ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

คนละฝั่ง

๒๑ ก.ค. ๒๕๕๕

 

คนละฝั่ง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

“คำถามเพื่อหายสงสัย” เนาะ

ถาม : นานแล้วจนลืม เคยมีอาการคล้ายตกจากที่สูงในช่วงเข้าวัดใหม่ๆ ถามหลวงพ่อองค์หนึ่งว่าคืออะไร? ท่านตอบว่า “ตกฌาน” ขอคำอธิบายการตกฌานครับ

ตอบ : คำว่าตกฌานท่านพูดเองหรือเราฟังแล้วมันฟังผิดหรือเปล่า? ถ้ามันจากที่สูง มันตกลง มันจะเข้าสมาธินั่นอีกอันหนึ่งนะ แต่ถ้าการตกฌานมันไม่มี การตกฌาน ถ้าตกภวังค์มันมี แต่ถ้าการตกฌานนี่แปลกมาก หลวงพ่อองค์หนึ่ง เขาจะเข้าใจว่าอย่างไร? ถ้าการตกภวังค์ คือว่าภวังค์นี้เป็นฌานไหม? ถ้าภวังค์ ภวังค์มันเป็นมิจฉาสมาธิ จะว่าไม่ใช่สมาธิมันก็สมาธิ อย่างเช่นเวลานั่งพุทโธ พุทโธ หรือเราภาวนาอยู่แล้วมันวูบหายไป

วูบหายไป ขณะวูบหายไปนี่เราพูดกันโดยที่ว่าเราพูดทางวิชาการนะ แต่เวลาคนที่ปฏิบัติ เวลามันวูบหายไปนี่มันหายไป พอหายไปก็เข้าใจว่า เข้าใจว่าตัวเองมีสมาธิอยู่ไง ถ้าเข้าใจว่าตัวเองมีสมาธิอยู่ เข้าใจว่าตัวเองนั่งสมาธิอยู่มันหายไป แต่มันก็นั่งได้อย่างนั้นนะ แล้วเวลาพอมันรู้สึกตัวมันเหมือนกับสะดุ้งตื่น เหมือนกับสะดุ้งตื่น นี่ไอ้อย่างนั้นตกภวังค์ ถ้าการตกภวังค์ไอ้อย่างนี้มี แต่ถ้าการตกฌานไง ตกฌาน อืม ว่าตกจากที่สูงใช่ไหม? นี่คำถามว่า

ถาม : มันเหมือนกับเราตกจากที่สูง

ตอบ : ตกจากที่สูง ถ้าคนตกจากที่สูงเข้าสมาธิ เวลามันดิ่งลงนี่มี เวลาดิ่งลงนะ แหม วืดๆๆ ขนาดไหนมันดิ่งลง บางทีวืดนะ วืดขนาดไหนก็แล้วแต่มันเป็นอาการ ความจริงก็คือเราอยู่ปกตินี่แหละ แต่มันวูบไป อย่างนี้ถ้ามันจะเข้าสู่สมาธิ แต่การตกฌาน คำว่าตกฌาน

ฉะนั้น เขาบอกว่าให้อธิบายให้หายสงสัยเลย พูดไปมันก็จำแนกไป เหมือนมันเป็นอะไรนะ ภาษาที่พูดไม่ตรงกัน ถ้าภาษามันไม่ตรงกัน ตกฌาน ตกสู่ภวังค์ นี่คำพูดนี้คำพูดกรรมฐานท่านจะพูดคำว่าตกภวังค์ ถ้ามันจะตกภวังค์อันนี้ต้องแก้ เพราะการตกสู่ภวังค์มันจะตกไปแล้วมันจะเป็นมิจฉา มิจฉาคือผิด มิจฉาสมาธิ ตกไปแล้วมันเหมือนกับสมาธิเพราะมันเป็นภวังค์อันหนึ่ง แต่มันขาดสติ มันใช้ประโยชน์ไม่ได้ มันใช้ประโยชน์ไม่ได้ไง

เหมือนไม้คด ไม้ที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะมาใช้ได้ไม่มีใครเอา แต่ถ้าไม้ตรง เห็นไหม ไม้ตรง ไม้ดีเขาจะเอามาทำบ้าน เอามาทำเฟอร์นิเจอร์ เอามาทำสิ่งต่างๆ ได้หมดเลย ถ้ามันตกสู่สมาธิไม้นั้นตรงดีมาก ไม้นั้นเป็นประโยชน์มาก แต่ถ้าไม้คด ไม้งอ ไม้ที่เขาเผาถ่านมันยังเผาไม่ได้เลย ไปเผาถ่านเอาเข้าเตาไม่ได้

นี่อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันตกสู่ภวังค์มันเป็นแบบนั้น เพราะมันขาดสติ แต่ถ้ามันตกมันจะเข้าสู่สมาธิ แต่อาการวูบอย่างนั้นเป็นอาการตกใจ อาการตกใจนี้มันเป็นแบบว่าคนเราปฏิบัติมันจะมีอุปสรรคของคนไม่เหมือนกัน การฝึกงาน คนหัดฝึกงานนะ บางคนฝึกงานจะมีอุปสรรคมาก อุปสรรคน้อย แล้วแต่ว่าปฏิภาณของเขาจะแก้ไขความไม่เข้าใจของเขาให้เขาเข้าใจของเขาได้ ถ้าเขาเข้าใจได้ เขาทำงานของเขาได้

การสู่สมาธิ การจะลงสู่สมาธิ นี่อาการวูบ อาการตกใจ อาการกลัว อาการต่างๆ อาการอย่างนี้มันพยายามให้จิตเราไม่ลงสู่สมาธิ ถ้าทำให้จิตเราไม่ลงสมาธิมันก็ข้างเคียงไง เกือบได้ๆ แต่ไม่ได้ แล้วเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ นี่ถ้าอย่างนี้มันจะลงสู่สมาธิ นี้คำว่า “ตกฌาน” เนาะ คำอธิบายคำว่าตกฌาน เราจะบอกว่าคำว่าตกฌานมันไม่มี แต่ถ้ามันตกจากที่สูงมันจะเข้าสมาธิ จะเข้าสมาธิ จะลงสู่สมาธิ

ทีนี้คำว่าสมาธิกับฌานมันก้ำกึ่งกัน ก้ำกึ่งเขาใช้คำว่าฌานนี้เป็นแบบใด? ตกสู่สมาธินะ ทีนี้คำอธิบาย อธิบายว่าถ้ามันตกจากที่สูง ตกที่สูงเหมือนการนั่งภาวนา พอการนั่งภาวนา อาการที่มันเกิดขึ้นเราจะควบคุมไม่ได้ คือว่าเราจะให้เป็นหรือไม่ให้เป็นอย่างที่เราพอใจไม่ได้ เหมือนการเป็นไข้ คนที่เป็นไข้นะ เราจะปฏิเสธการเป็นไข้ไม่ได้ ถ้าคนเราตากฝน นี่ตากฝนมันเป็นไข้หวัด ถ้ามีไข้หวัด อาการไข้เกิดขึ้นมันก็คืออาการไข้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะเข้าสู่สมาธิ เห็นไหม อาการ อาการของใจ ถ้าใจลงสมาธิ เข้าสมาธิโดยพุทโธ พุทโธ นิ่มนวลเข้าไปก็มี เข้าสู่สมาธินะ บางทีเข้าไม่ได้ มันดื้อด้าน จริงๆ นะใจของคนมันดื้อด้าน พอมันดื้อด้านต้องทำอย่างไร? มันดื้อด้านก็ต้องกำราบมัน กำราบมันด้วยการอดนอน ด้วยการผ่อนอาหาร เอ็งเข้าสมาธิไม่ได้ใช่ไหม? เอ็งดื้อนักใช่ไหม? ไม่กินข้าว อ้าว ธรรมดาเคยกินข้าวมื้อหนึ่งใช่ไหม? พรุ่งนี้หนึ่งมื้อแบ่งครึ่งหนึ่งไม่ให้กิน กินครึ่งเดียว อ้าว ถ้ายังภาวนาได้นะ ถ้ายังภาวนาไม่ได้นี่หนึ่งในสี่ อ้าว ภาวนาอีก

นี่เวลาจิตมันดื้อนักมันต้องมีอุบาย มีการแก้ไข นี่อย่างนี้ไงที่บอกว่าเราไปเที่ยวป่าช้า เราไปต่างๆ ก็เพราะเหตุนี้เหมือนกัน ไปเที่ยวป่าช้า ถ้าเราไม่บังคับเลย ในประวัติหลวงปู่มั่น หลวงตาบอกมีพระองค์หนึ่งหลวงปู่มั่นให้ไปอยู่กับเสือ ทีนี้ไปอยู่กับเสือพระบางองค์ก็ไม่ไป พระบางองค์ออกไปก็หนีไปเลย แต่เวลาหลวงตา หลวงปู่มั่นให้ไปอยู่กับเสือเหมือนกัน ป่าไหนที่มีเสือหลวงปู่มั่นท่านเคยธุดงค์มาแล้ว ท่านก็บอกให้พระองค์นี้ไปอยู่ที่นั่นๆ

ทีนี้พอไปอยู่กับเสือหลวงตาท่านคิดอย่างนี้ ท่านคิดว่าหลวงปู่มั่นท่านต้องมีเหตุมีผลของท่าน นี่เราไปกลัวไหม? กลัวใจจะขาด โอ๋ย ไปอยู่กับเสือ ไปอยู่ใกล้ๆ เสือ เราไม่มีอะไรไปเลย แต่ทำไมท่านให้ไป? นี่หลวงตาเวลาท่านเทศน์ท่านเคยเล่าให้ฟัง ตัวท่านเองก็โดนให้ไปเหมือนกัน แล้วท่านก็มาพิจารณาว่าทำไมท่านถึงให้ไป กลัวไหม? กลัว เดินไปนี่จะเดินเข้าไปในป่านั้น เดินจนยกเท้าไม่ขึ้นแล้วกันแหละ แต่ก็บังคับให้ไป พอไปถึงแล้วกลัวมาก

พอกลัว นี่พอทำที่พักเสร็จนะ เพราะมันกลัวใช่ไหม? พอมันกลัวถ้ามันคิดปั๊บมันก็คิดแต่เรื่องเสือ ท่านก็บังคับพุทโธ พุทโธ พุทโธเลย บังคับอยู่กับพุทโธเลย บังคับอยู่กับพุทโธไว้ พุทโธไว้ บังคับอยู่กับพุทโธไว้ เห็นไหม นี่เดี๋ยวมันก็จะแล่บออก ขนาดมันกลัวขนาดนี้นะ มันกลัวขนาดที่ว่ามันวิตกกังวลไปหมดเลย แต่เดี๋ยวมันก็จะคิดเรื่องเสือ เดี๋ยวคิดเรื่องข้างนอกอีกแล้ว ก็บังคับไว้ๆ จนจิตท่านลงได้

นี่เวลาจิตมันดื้อด้านมันดื้อขนาดนั้นนะ ถ้ามันดื้อขนาดนี้ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์นะ เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์สักพักหนึ่งท่านจะมีอุบายแล้ว ถ้าเห็นว่าเริ่มต้นมันเหมือนกับเราสอนเด็กเลย อ้าว ทำอย่างนี้นะ อ้าว เขียนหนังสืออย่างนี้ อ้าว ถ้าเขียนไม่ได้ เขียนไม่ได้ต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ไม่ได้ต้องทำอย่างนี้ นี่พูดถึงเราเขียนหนังสือ เราเขียนหนังสือ เราหัดคัดลายมือต่างๆ แต่เวลาภาวนามันอาการของใจ ใจเป็นหรือไม่เป็น ถ้าอยู่ด้วยกันจะรู้แล้ว จะรู้แล้วว่าถ้าทำอย่างนี้ได้ผลไหม? ไม่ได้ผล ทำอย่างนี้ได้ผลไหม? ไม่ได้ผล ถ้าอย่างนี้ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ บังคับตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่บังคับตัวเองขึ้น บังคับตัวเองขึ้น จะเอาให้ได้ ถ้าเอาให้ได้นะ นี่อาการที่มันเกิดขึ้น ที่มันวูบ มันวูบนี่เวลามันลง มันตกจากที่สูง ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? โดยธรรมชาติของคน ถ้าวูบมันจะตกใจทันที แล้วถ้าพูดถึงกำหนดลมหายใจนะ ถ้าลมหายใจมันเริ่มจะขาด ทุกคนจะตกใจทันทีว่าเดี๋ยวมันจะตาย ไอ้คำว่าตาย มันจะเอาคำว่าตายมาหลอกลวงตลอด แล้วเราเองเราก็ไม่มีปัญญาที่จะเท่าทันตรงนี้ พอไม่ทันตรงนี้ แค่อุบายนะมันเหมือนกับ ๑๘ มงกุฎเขามาต้นตุ๋นเรา เขาจะหลอกเอาผลประโยชน์จากเรา

ไอ้นี่กิเลสมันหลอกจิตเรา มันหลอกจิตเรา เดี๋ยวจะเป็นอย่างนั้นนะ เดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้นะ เป็นอย่างนี้ด้วยความวิตกกังวล คิดขึ้นมาเองไง เดี๋ยวเป็นอย่างนั้นนะ เดี๋ยวเป็นอย่างนี้นะ แล้วพอเป็นปั๊บตกใจวูบออก พอมีอะไรสะกิดวูบออก มีอะไรสะกิดวูบออก มันเข้าไม่ได้สักที มันเข้าไม่ได้สักที นี่พูดถึงเขาถามว่า “ขอคำอธิบาย” ไง ว่าการตกฌานมันเป็นแบบใด?

ขอคำอธิบาย นี้พูดถึงเหตุผล เหตุผลของกิเลสมันเป็นแบบนี้ เหตุผลที่มันเกิดขึ้นมันเป็นแบบนี้ แต่เราไม่รู้หรอก คนปฏิบัติไปไม่รู้หรอก เหมือนเด็กๆ เนาะ ถึงเวลาพ่อแม่หาให้กิน เวลานั่งปั๊บนั่งบนโต๊ะ ข้าวมาแล้ว กับข้าวมาแล้ว ทุกวัน มันไม่รู้หรอกว่าข้าวมาจากไหน ในพระไตรปิฎก เห็นไหม เด็กมันคุยกันไงว่าข้าวมาจากไหน? บางคนบอกข้าวมาจากจาน บางคนบอกข้าวมาจากหม้อ มันเห็นตักจากหม้อมันว่ามาจากหม้อ

เด็กมันว่ากันอย่างนั้นนะ เขาตั้งปัญหากันไง ข้าวมาจากไหน? ข้าวมาจากจาน เด็กอีกคนบอกว่าข้าวมาจากหม้อ เพราะเห็นตักมาจากหม้อ ข้าวมันมาจากไหน? นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเหมือนเด็กๆ เราก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติขึ้นมาเราไม่รู้หรอก เวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้เราไม่รู้หรอก แต่ถ้าเราปฏิบัติจนเราพัฒนาขึ้นมานะ มองกลับไปจะเห็นเลย อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง

ฉะนั้น ถ้าตกจากที่สูงนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราแปลกใจคำว่าตกฌานนี้มาก เอ๊ะ แปลกมาก อันนี้มันเรื่องของเขาเนาะ มันเป็นเรื่องภาษา ถ้าภาษาอย่างนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้คำอธิบาย คำอธิบายมันก็อย่างนี้ มันแบบว่าเรียกว่าหญ้าปากคอก มันเป็นพื้นฐานของการทำความสงบของใจ ทีนี้คำว่าพื้นฐานของการทำความสงบของใจ ทำไมต้องทำความสงบ?

ถ้าไม่ทำความสงบมันเป็นตรรกะ มันเป็นปรัชญา มันเป็นความคิดจากจิตใต้สำนึก มันเป็นความคิดที่ศักยภาพของมนุษย์มันมีอยู่แล้ว ถ้ามีอยู่แล้วมันก็อยู่ในมิติของโลกียะ คือมิติของความเป็นมนุษย์ แต่เวลาเราจะทำความสงบของใจ เห็นไหม ใจสงบปั๊บมันปล่อยวาง ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินะมันปล่อยวางร่างกายนี้หมดเลย จิตใจที่มันอยู่กับเรามันปล่อยร่างกายนี้ คือมันไม่รับรู้ร่างกายเลย ลมพัดมา เสียงต่างๆ จะไม่ได้ยิน มันตัดหมด ตัวมันเองเป็นตัวมันเอง ตัวจิตล้วนๆ เลย

นี่เห็นไหม เวลาเข้าสมาธิ พอมันวางหมด จิตมันปล่อยหมด มันปล่อยกายนี้ได้หมดเลย ถ้ามันปล่อยกายได้หมดนี่เป็นอัปปนาสมาธินะ อัปปนาสมาธิมันก็พิจารณาไม่ได้ พอเป็นอุปจาระที่ว่าเราพิจารณาได้ การพิจารณาอย่างนี้เพราะมันมีความสงบใช่ไหม? พอพิจารณา ปัญญาอย่างนี้ปัญญามันเกิดจากจิต พอปัญญามันเกิดจากจิตมันจะเข้าไปแก้ที่จิต ถ้าไปแก้ที่จิตมันก็ไปเลาะสังโยชน์ สังโยชน์ที่มันผูกมัดใจ เพราะจิตเรามันมีอวิชชา มีสังโยชน์ผูกมัดอยู่ มันถึงเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นมนุษย์ เกิดนรกอเวจี เกิดหมดแหละ

แต่ถ้ามันไปเลาะสังโยชน์สิ่งที่ร้อยรัดไว้ ถ้ามันทำลายออก ถ้ามันทำลายออก เราจะเอาความคิดของเรา ความคิดโดยสามัญสำนึกไปทำลายมันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นคนละมิติกัน แต่พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตสงบนี่ฝึกหัด จิตสงบแล้วก็ยังไม่เจอนะ จิตสงบนี้ก็ยังเป็นโลกอยู่ เพราะจิตสงบ ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำความสงบของใจเหมือนกัน แต่จิตสงบแล้ว เพราะมันสงบ พอมันสงบขึ้นมาแล้ว ไอ้พวกปรัชญา พวกความคิดมันไม่มี

พอมันไม่มี ถ้าเราจะฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาอันนั้นถึงเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาอันนั้นถึงเป็นอริยสัจ ปัญญาอันนั้นมันทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคญาณจะเกิด ถ้ามรรคญาณจะเกิด มันจะเกิดต่อเมื่อทำเป็นนะ ถ้าทำไม่เป็นมันก็เป็นฤๅษีชีไพรไง ฤๅษีชีไพรสมัยพุทธกาลเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนอุทกดาบส อาฬารดาบส เห็นไหม สมาบัติ ๘

สมาบัติ ๘ สมาบัติก็คือสมาบัติ สมาธิก็คือสมาธิ ฌานก็คือฌาน ไม่มีปัญญาหรอก แต่ถ้ามีปัญญาขึ้นมา มันก็ต้องอาศัยสัมมาสมาธิมันจะเกิดปัญญา ปัญญาอันนี้ปัญญาเกิดจากพุทธศาสนา เวลาพุทธศาสนา มรรคญาณที่มันเกิดขึ้นมา สมาธิเป็นแค่พื้นฐาน สมาธินี้เป็นพลังงาน สมาธิเป็นทุน แล้วถ้าไม่มีทุนเลยมันก็เป็นเรื่องโลก ไม่มีทุนเราก็กู้ยืมใช้ตลอดชีวิตไง เกิดมานี่ก็กู้หนี้ยืมสินใช้ตลอดชีวิตจนตายไป ก็เกิดหนี้เวรหนี้กรรมไป

นี่ไงเกิดเป็นมนุษย์ใช้ความคิดมนุษย์ นี่บาดหมางกันไป ทำต่างๆ กันไปมันก็อยู่อย่างนี้แหละ แต่ถ้าจิตสงบปั๊บมันปล่อยหมดเป็นตัวของมันเอง นี่ไงมันถึงว่าทำไมต้องทำสมาธิ? แล้วสมาธิมันฆ่ากิเลสไม่ได้ แล้วทำทำไม? สมถะมันฆ่ากิเลสไม่ได้ ไม่มีปัญญา แล้วทำทำไม? แต่ถ้าไม่มีสมถะ ไม่มีสมาธิมันก็เป็นเรื่องโลกไง เพราะสมาธิเป็นโลกไหม? เป็นโลก แต่เพราะตัวโลกมันยังหมุนไปสู่โลกุตตระ มันจะหมุนไปสู่ภาวนามยปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น

ฉะนั้น เราเป็นชาวพุทธไง เราพูดถึงอริยสัจ มรรค ๘ ดำริชอบ งานชอบ เพียรชอบ ความชอบธรรม แล้วมาพูดเรื่องฌาน เรื่องสมาธิอยู่หัวปักหัวปำ แล้วนี่มันชาวพุทธอะไรล่ะ? แต่นี่มันก็เป็นพื้นฐาน ชาวพุทธมันก็ต้อง อย่างเช่นจะกินข้าวก็ต้องมีจานก่อน จานกินไม่ได้นะ ต้องมีถ้วยมีจานเพื่อจะใส่อาหารกิน ถ้วยจานนี่กินไม่ได้ ต้องการอาหาร แต่เราจะหาอาหารเรามีสำรับหรือยัง? ถ้าเรามีสำรับเราก็จะไปใส่อาหาร ถ้าเราไม่มีสำรับเลยก็ใส่มือสิ กินแบบมือ เอามือกินเลย นี้เราก็ทำสมาธิ นี่จิตใจเราจะเป็นสำรับเพื่อที่จะเข้าไปสู่ปัญญา ถ้าปัญญามันเกิดขึ้นมันก็ถูกต้อง

นี่คำอธิบาย ถ้าคำอธิบาย พูดถึงตกฌาน เราก็อยู่กับฌานไม่ไปไหนเลย แต่คำว่าไม่มีสมาธิเลย ไม่มีสมาธิเลยมันก็ไม้ดิบๆ ไม้ดิบๆ จุดไฟไม่ได้ ไม้ดิบๆ เขามาตากให้แห้งก่อน พอแห้งแล้วเขาก็ไปทำฟืน ทำไฟ ทำอาหารมากิน ฉะนั้น จิตที่มันยังดิบๆ ก็เป็นโลกียะ ถ้าจิตมันดีขึ้นมันก็จะเป็นสัมมาสมาธิ แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญามันจะสู่วิปัสสนา คือภาวนามยปัญญา อันนั้นมันจะชำระกิเลส แล้วมันจะรู้ มันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง จบ

ข้อ ๙๙๖. ถึงข้อ ๙๙๘. ไม่มีเนาะ

ข้อ ๙๙๙. นี่ ๙๙๙. เลยนะ

ถาม : ๙๙๙. เรื่อง “งานศพ” (คำถามนะ)

ได้ไปรดน้ำศพ มองศพที่เก็บไว้หลายวันกำลังจะเผา (เหมือนภาพที่เคยเห็นในกรอบสี่เหลี่ยม ลักษณะคล้ายๆ กัน) และเก็บอัฐิ แล้วรู้สึกเย็นกายและใจ จึงทำให้คิดถึงบ่อยๆ และรู้ว่านอกจากกายกับจิตจะแยกจากกัน นามขันธ์ ๔ ก็แยกจากกัน โดยวิญญาณขันธ์ดับก่อน สุดท้ายเวทนาขันธ์จึงดับ ตอนนี้จึงเริ่มสนใจเวทนา ปฏิบัติมากขึ้นเพื่อว่าเวลาเจอกำลังจะตายจะได้รับได้ รบกวนหลวงพ่อแนะนำด้วย

ตอบ : อันนี้เขาพูดถึงว่าเวลาเขาไปงานศพไง พอไปงานศพไปเห็นภาพศพ ภาพต่างๆ เขาเคยถามปัญหามาว่า เวลาจิตเขาสงบแล้วเขาเหมือนกับมีกรอบรูป คือภาพ แล้วเขาเห็นภาพอันนั้น เขาได้ใช้ภาพนั้นเพื่อใช้เป็นวิปัสสนา คือใช้ฝึกหัดปัญญา อันนี้มันเป็นภาพที่ในใจเรามีอยู่ มันก็ฝังใจ เหมือนเราทำงาน เราทำงาน เรามีประสบการณ์สิ่งใด สิ่งนั้นก็ฝังใจเราอยู่ แล้วไปงานศพ ไปรดน้ำศพ แล้วไปดูศพ พอไปดูศพมันเกิดอาการแบบนี้ขึ้นมาอีก พอเกิดอาการแบบนี้ขึ้นมาเขาถึงคิดถึงบ่อยๆ คิดถึงบ่อยๆ เขาคิดถึงบ่อยๆ แล้วเขาก็ได้มีปัญญาขึ้นบ่อยๆ นี่ถ้าคิดถึงบ่อยๆ สิ่งนั้นมันก็เป็นการฝึกหัดใจได้บ่อยๆ

ฉะนั้น การที่ไปพิจารณาซากศพๆ นี่มันเป็นวัฒนธรรม เริ่มต้นนะสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลพระไปฉันบ้านของโยม พอฉันบ้านของโยม ไปเห็นภาพผู้หญิงเข้าแล้วมันติดใจ มันติดใจ เพราะจิตใจมันมีเวรมีกรรมต่อกัน นี่กลับมาถึงวัดนะกินข้าวไม่ได้เลย กินข้าวไม่ได้เลย แล้วบังเอิญโยมคนนั้นก็ตายพอดี พอตายพอดีปั๊บ พระพุทธเจ้าได้ข่าว พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าเพิ่งทำอะไรให้ศพวางไว้อย่างนั้นแหละ สุดท้ายแล้วนะก็ประกาศเลยว่าท่านจะไปดูซากศพนั้น จะไปดูซากศพนั้นนะ แล้วก็นิมนต์พระองค์ที่ยังนอนซมอยู่ว่ากินข้าวไม่ได้ให้ไปด้วย

พอไปด้วย ภาพแรกเห็นยังมีชีวิตอยู่มันก็ฝังใจ แต่พอตายไปแล้วศพมันขึ้นอืด พอศพมันขึ้นอืด พอไปเจอเข้าช็อกเลยนะ พอช็อกเลย อย่างน้อยเป็นโสดาบันเลย เป็นเดี๋ยวนั้นเลย เป็นโสดาบันเลย พอเป็นโสดาบันขึ้นมาก็เลยกลายเป็นประเพณีมา ประเพณีของชาวพุทธ เห็นไหม ถึงเวลาจะเผาศพให้ชักผ้าบังสุกุล ก็เอาผ้าบังสุกุลไว้ ให้พระไปพิจารณาผ้า แต่ความจริงเขาต้องการให้พระนั้นพิจารณาซากศพ เพื่อจะให้พระนั้นมีกรรมฐานขึ้นมา มีความรู้สึกกระเทือนใจ จะได้พิจารณา

นี่ในประเพณีวัฒนธรรมจะส่งเสริมในการปฏิบัติ แต่ความคุ้นชิน ความเคยชิน พอเคยชินก็ทำเป็นประเพณี ต้องทำอย่างนี้ถึงเป็นพิธีการเผาศพ พิธีการเผาศพ ความจริงแล้วเขาต้องการให้ศพนั้นเป็นที่พิจารณาของผู้ที่ไปงาน ให้คนที่ไปงานได้สะเทือนใจ ได้เกิดคุณธรรมขึ้นมา แต่ทีนี้พอมันเป็นความเคยชินขึ้นมามันก็เลยกลายเป็นเรื่องโลกๆ ไปไง ถ้ากลายเป็นโลกไป มันก็ยิ่งทำไปมันก็ยิ่งไม่รู้เหตุรู้ผล แต่ถ้าคนมีเหตุมีผล เวลาตายแล้วนะ ไอ้เผาหรือไม่เผาโลกเขาต้องเป็นแบบนั้นแหละ อยู่ที่พระปฏิบัติไง นี่ถ้าตายแล้วนะจบเลย จิตออกจากร่างไปแล้ว

ฉะนั้น สิ่งที่เป็น เห็นไหม ที่ว่าพอไปงานศพ พอไปเห็นภาพนั้นแล้วมันสะเทือนใจ สะเทือนใจเพราะเรามีสมบัติเดิมอยู่ ถ้าเรามีสมบัติเดิมอยู่ เราไปเจอสิ่งใดสะกิดขึ้นมามันก็สะเทือนใจ ถ้าสะเทือนใจขึ้นมามันก็สะเทือนกิเลส ถ้ามันสะเทือนกิเลส นี่การพิจารณามันจะเกิดประโยชน์มาก ถ้าเกิดประโยชน์มาก ถ้าเราคิดสิ่งใด ถ้ามันพิจารณาแล้วนะมันสะเทือนใจ แล้วมันมีเหตุมีผลนั่นคือทำได้

แต่ถ้ามันทำไม่ได้นะ มันทำไม่ได้ เวลามันคิดถึงภาพนั้น คิดถึงสภาวะนั้นแล้วมันไม่สะเทือนใจ ถ้าไม่สะเทือนใจให้ทำความสงบของใจให้มากขึ้น เพราะใจนี่ถ้ากำลังมันมี จิตมันสงบมันจะเกิดปัญญา มันจะเกิดการแยกแยะ แต่ถ้าพิจารณาบ่อยๆ ครั้งเข้า ทุนไง สมาธิเราใช้บ่อยๆ ครั้งเข้า มันแบบว่าเงินนี่ถ้าจำนวนเราสมควร เราซื้อได้มันก็พอ ถ้าเงินจำนวนเราน้อยกว่ามันแลกมาไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าสมาธิมันน้อย สมาธิใช้แล้วปัญญามันออกรู้มากกำลังมันไม่พอ กำลังไม่พอเราก็กลับมาทำความสงบของใจ แล้วก็คิดอย่างนี้อีก การคิดนะ การคิดแบบโลกๆ การคิดแบบไม่มีสมาธิคิดโดยกิเลส ถ้าเราคิดนะ บอกว่าถ้าคิดอย่างนี้อีกใครก็คิดได้หรือ? ใครๆ ก็ทำได้หรือ? ไม่ใช่นะ ถ้าเวลาเราคิด เราคิดโดยสามัญสำนึกของเรา เพราะในจิตเรามีอวิชชาคือความไม่รู้ พลังงานของเรา สามัญสำนึกของเรามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ พอมันคิดมันก็คิดแบบก็อปปี้ คิดแบบพยายามจะทำให้เหมือน แต่มันไม่ใช่

แต่ถ้าจิตเรามีสมาธินะ จิตเรามีสมาธิ เวลาเราคิดสิ่งใดมันคิดมาจากต้นคิดของเราเอง จากปัญญาของเราเอง จากความรู้สึกนึกคิดของเราเอง มันพิจารณาไปมันได้น้ำได้เนื้อ พอได้น้ำได้เนื้อ พิจารณาไปแล้วมันจะสำรอก มันจะคายออกนะ เวลาคายออกหมายความว่าความไม่เข้าใจมันก็เข้าใจขึ้น พอเข้าใจขึ้นแล้วนะมันเกิดรสชาติไง มันปล่อย โอ๋ย มันว่างมาก พอมันว่างมาก เวลาวิตกกังวลมันกดถ่วงหัวใจมาก แต่เวลาพิจารณาแล้วมันปล่อย มันว่างมาก

ว่างมากคือสำรอกไง มันสำรอก มันคาย ถ้ามันคายออกมันจะว่างอย่างนี้ แล้วพิจารณาไปละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ เราต้องหมั่นทำแบบนี้ ถ้าหมั่นทำแบบนี้ ถ้าเราหมั่นทำ เขาบอกเอามาคิดบ่อยๆ ถูกต้อง แต่เอามาคิดบ่อยๆ แล้วนี่ ถ้ามันคิด ถ้ามันไม่เป็นไปนะเรากลับมา กลับมาทำความสงบ พอทำความสงบนี่คิดอีกมันสะเทือนกิเลส สะเทือนกิเลสนะ พอมันสะเทือนกิเลส รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง คนทำนี่รู้ เราทำของเรา เราพิจารณาของเรา เราแยกแยะของเรา เราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้ามันทำได้

นี่พูดถึงวาสนาของเขานะ วาสนาของเขาเพราะเคยทำได้ไง แล้วเวลางานทั่วไปมันก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นงานศพ แล้วจิตใจของเรามันมีอย่างนี้มันสะเทือนนะ พอมันสะเทือนนี่มันสะเทือนกิเลส พอสะเทือนกิเลสขึ้นมา สะเทือนกิเลสปัญญามันเกิด เหมือนเราจุดไฟเผาขยะ ถ้ามันมีขยะอยู่ไฟมันจะติด พอไฟมันติดมันจะเผาขยะไปเรื่อยๆ ถ้าจิตใจเรามีกิเลสอยู่ เราไปดูซากศพนี่มันเกิดธรรมสังเวช มันเกิดธรรม เกิดธรรมคือสมาธิ เกิดปัญญา เกิดปัญญามันจะเผา

นี่มันสะเทือนกิเลส คือมันจะเผากิเลส พอมันเผากิเลส พอกิเลสมันโดนปัญญาแยกแยะ กิเลสมันก็ต้องหลบซ่อน พอมันปล่อยเขาเรียกกิเลสหลบซ่อน ถ้าพิจารณาซ้ำๆ ซ้ำๆ มันหลบซ่อนเราก็ตามเข้าไปพิจารณาเรื่อยๆ เหมือนไฟมันเผาเข้าไป นี่มันจะมีเชื้ออยู่ที่ไหน มันจะอยู่ซอกมุมไหน ไฟมันจะมาลามเผาเข้าไป เผาเข้าไปจนกว่ามันจะหมดไง นี่ตทังคปหานมันปล่อยๆ เวลามันขาดมันจบ ถ้ามันเผาจนหมดเชื้อ มันเผาจนขยะหมดแล้วนะไฟก็ดับ พอไฟก็ดับที่นั่นก็โล่งว่างเปล่า เพราะไม่มีขยะอยู่ที่นั่นเลย

นี่เวลาเราทำของเราแบบนั้น มันสะเทือนกิเลสแล้วเราจะต้องขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่สะเทือนกิเลสแล้วก็ อืม ฉันนักปฏิบัตินะ กิเลสมันสะเทือนแล้วนะ อู๋ย มันรู้อย่างนั้นนะ นี่มันส่งออกอีกแล้ว เราไม่ต้องไปพูดอย่างนั้น มันจะสะเทือนขนาดไหนแต่เรารู้ได้ เรารู้ได้ว่ามันยังมีสิ่งใดตกผลึกอยู่ในใจ มันยังมีสิ่งใดอยู่ในหัวใจ นี่พอมีสิ่งใดอยู่ในหัวใจเราก็นึกอีก พิจารณาอีก นี่มันก็เท่ากับดึงสิ่งที่เป็นขยะ ดึงสิ่งที่มันเป็นกิเลสในหัวใจออกมาชำระล้างด้วยมรรคญาณ ด้วยมรรค ๘ ด้วยงานชอบ เพียรชอบ มันก็จะทำลายของมันตลอดเวลา นี่ขยันหมั่นเพียรตรงนี้มันจะทำของมันไปได้

ฉะนั้น

ถาม : เราคิดบ่อยๆ และรู้ว่านอกจากรูปและจิตมันแยกออกจากกันแล้ว นามขันธ์ก็ต้องแยกจากกัน

ตอบ : ถ้านามขันธ์นะ เราพิจารณากายก็พิจารณากายไปเรื่อยๆ ถ้าพิจารณานามขันธ์มันเป็นการพิจารณาจิต พิจารณากายกับพิจารณาจิต กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นไหม ถ้าพิจารณากายแล้วก็ซ้ำไปเรื่อยๆ ถ้าสิ่งใดมันเป็นประโยชน์ หมายถึงว่าทำแล้วมันมีรสชาติ หนักแน่น มันได้ผลมากกว่า เอาตรงนั้น

ฉะนั้น ถ้าเราละล้าละลังไง เห็นไหม พิจารณากายแล้วก็ต้องมาพิจารณาขันธ์ ถ้าพิจารณาขันธ์แล้วก็ต้องพิจารณาจิต มันเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม เราพิจารณาทีละชั้นๆ ทีละอย่างๆ เราคิดว่าต้องพิจารณาให้ครบวงจรของมัน อันนี้มันทำให้เราละล้าละลัง สิ่งใดสิ่งหนึ่ง กายก็คือกาย พิจารณากายซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงที่สุดเลย แล้วถ้ามันถึงที่สุดแล้วถ้ามันขาดก็ขาด ถ้าไม่ขาดต้องซ้ำไปเรื่อยๆ ถ้ามันได้ผล ถ้ามันไม่ได้ผลปั๊บเพราะเราละล้าละลังไง พิจารณากายแล้วเราก็จะมาพิจารณาขันธ์ ๔ แล้วพิจารณาขันธ์ ๔ เราต้องแยกจากจิต

อันนี้มันเป็นทางวิชาการเกินไป ถ้าเป็นวิชาการเกินไปมันทำให้เราละล้าละลัง คือเวลาจะชำระกิเลส จะฆ่ากิเลสอยู่แล้วนะ ถ้าพิจารณากายไปเรื่อยๆ จนถึงที่สุด ถ้ากายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ มันแยกออกจากกันมันก็จบ ทีนี้พอพิจารณาไปถึงใกล้ๆ มันจะเป็นไป เออ เราพิจารณากายแล้ว เราก็มาพิจารณาจิต เราปล่อยวางตรงนั้นออกมา กิเลสมันก็ได้พัก มันได้พักฟื้น แล้วมันจะตีกลับมา ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้ชัดเจน แล้วทำให้มั่นคงลงไปตรงนั้น

ฉะนั้น มั่นคงแล้ว ถ้ามันขาดก็คือขาดเลย เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่เวลาทำจริงๆ ขึ้นมาแล้วมันบารมีนะ พิจารณาแล้วพิจารณาเล่ามันละล้าละลัง มันเหนื่อยมาก มันทุกข์มาก อันนี้เราถึงใช้อุบาย ถ้ามันเหนื่อยมาก มันทุกข์มาก พอทำสิ่งใดไปแล้วมันไม่ประสบความสำเร็จ พอไม่ประสบความสำเร็จนะมันละล้าละลัง คำว่าละล้าละลังโดนกิเลสหลอกอย่างหนึ่ง ละล้าละลังโดยที่กำลังของเรามันไม่มี ด้วยสติปัญญาของเรามันไม่พอ ถ้าด้วยกำลังของเรา ด้วยสติปัญญาของเรามันไม่ได้ นี่เราก็พิจารณาอย่างอื่นเทียบเคียง อย่างเช่นมาพิจารณาขันธ์ ๔ มาพิจารณาจิต

การพิจารณามันมีอุบาย มีวิธีการ มีอุบายวิธีการเพราะเรา เวลาเราทำงาน เห็นไหม สิ่งที่เราทำงาน ถ้าไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต มันเป็นวัตถุมันไม่หนีเราไปไหนหรอก งานไม่หนีเราไปไหนหรอก ทำแล้วมันต้องเสร็จ แต่เวลาเราชำระกิเลส กิเลสนี้เป็นนามธรรม นี่กิเลสมันอยู่หลังความคิดเรา ความคิดเรามันยังปลิ้นปล้อน มันยังเจ้าเล่ห์ขนาดนี้ แล้วกิเลสมันอยู่กับความเจ้าเล่ห์ของใจเรา มันอยู่กับความเจ้าเล่ห์ มันอยู่กับความปลิ้นปล้อน แล้วมันควบคุมได้ มันจะปลิ้นปล้อนมากกว่าขนาดไหน? มันจะเจ้าเล่ห์มากขนาดไหน?

ถ้ามันจะเจ้าเล่ห์มากขนาดไหน นี้เวลาเราทำไปโดยเถรตรง เราทำโดยที่ไม่มีอุบายนะ มันก็พลิกแพลงหลอกเราอยู่อย่างนี้ มันพลิกแพลงหลอกเราไปหลอกเรามาไง นี้คนที่ภาวนา เวลาภาวนาไป คนที่ไม่ได้ผล ไม่ได้ผลเพราะตรงนี้ไง เวลาทำไปแล้วเราใช้ปัญญาของเราใช่ไหม? เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าใช่ไหม? พอทำเสร็จแล้วเราก็เทียบเคียงเหมือนเปี๊ยะเลย ทำครบสูตรไง มันเป็นสูตรเลย ทำเป็นสูตรเลย พอจบแล้วก็คือจบไง

กิเลสมันก็สร้างสูตรให้เราทำเลย กิเลสก็ว่านี่กายนะ นี่เวทนานะ นี่จิต นี่ธรรม เราก็พิจารณาตามมันไปเลยแล้วก็จบ แล้วกิเลสมันก็หัวเราะ นั่งหัวเราะเยาะอยู่นั่นล่ะ ไอ้เราก็พิจารณาทำตามสูตร อย่างนี้ ทำเถรตรงอย่างนี้ กิเลสมันก็หัวเราะเยาะ แต่ถ้ามันไม่มีกำลัง กำลังมันไม่พอนะมันทำไปแล้วมันทำไม่ได้ มันทำไปแล้วมันไม่จบ พอไม่จบนะมันเหมือนกับว่า ๕๐-๕๐ จะไปก็ไม่ได้ จะถอยก็ไม่ใช่ จะเดินหน้าก็ไม่ใช่

นี่อย่างนี้ต้องหาอุบาย พอหาอุบาย พิจารณากายใช่ไหมก็เปลี่ยนมาพิจารณาขันธ์ เปลี่ยนมาพิจารณาจิต พอพิจารณาจิต พิจารณาจิตจนมันจืดชืดก็กลับมาพิจารณากาย พอพิจารณากายเต็มที่เข้าไปเลย ขณะที่พิจารณาให้สุดความสามารถ ทำให้เต็มที่ แล้วถ้ามันไปไม่ได้เราก็พลิกกลับมา อันใดอันหนึ่งทำให้มั่นคงไป แล้วถ้ามันสรุปแล้วนะ จะพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลามันสรุปลงมันก็เป็นโสดาบันเหมือนกัน

พิจารณากายเป็นโสดาบัน พิจารณาจิตเป็นโสดาบัน พิจารณาธรรมเป็นโสดาบัน พิจารณาเวทนาก็เป็นโสดาบันเหมือนกัน แล้วถ้าขึ้นไปพิจารณาสกิทาคามิมรรค มันก็เป็นสกิทาคามีเหมือนกัน อันใดอันหนึ่ง เวลามันตอบโจทย์เหมือนกันหมด พิจารณาอันหนึ่งมันรู้ทั้ง ๔ ฉะนั้น อันนี้เอาให้มั่นคงไง ถ้ามันมั่นคงขึ้นมามันก็ทำได้ ถ้ามันไม่มั่นคงมันหลอกเราไง มันหลอกเรานะ ห่วงหน้าพะวงหลัง ถ้าเราทำห่วงหน้าพะวงหลัง เราทำอะไรมันจะไม่ประสบความสำเร็จ

นี้พูดถึงว่าถ้ามันเจออย่างนี้ เขาบอกเขาจะพยายามปฏิบัติให้มันมีกำลังขึ้นมา เพื่อเป็นกำลังไว้รอวันตาย ถ้าเวลาตายมันจะรับได้ ถ้าเวลาตายจะรับได้ แล้วให้เราแนะนำว่าควรทำอย่างใด? เราฝึกหัดไว้นะ ถ้าคำว่าไว้รอวันตาย เวลาหลวงตาท่านพิจารณาเวทนาของท่านนะ นั่งตลอดรุ่งพิจารณาเวทนา พิจารณาเวทนาแล้ว พิจารณาเวทนาเล่า นี่ตั้งแต่ลูกเวทนา พ่อเวทนา ปู่เวทนา เวทนามันเกิดขึ้นมานะ ถ้าเราพิจารณาซ้ำๆ เข้าไป เวลาชั่วโมงมากขึ้น เวลามันมากขึ้น เวลามันเกิดนี่มันเกิดหนักหน่วงขึ้น

ถ้ามันเกิดหนักหน่วงขึ้น คำว่าหนักหน่วงเราต้องใช้ปัญญามากขึ้น ถ้าใช้ปัญญามากขึ้น เราแยกแยะมัน พอมันแยกแยะ เห็นไหม เวทนามันคืออะไร? เวทนามันคือนามธรรม พอมันปล่อยเวทนาปั๊บมันก็ว่างหมด ว่างหมด เวลาเวทนามันขาดนะท่านสรุปของท่านไง

“ถ้าเวลาเราจะตาย มันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราอีกวะ”

เวทนาเราก็ได้พิจารณามันจนสิ้นสุดแล้ว เวลาเราพิจารณาเวทนาตั้งแต่เริ่มต้น เห็นไหม ตั้งแต่หลานมัน ตั้งแต่ลูกมัน ตั้งแต่พ่อมัน ตั้งแต่ปู่มัน พิจารณามาหมดแล้ว ถ้าพิจารณาหมดแล้ว เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ฉะนั้น เวทนาเป็นเวทนา จิตเป็นจิต ถ้าสติปัญญามันทันมันขาดนะ เวลามันขาดแล้ว เวลาเราจะตายมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ

เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยนะ เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็มีความรู้สึก เพราะความรู้สึกนั้นคือเวทนา เจ็บไข้ได้ป่วย เห็นไหม เจ็บปวดต่างๆ มันเป็นเวทนา ถ้าเวทนามันเกิดขึ้น ถ้ามีสติปั๊บจิตมันจับเลย เวทนานี้เราก็ได้พิจารณามาแล้ว เวทนาเป็นเวทนานะ มันไม่โอดโอย มันไม่พิรี้พิไรรำพันไปกับเวทนาไง มันเข้าใจเวทนา แต่บอก ทำไมมันไม่มีเลย มี

จะบอกว่าเวทนาไม่มีเลย ถ้าเวทนาไม่มีก็ไม่มีความรู้สึกสิ มันมีความรู้สึก แต่เราควบคุมความรู้สึกเราได้ เราทันความรู้สึกของเรา เราเข้าใจความรู้สึก แล้วเราวางความรู้สึกนั้นไว้ได้ ความรู้สึกก็คือความรู้สึก เพราะโลกมันมี ชีวิตมันมี ของมันมีใช่ไหม? แต่เรารู้ทันเราก็วางไว้ พอวางไว้ เราวางมันไว้ เราก็คือเรา เวทนาก็คือเวทนา แล้วเวทนาหน้าไหนมันจะมาหลอกเราล่ะ? เวทนาหน้าไหนมันจะมีอำนาจเหนือเรา แต่ถ้าเราเข้าใจมันไม่ได้สิ อยากให้มันหาย พอเวทนาเกิดขึ้นก็ไม่อยากให้มี

คนเรามันชราคร่ำคร่ามันก็มีเป็นธรรมดา เวลาเด็กมันน้อย ดูเด็กๆ สิ เวลามันวิ่ง มันล้มมันสไลด์ไป โอ้โฮ ไอ้เราตกใจนะ กลัวขาหัก มันไม่กลัวหรอก เด็กๆ เวลามันวิ่งมันปล่อยพรืดไปเลย ผู้ใหญ่ล้มก็หักนะ ผู้ใหญ่นี่เดินไม่ดีหกล้มก็กระดูกหักแล้ว นี่สิ่งที่มันเป็นไปทางโลก มันเป็นโลก เวลามันชราคร่ำคร่า เวลาเด็กๆ มันไม่เห็นเป็นไรเลย แต่เวลามันชราคร่ำคร่าแล้วมันก็เป็นแบบนั้นแหละ ถ้ามันเป็นแบบนั้นนะ เรามีสติ มีปัญญาเราเข้าใจได้

มันต้องมี ความรู้สึกมันต้องมี รู้สึกทั้งนั้นแหละ แต่สติมันทันหมด มันทันหมดมันก็วางหมด นั่นล่ะท่านถึงได้พูดว่า “แล้วเวลาจะตายมันจะเอาเวทนาหน้าไหนมาหลอกเราวะ”

ไอ้นี่เขาบอกว่า

ถาม : เขาพยายามจะประพฤติปฏิบัติให้มากขึ้น เผื่อเวลาเจอกับความตายจะได้รับได้

ตอบ : คิดได้อย่างนี้มันก็ดี แต่ถ้าพูดถึงเวลาภาวนาไปแล้วเราจะรู้รอบ ถ้าเรารู้รอบแล้วนะ ไอ้ความคิดได้อย่างนี้คือเราคิดแบบรับ รับนะ เห็นไหม เราเล่นบอลในทางตั้งรับมีเสมอกับแพ้ แต่ถ้าเรารุก เรารุกนะมันมีโอกาสชนะ ถ้ามีโอกาสชนะเราต่อสู้ตลอด เราสู้ เราพิจารณาของเรา พิจารณาเวทนาของเรา พิจารณาสิ่งที่มันกระเทือนหัวใจของเรา ถ้าพิจารณาได้ แยกแยะได้ แล้วถ้ามันมีกำลังกลับมาตรงนี้

นี่สิ่งที่เราไปงานศพ เราไปเห็นซากศพ เราไปเห็นต่างๆ มันเตือนเราตลอดเวลา ฉะนั้น เวลานักปฏิบัติเขาถึงไม่ให้คุ้นชินกับสิ่งใด ให้ตื่นตัวตลอดเวลา เห็นไหม ถ้ามันตื่นตัวตลอดเวลามันจะทำอย่างนี้ จิตใจมันจะได้ภาวนา ถ้ามันไม่ตื่นตัวตลอดเวลานะ เวลากิเลสมันบังเงามากับใจนะ นู่นก็รู้แล้ว นี่ก็รู้แล้ว นู่นก็ได้ทำแล้ว ทุกอย่างก็จบสิ้นแล้ว จบสิ้นแล้วเป็นอย่างไรต่อไปล่ะ? ซื่อบื้ออยู่อย่างนี้ เพราะมันรู้ไม่จริง มันรู้ไม่จริง ถ้ามันรู้จริงมันขาดไปแล้วนะ มันไม่ใช่รู้แล้วนะ มันไม่มี มันปล่อยหมดแล้ว นู่น เอ็งอยู่ถึงนู่น จิตอยู่นี่ คนละฝั่ง

หลวงตาท่านบอก เห็นไหม เวลาข้ามแม่น้ำไง นี่ฝั่งของสมมุติกับฝั่งของวิมุตติ ถ้าเราอยู่ฝั่งนี้เราก็รับรู้ของเราอยู่อย่างนี้ รับรู้ของเราอย่างนี้ ถ้าเราข้ามฝั่งไปทางนู้นแล้วนะอยู่คนละฝั่งเลย แม่น้ำมันกั้นกลางอยู่ มันเข้าหากันไม่ได้หรอก มันไม่ใช่ว่านู่นก็รู้แล้ว นี่ก็รู้แล้ว ถ้ายังรู้แล้วๆ อยู่ เราก็ยังพูดอยู่ไง เราก็อยู่ฝั่งเดียวกันนี่แหละ เราก็อยู่กับมันนี่แหละ ก็อยู่ข้างเคียงกันอยู่นี่ อยู่ในตัวเรานี่แหละ แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา เราข้ามไปอยู่ฝั่งนู้นซะ ฝั่งนี้เป็นฝั่งของเวทนา ฝั่งนี้เป็นฝั่งของกาย เวทนา จิต ธรรม ฝั่งนี้เป็นฝั่งของกิเลส ฝั่งนู้นเป็นฝั่งของวิมุตติ จบ มันคนละฝั่งกัน เข้าไม่ถึงกันหรอก ถ้าเข้าไม่ถึงกัน อันนั้นถึงจะเป็นความจริง ถ้าอันนั้นเป็นความจริง

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันไม่ใช่รับรู้ รับรู้ไว้เป็นอย่างนั้นๆ แต่เริ่มต้นปฏิบัติมันก็ต้องเป็นแบบนั้นแหละ คำว่าเป็นแบบนั้นหมายความว่า เราเกิดในสมมุติ เราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราก็อยู่ฝั่งนี้ด้วยกันทั้งหมด อยู่ฝั่งสมมุติทั้งหมด ทีนี้อยู่ที่ฝั่งสมมุติเราจะเอาอะไรทำล่ะ? เราก็จะเอาสถานะของความสมมุติที่ฝั่งของเรา สถานะของเรา สรรพสิ่งของเรานี้เพื่อพิจารณา เห็นไหม มันก็เกิดจากสมมุตินี่แหละ เกิดจากความเป็นไปของเรานี่แหละ เกิดจากความรู้สึกนี่แหละ แล้วเราประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราประพฤติปฏิบัติเราก็อยู่ฝั่งนี้ ฝั่งนี้เราก็มีการศึกษา เราก็เล่าเรียนกันไปมันก็อยู่ฝั่งนี้ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติไป พอลงน้ำไปก็ไม่กล้าลง จะทำสมาธิก็ไม่ได้ จะทำสิ่งใดก็ไม่ได้

เราลงน้ำไป โคนำฝูงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพาฝูงโคนี้ข้ามฝั่งไปอยู่ฝั่งนู้นแล้ว ข้ามฝั่งสมมุติไปสู่ฝั่งวิมุตติ แล้วของเรานี่ เราจะข้ามฝั่งสมมุติไปสู่ฝั่งวิมุตติเราปฏิบัติอย่างใด? ถ้าปฏิบัติของเราตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงนะ ตามความเป็นจริงมันจะเกิดปัจจัตตัง เกิดความรู้สึกที่สะเทือนตามความเป็นจริง มันไม่เกิดอย่างที่เขาคิด เขาคาด เขาหมายกัน เขาคิด เขาคาด เขาหมายนั่นเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าไปงานศพแล้วมันเจอเหตุการณ์แบบนี้ นี่เราจะย้อนกลับมาเป็นการยืนยันว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้เป็นแบบนี้ ให้พระไปชักผ้าบังสุกุลก็จะให้ไปดูซากศพอย่างนี้แหละ นี่เวลาเอาศพเวียนรอบเมรุ ๓ รอบ กามภพ รูปภพ อรูปภพ จิตมันจะเวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะนี้ตลอดไป เตือนคนเป็นๆ นี่แหละ เตือนคนเดินตามศพนั่นแหละให้ได้คิด ถ้าได้คิดแล้วนะ ชีวิตนี้มันจะฝักใฝ่ในธรรมะ

ไม่ใช่ชีวิตนี้เราจะแสวงหากันอยู่แต่เรื่องปัจจัยเครื่องอาศัยอยู่นี่ เราไม่ได้คิดถึงว่าจิตใจเรามันก็เรียกร้องความช่วยเหลือจากเรา จิตใจนี้มันต้องการที่พึ่งอาศัย แต่นี้เราก็ทำแต่หน้าที่การงาน ก็หาเงินมาเพื่อดำรงชีวิตไง แต่เราไม่หาธรรมมาเพื่อหัวใจมันจะได้ข้ามสู่ฝั่งนู้นบ้างไง ประเพณีวัฒนธรรมก็เพื่อเตือนเรามาทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามันคุ้นชิน เป็นชาวพุทธแล้วมันก็เป็นเรื่องของตลาด เรื่องของโลกไปหมดเลย ฉะนั้น เวลาคนมีศักยภาพ มีศักยภาพหมายถึงว่าคนมีหลักมีเกณฑ์ พอไปงานศพแล้วมันได้ประโยชน์มาแบบนี้ไง เอวัง