ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทำอย่างเก่า

๑๔ ก.ค. ๒๕๕๕

 

ทำอย่างเก่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๙๙๐. ข้อ ๙๙๑. ข้อ ๙๙๒. ไม่มี มันข้อ ๙๙๓. เนาะ

ข้อ ๙๙๓. เรื่อง “กราบขอบพระคุณเฉยๆ” นี้การกราบขอบพระคุณของเขา เขาบอกว่าเขาปฏิบัติมาด้วยการพิจารณาเวทนา พิจารณาจิตและธรรม ได้ประโยชน์มาก แล้วหลวงพ่อบอกว่าให้พิจารณากาย เขาถามมาไง บอกว่า

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่ออย่างสูง โยมได้รับคำตอบและคำแนะนำจากหลวงพ่อแล้ว กราบขอบพระคุณอย่างสูง โยมจะหมั่นตรวจสอบใจด้วยความซื่อสัตย์ ความพากเพียรปฏิบัติต่อไป หลวงพ่อบอกให้โยมพิจารณากาย แต่จากการภาวนาที่ผ่านมาของโยม ผลของการภาวนาที่เกิดขึ้นมาจากการพิจารณาเวทนาจิตและธรรมทั้งสิ้น จริงๆ แล้วโยมอยากพิจารณากายมาก แต่เหมือนไม่มีวาสนาทางนี้ โยมพิจารณาไม่เป็น แล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำการปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นไปได้อย่างไร จะลองพยายามดูค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : นี่ตรงนี้มันเป็นประเด็นไง คือ “อยากจะพยายามดูค่ะ” ไม่ต้อง ไม่ต้องพยายาม เพราะสิ่งที่การปฏิบัตินะ เราได้มาจากวิธีการใดล่ะ? ถ้าเราได้มาจากการพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมมันก็ถูกต้องแล้ว ความถูกต้องนะ อย่างเช่นเราทำงานสิ่งใดก็แล้วแต่ เราต้องการผลตอบ เราต้องการผลความสำเร็จไง ผลสัมฤทธิ์ที่มันสำเร็จเป็นผลมา ถ้ามันมีผลสำเร็จแล้วเราทำไมยังต้องกลับไปทบทวนสิ่งอื่นต่อล่ะ?

ฉะนั้น โดยการที่ว่าหลวงพ่อให้พิจารณากายๆ คำว่าพิจารณากายมันเป็นหลักใช่ไหม? โดยทั่วไปเวลาบอกว่าพิจารณา ไปดูในเว็บไซต์เราจะบอกพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่พูดโดยหลักคือพูดพิจารณากาย พิจารณากาย เพราะพิจารณากายมันเป็นกำปั้นทุบดิน เพราะเรามีกาย เห็นไหม เรามีกายอยู่แล้ว เราเห็นได้อยู่แล้วใช่ไหม? แล้วคนก็จะพิจารณากาย แต่ถ้าเราพิจารณาเวทนา พิจารณาธรรม พิจารณาจิตได้ตามความเป็นจริงเราก็ควรทำอย่างนั้น ถ้าเราทำสิ่งใดได้ผลแล้ว เราบอกว่าไปทำอย่างที่ไม่ได้ผล

ดูสิคนเขาประกอบธุรกิจการค้า เขาประสบผลสำเร็จมากมายเลย เราบอกว่าเลิกซะไปทำอย่างอื่นที่เขาต้องไปตั้งต้นใหม่ เราเป็นคนบ้าหรือเปล่า? เราเป็นคนบ้าสิ แต่ถ้าเขาทำธุรกิจของเขา เขาพยายามขวนขวายของเขา แต่เขายังไม่มีช่องทางไป ถ้าไม่มีช่องทางไป นี่ครูบาอาจารย์หรือบริษัทที่ปรึกษาเขาจะแนะนำ เขาทำวิจัยตลาดแล้ว เขาทำต่างๆ แล้วว่าสมควรจะทำอย่างใด เขาจะบอกว่าให้คนทำแบบนี้มันถึงประสบความสำเร็จ ฉะนั้น โดยหลัก เห็นไหม โดยหลักทางวิชาการ โดยหลัก พิจารณากายมันโดยหลักใช่ไหม? ส่วนใหญ่ก็บอกให้พิจารณากาย แต่ถ้าเราพิจารณานะ พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ถ้ามันได้ผลแล้วไม่ต้องไปพิจารณากาย

นี่ไงด้วยความเคารพใช่ไหม? ด้วยความศรัทธา นี่หลวงพ่อบอกให้พิจารณากาย แล้วโยมพยายามจะไปพิจารณากาย แต่สิ่งที่เราได้มา เราปฏิบัติมา เราได้หลักได้เกณฑ์มา เราได้หลักได้เกณฑ์มาโดยพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม สิ่งนี้เป็นความละเอียดนะ ถ้าพิจารณาจิต พิจารณาธรรม ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเป็นปัญญาวิมุตติเขาจะพิจารณาธรรมของเขา พิจารณาจิตของเขา ถ้าพิจารณาได้มันมีหลักได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วศรัทธาจริต ศรัทธาจริตทั่วไปเราจะทำสิ่งใดมันจะขาดตกบกพร่อง คือหยิบสิ่งใดก็ไม่ติดมือทั้งนั้นแหละ เราก็พยายามพุทโธ พุทโธให้จิตสงบ จิตสงบแล้วพิจารณากาย

โดยหลักไง การพิจารณากาย คือว่าโดยพื้นฐานทั่วไปส่วนใหญ่จะพิจารณากาย แต่ถ้าพิจารณาจิต พิจารณาธรรมสิ่งนี้ดีมาก ดีมากเพราะถ้าพิจารณากายนะ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ อย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านไม่ค่อยเทศนาว่าการ เพราะ เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่เข้าไปรู้ไปเห็น ประสบการณ์เข้าไปรู้ไปเห็น แล้วมันจะอธิบายออกมา อธิบายออกมามันเทียบเคียงไม่ได้ แต่ถ้าพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม นี่สิ่งนี้เทียบเคียงได้เพราะมันเป็นเชิงวิชาการ

เป็นเชิงวิชาการ แต่ปฏิบัติโดยเชิงวิชาการ มันจะแยกแยะ มันจะใช้ปัญญาของมัน มันจะรู้ จะเห็นของมันนะ แต่ถ้าเชิงวิชาการที่เราเข้าไปแยกแยะแล้วทำไม่ได้ เราทำไร่ไถนามันก็มีทางวิชาการเหมือนกัน แต่ทางวิชาการมันเป็นประเพณีใช่ไหม? ที่ปู่ ย่า ตา ยายเราทำไร่ไถนากันมาใช่ไหม? นี่คนทำนา ทำสวน เราเกิดมาพ่อแม่ทำสวน เราก็มีความชำนาญ เราจะเก่งของเราเลยทำสวน เราไม่ต้องเรียนเลย เราทำตามพ่อแม่เราเห็นหมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน การพิจารณากาย นี่บอกให้พิจารณากาย ทีนี้ถ้าพิจารณากาย นี่ที่เป็นประเด็นประเด็นตรงนี้ ประเด็นที่ว่าใครทำแล้วประสบความสำเร็จ สิ่งนั้นให้ทำแบบนั้น แต่บอกว่าหลวงพ่อให้พิจารณากาย ไม่ได้บอก ไม่ได้บอกให้พิจารณากาย แต่เวลาโดยทั่วไป เวลาพูดธรรมะมา การพิจารณา เห็นไหม อย่างเช่นทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบแล้ว นี่คือความสงบ แต่ถ้าพอสงบแล้วต้องออกพิจารณา ถ้าออกพิจารณา นี่มันเป็นโดยสูตร โดยหลัก กาย เวทนา จิต ธรรม ก็เอากายเป็นหลักไง ให้พิจารณากายๆ

ถ้าเราพิจารณากายดี.. ดี! แต่ถ้าใครพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรมดี.. ดี! เอาตรงนั้นไง สติปัฏฐาน ๔ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่สติปัฏฐาน ๔ อันใดอันหนึ่งอันเดียว แล้วถ้ารู้นะ พิจารณากายรู้ก็รู้หมด ถ้าพิจารณากายรู้นะมันรู้หมด เวทนาก็รู้ จิตก็รู้ ธรรมก็รู้ ถ้าพิจารณาธรรมมันก็กลับมารู้กายเหมือนกัน เพราะเวลาถ้ามันละ มันขาดนะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันจะลงตรงนี้หมด ถ้าถึงที่สุดแล้วมันจะลงอันเดียวกัน แต่ถ้าลงอันเดียวกัน

นี่พูดถึงลงอันเดียวกันนะ แต่ แต่ระหว่างสิ ระหว่างที่จะทำขึ้นไป โอ้โฮ ล้มลุกคลุกคลานมากเลย ไอ้ตัวล้มลุกคลุกคลาน ทำสิ่งใดแล้วได้ประโยชน์แล้วไม่ได้ประโยชน์ มันจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ถ้ามันทำแล้ว ที่เราพูดบ่อยๆ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเวลาคนปฏิบัติไปแล้ว อย่างเช่นตั้งแต่เช้ามาเราก็กินข้าวไปแล้วหนึ่งมื้อ แล้ววันพรุ่งนี้เราก็ต้องกินข้าวอีก

นี้การปฏิบัติไป พอมันปล่อยวางแล้วมันไม่จบไง พอมันไม่จบคือมันไม่สมุจเฉทปหาน มันไม่ขาด พอมันไม่ขาดเราต้องทำซ้ำๆๆ เข้าไป พอซ้ำๆ เข้าไปมันเกิดความเคยชิน พอเกิดความเคยชิน เกิดความคุ้นเคย เกิดต่างๆ ตรงนี้มันจะเป็นประเด็นแล้ว ประเด็นที่ว่าปฏิบัติแล้วไปไม่ได้ไง มันติดขัด มันติดขัด คือมันเสื่อมว่าอย่างนั้นเถอะ อย่างเช่นเรารู้จักกันใหม่ๆ เราจะเกรงใจกันมากเลย เกรงใจเขา กลัวเขาจะกระทบกระเทือน แต่ลองสนิทกันสิ โอ๋ย อะไรก็ได้ วิสาสะเลยทำอะไรก็ได้ จิตเข้าไปคุ้นเคยนี่ไง

ฉะนั้น พอคุ้นเคยปั๊บมันเสียดายตรงนี้ไง เสียดาย ถ้าเราพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม โอกาสที่เราฝึกหัด แต่ถ้าเรายังไม่ได้ใช้ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรหมายความว่าถ้ามันไม่ตรงจริต ไปทำแล้วนี่นะมันเกิดไม่เป็นประโยชน์ขึ้นมา ไม่เป็นประโยชน์ คืองานที่เราไม่เคยทำ ทั้งๆ ที่เราทำงานอย่างนี้สำเร็จ อย่างเช่นเราทำงานอยู่ ทุกอย่างประสบความสำเร็จหมดเลย แล้วแค่นี้นะเราก็มีปัจจัย ๔ เครื่องอาศัยดำรงชีวิตแล้ว มันพอแล้ว มันไปได้แล้ว แต่ถ้าเราบอกว่าเราอยากทำอย่างอื่น เราทิ้งอันนี้ไปไปทำอย่างอื่น มันล้มลุกคลุกคลาน มันไม่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร?

อันนี้ถ้าพูดถึงระหว่างปฏิบัตินะ แต่ถ้ามันไม่ได้ พอมันปฏิบัติไปแล้วมันคุ้นชิน แล้วมันชินชา พอมันชินชา พอชินชามันเป็นสัญญาแล้วนะ พอเป็นชินชาปั๊บกิเลสมันเข้ามาสอดแล้ว พอมันชินชา อย่างเช่นเวลาทำ โอ๋ย ง่าย โอ๋ย เคยทำแล้ว มันนอนใจไง ถ้าใครบอกว่าเคยทำแล้ว ของเราเคยผ่านมาแล้วเราทำได้ นั่นแหละคนๆ นั้นนะเดี๋ยวจะมีปัญหาข้างหน้า แต่ถ้าใครบอกไม่ได้ต้องระวังตัวตลอด ต้องตั้งสติตลอด เออ คนนี้จะเอาตัวรอด นี้พอมันคุ้นชิน โอ๋ย สบาย เคยทำๆ ทำได้หมดเลย เคยทำนะ พอเริ่มต้นมันก็เริ่มต้นให้ แต่พอไปสักพักนะเดี๋ยวล้มลุกคลุกคลานแล้ว

นี่ถ้าล้มลุกคลุกคลานปั๊บ พอมันล้มลุกคลุกคลานมันก็จะมีอันหนึ่ง อันที่มันมีกาย เวทนา จิต ธรรม ถ้าเราพิจารณาเวทนา พิจารณาธรรม พิจารณาจิตอยู่ ถ้ามันไปทางนี้ไม่ได้เราก็มาพิจารณากายซะ แล้วพิจารณากายมันมี ๒ อย่าง พิจารณากายโดยเห็นกาย โดยจิตสงบแล้วเห็นกาย แต่พิจารณากายโดยที่ไม่เห็นกาย พิจารณากายโดยปัญญาอย่างนี้ก็ได้ อย่างนี้มันก็เป็นปัญญาเหมือนกัน พิจารณากายโดยจิต พอจิตมันก็เทียบเคียง แยกแยะเหมือนกัน ถ้าแยกแยะเหมือนกันมันเป็นประโยชน์นะ มันเป็นประโยชน์ เราเอามาแยกแยะ นี้พูดถึงว่าถ้ามันเป็นประโยชน์ใช่ไหม?

นี่เวลาที่เราปฏิบัติกัน เวลาหลวงปู่เจี๊ยะท่านประพฤติปฏิบัติ ท่านพูดให้ฟังนะ ท่านพูดให้ฟังว่าเวลาท่านปฏิบัติของท่านได้สกิทาคามีแล้ว ในความรู้สึกของท่าน ท่านมั่นใจของท่านขนาดนั้นเลย แล้วท่านบอกว่าท่านไม่พูดให้ใครฟัง ท่านไม่พูดให้ใครฟัง คนที่จะได้ฟังหมายถึงว่าได้ทดสอบจิตของท่าน จะมีหลวงปู่มั่นองค์เดียว นั่นแหละท่านถึงพยายาม พยายามจากวัดไทรงาม ที่เมืองจันท์ขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านเล่าให้ฟังนะว่าขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น พอขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ กว่าจะเจอหลวงปู่มั่นก็รอ แล้วได้โอกาสก็ขึ้นไปรายงานหลวงปู่มั่นในการพิจารณากาย

ในการพิจารณากายของท่านนะ ท่านพิจารณากายของท่านจากกระดูก เห็นไหม กระดูก ข้อนิ้วมือ ข้อมือ กระดูกข้อศอก กระดูกหัวไหล่ นี่แยกแยะมันๆ จนถึงที่สุดมันขาดหมด พอมันขาดหมด ขาดนี้ท่านไม่พูดให้ใครฟังนะ ท่านไปเล่าให้หลวงปู่มั่นฟัง พอหลวงปู่มั่นฟังเสร็จแล้วนะ หลวงปู่มั่นไม่ค้านสักคำหนึ่ง พอไม่ค้านสักคำท่านถามว่า

“แล้วจะให้ผมทำอย่างไรต่อไป?”

ท่านถามหลวงปู่มั่นว่า “แล้วให้ผมทำอย่างไรต่อไป?”

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ทำอย่างเก่า”

ทำอย่างเก่า เห็นไหม พิจารณากายมาแล้ว พิจารณามาเป็นโสดาบัน พิจารณากายละเอียดเข้าไปเป็นสกิทาคามี แล้วพอถึงสกิทาคามีมันปล่อยวางหมดแล้ว

“แล้วให้ทำอย่างไรต่อไป? ให้ทำอย่างไรต่อไป?”

“ทำอย่างเก่า ทำอย่างเก่า”

นี่เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอนนะ ท่านจะดูจริตนิสัย ถ้าคนพิจารณาอย่างใดแล้วมันได้ผล เห็นไหม หลวงปู่เจี๊ยะท่านพิจารณากายตลอด พิจารณากายตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ พิจารณากายหมดเลย แต่ แต่พิจารณากายแต่ละขั้นตอนมันไม่เหมือนกัน มันไม่เหมือนกันเพราะมันหยาบ ละเอียดต่างกัน

พิจารณากายขั้นแรก มันพิจารณากายไปเพื่อพิจารณาสักกายทิฏฐิความเห็นผิดในกาย มันเป็นไตรลักษณ์ก็เป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน แล้วพิจารณากายขั้นที่ ๒ ขั้นที่ ๒ นี่พิจารณากายมันถอดถอนอุปาทาน กามราคะ ปฏิฆะมันอ่อนลง แล้วมันพิจารณากายอย่างไรล่ะ? นี่พิจารณากาย พิจารณากายเหมือนกัน แต่โจทย์มันคนละโจทย์ คำตอบก็คนละคำตอบทั้งนั้นแหละ พิจารณากายไม่ใช่มีคำตอบเดียวนะ พิจารณากายมีคำตอบเป็นชั้นๆๆ เข้าไป แล้วพิจารณากายขั้นอนาคามีล่ะ? พิจารณากายขั้นอนาคามีมันก็เป็นอสุภะ

อสุภะ เห็นไหม อสุภะกับพิจารณากายที่เป็นไตรลักษณ์ พิจารณาสักกายทิฏฐิ พิจารณากายเป็นไตรลักษณ์เห็นกาย ถ้าพิจารณากายจนถอดถอนอุปาทานล่ะ? พิจารณากายจนถอดกามราคะล่ะ? แล้วพิจารณากายที่ละเอียด กายก็รูปของกาย รูปภายใน หลวงตาบอกว่าขันธ์ ๔ ขันธ์ ๔ ของท่าน ขันธ์ ๔ มันละเอียด นี่ถ้ามันถอนตรงนั้น เห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกว่าให้ทำอย่างเก่า ถ้าทำอย่างเก่า ทำอย่างเก่าก็ทำอย่างที่เราชำนาญไง ทำอย่างเก่าที่หลวงปู่เจี๊ยะท่านเคยทำ ถ้าหลวงปู่เจี๊ยะท่านเคยทำก็ทำของท่าน ท่านทำแล้วก็สะดวกของท่าน

ฉะนั้น ย้อนกลับมาที่คำถามนี้ คำถามนี้ก็เหมือนกัน พูดถึงถ้าเราทำประโยชน์ได้ เราพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ถ้ามันได้ผลขึ้นมานะให้พิจารณาอย่างเก่า พิจารณาอย่างเก่า ไม่ต้องไปพิจารณากาย การพิจารณากายนี้มันเป็นโอกาสไง เหมือนทาง เขาเปิดทางไว้สี่ทาง ทางสี่แยก จะไปแยกไหนล่ะ? สี่แยกนี่ให้ไปทางไหนก็ได้ ทางสี่แยก แล้วเราจะเดินแยกไหน? แล้วบ้านเราอยู่ไหนล่ะ? ถ้าบ้านเราอยู่ไหนเราก็ไปแยกนั้น ถ้าไปแยกตรงข้ามก็ไม่ถึงบ้าน ถ้าทางไม่ชำนาญเราก็ไว้ก่อน แต่อันไหนชำนาญเราทำตรงนั้นนะ ทำตามนั้น ทำอย่างเก่า ทำอย่างเดิม ทำอย่างที่เราทำแล้วได้ผล

ฉะนั้น ๑. ทำอย่างที่เราได้ผล ทีนี้เขาบอกว่า

ถาม : หลวงพ่อบอกให้พิจารณากายแล้วจะพยายาม

ตอบ : ไม่ต้องพยายาม เวลาพูดนี่ไม่ได้บังคับให้ใครทำ แต่เสนอแนวทางไว้ เวลาบอกให้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม แต่เวลาพูดว่าพิจารณากายๆ พิจารณากายมันเป็นหลัก แต่ถ้าพิจารณาจิตล่ะ? อย่างความชำนาญเราเองเราชำนาญนะ เริ่มต้น เริ่มต้นปฏิบัติโดยความซื่อตรง โดยความซื่อตรงเราก็พิจารณากายนี่แหละ แล้วพิจารณากายสมัยเราไม่บวช นี่ที่โพธารามเขามีการเก็บศพไร้ญาติบ่อยๆ

เวลาเก็บศพไร้ญาติ เมื่อก่อนแม่น้ำแม่กลองมันจะมีศพลอยมานะ ศพไร้ญาติเขาจะเก็บไปฝังไว้ที่สุสาน แล้วพอเขาจะล้างป่าช้า บางศพเดือนหนึ่ง บางศพปีหนึ่งมันขึ้นอืดเลยล่ะ เขาก็ไปรูด รูดสดๆ เลย รูดเพราะว่าเขาจะเอากระดูกมาเผา นี่เราอยู่ในเหตุการณ์นั้นตลอด เพราะว่าเวลาเราเก็บศพไร้ญาติเราก็ไปกับเขา เราอยู่ในเหตุการณ์ เราทำอะไรมากับเขาทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เวลาเป็นพระ บวชเป็นพระ พอบวชเป็นพระพิจารณากาย พิจารณากายแล้วมันจืด เวลามันจืดมันไม่เอา มันไม่สนเลย ก็เอาสมัยที่เราเก็บศพไร้ญาติ เอาที่ว่าศพมันเน่าๆ ศพที่มันรูดเอามาพิจารณา พิจารณามันก็ดีไม่กี่วัน พอพิจารณาวันแรกๆ อืม รู้สึกว่าจิตอยู่ เอาตัวเองไว้ได้อยู่หมดล่ะ พอไป ๒ วัน ๓ วันมันก็ชินอีกแล้ว มันจืด นี่หัวชนฝาเลย พิจารณากาย จนสุดท้ายนะเราก็มาพิจารณาความรู้สึก ความคิดนี่แหละ พอความคิดแล้วมันพิจารณาไป พอพิจารณาปั๊บมันก็สงบเข้ามาๆ อ๋อ ปัญญาอบรมสมาธิเป็นแบบนั้น

แล้วพอพิจารณาเข้าไป พอไปจับได้นะ จับความรู้สึกนึกคิดว่าเป็นรูป ความรู้สึกก็เป็นขันธ์ นี่เป็นรูป เป็นเวทนา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ แล้วก็แยกแยะมัน พอแยกแยะขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ แล้วพอมันปล่อยแล้วมันก็ไม่ขาด พอมันไม่ขาดก็ตามเข้าไปอีก ในรูปก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ถ้าในเวทนาไม่มีความรู้สึกมันเป็นเวทนาได้อย่างไร? ในสัญญา ในสัญญาขันธ์ ๕ มันละเอียดอยู่แล้ว แต่ในขันธ์ ๕ มีขันธ์ ๕ อีก แยกไปๆ แยกไปๆ มันก็ปล่อยๆๆ นี่พอมันปล่อย พอมันถึงที่สุดเวลามันขาด อ๋อ มันขาดอย่างนี้

จริงๆ เราเองเราชำนาญในการพิจารณาจิต แต่พอมาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะบอกไม่ได้ เอ็งต้องพิจารณากายด้วย เราก็กลับมาพิจารณากายกับหลวงปู่เจี๊ยะนี่ไง มันถึงเวลาเราพูดมันแถไปได้หมด ประสาเรานี่แถไปได้ทั่ว แถไปได้ทั่วเพราะอะไร? เพราะมีครูบาอาจารย์สอน ครูบาอาจารย์ที่ชำนาญทางใด เราอยู่กับหลวงตา พิจารณาธรรมซัดกันมาตลอด พอซัดเข้ามาตลอด พอมาหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านถนัดทางนี้ เราถึงได้เข้าใจไง เวลาศึกษาแล้วนะ เราศึกษา เอตทัคคะ พระอรหันต์แต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน นี่เราก็เชื่อกันอย่างนั้นแหละ แต่เชื่อก็เป็นเชื่อเฉยๆ ไม่ใช่ความจริง

เรามาอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ พออยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะมีพระมาจำพรรษากันด้วยหลายองค์ แล้วก็คุยกัน มันไม่เหมือนหลวงตา ไม่เหมือนหลวงตา เพราะทุกคนอยากจะทำข้อวัตรกันไง แต่หลวงปู่เจี๊ยะท่านชอบอย่างนั้น นี่เวลาเอตทัคคะ เราศึกษาว่าพระอรหันต์ ๘๐ องค์ เอตทัคคะ ๘๐ ทางไม่เหมือนกัน เราก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันอย่างไรล่ะ? แต่พอมาเจอความจริงเข้า อืม อืมเลยนะ ทีนี้พออืม เวลาปฏิบัติท่านว่าอย่างนี้ ท่านทำอย่างนี้ เราก็ฝึกหัด มันก็ได้อีกทางหนึ่งไง มันก็ได้

ฉะนั้น เวลาพิจารณากายถึงเข้าใจว่า ใครเห็นนะ ถ้าใครพิจารณาทางใดทางหนึ่ง มีความชำนาญทางหนึ่ง จะไม่ชำนาญอีกทางหนึ่ง พอไม่ชำนาญอีกทางหนึ่ง พอเราไปถามปัญหาเข้า มันตอบไม่ค่อยคล่อง แต่ถ้าใครชำนาญทางนั้น เราไปถามทางนั้นนะมันจะชำนาญมาก พอชำนาญมากจะพูดได้หมดเลย จะเข้าใจได้หมด ถ้าเข้าใจได้ พอเข้าใจได้ คนอธิบายเข้าใจได้ คนถามล่ะ? คนถามจะเข้าใจไหม? ถ้าคนถามแล้วนี่มันได้ประเด็นมานะ นั่นแหละเราได้แล้ว

เวลาหลวงตาท่านขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น ท่านบอกว่าไปถามปัญหา ถ้ายังไม่ได้ไง ยังไม่ได้ประเด็น เห็นไหม ท่านจะถามซ้ำ ถามทางนั้น ถามทางนี้ให้หลวงปู่มั่นท่านอธิบาย แต่พอได้ปั๊บ พอได้ปั๊บเช่นเราสงสัยอะไร เราติดขัดสิ่งใด แล้วเราก็ไปถามอาจารย์ อาจารย์ก็อธิบายมา แต่เรายังจับประเด็นไม่ได้ ถ้าเราจับประเด็นไม่ได้เราก็มาแก้ใจเราไม่ได้ แต่ถ้าเราจับประเด็นได้ปั๊บ เราจะเอามาแก้ใจเราได้แล้ว ถ้าเรายังจับประเด็นไม่ได้ว่าจะแก้ใจเราอย่างไร จะถามซ้ำ ถามซ้ำ ท่านก็จะอธิบาย อธิบายแนวทางนั้น แนวทางนั้น ถ้ายังไม่ได้นะท่านบอกว่าท่านจะถามอยู่อย่างนั้นแหละ แต่ แต่ถ้าได้ปั๊บ กราบเลยนะ กราบ ๓ ที ลงทันที ลงไปภาวนาต่อ

ถ้าได้ประเด็นปั๊บจะกราบเลย กราบปั๊บลงจากกุฏิท่านเข้าทางจงกรมเลย นี่มันจะเข้าไปเพื่อประโยชน์กับเรา ฉะนั้น ถ้ามันได้ประเด็น มันได้ประเด็นมันจะเป็นประโยชน์ ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านเข้าใจท่านก็อธิบายให้เราฟัง แต่เรานี่เราเข้าใจไหม? ถ้าเราเข้าใจ เราได้ประเด็นปั๊บ เราภาวนาได้

ฉะนั้น คำถามถามว่า

ถาม : เขาเคยทำของเขา เขาภาวนาของเขา เขาได้ประโยชน์ของเขา

ตอบ : ถ้าได้ประโยชน์แล้ว ได้แล้ว ได้ประโยชน์ทำอย่างนั้นไป เพียงแต่ว่ามันเป็นประเด็น เรากลัวว่าการภาวนามันจะแบบว่าแตกแขนงไปมาก เราไม่ต้องแตกแขนงไป ถ้าเราทำประโยชน์ได้ ส่วนใหญ่เวลาที่ตอบปัญหา ตอบปัญหาแต่คนที่ทำแล้วไปไม่ได้ คนที่ทำแล้วไปไม่ได้ใช่ไหม? อย่างเช่นคนพิจารณาจิต นี่พิจารณาจิตอยู่ ถ้าพิจารณาดีก็ใช้ได้ ถ้าพิจารณาจิตไม่ดี จิตนี่มันไปไม่ได้วางไว้ อย่างเช่นใช้ปัญญาอบรมสมาธิ นี่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิตลอด ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ พอมันวางแล้วทำอย่างไรต่อ? ก็พุทโธไว้

ถ้าพูดถึงพอจิตมันวางนะ พอพิจารณาปัญญาไปเรื่อยๆ พอมันวางมันก็เป็นเอกเทศ นี่เป็นสมาธิแล้ว แต่สมาธิก็เป็นสมาธิมีสติ มีความรู้อย่างนี้ มันไม่เหมือนพุทโธ พุทโธ พุทโธ ถ้าพุทโธนะ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลาละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามา เห็นไหม จากขณิกสมาธิเป็นอุปจาระ คือพุทโธเข้ามานี่จิตอยู่แล้ว จิตอยู่แล้ว พุทโธชัดเจน ทุกอย่างอยู่กับเราหมดแล้ว แต่เสียงยังได้ยินอยู่

นี่เสียงได้ยิน รับรู้สิ่งต่างๆ ได้ พุทโธละเอียดเข้าไป พุทโธละเอียดเข้าไป พอพุทโธละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ นะ พุทโธจนจะพุทโธไม่ได้ พุทโธจนจะพุทโธไม่ได้ หรืออานาปานสติกำหนดลมหายใจจนจะหายใจไม่ได้ ส่วนใหญ่แล้วจะกลัวตาย ส่วนใหญ่แล้วมันเหมือนกับเราจะปล่อยวาง จะทิ้งชีวิตทั้งหมดเลย ทุกคนจะตกใจ ทุกคนจะตกใจเพราะมันก็จะออกมารับรู้ จิตมันก็ละเอียดไม่ได้

ฉะนั้น เวลาพุทโธ พุทโธเข้าไป หรืออานาปานสติถ้าจิตมันละเอียดเข้าไปๆ แล้ว พอมันจะพุทโธไม่ได้ จะลมหายใจไม่ได้ นี่มันจะเริ่มละเอียดเข้าไป มันจะเป็นสักแต่ว่ารู้ พอสักแต่ว่ารู้มันปล่อยนะ พอมันปล่อยมันพุทโธไม่ได้เลย พอพุทโธไม่ได้มันก็จะอยู่กับตัวของมันเอง พออยู่กับตัวมันเอง นี่สักแต่ว่ารู้ เสียงไม่ได้ยิน ต่างๆ ที่กระทบกับอายตนะไม่ได้สัมผัสเลย นี่สมาธิมันลึกอย่างนี้ไง ถ้าสมาธิมันลึกอย่างนี้ นี่เจโตวิมุตติมันถึงว่ามีฤทธิ์ มีเดช เพราะจิตมันใช้กำลังของจิต ใช้กำลังของจิต เวลาจิตสงบมันก็สงบแตกต่างกัน พอสงบมันลึกลับซับซ้อน มันเบา เวลาออกจากสมาธิไปเหมือนไม่ได้เดินเคลื่อนไปเลย

นี้สมาธิมันเป็นแบบนี้ เกิดจากพุทโธ เกิดจากมันเป็นสมถะ แต่ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันไม่เป็นแบบนั้น เวลาเราพิจารณาจิต พิจารณาธรรมเราพิจารณาของเราไปเรื่อยๆ พอมันปล่อย การปล่อยนี่เป็นสมถะ การปล่อยคือจิตมันสงบเข้ามาเฉยๆ จิตมันสงบเข้ามาอย่างนั้นแหละ พอปล่อยๆ จิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา เดี๋ยวก็คิดอีก ไวมาก แต่ถ้าเราชำนาญแล้วนะเราคุมได้เลย คุมจิตไม่ให้คิดได้ ปล่อยให้คิดก็ได้ ไม่ให้คิดก็ได้

“รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร”

มันล่อเป็นบ่วง บ่วงมันล่อ เป็นพวงดอกไม้มันชม นี่เราก็จะไป ถ้าเรามีปัญญาพร้อมมันจะตั้งมั่นของมัน ตั้งมั่นคือมันอยู่เฉยๆ เราจะพูดให้เห็นว่าถ้าพิจารณาจิต พิจารณาธรรมมันไม่ลงลึก ไม่ลงลึกจนเบา จนโหวงเหวง จนว่าง มันจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าพุทโธ พุทโธนี่เป็น ในเมื่อไม่เป็นมันถึงมีปัญญาวิมุตติ เจโตวิมุตติไง ถ้าปัญญาวิมุตติมันปัญญาเข้ามา พอปัญญาเข้ามา พิจารณาเข้ามา เวลามันสรุปนะ เวลามันขาด เวลามันขาดมันเป็นอันเดียวกันไง

อริยสัจมีหนึ่งเดียว ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคหนึ่งเดียว เวลามันขาดมันจะเป็นอันเดียวกัน จะเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติเหมือนกันหมด แต่ที่มาแตกต่างกันมหาศาลเลย ที่มาคนละทางเลย ที่มา เห็นไหม วิธีการที่ทำมาไม่เหมือนกันเลย แล้วแตกต่างกันมาก แต่ผลอันเดียวกัน ผลน่ะ พอผลอันเดียวกัน แล้วพอเป็นผลอันเดียวกันแล้ว พอผล นี่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ อย่างเช่นพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มีเดชไปได้หมดเลย พระสารีบุตรปัญญาวิมุตติ

ถ้าปัญญาวิมุตติ นี่สิ่งที่ปัญญาวิมุตติชำระกิเลสเหมือนกัน แต่เรื่องฤทธิ์ เรื่องเดชไม่มี แต่ไปชำนาญการในโวหาร ในการอธิบายธรรม ถ้าเป็นปัญญา ธรรมะมันจะคล่องตัวมาก การกระทำแบบนี้มันแตกต่างกัน แล้วจิตเราล่ะ? จิตเรา ส่วนใหญ่แล้วถ้าเรามีการศึกษา เรามีต่างๆ เรามีปัญญา คนที่มีปัญญานะ พุทโธ พุทโธนี่ทำได้ยาก แต่ แต่ถ้าเป็นที่ศรัทธาจริตมั่นคงทำได้

ฉะนั้น ความแตกต่างตรงนี้ เวลาปฏิบัติแล้วมันถึงจะมีแบบว่าข้อปลีกย่อย แล้วก็เริ่มสงสัยนะ เวลาปฏิบัติเอ็งถูก ข้าผิด เอ็งผิด ข้าถูกมันจะมีตรงนี้ ฉะนั้น ถ้ามันต่างคนต่างว่าทางไหนทางที่ถูก ฉะนั้น ทางไหนทางที่ถูก?

ฉะนั้น เวลาหลวงปู่มั่นท่านบอกกับหลวงปู่เจี๊ยะ เห็นไหม “ทำอย่างเก่า”

ทำอย่างเดิมนั่นแหละ ทำอย่างเดิมที่เราทำได้ ทำอย่างเดิมที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จ ถ้าทำอย่างเดิมประสบความสำเร็จ อันนั้นมันเป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้น เราไม่ต้องไปทำตามใคร ทำตามเรานั่นแหละ เราทำอย่างใดให้ได้อย่างนั้น ถ้าทำอย่างนั้นแล้วมันก็เป็นประโยชน์กับใจเรา ถ้าเราดีขึ้นมานะ ยิ่งใครดีขึ้นมาด้วยการพิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ดีขึ้นมา แต่ แต่เวลาดีขึ้นมาแล้วนี่ครั้งต่อไปล่ะ? ครั้งต่อไป แล้วมันจะพัฒนาให้มันดีขึ้นๆ นี่มันจะทำอย่างไรต่อไปให้จิตนี้ดีขึ้น จิตนี้ดีขึ้น

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าถ้าจงใจ หรือบังคับให้ทำ เราไม่ต้องทำ แต่ถ้าจิต เวลาคนเราปฏิบัติไปแล้วมันไม่มีทางไป ปฏิบัติไปแล้วนะ เวลาปฏิบัติไปมันจะล้มลุกคลุกคลาน พอดีปฏิบัติไปแล้วมันแบบว่าหาทางออกไม่ได้เลย ดูหลวงปู่คำดี หลวงปู่คำดีนี่นะท่านรู้ด้วยว่าท่านติด ท่านรู้นะ ท่านรู้ว่าท่านติด ท่านยังไม่ถึงที่สุด แต่ท่านไปไม่ได้ ท่านไปไม่ได้ จนเดินจงกรมอยู่นะ จนสรุปเอาในหัวใจว่าต้องให้หลวงตามาช่วย ท่านออกไปกลางแจ้ง ไปจุดธูป ๓ ดอก แล้วอธิษฐานกับเทวดาเลย อธิษฐานเทวดาบอกให้หลวงตามาบอก เห็นไหม

นี่ขนาดที่ว่าคนภาวนาไป เวลามันไปไม่ได้ รู้อยู่ว่าเรายังไม่จบ แต่มันไปไม่ได้ แล้วมันเริ่มต้นไม่ได้ มันจับไม่ได้ มันไม่มีทางออก ออกจากทางจงกรมมานะมาเอาธูป ๓ ดอก อธิษฐานว่าขอให้หลวงตามาช่วยบอกหน่อย แล้วไปปักธูปกลางแจ้ง หลวงตาท่านบอกท่านอยู่ที่กุฏิ เออ มันก็มีเหตุให้ดลใจว่า เอ๊ะ อยากจะไปจังหวัดเลย ท่านก็ไปหา

พอหลวงตาไปนะ หลวงปู่คำดีท่านพูด เห็นไหม อู้ฮู มาเร็วเนาะ ส่งกระแสจิตนะ โอ้ มาเร็วเนาะ หลวงตาท่านก็บอก ท่านก็ไปประสาท่านนั่นแหละ พออย่างนั้นปั๊บชวนเลย พอมาก็อยากให้แก้ไข อยากให้แก้ไขก็เข้าไปคุยกันตัวต่อตัว พอเข้าไปคุยตัวต่อตัว ท่านก็แนะแนวทาง พอแนะแนวทางมันก็เหมือนหลวงตาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น จับประเด็นไง พอพูดไป พอจับประเด็นได้บอกว่ารู้แล้วๆๆ เห็นไหม

คนที่เวลาปฏิบัติไปมันไม่มีทางออกนะ รู้อยู่ว่ากิเลสเต็มตัว อึดอัดไปหมดเลยแต่ไปไม่ได้ ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าทำอย่างไร? นี่พระพุทธเจ้าไม่ต้องมีใครสอน พระพุทธเจ้าดันไปได้ แต่พวกเราสาวก สาวกะทำอย่างไร? ถ้าไม่มีผู้ที่เหนือกว่าเราทำอย่างไร? มันก็อั้นตู้อยู่อย่างนั้นแหละ พออั้นตู้อยู่อย่างนั้น รู้อยู่ว่ามันเป็นกิเลส รู้อยู่ว่ามันยังไม่จบ แต่ไปอย่างไรล่ะ? มันก็ไม่มีทางไป พอหลวงตามานะ พออธิบาย หลุดปากเลยล่ะ รู้แล้ว

รู้แล้วรู้วิชาการนะ รู้แล้วนี่รู้วิธีนะ รู้แล้วๆ แต่เวลามันอั้นตู้ เวลามันไม่มีทางไปมันปิดมืดบอดเลย มันไม่รู้อะไรเลย แล้วมันไปไม่ได้ เราจะบอกว่าอัดอั้นตันใจนะ คนเรานี่มันเหมือนกับเราอยากจะทำดี แล้วทำอย่างไรล่ะ? อัดอั้นตันใจนะ ทุกคนก็อยากทำให้พ่อแม่พอใจ ทำอย่างไรให้พ่อแม่พอใจล่ะ? ทำไปเถอะพ่อแม่บอกยังไม่ดี ยังไม่ดี ทำให้เต็มที่เลยพ่อแม่ก็ว่ายังไม่ดี

นี่ก็เหมือนกัน เราก็รู้อยู่ทำไม่ดีทำอย่างไร ทีนี้พอหลวงตาท่านอธิบายปั๊บ รู้แล้ว รู้แล้วรู้วิธีการ ทีนี้พออย่างนั้นหลวงตาก็กลับ ท่านก็ทำของท่านต่อ คนเรานะ ทำไปโดยที่ไม่มีทางออก กับคนเรารู้ทางออก แต่ยังทำไม่ถึง ก็ต้องขวนขวายต่อ ขวนขวายต่อเนื่องไปๆ จนถึงที่สุดผ่าน พอผ่านแล้วนะ พอผ่านแล้ว พอเจอหลวงตาใช่ไหม? หลวงตานี่คุยกัน ถ้าคุยกัน นี่ธรรมะเขารู้กันอย่างนั้น เขาทำได้ของเขาขนาดนั้น ถ้าทำได้ขนาดนั้นนะ นี่เวลาปฏิบัติไป สิ่งใดที่เราทำได้แล้ว เราปฏิบัติได้แล้วทำไปเถอะ

ฉะนั้น เหตุการณ์ข้างหน้า การปฏิบัตินะ การปฏิบัติ เวลาปฏิบัติไปเดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็เสื่อม พอเดี๋ยวดี เดี๋ยวเสื่อม ถ้าคนมีอำนาจวาสนามันก็จะพยายามไปให้ได้ แต่ถ้าคนไม่มีอำนาจวาสนานะ เวลาดีเราก็ดี พอใจกับหัวใจของเรา เวลามันเสื่อมนะ ก็ใจดวงเก่านั่นแหละทำไมไม่พอใจล่ะ? ทำไมทุกข์ขนาดนั้น? ทำไมดิ้นรนขนาดนั้น? ก็ใจดวงเดิมนั่นแหละ เวลามันดีนี่มันดีเต็มที่ ดีจน แหม ใครปฏิบัตินะ โอ้โฮ ถ้าดีอย่างนี้นะต้องถึงที่สุดให้ได้จะเป็นพระอรหันต์ พอปฏิบัติๆ ไปนะ อืม หันกลับบ้าน หันกลับบ้านก่อน เอาไว้คราวหน้าค่อยปฏิบัติใหม่ แต่เวลามันดีนะ โอ้โฮ สุดยอดเลย

ฉะนั้น เวลาระยะทางที่จิตนี้มันจะก้าวเดินไป ระยะทางที่จิตจะก้าวเดินไปเราจะต้องขวนขวาย ต้องมีจุดยืน ถ้าไม่มีจุดยืนนะ เวลาจิตมันท้อแท้มันน่าสงสารจริงๆ นะ เวลาหลวงตาท่านพูดถึงพระปฏิบัติด้วยกัน มันสะท้อนใจว่าเวลาเราล้มลุกคลุกคลานของเรามันทุกข์ยากแค่ไหน แต่จะมาบอกใครมันก็เหมือนกับว่าอยากจะอวดตัว แต่ถ้าคนที่เขาปฏิบัติเขาจะซาบซึ้งตรงนี้

คนเรานี่มันไม่มีทางไป แล้วเรามาอ่านพระไตรปิฎกนะ ในพระไตรปิฎกบอกว่า ผลของวัฏฏะนี่นะ ถ้าไม่รู้เหมือนกับเราเดินอยู่กลางทะเลทราย คนที่เดินอยู่กลางทะเลทรายนะแล้วไม่มีอาหาร มันล้มลง ล้มลงแล้วมองไป ระยะทางยังต้องไปอีก มันทรมานแค่ไหน? นี่อยู่ในธรรมบท วัฏฏะเหมือนกับเราเดินอยู่กลางทะเลทราย แล้วได้ล้มลง เพราะมันขาดอาหาร ขาดน้ำทุกอย่าง แต่ยังต้องไปข้างหน้านะ แล้วคนอย่างนั้นจะไปอย่างไร? คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ต้องไปทำอย่างไร? ยังต้องไปอย่างนั้นเพราะจิตมันไม่เคยตาย

นี่ระยะทางระหว่างการปฏิบัติมันจะมีเหตุ มีผล มันจะมีความทุกข์ ความยาก เราจะต้องมีจุดยืนของเราไง ถ้าจิตใจของคนมันมีจุดยืนเข้มแข็งมันจะไม่แฉลบ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้ามันแฉลบไปนะ มันจะไปเกิดใหม่ก็เกิดอย่างนี้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์นะก็เกิดเป็นเรานี่แหละ แต่สังคมจะไม่เป็นแบบนี้แน่นอน เราสังเกตได้ว่าตอนเราเป็นเด็กๆ สังคมเป็นแบบใด สภาพแวดล้อม แล้วเดี๋ยวนี้มันเป็นแบบใด แล้วอนาคตมันจะเป็นแบบใด แล้วเราไปเกิดในยุคนั้น พอไปเกิดในยุคนั้น ก็จิตดวงนี้ ถ้าเราแฉลบมันจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่แฉลบนะเรามีจุดยืนของเรา เรามั่นคงของเรา เราทำของเราไปได้ แล้วเวลาทำเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์ก่อน

ประโยชน์หมายความว่าถ้าทำแล้วประสบความสำเร็จ พอทำแล้วจิตมันดี จิตมันดี จิตมีความสุข จิตมีความร่มเย็นนี่นะอันนี้มีค่ามาก ดูสิเวลาโลก เห็นไหม เขาต้องพักร้อน ต้องไปพักร้อน ต้องไปอะไร จิตใจมันถึงได้ชุ่มชื่นขึ้นมา ถ้าของเรานะเราชุ่มชื่นของเรา เราอยู่ของเรามีความสุขนะ หลวงตาท่านบอกเลยนะท่านอยากอยู่คนเดียว อยู่คนเดียวอยู่กับธรรม แหม มันสุข มันสบาย มันไม่ต้องยุ่งกับใครเลย พอออกไปข้างนอกยุ่งฉิบหาย รับรู้อะไรไม่รู้ยุ่งไปหมดเลย

ฉะนั้น ถ้าจิตเราดีขึ้นมาเห็นไหม มันมีค่ามาก มีค่าหมายความว่าคนเขาจะอิ่มหนำสำราญ จะต้องมีความสุข เขาต้องไปเที่ยว ต้องใช้เงินทองมาหลอกล่ออามิสไง ให้หัวใจนี้มันพอใจ แต่ของเรานี่เราเลี้ยงใจเรามีความสุขตลอด มันมีค่ามาก ถ้ามีค่ามาก ถ้าเราปฏิบัติแล้ว ถ้าจิตมันมีความสุขเอาตรงนั้น เอาตรงนั้น เอาที่จิตมันดีแล้ว

ฉะนั้น การพิจารณากาย ไม่ต้องบอกว่า

ถาม : หลวงพ่อบอกให้พิจารณากาย แล้วหนูจะพยายาม จะพยายามปฏิบัติ

ตอบ : ไม่ต้อง ไม่ต้องพยายาม แต่ไอ้คำว่าพยายามเหมือนยาขม ฉะนั้น คำว่าพยายามเอาไว้ใช้เวลาที่เราไม่มีทางออก เวลาจิตใจมันอั้นตู้นะ นี่ตรงนี้แหละเอามาใช้ได้ ฉะนั้น กาย เวทนา จิต ธรรม นี่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าพิจารณาแล้ว ถ้ามันรู้รู้เหมือนกัน แล้วเวลารู้อย่างนี้มันรู้แบบว่าฝึกหัดใจ คือทดสอบ ใจมันจะทดสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

คำว่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าทางโลกจะงงนะ ทดสอบทำไมก็รู้แล้ว คำว่าทดสอบนะ เวลารู้คราวนี้มันรู้ได้แค่ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ รู้คราวหน้า ๑๕, ๒๐, ๓๐ ทดสอบ เห็นไหม ความรู้มันละเอียดขึ้นนะ พิจารณาอันเดียวกันนี่แหละ แต่ผลตอบรับไม่เหมือนกันหรอก พิจารณาคราวนี้ได้มา ๑๐ เปอร์เซ็นต์ พิจารณาต่อไปได้ ๑๕ พิจารณาต่อไปเหลือ ๒ อ้าว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ยังเหลือ ๒ เปอร์เซ็นต์ อ้าว พิจารณาถ้า ๑๐ เปอร์เซ็นต์มันรู้แจ้ง แหม รู้ดีมากเลย พอพิจารณาต่อไป อืม จืดๆ จืดๆ เหลือ ๒ เปอร์เซ็นต์

พิจารณา การพิจารณาไม่ใช่ว่าพิจารณารู้แล้วแล้วจะจบ ไม่มีหรอก พิจารณาซ้ำ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๑๕ เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวก็ลด เดี๋ยวก็เพิ่มอยู่อย่างนั้นแหละ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความรู้มันจะแตกต่างกันไป คนภาวนาจะรู้ ภาวนาคราวนี้รู้ไป ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ อู้ฮู คราวนี้ลึกมาก นึกว่าจะจบ เดี๋ยวพิจารณาไปไม่จบอีกแล้ว

นี่กิเลสนะเวลามันหดตัวเข้ามา เวลาปัญญาไล่เข้าไปนะมันก็หลบซ่อน เวลาปัญญาของเราอ่อนด้อยขึ้นมานะมันฟูขึ้นมาอีกแล้ว พิจารณาซ้ำ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พอถึงที่สุดนะ เวลาพิจารณาถึงที่สุด เวลามันขาดนี่จบ เวลามันขาดนะ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ จบแล้ว ถ้าจบแล้วนะค้นอย่างไรก็ไม่เจอ ค้นอย่างไรก็ไม่มี แล้วคงที่ด้วย นี่อกุปปธรรม นี่มันถึงพ้นไปจากสัพเพ ธัมมา อนัตตา

คำว่าอนัตตาๆ อนัตตาคือระหว่าง คือการกระทำ ถ้าจบแล้วไม่ใช่อนัตตา เป็นธรรมทั้งแท่ง เป็นอกุปปธรรม อฐานะที่จะเปลี่ยนแปลง นี่สสารทั้งโลกนี้ไม่มีอะไรคงที่ เว้นไว้ธรรมะนี่แหละ ไม่มีอะไรพิสูจน์มันได้ด้วย พิสูจน์ได้ผู้ที่เป็น ผู้ที่เป็นจะพิสูจน์มันได้ เห็นไหม นี่ถ้าทำได้แล้วก็จบ อกุปปธรรม แต่ระหว่างที่จะทำ

นี่เวลาอธิบาย เวลาใครมาถามปัญหา ตรงนี้สำคัญ เวลาใครปฏิบัติแล้วก็แล้วกันไป ใครจะปฏิบัติอย่างไรก็แล้วแต่เขา แต่เวลาคำพูดมันจะบอกเลย บางคนพูดได้ ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ว่าพิจารณากายแล้ว บอกพิจารณากายเป็นอย่างไร? มันจะเป็นอย่างนั้นๆ เขาจะอธิบายให้ฟังทุกคน นี่รู้เลยว่าพิจารณากายแล้วได้แค่ไหน? ซาบซึ้ง ซาบซึ้งแค่ไหน? แล้วแบบว่ามันลดทอนไข้ได้มากน้อยแค่ไหน? คือไข้ยังไม่หายหรอก แต่ไข้เบาลง ไข้เบาลง แต่ถ้าไข้มันหายนะ ถ้าไข้มันหาย หายจากเชื้ออะไร? รู้หมด ถ้ารู้หมดแล้วก็จบ

ฉะนั้น ให้ทำแบบเดิม ทำอย่างเก่า ไม่ต้องทำตามที่หลวงพ่อบอกเนาะ ให้ทำอย่างเก่านี่แหละ แล้วคราวหน้าค่อยว่ากันใหม่ เอวัง