เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๕ ส.ค. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานคนมาลากลับบ้านหลายคน บางคนบอกว่าหลวงพ่อ มาที่นี่แล้วภาวนาดี๊ดี มีความสุขสงบมาก บางคนมาลาบอกว่าภาวนาไม่ได้เรื่อง น้ำตาไหล ทุกข์มาก ตั้งใจว่าจะภาวนาให้ดี แล้วมันไม่ได้ดั่งใจ เสียใจ คนที่ภาวนาดีเขาก็มีความสุขของเขา เขาพอใจของเขา คนที่ภาวนาไม่ดีก็ทุกข์ยากทุกข์ตรมในหัวใจ ทำไมมันเป็นแบบนั้น?

ดูเขาทำสวนทำไร่กันสิ คนที่เขาทำสวนทำไร่ เห็นไหม ผู้ที่ชำนาญการเขาทำสวนครัว เขาเก็บผักเก็บหญ้าของเขา อู้ฮู มหาศาลเลย เขาชำนาญของเขา เขาปลูกผักปลูกหญ้าเขากำหนดวันเก็บขายได้นะ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ของเขา มันก็ยังมีคราวน้ำหลากคราวน้ำแล้งที่เขาทำไม่ได้ดั่งใจของเขา เรานี่เราพัฒนาใจของเรา ใจของเรามันลำบากกว่านั้น ปลูกผักปลูกหญ้า เขาไถคราดของเขา เขาหว่านเมล็ดพันธุ์ของเขา เขาดูแลพืชผักของเขา มันก็งอกงามขึ้นมาของเขา แล้วหัวใจของเราเราจะรักษาของเรา เราดูแลของเรา เราจะทำอย่างไรมันเป็นนามธรรม ผักหญ้ามันออกมามันยังเป็นต้นเป็นฝักนะ เราจับต้องมันได้ ดูแลสัตว์ดูแลเชื้อโรคได้

แต่หัวใจของเราล่ะ? ถ้าหัวใจของเรา เห็นไหม การภาวนานี้มันถึงแสนยาก การภาวนาแสนยาก แต่! แต่มันเป็นอริยทรัพย์ มันเป็นสมบัติของเรา สิ่งที่เราปรารถนา โลกเขาทำกันนะ เขายังล้มลุกคลุกคลานกันขนาดนั้น แต่เวลาเดี๋ยวนี้นะ ดูสิในชุมชนใดเขาเอื้ออาทรต่อกัน ใครปลูกผักปลูกหญ้าใครก็เก็บกินได้ไง ในรั้วของใคร ในสิ่งที่ใครปลูกผัก เขาก็อนุญาตให้ใครก็เก็บกินได้

นี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนาก็จะไปหยิบไปฉวยของเขา นี่สติเป็นอย่างนั้น สมาธิเป็นอย่างนั้น มันไม่ใช่ของเราเลย ของของเราเราต้องปลูกขึ้นมาเองสิ ของของเราเราต้องดูแลรักษาขึ้นมาสิ ถ้าของของเราดูแลรักษาขึ้นมานะ เห็นไหม ครูบาอาจารย์ท่านสอนว่าให้ชำนาญในวสี ชำนาญในวสี ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้ากำหนดพุทโธ พุทโธของเรา เรามีสติของเรา เรารักษาพุทโธ รักษาสติของเรา สมาธิมันจะไปไหน? ไอ้นี่วิ่งหาสมาธิ ตะครุบแต่สมาธิ จะอยากได้สมาธิกัน แล้วพุทโธก็โยนทิ้งไป สตินี้ไม่มีเลย

นี่แปลงผักแปลงหญ้านั้นไม่ดูแลรักษา ผักหญ้ามันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างใด? ถ้ามันดูแลแปลงผักแปลงหญ้านั้น ดูแลมันนะไม่ต้องให้ผักมันเกิดมันก็เกิด ไม่ต้องการให้สิ่งที่มันจะเกิดมันก็เกิด เพราะเราดูแลรักษาของเรา รดน้ำพรวนดินของเรา ดูซิว่ามันจะเกิดไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราดูแลใจของเรา ฉะนั้น มันดูแลใจอย่างไรล่ะ? มันดูแลน่ะมันไขว้เขวไง ไปเก็บแต่พวกริมรั้วไง เห็นไหม เขาปลูกกฐินไว้ ปลูกไว้ริมรั้วก็ไปหักของเขามากิน นี่ก็บอกว่าผักหญ้าของเรา ผักหญ้าของเรา แล้วผักหญ้าเอ็งอยู่ไหน? นี่แปลงเอ็งอยู่ที่ไหน? ถ้าแปลงของเราอยู่ที่ไหน? ก็หัวใจเราอยู่ที่ไหนไง ถ้าหัวใจของเรานะเราตั้งสติของเรา เราตั้งสติของเรานะ แล้วสติมันเกิดมาจากไหนล่ะ?

ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดจากจิตทั้งหมด ปัญญาก็เกิดจากจิต เกิดที่จิต เกิดจากจิต เวลามันเกิด นี่ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดจากจิตมันถึงส่งออกมา แล้วเราจะย้อนกลับไป เราเห็นแต่ความคิด เออ ระลึกรู้นี่เป็นสติ แล้วสติมันมาจากไหนล่ะ? เออ ถ้าเป็นสมาธิ สมาธิก็มาจากจิต แล้วสมาธิมาจากไหนล่ะ? นี่ไงมันส่งออกหมด ถ้ามันส่งออกนะ มันก็จะไปเก็บหญ้าเก็บผักคนอื่นกินแล้ว โอ๋ย! ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะมันว่างไปหมดเลย รู้ไปหมดเลย แต่ไม่รู้ว่าผักมันเกิดที่ไหน? ผักหญ้ามันเกิดที่ไหนไม่รู้ รู้ที่ตลาด คอยควักตังค์จ่ายเขา แล้วก็จะเอาผักเอาหญ้ามากิน แต่ผักปลูกที่ไหนไม่รู้ ถ้ามันปลูกที่ไหนไม่รู้นะเราต้องหาที่ของเราให้เจอ

สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ถ้าใครมีที่ทำงาน ใครมีฐานที่ตั้งแห่งการงาน คนนั้นจะได้งานมา ถ้าคนไม่มีพื้นที่ทำงาน มันเป็นผลงานคนอื่นทั้งนั้นแหละ ธรรมะเป็นธรรมชาติ ธรรมะเป็นธรรมชาติ นี่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ใช่ของเราหรอก แต่เป็นธรรมวินัยใช่ไหม?

“อานนท์ ธรรมและวินัยนี้จะเป็นศาสดาของเธอ”

เวลาปฏิบัติกันเราล้มลุกคลุกคลานกัน เราไม่มีที่พึ่งอาศัย เห็นไหม ธรรมและวินัยนี้จะเป็นศาสดาของเธอ เราศึกษามานี่เป็นศาสดาของเรา เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไง มันก็เหมือนผักหญ้าอยู่ตามถนนหนทางที่เราจะเก็บประทังชีวิตของเราไป เกิดมามีแต่ความทุกข์ความยาก เกิดมาก็อยากมีความสงบร่มเย็น แล้วทำไมมันทุกข์ขนาดนี้ล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เสียสละทาน เสียสละทานเพื่อฝึกหัวใจให้มันเข้มแข็ง ถ้ามันรู้จักเสียสละ มันไม่เห็นแก่ตัวของมัน เวลามันทุกข์ของมันก็บอก เออ นี่ไม่ใช่ของเรามันก็ผลักออกไป

ถ้าบอกว่านี่ของของเรา ทุกอย่างของเราทำไมต้องเสียสละ? เราเห็นแต่วัตถุ เห็นแต่ของหยาบๆ ไง แต่เราไม่เห็นของละเอียด ของที่มีค่าไง ของที่มีค่านะ เราอดอาหารนี่ตายนะ แต่จิตใจล่ะ? จิตใจมันไม่เคยตาย แต่มันทุกข์ร้อน มันทุกข์ทน เห็นไหม เราเจ็บปวดขนาดไหน เจ็บไข้ได้ป่วยขนาดไหนนะเราต้องตายไป แต่จิตมันไม่ตาย มันอาลัยอาวรณ์ มันไม่ยอมทิ้งซากนี้ พอมันทิ้งซากนี้ไปนะมันก็ไปได้ภพใหม่ชาติใหม่ มันไม่มีวันจบหรอก แล้วมันต้องการอะไรล่ะ? มันต้องการอะไร?

เวลาเทวดามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นนะ ไปบอกหลวงปู่มั่น บอกว่า “พระนี่นะ เวลากลางคืน เวลานอนไม่รักษาเนื้อรักษาตัวเลย”

หลวงปู่มั่นก็บอกว่า “อ้าว ก็คนนอน คนนอนมันก็ขาดสติเป็นธรรมดา”

“ใช่ เวลาคนนอนมันไม่มีสติแหละ แต่นี่เป็นพระ เป็นภิกษุ เป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร มันก็ควรจะนอนให้เรียบร้อยกว่านี้”

หลวงปู่มั่นท่านก็เตือนพระ เตือนพระว่า “คืนนี้เทวดาจะมาเส้นทางไหนนะ พระถ้ากลางคืนก็ให้เดินจงกรมก่อน หรือจะพักก็พักก่อน แล้วถ้าระหว่างช่วงเที่ยงคืน ระหว่างช่วงกลางๆ เทวดาเขาจะมาอย่านอนหลับ อย่าทำกิริยาให้เขาเห็น ให้เขาติเตียนได้”

เขาเป็นเทวดาแต่เขายังติเตียนภิกษุ ติเตียนพระว่าไม่มีสติ นี่เวลาจิตมันตายไปแล้วไปเกิดเป็นเทวดานะ มันกลับมาติมนุษย์ มนุษย์นอนไม่มีสติ เห็นไหม จิตมันเคยตายไหม? จิตมันไม่เคยตาย มันเวียนตายเวียนเกิด แต่เวลามาฟังเทศน์หลวงปู่มั่น มาฟังเทศน์ครูบาอาจารย์ของเรา เทศน์เพื่ออะไรล่ะ? นี่ก็เกิดเป็นเทวดาแล้ว เป็นพรหมแล้วก็อยู่ที่นั่นสิ มีความสุขแล้วมาทำไมล่ะ? มันไม่มีความสุขหรอก

คนเรามั่งมีศรีสุขขนาดไหนนะ แล้วมันต้องพลัดพรากจากสมบัติของตัว มันต้องพลัดพรากจากภพของตัว มันทุกข์ไหม? เทวดา อินทร์ พรหม เขาเกิดเป็นสถานะของเขา เวลาเขาจะหมดอายุขัยของเขา เขาต้องเวียนตายเวียนเกิดเขาทุกข์ไหม? นี่เราก็ว่าเขามีความสุขๆ เวลาเขาตายเขาก็ไม่อยากตาย เขาก็ต้องตาย เทวดาก็ต้องตาย พรหมก็ต้องตาย หมดอายุทั้งนั้นแหละ เวียนในวัฏฏะมันเวียนไปหมดแหละ ทีนี้มันไม่มีที่ไหนมันทุกข์จริงหรอก เพียงแต่ว่าทุกข์มาก ทุกข์น้อย ทุกข์หยาบ ทุกข์ละเอียด เห็นไหม ทุกข์หยาบ ทุกข์ละเอียด ถ้าทุกข์ของเขาละเอียดเขาก็มองไม่เห็นทุกข์ของเขา เขามีสมบัติของเขา เขาก็เพลิดเพลินของเขา พอหมดอายุขัยไปก็คอตกไง

ฉะนั้น ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์ เห็นไหม เราก็มีร่างกาย ร่างกายถ้ามันไม่มีอาหารมันก็ทนไม่ไหว ความหิวความกระหายมันบีบคั้นเรา มันบีบคั้นเรา เราก็กลับมาว่ามันเป็นของเราไหม? ถ้ามันเป็นของเราสั่งว่าไม่หิว สั่งว่าไม่ทุกข์ ไม่กระหาย ให้มันอยู่ของเรามีความสุขระงับ มีแต่ความดีงาม มันเป็นไปได้ไหมล่ะ? มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติมันมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทีนี้ธาตุ ๔ ถ้ามันเป็นมุมบวก มุมบวก เห็นไหม คนเกิดมาก็ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย มีปัจจัยเครื่องอาศัยเพื่อดำรงชีวิต ดำรงชีวิตไว้ทำไมล่ะ? ดำรงชีวิตไว้ว่าเราเกิดมาพบพุทธศาสนา แล้วพบพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่องอะไรล่ะ? พุทธศาสนาสอนเรื่องธรรม

นี่อาหารของใจๆ ถ้าใจมีธรรมนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียวแท้ๆ เวลาเผยแผ่ธรรมไป เห็นไหม เป็นครูสอนสามโลกธาตุ เทวดา อินทร์ พรหม แล้วมามนุษย์ แต่นรกอเวจีไปสอนเขาไม่ได้ เขาไม่รู้เรื่องหรอก เพราะว่าความทุกข์บีบคั้นเขา เขาจะฟังอะไรไม่ได้ จนกว่าเขาจะพ้นจากวาระกรรมของเขาขึ้นมา จากนรกก็มาเป็นเปรต จากเปรตก็มาเป็นเดรัจฉาน จากเดรัจฉานก็มาเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา นี่มันก็เวียนตายเวียนเกิด ไม่มีจิตดวงใดที่มันจะสิ้นสุดไปได้ แต่ถ้ามีการประพฤติปฏิบัติ ธรรมโอสถอันนี้มันจะชำระล้างได้

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติง่ายปฏิบัติยาก นี่มันย้อนกลับไปที่นั่นไง พันธุกรรมของจิต ในพื้นที่ที่เป็นที่ดอน ในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ปลูกผักปลูกหญ้ามันก็ปลูกได้ยาก ในพื้นที่ที่ลุ่ม ถ้าน้ำมันท่วมไป เห็นไหม เราก็ต้องรอโอกาสน้ำลด มีโอกาสได้ปลูกมากปลูกน้อย แต่ในพื้นที่ที่มันสมบูรณ์ของเขา เขาจะปลูกผักปลูกหญ้าของเขา เขาจะทำของเขาด้วยความสะดวกสบาย แล้วทำไมมันเกิดอย่างนั้นล่ะ? ทำไมมันเป็นอย่างนั้นล่ะ?

“กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน”

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน กรรมมันจำแนกให้เราเกิด มันเป็นจริตนิสัย ความรู้สึกนึกคิดของเราเอง เราพอใจ เราชอบใจ เราใหญ่ เรารู้ เราเก่ง เรายอด เราแน่ เห็นไหม นี่ทิฏฐิมานะมันอยู่ในหัวใจของคน การปฏิบัติมันยากยากตรงนี้ไง นี่เวลาปฏิบัติดีนี่ แหม วันนี้มาปฏิบัติดี๊ดี วันนี้ไม่ดีคอตกนะ คอตก เราจะทุกข์จะยาก พันธุกรรมของเรามันเป็นอย่างนั้น ที่ของเรามันอยู่บนที่ดอน ในที่สูง ที่ต่ำ ที่ลุ่ม นั้นเรารู้ของเราแล้ว ชำนาญในวสี ชำนาญในวสีทุกคนต้องตั้งสติของตัว รักษาใจของตัว รักษาด้วยคำบริกรรมพุทธานุสติ

นี่มีสติด้วย ระลึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือปัญญาอบรมสมาธิ แล้วถ้าใครมีสมาธิแนบแน่นแล้ว ใครมีจิตใจที่เข้มแข็งแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ใครมีเงินมีทองเก็บไว้นะเสื่อมค่าไปตลอด นี่พอเงินเฟ้อมันเสื่อมค่าไปๆ เงินมี ๑๐๐ เดี๋ยวเหลือ ๕ บาท นี่ก็เหมือนกัน เรามีจิต เรามีความสงบมีความร่มเย็น ถ้าเผลอนะ เดี๋ยวมันเสื่อมนะทุกข์ตายเลย แต่ถ้ามันจะไม่เสื่อม ไม่เสื่อมเพราะอะไรล่ะ? ไม่เสื่อมเพราะการบำรุงรักษา

“ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ”

ถ้าเรามีเหตุของเรา เรามีสติปัญญาของเรานะ สมาธิไม่ไปไหนจากเราหรอก ไล่มันก็ไม่ไป ยิ่งมีปัญญาฝึกหัดนะไล่มันก็ไม่ไป ยิ่งมีปัญญานะ เวลาจุดไฟติดเขาเรียกภาวนาเป็น ปัญญามันหมุนแล้วนะ ต้องรั้งไว้ เวลาคนภาวนาไม่ได้ล้มลุกคลุกคลานนะ เวลาครูบาอาจารย์ของเราภาวนาไป นี่ปัญญามันหมุนติ้วๆๆ เอาไว้ไม่อยู่ ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย โอ๊ย มันหมุนเต็มที่เลย ทำไมมันเป็นแบบนั้นล่ะ? นี่เวลามันเป็นแบบนั้นแล้วเราต้องรั้งไว้ ต้องมีความสมดุล แต่ถ้าภาวนาไม่เป็นมันจุดไง จุดให้มันติดล่ะ?

ถ้าจุดให้ติด เห็นไหม เรารักษาสติของเรา ถ้ามันจะน้อยเนื้อต่ำใจก็บอกว่าเราทำมา ก็ทำมาอย่างนี้ เวลามาจากบ้านนะตั้งใจเต็มที่เลย คราวนี้ไปนะจะภาวนาให้ดีเลย จะมีความสุขเต็มที่เลย นี่ตัณหาซ้อนตัณหา ตัณหาซ้อนตัณหาเพราะมันไม่ได้อยู่ที่ภาวนาแล้ว มันอยู่ที่ดีๆ นั่นแหละ อยู่ที่ภาวนาดี ภาวนาดีมันสุขสงบไง อยู่ที่ปัญญามันหมุนไง แล้วมันคิดแต่ตรงนั้นไง แล้วมันลืมสร้างฐาน ลืมดูแลเหตุของตัว ลืมดูแลตั้งแต่ตั้งสติ ลืมดูแลของตัว เวลาเข้ามานะเขาบอกให้พักกุฏิ มันก็จะเลยออกไปหลังกุฏินู่น มันจะไปนอนในป่า ก็บอกกุฏิมันอยู่ที่นี่

นี่ก็เหมือนกัน เวลามานะเราก็ดูแลใจเราสิ นี้บอกว่าพอมาปั๊บมันคิดไปว่า โฮ้ สมาธิเป็นแบบนั้นนะ โอ้โฮ ปัญญามันจะหมุนอย่างนั้นนะ ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน มันเลยเถิดไป เห็นไหม นี่ตัณหาซ้อนตัณหา ให้พอดีของมันนะ เราตั้งใจของเรา หน้าที่ของเรา คนทำไร่ไถนาเขาก้มหน้าก้มตาทำที่นาของเขา เรามาภาวนานี่ก้มหน้าก้มตาอยู่กับพุทโธของเรา อยู่กับสติของเรา อยู่กับความรู้สึกนึกคิดของเรา หน้าที่ของเราอยู่ที่นี่

หน้าที่ของเรานะ เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของเขา ทุกข์ของเขา เขาสร้างเวรสร้างกรรมอย่างใด เขาต้องหาบหามทุกข์อันนั้นไป ถ้าเขาสร้างคุณงามความดีเขาก็จะได้บุญกุศลของเขาไป เราจะไม่ได้อะไรกับเขาเลย เราจะได้ต่อเมื่อที่เราทำอยู่นี่ เราตั้งสติดีๆ เราตั้งกำหนดดีๆ มันจะเกิดมาจากใจของเรา ถ้าเราตั้งของเราไม่ดี นี่ไงก็คิดแต่ตะครุบเงา อยากจะได้แต่ผลไง เห็นไหม ตัณหาซ้อนตัณหา แต่โดยธรรมชาติของจิต จิตมันมีความอยากโดยธรรมชาติของมัน ถ้าโดยธรรมชาติของมันก็ต้องตั้งสติระงับไง ตั้งสติดูแลรักษา แล้วมันเป็นขึ้นไป

ดูสิเวลาทำดีขึ้นมา เขาปลูกแปลงผัก โอ๋ย เขียวขจีไปหมดเลย กินก็ไม่หมด เก็บขายก็ไม่ได้ไม่มีใครเอา เขาอยู่ของเขาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข ผักหญ้าเขาเขียวขจีไปหมดเลย เป็นเพราะอะไรล่ะ? เพราะเขาดูแลรักษาของเขา เขาดูแลของเขาดี เขาอุดมสมบูรณ์ของเขา ของเรานี่สักต้นก็ไม่มี มีแต่ความทุกข์ความยาก ศึกษา เปรียบเทียบ ดูเขาทำ แล้วเราก็มาเทียบของเรา มันไม่มีสิ่งใดลอยมาจากฟ้า

ความเพียร เห็นไหม พวกเราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะของเรา นี่เป็นคนดี กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี การประพฤติปฏิบัติของเราก็เป็นเครื่องหมายของคนที่อยากพ้นทุกข์ ถ้าเราอยากพ้นทุกข์ อยากจะเป็นคนดี อยากจะประพฤติปฏิบัติ อยากให้เราได้ธรรมโอสถ เราต้องทำของเรา เราทำหน้าที่ของเรา ดูแลของเรา แล้วใครเขาปฏิบัติดีก็สาธุ ถ้าใครเขาทุกข์ ทุกข์ที่เราเห็นอยู่นะ อืม เราก็ทุกข์แบบนี้ เราก็เคยเป็นเหมือนกัน ถ้าเขาทำคุณงามความดี จิตใจเขาเคยลงเหมือนกัน แต่ทำไมเราทำของเราไม่ได้ นี่เพราะเราทำไม่สมดุล

“มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางของธรรมะ ไม่ใช่ทางสายกลางของกิเลส”

พอพูดอย่างนี้ปั๊บบอกเราทำมุมานะกันเกินไป เราทำสิ่งใดแล้วไม่ได้ผลเราก็ทอดธุระให้มันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทาไม่ใช่ทอดธุระ มัชฌิมาปฏิปทาคือความเข้มแข็ง ความเข้มแข็ง ความวิริยะ ความอุตสาหะ แต่ใจของมัน มันไม่ออกไปที่ตัณหาความทะยานอยาก มันออกไปสมดุลของมันแล้วมันสมดุลของมัน เห็นไหม เวลาเครื่องยนต์ เวลาสมดุลของมันมันติดได้สม่ำเสมอ ไอ้นี่ติดบ้างไม่ติดบ้าง แล้วก็ทุกข์ๆ ยากๆ

คำว่าทุกข์ๆ ยากๆ นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข์มา ๖ ปี ค้นคว้ามา ๖ ปี นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทุกข์ยากเหมือนกัน ฉะนั้น คำว่าทุกข์ๆ ยากๆ อย่าเอามาตัดรอนความเพียรของตัวเอง อย่าเอามาตัดรอนเราไง นี่ทุกข์ยากอย่างนี้ ถ้ามองนะ มองพระพุทธเจ้าทุกข์กว่าเรา หลวงปู่มั่นทุกข์กว่าเรา ครูบาอาจารย์ทุกข์กว่าเรา แล้วท่านเป็นพระอรหันต์ไปหมดแล้ว แล้วเราล่ะ? เราล่ะ?

นี่เรามีร่องมีรอย มีช่องมีทางอยู่ เราจะขวนขวายของเรา ทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ อย่าเสียใจ สิ่งนี้เราทำมากับมือ กรรม...กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน แล้วกรรมมันฝังมาเป็นความรู้สึกนึกคิดไง ใครพูดไม่ถูกใจไม่พอใจทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าคนเขาดี เขาพูดอะไรมานะเขาพอใจทั้งนั้นแหละ นี่กรรม ทิฏฐิมานะ ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นความรู้สึกนึกคิด จนเป็นจริตเป็นนิสัย แก้ไขของเรา ดูแลใจของเรา แล้วเราจะเป็นประโยชน์กับเรา

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนเท่านั้นจะแก้ไขตน ตนเท่านั้นทำความสุขของตนขึ้นมาให้ได้ ครูบาอาจารย์ท่านพูดเป็นคติธรรม คติธรรมเอามาเปรียบเทียบ เอามาเทียบเคียง แล้วใช้ปัญญาของเราดูแลเรา เพื่อหัวใจของเรา เอวัง