เทศน์พระ

เราคือผู้รู้

๑๗ ส.ค. ๒๕๕๕

 

เราคือผู้รู้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ฟังธรรมเพื่อให้จิตใจเราเบิกบานนะ ฟังธรรมให้จิตใจเราไม่เศร้าหมอง จิตใจเราไม่อับเฉา จิตใจเราไม่กดถ่วงตัวเราเอง ไม่มีใครรักเราเท่ากับเรา ไม่มีใครรักเรานะ คนอื่นไม่มีใครรักเรามากกว่าเรา แต่ความรักอันนี้เป็นความรักของโลก ถ้าความรักของธรรมล่ะ

ถ้าความรักของธรรมนะ เราจะต้องมีสติมีปัญญาของเรา สิ่งใดที่มีคุณค่า โลกเขาแสวงหากันเพื่อประโยชน์ของเขา เพื่อประโยชน์การดำรงชีวิตใช่ไหม แล้วถ้าเป็นเพื่อประโยชน์กิเลสล่ะ เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากในหัวใจ ไม่เข้าใจว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นประโยชน์ไง

สิ่งใดเป็นประโยชน์ต้องเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ตรัสรู้ธรรมแล้ว สิ่งนี้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ประโยชน์ที่ไม่มีโทษเจือปนไง ประโยชน์อันนี้ ประโยชน์ที่สะอาดบริสุทธิ์ ประโยชน์อันนี้เกิดจากอาสวักขยญาณในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ชำระล้างกิเลสในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สะอาดหมดจดแล้วถึงจะเห็นว่า อะไรเป็นประโยชน์จริงและอะไรเป็นประโยชน์ของกิเลส

ถ้าเป็นประโยชน์ของกิเลส เห็นไหม โลกเขาอยู่กันด้วยความคลุกคลี โลกเขาอยู่กันด้วยความช่วยเหลือเจือจานกัน แล้วพระเรานี่ เราบวชแล้วไม่ช่วยเหลือเจือจานกันเหรอ? ช่วยเหลือเจือจานกัน เห็นไหม ศากยบุตรพุทธชิโนรส เวลาเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศากยบุตร บุตรของชาวศากยะ บุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้วางธรรมและวินัยนี้ไว้

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ธรรมวินัยนี้เป็นศาสดาของเรา เราใช้ชีวิตอยู่นี้ อยู่ในใต้ธรรมวินัยนี้ เรามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้คุ้มครองดูแล “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้นั้น” ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราด้วยธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกครองดูแลเราอยู่ไง ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกครองดูแลเราอยู่ ดูแลที่ไหนล่ะ? ดูแลในใจของเรา

แต่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันสอด มันแทรก มันแซงออกมา มันแซงออกมา เห็นไหมว่าความเป็นอยู่ของเรา พฤติกรรมของเรา ความเห็นของเรา คำว่า “ของเราๆ” เราคือกิเลส กิเลสคือเรา สรรพสิ่งที่ว่าร่างกายเป็นของกิเลส กิเลสเอาใช้หมด กิเลสเอาความรู้สึกนึกคิด เอาร่างกายของเรา เอาสรรพสิ่งนี้เกิดมาภพเป็นชาติ นี่ใช้เพื่อประโยชน์ของมันทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่จิตใจเราเกิดมานะ เราเกิดมานี่เรามีอวิชชา มีความไม่รู้เกิดมา พอมีความไม่รู้เกิดมา เห็นไหม เกิดมาเป็นชาวพุทธ เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วออกบวชด้วย ออกบวชเป็นนักรบด้วย นักรบรบกับใคร

ชนะศึกนะ ข้าศึกคูณด้วยพันด้วยหมื่นด้วยแสน ได้ล้านครั้งเท่าไร การชนะนั้นก่อเวรก่อกรรม ไม่มีประโยชน์สิ่งใดเลย เพราะการสร้างเวรสร้างกรรม เห็นไหม “กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน” ใครทำกรรมสิ่งใดมา กรรมนั้นแหละจำแนกให้เรามาเกิดในปัจจุบันนี้ แล้วเราชนะใครก็แล้วแต่ มันสร้างเวรสร้างกรรมทั้งนั้นน่ะ

แล้วการที่ชนะโดยที่ไม่เป็นโทษ การชนะที่ไม่เป็นโทษต้องชนะใจเรา ชนะตัวของเรา ถ้าตัวของเรา แล้วสรรพสิ่งเป็นเรา กิเลสเป็นเรา มันเอาความรู้สึกนึกคิดเรานี่ใช้ออกไปเพื่อหาผลประโยชน์ของมันทั้งนั้นเลย แล้วประโยชน์ของธรรมล่ะ? ประโยชน์ของธรรมก็เรานี่ไง ประโยชน์ของธรรมที่เราตั้งสติอยู่นี่ไง ถ้าเราตั้งสติ เรายับยั้ง เรายับยั้งความรู้สึกนึกคิด ไม่ให้ความรู้สึกนึกคิดออกจากร่างกายนี้ไป ออกนอกจากตัวเราไป

เราบวชเป็นพระอยู่ในอาวาส อยู่ในที่ผู้ทรงศีล อยู่ในอาวาส แล้วจิตใจมันอยู่กับเราไหม มันคิดไปไหน จิตใจนี่มันออกนอกวัดไปแล้ว มันคิดไปนอกเรื่องนอกราว มันคิดไปเต็มที่ของมันเลย เห็นไหม เราเอาใจเราไว้ในอำนาจของเราไม่ได้ ถ้าเราตั้งสติไว้ เราจะเอาใจไว้ในอำนาจของเรา

ถ้าในอำนาจของเรา เราคือผู้รู้ ผู้รู้คือเรา

ถ้าเรามีผู้รู้กับเรา เห็นไหม เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านเสียไป หลวงตาท่านบอกว่า “แล้วใครจะสอนเรา ใครจะสอนเรา” เพราะใจดวงนี้มันไม่ยอมฟังใคร แต่มาทบทวนแล้ว หลวงปู่มั่นก็สอนว่า “ให้มีสติอยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับตัวเรานี่ จะไม่เสีย” นี่เราคือผู้รู้

ถ้าเราเป็นผู้รู้ ถ้าเราอยู่ในสังคม เราอยู่ในหมู่คณะ มันก็ต้องผ่อนสั้น ผ่อนหนักผ่อนเบาต่อกัน เพราะมันอยู่ด้วยกัน ในเมื่อร่างกายของเรา อวัยวะต่างๆ ต้องทำงานร่วมกัน เราอยู่ในสังคม เราอยู่ในหมู่คณะ เราก็ต้องผ่อนหนักผ่อนเบาเพื่อหมู่คณะ เห็นไหม จะทำด้วยความเข้มแข็ง จะทำด้วยความจริงจังของเรา มันก็จะไปกระเทือนคนอื่น เราก็ผ่อนหนักผ่อนเบาอยู่กับสังคม

แต่ถ้าเราอยู่คนเดียวล่ะ ถ้าเราอยู่คนเดียว นี่เราคือผู้รู้ ถ้าเราอยู่กับผู้รู้นะ เราสุขเราทุกข์ เราก็รู้น่ะ เราแบกหนัก เราหาบหามสิ่งใด เราต้องยกสิ่งใดเป็นภาระหนักหน่วง สิ่งต่างๆ เรารู้ทั้งนั้นน่ะ เห็นไหม เรารู้อย่างนี้ รู้อะไร? เรารู้ที่ความรู้สึกนึกคิด ถ้าความรู้สึกนึกคิด แล้วถ้ากิเลสมันแทรกมานะ มันก็บอกว่า “นี่งานหนัก รับผิดชอบ สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องทุกข์เรื่องยากไปหมดเลย” นี่เวลากิเลสมันแทรกเข้ามา

แต่ถ้าเป็นธรรมนะ เห็นไหม ไปแบบนอแรด เราออกวิเวก เราไปแบบนอแรด แรดมันมีนอเดียว ถ้ามีนอเดียวนะ สรรพสิ่งทุกอย่างเราต้องอาศัย อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราต้องอาศัยตน อาศัยความรู้สึกนึกคิดของเรา อาศัยปัญญาของเรา เกิดวิกฤตสิ่งใดต้องอาศัยปัญญาของเรายับยั้ง อย่าตื่น อย่าตกใจ อย่าใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดหรอกที่มันจะทำให้เรามีความทุกข์ยากมากไปกว่าใจของเรา

ถ้าใจเราไม่ตื่นนะ พายุรุนแรงขนาดไหน เรามีสติปัญญาของเราอยู่กับเรานะ เราแก้ไขวิกฤตนั้นได้หมดน่ะ นี่ลมพัดใบไม้ไหว เราตื่นตกใจ ช็อกตายเลย เห็นไหม ถ้าเราไม่ตื่น สิ่งใดจะเกิดขึ้น เราไม่ตื่นกับเขา เรามีสติปัญญายับยั้ง แล้วเราใช้สติปัญญายับยั้ง แล้วเราใช้ปัญญาแยกแยะ สิ่งใดควรไม่ควร ถ้าควรไม่ควร นี่เราคือผู้รู้ ถ้าเราคือผู้รู้นะ เราเข้าใจได้

คนเราสร้างเวรสร้างกรรมไม่เหมือนกัน สิ่งใดที่มันกระทบ เห็นไหม ในเหตุการณ์หนึ่ง มุมมองแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทีนี้มุมมองไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าเรื่องเล็กน้อย บางคนบอกว่าเรื่องหนักหนาสาหัสสากรรจ์ แล้วแต่มุมมองของเขา ถ้าจิตใจของเราล่ะ เราคือใคร? เราคือนักรบ เราคือศากยบุตร เรามาเพื่ออะไร? เรามาเพื่อพุทธะ เราคือพุทธะ เราคือผู้รู้

ถ้าเราคือพุทธะ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อะไรเบิกบาน ถ้าใจมันเบิกบานนะ แม้แต่ความอยู่จะขัดสนขนาดใด ความอยู่ทุกข์ร้อนขนาดใด แต่จิตใจชื่นบาน จิตใจชื่นบานเห็นไหม แค่อาศัย อาศัยเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น แล้วอาศัยเพื่อดำรงชีวิตแล้ว ดูสิ เวลาเราอยู่ในป่าในเขา อากาศมันปลอดโปร่งมาก อากาศเบามาก นี่ความสงบสงัด สิ่งนี้มีความสุขมาก นี่มีความสุข

แต่ถ้าจิตใจเราดี จะอยู่อัตคัดขัดสนขนาดไหน มันจะอยู่ทุกข์ยากลำบากขนาดไหน มันพอใจน่ะ มันพอใจ มีความสุขมาก แต่ถ้าจิตใจมันดีดดิ้น กิเลสมันแทรกเข้ามา เห็นไหม “เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราเป็นสัตว์ที่ไม่มีใครเขาสนใจ เราเป็นเศษคน” เห็นไหม คำว่า “เศษคน” แล้วคนดีเป็นอย่างไรล่ะ คนดีเขาต้องมีศักยภาพใช่ไหม เขาต้องมีคนล้อมหน้าล้อมหลังใช่ไหม เขาต้องมีทุกอย่างพร้อมเพรียงของเขาใช่ไหม...สิ่งนั้นหรือเป็นคน? นั่นน่ะสัตว์หมู่

สัตว์หมู่ เห็นไหม เรานอแรด เราเป็นนอแรด ไปอยู่พรหมจรรย์ ไปของเรา ถ้าไปของเรา เรามีสติปัญญา นี่ไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายกย่องสรรเสริญ เวลาเราออกวิเวก เราออกประพฤติปฏิบัติของเรา เราจะค้นหาตัวของเรา การค้นหาตัวของเรานะ เวลาไปหาหมอ หมอเขาจะรักษา เขาต้องวิเคราะห์โรคว่าเราเป็นโรคสิ่งใดเขาถึงจะให้ยาตามโรคนั้น เราจะวิเคราะห์ใจของเรา เราจะหากิเลสในหัวใจของเรา เราจะพาใจของเราให้พ้นจากกิเลส ให้พ้นจากความอึดอัดขัดข้องในใจที่มันทุกข์มันยากอยู่นี่

เวลาคนเขาเกิดมา เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วเขามั่งมีศรีสุข เขาว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมๆ สิ่งนั้นมีคุณสมบัติของเขา เราก็ได้ใช้ชีวิตอย่างนั้นมา เราก็เห็นมา เรื่องของโลก เห็นไหม ฆราวาสธรรม เราอยู่กับโลก อยู่กับฆราวาสมา เราเกิดมาเป็นมนุษย์นะ อยู่กับโลกนะ แล้วเราเสียสละสิ่งนั้นมา สิ่งที่โลกเขาบอกว่าสิ่งนั้นเป็นสมบัติของเขา สิ่งนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพของเขา นี่เราเสียสละมา

ถ้าเราเสียสละสิ่งนั้นมาแล้วเรามาบวชเป็นพระ ถือพรหมจรรย์ พอถือพรหมจรรย์แล้ว ทำไมเราจะใช้ชีวิตอย่างนั้นล่ะ ชีวิตอย่างนั้นมันชีวิตของฆราวาสเขา ชีวิตอย่างนั้นมีชีวิตของโลกเขา โลกเขาต้องเป็นอย่างนั้น

เวลาโลก โลกธรรม ๘ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ...มีลาภ มียศ มีสักการะ แล้วมันคืออะไรล่ะ? มันโลกธรรม ๘ ธรรมะเก่าแก่ โลกธรรม ๘ ทำให้จิตใจนี้ฟู จิตใจนี้แฟบ จิตใจนี้สั่นไหวนะ โลกธรรม ๘ น่ะทำให้จิตใจนี้ไม่มั่นคงนะ สิ่งนั้นมันเป็นธรรมะประจำโลก แล้วเราทิ้งสิ่งนั้นมาแล้ว เราทิ้งสิ่งนั้นแล้ว ทำไมจิตใจเรามันยังไพล่ไปติดสิ่งนั้นล่ะ

ถ้าจิตใจเราไพล่ไปติดสิ่งนั้น แสดงว่าจิตใจเราไม่เอาไหน เราเป็นคนไม่เอาไหน เราเป็นคนไม่มีปัญญา เราเป็นคนขาดสติ นี่ธรรมโอสถ ธรรมที่จะดูแลในหัวใจของเรามันไม่เกิดขึ้นมาเลย นี่มันเกิดขึ้นมาโดยสัญชาตญาณ เกิดขึ้นมาโดยการเกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา นี่ฆราวาสเขาก็ทำของเขาอย่างนั้น เรามาบวชเป็นพระแล้วเราก็ทำอย่างนั้น เราทำอย่างนั้นน่ะมันไม่สมสถานะที่การบวชมาเป็นพระ

ถ้าการบวชมาเป็นพระ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา คุ้มครองเรา แต่มันคุ้มครองใจของเราไม่ได้ ถ้ามันคุ้มครองหัวใจของเราไม่ได้ เพราะจิตใจเราอ่อนแอไง จิตใจเราไพล่ไปเอาหน้าที่การงานของโลกเขามาเป็นหน้าที่การงานของเรา แล้วหน้าที่การงานของพระ นี่เราคือพุทธะ เราคือผู้รู้ มันไม่สนใจ ถ้ามันเป็นพุทธะ มันเป็นผู้รู้ มันแสดงตัวของมันได้อย่างใดล่ะ

ถ้าผู้รู้แสดงตัวของมันขึ้นมา เห็นไหม เวลาเราอยู่วัด เราอยู่ในหมู่คณะเราก็ผ่อนสั้น ผ่อนหนักผ่อนเบาของเรา เพราะเราเลือกอยู่อย่างนี้ เราอยู่ของเราคนเดียวใช่ไหม เราก็ดูแลหัวใจของเรา หน้าที่การงาน ดูสิ บิณฑบาต วัตรของบิณฑบาต สายตาทอดลงต่ำ เราก็ดูเฉพาะในบาตรของเราเท่านั้นน่ะ นี่เรารักษาสติของเรา รักษาหัวใจของเราไม่ให้เอาสิ่งใดมากดถ่วงหัวใจ

เวลาเราฉันเสร็จแล้ว ฉันพอดำรงชีวิต เก็บบาตร ล้างบาตรแล้ว ถ้ามีหน้าที่การงานเราก็ทำของเรา ถ้ามันเสร็จจากข้อวัตรแล้วเราก็ภาวนาของเรา เราจะบำรุงหัวใจของเรา เราจะทำจิตใจของเราให้เข้มแข็งขึ้นมา

ถ้าจิตใจเข้มแข็งขึ้นมา เห็นไหม ธรรมและวินัยจะคุ้มครองเรา คุ้มครองเราเพราะเราปฏิบัติธรรมไง “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัตินั้น” จิตใจของเราถ้ามีสติปัญญาดูแลมัน จิตใจเรารักษาหัวใจของเรา นี่ไปแบบนอแรด นอแรดคือใจของเรานี่ เรามีธรรมวินัยนี้คุ้มครองดูแล เราจะมีสติปัญญาดูแลหัวใจของเรา ถ้าดูแลหัวใจของเรา นี่ธรรมะมันคุ้มครอง มันไม่เร่าร้อน มันไม่ได้ขังตัวไว้ในวัด จิตใจมันออกไปอยู่ข้างนอก จิตใจมันดิ้นรน จิตใจมันทำลายหัวใจของเราเอง ถ้าทำลายหัวใจของเราเอง เห็นไหม สมมุติสงฆ์ เราบวชเป็นพระไหม? เป็น เป็นพระโดยญัตติจตุตถกรรม นี่สมมุติสงฆ์ แล้วสมมุติสงฆ์จะทำให้มันเป็นสงฆ์ความจริงขึ้นมา

“เราคือผู้รู้” แต่เราคือผู้รู้ เราอยู่กับความคิด ผู้รู้เรายังไม่รู้จักตัวมันเลย ถ้าเราคือผู้รู้ เรากำหนดพุทโธของเรา เรารู้จักความรู้สึกของเรา เห็นไหม มีสติอยู่กับสติ เราอยู่กับผู้รู้ เราไม่ออกไปอยู่ที่ความรู้สึกนึกคิด เราไม่ออกไปอยู่ในการที่มันวิ่งไปสู่บ้าน วิ่งไปสู่เรือน วิ่งไปสู่เรื่องของฆราวาสเขา ไม่ให้จิตใจมันวิ่งออกไปเป็นเหยื่ออย่างนั้น จิตใจของเรานี่เราจะอยู่ในธรรมและวินัย อยู่ในการดูแลของสติ ดูแลของปัญญาที่รักษาไว้ ถ้ามันรักษาไว้ มันจะไม่เสีย

ถ้ามันไม่เสีย เราประพฤติปฏิบัติไป แล้วถ้าจิตใจมันสงบร่มเย็นขึ้นมา เห็นไหม เวลามันมีความร่มเย็นขึ้นมา ถ้าจิตใจสงบร่มเย็นขึ้นมา มันลงสู่สัมมาสมาธิ มันมีความเวิ้งว้าง มันมีความสุข ความสุขเพราะอะไร ความสุขเพราะมันสลัดสิ่งที่มันรกรุงรังในหัวใจ สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย สิ่งที่มันหาแต่ฟืนแต่ไฟมาเผาลนมัน มันสลัดทิ้ง เห็นไหม

ดูสิ เวลาคนโดนไฟลวก ไฟลวกกี่เปอร์เซ็นต์ ผิวหนังร่างกายออกไปกี่เปอร์เซ็นต์ เขาต้องมีการรักษาการติดเชื้อ เพราะเขาดูแลให้ร่างกายนั้นมันปรับไม่ให้ผิวหนังติดขึ้นมา มันจะได้หายจากโรคนั้น จิตใจของเรามันมีแต่ความเร่าร้อน มีแต่เรื่องของโลกๆ เข้ามาแผดเผา เห็นไหม เราก็ต้องมีสติปัญญาดูแลรักษาหัวใจของเรา ถ้ามีสติอยู่กับผู้รู้ รักษาใจแล้ว ใจมันจะไม่เร่าร้อนอย่างนั้น

ถ้าใจไม่เร่าร้อน นี่เราคือผู้รู้ ผู้รู้คือเรา ถ้าเราคือผู้รู้ เรามีผู้รู้ กับมันรู้สึกตัว รู้สึกตัว มีจิตสำนึก มีจิตสำนึกมันก็แยกแยะได้ อะไรถูกอะไรผิด แต่ถ้ามันไม่มีจิตสำนึก มันอยู่ในตัณหาความทะยานอยากนะ มันจมอยู่กับตัณหาความทะยานอยาก จมอยู่กับความรู้สึกนึกคิด จมอยู่กับความน้อยเนื้อต่ำใจ จมอยู่กับสิ่งที่มันกดถ่วงใจ

“ฉันเป็นพระนะ ฉันเป็นพระ” เป็นพระแต่ร่างกายไง แต่หัวใจมันไม่บวชด้วย เวลาบวช ดูสิ โกนหัว อุปัชฌาย์บวชมาเป็นพระ แล้วก่อนบวช จิตใจมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนั้นไหม บวชแล้ว จิตใจเราคิดอย่างไร บวชมาเป็นพระนี่ ความรู้สึกนึกคิดของพระกับความรู้สึกนึกคิดของโลกนี่มันแตกต่างกันอย่างไร

เวลาเราเป็นฆราวาส เราก็มีความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่ง เวลาเราบวชมาเป็นพระแล้ว ใจมันบวชมาด้วยไหม ใจมันมาเป็นเราไหม ผู้รู้มันเป็นเราไหม ผู้รู้เป็นเราใช่ไหม เราควบคุมเราได้ไหม? ควบคุมไม่ได้เลย

เวลาเราบวชมาเป็นพระนะ บวชมาโดยอุปัชฌาย์ยกเข้าหมู่มา แต่ถ้าเราดูแลใจของเรา เราจะมีสติปัญญาของเรา ถ้าธรรมวินัยคุ้มครองดูแลนะ ถ้าจิตใจมันเป็นธรรมขึ้นมา เราจะเห็นคุณค่ามาก จะเห็นคุณค่ามากจริงๆ เห็นคุณค่ามากว่า เรามีเงินมีทองมา เราก็เคยมีเงินมีทองกันมา เราก็ได้เที่ยวได้พักผ่อน ได้เสพสุขกับทางโลกมาขนาดไหนก็แล้วแต่ พอจิตใจเราสงบขึ้นมานี่มันแตกต่าง นี่สิ่งที่เงินทองซื้อมานะ สิ่งที่เงินทองแสวงหามา ข้าวของเงินทอง เพชรนิลจินดาจะแสวงหามาขนาดไหน มันก็มีความพอใจ มันก็มีความสุขอยู่ชั่วคราว แต่เวลาจิตมันสงบ นี่มันไม่เป็นอย่างนั้น จิตมันสงบ ทำไมมันมีความสุข ความรู้สึกมันรื่นเริงกว่า แล้วมันเห็นคุณค่ากว่า เห็นคุณค่ากว่าที่ไหน

ดูสิ เวลาเราเกิดมามีผ้าขาวม้ามาคนละผืนพันไว้บนหัว แล้วก็วิ่งหาผ้าขาวม้า “ผ้าอยู่ไหน ผ้าอยู่ไหน ผ้าอยู่ไหน” นี่หาไม่เจอ นี่ก็เหมือนกัน บวชมาก็มีกายกับใจนี่ ปฏิสนธิจิตเกิดในไข่ เกิดในครรภ์ มันเกิดเป็นเรานี่ แต่ไม่เห็นนะ รู้แต่ว่าชื่อนี้ สัญชาตินี้ พ่อชื่อนี้ แม่ชื่อนี้ แต่เราไม่รู้ เรารู้แต่ชื่อ เวลาทำนิติกรรมก็เซ็นชื่อกันๆ เซ็นชื่อว่าสิทธิของเราๆ แล้วเราอยู่ไหน เราอยู่ไหน ตายไปแล้วก็จบ พอตายไปแล้วสมบัติที่อยู่นี่ของใคร? สมบัติที่อยู่ก็เป็นมรดกของลูกหลานไป แล้วเราอยู่ไหน

แต่พอเรามีสติ เราอยู่กับผู้รู้ เราคือผู้รู้ พุทโธๆๆ พอจิตสงบเข้ามานะ “อืม! อืม!” ไม่ต้องใช้เงินใช้ทอง ไม่ต้องใช้สิ่งใด แต่ต้องใช้สติ ต้องใช้สมาธิ ถ้าใช้สติธรรม สมาธิ ปัญญาธรรมมันจะเกิด พอมันเกิดขึ้นมา จิตมันสงบระงับเข้ามา นี่มันมีคุณค่าไง คำว่า “มีคุณค่าๆ” สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือหัวใจของมนุษย์ หัวใจของเรา ความรู้สึกนึกคิด จิตนี้มีคุณค่ามาก ถ้าจิตมีคุณค่ามาก แต่เวลาจิตมีคุณค่ามาก มันเกิดมาเป็นมนุษย์ไง เกิดมาเป็นเรา

เพราะเราก็มีชาติมีตระกูล มีชาติมีตระกูล เราก็ปกป้องดูแล ดูสิ ทางโลก แต่ละตระกูลที่เขามีปัญหากัน เห็นไหม ๒ ตระกูลนั้นจะมีปัญหากันมาตลอด จะต้องมีสู้รบ มีข้าศึก มีการรบราฆ่าฟันกันมาตลอด นั่นมันเป็นเพราะอะไรล่ะ แต่ถ้าเรามีสติ นี่ให้อภัยต่อกัน สิ่งที่มันผ่านมามันก็เรื่องที่ว่ามันเรื่องประวัติศาสตร์ทั้งนั้นน่ะ เรื่องอดีตทั้งนั้นน่ะ แล้วในปัจจุบันนี้ล่ะ สิ่งนั้น เห็นไหม คนเรามันจะรู้จักตัวเราเอง มันก็ต้องรู้มาจากประวัติศาสตร์ เราจะเกิดมาเราก็มีพ่อมีแม่ เราก็มีปู่มีย่ามีตามียาย ก็มีทั้งนั้นน่ะ เราศึกษา ในเมื่อมีการขัดแย้ง มีการบาดหมาง เราก็ศึกษา ศึกษาแล้วเจ็บปวดไหม เจ็บปวดแล้วเราทำอย่างไร?

เจ็บปวดแล้วเราก็จะตามความเจ็บปวดนั้นให้มันเกิดการบาดหมางต่อไป หรือเราจะมีสติปัญญานะ สิ่งนั้นมันเป็นเวรเป็นกรรม สิ่งที่โลกเขาเข้าใจกันอย่างนั้น แล้วมันถึงจะมีการกระทบกระเทือนกันมา แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเราให้อภัยล่ะ ให้อภัยก็ว่าเป็นการไม่สู้คน เป็นการไม่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ลูกผู้ชาย ลูกผู้ชายต้องเดินไปตามกิเลสใช่ไหม ลูกผู้ชายต้องให้กิเลสมันขี่หัวใช่ไหม ลูกผู้ชายต้องให้กิเลสมันเหยียบย่ำทำลายใช่ไหม

แต่ลูกผู้ชายนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสียสละตั้งแต่ราชวัง ตั้งแต่บัลลังก์ออกมา นี่ลูกผู้ชาย ลูกผู้ชายเป็นผู้ให้ ลูกผู้ชายเป็นผู้เสียสละ ทุกอย่างที่จะมีจะเป็นน่ะให้คนอื่นเขาไป แล้วเราไปเอาอะไรล่ะ? เราไปเอาหัวใจไง เราต้องเอาโพธิญาณ เห็นไหม เราไปนั่งสมาธิ เราใช้ปัญญาของเรา

นั่งสมาธิ เราคือผู้รู้ นั่งสมาธิเพื่อหาผู้รู้ของเรา หารากฐานของเรา รากฐานของเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พ่อแม่ปู่ย่าตายยายเขาก็เห็นว่าเราเป็นลูกเป็นหลาน จะต้องสืบชาติสืบตระกูลกันต่อไป แต่ถ้าเรามีสติปัญญา เรารักษาใจของเรา เรารักษาหัวใจของเราเพื่อหาพุทธะ เพื่อหาอริยทรัพย์ เพื่อหาความเป็นจริง พ่อแม่จะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา บุญกุศลอันนี้ เวลาลูกบวชขึ้นมาพ่อแม่ได้ ๑๖ กัป แม้แต่บวชขึ้นมาเพื่อจรรโลงศาสนา เห็นไหม บุคลากรในศาสนาให้สืบเนื่องต่อกันมา ให้เป็นผู้ดูแลคุ้มครองศาสนาเพื่อให้คนที่มีอำนาจวาสนาบารมีเอาสิ่งนั้นเข้าไปสู่ใจของเขา ให้ใจเป็นธรรม ธรรมเป็นใจ

“ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าจิตใจของเขาเป็นธรรม เขาจะสื่อธรรมะออกมาเพื่อประโยชน์กับเทวดาฟ้าดิน เพื่อประโยชน์ตั้งแต่ ๓ โลกธาตุ เป็นประโยชน์หมด ประโยชน์เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้ทำให้จิตพ้นจากมาร จิตนี้พ้นจากการควบคุมของกิเลส แล้วตั้งแต่พรหมลงมาก็มีจิตเหมือนกัน มีความรู้สึกเหมือนกัน ตั้งแต่นรกอเวจีนี่เขาอยากได้อยากเป็น แต่ขณะสิ่งที่บีบคั้นเขาอยู่นั้นมันก็ทุกข์ยากแสนเข็ญแล้วล่ะ สิ่งที่บีบคั้นเขาด้วยเวรกรรมอันนั้นน่ะ ที่ทำๆ มาด้วยเวรด้วยกรรม มันบีบคั้นเขาอยู่ เขาแค่ทนตรงนั้นเขาก็ทนได้ยากอยู่แล้ว แล้วเขายังมาศึกษาธรรมๆ เขาไม่แบ่งความรู้สึกนึกคิดมาศึกษาธรรมไหว

ฉะนั้น เวลาถ้าเราแสวงหาผู้รู้ของเรา เราแสวงหาสัจธรรมของเรา ถ้าเป็นสัจธรรมของเราเกิดขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์ ในวัฏฏะ แม้แต่ในนรกอเวจีเข้าใจสิ่งนั้นไม่ได้ แต่ผู้ที่มีคุณธรรมก็สามารถแผ่เมตตา สามารถแผ่คุณธรรมนั้นให้เขาได้มีโอกาส มีที่พึ่งของเขา มีเป้าหมายของเขา เขาทำไม่ได้ แต่เขาก็มีเป้าหมายของเขาเป็นสิ่งที่ปรารถนา ให้เขาได้มีหลักใจของเขา

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา เราบวชมา สิ่งที่เราไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีคุณธรรม นั้นเป็นความคิดของกิเลสไง เราเกิดมากับกิเลสนะ กิเลสมันไม่ปล่อยเราหรอก ฉะนั้น เราคิดสิ่งใดก็คิดโดยกิเลส คิดโดยกิเลสมันก็แผดเผาเราไง

เราบวชเป็นพระแล้วนะ ในเมื่อเราบวชเป็นพระแล้วเราจะคิดโดยธรรม เราจะให้อภัย การให้อภัยมันให้ยาก มันให้ยากเพราะอะไร ดูสิ เราเสียสละทาน ของของเราเป็นสมบัติของเรา เราให้ทำไม เราให้เพราะว่าเราอยากจะฝึกฝนใจของเรา แล้วสิ่งที่เราเรียนศึกษาประวัติศาสตร์มามันก็เห็นของมัน แล้วเราต้องให้อภัยเขาอีก ให้อภัยเขา ถ้าให้อภัยเขาคือผู้ฉลาด ยอดคน ยอดคนเพราะเสียสละได้ยากไง เสียสละสิ่งที่มันเจ็บช้ำน้ำใจ เจ็บปวดในหัวใจ เสียสละได้ยาก เราก็เสียสละให้เขาไป แล้วรักษาบาดแผลในใจของเรา แล้วถ้ามันปล่อยสิ่งนั้นได้ มันโล่งโถง มันไม่มีสิ่งใดปิดกั้นหัวใจ แล้วเราก็มาขยันหมั่นเพียรของเรา กำหนดพุทโธๆ ของเรา

พุทโธคือพุทธานุสติ เห็นไหม เราคือผู้รู้ แต่เรายังไม่ได้สัมผัสผู้รู้ของเรา ถ้าเรายังไม่สัมผัสผู้รู้ของเรา เราก็ยังไม่มั่นใจของเรา ถ้าใครมีปัญญาที่รอบรู้สิ่งนั้นได้ เห็นโทษเห็นภัยแล้ว เขาจะไม่ไปจับต้องสิ่งนั้นอีก เขาจะหาแต่ความร่มเย็นเป็นสุขให้ในหัวใจของเขา จิตใจของเรามันยังไม่ได้สัมผัสผู้รู้ มันก็ยังไม่แน่ใจของมัน ทำสิ่งใดก็ลังเลสงสัย ทำสิ่งใดก็ละล้าละลัง ไม่ได้หน้าได้หลัง เราต้องปักใจของเราว่า เราเชื่อมั่นของเรา แม้แต่พอเราให้อภัย สิ่งที่เสียบปักในหัวใจ นี่ขวากหนามเสียบปักในหัวใจของเรา เราได้ถอดได้ถอนแล้วมันก็โล่งโถงเบาสบายขนาดนี้

แล้วถ้าเรากำหนดพุทโธๆ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ให้มันเป็นสัจธรรม ให้มันเป็นความจริง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ให้เห็นสมาธิธรรมก็เห็นรากเหง้า เห็นพื้นที่ เห็นสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงานไง งานที่เราทำกันนะ เวลาประพฤติปฏิบัติทางโลก เขาบอกว่า เราปฏิบัติในทางสติปัฏฐาน ๔ เราก็ใช้ความรู้สึกนึกคิดไปเลย มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องโลกๆ โลกคือสัญญาอารมณ์ไง คือความรู้สึกนึกคิดนี่ไง มันก็เป็นโลก โลกียะ

แต่ถ้าเป็นโลกุตตระ เราพุทโธๆ ของเรา เราพุทโธของเราให้จิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบมากน้อยขนาดไหนเราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาไป ปัญญามันจะละเอียดแล้ว แต่เดิมทำไมสิ่งนี้เราคิดไม่ได้ แต่เดิมทำไมอย่างนี้เราคิดไม่ออก ทำไมตอนนี้ความคิดมันทะลุทะลวงไปหมด คิดสิ่งใด ภาวนาสิ่งใด ใช้ปัญญา มันเปิดโล่งหมดเลย มันเห็นโทษเห็นภัย เห็นคุณ สิ่งนี้ไม่ถูก สิ่งนั้นใช้ได้ สิ่งนั้นถูกต้อง สิ่งนี้ไม่ดี

เพราะมันมีสมาธิ เพราะมันมีกำลัง แต่ถ้าขาดกำลังนะ คิดไม่ออก นึกไม่ได้ มันมีแต่ความเจ็บปวดแสบร้อน คิดถึงธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เราไม่มีอำนาจวาสนา คิดถึงความว่าง ความว่างหรือก็เคยผ่านมาแล้ว เราทำมาแล้ว เราไม่สามารถจะเดินต่อไปได้ เราไม่สามารถทำให้มันเข้มแข็งขึ้นมาได้...นี่เวลากิเลสมันคิด

มันคิดแต่ตัดทอนตัวเอง คิดแต่ทำลายตัวเองทั้งนั้นเลย ทั้งๆ ที่สิ่งที่การประพฤติปฏิบัติ ทุกคนก็ผ่านมาแบบนี้ ทุกคนก็ผ่านมาเพราะเขามีสติปัญญาของเขา เขามีกำลังของเขา เขาตั้งเป้าหมายของเขาแล้วเขาพยายามฝืน เขามีการกระทำของเขา เราก็มีเป้าหมายของเรา แต่เราอ่อนแอ พอเจออุปสรรคสิ่งใดก็ไม่ไหวแล้ว เจอสิ่งใดก็ไม่ได้แล้ว นี่อยู่ที่การฝึกฝน

เห็นไหม ถ้าฝึกฝนมาดี เรามีอำนาจวาสนามาดีนะ มันดันนะ มันมีสัจจะ ตั้งสัจจะสิ่งใดแล้วจะพยายามทำสิ่งนั้น ถ้าทำสิ่งนั้นนะ ไม่ได้ให้มันรู้ไป คนอื่นเขาก็ทำได้ คนอื่นเขาก็เคยทำมาแล้ว เห็นไหม อดนอนผ่อนอาหาร ทุกคนก็ทำกันมาแล้ว ทำไมเราทำแล้วทำไมจะเป็นจะตายล่ะ ทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ ทำไมเขาทำได้ล่ะ

นี่ทำไม่ได้เพราะจิตใจมันอ่อนแอ ทำไม่ได้เพราะตัณหาความทะยานอยากมันมีกำลังมากกว่า แต่พอสติปัญญามันมากขึ้น สติปัญญามันมีความองอาจกล้าหาญมากขึ้น พอมันทำได้ “เออ! เราก็ทำได้” เห็นไหม มันมั่นใจของมัน มันมั่นใจของมัน มันมีความจริงในหัวใจได้สัมผัส พอได้สัมผัส นี่เราคือผู้รู้ ถ้าเราคือผู้รู้ ผู้รู้มันเด่นชัดขึ้นมา ผู้รู้สว่างไสว ผู้รู้ ผ่องใส ถ้าผู้รู้ผ่องใส ฝึกหัดใช้ปัญญา นี่มันจะรู้มากรู้น้อยขนาดไหน ฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญา

ถ้าใช้ปัญญาแล้วมันจะกลับมากำหนดพุทโธ กลับมาปัญญาอบรมสมาธิได้มากขึ้น การที่เราใช้ปัญญาไปแล้ว มันจะเห็นโทษเห็นภัย อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณ นี่ถ้าเราไม่เห็นโทษ เราจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นคุณ ถ้าพอสติปัญญามันสงบเข้ามา นี่เราคือผู้รู้ เวลาจิตมันสงบเข้ามา อ๋อ! มันสงบเพราะเรามีสติ มันสงบเพราะเรามีสติต่อเนื่อง เรากำหนดพุทโธต่อเนื่อง

พอพุทโธต่อเนื่องขึ้นมา จิตมันไม่แฉลบออกไปตามกิเลส ไปตามตัณหาความทะยานอยาก มันสะสมตัวมันขึ้นมา พอมันเริ่มสงบระงับขึ้นมา “เออ!” เห็นไหม เราทำของเราได้ แล้วนี่ทำได้มันก็อยู่กับความสุข ถ้ามันพุทโธๆ จนมันพุทโธไม่ได้ เราก็อยู่กับพุทโธ พอมันออกความรู้สึก เราก็นึกพุทโธใหม่ หรือถ้ามันจะคิดสิ่งใด เราก็คิดพิจารณาของมันไป ถ้าพิจารณาแล้ว พอพิจารณาแล้วมันปล่อยมันวาง

เราเกี่ยวหญ้า เราถากหญ้า หญ้ามันโดนจอบโดนเสียม มันก็ถากไปหมด มันก็โล่งเตียนไปหมด เห็นไหม ถ้าพอจิตเราสงบแล้ว เราใช้ปัญญาของเรา ปัญญามันก็เหมือนจอบเหมือนเสียม มันจะถากสิ่งที่มันรกรุงรังในหัวใจ สิ่งที่เป็นวิตกกังวล สิ่งที่มันไม่เชื่อถือต่างๆ มันถาก มันใช้ปัญญาเทียบเคียงออกไป พอเทียบเคียงออกไป เราจะเห็นพื้นที่เราราบเรียบโล่งเตียนไปหมดเลย นี่ไง เราใช้ปัญญาน่ะ ฝึกหัด

ไม่ใช่ว่า “ใช้ปัญญาต้องสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย พิจารณาต่างๆ”

เดี๋ยว เดี๋ยวได้พิจารณา เราฝึกหัดของเราให้จิตใจเราเข้มแข็ง คนจะทำสิ่งใดเขาต้องมีเครื่องไม้เครื่องมือของเขา จิตใจของเราที่จะออกพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ให้มันต้องมีสติ มันต้องมีปัญญา มันต้องมีความเพียร มันต้องมีงานชอบ เพียรชอบ สติชอบ ระลึกชอบ เราก็ฝึกหัดของเรา ฝึกหัดของเราขึ้นมา เห็นไหม มันก็จะมีเครื่องไม้เครื่องมือขึ้นมา เครื่องไม้เครื่องมือขึ้นมาก็มีสติมีปัญญา มรรค ๘ ไง มันมีสติมีปัญญาขึ้นมา มันสิ่งต่างๆ มันก็ใช้ประโยชน์ขึ้นมา พอมันพิจารณาไปแล้วมันไม่สะดวก มันไม่สบาย ก็กลับมาพุทโธต่อ

พอพุทโธ เราทำอย่างนี้บ่อยๆ ทำอย่างนี้บ่อยๆ เข้า มันจะถาก มันจะถาง มันจะเปิดโล่งให้หัวใจนี้ก้าวเดินออกไปได้ ทุกคนอยากภาวนาทั้งนั้นน่ะ แต่ภาวนาก็ไปเจออุปสรรค พอเจออุปสรรคเพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่สติปัฏฐาน ๔ มันไม่ใช่วิปัสสนา เพราะมันใช้เป็นธรรมะ...มันลังเลสงสงสัย แล้วมันก็เอาสิ่งลังเลสงสัยมากดถ่วงหัวใจ

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราใช้ปัญญาแยกแยะ “อันนี้ผิด อันนี้ถูก” นี่เราถากเราถางเพื่อพื้นที่ของเรา สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน เรามีสถานที่ มีที่ทำงาน มีที่ฝึกฝน เราจะรู้เราจะเห็นของเราขึ้นมา พอรู้เห็นขึ้นมาพิจารณาไปเรื่อยๆ เราใช้ปัญญาของเราไป แล้วกลับมาทำความสงบของใจ นี่ให้ขยันหมั่นเพียรขึ้นไป เดี๋ยวสติปัฏฐาน ๔ มันจะมาเผชิญหน้า ถ้าจิตมันสงบแล้วมันจะรู้ว่ากายเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไร กาย เวทนา จิต ธรรม มันเป็นแบบใด

ถ้าเราบุกเบิกอยู่ เราถากถางของเราอยู่ มันจะไม่มีงานเหรอ

แต่นี่มันไม่ทำ มันทำไม่ไหว พอมันทำไม่ไหว “ปัญญามันก็ไม่เกิด” มันจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ปัญญามันจะลอยจากฟ้าเหรอ ปัญญาเป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วสองพันกว่าปี แล้วจะไปเอาปัญญามาจากไหน? ปัญญาก็จากหัวใจเรานี่ไง ถ้าหัวใจเราสงบระงับขึ้นมา ถ้ามันออกใช้ปัญญา ปัญญาก็เกิดจากที่นี่ไง ปัญญาจะไปซื้อที่ไหน ปัญญาจะสั่งใครมา ใครจะเอาปัญญามาส่ง มันไม่มีน่ะ มันฝึกหัดมาจากเราทั้งนั้นน่ะ

แต่ปัญญามันต้องเป็นโลกุตตรปัญญา ปัญญาที่เหนือโลก ถ้าปัญญามันเหนือโลก โลกมันอยู่กับใคร เราเกิดมาจากโลก มันจะเหนือโลกมาจากไหนล่ะ ปัญญามันจะเหนือโลกมาจากไหน เราก็เกิดของเรามา เพราะเราเกิดมาเราก็เป็นโลก พอเราเกิดเป็นโลกขึ้นมา เราก็ทำจากโลกนี่ขึ้นไป ถ้าทำจากโลกขึ้นไป ก็เป็นเราน่ะ เพราะสมบัติของเราไง

จิตนี้มาเกิดเป็นเรา แล้วสมบัติคนอื่นเอาไหม สมบัติคนอื่นทางโลกเขาแย่งชิงกันนะ แต่สมบัติทางธรรม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น เป็นผู้ชี้ทางคือเทคโนโลยี แล้วถ้าเราจะทำจริงของเราขึ้นมาล่ะ เราทำจริงขึ้นมาเราต้องทำให้ได้ขึ้นมา ถ้าทำให้ได้ขึ้นมา เราวิจัย เราวิเคราะห์กับมัน เราวิเคราะห์วิจัยของเราขึ้นมา เราสร้างของเราขึ้นมา ถ้าสร้างของเราก็เป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเราก็เป็นปัญญาของเรา ถ้าเป็นปัญญาของเราก็กิเลสของเรา ถ้ากิเลสของเรา ปัญญาของเรา ก็ไปทำลายกิเลสของเรา นี่มันจะไปเอาปัญญาของคนอื่นมาทำลายกิเลสเราเหรอ...มันก็เป็นสัญญาไง

ถ้าสัญญามันก็เป็นโลก คือจำมา คือก๊อบปี้มา ลิขสิทธิ์ของเขา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่เรียกร้องค่าลิขสิทธิ์ใดเลย แต่เราฝึกฝนของเราขึ้นมา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีกำมือในเรานะ แบตลอด ธรรมะนี่แบไว้ตลอดเลย ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างสมบุญญาธิการมา แล้วมารื้อค้นขึ้นมาในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปกป้องดูแลคุ้มครองเรา แผ่ไพศาลมาสองพันกว่าปีแล้ว แล้วเราเกิดใต้ร่มธงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราเป็นชาวพุทธนะ เราเกิดใต้ร่มธงขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ประพฤติปฏิบัติให้พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เราจะชูธงของเรานะ ถ้าเราชูธงของเราขึ้นมา เราก็จะมีปัญญาของเราไง เวลากิเลสเป็นเรา มันทำให้ย่ำยีเรา ทำให้เราทุกข์ยากอยู่นี่ไง แต่เวลาปัญญาเราเกิด เราชูธงของเราขึ้นมา ปัญญาของเราเกิดขึ้นมา เราจะกำราบปราบปรามมัน เราจะกำราบปราบปรามกิเลสของเรา

กิเลสมันอยู่ที่ไหน กิเลสหน้าไหนๆ เวลาเราทุกข์เรายาก นี่ใครทำเรา เจ็บปวดแสบร้อน ทุกข์ยากอยู่นี่ใครทำ แล้วเวลาธรรมะ เห็นไหม ธงธรรมมันเกิดขึ้นมาในหัวใจของเรา ที่เราจะต่อสู้กับมัน ที่เราจะรักษาดูแลหัวใจของเรา แล้วกิเลสมันหลบไปไหน กิเลสมันหลบไปเพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรมไง เห็นกายก็หมอเห็น หมอเห็นมันก็เอาตังค์ไง เวลาเห็นกายเราก็จับนี่ไง เนื้อไง เนื้อ เนื้อ แต่จิตมันเห็นไหม? จิตมันไม่เห็น

ถ้าจิตมันเห็นนะ มันสะเทือนเลื่อนลั่นกลางหัวอกนะ เวลาจิตมันเห็น อื้อหืม! อื้อหืม! นี่ไง เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เวลาจิตมันรู้มันเห็นแล้วมันสะเทือนนะ อยากให้เขารู้ อยากให้เขาเห็น อยากให้เขาเป็น อยากให้เขารู้อย่างนี้

แต่นี่มันรู้แบบหมอ รู้แบบหมอก็แสงเลเซอร์ยิงไง ยิงเสร็จก็ผ่าตัดไง ผ่าตัดก็ตังค์มา รู้แบบหมอไง แต่รู้แบบธรรมนี่ไม่มีใครได้ใครเสียตังค์นะ แต่มันจะเกิดปัญญา เกิดความมั่นใจ เกิดความองอาจ จะเดินลุยไฟก็ได้นะ จิตที่มันภาวนาแล้วมันจะลุยไฟก็ได้ มันจะทำอะไรก็ได้ นี่มันทำได้หมด เวลาจิตเราลงสมาธิเป็นอัปปนาสมาธิ สิ่งใดที่จะมาทำลายจิตนี้ไม่ได้ ทำลายร่างกายนี้ก็ไม่ได้ ถ้าจิตมันลงนี่นะ มันได้ขนาดนั้น แล้วถ้าจิตของเรามีหลักมีเกณฑ์ขนาดนี้ เรารู้เราเห็นของเรา มันชำระล้างได้ไง เห็นไหม เราคือผู้รู้ ถ้าเราคือผู้รู้ เรามีสติปัญญาของเรา เราทำของเราได้ เห็นไหม มันมีค่า มันมีทรัพย์ อริยทรัพย์ของเรา

ดูสิ เราบวชมาเป็นพระกัน ทุกข์ๆ ยากๆ อยู่นี่ ลุ่มๆ ดอนๆ กันอยู่อย่างนี้ แล้วถ้าหัวใจมันเป็นธรรมขึ้นมามันเป็นอย่างไร ที่เราแสวงหากัน แสวงหากันที่นี่ ไอ้อย่างเรานี่ ดูสิ โลกนี้ ร่างกายทุกอย่างนี้มันก็เหมือนโลกทั้งนั้นน่ะ มนุษย์ก็คือมนุษย์ เครื่องนุ่งห่มก็เครื่องนุ่งห่ม แล้วอยู่ที่ประเภทที่เขาใช้กัน แต่ถ้าจิตใจมันเป็นล่ะ จิตใจมันเป็น มันไม่เป็นอย่างนั้น

เวลาลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาตรัสรู้ธรรมขึ้นไปแล้ว เวลาตายไป มารค้นคว้า มารหานะ เพราะมาร ที่อยู่ของมารก็อยู่บนภวาสวะ อยู่บนภพ อยู่บนหัวใจของสัตว์โลก แล้วสิ่งที่มันอาศัยนี่มันหาไม่เจอ มันไม่ยอม มันค้นจนฝุ่นตลบไปในวัฏฏะนะ จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “มารเอย เธอค้นหาดวงใจของลูกศิษย์เราที่พ้นจากกิเลสแล้วไม่เห็นหรอก เธออย่าค้นไปเลย” มันค้น มันหา มันจะครอบครอง มันจะครอบงำ

นี่เหมือนกัน แต่หัวใจของเรานี่ยอมจำนนกับมัน ไม่ต้องให้มันหาหรอก มันขี่อยู่ มันครอบครองอยู่ ถ้ามันครอบครองอยู่ นี่ไง “ลุกก็โอย นั่งก็โอย ทำนู่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ ทำสิ่งใดก็ลำบาก ทำอะไร...” มันครอบครอง มันไม่ให้ขยับเลย

แต่ถ้าจิตใจมันรื่นเริงอาจหาญนะ มันทำลายแล้วนะ มารจะเข้ามายุ่งกับจิตใจของเราไม่ได้ เราคือผู้รู้นะ เรารักษาผู้รู้ของเรา เวลาเราอาบเหงื่อต่างน้ำ เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนา เห็นไหม อาบเหงื่อต่างน้ำเพื่อเอาความสงบระงับของใจ เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา เวลาเขาบริหารจัดการทางโลก อย่างที่ปรึกษาต่างๆ เขาต้องจ่ายตังค์นะ เพื่อปรึกษาเรื่องต่างๆ เพื่อประโยชน์กับเขา แต่เวลาปัญญาของเราเกิดไม่เสียตังค์ แล้วไม่มีใครรู้ว่าปัญญาของเรามันเป็นมหาปัญญา หรือเป็นปัญญาอัตโนมัติเป็นปัญญาหยาบๆ

ปัญญา มหาปัญญา ปัญญาอัตโนมัติ เห็นไหม ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาที่มันละเอียดลึกซึ้ง มันชำระ มันแทรก มันซาบซึมเข้าไปในภวาสวะ ในภพ มันไปทำลาย เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส่ จิตเดิมแท้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้ เห็นไหม ปัญญามันแทรกเข้าไปในจิตเดิมแท้ ที่ว่าผ่องใสๆ มันชำระล้างของมัน จิตเดิมแท้ที่ผ่องใสนี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส จิตที่ผ่องใสมันโดนทำลาย มันโดนชำแรก ทำลายจนผู้ผ่องใสนี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส ผู้ผ่องใสคืออวิชชา

เราดูแลใจของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา ให้ใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ศากยบุตรพุทธชิโนรส เราจะเป็นศาสนทายาท เราจะเป็นธรรมทายาท เราต้องประพฤติปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นความจริงของเราขึ้นมา แล้วเราจะมีที่พึ่งอาศัยในหัวใจของเรา เอวัง