ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ไม้เท้า

๓ ส.ค. ๒๕๕๕

 

ไม้เท้า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๐๒๔. ข้อ ๑๐๒๕. ไม่มี

ข้อ ๑๐๒๖. เรื่อง “กราบขอบพระคุณ” ไง

ถาม : กราบขอบพระคุณหลวงพ่อกับคำแนะนำ ตอนแรกจะไม่เรียนถาม แต่ก็ตัดสินใจถูกที่ถาม เพราะทำให้ใจพัฒนาขึ้น

ตอบ : นี่เขาตัดสินใจ คือว่าเรากำกวม เราคิดสิ่งใด เรารู้สิ่งใดมันเป็นความสงสัย จะถามหรือไม่ถาม? ฉะนั้น พอถามแล้วเขาได้ประโยชน์ คำถามที่เขาถามมาเราเคลียร์ให้เขาไป พอเคลียร์เขาไป นี่ตัดสินใจถูกที่ถาม เพราะทำให้ใจพัฒนาขึ้น แต่ถ้าตัดสินใจไม่ถูก นี่คำแนะนำหลวงพ่อ ถ้าไม่มีคำแนะนำเราก็ย่ำอยู่กับที่ พอย่ำอยู่กับที่นะเราเข้าใจว่าเราเข้าใจไง ถ้าเราเข้าใจ ธรรมะ เห็นไหม ธรรมะหยาบ

หลวงตาท่านพูดบ่อย “มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด”

คำนี้เราเอามาพูดบ่อยมากเลย เอามาพูดบ่อยมากว่าคนเราความรู้สึกนึกคิดมันมีหยาบ มีละเอียด ละเอียดสุด ความละเอียดลึกซึ้งนั่นแหละ แล้วเวลาคนที่ปฏิบัติมา พอใครเกิดมีปัญญาจะมารายงานเราประจำ

“โอ้โฮ หลวงพ่อ จุ๊ๆๆ มันละเอียดมาก มันละเอียดมาก”

ไอ้นั่นมันแค่หญ้าปากคอก มันยังไม่ทำอะไรเลย เพราะเขาไม่เคยรู้เคยเห็นไง

“โอ้โฮ หลวงพ่อมันละเอียดมาก มันละเอียดมาก”

ละเอียดที่เอ็งว่าละเอียดๆ เอ็งปฏิบัติไปเถอะ มันจะละเอียดกว่านี้อีกเยอะ ถ้ามันจะละเอียดกว่านี้อีกเยอะเพราะเหตุใด? เพราะเวลาเป็นสติ สติมันเป็นพื้นฐาน พอมันละเอียดเข้าไปแล้วมันเป็นมหาสติ มันเป็นมหาสตินะ สติที่เราทำกันอยู่นี่ ที่ว่าล้มลุกคลุกคลานกันอยู่นี่ แต่ถ้าจิตมันละเอียดมันไม่เป็นมหาสติ มหาปัญญา มันตามความรู้สึกนึกคิดอันนั้นไม่ทันหรอก ถ้ามันตามความรู้สึกนึกคิดอันนั้นมันทัน เห็นไหม มันละเอียดเข้าไป

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติมาท่านจะผ่านอย่างนี้มาหมดแล้วล่ะ ฉะนั้น ผ่านอย่างนี้มาหมดแล้ว ถึงบอกว่ามรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด มันเป็นการเผดียงไว้ไง เตือนไว้ๆ ว่าสิ่งที่ว่าละเอียดมาก เราทำนี่มันสุดยอดมาก ยังอีกไกล ยังต้องทำเข้าไปอีกเยอะนัก ถ้ามันทำไม่ไปอีกไกลนะมันก็วังวน วังวนอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกของตัว ถ้าความรู้สึกของตัวมันเป็นธรรมะไหม? เป็น เป็นธรรมะเพราะอะไร? เพราะมันไม่เป็นโลกไง

ถ้ามันเป็นโลกนะเราก็เป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน อารมณ์ที่อยู่กับโลกใช่ไหม? แต่เราเป็นธรรมะมันก็วนอยู่ในธรรมะ แล้วมันไปไหนล่ะ? มันก็วนอยู่นั่นไง มันก็วนอยู่นั่นแหละ มันวนอยู่นั่นเพราะอะไร? มันวนอยู่นั่นเพราะการปฏิบัติไม่เสมอต้นเสมอปลาย การปฏิบัติเสมอต้นเสมอปลาย การปฏิบัติสม่ำเสมอ การปฏิบัติสม่ำเสมอ เห็นไหม เหมือนเราปรุงอาหาร ถ้าเรารักษาของเราอยู่ เราอุ่นอยู่ เราดูแลอยู่มันจะเสียไหม? ไม่เสียหรอกไม่เสีย แต่ถ้าเราไม่ดูแลอยู่นะ ปล่อยไว้เดี๋ยวก็เน่า

นี่ก็เหมือนกัน แต่พอจิตเรามันอยู่กับธรรมไหม อยู่นี่มันอุ่นกินอยู่ มีสติมีปัญญารักษาอยู่ มันก็วนอยู่นั่นแหละ นี่มรรคหยาบ แต่มันละเอียดขึ้นไปอีกไหม? ไม่ ไม่ละเอียดขึ้นไปเพราะอะไร? เพราะความปฏิบัติ คำว่าเสมอต้นเสมอปลายมันทำของมันต่อเนื่อง พอทำต่อเนื่อง ดูสิตบะธรรม อย่างเช่นเราทำอาหาร พออุณหภูมิมันได้ ความร้อนมันได้ อาหารมันสุกแน่นอน อาหารมันสุกแล้วทำอย่างไรต่อไป? เราต้องดูแลนะ ถ้าไม่ดูแลเดี๋ยวมันก็ไหม้ พอไหม้แล้วอดเลย กินก็ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเราปล่อยให้มันไหม้ แต่ถ้าเราดูแลอยู่ล่ะ? ดูแลอยู่มันก็นี่มรรคหยาบ

มรรคหยาบเราต้องดูแลรักษาของเรานะ เพราะอะไร? เพราะมันโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค มรรคผลมันไม่เหมือนกันหรอก ถ้ามันเหมือนกันขึ้นมาทำไมต้องมีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค ทำไมไม่มีมรรคเดียวแล้วจบไปเลยล่ะ? มันไม่ได้ มันไม่ได้เพราะอะไร? เพราะหลานของกิเลส พ่อของกิเลส เห็นไหม หลานกิเลส ลูกกิเลส พ่อกิเลส ปู่กิเลส กิเลสแต่ละระดับมันไม่เหมือนกัน หลานกับปู่วุฒิภาวะมันแตกต่างกันอยู่แล้ว

หลานนี่เด็กๆ มันจะหลอกเราขนาดไหน ขนาดเด็กๆ ล้มลุกคลุกคลาน เดินไม่เป็นอยู่นี่ แล้วยังไปเจอลูกนะ พอเจอลูกไปเจอพ่อ พ่อก็กามราคะ ตัวพ่อนี่ตัวร้ายมาก กามราคะ ปฏิฆะตัวนี้ทำให้สัตว์โลกติดอยู่ นี่ถ้าทำลายพ่อมันได้นะ เพราะทำลายพ่อมันเสร็จ เพราะมันมีปู่ ปู่คือพญามาร ปู่คืออวิชชา แล้วถ้าปัญญาอันเดียว ปัญญาที่เราต่อสู้กับหลานมัน ต่อสู้กับเด็กทารก ต่อสู้กับเด็กๆ นี่ เด็กๆ นี่เรามีท็อฟฟี่ให้มันก็พอใจแล้ว มันจะเอาอย่างที่มีก้านถือ มันไม่เอาของมัน

แค่มีขนมหลอกมันก็ได้แล้วเด็กๆ นี่ แล้วลูกมันล่ะโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นแล้ว ไม่ได้แล้วมันมีพรรคมีพวกแล้ว มีเพื่อนมีฝูงของมันไปแล้ว ยิ่งพ่อนี่นะรับผิดชอบในครอบครัว สิ่งที่วุฒิภาวะของเขาต้องสูงกว่า ยิ่งปู่ ย่า ตา ยายเขาผ่านโลกมาเยอะนะ เขามองเราออกนะ เขาเข้าใจเลย ตั้งแต่เด็กมาจนถึงแก่เฒ่าเขาผ่านโลกมาเยอะ ฉะนั้น มรรคหยาบ มรรคละเอียด

ทีนี้คำว่ามรรคหยาบ มรรคละเอียดเราก็บอกว่าละเอียดๆ ละเอียดนี่เรื่องความรู้สึกนึกคิดของเรา เพราะเราไม่เคยรู้เคยเห็น แม้อยู่เวลาทางโลกเราก็สำมะเลเทเมาไปกับโลก พอมาวัดมาวา มาถือศีล มาประพฤติปฏิบัติว่าฉันเป็นคนดีแล้ว ฉันดีกว่าพวกนั้น พวกนั้นสำมะเลเทเมา เห็นไหม ทิฐิมันมีแล้ว เราดีกว่าเขา เราสูงกว่าเขา แล้วถ้ามันย่ำอยู่ตรงนั้นมันจะไปไหนต่อ? เราปฏิบัติของเราไป เราจะดีกว่าเขา จะยอดเยี่ยมกว่าเขาขนาดไหน ดูสิจิตใจเราร่มเย็นไหม? ถ้าจิตใจไม่ร่มเย็นเดี๋ยวรู้ เพราะอะไร? เพราะมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญเป็นธรรมดา ไม่มีสิ่งใดคงที่ สิ่งใดมันต้องแปรปรวนเป็นธรรมดา ถ้าแปรปรวนเป็นธรรมดา เราจะมีสิ่งใดจะแก้ไขมัน

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าคำถาม

ถาม : กราบขอบพระคุณมาก ตอนแรกคิดว่าจะไม่ถาม แต่ตัดสินใจถูกที่ถาม เพราะถามแล้วใจพัฒนาขึ้น

ตอบ : นี่ใจพัฒนาขึ้น เราไม่ใช่เอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่อง แบบว่าเอามาเป็นเครื่องประกาศตนว่ามีความสำคัญ ไม่ใช่ แต่เห็นว่าการตัดสินใจ การตัดสินใจ สิ่งที่เรารู้ เราเห็นขึ้นมาเขาเรียกว่าถ้ามีครู มีอาจารย์ชี้ความบกพร่อง ชี้ความขาดตกบกพร่องของเรา แล้วเราได้พัฒนาขึ้น สิ่งนั้นสำคัญมาก ถ้าสำคัญมากมันก็พัฒนาของมันขึ้นไป

นี่ไงเวลาอยู่กับครูบาอาจารย์ก็เป็นแบบนี้ ครูบาอาจารย์ท่านรู้หมดแหละ เพราะว่ามันเป็นกระบวนการครบวงจรของเขา วงจรของการปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วในวงจร ในธัมมจักฯ ถ้าไม่มี ๓ รอบ ไม่มีกิจญาณ สัจญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีกิจญาณ ๓ รอบนี้เราจะไม่ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ เพราะมันมีกิจญาณ มีสัจญาณ มีความจริงที่เกิดขึ้นมาในใจของเรา เราถึงปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ นี้เวลาพระพุทธเจ้าปฏิญาณตนกับลูกศิษย์ไง ถ้ามันไม่มีกิจญาณ กิจญาณคือกิจ การกระทำของใจ มีสัจจะ มีความจริงในใจ ถ้ามีความจริงในใจมันก็เป็นความจริงขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา สิ่งนี้เวลาวงรอบ วงจรของการปฏิบัติมันมีของมัน

นี่ก็เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านวงจรอย่างนี้มาแล้ว แล้วอย่างพวกเราเด็กฝึกหัด ถ้าเด็กฝึกหัดก็ทำอย่างนี้ พอเด็กฝึกหัด นี่สุดยอด สุดยอด สุดยอดอย่างไรเราก็เก็บไว้เป็นเครื่องประดับในใจเรานะ ผลงานของเรา การกระทำของเรามันเป็นผลงานของเรา ถ้าผลงานของเรา เห็นไหม นี่ถ้าเราพัฒนาขึ้น พัฒนาขึ้น มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด พอมันละเอียดเข้าไปมันก็รู้ พอรู้ขึ้นมามันก็ย้อนกลับมาฝึกสอนผู้ปฏิบัติใหม่ ผู้ปฏิบัติใหม่ก็จะก้าวเดินตามเรามานี่แหละ ผู้ปฏิบัติใหม่ จิตของเขาก็ต้องพัฒนามาอย่างที่เราพัฒนานี่แหละ

จิตเหมือนกัน จิตเหมือนกัน จิตที่มีกิเลสเวียนตายเวียนเกิดเหมือนกัน เวลาชำระก็ชำระเหมือนกัน แต่มันไปสำคัญที่ว่าพันธุกรรมของจิต พันธุกรรมของจิตคือจริตนิสัยไง ถ้าจริตนิสัย การกระทำ นี่จิตเหมือนกัน มีกิเลสเหมือนกัน เกิดตายเหมือนกัน แต่เวลาปฏิบัติไปไม่เหมือนกัน แม้แต่พิจารณากายเหมือนกันก็ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะว่าอำนาจวาสนาบารมีของคนไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเวลามรรคสามัคคี จิต ทำสมาธิมันมีความสมดุลแค่ไหน? ถ้าจิตของคนที่สร้างบารมีมามาก สมาธิมันแค่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นี่เขาก็ใช้ปัญญาของเขาไปได้แล้ว แต่ถ้าคนเรานะสมาธิ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ปัญญายังไม่ก้าวเดินเลยเป็นเพราะอะไร?

นี่ย้อนกลับมาที่เด็กไง เด็กที่ความรู้สึกนึกคิดไม่เหมือนกันนี่ไง จิตใจของคนก็ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกันแล้วปฏิบัติไง แต่มรรคอันเดียวกัน เวลามรรคสามัคคีเหมือนกัน แต่เป็นเพราะว่าจิตมันหยาบ มันละเอียด มันมีทิฐิมานะแตกต่างกัน พอมีทิฐิมานะแตกต่างกันเขาเรียกตรงจริต ตรงนิสัยไง ถ้ามันตรงจริต ตรงนิสัยมันเข้าไปถึงความสมดุลของทิฐิอันนั้น ทิฐิของใครเข้มแข็ง มรรคต้องมีความเข้มแข็งที่เหนือกว่าเข้าไปปราบปราม นี่ทิฐิของใครพอประมาณ มรรคก็พอประมาณก็เข้าไปปราบปราม มันก็สมดุลได้ มันก็มรรคสามัคคี สมดุลคือมรรคสามัคคี มรรครวมตัว สมุจเฉทปหานก็ขาด พอกิเลสขาดสังโยชน์ก็ขาด

นี่มันแตกต่างตรงนี้ อริยสัจมีหนึ่งเดียว สัจจะมีหนึ่งเดียว มรรคมีหนึ่งเดียว ผลอริยสัจมีอันเดียวกัน แต่วิธีการ นี่ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ไง วิธีการต้องทำอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ถ้าผลมันเป็นนะ เป็นก็คือเป็น บางคนทำเหมือนกันเปี๊ยะเลย ดีกว่าด้วย แต่ไม่เป็น มันไม่ขาด ทุกข์มาก อันนี้ก็ย้อนกลับมาที่ทำทานตอนเช้านี่ไง มันอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของคนไง คนทำบุญกุศลมา คนมีเจตนามาแตกต่างกัน พอบุญกุศลของเราแตกต่างกัน การกระทำมันถึงไม่เหมือนกัน ทีนี้ไม่เหมือนกันมันก็โทษใครไม่ได้

กรรมคือการกระทำ จิตของเราทำมาอย่างนี้เอง ตอนนี้เราเน้นมาก เน้นกับผู้ปฏิบัติที่มาเรียกร้องผล เราบอกว่าก็เราทำมาทั้งนั้น จิตของผู้ที่มาถาม จิตของเราทุกคนทำมาเองทั้งนั้น ทุกข์ยากก็เป็นสมบัติของเราไง ใครทำมาดี ใครทำมามีบุญกุศลมาเขาก็สะดวกสบายของเขา เขาทำสิ่งใดก็สมความปรารถนาของเขา แต่ใครทำมาขี้ทูดกุดถังก็ทุกข์ไปสิ เวลาทุกข์ไปโอดโอยเอากับใคร? ก็เราทำมา เราทำมาทั้งนั้น

ฉะนั้น ปฏิบัติก็เหมือนกัน ทำไมเราปฏิบัติไม่ได้? ทำไมคนอื่นเขาทำได้? ทำไมคนนู้นเขาทำแล้วประสบความสำเร็จ ทำไมเขาพูดมรรคผล ทำไมมันลื่นหูเลย ทำไมเรานึกไม่ออก? ทำไมเราคิดไม่ได้? นี่ไงมันอยู่ที่บุญกุศล ทีนี้บุญกุศล พันธุกรรมของมัน คืออำนาจวาสนาของจิตมันไม่เท่ากัน แม้แต่พิจารณาเหมือนกัน พิจารณากายเหมือนกัน เพราะเราเห็นอย่างนี้มาก่อน เราศึกษามา ศึกษามาตั้งแต่มาพิสูจน์นะ มาศึกษาของหลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่ฝั้น นี่พวกนี้พิจารณากายเหมือนกันหมด แต่ไม่เหมือนกัน

ดูหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ฝั้นก็พิจารณากาย หลวงปู่เจี๊ยะก็พิจารณากาย หลวงปู่คำดีก็พิจารณากาย หลวงปู่ชอบก็พิจารณากาย แต่เวลามันสมุจเฉทปหาน เวลามันขาดสิไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันหรอก วิธีการที่ทำมาไม่เหมือนกัน เพราะมันต้องเป็นจริตของท่านไง มันก็เหมือนวิทยานิพนธ์ของใครของมัน วิทยานิพนธ์ไปลอกมานะ ถ้าเราเป็นคนลอกเราบอกว่าผ่าน เพราะเราลอกมาแล้วสุดยอดเลย แต่กรรมการไม่ให้ผ่าน เพราะมันเหมือนกันไง ไปลอกของกันมาไง ฉะนั้น เวลาฟังธรรม ฟังธรรมไว้เป็นแนวทาง แล้วเวลาปฏิบัติให้เป็นของเรา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : กราบขอบพระคุณมากกับคำแนะนำของหลวงพ่อ ตอนแรกว่าจะไม่ถาม แต่ก็ตัดสินใจถูกที่ถาม เพราะทำให้ใจพัฒนาขึ้น

ตอบ : นี่อยู่ใกล้ไง อยู่ใกล้ครูบาอาจารย์เหมือนไม้เท้า เป็นไม้เท้านะ ถ้าเราเดินไปเองเราก็ต้องกระเสือกกระสนไปเอง ถ้ามีไม้เท้าช่วยพยุงเรานะ ช่วยพยุง ช่วยป้องกันสัตว์ร้าย ช่วยป้องกันสิ่งต่างๆ ที่มาทำลายเรา ครูบาอาจารย์นี่เหมือนไม้เท้า เพราะหลวงตาท่านพูดประจำ คนที่ปฏิบัติมา คนที่พยายามต่อสู้มามันจะเห็นนะ ผู้นำสำคัญ ผู้นำสำคัญ

เวลาหลวงตาพูดเราซึ้งจริงๆ นะ ว่าผู้นำนี่สำคัญมาก ถ้าไม่มีผู้นำเราต้องกระเสือกกระสนกันไปเอง กระเสือกกระสนนะ แล้วกิเลสมันก็ปิดตาไว้ แล้วเราก็ต้องสู้กับกิเลสของเรานะ แล้วยังต้องกระเสือกกระสนกันไปอีก แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์นะเหมือนมีไม้เท้า เราเดินของเราก็คล่องตัวอยู่แล้วแหละ ถ้ามีไม้เท้าขึ้นมาต่างๆ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี้ครูบาอาจารย์เป็นประโยชน์อย่างนี้

นี่คำถามคือเขาขอบพระคุณมากเฉยๆ ไม่ได้ถาม ทีนี้เพียงแต่ว่าคำพูดของเขามันมีประเด็นไง ทีแรกคิดว่าจะไม่ถาม แน่ะ เห็นไหม เพราะกิเลสมันบอกจะไม่ถาม แต่ก็เลยถาม เลยมาตัดสินใจถาม ตัดสินใจถูกที่ถาม ถามแล้วก็จบแล้ว ทีนี้ถ้ามีปัญหาใหม่มาให้ภาวนามาใหม่ แล้วถ้ามีปัญหาให้ถามมาอีก

อันนี้สิอันนี้จะเข้าแล้วนะ

ถาม : ข้อ ๑๐๒๘. เรื่อง “จะต้องทำอย่างไร?”

กราบนมัสการท่านอาจารย์ที่เคารพ กราบเรียนสอบถามท่านว่าตอนนี้จิตนิ่ง อยากจะโกรธก็ไม่โกรธ จะอธิบายอย่างไรดี จิตนิ่ง จิตรู้กายตลอด พอดูภาพหรือละคร จะมีอารมณ์สนุกหรือชอบไม่ชอบมันก็ไม่มี เรื่องของผู้ชายที่เคยชอบมันก็ไม่ชอบ พยายามจะให้รู้สึกมันก็ไม่รู้สึกชอบค่ะ คือมันไม่ได้เบื่อหรือเซ็งเรื่องผิดหวังอะไรเลย ไม่มีความรู้สึกเหล่านี้ แต่รู้ว่าทุกอย่างมันไม่จีรัง มีการเกิด ไม่มีอะไรให้ยึดมั่นถือมั่นอยู่ได้ รู้ว่าทุกอย่างเฉย รู้ตัวอยู่ตลอด

รู้ว่าทางโลกไม่เหมาะกับสภาวะจิตแบบนี้ อยากบวชชีไปเลย แต่ติดว่าต้องดูแลหลาน เพราะหลานไม่มีใครดูแล พ่อแม่ของหลานต้องทำงาน พ่อแม่ของข้าน้อยก็แก่ต้องดูแล ข้าน้อยไม่ได้มีความรู้สึกรักหรือไม่รักผูกพันอะไรนะคะ พอมองพ่อแม่ก็รู้ว่านี่พ่อแม่ นี่หลานก็แค่นี้ ไม่ได้อกตัญญูนะคะ รู้แค่ว่าทำหน้าที่ของลูก ทำหน้าที่ของป้าไป คือไม่รู้จะอธิบายสภาวะนี้อย่างไรให้กระจ่าง ตอนนี้อยากบวชแต่บวชไม่ได้ เพราะพ่อแม่และหลานต้องดูแล

ตอบ : คำถามเขาถามมา แต่คำถามสุดท้ายเขาบอกว่า

ถาม : แล้วสิ่งที่เราทำอยู่นี่ควรทำอย่างใด?

ตอบ : เพราะคำถามว่า “เขาควรทำอย่างใด?” เพราะพ่อแม่ก็ธรรมดาใช่ไหม? พ่อแม่ก็อยากให้เป็นฝั่งเป็นฝา พ่อแม่ก็ต้องการให้เป็นฝั่งเป็นฝา ให้มีความมั่นคงทางสังคมโลก แต่ถ้าจิตใจเราสูงกว่า จิตใจเราถ้ามีหลักมีเกณฑ์กว่า นี่อย่างนี้ถ้าเราคิดเนกขัมมบารมี บารมีของเราจะรักษาใจของเรา นี่พูดถึงธรรมนะ

ฉะนั้น พูดถึงเรื่องครอบครัว ในครอบครัวของเรา เรื่องในครอบครัวมันเรื่องพ่อเรื่องแม่ เรื่องชาติตระกูลมันก็มีมุมมองอย่างนั้น นี่มุมมองของโลก แต่ถ้ามุมมองของธรรมนะ ถ้าจิตใจเราเป็นธรรมจริงๆ แต่ถ้าจิตใจไม่เป็นธรรมจริง ตอนนี้เป็นธรรม แต่พอสุดท้ายแล้วมันก็ละล้าละลังไง มันคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า

ถ้าคนในอยากออก คนนอกอยากเข้า ถ้าจิตใจมันเป็นธรรม เห็นไหม อย่างที่ว่าจิตใจเป็นธรรม จิตใจมีหลักมีเกณฑ์มันก็พูดได้ไงว่านี่ไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ติดสิ่งใดเลย สิ่งใดเราไม่ติด เรามองได้หมด ถ้าจิตใจดีมันนึกได้อย่างนี้ แต่ถ้าจิตใจเวลามันต่ำล่ะ? จิตใจเวลามันถอยลงมานะ นี่มันอย่างที่ว่าผู้ใหญ่เขาดูแลเรา เขากลัวว่าเวลาเราแก่เฒ่าขึ้นมาแล้วเราจะมีใครเป็นที่พึ่ง แต่ถ้าจิตใจเราเข้มแข็งนะ จิตใจเราเข้มแข็งเราพึ่งตัวเองของเราได้

นี่ถ้าพ่อแม่นะ กรณีอย่างนี้มันก็เหมือนกรณีพระกัสสปะ นี่มีลูกอยู่คนเดียว ก็อยากให้ลูกมีครอบครัว อยากให้ลูกมีครอบครัว พ่อแม่เป็นเศรษฐีไง นี่เขาก็ไม่อยากมีครอบครัว มันก็สร้างบุญญาธิการเหมือนกัน มีตระกูลหนึ่งเขาก็มีลูกสาวคนเดียว ก็อยากให้มีครอบครัวเหมือนกัน สุดท้ายแล้วสองคนมีความคิดเหมือนกัน มีความคิดว่าไม่อยากมีครอบครัว แต่ด้วยพ่อแม่ ด้วยสองตระกูลนี้เขาก็จับแต่งงานกัน สองคนเขาก็มีสัญญากันไว้ว่าเราจะถือพรหมจรรย์ ถือพรหมจรรย์ก็เอาดอกไม้นะ ดอกไม้สดปักไว้ที่หัวนอน นี่เราจะถือพรหมจรรย์ อยู่ด้วยกันสมมุติว่าเป็นครอบครัวให้พ่อแม่ได้สบายใจ

จนพ่อแม่เขาว่าลูกมีครอบครัวแล้ว พ่อแม่ก็อยู่ไปจนพ่อแม่ตายหมด พ่อแม่ตายหมด นี่อยู่พรหมจรรย์ด้วยกันสองคน เห็นไหม เอาสมบัติทั้งของสามีและของภรรยามาแจกทานหมดเลย แจกทานหมดแล้วก็ออกบวช ผู้หญิงไปทาง ผู้ชายไปทาง ผู้หญิงก็ไปบวชเป็นภิกษุณี ผู้ชายก็มาบวชเป็นพระกัสสปะ เป็นพระอรหันต์ทั้งคู่เลย นี่อำนาจวาสนาบารมีอย่างนี้ถ้ามีมาพบกัน แต่พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายก็อยากให้มีครอบครัวเหมือนกัน เป็นตระกูลเศรษฐี

นี่เวลาคนเกิดมาอยู่ที่อำนาจวาสนาบารมีของคนไง ถ้ามีอำนาจวาสนาบารมีมา เห็นไหม นี่มันสร้างมา ถ้ามาเจอกันอย่างนี้นะมันก็สมดุล แต่ถ้าของเราล่ะ? ของเราอยู่ของเราคนเดียวไง ของเราอยู่คนเดียวใช่ไหม? แล้วเรามีพ่อมีแม่ใช่ไหม? แล้วเราก็มีหลาน นี่เราก็ดูแลของเราไป ใช่เราประกอบสัมมาอาชีวะ เราเลี้ยงตัวเองได้ เราดูแลหลานเราได้ ถ้าเราดูแลได้ แต่พ่อแม่ไม่สบายใจ แล้วให้ทำอย่างไร? จะต้องทำอย่างใด?

จะต้องทำอย่างไรเราก็คุณภาพใจของเรา ถ้ามันอยู่ของมันได้นะ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน ถ้ามันทำได้มันก็มีความสุขอย่างนี้ แต่ถ้าเวลามันเสื่อม เสื่อมมันก็ทุกข์ นี่มุมมองของพ่อแม่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็ต้องการความมั่นคงของชีวิต ก็เป็นห่วงเป็นธรรมดา นี่พ่อ แม่ ลูกมันก็สายบุญ สายกรรมก็อยากให้ลูกเรานะอยากให้นอนตายตาหลับ คือมีครอบครัวแล้ว เวลาเขามั่นคงของเขาแล้ว เวลาตายจะได้ตายตาหลับ

นี้พูดถึงบุคคลคนนั้น คนที่พ่อแม่อยากให้นอนตายตาหลับ นี่ถ้ามีครอบครัวแล้วมีความสุขไหม? อยู่คนเดียวมีความสุขไหม? ทุกข์ทั้งนั้น อยู่คนเดียวก็มีความทุกข์ ความทุกข์ที่ไหน? ความทุกข์ที่ว้าเหว่ ความทุกข์ที่ว่าเวลาอยู่ที่ไหนมันก็ว้าเหว่ ถือพรหมจรรย์ไง นี่เนกขัมมบารมี แต่ถ้ามีครอบครัวล่ะ? มีครอบครัวทุกข์ขึ้นไปใหญ่เลย ทุกข์ขึ้นไปใหญ่นะ การครองเรือนเป็นเรื่องแสนยาก หัวใจของเรามันคิดร้อยแปดพันเก้า

แล้วเรามีสามี ภรรยา เห็นไหม สามีหรือภรรยามีดวงใจอีกดวงหนึ่ง เราต้องมาแชร์กัน มาแชร์กันถึงความกระทบกระเทือน ต้องแชร์กัน จิตใจเราไม่เป็นอิสระแล้ว แล้วเกิดถ้ามีลูกมีหลานขึ้นมานะ อู๋ย เราเล่นกับเด็กนะ เราให้ของเล่นเด็ก ให้อะไรเด็ก เด็กมันสนุกเรารู้นะ เรารู้ว่าพ่อแม่เขาคิดว่าหลวงพ่อไม่เคยมีลูก ไม่รู้หรอกว่าเวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วทุกข์ขนาดไหน เวลามันอ้อนพ่อแม่จะทุกข์ขนาดไหน เวลามาหาเราเขาอาบน้ำ ปะแป้งมาเช้งเลยนะ เราเห็นเด็กแต่ตอนที่มันสะอาดไง

เวลาเด็กมันสกปรก เวลาเด็กมันเล่นกันเราไม่เคยเห็น ไอ้พ่อแม่ก็มองนะ นี่พระไม่เคยมี เห็นเด็กก็ตื่น อู๋ย รักเด็ก ชอบเด็ก ก็ชอบน่ะสิ ชอบเพราะมันเป็นเหมือนดอกไม้เด็ดมาสดๆ มันก็น่ารัก ดอกไม้เหี่ยวๆ เราก็ไม่เอา เวลามันกลับไปบ้านแล้วมันคลุกคลีเราก็ไม่เห็น แต่มาวัดพ่อแม่ก็อาบน้ำ ปะแป้งมาอย่างดีเลย โอ๋ย มันสวย นี่มุมมอง เพราะเราไม่เคยอยู่กับทางโลกเขา แต่ทางโลกเขาอยู่ไปอีกอย่างหนึ่ง แต่เวลาของเรานะ มาหาเราทีไร แหม มีแต่แต่งตัวสวยๆ ทุกทีเลย โอ้โฮ เด็กมันน่ารัก เผลอนะไปมีกับเขานะ เวลามันทุกข์ มันร้อนขึ้นมาทุกข์ตายเลย

ทุกข์ทั้งนั้น มีครอบครัวก็ทุกข์ อยู่คนเดียวก็ทุกข์ ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง แต่ในทางธรรมนะอยู่คนเดียวทุกข์น้อยกว่า อยู่คนเดียวทุกข์น้อยกว่าเพราะมันมีทุกข์เฉพาะหัวใจเรา แต่ถ้ามีครอบครัวไปนะ หญิงหรือชายนี่สองดวงใจ สองทุกข์ มีลูกขึ้นมาทุกข์ที่สาม มีอีกคนทุกข์ที่สี่ มันจะมีทุกข์มาเรื่อยๆ แต่ถ้าอยู่คนเดียวนะทุกข์เดียว ถ้ามีครอบครัวทุกข์สอง มีลูกก็ทุกข์สาม มีอีกคนก็ทุกข์สี่ มีทุกข์ขึ้นไปเรื่อยๆ ฉะนั้น ทุกข์ทั้งนั้นแหละ

มีสติปัญญาพอไหม? ก็ถามว่าต้องทำอย่างใด? นี่เห็นไหมพระไม่เคยมีใดๆ ทั้งสิ้น แต่มันมีหัวใจไง หัวใจของเราเราก็เร่าร้อนมาพอสมควร เวลาปฏิบัติมาต้องมุมานะมาขนาดไหน? แล้วหัวใจดวงนี้กับหัวใจทุกๆ ดวงมันแตกต่างกันตรงไหน? เวลาปฏิบัติขึ้นมา สมาธิไม่มีหญิง ไม่มีชาย เวลาสำเร็จเป็นพระอรหันต์นะ พระอรหันต์ก็ไม่มีหญิง ไม่มีชาย เวลาพระอุบลวรรณาก็เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน พระอรหันต์ผู้หญิงที่เป็นเอตทัคคะก็มีเหมือนกัน

เวลามันพ้น มันพ้นจากเพศ พ้นจากสมมุติ พ้นจากทุกอย่าง มันเป็นธรรมธาตุ เวลาเป็นไตรขึ้นมา พระอนาคามีเห็นไหม เรือนว่างแต่มีเราอยู่ พระอนาคามีนะทำทุกอย่างว่างหมดเลย แต่ยังมีเราอยู่ มีจิตอยู่ มีภพอยู่ เพราะมันรู้ว่าว่าง รู้ว่ามีเรือนว่างไง แต่ถ้ามันทำลายหัวใจ ทำลายภพ ทำลายภวาสวะหมดแล้วไม่มีอะไรเลย เรือนว่างก็ไม่มี ผู้รู้ก็ไม่มี ทำลายทุกอย่างหมดเลย นั่นแหละทำอย่างนั้นหมดไป มันก็พ้นไป

เวลาจิตเวลาปฏิบัติมา นี่บอกว่าเพราะเวลาเราพูดเราเป็นพระนะ เราเป็นบุคคลสาธารณะ ฉะนั้น เวลาพูดไปว่าถ้าอยู่คนเดียวแล้วดี เนกขัมมะแล้วดี เวลาดีนะ เออ ทำตามหลวงพ่อ แล้วเวลาจิตมันเสื่อมมันทุกข์นะ โฮ้ หลวงพ่อหลอก ทุกข์น่าดูเลย หลวงพ่อหลอก หลวงพ่อหลอก ฉะนั้น ถึงบอกว่าทุกข์มันเป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริงไง อยู่คนเดียวก็ทุกข์ มีครอบครัวทุกข์กว่า ทุกข์กว่าแน่นอน เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะเรามีลูกเยอะ ตอนนี้ในวัดเรา ๒๒ องค์ แล้วตอนนี้เรามีวัด ๘ วัด

เราดูแลลูกของเรานี่นะ พระของเรานี่นะอีก ๘ อีก ๗ วัด พร้อมทั้งวัดนี้เป็นวัดที่ ๘ ลูกเราเยอะกว่าโยมอีก แล้วพระแต่ละองค์ความคิดของเขาเหมือนกันทุกคนไหม? เราไม่ต้องมีลูกแบบโยมหรอก แต่เรามีลูกศิษย์ เรามีสัทธิวิหาริก เรามีพระของเราให้ดูแล แล้วหัวใจของพระกับหัวใจของเรามันเหมือนกันไหม? เราไม่มีเหมือนกับโยมหรอก แต่ลูกเราเยอะ แล้วเราก็ต้องมาถูลู่ถูกัง ไม่มีแอกนะ หาแอกมาใส่ แล้วก็ลากไป หาแอกมาใส่คอ ๘ วัด นี่มันถึงบอกว่าทุกข์ ทุกข์ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น เวลาบอกว่าเนกขัมมะเราถือพรหมจรรย์นี่ดี แต่ดีเวลาทุกข์ขึ้นมา บอกว่าหลวงพ่อรับผิดชอบนะ ตอนนี้หนูทุกข์เต็มที่เลย หลวงพ่อรับผิดชอบนะ ไม่รู้จะรับผิดชอบตรงไหนเพราะข้าก็ทุกข์เหมือนกัน ในเมื่อเอ็งทุกข์ ข้าก็ทุกข์เหมือนกัน ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ทีนี้ทุกข์เป็นความจริง แต่นี่ถือพรหมจรรย์ ถ้าถือพรหมจรรย์ ทุกข์ของเรา เราแก้ของเรา เวลาสมบัติของเรา เราดูแลของเรา สมบัติของเรา เราจะใช้จ่ายก็ได้ เราจะเอาไปทำสิ่งใดก็ได้ สมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเขาล่ะ?

เราเห็นนะสมบัติข้างเคียงของเรามันสิ่งที่ไม่ดี เราจะจัดจำหน่ายก็ไม่ได้ เราจะเอาของเขามาใช้ก็ไม่ได้ เราทำสิ่งใดไม่ได้ทั้งสิ้นเลย แต่ถ้าเป็นทุกข์ของเราล่ะ? ทุกข์ในหัวใจของเราล่ะ? เราอยู่เนกขัมมะนะ เราถือพรหมจรรย์เราทุกข์ไหม? ทุกข์ แต่ทุกข์ของเรา ทุกข์ในหัวใจของเรา เราบริหารของเรา เรารักษาของเรา เราพยายามของเรา เราทำของเรา ถ้าจิตมันดีก็เป็นแบบนี้ นี่แม้แต่ทุกอย่าง เห็นผู้ชายที่เคยชอบก็ไม่ชอบ เห็นอะไรก็ไม่ชอบสักอย่างเลย ถ้าจิตมันดีนะ แต่ถ้าจิตมันเสื่อมนะ หลวงพ่อหลอก ตอนนั้นชอบเขาอยู่ หลวงพ่อก็บอกว่าไม่ดีก็เลยเลิกกับเขามา พอตอนนี้ทุกข์ขึ้นมาหลวงพ่อต้องรับผิดชอบนะ โอ๋ย ตายเลย

บุคคลสาธารณะ จะพูดสิ่งใดต้องรับผิดชอบ ชีวิตของเขา ต้องให้ปัญญาเขา ให้เขาเลือกทางเดินของเขา ถ้าเขาเลือกทางเดินของเขา เขาจะผิด เขาจะถูกเพราะเขาเลือกของเขาเอง ถ้าเขาเลือกของเขาเอง เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องแก้ไขของเรา ถ้าตนนั้นแก้ไขแล้ว สิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี ถ้าเป็นคุณงามความดีนะ ดี ความดีที่ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่ ความดีที่ละเอียดอ่อนกว่านี้ยังมีมาก ฉะนั้น เราทำของเรานะ

นี่ถามว่าจะต้องทำอย่างใด? จะต้องทำอย่างใดหมายความว่าในเมื่อเขาขึ้นมาอย่างนี้ แล้วพูดถึงเขาอยู่สังคมอย่างนั้นนะ อยู่สังคมที่ว่านี่เราเป็นผู้น้อยไง พ่อแม่เป็นผู้ที่มีบุญคุณกับเราใช่ไหม? แล้วพ่อแม่ เวลาพ่อแม่มีความเศร้าหมอง พ่อแม่ต้องการอยากให้เราทำตามนั้น แล้วเราเห็นความเศร้าหมองอันนั้นมันก็มีผลกับใจเรานะ แต่ใจเรามีอุดมการณ์ของเราอย่างนี้ แต่ในเมื่อพ่อแม่ของเรา ในชาติตระกูลของเราเขาต้องการให้เราทำอย่างนั้น แล้วความคลุกคลีกันมันก็เป็นสายบุญ สายกรรม

เราไม่ยุแหย่ ไม่ทำให้ครอบครัวของใครกระทบกระเทือน เพราะครอบครัวของเราเอง เวลาเราจะออกบวชมาครอบครัวของเราก็กระทบกระเทือนพอสมควร เพราะพ่อแม่ก็ไม่ต้องการให้มาอย่างนี้เหมือนกัน แต่เราด้วยอุดมการณ์ของเรา ด้วยอุดมการณ์ ด้วยความเจตนาของเรา เราทำของเรามา นี่วิกฤติอย่างนี้ อย่างเช่นพระกัสสปะกับคู่ครองมันก็มีมา มันมีมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาล วัฏจักร เวรกรรมของคนมันมีมาตลอดทั้งนั้นแหละ ถ้ากรรมอย่างนี้มันมีมา เห็นไหม นี่มันเป็นเราแล้ว เราจะแก้ไขของเราอย่างไร?

ฉะนั้น สิ่งที่เราพูดนี้เราพูดสัจธรรม พูดข้อเท็จจริง แล้วเราเลือกพิจารณาเอา เพราะเป็นพระไง พระเป็นบุคคลสาธารณะ แล้วมันยังมีธรรมวินัยมาบังคับอีกนะ สิ่งใดกระทบกระเทือน สิ่งใดต่างๆ พูดจริง ทำจริง เวลาพระนะบุคคลคนใดที่ควรส่งเสริม ควรส่งเสริมบุคคลคนนั้น บุคคลคนใดควรข่มขี่ ควรข่มขี่เพราะจะทำให้สังคมกระทบกระเทือน ต้องข่มขี่

ทีนี้พอในทางโลกเป็นอย่างนั้นไหมล่ะ? ทางโลกไม่จริง ทางโลกทำไม่ได้ บุคคลที่ควรข่มขี่กลับไปส่งเสริม เพราะอะไร? เพราะเขามีอิทธิพล เขามีอิทธิพล เขามีกำลังทางทรัพย์ เขามีกำลังทางสังคม เขามีกำลังทั้งนั้นแหละ เราเองไม่กล้าทำสิ่งใดเลย นี่แต่สิ่งที่คนควรยกย่อง ยกย่องเขาไม่ได้อีก ไม่กล้ายกย่อง ฉะนั้น เวลาในธรรม เห็นไหม ลำเอียงเพราะรัก ลำเอียงเพราะชัง ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงไปทั้งนั้น แล้วถ้าไม่ลำเอียง ไม่ลำเอียงก็เป็นขวานผ่าซาก พอขวานผ่าซากสังคมก็ไม่ชอบอีกแล้ว นี่ถ้าไม่ชอบอีกมันกระทบกระเทือนกันไปหมด

ฉะนั้น จิตใจของคนมันแตกต่างหลากหลาย มีทั้งสูงและมีทั้งต่ำ เวลาสูงขึ้นมา พูดสิ่งใดที่มีอุดมการณ์ที่เราเห็นกันได้เราก็พอใจ แต่ถ้าจิตใจเราต่ำ พูดถึงอุดมการณ์ พูดถึงเนกขัมมบารมี พูดถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ มองไม่เห็นนะ ไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเป็นวัตถุ ให้เงิน ให้ทองนี่เห็นหมดเลย เงินทองมันเป็นสมบัติสาธารณะ หมายถึงว่าเงินทองจะซื้อสิ่งดีก็ได้ จะจ้างทำร้ายใครก็ได้ ซื้อสิ่งที่เป็นโทษมาเสพติดก็ได้ แต่ถ้ามีสติปัญญา เราใช้ประโยชน์สิ่งนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ธรรม เห็นไหม ธรรมแล้วแต่ใครจะเลือกใช้ แล้วถ้ากิเลสมันเลือกใช้นะมันอ้างหมดแหละ อ้างเล่ห์ไปหมดเลย ถ้าอ้างหมดแล้วมันจะไม่เป็นประโยชน์กับใคร ฉะนั้น ว่า ถ้าจะต้องทำอย่างใด? ถ้าตัดสินใจอย่างใดแล้วเราจะต้องรับผิดชอบชีวิตของเรา ถ้าชีวิตของเรา เรารับผิดชอบชีวิตของเรา เราดูแลชีวิตของเรา ฉะนั้น ถ้าถือพรหมจรรย์ ถ้าเราอยู่ของเราคนเดียวได้ จริงๆ ถ้าอยู่คนเดียวได้เรามีสติปัญญาควบคุมใจเรานะ ชีวิตนี้ไม่ทุกข์ยากหรอก

บุคคลที่เขาต้องการบุญกุศลมหาศาล ดูสิทั้งแม้แต่รัฐบาล หรือสังคมเขาต้องการส่งเสริมให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมีคุณธรรมขึ้นมา มีคุณธรรมขึ้นมาเพื่ออะไร? เพื่อเป็นผู้บอกกล่าว เพื่อเป็นบุคคลตัวอย่างในสังคม ทุกคนก็ปรารถนา ทุกคนเขาแสวงหา ทุกคนต้องการทั้งนั้นแหละ แต่มันหาไม่เจอ มันหาไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเป้าหมาย เรามีอุดมการณ์ของเรา เราทำของเราด้วยความเข้มแข็งของเรา ด้วยความจริงจังของเรา

นี่ถ้าเราทำจริงจังของเรา เห็นไหม ร่มโพธิ์ร่มไทรนะมันเป็นที่พึ่งอาศัยของนกกา มันเป็นที่พึ่งอาศัยของสังคมทั้งนั้นแหละ ร่มเงาของมันก็แผ่ให้ความสงบร่มเย็นกับสังคมแล้วแหละ ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องประกาศตน ไม่ต้องทำอะไรเลย ต้นไม้มันไม่เคยบอกว่ามันให้ความร่มเย็นกับใครเลย ต้นไม้มันไม่ต้องประกาศว่าเป็นต้นไม้ที่ดีเลย ทำไมสังคมเห็นว่าต้นไม้มีประโยชน์ล่ะ? มันให้ออกซิเจน มันให้ความร่มเย็น มันให้อาหาร มันให้ทุกอย่างเลย ต้นไม้ให้ประโยชน์กับโลกมหาศาลเลย ไม่เคยได้ยินต้นไม้ต้นไหนมันประกาศว่ามันดีสักที แต่ทำไมคนไปเห็นว่ามันดีล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำความดีของเราไม่ต้องไปประกาศหรอก ยิ่งประกาศนะไม่มีใครสนใจ ทำความดีเพื่อดี ทำความดีเป็นความดี ความดีก็คือความดี นี่ความดีแบบโลกๆ นะ แต่ถ้าความดีแบบธรรม อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเรา เห็นไหม ท่านอยากจะอยู่ของท่านสงบสงัดนะ นี่อยู่กับเรา จิตอยู่กับจิต จิตอยู่กับเราสุขมาก ทีนี้เพียงแต่สุขมาก ความสุขอย่างนี้ ถ้าจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ นี่มันจะเป็นประโยชน์กับสังคม ถ้าสังคมมันได้ประโยชน์ขึ้นมา

หลวงตาท่านพูดอย่างนี้นะ “ถ้าไม่มีโครงการช่วยชาติ ธรรมะของท่านจะตายไปกับท่าน”

แต่ลูกศิษย์ลูกหาวงในจะรู้ ถ้าไม่มีโครงการช่วยชาติ ธรรมของหลวงตาจะตายไปพร้อมกับหลวงตา แต่เพราะมีโครงการช่วยชาติ แล้วพอมีโครงการช่วยชาติขึ้นมา ถ้าเขามีความมั่นใจว่าผู้นำจะสะอาดบริสุทธิ์ขนาดไหน ท่านถึงได้ประกาศความสะอาดอันนั้นออกมาไง แต่คนไปมองกันบอกว่า อู้ฮู อวดรู้ อวดเห็น เขาคิดไปหมดนะ

เวลาเป็นธรรมนะ เวลาจะเอาตัวเอง เอาอยู่ในป่าใครจะมารู้อะไรกับเรา แต่เวลามาช่วยโลกนี่มันอาศัยเขา ก็ต้องให้เขามั่นใจว่าผู้นำไม่มีตุกติก ไม่มีสิ่งใดในหัวใจ แล้วทำประโยชน์มามันก็ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าใครทำงานอยู่ในกระบวนการนั้นจะรู้ ว่าเวลาทำงานขึ้นมามันมีอุปสรรคขนาดไหน เพราะในสังคม เห็นไหม ในสังคมติฉินนินทา โลกธรรม ๘ ผู้ใดทำความดีเหนือเรามันทิ่มมันแทงทั้งนั้นแหละ นี่มีคนคอยจะทำให้โครงการนี้ล้มทั้งนั้นแหละ แต่ท่านก็มีหลักของท่าน ท่านมีอุดมการณ์ของท่าน ฉะนั้น ท่านมองเกมขาด

เริ่มต้นขึ้นมาบอกว่า เวลาทำโครงการนี้เราเป็นคนคุมบัญชีเอง คือไม่ให้ใครมาแตะต้องเงินเลย บุคคลที่ทำโครงการช่วยชาติมีหน้าที่แจกต้นผ้าป่า แต่ไม่มีหน้าที่รับนะ ต้นผ้าป่าที่แจกไปไม่มีใครมีหน้าที่รับเลย ต้นผ้าป่าทุกต้นต้องไปถวายหลวงตา ทุกคนไม่มีสิทธิรับผ้าป่านะ มีหน้าที่แจกต้นผ้าป่า มีหน้าที่ช่วยงาน แต่ไม่มีหน้าที่รับปัจจัย ไม่มี ปัจจัยทั้งหมดต้องไปถวายหลวงตาองค์เดียว บัญชีทั้งหมดถืออยู่คนเดียว แต่ถ้าเป็นทางโลกนะ อู้ฮู เงินทอง เงินเป็นหมื่นๆ ล้านต้องตั้งคณะกรรมการ แล้วคณะกรรมการนั้นก็ต้องมาประชุม ประชุมเสร็จแล้วกรรมการก็ต้องมีความเห็น โอ๋ย อีก ๑๐๐ ปีเงินนั้นไม่สมบูรณ์

นี่ท่านมองเกมขาด เห็นไหม มองเกมขาดเพราะท่านรู้ใจของท่าน แล้วใจของสัตว์โลกมันเป็นแบบนี้ ถ้าใจของสัตว์โลกมันเป็นแบบนี้ นี่เพราะคำว่าทำดีไม่ต้องประกาศไง ทำดีไม่ต้องอวดเขา ทำดีก็เป็นเพื่อความดี ความดีไม่ต้องอวดใครทั้งสิ้น ถ้าทำความดีเพื่อความดี นี่ไงถ้าจิตใจมันเป็นความดีมันเป็นอย่างนั้น มันมองเกมขาดหมด ว่าถ้าท่านไม่ทำตั้งแต่ทีแรกอย่างนี้ ขนาดที่ว่าทำงานไปยังมีคนคอย โลกธรรม ๘ ธรรมดา ทำดีเกินหน้ามันโดนอยู่แล้ว โดนแน่นอน คลื่นใต้น้ำนี่เยอะมาก แต่ท่านก็ทำของท่านไป

นี่ทำดีไม่ต้องประกาศไง ทำดีเพื่อดี แล้วใครจะทิ่ม จะแทงมันเรื่องของเขา มันจะไม่มีคนมีความเห็นต่าง โลกนี้ไม่มี โลกนี้ไม่มี ถ้าเราไปคิดว่าความดีของเราจะต้องไปให้ใครรับรู้นะ เราไปประกาศทุกข์ตายเลย ฉะนั้น ความดีเพื่อความดีนะ ถ้าทำดีของเรา ฉะนั้น สิ่งที่เรามีครูบาอาจารย์ เห็นไหม เป็นประโยชน์กับเรา เราเปรียบเหมือนไม้เท้า คนที่มีไม้เท้าไว้ป้องกันสัตว์ร้าย มีไม้เท้าไว้พยุงตัวเองเพื่อการล้มลุกคลุกคลาน มีไม้เท้าไว้

ทีนี้ไม้เท้ามันเป็นเรื่องวัตถุที่เห็นได้ แต่ครูบาอาจารย์เราเป็นสิ่งที่มีชีวิต ครูบาอาจารย์ของเรา นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์คร่ำครวญซึ้งมาก

“ดวงตาของโลกดับแล้ว”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้เปรียบเหมือนดวงตาของโลก อชาตศัตรูจะไปออกรบก็ให้คนไปถามว่ารบแล้วจะแพ้หรือชนะ ใครจะทำสิ่งใด กษัตริย์ในสมัยพุทธกาล แว่นแคว้นใด สิ่งใดก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์สิ่งใดก็ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำสิ่งนี้จะถูกหรือผิด ทำสิ่งนี้จะดีหรือไม่ดี

นี่ดวงตาของโลกดับแล้ว ผู้ที่มีคุณประโยชน์ ครูบาอาจารย์ของเรานี่ดวงตาของโลก นี้ไม้เท้ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเรา แต่ถ้าพูดถึงคุณธรรมนะ ดวงตาของโลกเลยล่ะ โลกทัศน์ รู้จิตรู้รอบในหัวใจของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วรู้รอบ ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงนี้ในเมื่อคิดแบบนี้มันก็เป็นแบบนี้ นั้นพูดถึง เขาคิดว่าต้องทำอย่างใดไง

ต้องทำอย่างใดมันก็ต้องอยู่ที่สถานะของเรา อยู่ที่ครอบครัวของเรา อยู่ที่พ่อแม่ของเรา อยู่ที่พี่น้องของเรา หลานของเรา แต่ถ้าเราคิดได้ เรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา ชีวิตของเรา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เราเกิดจากพ่อจากแม่ แล้วเราจะบริหารพ่อแม่ ให้พ่อแม่มีความสุขสงบ แล้วเราจะบริหารชีวิตของเรา เราจะมีปัญญาขนาดไหน เราจะบริหารชีวิตของเรา แล้วถ้าเราถือพรหมจรรย์ของเรา เราจะไม่มีครอบครัว เราจะต่างๆ เราทำได้แค่ไหน

นี่ชีวิตเราเลือกเอง เราบริหารหมายความว่าเราทำอย่างไรให้ท่านร่มเย็นเป็นสุข เพียงแต่ว่าถ้าท่านจะให้เป็นฝั่งเป็นฝา เราจะตอบสนองท่านนั้นเป็นความคิดของผู้ที่จะเห็นตามนะ แต่ในเมื่อถามมาว่าอยู่อย่างนี้มันจะเป็นอย่างไร? อยู่คนเดียวก็ทุกข์ แต่มีครอบครัวทุกข์กว่า ฉะนั้น โลกเขาบอกว่าเขาอยู่กันเพื่อเป็นฝั่งเป็นฝา แล้วมันเป็นฝั่งเป็นฝาจริงไหม? บ้านมันโดนปลวกกัดไหม? บ้านมันมีความชำรุดทรุดโทรมไหม? นั่นพูดถึงการเป็นฝั่งเป็นฝานะ

ถ้าเรามีสติปัญญาอย่างนี้ เราเลือกของเราเอง ถ้าเลือกของเราเองเราทำของเราเอง ไม่ต้องไปหวั่นไหวถ้าจิตใจเราเข้มแข็งพอ แล้วถ้าอยู่พรหมจรรย์อยู่ของเราคนเดียว อันนี้เราเห็นด้วย เพียงแต่ว่าโลกเขาเป็นอย่างนั้น เขาเรียกว่าเสียงข้างน้อยไง

โลกเป็นเสียงข้างมาก เสียงข้างมากของกระแสสังคมเป็นแบบนั้น เสียงข้างน้อย เสียงข้างน้อยแล้วเขาเยาะเย้ยถากถางว่าเสียงข้างน้อยเป็นความเห็นผิด แต่เวลาทุกข์ขึ้นมาไอ้เสียงข้างมากโอดโอย ไอ้เสียงข้างน้อยทุกข์ไหม? ทุกข์ แต่เอาตัวรอดได้ แล้วถ้าประพฤติปฏิบัติไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ไม่ใช่เอาตัวรอดได้นะ พ้นออกไปจากกิเลส สมความปรารถนา เกิดมาไม่เสียชาติเกิด เอวัง