เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาเรื่องศาสนา เห็นไหม สอนคนให้เป็นคนดี ถ้าเป็นคนดีสังคมจะร่มเย็นเป็นสุข นี้เวลาเป็นคนดี ทุกคนก็อยากเป็นคนดี แต่ดีของใคร? ถ้าดีของเรา เวลาคนพาล เวลามันพาลมันขวางเขาไปหมดแหละ มันว่ามันเป็นคนดีนะ ทั้งๆ ที่มันเป็นพาลนั่นล่ะ แต่ถ้าเป็นคนดี คนดีเขาดีในตัวเขาเอง ถ้าดีในตัวเขาเอง ทุกคนจะเห็นคุณงามความดีนั้น ทุกคนปรารถนาความดี แล้วความดีนี่ใครก็รู้จัก ใครรู้จักความดีทั้งนั้นแหละ แต่เวลาเราทำ เห็นไหม เวลาเราทำของเรามันมีอะไรอยู่ในหัวใจเราล่ะ? มันทำไม่ลง มันทำไม่ได้
นี่ไงเวลาพาลมันก็ขวางเขาไปทั่ว แต่มันว่าตัวมันเป็นคนดีนะ แต่ความดีเขามันดีจากภายใน เห็นไหม ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี แล้วถ้าเป็นคนดีแล้ว เวลาความดี เกิดดีและชั่ว เวลาเกิด ความคิดของเรามันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เวลาคนทำความสงบของใจ ใจมันสงบแล้วมันก็เสื่อมไปเป็นธรรมดา แต่ใจมันสงบขึ้นมา สงบแล้วมันมีความร่มเย็นเป็นสุขไหมล่ะ?
มันมีความร่มเย็นเป็นสุขมาก มีความร่มเย็นเป็นสุขมาก เพราะ! เพราะเวลาคนเราวิตก วิจาร ความเครียด วิตกกังวล ความวิตกกังวลในใจเราทำให้เราทุกข์ นี่แล้วความไม่แน่นอนในชีวิต ไม่แน่นอนในสิ่งต่างๆ เพราะสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ถ้ามันไม่เป็นอนิจจัง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง การเกิดการตายมันก็ต้องคงที่สิ การเกิดการตายมันหมุนเวียนไป เห็นไหม แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดของเรามันก็เปลี่ยนแปลงของมันไปตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามันเป็นธรรมชาติ มันเป็นความจริงอันนั้นอันหนึ่ง ความจริงของวัฏฏะ
ความจริงของวัฏฏะคือการเกิดและการตาย สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจังสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งนี้เป็นสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาไง เพราะมันเป็นอนิจจัง นี่เดี๋ยวเกิด เกิดดี เกิดร้าย เห็นไหม คนเราถึงทำดีทำชั่วไง เพราะมีการกระทำดี ความดีที่มั่นคงขึ้นไปกว่านี้ ความดีที่มั่นคงขึ้นไปกว่านี้มันอยู่ที่ไหน? เวลานักพรต นักบวช เขาออกป่าออกเขา ไปอยู่ป่าอยู่เขา เขาจะไปสร้างความดีของเขา ถ้าไปสร้างความดีของเขานะ เพราะเขาควบคุมหัวใจของเขา ถ้าควบคุมหัวใจของเขามันอยู่ในศีลไง ประพฤติพรหมจรรย์
ถ้าอยู่ในศีล เห็นไหม หัวใจนะถ้าปล่อยมันตามธรรมชาติของมัน ปล่อยมันตามสบายนะ มันอยู่สุขสบายของมัน เวลาเกิดมีการบังคับขึ้นมา ไปอยู่ป่าอยู่เขามันไปอยู่ในความสงบสงัด มันดิ้นรนนะ มันไม่พอใจ มันอยากจะไปอยู่ที่มันพอใจ ที่พอใจมันคือที่ไหนล่ะ? ที่มันพอใจคือที่มันคิดว่ามันมั่นคงของมันไง มั่นคงมันอยู่ที่ไหนล่ะ? มั่นคงก็อยู่ในสังคมไง สังคมเขามีการช่วยเหลือเจือจานกัน สังคมมีความอบอุ่นกัน เรามาอยู่ป่าอยู่เขาเรามีแต่ความว้าเหว่ เรามีแต่ความทุกข์ยากในหัวใจ แต่ถ้ามันควบคุมได้
นี่ถ้ามันมีสติ มีคำบริกรรม ถ้ามันรักษาใจของเราได้นะ เห็นไหม ดูสภาพสิ ตอนนี้นะเวลาเราไปอยู่ในเมืองกัน เราอยากมีป่า อยากมีธรรมชาติ อยากได้อากาศบริสุทธิ์ เราอยากทุกๆ อย่างเลย ทีนี้เราไปอยู่ในป่า เราไปอยู่ในป่าเราไม่ใช่สัตว์ป่านะ เวลาสัตว์ป่ามันอยู่ในป่า มันเกิดในป่า มันเติบโตในป่า แล้วมันตายในป่า สัตว์ป่ามันอยู่ของมันด้วยความเป็นสัตว์ที่มันจำเป็นเกิดในป่า แต่เราเป็นมนุษย์ เราเป็นคน แล้วเรามีปัญญา เรามีปัญญา เห็นไหม เราอยู่ในเมืองก็ได้ แต่อยู่ในเมืองแล้วมันไม่ได้ดั่งใจสักอย่างหนึ่งเลย
เวลาอยู่ในเมืองไม่ได้ดั่งใจ นี่เราบวชมาเป็นเพื่อปฏิบัติเป็นนักพรต ไปอยู่ในป่าในเขา เราไปอยู่ไม่ใช่อยู่แบบสัตว์ป่านะ เราต้องการเอาความวิเวกอันนั้น ต้องการเอาความวิตกกังวลอันนั้นเพื่อมาบีบคั้นหัวใจไง เพื่อให้หัวใจมันไม่ฟุ้งซ่านไง ความกลัวไง เห็นไหม นี่ดูความกลัว กลัวผี กลัวสาง กลัวทุกอย่าง ความกลัว เห็นไหม ความกลัวเป็นความเสื่อม เพราะความกลัวเราถึงไม่กล้าคิดสิ่งใด เราไม่กล้าทำสิ่งใดเลย ทีนี้พอมีความกลัว พอมีความกลัวขึ้นมา กลัวแบบโลกๆ กลัวมันก็วิตกกังวล
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้ความกลัวนี้ให้เป็นประโยชน์ เห็นไหม ให้คนไปเที่ยวป่าช้า การไปเที่ยวป่าช้านะ ใครเดินเข้าไปป่าช้า แล้วไปกลางคืนถ้าคนไม่เคยไป เว้นไว้แต่สัปเหร่อที่มีอาชีพนั้น ถ้ามีอาชีพสัปเหร่อเขาไม่กลัวหรอก เขาอยู่ในป่าช้านั่นล่ะ เพราะอาชีพของเขา เขาคุ้นเคยของเขา แต่เรานี่เราเข้าไปป่าช้ามันก็เสียวสันหลังแล้วนะ กลางวันนะ ถ้ากลางคืนขึ้นมา โอ้โฮ! เดินเข้าไปไม่ได้เลย
นี่เวลาเราเข้าไปพิจารณาซากศพ ไปพิจารณา เห็นไหม อาศัยความกลัวนั้น อาศัยความกลัว แต่กลัวด้วยบวกไง กลัวด้วยปัญญาไง ความกลัวคือกิเลสมันกลัว คือความวิตกกังวลในใจมันกลัว แต่สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่ไหน? ประโยชน์ที่มันมีปัญญาที่จะเหนี่ยวรั้งหัวใจนี้ไว้ ถ้ามันคิดถึงความตาย มันคิดถึงว่าชีวิตนี้มันไม่มั่นคง ชีวิตนี้ต้องพลัดพรากเป็นที่สุด มันก็ไม่เห่อเหิมจนเกินไป มันก็ไม่ต้องไปคิดมาก คิดจนวิตกกังวลไง นี่คิดจะหาเงินหาทองมานะ แล้วตายไปใครจะใช้ให้กูวะ ตายไปใครจะใช้เงินนี้ล่ะ?
นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันบอกมันจะตาย มันต่างๆ นี่มันไม่เห่อเหิมจนเกินไป ใช้ความกลัวนั้นมาเป็นประโยชน์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ เวลาไปป่าไปเขาก็สอนอย่างนี้ เวลามันภาวนาไม่ได้ เวลาอยู่แล้วภาวนามันก็ดื้อด้าน จิตใจนี้เอาลงไม่ได้ นี่ไปสู่ที่วิเวก ที่ไหนมีสัตว์ มีเสือ มีอันตราย ไปนั่งบนหน้าผาเพื่อเสี่ยงภัยให้มันไม่คิดไปนอกเรื่องนอกราวไง ไม่ให้หัวใจนี้มันคิดตามอำนาจของมัน ไม่ให้ใจมันจะคิดอย่างไรก็ได้ ให้มีสติปัญญายับยั้งมันไว้
ถ้ามีสติปัญญายับยั้ง นี่ความกลัวแบบนี้ความกลัวด้วยมีสติ เพราะมีสติมีปัญญา มันก็กลัวเหมือนกันแหละ กลัวเพราะอะไร? กลัวเพราะสิ่งที่มันไม่เคยพบไม่เคยเห็น มันมีความวิตกกังวลเป็นธรรมดา กิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจเรามันเป็นเรื่องธรรมดา ทีนี้เรื่องธรรมดา เห็นไหม มันมีของมันมันถึงได้มาเกิดไง แต่เราเกิดมาพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนให้เป็นคนดี ถ้าเราเป็นคนดี ทำดีมันก็ต้องมีกติกา เครื่องหมายของคนดีกตัญญูกตเวที มีกรอบ มีระเบียบ มีข้อบังคับตัวเอง ให้ตัวเองไม่ไปตามกระแสโลก
ถ้าไปตามกระแสโลก เห็นไหม ดูสิศีล สมาธิ ปัญญา ถ้ามีศีลคือความปกติของใจ ถ้าใจมันปกตินะมันไม่เหมือนทางโลก ที่ไหนมีการละเล่นก็ไปที่นั่น นักเลงพนัน นักเลงเที่ยวกลางคืน นักเลงคือว่าที่ไหนมีเสียงกลองเราต้องไปอยู่ที่นั่น ที่ไหนมีมหรสพสมโภชเราต้องอยู่ที่นั่น แต่ถ้าเรามีศีล ศีล ๘ ไม่ดูการละเล่นฟ้อนรำ เพราะสิ่งนี้ทำให้เพลิดเพลินกับโลก สิ่งที่เพลิดเพลินไปกับโลก เราบอกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผ่อนคลาย สิ่งนี้จะเป็นการพักผ่อน
ถ้าการพักผ่อน พักผ่อนทำไมมันติดล่ะ? ทำไมมันชอบสิ่งนั้นล่ะ? แต่การพักผ่อนของเรา เห็นไหม เรามีสติรักษาใจของเรา การพักผ่อนทางโลกนะ การพักผ่อนคือการนอน การนอน การพักผ่อนเป็นเรื่องที่ฟื้นฟูร่างกายให้มันกลับมาสดชื่น ถ้าจิตนะมันได้กำหนดพุทโธ พุทโธ ถ้ามันได้สงบระงับขึ้นมา มันไม่ต้องวิตกกังวล ไม่ต้องเครียดจนเกินไปนัก นี่ก็เป็นการพักผ่อนของจิต เห็นไหม ว่าเป็นคนดีๆ ดีของใครล่ะ?
ฆราวาสธรรมนะ เราเป็นฆราวาส เป็นคฤหัสถ์ ถ้าเป็นคฤหัสถ์เราก็ทำคุณงามความดีตามกติกา ศีลธรรมนี่เป็นสิ่งที่เป็นเครื่องหมาย เครื่องหมายที่เราจะทำตามนั้น แต่ถ้าเราจะเอาเนื้อหาสาระ ถ้าเอาเนื้อหาสาระ เห็นไหม จิตใจนี้เป็นที่สัมผัสธรรมนะ นี่เราอ่านหนังสือใช่ไหม? เราอ่านหนังสือ อ่านตำรับตำราธรรมะ เราศึกษาธรรมโดยสุตมยปัญญา โลกเขาทำกันทั้งนั้นแหละ เขาอ่านนิยายก็ได้ เขาอ่านวิชาการก็ได้ อ่านธรรมะก็ได้
ฆราวาสธรรม อ่านศึกษา ศึกษาแล้วมันก็มีทางเลือก พอทางเลือกเราอยากได้สัมผัสขึ้นมา เราปฏิบัติของเรา ก่อนนอนเราก็ไหว้พระ เราก็กำหนดพุทโธ ลมหายใจเข้านึกพุท ลมหายใจออกนึกโธ เวลานึกพุทโธนี่มันอึดอัดขัดข้องไปหมดเลย วันทั้งวัน นี่เดินทำหน้าที่การงานทำได้หมดเลย เวลาจะมาทำงานของใจนะ นั่งสมาธิ ๕ นาทีนะทำไมมันเหนื่อยกว่าทำงานทั้งวันเลย ทำงานทั้งวันมันยังผ่อนคลายได้นะ พอนั่งสมาธิจริงๆ ทำไม่ได้ ทำไม่ได้
นี่งานอันละเอียด เห็นไหม งานอันละเอียด พอเราพุทโธ พุทหายใจเข้า โธหายใจออก นี่ถ้าเราทำสิ่งนี้ได้จิตใจเราสัมผัสนะ เวลามันปล่อยวางเข้ามามันปล่อยวางอารมณ์ พลังงานคือตัวจิต พลังงานเวลามันนึกคิดมันเสวยอารมณ์ นี่ธรรมชาติเครื่องจักรมันหมุนตลอดเวลา เครื่องจักรหมุนตลอดเวลา เราดับเครื่อง ถ้าดับเครื่องพลังงานมันไม่ออกมาจากที่คิด เวลาพุทโธ พุทโธธรรมชาติมันคิดอยู่แล้ว คิดพุทโธก่อน
พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธเป็นพุทธานุสติ สติระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงความรู้สึกของเรา พุทธะคือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน แต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มันอยู่ใต้อำนาจของความคิด ความคิดความนึก เห็นไหม ความคิดต่างๆ มันกลบพลังงานอันนี้ไว้ เราก็ใช้พลังงานนี้พุทโธ พุทโธ พุทธานุสติ ถ้ามันละเอียดเข้าไปมันปล่อยวาง นี่ไงที่ว่าจิตได้สัมผัสๆ เราอ่านตำรับตำรา อ่านธรรมะ เวลาอ่านธรรมะมันซาบซึ้งๆ แต่พอจิตมันสงบระงับนะ เอ้อเหอ! นี่จิตมันเป็นเองไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสวงหาสิ่งนี้ ปฏิบัติอย่างนี้จนตรัสรู้ธรรมขึ้นไป จิตใจเราก็มี จิตใจเราก็เป็น พอจิตใจเราก็มี จิตใจเราก็เป็น แต่เรามองข้ามจิตใจของตัวเราไป เราก็ไปศึกษาธรรมะๆ โอ๋ย! รู้ๆๆ นี่รู้โดยสัญญา รู้โดยสามัญสำนึก แต่จิตใจมันไม่รู้ เอ๊ะ! ศึกษาใช่ ธรรมะนี่ใช่นะ แต่มันเป็นอย่างไรล่ะ? มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า? แต่ถ้าจิตเราสัมผัสนะ จิตมันมีสมาธิขึ้นมามันก็อบอุ่นของมัน ถ้าจิตมันหัดใช้ปัญญาของมัน ถ้ามันเกิดโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่มันใคร่ครวญ เห็นไหม พอใคร่ครวญขึ้นมา พอมันปล่อยวางนี่ตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว
การปล่อยวางอย่างนี้อย่างไร? การปล่อยวางโดยเรากำหนดพุทโธ พุทโธ ปล่อยวางโดยสมถะ การปล่อยวางโดยปัญญา ปัญญาที่รอบรู้ในกองสังขาร เห็นไหม สังขารคือความคิด ความปรุง ความแต่ง แล้วถ้านี่ปัญญามันรอบรู้ความรู้สึกนึกคิดของเรา นี่ความคิดเราที่มันพาเราให้วิตกกังวล มันทำให้เรารู้สึกพะวงหน้าพะวงหลัง แล้วเรามีปัญญารอบรู้เท่าทันมัน เออ! เอ็งบ้าๆ สิ่งนี้มันยังไม่มาถึงเรา สมบัติบ้าคือสมบัติอนาคต คิดแล้วมันบ้า นี่อดีต อดีตมามันก็ปักเสียบในหัวใจของเรา ถ้าในปัจจุบัน ปัจจุบันถ้ามันทันขึ้นมา เห็นไหม นี่มันจะทันขึ้นมา แล้วมันพิจารณาของมันขึ้นมา มันปล่อยวางของมันขึ้นมา
พอปล่อยวางนี่รสชาติ รสชาติอยู่ที่ไหน? รสชาติที่ใจ ใจนี่มันวิตกกังวล มันแบกรับภาระไปทั้งหมดเลย แล้วมันปล่อยวาง มันปล่อยวางโดยเหตุโดยผล ปล่อยวางโดยมีข้อเท็จจริง ไม่ใช่เราศึกษา เราอ่านธรรมะมันบอกว่าเข้าใจ ให้ปล่อยวางเราก็ปล่อยวาง ปล่อยวางโดยการเลียนแบบ ปล่อยวางโดยพระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยวางเราก็ปล่อยวาง แต่มันไม่มีข้อเท็จจริง มันไม่มีเนื้อหาสาระ แต่เราปล่อยวางนี่ปล่อยวางด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรา เพราะมันมีปัญญา มันปล่อยเอง มันวางเอง ความปล่อยวางนั้นมันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันเพราะจิตใจมันสัมผัสของมันเองไง ถ้ามันปล่อย โอ๊ะ! โอ๊ะ! โอ๊ะ! ถ้าโอ๊ะนะ
นี่ไงผู้ที่ปฏิบัติเริ่มต้นขนาดนี้ก็มหัศจรรย์ พอเวลาคนปฏิบัติเข้าไปนะ พอเป็นสมาธินะ โอ้โฮ! โอ้โฮ! เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมานี่มหัศจรรย์มาก นี้มหัศจรรย์นะ แต่พิจารณาเข้าไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป เวลามันขาดออกมานี่มหัศจรรย์ขนาดไหน? ความมหัศจรรย์ นี่ไงเป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก ใจมันเป็นไง พอใจมันเป็น แล้วจะควักดวงใจนั้นมาให้ใครดู?
แต่พูดนี่คนเข้าใจได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม นี่เวลาพูด เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมาท่านรู้ของท่าน พอรู้ของท่าน ท่านพูดออกมามันมีข้อเท็จจริงของมัน
ถ้าไม่มีข้อเท็จจริง เห็นไหม นี่เราทำตามเลียนแบบ ปล่อยวางก็ปล่อยวาง ธรรมะคือความว่าง ธรรมะก็ปล่อยวางไง ปล่อยวาง ปล่อยวางแล้วทำไมเอ็งยังทุกข์อยู่ล่ะ? ปล่อยวางทำไมเอ็งไม่เข้าใจชีวิตของเอ็งเลยล่ะ? ถ้าคนปล่อยวางนะชีวิตเขาจะเรียบง่ายมาก นี่ผู้ที่อริยทรัพย์อยู่ภายในนะชีวิตเขาจะเรียบง่ายมาก เพราะ! เพราะสิ่งที่เป็นเรื่องโลกๆ คำว่าโลก โลกคือสิ่งที่มันล้นมันเกินมา แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม เป็นความจริงชีวิตมันมีเท่านี้แหละ แล้วชีวิตมีเท่านี้ปั๊บ เรารู้จักชีวิตของเราแล้ว เรารักษาชีวิตของเราแล้วนี่มันคือข้อเท็จจริงไง
ความจริงกับความจอมปลอม เราจะเอาความจริงหรือความจอมปลอมล่ะ? ถ้าเอาความจริงก็นี่ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ความรู้สึกนึกคิดนี่เป็นความจริง แต่โลกนี้เป็นความจอมปลอมทั้งหมด เพราะมันเป็นสมมุติ ถ้าโลกให้ค่ามันจะมีคุณค่ามากเลย พอโลกเขาเลิกสนใจนะ สิ่งนั้นเป็นเศษของเลย ไม่มีใครสนใจเลย แต่ถ้าสิ่งนั้นไปสนใจปั๊บมีคุณค่าขึ้นมาทันที นี่ไงมันจอมปลอม จอมปลอมเพราะความเห่อไง ถ้าเห่อขึ้นมา ของนั้นแย่งชิงกันจะมีค่ามาก แต่ถ้าคนไม่สนใจมันเลย ทิ้งมันไว้ไม่มีใครเอานะ จะไม่มีค่าเลย
นี่แล้วเราไปตื่นเต้นกับสิ่งนั้น เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็มีค่า เดี๋ยวก็เสื่อมค่า แต่ความรู้สึกของเรามันเป็นความจริง เพราะความจริงแล้วมีสติปัญญารักษาด้วยมันยิ่งจริงเข้าไปใหญ่ พอจริงเข้าไปใหญ่ เห็นไหม เวลาแสดงออกมามันถึงเป็นความจริง แล้วความจริง ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันต้องมีการผิดพลาดเป็นธรรมดา คนทำงานต้องมีความผิดพลาดเป็นธรรมดานะ
คนไม่ทำความสงบของใจ พอจิตใจมันมีปฏิกิริยาของมัน เรากำของสิ่งใดอยู่ แค่เราคลายมือออกแต่ของนั้นยังไม่หลุดจากมือเราไป เราก็มีความรู้สึกแล้ว มันจะมีความแปลกประหลาดแล้ว แต่ถ้าของที่ในกำมือเรา เราคลายออกแล้วของสิ่งหนึ่งหลุดจากมือเราไป เราจะ อืม! มันเบาขึ้นมาเนาะ เมื่อก่อนเรากำไว้มันหนักมาก เวลาเราคลายออกมามันขยับแล้ว แต่ถ้าเรากางมือออก ของนั้นหลุดจากมือเราไป เออ! สิ่งหนักหน่วงมันหลุดออกจากมือเราไป
นี่ก็เหมือนกัน สัมมาสมาธินะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พออัปปนาสมาธิมันปล่อยวางหมด มันปล่อยวางขนาดว่าแม้แต่ตัวมันเองกำหนดพุทโธไม่ได้เลย มันไม่มีสิ่งใดในตัวมันเลย แต่สักว่ารู้ สักแต่ว่าแต่แจ๋วมากเลย สักแต่ว่าแต่ยอดเยี่ยมมากเลย แต่ถ้ามันขณิกะนี่มันเริ่มคลายตัว มันเริ่มรับรู้ อุปจาระนี่มันมีอยู่กับเรา นี่เราพิสูจน์ได้ กำอะไรอยู่? นี่สิ่งที่กำอยู่นั้นคืออะไร? มันจะเป็นหิน เป็นทราย เป็นเงิน เป็นทอง มันกำอะไรอยู่?
นี่ก็เหมือนกัน พอมันเข้าอุปจาระมันออกรู้ได้ แต่เข้าไปอัปปนามันปล่อยหมด พอปล่อยหมด มือเราแบหมดเลย ในมือมีอะไร? ไม่มีอะไร แล้วจะทำอย่างไร? ทำอย่างไร? ก็เอามือนี้กลับไปทำงานใหม่ เห็นไหม เวลาออกจากอัปปนาสมาธิเป็นอุปจาระมันจะออกรู้ของมัน มันต้องทำงานในตัวมันเอง
นี่เรากำสิ่งใดอยู่? จิตใจมันทุกข์หนักหน่วง ทุกข์สิ่งใดอยู่? มันต้องพิจารณาของมันเอง มันใช้ปัญญาแยกแยะเอง มันถึงจะสิ้นไปตามความเป็นจริง พอสิ้นไปตามความเป็นจริง เห็นไหม อกุปปธรรม อกุปปธรรม อฐานะนี่มันคงที่ของมัน มันไม่มีการที่จะไปจับปล่อยๆ อีก มันคงที่ของมัน โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี คงที่แบบนี้ นี่ก็อกุปปธรรม แล้วใครเป็นล่ะ? ใครเป็น? ความรู้สึกนี้ไง ไม่มีอะไรเป็น อย่างอื่นเป็นไม่ได้ จิตใจของเรานี่เป็น จิตใจของมนุษย์นี่เป็น เวลาทุกข์ยากก็จิตใจของมนุษย์นี่ทุกข์ยาก
หลวงตาบอกว่า ไม่มีสิ่งใดสัมผัสธรรมได้ เว้นไว้แต่ความรู้สึก เว้นไว้แต่ใจของคนเท่านั้น
ใจของคน ใจของเทวดา ใจของอินทร์ ใจของพรหม แต่ใจนรกอเวจีเขารู้ไม่ได้เพราะเขาโดนบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าใจที่มันสูงมันส่ง ใจมันดีขึ้นมามันจะเป็นประโยชน์กับเรา แล้วเวลาเราเป็นแล้ว เห็นไหม มนุสสเดรัจฉาโน มนุสสเปโต มนุสสเทโว มนุสสเทโวมนุษย์เทวดา มนุสสเปโตมนุษย์เปรต มนุสสเดรัจฉาโนมนุษย์สัตว์ มันเป็นที่ไหนล่ะ? มันเป็นที่ความคิดอีกแล้ว เพราะความคิดมันคิดทำลายเขา มันเป็นสัตว์ทำลายคนอื่น มันเป็นเปรตมันเที่ยวทำลายคนนู้นคนนี้ มันเป็นเทวดา มันเที่ยวเสียสละ มันเที่ยวช่วยเหลือเจือจานคน
จิตใจของคนมันเป็นไปได้ทุกอย่างเลย อยู่ที่ปัญญาของเรา อยู่ที่ความตั้งใจของเรา อยู่ที่เราจะเป็นคนดีไง ดีแบบฆราวาสญาติโยมก็ดีอย่างหนึ่ง แล้วถ้าเรามีความสามารถที่จะพัฒนาจิตของเราได้นะ
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีกำมือในเรา
ในพุทธศาสนาไม่มีเคล็ดลับ ไม่มีสิ่งใดจะปิดบังใคร แบไว้ตลอด แต่กิเลสในหัวใจเรามันปิดบังใจเรา มันน้อยเนื้อต่ำใจ มันตีโพยตีพายว่าทำไมเขาทำได้ เราทำไม่ได้ กิเลสของเราเท่านั้นมันเหยียบย่ำเรา ธรรมะแบไว้ตลอด เราจะต้องมีความเข้มแข็ง มีความจริงจังของเรา เราจะได้สมบัติ ปัจจุบันนี้เราทำบุญด้วยอามิส ทำบุญการเสียสละให้จิตใจเป็นสาธารณะ ให้จิตใจเปิดกว้าง แล้วจิตใจนี้ให้ได้ออกพัฒนาของมัน ทำความสงบของใจเข้ามา แล้วใช้ปัญญาเข้ามา
ความดีที่ดียิ่งกว่านี้ยังมีอยู่
ความดีที่ดียิ่งกว่านี้อีกยังมีอยู่ ความดีสูงส่งมีไปเรื่อยๆ เราจะต้องตะเกียกตะกายพยายามทำหัวใจของเราให้เป็นความดี แล้วตะเกียกตะกายมันเป็นการบริหารจัดการในใจ มันเป็นนามธรรม จะไม่มีใครรู้เห็นกับเรา เวลาทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำเขาเห็นนะ คนนี้แบกหามเหงื่อไหลไคลย้อยนะ แต่เวลาใจมันหมุนของมัน จักรมันหมุนของมัน ไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็น แต่ครูบาอาจารย์รู้ ผู้ที่ปฏิบัติมันรู้ ฉะนั้น คนที่มีหลักมีเกณฑ์เขาจะอยู่ในทางจงกรมของเขา นั่งสมาธิของเขา เพื่อประโยชน์กับเขา เอวัง