อ้างเล่ห์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เอาคำถามนี้ก่อนเลยเนาะ
ถาม : ๑. ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วไม่ชัดที่ปลายจมูก แต่ชัดที่บริเวณลำคอ จะต้องรู้ที่ลำคอใช่ไหมครับ
๒. เราจะทราบได้อย่างไรว่าจะพิจารณาจิต
๓. เวลานั่งสมาธิ พอนั่งไปนานๆ ได้ระยะหนึ่งมักมีอาการยึด อึดอัด จะแก้อย่างไร?
ตอบ : นี่หลวงตาท่านบอกว่า การปฏิบัติมียากอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับอีกคราวหนึ่งคือคราวจะสิ้นกิเลส
คราวเริ่มต้นนี่หญ้าปากคอก จับผิด จับถูก จับให้มั่นคั้นให้ตาย จับไม่ค่อยได้ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปมันก็จะลังเลสงสัยอย่างนี้ แต่ถ้าภาวนานะทำความสงบของใจได้ แล้วพอใจมันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ตามความเป็นจริง นั่นแหละหลวงตาใช้คำว่า ภาวนาเป็น ถ้าภาวนาเป็นไปได้แล้ว แต่ถ้าภาวนายังไม่เป็น จิตมันยังสงบไม่มีหลักฐานพอ แล้วไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมด้วยความเลอะๆ เลือนๆ ด้วยความงงๆ ด้วยความจับต้นชนปลายไม่ได้ มันก็จะล้มลุกคลุกคลานอยู่อย่างนี้
ยากอยู่คราวหนึ่งคือคราวเริ่มต้น กับคราวหนึ่งคราวถึงสิ้นกิเลส ฉะนั้น คราวเริ่มต้นมันยาก ยากเพราะว่างานที่ไม่เคยทำ งานทางโลกมันก็ลำบาก สาหัสสากรรจ์อยู่แล้วล่ะ แล้วยังต้องภาวนาอีกหรือ? เกิดมาเป็นคนนี่ยุ่งมากเลย เกิดมาเป็นคนก็ทุกข์ขนาดนี้แล้ว ยังจะต้องมาทุกข์ซ้ำ ทุกข์ซ้อน โอ๋ย รำคาญมาก นี่เวลามันคิดไป กิเลสน่ะ ก็มันทุกข์อย่างนี้สิ ก็มันลำบากลำบนอย่างนี้สิเราถึงได้ประพฤติปฏิบัติกัน เพื่อไม่อยากให้มันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างนี้ไง แล้วถ้ามันอย่างนี้ การไม่เกิดไม่ตายมันหนักหนาสาหัสสากรรจ์แค่ไหน?
ฉะนั้น จะมาทำแบบที่ความเข้าใจทางโลกมันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นเรื่องโลกเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่คือว่าทางความคิดทางโลกเป็นใหญ่ แล้วพอทางธรรมล่ะ? ทางธรรมมันก็ปล่อยวางๆ มันก็ปล่อยวางแบบโลกๆ คือวางแล้ว โยนทิ้งๆๆ ไม่เอาๆๆ แล้วไม่มีเลย พูดกันไป มันไม่เป็นความจริงหรอก ถ้ามันเป็นความจริง เห็นไหม เริ่มต้นเราจับพลัดจับผลู ถ้ามันจะยาก จะง่ายเราก็ทำตามข้อเท็จจริงของเรา
ฉะนั้น
ถาม : ๑. ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วมีอาการไม่ชัดที่ปลายจมูก แต่มาชัดที่บริเวณลำคอ จะต้องรู้ที่ลำคอใช่หรือไม่?
ตอบ : บางทีหายใจเข้า หายใจออก เห็นไหม มันก็อยู่ที่ปลายจมูก บางทีมันเคลื่อนไปเคลื่อนมา ถ้าเคลื่อนไปเคลื่อนมา โดยธรรมชาติ โดยทั่วไปไม่ธรรมชาติหรอก โดยการสั่งสอนเขาบอกว่าให้ตามลมหายใจเข้าไปถึงลิ้นปี่ ตั้งแต่ถึงทรวงอก แล้วก็ตามมันออกมาที่ปลายจมูก
หลวงตาบอกว่า เวลาเราเฝ้าประตูบ้าน เวลาแขกมาเยือน เข้ามาในบ้านเราก็เดินตามเขามา พอเดินตามเขามา เห็นไหม ประตูเราทิ้งไว้แล้ว ประตูนี่ใครเข้าออกเราจะไม่เห็นแล้ว แต่ถ้าใครเข้ามานะ เรายืนอยู่ที่ปากประตูบ้านของเรา เขาเข้าเขาออกเราเห็นหมดนะ คนนี้เข้าบ้าน คนนี้ออกแล้ว คนนี้ยังไม่ออก คนนี้เข้าไปแล้วไปอยู่ที่ไหน? ถ้าเรายืนเฝ้าปากประตูเราไว้
ฉะนั้น ท่านถึงย้ำว่าให้เอาที่ปลายจมูกที่ใดที่หนึ่ง ที่ปลายจมูก เห็นไหม เวลาคนภาวนาไม่เป็น จะเริ่มต้นอย่างไร? เริ่มต้นอย่างไรนะ (ฟืด ฟืด) หายใจอุ่นๆ ที่ปลายจมูก ถ้ามันอุ่นๆ ที่ปลายจมูกมันชัดไหม? มันชัด ชัดเดี๋ยวเดียว เดี๋ยวก็เผลอแล้ว ฉะนั้น ถ้าที่ไหนมันชัดใช่ไหม? ถ้ามันชัดปลายจมูก เราเอาปลายจมูกให้ชัดเจนไว้ แต่ถ้ากำหนดลมหายใจแล้วไม่ชัดที่ปลายจมูก แต่ไปชัดที่บริเวณลำคอ ถ้าไปชัดที่ไหนเอาที่ตรงนั้น ชัดที่ไหนเอาตรงนั้นเลย
คนเขาบอกว่าเขาเคยกำหนดที่กลางลิ้นปี่ๆ จะให้เอาที่ปลายจมูกมันทำไม่ถนัด ที่ปลายลิ้นปี่ ปลายลิ้นปี่ก็ปลายลิ้นปี่ เอาที่ปลายลิ้นปี่เลย แต่พอปลายลิ้นปี่สักพักหนึ่ง ปลายลิ้นปี่ก็ไม่ชัดแล้ว มันกลับมาชัดที่ปลายจมูก อ้าว พอชัดที่ปลายจมูกมันก็จะไปที่ลิ้นปี่ อ้าว พอลิ้นปี่ นี่ไงกิเลสมันอ้าง กิเลสมันอ้างไปเรื่อย กิเลสมันร้ายนัก มันจะอ้างมาร้อยแปด นู่นก็ไม่ดี นั่นก็ไม่ได้ ไม่ดีสักอย่างหนึ่ง แต่ถ้าบอกว่าเลิกนี่ดีมากเลย เออ เลิกแล้ว นอนดีกว่า สุดยอดเลย อันนี้ดีที่สุด มันอ้างมันไปเรื่อย แต่ถ้ามันจะชัดตรงไหน ลองกัน
เราจะบอกว่าใครก็แล้วแต่นะมันต้องพิสูจน์ก่อนไง มันชัดที่ปลายจมูกจริงหรือเปล่า? มันชัดที่ลำคอจริงหรือเปล่า? ถ้าจริง จริงก็เอากัน เอาตรงนั้นเลย เดี๋ยวมันก็เคลื่อนอีกแล้ว แต่ถ้ามันเอาให้ชัดๆ ก็ที่ใดที่หนึ่ง แต่ชัดที่ไหน ที่นั่นก็ได้ ได้ทั้งนั้นแหละ เอาที่ไหนก็ได้ แต่ให้มันเป็นที่เป็นฐาน อย่าให้มันหลอกไงได้ถ้าบอกว่าที่ลำคอก็ได้ แต่เมื่อก่อนถ้าปลายจมูกมันดี มันมาลำคอทำไม? เพราะความละเอียดมันไม่ใช่ละเอียดอย่างนี้หรอก
ถ้าเราคิดนะ นี่ทีแรกที่ปลายจมูก แล้วก็มาลำคอ แล้วก็ไปลิ้นปี่มันจะละเอียดขึ้น ไม่ใช่ มันละเอียดมันละเอียดที่ความรู้สึกไง ถ้าปลายจมูก จากปลายจมูกชัดๆ ใช่ไหม? นี่ลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้น คือมันเบาลงๆ คือว่าเบาลงจนจิตมันปล่อยวางได้ นี่มันก็อยู่ที่ปลายจมูกนั่นแหละ แต่มันละเอียดขึ้น การละเอียดขึ้นมันละเอียดตรงนั้นแหละ แต่ถ้ามันเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นที่เราคิดนะ ถ้าละเอียดขึ้นจากปลายจมูกมันก็เข้าไปที่ลำคอ จากลำคอก็ไปที่ลิ้นปี่ จากลิ้นปี่เดี๋ยวมันไปไหนล่ะ? มันจะไปไหนอีก? นี่เวลากิเลสมันหลอกนะ มันอ้างหมดแหละ มันอ้างได้ทุกเรื่องเลย มันอ้างเล่ห์ได้หมดเลย
ฉะนั้น เอาตรงไหนตรงหนึ่งที่หนึ่ง แล้วพิสูจน์กัน ถ้าพิสูจน์แล้วว่าถ้ามันละเอียดก็คือมันละเอียด ถ้ามันย้ายไปย้ายมา ถ้าเรารู้ทันแล้วนะจบ ถ้าเรารู้ทันนะ นี่ปัญญารอบรู้ในกองสังขารเราก็จบ แต่ถ้าปัญญามันเป็นสัญญานะ โอ๋ย พระพุทธเจ้าว่าไว้อย่างนั้นเนาะ อาจารย์ว่าไว้อย่างนั้นเนาะ โอ๋ย มันต้องขยับไปที่นั่นนะ เห็นไหม เราไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง เรารู้ด้วยเราศึกษามา แต่ถ้าเรารู้ด้วยตัวเองนะ เออ เราก็ลองแล้ว อันนี้หลอกทีหนึ่ง พอตามทันแล้วก็จบ เออ อย่าหลอกครั้งที่ ๒ นะ ครั้งแรกจบไปแล้ว นี่ตามไม่ทันแล้วมันจบหมด
ถาม : ๒. เราจะทราบได้อย่างไรว่าจะพิจารณาที่จิต เราจะทราบได้อย่างไร?
ตอบ : คำว่าทราบได้อย่างไรนะมันก็พิสูจน์ทั้งนั้นแหละ เห็นไหม ปัจจัตตัง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราพิจารณากายให้ชัดเจนเลย พิจารณาอะไรก็ได้ให้ชัดๆ แล้วทำให้เต็มที่เลย ถ้ามันได้ผลนะมันจะได้ผล ถ้ามันไม่ได้ผล นี่ไงจะทราบได้อย่างใด? ทราบได้ว่าเวลาภาวนาไปแล้วมันไม่ได้ผล
เวลาภาวนาแล้วละล้าละลัง ภาวนาไปแล้ว ทีแรกนะ ครั้งแรกโอ้โฮ ดีมากเลย พิจารณาไปแล้วมันเข้าอกเข้าใจ มันรู้แจ้งไปหมดเลย พอครั้งที่ ๒ อืม ชักอืดๆ แล้ว ครั้งที่ ๓ ชักไม่เอาไหนแล้ว โอ๋ย พอครั้งที่ ๔ ทีนี้ไปไม่รอดเลย นี่รู้ได้อย่างใด? รู้ได้เพราะว่าเราอัดอั้นตันใจไง รู้ได้เพราะแบบว่ามันไม่มีทางไปไง มันอั้นตู้ไปหมดไง แต่ถ้าพอมันเป็นจริงนะ ถ้าเป็นจริง พิจารณาครั้งที่ ๑ โอ้โฮ ทะลุปรุโปร่ง ว่างหมดเลย ปล่อยวางได้หมดเลย พิจารณาครั้งที่ ๒ โอ๋ย ยิ่งดีเข้าไปใหญ่เลย พิจารณาครั้งที่ ๓ นี่มันไปนะ แต่มันจะมีบ้าง มีบ้างที่ว่ามันไปไม่ได้
มันไปไม่ได้หมายความว่าเวลาจิตมันเบาลง จิตสมาธิมันไม่มั่นคงมันก็เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องธรรมดาเราก็ต้องกลับมาทำความสงบของใจ มันมีอยู่ ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือว่ามันจะเสื่อมโดยข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงหมายถึงว่าของที่มันใช้แล้วมันก็ต้องเสื่อมสภาพ เสื่อมสภาพเราก็ต้องมาซ่อมแซม มาพัฒนามันคือสมาธิ ถ้าสมาธิดีขึ้นมันก็พิจารณาของมันได้ อันนี้อันหนึ่ง อันนี้หมายถึงว่ามันเสื่อมโดยข้อเท็จจริงของมัน แต่ถ้ามันโดยกิเลส โดยที่มันทำไม่ได้มันจะอั้นตู้ไปหมด แล้วมันเป็นไปไม่ได้เลย อย่างนั้นเราก็ทิ้ง ทิ้งแล้วเปลี่ยนวิธี กาย เวทนา จิต ธรรม
แล้วเวลาพิจารณาไปแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพิจารณาจิต ก็พิจารณากายมาเรื่อย ถ้ามันเบื่อหน่าย มันอั้นตู้ก็พิจารณาจิต พอพิจารณาจิตมันก็อั้นตู้ มันเปลี่ยนเอาในปัจจุบัน ถ้าจิตมันเข้าไปเจอปั๊บ จับได้ปั๊บ นี่จับได้ปั๊บพิจารณาไปเลย พิจารณาไปเลยนี่ปัจจุบัน แล้วถ้าคราวหน้าไปมันไม่เจออย่างนี้อีก มันไปเจออย่างอื่น เห็นไหม พิจารณากาย เดี๋ยวเห็นหัวกะโหลก เดี๋ยวเห็นข้อมือ เดี๋ยวเห็นเส้นผม
เห็นแต่ละทีไม่เหมือนกันนะ การเห็นกายนี่ไม่มีเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนั้นสัญญา คือจำแล้ว พอจิตมันสงบไปแล้วนะเดี๋ยวมันเห็นเป็นหัวกะโหลกก็มี เห็นเป็นท่อนแขนก็มี เห็นเป็นหัวใจก็มี เห็นเป็นตับก็มี เป็นครั้งคราวในปัจจุบัน นั่นแหละเขาเรียกปัจจุบัน ปัจจุบันที่เห็นนั่นแหละ จับตรงนั้นปั๊บพิจารณาเลย แต่ถ้าบอกว่าคราวนี้เห็นหัวกะโหลกนะ พอคราวหน้าไปเห็นเป็นเส้นผม ไม่ใช่ ต้องเห็นหัวกะโหลก เห็นไหม สัญญา คือเรามีข้อมูลแล้วเราพยายามจะบังคับให้เป็นข้อมูลที่เรารู้
ฉะนั้น ถ้ามันพิจารณาไปแล้ว
ถาม : นี่จะทราบได้อย่างไรว่าจะพิจารณาจิต?
ตอบ : การพิจารณาจิตมันแบบว่า ที่เราบอกว่าการพิจารณาจิตแบบว่ามันเป็นพุทธจริต คือจริตของปัญญาวิมุตติ ส่วนใหญ่แล้วจะพิจารณานามธรรม นามธรรมคือจิต คือธรรมารมณ์ นี่ถ้าพิจารณาอย่างนี้มันจะไป แต่ถ้าเป็นเจโตวิมุตติเห็นไหม ถ้าเป็นศรัทธาจริต พอจิตมันสงบแล้ว มันพิจารณากายมันจะเห็นกายเป็นภาพเลย เห็นกายเป็นภาพแล้วพิจารณาไป อย่างนี้มันเป็นเจโตวิมุตติ คือว่ามันเป็นไตรลักษณ์ แต่ถ้าพิจารณากายโดยไม่เห็นกาย ไม่เห็นกายคือว่าเห็นด้วยปัญญานี่พุทธจริต พุทธจริตคือจริตของพุทธะ คือจริตของผู้มีปัญญา
ผู้มีปัญญา ส่วนใหญ่ผู้มีการศึกษา ผู้มีปัญญา จะให้เพ่งแล้วให้มันแปรสภาพมันเป็นศรัทธาจริต ศรัทธาจริตหมายถึงผู้ที่มีศรัทธาความมั่นคงแล้วทำอย่างนั้นได้ นี่มันอยู่ที่จริตไง นี่รู้ได้อย่างไร? รู้ได้อย่างไร? ต้องพิจารณาสิ ต้องตรวจสอบสิ ปัจจัตตังๆ เราจะฆ่ากิเลสเรา แล้วบอกว่าหลวงพ่อฆ่ากิเลสให้ทีสิ นี่หลวงพ่อยิงมันเลยกิเลสน่ะ โอ๋ย มันไม่เห็นน่ะสิ มันเจอไม่ได้ เราต้องทำของเราเองไง ฉะนั้น เราต้องพิจารณาของเราเอง
ถาม : ๓. เวลานั่งสมาธิ พอนั่งไปนานๆ ได้ระยะหนึ่งมักมีอาการยึดติด อึดอัด นี่แก้อย่างไร?
ตอบ : แก้ของเราเอง ถ้ามันอึดอัดเราก็ต้องหา มันอึดอัดเพราะอะไร? อึดอัดนะ โดยธรรมชาติเลย คนเราจะภาวนา ถ้ามันรู้สึกว่าเราขัดข้องสิ่งใดในเรื่องของร่างกาย ไปหาหมอ ถ้าหมอพิจารณาแล้วบอกไม่เป็นอะไรเลย ถ้าหมอจะบอกว่ามันเป็นอุปาทาน ไม่เป็นอะไรเลยก็ไม่ใช่ มันเป็นอุปาทาน ถ้าอุปาทานตอนนี้สู้กันแล้ว ถ้าสู้กันแล้ว อึดอัดขัดข้องนี่สู้ได้หมดแหละ
คนเราเจ็บไข้ได้ป่วย เราไปหาหมอ ให้หมอวินิจฉัยเลยว่าร่างกายเราสมบูรณ์ทุกอย่างเลยนะ ทีนี้ร่างกายไม่มีสิ่งใดแล้ว ถ้ามีก็มีเรื่องจิตแล้ว เรื่องจิต เรื่องความรู้สึกนึกคิด ถ้าความรู้สึกนึกคิดปั๊บเราแก้ไขของเรา
ฉะนั้น แบบว่าถ้าคนที่มีกำลังนะ อย่างครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยนะ นี่แบบว่าธรรมโอสถเลย นั่งภาวนาหายหมดเลย หายได้ แต่เวลาถึงที่สุดแล้วนะ เวลาหายเพราะจิตใจเข้มแข็ง รักษาได้หายหมด แต่ถ้าพอมันหมดอายุขัย มันถึงเวลามันต้องเป็นตามนั้น แล้วจิตใจไม่มีหวั่นไหว เพราะว่ารู้เท่าตั้งแต่แรกแล้วว่ามันต้องเป็นแบบนี้ ที่ไหนมีการเกิด ที่นั่นต้องมีการดับ ที่ไหนมีการเกิดขึ้นมาแล้วมันต้องตายแน่นอน
ฉะนั้น ถึงเวลามันหมดสิ้นอายุขัย มันต้องตายก็คือตาย ก็เท่านั้นแหละ ไม่ตกใจอะไรเลย รู้ด้วย เออ หมดภาระเสียที จะไปเสียที จบแล้ว แต่พูดถึงถ้าเราหวั่นไหวมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงว่าเวลาอึดอัดขัดข้องจะแก้อย่างไร? แก้เราต้องแก้ที่ตัวเรา แก้ที่ตัวเรา แก้ที่จิตเรา มันจะได้เป็นที่เราเข้าใจแล้วมันก็จบ ถ้าเราไม่เข้าใจมันก็สงสัยอยู่อย่างนี้ อันนี้จบ
อันนี้มานี่แล้ว ข้อ ๑๐๑๓. จนถึงข้อ ๑๐๒๐. ไม่มีนะ
ข้อ ๑๐๒๑. อันนี้ เห็นไหม คำถามนิดเดียว แต่มันมีปัญหาให้ตอบเยอะมากเลย
ถาม : ๑๐๒๑. เรื่อง ความเบื่อ
มีความเบื่อหน่ายคนใกล้ตัว จะต้องแก้อย่างไรคะ
ตอบ : ความเบื่อหน่ายคนใกล้ตัวจะแก้อย่างไรคะ เห็นไหม จะแก้นะ ถ้าจิตใจเรา เราเข้าใจเรื่องธรรมะ เรื่องอย่างนี้ เรื่องเวรเรื่องกรรมมันจะเข้าใจตรงนี้ คำว่าเข้าใจธรรมะใช่ไหม? คำว่าเข้าใจธรรมะ ธรรม เวรกรรม ใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำไมเรามาเกิดร่วมกัน? ทำไมมาอยู่ใกล้ตัวกัน? ดูสิพ่อ แม่ ลูกอยู่ด้วยกันทั้งนั้นแหละ นี่พ่อ แม่ ลูกอยู่ด้วยกัน กอดกันอยู่อย่างนั้นแหละ ถ้าพูดถึงเข้าใจกัน ทุกอย่างกันมันก็ดี
นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ บุญคืออะไร? บุญของเราก็บอกบุญของเราคือตัวเลขในธนาคาร บุญของเราคือมั่งมีศรีสุข มั่งมีศรีสุขมีความสุขหรือเปล่า? บุญคือในครอบครัว พ่อ แม่ ลูกยิ้มแย้มแจ่มใส คุยกันรู้เรื่อง นี่มีความอบอุ่นในครอบครัว นี่บุญ บุญอยู่ที่นี่ไง ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเกิดมา คนมีบุญมาเกิดมันก็เกิดแล้วดี แต่ถ้าพูดถึงคนใกล้ตัวมันมีมาแล้วทำอย่างไรล่ะ? มันจะแก้ไง แก้อย่างใดคะ?
ถ้าแก้อย่างใด พอมันเบื่อหน่าย พอเบื่อคนใกล้ตัว แล้วก็มีแต่ความคิดวิตก หาแต่จุดบกพร่องของคนใกล้ตัว มันยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ มันเบื่ออยู่แล้ว พอมันเบื่อก็เอาความเบื่อมาวิเคราะห์ วิจัยนะ ตายเลย มันเบื่ออยู่แล้วใช่ไหม? วาง วางเรื่องอย่างนี้ พอวางแล้ว นี่ทำไมคนใกล้ตัวเป็นแบบนี้ล่ะ? อ้าว คนใกล้ตัวเพราะเราเลือกมาเอง (หัวเราะ) เราเลือกมาเอง เราหามาเอง พอหามาเองมันเป็นแบบนี้? แล้วทำไมตอนนั้นคิดอย่างนั้นล่ะ? แล้วตอนนี้ทำไมมันเป็นแบบนี้ล่ะ?
ถาม : มีความเบื่อหน่ายคนใกล้ตัวจะแก้ไขอย่างใด?
ตอบ : จะแก้ไขนะ แก้ไขที่ใจเรา ถ้าแก้ไขที่ใจเรานะหาจุดดีของเขา ถ้าเขามีจุดดีอยู่บ้าง เห็นไหม เขามีจุดดีอยู่บ้าง เขาเคยทำความดีกับเราอยู่บ้าง ทำความดี เราเห็นคุณงามความดีอันนั้น แต่ถ้าสิ่งที่ไม่ดี ไม่ดีทุกคนก็มี เราก็มี ตัวเราก็มีความที่ไม่ดีเหมือนกัน แล้วตัวเรามีความไม่ดี เราเบื่อหน่ายตัวเราไหมล่ะ?
โธ่ เวลาภาวนาไปนะ ในสมัยพุทธกาล เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ว่าเราจะหลีกเร้น พอพระพุทธเจ้าจะหลีกเร้นใครเข้าไปหาไม่ได้ ใครเข้าไปหาเป็นอาบัติปาจิตตีย์ พอพระพุทธเจ้าไปหลีกเร้นปั๊บ เวลาพระภาวนาไปพิจารณาอสุภะไง พอพิจารณาอสุภะไปเห็นร่างกายมันเน่า ร่างกายแบบว่ามันเป็นอสุภะ โอ๋ย น่าขยะแขยงมาก ฆ่าตัวตายนะ ฆ่าตัวตาย แล้วก็ให้เอาบริขาร จ้างให้พระฆ่า พอพระฆ่าเสร็จแล้วไปหาช่างกัลบก คือคนตัดผม บอกว่าบริขารนี้ให้เขา ให้เขาเชือดคอให้พระตาย
นี่พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมาจากที่อันที่วิเวก ถามพระอานนท์
อานนท์ ทำไมภิกษุดูร่อยหรอไป? ทำไมภิกษุดูร่อยหรอไป?
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปลีกวิเวกไป เวลาพระปฏิบัติไปแล้วอัดอั้นตันใจ ฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายเต็มเลย
นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เรื่องเวรเรื่องกรรมไง พอรู้เรื่องเวรเรื่องกรรมก็หลีกเร้นไปซะ พอหลีกเร้นไปซะ พวกนี้ภาวนาไปแล้วเชือดคอตาย เชือดคอตาย จ้างให้พระกับพระเชือดกันเอง แล้วไปจ้างนายกัลบกเชือดคอพระ
นี่ไง เบื่อนี่เบื่อหน่ายอะไร? เรื่องนี้อยู่ในพระไตรปิฎกนะ เรื่องนี้มีจริง มีจริงสมัยพุทธกาลด้วย นี่พูดถึงเราเบื่อหน่ายคนใกล้ตัว แต่นั่นเวลาคนภาวนาไปแล้วมันเบื่อหน่าย แล้วพอสุดท้ายแล้วพระก็ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามันกรรมอะไร? พระพวกนั้นทำกรรมอะไรไว้ถึงได้เป็นแบบนั้น ถึงได้ฆ่าตัวตายเต็มไปหมดเลย แล้วถ้ามันฆ่าตัวตาย นี่เวรกรรมมันถึงขนาดนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงหลีกไปเลยนะ หลีกไปสู่ที่สงัดไม่ให้ใครเข้า ถ้าอย่างนั้นคนต้องไปรายงานไง เพราะมันเวรกรรมของเขามันถึงของเขา
นี่ในธรรมบท อยู่ในธรรมบท พระไตรปิฎกขยายความมา นี่บอกว่าแต่เดิมมีคนอยู่กลุ่มหนึ่ง หมู่บ้านหนึ่งแล้วจับปลาไง ทำสุ่มจับปลาทำด้วยกัน นี่มันทำร่วมกัน กรรมอันนั้นตามมาสนองกับพระภิกษุกลุ่มนั้น นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดอย่างนั้นนะ เราจะบอกว่าถ้ามันมีเวรมีกรรมมันจะมาเข้าตรงนี้ไง ถ้าเบื่อหน่าย เราจะบอกว่านะ ถ้าเราเบื่อหน่ายคนใกล้ตัว แล้วเราก็จะหลีกเร้นจากคนใกล้ตัวนี้ ไปเจอคนข้างหน้าก็จะไปเบื่อหน่ายคนข้างหน้า เพราะคนใกล้ตัวเรารู้ข้อมูลหมดเราก็เลยเบื่อหน่าย อย่างคนข้างนอกเราไม่รู้ข้อมูลเขาเลย โอ๋ย คนนี้ดี คนนี้ดี แต่เข้ามาพอไปรู้ข้อมูลเข้าก็เบื่อหน่ายอีก มันเบื่อหน่ายที่ไหนล่ะ? เบื่อหน่ายที่ใจเรา เบื่อหน่ายที่ใจเรา
เราจะบอกว่ามนุษย์เป็นแบบนี้ เขาก็เป็นแบบนี้ เราก็เป็นแบบนี้ เราไปดูแต่จุดบกพร่องของเขา เราก็เห็นเบื่อหน่าย แต่เราไม่ดูจุดบกพร่องของเรา ทุกคนจะมีจุดบกพร่องทั้งนั้น ไม่มีใครสมบูรณ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ นี่เวลาพูด เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกถึงจุดบกพร่องของท่าน เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงเทศนาว่าการกับพระนะ บอกว่า
เราอำนาจวาสนาน้อย เพราะเราอายุสั้นแค่ ๘๐ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนหน้านั้น ๘๐,๐๐๐ ปี นี่อายุยืนกว่า สร้างสมบุญญาธิการมากกว่า รื้อสัตว์ขนสัตว์ได้มากกว่า
ท่านบอกว่าท่านเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อาภัพ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดนะ เราเป็นศาสดาที่อาภัพ เพราะอายุเราแค่ ๘๐ ปี เราวางธรรมวินัยไว้อีก ๕,๐๐๐ ปี เห็นไหม นี่จุดบกพร่องมันมีมาทั้งนั้นแหละ
ฉะนั้น พูดถึงว่า
ถาม : เมื่อมีความเบื่อหน่ายคนใกล้ตัว จะต้องแก้ไขตัวเองอย่างไร?
ตอบ : คำถามมันมาแค่นี้เอง แล้วเราก็พูดมานี่ ต้องแก้ที่ว่าศึกษาธรรม ศึกษาธรรม เข้าใจเรื่องธรรมะแล้วนะ เรื่องอย่างนั้นวางได้หมด ถ้าเราศึกษาธรรม เราเข้าใจของเรา เห็นไหม ศึกษาที่นี่ เราเข้าใจที่นี่ จับผิดเรา ดูเรา ถ้ามันจะเบื่อหน่ายเขาก็ย้อนมาดูเราเลย ย้อนมาดูตัวเรา แล้วดูความบกพร่องของเรา แล้วก็นี่ถ้าไปกล้าถามเขานะ ถามเขาเลยว่าเขาเบื่อหน่ายเราหรือเปล่า? เขาจะพูดเหมือนเราเลย เขาก็เบื่อหน่ายคนใกล้ตัวเหมือนกัน (หัวเราะ)
เราเบื่อหน่ายเขา เขาก็เบื่อหน่ายเรา แล้วเบื่อหน่ายทำอย่างไร? เบื่อหน่ายแล้วมันเหมือนกับโคเทียมเกวียน เทียมแอก เบื่อหน่ายแล้วเราก็ต้องลากแอกนี้ไป ลากแอกนี้ไปจนกว่าจะหมดอายุขัย เหมือนกับโคมันมีแอก มันต้องลากแอกมันไปจนกว่ามันจะปลดแอกนั้นได้
นี่ก็เหมือนกัน เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจกันทุกคน เราจะลากอันนี้ไปจนกว่าจะหมดอายุขัย แต่ถ้าปัจจุบันนะ เราใช้ธรรมของเราพิจารณาของเรานะมันจบที่นี่ได้ มันพิจารณาจนสิ้น พิจารณาจนเห็นโทษของมัน แล้วมันสละในหัวใจของมัน จบนะ แล้วทีนี้ก็ อืม ไม่หวั่นไหวนะ เหมือนกับหลักปักดินไป ๔ ศอก พ้นจากดินมา ๔ ศอก ลมจะพัดขนาดไหนมันก็ไม่หวั่นไม่ไหว เพราะมันรู้เท่าตามความเป็นจริง มันก็จะหายเบื่อหน่าย
มันแก้ไม่ได้หรอก มันแก้ไม่ได้ ในเมื่อเราอยู่กับสังคมโลกแก้ไม่ได้ เพราะว่าเราอยู่กับสังคมไง สังคมเป็นแบบนี้ คนเป็นแบบนี้ นี่โลกธรรม ๘ มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศทั้งนั้น ธรรมะเก่าแก่ ของมันเก่าแก่ มันมีมาประจำโลก แล้วเราเป็นโลก เราอยู่กับโลก แล้วเราบอกจะไม่ให้มีสิ่งที่เราไม่พอใจเลย จะให้มีแต่สิ่งที่เราพอใจ ไม่มี ไม่มีหรอก โธ่ เทวดาเขายังรบกันเลย นับประสาอะไรกับมนุษย์ เทวดายังรบกันนะ แล้วคิดดูสิว่าเราเป็นมนุษย์เราจะให้เหมือนเรา นี่ถ้ามาแก้ที่นี่นะมันจบได้ไง ไม่อย่างนั้นไม่จบนะ
ข้อ ๑๐๒๒. ไม่มีเนาะ
ข้อ ๑๐๒๓. อันนี้จะพูดเยอะมาก อันนี้จะพูดยาว เพราะคำถามมันมายาวมากเลย
ถาม : ปัญหาใหญ่ในใจ เพราะกิเลสคือเรา เหมือนผีสิงอยู่
ตอบ : นี้คำถามยาวไม่อ่านแม้แต่ตัวเดียวเลยนะ แต่เราจะตอบ คำถามนี้ไม่ขึ้นเลยนะ จบเลยนะ นี่เขาถามมา เขาถามมาว่าเรื่องการปฏิบัติกี่หน้า ๔-๕ หน้า แต่เราจะตอบเป็นคำพูด เพราะว่าเขาพรรณนามาเยอะ แล้วพรรณนามานี่เป็นเรื่องความคิดของเขา แล้วเราออกมามันไม่เป็นประโยชน์ แต่จะตอบ เพราะเขาถามว่า หลวงพ่อต้องตอบให้ชัดๆ ให้ชัดๆ เลยนะ เพราะว่าเขาทุกข์ของเขามาก ถ้าคำตอบชัดๆ ของเรานะ
ถาม : ปัญหาในใจ ปัญหาใหญ่ในใจ เพราะกิเลสคือเรา เพราะกิเลสคือเราเหมือนผีสิงอยู่นะ
ตอบ : ถ้าไปหากิเลสคือเรานะ เพราะในความรู้สึกนึกคิดของเขา เขาน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำสิ่งใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดก็เสียหายไปหมดเลย ถ้าเสียหายไปหมดเลย แล้วก็คิดนะตีโพยตีพายของตัวเองไป ตีโพยตีพายว่าเราเป็นชาวพุทธ เราจะปฏิบัติธรรม เราจะรู้ธรรม เราตีโพยตีพายของเราไปเอง มันเรื่องของเรา นี่มันอ้างเล่ห์ทั้งนั้นแหละ กิเลสมันอ้างเล่ห์ไปหมดแหละ นี่มันตีโพยตีพายเรื่องอะไร?
ในเมื่อบอกว่าเราจะประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติมาแล้วเป็นอย่างนั้น นี่มันเป็นเพราะเราทำของเรามาเอง คนถามทำเองทั้งนั้นแหละ สิ่งที่เกิดขึ้นมาในชีวิตใครเป็นคนบัญญัติ ใครเป็นคนลิขิตชีวิตเรา ชีวิตเราเราลิขิตเองใช่ไหม? มีครอบครัวก็มีเอง มีลูก ๒ คนก็มีลูกเอง แล้วพอมีลูก ๒ คนเอง จะมาประพฤติปฏิบัติ จะเอาลูกมาปฏิบัติ พอลูกมาปฏิบัติบอกว่าเอาลูกปฏิบัติใช่ไหม? ถ้าเอาลูกมาปฏิบัติมันไปกวนคนอื่นไหม? นี่มันเป็นข้อเท็จจริง ถ้ามันเป็นข้อเท็จจริงเราเองทำมา
ชีวิตเรา เห็นไหม กรรม กรรมคือกำมือของเรา กำคือของเรา เราทำของเรามาเอง แล้วถ้าเรากำมาเอง ยิ่งกำแน่นยิ่งกด ยิ่งบีบเข้าไป มันได้อะไรขึ้นมาล่ะ? มันก็ได้ความเจ็บปวดขึ้นมาไง ถ้าเรากำมาแล้วเราแบออกสิ ถ้ามันแบไม่ได้ล่ะ? มันแบไม่ได้เพราะอะไรล่ะ? แบไม่ได้เพราะกำมันเข้าไปอีกไง กำชีวิตเรามาชีวิตหนึ่ง มีครอบครัวก็กำไปอีกชีวิตหนึ่ง มีลูกมาอีก ๒ คนก็กำไป ๔ ชีวิต ยิ่งกำเข้าไปนะ แล้วก็บอก ๔ ชีวิตนี้ต้องมีความเห็นเหมือนเรา นี่ปฏิบัติแล้วต้องปฏิบัติเหมือนกัน
ทุกคนนะ ลูกเกิดมาแล้วมันจะไปโรงเรียนอนุบาลก็บอกให้แม่ไปปฏิบัตินะ ลูกมันจะไปโรงเรียนเอง ลูกมันจะไปศึกษาเอง อ้าว แม่ไม่ต้องมาหากินให้หนูนะ หนูจะหากินเอง หนูจะไปทำธุรกิจมาแล้วจะส่งตัวหนูเองเรียนอนุบาล อย่างนั้นหรือ? นี่โดยวิทยาศาสตร์ โดยข้อเท็จจริงมันก็เป็นแบบนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ เห็นไหม บอกมาปฏิบัติที่วัดนี้ก็ไม่ได้ ไม่ได้เพราะเอาเด็กมา พอเอาเด็กมาแล้ว นี่เด็กมาก็มาได้ เด็กนะมันก็มีโอกาสทำบุญของมัน พอทำบุญของมันแล้วจะเอาเด็กมาภาวนา พอภาวนาขึ้นมาก็รักลูก พอรักลูกขึ้นมา ถึงเวลาแล้วก็จะมาดูแลลูก ดูแลลูกแล้วก็ไปกระทบกระเทือนคนที่ปฏิบัติ
คนๆ หนึ่งไปทำลายหัวใจของคนที่ปฏิบัติอีกร้อยคน พันคน คนๆ นั้นเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ถ้าคนๆ นั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ถ้าคนนั้นเห็นแก่ตัวถึงว่าไม่ให้มาไง ไม่ให้มาคือว่าไม่ให้เอาเด็กมาเหยียบย่ำคนอื่นไง ถ้ามาเหยียบย่ำคนอื่นเพราะอะไร? ก็เรากำมา ชีวิตของเรา เราจะตีโพยตีพายไปทำไม? เราเป็นคนสร้างทั้งนั้น กรรมดีกรรมชั่วเราเป็นคนทำทั้งนั้น เราทำของเรามา ถ้าเราทำของเรามา เราบอกว่านี่เราเป็นชาวพุทธ ปฏิบัติก็ไม่ได้ ปฏิบัติไปแล้วนู่นก็ผิด ครูบาอาจารย์องค์นั้นก็ไม่รักษา ครูบาอาจารย์องค์นั้นก็ไม่รักเรา ครูบาอาจารย์องค์นั้นก็ตอบเราไม่ได้ ครูบาอาจารย์กับเราคนละคนไหม? ครูบาอาจารย์ท่านก็ปฏิบัติของท่านมา เราก็เรื่องของเรา
ถ้าเรื่องของเรา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังช่วยไม่ได้เลย ถ้าคิดอย่างนี้ อ้าว คิดว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องบอกเลยนะ การปฏิบัติต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบ นี่เวลาปฏิบัติแล้วต้องได้ผลตามนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นมานะ จะสอนใครได้อย่างไร? ทอดธุระเลยล่ะ มันทอดธุระ เห็นไหม นี่พอทอดธุระ เพราะคนเราจะเข้มแข็ง คนเราจะมีจริตนิสัยที่ปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ มันสร้างบารมีมามากน้อยแค่ไหน? แล้วความละเอียดของใจมันจะขนาดไหน? จนทอดธุระนะ จนพรหมต้องมานิมนต์
นี่พูดถึงบุคลาธิษฐาน แต่ความจริงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องแสดงธรรมอยู่แล้วแหละ เพราะปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่มันละเอียดลึกซึ้งขนาดนั้น แล้วนี่ใคร? นี่ดูสิครูบาอาจารย์ของเราที่เอ่ยชื่อมาแต่ละองค์ๆ ท่านเป็นใคร? ท่านเป็นใครล่ะ? ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เราเชื่อมั่นกันว่าท่านพ้นจากทุกข์ ถ้าท่านพ้นจากทุกข์แล้ว แล้วท่านจะทำอะไรกับเราล่ะ? ท่านจะทำนะ ท่านจะทำอะไรกับเรา
แล้วคนอื่นล่ะ? คนอื่นใช่ลูกศิษย์ท่านไหม? คนอื่นมีสิทธิปฏิบัติไหม? เขาก็มีสิทธิเหมือนเรานั่นแหละ แล้วเวลาเราปฏิบัติขึ้นมาเราต้องการอะไร? เราก็ต้องการความสงบระงับใช่ไหม? แล้วเราเอาลูกของเรามา เราดูแลลูกของเรา เดี๋ยวก็อย่างนู้น เดี๋ยวก็เสียงดัง เสียงดังเอ็ดลูก แต่คนอื่นไม่ได้ยินนะ คนอื่นเขาไม่ได้ยินหรอก เพราะว่าเขาหูหนวก เราพูดอยู่คนเดียว เราพูด เรารักลูก เดี๋ยวก็เอ็ดคนนู้น เดี๋ยวก็เอ็ดคนนี้ แล้วคนอื่นเขาไม่ได้ยินเนาะ คนอื่นเขาไม่ได้ยินหรอก
นี่ไงเวลาคิดอะไรคิดถึงคนๆ เดียว คิดถึงแต่ความรู้สึกของตัว ไม่ได้คิดถึงคนอื่นเลย ไม่ได้คิดถึงหัวอกคนอื่นเลย แล้วเวลาคิดถึงหัวอกคนอื่นก็มาน้อยเนื้อต่ำใจไง นี่ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำไปแล้วก็มีแต่ความทุกข์ มันอ้างเล่ห์นะ เวลามันอ้างเล่ห์ไปทั้งนั้นแหละ เพราะว่าเรื่องอย่างนี้มันไม่มีใครทำเลย เราทำตัวเรามาทั้งนั้น นี่บอกว่าไปปฏิบัติมา แต่เดิมก็ปฏิบัติมาผิดทาง เมื่อก่อนมุมานะๆ ถ้ามุมานะก็มุมานะไปสิ ในเมื่อผิด ใครเป็นคนไปปฏิบัติล่ะ? ใครเป็นคนเลือกทางปฏิบัติแบบนั้น? ใครเป็นคนเลือก? อ้าว โทษใครล่ะ? ก็ตัวเองเลือก แล้วตัวเองก็ไปปฏิบัติ แล้วปฏิบัติไป
นี่เวลาตัวเองเห็นโทษขึ้นมาแล้วพลิกกลับมา พลิกกลับมานี่มันน่าจะเป็นคุณธรรม เป็นความดี เพราะปฏิบัติมาก็บอกว่าพอมาพุทโธ พุทโธแล้วจิตมันแน่นขึ้น จิตมันดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้นหมด อ้าว แล้วดีขึ้นทำไมไม่ทำต่อไปล่ะ? อ้าว พอทำต่อไปก็มีภาระ อ้าว ภาระใครเป็นคนสร้างล่ะ? ภาระใครเป็นคนสร้าง ก็เราสร้างทั้งนั้น ถ้าเราสร้างขึ้นมา แล้วจะเรียกร้องเอาจากใครล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร? ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ใครทำดีก็ต้องได้ดี ก็ตัวเองสร้างเหตุมา แล้วบอกไม่ให้มีผล อย่างนี้มันก็ไปขัดแย้งกับธรรมของพระพุทธเจ้าสิ
อ้าว พระพุทธเจ้าบอกทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว อ้าว ครอบครัวใครเป็นคนไปแต่งงานมา? ลูก ๒ คนมันเกิดมาจากใคร? อ้าว ก็ตัวเองทั้งนั้น อ้าว ก็เกิดจากตัวทั้งนั้น พอเกิดจากตัวขึ้นมา แล้วโทษใคร? แล้วจะตีโพยตีพายเอากับใคร? จะตีโพยตีพายเอากับใคร? ทำไมไม่บอกว่ากิเลสเรามันเลวนัก กิเลสเรานี่มันเห็นแก่ตัวนัก กิเลสเราเวลาจะมีครอบครัวก็พอใจจะมีนัก เวลามีลูกมาก็พอใจนัก แล้วทีนี้จะมาโทษใคร? จะมาโทษใคร?
นี่ประสาเรานะ ถ้าเรายังตีโพยตีพาย ยังร้องแรกแหกกระเชออยู่อย่างนี้มันเหมือนกับเมื่อกี้นี้ มันเหมือนกับว่าเบื่อคนใกล้ตัว ไอ้นี่มันไม่เบื่อความคิดของตัว ก็ความคิดของตัวทำลายตัวทั้งนั้น เวลาเขาปฏิบัตินะ ดูสิเวลาพระโพธิสัตว์ที่ว่าเป็นกระรอก พอเขาเป็นกระรอกเขามีลูกนะ เขาอยู่ชายทะเล มันมีรังของมันไง แล้วลมนี่พัดรังกระรอกตกไปในทะเล
ทีนี้แม่กระรอกนะมันเห็นลูก มันรักลูกมันมาก มันไปที่ชายทะเลนะ มันเอาหางจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด เอาหางกระรอกจุ่มน้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด ขึ้นมาสะบัด ทำอยู่อย่างนั้นแหละ มันไปหาอาหารมาเสร็จแล้วมันก็มาเอาหางจุ่มน้ำทะเลแล้วขึ้นมาสะบัด ขึ้นมาสะบัด จนเทวดาเห็น นี่ความเพียรของมันไง เทวดาทนไม่ไหว เทวดาแปลงเป็นเทพบุตรมาถามกระรอก
กระรอก กระรอกทำอะไรเนี่ย?
กระรอกว่า จะจุ่มน้ำ จะเอาน้ำทะเลขึ้นมาสะบัดให้แห้ง
อ้าว เอาน้ำทะเลสะบัดให้แห้งเลยนะ กระรอกมีความคิดว่าเอาหางจุ่มน้ำทะเลสะบัดๆ จนกว่าน้ำทะเลจะแห้ง
ทำทำไมล่ะ?
จะเอาลูก รักลูก
ลูกนี่มันอยู่บนต้นมะพร้าว อยู่ข้างชายทะเล ลมมันพัดรังกระรอกมันตกลงไปในทะเล กระรอกตัวนั้นมันจะเอาหางมันจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด ขึ้นมาสะบัด จนกว่าน้ำทะเลจะแห้ง ทำเพื่ออะไร? อยากจะเอาลูกคืน รักลูก อยากได้ลูกคืน กระรอกนะมันไม่โวยวาย มันไม่ตีโพยตีพาย มันไม่ไปโทษต้นมะพร้าว มันไม่โทษลม มันไม่โทษทะเล มันไม่โทษอะไรเลย แต่มันใช้ความเพียรของมันเอาหางจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัด เอาหางจุ่มน้ำทะเลขึ้นมาสะบัดเพื่อให้น้ำทะเลนี้แห้ง
นี่ความคิดของกระรอกมัน มันพยายามทำของมัน จนเทวดานั้นเห็นความเพียร เห็นความเพียร เห็นความมุมานะ เทวดานั้นใช้ฤทธิ์เอาลูกกระรอกคืนมาให้กระรอกนั้นได้ กระรอกมันไม่ตีโพยตีพาย ไม่โวยวาย ไม่เดือดร้อน ไม่ทำให้ใครมีความกระเทือน มันเอาหางมันไปจุ่มน้ำขึ้นมาสะบัด เอาหางมันไปจุ่มน้ำขึ้นมาสะบัดเพื่อให้น้ำนั้นแห้ง เพื่อมันจะเอาลูกของมันขึ้นมา นี่ไงมันเป็นสัตว์ มันยังมีความคิด นี้เป็นคน แล้วอ้างว่าเป็นนักปฏิบัติด้วย แล้วนี่ว่าเป็นอย่างนั้นๆ เป็นไปหมดเลย มันเป็นวิบาก มันเป็นวิบากหมายความว่าเหตุนี้มันเกิดแล้ว มันเป็นวิบาก มันเป็นผล แก้ไม่จบหรอก แก้ไม่ได้
เรายังไม่พูดไปมากกว่านี้นะ เรามองไว้แล้วว่าถ้าอย่างนี้มันเผาลนตัวเองไง มันเอาแต่ฟืน แต่ไฟเผาลนตัวเอง แล้วก็บ่นว่าร้อน ร้อน บ่นว่าทุกข์ ทุกข์ แต่ก็เอาแต่กิเลสเผาเข้าไป เผาเข้าไป ภาวนาก็อ้างว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนี้ ไฟไหม้ฟาง ภาวนาจริงหรือไม่จริง ถ้ามันจริงมันไม่มีเหตุมาอย่างนี้หรอก ถ้ามันมีเหตุมาอย่างนี้ มันมีเหตุมาอย่างนี้ใครสร้างล่ะ? เหตุอย่างนี้ใครสร้างมา? ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ถ้าทำดีมันจะเป็นอย่างนี้ไหมล่ะ? ถ้าทำดีมันจะไม่มีเหตุมีปัจจัยให้กระเทือนเลยแหละ
ดูสิเวลาครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่มั่นท่านไปทำให้ใครเดือดร้อนบ้าง? เวลาไปอยู่อุบลฯ นี่เขาตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัด เห็นไหม ไม่ยอมเขา หนีมาๆ ไม่ยอมเป็น ตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดก็ไม่เอา ตั้งให้เป็นอะไรก็ไม่เอา ไม่เอาทั้งนั้นจะอยู่ป่า พออยู่ป่า นี่ฝ่ายปกครองเขาตามเลย ตามบอกว่าอย่าใส่บาตรให้กินนะ เห็นแก่ตัวๆ เห็นแก่ตัวไหม? หลวงปู่มั่นเห็นแก่ตัวไหม? ถ้าหลวงปู่มั่นเห็นแก่ตัว หลวงปู่มั่นไม่อยู่ป่า อยู่เขา หลวงปู่มั่นไม่ประพฤติปฏิบัติ หลวงปู่มั่นไม่วางธรรมมา มันจะมีกรรมฐานมาไหม? มันจะมีหลักกรรมฐานมา มันจะมีพุทโธ พุทโธที่ภาวนากันจนลูกศิษย์ลูกหาเป็นพระธาตุมันจะมีไหม?
นี่โลกว่าเห็นแก่ตัวๆ ใครก็ว่าเห็นแก่ตัวๆ แต่เห็นแก่ตัวทำไมมันสร้างประโยชน์กับโลกเขาได้ขนาดนี้? ไอ้คนที่ว่าคนเก่ง คนดี ไอ้คนที่จมมั่วสุมอยู่นั่นมันเอาความดีมาจากไหน? นี่มันมีเหตุของมัน ถ้ามันมีเหตุของมัน แล้วเหตุนี่เราสร้างทั้งนั้น มันไม่มีใครสร้าง เราสร้างเหตุมา เราไปเป็นหนี้มา ไปกู้หนี้ยืมสินมาเต็มเลย แล้วจะเรียกร้องให้คนมาใช้แทนเรา นี่ไปกู้หนี้ยืมสินมา ไปค้ำประกันเขามาทั้งนั้นเลย แล้วก็มาตีโพยตีพายว่าฉันเป็นหนี้ ฉันเป็นหนี้ ทุกคนต้องร่วมกันใช้หนี้ให้ฉัน ทุกคนต้องร่วมกันใช้หนี้ ถ้าไม่มีใครร่วมกันใช้หนี้ พวกนี้เห็นแก่ตัว ทำลายฉันอยู่คนเดียว อ้าว ถ้าใครเอาเงินมาช่วยเราใช้หนี้ เออ คนดี โอ๋ย พวกนี้คนดีเนาะ เขาช่วยเหลือเราเนาะ เป็นอย่างนั้นไหม?
มันเป็นอย่างที่เราคิดเท่านั้นแหละ อ้างเล่ห์ไปเรื่อย เราอ้างเล่ห์ของเราไปเอง อ้างเล่ห์ของเราไปเอง ถ้าอย่างนี้นะมันเดือดร้อนกันไปหมด มันเดือดร้อนเพราะเราไปทำให้เขาเดือดร้อนเองไง เพราะเรามีความคิดอย่างนี้ไง ถ้าเรามีความคิดที่ดีๆ นะ เราทำของเราสิ ทำของเรา ปฏิบัติของเรา ถ้าทำได้ก็มันทำได้ ในเมื่อเราเป็นคนสร้างมาทั้งนั้นแหละ มันต้องเป็นสุภาพบุรุษสิ เราทำสิ่งใดมาเราต้องยอมรับความจริง เราทำผิดก็ยอมรับว่าผิด ทำถูกก็ยอมรับว่าถูก
นี่ไงพูดถึงนะ อริยวินัย ผู้ใดทำความผิด แล้วรู้ตัวว่าทำความผิดนะปลงอาบัติ นี่ผู้ใดที่ทำผิดแล้วยอมรับผิด แล้วตัวเองสารภาพบาป สารภาพว่าผิด แล้วจะไม่ทำผิดอีก นี่การปลงอาบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชมว่าเป็นอริยวินัย เป็นอริยประเพณี ประเพณีของผู้ที่ทำสิ่งใดมา แล้วรู้ของเขามา ไอ้นี่ทำมาเองหมดเลย แล้วจะไปโทษใครล่ะ? แล้วพอโทษใคร ของมันเป็นวิบาก มันเป็นผลไปแล้ว ใครจะย้อนอดีตเข้าไป จับลูก ๒ คนยัดกลับเข้าไป จับลูก ๒ คนยัดกลับเข้าไป จับลูก ๒ คนยัดเข้าไปอย่างเก่าไม่ให้มันเกิดมา แล้วมันเกิดมาแล้ว แล้วมาบ่นเอาอะไร? แล้วมาวุ่นวายอะไร?
มันอ้างเล่ห์ไง เราจะบอกว่ามันผิดมาตั้งแต่ต้น เราเป็นคนทำมาเอง ใช่เราอยากประพฤติปฏิบัติ เราอยากจะพ้นทุกข์ อยากขนาดไหน? ในเมื่ออยากขนาดไหนเราสร้างปัญหามาขนาดนี้ เราก็ต้องแบกปัญหานี้ไปพร้อมกับเรา ถ้าเราไม่สร้างปัญหาสิ่งใดๆ มา เราไม่สร้างอะไรมาเป็นภาระเราเลย เราปฏิบัติก็ง่ายใช่ไหม? นี่เราสร้างของเราขึ้นมาเอง สัมภาระรุงรังของเราเอง เราก็ต้องแบกสัมภาระรุงรังของเราไปด้วยสิ ก็เอ็งสร้างมา สร้างมาแล้วเอ็งจะปฏิเสธได้อย่างไร?
นี่เพราะเขามาหาเราไง เขามาถาม เขาบอกว่า อย่าตอบนะว่าต้องให้ลูกโตก่อน
เราก็บอกว่า อย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องให้เขาพออยู่ตัวเขาได้ แล้วจะมาปฏิบัติก็อีกเรื่องหนึ่ง
นี่เขียนมาเลยนะ บอกว่า ห้ามตอบนะว่าต้องให้ลูกโตก่อน
อ้าว ก็สัมภาระของเอ็ง ถ้าลูกไม่โตก่อนจะไปฝากใครเลี้ยง จะไปที่เด็กกำพร้าใช่ไหม? เอาลูกไปฝากไว้ที่เด็กกำพร้านั่น แล้วมาปฏิบัติธรรม มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ พูดอย่างไรมันก็เป็นไปไม่ได้ ยอมรับความจริงซะ ยอมรับเหตุ รับผล ยอมรับความจริงว่าตัวทำอะไรมา ตัวทำสิ่งใดมาก็ต้องยอมรับความจริงอันนั้น ถ้ายอมรับความจริงอันนั้น ก็แก้ตามความเป็นจริงนั้นมันก็จบ สร้างแต่ปัญหามา แล้วไม่ยอมรับความจริง แล้วตีโพยตีพาย แล้วพยายามจะปฏิเสธปัญหาที่ตัวสร้างมา แล้วจะเอาปัญหานี้ไปคล้องคอคนอื่น แล้วบอกว่าตัวเองเป็นทุกข์ๆ ไม่มีใครเมตตา ไม่มีใครเห็นใจ
เขาเห็นใจทั้งนั้นแหละ แต่ปัญหามันเป็นปัญหาส่วนบุคคล (โทษนะ) ในครอบครัวของเรา คนอื่นเข้ามาจุ้นจ้านในครอบครัวของเรา เราพอใจไหม? ไม่มีใครพอใจสักคนใช่ไหม? นี่ก็ครอบครัวของเขา ก็เวลามีครอบครัวก็ครอบครัวของเขา เขาก็ควรจะดูแล ควรจะทำอะไรให้ครอบครัวเขาให้จบ แล้วถ้ามันไม่จบแล้วทำอย่างไรล่ะ? สิ่งที่มันเป็นวิบากมันเป็นผลแล้ว ถ้าเป็นผลแล้ว เราสร้างปัญหามามันขัดแย้งกันไง
ขัดแย้งถ้าเราทิ้งปัญหาก็แสดงว่าเราเองไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง พอไม่ซื่อสัตย์กับตัวเอง พอมาปฏิบัติมันก็ไขว้เขว เพราะอะไร? เพราะเวลาปฏิบัติแล้วมันก็จะไปคิดแต่ตรงนั้นแหละ มันจบไม่ได้หรอก เหมือนกับพระเราปลงอาบัติ ถ้ามีสิ่งใดเราก็ปลงอาบัติซะ อย่าให้มีอะไรตกค้างในใจ แล้วเวลาปฏิบัติมันก็ปฏิบัติง่าย แต่ถ้าเราเอาปัญหาซุกใส่พรมไว้ แล้วเราปฏิบัติ ปัญหานั้นมันจะมาหลอกหลอนตลอด
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อปัญหามันมีอย่างนี้ นี่เอาปัญหานี้ไปซุกไว้ แล้วก็ว่าจะมาปฏิบัตินะ อู๋ย เราจะเป็นพระอรหันต์นะ มันจะหันไหวไหมล่ะ? มันจะหันกลับไปคิดแต่ลูกทั้งวัน พอนั่งภาวนาก็ลูกกินนมหรือยัง? พอนั่งภาวนา ลูกนอนหรือยัง? พอนั่งภาวนา เออ ลูกเรียนหนังสือที่ไหน? มันคิดไปทั้งนั้นแหละ มันไม่จบหรอก ต้องทำเรื่องให้มันจบ ถ้าเรื่องมันจบแล้วนะ เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง ทุกอย่างเขาพร้อมแล้ว เออ เราส่งเขาขึ้นฝั่งแล้วนะ เราจะมาภาวนา จะอะไรมันก็สบาย มันก็ทำได้
ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่อย่าอ้างเล่ห์ มันเป็นการอ้างเล่ห์ไง อ้างเล่ห์แล้วมันอ้างแต่ว่าตัวเองดี ตัวเองถูกไปหมดแหละ แล้วสิ่งต่างๆ ผิดไปหมด ทั้งๆ ที่เราเห็นมาตลอด แต่คำถามวันนี้เขียนมาเต็มที่เลยว่าหลวงพ่อให้ชัดๆ แล้วอย่าเบี่ยงๆ นี่ถ้าไม่เบี่ยงก็พูดอย่างนี้ วันนี้พูดไม่เบี่ยงเลย ตรงๆ ชัดๆ มันไม่จบหรอก ก็ตัวเองสร้างปัญหาเอง ตัวเองสร้างปัญหาของตัวเองนะ ถ้าสร้างปัญหาของตัวเองก็ต้องแก้เอง ถ้าเราแก้เองนะ ครูบาอาจารย์ช่วยก็ช่วยชี้ทาง ช่วยบอก ช่วยแนะ ถ้าช่วยบอก ช่วยแนะ แล้วนี่ในครอบครัวล่ะทำอย่างไร?
ในครอบครัวนะ ภิกษุชักสื่อให้หญิงกับชายแต่งงานกันเป็นอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดยุแหย่ให้ครอบครัว ผู้ที่แต่งงานกันแล้วแยกจากกัน หรือเลิกกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดชักสื่อให้หญิงกับชายแต่งงานกัน ได้เสียกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุพูดให้ครอบครัว ให้สามี ภรรยาแยกจากกัน เป็นอาบัติสังฆาทิเสส
นี่ไงแล้วเราจะเข้าไปยุ่งได้อย่างไร? เราจะเข้าไปยุ่งอะไร? ในเมื่อครอบครัวของเขา แต่พอมาหาเราเราก็ช่วยเหลือเต็มที่ๆ นะ เต็มที่ในความที่ทำแล้ว สิ่งใดทำแล้วเสียใจภายหลังไม่ดีเลย เห็นไหม เราทำด้วยสติปัญญาไง สิ่งใดทำแล้วไม่ให้เสียใจภายหลัง ไม่ให้บาดหมาง ไม่ให้กระทบกระเทือน เราก็ช่วยได้เต็มที่ นี่ช่วยแบบเต็มที่เลย แต่เขาคิดไม่ถึงไงว่าพระเขามีอะไรครอบ มีธรรมวินัยครอบเขาอยู่ คฤหัสถ์เขาก็มีอะไร มันเป็นสิทธิเสรีภาพของเขาอยู่ แล้วเรื่องของครอบครัว นี่ปัญหาสถาบันครอบครัวก็ควรให้มั่นคง
นี่เราคิดของเราอย่างนี้ เราคิดของเรา เราถึงว่าพระก็เป็นสังคมหนึ่ง สังคมในสังคม ครอบครัวก็สังคมหนึ่ง แล้วยังเรื่องเวร เรื่องกรรม เรื่องที่ อู๋ย ร้อยแปดเลย นี่ไม่พูดออกมา แต่วันนี้เขียนมาเกือบ ๑๐ หน้า ชัดๆ อย่างเดียวเลย อย่าเบี่ยงๆ ถ้าไม่เบี่ยงก็ชัดเจนแล้วเนาะ เอวัง