

 

ใจที่มีธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

คำถามอันนี้หนึ่งก่อนเลย เอาอันนี้ก่อน ไปแล้วเดี๋ยวมันยาว

ถาม : ๑. จะทำบุญอย่างไรให้แม่ผู้เสียชีวิตได้รับ

๒. เมื่อตายแล้วจะจุติอย่างไร?

ตอบ : ทำบุญให้แม่ ทำบุญให้แม่ที่ได้รับ เราก็ทำบุญแบบเรานี่แหละ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้เวลา อทาสิเม อกาสิเม ฯ ไง

เมื่อก่อนยังไม่มีศาสนาพุทธ คนเราก็ยังโง่อยู่ อ้อนวอน กราบไหว้อ้อนวอนเอา อ้อนวอนพระอาทิตย์ ภูเขา ไฟ ต่างๆ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว บอกเดี๋ยวนี้มีศาสนาแล้ว อย่าไปอ้อนวอนใคร อย่าไปอ้อนวอนใดๆ ทั้งสิ้น ให้ทำคุณงามความดีของเรา ให้ทำคุณงามความดีของเรา ในเมื่อเราทำคุณงามความดีใครเป็นคนทำ? ใจเป็นคนทำ เพราะใจเป็นคนทำ เอาใจดวงนั้นอุทิศส่วนกุศล ความรู้สึกนึกคิดอันนั้นอุทิศส่วนกุศลให้ใจถึงใจไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ อย่าคร่ำครวญ อย่าพิร่ำรำพัน เพราะสิ่งนั้นมันช่วยสิ่งใดไม่ได้ ให้ทำคุณงามความดีของเรา แล้วอุทิศส่วนคุณงามความดีนี้ให้กับแม่ ให้กับญาติพี่น้องของเรา ให้กับสิ่งต่างๆ ไป นี่เรามีหน้าที่ทำแบบนี้ ถ้าทำแบบนี้นะมันทำแล้วมันเป็นความจริงไง ความจริงจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง อย่างเช่นเราคิดถึงใครอยู่ เราคิดถึงเขา เขาอยู่คนละต่างแดน เขามีความรู้สึกได้นะบอก อืม มันมีความรู้สึกอะไรกระทบๆ เนาะ เวลามาเจอกันจะคุยกันได้เลย ความรู้สึกกับความรู้สึกมันถึงกัน

ฉะนั้น ความรู้สึกกับความรู้สึกในภพชาติปัจจุบันนี้ ฉะนั้น เวลาตายไป เวลาตายไปมันคนละมิติ คนละภพ คนละชาติ ทีนี้คนละภพ คนละชาตินะ นี่คนละภพ คนละชาติ ถ้าเขาเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เขาก็มีความสุข ความสบาย เขาเพลิดเพลินของเขา ไอ้เราทำบุญกุศลไป อุทิศส่วนกุศลไป เขาเพลิดเพลินของเขาอยู่บนสวรรค์ อยู่บนพรหม นี่บุญของเรามันน้อยกว่าว่าอย่างนั้นเถอะ เขายิ่งใหญ่กว่า ความยิ่งใหญ่กว่าของเขา เพราะเขาได้ทำของเขา เขาได้สร้างบุญกุศล เขาได้ทำคุณงามความดีของเขา เขาเสวยภพเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เราอุทิศส่วนกุศลไปมันเล็กน้อยกว่าเขา

ฉะนั้น ในพระไตรปิฎกบอกว่า ผู้ที่รับได้เป็นเปรตที่หลวงตาพูดบ่อย ถ้าเปรตอย่างนั้นรับได้ ถ้าสิ่งที่รับไม่ได้ล่ะ? รับได้ รับความปรารถนาดีได้ แต่รับสิ่งที่เป็นบุญกุศล บุญกุศลหมายถึงว่าเป็นทิพย์ไง อันนี้มันอยู่ที่ว่าถ้าเขาทำมาได้มากกว่า เขาทำมายิ่งใหญ่กว่านะ เหมือนของเรา ของเราเพียบพร้อมไปทั้งหมดเลย มีใครเอาของเล็กน้อยมาให้มันของเล็กน้อย แต่ถ้าผู้ที่มีคุณธรรม ของเล็กน้อยแต่ค่าน้ำใจมันสูงส่ง เขาก็รับอันนั้นไว้ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราอุทิศส่วนกุศลไป เห็นไหม ในเมื่อเราคิดถึงของเรา แม่ของเรา เราคิดถึงของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา เราอุทิศส่วนกุศลไปเพื่อเป็นความกตัญญูกตเวที ในเมื่อความคิดของเรานะ แต่ถ้าเขาทำของเขา เขาดีของเขา อันนั้นเป็นสมบัติของเขา

ถาม : ๒. เมื่อตายแล้วจะจุติอย่างไร?

ตอบ : ตายแล้ว เวลาออกจากร่างไปมันเสวยภพทันที จิตนี้ไม่มีเว้นวรรค เห็นไหม ถ้ามันแบบว่าอย่างที่ว่าเขาประสบอุบัติเหตุ เวลาเขาตายไปต่างๆ นี่ตามถนนหนทาง ตามสามแยก ตามทางแพร่งต่างๆ เวลาวันพระ วันเจ้านะจะมีเสียงต่างๆ โหยหวนแถวนั้นแหละ นี่เขาเสวยภพตรงนั้นทันที นั่นแหละสัมภเวสี แต่ถ้าเราตายไปด้วยความหมดอายุขัย ความต่างๆ มันเสวยภพ เสวยชาติ เขาไปของเขา

การจุติ จุติ เห็นไหม เวลาจุติ จุตินี่ในพระไตรปิฎกมี อย่างเช่นพระโพธิสัตว์จะจุติ จะมาอยู่ที่ดุสิต แล้วลงสู่ครรภ์ของมารดา อันนั้นมันเป็นบุญกุศล ผู้ที่ว่ามีสติ มีสติเพียบพร้อมเขาไปด้วยสติปัญญา แต่ถ้าปุถุชนอย่างพวกเรา ขาดสตินี่ เวลาไปแว็บ แว็บไปเป็นอีกคนหนึ่งแล้ว แว็บ แว็บไปเลย มันเร็วไง มันเร็วของเขา จุติเกิดกำเนิด ๔ วัฏฏะนี่กำเนิด ๔ เกิดในไข่ เกิดในน้ำครำ เกิดในครรภ์ เกิดเป็นโอปปาติกะ โอปปาติกะคือเป็นผี เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็เป็นโอปปาติกะ คือเกิดมาเป็นผู้ใหญ่เลย

แต่ถ้าเป็นมนุษย์เรา เห็นไหม อย่างเช่นสัตว์เดรัจฉาน เวลาเกิดมานี่เกิดในไข่ กว่าจะโต กว่าจะฟูมฟักขึ้นมา กว่าจะโตขึ้นมา ถ้าเกิดนรก อเวจีก็เหมือนกัน โอปปาติกะเสวยภพเสวยชาติเลย นี่การจุติ การจุติคือจุติลงสู่ครรภ์ จุติลงสู่ไหน อันนี้มันเป็นเพราะว่าเป็นอนาคตังสญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นแล้วอธิบายไว้ในพระไตรปิฎก

ฉะนั้น พวกเรา พวกผู้ปฏิบัติ ผู้ที่สิ้นกิเลส บางคนมันแบบว่าสติปัญญาหรือว่าความเห็นมันไม่เห็นได้อย่างนั้น แต่ถ้าผู้ที่มีปัญญาที่เห็นได้อย่างนั้น ผู้ที่หูตาชัดเจนจะเห็นได้อย่างนั้น นี่มันอยู่ที่อำนาจวาสนาอย่างที่พระพุทธเจ้าบอก พระพุทธเจ้าบอกว่า พระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นี่อายุ ๘๐,๐๐๐ ปี ทำบุญมา ๑๖ อสงไขย ๘ อสงไขย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย คำว่าทำบุญมาน้อยกว่าคือการสร้างสมบารมีมันน้อยกว่า ความอายุยืนอายุขัยมันเลยแตกต่าง ๘๐ ปี ๘๐,๐๐๐ ปี นี่มันแตกต่างกัน ฉะนั้น แตกต่างกันเพราะมันต้องมีเหตุมีปัจจัย มันไม่มีของฟรีหรอก มันมีเหตุมีปัจจัยมา

ฉะนั้น

ถาม : เมื่อตายแล้วจะจุติอย่างไร?

ตอบ : เมื่อตายแล้วจะจุตินะ จะจุติตามแต่อำนาจวาสนากรรมไง การกระทำ กรรมคืออะไร? กรรมคือจิตที่รับรู้ เราทำสิ่งใด เรารู้สิ่งใด เราวิตกกังวลเรื่องสิ่งใด? โบราณเขาจะบอกว่าเวลาคนที่จะสิ้นอายุขัยพยายามให้นึกถึงพระไว้ นึกถึงพระพุทธรูปไว้ นึกถึงพระไว้ ถ้าเรานึกถึงพระไว้เรานึกถึงคุณงามความดีไว้ เวลาออก คนเรานะทำทั้งดีและชั่ว ถ้าทำความดีและชั่ว ดูนะ ดูอย่างพระโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลย มีฤทธิ์มีเดชมาก เหาะเหินเดินฟ้าได้หมดเลย

นี่สิ่งที่มีฤทธิ์มีเดช อัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้ายนี้ต้องสร้างบุญบารมีนะ ต้องปรารถนาแล้วสร้างแบบพระโพธิสัตว์ เหมือนพระพุทธเจ้านี่ พระพุทธเจ้าต้องสร้างบุญบารมีจนถึงบุญเต็มถึงจะเป็นพระพุทธเจ้าได้ อัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาก็ต้องอธิษฐาน แล้วสร้างบารมีมา นี่พระโมคคัลลานะสร้างบารมีมาขนาดนั้น นี่ความดีทั้งนั้นเลยแหละ แต่ แต่เวลาเป็นพระโมคคัลลานะแล้ว เวลาถึงที่สุดโดนโจรทุบตาย ทำไมถึงโดนทุบตาย?

ถ้าโดนโจรทุบตาย คนสร้างบุญบารมีมา มีฤทธิ์มีเดชด้วย เขาจะมาทุบนี่เหาะหนี เหาะหนี ๒ หน พอหนที่ ๓ ทำไมเป็นอย่างนี้? นี่เป็นพระอรหันต์มีฤทธิ์ มีฤทธิ์ก็รู้ได้ไง อ๋อ มันเป็นกรรมของเราเอง เพราะเคยทำกับแม่ไว้ชาติหนึ่ง แต่นานเนกาเล สุดที่จะสาวเวลาไปได้เลย นี่กรรมนั้นก็ยังส่งผลมาว่าคนเราทำทั้งดีและชั่ว ถ้าทำคุณงามความดี ถ้าความผิดพลาด ความผิด ความชั่วของเรา เราทำเพราะว่าเราไม่รู้ หรือเราทำเพราะว่าความจำเป็นอะไรก็แล้วแต่มันจะให้ผลมา

ฉะนั้น ทำคุณงามความดีเราระลึกถึงพระ เราระลึกถึงพระไง ระลึกถึงพระ ระลึกถึงความดีของเราก่อน ถ้าระลึกถึงความดีก่อนเราก็อยู่กับความดี เกิดภพชาติกับความดี สร้างคุณงามความดี ทำคุณงามความดี ความดี ดีจนถึงที่สุดก็สิ้นกิเลสไปเลย ฉะนั้น สิ้นกิเลสไปเลยนะ สิ่งที่เวรกรรมทางฝ่ายชั่วมันตามไม่ทัน ทีนี้ทำคุณงามความดี เวลาทำคุณงามความดี แต่สิ่งที่มันเป็นอยู่ เพราะว่าคนเรามันจะไม่มีดีข้างเดียวและชั่วข้างเดียวหรอก มันมีผสมปนเปกันมา เพราะคนเราสติมันขาด สติมันมีความจำเป็นต่างๆ มันก็มีของมัน

ถ้ามีของมันเราก็พยายามสร้างคุณงามความดีของเรา ทีนี้พอเราสร้างคุณงามความดีของเรา สร้างคุณงามความดี สิ่งที่ว่ามันเป็นความชั่ว เวรกรรมนั้นมันก็โดนความดีครอบงำไว้ก่อน แต่ถึงเวลามันให้ผลมันให้ผลหมดแหละ ทีนี้ถ้าให้ผลหมดเราจะยอมจำนนให้เป็นผลหรือ? เราต่างหากเป็นผู้ขวนขวาย ขวนขวายทำคุณงามความดีของเรา

ฉะนั้น

ถาม : เมื่อตายแล้วไปจุติอย่างไร?

ตอบ : คำว่าอย่างไร อย่างไรมันเป็นเพราะผล นี่เป็นผลของวัฏฏะ ผลของเวร ของกรรม ฉะนั้น เวลาผลของเวร ของกรรมปั๊บเราก็ต้องพยายามฝืนใจเรา ทำแต่ความดีของเรา สิ่งใดทำแล้วระลึกถึงเสียใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย ถ้าเรามีสติ เรามีปัญญาเราก็ทำแต่สิ่งที่ดีๆ ไว้ เวลาระลึกแล้วมันก็ชื่นใจ เวลาระลึกแล้วมันก็พอใจ ฉะนั้น สิ่งนี้พระพุทธเจ้าถึงสอนว่าเป็นกาลามสูตร ไม่ให้เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ให้เชื่อแต่การกระทำ นี่การกระทำ ถ้าทำแล้วมันจะให้ผลตามนั้นแหละ ฉะนั้น เราต้องตั้งใจทำของเรา อันนี้พูดถึงว่า “การทำบุญและการตาย”

ข้อ ๙๘๕. มันไม่มีเนาะ

ถาม : ข้อ ๙๘๖. เรื่อง “รบกวนหลวงพ่อเมตตาเกี่ยวกับความอยาก (ตัณหา ๓ )

ตอบ : นี่ครั้งที่แล้วเขาถามมาเรื่องภพนั่นแหละ แล้วเราคิดว่ายกเลิกแล้วก็จบกันไป แต่พอยกเลิกแล้วเขาก็ถามมาใหม่

ถาม : ตอนแรกคิดว่าเข้าใจ แต่หลวงพ่อให้ข้อมูลดีกว่า ขอเมตตาฟังต่อ ปกติเวลาทำงานบ้านใช้หูฟังธรรมะ เมื่อทำเสร็จจะสวดมนต์มหาสติปัฏฐานสูตร ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร คิริมานนทสูตร หรืออื่นๆ ตามเวลาจะอำนวย เมื่อต้องไปทำงานก็จะใส่หูฟังธรรมะ เวลาสวดมนต์จะยืนหรือเดิน เพราะเมื่อนั่งนานๆ จะปวดหลังและกลัวตัวจะโยก

ตอบ : ฉะนั้น เวลาคำถามถามว่า “อยากฟังหลวงพ่อดีกว่า” อยากฟังหลวงพ่อเรื่องตัณหา ๓ ตัณหา ๓ นะ เวลาสวดมนต์ นี่ในธัมมจักฯ มันก็มี ทุกอย่างมันก็มี มันมีชื่ออยู่หมด

นี่ก็เหมือนกัน นี่จะฟังตัณหา ๓ ตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหา ๓ คือสมุทัย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ควรกำหนดเราก็กำหนดไม่ได้ เพราะเราไม่เคยเห็นทุกข์ แต่เราเห็นผลที่เกิดขึ้นจากทุกข์ เวลาผลเกิดขึ้นจากทุกข์ เพราะคำว่าทุกข์ของเรามันต้องมีเหตุ มีผล มันต้องมีกิเลสมาแหย่แล้ว กิเลสมายุแหย่ใจเราแล้ว ยุแหย่ให้จิตใจนี้มันฟู ให้จิตใจมันไม่พอใจ ให้จิตใจนี้วิตกกังวล นี่กิเลสมันมาแหย่แล้วแหละ

นี่หลวงตาใช้คำว่า กิเลสเวลามันรู้สึกตัวนะมันก็มาขี้ถ่ายใส่หัวใจไว้ แล้วกิเลสมันก็กลับไปนอน พอกิเลสมันกลับไปนอนนะเราก็ โอ๋ย ทุกข์ โอ๋ย ทุกข์ กิเลสมันมาขี้ใส่แล้ว กิเลสมันมายุแหย่แล้วไง พอกิเลสมันยุแหย่ก็เกิดอารมณ์ อารมณ์เห็นไหม นี่มันไม่เห็นทุกข์ มันเห็นผลของทุกข์ เห็นผลที่มันเกิดแล้วไง เห็นผลคือวิบาก เห็นผลของทุกข์ นี้เราถึงไม่เคยเห็นทุกข์ ถ้าเราไม่เคยเห็นทุกข์นะ ทุกข์ควรกำหนด ในเมื่อเรากำหนดทุกข์ไม่ได้ เราจะเห็นสมุทัยได้อย่างใด? เราจะเห็นสมุทัยเราต้องรู้ทุกข์ รู้เหตุแห่งทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ไง ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์

ทีนี้สมุทัยมันเป็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าเป็นเหตุแห่งทุกข์ ขนาดทุกข์เรายังไม่เห็น แต่เราเห็นนะ เห็นแต่ว่าทุกข์ไง เสียใจ น้อยใจ ทุกข์ใจ ลำบาก อู๋ย ทุกข์ไปหมดเลย นี่คือเหตุคือผลไง อย่างที่ว่า เห็นไหม ที่ว่าโลกธรรม ๘ คนเรามีทุกข์ประจำธาตุขันธ์ คือธาตุขันธ์มันมีเหมือนกัน คนเรามีร่างกาย มีจิตใจเหมือนกัน มันต้องแบกรับภาระเหมือนกันทั้งนั้นแหละ

ไอ้การแบกรับภาระมันเป็นการแบกรับภาระในฐานะของสัจจะ คือฐานะของความจริงที่มันต้องมี แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากนี้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันไม่เห็นตามที่สถานะ คือว่าสถานะที่ต้องแบกรับนี่หรอก สถานะที่แบกรับมันควรไม่มี มันควรจะพอใจเรา มันควรจะมีความสุข มันควรจะยั่งยืน มันคิดตรงข้ามหมดเลย พอมันคิดตรงข้ามหมดเลย พอคิดตรงข้ามมันก็ทุกข์น่ะสิ เพราะเราคิดโต้แย้งกับความจริง เราคิดไม่ไปตามความจริงมันก็เป็นความทุกข์

ถ้าเป็นความทุกข์ขึ้นมา เป็นความทุกข์ขึ้นมา เหตุแห่งทุกข์ นี่ไงเวลากิเลสมันขี้ถ่ายใส่ใจไว้ นี้เป็นคำพูดของพระอรหันต์ พระอรหันต์นี่นะมันมีหู มีตา พระอรหันต์เห็นความเป็นไปของใจทั้งหมด ฉะนั้น เวลาพระอรหันต์เห็นความเป็นไปของใจทั้งหมด เวลาเกิดอาการที่มันเกิดขึ้นมามันถึงเห็น เห็นแล้วท่านถึงเอามาพูดให้เราฟัง มันซึ้งนะ เราฟังแล้วแบบมันสะเทือนใจมาก

กิเลสนะมันมาขี้ถ่ายใส่หัวใจเราไว้ คือคนมันมายุแหย่เรา คือสมุทัยมันใช้เล่ห์กลมาหลอกเราแล้ว ไม่รู้ตัว มันไปแล้ว พอมันไปแล้วเราเพิ่งมาไม่พอใจ เพิ่งมาไม่พอใจไง เพิ่งมาขัดใจ พอเพิ่งมาขัดใจ ดูสิกิเลสมันกลับไปบ้านนอนแล้วนะ เพิ่งคิดได้ พอคิดได้มันผลไง คือในเมื่อไม่มีการยุแหย่ ไม่มีการรับรู้อันนั้นมันจะเกิดความทุกข์ไหม? มันก็ไม่เกิดหรอก

ฉะนั้น นั่นแหละคือตัวเหตุ เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด แต่เราไปรับรู้ที่ผลไง รับรู้วิบาก รับรู้ที่ว่ามันไม่พอใจ พอไม่พอใจคืออาการทั้งหมด คืออารมณ์ความรู้สึก ทุกข์ๆๆ ไปหมดเลย เราถึงบอก แล้วทุกคนก็บอกว่านี่ไงทุกข์ควรกำหนด นี่รู้ทุกข์ แล้วพอไปรู้ทุกข์มันก็ดับ นี่ทุกคนตามความรู้สึกก็ปล่อยหมด รู้ตัวทั่วพร้อม จบหมด ว่างหมด แล้วว่างอะไรล่ะ? ว่างอย่างไรล่ะ? นี่ไงก็มันเป็นอาการไง มันเป็นผล มันเป็นวิบากไง มันไม่ใช่ตัวจริงไง มันเป็นเงา บอกว่าเงาไม่มี ก็ไม่มีน่ะสิ ก็มันไม่มีแสงมันก็ไม่มีเงา อ้าว ถ้ามันมีแสงมันก็มีเงา พอมีเงา พอปิดแสงหมดมันก็ไม่มีเงา แล้วสิ่งที่ให้เกิดเงามันอยู่ไหนล่ะ?

นี่พูดถึงว่าอยากฟังถึง “ตัณหา ๓” ไง ทีแรกคิดว่าเข้าใจ ความคิดว่าเข้าใจมันก็คิดได้ เพราะเราศึกษาแล้ว เราศึกษา เราก็อปปี้เป็นปริยัติ การปริยัติคือศึกษามาเพื่อเป็นหนทาง ถ้าเป็นหนทางแล้วเราปฏิบัติ นี่เวลาสวดมนต์ ถ้าสวดมนต์อยู่กับบทสวดมนต์ก็ได้ ฉะนั้น เวลาจะมาปฏิบัติ เวลานั่งนานมันจะปวดหลัง ไอ้ปวดหลังนี่ใครปวดล่ะ? เราตัวโยก ใครเป็นคนโยกล่ะ?

คือเราไปห่วงไปหมดไง เราไปห่วงไปหมดมันก็เหมือนกับเกร็งไปหมด ทุกอย่างจะอยู่ในรูปแบบหมด ถ้าทุกอย่างอยู่ในรูปแบบหมดมันก็เป็นสมมุติหมด มันก็เป็นเรื่องโลกหมด แต่ถ้าเราทำตามข้อเท็จจริงนะ สิ่งใดจะเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ถ้าสติพร้อมมันก็พร้อม ถ้าจะมีคำบริกรรมหรือปัญญาอบรมสมาธิ แต่ถ้ามันจิตสงบเข้ามา จิตสงบเฉยๆ แล้วเห็น เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม การเห็น เห็นอะไร? นั่นแหละคือเห็นกิเลส เห็นที่มันจะมายุแหย่แล้ว ถ้ามันไม่เห็นนี่จับไม่ได้หรอก ถ้าจับไม่ได้ เห็นไม่ได้นะวิปัสสนาไม่มีหรอก

เราถึงบอกว่า “สติปัฏฐาน ๔ จริง กับสติปัฏฐาน ๔ ปลอม” ไง สติปัฏฐาน ๔ จริง จิตสงบแล้วจิตเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจ ถ้าสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวใจ นั่นแหละตัวเหตุ นั่นแหละตัณหา ๓ นั่นแหละคือตัวสมุทัย ถ้าจับสมุทัย สมุทัย นี่กิเลสเป็นนามธรรม สมุทัยนี้เป็นนามธรรม ความพอใจ ไม่พอใจก็เป็นนามธรรม ความเป็นนามธรรม กับมั่นคงแก่นของกิเลสยิ่งกว่ารูปธรรม

รูปธรรมนี่นะ สิ่งที่เป็นรูปธรรม สสารต่างๆ ทำลายได้หมดแหละ แต่ไอ้นามธรรมนี่ทำลายไม่ได้ แล้วก็เกิดข้ามภพ ข้ามชาติ ตายแล้วก็ไปเกิดอีก เกิดอีกก็ตายอีกซับซ้อนอยู่นั่นแหละ เวรกรรมก็ทำเข้าไปก็สะสมเข้าไป สะสมเข้าไปอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเป็นกรรมดีล่ะ? กรรมดีพระโพธิสัตว์ เห็นไหม ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ทำแต่คุณงามความดี เสียสละ เป็นกระต่ายก็กระโดดเข้ากองไฟให้นายพรานได้กินเนื้อของกระต่าย

นี่เป็นสัตว์ก็คิดเสียสละชีวิตนะ พระโพธิสัตว์นะชาติหนึ่งเป็นกระต่าย นายพรานเขาหลงป่าไป เขากำลังอดอยากอยู่ เขาสุมไฟกันหนาวอยู่ กระต่ายตัวนั้นเห็นแล้วสงสารเขา ตัวเองกระโดดเข้ากองไฟ สัตว์คิดได้อย่างนี้หรือ? สัตว์ที่เป็นพระโพธิสัตว์คิดอย่างนี้นะ เอาตัวเองกระโดดเข้าไปกองไฟเลย กระต่ายตัวนั้นตาย เนื้อกระต่ายนั้นได้ให้นายพราน ๒ คนนั้นได้กินเพื่อประทังชีวิตไป นี่สร้างคุณงามความดีไง คุณงามความดี เสียสละๆ มาตลอดจนบารมีเต็ม จนมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเราทำ เวลาเราศึกษาธรรมมันเป็นการจำมานะ เป็นการศึกษามา เป็นการจำมา เราก็จำมา สวดมนต์สวดพรทั้งนั้นแหละ มันก็เป็นอย่างนั้นหมดแหละ นี่เราสวดมนต์สวดพร ถ้าเราจะทำให้เป็นจริง ฉะนั้น เวลาสวดมนต์สวดพรเราก็รู้ นี่ชื่อมันตัณหา ๓ มีชื่อหมดแหละ แล้วก็เอาชื่อไปคล้องคอ เห็นไหม ประชาชนเดินอยู่บนถนนเต็มไปหมด เอาชื่อไปคล้องคอคนนู้น เอาชื่อไปคล้องคอคนนี้ มันไม่เป็นความจริง เอาชื่อไปคล้องคอเขา

นี่ก็เหมือนกัน อันนี้ชื่อว่ามรรค อันนี้ชื่อว่าสติ สติก็เป็นอย่างนี้ เอาชื่อไปคล้องหมดเลย ตัวจริงไม่มี ความจริงมันไม่มี ถ้าความจริงมีนะ ถ้าสติมันยับยั้งได้หมด รู้เลยมีสติยับยั้ง สวดมนต์ก็คือสวดมนต์ สวดมนต์ก็คือคำบริกรรมนั่นแหละ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบเข้ามา มัน เอ๊อะ! สวดไม่ได้ เราจะสวดแต่มันสวดไม่ได้ ทำไมมันละเอียดขนาดนั้น

ถ้าละเอียดขนาดนั้นนะ พอจิตละเอียดขนาดนั้น จิตมันใช้ปัญญามันออกไป ปัญญาที่เราใช้กันนี้เป็นโลกียปัญญา โลกียปัญญา ฉะนั้น มันถึงได้ชื่อได้นามมาตลอด แต่มันไม่เป็นความจริงหรอก ไม่เป็นความจริง มันเป็นโลกียะหมดแหละ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติเข้าไป ฝึกหัดตามความเป็นจริงขึ้นมานะ เวลาจิตสงบแล้วมันไปรู้ไปเห็นเข้ามานะ อื้อฮือ

นี่ไงที่ว่ามรรคสามัคคี เวลามรรคมันทรงตัวได้ แล้วมรรคมันหมุนไป ธรรมจักร จักรที่มันเคลื่อน ปัญญาภาวนามยปัญญาเคลื่อนออกไปจากใจ ภาวนามยปัญญาเกิดจากใจ เคลื่อนออกไปแล้วหมุนกลับมาทำลายอวิชชา ทำลายความไม่รู้ แล้วจะรู้ว่าตัณหา ๓ มันเป็นแบบใด ตัณหา ๓ ไง ตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา คือซ้ายก็ผิด ขวาก็ผิด ตรงกลางก็ผิด

ซ้าย เห็นไหม กามสุขัลลิกานุโยค อัตตกิลมถานุโยค นี่ตรงข้ามสองส่วนก็ผิด ตรงกลางก็ผิด ตรงกลางคือภพไง ภวตัณหาไง มันก็ผิด ก้าวซ้ายก็ผิด ขวาก็ผิด ตรงกลางก็ผิดถ้ามันทำไม่เป็น แต่ถ้ามันทำเป็นนะ นี่ตรงกลางก็ถูก ไปร่องตรงกลาง ถ้าไปซ้ายไปขวา ไปซ้ายไปขวาเพื่อเป็นอุบายไง อุบายพาใจให้เจริญก้าวหน้าไป อุบายในการปฏิบัติไป มันต้องมีอุบายนะ ไม่ใช่ซื่อบื้อๆ ซื่อบื้อๆ กิเลสหัวเราะเยาะเลย เรียกมาเคาะหัว ป็อกๆ เออ ภาวนาแล้วเก่ง ภาวนาแล้วเก่ง นี่กิเลสมันเรียกมาเคาะหัวเลยนะถ้าซื่อบื้อ แต่ถ้ามันฉลาดนะ ซ้ายหรือขวานี่เป็นอุบาย แต่ถ้าตรงกลางมันจะลงสู่มัชฌิมาปฏิปทา มันจะลงสู่ความจริงอันนั้น ถ้าลงสู่ความจริงอันนั้นมันถึงจะเห็นจริง

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันจะรู้จริงตามจริง ไม่ใช่ว่าจะต้องไปเอาชื่อมันมาไง ตัณหา ๓ ก็ต้องไปจับคอมันมา ตัวนี้เป็นตัณหา ตัวนี้เป็นวิภวตัณหา นี่ตัณหา ๓ ต้องเอาตัวมันมา แต่ถ้าภาวนาไปนะมันจะรู้เลย อ๋อ อ๋อเลยนะ จบก็วาง ฉะนั้น ปฏิบัติไปแล้วมันจะรู้ตามความเป็นจริง นี่พูดถึงว่า “ฟังหลวงพ่ออธิบายดีกว่า” เขาว่านะ ทีแรกคิดว่ารู้ (หัวเราะ) ยกเลิกคำถามไง

ข้อ ๙๘๙. เนาะ อันนี้มันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงสัญชาตญาณของนักปฏิบัติไง “ทุกดวงใจว้าเหว่” นี่ชื่อของมันไง หัวข้อเขาถามมาว่า

ถาม : ๙๘๙. เรื่อง “ทุกดวงใจว้าเหว่”

กราบนมัสการหลวงพ่อ โยมได้เข้าใจลึกซึ้งแล้วว่าทำไมพระกรรมฐานถึงติดครูบาอาจารย์ แล้วทำไมเราจึงต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ โยมเป็นคนที่เชื่อมั่นเสมอว่าเราเท่านั้นที่จะสร้างกำลังใจให้ตนเองได้ เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาโยมจะพยายามแก้ไขสุขทุกข์ในใจของตัวเอง แต่พอได้ฟังหลวงพ่อ ได้มีโอกาสไปกราบ โยมถึงรู้ว่าแม้การสร้างกำลังใจให้ตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่กำลังใจจากครูบาอาจารย์มีคุณค่าและสำคัญยิ่งนัก โยมจึงได้เขียนมาหาหลวงพ่อบ่อยมาก ทั้งที่บางครั้งก็เป็นการบอกเล่าธรรมดา ไม่มีคำถามใดๆ แต่สิ่งที่อยู่ในใจเราไม่อาจบอกใครได้ หลวงพ่อเป็นที่พึ่งหนึ่งเดียว สำหรับใจที่ยังต้องชำระสะสางกันอีกมาก จนทุกวันนี้จึงยังรู้สึกขอบคุณเว็บไซต์

ทุกดวงใจว้าเหว่ โยมเห็นจริงตามนั้นเจ้าค่ะ มันเหมือนเรากำลังขุดหาตาน้ำด้วยมือเปล่า มีคนบอกว่าขุดไปเถอะจะได้เจอตาน้ำที่ใสสะอาด เราก็ขุด เพราะเชื่อคนที่บอก บางคนอาจโชคดีได้เห็นน้ำซึมขึ้นมาพอมีความหวัง แต่บางคนขุดจนมือทั้งสองแตกเลือดซิบก็ยังไม่เห็นอะไรเลย แล้วตาน้ำมันจะมีอยู่จริงหรือ? ถ้าเจอแล้วน้ำนั้นจะใสสะอาดให้ใช้ประโยชน์ได้จริงหรือเปล่า?

ครั้งหนึ่งมีคนถามโยมว่าจะปฏิบัติไปถึงไหน? ปากโยมก็ตอบว่าถึงนิพพาน แต่ใจกลับกระเพื่อมขึ้นมา โยมจึงรู้ว่าแม้เราจะมีความตั้งใจ แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ในใจ ทำให้เกิดความหวั่นไหว โยมถามตัวเองว่าเป็นความกลัวหรือ? กลัวทั้งที่ไม่รู้ว่านิพพานเป็นอย่างใด หรือกลัวอะไรกันแน่ แต่เมื่อได้ฟังหลวงพ่อแล้ว คำตอบก็น่าจะลงตรงคำว่า “เพราะดวงใจว้าเหว่” นี้เป็นอีกบททดสอบที่จะต้องผ่านให้ได้ กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูง

ตอบ : นี้เราจะพูดถึงว่าคำถามเป็นความเชื่อมั่นไง เวลาเราปฏิบัติทุกคนก็ต้องมีความเชื่อมั่นของตัวเองว่าเราจะไปทางไหน หรือเราจะมีความเชื่อมั่นอย่างใด ฉะนั้น โยมที่ถามมาเขาบอกว่าเขามีความเชื่อมั่นเสมอว่ากำลังใจ หรือการกระทำของเราต้องเป็นเราเอง อย่างที่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเข้มแข็ง ตนมีความสามารถ ตนนั้นก็จะเอาตัวเองรอดไปได้ ฉะนั้น ถ้าตนไม่เข้มแข็ง ตนไม่มีปัญญา ตนจะเอาตัวรอดอย่างไร?

ฉะนั้น เวลาเรามีปัญญาขึ้นมา เราคิดว่าปัญญาของเราถูกต้องไง เราคิดว่าเราเป็นคนเข้มแข็งใช่ไหม? เราคิดว่าเราเป็นคนมีปัญญา แต่ปัญญาของใครล่ะ? นี่มันเป็นปัญญาขนาดไหน ดูสิ เราพูดบ่อยมากว่าเวลาเราศึกษาพระไตรปิฎก ๙ ประโยค ๑๐ ประโยคก็แล้วแต่ ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ดวงใจเรากิเลสทั้งนั้นแหละ ถ้าดวงใจกิเลสทั้งนั้น ดวงใจเรามีกิเลส เรามีอวิชชา เรามีความไม่รู้ใช่ไหม? ทีนี้พอเราศึกษาขึ้นมาเราก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความถูกต้อง เราก็ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นไง

ถ้ายึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้น นี่ตรงนี้แหละที่มันตามการปฏิบัติ เวลายึดมั่นถือมั่น อย่างเช่นเขาบอกว่าพุทโธ พุทโธแล้วพุทโธจะหาย คนก็บอกพุทโธแล้วจะหาย ใครกำหนดพุทโธหายหมดเลย เพราะเขาตั้งใจให้พุทโธหาย พอเขาตั้งใจให้พุทโธหาย มันหายไปโดยหลอกๆ ไง มันหายโดยตั้งใจให้หาย เพราะเรารู้ก่อนใช่ไหม? เรารู้ว่าพุทโธ พุทโธไปนี่พุทโธต้องหาย พอพุทโธต้องหาย

เราเคยแก้พวกนี้บ่อยมากว่าพุทโธห้ามหาย พุทโธห้ามหาย แต่เวลามันจะหายมันหายโดยข้อเท็จจริง มันหายโดยจริงๆ แต่พอเราบอกว่าพุทโธมันต้องหาย พอพุทโธมันต้องหาย พุทโธ พุทโธ พุทโธแล้วก็หายไปเลย หายก็ตกภวังค์ไง มันไม่จริงไง ก็เหมือนกับเราบอกว่าทุกคนต้องรวย เราทำธุรกิจการค้าเราต้องประสบความสำเร็จ แล้วเราก็จินตนาการว่าประสบความสำเร็จเราทุกข์ตายเลย เพราะเราทำธุรกิจแล้วมันไม่เวิร์ค มันไม่จบสักที แต่เราบอกว่าต้องประสบความสำเร็จ คือความคิดกับการกระทำมันแตกต่างกันไง

อันนี้ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราพุทโธ พุทโธ แล้วก็ว่าพุทโธต้องหาย เราก็พยายามพุทโธ พุทโธให้มันเบาๆ ลง พุทโธให้มันเจือจางลง พุทโธด้วยสติไม่พร้อมมันก็หายไปเหมือนกัน แต่หายไปสู่ภวังค์ หายไปเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะหายไปโดยสติปัญญามันอ่อน สติมันอ่อน มันไม่รับรู้เลย มันหายไปเลย พอมันหายไปเลย

นี่จิตเวลาพูดถึงว่าจิตนะ จิตนี้มหัศจรรย์นัก จิตนี้เป็นได้หลากหลายนัก จิตนี้มันเป็นได้มหาศาล ทีนี้พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ พอมันหายไปมันก็เป็นภวังค์ พอภวังค์จิตมันก็นึกว่าเป็นสมาธิ พอนึกว่าเป็นสมาธินะ เวลามันออกมันสะดุ้งตื่นนะ มันรู้ว่า เออ แหม วันนี้นั่งสมาธิเก่งมาก วันนี้นั่งทีหนึ่งครึ่งวันค่อนวัน ไม่รู้หรอกว่านั่นมันเป็นมิจฉา มิจฉาเพราะมันลงสู่ภวังค์ ภวังค์คือมิจฉาสมาธิไง ภวังค์นี้เป็นสมาธิชนิดหนึ่ง แต่สมาธิที่หยาบหรือละเอียด

ทีนี้ถ้ามันลงไป นี่เพราะความเข้าใจผิด เห็นไหม ฉะนั้น เวลาเราศึกษาธรรมะอย่างนี้ก็เหมือนกัน เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรารู้ว่าเรารู้ นี่ไงบอกพุทโธ พุทโธ แล้วพุทโธต้องหาย แต่เวลาคนที่พุทโธหายจริงๆ นะ พุทโธ พุทโธนี่ชัดเจนมาก พยายามพุทโธให้ชัดๆ เลย แล้วพอมันละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามานี่ละเอียดมาก สติละเอียดมาก ละเอียดขนาดไหนสติมันก็ทันหมด ทันเข้าไป ละเอียดเข้าไปๆ จนมันจะพุทโธไม่ได้ พอพุทโธไม่ได้ทุกคนจะบอก เฮ้ย เดี๋ยวตายๆ

ทุกคนจะเป็นอย่างนั้นเลย เพราะมันเป็นความสัมผัสตามความเป็นจริง พอพุทโธ พุทโธ จนพุทโธไม่ได้ อ้าว พุทโธไม่ได้แล้วเราจะอยู่ที่ไหนล่ะ? อ้าว พุทโธไม่ได้เราไม่ใช่ตายหรือ? อ้าว พุทโธไม่ได้เราจะไปไหนล่ะ? มันตกใจ พอตกใจก็ออกมาพุทโธหยาบๆ อีก กว่าจะเข้ามาละเอียด อู๋ย เกือบเป็นเกือบตาย พอเข้ามาเกือบเป็นเกือบตาย พอมันจะหายๆ กลัวอีก ทั้งกลัว ทั้งตกใจ ทั้งตื่นเต้น เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ แต่ถ้าบอกพุทโธต้องหายนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ แล้วก็หลับไป หายทั้งนั้น

การปฏิบัติเกือบทั้งหมดเป็นแบบนี้ เป็นแบบหายโดยตั้งใจ ตั้งใจโดยตัวเองไม่รู้นะ ตั้งใจโดยกิเลสหลอกนะ ไม่ได้ตั้งใจ ก็พุทโธจริงๆ นี่แหละแต่มันหาย นั่นแหละมันรู้ได้ด้วยผลลัพธ์ มันรู้ได้ด้วยผลลัพธ์ มันรู้ได้ด้วยผลการกระทำ ถ้าผลการกระทำเป็นอย่างนั้น ถ้าพุทโธ พุทโธเป็นจริง มันหายตามความเป็นจริงนะ ลงอัปปนาสมาธินะ โอ้โฮ มันรวมลงนะ นั่นแหละรวมใหญ่ นั่นแหละอัปปนาสมาธิ พุทโธ พุทโธ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ สักแต่ว่า กายกับจิตนี้แยกออกจากกัน

กายกับจิตแยกออกจากกันเพราะจิตนี้มันรวมลง มันสนิทจนมันวางกายได้ พอมันวางกายได้ อายตนะทั้งหมดมันก็ไม่สืบต่อ พออายตนะไม่สืบต่อ หู ตา ลิ้น จมูก กาย มันก็ไม่รับรู้อะไร ให้ฟ้าผ่า ให้โลกธาตุนี้หวั่นไหว จิตดวงนี้ไม่รับรู้เลย ถ้าเข้าสู่อัปปนาสมาธินะ เข้าสู่รวมใหญ่นะมันไม่รับรู้ นี่ไงกายกับใจมันถึงได้แยกออกจากกัน คือใจนี่มันวางกายได้หมด ทั้งๆ ที่มันอยู่ในกายนี่แหละ แต่มันวางกายหมดเลย อายตนะมันถึงไม่สืบต่อ หูไม่ได้ยิน ความสัมผัสของอายตนะไม่มี รวมลง แล้วเวลามันถอนออกไง ถอนออกมันเริ่มซ่าออกมา พอมันซ่าออกมามันก็รับรู้ไปที่หู ตา จมูก ลิ้น มันก็รับรู้ออกไป

นี่ไงถ้ามันเป็นความจริงมันเป็นแบบนี้ แต่โดยส่วนใหญ่พุทโธต้องหาย นี้แบบว่าเวลาการศึกษา หรือการศึกษาธรรมะ ถ้ากิเลสมีอยู่มันเป็นแบบนี้ คือเข้าใจความหมายไขว้เขว เข้าใจความหมายโดยความเห็นของตัว ฉะนั้น จิตใจที่มีธรรมนะ นี่ใจที่ไม่มีธรรมมันก็ว้าเหว่ ใจที่มีธรรมมันจะเข้าใจเรื่องนี้ แล้วรู้ด้วยว่าคนที่ปฏิบัติทุกคนต้องผ่านมาอย่างนี้ แล้วจะล้มลุกคลุกคลาน ทุกข์มาก ลำบากมาก จะเข้าสู่ความจริงนี่ลำบากมาก แต่ทำได้ ถ้าทำขึ้นมานะ

ฉะนั้น โดยทั่วไปที่ทำก็ทำกันอยู่อย่างนี้ ล้มลุกคลุกคลาน เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเป็นอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงนะเขาก็โอ๋ไง เออ ถูก เออ ดี เออ ถูกต้อง ไอ้คนที่ฟังก็ อืม สุดยอดๆ นั่นแหละพยายามฝึกเข้ามา เดี๋ยวมันจะเข้มแข็งขึ้นมา เดี๋ยวจะเข้มแข็งขึ้นมา ความจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าความจริงเป็นแบบนี้มันจะเป็นแบบนี้

ฉะนั้น

ถาม : สิ่งที่ว่าโยมเข้าใจว่าต้องให้กำลังใจตัวเอง

ตอบ : ถูกต้อง แต่นี้การเข้าใจตัวเอง ถ้ามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม มันช่วยตรวจสอบตรงนี้ไง ถ้าช่วยตรวจสอบนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราสมัยปฏิบัติกรรมฐานรุ่งเรือง คำว่ากรรมฐานรุ่งเรืองคือครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาก พอปฏิบัติมากต่างคนต่าง มันแผ่กระจายออกไป ทุกคนจะมีประสบการณ์ แล้วประสบการณ์นี้จะมาเล่าสู่กันฟัง

ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ เวลาเรามาเล่าสู่กันฟังมันจะเห็น มันจะรู้ว่าจริตนิสัยคนเป็นอย่างไร แล้วจริตนิสัยอย่างนี้ เวลาลาหลวงปู่มั่นออกไป แล้วพอปฏิบัติแล้วกลับมาหาหลวงปู่มั่นไง นี่อันนี้มันจะมาถึงหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะแก้ไข ถ้าแก้ไขมันก็จะทำให้เราไม่ยึดติดกับที่ เหมือนกับที่ว่าพุทโธต้องหาย หรือเราศึกษาธรรมะแล้วต้องเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นแบบนี้เราก็ทำด้วยความเข้าใจของเรา

มรรคหยาบๆ มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด คือมันละเอียดรอบคอบไปไม่ได้ เพราะละเอียดรอบคอบไปมันจะเป็นความจริง แต่เราก็กลัว เราก็รั้งไว้ เราก็ไม่ให้มันเป็นจริง เพราะกลัวเป็นจริง เวลาพุทโธจะหายก็กลัวจะตาย กลัวมันจะเป็น กลัวมันจะตาย กลัวมันจะผิด กลัวมันทุกอย่างเลย แต่ถ้าเรามีสตินะเป็นไงเป็นกัน ปล่อยไปเลย มีสติตามพร้อมไป มีอะไรแก้ไขกัน นี่มันทำได้ นี่พูดถึงว่าความมั่นใจของคนถูกต้อง แต่ความมั่นใจของคนทุกคนมีกิเลส กิเลสจะทำให้เราไปตามช่องทางของกิเลส ฉะนั้น ปฏิบัติมันต้องมีอย่างนี้ไง

ฉะนั้น ที่ว่าสิ่งที่เขาเข้าใจของเขาก็ถูกของเขาอยู่ แต่อธิบายให้เห็นว่ามันจะเป็นจริงอย่างใด ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาใครพูดสิ่งใดมันก็บอกได้ไง ถ้าสิ่งที่อยู่ในใจของเราเราบอกใครไม่ได้ แต่มันจะมีสิ่งนั้นได้ ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาไปหาครูบาอาจารย์มีความสำคัญยิ่ง เราจะบอกว่าถ้ามีครูบาอาจารย์สำคัญยิ่งสำคัญตรงนี้ ถ้าเป็นดวงใจที่มีธรรมนะมันจะชักดวงใจที่ว้าเหว่ เพราะดวงใจทุกดวงใจว้าเหว่

เหมือนเด็ก เห็นไหม ดูเด็กมันเดินสิ มันสะเปะสะปะไปตามมัน แล้วพี่เลี้ยงต้องคอยดูแลนะไม่ให้เด็กนั้นมันประสบอุบัติเหตุ ครูบาอาจารย์เขาก็มีอย่างนี้ ถ้าครูบาอาจารย์จิตใจที่เป็นธรรมนะเขาจะดูแล แล้วอย่างเช่นในทุกวงการนะ ในวงการของนักกีฬาเขาต้องการหาช้างเผือก ถ้าช้างเผือก ได้ช้างเผือกมาแล้วเขาจะมาขัดเกลาช้างเผือกให้มันเป็นช้างเผือกได้จริง แล้วหาช้างเผือกมาแล้วมันจะเป็นช้างเผือกจริงหรือเปล่าล่ะ?

ในวงปฏิบัติเรา ครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ถ้าใครภาวนาเป็น ถ้าจิตใครลงสมาธิ จิตใครมีปัญญา ครูบาอาจารย์ท่านต้องการตรงนี้มาก เพื่อจะให้เป็นศาสนทายาทไง ถ้ามีจริงนะครูบาอาจารย์ท่านแสวงหาอยู่ นี่เวลาครูบาอาจารย์ ถ้าทำได้มันเป็นประโยชน์กับศาสนา ประโยชน์กับทุกๆ คนเลย แต่ถ้ามันทำไม่ได้ มันทำไม่ได้มันก็ต้องเข้มแข็งของมันไป

ฉะนั้น ในเรื่องของจิตใจมันลึกลับซับซ้อนนัก มันลึกลับซับซ้อน ถ้าซับซ้อนมันอย่างที่ว่านี่มันบอกใครไม่ได้ มันบอกใครไม่ได้หรอก แต่ครูบาอาจารย์ท่านรู้อยู่แล้ว เพราะว่าเวลาธรรมะอยู่ฟากตายๆ มันฟากตายอย่างนี้แหละ ฉะนั้น สิ่งที่ทำมานะมีครูบาอาจารย์หนึ่ง สองเวลามีคนถามว่าจะปฏิบัติถึงไหน เขาว่าเขาตั้งใจไปถึงนิพพาน นี่เราบอกเขานะ แต่เวลาเรากลับมาดูความหวั่นไหวในหัวใจ

ความหวั่นไหวนะ กรณีอย่างนี้มันกรณีที่ว่าเวลาเรามั่นใจ เรามั่นใจของเรา แต่มั่นใจ อวิชชาคือเราไม่รู้ไง เราก็ต้องหวั่นไหวเป็นธรรมดา แล้วเรื่องกิเลสมันลึกลับซับซ้อน เวลาเราบอกว่าเราปรารถนาดี เราทำคุณงามความดีนี่เราไปได้ แต่พอเราปรารถนาดีทำคุณงามความดี พอเป็นความดีปั๊บมันจะเริ่มแล้ว แล้วความดีมันคืออะไร? มันก็จะหวั่นไหวอย่างนี้

อย่างเช่นอาจารย์สิงห์ทอง อาจารย์สิงห์ทองเวลาก่อนที่ท่านจะบวชนะ ญาติพี่น้องบอกว่าอาจารย์สิงห์ทองเป็นคนที่แบบว่าเด็ดเดี่ยวมาก ทีนี้เด็ดเดี่ยวขึ้นมา ทีนี้ความเชื่อ ไม่ความเชื่อนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ท่านบอกว่าอาจารย์สิงห์ทองจะบวชได้อย่างไร? ก็ท้าทายกันไงว่าอาจารย์สิงห์ทองบวชไม่ได้พรรษาหรอก แต่อาจารย์สิงห์ทองท่านบอกว่าท่านบวชไปแล้วนะ สวดมนต์นะจิตก็ลงสมาธิ ทำสิ่งใดก็ลงสมาธิ ท่านสร้างบุญญาธิการของท่านมามาก จะทำอะไรนี่สมาธิมันเป็น อู้ฮู มีความสุขมาก ทั้งๆ ที่เขาสบประมาทว่าอาจารย์สิงห์ทอง

นี้ประวัติของท่านนะ ท่านบอกว่าญาติพี่น้องบอกว่าจะอยู่ได้อย่างไร? จะอยู่ได้อย่างไร? แต่เวลาท่านไปอยู่ของท่าน ท่านมีความสุขของท่าน ทำสิ่งใดมันก็ดีไปหมดเลย เอ๊ะ ถ้ามันสุขขนาดนี้ เราก็อยากจะมีความสุข อยากจะมีสุขมากยิ่งกว่านี้คือนิพพาน พอถ้านิพพานก็เลยไตร่ตรองอยู่หลายวันนะ พอสวดมนต์ทีไรจิตมันก็ลงทุกทีเลย เป็นสมาธิ มีความสุขมาก มีความสุขมาก มันทำได้อย่างนี้นะ ก็เลยตัดสินใจไง อธิษฐานเลยบวชตลอดชีวิต ไม่สึก พอบวชตลอดชีวิตไม่สึก ท่านบอกหมดเกลี้ยงเลย ตั้งแต่นั้นมาสมาธิก็ทำไม่ได้ อะไรก็ทำไม่ได้

นี่เวลากิเลสนะ เวลาบอกว่าจะอยู่ได้หรือ? จะอยู่ได้หรือ? นี่ท่านทำสมาธิได้ยอดเยี่ยมเลย ทีนี้พอมันยอดเยี่ยมมีความสุขมาก พอมีความสุขมาก เออ สุขมากๆ ฉะนั้น บวชตลอดชีวิต พอบวชตลอดชีวิตเท่านั้นแหละ ตอนนี้เอาแล้ว กิเลสพอมันว่าตลอดชีวิตมันตั้งสัจจะแล้วไง มันเริ่มแสดงตัวแล้ว โอ้โฮ ภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง ภาวนาอย่างไรก็ไม่ลง แต่ท่านก็สู้แก้ไขของท่านมา แก้ไขมา

เพราะเราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ อยู่กับหลวงตา นี่ท่านชมเหมือนกันว่าอาจารย์สิงห์ทองนี่นะ กิริยาท่าทางท่านเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เวลาเร่งความเพียร ปฏิบัติเดินจงกรม ทางจงกรมเป็นร่องท่านเดินจนดินยุบเป็นร่องเลย หลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านพูดเหมือนกันเลย ฉะนั้น มันยืนยันตรงนั้นไง มันยืนยันตรงความเพียรชอบ ยืนยันที่เหตุ ถ้ามันมีเหตุ ผลมันคืออย่างไร? นี้ผลมันก็มาได้ไง

ฉะนั้น เวลาเราบอกว่าเราจะปฏิบัติถึงนิพพาน แต่พอพูดแล้วจิตใจมันก็ฟู จิตใจมันกระเพื่อม แล้วบอกว่านี่คือกลัวไหม? นี่เราต้องมีสติปัญญาตาม กลัวไหม? ถามตัวเองว่ากลัวไหม? แล้วเรากลัวอะไร? พอกลัวอะไรขึ้นมา เห็นไหม เราถึงบอกว่า “ดวงใจว้าเหว่” เขาบอกว่าเขาเข้าใจว่าเพราะใจเราว้าเหว่ คำว่าใจเราว้าเหว่เพราะอะไร? เพราะเรามีเป้าหมายใช่ไหม? เราบอกเขาว่าเราจะปฏิบัติถึงนิพพาน แล้วนิพพานจะไปทางไหนล่ะ? แล้วใครจะชี้ทางไปนิพพานล่ะ?

เวลาคนจะเดินทางมันไม่มีคนชี้นำมันก็ว้าเหว่เป็นธรรมดา คิดดูสิเราต้องเดินทางไกล แต่เสบียงเรามีไหม? เรามีเข็มทิศไหม? เรามีสิ่งใดที่เราจะพาเราไป? แต่ถ้าเรามีครูบาอาจารย์นะ เรามีครูบาอาจารย์ เราอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านจะพูดบ่อย

“เราสั่งสอนมาตั้งเยอะ มันไม่มีใครมาพูดถึงเหตุถึงผลให้ฟังเลย เราสอนไปแล้วมันก็ไม่เห็นมีสิ่งใดเลย”

ฉะนั้น เวลาเราไปเดินจงกรมเราจะคิดเลย เห็นไหม เพราะก่อนหน้าเราจะเข้าไปหาหลวงตา เราปฏิบัติของเราอยู่ นี่ไปถามใครก็ตอบไม่ได้ หาครูบาอาจารย์นี้หายาก ไปถามอาจารย์องค์นี้ด้วยชื่อเสียง ด้วยกิตติคุณของท่าน พอไปถามมานะ ท่านตอบมาเราก็มานั่งคิด เอ๊ะ มันจะเป็นจริงหรือ? นี่เวลาคนที่ไม่เป็นตอบตามตำรา พอตอบตำราใช่ไหม? ตามทฤษฎี พอตอบตามทฤษฎี พอเราฟังแล้ว เพราะตามทฤษฎีเราค้นคว้าได้ เราก็อ่านหนังสือได้

เราก็อ่านหนังสือเหมือนกัน พระไตรปิฎกเราก็อ่าน เราก็ค้นคว้าอยู่ แต่มันก็เคลียร์ใจไม่ได้ ไปถามครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์ตอบมาแล้วมันก็ไม่เคลียร์ เอ๊ะ เอ๊ะอยู่อย่างนั้นแหละ แต่เวลาไปเจอหลวงตา เวลาขึ้นไปสิปัญหานี่ เวลาขึ้นไปนะท่านล้มโต๊ะเลย ท่านให้ปัญหามาใหม่เลย พอท่านให้ปัญหามาใหม่ เราต้องค้นคว้าเลย ฉะนั้น เวลาขึ้นไปแล้วมันได้ผลมาทุกทีไง ฉะนั้น เวลาปฏิบัติมันถึงขึ้นมาในหัวใจไง

นี่บอกว่าแต่เดิมเวลาปฏิบัติขึ้นมาเราก็อยากหาครู อยากหาอาจารย์ อยากหาคนบอก แล้วตอนนี้คนที่จะบอกเราอยู่บนกุฏิ เพราะเราอยู่ที่ร้าน อยู่ข้างล่าง นี่ภาวนาสิ คนจะบอกเรานั่งอยู่นี่ คนจะบอกเรานั่งอยู่นี่ เราท้าทายตัวเองตลอดเวลานะ เราต่างหากไม่มีคำถามไปถามท่าน เราต่างหากภาวนาแล้วไม่มีเหตุมีผล เวลาไม่มีหมอ เราก็ห่วงว่าเราเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วเราจะไม่มีหมอรักษา มาอยู่กับหมอนี่ไม่เห็นป่วยสักที คือไม่เห็นมีเหตุมีผลอะไรขึ้นไปถามท่านเลย

เราจะใช้ปัญหานี่เป็นข้อที่กระตุกเราให้เราพยายามปฏิบัติหาเหตุหาผล ให้มันเกิดประเด็นขึ้นมา หลวงตาท่านจะได้ชี้นำ ท่านจะได้บอก นี้จะบอกว่า เวลาเราบอกว่าเราจะปฏิบัติถึงนิพพาน แล้วมันก็กระเทือนใจ กระเทือนใจเพราะว่าเราจะไปนิพพานจะไปอย่างไร? ทีแรกคิดว่าเราสร้างกำลังใจเราได้ ใช่สร้างได้ เป็นไปได้ นี่พูดถึงว่าในวงปฏิบัติมันจะเป็นอย่างนี้แหละ ในวงปฏิบัตินะเราปฏิบัติอยู่ แต่ในหัวใจลึกๆ ในหัวใจลึกๆ ฉะนั้น มันก็เป็นคู่เวรคู่กรรมด้วย

เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น เห็นไหม เวลาหลวงปู่มั่นท่านนิพพานไป ไปนั่งอยู่ปลายเท้า นี่เวลามีความสงสัย มีสิ่งใดก็ได้หลวงปู่มั่นเป็นคนแก้ไข แล้วเดี๋ยวนี้หลวงปู่มั่นก็นิพพานไปแล้ว แล้วเวลาไปคุยกับใคร ไปไหนมาสามวาสองศอก นี่ท่านถึงพูดว่า “จิตดวงนี้มันจะเชื่อฟังใคร? แล้วใครจะมีเหตุมีผลเอาจิตดวงนี้ เอาใจของท่านไว้ในอำนาจ ไว้อยู่กับท่าน” เพราะเอาจิตดวงนี้ไว้ในอำนาจ คือเหตุคือผลไง ถ้าเหตุผลฟังแล้วมันเถียงไม่ขึ้น

ถ้าเวลาครูบาอาจารย์ที่เป็นจริงท่านพูดคำเดียวเท่านั้นแหละมันสะอึกเลย แต่ถ้ามันเป็นทางวิชาการนะ มันก็เป็นวิชาการ “น่าจะ” มันมี “จะ” “หรือ” เห็นไหม “หรือ” คือเขาไม่แน่ใจไง แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์นะไปช่องทางเดียวเลย ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่มี “จะ” “หรือ” หรอก ถ้า “จะ” “หรือ” แสดงว่าเราไม่เคยผ่าน เช่นเราผ่านประตูไหนก็คือประตูนั้น เราผ่านช่องทางไหนก็เป็นช่องทางนั้นแหละ ถ้าช่องทางนั้น เดินผ่านช่องทางนั้นต้องเป็นอย่างนั้น อริยสัจมีหนึ่งเดียว ถ้าคนพูดมันเป็นอันเดียวกันหมดแหละ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าเป็นทฤษฎีมันทำให้เราโลเลนะ ถ้าเป็นความจริงก็เป็นความจริง นี่พูดถึงว่า “ทุกดวงใจว้าเหว่” มันจริงอยู่แล้ว ฉะนั้น พอทุกดวงใจว้าเหว่ปั๊บมันก็ว้าเหว่ไปหมด อันนี้เป็นการยืนยัน ยืนยันว่าเวลาคนเกิดมา เห็นไหม ทุกดวงใจมีอวิชชาพาเกิด ปฏิสนธิจิต เวลาเกิดนี่อวิชชาพาเกิด ทีนี้อวิชชาพาเกิด อวิชชาคือความไม่รู้ เพราะความไม่รู้ในใจทุกดวงใจมีความไม่รู้อยู่

ไม่รู้ในอะไร? ไม่รู้ในชีวิตของตัวเอง ไม่รู้ที่มา ที่ไป ไม่รู้ว่าไปไหน ไม่รู้ว่ามาอย่างไร ถ้าความไม่รู้อันนี้มันทำให้เราละล้าละลังคือว้าเหว่ แต่ถ้าดวงใจดวงไหนมันชำระล้างกิเลสออกไปแล้วนะ ดวงใจที่มีธรรม ดวงใจที่เป็นธรรมไม่ว้าเหว่ ดวงใจที่เป็นธรรมไม่ว้าเหว่ ถ้าไม่ว้าเหว่ เพราะไม่ว้าเหว่มันถึงเห็นดวงใจของคนอื่นว้าเหว่ ถ้ามันก็ว้าเหว่ มันจะเห็นดวงใจดวงอื่นว้าเหว่ได้อย่างไร ถ้ามันว้าเหว่มันก็ต้องว้าเหว่เหมือนกัน แต่เพราะเขาได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาเขาถึงเข้าใจว่าทุกดวงใจว้าเหว่

แต่ว้าเหว่แล้ว เห็นไหม ในสโมสรสันนิบาตเลย มีความสุข ความเพลิดเพลินขนาดไหน แต่จิตใต้สำนึก จิตลึกๆ เลยทุกดวงใจว้าเหว่ แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราถมเต็มขึ้นมาด้วยธรรมโอสถ เราถมเต็มของเราขึ้นมาจนจิตใจนี้อิ่มเต็มขึ้นมา เห็นไหม นี่ดวงใจที่เป็นธรรมถึงได้ชี้บอกเราได้ ดวงใจที่เป็นธรรมถึงจะเห็นว่าทุกดวงใจว้าเหว่แล้วยืนยันกันได้ ถ้าดวงใจที่ไม่เป็นธรรมนะเราก็ว้าเหว่ แล้วเราจะชี้เขาอย่างไรเราก็ไม่รู้เหตุรู้ผล แต่จิตใจที่เป็นธรรมเขารู้เหตุรู้ผลของเขา เขาชี้ได้

ฉะนั้น ถ้าดวงใจที่ว้าเหว่ก็ต้องหาครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม เป็นที่พึ่ง ที่อาศัย แต่ถ้าหาไม่ได้นะ ถ้าหาไม่ได้เราก็ต้องเอาเราเป็นที่พึ่ง เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีตัวบุคคลเป็นที่พึ่งเลย เพราะบุคคลนั้นเชื่อไม่ได้”

แต่ถ้ามันมีครูบาอาจารย์ของเรา เพราะครูบาอาจารย์ของเราถ้าใจเป็นธรรม นี่มันมีธรรมในหัวใจด้วย เป็นบุคคลที่สื่อสารกับเราได้ด้วย แต่ถ้าเป็นธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมๆ ธรรมและวินัย แต่สื่อสารกับเราไม่ได้ เราเอากิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราไปศึกษา เอาความรู้ความเห็นของเราเข้าไปศึกษาเราก็ตีความเอา เราตีความเอาตามความเห็นของเรา ตามความพอใจของเรา ฉะนั้น สื่อสารกับเราไม่ได้ ถ้าเธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด แต่เราจะพึ่งอย่างใด?

แต่ถ้าเรามีครู มีอาจารย์นะ เรามีบุคคลด้วย มีธรรมที่ในดวงใจของครูบาอาจารย์ ใจที่เป็นธรรมสั่งสอนเราด้วย เห็นไหม นี่พระกรรมฐานติดครูบาอาจารย์ติดอย่างนี้ แต่ถ้าพระกรรมฐานไม่เอาถ่าน เขาก็ไม่เห็นความสำคัญ ถ้าเห็นความสำคัญนะ พอปฏิบัติไปแล้วไม่แตกแถว ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าออกนอกลู่นอกทาง หลวงตาบอกว่ากรรมฐานจรวด กรรมฐานดาวเทียม มันแซงหน้า แซงหลังไง กรรมฐานจรวด

กรรมฐานดาวเทียมมันไปอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ถ้าเป็นกรรมฐานที่เดินตามครูบาอาจารย์มันจะมีหลักมีเกณฑ์ ถ้าเดินตามครูบาอาจารย์มีหลักมีเกณฑ์นะจะเอาดวงใจดวงนี้รอดพ้นจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก จากดวงใจที่ว้าเหว่ จะเป็นดวงใจที่มีธรรม เอวัง