ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เริ่มต้นนับ

๑๒ ส.ค. ๒๕๕๕

 

เริ่มต้นนับ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๐๔๖. ถึงข้อ ๑๐๖๐. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๐๖๑. เรื่อง “การเริ่มต้นนับจากนี้ต่อไป” (นี่คือหัวข้อที่เขาถามนะ)

๑. การกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้ชิน

๒. ต้องรู้จักจริต

๓. ต้องรู้จักนิวรณ์

หลวงพ่อครับ ถ้าเริ่มต้นปฏิบัติเราต้องกำหนดลมหายใจเข้า-ออก พุทโธจนเป็นนิสัยให้ชินเลยใช่ไหมครับ หรือว่าเราต้องรู้จักจริตและนิวรณ์ก่อน หรือว่าเมื่อเราชินกับพุทโธแล้วสิ่งอื่นจะตามมาเองหรือเปล่าครับ

เมื่อเรามีราคะจริตมาก ตอนนั่งสมาธิ หรือขณะทำงานในชีวิตประจำวัน เราจะเพ่งอสุภะมันจะเกิดขึ้นมาตอนไหนครับ ตอนที่เราได้สมาธิแล้ว หรือเราจะเพ่งโดยขณะที่เราคิดหรือทำงานอยู่ ถ้าวันหนึ่งเราจะกำหนดลมหายใจเข้า-ออก พุทโธวันละ ๒๐-๓๐ นาทีจะดีไหม เพราะว่ามีงานต้องทำ มีเวลานิดหน่อยก็มากำหนดลมหายใจสำหรับการเริ่มต้นปฏิบัติ ขอบคุณครับ

ฉะนั้น ข้อ ๑. การกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้ชิน

ตอบ : คำว่าชิน เห็นไหม คำว่าชินนี่คือศัตรูเลย คำว่าชินนี่แหละทำให้ตกภวังค์ คำว่าชินนะ เขาไม่ใช้คำว่าชิน เขาใช้คำว่าชำนาญ ชำนาญในวสี ชำนาญในการกระทำ แต่ถ้าชินนะ ชินชาหน้าด้าน ชินชา พอชินชา คุ้นเคย การคุ้นเคยนี่เป็นโทษของการปฏิบัตินะ การคุ้นเคย การเป็นกันเอง พวกนี้มันเป็นกันเองไง พอเป็นกันเองก็ไม่มีการระวัง พอไม่มีการระวังมันก็จะมีการเสียหาย

ฉะนั้น เวลาการปฏิบัติเขาจะกระตุ้นตลอดให้ตื่นตัวตลอด เห็นไหม ในการปฏิบัติเหมือนเขยใหม่ เขยใหม่เข้าไปบ้านไหนต้องระวังตัว เพราะเป็นเขยใหม่ แต่ถ้าพอคุ้นชินนะ ชินกันแล้วจะทำอย่างไรก็ได้ ฉะนั้น คำว่าชิน นี่คำว่าชินนะถ้าทางโลกเราสนิทกัน เราคุ้นเคยกัน เราคุ้นชินกัน อย่างนี้เป็นความดี ใช่ มันไว้วางใจกัน นี่พูดถึงทางโลก แต่ถ้าทางธรรมไม่ได้เลย ทางธรรมจะให้ตื่นตัวตลอดเวลา ฉะนั้น คำว่าชิน ที่ภาวนากันที่ไม่ได้ก็นี่ไงเพราะชิน เพราะเราทำสิ่งใดก็ทำเคยไง

หลวงตาใช้คำนี้นะ คำว่า “อย่าเสียดายอารมณ์ของตัว”

ความคุ้นชินกับอารมณ์ไง ความคุ้นชินกับความรู้สึกไง เรารู้สึก เราพอใจ อย่างนี้มันเคย นี่เราว่ามันปลอดภัย พอมันปลอดภัยมันก็อยู่กับอย่างนี้ มันย้ำอยู่อย่างนี้ แต่ถ้าเราพลิก เห็นไหม เราพลิกทิ้งเลย อารมณ์ความรู้สึกทิ้งเลย กลับมากำหนดพุทโธ พุทโธ เราเอาอย่างหนึ่ง คำว่าชินนะไม่ได้ แต่ถ้าคำว่าชินของเรา คำว่าชินนั่นคือนอนใจแล้ว คำว่าชินก็เหมือนกับเข้าหลักประหารแล้ว ถ้าคำว่าชินนะ อ้าว เดินเข้าไปนักโทษประหาร มัดแล้วก็ยิงทิ้ง ยิงการปฏิบัตินั้นทิ้งไง ยิงความดีของเราทิ้ง ที่เราจะเป็นความดี

ฉะนั้น คำนี้นะมันเป็นคำ ถ้าบอกว่าใช่ไหม? พอใช่ พอชินชา เหมือนทางโลกพอชินชามันก็มีแต่ความเสียหายไปนะ ฉะนั้น ความคุ้นชินเขาต้องชำนาญในวสี ชำนาญในการเข้าและการออก แต่สติต้องตื่นตัวตลอดเวลา เหมือนคนขับรถเลย ถ้าคนขับรถนะถ้าเขาตื่นตัว เขาระวังตัวของเขานะ รถนี่เขาจะไม่ประสบอุบัติเหตุ แต่ถ้าเขาขับไปด้วยความประมาท ความชินชา หน้าด้านประมาทอยู่แล้วแหละ

กรณีอย่างนี้ คำนี้นะหลวงตาเอาตายเลย แล้วพระอยู่กับท่าน ถ้าทำอย่างนี้นะเสร็จ ท่านบอกเลยนะเหม่อลอยใช่ไหม? เพราะเรามันชิน มันคุ้นชินแล้วมันก็ไม่ระวังตัว พอไม่ระวังตัว นั่นแหละเป็นทางออก นี่ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระภิกษุนะ

“ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด”

นี่ความไม่ประมาทมันก็ตรงข้ามกับความคุ้นชิน ไม่ประมาทมันต้องตื่นตัวตลอดเวลา การตื่นตัวตลอดเวลา อันนี้สำคัญนะ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า

ถาม : ต้องกำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้ชินใช่ไหม?

ตอบ : ถ้าคำว่าชินนะมันเหมือนกับเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ กำหนดลมหายใจมันก็ติดขัดไปหมด มันติดขัดไปหมดเลย แต่พอเราทำให้คล่องตัว ถ้าทำให้คล่องตัวนี่เป็นการชินไหม? ไม่ใช่ เพราะเราทำจนชำนาญ การหายใจเป็นหวัด เป็นหวัดหายใจไม่ออก พอหายใจไม่ออกเราสูดดมยา เราดื่มน้ำอุ่น พอมันหายใจคล่องตัวๆ นี่เหมือนกันเวลาประพฤติปฏิบัติ ความจริงมันหายใจได้อยู่แล้ว แต่เพราะมันไม่เคยไง มันละเอียดอ่อน เรื่องความละเอียดอ่อน เวลางานนะอาบเหงื่อต่างน้ำทำงานคล่องตัวไปหมดเลย แต่พอกำหนดลมหายใจทำไม่ได้ อึดอัดไปหมดเลย ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ? ทำไมเป็นอย่างนั้น?

ฉะนั้น พอเรากำหนด เห็นไหม กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตั้งสติให้ดีๆ เดี๋ยวมันก็สะดวก พอความสะดวกนี่ไม่ใช่ความคุ้นชิน มันเป็นความชำนาญ พอสะดวกแล้วเราตื่นตัวตลอดเวลา ความตื่นตัวตลอดเวลา เวลาด้วยความเข้าใจผิดของพวกเราพวกนักปฏิบัติ พวกนักปฏิบัติเข้าใจผิดนะ เข้าใจผิดว่าเวลาถ้าจิตมันดีมันจะทิ้งลม ลมจะหายไป ไอ้คำว่าลมหายไปมันหายไปตามข้อเท็จจริง คือมันละเอียด ละเอียดจนจิตนี่จับไม่ได้ แต่ของเราไม่ใช่ ทำเผลอๆ ไง เออ เลือนรางไปเรื่อยๆ เลือนรางไปจนไม่มีไง

อันนี้ไม่ใช่นะ เลือนรางจนไม่มีมันไม่ใช่สมาธิ เพราะมันไม่มีต้นสายปลายเหตุ มันไม่มีอะไรเป็นข้อเท็จจริง เลือนรางไปเฉยๆ แต่ถ้าเป็นอัปปนาสมาธินี่ชัดเจนมาก ลมหายใจละเอียดเข้าไป ละเอียดจนขนาดว่าพอมันละเอียดเข้าไปนะ เหมือนมันจะแบบว่าไม่มีสิ่งใดที่มันจะสัมผัสได้ พอไม่มีสิ่งใดสัมผัสได้มันตกใจนะ ใจมันจะตกใจมากเลย อู๋ย ตายๆๆ ตายแล้วไม่หายใจแล้ว อู๋ย เดี๋ยวจะช็อกตาย มันกลัวมาก โดยธรรมชาติของใจมันเป็นอย่างนั้น อู๋ย มันจะช็อกแล้วนะ อู๋ย มันจะขาด ลมหายใจขาด ไม่มีขาด เพราะเวลาเข้านิโรธสมาบัติเขานั่ง ๗ วัน ๗ คืนไม่หายใจเลย ทำไมมันอยู่ได้ล่ะ? อยู่ได้หมด

นี่ไงเพราะเขาไม่ได้ตกใจ เพราะเขาเข้าไปในระดับนั้น คือมันละเอียด ละเอียดจนมันบริหารของมันเอง ถ้าพูดถึงอวัยวะมันจะหยุด พูดอย่างนั้นก็ได้ อวัยวะทั้งหมดนิ่งหมด หยุดหมด ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการทำงาน พอครบกำหนดแล้วมันก็ออก ออกมารับรู้ นี่ร่างกายมันก็ทำงานโดยปกติของมัน นี่เวลาเข้าอัปปนาสมาธิ ถ้ามันละเอียด ละเอียดๆ ละเอียดชัดหมดนะ ละเอียดจนสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ามีแต่ไม่ใช่ นั่นแหละคือตัวจริง แต่นักปฏิบัติทั่วไปนะ (ฟืดฟาด ฟืดฟาด) เหมือนกับสูบลม สูบจนไม่มีจะสูบไง สูบมันเสีย เสียมันก็ชำรุด ชำรุดก็โยนทิ้ง ชั่งกิโลขาย

นี่ก็เหมือนกัน นี่ลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจเข้า-ออก จนลมหายใจไม่มีเลย แล้วไม่มีทำไมไม่ตาย มึงมานั่งคุยกับกูทำไม? นี่เวลาพูดด้วยความไม่เข้าใจ ด้วยความไม่รู้ แต่ถ้าคนรู้นะมันมีความชำนาญ กำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก แล้วมีสติสัมปชัญญะพร้อม ละเอียดลึกซึ้ง จากลมหายใจหยาบๆ จะละเอียดเข้ามา ละเอียดเข้ามาจนสักแต่ว่า ลมหายใจดับหมด อายตนะทั้ง ๖ ดับหมด สักแต่ว่ารู้ชัดๆ อัปปนาสมาธิ นี่จิตเวลามันเข้าไป มันชัดๆ อย่างนี้มันถึงไม่มีกัน มันไปคุ้นชินตรงไหน? มันไปชินตรงไหนไม่มีเลย ชัดเจนแจ่มแจ้งจนละเอียดเข้าไปถึงที่สุด นี้คือการปฏิบัติของเรา

ทีนี้พูดอย่างนี้ปั๊บ โอ้โฮ อย่างนี้หลวงพ่อจะปฏิบัติได้อย่างไรล่ะ? มันยาก โอ๋ย อย่างนี้เลิกดีกว่า ที่พูดนี้ไม่ใช่พูดให้เลิก พูดให้รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก สิ่งที่ทำกันผิดๆ สิ่งที่ความเข้าใจผิดมาก็ทำกันมาอยู่อย่างนั้น แล้วพูดว่าถ้าความถูกต้องมันต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่พูดแล้วบอก โอ๋ย ถ้ามันลำบากอย่างนั้นกลับบ้านดีกว่า เราไปทำมาหากินกันเถอะ เลิก เลิก ไม่ทำแล้ว ไม่ใช่พูดให้ทำ พูดให้ทำ แล้วพูดให้ทำแล้วได้ผลตามความเป็นจริง ไม่ใช่เอาความคิดทางโลกมาว่าถ้าเราคุ้นเคย เราชินแล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา ไม่เป็น ไม่เป็น

เรื่องจริตนิสัยก็เหมือนกัน จริตนิสัยเวลาปฏิบัติไปถ้าตรงจริตนะ ถ้าตรงจริต ปฏิบัติไปแล้วมันจะประสบความสำเร็จ มันจะสะดวก คล่องตัว นี่คือจริต ถ้าไม่ใช่จริตของเรานะเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน กรรมฐาน ๔๐ ห้องเหมือนกัน แต่ทำไปแล้วนะขลุกขลัก อึดอัด อู๋ย มันยุ่งไปหมดเลย เปลี่ยนๆ นี่จริตนะ ตรงจริต ไม่ตรงจริตเป็นแบบนี้

ถาม : แล้วต้องรู้นิวรณ์

ตอบ : นิวรณธรรมมันเป็นเครื่องกางกั้น นิวรณ์หรือสิ่งนี้มันเป็นชื่อ เราไม่ต้องไปตามหามัน นี่โดยธรรมชาติของเรามนุษย์กลัวสัตว์ร้าย กลัวผีสาง กลัวผี กลัวต่างๆ แล้วเราต้องไปหามันไหม? เราไม่ต้องไปหามันหรอก สัตว์นะ เสือนี่ เสือ ช้างในป่าเราเข้าไปมันเป็นสัตว์ที่มันสัญชาตญาณมันรักษาตัวมัน มันจะทำร้ายเรา เราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ถ้าเราไม่เข้าไปในป่านะเราก็ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน ถ้าเราเข้าไปในป่าใช่ไหม? เราไปเจอเข้า ในป่าเป็นสถานที่อยู่ของสัตว์เราก็ต้องระวังตัว

นิวรณ์ก็เหมือนกัน มันยังไม่มาหาเรา เราจะไปยุ่งอะไร? ถ้าเราไม่มีความสงสัย เราไม่มีการง่วงเหงาหาวนอน เราไม่มีอะไรเลย แล้วมันอยู่ไหนล่ะ? มันไม่มี ถ้ามันไม่มีเราจะรู้เรื่องนิวรณ์ทำไมล่ะ? นิวรณ์เราไม่ต้องไปรู้เรื่องของมัน เรารู้แต่พุทโธ มีสติสัมปชัญญะชัดๆ นิวรณ์มันตามมาไม่ทันหรอก นิวรณ์ เห็นไหม ถ้าพูดถึงเรากำหนดพุทโธ เรามีสติปัญญาของเรา เรากำหนดลมหายใจของเรา อานาปานสติเรากำหนดลมหายใจใช่ไหม? ถ้าลมหายใจมันชัดเจนนิวรณ์มันไปไหนล่ะ? นิวรณ์หายหัวหมดเลย เพราะนิวรณ์มันมาไม่ได้ นิวรณ์มันมาไม่ได้เพราะอะไร? เพราะสติเราพร้อมไง

เรามีสติ เห็นไหม เรามีสติสัมปชัญญะ นิวรณ์ไม่มีเลย แต่ถ้าสติมันขาด สติมันอ่อนลง กำหนดพุทโธ กำหนดอานาปานสติมันง่วง นี่นิวรณ์มันมาแล้ว ถ้านิวรณ์มันมา ถ้าเรากลับมาตั้งสติของเรานิวรณ์มันก็หายไปเอง นิวรณ์เราต้องไปรู้จักมันทำไม ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะเราพร้อมนะ ฉะนั้น จะต้องไปรู้จักนิวรณ์ไหม? มันก็เหมือนเราจะขายกาแฟ เราต้องไปทำวิจัยเรื่องน้ำแข็งก่อน พอเราวิจัยเรื่องน้ำแข็งเสร็จแล้วเราก็ต้องมาวิจัยเรื่องกาแฟ กาแฟนี้เขาปลูกมาจากไหน? ต้องไปวิจัยว่าหม้อต้มกาแฟมันมาจากไหน? กว่าเราจะตั้งร้านกาแฟได้นะ โอ้โฮ เราไปทำวิจัยเรื่องกาแฟเป็น ๑๐ ปี

นิวรณ์ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันใช้ปัญญาไล่ไป ไอ้นั่นน่ะชัดๆ สู้กันเลย แต่ถ้าเป็นพุทโธ พุทโธเราตั้งสติของเรา เราไม่ต้องกังวล นี่พูดถึงข้อ ๑. ข้อ ๒. ข้อ ๓. นะ ฉะนั้น กลับมาที่ว่าความคุ้นชินนี่ข้อ ๑.

ข้อ ๒. ที่ว่าต้องรู้จักจริตหรือเปล่า? ที่ว่าพุทโธ

ถาม : เมื่อเราชินกับพุทโธแล้ว สิ่งอื่นจะตามมาเองหรือเปล่าครับ

ตอบ : สิ่งอื่นจะตามมาเองเห็นไหม ถ้าเรารู้พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ ถ้าเราพุทโธของเรา พุทโธของเรา สิ่งที่มันเป็นนะมันเป็นเพราะเหตุไง มันเป็นเพราะเหตุ ถ้าเราพุทโธชัดๆ นะ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ พุทโธนี่เป็นชื่อของพุทธะ เป็นชื่อขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธก็เหมือนกัน พุทโธจะละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ ละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จนพุทโธไม่ได้

นี่พุทโธหรืออานาปานสติก็เหมือนกัน สิ่งที่มันจะมาเองมันไม่มาเองหรอก ถ้าสิ่งที่มาเองนะ สิ่งที่มาเองมันทำสักแต่ว่า อย่างเช่นเราบอกว่าสิ่งนี้มันจะมาหาเราเอง สิ่งนี้มันจะเกิดขึ้นมาเอง ถ้าเกิดขึ้นมาเองมันจะมาอย่างไรล่ะ? นี้ปัญญามันจะเกิดเอง ทุกอย่างเกิดเอง ไม่เกิดเอง ทุกอย่างอยู่ที่ความเพียรชอบ มันเกิดความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความวิริยะอุตสาหะ แล้วผลมันสมควรแก่ธรรม มันก็จะเป็นสภาวะนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ นี่สิ่งที่จะตามมาเองอยู่ที่พุทโธ ถ้าสิ่งที่ตามมาเองเราหวังไง เราพุทโธเพื่อหวังความสงบ แล้วพอพุทโธมันไม่สงบก็เหนื่อยหน่าย น้อยใจ นี่มันก็ทำพุทโธมาเต็มที่แล้วมันไม่เห็นมาสักที เห็นไหม เราหวังไง นี่ตัณหาซ้อนตัณหา บอกมันจะมาๆ แต่ถ้าเราไม่สนใจสิ่งใดเลย เราพุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธของเราไปเรื่อยๆ ถ้ามันสงบ มันสงบจากพุทโธ มันสงบจากว่าคำบริกรรมของเรา เพราะจิตมันไม่ฟุ้งซ่าน จิตมันไม่แฉลบ จิตมันไม่ไปหาเรื่อง จิตมันอยู่กับพุทโธ พุทโธนี่ดูแล พุทโธนี่เป็นที่ให้จิตมันเกาะไว้ เกาะจนมันสะสมตัวมัน สะสมๆ สะสมจนไม่ต้องอาศัยพุทโธ พอไม่อาศัยพุทโธมันก็วางพุทโธ

วางพุทโธ เห็นไหม พุทโธเป็นความคิด พุทโธเป็นสิ่งสมมุติที่เรานึกขึ้นมา พุทโธนี้เป็นพุทโธหยาบๆ พอพุทโธ มันพุทโธมันอาศัยเกาะมาก่อน จิตถ้าไม่อาศัยเกาะมันจะออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ มันก็เกาะพุทโธไว้ พุทโธไว้จนมันสามารถสะสมตัวมัน พอมันทรงตัวได้มันจะปล่อยพุทโธ พอปล่อยพุทโธมันก็พุทโธไม่ได้ เอ๊อะๆๆ ทำไมพุทโธหายไปไหนล่ะ? ทำไมพุทโธไม่ได้ล่ะ? อู๋ย พุทโธไม่ได้มันก็ไม่ใช่น่ะสิ พุทโธไม่ได้ก็เลิกดีกว่า งงอีก พุทโธของเราไปเรื่อยๆ พุทโธ พุทโธไป พอมันทรงของมันได้ เห็นไหม นี่มันมาเองไหมล่ะ?

เพราะคำถามมันมีอยู่ ๒ ประเด็นที่เราเห็นว่ามันเป็นจุดสำคัญ สำคัญที่ว่าต้องกำหนดลมหายใจจนมันชินใช่ไหม? เพราะชินมันเป็นทางออกของกิเลสไง ทางที่ว่าเสือมันจะตะปบเอาไปกิน สองถ้าสิ่งที่มันตามมาเองๆ ถ้าตามมาเองทุกอย่างมันก็เหมือนเราไม่โต นี่เช้าขึ้นมาก็ขอสตางค์ เช้าขึ้นมาก็ขอสตางค์ อ้าว ขอจากพ่อแม่ พ่อแม่มีเท่าไรก็ควักให้ ควักให้ โอ๋ย สตางค์นี่ได้มาง่ายเนาะ แบมือก็ได้ แบมือก็ได้ แต่ถ้าเราทำเองนะไม่มีทาง ถ้าทำงานไม่ดีไล่ออก ไล่ออกก็อดสตางค์ ถ้าทำไม่ดีไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน มันไม่มาเองหรอก เราต้องทำสมควรกับมัน มันถึงจะเป็นจริง นี่ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมานะ เพราะ ๒ ประเด็นนี่สำคัญ เพราะ ๒ ประเด็นนี้เพราะว่าเราไม่เคย เราไม่เป็น ๒ ประเด็นนี้มันก็ตามหลอกหลอน มันตามหลอกหลอน นี้เป็นเครื่องมือ เป็นทางออกของกิเลส ถ้าทางออกของกิเลส กิเลสมันออกช่องนี้ ถ้ากิเลสมันออกช่องนี้ ช่องที่มันชินชา ช่องที่มันมาเอง ช่องที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ช่องที่มันมีอยู่แล้ว นี่ช่องอย่างนี้กิเลสออกหมด กิเลสอาศัยช่องทางนี้ออกมาแล้วก็เหยียบหัวพวกเรา แต่ถ้าเราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

“เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เธออย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่งเถิดเราก็สร้างธรรมของเราไง เราตั้งสติของเรา สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม ถ้าเราจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด เราก็อยู่กับธรรมของเรา ถ้าธรรมของเรา เวลาใจเป็นธรรมขึ้นมา เออ โอปนยิโก ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดู นี่ไงปฏิบัตินี่ไง นี่ร้องเรียกมาดู ไอ้นี่มันวิ่งไปหาอาจารย์ อาจารย์ดูให้ที อาจารย์ดูให้ที หนูไม่รู้อาจารย์ดูให้ที ไม่ใช่ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ถ้าเวลามันเป็นขึ้นมานะ โอ้โฮ มันชนได้หมดเลย มันจริงๆ เลย จริงๆ กลางหัวอกเรานี่แหละ

ฉะนั้น มันไม่มาเอง แต่ที่มันมานี่มันมาเพราะมีพุทโธ มันมาเพราะมีสติ ถ้ามีสติ มีพุทโธมันก็เป็นจริงของเราขึ้นมา ถ้าเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม เป็นประโยชน์ตรงนี้ ฉะนั้น พูดถึงผู้ปฏิบัติใหม่ เพียงแต่เขาถามเพื่อจะปฏิบัติ ฉะนั้น เพียงแต่ว่าพอปฏิบัติแล้วเราหวังผล แล้วเราเชื่อหรือเราทำแล้วเราได้ผลอย่างนี้ เพราะ เพราะเวลาปฏิบัติขึ้นมา เริ่มต้นใหม่ๆ มันจะแบบว่ามันจะขลุกขลัก มันจะมีอุปสรรคไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา ของไม่เคยทำ เป็นช่างไม้ เป็นช่างอะไรก็แล้วแต่สารพัดช่าง เริ่มต้นฝึกหัดใหม่มันขลุกขลักไปหมดแหละ แต่พอชำนาญขึ้นไป หยิบจับอะไรเป็นเครื่องมือไปหมดเลย หยิบจับสิ่งใด จะทำงานได้หมดเลย

นี่พอเราฝึกหัดของเราจนมันชำนาญ จะบอกว่าชินไม่ได้ ถ้าชินนี่กิเลสชัดๆ ชินนี่งานนั้นจะเสียเลย เพราะมันไม่ระวัง แต่ถ้ามันไม่ชินชากับอะไรเลย มันมีสติ มันไม่ประมาทต้องรู้ตัวทั่วพร้อมตลอด รู้ตัวทั่วพร้อมแล้วพร้อมกับคำบริกรรมของเรา แล้วพอมันเป็นขึ้นไป เห็นไหม หรือว่าต้องรู้จักจริต รู้จักนิสัย นิวรณ์ นี่เรื่องหนึ่ง แล้วเราพุทโธจนสิ่งนั้นจะตามมาเองไม่มี

ฉะนั้น

ถาม : เมื่อเรามีราคะจริตตอนนั่งสมาธิและขณะทำงานชีวิตประจำวัน เราเพ่งอสุภะจะเกิดขึ้นมาตอนไหนครับ

ตอบ : อสุภะนี่เวลาพิจารณามันพิจารณาเป็นสัญญาอารมณ์ เพราะถ้ามันเป็นราคะ เป็นต่างๆ ที่มันเป็นอย่างนั้น เราพิจารณาของเราด้วยปัญญาของเราให้เป็นอสุภะ ถ้าอสุภะก็คือมันเป็นความจริงอย่างนั้นอยู่แล้ว ด้วยความจริงอยู่แล้ว เทวดานะเขาไม่เข้าใกล้มนุษย์เลย เขาว่าคาวมนุษย์กลิ่นแรงมาก คาวมนุษย์ ทีนี้คาวมนุษย์ ทีนี้ความจริงมันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว ถ้ามันเป็นสิ่งที่สกปรก สิ่งที่มันเก็บไว้แล้วมันไม่มีสิ่งใดที่มันเป็นความสวยงามเลย มันก็เป็นจริงอยู่แล้ว

นี่พูดถึงมันเป็นสัญญาอารมณ์ไง ว่าถ้าเพ่งอสุภะแล้วอสุภะจะเกิดตอนไหน? อสุภะถ้ามันเป็นความจริงของมันนะมันจะเกิดตั้งแต่ขั้นอนาคามี ขั้นอนาคามี เห็นไหม อนาคามิมรรคนั่นแหละอสุภะ เริ่มต้นเป็นพิจารณากาย พิจารณากายเป็นไตรลักษณ์ แล้วพิจาณาธาตุ ๔ พิจารณาเป็นขันธ์ไป แล้วถ้าพิจารณาถึงกามราคะนั่นแหละขั้นอสุภะมันอยู่ที่นั่น

ฉะนั้น เวลาเราเป็นปุถุชน เราเพิ่งปฏิบัติกันแล้วบอกมันเป็นอสุภะๆ อสุภะก็ได้มันเป็นกายที่มันแปรสภาพ กายที่มันเห็นตามความเป็นจริง นี่พิจารณากายเป็นไตรลักษณ์ ถ้าพิจารณากายเป็นไตรลักษณ์มันจะถอดถอนกิเลส ถ้าการพิจารณาเป็นวิปัสสนา แต่ถ้าการพิจารณาของเรามันเป็นการพิจารณาเพื่อความสงบระงับ มันพิจารณาเป็นสมถะไง ถ้าเป็นสมถะคือความสงบระงับ ถ้ามันเป็นราคะจริต เป็นต่างๆ มันมีความคิดที่ว่าเป็นกุศล อกุศลในใจ

มันเป็นอกุศลมันคิดร้อยแปดพันเก้า เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง เป็นผล มันเป็นสมถะ สมถะคือสอนใจ สอนใจไม่ให้คึกคะนอง สอนใจไม่ให้มันคิดตามความเป็นจริงตามจริตของมัน นี่บอกว่าสิ่งที่เป็นอย่างนั้นมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่ใจมันเป็นอย่างนั้นแหละ แต่ถ้ามันพิจารณาไปแล้วมันจะเห็นตามสภาวธรรม แล้วสภาวธรรมมันก็เป็นสมถะคือมันปล่อย มันปล่อยๆ ฉะนั้น มันเป็นอสุภะไหม? ถ้าเป็นอสุภะของปุถุชน อสุภะของคนมีกิเลสนี่ใช่ แต่ถ้าเป็นอสุภะในวิปัสสนาไม่ใช่ อสุภะนั้นมันจะไปเกิดตั้งแต่อนาคามิมรรค

ฉะนั้น ว่ามันจะเกิดตอนไหน? ถ้ามันจะเกิดตอนไหนนะมันก็ไม่เกิด ไม่เกิดเพราะอะไร? เพราะมันอยากให้เกิดไง เกิดตอนไหนมันก็จะรอไง รถไฟจะมาเที่ยวนี้ ยืนโบก รถไฟจะมาเที่ยวนี้ ๑๐ โมง รถไฟก็ไม่มา รถไฟจะมาเที่ยวนี้เที่ยงมันก็ไม่มา รถไฟจะมาเที่ยวเย็นมันก็ไม่มา ไม่มีอะไรมาเลย เพราะรถไฟมันไม่มี รถไฟมันเป็นระบบสาธารณูปโภคของรัฐนะ มันมีธรรมชาติของมัน แต่อสุภะคือผลประโยชน์ของเราใช่ไหม? คือขบวนธรรมะของเรา มันจะออกจากสถานีไหนล่ะ? แล้วเราได้สร้างรถไฟแล้วหรือยัง? แล้วถึงเวลาแล้วบอกรถไฟมันจะมา แล้วมันจะมาตามคำสั่งไหม? แต่ระบบสาธารณูปโภคของรัฐ รัฐเขาทำ มันมาตามเวลานั้นแหละ เว้นไว้แต่มันประสบอุบัติเหตุต่างๆ นั่นมันเป็นเรื่องของโลกไง

นี้เรื่องของธรรมเราเปรียบเทียบ ว่าถ้ามันเป็นรถไฟมันจะมาตอนไหนล่ะ? มันจะมาตอนไหน? แต่ถ้าเราสร้างของเรา เราพิจารณาของเราด้วยปัญญาของเรา ด้วยสติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรม เห็นไหม นี่มันจะสร้างรถไฟ มันจะสร้างอสุภะ สร้างสิ่งที่มันเป็นธรรมะ สิ่งที่ทำให้จิตใจมันมีผลเทียบเคียง ผลเทียบเคียง ถึงว่ามันเป็นสมถะไง มันเป็นสมถะ เราศึกษาธรรม เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้า เราศึกษาธรรม เราเข้าใจไหม? ใช่ แต่ผลล่ะ? ผลของมันมันก็แบบว่ามันปลงวาง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงพิจารณาอสุภะๆ อสุภะปลงวาง ปลงวางให้จิตใจเรามันไม่คิด ไม่มีกามราคะมาเบียดเบียนมัน มาทำให้มันทุกข์ยาก ถ้าไม่มีทุกข์ยากมันก็ปลงวางๆ แต่ถ้าเป็นอสุภะจริงๆ นะมันอยู่นู่น มันจะเกิดตอนไหน? มันจะเกิดตอนไหนมันพูดไม่ได้ ถ้าเกิดตอนไหนมันจะย้อนกลับไปที่คำถามไง จริตนิสัย จริตของคน จริตของคนไง โทสะจริตโมหะจริต ราคะจริต

ฉะนั้น คำว่าจริต นี้จริตเป็นแบบนี้ ถ้าจริตมันเป็นแบบนี้นะมันก็เทียบเคียงได้ เพราะจริตแบบนี้คิดได้ง่ายๆ เพราะกรรมฐาน พระกรรมฐาน พระป่าเขาชอบเทศน์กัน เห็นไหม มนุษย์เราก็เปรียบเหมือนโลงศพ โลงศพนี่ดูสิ โลงศพนี่มันมีรูปเทวดาเลยล่ะ เขาติดเทวดา ติดรูปเทวดา นางฟ้าเต็มไปหมดเลย แต่ข้างในมีซากศพอยู่

นี่ก็เหมือนกัน เราก็พิจารณามนุษย์ หนังนี่หุ้มอยู่ หนังที่หุ้มอยู่ก็เหมือนโลงศพ ฉะนั้น ในนั้นล่ะ? นี่พิจารณาเป็นอสุภะ นี่พิจารณาโดยปัญญาไง ถ้าเป็นราคะจริต ฉะนั้น เป็นราคะจริตนะเราต้องแผ่เมตตา สำหรับเราปฏิบัติใหม่ๆ เราใช้วิธีของเราคือแผ่เมตตา สรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้เป็นญาติ เป็นพี่น้องเราหมด เป็นญาติของเราทั้งนั้น เป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นคนใกล้ชิด นี่มันเป็นญาติเราทั้งนั้น เราจะไปคิดเรื่องอะไร? แต่นี่คิดดูสิถ้ามันเป็นญาติ เป็นคนอื่นมันก็เป็นไป

นี่พูดถึงใช้ปัญญาเทียบเคียงไง นี่เรารักษาใจเราอย่างนี้นะ เป็นญาติ เป็นพี่ เป็นน้องไปหมดเลย เขาเป็นญาติเรา มันก็ทำให้เรื่องนี้เบาบางลง เบาบางลง แล้วก็ต่อสู้มาเรื่อยๆ แล้วมันก็จะเห็น เห็นสักกายทิฏฐิ เห็นพิจารณากาย เห็นพิจารณา เป็นอุปาทาน แล้วพอมันขึ้นไปกามราคะ ถึงตอนนั้นอสุภะจะรู้เลยล่ะว่าอสุภะมันรุนแรงแค่ไหน ไอ้ที่ว่าพิจารณาอสุภะๆ พอถึงอสุภะแล้วไปอ่านประวัติหลวงปู่ชาสิ ไปอ่านประวัติหลวงปู่จวนสิ หลวงปู่จวนอยู่บนเขา เอากระดูกช้างแขวนคอแล้วฉันหมากนะ แล้วคายน้ำหมากให้มันไหลลงมาตลอดเลย

คนเขาไปเห็นหลวงปู่จวน บอกว่า อู้ฮูปฏิบัติอย่างนี้ หลวงปู่จวนจะบ้าแล้ว ไปฟ้องหลวงปู่ขาว เพราะหลวงปู่จวนเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ขาว ไปฟ้องหลวงปู่ขาว หลวงปู่ขาวหัวเราะใหญ่ หลวงปู่ขาวหัวเราะกลิ้งเลย เพราะอะไร? เพราะหลวงปู่ขาวสอนมาเอง (หัวเราะ) ไอ้คนนั้นมันเห็นหลวงปู่จวนทำไปฟ้องหลวงปู่ขาวเลยนะ อู๋ย หลวงปู่จวนท่านจะบ้าแล้ว เอากระดูกช้างแขวนคอ อู้ฮู ภาวนาไปนะคายหมากมาแดงไปหมดเลย นั่นแหละเพราะอสุภะมันเผชิญหน้า มันชนกับอสุภะไง พอเข้าภาวนาปั๊บมันจะเผชิญหน้าเลย

พอเผชิญหน้า ด้วยกำลังของตัวมันสู้ไม่ไหวก็ช่วยไง เอากระดูกช้างแขวนคอเลย กระดูกเขา กระดูกเรา กระดูกสัตว์ กระดูกนอก กระดูกใน นี่กระดูกเดินได้ กระดูกในร่างกายนี้ก็ทรงตัวยืนอยู่ กระดูกอีกอันหนึ่งก็แขวนคอไว้ ยังฉันหมากคายลงมาอีกนะ ไปอ่านประวัติหลวงปู่ชาสิเหมือนกัน นี่ถ้าไปเผชิญอสุภะ คนที่เผชิญอสุภะมามันจะรู้ว่ากามราคะ ปฏิฆะมันรุนแรงแค่ไหน

ไอ้ที่โม้ๆ กันนี่มันเหมือนกับเสือกระดาษกับเสือจริงๆ เข้าไปเจอมันแตกต่างกันมาก ไปดูภาพวาดศิลปินเขาเขียนเสือสิ โอ้โฮ เหมือนเปี๊ยะเลย เหมือนเปี๊ยะเลย รักนะสวย ไปเจอเสือในป่ามันไม่ว่าสวยเลย มันวิ่งหนีเลย เผชิญหน้าก็โดนกัดน่ะสิ พอมันไปเผชิญเสือในป่าไม่ใช่สวยเลย วิ่งหนีทันที แต่ถ้าไปเจอเสือที่เขาวาดไว้ อื้อฮือ สวย รูปนะสวย อู๋ย อยากได้เอาไปไว้บ้าน ไปเจอเสือในป่าวิ่งไม่เห็นหัวเห็นหางเลย วิ่งเต็มที่เลย อสุภะจริงๆ จะพูดว่าเป็นแบบใด? คนปฏิบัติมามันถึงจะรู้ ฉะนั้น สิ่งนี้มันเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง ที่ละเอียดไง

ทีนี้พอโยมถามมาว่าอสุภะมันจะเกิดขึ้นตอนไหน จะเกิดอย่างใด? แล้วเวลาคนปฏิบัติไปก็พิจารณาอสุภะ เราก็เห็นด้วยนะถ้าพิจารณาอสุภะเป็นเพื่อการปลงวาง ถ้าพิจารณาอสุภะเป็นการปลงวางใจเราให้มีที่พึ่ง ที่อาศัยนี้ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยของเรา ถ้าเรามีความทุกข์ร้อนตรงไหน เราก็เอาสิ่งนี้เป็นที่พึ่ง ที่บรรเทา อย่างนี้เราเห็นด้วย แต่ถ้าบอกว่าพิจารณาอสุภะเป็นธรรมๆ แบบที่เป็นวิปัสสนา ที่จะเป็นมรรค เป็นผล โอ้โฮ อีกยาวไกล

มึงยังไม่ได้ปฏิบัติเลย มึงยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรกันเลย แล้วก็บอกจะเรียนจบแล้ว ถ้าเรียนจบมันต้องเรียนอีกนาน ต้องค่อยๆ ขยันหมั่นเพียรเรียนไป ไม่อย่างนั้นมันไปไม่รอดหรอก ทีนี้เพียงแต่ว่าถ้ามันเป็นเริ่มต้นอย่างนี้นะ

นี่เขาถามมาเอง บอกว่า

ถาม : อสุภะจะเกิดตอนไหน? ตอนที่เราได้สมาธิ หรือตอนที่เราเพ่งโดยขณะที่เราคิดหรือทำงานอยู่

ตอบ : ถ้าพูดถึงสมาธิ พอพิจารณาอย่างนี้มันเป็นปลงวางก็เป็นสมาธิ แล้วเป็นสมาธิแล้ว ถ้ามันเพ่งอยู่ เป็นสมาธิแล้วเห็นกายมันจะเห็น ถ้าไม่เห็นกายมันก็ไม่เห็น ถ้าไม่เห็นกายเราจะพิจารณาอย่างไร? มันต้องมีอุบาย เหมือนที่ว่าเราจะเห็นกิเลสอย่างไร? เราจะจับกิเลสอย่างไร?

เวลาคนเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นไหม มันก็เหมือนคนเป็นโรค คนนี้เป็นโรคชนิดนี้ คนนี้เป็นโรคชนิดนี้ โรคแต่ละชนิดก็ใช้ยาแตกต่างกันไป คนที่เห็นกายก็พิจารณาเป็นไตรลักษณ์ ถ้าเห็นกายโดยปัญญาก็พิจารณาใช้ปัญญาแยกแยะมัน ถ้าคนพิจารณาเวทนา นี่หลานเวทนา ลูกเวทนา พ่อเวทนา ปู่เวทนา เวทนาแต่ละชนิดมันก็น้ำหนักแตกต่างกันไป ถ้าน้ำหนักแตกต่างกันไปเราควรจะพิจารณาอย่างไร? กำลังเราพอหรือไม่พอ? มันมีอุบายวิธีการมันยังแยกย่อยไปอีกมาก

ทีนี้แยกย่อยมันอยู่ที่จังหวะ อยู่ที่เราใช้ประโยชน์อะไร? เราเห็นอะไร? เรารู้อะไร? ฉะนั้น สิ่งที่รู้ที่เห็น เราจำขนาดไหนนะ ครูบาอาจารย์ของเราทุกๆ องค์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ฟังหลวงปู่มั่นเทศน์มามากมายเลย แล้วก็จับที่หลวงปู่มั่นเทศน์มาเป็นปัญญาให้หมดเลย เพื่อ เพื่อให้ตัวเองไม่ผิดพลาด เพื่อให้ตัวเองไม่หลง สุดท้ายแล้วปฏิบัตินะหลงทุกองค์เลย หลงหมด เพราะ เพราะสิ่งนั้นเราไปจดจำมา แต่พอเจอเข้าจริงๆ งงนะ ใช้ไม่เป็น

ตอนนี้นะเราไปซื้อเทคโนโลยีจากเมืองนอกมา เขาต้องส่งช่างมาฝึกให้ใช้นะ เราสั่งมานี่ใช้ไม่เป็นหรอก (หัวเราะ) สั่งอะไรมานะใช้ไม่เป็นหรอก เขาต้องส่ง ดูสิเขียนแบบสุวรรณภูมิ จ้างฝรั่งเขียน แล้วเวลาสร้างนะต้องจ้างฝรั่งอ่านแบบ ปวดหัว จ้างเขาเขียนแบบมาสร้างสุวรรณภูมิ เวลาช่างมันสร้างนะมันต้องจ้างฝรั่งมาอ่าน คอยบอกว่านี่คืออะไร ฟังแล้วเศร้านะ จ้างเขามาเขียนนะ เขียนให้เรา แต่เวลาจะอ่านนะต้องจ้างเขาอ่านอีก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติไป เวลาพูดนี่เราไม่ได้พูดให้คนท้อใจเลยนะ เราพูดให้คนเข้มแข็งหมดเลย เราพูดให้คนพยายามประพฤติปฏิบัติ แต่ทีนี้เวลาปฏิบัติ จริงหรือไม่จริงตอนนี้ ถ้าเราบอกอยากให้คนปฏิบัติ แล้วสิ่งนี้ก็เป็นธรรม สิ่งนี้ก็เป็นธรรม แล้วก็เลยกลายเป็นดึงฟ้าต่ำ ไม่ทำสิ่งใดเลยเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว พอเริ่มหัดปฏิบัติเป็นพระอรหันต์หมดแล้ว โอ๋ย ปวดหัวนะ มันดึงฟ้าต่ำไง

แต่ถ้าเราบอกอยากให้ปฏิบัติ อยากให้ทำจริงๆ เพราะมันเป็นโอกาส มันเป็นโอกาส มันเป็นสมบัตินะ เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์เรามีโอกาสทุกๆ คนนะ ถ้าทำขึ้นมาแล้วมันจะเป็นสมบัติของเรานะ ถ้าใครทำได้คนนั้นประเสริฐมาก ฉะนั้น พอคำว่าประเสริฐมาก พอทำแล้วก็อยากให้มันเป็นความจริงด้วย ถ้าเป็นความจริงขึ้นมามันจะเป็นความจริงขึ้นมา

ถาม : มันจะเกิดตอนไหน? อสุภะมันจะเกิดตอนไหน?

ตอบ : มันต้องเป็นผู้ชำนาญการ เวลาปฏิบัติไปแล้วนะ พอมันชำนาญแล้วนะจับอย่างไรก็ได้ ทำอย่างไรก็ได้ คนเราถ้ามันชำนาญแล้วมันจับได้หมด ถ้าคนไม่ชำนาญ คนไม่ชำนาญพยายามไปทำนะ พยายามไปทำก็ฝึกหัดให้เราชำนาญขึ้นมาก่อน ถ้าเราไม่ชำนาญขึ้นมาก่อนนะ เราจะต่อสู้ให้ชนะได้อย่างไร?

ดูสิเราแข่งขันกีฬา อีกคนหนึ่งเขาเป็นแชมป์ทั้งนั้นเลย ไอ้เรานี่ฝึกหัดใหม่แล้วจะไปแข่งกับเขา แพ้ทั้งนั้นแหละ แต่อยากชนะเขา อ้าว อยากชนะมึงก็ฝึกมาสิ อ้าว มึงต้องฝึกมา ฝึกมาให้ชำนาญขึ้นมาแล้วไปแข่งกับเขา เอ็งเป็นนักกีฬาฝึกหัดใหม่ แล้วเขาเป็นแชมป์เราไปแข่งต้องชนะเลย มันก็แบบฟลุ๊ค มันมีโอกาสบ้าง แชมป์มันเผลอ แชมป์มันทำผิดพลาดเองเราเลยชนะไง อ้าว แชมป์มันทำผิดพลาดเอง มันไม่ได้เอาชนะมาหรอก มันผิดพลาดตัวมันเอง เออ คราวนี้ชนะ แต่ชนะมันก็หนเดียว แล้วชนะต่อไปอย่างไรล่ะ? นี่เราทำของเราอย่างนั้น เพื่อประโยชน์ของเราอย่างนั้นนะ

ฉะนั้น ถ้ามันจะเกิดตอนไหนยังไม่เกิด แล้วถ้าเกิดตอนที่มีสมาธิหรือเพ่งให้มันเกิด การเพ่ง การดู เราจะบอกว่าใจเย็นๆ เราทำนี่เราทำเพื่อประโยชน์กับเรานะให้มันเป็นความจริงไง ทุกคนต้องการเงินทองที่เป็นของจริง เงินทองที่มันเป็นของไม่จริง สิ่งที่ธนบัตรปลอม เขาใช้กันมันไม่เป็นความจริง เราไม่ต้องการอย่างนั้น ถ้าเราต้องการความจริงนะเราทำของเราด้วยความมั่นคงของเรา เราทำด้วยความจริงของเรา ให้มันเกิดขึ้นมากับเรา เราอย่าไปคาดหมายให้เป็นจริงขึ้นมา อันนั้นจะเป็นความจริงของเรา

แล้วถ้าเป็นจริงขึ้นมาแล้วนะ อืม หลวงพ่อกับเราพูดภาษาเดียวกัน ตอนนี้พูดไปหลวงพ่อก็ค้านทุกเรื่องเลย ถามอะไรว่าผิดทุกเรื่องเลย ปวดหัว

ถาม : ถ้าวันหนึ่งเรากำหนดลมหายใจเข้า-ออกพุทโธวันละ ๒๐-๓๐ นาทีจะดีไหมครับ เพราะว่ามีงานต้องรับผิดชอบ มีเวลานิดหน่อยก็ต้องกำหนดลมหายใจสำหรับการปฏิบัติเริ่มต้น

ตอบ : ดี หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า เวลาเรานั่งรถเมล์กันท่านบอกว่าขณะนั่งรถเมล์เราก็ต้องหายใจใช่ไหม? ขณะเราเดินเราต้องหายใจใช่ไหม? นี่เราหายใจทิ้งเปล่าๆ ไง ขณะเรานั่งรถเมล์ ขณะที่เรามีโอกาส มีเวลานี่กำหนดพุทโธได้แล้ว กำหนดลมหายใจเข้า-ออกไง ถ้าเราทำอย่างนั้นปั๊บเราจะไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ

การหายใจนี่ต้องหายใจตลอดเวลา เพราะการหายใจนี้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงสมอง ปอด ต่างๆ มันต้องใช้ออกซิเจน ฉะนั้น นี่เป็นการหายใจเพื่อดำรงชีวิต แต่ถ้าเราหายใจ มีสติ มีปัญญาด้วยมันเป็นอานาปานสติ มันจะไม่ใช่ดำรงชีวิต มันจะฟื้นฟูธรรมขึ้นมาในหัวใจเราด้วย ฉะนั้น ในการกระทำนี่ประเสริฐทั้งนั้นแหละ นี่เริ่มต้นนับไง เขาว่าเริ่มต้นนับต่อจากนี้ไปเขาจะปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติแล้วโอเค

ข้อ ๑๐๖๒. ไม่มี ข้อ ๑๐๖๒. ถึงข้อ ๑๐๗๙. ไม่มี

ถาม : ข้อ ๑๐๘๐. เรื่อง “ศึกษาธรรมะแล้วเบื่อหน่ายชีวิตคู่ ทำอย่างไรดีคะ?”

ตอบ : เวลาเขาศึกษาธรรมะแล้วเขามีครอบครัว แล้วเขาบอกว่านี่ไม่อยากใช้ชีวิตโดยความเป็นภรรยา อยากปฏิบัติ แต่ครอบครัวมันอยู่ด้วยกันก็ต้องอยู่ด้วยกัน อันนี้มันเป็นที่ว่าเวลาเราปฏิบัตินะ เวลานี่บอกเราตั้งใจเลยว่าเราอยากให้สามีเป็นอิสระ แล้วเราก็แยกตัวไป พอเราแยกตัวไป ได้คิดขึ้นมานี่เสียดายสามีเลยนะ เสียดายแย่เลย โอ้โฮ คิดได้อย่างไร? ไม่น่าคิดอย่างนั้นเลย

เราจะบอกว่าความคิดของคนมันมีขึ้นๆ ลงๆ เวลาจิตใจมันดีมันจะดีอย่างนี้ แล้วคนคิดเวลาจิตใจมันดีนะ เวลาพระบวชมาด้วยความมุ่งมั่นนะ ไม่สึกๆๆ เห็นสึกหมดเลยไม่เคยเหลือสักองค์ ไปเกลี้ยง กูไม่เห็นเหลือสักองค์ ไอ้ที่ว่าไม่สึกๆ ไปหมดเลย ไม่เห็นมีเหลือเลย แม้แต่พระยังเป็นแบบนี้ แล้วเราเป็นคฤหัสถ์ ชีวิตเราครองเรือน เห็นไหม การครองเรือน พระพุทธเจ้าบอกว่าการครองเรือนนี้แสนยาก

ในสมัยพุทธกาล คนที่มีบารมีนะ นี่จะทำอย่างไรเพื่อให้ชีวิตเขาราบรื่น เขาไม่มีหรอก เขาถือพรหมจรรย์ ไม่ก็บวชพระไป ถ้าบวชพระไปแล้วชีวิตเป็นพรหมจรรย์ อยู่ของเรา แต่ในเมื่อชีวิตเราอยู่ทางโลกใช่ไหม? มีพ่อ มีแม่ พ่อแม่ตัวสำคัญ อยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นฝั่งเป็นฝา พอเป็นฝั่งเป็นฝามามันก็เป็นอย่างนี้ เวลาจิตใจนะ พอไปศึกษาธรรมะ เห็นไหม เพราะธรรมะนี่ ความดีที่ดีกว่านี้มันมีอยู่ มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ ไง

แม้แต่เป็นพระ นี่เป็นพระ หลวงตาบอกว่าวัดเป็นส้วมเป็นฐาน พระเป็นมูตรเป็นคูถ เป็นพระนี่เป็นมูตรเป็นคูถหรือ? ถ้าเป็นพระ พระที่ดีทำอย่างไร? แม้แต่เป็นพระนี่เขาจะพัฒนาขึ้นอย่างไร? พระปฏิบัติจะทำตัวอย่างไร? นี่ไม่ใช่บวชพระแล้วเป็นเทวดาแล้ว บวชพระแล้วเป็นเทวดา เป็นแล้วหรือ? ก็ยังเป็นพระอยู่นี่ ไม่เห็นเป็นเทวดาเลย แล้วเป็นเทวดาทำอย่างไร? เป็นเทวดาก็ต้องมีจิตใจเป็นเทวดาสิ จิตใจมีคุณธรรมสิ ถ้าจิตใจมีคุณธรรมแล้วมันจะเป็นตรงนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราบวชแล้ว ศึกษาธรรมะแล้วเบื่อหน่ายชีวิตคู่มาก แล้วก่อนที่จะมีชีวิตคู่ใครไปเอามันมา? ใครไปเอาชีวิตคู่นี้มา? ถ้าได้ชีวิตคู่มาแล้ว ถ้ามันคุยกันได้นะ ถ้าคุยกันได้ เห็นไหม ดูสิเวลาเขาไปวัด ไปทั้งสามีภรรยา นี่ไปวัดด้วยกัน ทำบุญด้วยกัน มีความเห็นเหมือนกัน นี่ครอบครัวอย่างนี้มีความสุข แต่ถ้าครอบครัวนะสามีหรือภรรยาไปวัด สามีหรือภรรยาอีกคนตามไป มีนะ มีสามีที่วัดก็มี ภรรยาที่วัดก็มี แต่ที่บ้านไม่ให้ไป มีปัญหาไปหมดเลย

ฉะนั้น การครองเรือน ครองเรือนคือครองหัวใจ แม้แต่ใจเราเราก็ครองยากอยู่แล้ว แล้วนี่ใจของสามี ภรรยา เดี๋ยวมีลูกอีกนะ เดี๋ยวมีหลานอีกนะ โอ้โฮ นี่พูดถึงชีวิตโลกไง ถ้าชีวิตโลก นี่การครองเรือนนี้แสนยาก เพราะเราต้องบริหารความรู้สึกไง บริหารใจของเรา แล้วยังบริหารความรู้สึกของเขา อยู่ด้วยกันกระทบกระทั่งกัน อยู่ด้วยกันเดี๋ยวก็มีปัญหากัน แล้วเราจะครองเรือนอย่างไร? แล้วพอเรามาศึกษาธรรมะ นี่อยากปฏิบัติขึ้นมาเขาก็บอกว่าไปนิพพานพร้อมกัน อย่าไปคนเดียว เดี๋ยวไปนิพพานคนเดียว อีกคนหนึ่งไม่ได้ไป รอปฏิบัติพร้อมกัน แล้วพร้อมตอนไหนล่ะ? พร้อมตอนลูกไง พอลูกออกมาแล้วก็รอลูกให้โตก่อน แล้วลูกปฏิบัติด้วยไง เดี๋ยวมันมีหลานอีกแล้วนะ รอหลานก่อน เดี๋ยวไปนิพพานพร้อมกัน ถ้าไม่อย่างนั้นเดี๋ยวมันไปไม่ได้

เพราะว่าเราต้องบริหารความรู้สึกของเราด้วย เราต้องบริหารใจเราด้วย เพราะบริหารใจของเรา เห็นไหม บริหารใจของเรา ใจนี่ให้มันเสมอต้นเสมอปลาย เวลาใจมันศึกษาธรรมะแล้วเบื่อหน่ายมาก เบื่อหน่ายมาก การเบื่อหน่ายในสมัยพุทธกาลที่พระ เห็นไหม พระพุทธเจ้าที่เข้าไปหลีกเร้น ให้พระพิจารณาอสุภะ พอพิจารณาเสร็จแล้ว นี่พิจารณาอสุภะเป็นอัตตกิลมถานุโยค คือตกขอบไปข้างหนึ่ง ก็จ้างให้คนฆ่า ให้พระใช้มีดโกนเชือดคอ แล้วบริขารให้เป็นสมบัติของคนนั้น ไปจ้างช่างกัลบกคือช่างตัดผมเชือดคอๆ

นี่ไงพิจารณาอสุภะไง มันไม่สม่ำเสมอ เห็นไหม พิจารณาอสุภะจนตกขอบไป ตกขอบไปก็ฆ่าตัวตายๆ พระนี่ตายเยอะเลย พอพระพุทธเจ้าออกจากหลีกเร้นมา

“อานนท์ ทำไมเป็นแบบนั้นล่ะ?”

“โอ้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าหลีกเร้น พระฆ่าตัวตายเยอะเลย”

นี่อยู่ในพระไตรปิฎก แม้แต่อย่างนั้น เวลาพิจารณาอสุภะไปนี่ไง ศึกษาธรรมะแล้วเบื่อหน่ายมาก เบื่อหน่ายมาก็ฆ่าทำลายชีวิตตัวเองเลย มันไม่ใช่ มันต้องมัชฌิมาปฏิปทา ถ้ามันตกขอบข้างหนึ่งมันก็ต้องพยายามดึงกลับมาอีกข้างหนึ่ง แล้วถ้ามันลงตัวได้ เห็นไหม มัชฌิมาปฏิปทา จิตใจพัฒนาขึ้นมา อยู่กับครอบครัวแต่จิตใจเป็นธรรม อยู่ท่ามกลางแต่จิตใจนี้มั่นคงหมดเลย เป็นผู้นำชักนำเขาได้ด้วย เป็นหลักเป็นชัยได้อีกต่างหาก ถ้าจิตใจเป็นธรรม

นี่ถ้ามันเสมอต้นเสมอปลาย มันสม่ำเสมอของมัน มันจะเป็นประโยชน์นะ ถ้ามันไม่สม่ำเสมอเป็นโทษอย่างนี้ เป็นโทษที่ไหน? เป็นโทษที่ความรู้สึกเราก่อน เราทุกข์เรายาก พอเราทุกข์เรายากแล้วเราก็ทำให้คนอื่นกระทบกระเทือนไปด้วย แต่ถ้าเราพิจารณาของเราแล้ว นี่จิตใจของเรามั่นคง พอมั่นคง จิตใจที่สูงกว่าก็ดึงจิตใจที่ต่ำกว่า ชักนำเขา ดึงเขา นี่ดึงเขาเข้ามาให้สู่ความพอดี แล้วชีวิตก็ร่มเย็นเป็นสุขไง ชีวิตมันก็สมดุลขึ้นมา ศึกษาธรรมะแล้วมันก็เป็นธรรมจริงๆ ถ้าศึกษาธรรมะนะเบื่อไปหมดเลย ฉันมีธรรม แกไม่มีธรรม ถ้าฉันมีธรรม แกไม่มีธรรมนะทะเลาะกันแล้ว ฉันถูก แกผิด (หัวเราะ)

ฉันต้องถูกทั้งคู่ ถ้าเรามีธรรมะเราก็ชักนำเข้ามา ดึงเข้ามา โน้มนำมา โน้มน้าวมา ถ้าเป็นไปได้มันเป็นประโยชน์ ถ้าโน้มน้าวไม่ได้กรรมของสัตว์ เราทำเต็มที่แล้วล่ะ เราโน้มน้าวไม่ได้ ถ้าโน้มน้าวไม่ได้ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมนะ เล็งนี่รื้อสัตว์ขนสัตว์ไม่มีเลย จนทอดธุระนะ สุดท้ายพรหมมานิมนต์ เห็นไหม นี่ถึงบอกนิมนต์แล้วคนดีก็มี คนที่ต่อต้าน คนที่ไม่เอาก็เยอะแยะไป เอาแต่คนที่เขาพอใช้ได้ เขาจะเอาก็เอากับเขา ถ้าเขาไม่เอาก็กรรมของสัตว์ บอกแล้ว กล่าวแล้ว เขาไม่เอาก็สาธุ เอวัง