เทศน์พระ

ลงที่จริง

๑๘ ก.ค. ๒๕๕๕

 

ลงที่จริง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจนะ สิ่งใดๆ เราก็ทำกันมาหมดแล้ว ทำหมดแล้ว แล้วมันได้ประโยชน์สิ่งใด วางไว้ ทำใจให้ปกติแล้วฟังธรรม ฟังธรรมขึ้นมาเพื่อปลุกปลอบหัวใจของเรานะ ให้หัวใจของเรามันตื่นตัว สิ่งที่เราปฏิบัติกันมันไม่ได้ผล มันไม่ได้ผล ปฏิบัติไปแล้วไม่ก้าวหน้าเพราะมันไปคุ้นชิน มันไม่ตื่นตัว

เห็นไหม เวลาเราเข้าป่าเข้าเขาไป เราจะตื่นตัวตลอดเวลา เพราะเราว่ามันเป็นอันตราย มันเป็นสิ่งที่อันตราย ทั้งสัตว์ป่า ทั้งเรื่องของจิตวิญญาณต่างๆ สิ่งนี้มากระทบกระเทือนกับเรา เราก็จะต้องตั้งสติ พอตั้งสติขึ้นมานี่มันระวังตัว ถ้าระวังตัว เห็นไหม สิ่งนี้เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เพื่อประโยชน์กับจิตเรา

วางสิ่งใดให้หมด สิ่งที่เรากระทำ ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ เราก็ทำตามหน้าที่ ถึงเวลาเราทำมัน แต่ตอนนี้ไม่ใช่เวลา ตอนนี้เราจะฟังธรรม ถ้าฟังธรรมนะ ธรรมะคือสัจจะความจริง ถ้าเป็นความจริงนะ สิ่งที่เป็นความจริงกับความจริงมันต้องเข้ากัน คนจริงกับคนจริงมันจะเข้ากันนะ การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าความปฏิบัติมันเป็นความจริง ถ้าเป็นความจริง สิ่งนั้นมันจะเป็นสิ่งที่ว่าเราแสวงหา

แต่สิ่งที่เราปฏิบัติไปนี่สมมุติบัญญัติ คำว่า “สมมุติ” นี่สมมุติทั้งนั้น เวลาเราเกิดมานี่จริงตามสมมุติ นี่มันจริงของมันนะ เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์จริงไหม เราเกิดเป็นคนนี่เป็นคนจริงๆ ไหม? จริง นี่สมมุติ สมมุติคืออะไร? สมมุติคือมันเป็นของชั่วคราวไง สมมุติคือว่ามันไม่คงที่ มันไม่จริงแท้ มันเป็นจริงตามสมมุติ คือจริงชั่วคราว

เราเป็นฆราวาส เป็นคฤหัสถ์ เป็นฆราวาส เรามาบวชพระขึ้นมา เวลาบวชพระขึ้นมา ญัตติจตุตถกรรมก็มาเป็นพระ นี่สมมุติสงฆ์ มันก็เป็นจริงๆ นั่นแหละ เป็นพระโดยสมมุติ นี่ไง คำว่า “มันไม่เป็นจริง” ไม่เป็นจริงเพราะเหตุนี้ มันเป็นสมมุติบัญญัติ ถ้าสมมุติขึ้นมา สมมุติก็คือสมมุติเรื่องโลก บัญญัติก็คือบัญญัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นสมมุติบัญญัติ แต่ถ้ามันเป็นความจริงล่ะ มันเป็นความจริง เราต้องประพฤติปฏิบัติ

ในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความจริงมันคืออะไรล่ะ? ความจริง เห็นไหม ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดขึ้นมานี่เป็นนามธรรม แต่เป็นนามธรรมในข้ามภพข้ามชาตินะ เวลาข้ามภพข้ามชาติ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนอดีตชาติไป อดีตชาติที่ไหนล่ะ? อดีตชาติก็ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง ใจดวงนั้นได้เกิดเป็นพระเวสสันดร ใจดวงนั้นได้เกิดเป็นสิ่งต่างๆ มา

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าความคิดเป็นนามธรรม ความรู้สึกนี้เป็นนามธรรมในชาติปัจจุบันนี้ ในชาติปัจจุบันนี้ เวลามาเกิดเป็นเรา ตั้งแต่รู้เดียงสาภาวะ เราถึงจะรู้ความได้ เป็นทารกนี่เราจะรู้ความไม่ได้เลย พ่อแม่คลอดออกมาแล้วพ่อแม่ก็ดูแลเรามา พอเดียงสาภาวะที่เรารู้ได้ เราก็รู้สิ่งนั้นได้ในชาตินี้ แล้วชาตินี้มันเริ่มต้นที่ไหน แล้วมันจบลงที่ไหน เห็นไหม สิ่งนี้เรารู้ไม่ได้

ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าทำความสงบของใจ ใจมันสงบเข้ามา ถ้ามันระลึกอดีตชาติได้ ทำไมมันรู้ได้ล่ะ มันไม่ใช่รู้ได้ตั้งแต่ว่าก่อนที่จะรู้เดียงสาภาวะนะ มันรู้ได้ตั้งแต่ชาติที่มันจะมาเกิดเป็นเรานี่น่ะ ชาติที่แล้วมันเป็นอะไรมา ชาติสิ่งต่างๆ มันทำอะไรมา สิ่งนี้มันเป็นบุพเพนิวาสานุสติญาณในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวิชชา ๓ แต่ขณะนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ธรรม มันเป็นอดีตเป็นอนาคต ถ้ามันเป็นอดีตอนาคต ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไป จิตใจของใครถ้ามันมีจริตมีนิสัยที่ทำได้ มันก็ทำได้ของมัน

แล้วทำได้ขึ้นมา พอทำได้มันก็เป็นเรื่องที่แปลกจากโลก ถ้าเรื่องที่แปลกจากโลกนี่มันก็ถือตัวถือตนว่าเรารู้ดีกว่าโลก นี่มันยังติดตัวมันเอง ความจริงอย่างนี้เป็นจริงตามสมมุติ มันไม่ใช่เป็นความจริงแท้ ถ้าเป็นความจริงแท้ เห็นไหม เราตั้งใจของเรา เราเห็นโทษในวัฏสงสาร เราถึงมาบวชเป็นพระกันนะ

อีกปักษ์หนึ่งข้างหน้ามันก็จะวันเข้าพรรษา ถ้าวันเข้าพรรษาแล้วจะเป็นวันที่เรากำหนดสถานที่อยู่ของเรา ถ้ากำหนดสถานที่อยู่ของเรา เราจะเร่งความเพียรของเรา ถ้าเราเร่งความเพียรของเรา ดูสิ อาหารที่เขาทำประกอบอาหาร มันจะสุกหรือไม่สุก เขาดูที่ไฟ ถ้าไฟมันพอดีมันก็จะสุกพอดีของมัน อาหารบางชนิดเขาต้องใช้ไฟอ่อน มันถึงจะมีรสชาติอร่อย อาหารบางชนิดเขาต้องใช้ไฟแรง มันถึงจะมีรสชาติอร่อยของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ความเพียรของเรา ตบะธรรมๆ ถ้าเรามีตบะธรรม มันแผดเผากิเลสของเราไง ถ้ามันจะแผดเผากิเลสของเรา เราทำของเรา เราธุดงค์ของเราไป ย้ายสถานที่ของเราไป ในคราวออกพรรษา แต่ในเข้าพรรษานี้ เราจะกำหนดขอบเขตของเรา ถ้ากำหนดขอบเขตของเรา เราจะเร่งความเพียรของเรา ความเพียรของเราก็คือตบะธรรม

ถ้าตบะธรรม เห็นไหม มันจะแผดเผากิเลส ถ้าคำว่ามันแผดเผากิเลสนะ เราตั้งใจ เราจงใจ มีการกระทำของเรา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา นี่ลงต่อความจริงนะ ลงที่จริง

ถ้าใจมันเป็นจริง ใจมันลง แต่ถ้ามันเป็นสมาธิ มันสงบเข้ามา ถ้ามันจริง มันลง ถ้าใจมันจริง มันลง มันถึงว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าใจได้สัมผัสไง จิต ถ้ามันได้สัมผัสขึ้นมา มันไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ถ้ามันไม่เป็นความจริง เป็นตรรกะ เป็นปรัชญา เป็นการศึกษามา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ มันสัมผัส มันจินตมยปัญญา

พอจินตนาการ จินตนาการว่าสิ่งนี้เป็นความสุข เป็นความสงบ...มันเป็นจริงๆ มันเป็นจริงๆ หมายถึงว่า เวลาใจของเรา เวลามันเร่าร้อน ปุถุชนมันคนหนา มันหยาบ พอมันหยาบมันคิดสิ่งใดไป อารมณ์กับความรู้สึก ความรู้สึกนี่เป็นจิต อารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์มันอารมณ์สิ่งใด มันคิดสิ่งใดมันเป็นสองไง

มันเป็นสองหมายถึงว่า มันมีพลังงาน คือมีความรู้สึก คือตัวจิต แล้วมีอารมณ์ขึ้นมามันเป็นสอง มันเป็นสองมันก็เที่ยวไป เที่ยวไปมันก็กว้านไป มันก็คิดไป มันก็เอาสิ่งใดมาเป็นอารมณ์ อารมณ์มันก็เป็นเชื้อไฟ เชื้อไฟมันมีอารมณ์ส่งเสริมเข้าไป คิดเรื่องนั้น ทำเรื่องนั้น สิ่งสิ่งนั้น เห็นไหม อารมณ์มันก็แผดเผา ไฟมันก็สุมเข้าไป

พอสุมเข้าไป ความร้อนมันเกิดอยู่ที่ความรู้สึก คือตัวจิต จิตมันก็วิตกกังวล จิตวิตกกังวลนะ มันทำสิ่งใดไม่ได้มันก็อยู่ที่อารมณ์ใช่ไหม อยู่ที่ความรู้สึกนึกคิด ความรู้สึกนึกคิดขึ้นมา พอคิดขึ้นมาแล้ว มันคิดแล้วมันขับถ่ายแล้ว คือว่ามันคิดจนมีความทุกข์ยาก มันก็แผดเผามาที่ใจ ใจมันก็เร่าร้อน แล้วเร่าร้อนแล้วมันก็คิดต่อ คิดไปอยู่อย่างนั้น นี่สิ่งที่มันคิดอยู่อย่างนี้ แล้วเรามาศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลามาศึกษา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ท่านบอกว่าสิ่งนี้มันเป็นการเกิดดับ สิ่งนี้มันเป็นสมมุติ สิ่งนี้มันไม่มีผลกับใจของเรา เราศึกษาแล้วมันก็เห็นจริงเนาะ เวลามันทุกข์มันยาก เวลามันคิดจนมันฟุ้งมันซ่าน มันคิดแผดเผาใจของเรานะ มันก็ทุกข์มันก็ร้อนจริงๆ เนาะ แล้วมันทุกข์ร้อน ความทุกข์ร้อนนี้ทุกดวงใจมันก็ได้ผ่านมา คนที่หัวใจมันได้ผ่านความเจ็บช้ำน้ำใจ มันได้ความทุกข์ความร้อนมา ทุกคนมันก็ได้สัมผัสมา แล้วมันก็ผ่านไปแล้ว

พอผ่านไปแล้วไปศึกษาธรรม ศึกษาธรรมมันก็ชี้เข้ามาตรงนี้แหละ พอชี้เข้ามาตรงนี้ พอเราศึกษา มันก็เห็นจริง “อืม! ก็จริงเนาะ” พอจริงขึ้นมานะ เราก็ “อื้อ! เราไม่น่าโง่เนาะ เราก็ว่าสิ่งนี้เป็นปัญญา”

ใช่ มันเป็นปัญญาการศึกษา สุตมยปัญญา ศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเทียบเคียงเข้ามาในอารมณ์ความรู้สึกของตัว เห็นไหม มันเป็นสุตมยปัญญา นี่เราศึกษาธรรมอย่างนี้เราก็ว่าถูกต้อง เราก็ว่ามันจริงตามนั้น แล้วเราก็เห็นว่าเราคิดอย่างนั้น เราใช้ปัญญาอย่างนั้น แล้วมันก็ปล่อยวาง มันก็เป็นความสุข มันก็เป็นความพอใจ นี่เป็นธรรมๆ ความจริงอย่างนี้มันไม่เป็นความจริงแท้ ไม่เป็นความจริงแท้ เพราะว่ามันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นสิ่งที่มันเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ แต่มันยังไม่มีใครรู้จริง รู้จริงที่ว่ามันจะปล่อยวางอย่างใด

ฉะนั้น ถ้าเรากำหนดพุทโธๆ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเห็นโทษ มันจะเห็นของมัน พุทโธๆๆ ถ้าจิตมันสงบเข้ามา จิตมันละเอียดเข้ามา ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พุทโธจนพุทโธไม่ได้ พุทโธๆๆ จนมันปล่อยพุทโธ มันปล่อยพุทโธมันก็เป็นตัวของมัน นี่ลงที่จริง พอมันจริงอย่างนั้น มันเถียงไม่ได้ มันไม่มีเหตุผลขัดแย้งว่ามันไม่ใช่

ถ้าเราศึกษาธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราใช้จินตนาการ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ พอเป็นอย่างนั้นจริง มันก็ “อืม! มันก็จริงเนาะ อืม! สบายเนาะ โอ้! ดีเนาะ” นี่มันเห็นคุณนะ มันเห็นคุณว่า การที่แบกฟืนแบกไฟ การที่เราอยู่กับสัญญาอารมณ์มาตลอด การที่อยู่โดยสัญชาตญาณ อยู่โดยความเป็นมนุษย์ มันก็เป็นแบบนี้ แต่เราไม่ได้ศึกษาธรรม เราเข้าใจของเราเอง แต่พอมาศึกษาธรรมมันเปรียบเทียบโดยข้อเท็จจริง พอเปรียบเทียบโดยข้อเท็จจริงมันก็เห็นจริง เห็นจริงมันก็วางอารมณ์ได้ พอวางอารมณ์ได้ มันก็ว่า “เอ้อ! สบายๆ สบายๆ” สบายๆ อย่างนี้มันยังไม่จริงแท้

แต่ถ้าเราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาแยกแยะขึ้นมา หรือว่าเราใช้สติปัญญาของเราเข้ามา มันจะจริงมากกว่านั้น เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันลึกซึ้งแตกต่างกัน จิตใจถ้ามันปล่อยวางเข้ามาๆ นี่ลงที่จริงไง

ถ้ามันจริง มันเป็นจริง มันไม่มีเหตุผลใดจะโต้แย้งอันนี้ได้ ถ้าไม่มีเหตุผลโต้แย้งอันนี้ได้ นี่ลงที่จริง ถ้ามันจริงปั๊บ มันเป็นจริง ถ้าลงเป็นจริง มันเป็นจริง แต่ถ้ามันปฏิบัติมามันยังไม่จริง มันลุ่มๆ ดอนๆ มันยังไม่จริง แต่มันเริ่มเข้ามาสู่การค้นคว้า เข้ามาสู่การกระทำ

จากที่เราศึกษา เหมือนเราอยู่กับสังคม สังคม คนมีทุกข์ร้อนมากไปหมด คนนั้นก็ทุกข์ร้อน คนนั้นก็มีแต่ความทุกข์ยาก เราก็เห็นเขา “อืม! ไม่น่าเป็นแบบนั้น” เขาน่ามีสติเนาะ ของแค่นี้ทำไมเขาวางไม่ได้ นี่เรามองสังคม แต่เวลาพอมาถึงตัวเราล่ะ เวลาเราทุกข์ร้อนล่ะ แหม! มันแผดมันเผานะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาสัญญาอารมณ์มันเกิดขึ้นมา เราศึกษาธรรม เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม เราก็เข้าใจว่ามันเป็นอนัตตา มันก็เป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง แต่เวลามันเกิดกับเรามันไม่เป็นเช่นนั้นเองน่ะสิ มันมีอารมณ์ มันมีความรู้สึก มันมีความนึกคิด มันมีความเจ็บช้ำน้ำใจ แต่ถ้าพอมันกระทำขึ้นมา เห็นไหม มีเหตุมีผลเข้ามา นี่มันวางได้ๆ วางได้ขึ้นมา ความจริงตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด จะเข้ามา จะเข้ามาสู่ความจริงของเรา

ถ้าความจริงของเรา เราแสวงหาของเราอย่างนี้นะ เราทำของเราก็เพื่อประโยชน์กับเรา เราเกิดมากับโลก นี่ผลของวัฏฏะๆ เกิดมาเป็นมนุษย์นี่เป็นผลของวัฏฏะ สิ่งใดที่กระทบกระเทือนกัน ลิ้นกับฟัน เวลาลิ้นกับฟันอยู่กับเราแท้ๆ นะ ทำไมมันขบกันล่ะ ลิ้นกับฟัน เวลาฟันมันกัดลิ้น แล้วมันกัด กัดมันก็เจ็บ แล้วจะโทษใครล่ะ? เราโทษใครไม่ได้ มันอยู่ด้วยกันจนใกล้ชิดกัน จนกระทบกระเทือนกัน

สังคมก็เป็นแบบนั้น โลกเขาก็เป็นแบบนั้น ถ้าโลกเขาเป็นแบบนั้นนะ แต่เราต้องอยู่กับเขา ถ้าเรารักษาใจของเราได้นะ เวลาลิ้นกับฟันมันขบกัน เราก็ให้อภัยได้ “อืม! แล้วเราพยายามหาทางป้องกัน แล้วทำอย่างไร เราจะแก้ไขของเรา” สังคมมันต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป เป็นอย่างนั้นตลอดไปเพราะเหตุใด เป็นอย่างนั้นไปเพราะจิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย

ดูสิ เวลาหมดอายุขัยจากเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม ก็เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ก็เกิดลงนรกอเวจีเลย หมดเวรหมดกรรมจากนรกอเวจีก็มาเกิดเป็นคน ในภพของคน คนที่คิดสูงส่ง คนที่จิตใจที่สูงส่งมาก จิตใจดีงามมากก็มี คนที่จิตใจต่ำทรามมาก คนที่จิตใจที่เห็นแก่ตัวมาก คนที่จิตใจที่จะทำลายคนอื่นมากก็มี แล้วเราอยู่ด้วยกัน เห็นไหม รู้หน้าไม่รู้ใจ มันก็คนเหมือนกันนี่แหละ เวลาคนมาเกิดในภพของมนุษย์ก็คนเหมือนกันนั่นน่ะ แต่จิตใจมันไม่เหมือนกัน

ถ้าจิตใจไม่เหมือนกัน มีความคิด มีการกระทำ มันกระทบกระเทือนกันเป็นธรรมดา ถ้ามีกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา ถ้าเรามีสติยับยั้งของเราได้ “อืม! โลกมันเป็นแบบนี้ จิตใจของคนเป็นอย่างนี้” นี่เราดูแลโลกธรรม ๘ ในใจของเรา อย่าให้มันกระเพื่อม ถ้ามันกระเพื่อม เรารักษาใจอย่างนั้น ถ้าเรารักษาจากภาวะสังคม จากภาวะความเป็นอยู่ของสังคมเราได้ เวลาเราเข้ามาภาวนาของเรา จิตใจเราจะดีขึ้น

จิตใจของเรา ถ้าเรามีสิ่งใดกระทบกระเทือนหัวใจของเรา แล้วเราก็เอาสิ่งนั้นเก็บไว้ในใจ พอสิ่งนั้นเก็บไว้ในใจ มันย้ำคิดย้ำทำ มันเผาไม่มีวันจบนะ นี่เบียดเบียนตนแล้วก็เบียดเบียนคนอื่น ไปเอาเรื่องของคนอื่นมาเบียดเบียนเรา พอเบียดเบียนเราแล้วมันก็มีความรู้สึกนึกคิด เจ้าคิดเจ้าแค้น จะทำคนนู้น จะทำ มันก็ส่งออกไปกระเทือนคนอื่น

แต่ถ้าเราให้อภัย เราวางซะ ผลของวัฏฏะ มันมีเวรมีกรรมต่อกัน ทำไมมันต้องมาพบมาเจอกัน ทำไมมันก็ต้อง...เหมือนลิ้นกับฟัน ทำไมมันต้องมาขบมากัดกัน ถ้าไม่ขบไม่กัดกันแล้วเราก็แยกกันไป ถ้าแยกกันไป จิตใจอย่างนี้เราก็ให้อภัย ถ้าจิตใจมันสูงส่ง ถ้าจิตใจมันสูงส่งมันให้อภัยได้ พอมันให้อภัยได้นะ รักษาใจเรา

เขาก็ทำความดีเหมือนกัน เขาทำความดีหมายความว่า เขาก็อยู่กับเรา ในเมื่ออยู่ด้วยกันมันก็มีเพื่อน มีหมู่คณะ มีสิ่งต่างๆ กัน ในป่าป่าหนึ่ง มันมีไม้เบญจพรรณ ไม้ที่เป็นประโยชน์ก็มี ไม้ที่มันเป็นพันธุ์ไม้เลื้อย มันก็ไปรัดต้นไม้ให้ถึงกับเฉาตายได้ นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อสังคมมันเป็นแบบนี้ ก็อยู่กัน นี่เราให้อภัย มันต้องมีพืชอย่างนี้ไว้ปกดินไว้คลุมดิน เพื่อจะให้มีความชื้น สังคมของเรา มีกระพี้ มีแก่น มีเปลือก ต้นไม้ต้นหนึ่งมันก็ต้องมีอย่างนั้น สังคมก็เป็นแบบนั้น มันเป็นแบบนั้น ธรรมชาติมันเป็นแบบนั้น

แต่จิตใจของเรา เราคาดหวังว่าต้องดีไปหมดเลย ถ้าดีไปหมด มันไม่สมความหวัง ไม่สมความหวังมันก็มีความรู้สึกนึกคิดของมันออกไป ถ้าเราใช้ปัญญาอย่างนี้เข้ามาดูแลรักษาใจเรา สิ่งนี้มันเป็นจริงตามสมมุติ มันไม่เป็นความจริงแท้ ฉะนั้น ถ้ามันลงที่จริง ความเป็นจริงเราจะไปหาที่ไหน ความเป็นจริงเราต้องหาในหัวใจของเรา

เวลาเราเกิดขึ้นมา ดูสิ เวลาเราเกิดจากพ่อจากแม่ เวลาเรากตัญญูกตเวที เราก็อยากจะให้พ่อแม่มีความสุข ให้พ่อแม่มีดวงตาเห็นธรรม ให้พ่อแม่มีความเข้าใจในธรรมทั้งนั้นน่ะ แต่ความรู้สึกนึกคิดของพ่อแม่ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม

เวลาเราอยู่ของเรา เวลาจิตใจของเรา เราก็ต้องการสิ่งที่ดีงามทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้าดีงาม ทุกคนก็มีความเห็นว่า ถ้าดีงามทางโลกก็ต้องประสบความสำเร็จ มีหน้าที่การงานที่ประสบความสำเร็จ ทุกอย่างประสบความสำเร็จ แต่ประสบความสำเร็จแล้ว ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด ประสบความสำเร็จแล้วเราก็ต้องพลัดพรากไป แล้วเวลาพลัดพรากไป แล้วเวลาในหัวใจของเรา มันมีความจริงแท้ที่จะเป็นสมบัติของเรา

นี่มันยังลงไม่ได้ มันยังลงที่จริงไม่ได้ มันก็ลงที่สมมุติบัญญัติ ถ้าลงที่สมมุติบัญญัติ ก็สร้างบุญสร้างกุศลกันไปเพื่อเป็นที่พึ่งอาศัย

แต่ถ้ามันลงที่จริงแท้ได้นะ เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านจะสิ้นชีวิตใช่ไหม ท่านบอกว่า ในเวลางานศพของเรา ห้ามไม่ให้มีสวดอภิธรรมนะ กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา ท่านบอกไม่ต้องสวด เราทำของเราพอแล้ว ลงที่จริง ใจมันจริงแล้ว สิ่งนี้เขาสวดมนต์กันเพื่อบุญกุศล เพื่อเตือนกัน กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา...อกุสลา ธมฺมา คือธรรมที่ไม่ดี อย่าไปทำมัน กุสลา ธมฺมา คือสิ่งที่ดีควรกระทำ อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมที่ความดีก็ได้ไม่ดีก็ได้ ครึ่งๆ กลางๆ นั่นน่ะ การทำกันมา ใครทำมา เห็นไหม เหตุปจฺจโย อารมฺมณปจฺจโย เกิดที่เหตุ เกิดที่อารมณ์ เกิดที่ปัจจัย นี่อภิธรรม สวดกันก็เพื่อบุญกุศลของคนตาย เพื่อบุญกุศลของผู้ที่ได้ยินได้ฟังขึ้นมา เพื่อได้เตือนสติของเขา

แต่เวลาหลวงตาท่านบอกนะ งานเราห้ามสวดนะ ไม่ต้องสวด ถ้ามันลงความจริงแล้วไม่ต้องมายุ่ง ไอ้ความจริงตรงสมมุติบัญญัตินี่มันเข้ากับความจริงแท้ไม่ได้

ความจริงแท้มันเป็นความจริงแท้ ที่เราแสวงหากันนี้ ชีวิตเราจริงแท้ไหม ทุกคนรักตัวรักตนทั้งนั้นน่ะ ถ้าเรารักเรา เราอยากได้สมบัติอะไร เราอยากได้สมบัติแบบโลกธรรม ๘ ใช่ไหม มีลาภ มียศ มีสรรเสริญ มีนินทา แต่ถ้าเราเอาจริงแท้นะ โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ แต่ถ้ามันเป็นธรรม อริยสัจ ความจริงของเราล่ะ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

“ทุกข์ ชาติการเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” นี่เวลาธรรมของโลก เป็นความจริงโดยสมมุติบัญญัติ นี่การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นอริยทรัพย์ เพราะการเกิดเป็นมนุษย์แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเช้าชายสิทธัตถะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วออกมาแสวงหาวิโมกขธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติไป สิ้นกิเลสไปเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นี่การเกิดเป็นมนุษย์ ถ้าเป็นทางโลกการเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไป เวลาประพฤติปฏิบัติ จิต ถ้ามันสงบเข้ามา “ทุกข์ ชาติความเกิดเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” เพราะมีการเกิดถึงมีสรรพสิ่งทุกๆ อย่างเลย เพราะมีการเกิด ทีนี้การประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเข้ามาชำระที่ว่า ถ้ามันไม่เกิด จิตที่ไม่เกิดเป็นอย่างไร จิตที่เกิดคือจิตที่มีอวิชชามันต้องเกิดหมด แล้วเราจะชำระล้างให้เป็นธรรมธาตุ ให้เป็นธรรมล้วนๆ ไม่มีอวิชชา ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยากอยู่ในจิตดวงนี้ ถ้าไม่มีกิเลสตัณหาอยู่ในจิตดวงนี้ มันจะทำอย่างใด

ถ้ามันทำอย่างใด เพื่อเข้าสู่อริยสัจ สิ่งที่เราทำมาทางโลก มันก็เป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นเลย แต่ถ้าพอจิตเราจะเข้าสู่อริยสัจ ถ้าเข้าสู่อริยสัจ เข้าอย่างใด ถ้าเข้าสู่อริยสัจนะ เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา เริ่มต้นจากว่า เวลาจิตมันคิดต่างๆ คิดต่างๆ คิดศึกษาธรรมะ ศึกษาแล้วมันศึกษาแล้วซาบซึ้งในธรรม นี่หยาบๆ เริ่มการศึกษา เริ่มปรับพื้นหัวใจเข้ามา

ถ้าใจมันปรับพื้นหัวใจเข้ามา ถ้าพิจารณาของเรา ถ้าจิตมันเริ่มสงบเข้ามา พอเริ่มสงบเข้ามา มันรู้มันเห็นนะ มันรู้มันเห็น “ความสุขอื่นใดเท่ากับจิตสงบไม่มี” พอจิตสงบแล้ว ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำความสงบได้ ฤๅษีชีไพรในสมัยพุทธกาล อุทกดาบส อาฬารดาบส ได้สมาบัติ ๘ นี่เข้าฌานสมาบัติ มีความสงบแล้วยังเข้าฌาน เข้าฌานสมาบัติตั้งแต่ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

พอสมาบัติ ๘ เข้าออก จากหยาบๆ เข้าสู่ละเอียด จากละเอียดย้อนกลับมาสู่ความหยาบ ความหยาบย้อนกลับเข้ามาสู่ความละเอียด เห็นไหม เข้าสมาบัติ เข้าออกๆ จนมีกำลัง มันรู้ไปหมดน่ะ แต่รู้แบบโลก เพราะจิตมันเป็นโลกใช่ไหม จิตมันมีข้อมูลใช่ไหม จิตมันมีบุพเพนิวาสานุสติญาณ มันมีการเกิดการตายมา มันซับซ้อนมา พอจิตมันเข้าสู่ละเอียด มันก็รู้จิตของเราใช่ไหม รู้จิตของเราก็รู้จิตข้างนอก มันไม่เป็นอริยสัจเลย นี่ถ้ารู้แบบโลกๆ ไง ถ้ารู้แบบโลกๆ รู้แบบโลกๆ มันก็สำคัญตน ถ้าเข้าสู่ฌานสมาบัติมันเป็นแบบนั้น

แต่เราเข้าสู่สมาธิ ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเข้าสู่สมาธิ ถ้าจิตมันตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จากที่มันฟุ้งซ่าน จากที่มันมีแต่ฟืนแต่ไฟแผดเผาในหัวใจของเรา เรามาตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรึกแล้วมันซาบซึ้ง มันก็เริ่มปล่อย ขณิกสมาธิ สมาธิที่มันมีผล เพราะเราใช้ปัญญา ปัญญามันเห็นโทษมันก็ปล่อยวางๆ ขณิกสมาธิ แป๊บๆๆ แต่มันก็มีความสุข มันมีความสุข มันมีความมหัศจรรย์ “โอ้โฮ! มันดีเนาะ จิตใจมันมีคุณค่ามากเนาะ” แต่มีความสามารถมากน้อยแค่ไหน

ถ้ามีความสามารถมากกว่านั้น เราตั้งสติขึ้นมา เราทำให้มากขึ้น เหตุมันมากขึ้น ผลก็มีมากขึ้น ขณิกสมาธิก็เป็นอุปจารสมาธิ จากขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ เราก็ตรึกในธรรม ตรึกในธรรม มีสติปัญญาในธรรม แต่ผลลัพธ์ที่จิตมันปล่อยวางเข้ามา ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ พอสมาธิ นี่เราก็ใช้ตรึกในธรรม ถ้ามันตรึกในธรรม ถ้าจิตมันจับของมันได้ พอจิตมันสงบเข้ามาเป็นอุปจาระ จนมันมั่นคงของมัน

ถ้าจิตมันจับของมันได้ มันจับอย่างไร มันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม จับเวทนา พอจิตมันจับ จิตมันรู้มันเห็น จิตมันจับเพราะจิตมันมีทิฏฐิมานะ จิตมันมีอัตตา จิตมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยากของมัน ถ้าผลที่เกิดขึ้น ปัญญาจากจิตนี้จิตมันใคร่ครวญของมัน จิตใคร่ครวญของมัน มันเป็นสมบัติของจิตดวงนั้นไง

แต่ขณะที่เราเป็นสมมุติ เราเป็นปุถุชน เราตรึกในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมสาธารณะ แต่จิตใจของเรา เราเกิดเป็นสาวกสาวกะ เกิดเป็นมนุษย์ เราก็เกิดเป็นมนุษย์แล้วมันมีวิชาการในโลกอยู่แล้ว แล้วมนุษย์ก็มีสิทธิศึกษา มนุษย์ก็มีสิทธิใช้สอย มนุษย์ก็มีสิทธิใช้ทรัพยากรในโลกนี้ มนุษย์ก็มีสิทธิใช้อยู่แล้ว

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมสาธารณะ ทุกคนก็มีสิทธิเหมือนกัน เราเป็นสาวกสาวกะ เราเป็นบริษัท ๔ เราเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เราก็เป็นเจ้าของศาสนา เพราะเราเกิดมาเป็นบริษัท ๔ เราก็ใช้สอยของเรา แต่มันเป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นสมบัติสาธารณะน่ะ

แต่ถ้ามันลงที่จริง พอจิตมันลงอยู่ที่จริง เวลาจิตมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ที่ว่าเข้าสู่อริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เข้าสู่อริยสัจเพราะอะไร เพราะมันเข้าสู่สติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม พอจิตมันสงบเข้าไปมันถึงฐานของจิต อุปจารสมาธิ จิตมันปล่อยวาง พิจารณาเข้ามา จากหยาบๆ จากที่เป็นปุถุชน พิจารณาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันก็ปล่อยวางเข้ามาๆ จนจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ จิตมันเป็นอิสระ จิตมันเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตมันตั้งมั่น จิตเป็นตัวตนของตัว จิตเป็นสถานะของตัวที่ปฏิสนธิจิตที่มันเกิดมันตาย

พอจิตที่มันเกิดมันตาย พอมันจับ มันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม คือผลงานของจิตดวงนั้น ผลงานของตัวเราเอง ผลงานคือทรัพย์ คือมรรค ผลงานคืออริยสัจที่มันจะเกิดกับจิตดวงนี้ ที่ว่าจักร ธรรมจักรๆ จักรที่มันจะเกิดจากจิตดวงนั้น

ถ้าจิตดวงนั้นเกิดมัคโค เกิดดำริชอบ เกิดงานชอบ เพียรชอบ สัมมาทิฏฐิ ความทิฏฐิที่มันเห็นตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นธรรม นี่ลงที่จริง ลงที่จริงเพราะจิตมันจะเป็นจริง มันจะเกิดมรรคญาณ มันจะเกิดสัจธรรม มันจะเกิดธรรมจักรเกิดขึ้นมา ถ้าจักรนี้มันเกิดขึ้นมา นี่ไง ที่พูดถึงว่าภาวนามยปัญญาไง ปัญญาในภาคปฏิบัติ ปัญญาที่เกิดขึ้นมาจากภาคปฏิบัติ ปัญญาที่เกิดจากความจริง นี่ลงที่จริงๆ ถ้ามันเป็นจริงแล้วแย้งไม่ขึ้น มันไม่มีสิ่งใดโต้แย้ง กิเลสตัวไหนหน้าไหนมันจะมาแย้งกับความจริงอันนี้

แต่ถ้าเราศึกษาธรรมของเรา ที่เราศึกษาในภาคปริยัติกันอยู่นี่ มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนเราเกิดมาเรามีสิทธิ เราเกิดมาในชนชาติใด เราก็มีสิทธิในชนชาตินั้น มีสิทธิในทรัพยากรในชนชาตินั้น เรามีสิทธิใช้สอยเหมือนกัน เราเกิดมาเป็นชาวพุทธๆ นี่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งนั้น มันเหมือนกับพุทโธไง เวลาพุทโธๆๆ มันมีจิตใช่ไหม มีจิตกับมีคำบริกรรม มันเป็น ๒ มีสัญญาอารมณ์ นี่ก็เหมือนกัน มีเรากับมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง

แต่เวลาจิตถ้ามันสงบเข้ามา เวลาจิตมันสงบเข้ามา นี่ลงที่จริงๆ ลงที่จริงมันแย้งไม่ขึ้นแล้วแหละ มันแย้งไม่ได้ แต่ถ้าไม่ลงที่จริงนะ “ว่างๆ ว่างๆ” ว่างๆ นี่สัญญาอารมณ์ สัญญาว่าว่าง มันเป็น ๒ มันมีช่องที่จะให้คัดค้านได้ แต่ขณะที่เราเชื่อ เราคัดค้านเราไม่ได้ เพราะเราเชื่อสิ่งที่เราเห็น แต่ถ้ามันลงสู่ความจริง เราเห็นเอง ตัวเราเองเป็นเอง นี่มันค้านไม่ได้ มันไม่มีช่องว่างให้คัดค้านได้

เวลาจิตลงสู่สัมมาสมาธิ แล้วพอมันจับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมได้ตามความเป็นจริง มันไม่มีช่องว่าง เพราะมันเป็นปัญญาของจิต มันไม่ใช่สัญญา ไม่ใช่สังขารที่ไม่มีสมาธิ ไม่มีความเชื่อมโยง

แต่ถ้ามันเป็นสัมมาสมาธิ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน แล้วมันมาพิจารณาของมัน มันแยกแยะของมัน มันเป็นตัวมันเอง พอมันเป็นตัวมันเอง นี่มันเป็นจริงของมัน ความจริงที่เกิดขึ้น นี่ลงที่จริงหมด ถ้าสิ่งใดไม่จริงนะ มันมีข้อโต้แย้ง แต่ถ้าวุฒิภาวะหรือการประพฤติปฏิบัติของเรามันยังอ่อนแออยู่ เรายังไม่เห็นข้อบกพร่องของเรา เรายังโต้แย้งไม่ได้

แล้วเราก็มีความแปลกใจ “เอ๊! ปัญญาก็เกิดแล้ว เราก็พิจารณาของเรานะ เราก็กระอักกระอ่วนนะ เราก็ได้จางคลายนะ เราก็ได้คลายออก เวลาเราคิดแล้วมันได้สลัดทิ้งนะ ทำไมมันยังสงสัย ทำไมมันไม่มีสิ่งใดตกผลึกในใจ ทำไมมันไม่เป็นความจริงขึ้นมา” เห็นไหม ถ้ามันไม่เป็นความจริงแท้ มันยังมีความรวนเร มันยังมีความสงสัยอยู่ในใจ

แต่ถ้าเป็นความจริงแท้ พิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ มันจากหยาบมันจะละเอียด อย่างขั้นของปัญญา เวลาเราทำความสงบของใจนะ ถ้าใจมันสงบลงอยู่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ นี่ขั้นของสมาธิมันมีได้แค่นี้ แล้วเวลามันคลายตัวออกมันก็เป็นเรื่องธรรมดา คลายตัวออก แต่เวลาขั้นของปัญญา พอจิตสงบแล้วเราจับได้เป็นผลงานของจิต

เวลาเราจะคุ้ยเขี่ยหากิเลส กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันชื่ออะไร กิเลสหน้าตามันเป็นแบบใด กิเลสมันเป็นรูปร่างสิ่งใด เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากิเลสมันมีสถานะอย่างใด แต่ถ้าเวลาจิตสงบแล้ว สิ่งที่เราจับได้ มันจับได้คือกาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม กิเลสมันเป็นนามธรรม มันก็อาศัยสิ่งนี้แฝงตัวกับสิ่งนี้ ถ้ามันแฝงตัวกับสิ่งนี้ เราก็จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรม แยกแยะ ถ้าแยกแยะ เห็นไหม มันแฝงตัวอยู่ เราแยกออกเป็นไตรลักษณ์ แล้วมันอยู่ตรงไหน ถ้ามันอยู่ตรงไหน เวลามันปล่อยวาง มันปล่อยวางเพราะกิเลสมันโดนปัญญา กำลังของสมาธิ กำลังของปัญญาฟาดฟันกับมันนะ พอฟาดฟันกับมันนะตัณหาความทะยานอยากมันยึดสิ่งนี้ไว้ไม่ได้ ถ้ายึดสิ่งนี้ไม่ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม มันก็ต้องย่อยสลายไป มันเป็นไตรลักษณ์ที่ย่อยสลายไป

ถ้าย่อยสลายสิ่งที่เป็นนามธรรมที่มันยึดสิ่งนี้ไว้ มันอยู่ไหน นี่ตทังคปหานมันปล่อยแล้ว ปล่อยเล่า ปล่อยแล้วปล่อยเล่า ถ้ามันปล่อยอย่างนี้ นี่ลงสู่ที่จริง ถ้าลงสู่ที่จริงในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือสมมุติบัญญัตินั้นคือลงสู่ที่จริงด้วยการศึกษา

ถ้าลงสู่ที่จริงด้วยการทำความสงบของใจเข้ามา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาแล้ว เราโต้แย้งกับความสงบไม่ได้ ถ้าลงสู่ขั้นของปัญญา ขั้นของวิปัสสนา ถ้ามันเป็นจริงของมัน เราก็โต้แย้งไม่ได้ มันก็ไม่มีสิ่งใดไปโต้แย้งมัน ถ้ามันพิจารณามันปล่อยวางขนาดไหน มันปล่อยวาง นี่กิเลสมันโดนมรรคญาณทำลาย โดนแยกแยะไป...มันก็ถอยร่นไปเรื่อย พิจารณาไปเรื่อย

พอพิจารณาไป ปัญญามันละเอียดขึ้น กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด มันก็ละเอียดขึ้น เพราะอะไร เพราะมันก็ต้องหาทางหลบหลีกของมัน มันก็ต้องหาชัยภูมิของมัน มันก็ต้องหาที่หลบซ่อนในหัวใจของเรา ถ้าที่ไหนมีเหลือบมีมุม มันหลบอยู่ที่นั่น พอหลบที่นั่น พอจิตเราคลายออกมา มันก็ขยายตัวมาเหมือนกัน ถ้าเราพิจารณาเข้าไป แยกแยะเข้าไป ทำลายเข้าไป ทำลายบ่อยครั้งเข้ามันก็ปล่อยวาง ปล่อยวางขนาดไหน ถ้ามันไม่มีเหตุมีผล มันไม่มีขณะที่มันเป็นจริง มันยังไม่สิ้นสุดของมัน เราพิจารณาซ้ำๆ ซ้ำเต็มที่ ซ้ำเข้าไปบ่อยครั้งเข้าๆ จนถึงที่สุดนะ เวลามันขาด เวลามันขาดนะเห็นชัดเจนมาก นี่ขณะจิตที่มันเป็น เราเป็นเอง ทุกคนที่เป็นเอง เขาจะรู้ของเขาเอง

ถ้ารู้ของเขาเองขึ้นมา เวลามันขาดขึ้นมา เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เวลาขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันเป็นอย่างใด

แต่นี่เราบอกว่า ขันธ์นี้ก็ไม่ใช่เรา สรรพสิ่งก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรานะ จิตใต้สำนึกมันก่อ ไม่ใช่เรานี่มันเป็นโวหาร ถ้าไม่ใช่เรา เวลาจะหาเหตุหาผลกัน ไม่ใช่เรา ให้เราได้ไหม ไม่ใช่เรา สิ่งนี้มันเสียสละอย่างไร มันเสียสละไม่ได้หรอก

แต่ถ้ามันไม่ใช่จากจิตใต้สำนึกแล้ว ไอ้ข้างนอกมันเป็นกิริยาเท่านั้น ถ้าข้างในมันขาด มันไม่ใช่เราอยู่แล้ว มันก็คือไม่ใช่เรา จะจับต่ออย่างไรก็ต่อไม่ได้หรอก จะให้มันเป็นอย่างอื่นไป เป็นไปไม่ได้ เพราะมันถึงที่สุดแล้วมันจะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย มันถึงเป็นอกุปปธรรมไง

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา คำว่า “อนัตตา” เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความจริงสาธารณะ ความจริงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง แต่มันยังไม่เกิดความจริงกับเรา ถ้าความจริงกับเรา สิ่งใดที่เป็นอนัตตา อนัตตาก็เราเห็นนี่ไง อนัตตาก็มันแปรปรวนนี่ไง แปรปรวนแล้วกิเลสมันก็อาศัย นี่ตามน้ำ ตามอนัตตานั้นไปแล้วมันก็ไม่ขาดไง นี่ตทังคปหานไง เวลามันปล่อยแล้วมันตามมา กิเลสมันตามน้ำไป กิเลสมันตามธรรมนั้นไป เกาะไป หลบซ่อนไป แล้วเราก็ต้องไล่ต้อนเข้าไป พิจารณาเข้าไป เห็นไหม ถ้า...ลงที่จริง

ถ้ามันยังไม่จริง มันมีสิ่งที่กิเลสมันจะแฉลบ มันหลบมันหลีกของมันโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น กิเลสก็ธรรมชาติอันหนึ่ง กุศล-อกุศล ธรรมฝ่ายขาว ธรรมฝ่ายดำ กิเลสมันก็เป็นธรรมอันหนึ่ง เวลามรรคก็เป็นธรรมอันหนึ่ง เวลาสัมปยุตเข้าไป มรรคสามัคคี สัมปยุตเข้าไป วิปปยุตคลายออก มันออกมาอย่างไร แล้วเวลามันขาด ขาดออกไปแล้วมันเหลือสิ่งใด ถ้ามันเหลือสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นอกุปปธรรม ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม

ถ้าลงที่จริงแล้วนะ ใครรู้จริงเห็นจริง มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นขึ้นมา นี่ใจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ใจที่เราทุกข์เรายากกันอยู่ เราทุกข์เรายากเพราะกิเลส ไม่ใช่ทุกข์ยากเพราะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เราทุกข์ยากเพราะเป้าหมายของเราทำให้เราทุกข์ยาก เป้าหมายของเรา เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอธิษฐานบารมี ถ้าไม่มีอธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศ นี่เป้าหมาย เป้าหมายเราทำของเรา แต่เป้าหมายนั้นไม่ใช่ความทุกข์ความยากกับเรา แต่กิเลสต่างหาก สิ่งที่โต้แย้ง สิ่งที่ขัดแย้ง สิ่งที่ทำให้เพลี่ยงพล้ำ สิ่งที่ชักจูงใจของเรา สิ่งนี้ต่างหากทำให้ทุกข์ยาก

แต่สิ่งนี้ถ้ามันไม่มาขัดขวาง ไม่มาทำให้เราทุกข์ยาก ปล่อยให้เราทำตามความเป็นจริงนะ เราจะเข้าสู่สัจธรรมอันนั้นได้ แต่เวลาเราปฏิบัติไป กิเลสที่มันอยู่ในใจของเรา มันมาชักใบให้เรือเสียตลอด จะทำความเพียรก็บอกมันจะล้มลุกคลุกคลาน มันจะเป็นมันจะตาย มันจะไม่มีความสุข มันจะไม่มีสิ่งใดๆ สมความปรารถนาเลย เพราะจะเอากิเลสเข้าสู่ตบะธรรม เอากิเลสเข้าสู่ตะแลงแกง ที่ปิ้ง ที่ทำลายที่แผดเผามัน มันหาข้อโต้แย้งทั้งนั้นนะ แต่เวลาธรรมมันจะเกิดขึ้นมาแต่ละข้อแต่ละความ เกิดขึ้นมาได้ยาก แต่เวลากิเลสมันเกิดขึ้นมาได้ง่ายๆ เลย เห็นไหม

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่เพราะกิเลสมันขัดมันแย้ง มันทำลายเรา ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่เป้าหมาย สัจจะ ที่เรามีเป้าหมายกัน สิ่งนี้จะทำให้เราทุกข์ ไม่ใช่ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ว่า มันเป็นความจริงที่เราแสวงหากัน ถ้าความจริงที่แสวงหากัน เราแสวงหาจากภายในนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม เทวดา อินทร์ พรหม สำเร็จเป็นหมื่นเป็นแสน เวลาเทศนาว่าการ เริ่มต้นจากปัญจวัคคีย์ พอเทศน์ปัญจวัคคีย์ก่อน พระอัญญาโกณฑัญญะองค์แรก เทศน์จนปัญจวัคคีย์เป็นพระโสดาบันทั้งหมด แล้วเทศน์อนัตตลักขณสูตร เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ๕ องค์ ทั้งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ๖ องค์ เห็นไหม นี่แล้วเทศนาว่าการต่อไป มันเริ่มจะมีบางคนรับรู้ เริ่มจะมีจิตที่พยายาม สิ่งที่รับรู้ แล้วสิ่งที่ว่าเขามีความเร่าร้อนในหัวใจ เขาจะเปิดใจของเขาเพื่อประโยชน์ของเขา

แต่นี่เราเห็นประโยชน์ของเรา เราตั้งใจเอาประโยชน์ของเรานะ ประโยชน์ของเราคือความจริงแท้ ความจริงแท้มันจะอยู่กับหัวใจของเรา แล้วใจของเรามันจะลงสู่ที่จริงแล้วจบ ถ้าใจของเราไม่ลงสู่ที่จริง มีแต่ความลังเลสงสัย ความจริงของโลกไม่มี เห็นไหม วัฏวนจะหมุนไปอย่างนี้ วัฏฏะ ผลของวัฏฏะ

ในเมื่อมีการกระทำ ทำดีต้องเกิดดี ทำชั่วก็เกิดชั่ว ความดีความชั่วมันมีของมันประจำโลกอยู่แล้ว โลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ คือมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกธรรม ๘ มันมีอยู่ของมันโดยดั้งเดิม มีของมันอยู่อย่างนั้นนะ

แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนสิ้นกิเลส จนตรัสรู้ธรรมขึ้นมา โลกธรรม ๘ เห็นไหม มันเป็นเครื่องเสริม แต่เวลาใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันพ้นจากโลกธรรม ๘ ไป สิ่งนั้นถึงเข้ามา ไม่มีผลกับใจของผู้ที่ปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริง แต่มันมีของมันอยู่อย่างนั้นนะ มันมีอยู่กับโลก ถ้าจิตใจเราอ่อนแอ จิตใจของเราไม่มีกำลัง สิ่งนี้มันจะเหยียบย่ำ

คำชมเชย เวลาเขาชมเชยขึ้นมา เห็นไหม เหมือนลมพัดใบไม้ไหว คำติฉินนินทาเหมือนกับเสาเข็มปักลงไปที่หัวใจ ทำไมมันมีผลไม่เท่ากันล่ะ สรรเสริญกับนินทามันควรจะมีผลเท่ากันสิ เวลาเขาสรรเสริญขึ้นมา แค่ยิ้มแย้มแจ่มใสชั่วครั้งชั่วคราว แต่เวลาติฉินนินทาขึ้นมา มันปักเสียบเข้ามาในใจมีแต่ความเจ็บร้อน

แต่ถ้าจิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์นะ จิตใจที่เรามีเหตุมีผลนะ สิ่งนี้จะไม่มีโทษกับใจเราเลย นี่มันก็แค่ลมปากของคน มันก็แค่สิ่งที่โลกเขามีกันอยู่แล้ว ของที่มีอยู่แล้ว เราจะบอกเขาว่าให้ไม่มี เพราะมีเรา เพราะมีเราขึ้นมาต้องสมความปรารถนาของเราทุกๆ เรื่อง มันไม่มี โลกมันเป็นอย่างนั้นเพียงแต่เราก็อยู่กับโลกเขา แล้วเราจะรักษาโลก รักษาหัวใจเราอย่างใด

ถ้าเราเห็นโทษของมันอย่างนั้น เราถึงจะต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้จิตใจเราเข้มแข็ง ให้จิตใจเรามีหลักมีเกณฑ์แล้วลงสู่ที่จริง ถ้าจิตลงสู่ที่จริง ลงสู่ความจริงแล้ว เห็นไหม ไม่ต้องบอกใครเลย

เวลากิเลสมันเผาลนเรานะ เบียดเบียนตนแล้วเบียดเบียนผู้อื่น ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ มันเป็นธรรมแล้วนะ จิตใจมันสงบร่มเย็นจากหัวใจของเรา แต่ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครรู้ได้ ถ้าเราจะแสดงออก แล้วเขามีเหตุมีผลที่เขาจะฟังได้ อันนั้นเขาถึงจะเริ่มรับรู้ รับรู้แล้วเขาปฏิบัติเข้ามา ถ้าถึงวุฒิภาวะเท่ากัน เขาถึงจะรู้ได้ ถ้าวุฒิภาวะไม่เท่ากัน เขาก็ฟังไว้เป็นแนวทาง

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แสดงในพระไตรปิฎกเป็นกิริยา เป็นแนวทาง แล้วถ้าเราฟัง เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของเรานะ สาธุ อันเดียวกัน แต่ถ้ายังไม่ได้ เราก็ยังหาเหตุหาผลในใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ลงที่จริง ถ้ามันเป็นจริง ถ้าใจเราจริง เรามีศักยภาพตามความเป็นจริง เราจะได้ความเป็นจริง เป็นสมบัติของเรา เอวัง