ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ชื่อว่านิวรณ์

๑๓ ส.ค. ๒๕๕๕

 

ชื่อว่านิวรณ์
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่เวลาไม่ภาวนานะ เราไม่ภาวนาเราก็ว่าเราเป็นคนดี ทุกอย่างเราเรียบร้อยหมด แล้วเราก็อยู่กับโลกได้ เพราะมันเหมือนกับไก่ในกรงขัง ไก่ในเข่ง ไก่ในเล้า ถ้าไก่ในเล้าเขาก็รอให้เจ้าของเลี้ยงเขา แล้วเขาก็อยู่ในเล้านั่นแหละ ชีวิตของเขาก็มีความสุข แต่เวลาเขาเปิดเล้าออกมาแล้วหากินไม่เป็น ไปไม่ถูก

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าชีวิตปกติเราเราว่าเราเป็นคนดี เราว่าเราเป็นคนดี เราทำถูกต้องดีงามหมดแหละ แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมา จะเอาจริงเอาจังขึ้นมา เพราะไก่ในเล้าใช่ไหม? ก็อยู่ในโลก โลกก็ดูแลเรา โลกก็แบบว่าขอบเขตของมัน กติกาสังคม โลกก็อยู่ในขอบเขตของโลก เวลาเราจะออกปฏิบัติ เราจะทะลุทะลวงออกจากโลกไปเหมือนกับเปิดออก เปิดออกไปไม่ถูก ไปไม่เป็น พอไปไม่เป็นมันก็มีปัญหาไง

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อครับ เวลาอาบน้ำผมมีความรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวก รู้สึกกลัวความทุกข์มากจนชีวิตรู้สึกว่าจิตใจนี้หดหู่ เบื่อ จนรู้สึกไม่อยากมีชีวิตอยู่ เพราะกลัวว่าจะเจอความทุกข์เหล่านั้น เช่นกลัวหายใจไม่ออก กลัวความเจ็บที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผมรู้สึกหดหู่มากครับ ตอนนี้ผมทำคือเวลาอาบน้ำผมจะกำหนดรู้สติ ลมหายใจเข้า-ออก เพราะกลัวสมองของเราจะไปคิดเรื่องความทุกข์กับสิ่งที่กลัว ผมปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องไหมครับ หรือว่าจะมีวิธีไหนในการพิจารณาที่ดีกว่านี้ แล้วผมสามารถนำความกลัวมากๆ กลัวความทุกข์นั้นมาเป็นอุบายของธรรมได้ไหมครับ กราบขอบพระคุณ

ตอบ : นี่ถ้าเราอาบน้ำเรากลัวการอาบน้ำ หรืออาบน้ำต่างๆ นี่อย่างนี้เหมือนทางจิตวิทยา อย่างเช่นเด็กเคยจมน้ำ เด็กเคยจมน้ำจะกลัวน้ำมาก เด็กคนไหนมีสิ่งใดฝังใจจะกลัวสิ่งนั้นมาก ฉะนั้น เวลาเราอาบน้ำเรากลัวความทุกข์ มันก็เหมือนจิตใจเราไปเกาะสิ่งนั้นไว้ พอเกาะสิ่งนั้นไว้ปั๊บมันก็มีความกลัวขึ้นมา ความกลัวนี้แก้ได้ ไม่ใช่จะกลัวอย่างนี้ตลอดไปหรอก ความกลัวอย่างนี้แก้ได้ มันก็เหมือนกับเรากลัวผี เวลาเรากลัวผี เวลาเราเข้าไปในป่าช้าแล้วเรากลัวผีไหม? กลัว ไม่ต้องเข้าป่าช้าหรอก เข้าที่มืดก็กลัว เข้าไปที่ไหนก็กลัว กลัวผีนี่จะกลัวตลอดเวลา แล้วเราไปเที่ยวป่าช้ากันทำไมล่ะ? ก็เอาความกลัวแก้ความกลัวไง

ความกลัวหนึ่งมันเป็นประโยชน์นะ ว่ากลัวผี พอกลัวผีปั๊บนะไม่กล้าคิดเรื่องฟุ้งซ่านแล้ว ไม่กล้าคิดเรื่องนอกเรื่องนอกราวแล้ว มันต้องอยู่กับพุทโธเพราะมันกลัว พอมันกลัวมันไม่มีที่พึ่ง มันก็หันมาพุทโธ พุทโธ พุทโธเป็นที่พึ่งไว้ พุทโธ พุทโธจนพุทโธเป็นเรานะ มันสว่างครอบป่าช้าไปหมดเลย มันสว่างไปหมดนะ เพราะอะไร? เพราะป่าช้าเป็นรูปภายนอกใช่ไหม? พอจิตเราลงนะมันครอบไปหมดเลย มันไม่มีป่าช้า มันมีแต่ความว่าง แล้วกลัวอะไร?

ไปกลัวความว่างหรือ? ความว่างไปกลัวมันด้วยหรือ? แต่เวลาเราออกจากสมาธิ เวลาเราไปรู้นี่ โอ้โฮ ป่าช้าอีกแล้ว ออกไปเห็นโกดังผี เห็นทุกอย่างหมดเลย เพราะอะไร? เพราะจิตออกรู้ เพราะมันกลัวไง พอมันกลัวเราก็พุทโธ พุทโธ พุทโธจนมันหดสั้นเข้ามา จนมันคิดอะไรไม่ได้เลย เพราะมันเป็นตัวมันเอง มันก็สว่างครอบโลกธาตุ พอสว่างครอบโลกธาตุปั๊บ ความกลัวมันจะมีไหม? มันก็ไม่มีความกลัว

นี่พูดถึงเวลาความกลัวแก้ความกลัวไง ความกลัวใช้เป็นประโยชน์จะเป็นประโยชน์นะ แต่ถ้าความกลัว คนเรามีวิตกจริตมาก แล้วกลัวสิ่งใดมาก แล้วเอาสิ่งนี้แบบว่าไปเสนอ หรือเอาสิ่งนี้ไปให้จิตนั้นคิดนะมันยิ่งลนลาน ยิ่งลนลาน ยิ่งมีความทุกข์ ยิ่งต่างๆ เห็นไหม ถ้าอย่างนี้เราต้องพลิกอุบายหาอุบายทางอื่น หาอุบายทางอื่น เพราะอย่างนั้น อย่างเช่นเที่ยวป่าช้า พระบางองค์ก็ไปเที่ยวป่าช้าแล้วดี บางองค์เข้าป่าดี บางองค์ไปอยู่ในที่เสียว บางองค์ไปอยู่ที่สงบสงัดดี นี่อยู่ที่ใครปฏิบัติแล้วสิ่งใดเป็นประโยชน์ก็เอาสิ่งนั้น

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าความกลัวเป็นความทุกข์มาก เพราะความทุกข์มากเราต้องตั้งสติแล้วเราใช้ปัญญา กลัวอย่างไรก็ต้องเจอ แต่เจอมาก เจอน้อยเท่านั้นแหละ ถ้ากลัว เห็นไหม ทางโลก ทางหมอเขาบอกเลย ถ้าไม่อยากป่วยไข้ก็ต้องออกกำลังกาย ถ้าออกกำลังกาย จิตใจมันเข้มแข็งแล้วมันก็ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วมันจะหายจากเจ็บไข้ได้ป่วยไหมล่ะ? นี่มันบรรเทาไว้ มันแบบว่าร่างกายมันสมบูรณ์ต่างๆ แต่ก็โรคชรา ถึงเวลาแก่เวลาเฒ่า อายุขัยมันก็หมดไป มันหลบไม่พ้นหรอก เพียงแต่ว่าออกกำลังกายเพื่อความเข้มแข็ง เพื่อสุขภาพเพื่ออะไร มันก็เข้มแข็งขึ้นมา มันก็เป็นไป แต่มันไม่จบหรอก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันกลัวนะ เรากลัวแล้วเราใช้ปัญญาของเรา เราจะบอกว่ามันจะแก้ไขได้ด้วยปัญญา แล้วนี่ตอนนี้พอมันคิดไง วุฒิภาวะเรามีแค่นี้ เราคิดได้แค่นี้ พอคิดได้แค่นี้ปั๊บ นี่เพราะเราคิดว่าอนาคตเราต้องเจอสภาวะแบบนี้ มันถึงทำให้เรากลัวมาก พอกลัวมาก นี่เพราะกลัวอะไรนี่นะ สมบัติธรรมะเราก็ยังไม่เกิด เวลาเราไปคิดถึงอนาคตนะ นี่สมบัติบ้า สมบัติที่ยังมาไม่ถึงไง ถ้าสมบัติยังมาไม่ถึงมันทำให้อนาคตก็สั่นไหว ในปัจจุบันนี้เป็นเราก็สั่นไหว

ในปัจจุบันนี้ก็คือเราไง แล้วเราไปคิดเรื่องอย่างนี้เราก็กลัวไง อนาคตสมบัติบ้ายังมาไม่ถึง แล้วในปัจจุบันนี้มันจะเป็นเรา เป็นปกติมันก็กลัว กลัวมันก็ทุกข์ มันยากไปหมด คือไปเอาความวิตกกังวลจากอนาคตให้มาสะเทือนหัวใจในปัจจุบันนี้ ถ้าเราอยู่กับปัจจุบันนี้ นี่ปัจจุบันนี้อาบน้ำก็คืออาบน้ำ นี่เวลาอาบน้ำขึ้นมา น้ำก็คือน้ำ น้ำมันเป็นประโยชน์กับชีวิต ถ้าไม่มีน้ำไม่มีสิ่งมีชีวิต ถ้าที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีสิ่งมีชีวิต

ทีนี้เราอุดมสมบูรณ์ เราเกิดในประเทศอันสมควรมันมีน้ำท่าสมบูรณ์ น้ำท่าสมบูรณ์ เห็นไหม เราใช้กสิกรรม ใช้ทางอุตสาหกรรม เราใช้ดำรงชีวิต เราใช้ดื่ม เราใช้อาบ เราเอามาใช้ เราเอามาใช้ปั๊บถ้ามีปัญญาอย่างนี้ปั๊บก็จบไง เราอยู่กับปัจจุบันไง อยู่กับเดี๋ยวนี้ แล้วเดี๋ยวนี้เราต้องอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายเราก็ต้องอาบน้ำ อาบน้ำแล้วนะเราก็ต้องดื่มน้ำ ดื่มน้ำแล้วกินอาหารก็มีน้ำ นี่ถ้ามันมีปัญญาปั๊บ เออ คนอื่นเขาไม่เห็นคิดอย่างนี้เลย ทำไมเราคิดล่ะ?

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม นี่เวลาฉันอาหาร เวลาสรงน้ำ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปปรินิพพาน

“อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน เราอยากฉันน้ำ เอาน้ำให้ฉันหน่อย”

ไปถึงก็บอก “นี่เกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งผ่านลำธารนี้ไป น้ำมันขุ่นมาก ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอดกลั้นไว้ไปรอฉันเอาลำธารข้างหน้าเถิด ลำธารข้างหน้าเพราะเคยเดินธุดงค์ผ่านมาตลอด มันมีลำธารข้างหน้าอยู่ ไปฉันน้ำลำธารหน้าแล้วมันจะมีใสสะอาด”

“อานนท์ เรากระหายเหลือเกิน เราอยากฉัน”

นี่พระอานนท์ไปแล้วสลดสังเวชไง ไปถึงเอาบาตรจะตักบริเวณนั้นใสสะอาดเลย แล้วมาถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถวายไปก็ชื่นชมไปไง ทั้งๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปนิพพานนะ ชื่นชมว่าสิ่งที่ไม่มีไม่เป็น มันก็เป็นมาแล้ว น้ำมันขุ่นๆ อยู่นี่ เวลาจะตักทำไมมันใสเฉพาะตรงนั้น พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้า

“อานนท์ มันเป็นอย่างนั้นเอง”

ถ้าเป็นพวกเรานะ พอใครมายอ มายกตูดหน่อยนะ โอ้โฮ มันไปแล้ว นี่เวลาไปพูดกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“อานนท์ มันเป็นอย่างนั้นเอง เรื่องของกรรมนะ เวรกรรมนี่เราเคยเป็นพ่อค้าโคต่าง เวลาเกวียนของเราไปในคณะ นี่เวลาข้างหน้าเขาผ่านไปน้ำมันขุ่น โคจะกินน้ำเราดึงไว้ ก็คิดแบบพระอานนท์อยากให้ไปกินข้างหน้าที่มันใสสะอาด” เห็นไหม นี่เวรกรรมมันมี

“แล้วที่น้ำมันใสล่ะ?”

“น้ำมันใสมันเป็นบารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

เวลากรรมก็ส่วนกรรมนะ แต่บารมีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้น้ำนั้นใส ตักมาให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ดื่ม กรรมมันก็มีของมัน เห็นไหม แต่บารมีธรรมมันก็ลบล้างกัน ลบล้างอย่างนั้นลบล้างเฉพาะท่าน นี่พอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีประสบการณ์ ยังมีเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เรื่องต่างๆ แล้วเราล่ะ? ถ้าเรามีความคิดสิ่งใด เราคิดนี่เป็นแง่บวกได้ คนมันมีนะ อย่างเช่นคนกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันจะกลัวอย่างนั้นตลอดไป คนกลัวที่สูง คนกลัวที่สูง บางคนกลัวที่สูงจนนั่งเครื่องบินไม่ได้ ขึ้นเครื่องบินไม่ได้นะ นี่คนกลัวอะไรมันจะกลัวฝังใจคนนั้น นี่มันเป็นความฝังใจของเขา แต่เราแก้ของเราไง เราแก้ของเรา

นี่ถ้าพูดถึงสิ่งที่กลัวจะเอามาเป็นอุบายในการปฏิบัติธรรมได้ไหม? ถ้าเป็นอุบายในการปฏิบัติก็นี่สอนมันสิ ก็ต้องเจอกันอย่างนี้ มันพลิกมาได้ อุบายนะมันจะเกิดในปัจจุบัน ถ้าอุบายเราบอกว่าต้องทำอุบายอย่างนั้นนะ ต้องทำอุบายอย่างนั้นนะ นี่กิเลสมันรู้ทันแล้ว มันก็เหมือนเราเอาอาวุธไง ปืนเขาเอาไว้ป้องกันตัว แล้วเราเอาปืนไปฝากไว้กับมิจฉาชีพ มิจฉาชีพมันจะเอาปืนนั้นมาจี้ปล้นเราอีกต่างหาก

อุบายก็เหมือนกัน อุบายวิธีการมันเป็นอาวุธ มันเหมือนปืน ถ้าปืนอยู่กับเราเราป้องกันมิจฉาชีพ ป้องกันทรัพย์สมบัติของเรา เราป้องกันทุกอย่างได้หมดเลย นี่อุบายที่เราจะพลิกแพลงใช้ อุบายนี้บอกเลยนะ นี่เอาปืนไปฝากไว้กับพวกมิจฉาชีพ มิจฉาชีพมันก็เอาปืนมาจ่อหัวเราเลย มีเท่าไรเอามาให้หมด นี่ก็เหมือนกัน พออุบายนะ อุบายมันจะเป็นประโยชน์กับเรา เราไปฝากไว้กับกิเลสบอกว่าอย่างนี้เป็นอุบาย เพราะสัญญาไง จำไว้ไง โลกไง อวิชชาไง ความไม่รู้ไง จำอุบายมาก็จำปืนนั้นมาไง พอจำปืนนั้นมาบอกว่านี่เป็นอย่างนั้น ปฏิบัติแล้วเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น แล้วบอกว่ามันเป็นจริงๆ ด้วย จริง จริงด้วยอาวุธอันนั้น จริงด้วยอุบายอันนั้น จริงด้วยกิเลสอันนั้นไง

ฉะนั้น อุบายต่างๆ มันจะเกิดในปัจจุบัน ถ้าปัจจุบัน เห็นไหม หลวงตาบอกว่าถ้าเป็นหมอนะ เป็นนายแพทย์ นี่เวลาจะรักษาคนไข้ เราจะรักษาคนไข้แล้วแต่อาการของไข้ แต่ถ้าเป็นหมอเถื่อนนะมันก็ครูพักลักจำ มันก็เอายาทั้งหมดเลย นี่ควรจะใช้อย่างไร? เพราะมันไม่มีความรู้ ไม่มีความรู้ปั๊บมันก็เหมือนกับมีด มีด เห็นไหม เวลาเราใช้นี่เราใช้ได้เลย เพราะมันอยู่กับเรา เราถืออยู่กับมือของเรา เราใช้ได้เลย แต่ถ้ามีดเราอยู่ในครัว ถึงเวลาแล้วเราต้องไปหามีดไง

อุบายก็เหมือนกัน นี่ปัญญาก็เหมือนกันมันจะเป็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นแบบนี้ปั๊บ อุบายให้มันเกิดขึ้นกับเรา แล้วเราทำของเราได้ ความกลัวใช้เป็นประโยชน์ได้ อย่างเช่นกลัวผี กลัวสาง กลัวทุกข์ กลัวยาก กลัวลำบากลำบน ความกลัวนั้นเราต้องเผชิญข้างหน้า ถ้าเราไม่อยากเผชิญข้างหน้าเรารีบปฏิบัติซะ เรารีบของเรา เราทำความสงบของใจของเรา อย่าเอาสิ่งที่เป็นอนาคตมาบีบคั้นเรา เราเอาปัจจุบันนี้ ปัจจุบันเราทำของเรา

ฉะนั้น เราจะบอกว่าความกลัวอย่างนี้โยมอย่าคิดว่ามันจะอยู่กับเราตลอดไปนะ นี่พอเวลาเราคิด เมื่อก่อนไม่เคยคิดอย่างนี้มันก็ไม่กลัว แต่พอมาคิดปั๊บมันกลัวมันก็ฝังใจ ความฝังใจอันนี้มันจะย้ำคิดย้ำทำ ย้ำคิดย้ำทำยิ่งกลัวมากเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าเรามีปัญญามาลบล้างมัน มีปัญญามาแยกแยะมัน ว่าสิ่งนี้มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะน้ำเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์กับสิ่งมีชีวิต นี่สิ่งที่ต้องอาศัยน้ำดำรงชีวิต

ฉะนั้น น้ำดำรงชีวิตสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์อยู่แล้ว ขณะที่เป็นมันขณะที่ปัญญาความคิดที่มันเกิดขึ้นขณะอาบน้ำ มันเลยอ้างว่าอาบน้ำแล้วเป็นแบบนี้ แต่ความคิดมันอ้าง กิเลสมันอ้างเล่ห์ อ้างเล่ห์คือว่าอาศัยการอาบน้ำ พอจะอาบน้ำจะคิดเรื่องนี้ทันทีเลย นี่ถ้าเราใช้ปัญญาแล้ว น้ำมันให้โทษใคร? เว้นไว้แต่น้ำหลาก น้ำหลากมันทำคนตายได้ แต่ถ้าน้ำเราควบคุมได้ เราดูแลได้มันจะให้โทษใคร? มันจะให้คุณประโยชน์กับเราทั้งนั้นแหละ มันเป็นที่ความคิดเราไง มันไม่เป็นที่น้ำ ไม่ใช่กลัวน้ำ ไม่ใช่อาบน้ำ แต่เป็นที่ความรู้สึกนึกคิด แล้วเวลาเราแก้ ตัวเองแก้ตัวเอง

ถาม : เวลาผมอาบน้ำผมรู้สึกกำหนดสติ กำหนดลมหายใจเข้า-ออกให้ชัดๆ เพราะไม่ให้สมองไปคิดเรื่องนั้น

ตอบ : เพราะสมองไม่ไปคิดก็ตัวเองคิดไง มันอยู่ที่เรา ค่อยๆ ใช้ปัญญานะ ค่อยๆ ใช้ปัญญา ค่อยๆ แยกแยะเอา เวลาไม่ปฏิบัติเหมือนไก่อยู่ในกรง เหมือนกับเราอยู่ในโลกนี้ พอเวลาจะออกจากกรง ออกจากกรงไปไก่มันต้องไปเผชิญชีวิตของมันเอง มันคิดว่ามันจะหากินมันเองได้ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน เราถ้ายังไม่ได้ปฏิบัติมันก็ไม่คิดอะไรเลย พอปฏิบัติขึ้นมามันก็มีอุปสรรคไปหมดเลย อาบน้ำยังกลัว ฉะนั้น เราค่อยๆ แก้อันนี้ไป ถ้าแก้อันนี้ไปมันแก้ได้ มันแก้ของมันได้

นี่ปัญหาใหม่

ถาม : ผมมีปัญหาการภาวนาอยากรบกวนหลวงพ่อครับ เมื่อคราวที่แล้วผมได้ถามปัญหาเรื่องพิจารณานิวรณธรรม ถึงอุบายการใช้ปัญญาพิจารณากำจัดนิวรณ์แต่ละตัวที่หลวงพ่อตอบว่า

“การใช้ปัญญาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ลอกเลียนกันไม่ได้”

มาภาวนาคราวนี้ ขณะที่ผมตื่นขึ้นมาเดินจงกรมตอนตี ๒ ครึ่ง รู้สึกว่าง่วงนอนมาก จิตมันมีความรู้สึกนิวรณ์ตัวถีนมิทธะ แต่ถึงรู้ก็กำจัดไม่ได้ ได้พยายามหลายวิธี เช่นเดินจงกรมให้เร็วขึ้น ล้างหน้า บิดขี้เกียจก็ไม่หาย พอดีผมคิดไปถึงเรื่องงานที่ต้องกลับไปทำ ขณะที่คิดอยู่นั้นปรากฏว่าความง่วงได้หายไปหมดสิ้น ผมจึงได้ความรู้ขึ้นมาว่า “นิวรณ์ฆ่านิวรณ์” คือขณะที่มีนิวรณ์ตัวใหม่ ความฟุ้งซ่านนิวรณ์ตัวเก่าถีนมิทธะก็หายไป และการกำจัดนิวรณ์ความฟุ้งซ่านก็ใช้สติจับดูก็หาย ซึ่งต่างจากถีนมิทธะ ถึงรู้ก็ไม่หายง่ายๆ

ขอถามว่า’

๑. ถ้านิวรณ์ตัวที่เราพิจารณาอยู่มีกำลัง เราเปลี่ยนให้นิวรณ์ตัวที่มีกำลังอ่อนกว่าเข้ามาแล้วจัดการถูกไหม?

๒. การใช้นิวรณ์ฆ่านิวรณ์เป็นกิเลสหรือเป็นมรรคครับ?

ตอบ : นี่เวลาเราคิดถึง เราเกิดนิวรณ์ ทีนี้พอเราคิดถึงว่าเราจะกลับไปทำงานทำให้หูตาสว่างเลย อันนั้นแหละคิดว่าเรากลับไปทำงานเราคิดว่าเป็นนิวรณ์ไง ถ้าเกิดเป็นนิวรณ์นี่ใช่ ถ้าเกิดเราจะใช้คำว่ามันเป็นปัญญา ถ้าไม่ใช้ปัญญาฆ่านิวรณ์ไม่ได้ ถ้าไม่เป็นปัญญามันจะหูตาสว่างไม่ได้

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าขณะที่เราเดินจงกรมอยู่แล้วเราง่วงเหงาหาวนอนมาก เราฟุ้งซ่านมาก ทีนี้พอเราคิดไปเรื่องงาน คำว่าคิดเรื่องงานมันคิดเรื่องปัญญา ปัญญามันคิดไง แต่มันคิดเรื่องงาน เห็นไหม ปัญญา งาน งานก็คืองาน ทีนี้เราคิดเรื่องงานแล้วเราคิดว่าเป็นนิวรณ์เหมือนกัน ไม่ใช่ ไม่ใช่นิวรณ์ นิวรณ์คือความลังเลสงสัย ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ความลังเลสงสัยอันนี้คือนิวรณ์ แต่คิดเรื่องงาน พอคิดเรื่องงาน มันคิดเรื่องงานไปมันกระตุ้น

มันกระตุ้นเหมือนกับมันสปาร์ค มันช็อตด้วยไฟฟ้า พอช็อตด้วยไฟฟ้าจิตใจมันโดนช็อตมันก็ฟื้นตัวขึ้นมา พอฟื้นตัวขึ้นมามันก็สว่างโพลง พอสว่างโพลง เห็นไหม อันนั้นไม่ใช่นิวรณ์ ทีนี้เพียงแต่ว่าถ้าไม่ใช่นิวรณ์มันคิดเรื่องงาน เราคิดว่านิวรณ์คืออะไร? นิวรณ์คือถีนมิทธะ แต่เวลามันคิดเรื่องงานแล้วมันง่วงไหม? มันไม่ง่วง มันไม่ง่วงมันเป็นนิวรณ์ไหม?

ฉะนั้น คำว่าใช้นิวรณ์ฆ่านิวรณ์ไม่ใช่ มันใช้ปัญญา แต่ปัญญามันคิดเรื่องอะไร? ถ้าปัญญามันตรึกในธรรม เห็นไหม คิดเรื่องธรรม คิดเรื่องสัจธรรม คิดต่างๆ มันก็เป็นธรรม แต่นี้คิดเรื่องงาน เรื่องงานมันเป็นโลกไง มรรคหยาบ มรรคละเอียดไง มันคิดเรื่องโลก เรื่องโลกก็เป็นหน้าที่การงาน ทีนี้หน้าที่การงานเราจะต้องทำงาน พอเราจะต้องกลับไปทำงาน พอกลับไปทำงาน พอเรื่องงานใช่ไหม หูตามันก็สว่าง เพราะงานเราต้องตั้งใจทำ แต่เวลาเราเดินจงกรมอยู่นี่เราตรึกในธรรมของเรา เราพิจารณาของเรา กำหนดอะไรก็แล้วแต่แล้วมันง่วง มันทุกข์ มันยาก

นี่นิวรณ์ นิวรณ์ถีนมิทธะ มันง่วงเหงาหาวนอน คือมันเปลี่ยนอารมณ์ไง เปลี่ยนเป็นความคิดใหม่ไง พอเปลี่ยนความคิดใหม่ คิดใหม่นะมันคิดเรื่องงาน เพราะเรื่องงานนะ เรื่องงานมันเป็นเรื่องธุรกิจ เรื่องงานมันเป็นเรื่องผลประโยชน์ พอเรื่องผลประโยชน์แล้วหูตาสว่างเลยเพราะมันอยากได้ผลประโยชน์ แต่เวลามันคิดปฏิบัติ ฮึ งานของใคร? ทำแล้วทำเล่า ทำแล้วก็ไม่ได้อะไร เห็นไหม มันคิดว่าอันนี้เป็นงานของเรา

นี่เวลาภาวนาจะเป็นสมบัติของเรา แต่จิตใจมันมีนิวรณ์กีดกั้น นิวรณ์คือความง่วงเหงาหาวนอนต่างๆ มันกีดกั้น นี่งานอะไร? ทั้งๆ ที่งานนี้เป็นงานเพื่อปฏิบัตินะ แต่พอคิดไปเรื่องงาน พอมันคิดไปเรื่องงานมันดับหมดเลย ดับความคิดนี้หมดเลย แล้วหูตาสว่าง หูตาสว่างเพราะมันคิดประพฤติปฏิบัติ คิดอยู่แล้ว มันคิดแล้วมันกดถ่วงใจ กดถ่วงใจ พอไปคิดเรื่องงานมันเข้ากับกิเลสไง

นี้ยกให้ชัดๆ นะ อย่างเช่นเราทำงานของเราอยู่ เราคิดของเรา พอเราคิดถึงแฟนสิ โอ้โฮ คิดถึงแฟนนี่หูตาพองเลยนะ คิดเรื่องอะไร แต่คิดเรื่องงาน โอ้โฮ ภาวนา พอคิดถึงแฟนนะ อืม เดี๋ยวกลับบ้านแฟนจะให้อะไรกินเนาะ แฟนรออยู่แล้วนะ โอ้โฮ รีบกลับบ้านเลย หูตาพองเลย คิดถึงงานก็เหมือนกัน ทีนี้พอมันเปลี่ยนไปแล้วมันเปลี่ยนอารมณ์ไป มันเปลี่ยนอารมณ์ไปนี้อันหนึ่ง เห็นไหม มรรคหยาบๆ ค่อยๆ ทำไป

ฉะนั้น จะบอกว่านิวรณ์ฆ่านิวรณ์ไม่ใช่ แต่ความคิดนี้คิดเรื่องอะไร? พอคิดแล้วมันขยับตัว มันก็ตื่นตัวอยู่พักหนึ่ง

ถาม : ๑. ถ้านิวรณ์ตัวที่เราพิจารณาอยู่มีกำลังแรง เราเปลี่ยนให้นิวรณ์ตัวที่มีกำลังอ่อนกว่าเข้ามาจัดการจะถูกไหม?

ตอบ : เราจะบอกว่ามันเป็นความเห็นเนาะ ความเห็นของผู้ที่ปฏิบัติ จะบอกว่าผู้ที่ปฏิบัตินะ เช่นอย่างเรานี่กรรมฐาน แต่เวลาผู้ที่เรียนปริยัติมา เรียนปริยัติมาเวลาปฏิบัติไปแล้วความรู้สึกนึกคิดของเขามันจะเป็นปริยัติ ปริยัติหมายถึงว่าเป็นทางวิชาการไง เวลาอารมณ์จะเกิดขึ้นก็เทียบเลยวิชาการเป็นอย่างนี้ อะไรเกิดขึ้นก็เทียบวิชาการเป็นอย่างนี้

อย่างเช่นเรานี่เราเป็นกรรมฐาน เวลากรรมฐาน พอมันเกิดขึ้นมาเราจะเทียบแบบอุปัชฌาย์ หรือเทียบกับที่ในวงกรรมฐานเขาคุยกัน เวลาทางภาวนาเวลาเกิดขึ้น

“นี่อะไร?”

“นี่อาการของใจ”

“ถ้าอาการของใจมันประกอบไปด้วยอะไร?”

“ประกอบไปด้วยรูป”

“รูปคืออะไร?”

“รูปคือความรู้สึกนี้”

“ถ้ามันมีสัญญา สัญญามันเทียบเคียงอย่างไร?”

มันก็เป็นปริยัติเหมือนกัน เป็นบัญญัติของพระพุทธเจ้าเหมือนกัน แต่ แต่วงกรรมฐานมันจะเป็นแบบว่าเหมือนกับหน้างาน การทำหน้างาน เห็นไหม ปูน หน้างานปูนนะ นั่งร้านเราต้องการเหล็ก ต้องการอะไรเขาจะกำหนดกันเลย แต่ถ้าเป็นทางปริยัตินะเขาต้องคำนวณของเขา มันเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราเปรียบเทียบให้เห็นว่าถ้ามันบอกเป็นนิวรณ์ๆ ผู้ที่ปฏิบัติเวลาอารมณ์เกิดขึ้นว่านี่เป็นนิวรณ์ นี่เป็นนิวรณ์ ถ้าเป็นนิวรณ์ นิวรณ์ก็นิวรณ์ ๕ แต่ถ้าเป็นความคิดมันเป็นนิวรณ์ไหม?

ถาม : ถ้านิวรณ์ตัวที่พิจารณาอยู่มีกำลังแรง

ตอบ : กำลังแรงเพราะเราไปติดกับอะไรก็เป็นนิวรณ์ไง นิวรณ์หมายถึงเครื่องกางกั้นนะ แล้วถ้าเกิดมันเป็นปัญญามันเป็นนิวรณ์ที่ไหน? มันเป็นปัญญา ปัญญาอย่างโลก ปัญญาอย่างธรรม ปัญญาอย่างโลก เห็นไหม ปัญญาอย่างโลกก็นี่สุตมยปัญญา ปัญญาที่เราคุยกันอยู่นี่ ปัญญาทางวิชาการที่เราเสนอมา วิชาการมีเหตุมีผลเพื่อประชุม เพื่อสรุป สรุปว่าเหตุผลของใครถูกต้อง นี่ปัญญาทางโลก แต่มาปฏิบัติแล้วนะ พอมาปฏิบัตินี่เหตุผลถูกต้องแล้วล่ะ เหตุผลถูกต้องตั้งแต่ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านี่ถูกต้องหมดแหละ เราเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เราเห็นผิดจากตามความเป็นจริง

นี่เวลาสรุปแล้วมันถูกหมดแหละ ถูกแล้วทำไมเวลาปฏิบัติทำไมมันไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ? เวลาสุตมยปัญญา สรุปลงแล้วทางวิชาการจบ แต่ไอ้อวิชชา ไอ้ตัณหาความทะยานอยาก ไอ้ความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนมันยังไม่ได้เริ่มต้นเลย พอมันจะเริ่มต้น ไอ้ตัวอุปสรรค ไอ้ตัวปัญหามันเริ่มต่อต้านแล้ว พอมันเริ่มต่อต้าน นี่ปัญญาทางโลก สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ทีนี้มันจะต้องเป็นปัญญาของเรา นี่เราเข้าหน้างานแล้ว เราเข้าหน้างานคือเข้าสู่จิตของเราแล้ว เราเข้าสู่อุปสรรคของเราแล้ว

ถ้าเราจะเข้าอุปสรรคของเรา อุปสรรคของเรามันจะต่อต้านอย่างไร? แล้วอุปสรรคแต่ละคนมันก็ไม่เหมือนกัน อุปสรรคของแต่ละคน อุปสรรคก็คือจริตนิสัยไง ดูสิอาหารคนยังกินไม่เหมือนกันเลย อาหารรสชาติของมันก็ไม่เหมือนกัน ปฏิบัติของคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนคิดอย่างไร พอเข้าไปนั่นแหละ นั่นแหละอุปสรรคของตน แล้วอุปสรรคของตนมันก็อยู่ที่ว่าเราให้ชื่ออะไรมัน นี่เราให้ชื่ออย่างไร? เพราะความจริงเป็นอย่างไร?

ทีนี้พอเข้าวงกรรมฐานเขาจะเอาตรงนี้ว่าใครเจออุปสรรคอย่างไร? ใครไปเที่ยวกรรมฐานกลับมามาถึงหลวงปู่มั่นจะไปรายงานผล รายงานผลเสร็จแล้ว ถ้าเป็นเรื่องส่วนตน เรื่องส่วนตัว คือว่าเป็นประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ส่วนตัว หลวงปู่มั่นจะตอบเลย ตอบเสร็จแล้วประชุมสงฆ์ ประชุมสงฆ์เสร็จแล้วเอาประเด็นเรื่องนั้นเป็นเหตุ หลวงปู่มั่นเทศน์เลย นี่ในวงกรรมฐานก็เป็นแบบนี้ เพราะหลวงปู่มั่นเทศน์จากอะไร? เทศน์จากประสบการณ์ของท่าน ถ้าท่านได้ปฏิบัติของท่านมาแล้ว ท่านผ่านอุปสรรคอย่างนี้มาหมดแล้วแหละ

คนที่ปฏิบัติเรามั่นใจมากนะ เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์จะต้องผ่านอุปสรรคในการประพฤติปฏิบัติมาทุกคน มากหรือน้อย นี่ถ้าผ่านมาแล้ว แล้วพอเขาจะเดินทางมาเส้นทางเดียวกันเขาจะบอกว่าเขาเป็นอย่างนี้ๆ เราจะรู้ได้เลย นี่วงกรรมฐาน ธรรมะที่เขาจะบอกว่าถ้าคนมีธรรม เวลาพูดนี่อ้าปากรู้เลย อ้าปากมารู้เลยมีธรรมหรือเปล่า ก็ถนนเส้นนี้มันมีซอยเท่าไร มันมีทางแยกเท่าไร แล้วเราเดินผ่านมา เราเดินผ่านมาหมดแล้ว เราผ่านทางแยก ทางร่วม นี่เราผ่านซอยมาหมดเลย

แต่เวลาคนเข้ามานะเขาบอกเขามาถนนสายเดียวกับเรา แล้วเขาเลี้ยวซ้ายไป เขาเลี้ยวซ้ายไปแล้ว ลงทะเลไปแล้ว เรารู้เลยว่าเขาได้แค่นั้น แต่ถ้าเขาเลี้ยวซ้ายไป แล้วพอเขาไปถึงทะเลเขาบอกทางนี้ผิด เขาย้อนกลับมา แล้วเขาเดินต่อมา เออ ใช่ ผ่านมาแล้ว ผ่านแยกแรกมาแล้วจะมาทางร่วม ทางร่วมจะไปทางซ้ายหรือทางขวา ถ้าไปทางขวาจะไปทางไหน? นี่ปฏิบัติไปมันจะรู้หมด อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นนิวรณ์ๆ มันก็เป็นทางร่วมทางแยกของเรา เพราะทางร่วมทางแยกของเรานะ มันต้องตรงต่อไปไง ตรงต่อไปเราไปข้างหน้าเลย

ฉะนั้น บอกว่าเวลานิวรณ์ตัวเก่า นิวรณ์ตัวใหม่ มันทางแยกแล้วทางแยกเล่า ถ้าทางแยกแล้วทางแยกเล่าเราจะไปข้างหน้าไม่ได้ อย่างเช่นในการทำสมาธินะ บ้าน บ้านของคนมันมีรั้ว ทีนี้ถ้าเราจะเข้าบ้านมันต้องผ่านรั้ว ผ่านรั้วบ้านเข้ามา ผ่านสนามหน้าบ้านเข้ามา พอเราผ่านรั้วเข้ามา เออ เราถึงบ้านแล้ว เราก็นอนอยู่กลางสนามหน้าบ้านนั้น เราไม่ได้เข้าบ้าน

การทำความสงบของใจ ถ้าพุทโธ พุทโธ จิตมันเริ่มสงบเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ มันก็อยู่หน้าบ้าน มันยังไม่เข้าบ้าน แต่ถ้าพุทโธ พุทโธจนเข้าไปถึงที่สุดนะมันผ่านบ้าน ผ่านรั้วเข้ามา ผ่านสนามเข้ามา ถึงผ่านเปิดประตูบ้านเข้าบ้านไป เออ นี่บ้านของเรา แล้วใครทำมาก็เป็นอย่างนี้หมดแหละ ฉะนั้น พอเป็นอย่างนี้ปั๊บ พอมันเปิดรั้วเข้ามา เออ หนูเข้าบ้านแล้วนะ เปิดรั้วเข้ามา มันจะนอนอยู่สวนหน้าบ้านนะ พอนอนอยู่สวนหน้าบ้านเอ็งจะเก็บดอกไม้อะไรล่ะ? เอ็งอยากนอนตรงไหนล่ะ? เอ็งจะนอนสนามหญ้าตรงไหน? เอ็งจะนอนพุ่มไม้ไหน?

นี่ไงสมาธิมันยังเข้าไปได้ ถ้ามันเข้าไปได้มันก็ผ่านเข้าไป เราจะมาเปรียบเทียบที่ว่าถ้านิวรณ์ตัวที่เราพิจารณาอยู่มีกำลังมากกว่า สิ่งที่เราพิจารณากำหนดภาวนาอยู่มันมีกำลังมากกว่า พอเราไปคิดเรื่องงาน นี่ว่านิวรณ์กำลังน้อยกว่า ถ้าเราไปจับตรงนี้ปั๊บเราจะติดตรงนี้ตลอด ฉะนั้น เวลาเราจะภาวนานะทิ้งหมดเลย ถ้าพุทโธก็คือพุทโธ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิก็คือปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าคิดถึงความตายก็คิดถึงความตาย นี่คือคำบริกรรม อย่าไปวิตกกังวลกับนิวรณ์ นิวรณ์ก็คือนิวรณ์

อย่างเช่นว่าเวลาเป็นพระโสดาบันเขาละสังโยชน์ ๓ ตัว มีคนถามบ่อย สังโยชน์มันเป็นอย่างไร? สังโยชน์มันเป็นแบบไหน? แล้วสังโยชน์มันเป็นแบบไหนล่ะ? อ้าว สังโยชน์มันเป็นแบบใด? สังโยชน์มันเป็นนามธรรม เป็นนามธรรมนะ แต่เวลาเราพิจารณาสักกายทิฏฐิความเห็นผิด ถ้าความเห็นผิดนี้มันถูกปั๊บสังโยชน์ขาดเลย แล้วสังโยชน์ขาด รู้ด้วยว่าขาดอย่างไร นี่มันขาดเลย

ฉะนั้น เวลาใครจะเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ทางนิติวิทยา เห็นไหม เวลาคนตายเขาต้องชันสูตรศพ คนนี้ คนตายนี่ตายด้วยอะไร? ถ้าบอกความตายผิดเรารับไม่ได้ เวลาขึ้นฟ้องศาล นี่ฟ้องศาลว่าแผลไหนทำให้ตาย โดนยิงมา ๕ แผล โดนยิงมา ๕ จุด แล้วจุดไหนเป็นจุดตาย จุดนี้ทำให้บาดเจ็บ นี่จุดนี้ทำให้บาดเจ็บ แต่ถ้ายิงตรงหัวใจตรงนี้ตาย ถ้าตรงนี้บาดเจ็บ ยิงเข้าสมองนี่ตายเพราะแผลนี้

นี่ก็เหมือนกัน เวลามันขาดขาดอย่างไร? ฉะนั้น เวลาขาดนะมันอยู่ที่เหตุ เราทำเหตุของมัน เวลาขาดผลมันตอบสนองเลย แล้วมันรู้หมดว่าตายเพราะอะไร? เวลาครูบาอาจารย์พิจารณากาย เวลาพิจารณากาย ผ่านกาย ผ่านกายนี่ กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ อ้าว แล้วคนพิจารณาจิตล่ะ? พิจารณาจิต ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ มันก็สักกายทิฏฐิเหมือนกัน แต่มันคนละทาง แต่จุดเดียวกัน

จุดเดียวกัน จะเป็นพระอรหันต์ สกิทาคามี อนาคามี ไม่มีต่างกันหรอก เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอะไรนี่อย่ามาโม้ มันลงจุดเดียวกัน อริยสัจมีหนึ่งเดียว จะเดินมาสายไหนก็หนึ่งเดียว ถ้าหนึ่งเดียวแล้วมันก็จบ ฉะนั้น มันถึงพิสูจน์กันได้ มันพิสูจน์กันได้ มันบอกกันได้ ถ้ามันบอกกันได้ปั๊บเราต้องเอาปัจจุบันสิ เอาความเป็นจริงสิ เอาความเป็นจริง เราตั้งสติแล้วตั้งปัญญาของเรา

ฉะนั้น นี่เราฝังใจเรื่องนิวรณ์ โทษนะนี่พูดแบบเปรียบเทียบ วัวก็ว่านิวรณ์ ควายก็ว่านิวรณ์ ช้างก็ว่านิวรณ์ มันเป็นช้าง เป็นวัว เป็นควาย มันไม่ใช่ชื่อนิวรณ์ คือว่าสัตว์มันหลายประเภทใช่ไหม ก็ตั้งชื่อใหม่เลย ชื่อนิวรณ์หมดเลย แล้วมันจะแยกประเภทสัตว์ได้อย่างไร? ความรู้สึกนึกคิดร้อยแปดพันเก้า ทำไมอะไรเกิดขึ้นก็เป็นนิวรณ์ ทำไมอะไรเกิดขึ้นกับความรู้สึกทำไมเป็นนิวรณ์ อะไรมันเกิดขึ้นนะ มันเกิดขึ้นมันเกิดขึ้นจากอะไรล่ะ? ความรู้สึกนึกคิดไง แต่ถ้าเป็นนิวรณ์ ง่วงเหงาหาวนอนมันชัดๆ อยู่แล้ว แต่เวลามันเปลี่ยนอารมณ์ปั๊บมันจะหูตาสว่างเลย ถ้าหูตาสว่าง

นี่เราจะบอกว่าเอานิวรณ์แก้นิวรณ์ เอาอะไรตัดนิวรณ์ไม่มีหรอก ปัญญาอย่างเดียว ปัญญาอย่างเดียว ปัญญาเท่านั้น ฉะนั้น คิดเรื่องงานอันนั้นก็เป็นธรรมนะ คิดเรื่องงานว่าเราต้องกลับไปทำงาน หูตาสว่างเลย มันเป็นธรรมแล้วแหละ เป็นธรรมเพราะอะไร? เพราะเอ็งเดินอยู่นี่ เดินอยู่แล้วก็ให้ความง่วงเหงาหาวนอนมันเหยียบหัวอยู่นี่ เอ็งเดินอยู่นี่นะมันก็เหมือนขอนไม้ เหมือนกับขอนไม้ไม่ได้อะไรเลย

หลวงตาบอกเลยนะ “เวลาเดินจงกรมโง่อย่างกับหมาตาย”

นี่ก็เหมือนกัน เดินจงกรมให้นิวรณ์มันเหยียบหัวอยู่ มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย พอคิดเรื่องงานนี่ผลัวะ! หูตาสว่างเลย นั่นมันก็เป็นปัญญาแล้ว ทีนี้ปัญญาขึ้นมา นี่พอคิดเรื่องงาน หูตาสว่างหมดเลย คำว่าหูตาสว่างมันลบล้างนิวรณธรรม ลบล้างความกังวลหมดเลย กังวลการเดินอยู่นี่ แล้วต้องกลับไปทำงานหูตาสว่าง ฉะนั้น พอกลับไปทำงานมันเป็นความคิดเอาเรื่องงาน ขณะเอาเรื่องงานของเรา งานที่เป็นทางโลกมาเหยียบหัว ไอ้ที่มันเหยียบหัวเราอยู่นี่เปิดหมดเลย พอเปิดหมดเลยมันก็เป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมขึ้นมา เป็นธรรมเฉพาะตรงนี้นะ เป็นธรรม

คำว่าธรรมหมายความว่าทำให้คนง่วงเหงาหาวนอน หูตาสว่างได้นี่เป็นธรรม เป็นธรรมทำให้คนที่กำลังสัปหงกอยู่นี่ แล้วหูตาพองขึ้นมา ธรรมมันอยู่ตรงนี้ ธรรมคือทำให้เราตื่นตัวไง แล้วทำต่อไปนะ ทำต่อไปก็ต้องทำใหม่ ทำให้มันละเอียดกว่านี้ แต่ที่เป็นธรรมเพราะทำให้คนเห็นผิดเป็นเห็นถูก ทำให้คนง่วงเหงาหาวนอน ทำให้หูตาสว่างขึ้นมา อันนี้เป็นธรรม

พอเป็นธรรมขึ้นมาปั๊บ แล้วเราเองเราก็งงแล้วนะ แล้วจะให้ชื่อมันว่าอย่างไรล่ะ? พอให้ชื่อมันว่าอย่างไรก็เป็นนิวรณ์เลย อะไรมากูก็นิวรณ์ผูกคอไว้ก่อน โอ้โฮ คนทั้งโลกชื่อสมชายหมดเลยนะ ห้ามตั้งชื่ออื่น สมชายหนึ่ง สมชายสอง สมชายทั่วประเทศ ทีนี้ก็เลยชื่อนิวรณ์หมดเลย มันก็ไม่ใช่ เวลามันเกิดขึ้นมาเขาเรียกปัจจุบันธรรม มันเป็นปัญญา แล้วเราแก้ไขอย่างนี้ไป

ฉะนั้น ที่ว่า

ถาม : เอานิวรณ์ตัวที่มีกำลังอ่อนกว่าเข้ามาเพื่อจัดการถูกไหม?

ตอบ : อันนี้คำว่านิวรณ์ นี่โยมใช้ชื่อมันว่านิวรณ์ แต่เราให้ชื่อมันว่าไอ้ปัญญา เราไม่ให้มันชื่อไอ้นิวรณ์ เราเปลี่ยนชื่อมันชื่อไอ้ปัญญา แล้วปัญญามันก็ไปทำให้หูตาสว่าง เออ จบ ฉะนั้น เวลาคนที่ไปถามหลวงตามา เวลาตั้งปัญหาขึ้นมาท่านบอกว่าถามผิด คำว่าถามผิดคือเราตั้งโจทย์ผิดไง ถ้าเราตั้งโจทย์ผิดคำถามมันไปเลยนะ

นี่เวลาภาวนาตรงนี้มันมีปัญหา ปัญหาว่าเอ็งตั้งโจทย์ถูกไหม? ถ้าตั้งโจทย์ถูกคำตอบมันก็ชัดเจน ถ้าตั้งโจทย์มาผิด นี่คำตอบมันก็ผิด เพราะโจทย์มันเป็นอย่างนั้น พอโจทย์เป็นอย่างนั้นมันก็ผู้พิพากษาไง ตัดสินตามสำนวนไง ก็สำนวนเขียนขึ้นมาอย่างนี้ จะไปตัดสินนอกสำนวนอย่างไร? นี่ไงคำถามผิด หลวงตาบอกว่าสำนวนอย่างนี้ท่านพลิกทิ้งเลย ท่านบอกว่าถามผิด คือสำนวนเขียนมาผิด เหตุการณ์ไม่เป็นอย่างนั้น

นี่ก็เหมือนกัน ฉะนั้น เวลาคำถามที่โดยแผ่นกระดาษจะเป็นแบบนี้ แต่ถ้าเป็นเวลาพูดสดๆ นะใส่กันเลยล่ะ นิวรณ์เป็นอย่างไร? นิวรณ์อย่างไร? อะไรเป็นนิวรณ์มันก็ เออ ไม่ใช่ค่ะ ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่เพราะอะไร? ไม่ใช่เพราะมันโดนไม้หน้าสาม มันหลบไม่ทันกิเลส แต่ถ้าให้มันพูดเองมันเขียนสำนวนได้เต็มที่เลย

ถาม : ๒. การใช้นิวรณ์ฆ่านิวรณ์เป็นกิเลสหรือเป็นมรรค

ตอบ : นี่อันนี้โจทย์ผิดมาตั้งแต่แรก พอโจทย์ผิดมันก็เป็นอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ นี่เวลาปัญญาอย่างหยาบๆ มันเป็นอย่างนี้ จะว่าไม่เป็นปัญญาเลยมันเป็นปัญญาอย่างหยาบๆ เพราะมันทำให้เราได้ประโยชน์ได้ แต่ถ้าประโยชน์ได้แล้ว พอเวลาเราพัฒนาขึ้นไปปัญญาอย่างละเอียด มันจะปล่อยวางพวกนี้หมดเลย พอปัญญาอย่างละเอียดขึ้นมา อ๋อ เหมือนเด็ก เด็กมันทำอะไรนะพ่อแม่ไม่รู้หรอก มันทำอะไรมันนึกว่าพ่อแม่ไม่ทันมันหรอก พอมันโตขึ้นมานะ ท่านรู้หมดเลยเนาะแต่ท่านไม่ว่าเราเอง (หัวเราะ)

เด็กๆ มันทำอะไรนะมันนึกว่าพ่อแม่มันไม่รู้ ทำอะไรก็ได้ แต่ความจริงพ่อแม่นะ ลูกนะก็รักก็ปล่อยไป ปัญญาเราเกิดขึ้นมามันปัญญาอ่อนๆ ปัญญาในธรรมะเริ่มต้นขึ้นมันก็เป็นแบบนี้ ฉะนั้น พอเป็นอย่างนี้ปั๊บครูบาอาจารย์ก็ต้องประคองกันขึ้นมา เวลาใครมาบอกว่าภาวนาเป็นอย่างนั้นปั๊บ ถ้าครูบาอาจารย์บอก เออ มันนึกว่ามันเป็นพระอรหันต์นะ พอ เออใช่ พอใช่มันก็ว่ามันเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่ความจริงครูบาอาจารย์ท่านให้กำลังใจเพื่อจะให้ยืนขึ้นมาให้ได้ พอยืนขึ้นมาได้แล้วนะ เดี๋ยวก็ค่อยแก้ไขกันตรงนั้น แก้ไขกันมาเรื่อย

ฉะนั้น การแก้จิตนี้แก้ยากมาก เวลาหลวงปู่มั่นนะ บอกว่า

“หมู่คณะให้ภาวนามานะ นี่การแก้จิตมันแก้ยากนะ เดี๋ยวผู้เฒ่าตายไม่มีใครแก้”

ถ้าไม่มีใครแก้ก็นี่ไงแก้ให้มันถูกต้อง ถ้าแก้ให้มันถูกต้องได้นะเราก็แยกแยะ ถ้าแก้ให้ถูกต้องไม่ได้นะ ถ้าเราเป็นคนมีอำนาจวาสนา มีบารมีนะเราก็ต้องพิสูจน์ตรวจสอบของเราไป แล้วนี่ ๕ ปี ๑๐ ปีถึงจะรู้นะ บางทีประเด็นประเด็นเดียวภาวนาอยู่นั่นแหละ ขยันหมั่นเพียรอยู่นั่นแหละ ๕ ปีแล้วก็ไม่รู้ ๖ ปีแล้วก็ไม่รู้ งงอยู่อย่างนั้นแหละ เออ ภาวนาไปมันก็ไปไม่ได้ ไปก็ไปไม่ได้ ถอยก็ไม่ถอย แต่ก็ยังขยันอยู่ บางทีถ้าทำไปๆ นะ พอมันถึงเวลา เอ๊อะ โอ้โฮ นับเวลาสิ ๕ ปี แค่ความคิดอันเดียวใช้เวลาแก้คนเดียวอยู่ ๕ ปี แต่ถ้าไปเจอครูบาอาจารย์นะ ผลัวะ! ผลัวะ! เพราะครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาแล้ว

ประเด็นนี้เราได้ประโยชน์เรามา ทีนี้เราไม่กล้าพูด เพราะพูดเรื่องส่วนตัว เพราะประสบการณ์หาว่าโม้อีก เพราะเวลาเราอ่านประวัติครูบาอาจารย์มามาก พออ่านประวัติครูบาอาจารย์มามากจะรู้เลยว่าองค์ไหนติดตรงไหนกี่ปี องค์ไหนติดตรงไหนกี่ปี แล้วก็รู้ รู้แล้วเวลาเราศึกษานะศึกษาให้หมดเลย ประวัติของใครก็ศึกษาให้หมดเลย ศึกษาไปหมดเลยกลัวติด แล้วพอไปภาวนานะก็ติด ติดเพราะอะไร? ติดเพราะเวลามันเกิดกับเราจริงๆ มันไม่เป็นอย่างนั้นน่ะ

เรามีหมดเลยนะ มีเครื่องมือทุกอย่างเลย เทคโนโลยีกูมีพร้อมหมดเลย เวลามันเกิดกับเรามันไปเกิดอีกเรื่องหนึ่ง ไอ้เทคโนโลยีที่มีอยู่ ที่ไปศึกษาของครูบาอาจารย์มาว่าจะแก้ตัวเองนะ ใช้ไม่ได้สักอย่าง เป็นอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ เพราะเราเองเราอ่านประวัติครูบาอาจารย์มามาก บวชใหม่ๆ เลยพูดบ่อยมาก หลวงปู่หลุยกับหลวงปู่เทสก์ ในอัตโนประวัติ หลวงปู่เทสก์ท่านเขียนเองว่าท่านติดสมาธิ ๑๑ ปี ๑๑ ปี หลวงปู่หลุยท่านบอกท่านติดสมาธิ ๑๗ ปี ๑๗ ปีคือว่าอยู่กับที่ ๑๗ ปี

บวชพรรษาแรกไปอ่าน ๒ เล่มนี่แล้วกลัวมาก กลัวมาก พอกลัวมากปั๊บท่านติด ๑๑ ปี อีกองค์หนึ่งติด ๑๗ ปี ต้องพยายามไม่ให้ติด ต้องพยายามไม่ให้ติด หานะ หาเครื่องมือ องค์ไหนติดอย่างไรพยายามศึกษาๆ ศึกษาทุกองค์ สุดท้ายแล้วก็เกือบตาย เกือบตายเหมือนกัน แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์ไง มีครูบาอาจารย์หมายความว่าคนเรานี่นะ ถ้าเวลาปฏิบัติแล้วมันแบบกล้าเผชิญความจริง เราจะบอกว่าพระส่วนใหญ่แล้วไม่กล้าเผชิญความจริง เวลาไปหาครูบาอาจารย์ไม่กล้าเข้าไปหาท่าน ไม่กล้าไปหาท่าน แล้วไม่กล้าเข้าไปคุยกับท่านส่วนตัว เผชิญกันเลย เปิดอกคุยกันเลย ถ้าเปิดอกคุยกัน นี่ผิด-ถูกตรงนั้นได้เสียเลย ฉะนั้น เวลาเราเราเข้าหาหมดไง พอเข้าหาหมดแล้วผิดถูกมันถึงเป็นมาได้

ฉะนั้น

ถาม : การใช้นิวรณ์ฆ่านิวรณ์เป็นกิเลสหรือเป็นมรรค

ตอบ : ถ้าเป็นการใช้ปัญญานะมันเป็นมรรค เราจะบอกว่าคำว่านิวรณ์เราขอยกออก ถ้าเราบอกว่าใช้นิวรณ์ฆ่านิวรณ์ ถ้าเราพูดบอกว่าใช่นะ ทางฝ่ายภาคปริยัติเขาจะบอกว่าเราผิดอีกแล้ว เพราะนิวรณ์มันเป็นเครื่องกางกั้น แล้วมันไปฆ่ากิเลสได้อย่างใด?

ฉะนั้น ใช้นิวรณ์ฆ่านิวรณ์ ทีนี้ถ้าเป็นภาคปฏิบัติ ถ้าเป็นความเห็นของเรา ถ้าเป็นพูดกันส่วนตัวนะเราจะบอกว่าได้ คือสิ่งใดถ้ากระตุ้นให้เราหูตาสว่าง กระตุ้นให้เราเป็นประโยชน์นี่ได้ แล้วพอเราปฏิบัติไปแล้วนะ คนที่ปฏิบัติไปมันจะไปเปลี่ยนนิวรณ์ใหม่ มันจะเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ทีหลัง พอมันไปรู้จริงก็ เออ ไอ้นิวรณ์ตอนนั้นเราตั้งชื่อสมชาย แต่ตอนนี้เขาเป็นภาษาบาลีหมดแล้ว เดี๋ยวนี้เขาต้องตั้งเป็นภาษานะ พูดออกมาหลวงตาบอกว่าชื่อมันอยู่บนพรหม ตัวมันอยู่ในนรกไง

นี่ก็เหมือนกัน เดี๋ยวนี้เขาตั้งชื่อกัน โอ้โฮ เปลี่ยนชื่อกันเป็นว่าเล่น นี่ก็เหมือนกัน พอต่อไป พอชื่อนิวรณ์ๆ มันก็จะเปลี่ยน พอเปลี่ยนแล้วมันจะรู้ของเราขึ้นมา เราจะบอกว่าค่าของการปฏิบัติ ค่าของความรู้สึกในใจ ค่าของธรรมมันเป็นประสบการณ์ของใจที่ใจมันรับรู้ เพียงแต่เราสื่อออกมาไม่เป็นไง เราถึงเขียนออกมาอย่างนี้ไง เราตั้งชื่อให้มันไม่ได้ อย่างที่เราไปรู้อะไรก็รู้จริงๆ เลย จะพูดอย่างไรดี จะบอกอย่างไรดีจะให้เขารู้ได้พูดยากนะ นี่ความจริงเป็นแบบนี้ แต่ไอ้พูดแจ้วๆ โอ้โฮ มันเขียนมาบอกมันเป็นความเห็นของเขาอีกอันหนึ่ง

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญญานะ นี่ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาที่เป็นปัจจุบันมันจะปล่อยหมด มันจะว่างหมด มันจะมีความสุข ถ้าเป็นสัญญานะไม่ได้ มันยื้อกัน มันไม่มีประโยชน์หรอก ฉะนั้น ถ้ามันเกิดอาการที่ว่าหูตาสว่าง นั่นแหละมันเป็นปัญญา แต่เราไม่รู้ว่าเป็นปัญญา เรายังให้มันชื่อว่านิวรณ์อยู่ ให้ชื่อนิวรณ์อยู่ก็เขียนนิวรณ์มาถามเรานี่แหละ เราก็เลยบอกว่าถ้าเป็นนิวรณ์ฆ่านิวรณ์มันไม่ได้ มันเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญา ปัญญาก็เป็นมรรค ถ้าเป็นมรรค เป็นมรรคคือการปฏิบัติที่ถูกต้อง แล้วให้เราขยันหมั่นเพียรไป ปฏิบัติไปเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง