ค้านไว้ในใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เอาอันนี้ก่อนเลยแหละ ข้อ ๑๐๘๑. ข้อ ๑๐๘๒. ไม่มี ข้อ ๑๐๘๓. ไง
ถาม : ๑๐๘๓. เรื่อง ซื้อสุราเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานจะบาปหรือไม่?
จะจัดงานมงคลสมรส แล้วทุกคนบอกว่าต้องซื้อสุราเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานด้วย ซึ่งเราไม่อยากมี แต่ขัดคนส่วนใหญ่ไม่ได้ รู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกเหมือนสนับสนุนให้คนทำผิดศีล ๕ จะถือว่าเป็นบาปมากหรือเปล่าคะ
ตอบ : รู้สึกว่าสนับสนุน เห็นไหม สนับสนุน แล้วคำว่าเป็นบาป นี่การถือศีล ศีล ถ้าการถือศีลนะ เรื่องการดื่มสุราผิดศีล ๕ แน่นอน นี้การผิดศีล ๕ แน่นอน การถือศีล ศีลคือศิลาความมั่นคง แต่ถ้าเราความอ่อนแอล่ะ? ถือศีลของเรา เห็นไหม คนที่เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ หรือคนที่เห็นคุณค่าไง เพราะศีลมีคุณค่ามาก ศีลมีคุณค่าหมายความว่าศีลรักษาสุขภาพของเรา
นี่สุขภาพของเราจะเข้มแข็ง จะอ่อนแอหรือจะปกติก็เพราะการดำรงชีวิตใช่ไหม? ถ้าเรามีศีล เห็นไหม หนึ่งมีศีลนะ ร่างกายของเราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็เรื่องของเวรกรรมแล้ว ทีนี้ถ้าคนเรา เราใช้ชีวิตของเราสุรุ่ยสุร่ายของเราไปตามประสาแต่ความพอใจของเรา นี่หนึ่งมันก็มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอไปแล้ว สองเราต้องเสียเงินเสียทองไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิต สามเราทำสิ่งใดไป ผิดศีลมันก็เป็นคนผิดปกติ คนทำสิ่งใดก็ได้เพราะมันผิดปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าคนเป็นปกติ คือคนเป็นปกติคือคนมีสติ คนมีสติคือคนไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่ถ้าคนขาดสติ คนที่ผิดปกติมันก็จะเบียดเบียนคนอื่น
นี่ผลของศีลไง สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา เห็นไหม มันมีโภคะสมบัติที่มันเกิดขึ้นมาเพราะเราไม่ต้องใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิต ฉะนั้น คำว่าผิดศีล ผิดศีลก็คือผิดแน่นอน ฉะนั้น พอเราถือศีลขึ้นมาแล้ว เราถือศีลนี่เราอยู่ในสังคม พออยู่ในสังคม เราอยู่ในสังคมกับเขาอย่างไร? สังคมนี่นะมันมีความคิดแตกต่างหลากหลาย ความคิดแตกต่างหลากหลายอย่างเช่นในตระกูลของเราจะมีงานมงคลสมรส เขาก็บอกว่าต้องซื้อสุรา ต้องมีสุรางานนั้นมันถึงจะเชิดหน้าชูตา ถ้าไม่มีการเชิดหน้าชูตา
เวลาจัดงานมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นค่าสังคม ค่าสังคมมันค่าสังคมนะ ถ้างานไหนเราจัดของเราใช่ไหม? เราบอกว่าเราไม่มีสุรา ไม่มีสุราเขาบอกว่าเจ้าภาพเห็นแก่ตัว เพราะเจ้าภาพจะประหยัดเงิน เจ้าภาพเวลาไปงานอื่นๆ ไปดื่มสุราจากงานอื่น พองานของตัวไม่มีสุราให้คนอื่นดื่ม มันค่าของสังคมไง สังคมมีค่าอย่างนั้นเราก็ทนไม่ไหว พอเราทนไม่ไหวเราก็ต้องทำตามนั้นไป แต่ แต่ในสังคมนะเวลาเขากินเจ ๑๐ วัน ใครไปจัดงานตอนนั้นประหยัดสตางค์มากเลย เพราะมีโต๊ะเจ (หัวเราะ)
เวลาโต๊ะเจไม่มีอะไรเลยทำไมทำได้ล่ะ? อ้าว ก็บอกว่าตอนนี้เขากินเจไง พอกินเจก็เป็นโต๊ะเจ โต๊ะเจก็ห้ามมี อ้าว ทำไมทำได้ล่ะ? นี่ค่าของสังคม เห็นไหม เราอยู่กับสังคมนะ ถ้าอยู่กับสังคม เราอยู่กับสังคม แล้วการถือศีลเราจะมีปัญญาแค่ไหน? ถ้าการถือศีลของเรามีปัญญานะ ศีลของเรา ศีลของเราคือความปกติของเรา ของสังคมเราจะบอกให้สังคม กรณีอย่างนี้เราจะมองภาพ ทุกคนจะบอกเลยว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี คนนั้นเป็นคนอย่างไร ทำไมคนยกย่องสรรเสริญเขา ทำไมเราเป็นคนดีคนไม่ยกย่องสรรเสริญเรา
เวลาเราไปเจอเขาล่ะ เขามีอิทธิพล เขามีตำแหน่งหน้าที่การงาน เขามีบุญคุณต่อเรา เราต้องยกมือไหว้เขาไหม? นี่การยกมือไหว้ ยกมือไหว้คนฉ้อโกงหรือ? แต่ถ้ามุมมองล่ะ? ถ้าบอกว่าสังคมความรู้สึกนึกคิดของคนเราจะไปวัดค่าเขาไม่ได้ ถ้าวัดค่าเขาไม่ได้นะ ฉะนั้น การถือศีลของเรา ถ้าถือศีล ถ้าศีลของเรา เป็นความปกติของเรา เราจะไปงานนะ เราจะไปงานมงคลสมรสก็แล้วแต่ เขาจะมีสุราขนาดไหน ถ้าเราไม่ดื่มมันก็ไม่ผิดศีลเรา เราไม่ดื่มสิ่งนั้น เราไม่ทำผิดสิ่งนั้น เราไม่ทำสิ่งใดเลย
เพราะเราไปในงาน บางคนไปในงาน ถ้าคนที่เขามีปัญญานะ เขามีน้ำแก้วหนึ่ง แม้แต่คนที่เป็นลูกศิษย์กรรมฐานเขากินมื้อเดียว เขากินอาหารหนเดียว เวลาไปงานเขาก็ไปของเขา ไปเป็นมรรยาท แล้วเป็นมรรยาท พอเขายื่นสิ่งใดมา อืม ไปหาหมอมา หมอเขาบอกว่าห้ามกินไอ้นั่น แต่เขาไม่ได้บอกว่าเขาถือศีล ถ้าบอกว่าคนนี้ถือศีลนี่เสร็จนะครับ พอบอกถือศีล โอ้โฮ ถือศีลหรือ? จะไปนิพพานหรือ? โดนแซวตายเลย แต่ถ้าบอกว่าหมอเขาห้ามกินไอ้นี่ นี่ถือศีลไง ถือศีลมันต้องมีปัญญานะ ไม่ใช่ว่าฉันถือศีลนะ ฉันถือศีล ๘ ห้ามกินมื้อเย็น แล้วงานเลี้ยง แล้วเอ็งมาทำไม? เอ็งมาทำไม?
เอ็งมางานเขาเอง แต่ถ้ามันมีความจำเป็น เป็นญาติสนิท เป็นญาติของเราใช่ไหมเราก็ไปงานเขา เราไปงานเขาเราไปเอาน้ำใจเขา เรามีน้ำใจมาในงานเขา แต่เราก็เป็นปกติของเรา สิ่งใดที่พอดื่มนะ ดื่มน้ำเปล่าก็ได้ ดื่มน้ำสิ่งใดก็ได้น้ำที่มันไม่ผิดศีล อาหาร อาหารเราไม่กินก็ได้ นี่เรานั่งเป็นพวก เรานั่งคุยกับเขา คนไม่กินนี่มีสติ ไอ้คนเมานะเมาแป๋เลย พอเมาแป๋มันจะโม้เลย ไอ้คนล้วงมีสตินะ แล้วคุยกับเขาสนุกด้วย นี่เราล้วงความลับเขาก็ได้ นี่คนมีสติ แต่นี้ไม่อย่างนั้นสิ โอ๋ย เห็นเขาดื่มก็อยากดื่ม เห็นเขากินก็อยากกิน โอ้โฮ
เป็นนะ เราก็เคยเป็น ครูบาอาจารย์ก็เคยเป็น พอเราเคยเป็นเรามั่นใจว่าครูบาอาจารย์ก็เคยเป็น เวลาถือธุดงค์ เวลาถือธุดงค์นะ อยู่วัดทั่วไปเราถือธุดงค์ โอ้โฮ ถือธุดงค์มานะมันไม่มีอะไรเลยล่ะ ไอ้คนไม่ถือธุดงค์นะ อู้ฮู เต็มบาตรเลย แล้วภัตตามมาเขามีแต่ของดีๆ ทั้งนั้นเลย มานั่งมองเขาแล้วมันก็น้อยใจนะ เอ๊ะ ทำความดีแล้วไม่ได้ดี ถือธุดงค์ไง ถือธุดงค์ใช่ไหมเราขัดเกลากิเลสของเรา พอขัดเกลากิเลสไปแล้ว ไอ้คนที่มันมักมากทำไมของเต็มบาตรเลย ได้กินแต่ของดีๆ ไอ้ธุดงค์นี่อู้ฮู มีแต่ข้าวเปล่า น้อยใจไหม? น้อยใจ
คำว่าน้อยใจเพราะเราคิดของเราไปเองไงว่ามันจะได้ผลอย่างนั้น ไม่ได้ผลอย่างนั้น แต่ไม่ใช่ แต่สุดท้ายนะการถือธุดงค์ เห็นไหม นี่เพราะเขาไม่รู้ เขาไม่รู้ว่าองค์ไหนธุดงค์ องค์ไหนไม่ธุดงค์หรอก สังคมเขาไม่รู้หรอก ใส่บาตรเขาก็ใส่บาตร ไอ้ธุดงค์ก็ธุดงค์ไป ไม่ธุดงค์ก็ไม่ธุดงค์ เขาไม่รู้เรื่องหรอก แต่พอนานไปๆ เขาสังเกตของเขา เขาเริ่มรู้นะ พอเริ่มรู้เขาเริ่มล็อคอาหารแล้ว ถ้าพระไม่ธุดงค์มาเขาใส่แต่ข้าว แต่พอธุดงค์มาเขาใส่พั่บเลย พอใส่พั่บ
นี่มันต้องให้เขารับรู้ กว่าเขาจะปรับตัว ไม่ใช่ว่าทำความดี ความดีกว่าจะเป็นความดีล่ะ? แล้วพอไม่ได้อย่างนั้นน้อยใจไหม? น้อยใจ มันน้อยใจนะ น้อยใจเพราะอะไร? อ้าว ก็เพราะมีกิเลส คนมีกิเลสก็น้อยใจเป็นธรรมดา ทำไมจะไม่น้อยใจ ทำดีก็น้อยใจ โอ้โฮ ทำดีแล้วทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้? แต่ถ้าทำคุณงามความดี ทำดีต้องได้ดี ช้าหรือเร็วไง ทำความดีแล้วมันจะมีความดีมาเลยมันไม่มีหรอก
ฉะนั้น นี่สังคมเป็นแบบนี้ เราถือศีลนะ ถ้าศีลของเราเป็นปกติใช่ไหม มันเป็นความดีของเรามันก็จะเป็นความดี แต่ถ้าเราถือศีลแล้ว ถือศีลอันหนึ่ง แล้วเราเป็นคนหนึ่งไง ศีลอีกเรื่องหนึ่ง เราเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะอะไร? เพราะเราถือศีลไง พอเราถือศีลแล้วเราคิดเอง เหมือนพุทโธ พุทโธ นี่เรานึกพุทโธ พุทโธไม่เป็นเรา เรานึกพุทโธเพราะเราพยายามบังคับให้นึกพุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จนพุทโธเป็นเรา พอพุทโธเป็นเรานะเรานึกพุทโธไม่ได้เลย
นี่ก็เหมือนกัน พอเราถือศีลๆ ไอ้ความรู้สึกของเราอันหนึ่ง เพราะความรู้สึกเราก็ยังคลอนแคลนอยู่ แล้วศีลมันเป็นข้อห้าม ถ้าศีลเป็นข้อห้ามมันจะเข้ามาถึงเราเมื่อไหร่ล่ะ? ถ้ามันถึงเรามันก็เป็นประโยชน์กับเรา อันนี้พูดถึงเรื่องศีลนะ แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้ว คนถือศีลแล้วมันกลัวผิด แต่กลัวผิดนะแบบว่ามันเกร็งไง พอไปถึง ไปตลาดนะมันจะสักหน้าผากไว้เลย ฉันถือศีลนะต้องกินปลาตาย พอคนเขาเห็นเดินมาเขาทุบปลาไว้ก่อนเลย ทุบไว้เลย ปลาเป็นนี่ ๕ บาท ปลาตาย ๑๐ บาท มันก็ต้องซื้อ
อ้าว มันตาย เพราะมีความจำเป็น เพราะมีคนมาปรึกษาคุยเรื่องนี้เยอะ บอกว่าเขาถือศีลนะ ของที่มันมีชีวิตเราก็ฆ่าสัตว์ไม่ได้ไง ทีนี้พอไปแผงปลาเนาะ ฉันถือศีลนะ ปลาตายมีไหม? ปลาเป็นไม่เอา เขาก็รู้ใช่ไหม? คราวหน้าเดินมากูเคาะหัวไว้ก่อนเลย พอเคาะหัวมาปลาเป็นนี่ ๕ บาท ปลาตาย ๑๐ บาท ๑๐ บาทก็ต้องซื้อด้วยความอยากกินปลา อ้าว ถือศีลแล้วอะไรก็ได้ นี่คนถือศีลถือเพราะอวดก็มี ไอ้นี่มันเป็นกิเลสทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น ถ้าถืออย่างนี้มันก็เป็นประโยชน์
คำว่าศีล ศีลคือความปกติของใจ ถ้ามันปกติแล้ว เรายังคิดในใจนะ ถ้าปลาไม่มีนี่นะ อย่างสัตว์ที่มันตายแล้ว เพราะเวลาฆ่าสัตว์เขาก็พูดไงคนกินเนื้อสัตว์ เวลากินเนื้อสัตว์นะ บาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน อู๋ย ถ้ากรรมอยู่ที่คนกิน พระนี่บาปที่สุดเลย เพราะพระกินอย่างเดียว พระกินทุกวันเลย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเนื้อ ๓ อย่าง หนึ่งไม่ได้รู้ เราไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้สั่ง เนื้อบริสุทธิ์ เราไม่ได้สั่ง
แล้วพูดถึงว่าบาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกิน แล้วคนกิน นี่สิ่งที่เขาทำธุรกิจ มีธุรกิจสิ่งใดบ้างที่ทำเพื่อให้ขายพระ มีแต่สังฆภัณฑ์ สังฆภัณฑ์ทำให้ขายพระนะ แต่อย่างอื่นไม่มีหรอก อาหารนี่เขาทำให้ขายพระไหม? ไม่มี ไม่มีหรอก เขาทำไว้ขายกับโลก แต่เราอาศัยอยู่กับสังคม เราอยู่กับเขา อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลกไง
ถ้าอยู่กับโลก สิ่งนี้สิ่งที่ว่าบาปอยู่ที่คนทำ กรรมอยู่ที่คนกินมันเป็นโวหาร บาปมันอยู่ที่คนทำ กรรมก็อยู่ที่คนทำ ทีนี้คนทำก็ทำเพื่อคนกินไง คนกินก็เข้ามาตรงนี้ ตรงที่ว่ารู้สึกไม่สบายใจ รู้สึกว่าเหมือนสนับสนุนให้คนทำผิดศีล ๕ เหมือนสนับสนุนให้คนทำผิดศีล ๕ นะ ตอนนี้นะ สสส. เห็นไหม พยายามจะรณรงค์เมาไม่ขับๆ เราเห็นด้วยนะ เราเห็นด้วยกับการที่ว่าสิ่งที่ทำแล้วสุขภาพร่างกายไม่ดีต่างๆ เราเห็นด้วยว่ามันเป็นโทษ มันเป็นโทษ แต่ความเป็นโทษ เราอย่าเอาความเป็นโทษไปปล้นจี้คนอื่นไง
นี่มีคนสูบบุหรี่เขามาพูดให้ฟังนะ บอกหลวงพ่อ เดี๋ยวนี้นะสูบบุหรี่มันยิ่งกว่าคดีอาญาอีก ฆ่าคนตายยังไม่มีโทษหนักเท่าสูบบุหรี่เลย สูบบุหรี่คนเขารังเกียจไปหมดไง ไปสูบบุหรี่ที่ไหนมันบอกว่าโทษมันรุนแรงยิ่งกว่าฆ่าคนตายอีกนะสูบบุหรี่ เพราะการรณรงค์ไง
ฉะนั้น สิ่งที่เขาสูบบุหรี่ ก็สุขภาพของเขาเสียแน่นอนอยู่แล้ว สุขภาพของเขาไม่ดี ฉะนั้น การสูบบุหรี่ สุขภาพไม่ดี ต่างๆ ไม่ดี เรารณรงค์ก็คือรณรงค์ เราเห็นด้วยกับการรณรงค์นะ เพื่อจะไม่ให้อนุชนรุ่นหลังให้สุขภาพเขาเสียหาย เราเห็นด้วยทุกๆ อย่างเลยล่ะ แต่ของสิ่งใดก็แล้วแต่ถ้าทำสุดโต่งไปมันก็เป็นโทษทั้งนั้นแหละ มันจะเป็นโทษอีกอันหนึ่ง แต่ถ้าเราทำให้มันพอดี ไม่ทำให้เป็นโทษอย่างอื่น อันนั้นเราเห็นด้วยหมด เราเห็นด้วยหมด มีคนมาพูดให้ฟังจริงๆ นะ โอ้โฮ สูบบุหรี่มันผิดยิ่งกว่าฆ่าคนตายนะหลวงพ่อเดี๋ยวนี้ โอ๋ย คนเพ่งโทษน่าดูเลย
ฉะนั้น กรณีนี้ ศาสนานี่พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ เรื่องการสูบบุหรี่เป็นโทษ สุราเมระยะ มัชชะ ปะมาทัฏฐานา สิ่งที่เป็นเครื่องดองมึนเมาของต่างๆ มันทำให้ขาดสติ คนเรานะพอเหล้าเข้าปากไปอะไรมันก็ทำได้ อยู่โดยปกติ มีสติสมบูรณ์ รักษาชีวิตโดยสมบูรณ์ พอเหล้าเข้าปากไปนะ มีเงิน มีทอง มีทุกอย่างควักให้เขาหมดเลย ชีวิตนี้เสียหายไปหมดเลย แล้วพอสร่างจากเมาแล้วมาแก้ไขปัญหากันเอาเอง พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติไว้ว่าไม่ควรทำไง ไม่ควรทำ อย่า อย่าทำให้ชีวิตเราเศร้าหมอง อย่าทำให้ชีวิตลำบากทุกข์ยากไปมากกว่านี้เลย
ฉะนั้น ศีล ๕ ทำให้เป็นความปกติของใจ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นบุหรี่ นี่บุหรี่พูดถึงพระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ เพราะสมัยโบราณ สุรานี่นะเวลาเข้าเครื่องยาพระยังฉันได้เลย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์พระพุทธเจ้าให้ฉัน แต่ว่าสิ่งที่เป็นโทษมากกว่าพระพุทธเจ้าเลยบัญญัติ แต่บุหรี่นี่นะ สมัยก่อนพวกบุหรี่ที่เขาเป็นยา เป็นสิ่งที่บรรเทาโรคมันมีอยู่บ้าง พอมีอยู่บ้าง แต่ในปัจจุบันนี้มันเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ เรื่องของธุรกิจพยายามจะให้คนใช้สินค้าเขามากขึ้น มันเป็นแรงกระตุ้น ทีนี้แรงกระตุ้นมันก็เลยกลายเป็นเสพสุข เป็นเรื่องของโลกๆ ไปไง มันไม่ใช่เรื่องการบำบัด เรื่องการรักษา มันผิดเจตนารมณ์
ฉะนั้น ธรรมของพระพุทธเจ้าถึงได้บัญญัติไว้ ทีนี้พอไม่ได้บัญญัติไว้เราจะบอกว่ามันผิด มันผิดไปเลย มันผิดผิดเพราะทำลายสุขภาพ แต่มันไม่ได้ผิดธรรมวินัย วินัยมันไม่มี พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติไว้ เพราะมันมีข้อดีบางอย่าง แต่ถ้าเราใช้กันเป็นโลกเกินไปมันเลยเป็นโทษหมดไง เป็นโทษเพราะเราใช้ไปทางโลกหมด มันเลยไม่เป็นทางเพื่อเป็นยารักษา อย่างเช่นไซนัส อย่างต่างๆ เขาใช้พ่น ใช้ควันมันมีของมัน นี่พูดถึงศีลนะ อันนี้ไม่ได้พูดเข้าข้างใครทั้งสิ้น ทุกอย่างมีคุณและมีโทษอยู่ในตัวมันเอง มีมากหรือมีน้อย
ฉะนั้น สิ่งที่ว่า รู้สึกเหมือนสนับสนุนเขา
ถ้าเราสนับสนุนเขา เราจะบอกว่าเรานี่จะเอาไม้บรรทัด หรือเอาความรู้สึกนึกคิดของเราไปคาดหมายหรือไปเปรียบเทียบสังคมไม่ได้ ไม่ได้หรอก ถ้าเราไม่สนับสนุนทำอย่างไรล่ะ? ไม่สนับสนุนเราไม่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย แต่ในเมื่อพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายในบ้านของเรา เขาต้องการทำให้เหมือนกับแบบว่าไม่ให้สังคมติเตียน ในความเห็นของเขา ในความเห็นของเขาเขาไม่ต้องการให้สังคมติเตียนว่า เราถือศีลก็จริง แต่ถ้าเขาไม่เข้าใจเขาบอกว่าเราเอาเปรียบ เวลาไปงานคนอื่นเราไปกินสุรางานเขา พองานของเราจะไม่มีสุราขึ้นมา นี่มันเป็นสิ่งที่ว่าด้อยค่า ด้อยศักดิ์ศรีของเขา
ถ้าเขาทำของเขานี่เราค้าน เราค้าน แต่เราไม่ค้านให้คนจัดงาน ไม่ค้านให้ในตระกูลเราทุกข์ใจไปกับเราไง ทำงานมันก็เหนื่อยอยู่แล้วนะ แล้วยังต้องมาเหนื่อยใจกับลูกหลาน ไอ้คนนั้นบอกนี่ก็ไม่ได้ นู่นก็ไม่ได้ เขาทุกข์ไปหมดเลย แต่ถ้าเราพูดด้วยเหตุผลแล้วเราพูดด้วยการเสนอของเราว่าทำแล้วมันผิดศีล เขาบอกว่า ใช่มันผิดศีล แต่ศีลก็เป็นปกติของเรา แต่คนที่มางานมันหลากหลาย คนที่ต้องการมาดื่มสุรา คนที่เขาต้องการมาสนุกคึกครื้นนั่นน่ะ ถ้าอย่างนั้นมันก็เรื่องของเขา ถ้าเรื่องของเขานี่เราค้านไว้ในใจ เราไม่สนับสนุน แต่เพราะว่าสังคมเขาไม่เห็นโทษของมัน นั่นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขาเห็นโทษนะเขาก็ไม่ดื่มเอง
ฉะนั้น คำว่าสนับสนุน สนับสนุน เห็นไหม ดูสิองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ของเราสนับสนุนให้พระปฏิบัติ สนับสนุนให้พวกเราบรรลุธรรม ไม่เห็นมีใครบรรลุธรรมเลย สนับสนุนเต็มที่นะ (หัวเราะ) สนับสนุนเต็มที่เลย ทางจงกรมก็มี หลวงตาท่านไปเที่ยววัดไหนมา ท่านบอกวัดไหนไม่มีทางจงกรมท่านไม่ไปวัดนั้นเลย ท่านไม่เห็นด้วยเพราะเราไม่สนับสนุน เราไม่ส่งเสริมผู้ที่ปฏิบัติไง นี่เราก็สนับสนุนให้ทำคุณงามความดี แต่มันก็ทำได้ยาก
ทีนี้การที่ว่าเราไปสนับสนุนคนผิดศีล ๕ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบริษัทที่มันค้านนี่นะ มันพยายามทำทุกอย่าง เล่ห์กลนี่ร้อยแปด ไม่ให้โฆษณา มันก็ให้กลายเป็นสนับสนุน เห็นไหม ในวัดจะมีบริษัท ที่จะแทรกเข้ามา เราไม่ให้มีเลยเรื่องอย่างนี้ ไม่ให้เข้ามาเลย ไม่ให้มีเข้ามาไม่สนับสนุนใครทั้งสิ้น แต่ถ้ามันเป็นจริตนิสัย เป็นความเห็นของคน ถ้าเขามีความเห็นอย่างนั้น เขาคิดว่าเขาถูกต้อง แต่ถ้าวันใดเขาเห็นว่าโทษของเขา เขาทิ้งหมดเลย ถ้าเขาทิ้งหมดนะ
นี่เพราะเวลาเราคิดกันเองว่าเราสนับสนุนให้คนทำผิดศีล ๕ มันจะเป็นบาปหรือไม่? ถ้าเราไม่สนับสนุน สนับสนุนที่ไหนล่ะ? สนับสนุนก็ความรู้สึกนึกคิดไง ขนาดที่ว่าในสังคมสงฆ์นะ เวลาลงอุโบสถ เวลาทำสังฆกรรม ถ้าเขาทำสังฆกรรมที่ผิด แต่จำนวนเขามากกว่า เวลาลงฉันทามติเขาได้อย่างนี้ ถ้าเขาได้นะ เราเห็นว่าผิดมันเป็นกรรมนะ ถ้าเราสนับสนุนมันเป็นกรรม เราค้านไว้ในใจ ค้านไว้ในใจว่าเราไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วย ถ้ากรรมมันจะเกิดขึ้นเราจะไม่ร่วมกรรมนี้ด้วย มันค้านได้
อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎก คือให้ค้านไว้ในใจ คือเราไม่เห็นด้วย เราไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ ถ้าเขาจะทำกันแบบนี้ต้องให้เขาทำไป แต่เราค้านไว้ คือเราไม่รับเศษบุญ เศษกรรม เราไม่รับส่วนผลอันนี้ ถ้ารับอย่างนี้ได้ นี่การว่าถือศีลไง เราถึงบอกว่าการถือศีลนะ ถ้ามันเป็นเรื่องของเรา แม้แต่พระ เห็นไหม พระนี่เวลาอธิษฐานพรรษา บอกว่าใครจะถือธุดงค์ข้อไหนให้บอกกันไว้
ถือธุดงค์ข้อไหนใช่ไหม? เพราะธุดงค์ ๑๓ ข้อ ของเรานี่มีอยู่แล้วบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุล เราถือธุดงค์อย่างน้อย ๔- ๕ ข้ออยู่แล้ว แล้วใครต้องการ ใครจะไม่นอนทั้งคืนก็ได้ ใครถือเนสัชชิกก็ได้ ใครจะทำอย่างใดก็ได้ นี่พอถือปั๊บก็ต้องบอกกัน ไม่บอกกันอีกฝ่ายหนึ่งไม่รู้ ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งรู้แล้วเขาจะเปิดให้ๆ เปิดให้หมายถึงว่าไม่กีดขวาง
ฉะนั้น จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้น เราถือศีลของเรา ศีลของนี่สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา เราถือของเรา แล้วเรารักษาของเรา เวลาจิตใจมันดีมันดีอย่างนี้ เวลาเราถือศีล เห็นไหม คนอื่นไม่ถือศีลเราดีกว่าเขา แต่เดี๋ยวพอจิตใจเราเสื่อม อืม เมื่อก่อนถือศีลมาตั้งนาน เดี๋ยวนี้ออกมาแล้วเต็มที่เลย จิตใจของคนมันเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญนะ อารมณ์ สัญญาอารมณ์เขาถึงบอกว่าเชื่อไม่ได้ ตัดสินกันด้วยข้อเท็จจริง ไม่ได้ตัดสินกันด้วยอารมณ์
ถ้าไม่ได้ตัดสินด้วยอารมณ์นะ เราบอกว่าสภาคกรรม สังคมเป็นแบบนี้ อยู่กับโลก ถ้าแบกโลกทุกข์มาก อยู่กับโลก แต่โลกทัศน์ในหัวใจของเรารู้จักโลกนอก โลกใน โลกในรักษาโลกในของเรา รักษาหัวใจของเรา สิ่งใดที่ผิดเราไม่ทำ แต่อยู่กับสังคมสังคมเขาทำ เราค้านไว้ในใจ จำคำนี้ไว้ ค้านไว้ในใจ เห็นเขาทำชั่วกัน แล้วเราสุดความสามารถเราที่จะทำได้ เราค้านไว้เลย ไม่เห็นด้วย ไม่ทำๆ อันนี้พ้นจากเราไป ไม่อย่างนั้นเราไม่ทำด้วย แล้วจะบอกว่าเขาต้องทำแบบเรา อันนี้สิยุ่ง พอเขาทำอย่างนั้นปั๊บบอกไม่เอา จะเอาอย่างนี้ๆ
สังเกตได้ ถ้าใครทำอะไรแล้วเราเห็นผิดนะ แต่พูดไปเขาเข้าใจผิดเลยล่ะ เข้าใจว่าหาว่าเราไปจับผิดเขาอีกนะ ทีนี้เราเสนอ เสนอว่าควรเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าเขาเห็นด้วยก็เห็นด้วย ไม่เห็นด้วยก็จบ แล้วถึงเวลาทำไปแล้วนะ ถ้ามันจนตรอก มันเป็นอย่างนั้นมันจะเป็นอย่างนั้น ค้านไว้ในใจ แล้วถือว่าจะเป็นบาปมากไหม? ในเมื่อค่าสังคมเป็นแบบนี้ แล้วเราไม่ใช่อยู่เฉพาะในสังคมของเรา เห็นไหม อย่างเช่นพระมีงาน แล้วพระจะมาเลี้ยงเหล้าก็ไม่ได้
สังคมของพระ สังคมของพระนี่นะ สุราเมระยะ มัชชะ ปะมาทัฏฐานา นี่ทางโลก ทางพระดื่มสุราก็ผิด ฉะนั้น พอผิด เพราะสังคมของพระไม่ดื่มสุรา ฉะนั้น ถ้าเขาเลี้ยงพระกันเขาก็ไม่มีสุราอยู่แล้ว เห็นไหม เพราะสังคมของพระมันก็ไม่มีสุรา แต่สังคมของโลก นี่คนถือศีลก็มี คนไม่ถือศีลก็มี แล้ววัฒนธรรมต่างๆ มันก็ อู้ฮู ร้อยแปดเลย ฉะนั้น ถือศีลต้องฉลาด แล้วรักษาตัวเรา แล้วพอรักษาตัวเรา แล้วพอเดี๋ยวเราดีขึ้นมานะ ทีนี้เราจะอยู่ที่ไหนเราก็อยู่ได้ เราอยู่ของเราได้ ถ้าอยู่ของเราได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่คำว่าถือศีลนะ ถือศีลแล้วเป็นบาป
ฟังอันนี้
ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ เรียนถามค่ะ ไม่รู้ว่าทำอย่างไรดีกับตัวเองค่ะที่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง วนไปวนมาอยู่กับอะไรหลายอย่าง แต่ก็เดินต่อไปไม่ได้ มีแต่จะทำให้ตนเองตกต่ำลง และทำให้มารดาทุกข์ มันบาปมากเหลือเกินเจ้าค่ะ กราบหลวงพ่อช่วยแนะนำลูกด้วยเจ้าค่ะ จะทำอย่างไรดี จะเดินไปทางไหนดีเจ้าคะ ขอบพระคุณ
ตอบ : นี่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เพราะว่าทำไม่ได้เรื่องสักอย่าง วนไปวนมาอยู่กับอะไรหลายอย่าง นี่มันอยู่ที่นิสัยนะ ถ้านิสัย เห็นไหม ดูสิเวลาหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ ท่านเป็นคนที่มีสัตย์มาก พอเราตั้งสัตย์แล้วนะทำอย่างใดต้องทำให้จริงจัง จะทำอย่างนั้นให้จริงจังเลย ถ้าทำอย่างนั้นจริงจังขึ้นมาเพราะมีสัตย์ พอมีสัจจะ นี่ถือสัจจะยิ่งกว่าชีวิต พอถือสัจจะยิ่งกว่าชีวิตนะ นี่อธิษฐานเนสัชชิกไม่นอนเลย นั่งทั้งคืนเลยอย่างนี้มันทำได้ ถ้าพูดถึงว่าไม่นอน ๓ เดือน ไม่นอนเลย นี่มันทำได้เพราะอะไร? ง่วงไหม? ง่วง คนทำอะไรก็แล้วแต่มันต้องมีอุปสรรคทั้งนั้นแหละ แต่เพราะสัจจะอันนี้ เพราะมีสัจจะปั๊บทำอะไรมันก็จะประสบความสำเร็จ
ฉะนั้น นี่วนไปวนมา ทำทุกเรื่องแต่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ไม่ได้เรื่องสักอย่างก็ต้องกลับมาคิดไง กลับมาคิดสิว่าเรามีความมุมานะไหม? เรามีความจริงจังไหม? ถ้าเราทำความจริงแล้ว บางอย่างมันไม่ได้ผลอย่างที่เราตั้งใจ คนทำงานนะมันก็มีความผิดพลาด ความผิดพลาดแล้วถ้าเรามาทดสอบ เรามาตรวจสอบเอง ย้อนตรวจสอบเองว่ามันผิดอย่างไร แล้วเราแก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขของเรา เห็นไหม นี่บอกว่าทำให้แม่ลำบากใจ
แม่ลำบากใจก็เป็นธรรมดา แม่ทุกคนนะอยากให้ลูกประสบความสำเร็จ อย่างน้อยก็เป็นคนดี อย่างน้อยก็มีที่ยืนในสังคม ถ้าเรายังทำสิ่งใดไม่ได้ ฉะนั้น มันก็เป็นสายบุญสายกรรม สายบุญสายกรรม เห็นไหม อย่างเช่นพ่อแม่กับลูก ถ้าลูกประสบความสำเร็จพ่อแม่ก็มีความสุขมาก ถ้าลูกมีความสำเร็จนะ แต่ถ้าลูกยังล้มลุกคลุกคลานอยู่พ่อแม่ก็มีความทุกข์เป็นธรรมดา ถ้าพ่อแม่มีความทุกข์เป็นธรรมดา นี่อันนี้มันเป็นกรรมแล้ว กรรมเพื่อมาทำให้เกิดความทุกข์ในใจ ถ้าทุกข์ในใจเกิดขึ้นมานะมันก็บีบคั้นในหัวใจ ถ้าบีบคั้นในหัวใจ นี่เพราะเราเคยทำสิ่งใดมาล่ะ?
นี่เรื่องการเกิดและการตายมันเวียนตายเวียนเกิดมาแบบนี้ อันนี้มันก็เป็นกรรมอันหนึ่ง แต่ แต่เราเป็นคนที่มีสติ เรายังนึกได้ เรานึกได้ว่าทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์ ถ้าทำให้พ่อแม่เป็นทุกข์เราจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ถ้าประสบความสำเร็จนะ เราทำสิ่งใดไม่ต้องให้มันเกินเลยไปไง เราทำพอให้อยู่ได้ก่อน ทำพอให้อยู่ได้ก่อนคือทำอะไรที่เรายืนอยู่โดยตัวเราเองได้ ให้พ่อแม่เห็นว่าเราเอาตัวเราเองรอดได้ แล้วสิ่งที่ว่าความสำเร็จข้างหน้ามันเป็นอีกเรื่องหนึ่งไง เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราจะทำอย่างใดให้มันประสบความสำเร็จ
นี่คนเราถ้าอำนาจวาสนามันมา หรือทำสิ่งใดประสบความสำเร็จ นี่เวลาหลวงตาบอกทำบุญๆ คนเราทำบุญนะ เวลาตกทุกข์ได้ยากจะมีคนมาช่วยเหลือเกื้อกูล จะเกิดอุบัติเหตุ ไปน้ำมันหมดข้างหน้าก็มีรถมาช่วยมาส่ง มารับ อันนี้มันเกิดจากผลบุญไง ถ้าผลบุญมันเกิดขึ้นมาเราก็ทำของเราไป เรามีบุญวาสนาแค่นี้ไง เขามีคนละ ๒ ย่าม ๓ ย่าม ไอ้เรามีแค่กำมือหนึ่งเราก็พอใจของเรา ถ้าเราพอใจ
ถ้าเราพอใจนะ สิ่งที่เรามีอยู่ เห็นไหม นี่เราใช้ดำรงชีวิตจากสิ่งนี้ ถ้าเราใช้ดำรงชีวิตจากสิ่งนี้ขึ้นไป แล้วเราพัฒนาของเราขึ้นไปมันก็จะมากขึ้นไป พอมากขึ้นไปพ่อแม่ก็เออ ลูกเรามันก็มีหลักมีเกณฑ์โว้ย เออ ลูกเรามันก็มีจุดยืนนะ ลูกเราเอาตัวรอดได้นะ อ้าว พ่อแม่ก็ไม่ทุกข์ไง พ่อแม่มันทุกข์เพราะอะไร? เพราะคาดหมายแต่ผลงานอันใหญ่โตข้างหน้า แต่ในปัจจุบันนี้มันยังไม่เกิดขึ้นมา เราก็ดำรงชีวิตให้ได้ อยู่ด้วยตัวของเราเองให้ได้ ถ้าอยู่ด้วยตัวของเราเองได้นะ ถ้าอยู่ตัวเองได้แล้ว ถ้าเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ด้วยยิ่งสุดยอดเลย แต่อยู่ด้วยตัวเองได้ก่อน เรามีความสามารถดูแลพ่อแม่ได้ อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่งนะ
ฉะนั้น ถ้าทำให้พ่อแม่ไม่ทุกข์ใจ แต่ถ้าคิดว่าเราต้องทำอย่างนั้นๆ คือเราตั้งเป้าไว้ใหญ่เกินไปไง ตั้งเป้าไว้ใหญ่เกินไป พอตั้งเป้าไว้ใหญ่เกินไป ฐานเราไม่มีใช่ไหม? พอฐานไม่มีมันก็ล้ม มันก็ล้มๆ ตั้งเป้าพอประมาณ ตั้งเป้าว่าหนึ่งอยู่ได้ก่อน ให้ยืนได้ก่อน พอยืนได้แล้วเราค่อยแบกรับน้ำหนัก เราค่อยก้าวเดินต่อไป เป็นชั้นเป็นตอนต่อไป ทุกคนอยากประสบความสำเร็จหมด ทุกคนอยากทำอะไรให้สมความปรารถนาทั้งนั้น แต่ แต่คนเรามันมีกรรมตัดรอน
คนที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ ดีงาม นั่นก็สาธุ คนที่ทำแล้วล้มลุกคลุกคลานนั่นอ้าง เราทำมาอย่างนี้เอง เราทำมาอย่างนี้เองเราก็ต้องเข้มแข็งเอง นี่เพราะเวลาเราสร้างของเรา เราทำของเรา เราทำมาอย่างนี้ ทำมาอย่างนี้ไง ถนนของเขา เขาทำออกมา ๔ เลน ๕ เลนใช่ไหม? ของเรานี่แม้แต่ทางเดินไปยังเดินไปไม่ได้เลย เดินไปยังมีอสรพิษมันขวางทางอยู่ เราก็ต้องบุกเบิกของเราไป เพื่อบุกเบิกทางของเรา
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
ฉะนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา เราจะมาร้องเรียนเอาว่าทำไมมันเป็นแบบนี้? มันเป็นแบบนี้? ไม่มีใครทำให้ เราทำเองทั้งนั้น เราทำเองทั้งนั้น ถ้าเราทำเองทั้งนั้น เพราะว่าเราศึกษาธรรม เรามีครูบาอาจารย์เราถึงได้คิดได้ ถ้าเราคิดไม่ได้นะวัดกันที่ไหนล่ะ? คนที่ประสบความสำเร็จ กับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จวัดกันที่ไหน? นี่ถ้าวัดทางโลกเขาก็ทำวิจัยใช่ไหม? คนนี้ศึกษามา คนนี้มีปัญญา คนนี้วิจัยตลาดมา คนนี้มีคนอนุเคราะห์มาเขาถึงประสบความสำเร็จ เราทำของเรามานะล้มลุกคลุกคลานมา นี่มันวัดกันด้วยโลก แต่ด้วยบุญ ด้วยอำนาจวาสนามันก็ซ้อนมาอีกอันหนึ่งนะ มันเป็นไปได้
ฉะนั้น นี่พูดถึงว่า จะทำอย่างใดให้มารดาไม่เป็นทุกข์
คิดได้แค่นี้เราก็ว่าดีแล้วนะ บางคนคิดไม่ได้เลยนะ บางคนคิดไม่ได้เลย นี่คิดได้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มารดาเป็นทุกข์ เพราะเราเป็นคนที่ไม่เอาไหนเลย ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง เออ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ คิดนะ
ถาม : ทำบุญจะอธิษฐานอย่างใดให้หายป่วย เพื่อให้ผลบุญให้หายเจ็บป่วย
ตอบ : เราทำของเรานี่แหละ เราทำของเรานะ อุทิศส่วนกุศล อุทิศส่วนกุศลเจ้ากรรมนายเวร ถ้าเจ้ากรรมนายเวรนะ นี่สิ่งที่เจ้ากรรมนายเวรให้ผลเวรนั้น ผลกรรมนั้นแบบว่าให้อภัยต่อกัน
เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร
ให้อภัยทาน ถ้าให้อภัยทานใช่ไหม นี่พูดถึงเรื่องเวร เรื่องกรรมนะ แต่เรื่องของร่างกายมันก็เสื่อมสภาพเป็นธรรมดา คำว่าเสื่อมสภาพเป็นธรรมดา เห็นไหม เราก็ดูแลรักษาร่างกายเราด้วยความเป็นจริง นี้เราทำบุญกุศลแล้ว อุทิศส่วนกุศล อุทิศส่วนกุศลเจ้ากรรมนายเวร นี่ทำบุญกับครูบาอาจารย์ที่เป็นเนื้อนาบุญที่ดีมันจะได้ผลที่ดี แล้วครูบาอาจารย์องค์ไหนเป็นเนื้อนาบุญที่ดีล่ะ? เนื้อนาบุญนะ ดินมันวิเคราะห์วิจัยได้ว่าดินของใครมีคุณภาพ แล้วเนื้อนาบุญเราเห็นได้อย่างไร? อ้าว พระก็คือพระ ทางโลกเขาบอกว่าก็คน คนห่มผ้าเหลือง อ้าว คนห่มผ้าเหลือง
นี่สิ่งที่เป็นเนื้อนาบุญ เนื้อนาบุญ เห็นไหม สิ่งที่เป็นประโยชน์ไง สิ่งที่เป็นประโยชน์นะ นี่เวลาหลวงตาของเรา คนจนผู้ยิ่งใหญ่นะ เราพูดบ่อยมาก เพราะในโลกนี้ไม่มีใครทำได้ นี่มีบริขาร ๘ สมบัติส่วนตน พระนี่มีบริขาร ๘ บริขาร ๘ เท่านั้นที่เป็นสมบัติของพระนั้น นอกนั้นเป็นของสงฆ์ เป็นของกลางหมด แล้วสิ่งที่ได้มาแล้วท่านอุทิศให้ช่วยโลก ช่วยโลกคือช่วยมนุษย์ทุกคน มนุษย์อยู่ที่ไหน? มนุษย์นี่ใช้เงินบาท แล้วเงินนี่ไปหนุนค่าเงินบาท แล้วให้ค่าเงินบาทมันมีค่า ให้ค่าเงินบาทมันใช้ประโยชน์ในท้องตลาด แล้วมนุษย์ทุกคนใช้เงินบาท มนุษย์คนที่ใช้เงินบาทนั้นคือใช้บุญที่หลวงตาค้ำมา
นี่หลวงตาช่วยหมดเลย ช่วยคนที่ซื้อของ คนที่จ่ายเงินบาทแลกเปลี่ยนสินค้า หลวงตาได้ช่วยทุกๆ คนที่ใช้เงินบาท ฉะนั้น คนที่ช่วยโลกได้ขนาดนี้ นี่สิ่งที่ว่าเนื้อนาบุญ เนื้อนาบุญไง เนื้อนาบุญที่ทำประโยชน์ขนาดนี้ นี่เรื่องโลกๆ นะ แต่ถ้าหัวใจของท่านล่ะ? หัวใจที่เป็นธรรม เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตถา เทวะ มนุสสานัง สอนตั้งแต่พรหมลงมา นี่มันเหมือนกับคนนะ ค่าของเงินคือทุกคนใช้เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนสินค้า เวลาคนเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาก็อยากให้หาหมอรักษา เวลาคนทุกข์ คนยากขึ้นมาก็ต้องการธรรมะ แล้วธรรมะเทวดา อินทร์ พรหมยังต้องมาฟังเทศน์ นี่เทวดามาขอฟันอย่างนี้ เทวดามาขออย่างนี้
นี่ผล เนื้อนาบุญอย่างนี้ ถ้าทำแล้วมันก็จะได้บุญเยอะ แล้วพระก็ห่มผ้าเหลืองเหมือนกัน อ้าว แล้วเนื้อนา ใครเป็นเนื้อนาใคร เวลาดิน เขายังวิเคราะห์ได้นะว่าดินใครดี ดินใครไม่ดี แต่ใจของพระใครดูได้ล่ะ? พระกับพระเขารู้กัน นี่พูดถึงว่าทำบุญอย่างใดไง ทำบุญอย่างใดจะได้บุญ แต่ถ้าเนื้อนาบุญที่ดีมันก็ได้ผลที่ดี แล้วเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็อธิษฐานเอา เพื่อให้เจ็บไข้ได้ป่วยนี้ เขาเรียกว่าการเจ็บไข้ได้ป่วยมี ๓ อย่าง หนึ่งจากเวร จากกรรม เวรกรรมนี่แบบโรคอุปาทาน เรื่องของเวรกรรมหาไม่เจอหรอก เรื่องของเวรกรรมนะ เรื่องเวรกรรมหนึ่ง
โรคเกิดได้ ๓ อย่าง จากกรรม จากอุปาทาน เวลาเครียดต่างๆ จากอุปาทาน แล้วเกิดจากร่างกายเสื่อมสภาพหนึ่ง การป่วยไข้ได้ ๓ อย่าง เวลามนุษย์นี่ จากเวร จากกรรมหนึ่ง จากอุปาทานหนึ่ง จากมันเสื่อมสภาพหนึ่ง จากสิ่งที่มันถึงเวลา ต้องรักษากันไปตามนั้น ฉะนั้น เรารักษาของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา มันก็จะเป็นประโยชน์กับเรา ทำของเรา ทำถึงที่สุดแล้วดีที่สุด มันจะได้ผลกับเราเอง ถ้าได้ผลกับเราเองมันก็จะเป็นประโยชน์กับเรานะ
ถาม : ๑.พระอาจารย์ปฏิบัตินั่งสมาธิจิตตั้งมั่นพุทโธ มีสมาธิ มีสติตลอดพุทโธ เพ่งที่ร่างกายตนเอง จิตสงบเห็นตนเองนอนอยู่เป็นศพบนเตียง มีสติเห็นจิตสงบมาก เห็นความสงบเป็นธรรม ธรรมไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่จิตนี่เอง ต่อไปปฏิบัติอย่างไร? ต้องกลับมาพุทโธต่อหรือไม่ เพราะมันสงบลงเลยตอนนั้น
ตอบ : ถ้ามันสงบเลยตอนนั้นนะ อย่างที่เมื่อคืนเราพูด เห็นไหม เวลาพูด เวลาว่าถ้าเราไปอยู่กับสิ่งใด สิ่งนั้นจะเป็นเรา สิ่งนั้นจะเป็นเรามันเป็นสอง แต่ถ้าพอสิ่งที่ว่าเราพุทโธจนมันสงบเข้ามาเป็นหนึ่ง ถ้าเป็นหนึ่ง เห็นไหม การพิจารณาก็เหมือนกัน พิจารณาเป็นสองเพราะเราใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ พอพิจารณาพอมันปล่อยขึ้นมาเป็นหนึ่ง เป็นหนึ่งเพราะมันปล่อยต่างๆ เข้ามามันก็เป็นตัวมัน ถ้ามันปล่อยเข้ามานะ
นี่ก็เหมือนกัน พอนั่งปฏิบัติไป พุทโธ พุทโธใช่ไหม? พอจิตเป็นสมาธิแล้วพุทโธจะเห็นร่างกายนอนอยู่ ถ้าเราเห็นร่างกายนอนอยู่นะ เราเห็นร่างกายเรานอนอยู่ ตอนนั้นแหละมันเห็นแว็บเดียว ถ้าคนเห็นนะมันจะเห็นแว็บเดียว เพราะว่าเรายังไม่ชำนาญ คนที่เวลาจิตมันเห็นกาย แล้วมันจับกายพิจารณาของมันได้มันต้องมีจุดยืนของมันก่อน เริ่มต้นจากอย่างนี้ เริ่มต้นจากว่าพอจิตสงบแล้วเห็นกายแว็บมา บางทีแว็บเร็วมาก เห็นกายเร็วมาก เร็วมากจนจับไม่ได้ เหมือนขับรถ ขับรถไปเวลาสิ่งใดมันตัดหน้ารถมาแว็บ เอ๊ะ อะไรวะ? อะไรวะ?
นี่ก็เหมือนกัน พอจิตมันเริ่มเป็นนะมันจะเห็นกายอย่างนั้น แว็บ เห็นกาย แว็บ เห็นกาย อย่างนี้มันเห็นมา มันก็บอกว่าเราขับรถมาใช่ไหม? แล้วมีสิ่งใดวิ่งตัดหน้าเราจะเห็นภาพนั้น จิต จิตถ้ามันพุทโธ พุทโธ ถ้ามันสงบขึ้นมา มันสงบขึ้นมา สิ่งที่ว่ามันแว็บมาแว็บไป นี่มันเร็ว เพราะเราบังคับสิ่งใดไม่ได้เลย พอบังคับสิ่งใดไม่ได้เลย แต่ถ้าเราขับรถมาใช่ไหม ขับรถมาแล้วเราเห็นสิ่งใดมาก่อน รถเรามี เราเห็นภาพนั้นก่อนใช่ไหม เราจอดรถลงก่อนก็ได้เราจะเห็นภาพนั้นชัดๆ เลย
จิต จิตถ้ามันพิจารณาของมันมันจะเห็นแว็บมา แว็บมาแสดงว่าจิตนี่เห็นกาย ถ้าจิตเห็นกายแล้วนี่เห็นกายอย่างไร? เห็นกายแล้วเราพัฒนาจากการเห็นนี้อย่างไร? ถ้าพัฒนาการเห็น เราก็อยากเห็นกายๆ เห็นกายเท่าไหร่ก็ไม่เห็น เพราะเราขับรถมาใช่ไหม มันมีวัตถุสิ่งหนึ่งผ่านหน้าเราไป แล้ววัตถุนั้นคืออะไรล่ะ? ไม่รู้
นี่ก็เหมือนกัน พอเราเห็นกาย เราพุทโธ พุทโธแล้วเราแว็บเห็นกาย แล้วเห็นอย่างไรล่ะ? เห็นอย่างไร? แต่มันก็เป็นสิ่งที่บอกว่ามันมี มันมี เห็นไหม นี่จิตถ้าสงบแล้วมันจะเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม มันมี แล้วมันมีแล้ว ถ้าเราจะเห็น เราจะเพ่งออกไปมันส่งออก แต่ถ้าเราอยากจะเห็นนะเราต้องกลับมาพุทโธ พุทโธ พุทโธ กลับมาที่จิต กลับมาที่ตัวรถ รถมีใคร? มีคนขับ คนขับเป็นคนที่เห็น เพราะคนขับเป็นมนุษย์มีสายตา ถ้าคนขับมันเห็น เห็นอะไร? เห็นสิ่งวัตถุที่ผ่านหน้าไป
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันเริ่มพุทโธ พุทโธจนจิตสงบเห็นร่างกายนอนอยู่ เห็นไหม ร่างกายนอนอยู่ แล้วนอนอยู่แล้วทำอย่างไรต่อไปล่ะ? ทำอย่างไรต่อไป? พอนอนอยู่มันก็ส่งออกไปแล้ว พอส่งกำลังมีเท่านี้ไง เห็นนอนอยู่ เราก็หายแล้ว จับต้องอะไรไม่ได้แล้ว พอจับต้องอะไรไม่ได้แล้วทำอย่างไรต่อ? ทำอย่างไรทีนี้ก็จะเอาไง จะเอาที่กายมันก็ส่งออกไปหมดเลย แต่ถ้าเราวางปั๊บกลับมาพุทโธ เห็นไหม กลับมาที่คนขับรถ เหตุการณ์นี้จะมีได้เพราะมีคนขับรถ คนขับรถขับรถนั้นออกไป แล้วมีวัตถุนั้นผ่านหน้ารถไป
เหตุการณ์ที่มีนี้มันต้องมีจิต เพราะจิตกำหนดพุทโธพอจิตมันสงบ พอจิตมันสงบแล้ว พอจิตมันเริ่มพัฒนาขึ้นมันก็มีสิ่งใดที่ผ่านมา ผ่านมาก็คือกายนั้น กายนั้นมันก็ผ่านไปแล้ว พอผ่านไปแล้ว ถ้าคนไม่มีหลักใช่ไหม? พอผ่านไปแล้ว เพราะเราอยู่ในรถใช่ไหม? รถมันผ่านมาเราเห็นใช่ไหม จิตมันเห็นกายใช่ไหม? ทีนี้พอเราบอกว่าเราอยากเห็นกายๆ เราต้องวิ่งไปเอาที่กาย คนที่อยู่ในรถมันวิ่งออกจากรถไป ออกจากรถนั้นไปแล้วไปไหนล่ะ? มันไปไหนไม่ได้แล้ว เพราะมันไม่มีพาหนะ ไม่มีรถพาเราขับเคลื่อนไป
จิต จิตถ้ามันส่งออกมันไม่มีสมาธิ สมาธิคือตัวพาหะนั้นไง สมาธิคือตัวรถ ถ้ามันมีรถนั้นมันถึงพาเราไปถึงเป้าหมายได้ใช่ไหม? ถ้าไม่มีรถเราจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้ไหม? ไม่ได้ จิต จิตถ้ามันพุทโธ พุทโธอยู่คือมันมีสมาธิ คือมันมีรถ ทีนี้พอมันอยากรู้ อยากเห็นใช่ไหมสมาธิก็ไม่มี รถก็ไม่มี มันลงจากรถนะเปิดประตูรถเลย กูลงจากรถแล้ว กูไปแล้ว กูจะไปเอากาย มึงไปหาเถอะ หาเอาไม่มีหรอก ไม่มี ต้องกลับมาที่พุทโธไง กลับมาพุทโธ พุทโธ กลับมาพัฒนาของเราให้จิตมันเข้มแข็งขึ้นมา มันเกิดสมาธิขึ้นมามันก็เกิดรถ เกิดรถ รถคือสิ่งที่เราจะไปรู้ไปเห็น ถ้าสิ่งที่ไปรู้ไปเห็น ไปเห็นสิ่งใดขึ้นมาแล้วเราจะพัฒนาของเราขึ้นมา มันก็จะเป็นประโยชน์
นี่พูดถึงว่าจะทำอย่างไรต่อไปใช่ไหม? ถ้าทำอย่างไรต่อไป เมื่อ ๒ วันนี้มีคนมาถามหลายคนนะเรื่องภาวนา แล้วก็ไปรู้ไปเห็นอะไรต่างๆ เราบอกว่าถ้ากลับมาที่พุทโธ หรือกลับมาที่อานาปานสติจะดีขึ้น เขามาถามแล้วดีขึ้นทุกคนเลย แต่ถ้าพูดถึงโดยทางโลก โดยทั่วๆ ไป พุทโธนี่พูดจนแบบว่าในกรรมฐานเรา คนทั่วๆ ไปเขาจะบอกว่าพวกเรามันเหมือนกับเถรตรงเกินไป คำหนึ่งก็พุทโธ สองคำก็พุทโธ อะไรก็พุทโธ
พุทโธมันเป็นพุทธานุสติ คือให้จิตมันได้พัฒนา แต่คนเราส่วนใหญ่จะคิดว่าการพัฒนาคือการใช้ปัญญา การแยกแยะ การค้นคว้า แล้วก็แบบว่าไถลไปกับโลกนะ แต่บอกให้กลับมาพุทโธทุกคนจะว่า ประสาเรานะในใจมันเหยียดหยาม หยามหมิ่นเลยนะ โง่ฉิบหายเลย สอนกูแค่นี้ อะไรๆ ก็พุทโธ พุทโธ แต่ถ้ามันไปทำแล้วนะ ถ้ามันทำได้มันทึ่ง มันอึ้งเลยล่ะ โอ้โฮ กูไม่น่าโง่ขนาดนี้เลย แต่ถ้ามันยังไม่เป็นนะมันทั้งเหยียดหยาม ทั้งหยามหมิ่นเลยนะ
โอ้โห พระนี่นะปฏิบัติมา ๓๐-๔๐ ปีนะยังสอนพุทโธ พุทโธอยู่ ทำไมโง่ได้ขนาดนี้? แต่พอมันไปทำเข้านะ เพราะ ๒ วันนี้มาพูด คนนั้นบอกว่าพอมันละเอียดเข้าไปๆ เขาทึ่งมากนะ ทึ่งมาก พอทึ่งมากเพราะอะไร? เพราะมันเป็นความจริง นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก แต่ถ้าเราบอกพุทโธ พุทโธ พุทโธเพราะอะไร? เพราะถ้าเราทำไม่ได้นะ พุทโธแล้วก็อึดอัด พุทโธแล้ว อื้อฮือ พุทโธแล้วอึดอัดมากเลย อึดอัดเพราะว่ากิเลสมันโดนตะล่อมเข้ามา
แต่ก่อนทำอะไรก็ได้ปล่อยมันตามสบาย พอเริ่มจำกัดขอบเขตของมันมันก็อึดอัด พออึดอัดขึ้นมา แล้วเราจะให้มันสงบขึ้นมา ยิ่งพยายามจะอดนอนผ่อนอาหารมันยิ่งเครียด ยิ่งตึงเครียด การเป็นโรคได้ ๓ อย่าง คือเรื่องกรรม เรื่องอุปาทาน เรื่องร่างกายมันเสื่อมสภาพ ทีนี้พอมาพุทโธ พุทโธมันอึดอัด เห็นไหม อึดอัด นี่เรื่องกรรมมันตึงเครียดของมัน แต่ถ้าเราพุทโธ พุทโธ ตึงเครียดขนาดไหนเราหาทางผ่อนคลายของเราเอง พอจิตมันสมดุลของมัน มันลงนะมันจะรู้เห็นอย่างนั้น
ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเรากำหนดสมาธิแล้ว พุทโธแล้วเห็นร่างกาย เห็นแล้วนั่นแหละ เห็นเป็นสิ่งที่ยืนยันว่ามันมีอยู่จริง ถ้ามันมีอยู่จริงแล้ว เพียงแต่เรายังประกอบขึ้นมาเป็นหน้าที่การงานของเราไม่ได้ตามความตั้งใจของเรา เราก็ต้องพยายามฝึกฝนเอาความชำนาญ ทีนี้เอาความชำนาญ ความชำนาญทางโลก ความชำนาญคือการฝึกงาน แต่เวลาจิตถ้ามันจะเห็นมันต้องจิตสงบ ต้องสมดุลของมัน ถ้าสมดุลของมัน แล้วบางทีคราวนี้สงบแล้วมันเห็น แล้วต่อไปจะให้เห็นมันไม่เห็นสักที ไม่เห็น ไม่เห็นเพราะอะไร? ไม่เห็นเพราะมันอยากเห็น ไม่เห็นเพราะมันอยากเห็นไง พอมันอยากเห็น ความอยากอันนั้นมันไปตีรวนอยู่ข้างในแต่เราไม่รู้เพราะอยากเห็นไง
พออยากจนไม่ได้แล้วนะ เออ ไม่เอาแล้วนะ พุทโธตามสบายเลย มาอีกแล้ว เพราะข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนั้น ถ้าอยากเห็นแล้วไม่เห็น ทีนี้เราพุทโธของเราไว้ ถ้าไม่เห็นเราใช้ปัญญาใคร่ครวญเอา แล้วถ้ามันเห็นนะ ถ้ามันเห็นแล้วมันจับได้นะ ต่อไปพอจิตสงบแล้วนะรำพึง คำว่ารำพึงคือคิดในสมาธินะ รำพึงคือบังคับรถ รำพึงคือพวงมาลัย เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวานี่รำพึง พอจิตมันเริ่มสงบแล้วรำพึงคือคิดในสมาธิไง กายเป็นอย่างไร? กาย กายนี่พอรำพึงไปแล้วมันจะรู้เห็น รำพึงไง รำพึงคือบังคับ บังคับให้สมาธิ บังคับให้สิ่งนั้นมันเป็นไป มันเป็นไป มันโน้มเอียงได้
นี่วิปัสสนาหรือการปฏิบัติ มันมีการแบบว่าบังคับหรือว่าชักนำให้เป็นอย่างนั้น โดยข้อเท็จจริงนะ โดยมรรค โดยความเป็นจริง แต่ถ้าโดยตัณหาไม่ใช่ พอจิตมันสงบแล้วรำพึงถึงกายเลย ถ้ารำพึงถึงกายมันจะเห็นกาย ถ้ามันรำพึงไปแล้วนะ รำพึงไปมันเกิด ถ้ารำพึงมันไม่มี พุทโธชัดๆ เข้าไปจนเข้าสู่อัปปนาสมาธิไปเลย ไปดูข้อมูล ไปดูรากฐานเลย ไปดูฐีติจิตเลย อวิชชาเกิดจากฐีติจิต ฐีติจิตคือจิตเดิมแท้ เข้าไปดูข้อมูลนั้นเลย แล้วไปเอาข้อมูลนั้นออกมาตีแผ่เลย แต่ถ้าเราเข้าไปถึงตรงนั้นมันเข้าได้ยาก
หลวงตาบอกว่าภาวนาอยู่ ๗ ปี เป็นอย่างนี้ได้ ๓ หน ๗ ปีได้ ๓ หน มันไม่ใช่ของง่ายๆ หรอก แต่ถ้าพูดถึงเราจะพิสูจน์ถึงวุฒิภาวะของเราไง พิสูจน์ถึงการปฏิบัติของเรา ถ้ามันรำพึงไปแล้วไม่เห็นกายนี่อัดมันเข้าไปเลย อัดมันเข้าไปเพื่อไปดูในตู้เซฟเลย ไปดูที่ต้นขั้วเลยว่าเวรกรรมที่เราทำเป็นอย่างไร ถ้าเข้าไปตรงนั้นมันจะไปเช็คตรงนั้น แต่ถ้าเราทำถึงตรงนั้นเราก็ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาใคร่ครวญเอาเพื่อประโยชน์กับเรา นี่การปฏิบัติของเราเนาะ ถ้าตอบแค่นี้เข้าใจไหม? ต้องเข้าใจแล้วเนาะ ถ้าเข้าใจแล้วก็เอวัง