ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ทางที่ถูก

๕ ส.ค. ๒๕๕๕

 

ทางที่ถูก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๐๒๙. ไม่มี ถึงข้อ ๑๐๓๓. นะ ข้อ ๑๐๓๓. ก็ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๐๓๔. เรื่อง “กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์มากค่ะ”

อ่านคำตอบท่านอาจารย์หลายครั้ง เรื่องเวรกรรมที่ทำไว้กับมารดา เข้าใจแล้วค่ะ จะทำตามที่อาจารย์บอก มีสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือการปฏิบัติให้พ้นจากทุกข์ พยายามปฏิบัติอยู่ แต่รู้สึกว่าช้ามากค่ะ ต้องใช้ความตั้งใจมาก

ตอบ : ถ้าคนเราสายตาปกติไม่ได้ใส่แว่น ถ้าสายตาสั้น สายตายาว ใส่แว่นกันแดด สีแว่นต่างๆ มันก็เห็นภาพแตกต่างหลากหลายกันไป ในความรู้สึกของเรา ถ้าเราอยู่กับสังคม เราว่าเราก็คิดของเราถูกนั่นแหละ แต่ความชอบ ความไม่ชอบของเรามันก็มองแตกต่างกันไป

ในความเป็นจริงเวลาเรามองปัญหา ถ้าปัญหาของเรา ปัญหาเฉพาะหน้าของเรา เราก็ว่าใหญ่โตมาก เด็กนะ เวลาทำสิ่งใดมันก็ว่าปัญหาของมันใหญ่โตมาก แต่เวลาคนมีประสบการณ์ขึ้นมาแล้ว มันมีประสบการณ์มากขึ้นไปเรื่อยๆ ปัญหามันจะเล็กน้อยไปเรื่อยๆ นี่ก็เหมือนกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาพื้นฐานเลยนะ ปัญหาของเรา ปัญหาในบ้านของเรา ปัญหาในสังคมของเราเป็นเรื่องพื้นฐานเลยล่ะ แต่บางคนก็รับปัญหานั้นได้ บางคนก็รับปัญหานั้นด้วยความทุกข์ยากมาก บางคนรับปัญหานั้นไม่ได้เลย

ฉะนั้น ถ้ามันมีวุฒิภาวะ มีการฝึกฝนมันจะมองภาพนั้นออก ฉะนั้น มองภาพนั้นออกนะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก ฉะนั้น พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก หลวงตาท่านพูดบ่อย แม้แต่พ่อแม่เราจะผิดนะ ในเมื่อพ่อแม่ของเราเป็นปุถุชน พ่อแม่ของเราจะทำไม่ผิดพลาดเลยมันเป็นไปไม่ได้หรอก พ่อแม่ของเราก็มีความผิดพลาดบ้าง แต่ความผิดพลาดนั้นก็เป็นเรื่องของปุถุชนใช่ไหม? แต่เรื่องบุญคุณ เรื่องให้ชีวิตนี้มามันมีค่ามาก

ฉะนั้น เราต้องมองข้ามความผิดพลาดนี้ไปบ้าง ความผิดพลาดนี้ไง แต่โดยข้อเท็จจริง สัจจะ ข้อเท็จจริงคือการเกิดและการตาย เราต้องรับผิดชอบชีวิตของเราเอง ถ้ารับผิดชอบชีวิตของเราเองเราจะมองเข้ามาตรงนี้ไง ฉะนั้น ถึงบอกว่าในการปฏิบัติมันเป็นเรื่องที่ปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าช้ามาก ช้ามากสิ ช้ามากเพราะว่าเรื่องของใจนะมันชอบสิ่งที่มันจมอยู่นั่นแหละ มันจมอยู่ที่ไหน? มันพอใจสิ่งใดมันก็ชอบอยู่ตรงนั้นแหละ แต่ถ้ามันผ่านตรงนี้ไปได้มันก็จบ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอ่านคำตอบหลายๆ หน อ่านคำตอบนะเขาว่าอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่ฝึกมัน ฝึกมันว่ามันมีมุมมองอีกมุมมองหนึ่งมุมมองที่เรามองไม่ออก ถ้ามองออกแล้วมันจะเข้าใจปัญหานี้ได้ จบ

ข้อ ๑๐๓๕. ข้อ ๑๐๓๖. ไม่มี

ข้อ ๑๐๓๗. ปัญหาครอบครัวอีกแหละ

ถาม : กราบนมัสการ คนที่มีเมียน้อยนี่เขาบาปไหมครับ? ถ้าเขามาแย่งทั้งพ่อไป

ตอบ : นี้ปัญหาครอบครัวหมดเลย เขาถามมานี่ปัญหา

ถาม : มีเมียน้อยบาปไหมครับ?

ตอบ : ถ้ามันเป็นบาป ไปดูสิสังคมมันเป็นสังคมนะ แต่ว่าสังคมของเรา เห็นไหม นี่ในทางยุโรปเขาต้องผัวเดียวเมียเดียว เขาถือสิทธิเสมอภาคใช่ไหม? ในเมื่อผู้หญิงก็ต้องมีสามีคนเดียว สามีก็ต้องมีภรรยาคนเดียว แต่กิ๊กแอบไว้ข้างหลังมันซ่อนไว้ เพราะอะไร? เพราะว่ามันทนแรงความเร้าในใจไม่ไหว

ฉะนั้น

ถาม : มีเมียน้อยบาปไหม?

ตอบ : โดยศีล เห็นไหม ศีล ๕ นี่ศีล ๕ คู่ครองของเรา คือสามีภรรยานี่ถ้าอยู่ด้วยกันมันไม่บาป แต่ถ้ามีเมียน้อยมันบาปไหม? มันผิดศีลตั้งแต่เริ่มต้น มันแน่นอนเลย แต่สังคมทำไมเป็นแบบนี้ล่ะ? สังคมเป็นแบบนี้เพราะค่าสังคมไง ค่าสังคมแล้วก็แบบว่าศีลธรรม จริยธรรมถ้ามันเข้มแข็งขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นความผิดประเพณีวัฒนธรรม คนถ้าผิดประเพณีวัฒนธรรมเขาไม่กล้าทำ

แต่นี่เขาผิดศีลไหม? ผิด ผิดประเพณีไหม? ผิด ทำไมสังคมให้ค่ากันล่ะ? เออ สังคมชาวพุทธทำไมให้ค่ากันล่ะ? เขาผิดไหม? ผิด แต่ผิดทำไมสังคม นี่ศีลธรรม เพราะศีลธรรมอ่อนแอไง ถ้าศีลธรรมอ่อนแอ นี่ไงที่เขาพูดกันบ่อย บอกว่าอย่าไปยกมือไหว้คนโกง อย่าไปยกมือไหว้เขา คนไม่ดีอย่าไปยกมือไหว้เขา คนมีสตางค์มานี่ แหม ยกมือไหว้ปร๋อ..เลย ก็รู้อยู่ นี่ศีลธรรมอ่อนแอ แล้วศีลธรรมอ่อนแอมันก็เป็นแบบนี้

ฉะนั้น บาปไหม? ถ้ามันบาปไหม? บาป พอบาปเสร็จแล้วมันเป็นเรื่องสัจจะเลยนะ เรื่องสัจจะ เห็นไหม นี่ฝนตก แดดออกมันให้ผลทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น เวลาเขามีเมียน้อยเข้ามันบาปไหมล่ะ? มันบาปที่ไหนรู้ไหม? บาปที่มันทำลายหัวใจเยอะแยะไปหมด มันทำลายหัวใจนะ ทำให้คนเจ็บช้ำน้ำใจกันไปทั้งนั้นแหละ ความเจ็บช้ำน้ำใจ เห็นไหม ค่าของน้ำใจนะมีค่ากว่าทุกๆ อย่าง คนเรานะ มีกิน ไม่มีกิน แต่ถ้ามีความสุขสงบในใจจะมีความสุขมากนะ คนเรามีกินอิ่มหนำสำราญ แต่หัวใจมันทุกข์ยากนะเห็นไหม ค่าของน้ำใจ

ถ้าเห็นค่าของน้ำใจนี่ศีลธรรมมันเกิดแล้ว ถ้าศีลธรรมมันเกิดขึ้นมามันก็ไม่เกิดตรงนี้ไง เกิดตรงนี้ขึ้นมา เขียนมาเยอะมาก แต่อ่านให้รู้ภาวะปัญหามันคืออะไรเท่านั้นแหละ เดี๋ยวตอบอยู่คนเดียว คนฟังงง หลวงพ่อพูดอะไร เขาพูดมานี่ เขารำพันมาเยอะเลยนะ เรื่องความกระทบกระทั่งกันในครอบครัว แล้วเขามาทำให้เจ็บช้ำน้ำใจ เขารำพันมา นี่บาปไหม? เราก็รู้ว่าบาป ถ้ารู้ว่าบาปแล้วนะ ตั้งใจไว้นะ ตั้งใจเตือนตัวเองไว้ว่าเราอย่าทำอย่างนั้น เราอย่าทำอย่างนั้น สิ่งใดที่คนอื่นไม่ชอบ เราไม่ชอบ เขาก็ไม่ชอบ ถ้าเขาไม่ชอบเราไม่ควรทำแบบนั้น ถ้าไม่ทำแบบนั้นมันก็ไม่บาดหมางกัน

นี่เขาถามว่า

ถาม : มีเมียน้อยบาปไหม?

ตอบ : มันผิดศีลมาตั้งแต่ต้น แต่มันผิดศีลมาตั้งแต่ต้น แล้วมันเป็นบาปเป็นกรรม ทำไมมันเป็นอย่างนี้? ทำไมค่านิยมสังคม เขาเห็นดีเห็นงามกัน เห็นดีเห็นงาม คนที่คิดแบบนั้นไง คนที่ไม่เห็นดีเห็นงามเขาคิดไว้ในใจว่ามันผิด มันผิด มันไม่ดี ทีนี้มันไม่ดีเขาจะกล้าเตือนกันไหมล่ะ?

นี่ไงเวลาสังคมเป็นแบบนั้น เวลาสังคมคิดอย่างหนึ่ง พูดอย่างหนึ่ง ทำอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นธรรมนะ นี่ปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คนยกย่อง คนที่ควรยกย่อง ควรกดขี่ คนที่ควรกดขี่ แต่สังคมทำกันไม่ได้ ทำกันไม่ได้มันเป็นมรรยาทสังคม อันนั้นเราอยู่กับสังคมไง นี่อยู่กับโลก ถ้าโลกเป็นใหญ่มันมีปัญหากันทั้งนั้นแหละ ถ้าธรรมเป็นใหญ่นะ ถ้าธรรมเป็นใหญ่ ผู้ปกครองเป็นธรรม สังคมจะร่มเย็นเป็นสุขมาก ถ้าผู้นำไม่เป็นธรรมมันอยู่กันยาก ถ้าอยู่กันยาก นี่หลวงตาถึงบอกผู้นำสำคัญมาก

ข้อ ๑๐๓๘. นะ

ถาม : ไม่ทราบว่าหลวงตาจะอนุเคราะห์หรือไม่ครับ

ตอบ : นี่เขาถามมา เขาถามมาเหมือนกันว่าเขาจะมาหา บอกว่าไม่อนุเคราะห์ครับ ไม่ให้ทำเด็ดขาดครับ ไม่ ไม่มีหรอก เรื่องโลกๆ นะ เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องโลกๆ ทั้งนั้นแหละ เรื่องที่ว่าจะอนุเคราะห์ ไม่อนุเคราะห์ นี่ไม่อนุเคราะห์

อนุเคราะห์หมายถึงว่าแสดงธรรมนี่อนุเคราะห์ ในฤทธิ์ในพุทธศาสนานะ อย่างของเราพวกชอบอภิญญา ๖ เห็นไหม มีฤทธิ์ คนหนึ่ง ทำเป็นพันคน ร้อยคนชอบมีฤทธิ์อย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องมาก ถ้าฤทธิ์นะ การบันลือสีหนาท ฤทธิ์อันนี้มันจะปราบปรามกิเลสในใจของคน กิเลสที่มันเห่อเหิม ถ้ามันเจอธรรมะเข้าไปมันจะยุบยอบลง

ฤทธิ์อันนี้สำคัญ แต่ไม่มีใครทำ เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะพูดแล้วมันไม่ได้อะไรไง แต่ถ้าไปอนุเคราะห์อย่างนั้นน่ะ โอ้โฮ ไอ้นี่มันเป็นเรื่องโลกๆ ถ้าเรื่องโลกนะ แล้วเวลาอย่างนี้ปั๊บเราก็อยากได้นั่น อยากได้นี่ แต่ก็ยังคิดกันไปเองไง คิดกันไปเองเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องของโลก ถ้าเรื่องของธรรม เรื่องของธรรมมันไม่มีไง

นี่พูดถึงปัญหานี้มันเป็นปัญหาที่ว่าปัญหามันไม่ใช่ปัญหา ก็เลยไม่อยากจะพูดไง ฉะนั้น เวลามาพูด เรามาพูดถึงปัญหาที่ภาวนา

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมมีปัญหาอยากกราบเรียนถามหลวงพ่อ คือว่าปกติเวลาภาวนาผมจะพิจารณากาย แต่คราวนี้มาปฏิบัติที่วัด จิตมันไปพิจารณาธรรมคือนิวรณ์ครับ ผมสังเกตว่าตลอดเวลาที่เดินจงกรมจะมีนิวรณ์ตัวต่างๆ เข้ามารบกวนจิตตลอด เลยจับเอานิวรณ์มาพิจารณาครับ จะเห็นว่าจิตรับรู้นิวรณ์แต่ละตัวได้เร็ว-ช้าต่างกัน นิวรณ์ตัวไหนที่เข้ามาแล้วกระเทือนถึงขันธ์ จิตจะรับรู้ได้เร็วและมันจะดับไป เช่นกามฉันท์ ถีนมิทธะ แต่บางตัวจิตจะรับรู้ได้ช้า เช่นพยาบาท วิจิกิจฉา อุทธัจจะ กุกกุจจะ

(ถามว่า)

๑. นิวรณ์มีหยาบ กลาง ละเอียดไหมครับ

๒. ถ้าพิจารณาธรรมในธรรม โดยพิจารณาดูนิวรณ์ ต้องปล่อยให้เกิดนิวรณ์ก่อนแล้วค่อยพิจารณาไหมครับ

๓. อุบายในการพิจารณากำจัดนิวรณ์แต่ละตัวครับ

ตอบ : นิวรณ์ นิวรณ์ ๕ ใช่ไหม? นี่อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือง่วงเหงาหาวนอนใช่ไหม? นี่มันเป็นความลังเลสงสัย ความง่วงเหงาหาวนอน นิวรณธรรมมันปิดกั้นหมด นิวรณธรรม ๕ มันจะปิดกั้นการทำสมาธิ แต่นิวรณธรรม ๕ แต่เดิมพูดถึงนิวรณธรรมมันปิดกั้นหมด ฉะนั้น นิวรณ์มีหยาบ มีกลางไหม? มี นิวรณ์นะ ถ้านิวรณ์ เราวิตกกังวลเรื่องอะไรล่ะ? อย่างเช่นกลับบ้านนะเอารถไปจอดไว้ เอารถจอดเข้าที่ ไม่เข้าที่ นี่นิวรณ์เกิดแล้ว ไปสงสัยอยู่กับมัน

เราจะบอกว่าถ้านิวรณ์อย่างหยาบก็คือวัตถุไง นิวรณ์อย่างหยาบคือเราวิตกกังวลเรื่องโลกนี่แหละนิวรณ์อย่างหยาบๆ แล้วนิวรณ์อย่างหยาบๆ เราไปวิตกไปหมดแหละ วิตกกังวลไปทุกเรื่องเลย ชีวิตนี้เป็นอย่างไร? คนนั้นจะเป็นอย่างไร? คนนี้นอนหรือยัง? คนนั้นไปที่ไหน? ไปแล้วกลับบ้านหรือเปล่า? นิวรณ์ไหม มันนิวรณ์ แต่นิวรณ์ไปข้างนอก นิวรณ์ไปข้างนอกเราก็เห็นว่านี่มันหยาบๆ ทีนี้พอเราเริ่มจะปฏิบัติกันใช่ไหมเราจะเห็นโทษไง เราเห็นโทษนะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัตินะ นี่ขันธ์ ขันธมาร ขันธ์ เห็นไหม ขันธ์มันไม่เป็นโทษ ความคิดมันไม่เป็นโทษ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เป็นโทษ แต่มันเป็นโทษเพราะมันมีตัณหาความทะยานอยากไง มันมีกิเลสบวกเข้าไปไง ถ้ามีบวกเข้าไปมันเป็นโทษ ฉะนั้น บอกนิวรณธรรมเราวิตกเรื่องรถเข้าบ้านแล้วจอดหรือยัง? ลูกหลานมันไปข้างนอกมันกลับมาหรือยัง? นี่คนเขาไปทำงาน นี่มันเป็นกิเลสไหม? มันไม่เป็นหรอก มันไม่เป็นหรอก

อ้าว รถมันมีกิเลสไหม? รถมันเป็นแร่ธาตุมันเป็นกิเลสไหม? แล้วเราไปวิตกกังวลกับมันทำไม? เราวิตกกังวลกับมันเพราะเรามีกิเลสไง เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงไม่ใช่กิเลส รูปอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส ตัณหาความทะยานอยากของคนต่างหากเป็นกิเลส แต่ขณะที่ว่ามันหยาบมันไม่รู้ มันไม่รู้นี่ ทุกคนก็วิตกกังวลหมดแหละ นี่ข้าวของเงินทองเป็นของเรา วิตกกังวลไปหมดเลย นี่มันไม่เป็นกิเลสเลย แต่ใจนี่เป็นกิเลส พอเป็นกิเลส ใจมันละเอียดแต่เราไม่เห็นมัน มันก็ไปยึดของหยาบ ไปยึดวัตถุขึ้นมาให้เราเห็น ไปยึดของหยาบ นี่นิวรณ์อย่างหยาบๆ

แต่พอเรามาปฏิบัติปั๊บ เห็นไหม เรามานี่เราถือศีล ทุกอย่างเราทำสำเร็จไว้หมดแล้ว เราวางไว้หมดแล้ว พอวางไว้หมดแล้ว ถ้าคนมาถือศีล พอมาอยู่วัดนะก็ยังคิดอยู่ที่บ้าน คิดไปบ้าน ตัวมาอยู่วัดแต่ใจไปอยู่บ้าน คิดออกข้างนอกไปหมดแหละ คิดแต่เรื่องต่างๆ ไปหมดเลย แต่ถ้าพอมีสติ เออ เอ็งจะบ้าหรือ? มันอยู่ไกลกับเราตั้งหลายร้อยกิโลเมตร คิดอย่างไรก็ทำไม่ได้หรอก เออ มึงจะบ้าหรือ? หยุดเลยนะ พอมึงจะบ้าหรืออะไรนี่ มันก็จะมาดู พอดูมันเห็นนิวรณ์ของเราแล้ว ถ้านิวรณ์อย่างหยาบ นิวรณ์อย่างกลาง นิวรณ์อย่างละเอียดยังมีไปอีก

นิวรณ์มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ทีนี้หยาบ กลาง ละเอียดอย่างไร? มันเป็นความคิดอันเดียวกันนี่แหละ มันไปยึดสิ่งที่เป็นวัตถุมันก็หยาบแล้ว ถ้ามันยึดอารมณ์ล่ะ? ยึดอารมณ์ล่ะ? ยึดความคิดมันละเอียดเข้ามาแล้ว แล้วเกิดถ้ามันทัน มันทัน เห็นไหม นิวรณธรรมเป็นเครื่องกางกั้น กางกั้น เพราะมันสงสัยมันก็ไปแล้ว เหมือนน้ำมีตะกอน มันกวนอยู่น้ำมันจะใสได้ไหม? ไม่ได้หรอก นี่มันกางกั้นนี่ไง มันใสไปไม่ได้ จิตก็เหมือนกัน ถ้ามันคิด มันคิดฟุ้งซ่านอยู่มันจะสงบได้ไหม? ไม่ได้ ไม่ได้หรอก ทีนี้พอไม่ได้ พอเราวางข้างนอกหมด วางข้างนอก วางหยาบๆ หมด มันก็เข้ามาที่ตัวมัน เห็นไหม เข้ามาที่ตัวมันถ้าเราจับได้

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : แต่เดิมเราเคยพิจารณากายมาตลอด แต่มาคราวนี้มันจะพิจารณาจิต พิจารณาธรรม คำว่าธรรมในธรรม

ตอบ : ธรรมในธรรมนะ อย่างเช่นคนหัดพิจารณา อย่างคนเรานะอยากจะเอาชนะตัวเอง จับความคิดของตัวเอง จับได้คือรูป อารมณ์ความรู้สึกเป็นรูป จับได้แล้ว พอจับได้แล้วก็แยกนะรูปนี้มันเกิดได้อย่างไร? รูปคือความคิดมันเกิดได้อย่างไร? อ๋อ มันมีสัญญา อ้าว พอมีสัญญา สัญญาก็คือสัญญา ถ้าสัญญาคิดได้อย่างไร? มันก็ต้องมีสังขาร สังขารมันปรุง อ๋อ นี่สังขาร นี่สัญญา นี่สังขาร อ้าว สังขารปรุงมันก็เกิดความรับรู้ มันต้องเกิดดี เกิดชั่ว เกิดเวทนา อ๋อ เวทนาคือรสอย่างนี้ คือความรู้สึกว่าชอบหรือไม่ชอบ อ้าว นี่เกิดเวทนา เกิดเวทนาแล้ว แล้วเวทนามันจะเป็นความคิดได้อย่างไรล่ะ? มันก็ต้องวิญญาณรับรู้ วิญญาณรับรู้ พอครบกระบวนการมันก็เป็นรูป

นี่เวลาคนแยกแล้วนะ คนจับได้นะ คนภาวนาเป็นนะ คนภาวนาปั๊บจิตสงบ จิตสงบจับอารมณ์ความรู้สึก นี่ก็จับรูป จับอารมณ์ความรู้สึก จับจิต ตัวจิต ตัวอารมณ์ความรู้สึกเป็นรูป เป็นกอง แล้วรูปมันมาได้อย่างไร? สสารมันมาได้อย่างไร? ความคิดมันมาได้อย่างไร? แยก แยกมันออก พอแยกมันออก นี่รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันแยกหมดแล้วเป็นกองๆๆ หมดเลย

“หลวงพ่อ แล้วชำระกิเลสอย่างไรล่ะ? หลวงพ่อ แล้วมันชำระกิเลสอย่างไรล่ะ?”

มันปล่อยหมดแล้ว ปล่อยแล้วก็ปล่อยแล้ว ปล่อยแล้วเป็นอย่างไรต่อ? ปล่อยแล้วก็งงๆ นี่ไง ปล่อยแล้วก็ยังปล่อยไม่ได้ พอปล่อยแล้ว ถ้ามันปล่อยนะมันก็ว่าง ถ้าปล่อยใหม่ๆ นะเวลาพิจารณามันปล่อย มันปล่อยก็โอ้โฮ โล่ง สบาย สุขมาก ปล่อยหมดเลย พอปล่อยหมดแล้วเดี๋ยวก็คิดอีก อ้าว คิดอีกก็แยกอีก ก็ปล่อยอีก แยกอีกก็ปล่อยอีก พอแยกไปๆ อั้นตู้นะ นี่ไงพออั้นตู้ปั๊บ ในรูป รูปนี่อารมณ์ความรู้สึก ความคิดเรามันก็มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ถ้าเป็นรูป เราอยู่เฉยๆ เรานึกนี่อยู่เฉยๆ แต่มันไม่นึกไปข้างนอกไง ไม่ละเอียดไง

เราจะบอกว่า “ธรรมในธรรม”

คำว่าธรรมในธรรม เห็นไหม ขันธ์ ๕ ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือรูป ในรูป รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้ากระบวนการมันไม่ครบนะ ขันธ์ ๕ มันไม่สมานกันนะ ความคิดเราไม่มีหรอก คิดออกมานี่คิดไม่ได้หรอก เรากั้นลมหายใจไว้สิ กั้นลมหายใจคิดไหม? กั้นลมหายใจไว้ไม่คิดหรอก นั่นแหละคือตัวมัน มันคิดไม่ได้ แต่ถ้ามันปล่อยล่ะ? พอปล่อยมันคิดออกมาเลย พอมันคิดออกมากระบวนการมันครบไง

นี่ไงที่ว่าสัญชาตญาณของมนุษย์ มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ถ้าขันธ์ ๕ มันทำงานของมัน ถ้าขันธ์ ๕ ทำงานของมัน เห็นไหม ดูอัลไซเมอร์สิ นี่เขาว่าเป็นเพราะสมองคิดไม่ได้ไง คิดไม่ได้ นี่พอมันคิดแล้วมันสะดุด มันคิดไปไม่ได้ เพราะว่ากระบวนการของมัน ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่สมบูรณ์ ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ไม่สมบูรณ์ คนบ้าคนใบ้เขามีความคิดของเขา เขาคุมของเขาไม่ได้

ฉะนั้น พอมันจับ พอจิตมันสงบแล้วมันจับอันนี้ได้ ถ้าจิตไม่สงบนะความคิดเป็นเรา ก็เราคิดนี่ไง เราคิด เรารู้สึก เรารับรู้ไปหมด แล้วเรารู้สึกก็บอกว่าดูจิตๆ ก็ดูความคิดนี่แหละ พอความคิดมันปล่อย เออ ถ้าปล่อยหนหนึ่งแว็บ เห็นนิพพานหนหนึ่งเป็นโสดาบัน เห็นนิพพานหนหนึ่งเป็นสกิทาคามี พอมันปล่อยปั๊บเห็นอะไรก็เป็น นี่เขาคิดของเขาไป นี่คือตรรกะของเขา แต่ถ้ามันพิจารณาไปมันเป็นความจริงนะ ถ้าจิตมันไม่สงบความคิดก็เป็นเรา ถ้าจิตมันสงบมานะใช้ความคิด ปัญญาอบรมสมาธิ พอพิจารณาไปมันก็ปล่อยๆๆ ปล่อยนี่เป็นสมาธิ นี่เป็นปล่อย ปล่อยก็คือพลังงาน

ทีนี้พลังงาน เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วขันธ์ ๕ เวลาเสวยอารมณ์ นี่เสวยอารมณ์ จิตเห็นอาการของจิต จิตเห็นความรู้สึกนึกคิดมันจับ พอจับได้ปั๊บ โอ้โฮ โอ้โฮ จิตจับความคิดได้ แต่เราเอาความคิดไปไล่เรื่องข้างนอกนะ แต่ถ้าเราปล่อยขึ้นมาแล้วมันเป็นสมาธิแล้ว แล้วสมาธิถ้ามันจับความคิดได้นะ มันจับได้ มันรู้มันเห็นของมันนะ ถ้ารู้เห็นของมัน นี่วิปัสสนา

มันเหมือนในการก่อสร้าง งานก่อสร้าง ถ้าเราก่อสร้างเราจะต้องตอกเข็มไหม? เราจะต้องเทคานคอดินขึ้นมาไหม? เราจะตั้งเสาขึ้นไปไหม? นี่มันจับได้ มันมีเหตุ มีผลของมัน เราจะก่อสร้าง จะสร้างตึก ๑๐๐ ชั้น สร้างบนอากาศ วาดภาพเลยนะ โอ้โฮ ตึก ๑๐๐ ชั้นนะ มันอยู่ได้ไหม? มันอยู่ไม่ได้ มันอยู่ไม่ได้เพราะอะไร? มันเป็นไปไม่ได้

ความรู้สึกนึกคิดที่เขาคิดกันมันเป็นอย่างนั้น เพราะมันเป็นเรื่องโลกๆ เรื่องโลกคือสัญญาอารมณ์มันจินตนาการสร้างภาพกันไป แต่ถ้าพอในภาคปฏิบัติ เห็นไหม ปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธินี่พอถ้ามันปล่อยวางเข้ามาๆ พอปล่อยวางเข้ามามันก็เป็นสัมมาสมาธิ พอสัมมาสมาธิ พอจิตมันเห็นนะ เห็นความคิด มันจับความคิด เขาเรียกเสวย ธรรมชาติของมันนะ พลังงานมันจะเสวย อย่างเช่นไฟฟ้า มันจะเข้าไปในเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดใด มันเข้าไปแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นมันก็ใช้งานของมัน โดยคุณภาพของมัน

จิตมันก็คิดของมันอยู่โดยธรรมชาตินี่แหละ นี่คือวัตถุใช่ไหม? แล้วพลังงานไฟฟ้าก็คือความคิด มันอยู่ในตัวเรานี่แหละ มันทำงานตลอดเวลา ทีนี้พอจิตมันสงบขึ้นมา พลังงานใช่ไหม? อัปปนาสมาธินะ เวลาเข้าถึงสักแต่ว่ารู้ จิตแยกออกจากกายเลย จิตอยู่ในกายนี้ก็ไม่รับรู้กายนี้ มันเห็นชัดๆ เห็นชัดๆ เลย แต่พอจิตมันสงบแล้ว ถ้าจิตสงบก็คือสงบ แต่พอจิตสงบเข้ามานะ มันสงบแล้วเรามีสติปัญญามันจับความคิดได้ พอจับความคิดได้มันเสวยอารมณ์ พอเสวยอารมณ์นี่มันเห็นชัดเจน ทีนี้มันเห็นชัดเจนมันจับของมันได้ พอจับของมันได้มันก็จะแยกแยะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ว่านี่แหละ

แต่เวลาที่มันจับไม่ได้มันมีตรรกะ แล้วมันคิดของมันนะ มันก็บอกอันนี้เป็นรูป อันนี้เป็นเวทนา มันคิดของมันไปเอง พอคิดไปเองมันไม่มีการกระทำ มันไม่เข้าสู่มรรค ถ้าเข้าสู่มรรคปั๊บ พอจับได้ปั๊บพิจารณาไป พอมันพิจารณาไปมันจะแยก พอมันแยก พอแยกแล้วมันก็ปล่อย นี่เขาเรียกตทังคปหาน คือการฝึกจิต เห็นไหม นี่มันก็นิวรณ์อย่างหยาบ นิวรณ์อย่างกลางไง พอพิจารณาแยกแล้วปล่อยหมดเลย ว่างหมดเลย ทำบ่อยครั้งมาก ทำบ่อยมากเลย พอทำไปๆ มันชักจืดนะ พอตทังคปหาน ตทังคปหานบ่อยๆ เข้าจืด

“หลวงพ่อ ไปข้างหน้าก็ไม่ได้ ถอยหลังก็ไม่ได้ แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? ทำอย่างไรต่อ?”

พอทำอย่างไรต่อปั๊บก็ต้องบอกว่าในรูปก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕ เพราะในรูปมันอย่างหยาบใช่ไหม? ในรูปมันมีความรู้สึกที่ละเอียด นี่ธรรมในธรรม ขันธ์ในขันธ์ เพราะอะไร? เพราะในรูปมันก็มีขันธ์ ๕ ในเวทนาก็มีขันธ์ ๕ ในสัญญาก็มีขันธ์ ๕ ถ้าในสัญญา สัญญาคือการเปรียบเทียบ ถ้าเราไม่มีขันธ์ ๕ มันจะเปรียบเทียบกับอะไร? มันก็ต้องมีการเปรียบเทียบ ในสังขารก็มีขันธ์ ๕ คือขันธ์ในขันธ์แยกเข้าไปอีก แยกเข้าไปอีก ที่ไหนมีความรู้สึกนึกคิด ที่ไหนมีความรับรู้ได้ ต้องจับแล้วพิจารณาทันที นี่มันก็ละเอียดไปเรื่อยๆ นี่ที่ว่าทำไมมันถึงไม่ปล่อย? ทำไมมันถึงไม่ขาด? ถ้ามันจะปล่อย มันจะขาด มันจะขาดอย่างนั้น ถ้าขาดอย่างนั้นมันต้องไล่เข้าไปไง

ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : นิวรณ์มีหยาบ มีกลาง มีละเอียดไหม?

ตอบ : มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ทีนี้หยาบ กลาง ละเอียดวัดกันที่ตรงไหน? หยาบ กลาง ละเอียด การทำงานของเรานี่นะ เราไม่จำเป็นที่ว่า อู๋ย เราทำงานของเราใช่ไหม? ถ้าทำงานของเรา เราสร้างบ้านของเราใช่ไหม? สร้างบ้านของเรา เราก็ใช้วัสดุก่อสร้างที่สมควรแก่การสร้างบ้านของเรา เราสร้างบ้านนะเราต้องใช้ปูนซีเมนต์ที่เขาสร้างเขื่อน สร้างเขื่อนเขาต้องใช้ปูนคุณภาพสูงมากนะ นี่ซีเมนต์ที่เขาใช้เทเขื่อนเขาต้องมีคุณภาพของเขา อุณหภูมิของเขา เขาเทของเขาเพื่อความดัน เพราะว่ามันกักน้ำ คุณภาพมันต่างกันมาก เราสร้างบ้านไม่ต้องใช้อย่างนั้นหรอก

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเรากิเลสมันหยาบ ถ้ากิเลสมันหยาบนะ พิจารณาไปมันรู้ทัน แล้วมันเศร้าหมองนะมันปล่อยได้ แต่ถ้ากิเลสมันละเอียดนะพิจารณาอย่างไรก็ไม่ไหว พลิกอย่างไรก็ไม่ขาด นี่จิตใจของคนมันแตกต่างกันตรงนี้ไง บางคนนี่นะมันซับมาเยอะ แล้วมันอยู่ใต้จิตสำนึก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ทำแล้วทำอีก รู้ๆๆ อยู่ เหมือนเราสอนเด็ก ไปสอนลูก ลูกรู้ว่ามันผิดไหม? รู้ แล้วลูกทำทำไมล่ะ? ก็ไม่รู้ ก็ทำแล้ว รู้ว่าผิดไหม? รู้ รู้แล้วทำทำไมล่ะ? อืม ก็ไม่รู้ ก็มันทำไปแล้ว

นี่ก็เหมือนกัน พอจิตลึกๆ พิจารณาแล้วรู้ไหม? รู้ แล้วทำไมไม่ขาดล่ะ? อืม ก็ไม่ขาดน่ะทำไม? ไม่ขาดก็ไล่ ไล่เข้าไป นี่ไงถึงบอกว่าถ้าเราพูดถึงเป็นวิทยาศาสตร์ใช่ไหม? มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด มันก็เหมือนคุณภาพ เหมือนกับความร้อน ถ้าความร้อนอุณหภูมิขนาดนี้ จุดเดือดอาหารมันก็ต้องสุกใช่ไหม? ถ้าพูดถึงเขาจะหลอมพวกวัตถุ ความร้อนต้องมากกว่านั้น นี่คุณภาพของมันเป็นอย่างนั้น แต่กิเลสมันไม่เป็นอย่างนั้น กิเลสนะเดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย วันไหนอารมณ์ดีๆ ภาวนาดีนะสุดยอดเลย โฮ้ วันไหนถ้ามันย้อนศรนะ โอ้โฮ หัวคว่ำ

ฉะนั้น หยาบ กลาง ละเอียด นี่ภาษาเรานะมันหยาบ กลาง ละเอียดเป็นของบุคคลด้วย บุคคลคือบุคคลคนนั้นใช่ไหม? บุคคลคนนั้นถ้าภาวนาไม่เป็นมันก็ยังหยาบ แต่ถ้าพอเป็นขึ้นมาแล้ว มันหยาบ อย่างกลางขึ้นมาเราก็ไล่ของเราไป คือหยาบ กลาง ละเอียดมันก็อยู่ที่เรานี่แหละ ถ้าอยู่ที่เราแล้ว มันอยู่ที่ว่าจริตนิสัย เห็นไหม เอตทัคคะ ๘๐ องค์ มีความรู้ ความเห็นแตกต่างกัน แต่เป็นพระอรหันต์เหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเมื่อก่อนเราพิจารณากาย เราก็พิจารณากายได้ผล แต่ถ้าพิจารณากายได้ผล ถ้ามันเอาจิตอยู่ แต่ถ้ามันเอาไม่อยู่แล้ว ถ้ามันเอาไม่อยู่มันขึ้นมาเฉพาะเป็นเรื่องนิวรณ์ เป็นเรื่องพิจารณาธรรมแล้วก็สู้กัน อะไรก็ได้ ถ้ามันพิจารณาแล้วนะ หนึ่งกิเลสมันชักแบบว่า เริ่มต้นกิเลสมันโดนล้อมกรอบก่อน แต่เดิมกิเลสมันเป็นเจ้าของ มันเป็นเจ้าอำนาจบาตรใหญ่ในจิต แล้วมันมีอำนาจไปหมด จิตนี่เป็นขี้ข้าของมัน เราทำอะไรเราฝืนมันไม่ได้เลย แต่เวลาภาวนาปั๊บเราเริ่มล้อมมัน สัมมาสมาธิล้อมมันไว้ แล้วพอเราหัดใช้ปัญญา ล้อมมันแล้วต้องเอาตัวมันมาพิจารณากันว่าเรามีความยึดมั่นถือมั่นอย่างไร?

ถ้าเราล้อมมันแล้วนะเราไม่พิจารณามัน วงล้อมของเรา รั้วของเราที่ล้อมมันไว้เดี๋ยวก็ชำรุดเสียหาย เดี๋ยวก็พัง พอเดี๋ยวพังมันก็กลับมาใหญ่เหมือนเดิม เราล้อมมันไว้แล้ว เห็นไหม เราทำความสงบของใจแล้วเราล้อมมันไว้ แล้วเราพิจารณาของเราไป นี่หยาบ กลาง ละเอียดเราพิจารณาของเราไป ของใครของมัน มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นการรู้จำเพาะตน ถ้ารู้จำเพาะตนนะ หยาบ กลาง ละเอียดมีไหม? มี มีแน่นอน มันมีอยู่แล้ว มรรคหยาบ มรรคละเอียดด้วย

โสดาบัน สกิทาคามี อรหันต์ไม่เหมือนกัน มรรคคนละขั้น คนละตอนไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเลย ถ้าเหมือนกัน คนเวลาพูดเหมือนกันนี่สูตรสำเร็จ นั่นคือปริยัติ วิทยาศาสตร์นี่สูตรสำเร็จ วิทยาศาสตร์เป็นปริยัติหมด แต่เวลาปฏิบัติไปแล้วมันมีเล่ห์ มีงอน มีเหลี่ยม มีชั้น มีเชิงอีกเยอะมาก มีเยอะมากปั๊บมันต้องปฏิบัติไปตามนั้น ถ้าปฏิบัติตามนั้นมันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะเป็นความจริงอันนั้น นี่ข้อที่ ๑.

ถาม : ถ้าพิจารณาธรรมในธรรมโดยดูนิวรณ์ ต้องปล่อยให้เกิดนิวรณ์ก่อนแล้วค่อยพิจารณาใช่หรือไม่ครับ

ตอบ : ในเล่นบอลนักกีฬานี่ เขาบอกว่าถ้าเล่นในเชิงรุกมีโอกาสชนะ ถ้าเล่นในเชิงรับมันมีโอกาสเสมอกับแพ้ ฉะนั้น เราจะต้องรุกตลอด ทีนี้คำว่ารุกนะ รุกอะไรล่ะ? มันไม่มีอะไรให้รุก มันจะไปรุกที่ไหนล่ะ? มันรุกก็แบบว่าเราต้องตั้งสติแล้ว เราตั้งสติแล้วภาวนา ต้องทำความสงบของใจให้มันมั่นคงก่อน นี่เราภาวนาปั๊บ ถ้าจิตใจเราหงุดหงิด จิตใจเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ มันทำอะไรทำไม่ได้หรอก นักกีฬา เห็นไหม เวลาเขาจะลงแข่ง นักกีฬาขนาดไหน ถ้าเขาไม่วอร์มก่อน ไม่อบอุ่นร่างกายก่อน ลงไปนะบางทีน็อคเลย เขาต้องอบอุ่นร่างกายของเขา

นี่ก็เหมือนกัน ก่อนภาวนานะเราก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ ภาวนาของเราไป ถ้าจิตมันดีนะมันหมุนไป เว้นไว้แต่พระ คำว่าเว้นไว้แต่พระ เพราะพระนี่ภาวนา ๒๔ ชั่วโมงนะ พระภาวนา ๒๔ ชั่วโมงมันต่อเนื่องกันมาตลอด ฉะนั้น พอต่อเนื่องมาตลอด ตีตาดนี่ปัญญาก็เกิด หลวงตาบอกว่าเวลาฉันอาหารอยู่ พอกิเลสมันจะมานะ ไหนกิเลสตัวไหน? ผลักอาหารก่อนจะสู้กับมันเลยนะ นี่เวลากินข้าวอยู่ พอกินข้าวอยู่ โอ๋ย อันนี้ดี อู๋ย อันนี้ดีกว่าอันนี้ มาแล้ว สู้เลย ใส่เลย ถ้าสู้เลย ใส่เลย เพราะว่าพระไงภาวนาตลอด

แต่ถ้าเรา เห็นไหม เขาบอกว่าถ้ามันพิจารณาแล้วต้องให้มันเกิดไหม? ต้องรอมันไหม? เราจะไปรออะไร? แต่ถ้าจิตมันไม่ดีเราก็ทำความสงบของใจก่อน หมายความว่าเราต้องมีกำลังสู้กับมัน ถ้าจิตสงบแล้วมันจะได้สู้กับมัน พอสู้กับมันนะ นิวรณ์อะไรมันเกิดขึ้นมาเราก็จับ พอจับมันปล่อยนะ กิเลสมันมีอยู่มันจะแสดงออก เว้นไว้แต่ว่าเราพิจารณาของเราเข้มแข็ง เวลาพิจารณาดีกิเลสมันฉลาดนะ มันไม่ตายหรอกมันหลบ

นี่หลวงตาท่านพิจารณา เห็นไหม พิจารณาอสุภะ พิจารณาจนปล่อยอสุภะหมดเลย ปล่อยหมดเลยนะ ถ้าเป็นพวกเราก็ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว โอ๋ย พิจารณาจนไม่มีเลย หาก็ไม่เจอ ว่างหมดเลย หลวงตาด้วยปัญญาของท่านนะ ว่างแบบนี้ไม่เอา ไม่มีเหตุ ไม่มีผล ถ้าว่างก็ต้องบอกว่าว่างอย่างไรสิ ถ้ามันขาดมันก็ต้องบอกว่าขาดตอนไหนสิ นี่มันไม่บอก ถ้าไม่บอกอย่างนี้แสดงว่าสงสัย ไม่เอา พอไม่เอาก็ไปเอาสุภะ เอาสุภะคือเอาความสวยงาม เอาสิ่งที่ชอบมาแนบไว้กับจิต มันพิจารณาเข้ามา กำลังมันยังดีอยู่ใช่ไหมมันก็ปล่อยหมด มันก็ว่างหมด เอามาแนบนี่ฉันไม่มี ไม่เอา ฉันดี ท่านก็ยังไม่ไว้ใจก็แนบไว้ แนบไว้ ๓ วัน

คิดดูสิเอาของที่เราชอบใจ ก็เหมือนมด เอาน้ำตาลไปไว้ที่มด บอกว่าอย่ากินนะ วันแรกมดมันก็ไม่กิน เอาน้ำตาลไปฝากมดไว้ เฮ้ย อย่ากินนะ นี่มันก็ไม่กิน เพราะอะไร? เพราะเฝ้ามันอยู่นะ แล้วมดมันทนไหวไหม? อ้าว เอาน้ำตาลไปฝากมดไว้ นี่ก็เหมือนกันเอาสุภะมาแนบไว้กับจิต ทีแรกนะมันก็กิเลสใช่ไหม? มันก็ว่าไม่มีๆ จนวันที่ ๓ มันเริ่มไหวตัว นี่ไงไหนว่าไม่มี พอไม่มีปั๊บ ทีนี้ต่อไปปฏิบัติก็เอาสุภะบ้างมาแนบไว้ตลอด แนบไว้เพื่อจะให้มันออกมา

เราบอกว่านี่ไงการพิจารณา การพิจารณาพอมันปล่อยแล้วๆ จิตมันมีอยู่นะ มันมีอยู่ ถ้าเราหยาบๆ มันต้องแสดงตัวแน่นอน แต่เวลาถ้ามันภาวนาจนชำนาญแล้ว แบบว่าพอชำนาญ ไม่อย่างนั้นเขาจะติดกันไง โสดาบันก็ติด สกิทาคามีก็ติด อนาคามีก็ติด อรหันต์ก็ติด ก่อนจะเป็นอรหันต์มันติดหมดแหละ เพราะเป็นอรหันต์นะ นี่อรหัตตมรรค อรหัตตผลมันมั่วไปหมด งานนี้มันละเอียดมาก แล้วสิ่งที่งานละเอียดที่เราไม่เคยทำมันติดไปหมด มันติดไง ถ้าภาวนามันปล่อย มันพิจารณามันปล่อย ตทังคปหานคือชั่วคราวไง โอ้โฮ ไม่เคยเห็นนะ นี่ใช่ อันนี้พระอรหันต์ พอ ๒ วันอรหันต์มันหายไปไหนไม่รู้ ทุกข์ฉิบหายเลย เออ อรหันต์มันหายไปแล้ว อ๋อ กูหลงอีกแล้ว

เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ คนภาวนาทุกขั้น ทุกขั้นตอนจะมีอย่างนี้หมด เพียงแต่มีคนพูดความจริงหรือไม่พูดความจริง เวลาพูดนะ เวลาคุยกันใช่ไหม? โม้กันนี่ แหม เมื่อคืนภาวนาดีมากเลย คุยกันตอนเช้านะ พอตกเย็นมันทุกข์แล้ว เอ๊ะ เมื่อคืนภาวนาดีมากมันหายไปไหนไม่รู้ ตอนนี้ทุกข์แล้ว ทีนี้จะไปบอกเขาบอกว่าทุกข์ก็ไม่ได้ ก็ไปคุยกับเขาเมื่อกี้นี้เองบอกว่าเมื่อคืนภาวนาดีมากเลย อู๋ย จิตอย่างนี้เลย แล้วพอตกเย็นพอมันทุกข์ ทุกข์ก็เก็บไว้ไม่กล้าบอกเขา บอกเขาได้อย่างไรล่ะ? ไปบอกเขาได้อย่างไรล่ะ เขาบอกว่าเขาภาวนาดี นี่มันกัดหนองในใจ นักปฏิบัติมันรู้ นักปฏิบัติกับนักปฏิบัติมึงอย่ามาหลอก รู้ทั้งนั้นแหละ

ฉะนั้น ถ้ามันพิจารณาไปอย่างนี้ พิจารณาธรรมในธรรม บอกว่าต้องให้มันเกิดก่อนไหม? ถ้ามันเกิดก่อน เราเล่นบอลเราจะยันไว้ใช่ไหม? รอเสมอกับแพ้ เอาเสมอเนาะ เอาแต้มเดียวไม่เอา ๓ ใช่ไหม? ถ้าชนะได้ ๓ แต้ม ถ้าเสมอได้แต้มหนึ่ง แต่ถ้าแพ้อดเลย ถ้าเรารอรับอยู่ เห็นไหม ต้องให้รอมันเกิดก่อนๆ ถ้าเราจับนิวรณ์ได้หรือเราจับกายได้นะ พอจิตสงบมันพิจารณาได้แล้ว การจับได้หมายถึงว่าการจับไว้ ขุดคุ้ยเจอกิเลสแล้วเราพิจารณาได้ต่อเนื่อง เหมือนกับนักโทษเราจับขังไว้ในคุก ถ้าประกันตัวไปจะสอบก็เรียกมาได้ตลอดเวลา

จิตถ้ามันจับได้แล้วพิจารณาไปได้เลย ไม่ต้องไปจับบ่อยๆ จับได้แล้วคือว่ามันจับกันได้แล้ว มันรู้แล้ว ในใจมันรู้อยู่ ที่เราพิจารณาไม่ได้ ทุกคนที่พิจารณาไม่ได้เพราะหนึ่งพิจารณาอะไร? คนปฏิบัติทุกคนถามเลย พิจารณาอะไร? พิจารณาตรงไหน? พิจารณาอย่างไร? ส่วนใหญ่ถามกันอย่างนี้ พิจารณาตรงไหน? แล้วจะพิจารณาอะไรล่ะ? แล้วพิจารณาอย่างไรล่ะ? แล้วๆๆ ก็คือไม่รู้ไง ถ้าลองได้ถามก็คือไม่รู้ แต่ถ้ามันรู้มันจะถามไหม? มันรู้เพราะมันจับได้ พิจารณาปั๊บปล่อย ปล่อย ปล่อยเดี๋ยวก็เกิดอีก เกิดอีกก็คือตัวมัน ตัวมันก็จับอีก พอพิจารณาก็ปล่อย ปล่อยก็จับอีก จับอีก ต้องพิจารณาอย่างนั้นแหละ

ฉะนั้น เราย้ำตรงนี้มากเลย ย้ำตรงที่ว่าเวลาเขาไปถามหลวงตา เวลาพิจารณามานี่ โอ๋ย คุยเป็นคุ้งเป็นแควนะ โอ้โฮ พิจารณาอย่างนั้นๆ นะ ไปถามว่าใช่ไหม? หลวงตาบอกว่าใช่ ถูกไหม? ถูก แล้วทำอย่างไรต่อล่ะ? ก็ซ้ำไปไง ซ้ำสิ ซ้ำลงไป นี่หลวงตาตอบอย่างนี้ถูก แล้วชัดเจนมากเลย แต่ไอ้คนฟังนี่เบื่อ ไม่ตอบอะไรสักคำ บอกให้ซ้ำอย่างเดียว แล้วซ้ำอะไรล่ะ? ก็ที่ทำมานี่มันถูกไหม? ก็บอกว่าถูก ที่เราทำมานี่ถูกไหม? ถ้าเราทำมาไม่ถูกเราเอาอะไรมาถาม สิ่งที่เราไปถามเราก็เอาปฏิกิริยา เอาการกระทำของใจที่เราทำมาไปถามท่าน

ถามท่านว่าถูกไหม? ท่านก็บอกว่าถูก ถูกแล้วถามท่านว่าทำอย่างไร? ท่านก็บอกให้ซ้ำต่อไป ก็ให้ทำอย่างที่ทำมานั่นแหละ แล้วทำซ้ำก็กระบวนการอย่างนั้น ก็ทำซ้ำ แล้วไปทำอย่างไรล่ะ? ทำกระบวนการนี้เสร็จแล้ว นี่ถูกไหม? ถูก แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ต่อไปก็ทำให้แหลกเหลวใช่ไหม? คือไม่ต้องทำอะไรเลยใช่ไหม? ถ้าจะตอบก็ตอบไปทางนู้นเลยหรือ? ถ้าตอบให้ถูก ถูกก็คืออยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้แล้วทำอย่างไรต่อไป? ก็คือซ้ำ ซ้ำคือกระบวนการที่ทำมาทั้งหมดนั่นแหละ ให้ทำอย่างนั้นเข้ามาอีก

กระบวนการที่ทำมาทั้งหมดก็คือใหม่ๆ กินข้าวมื้อนี้เสร็จแล้ว มื้อต่อไปอาหารก็อาหารอย่างนี้ แต่มันทำใหม่ ถ้ากินข้าวมื้อนี้หมดแล้วนะ ทำเสร็จแล้ว อย่างนี้ถูกไหม? ถูก แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ให้ซ้ำ อ้าว ก็มันมีแต่จานเปล่าๆ จะซ้ำอะไรล่ะ? จะกินอะไรมันไม่มี มันไม่มีก็ต้องนิวรณ์เกิดนี่ไง ซ้ำหมายความว่ากระบวนการจะเริ่มต้น เริ่มต้นอีกวงจรหนึ่งที่มันจะเกิดขึ้น อย่างเช่นจับกายได้ก็พิจารณากายซ้ำไป จับจิตได้พิจารณาจิต พิจารณาจิตซ้ำไป พิจารณาแล้วมันก็ปล่อย ปล่อยแล้วมันก็เกิดอีก

ความคิดไม่มีใช่ไหม? พอพิจารณาปล่อยไปแล้วความคิดไม่มีอีกเลยหรือ? มี ก็มีก็จับตรงนั้นนั่นแหละคิด จับตรงนั้นแหละแล้วพิจารณาต่อไปเลย พิจารณาซ้ำไปๆ พอซ้ำไปแล้วมันจะละเอียดเข้าไปนะ พอมันรู้เข้าไป ถ้าเป็นโสดาบันแล้วมันง่ายหน่อยหนึ่ง เป็นโสดาบันเพราะอะไร? เพราะก่อนจะถึงเป็นโสดาบันมันต้องล้มลุกคลุกคลานมาก่อน ถ้ามันล้มลุกคลุกคลานมาก่อน พิจารณาไปแล้วมันขาด ขาดคือสังโยชน์มันขาด พอสังโยชน์มันขาดแล้วมันก็เห็นแล้ว เห็นกระบวนการครบวงจรของมัน

คือเริ่มต้น เริ่มต้นล้มลุกคลุกคลาน ท่ามกลาง ท่ามกลางคือการต่อสู้กำลังได้เสีย ที่สุด ที่สุดคือพิจารณาจนมันขาด พอมันขาดปั๊บมันเห็นหมดแล้ว พอเห็นหมดแล้ว อ๋อ สกิทาคามีก็ต้องเป็นแบบนี้ อนาคามีก็ต้องเป็นแบบนี้ มันมีพื้นฐานอันนี้ ถ้าพื้นฐานอันนี้มันก็จะต่อไป ต่อไปขั้นสกิทาคามี อนาคามีต้องทำอย่างนี้ ทำแบบนี้นะ แต่กิเลสที่ละเอียดกว่ามันก็หลอกให้หัวปั่นอยู่ดี หัวปั่นอยู่ดี ถ้าหัวปั่นขนาดไหนครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ครูบาอาจารย์เป็นที่ปรึกษา เราก็ปรึกษาครูบาอาจารย์ของเรา

นี่พูดถึงข้อ ๒.

ถาม : การพิจารณาธรรมในธรรมต้องดูนิวรณ์ ต้องปล่อยให้เกิดนิวรณ์ก่อน แล้วค่อยพิจารณาใช่หรือไม่ครับ

ตอบ : ถ้ามันเกิดก็พิจารณาเลย แต่ถ้ามันไม่เกิด ไม่เกิดก็พิจารณาซ้ำไปเลย ซ้ำไปเลย คือว่าถ้ารอให้มันเกิดก็เหมือนเล่นบอลรับ นั่งรอเลยนะ เฮ้ย บุกเข้ามา ตั้งตรงจุดโทษแล้วเตะเลย มีแต่แพ้กับแพ้ ไม่ต้องรอให้มันเกิดก่อน ใส่มันเลย รุก ไม่ใช่นั่งเฝ้าประตูเป็นแถวเลย นั่งเรียงเลย ๑๑ คน อ้าว รอให้เขามายิง รอให้มันเกิดไง

การปฏิบัติมันมีหลายอย่างนะ นี่อยู่ที่ความชำนาญ เพราะพิจารณาไป อื้อฮือ เราบอกว่าเวลาใช้ปัญญาพิจารณานะสนุกกว่าเล่นเกม เราไม่เคยเล่นเกมเพราะเราเล่นไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่เป็น แต่เวลาฟังเขาคุยกันว่าเกมสนุกอย่างนั้นๆ เราบอกว่าสู้ปัญญาไม่ได้หรอก สู้เวลาพิจารณา พิจารณานี่มันกว่าเยอะเลย เล่นเกมแพ้ ชนะได้แต้ม ถ้ากูพิจารณามันปล่อยแล้วมันกว่าเยอะเลย แล้วพิจารณาไปแล้วจะรู้

ถาม : ๓. อุบายการใช้ปัญญากำจัดนิวรณ์แต่ละตัวครับ

ตอบ : อุบายนะมันอยู่ที่จริต ถ้าโทสจริตนะ พออะไรสะกิดมันพุ่งเลย พุ่งเลยๆ ถ้าพุ่งเลยมันต้องมีเมตตา มีอะไรของเราไว้ อยู่ที่จริตไง อุบายนะ อุบายมันต้องขึ้นเป็นปัจจุบัน เวลาเราพูดเราบอกครูบาอาจารย์เวลาท่านพูดอะไรเป็นคติธรรม เป็นคติธรรมของเรา ให้เรามีต้นทุน พอมีต้นทุนปั๊บอันนี้เป็นสัญญาไหม? เป็น แต่เป็นสัญญา สัญญาเริ่มต้น ถ้าไม่มีสัญญาเลย เราไม่มีทุนเลยเราจะเอาอะไรไปทำ เราก็ต้องมีทุนใช่ไหม?

อย่างเช่นธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า นี่ก็สัญญา ไปศึกษาจำมาเป็นสัญญาทั้งนั้นแหละ แต่สัญญามันทำขึ้นมาแล้ว นั่นสัญญาใช่ไหม? แต่พอเราทำแล้วเราได้ผลกำไรขาดทุนนี้ของเรา ถ้าผลกำไรขาดทุนของเรานี่ ไอ้ที่ต้นทุนนั้นจะคืน จะคืนพระพุทธเจ้า แต่เราจะให้เกิดขึ้นมากับเรา เราจะเกิดขึ้นมาเป็นความจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเราขึ้นมา นี่เป็นคติธรรม ถ้าคติธรรม เวลาครูบาอาจารย์ให้อุบาย เวลาเทศนาว่าการเราจับเลย จับเลยแล้วเราทำเลย

พอเราทำขึ้นไป ถ้าเราทำขึ้นมา นี่เริ่มต้นจุดประเด็นด้วยอุบาย ด้วยสัญญา แต่พอเราทำไปแล้วนะเดี๋ยวมันจะเกิดกระบวนการแล้ว กระบวนการว่าถูกหรือผิด ถ้าสัญญา แล้วใช้ปัญญาใคร่ครวญกับสิ่งที่เป็นสัญญาตลอดไป มันก็จะล้มกลิ้ง ล้มหงายอยู่นั่น เพราะมันไม่เป็นจริงของเรา แต่ถ้าเป็นจริงของเรา เห็นไหม เหมือนเช่นถ้าเราทำอาหารใช่ไหม? ถ้าเป็นในครัวของเราทำอะไร อาหารเสร็จมันก็ต้องเป็นของเรา

จิต จิตถ้ามันจับได้ หรือมันพิจารณาของมันได้ มันพิจารณาของมันไป มันจะเป็นผลงานของเรา เป็นปัจจัตตัง แต่ แต่อาศัยไง อาศัยคติธรรม อาศัยสิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านเทศนาว่าการไว้ ถึงว่าเป็นสัญญาก็เป็นสัญญา แต่มาพูดถึงเวลาผลไง เวลาผล เวลาพูดอย่างนั้นๆ พูดถึงมันเป็นอย่างนั้น คือเทียบแบบมันพูดไม่มีของเราไง ถ้าเป็นของเรานะ เวลาพิจารณาแล้วเป็นอย่างนั้นๆๆ แต่ถ้าคนไม่มีนะ จะบอกเลยนะ พิจารณาแล้วเหมือนกับของหลวงตาอย่างนั้นๆ

แล้วเวลาพูดนะ มีพระมาพูดกับเราเยอะมาก บอกว่าเวลาปฏิบัติไปแล้วนะ นี่พิจารณาไปแล้วพิจารณาเป็นเม็ดข้าว เพราะอะไร? เพราะวิทยานิพนธ์ ในสภามหาวิทยาลัยวิทยานิพนธ์ของใครเข้าไปอยู่ที่นั่น ในการปฏิบัติของครูบาอาจารย์นะ เช่นหลวงปู่มั่นพิจารณาอย่างไร? หลวงปู่ขาวพิจารณาอย่างไร? หลวงปู่ชอบพิจารณาอย่างไร? หลวงตาจุดและต่อมพิจารณาอย่างไร? ขั้นสุดท้ายจุดและต่อม เหมือนกับอวิชชา มะพร้าวมี ๒ ขั้ว นี่แล้วคนปฏิบัติไป ของผมจุดและต่อมครับ มันไปก็อปปี้วิทยานิพนธ์มาทั้งเล่มเลยนะ มันบอกว่าเป็นของมัน แล้วก็มาคุยให้ฟัง อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่เด็ดขาด

ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปเราใช้อุบายมาเหมือนกัน แต่เวลาเกิดเกิดอะไรกับเรา เกิดอย่างไร? ไม่มีเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันนะ เพราะพระคิดกันอย่างนั้น เห็นไหม เพราะมีพระบางองค์มาคุยกับเราไง คุยจะให้เรายอมรับว่าเขามีธรรม เขาบอกของเขาพิจารณาเป็นต้นข้าว พอขึ้นเป็นต้นข้าวนะอันนี้เป็นของหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวอยู่ในประวัติท่าน ใครๆ เขาก็รู้ ถ้ารู้แล้ว วิทยานิพนธ์มันมีอยู่ในสภาไง แล้วเอ็งเขียนเหมือนกันเปี๊ยะเลย แล้วเอ็งไปส่งเขารับเอ็งไหม? ไม่มีสิทธิ์ แต่กิเลสมันไม่รู้ นึกว่ากูพูดแล้วเท่ห์ แล้วไอ้คนฟัง ฟังแล้วก็อึ้งนะ แต่ถ้าคนเป็นนะ เอ็งนี่มหาโจร ภาวนาไม่เป็นก็ไปลอกเลียนของเขามา

นี่พูดถึงเวลาเป็นโทษนะ แต่ถ้าเวลาบอกว่าเป็นคติธรรมเราไม่ได้ไปอ้างอิงว่าเป็นสมบัติของเรา เพียงแต่เราพิจารณาไม่เป็น เราพิจารณาไม่ได้ วิทยานิพนธ์ของใครก็เอามาเป็นต้นแบบใช่ไหม? แล้วพยายามฝึกฝนตัวเราขึ้นมา ถ้าฝึกฝนตัวเราขึ้นมาแล้ว เดี๋ยวพอเรารู้จริง อันรู้จริงนี่เขียนออกมา อันรู้จริง วิทยานิพนธ์ของเรานี่เขียนออกมา ถ้ามันรู้จริงขึ้นมาแล้วมันเขียนออกมานะ อ้าว ค้านมาสิ ก็มันเป็นแบบนี้ เขียนออกมา เขียนออกมาก็นี่ไงหลวงปู่ขาวก็เทศน์ของหลวงปู่ขาว หลวงตาก็เทศน์ของหลวงตา

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าอุบาย อุบายจะเกิดนะมันต้องเป็นปัจจุบัน ฉะนั้น ปัจจุบันขึ้นมา ขณะที่เราภาวนาเป็นปัจจุบัน แต่ตอนนี้บอกว่าอุบายในการใช้ปัญญา เราใช้ปัญญามาถูกต้องแล้ว นี่ถ้าไปถามหลวงตาว่าถูกไหม? ถูก แล้วทำอย่างไร? ก็ซ้ำไง ซ้ำ ถ้าเราทำมาถูกต้อง เห็นไหม อย่างนี้ดีงามหมดเลย เราขับรถไปนะ มีถนนหนทางพอไปได้ แต่มันลำบากหน่อยหนึ่ง บอกจะไปทางที่เรียบๆ ไปทางไหน? พอเขาบอกว่าไปทางเรียบๆ นะก็ขึ้นก้อนเมฆไง พอขึ้นก้อนเมฆก็ส่งขึ้นไปดวงจันทร์เลยไง อ้าว ไปไม่ได้

นี่ไงถ้าบอกว่าขออุบาย อุบายก็ขึ้นก้อนเมฆสิ อ้าว ก็อุบายของเขาไม่ใช่ของเรา ถ้าไม่ใช่ของเรา อุบายนะ ไอ้คนแนะนำก็อู๋ย สุดยอดเลยนะ เพราะอะไร? เพราะเขาไปจรวดใช่ไหม? เขาก็ยิงขึ้นดวงจันทร์เลย ไอ้เราขับรถนะก็บอกว่าต้องการอุบาย ไอ้คนที่ชำนาญอยู่แล้วก็บอกว่านี่ไงขึ้นก้อนเมฆเลย ขึ้นก้อนเมฆก็ยิงไปดวงจันทร์เลย แล้วเอ็งจะไปได้อย่างไรล่ะ? ไปไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ของเรา เราไปขออุบายจากเขา แต่อุบายจากเขา ครูบาอาจารย์ท่านก็จะแนะของท่าน แนะของท่าน ท่านจะแนะนะ

เวลาครูบาอาจารย์ท่านแนะ เวลาหลวงตาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่น เวลาภาวนาขึ้นไปหาหลวงปู่มั่นนะ หลวงตาก็บอกว่าจะไปขออุบายไง หลวงปู่มั่นท่านล้มโต๊ะเลย คือท่านผลักเลย ให้ไปหาเองไง ถ้าเราบอกอุบายปั๊บ มันก็จะบอกว่าอันนั้นของเราดีกว่า ของเราถนัดกว่า อันนั้นไม่ถูก เวลาบอกนี่กิเลสไม่ได้หรอก แต่เวลาจะบอกอุบายนะ เวลาพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เทศนาว่าการหลานพระสารีบุตร

“ไม่พอใจสิ่งต่างๆ เลย ไม่พอใจใดๆ ทั้งสิ้น”

พระพุทธเจ้าบอก “ถ้าเธอไม่พอใจสิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย อารมณ์เธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

พระสารีบุตรพัดพระพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง พัดพระพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง ปิ๊งเป็นพระอรหันต์เลย คนที่ฉลาดนี่นะ เวลามันเทียบเคียง นี่บอกคนอื่นแท้ๆ เลย แต่พระสารีบุตรอยู่ข้างหลังได้เป็นพระอรหันต์ เทศน์สอนหลานพระสารีบุตร แต่พระสารีบุตรได้เป็นพระอรหันต์ ถ้าบอกตรงๆ นะพระสารีบุตรไม่รับ เพราะเวลาสอนนะ สอนพระโมคคัลลานะ ๗ วันเป็นพระอรหันต์ บอกพระสารีบุตรนะ พระสารีบุตรเอามาเทียบ อ๋อ นี่ของพระพุทธเจ้า นี่ของเรา อันนี้ของพระพุทธเจ้า อันนี้ของเรา ไม่ลง งง ไม่ลงไง แต่เวลาสอนคนอื่นพระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์

เราจะบอกว่ากิเลสนี่ร้ายนัก การแนะนำอุบาย การแนะนำนี่นะมันจะมีการโต้แย้งในใจลึกๆ เวลาครูบาอาจารย์บอกว่าเราผิด เราจะโต้แย้งว่าโอ้โฮ เทวดาตัวเขียวๆ อย่างนี้ผิดหรือ? ไม่มีทางหรอก เทวดาตัวเขียวๆ มันว่ามันถูกไง มันจะว่ามันถูก มันดี เวลาอาจารย์บอกว่าเอ็งผิดนะ อืม มันจะผิดได้อย่างไร? เทวดาตัวเขียวๆ นี่ผิดด้วยหรือ? ไม่มีทาง แต่ถ้าเวลามันคิดได้นะ โอ้โฮ จริงๆ นะเวลาคิดได้อย่างนี้หมด โอ้โฮ สลดนะ ถ้าคิดได้สลดเลยนะ โอ้โฮ ผิดเต็มๆ เลยล่ะ ผิดทั้งหมดเลย ถ้ามันคิดได้ แต่ถ้าคิดไม่ได้นะ โอ้โฮ ตัวเขียวๆ นี่ผิดด้วยหรือ? นี่กิเลสเป็นแบบนี้ คนปฏิบัติมาจะเจอสภาวะแบบนี้มาเยอะ

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านถึงได้พูดไง

“หมู่คณะให้ปฏิบัติไปนะ ถ้าใครปฏิบัติถึงจุดนี้ ถ้ารู้ถึงจุดนี้จะมากราบศพ”

ถ้าวุฒิภาวะของใจมันขึ้นไปเสมอกัน มันจะรู้ มันจะเห็น ถ้าวุฒิภาวะของมันยังไม่รู้ ไม่เห็นนะ เอาไมค์ไปจ่อ เอาลำโพงไปจ่อหูมัน มันยังไม่รู้ ไม่มีทางรู้ ฟังจนชินหู พูดจนชินปาก นี่ปากพูดจนชิน มันฟังจนชินหู แต่หัวใจมันด้าน หัวใจมันด้าน แต่ถ้าเวลาธรรมะมันเข้าไปเปิดเผยนะ มันจะเปิดเผยออกมา ถ้าเปิดเผยออกมาอย่างนี้ปฏิบัติ

นี่การปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้การปฏิบัติเป็นอย่างนี้ เราจะต้องเข้มแข็ง ที่พูดนี้พูดให้กำลังใจนะ ให้กำลังใจหมายความว่าหลวงปู่มั่น หลวงตา ครูบาอาจารย์เรา หลวงปู่ขาว ครูบาอาจารย์เราเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นเลย แต่ที่เล่านี่เล่าถึงประสบการณ์ของท่าน ที่ท่านกว่าจะเป็นพระอรหันต์ท่านล้มลุกคลุกคลานมาขนาดไหน? ท่านจริงจังขนาดไหน? ท่านทำมา ขณะที่ท่านทำท่านไม่มีลูกศิษย์ลูกหาหรอก ท่านคือตัวท่านเปล่าๆ

เหมือนพระกับพระตัวต่อตัวสู้กันมาตลอด ท่านไม่ได้ต้องแบกรับภาระอย่างนี้ไง ท่านยังไม่ได้ออกมาเทศน์สอนว่าใคร มันไม่ต้องแบกรับภาระพะรุงพะรัง ตัวต่อตัวล่อกันเต็มที่ จนท่านถึงที่สุดแล้วท่านถึงจะมาเป็นผู้นำของพวกเรา นี้เวลาพวกเรา เราทำของเรา เราต้องมีกำลังของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

ฉะนั้น อุบายการใช้ปัญญา นี่เราใช้อุบายอย่างไรได้ประโยชน์ต้องเป็นอย่างนั้น อุบายการใช้ปัญญา อย่างนี้การพิจารณาธรรมเขาเรียกว่าพวกพุทธจริตคือพวกที่มีปัญญา แต่ถ้าผู้มีศรัทธาจริตนะ กำหนดพุทโธ พุทโธให้จิตสงบลงไป แล้วมันเพ่ง มันดู มันแยก มันแยะ วิภาคะ อันนั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ฉะนั้น จริตของคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้ไม่เหมือนกัน นี่ฟัง ฟังตอบปัญหาแล้ว สิ่งใดเป็นประโยชน์ที่เอามาใช้กับเราได้ เอาตรงนั้นไปใช้ แต่บอกว่าจะให้เหมือนเรา หรือเราปฏิบัติไปทางไหนแล้วอย่างหนึ่ง

อย่างเช่นที่พูดเมื่อกี้นี้ บอกว่าเราไปทางรถ ทางของเรามันจะลำบากลำบนเราก็ไปได้ จะไปขอครูบาอาจารย์ท่านก็จะชี้ขึ้นก้อนเมฆ ก้อนเมฆมันจะขึ้นไปอย่างไรล่ะ? ฉะนั้น ถ้าเราเอาเป็นคติ เราเอามาใช้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราใช้ประโยชน์ได้ขนาดไหน สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าสิ่งนั้นไม่เป็นประโยชน์กับเรา มันไม่ใช่ทางของเราไง ถ้าไม่ถูกทางของเรา รถของเรา ไปในทางของเรา มันจะเป็นหลุม เป็นบ่อ ถนนหนทางมันจะลำบากลำบนมันก็เป็นทางของเรา ถ้าเขาชี้ขึ้นก้อนเมฆ ชี้ลงทะเลเราไปไม่ได้หรอก

เห็นเขาไปสะดวกๆ เขาไปเรือกัน เขาลงทะเลกันก็จะเอารถเราลงทะเล ลงไปรถก็เสียหายหมดนะ นี่พูดกันไว้ไง กันไว้บอกว่า โอ๋ย ถ้าดีแล้วเอามาหมดเลย เดี๋ยวไปนะ ไปภาวนาอยู่นะหัวทิ่มดิน ของใครดีเอาตรงนั้น ปฏิบัติแล้วดี ปฏิบัติแล้วสะดวกสบายของใคร เอาตรงนั้น แต่เวลาตอบปัญหาเป็นเฉพาะๆ เฉพาะประเด็นนี้ๆ ประเด็นอื่นเราก็ตอบไปอย่างหนึ่ง ประเด็นหนึ่งเราก็ตอบไปอย่างหนึ่ง มันจะไม่มีสิ่งใดเหมือนกัน เพราะมันเป็นพันธุกรรมของจิต จิตของใครจิตของบุคคลคนนั้น เวรกรรมเราสร้างของเรามาเอง แล้วปัจจุบันนี้เราพยายามจะหาทางออกกัน ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เราจะมีธรรมเป็นที่พึ่ง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เธออย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งใดเป็นที่พึ่ง เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด”

นี่เราจะมีธรรมเป็นที่พึ่ง เพราะเราขวนขวาย ประพฤติปฏิบัติธรรมกัน เอวัง