ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ต้องรู้เอง

๒๒ ก.ค. ๒๕๕๕

 

ต้องรู้เอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๐๐๐. ข้อ ๑๐๐๑. เนาะไม่มี

ข้อ ๑๐๐๒. เรื่อง “กราบขอบพระคุณ” มีแต่กราบขอบพระคุณตอนนี้

ถาม : กราบขอบพระคุณด้วยความเมตตาเจ้าค่ะ กราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่ง โยมมักจะคิดทบทวนถึงชีวิตของตนเองเสมอ และเข้าใจได้ว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ เมื่อเกิดขึ้นกับเราไม่มีเหตุบังเอิญ อยู่ที่เราจะรับรู้หรือเห็นเหตุนั้นได้หรือไม่? อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เรามีความรู้สึก มีความคิดที่จะพูดหรือทำสิ่งนั้นๆ หากทุกอย่างรู้ได้ที่ใจ แล้วใจเราเป็นอย่างไร? ถ้าเรารู้ เราเห็นใจของเรา อะไรเป็นเหตุให้เราเลือกที่จะแก้ไข หรือเลือกที่จะไม่แก้ไขใจนั้น

จริงๆ แล้วความคิดเช่นนี้คนอื่นอาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับโยมแล้วถ้าไม่มีธรรมของพระพุทธเจ้า เราจะหาคำตอบให้ตัวเองได้อย่างไร? กราบขอบพระคุณอย่างสูงเจ้าค่ะ (เขาว่าอย่างนั้นนะ)

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่คำถาม นี่เขาบอกคำถามนี้เป็นคำถามที่จะไม่เป็นคำถามเลย เพราะว่าตัวเองไม่ได้สงสัยสิ่งใด เพียงแต่เห็นคุณค่าไง เห็นคุณค่า เห็นสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีของสิ่งใดที่เป็นของบังเอิญ มันมีเหตุ มีปัจจัย แต่ถ้าคนที่ใจเขาไม่เป็นธรรมนะ สิ่งใดที่เกิดขึ้น ไม่มีเหตุบังเอิญหมายถึงว่ามันเกิดขึ้นตามสัจจะ เป็นข้อเท็จจริง แต่เรารู้ เราเห็น ไม่ใช่เหตุบังเอิญ มันต้องเกิดขึ้นเป็นแบบนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นเป็นแบบนั้น มีสติ มีปัญญามันก็แบบว่าไม่หลงไป ไม่หลงไปมันก็วางสิ่งนั้นได้ แต่ถ้ามันไม่มีสติปัญญานะ เหตุใดเกิดขึ้นมันก็แบบว่าทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมเป็นอย่างนี้? ทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมไม่เป็นอย่างที่เราพอใจ?

ถ้าไม่เป็นอย่างที่เราพอใจ นี่ไงตัณหาความทะยานอยาก กิเลส สมุทัยมันบังไว้ แต่ถ้าเราศึกษาธรรมะ เพราะเขาบอกว่าถ้าไม่มีธรรมะของพระพุทธเจ้า สิ่งนี้เขาก็ไม่มีสติปัญญาเท่าทัน ถ้ามีสติปัญญาเท่าทัน มันก็ทัน ก็จบไง ถ้ามันจบนะ มันจบหมายความว่าใจเรามีหลัก แต่ถ้าใจเราไม่มีหลักมันไม่จบหรอก มันไม่จบเพราะมันโทษไปเรื่อยไง มันจะโทษไปเรื่อย หาผู้รับผิดไปเรื่อย แล้วหาผู้รับผิดมันหาไม่เจอ พอหาไม่เจอมันก็มาหงุดหงิด หงุดหงิดว่าทำไมเป็นแบบนี้? ทำไมเป็นแบบนี้? แต่ถ้ามีปัญญาปั๊บมันไม่มีเหตุบังเอิญหรอก มันมีที่มาที่ไป ถ้ามีที่มาที่ไป เรามีสติปัญญาทันมันก็เป็นธรรมไง ถ้าเป็นธรรมมันก็เป็นเรื่องที่ว่ามีสติปัญญา

ทีนี้บอกว่าคนอื่นเขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราไม่เห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดาไง กิเลสมันหลอก เป็นเรื่องธรรมดา นี่ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ทุกอย่างเป็นธรรมดา ธรรมดาแล้วทำไมทุกข์ล่ะ? ธรรมดาทำไมทุกข์ แต่บอกว่ามันไม่ทุกข์ มันเป็นธรรมดาเราปล่อยวางได้ ปล่อยวางได้ นี่กิเลสมันหลอกให้ปล่อยวาง มันไม่ใช่ปล่อยวางตามความเป็นจริงหรอก กิเลสมันหลอกให้ปล่อยวางไง

มันเป็นธรรมดา มันเป็นธรรมดา ธรรมดาก็เหมือนโจรปล้นมาไง โจรมันปล้นมาแล้วนะ มันบอกว่าให้อภัยต่อกันเป็นธรรมดา จบกันไปได้ไหม? นี่เขาลักของมา พอลักของมา ใครจับได้บอกว่า เออ มันเป็นเรื่องธรรมดาให้แล้วกันไป มันเป็นอย่างนั้นไหม? ไม่เป็น ไม่เป็น เพราะอะไร? เพราะความผิดมันสมบูรณ์แล้ว พอความผิดมันสมบูรณ์แล้วมันก็ต้องหาเหตุ หาผลว่าใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนถูก นี่มันต้องมีที่มาที่ไป พอมีที่มาที่ไป แต่คนที่มันหยาบ พอคนที่มันหยาบมันก็เห็นเป็นเรื่องธรรมดาไปหมด สิ่งใดก็ซุกไว้ใต้พรมไง นี่ปฏิเสธไว้ก่อน ปฏิเสธไว้ก่อนไม่รับรู้ แล้วให้มันไม่มีกับเรา

นี่เป็นความคิดนะ แต่ถ้าเป็นกรรมมันไม่หรอก กรรมมันมีของมัน กรรมมันให้ผลแน่นอน กรรมคือการกระทำ เมื่อได้กระทำแล้ว ผลมันเกิดแล้วล่ะ ผลมันเกิดขึ้นมาแล้ว เพียงแต่ว่าเกิดดีหรือเกิดชั่ว ถ้าเกิดดี เกิดดีมันก็เป็นแบบนี้ เกิดดีมันก็ละเอียดขึ้น พอเราละเอียดขึ้นเราก็รู้ขึ้น เราก็ชัดเจนขึ้น เรารอบคอบขึ้น คำว่ารอบคอบขึ้นนะมีหยาบ ละเอียด ถ้าจิตมันหยาบ มันหยาบมันก็ไม่รู้สิ่งใดเลย แล้วก็นี่อวดรู้ธรรมะด้วยนะ สิ่งนั้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นเป็นธรรมชาติ

สิ่งที่เป็นธรรมชาติมันก็เหมือนกับสมบัติของคนอื่นไง สมบัติของคนอื่นเราเห็นแล้วก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่เวลาเป็นของเราล่ะ? ถ้าของเรามันสูญหายไปล่ะ? ของเรามีคนมาฉ้อโกงไปล่ะ? มันธรรมดาไหมล่ะ? มันไม่ธรรมดาหรอก มันไม่ธรรมดาเพราะมันมีได้ มีเสีย จิตใจก็เหมือนกัน นี่พอเวลากิเลสมันหลอกนะ นั่นก็เป็นธรรมดา นั่นก็เป็นเรื่องที่เราไปยึดติดเอง แต่ถ้ามันมีปัญญานะมันมีเหตุ มีผล มันเกิดขึ้นมาจากใจ มันเป็นอย่างใด? ฉะนั้น ถึงบอกว่าเหตุที่มันไม่เป็นเรื่องบังเอิญ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าจิตใจเราดีขึ้น แบบว่าเราไม่ต้องเอาโลกมาเป็นบรรทัดฐาน เพราะโลกเขาเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เป็นของเล็กน้อย แต่เราเห็นไม่เป็นของเล็กน้อย เพราะ เพราะเวลาคนภาวนาไปนะ หยาบๆ นี่เรายังล้มลุกคลุกคลานเลย ถ้าเป็นวัตถุ เรารู้ เราเห็น เราจับต้องได้ แต่พอเป็นนามธรรมเราหาไม่ได้เลย เวลามันทุกข์นี่มันทุกข์ แล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ? หาไม่เจอ หาก็หาไม่เจอ แต่มันทุกข์นะ มันทุกข์ แล้วแก้กันอย่างไร? แก้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องศาสนาแก้ได้

ถ้าศาสนา เห็นไหม นี่มีสติ พอมีสติยับยั้งความคิดไว้ ถ้าความคิดมันก็ยับยั้งของมันไว้ ยับยั้งไว้ ถ้ามันเกิดทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบแล้ว นี่สงบแล้วหาเหตุ หาผล หาโทษ หาคุณ ถ้าสิ่งใดเป็นคุณ คุณคือสติ คือปัญญา นี่สิ่งนี้เป็นคุณ โทษ โทษคือความพลั้งเผลอ โทษคือความไม่เอาไหน โทษคือสิ่งที่ปฏิเสธ สิ่งที่มักง่าย มันไม่ละเอียดรอบคอบ แต่ถ้าเป็นคุณ เป็นคุณมันมีความรอบคอบ มันมีความขยันหมั่นเพียรของมัน

ถ้าความขยันหมั่นเพียร หมั่นเพียรที่ไหน? หมั่นเพียรที่ใจมันไม่นอนจมอยู่กับกิเลสไง นั่งอยู่เฉยๆ นะ นั่งอยู่เฉยๆ แต่ปัญญามันหมุนติ้วๆ อยู่ภายใน นี่ละเอียดรอบคอบอยู่ภายใน กิริยาก็นั่งอยู่ นั่งสมาธิก็นั่งสมาธิอยู่นี่แหละ แต่ปัญญามันหมุนของมัน มันเป็นไปของมัน ถ้ามันเป็นไปของมัน เห็นไหม ใครทำสิ่งใดได้ประโยชน์สิ่งนั้น ทำตรงกับจริตนิสัย อันนั้นเป็นประโยชน์

ฉะนั้น คำถามนี้ คำถามครั้งที่แล้วที่บอกว่าหลวงพ่อให้พิจารณากายๆ นี่คำถามนั้นมันเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะเรา เหมือนกับว่าถ้าใครเคารพใคร แล้วถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็นคนบอก ลูกศิษย์ก็พยายามจะทำตาม พอทำตาม จริตนิสัยมันตรงหรือไม่ตรงไง คำถามที่แล้วมันเป็นประเด็นตรงนี้ไง ตรงที่ว่าหลวงพ่อให้พิจารณากาย แล้วเราจะลองพิจารณากายดู นี่ไม่ต้อง ไม่ต้อง ถ้ามันพิจารณาจิต พิจารณาธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่มีเหตุบังเอิญหรอก มันต้องมีที่มาสิ แม้แต่จิตนี้มาจากไหน เดี๋ยวเวลาภาวนาสูงๆ ขึ้นไปนะมันจะหาเลยล่ะ

จิตนี้มาจากไหน? ความรู้สึกนึกคิดมันมาจากไหน? มันต้องมีเหตุมีผล มันต้องหาให้เจอ ถ้าหาไม่เจอนะมันก็สงสัยไปเรื่อยล่ะ ถ้าหาเจอก็เจอกิเลส ถ้าหาไม่เจอนะ ว่างๆ ว่างๆ นี่ไม่มีเหตุมีผลอย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันหาเจอนะ พอไปๆๆ มันจะหลอกไปเรื่อย ถ้ากิเลสมันละเอียดเข้าไปมันจะหลอกไปเรื่อย มันจะหาข้อโต้แย้งมา โต้แย้งมานะ สิ่งนี้เป็นธรรมๆ เออ ใช่ พอใช่ก็อยู่ที่นั่นแหละ แต่ถ้าไม่ใช่นะ ถ้าไม่ใช่มันมาจากไหน? มันมาอย่างใด? พอมันมาอย่างใด เห็นไหม ขุดคุ้ย พอขุดคุ้ยเดี๋ยวกิเลสมันก็โผล่หน้ามา พอโผล่หน้ามานะ อ๋อ นี่ไง

พอนี่ไงนะ พอนี่ไงหมายความว่าใครเจอสิ่งใด นั่นล่ะคือประเด็นของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นที่ได้สร้างสมบุญญาธิการมา ใจดวงนั้นได้มีสิ่งใดตกผลึกในใจมา พอมันเกิดสมาธิ มันเกิดปัญญามันแยกแยะเข้าไปมันจะไปเจอ ไปเจอโจทย์ของตัวเอง ไปเจอกิเลสของตัวเอง นี่บางคนพิจารณากาย บางคนพิจารณาจิต บางคนพิจารณาเวทนา บางคนพิจารณาธรรม

นี่พิจารณาเพราะอะไร? เพราะโทสจริต โมหะจริต โลภะจริต จริตของคนมันแตกต่างกัน ถ้าจริตของคนแตกต่างกัน เวลาเชื้อก็แตกต่างกัน ที่มาก็แตกต่างกัน ถ้าแตกต่างกัน แต่มันเป็นสติปัญญาของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นใจดวงที่เป็นนั่นแหละ ใจดวงที่ปฏิบัติ สติปัญญาของใจดวงนั้นจะเข้าไปรื้อค้น จะเข้าไปเห็นโจทย์ของตัวเอง จะเข้าไปเห็นกิเลสของตัวเอง ใจดวงนั้นแหละ ใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติ ใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติมันจะรู้จะเห็นของมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ถ้าเราพิจารณาของเรา พิจารณาธรรมเขาเรียกธรรมารมณ์ สภาวธรรม สิ่งที่มันเกิดขึ้น สิ่งที่มันดับไป สิ่งที่มันเป็นไป ถ้ามันตรงกับจริตเรานะทำตามอย่างนี้ไป ถ้าทำอย่างนี้ไปให้ละเอียดรอบคอบไปเรื่อยๆ ถ้าละเอียดรอบคอบไป ถ้าขยะมันยังมีหลงเหลืออยู่ ถ้าเอาไฟมาจุด ถ้าไฟมันจุดติด ปัญญามันจุดติดแล้วมันจะเผาไหม้ของมันไปเรื่อยๆ ถ้ามันเผาไหม้ของมันไป เห็นไหม ถ้าเป็นไฟ ไฟนี่มันเป็นไฟมันไม่มีชีวิต มันก็เผาไปจนกว่าเชื้อจะหมด มันก็เผาของมันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นตบะธรรม ตบะธรรมเวลามันเผาไปนะ

นี่กิเลส ขยะมันไม่มีชีวิตใช่ไหม? ถ้ามันมีสสาร มีสิ่งใดมันก็เผาของมันไปนั่นแหละ แต่ถ้ามันเป็นใจนะ มันเป็นความรู้สึก เวลาปัญญามันหมุนไปมันมีชีวิตไง กิเลสมันมีความรู้สึกไง กิเลสถ้ามันสู้ไม่ได้มันก็หลบ เล่ห์กลของมัน เออ อันนี้เป็นธรรม เออ ปล่อยวางแล้วไม่มีฉัน ฉันหลบไป นี่มันก็ว่างหมดนะ พอว่างหมด เห็นไหม เอ๊ะ กิเลสทำไมมันหายตัวไปได้ล่ะ? ขยะทำไมมันหายตัวไปได้ล่ะ? แล้วพอขยะมันหาย หายไปแล้วก็นึกว่ามันไม่มีนะ เดี๋ยวมันก็มาอีก

นี่ถ้ามันเป็นกิเลสมันเป็นแบบนั้น มันเป็นแบบนั้นนะ มันเผาจนหมดเลย เอ๊ะ เดี๋ยวเกิดอีกแล้ว แต่ถ้าขยะมันเผาหมดแล้วมันหมดนะ แต่ถ้าเป็นกิเลส ตทังคปหานไม่จบ นี่พอเผาไปแล้วว่างหมดขนาดไหนนะ พยายามสังเกต พยายามขุดคุ้ย พยายามหาของเราไป ทำของเราไปเรื่อยๆ พอมันไปรู้ ไปเห็นเข้านะ เพราะมันปล่อยวางไปแล้ว ขยะมันหมดไปแล้ว แล้วนี่อะไร? ไอ้ที่มันค้ำคออยู่นี่อะไร? ตอความรู้สึกนี่อะไร? พอนี่อะไรมันก็จับพิจารณาของมันไปเรื่อย แยกแยะไปเรื่อยๆ

ครั้งที่แล้วเราแยกแยะไปด้วยอุบายวิธีการอย่างนี้ ด้วยปัญญาแบบนี้ ถ้าครั้งต่อไป อุบายวิธีการแบบนี้ ครั้งที่แล้วกิเลสมันพ่ายแพ้ไปแบบนี้ มันรู้ทันแล้ว นี่คราวนี้ปัญญาต้องเป็นปัญญาสดๆ ร้อนๆ ของใหม่ๆ ของใหม่ๆ จะวิธีการอย่างไรก็แล้วแต่พลิกนะ ของใหม่ๆ อาจจะเป็นของเก่าตั้งแต่ครั้งก่อนนู้นๆ นู้นๆ แต่ว่าในปัจจุบันนี้มันใหม่เอี่ยมเลย เพราะกิเลสมันคิดไม่ทันว่าเราจะคิดเรื่องอย่างนี้

ดูสิเวลานักกีฬา เกมของเขา เขาวางเทคนิคของเขา นี่คราวนี้เขาเล่นอย่างนี้ คราวหน้าเขาเล่นอย่างนั้น พลิกไปพลิกมา พลิกมาพลิกไป ถ้าเขาตามกันไป เขาแก้เกมกันไปตลอด กิเลสกับธรรมมันก็จะอยู่ในหัวใจ มันจะพลิกแพลงกันไปอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าเราใช้เกมเดิมๆ ใช้สูตรสำเร็จสูตรนี้ เขาจับทางได้นะ พอกิเลสมันจับทางได้ นี่ภาวนาไม่ก้าวหน้าหรอก มันติดขัดไปหมดเลย เพราะกิเลสมันจับทางได้ กิเลสมันรู้เลยนะ โอ๋ย เกมอย่างนี้นะมันต้องเล่นอย่างนี้ มันต้องส่งอย่างนี้ เขาดักทางนะ เขาแก้เกมได้ เขาทำลายเกมได้หมดเลย

นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาที่มันเป็นสูตรสำเร็จทำอยู่อย่างนี้ๆ โอ้โฮ กิเลสมันหัวเราะเยาะนะ จะบอกว่า อืม นักภาวนาทำไมมันไม่มีสติปัญญาเลยเนาะ มันใช้แต่ของเดิมๆ มา นี่กิเลสมันรู้ทัน เห็นไหม กิเลสมันมีชีวิต กิเลสมันก็อยู่จิตใต้สำนึกของเรา ธรรมะก็เกิดขึ้นจากจิตของเรา จิตของเราฝึกหัด เกิดสติ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา มันก็เกิดจากการฝึกหัด การฝึกฝนของเรา

กิเลสมันก็อยู่จิตใต้สำนึกนี่แหละ มันก็อยู่กับเรานี่แหละ นี้มันแบ่งแยกไง กุศล อกุศล ดีและชั่ว นี่เป็นธรรมะก็เป็นอธรรม เป็นธรรมะคือมีสติ มีปัญญาปล่อยวางหมดเลย เป็นอธรรมนะมันก็อธรรม อกุศล มันก็เกิดขึ้นจากใจนี่แหละ พอเกิดขึ้นจากใจนะ นี่มันก็เกิดขึ้น มันก็มีขึ้น แต่มันเป็นมิจฉา เป็นธรรมฝ่ายดำ นี่ถ้ามีสติปัญญามันจะสู้กัน สู้กันหมายถึงว่าถ้ากำลังของปัญญาดี กำลังของสมาธิดีมันแยกแยะของมัน มันจับให้มั่นคั้นให้ตาย แล้วเอาสิ่งนี้มาตีแผ่ ตีแผ่แล้วจับได้

ทีนี้การใช้ปัญญา ใช้ปัญญาใช้อย่างไร? ใช้ปัญญา เห็นไหม นี่สมาธิจับไว้ ปัญญามันถอด มันถอน มันเลาะของมัน สมาธิจับไว้ถ้ามีสมาธิ มีสติ สมาธิจับ ถ้าไม่มีสติ สมาธิเราจะไปจับที่ไหน? นี่มันก็เป็นเราหมดเลย สรรพสิ่งเป็นเราหมดเลย ทั้งโจทย์ ทั้งจำเลย ทั้งดี ทั้งชั่วมันเป็นอันเดียวกันไปหมดเลย เพราะมันเกิดจากที่เดียวกัน มันเกิดจากจิตนั่นล่ะ มันเกิดจากจิต มันเกิดจากที่เดียวกัน ถ้าเกิดจากที่เดียวกัน แต่ถ้ามีสติ พอเรามีสตินะ มีสติ มีสมาธิ มีสตินี่ร่มเย็นเป็นสุข แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา

เออ วันนี้ทำไมชีวิตมันราบรื่น ทำไมชีวิตมันปลอดโปร่ง แต่วันไหนเป็นอกุศลขึ้นมานะ ก็ความคิดอันนั้นแหละ สติมันก็ต้องมีพอสมควร แต่ไม่เป็นสติที่เป็นมหาสติที่มันจะควบคุมได้ ถ้าไม่มีสติเราจะรู้หรือว่าเราคิดอะไร? แต่สตินี้กิเลสมันเอาไปใช้หมดเลย กิเลสเอาไปคิดของมัน เอาไปอย่างของมัน เวลาคิดขึ้นมานะ วันนี้ชีวิตมันน่าเศร้าหมอง ชีวิตมันอับจน อู๋ย มันทุกข์ไปหมดเลย นี่อกุศล มันก็เกิดจากจิตนั่นล่ะ ถ้าเรามีสติปัญญามันจะฝึกฝน ฝึกฝนของมัน แก้ไขของมัน ทำของมันระหว่างกุศล อกุศลในใจ

เราฝึกฝน เราทำของเรานะ นักปฏิบัติเขาจะปฏิบัติอย่างนี้ แล้วมีครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะคอยบอกไปเรื่อยๆ คอยบอกไปเรื่อยๆ หมายความว่าไม่ให้หยุดอยู่กับที่ รถตั้งแต่จุดสตาร์ทมันต้องไปถึงปลายทาง ไปถึงครึ่งทาง ไปถึงกึ่งกลางแล้วก็ไปจอดอยู่นั่นแหละ จอดอยู่นั่นเพราะอะไร? เพราะเรามีรถมาเราก็ภูมิใจใช่ไหม? คนเขาเดินมาเขาเดินมาไม่ถึงเราหรอก เรามีรถมา เราขับล่วงหน้าเขามาตั้งไกล เสร็จแล้วเราก็มีความภูมิใจ เรามาได้ เราเป็นไปได้ แล้วก็ไปจอดแช่อยู่อย่างนั้นแหละ เพราะอะไร? เพราะเราไม่รู้ว่านี่คือกลางทาง แล้วเป้าหมายหรือปลายทางอยู่ไหนล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไปแล้วมันปล่อย มันรู้ มันเห็น มันเข้าใจ มันเริ่มต้นขยับตัวนะ นี่หญ้าปากคอก เวลาเราประพฤติปฏิบัติกันใหม่ๆ เหมือนหญ้าปากคอก ทำอะไรล้มลุกคลุกคลานไปหมดเลย ทำอะไรก็มีแต่ความผิดพลาดไปหมดเลย นี่หญ้าปากคอก แล้วถ้าพอมันสงบร่มเย็นเข้ามาทีหนึ่งก็ แหม แปลกประหลาด มหัศจรรย์ ดีอกดีใจไปหมดเลย นี่หญ้าปากคอก หญ้าปากคอกหมายถึงว่าหญ้าปากคอก เห็นไหม นี่วัวมันจะกินมันก็กินไม่ค่อยได้ เวลากินแล้วมันก็ไม่สะดวกของมัน แต่เวลามันเคี้ยวกินได้ อืม มันก็มีรสชาตินะ มันก็อร่อย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัตินี่หญ้าปากคอกไง พอมันมีปฏิกิริยาบ้าง มันสงบบ้าง มันหญ้าปากคอก เห็นไหม จุดเริ่มต้นมันยังไม่ได้ขึ้นรถ มันยังไม่ได้พัฒนาให้รถมันวิ่งออกไปเลย ถ้าวิ่งออกไปนะ พอวิ่งออกไปนี่มันพิจารณาใช้ปัญญาแล้ว มันใช้ปัญญาของมัน เวลาใช้ปัญญาแยกแยะขนาดไหนก็แล้วแต่ มันปล่อยวางนี่ตทังคปหาน ตทังคปหานคือว่าฝึกหัด ฝึกฝนไง

ดูสินักกีฬาที่เขาเล่นกัน เขาจะเล่นแล้วเขาจะแบบว่าเป็นมืออาชีพ เป็นอะไรนี่มันยังเป็นไปไม่ได้ มันต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ ชั่วโมงบินยังไม่มี พอชั่วโมงบินมีขึ้นมา เห็นไหม ชั่วโมงบินคืออะไร? คือการกระทำที่มันพิจารณาของมันซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ชั่วโมงบินของมัน คือมันฝึกหัดของมัน มันชำนาญของมัน มันจะปล่อยวาง นักกีฬาเขาก็เล่นขึ้นมา เขาก็แข่งขึ้นมาตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งแต่พอเข้าถึงสมัครเล่นไปอาชีพ ไปต่างๆ มันพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกว่าประสบความสำเร็จได้รางวัล

นี่ก็เหมือนกัน เวลานักกีฬาที่มันแข่งครั้งแรกมันก็ได้รางวัลแต่ละรางวัล รางวัลสมัครเล่นเขาก็ได้ของเล็กน้อย ได้ถ้วยรางวัล ได้ความปลอบใจ ได้แต่ความชื่นชม พอนักกีฬาอาชีพเขาก็ได้รางวัลมากขึ้น เพราะสิ่งนี้เป็นอาชีพ พอเป็นอาชีพแล้ว แต่ถ้าเขาได้แชมป์ของเขาล่ะ? เขาจะได้รางวัลโบนัสของเขาอีกต่างหาก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไป นี่ครูบาอาจารย์มีหน้าที่อย่างนี้ มีหน้าที่อย่าให้ผู้ปฏิบัติหยุดอยู่กับที่ ผู้ที่ปฏิบัติจะต้องขวนขวาย พยายามของตัวมากขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าอยู่กับที่นะ ทางธุรกิจถ้าคนอยู่กับที่เท่ากับถอยหลัง เพราะว่าคู่แข่งขันเขาจะพัฒนาของเขาขึ้นไปเรื่อยๆ เขาจะวิจัยของเขา เขาจะทำตลาดของเขาเจริญก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ถ้าเราหยุดอยู่กับที่หมายถึงว่าเราแพ้ตัวเองแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ เห็นไหม เวลาปฏิบัติไป พอเรารู้เราเห็นสิ่งใด ยังอีกไกลนะ ค่อยๆ ทำไป ค่อยๆ ทำไป ถ้าบอกว่ามันอีกไกล มันก็เหมือนกับว่าทุกคนไม่มีกำลังใจ เวลาปฏิบัติทุกคนต้องการกำลังใจนะ เวลาปฏิบัติทุกคนต้องการกำลังใจ แล้วปฏิบัติแล้ว ได้ผลหรือไม่ได้ผลพยายามของเรา ทำของเรา ให้ได้ผลของเรา ถ้ามันได้ผลของมันขึ้นมา นี่มันได้ผลของมันขึ้นมา

เราเป็นนักกีฬาก็ว่าสิ่งนั้นประสบความสำเร็จ แต่โค้ชที่เขาดูอยู่เขารู้เลยว่ามันยังขาดตกบกพร่องอย่างใด ผู้ที่เขาฝึกสอนเขาจะรู้เลยว่ามันบกพร่องอย่างใด แล้วประสบการณ์ของเขาใช่ไหม? เพราะเขาเคยคุมทีมมา คู่ต่อสู้เขาอ่านเกมออกหมด ถ้าคู่ต่อสู้อ่านเกมออกหมด ถ้าเขาแก้เกมอย่างนี้มันจะจบอย่างนี้

นี่พูดถึงกิเลสไง ถ้ากิเลสครั้งแรกพิจารณาไปแล้วมันปล่อย เห็นไหม มันปล่อย ครั้งต่อๆ ไป ครั้งต่อๆ ไปนะ กิเลสมันรู้ทัน แล้วมันรู้ทันมันเอาคืนด้วย มันเอาคืนมันทำให้ปฏิบัติได้ยากขึ้น แล้วปฏิบัติไปนี่ล้มลุกคลุกคลาน แล้วพอปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลานนะ ถ้ามันน้อยเนื้อต่ำใจนะมันหยุดเลย ถ้าหยุดเลยนะมันหมดโอกาสเลย

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์จะคอยกระตุ้น คอยกระตุ้น คอยบอก ฉะนั้น จะบอกว่าเริ่มต้น เห็นไหม อย่างเด็กๆ จะบอกว่าดูสิเริ่มต้นชีวิตของเขา เขามีการศึกษา ขนาดไปโรงเรียน ในโรงเรียนนั้นมันยังมีปัญหา แล้วพอเขาโตขึ้นมาแล้วนะ ออกมาแล้วเขายังต้องสมัครงาน ยังต้องทำงาน เขาจะมีครอบครัวของเขา เขาจะมีสังคมของเขา เขายังมีปัญหาของเขาไปอีกไกลมากเลย

ฉะนั้น ในการปฏิบัติก็เหมือนกัน เริ่มต้นของเรา เวลาปฏิบัติไป ดูสิโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี มันยังไปอีกไกลมาก ทีนี้พอไปอีกไกลมากนะ เราปฏิบัติกันเราก็ถอยหลังเลย โอ๋ย ทำไมปฏิบัติมันยากขนาดนี้? เราก็ทำบุญเฉยๆ ดีกว่า นี่ถ้าพูดไปก่อนนะคนมันก็จะไม่เอา แต่ถ้าคนมันจะเอานะ เอาหมายความว่าปฏิบัติแล้วมันต้องได้ตามความเป็นจริงไง ถ้ามันได้จริงแค่ไหนก็จริงแค่นั้น คนทำความสงบของใจได้มันก็ได้ผลของความสงบนั้น

แต่ถ้าคนมันเริ่มใช้ปัญญา ขั้นของสมาธิ ขั้นของปัญญา แล้วถ้าปัญญา เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาก็แตกต่างหลากหลายขึ้นไป แล้วหลากหลายขึ้นไป มันพิจารณาไป ครูมวย ครูมวยสอนลูกศิษย์นะเขาต้องรู้สิ เพราะเขาเป็นครูมวย เขาผ่านชีวิตอย่างนี้มาแล้ว แต่ลูกศิษย์ที่เป็นนักมวย เห็นไหม ทำอะไรมันผิดไปหมดเลย ทำไมครูมวยอะไรก็ผิดไปหมดเลย อ้าว เวลาไปเจอคู่ต่อสู้นะ น็อคนะ โดนน็อคเลยล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาไปเจอกิเลสนะ เวลากิเลสมันหลอก เรานี่ล้มลุกคลุกคลานเลย แต่เวลาครูบาอาจารย์พูด แหม แหมทุกทีเลยนะ ทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมเป็นอย่างนั้น? ทำไมทำอะไรไม่ถูกสักอย่างเลย? ความถูกมันก็มีหยาบ มีละเอียดนะ แล้วถ้าละเอียดขึ้นไปเป็นขั้นๆ ขึ้นไปจะเป็นอย่างนั้น นี่พูดถึงว่า “กราบขอบพระคุณ” ไง แล้วพูดถึงว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่มีบังเอิญเลย

เราเห็นด้วยนะ เห็นด้วยหมายความว่าถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วได้ผลนะ ให้ทำอย่างนี้แล้วขยันหมั่นเพียรไปเรื่อยๆ ไม่ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไม่ใช่นักกีฬา เห็นไหม ชกมวยอยู่แล้วจะไปร้องเพลง ชกมวยก็ส่วนชกมวยสิ แหม ชกมวยอยู่แล้วจะเป็นนักแสดงมันไม่ใช่ นี่ก็เหมือนกัน พิจารณาจิตอยู่ หรือพิจารณาธรรมอยู่ หรือพิจารณากาย มันแตกต่างกัน แต่ แต่ถ้าเป็นแขกรับเชิญนะ นักมวยที่มีชื่อเสียงเขาก็เชิญให้ไปเป็นดาราประกอบ เพื่อเป็นศักดิ์ศรี

นี่ก็เหมือนกัน แต่ถ้าเราพิจารณาของเรา พิจารณาธรรมของเราบ่อยครั้งเข้า บ่อยครั้งเข้าแล้วมันอั้นตู้ มันไม่มีทางไป สิ่งนั้นมันเป็นโอกาสไง เวลาเราพูดเราพูดเป็นโอกาส ฉะนั้น ถ้ามันเป็นจริงได้มันก็เป็นจริงของมัน ฉะนั้น คนอื่นๆ อาจเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา อันนี้เป็นจิตใจของคนอื่นๆ คนอื่นเขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดาแล้วมันก็เหมือนกับเราไม่เห็นกิเลสไง ถ้าไม่เห็นกิเลสก็ไม่เห็นเป็นไรเลย

คนเรานี่ไม่รู้ว่าตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรค ไม่มีความสำคัญเลย หมอไม่มีความสำคัญเลย ยาไม่มีความสำคัญเลย แต่ถ้าวันไหนเขาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมานะ เขาไปหาหมอ เขาไปหายาเพื่อจะรักษาจากโรคนั้น นี่ถ้าเขารู้ว่าสิ่งที่ว่าความเกิดดับในหัวใจ พลังงานในจิต จิตที่มันมีกิเลสครอบคลุมอยู่นี่มันไม่ธรรมดาหรอก ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด เราจะต้องตายไปข้างหน้าแน่นอน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วเราไม่รื้อค้นลงตรงนี้

เรื่องของโลกนะ เรื่องของโลก ถ้าเรามีเงิน เราจะจ้างคน เราจะให้คนทำหน้าที่อะไรแทนเราก็ได้ แต่เรื่องของธรรมมันไม่มี เรื่องของธรรม เรื่องของความรู้สึก เรื่องความเป็นจริง ไม่มีใครทำแทนใครได้ ไม่มีใครจ้างวานใครได้ แม้แต่สงสาร แม้แต่อยากทำขนาดไหนก็ทำไม่ได้ เพราะความรู้สึกมันคนละความรู้สึกกัน หัวใจมันคนละหัวใจกัน เวลาทำนะ ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามเณรราหุลเป็นลูกตัวแท้ๆ นะ เวลาบวชให้พระสารีบุตรเป็นผู้บวชให้ ให้พระสารีบุตรเป็นคนสอนนะ

นางพิมพาล่ะ? พระเจ้าสุทโธทนะ เห็นไหม เวลาไปสอน นี่เวลาไปสอนก็ต้องสอนให้เขารู้ขึ้นมา ถ้าเขารู้ขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ในเมื่อใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา ทำไมธรรมะนี่ยื่นให้ไม่ได้? ทำไมธรรมะสร้างให้ไม่ได้? ทำไมต้องให้ทำเอง ต้องให้ทำเอง ต้องให้ไปฝึกไปฝน ต้องให้ทำขึ้นมา ต้องทำเองหมด

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเขาเห็นเป็นธรรมดา เขาไม่เข้าใจว่าเขาเป็นโรค เขาไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นกิเลส แต่ถ้าจิตใจคนที่เป็นกิเลส สิ่งนี้มีค่ามากนะ สิ่งที่มีค่ามากคือศรัทธาของพวกเรา เพราะเรามีศรัทธา มีศรัทธาความเชื่อเราถึงค้นคว้า มีศรัทธาเราถึงค้นคว้าเอาใจเรามาพิจารณา เอาใจเรามาแยกแยะ แต่ถ้าคนเขาไม่เชื่อ เขาไม่ศรัทธาเขาก็บอกว่าเกิดมาก็ชีวิตนี้แหละ ตายแล้วก็สูญ อยู่ไปเพื่อให้เป็นความสุขก็พอ ทำหน้าที่การงานของเราไป นั่นเพราะเขาไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อเขาถึงไม่เห็นคุณค่าในใจของเขา แต่เขาเห็นคุณค่าของเงินทอง เห็นคุณค่าของปัจจัยเครื่องอาศัย นี่มันหยาบไง

นี่เงินก็คือแร่ธาตุ เงินก็คือกระดาษ เงินก็คือค่าของรัฐบาล รัฐบาลใดค้ำประกันมันก็เป็นเงินขึ้นมา ก็กระดาษนั่นแหละ แต่เขามีการยอมรับกัน มันก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมา แล้วถึงเวลาแล้วมันก็เสื่อมค่าไป มันก็เท่านั้น แล้วเขาไปเห็นคุณของอย่างนั้นมีค่า แต่จิตใจมันอยู่กับเราตลอดไป สุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ หนาวก็รู้ว่าหนาว ร้อนก็รู้ว่าร้อน ถ้าเราฝึกให้เป็นคนดีขึ้นมา แล้วทรัพย์อย่างนี้ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ไม่มีใครมาเอาของเราไปได้ ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน ฉะนั้น ตอบแล้วนะ แล้วปฏิบัติของเราไป ดูแลของเราไป เพื่อประโยชน์กับเราเอง

ข้อ ๑๐๐๓. ถึงข้อ ๑๐๐๙. แล้วก็ข้อ ๑๐๑๐.

ข้อ ๑๐๑๐. นะ เรื่อง “กราบขอบพระคุณหลวงพ่อ” เหมือนกัน

ถาม : ความกระจ่างที่ได้จากความเมตตาของหลวงพ่อนั้น ผมได้รับความกระจ่างอย่างมากๆ และยังคงทำซ้ำๆ เดิมๆ อยู่ จนกว่าจะได้งานของตัวเองเพื่อหล่อเลี้ยงและรักษาดวงใจดวงนี้ให้พ้นจากวงโคจรของวัฏฏะ กราบขอบพระคุณหลวงพ่ออย่างสูง

ตอบ : อันนั้นเวลาเขาถามมาครั้งที่แล้วไง นี่เวลาปฏิบัติไปแล้ว เขารู้เขาเห็นของเขา เราก็พยายามบอกว่าเวลารถไปจอดอยู่กึ่งกลาง รถจะถึงเป้าหมายแล้วมันต้องไปเจอที่เนิน จะต้องขึ้นเขาไป รถต้องมีกำลังส่ง รถนี่ถ้าขึ้นไปบนเขาแล้ว ถ้าไม่ได้เขาต้องพยายามขึ้นไป มีหนุนล้อขึ้นไปเรื่อยๆ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปเขาปฏิบัติแล้ว แล้วรู้เห็นไง รู้เห็นว่าควรทำอย่างใด? ฉะนั้น ถึงบอกว่าให้ทำอย่างเดิม ให้ทำอย่างเดิม ทำซ้ำๆ คำว่าซ้ำ เห็นไหม รถ รถมันวิ่งไปบนถนน หลวงปู่มั่นท่านพูดนะ คนเราทำนาทำไร่ก็ทำบนที่ดินนี่แหละ ทำในนานั่นล่ะ ตั้งแต่อดีตมาเขาก็ทำนาในนา ในปัจจุบันนี้ทำนาเขาก็ทำกันที่นา อนาคตเขาก็ทำลงที่นา

นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติเขาทำลงสู่จิตของตัว จิตของตัว จิตของตัวปฏิสนธิจิตมันเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เห็นไหม นี่จิตของตัวมันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เหลือเศษส่วนน้อยเกิดเป็นพรหม พระอนาคามีเกิดเป็นพรหมก็ยังมีกิเลสอยู่ ยังมีภพอยู่ ก็ยังต้องทำนาตรงนั้น ทำนาตรงนั้นจนกว่านานั้นทำลายภพ ทำลายที่นา ทำลายทุกๆ อย่างหมด นี้ทำนาจนถึงที่สุดไปของบุคคลคนนั้น แต่ของคนอื่นเขามีของเขา ถ้าเขามีของเขา สิ่งที่เขามีของเขา เขาต้องดูแลของเขา รักษาของเขา ทำของเขา เขาทำของเขามันก็เป็นประโยชน์กับเขา

ฉะนั้น เวลาเราจะทำของเรา เห็นไหม นี่เวลาปฏิบัติของเราขึ้นไปเราได้ผลหรือยัง? ได้ ถ้าเราพิจารณาเราเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราพิจารณาของเราได้ผลไหม? ได้ ได้ผลของเรา เก็บเกี่ยวฤดูกาลหนึ่ง ถ้าเก็บเกี่ยวฤดูกาลหนึ่ง แล้วฤดูกาลหน้าล่ะ? ฤดูกาลหน้าเพราะชีวิตนี้มันยังมีอยู่ เห็นไหม เก็บเกี่ยวมามันก็เป็นผลของเรานั่นล่ะ ถ้าเป็นผลของเราแล้ว แล้วมันฆ่ากิเลสหรือยังล่ะ? กิเลสมันตายไปหรือยัง? ยัง

เราเก็บเกี่ยวมา คนที่ไม่มีนา ไม่มีที่ทำมาหากินเลย เขาอยู่ของเขา เขาทุกข์ เขายากของเขานะ เขาต้องซื้อ แล้วถ้าเขามีเงินไปซื้อข้าว ถ้าข้าวไม่มีให้ซื้อ เขาต้องไปกินเผือก กินมัน เพราะเขาไม่มีข้าวให้ซื้อ นี่เพราะว่าเขาไม่มีที่นาของเขา คนไม่มีที่นาหมายความว่าทำสมาธิไม่เป็น ถ้าคนทำสมาธิไม่เป็น ฐีติจิต นี่สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน คนเขาทำงานกัน เขามีออฟฟิศของเขา นักกีฬาก็ต้องมีเวทีซ้อมของเขา คนทำงานที่ไหนเขาต้องมีที่ทำงาน เดี๋ยวนี้ทำงานเขาก็ต้องมีเม้าท์ของเขา มีแป้นของเขาให้กดนะ ทำงานเขาก็ต้องมีที่ทำงาน

ฉะนั้น คนที่ไม่มีที่ทำงาน คนที่ไม่ทำงานคือคนทำสมาธิไม่เป็น ค้นหาจิตของตัวไม่เจอ ค้นหาจิตของตัวไม่เจอนะ เวลาทำนาก็ดูวิชาการทำนา อ๋อ ทำนานะ ต้องปรับพื้นที่ก่อนนะ ต้องทำคันนานะ ต้องทดน้ำเข้าไปนะ เสร็จแล้วเราก็ต้องไถนะ ไถเสร็จแล้วก็ต้องไถคราดนะ ไถคราดเสร็จแล้วก็ต้องมีกล้านะ ไม่กล้าก็เป็นนาหว่านก็ต้องมีข้าวนะเอามาหว่าน นี้คือทฤษฎี นี้คือการศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า แต่ไม่มีที่ทำนา ที่ทำนาไม่มี แต่วิชาการรู้หมดนะ ทางวิชาการ ทางศึกษา เก่งหมด รู้หมดเลย แต่ไม่มีข้าวสักเม็ดเลย หาข้าวไม่เจอ เวลากินต้องไปกินเผือก กินมัน ไม่มีข้าวให้กิน

ฉะนั้น คนจะทำนาได้ต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบ เห็นไหม มีสมาธิ สมาธิคืออะไร? สมาธิคือฐีติจิต คือจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่น จิตนั้นคือที่นา ถ้าจิตคือที่นานะ ที่นาแล้วถากถางนาไหม? ได้สร้างคันนาไหม? ถ้าสร้างคันนาขึ้นมาไม่ได้ ก็ทดน้ำไม่ได้ แล้วนาดอนก็ต้องทดน้ำ ต้องทดน้ำขึ้นเข้าสู่นาดอน นาลุ่มล่ะ? จิตใจของคน เห็นไหม จิตใจของคนหยาบล่ะ? จิตใจของคนละเอียดล่ะ? ถ้าจิตใจคนหยาบละเอียด นาก็แตกต่าง นาลุ่ม นาดอนก็แตกต่างกัน

การทำนา ไม่ใช่ทำนา ที่ไหนก็ทำนาๆ เขาทำนากัน เขาอยู่ลุ่มเจ้าพระยา เขาทำนาเขามีน้ำ ของเรามันอยู่ตอนบนน้ำมันแห้ง อ้าว ทำนาก็ไถแห้งๆ อย่างนั้นใช่ไหม? เวลาฝนตกเอาที่ไหนล่ะ? เอาน้ำที่ไหน? เอาเหงื่อใช่ไหม? จะเอาเหงื่อรดข้าวหรือ? จะให้ข้าวมันเป็น มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้น เวลาจะพิจารณา วิธีการมันต้อง คำว่าทำซ้ำๆ ทำซ้ำคือพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนเราพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ชาวนานี่เขารู้ดีกับทางวิชาการนะ วิชาการเขากำหนดเลยนะ นี่นาเบา ๔๕ วันต้องได้ น้ำมา ข้าวยังเขียวๆ เขาเกี่ยวแล้ว เพราะเขากลัวน้ำท่วมนาเขา เขากลัวไม่ได้สตางค์เขา เขาลงทุนไปแล้วเขาหมดตัว

นี่ทางวิชาการนะ กรมเกษตรเขาต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนั้น พูดกันไป พูดกันไปทางวิชาการนะ แต่ข้อเท็จจริงมันเป็นอีกอย่างหนึ่ง ในพื้นที่คนที่เขาทุกข์ เขายาก เขาทุกข์ เขายากเกือบเป็นเกือบตายนะ แต่ทางวิชาการ พูดทางวิชาการเพราะมีเงินเดือนไง เงินเดือนก็มีอยู่แล้ว ยังได้ผลประโยชน์จากหน้าที่การงานของตัวอีก แต่ชาวนาเขาต้องทุกข์ เขายากของเขา เขาลงทุนลงแรงของเขา เขาจะได้ประโยชน์ของเขา ไม่ได้ประโยชน์ของเขา เขาหมดตัวนะ เขากู้หนี้ยืมสินมาทำนากัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจของเรา เราพิจารณาของเรา เราแยกแยะของเรา ถ้าเราทำของเราจนมีความชำนาญ ฉะนั้น สติ สมาธิ ปัญญามันก็เหมือนส่วนประกอบของการทำนา เช่นน้ำ เช่นปุ๋ย เช่นเมล็ดพันธุ์พืชนี่ไง ถ้าเรามีเมล็ดพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์พืชไปลงที่ไหนถ้าไม่มีใจ เมล็ดพันธุ์พืชไปลงที่ไหนถ้าไม่มีนา มีนาคือทำความสงบของใจเข้ามา แล้วใจมันออกรู้กาย เวทนา จิต ธรรมขึ้นมา เห็นไหม มันมีที่นา มีน้ำท่าสมบูรณ์เพราะสมาธิดี มีเมล็ดพันธุ์ที่ดี มีปุ๋ยที่ดี มีสติผู้คุ้มครองดูแลใจที่ดี นี่มรรค ๘ มันหมุนของมันไป นี่ทำก็ได้ประโยชน์

การทำซ้ำๆ หลวงตาท่านพูดบ่อย แต่ท่านไม่อธิบายหรอก เวลาคนไปถามปัญหาว่าถูกไหม? ถูก แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? ซ้ำ ซ้ำเข้าไป ซ้ำเข้าไป ไอ้คนฟังแล้วเบื่อนะ แต่ถ้าไปฟังไอ้พวก ๑๘ มงกุฎนะ มันจะบอกเลย อาการอย่างนี้เป็นโสดาบัน นอนหลับตื่นขึ้นมาก็เป็นพระอรหันต์ เวลาปฏิบัติ ก้าวไป ๒ ก้าว ไปถึงก็ อู๋ย ชอบ เวลาไปเจอ ๑๘ มงกุฎมันหลอกนี่ชอบนะ เวลาไปเจอครูบาอาจารย์ที่ตามความเป็นจริง ที่ท่านบอกให้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้ขยันหมั่นเพียร ให้ทำความเป็นจริง นี่ไม่มีรสชาติ สอนอะไรเดิมๆ ทำอะไรไม่เห็นมีประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย แต่ไปเจอ ๑๘ มงกุฎมันเป่าตูดทีเดียว โอ๋ย ชอบ ชอบ นี่กิเลสมันเป็นแบบนั้น

นี้จริตนิสัย ถ้าเราสร้างของเรามาไม่ดีนะ ใครมายกย่อง ยกยอสรรเสริญเราก็เชื่อฟังเขา เราก็พอใจกับเขา แต่ถ้าเรามีอำนาจวาสนานะมันจะเทียบเคียงถึงเหตุ ถึงผล ปฏิบัติมาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ปฏิบัติมาจนเดี๋ยวนี้จิตใจมันก็ยังดื้อด้านอย่างนี้ แล้วปฏิบัติไปงงๆ เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา แล้วเขามายกย่องสรรเสริญ เชื่อเขาได้อย่างใด? เวลาครูบาอาจารย์ของเรานะท่านทำของท่าน นี่ทำซ้ำๆ ที่ว่าซ้ำๆ เขาเขียนมาขอบคุณมาก แล้วพยายามจะซ้ำ ซ้ำที่เดิมอยู่จนกว่าจะได้ผลงานขึ้นมา ให้ทำเข้าไป ให้ขยันหมั่นเพียรเข้าไป ไม่มีใครหลอกใครได้หรอก ความรู้สึกในหัวใจของเรา สิ่งที่โลกเขา เวลาเขาตกทองกัน ไปเห็นของเขา ไปเห็นทองเส้นใหญ่ ถอดทองในคอของตัวให้เขาไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติ ทองในคอของเราไง เวลาเราปฏิบัติกันนี่ทองในใจของเราไง เนื้อนาของเราไง เรากระทำของเรา มันจะได้ผลของเรา ใครเขาจะมายกย่อง สรรเสริญ เขาจะมาติฉินนินทา ถ้าเราดูแลน้ำของเรา เราดูแลพันธุ์พืชของเรา เราดูแลศัตรูพืช เราดูแลของเรา มันจะได้หรือไม่ได้มันก็อยู่ที่เวรกรรมของเรานี่แหละ เราทำดีของเรามันก็ต้องได้ ข้าวมันก็ต้องออกรวงมา แต่ถ้าเราทำของเรา เราไม่รอบคอบของเรา หรือน้ำไม่มี หรือน้ำหลากขึ้นไป อันนี้มันเรื่องเวรเรื่องกรรม มันสุดวิสัย มันสุดวิสัยเราป้องกันไม่ได้ อันนั้นก็สุดวิสัย แต่เราก็รับรู้ได้ไง เพียงแต่ใจมันยอมรับได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติ เวลาล้มลุกคลุกคลาน ไม่ได้ผลก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้ามันได้ผลแล้ว แล้วทำอย่างไรต่อ? รถออกจากสถานที่ ออกจากอู่ ไปถึงกึ่งทาง ไปถึงเกือบปลายทาง จะขึ้นทางลาดชัน จะลงจากทางเขา เราจะขับรถอย่างใด?

นี่คนที่ผ่านถนนเส้นทางนี้มา เขาเคยผ่านเส้นทางนี้มา รู้ว่าการขับรถไป การชำนาญในสถานที่นั้นจะต้องรักษาอย่างไร จะคำนวณว่าการส่งให้ขึ้นในที่เนิน ทางลงมันทางลาดชัน แล้วมันคดเคี้ยวอย่างใด มันควรจะอยู่ในเลนไหน ไม่ควรจะให้ออกไปนอกเลน เพื่อไปประสบอุบัติเหตุ ทำซ้ำๆ หาประสบการณ์ของตัว ถ้าประสบการณ์ของตัวได้จริงนะ มันมีจริงขึ้นมา นี่มันรู้ตามความเป็นจริง ต้องรู้จริง รู้เกิดขึ้นมาจากเรา ถ้ารู้ขึ้นมาจากเรามันจะเป็นการปฏิบัติตามความเป็นจริง

ฉะนั้น สิ่งที่ถามมา แล้วเราตอบไปแล้ว ฉะนั้น ถามมาอีก บอกว่าไม่ได้ถามมาเป็นคำถามเนาะ คำถามเป็นการกราบขอบคุณไง กราบขอบคุณ เห็นไหม

ถาม : ผมกระจ่างที่ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อ ผมได้รับความกระจ่างอย่างมาก และยังคงทำซ้ำๆ เดิมๆ อยู่จนกว่าจะได้งานของตัวเอง เพื่อหล่อเลี้ยงและรักษาใจดวงนี้ให้พ้นจากวงโคจรของวัฏฏะ กราบขอบพระคุณพระเดชพระคุณหลวงพ่ออย่างสูงครับ เอวัง