มาดูธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ปัญหานี้ นี่ปัญหาเรื่องศีลเนาะ ศีล ๘ ที่เราใช้ยา อย่างนี้เราถือว่าเป็นยา คนมาปฏิบัติที่นี่นะ เวลามาส่วนใหญ่เมื่อก่อนมาปฏิบัติที่นี่ สาวออฟฟิศ เขาอยู่ของเขา เขาดูแลรักษาเขา พอมาแล้วมันตากแดด ที่นี่แดดมันจะแรง
ฉะนั้น ไอ้ยานี่เราบอกให้เขาทาครีมกันแดด เวลามานะ เวลามานี่หน้าตาอย่างนี้นะ เวลากลับนี่โอ้โฮ ดำทั้งหน้าเลย เพราะแดดมันเผาไง พอแดดมันเผาเขาไม่กล้าใช้ พอเราเห็นอย่างนั้นปั๊บเราบอกว่าไอ้ครีมกันแดดพวกนี้นะเราถือว่ามันเป็นยา เราว่าใช้ได้ ใช้ได้ ทีนี้เราไปกังวลกันไง พอถือศีลใช้นู่นก็จะผิด ใช้นี่ก็จะผิด ไอ้นี่ถ้าเราใช้มันเป็นยา เราถือว่ามันเป็นยา ถ้าเป็นยานะ เป็นยาเราไม่ต้องกังวล
ทีนี้กังวล อย่างการถือศีลนะ ศีลของเรา เห็นไหม แบบว่าศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ ศีลด่างพร้อย ศีลทะลุ ศีลขาด คำว่าศีลขาดมันต้องมีองค์ประกอบของมัน องค์ประกอบของมันนะเราตั้งใจทำ มีผู้เสียหาย ผลสำเร็จศีลขาด นี้เราไม่ได้ตั้งใจทำ พอไม่ตั้งใจทำมันก็เป็นความละล้าละลัง นี่สีลัพพตปรามาส ลูบคลำในศีล ถือศีลแล้วตกใจนะ ใครถือศีลปั๊บนี่ถือไม่ได้ พอถือศีลนะ หนึ่งเราก็พูดโกหกไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจพูดโกหก แต่พอถือศีลปั๊บมันกลัวเลยนะ แต่ถ้าเราปกติเราก็ทำของเรา ทั้งๆ ที่ศีลมันเป็นปกติของมนุษย์
ศีล เห็นไหม หลวงปู่ฝั้นบอกว่า ศีล ๕ ศีรษะ ๑ แขน ๒ เป็น ๓ เท้าอีก ๒ เป็น ๕
ศีล ๕ มันเป็นความปกติของมนุษย์ต้องมีอยู่แล้ว เพียงแต่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ให้เรามีสติปัญญาเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่มีปัญญานะ ใครถือศีล ใครมีสติปกติ ใครมีจิตปกติ คนนั้นก็ศีล ๕ สมบูรณ์ พอสมบูรณ์แล้ว ทีนี้เพียงแต่ศีลนะ ศีลในลัทธิศาสนาอื่น ศีลในพุทธศาสนา ศีลในพุทธศาสนานะ ใจทุกดวงใจเกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข ทุกดวงใจ สิ่งที่มีชีวิต ทุกสิ่งที่มีชีวิตปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แล้วรักชีวิตตัวเองมาก
ฉะนั้น สิ่งที่จะบาดหมางกัน สิ่งที่กระทบกระเทือนกันพระพุทธเจ้าไม่ให้ทำ ไม่ให้ทำเลย เพราะทำแล้วมันสร้างเวรสร้างกรรม แต่ในลัทธิศาสนาอื่นนะ สิ่งใดเป็นอาหารนั้นไม่ผิดศีล นี่เห็นไหม เห็นแก่ตัวแล้ว เข้าข้างตัวเองไง แต่ถ้าเป็นศีลนะ พอศีลอย่างนั้นปั๊บ ถ้าเราเป็นปกติ ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็น.. คนนะ เวลาคนที่จิตใจอ่อนแอ เวลาคนพิการแต่จิตใจเขาเข้มแข็ง คนพิการมาให้กำลังใจคนปกตินะ คนพิการ แบบว่าเขาพิการทางใดก็แล้วแต่ แต่เขาสู้ชีวิตจนเขาประสบความสำเร็จ เขามาให้กำลังใจพวกเรานะ ไอ้เรานี่สมบูรณ์หมดเลยนะแต่จิตใจอ่อนแอ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตใจของเรา หน้าที่ของเรา มันเป็นสิ่งที่เราต้องใช้ประโยชน์กับเรา มันผิดศีลตรงไหน? ศีล ๘ นะ ถ้าใช้สิ่งที่แบบว่าไม่ให้ไปดูฟ้อนรำ ไม่ให้ดูการละเล่น เพราะการละเล่นมหรสพ มหรสพมันทำให้เราเพลิดเพลิน ทำให้เราติดกับโลก ท่านถึงให้สละซะ ไม่ให้นอนในที่สูง ไม่ให้นอนในฟูก เพราะอะไร? เพราะนอนแล้วมันจะเพลินกับการนอน ให้นอนกับพื้น นอนกับกระดาน ถ้านอนกับกระดาน เดี๋ยวนี้เขากำลังคิดใหม่ คนนอนกับกระดานนี่กระดูกไม่คด กระดูกไม่งอ กลับดีนะ
นี่ถ้าอย่างนี้มันเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราต้องใช้สิ่งที่มันเป็นยานี่ไม่ผิด เรายืนยันเลยว่าไม่ผิด แล้วไม่ผิดแล้วไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องกังวลอะไรเลย เราก็ใช้ของเราเป็นปกติ มันเป็นยา เราถือว่ามันเป็นยาไง มันเป็นยารักษาเรา แต่ถ้าไอ้อย่างที่ว่าเขารักสวยรักงาม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นยาป้องกันนะไม่ผิด ไม่ผิดแล้วไม่ต้องไปกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เวลาเราปฏิบัติไป สีลัพพตปรามาส เวลาอย่างนี้เป็นกังวลไปหมดเลย ถ้ามันละสักกายทิฏฐิความสงสัย สีลัพพตปรามาสมันก็ไม่มี แต่นี่เรายังละสักกายทิฏฐิไม่ได้
ทิฐิของเรา สัมมาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐิ ทิฐิที่ผิด ทิฐิที่ถูก แล้วทิฐิกลางๆ มันสงสัย มันสงสัย พอสงสัยขึ้นมานี่มันวิตกกังวล ฉะนั้น พอสงสัย วิตกกังวล นี่ที่ปฏิบัติที่มันยากมันยากตรงนี้ แต่ถ้าเราวางใจแล้วเป็นกลาง วางใจเราเป็นปกติมันเป็นกลาง เป็นปกติ เป็นปกติแล้วทำของเราเลย ผิดถูกมันจะสอน มันจะสอน เรื่องศีลนี่มีปัญหามาก มีปัญหาหมายความว่าตัวศีลเองไม่มีปัญหา แต่คนถือมีปัญหา แล้วแค่ไหนล่ะ? แล้วแค่ไหน?
แล้วแค่ไหน ทีนี้คนเรามันแบบว่าความรู้สึกนึกคิดของคนไม่เหมือนกัน ก็ตีความแตกต่างกัน แล้วก็มานั่งเถียงกัน แล้วใครได้ประโยชน์ล่ะ? ไม่มีใครได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ถ้าเราเพื่อประโยชน์กับเรา เรามีศีล เราจะถือศีลของเรา เพื่อความปกติของเรา แล้วเราทำงานของเรา สิ่งใดที่มันเป็นอุปสรรค สิ่งใดมันจะแก้ไข เราแก้ไขของเราไป ถ้ามันเป็นไปมันก็แค่ด่างพร้อย มันแค่ด่างพร้อย ถ้ามันเป็นจริงนะ แล้วมันก็ทะลุแต่มันไม่ขาด แต่ขาดหมายถึงว่าจงใจทำ จงใจทำ
เราจงใจจะโกหกคนๆ นี้เพื่อผลประโยชน์ของเรา แล้วเราก็ไปโกหกเขา พอโกหกเขา เขาเชื่อเรานะ นี่ศีลขาด เราตั้งใจจะโกหกคนๆ นี้ แต่เรายังไม่ได้ทำ เห็นไหม นี่เศร้าหมอง เราตั้งใจจะโกหกเขานะ แต่เรายังไม่ได้ทำใช่ไหม? แล้วเรามีสติยับยั้งเราไม่ทำ เรายังไม่ได้ทำ นี่ศีลไม่ขาดแต่เศร้าหมอง นี่มันมีเป็นขั้นเป็นตอนของมัน ทีนี้เพียงแต่ว่าเรามั่วเลย เหมาเลย แล้วก็เลยยุ่งเลย ไม่มีปัญหา ถ้ามันเป็นประโยชน์กับเรา เป็นยารักษาเราไม่มีปัญหา
นี่มันจะเข้านี่แหละ ปัญหาไปหามาอยู่นี่ ข้อ ๑๐๑๑. เนาะ
ถาม : ๑๐๑๑. เรื่อง สละความอยากบรรลุธรรมออกไป แล้วดีมากครับ
กราบนมัสการหลวงพ่อ ผมภาวนาไปเรื่อยๆ กลับพบว่าความอยากบรรลุธรรมที่เป็นอุปสรรคของมรรค เหมือนกับความอยากมี อยากเป็นอื่นๆ เหมือนกันนะครับ มันจะส่งผลให้จิตไม่ค่อยรวมกำลัง ส่งผลให้ความรู้ที่ได้มาจากการภาวนาไม่ค่อยมีประสิทธิผล ดังนั้นอะไรๆ แม้ว่าจะดีงามผมปัดทิ้ง อนุโมทนาสาธุออกไปให้หมด แล้วอยู่กับความรู้สึก บ้างก็บริกรรมไว้ให้ความรู้สึกมันเกาะ บ้างก็กำหนดสีให้มันเกาะไว้ บ้างก็กำหนดให้ลมมันเกาะไว้ พอถึงเวลาที่ว่างจริงๆ ตามลมชัดๆ ที่ปลายจมูกชัดๆ ครึ่งชั่วโมง กายก็ปรากฏมาพร้อมกับสิ่งต่างๆ รอบๆ ห้องก็พิจารณาได้เลยครับ
เช่นพิจารณาไปที่ปลายจมูก ขนจมูกก็ปรากฏออกมา ใหญ่เท่าร่างกาย พลิ้วไปพลิ้วมาก็พิจารณาไป มันก็ อ๋อ จริงนี่หว่า กายอย่างที่เราติดอยู่ในความรู้สึกมันมีที่ไหน มันมีแต่อะไรๆ มาประกอบรวมกัน แค่นั้นก็ไปหาว่ามันเป็นกาย จิตก็ปล่อยวาง สุขสบาย จึงขอเรียนถามหลวงพ่อว่า
๑. เวลาจิตปล่อยวางความรู้สึก ผมอยากพักอยู่ความรู้สึกนั้นสักพัก แต่ความเป็นจริงคือภาพกายที่มีอยู่ด้านล่างมันโผล่ขึ้นมาอีก มันก็เหมือนเป็นสอง เสียกำลังของสมาธิ ดังนั้นเราควรทำอย่างไรดี? ต้องพิจารณามิติต่อไปเลยหรือไม่ครับ และถ้าต้องการพักตอนปล่อยวางควรทำอย่างใด? และจะดีหรือไม่ครับ
๒. ในการใช้ชีวิตทั่วไป ผมบริกรรม หรือเพ่ง หรือตามลมตลอด ผมไม่เปิดช่องให้ตัวเงินตัวทองตัวหนึ่งออกมา แต่ผมว่าแบบนี้ดี ตอนจะทำสมาธิพิจารณากาย มันแค่ใช้เวลาครึ่งชั่วโมงก็มีนิมิตกายโผล่ขึ้นมาให้พิจารณาแล้ว หลวงพ่อคิดว่าต้องปล่อยรูไว้หนึ่งรู ให้ตัวเงินตัวทองมันโผล่มาหรือไม่ครับ หรือว่าพยายามอย่างที่สุดบริกรรมเพ่งตามลมบังคับจิต แบบนี้ดีกว่าครับ
ตอบ : อันนี้คำถามนะ แต่เราจะเริ่มอารัมภบทมา เห็นไหม อารัมภบทมาว่า
ถาม : สละความอยากบรรลุธรรมออกไปแล้วมันดีมากครับ
ตอบ : นี่ในการประพฤติปฏิบัติไง ในการประพฤติปฏิบัติพวกเรามีความรู้สึกนะ เรามีการศึกษา เรามีต่างๆ เราก็คิดของเราว่าเราจะต้องศึกษา เราต้องรู้หนทาง เวลาคนมา เห็นไหม คนจะมาวัดทุกคนเข้าไปดูแผนที่ เสิร์ชเข้าไปดูแผนที่ แล้วเวลามานี่หลงทุกคน ส่วนใหญ่แล้วจะหลง แต่ถ้าคนเขามีมา เขาเป็นมาของเขาได้
นี่ก็เหมือนกัน เราว่าเรามีปัญญา เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเราก็ศึกษา พอเรามีปัญญาขึ้นมา เห็นไหม พอมีปัญญาขึ้นมาปัญญามันส่งออกไง ถ้าปัญญามันส่งออก เพราะธรรมนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเป็นจริงของเราไม่มีหรอก นี่ภาคปฏิบัติตรงนี้สำคัญมาก สำคัญที่เวลาเราประพฤติปฏิบัติ หลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น ท่านศึกษามาจบมหานะ หลวงปู่มั่นบอกว่า
มหา สิ่งที่มหาเรียนมา เรียนธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานี่เทิดใส่ศีรษะไว้ สิ่งที่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำคัญมาก มีประโยชน์มาก แต่เวลาประพฤติปฏิบัติมันจะเตะมันจะถีบกัน
เวลาเราปฏิบัติเราจะสร้างภาพทั้งนั้นแหละ เราจะเอาความรู้ ความเห็นอันนั้นมาเป็นภาพของเรา ถึงให้วางให้ได้ก่อน ถ้าวางแล้วเราปฏิบัติไป ถึงที่สุด เวลาเราปฏิบัติถึงที่สุดนะ นี่สิ่งที่เราศึกษามา กับความเป็นจริงในใจเราเป็นอันเดียวกัน สิ่งที่เราศึกษามากับธรรมในใจเรา เห็นไหม มันอันเดียวกันเลย แต่ขณะที่เราศึกษามาแล้ว ธรรมในหัวใจเราไม่ใช่ แต่สิ่งที่เราศึกษามา อันนั้นเป็นธรรมของพระพุทธเจ้า มันคนละอันกันไง ศึกษามานั้นเป็นความจริง แต่กิเลสในหัวใจของเรามันไม่จริง แล้วไม่จริงมันก็ขัดแย้งกัน
ฉะนั้น พอมันขัดแย้งกัน เราเองก็บอก อืม อันนั้นเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนาะ ธรรมนั้นเป็นความจริงเนาะ เราก็เชื่อ เราก็เชื่อ แต่จิตใต้สำนึกมันสงสัย พอมันสงสัย พอฟังธรรมสิ่งใดไปมันก็เอาสิ่งนั้นส่งออก นี่เราจะไปดูธรรม เราจะไปดูธรรมแต่ข้างนอก เราจะไปดูธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากรู้ อยากปฏิบัติ อยากรู้ธรรมทั้งนั้น อยากรู้อยากเห็นทั้งนั้นแหละ อยากว่าเป็นธรรม แต่มันไม่เป็น
แต่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม มาดู มาดูธรรมนี่เป็นจริง จิตพอเราทุกข์ร้อนเราก็รู้ว่าทุกข์ร้อน จิตเราดีเราก็รู้ว่าเราดี จิตเราเป็นอย่างไรเราก็รู้ นี้ถ้าเรารู้มันรู้ขึ้นมาจากอะไรล่ะ? มันรู้ขึ้นมาจากการกระทำของเรา แต่ขณะที่การกระทำเราอยากไปก่อนไง เราอยากไปก่อนมันก็สร้างภาพ พอมันสร้างภาพ พอมันสร้างภาพขึ้นมามันก็เลยทำให้มันเตะ มันถีบ
หลวงปู่มั่นท่านพูดไว้ว่า มันจะเตะ มันจะถีบกัน
ความจริงคือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยนี่เป็นความจริง แต่ใจเรามันไม่จริง พอใจเราไม่จริง ความจริงกับความไม่จริงมันสัมผัสกัน แล้วมันก็ละล้าละลังสิ จริงหรือไม่จริง? ไม่จริงหรือจริง? จริงหรือไม่จริง? มันจะเป็นอย่างนี้ตลอด ปฏิบัติไปนะ เริ่มต้นก็จริงนะ พอจิตมันวาง เออ ดีมากเลย สักพักหนึ่ง อืม จริงหรือเปล่า? จริงแล้วมันเป็นอย่างนี้หรือ? มันเป็นอย่างนี้แล้วต่อไปมันจะเป็นอย่างไร?
มันจะมีปัญหาไปตลอดไง เพราะอะไร? เพราะเราละล้าละลัง เราอยากได้ อยากเป็น แต่วางเลย วางให้หมด แล้วทำความเป็นจริง เห็นไหม พอมันเป็นจริงขึ้นมามันไม่ละล้าละลังเพราะอะไร? นี่ถ้าผิดมันก็ผิด ถ้ามันไม่ได้มันก็คือไม่ได้ ถ้ามันทุกข์ก็คือมันทุกข์ มันกระเสือกกระสน ก็มันกระเสือกกระสน แต่ถ้ามันลงล่ะ? ถ้ามันลงก็คือมันลงไง ถ้ามันลง นี่ไงโอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มาดูธรรม มาดูความเป็นไปไง
ถ้ามาดูธรรมมันเป็นไป แต่ถ้าไปดูธรรมมันไม่มาดู มันไปดู มันส่งออกไปดู ไปรู้ ไปเห็นต่างๆ เห็นไหม แต่ถ้ามันมาดูนี่มันมาดู มันมาดูมันจะเป็นความจริงขึ้นมา อย่างเช่นที่ว่าเวลาปฏิบัติไป นี่ขนจมูกมันปรากฏใหญ่เข้ามา มันพลิ้วไปพลิ้วมา มันใหญ่ มันชัด มันเจน มันมาดูนี่ใครดู? จิตมันดู จิตมันดู จิตมันเห็นไง เพราะเราไม่ส่งออก เราไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น เราปล่อยวางหมดเลย พอปล่อยวางหมดเลย เห็นไหม นี่ตัวจิตกับความคิด เวลามันมีความคิดขึ้นมามันเสวยอารมณ์ มันส่งออกหมดแหละ พอส่งออกมันจะคิดเรื่องดีก็ดี คิดเรื่องชั่วก็ชั่ว
เวลาคิด ความคิดมันส่งออกหมดล่ะ พอมันส่งออก ถ้าเรากำหนดพุทโธ อานาปานสติ ปัญญาอบรมสมาธิให้มันปล่อยวางเข้ามา พอมันปล่อยวางเข้ามา นี่เวลาจิตมันสงบแล้ว เห็นไหม พอมันเห็นขนจมูก นี่เวลามันคิดมันไปแล้ว มันไปแล้ว นี่ส่งออก ปัญญาส่งออก เวลามันคิดเรื่องกายมันจินตนาการภาพขึ้นมาก็เป็นอย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันปล่อยวางขึ้นมา เห็นขนจมูก ทำไมเส้นมันใหญ่ล่ะ? ทำไมมันพลิ้วไปพลิ้วมาล่ะ?
นี่มาดูธรรม มาดูที่ไหนล่ะ? มาดูที่จิตมันดูไง จิตมันดู จิตมันรู้ มันเห็นไง นี่มันชัดๆ ไง ถ้ามันชัดๆ นี่มาดูธรรม ไม่ใช่ไปดูธรรม ถ้ามีความอยากดูมันไปหมด เพราะมีความอยาก มีความอยากเป็น อยากได้ อยากดี อยากให้มันเป็นไป ปฏิบัติแล้วต้องได้ผล ทำมาหากินแล้วต้องร่ำรวย ต้องมีเงินมีทอง มันคิดของมันไป แต่มันมีหรือเปล่ายังไม่รู้นะ มันจะมีหรือไม่มียังไม่รู้ แต่ถ้าเราทำของเรานะ เราทำหน้าที่การงานของเรา เราทำด้วยความซื่อสัตย์บริสุทธิ์ของเรา เราทำความสุจริตของเรา เราทำของเรา มันสะสมไปๆ
นี่มาดูธรรม มาดูธรรมที่ไหน? มันมีไง จิตมันสงบมันก็รู้ว่าสงบ จิตมีรากฐานมันก็มีรากฐาน ถ้ามีรากฐานมันเป็นประโยชน์ ถ้ามันละวางได้มันก็เป็นแบบนี้ มันเป็นข้อเท็จจริง แต่ถ้ามันไม่เป็นข้อเท็จจริงมันไปดูธรรม ไปดูธรรมไปดูของคนอื่น สัญญาอารมณ์ทั้งนั้น หลวงตาท่านบอกอยู่ เวลาไปวัดไปวา ไปดูเงินคนอื่นไง เศรษฐีธรรม เศรษฐีธรรม ไปดูธรรมของคนอื่น แล้วธรรมของเราล่ะ? เวลาธรรมของเรามันไม่มี มันไม่มี
ศึกษานั้นเป็นปริยัติ สุตมยปัญญาคือการศึกษา ปัญญาอย่างนั้นปัญญาโลก แล้วพอจิตเราสงบแล้ว นี่จินตมยปัญญามันมีของมัน จินตมยปัญญามันเป็นทางผ่าน เวลามันเกิดภาวนามยปัญญา เห็นไหม เห็นเส้นขน ขนจมูก เห็นกาย เห็นอะไร พิจารณามันไป เพราะอะไร? เพราะจิตมันสงบแล้วมันจะเห็นอย่างนี้ จิตสงบหมายความว่ามันไม่เสวยอารมณ์คิดไปตามโลกียะ ตามสัญชาตญาณ ตามร่อง ตามวิถีแห่งจิต จิตมันจะคิดอย่างนี้ จริตนิสัยใครชอบอะไรคิดอย่างนั้นแหละ มันเป็นธรรมชาติของมัน
พอเวลามันสงบเข้ามา เห็นไหม มันไม่ไปตามสัญชาตญาณของมัน มันไปตามธรรม ตามธรรมคือตามสัจธรรม เพราะจิตสงบแล้วเราให้คิด ให้พิจารณาเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรมที่กิเลสมันอาศัยสิ่งนี้ออกหาเหยื่อ ออกหาเหยื่อนะ เพราะมันใช้กาย ใช้เวทนา ใช้จิต ใช้ธรรมคิดตามความพอใจของมัน แล้วมันก็ไปเอาอารมณ์ความสุข ความทุกข์มาทับถมมัน แต่พอจิตเราสงบแล้ว เราใช้สติปัญญา สติของเราให้คิด ให้พิจารณาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม มันถึงเห็นขนจมูก เห็นกายโดยความเป็นจริงไง
นี่ไงสติปัฏฐาน ๔ มันเกิดตรงนี้ไง ถ้าสติปัฏฐาน ๔ มาดูธรรมที่ไหน? ก็ใจมันทำอยู่ ใจมันรู้อยู่ ใจมันสัมผัสอยู่ นี่ดูตรงนี้ ถ้าดูตรงนี้มันก็มีรสชาติไง รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง ไม่ใช่ไปนึกเอา คิดเอานะ อู๋ย กายนะ พิจารณากาย ว่างหมดเลยนะ โอ้โฮ จินตนาการไปนะ อธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแควนะ แต่ถามจริงๆ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า? เอ๊ะ ร้องเอ๊ะเชียว ถ้ามีคนหนึ่งเขาถามนะ เอ๊ะ ไม่แน่ใจแล้ว แต่ถ้าไม่แน่ใจนะให้ถามมา ให้ถามมา
ถ้าสละความอยากได้ สละอย่างนั้นแล้ว แล้วไม่ต้องไปเหมือนใคร จำให้ดีเลยนะ การปฏิบัติไม่ต้องให้เหมือนใคร ให้เป็นความจริง เป็นความจริง วิทยานิพนธ์ไม่มีซ้อนกัน ถ้าเราอยากให้ผลเหมือนใคร อยากให้เป็นเหมือนใคร เราไปก็อปปี้เขามา เหมือนเราไม่ชอบอย่างนี้ แต่เห็นสังคมเขาชอบ เราก็ไปชอบตามเขา แล้วจริงๆ มันชอบจริงหรือเปล่า? นี่มันเป็นค่านิยมของสังคม มันไม่ใช่ความเป็นจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรานะ มันเกิดกับเรา รู้กับเรา
ค่านิยมสังคมก็เรื่องของเขา เป็นเรื่องโลกๆ เรื่องของโลกก็เรื่องของโลกเขา เรื่องของเราให้มันชำระล้างได้ ให้มันปลดเปลื้องได้ ถ้ามันปลดเปลื้อง นี่เป็นผลของเรา สังคมจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั่นอีกเรื่องนะ นั่นเรื่องโลก แต่ถ้าเป็นความจริง มันเป็นความจริงเกิดกับเรานะ
ฉะนั้น
ถาม : ๑. เวลาจิตมันปล่อยวาง ความรู้สึกมันพักอยู่ ความรู้สึกพักอยู่เป็นสักพัก แล้วมีภาพกายอื่นๆ มันโผล่ขึ้นมาอีก มันเพิ่มเป็นสอง
ตอบ : ถ้ามีภาพกายขึ้นมานะเราพิจารณามัน ถ้าภาพกายถ้าเราทำแล้วไม่ได้ผลให้วาง วางเหมือนกัน วางแล้วทำความสงบของใจให้มากขึ้น คนเรานะนักกีฬาถ้ามันฟิตมาดี ซ้อมมาดี นี่เวลาเขาแข่งขันเขาจะมีกำลังถึงหมดเวลาการแข่งขันเลย คนถ้าฟิตมาไม่ดีนะ เขาเล่นได้ไปไม่กี่นาทีเขาก็อ่อนแรงแล้ว เขาไม่มีกำลังพอหรอก ถ้าเขามีกำลังพอนะ เวลาเขาแข่งขันกีฬา ถ้าความฟิตไม่ดีเขาเบียดไว้ เขาเสียดสีไว้ พออ่อนแรงปั๊บเขารุกตายเลย
นี่ก็เหมือนกัน จิต จิตถ้ามันภาวนาของมันนะ จิตถ้ามันมีสมาธิของมันภาพมันเกิดขึ้น พอภาพมันเกิดขึ้น ถ้ามันพิจารณาไม่ได้ให้วาง แล้วกลับมาฟิตร่างกาย กลับมาฟิตจิตของเรา คือกลับมาทำความสงบ ต้องซ้อมให้ดี ต้องฝึกให้ดี ฝึกให้จิตเข้มแข็ง จิตเข้มแข็งแล้วพอมันพิจารณากายมันก็เป็นชิ้นเป็นอัน นี่เวลาแข่งนะเราจะยืนระยะได้ถึงที่สุดเลย แต่ถ้าเราฟิตมาไม่ดีนะ ยืนระยะไม่ได้ ไปแข่งเมื่อไหร่ก็แพ้ทั้งนั้นแหละ
จิตถ้ามันมีกายมา ถ้ามันซ้อนมาๆ นั่นน่ะมันบอกแล้วแหละว่ากำลังเราไม่ดี ถ้ากำลังเราดีนะมันเป็นกิจจะลักษณะ เป็นชิ้น เป็นอัน แล้วเราจับต้องพิจารณาได้ นี่อย่างนี้กำลังเราดี ถ้ากำลังไม่ดีนะ ถ้ามันขึ้นมาอย่างนั้นมันขึ้นมาให้เห็นว่าจิตเราเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิเราก็พิจารณาของเราไง ถ้าพิจารณาแล้วเป็นประโยชน์เราก็พิจารณา ถ้าพิจารณาแล้วมันจะมีซ้อนขึ้นมานี่ทิ้งแล้ว ทิ้งเลย ต้องปล่อยวางเลย กลับมาฟิตร่างกาย กลับมาทำความสงบของใจให้มั่นคงขึ้น แล้วมั่นคงขึ้น ถ้าจิตมันดีแล้วเราค่อยไปพิจารณาใหม่ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ทำอยู่อย่างนี้ ทำอยู่อย่างนี้ไง พอเห็นกายก็เอากายเลย
นี่โดยทั่วไป เห็นไหม นักกีฬาใครก็เล่นได้ทั้งนั้นแหละ แต่ให้ยืนระยะไม่ได้หรอก ถ้านักกีฬาอาชีพ เวลาเขาแข่งกันที ๒-๓ ชั่วโมงเขาเบียดกัน เขาเสียดสีกันเพื่อคะแนนของเขา เขาทำได้ทั้งนั้นแหละ เพราะอะไรล่ะ? เพราะเขาซ้อมมาดี ถ้าอ่อนซ้อม ซ้อมไม่ได้ จบ แพ้
จิต จิตถ้ามันเห็นกาย เห็นกายแสดงว่ามันเห็นโดยจิตเห็นตามความเป็นจริงได้ แต่ถ้ากำลังมันไม่มีมันไปไม่ได้ มันไปไม่ได้หรอก มันจะอย่างนี้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นปั๊บนี่ปล่อย ปล่อยแล้วกลับมาทำความสงบของใจ พอใจมันสงบแล้วไปพิจารณาใหม่ คือพอมันเห็นนะ เห็นแล้วพิจารณาของมัน ถ้ามันเป็นอย่างนี้อีกต้องรีบทิ้งเลยแล้วกลับมา ถ้าไม่อย่างนั้นนะมันจะลากกันอยู่อย่างนี้ แล้วละล้าละลังไปนะ แล้วพอตอนนี้จิตมันดีใช่ไหม? มันสดชื่น พอสดชื่นเราได้ความสดชื่น ลงไปแข่งทีแรกได้ความสดชื่นจะดีมากเลย แต่พอมันเริ่มกำลังอ่อนไปๆ มันชักอ่อนอก อ่อนใจ ทุกข์ใจ
นี่ก็เหมือนกัน พอภาวนาไปๆ นะ ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็ไม่ได้ เราจะบอกว่ากิเลสมันจะรอสวมรอย เวลาปฏิบัติเริ่มต้นเราก็ล้มลุกคลุกคลาน แต่พอเราปฏิบัติได้นะ ถ้าเราไม่มีสติปัญญารักษาให้ดีนะกิเลสมันสวมรอยเลย เห็นไหม พิจารณากายแล้วก็ไม่ได้ผล ปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้เรื่อง ปฏิบัติแล้วก็เสียเวลา เลิกดีกว่า
นี่กิเลสมันรอเสียบนะ ถ้ามันจะรอเสียบเราปล่อยวาง นี่ถ้าเราพิจารณาแล้ว ถ้าจิตเราสงบแล้วเห็นกายก็พิจารณาได้ ถ้ามันซ้อนมา ขณะที่ว่าซ้อนนะ เวลาพิจารณา ตั้งกายขึ้นมา เห็นกาย ถ้ากายมันไหว กายไม่มั่นคง แสดงว่ากำลังไม่พอแล้ว ถ้ากำลังมันพอนะมันจะตั้งดีมากเลย พอตั้งดีมากแล้วเรารำพึง ใช้ปัญญารำพึงไปให้มันเป็นไตรลักษณ์ ให้มันแยกส่วน ขยายส่วน วิภาคะ ถ้าทำได้ก็ได้ ถ้าไม่ได้ จบ กำลังไม่พอ
จำไว้เลยกำลังไม่พอ กำลังไม่พอทำไปนะมันมีแต่จะเสียท่า มันมีแต่เพลี่ยงพล้ำ มันจะมีแต่เสียเปรียบ แต่ถ้ามันวางปั๊บกลับมาทำความสงบของใจก่อน นี่สร้างกำลังของเราก่อน กีฬามันเป็นกติกาที่ต้องแข่งขันให้มันจบเวลา แต่การปฏิบัติมันเป็นที่เรา มันไม่ใช่เวลาจะบังคับ มันไม่มีสิ่งใดบังคับ มันอยู่ที่เรามีสติปัญญาไหม? ถ้าเรามีสติปัญญาเราแยกแยะของเรา อันนี้ที่ว่าอาจารย์สำคัญๆ สำคัญตรงนี้ สำคัญว่าถ้ายังดันทุรังไปมันก็จะล้มลุกคลุกคลาน
นี่พูดถึงตอนนี้นะปฏิบัติแล้วมันเห็นผล มันถึงสติสมบูรณ์ไง ถึงเห็นถูกเห็นผิดไง แต่พอปฏิบัติไปๆ มันชักเริ่มใช้มาก เริ่มเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราไม่เห็นปัญหาแล้ว เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้ว เพราะมีปัญหาขึ้นมาเราก็อยู่กับปัญหานั้น เราเลยไม่รู้ว่าปัญหาเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราตั้งสติอยู่ เรามองปัญหา เราแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าพอเราพิจารณาไปโดยที่เราตามไปเรื่อยๆ นะ เราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้ว อืม หันซ้าย หันขวานะ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถูกต้องเลย
ฉะนั้น โดยหลักครูบาอาจารย์ที่ผ่านแล้วท่านจะบอกว่าให้วางไว้ แล้วทำความสงบของใจ ถ้าพิจารณา พิจารณาเป็นการฝึกฝนนี่ได้ แต่ถ้าพิจารณาเป็นชิ้นเป็นอันกำลังไม่พอ ถ้ากำลังไม่พอมันก็เหมือนว่าเรากำลังไม่พอ แต่ทำงานเกินกำลัง งานนั้นจะเสร็จได้ยากมาก นี่ข้อที่ ๑.
ถาม : ๒. ในการใช้ชีวิตทั่วไป ผมบริกรรมหรือเพ่งตามลมตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตัวเงินตัวทองตัวหนึ่งออกมา แต่ผมว่าแบบนี้ดี ตอนที่ทำสมาธิพิจารณากายมันใช้เวลาครึ่งชั่วโมงมันก็มีนิมิตกายโผล่มาแล้ว หลวงพ่อคิดว่าควรปล่อยไว้รูหนึ่งไหม?
ตอบ : ถ้าเราคิดว่าเราจะปิดไม่ให้ตัวเงินตัวทองออกเลย อย่างนี้เราทำสมถะมันต้องตั้งใจอย่างนี้ แต่ถ้าเราจะพิจารณา เห็นไหม เราจะพิจารณา เราปล่อย ปล่อยให้ออกมา ถ้าไม่ออกมาเราต้องรื้อค้นด้วย ถ้าเราปิดหมดเลยไม่ให้ตัวเงินตัวทองออกมา ปิดให้หมดเลย ปิดให้หมดเลยก็อยู่แค่นั้นไง พอปิดให้หมดเลยแล้วมันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า? ถ้ามันเป็นไปได้จริง อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนโปฐิละไง
ร่างกายนี้เปรียบเหมือนจอมปลวก จอมปลวกนั้นมันมี ๖ รู มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปิดรูเสีย ๕ รู เหลือรูหนึ่งคือรูใจไว้ เพื่อจับเหี้ยตัวนั้น คือจับจิต จับกิเลสนั่นแหละ
ฉะนั้น ถ้าเราจะปิดหมดเลย ปิดหมดเลยทำได้ไหม? ปิดหมดเลยก็ทำสมถะ เราไม่ต้องทำสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราจะขุดคุ้ยหากิเลส มันเป็นขั้นตอนไง การปฏิบัติมันเป็นขั้นเป็นตอนของมัน ถ้าขั้นตอนที่เราทำความสงบของใจ ใช่ปิดหมดเลย คือไม่ให้คิด ไม่ให้แฉลบ ไม่ให้แว็บอะไรเลย อย่างนั้นถูกต้อง ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบก็เหมือนกับข้อที่ ๑. เอาความฟิตๆ
นี่ความสงบของใจคือเราฟิตให้จิตใจเราเข้มแข็ง ถ้าเรามีสัมมาสมาธิแล้ว เทคนิคคือปัญญาที่เราจะฝึกฝนเอาข้างหน้า ถ้าเรานะร่างกายเราไม่แข็งแรงเลย เราเล่นกีฬาสิ่งใด เราจะไปเสริมเทคนิคของเราจะเสริมอย่างไร? นี่เขาจะสอนเทคนิคให้เรา ว่าเราควรจะเล่นอย่างใด? ควรทำอย่างใด? นี่ก็เหมือนกัน อยู่ที่เราจะทำอะไร? อยู่ที่ถ้าเราจะทำสมถะ ใช่ปิดหมดเลย แต่ถ้าเราจะรื้อค้นแล้ว เราจะดูแล้ว เราจะให้รูหนึ่งออกมา
ฉะนั้น อย่างที่ว่าเริ่มต้นข้างบน เห็นไหม ข้อที่ ๑. ว่ากายมันซ้อนขึ้นมา กายมันก็ซ้อนขึ้นมามันมีของมันอยู่แล้ว ทีนี้มีอยู่แล้ว กิเลสมันพลิกแพลงหน่อยเดียวมันก็เห็นเป็นภาพเชิงซ้อนแล้ว แล้วมันเป็นความจริงล่ะ? ความจริงมันอยู่ไหน? ถ้าความจริงมันอยู่ไหน? ความจริงมันอยู่ที่ประสบการณ์ ความจริงอยู่ที่เราเป็นนั่นแหละ เพราะอะไร? เพราะจริตคนไม่เหมือนกัน จริตคนไม่เหมือนกัน การกระทำมันก็ไม่เหมือนกัน แต่พิจารณาก็พิจารณากายเหมือนกันนี่แหละ คนหยาบ ละเอียดไม่เหมือนกันนะ คนชอบสิ่งใดไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น ไม่เหมือนกัน เราทำแล้วให้มันเป็นความจริงของเรา ของคนอื่นให้เป็นของคนอื่นเขา ของเราเป็นของเรา ของคนอื่นฟังไว้เป็นคติธรรม เป็นคติ เป็นแบบอย่างแต่ไม่ใช่ของเรา เหมือนคนอื่นทำงานแทนเรา เราได้ประโยชน์อะไร? คนอื่นกินแทนเรามันไม่ได้หรอก ถ้าเราสิเราต้องทำของเราเอง ถ้าเราทำของเราเองมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมานี่มาดูธรรมแล้ว ถ้ามาดูธรรมมันเป็นความจริง ไม่ต้องไปอยากมี อยากเป็น อยากมี อยากเป็นกิเลสมันซ้อน นี่ตัณหาซ้อนตัณหา
ตัณหาความทะยานอยากโดยธรรมชาติของเราก็มีอยู่แล้ว คือทุกคนอยากจะพ้นจากทุกข์ ทุกคนอยากมีความสุข ไม่อยากมีความทุกข์หรอก นี่มันมีของมันอยู่แล้ว แต่เวลามันมีแล้ว พอมันสร้าง มันมีมาด้วยการฉ้อฉล มีมาด้วยการที่ว่า เห็นไหม เราดู ทางทุจริตเขาก็ทำกันอย่างนั้นแหละ นี้ความฉ้อฉล
นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติเราก็อยากมี อยากเป็นทั้งนั้นแหละ แต่เวลามันอยากมี อยากเป็นซ้อนมา นั่นแหละตัณหาความทะยานอยาก วางอันนี้ แล้วเราพยายามทำจริงของเรา มันจะเป็นการมาดูธรรม เพราะมันเกิดขึ้นจริง แต่ถ้ามันเป็นตัณหาความทะยานอยาก ความฉ้อฉลมันไปดูธรรม พอไปดูธรรมขึ้นมามันก็ทุกข์ยากของเราไง ถ้าทุกข์ยากของเรามันก็เป็นแบบนั้น
นี่พูดถึงว่า
ถาม : สละความอยากบรรลุธรรมออกไปแล้วดีมากครับ
ตอบ : เราตอบปัญหามาก็อย่างนี้แหละ ทุกคนจะให้วาง ทีนี้มันต้องเป็นประสบการณ์ไง ก็วางแล้ว ก็วางแล้ว ทุกคนก็ว่าวางหมดแล้ว นั่นที่เขาว่า แต่ความจริงมันไม่มี เพราะ เพราะทุกคนไม่เห็นกิเลสของตัวเอง ไม่เห็นความอยากของตัวเอง ไม่เห็นสิ่งที่มันซ้อนมาในใจ นี่พูดถึงข้อ ๑๐๑๑. นะ
อันนี้ข้อ ๑๐๑๒. นะ
ถาม : ๑๐๑๒. เรื่อง บุญกุศลช่วยได้หรือเปล่า?
ตอบ : คำถามนี่เป็นคำถามที่ว่าน่าสงสาร มันอ่านไม่ได้ มันเป็นเรื่องส่วนตัวไง ยาวมากบอกว่าเขาเคยมาปฏิบัติที่นี่ แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งพาไปวัดหนึ่ง ไปดูหมอกัน ไปดูหมอนะ เขาบอกว่าทายเพื่อน ๒ คนถูกหมดเลย เสร็จแล้วก็มาถึงตัวเขา ว่าตัวเขาจะหมดอายุ ก็ตกใจไปหมดเลย ถ้าตกใจไปหมดเลย ทีนี้เขาถามกลับมาแล้ว
ถาม : ลูกเคยมาภาวนาที่วัดหลวงพ่อ ช่วงที่มาอยู่ที่นี่กังวลคือลูกต้องระลึกว่าวันหนึ่งวันที่เท่าไหร่ เพราะลูกต้องกลับไปทำงาน เป็นสิ่งเดียวที่ลูกอยากหลุดพ้นจากเวลานั้นให้เหลืออยู่ปัจจุบันนี้ (แล้วเขาบอกว่าให้พ้นจากเวลานั้นไง)
(นี่พูดถึงคำถามถามมาถึงบอกว่า) ไปดูหมอ แล้วหมอบอกว่าจะหมดอายุ ก็ถามว่าสิ่งที่มาปฏิบัติอยู่นี่ บุญมันจะช่วยได้หรือเปล่า?
ตอบ : ทีนี้เรื่องการไปดูหมอนี่เราวางไว้ก่อนนะ ฉะนั้น เรื่องปฏิบัตินี่เราเป็นชาวพุทธหรือเปล่า? ถ้าเราเป็นชาวพุทธนะ ถ้าเราเป็นชาวพุทธ ถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แก้วสารพัดนึก เขาไม่เชื่อหรอก กรรมฐานไม่เชื่อเรื่องนั้นนะ นี่สิ่งที่เป็นการพยากรณ์มีไหม? มี เรื่องหมอดู วิชานั้นมี แต่มันวิชาทางโลกๆ ถ้าพูดถึงหมอดูนะ วังคีสะๆ พระวังคีสะเป็นหมอดูที่แม่นมาก ไปไหนจะมีคนหามหมดเลย นั่งเสลี่ยงไป ไปที่ไหนเคาะกะโหลกนะ กะโหลกนี้ไปเกิดที่ไหนรู้หมดเลย
ฉะนั้น มาถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไปลองกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เอากะโหลกมา ๓ กะโหลกให้เขาเคาะ เคาะอันที่ ๑. บอกว่า อันนี้ตกนรกใช่ไหม?
พระพุทธเจ้าบอก ใช่
อันนี้ ๒. เคาะๆ อันนี้ไปสวรรค์ใช่ไหม?
บอก ใช่
อันนี้ ๓. เคาะแล้วเคาะอีก เคาะแล้ว ไม่รู้ ไม่รู้
พระพุทธเจ้าถามว่า อยากรู้ไหม?
อยากรู้
อยากรู้มากำหนดพุทโธ พุทโธสิ
พอพุทโธ พุทโธ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ พอสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไม่ถามเลยว่าอันที่ ๓. ไปไหน อันที่ ๓. ไปไหนเพราะตัวเองรู้จริง นี่สิ่งนั้นวังคีสะ ในพระไตรปิฎกนะ แม้แต่เขามีความรู้สึกว่าเขาเสมอพระพุทธเจ้าเลย แล้วเขาจะไปแสดงฤทธิ์กับพระพุทธเจ้าด้วยการทายหัวกะโหลกนี่ไง นี่พระพุทธเจ้าเอากะโหลกให้เคาะเลย ไปไม่รอดครับ ไปไม่รอด
เราจะบอกว่าเราเป็นชาวพุทธ เรานับถือพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เห็นไหม
เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่งเลย
แล้วเวลาไปดูหมอ หมอนี่เป็นพระซะด้วยนะ พระเป็นคนทาย พอทายขึ้นมานี่เราเองเราก็จิตใจวูบวาบ แล้ววูบวาบ ถ้าเราเชื่อ เราเชื่อเรื่องกรรม เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด ธรรม เห็นไหม ธรรมมันคืออะไรล่ะ? ธรรมคือสัจจะความจริง นี่ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วถ้าเราทำดีของเรา เรามีบุญกุศลของเรา บุญมันเป็นที่พึ่งได้ไหม? แล้วตอนนี้เรามีที่พึ่งได้ไหม? เรามีที่พึ่งได้ แล้วคนที่ทายเรามาเขาเป็นพระ พระเขาสอนอะไร? เขาเป็นพระหรือเปล่า? ถ้าเขาเป็นพระจริงเขาจะพูดอย่างนั้นไหม? เขาเป็นพระจริง เขาทายเราเขาทายชีวิตเขาได้ไหม? เขาทายตัวเขาได้หรือเปล่า? ถ้าเขาทายตัวเขาได้
นี่เราจะบอกว่าเราเป็นชาวพุทธหนึ่ง สองเป็นลูกศิษย์กรรมฐานนะ ฉะนั้น เรื่องอย่างนั้นเขาพูดมา ใครจะพูดกรอกหูขนาดไหนเราไม่สนเลย โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา เขาจะสรรเสริญขนาดไหนมันจริงอย่างที่เขาสรรเสริญไหม? เขาจะนินทาขนาดไหนมันจะเป็นจริงอย่างที่เขานินทาไหม? เขาทายมามันจะถูกไหม? นี่เขาทายมา เขาทายถึงชีวิตเขาได้ไหม?
ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เห็นไหม ในชีวิตวันหนึ่งๆ เราทำแต่ความดีของเรา เรามีหลัก มีเกณฑ์ของเรา เราจะไปกลัวอะไร? เราไปกลัวสิ่งใด มันไม่มีสิ่งใดมันจะมหัศจรรย์ไปกว่านี้อีกแล้วล่ะ นี่เราอยู่กับความจริง อยู่กับความจริง เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน บอกว่า
ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด
ความไม่ประมาท ความไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทมันจะมีอะไร? เราไม่ประมาทกับชีวิตเราจะมีอะไร? เราก็ดำรงชีวิตของเราด้วยสติปัญญาของเรา นี่คนเรานะมันมีเวรมีกรรมไง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถึงเวลามันทุกข์ เวลามันเป็นอย่างนั้นมันก็เป็นแบบนั้น พอเป็นแบบนั้นนะ คนเรานี่ดูอนาถบิณฑิกเศรษฐีสิ เวลาสร้างวัดนะเอาเงินปูเลยล่ะ ปูนะซื้อเชตวันถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระโสดาบัน
นี่เวลาเงินสมัยนั้นไม่มีก็ใส่ไหฝังไว้ น้ำมันเซาะชายตลิ่งไงมันไปหมดเลย พอมันไปหมดเลยนี่กลับมาจนไง ต้องกินข้าวกับน้ำผักดอง แล้วเทวดาก็มาพูดเลย
เห็นไหม ว่าทำบุญแล้วต้องได้บุญ ทำบุญแล้วต้องได้บุญ เดี๋ยวนี้มันไม่มีจะกินแล้ว
ขนาดว่าเขาเป็นอย่างนั้นนะเขายังไล่เทวดาไปเลย แล้วเทวดาไปแล้วนะ เขาไปฟ้องพระอินทร์หรือพระพุทธเจ้าไม่รู้ สุดท้ายแล้วเขาบังคับให้เทวดานั้นไปเอาเงินมาคืนให้ นี่คนเรามันมีสูง มีต่ำ มันมีเวรมีกรรม มันเป็นอย่างนั้น
คำว่าเวรกรรม กรรมนี่ใครทำให้เรามา? เราทำของเรามาเองทั้งนั้นแหละ ถ้าเราทำของเรามาเอง เวลาเราเผชิญกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น เห็นไหม เผชิญสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็เผชิญกับความจริงสิ เผชิญกับความจริง ถ้าเผชิญความจริงแล้วเราตั้งสติ เราไม่ประมาท เราทำของเราไป มันต้องพ้นสิ่งนี้ไปได้ มันพ้นสิ่งนี้ไปได้เราก็กลับมาเป็นปกติ นี่เราไปเชื่อเขา ไปเชื่อเขา ถือมงคลตื่นข่าว ถ้าถือมงคลตื่นข่าวแล้วนี่หมดนะ
เรื่องพระ เพราะพระนี่พระอาชีพ ถ้าพระอาชีพเขาก็พยายามประพฤติปฏิบัติเพื่อพ้นจากกิเลส เพื่อพ้นจากทุกข์ ประพฤติปฏิบัติ ทำสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานเพื่อชำระกิเลส นี่พระอาชีพ ถ้าอาชีพพระ เป็นพระแต่มีอาชีพเสริม ถ้าอาชีพเสริม มันไม่อยากลงรายละเอียดนะ เพราะโลกมันเป็นอย่างนี้ไปกันหมดแล้ว แล้วทำไมเราไปเชื่อเขาล่ะ? แล้วบอกว่านี่สมัยเด็กๆ เรามีอุบัติเหตุ ๒ หน นี่ก็ใช้กรรมไปแล้ว สมัยเด็กๆ มีอุบัติเหตุ ๒ หน แล้วตอนนี้ก็คิดอีกกลัวเป็น กลัวตายไปหมดเลย
มันไม่จริงหรอก ไม่จริง กรรมก็กรรมของเรา กรรมของพระที่ทายก็เป็นกรรมของเขา กรรมของใครก็กรรมของมัน ถ้ากรรมของใครก็กรรมของมัน นี่เรารักษา ดูแลใจของเรา แล้วเราทำของเรา ถ้าพูดถึงแก้กรรม แก้กรรมก็ภาวนาพุทโธ พุทโธ พุทโธระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่รักษาใจของเรา นี่แก้กรรม ถ้าแก้กรรมเพราะจิตมันไม่มีเวรไม่มีกรรม มันก็พ้นจากกรรม
ถ้ามันพ้นจากกรรม แก้กรรมก็แก้ที่นี่ แก้กรรมก็คือการภาวนา ภาวนาคือการสร้างปัญญา ถ้าจิตมันสงบแล้วนะมันรู้ของมันเอง อ๋อ เป็นเพราะเหตุนี้ๆ แล้วมันวางได้เอง แต่ถ้าจิตเราไม่รู้ นี่ให้คนอื่นเขาทายให้มา พอเขาทายให้มา นี่ถือมงคลตื่นข่าว มีหลายคนมากนะที่มีชีวิตนี้ลำเค็ญ หรือมีอุบัติเหตุ หรือมีสิ่งใดที่ว่ามีคนจะมาทำร้ายต่างๆ แล้วไปหาพระ นี่มันเป็นช่องทางเลยล่ะให้เขาได้ผลประโยชน์ จนหมดเนื้อหมดตัว โดนหลอกก็เยอะ
ไม่เชื่อนะ เราไม่เชื่อ อย่างไรเราก็ไม่เชื่อ เราเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราเชื่อรัตนตรัย เราไม่เชื่อนอกจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าเราเชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิ่งนั้นมันนอกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพียงแต่เขาถามมา แล้วเขาบอกว่าเคยมาที่วัดนี้ เคยมาที่วัดนี้ไง แล้วปฏิบัติแล้วมันเป็นอย่างนี้ๆ ฉะนั้น พอไปที่อื่นแล้วเขาเป็นอย่างนั้นไปแล้วเราว่าอย่างไร?
เราพูดนี่เราไม่อยากลงรายละเอียดมาก เพราะมันเป็นวงการพระ ถ้าพูดไป แหม มันเป็นอาชีพของเขา แล้วเราจะไปทำลายเขา มันก็ไม่สมควร ไม่ใช่ไม่สมควร พูดไปแล้วมันกระเทือนกัน ฉะนั้น เพียงแต่ว่านี่พูดถึงหลักเกณฑ์ ว่าถ้าเราเป็นกรรมฐานเราไม่เชื่อเรื่องนั้นเลยนะ ถ้าเป็นกรรมฐานแล้วเรื่องนี้เราไม่เชื่อเลย เราเชื่อทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แล้วเราทำของเรา ปฏิบัติของเรา นี่เราเข้ามาถึงแก่นแล้ว แล้วเราจะถอยออกไปทำไม? เราบอกว่าชีวิตเราเป็นอย่างนั้น เป็นก็เป็นทุกคนแหละ โธ่ เราบิณฑบาตเรายังล้มเลย เดินไปนี่ยังลื่นล้มเลย มันจะเป็นไรไป
มันเป็นทุกคนแหละ มันมีทั้งนั้น เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ ให้พระอานนท์ไปตักน้ำมาให้ฉัน
อานนท์ เรากระหายเหลือเกิน ขอน้ำฉันเถอะ
พระอานนท์ไปเห็นเกวียนมันเพิ่งผ่านไป ไม่อยากตักเลย กลับมาเที่ยวหนึ่งก็ว่าไม่อยากตัก ไปบอกพระพุทธเจ้าว่าไปข้างหน้าเถอะ น้ำมันใสอยู่ข้างหน้า
นี่เรากระหายเหลือเกิน
พอไปตักมันก็ใส เพราะด้วยบุญไง
ไปถามพระพุทธเจ้า ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ?
สิ่งที่ไม่เคยมี ไม่เคยเป็นได้เป็นแล้ว น้ำขุ่นๆ เวลาจะตัก ใสตรงที่จะตักนั่นแหละ
อานนท์ มันเป็นอย่างนี้เอง สิ่งที่น้ำมันขุ่นมันเป็นกรรมของเรา เราเคยเป็นพ่อค้าโคต่าง แล้วเวลาโคของเราไปตามหลังเขา มันจะกินน้ำ เราคิดเหมือนอานนท์นี่แหละ คือว่าอยากให้กินน้ำใสๆ เราก็ดึงไว้ กรรมอันนั้นมันตามมา เห็นไหม
แล้วที่น้ำใสล่ะ? น้ำใสเพราะว่าบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันคุ้มครอง เห็นไหม เวลาจะตักน้ำมันใส ทั้งๆ ที่มีกรรมนะ มีกรรมน้ำมันขุ่นๆ แต่ด้วยบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ใส ใสเฉพาะที่ตักมา พระอานนท์นี่ทึ่งเลยล่ะ
นี่เวลาเรื่องกรรมมันก็มีนะ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีเศษกรรมตามมานะ แต่ไม่ถึงใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทึ่ง พระอานนท์ถามขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า
อานนท์ มันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นอย่างนี้เอง
เรื่องกรรมมันเป็นอย่างนี้เอง เรื่องบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทำมาก็เป็นอย่างนี้เอง ไม่สงสัยอะไรเลย แต่เรานี่พอสงสัยแล้วนะจิตใจมันก็ร้อน วูบวาบไปทั้งตัวเลย แล้วก็วิตก วิจารเลย ชีวิตนี้ก็ล้มลุกคลุกคลาน จะทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจเลย เห็นไหม เพราะเราวูบวาบไง ฉะนั้น ถ้าเราเป็นกรรมฐานแล้วไม่ต้องไปเชื่ออย่างนั้น ไม่ต้องเชื่ออย่างนั้น ให้เชื่อเอาความจริง นี่พูดถึงเรื่อง พระหมอดู เอวัง