ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

สติทันความคิด

๒๕ ส.ค. ๒๕๕๕

 

สติทันความคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ๑. ปฏิบัติธรรมที่บ้าน กับปฏิบัติธรรมที่วัด อย่างไหนจิตจะสงบเร็วกว่ากันครับ

๒. อุทิศส่วนกุศลอย่างใดครับ เจ้ากรรมนายเวรจึงได้รับบุญส่งถึง

ถาม : ๑. ปฏิบัติธรรมที่บ้าน กับปฏิบัติธรรมที่วัด อย่างไหนจิตจะสงบเร็วกว่ากัน

ตอบ : ถ้าพูดถึงปฏิบัติขณะจิตที่มันดี อยู่ที่บ้านสงบเร็วกว่าที่วัดก็มี ปฏิบัติที่วัดสงบเร็วกว่าที่บ้านก็มี ปฏิบัติที่บ้านดี๊ดี พอจะปฏิบัติที่วัด ไปพยายามตั้งใจ ไม่สงบเลย ปฏิบัติที่วัดดี๊ดี มา ๓ วัน ๔ วันปฏิบัติดีมากต้องกลับบ้าน พอปฏิบัติที่บ้าน ไปถึงบ้านปฏิบัติไม่ดีเลย เห็นไหม

อันนั้นคือสถานที่ แต่การปฏิบัตินี้มันอยู่ที่จิต อยู่ที่จิตเราจะดีหรือจิตเราไม่ดี แล้วระหว่างที่จิตมันดีมันอยู่ที่ไหนล่ะ มันอยู่ที่บ้านหรือมันอยู่ที่วัด ขณะอยู่ที่บ้านจิตใจดีมาก การปฏิบัติสมดุลมันก็ลงได้ มันสำคัญที่จิตของเรามันสมดุลแล้วมันพอดีไง มัชฌิมาปฏิปทา พอดีสมควรกับมัน ปฏิบัติที่ไหนตรงนั้นสำคัญ วัดหรือบ้านเป็นแค่สถานที่เท่านั้น

ฉะนั้น สถานที่ที่วัด ถ้าแบบว่าเอาแต่เรื่องสถานที่ สถานที่ที่วัดจะดีกว่าที่บ้าน เพราะว่าที่บ้าน เวลาเราอยู่ที่บ้าน เห็นไหม อย่างเช่นเราอยู่ที่บ้าน เจ็บไข้ได้ป่วยคนเดียวเราก็ต้องดิ้นรนของเราเอง ถ้าไปอยู่ที่วัด เห็นไหม ที่วัดเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม มีหมู่ มีคณะ มันมีพรรค มีพวก มีอะไร ใช่ เวลาปฏิบัติที่วัดนะไม่มีใครมาดูแล คนตายที่วัดก็เยอะ ไปปฏิบัติที่วัด ตายยังไม่มีใครรู้เลยนะ กว่าจะไปเจอเข้านี่หนอนขึ้นแล้ว เพราะอะไร เพราะปฏิบัติที่วัดมันอดอาหารหลายๆ วัน

ฉะนั้น สิ่งที่มาปฏิบัติที่วัดมันแบบว่าเป็นผู้ใหญ่ ถ้าปฏิบัติที่บ้านก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเรา ฉะนั้น คนเรามันอยู่ที่จริตนิสัยด้วย นิสัยชอบอยู่คนเดียว ชอบอย่างไร เห็นไหม เวลาอยู่ที่วัด พระก็อยู่วัด ออกพรรษาพระธุดงค์ไปอยู่คนเดียวในป่า ไปคนเดียว เดินไปคนเดียวในป่า มันเอาความสงบ ความวิเวก

ฉะนั้น

ถาม : ปฏิบัติที่บ้านหรือปฏิบัติที่วัด อย่างไหนจิตสงบเร็วกว่ากัน

ตอบ : ก็บอกกินข้าวที่บ้านกับกินข้าวที่วัดอันไหนจะอิ่มดีกว่ากัน มันก็เหมือนกัน กินข้าวที่บ้านก็ได้ กินข้าวที่วัดก็ได้ กินแล้วมันก็อิ่มเหมือนกัน แต่อยู่ที่ว่ามันสมดุลตรงไหนเท่านั้นเอง เอามาเป็นสิ่งที่ว่าเอาแพ้เอาชนะกันไม่ได้

ถาม : ๒. อุทิศบุญกุศลอย่างใด เจ้ากรรมนายเวรถึงได้รับผลบุญนั้น

ตอบ : ตั้งใจอุทิศของเรานี่แหละ เราทำบุญกุศลแล้วอุทิศ เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร มีเวรมีกรรมต่อกันแล้วเราอุทิศส่วนกุศลให้ จะทำสิ่งใด แม้แต่ปฏิบัตินั่งภาวนาของเรา จิตเราดีเราก็อุทิศส่วนกุศลให้ นี่อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร มีเวรมีกรรมต่อใครขอให้เลิกแล้วไปต่อกัน อุทิศให้ตลอด อุทิศอย่างนี้ถึง

พออุทิศ ต้องไปอุทิศบนดวงอาทิตย์เลย อุทิศ ต้องไปดวงจันทร์เลย ทุกคนเวลาเขียนธรรมะว่าอย่างนั้นนะ จะปฏิบัติธรรมต้องอย่างนั้นๆ อุทิศส่วนกุศลก็ต้องไปดวงอาทิตย์เลย ก็ต้องไปสร้างยานอวกาศกันก่อน แล้วก็ขึ้นไปดวงอาทิตย์ ไปถึงดวงอาทิตย์แล้วก็จะไปอุทิศส่วนกุศล พอเข้าไปถึงดวงอาทิตย์มันละลายหมดแล้ว ไม่ได้อุทิศให้ใครเลย เพราะกลัวจะอุทิศส่วนกุศลให้ใครได้หรือไม่ได้ไง

อุทิศส่วนกุศลนะ ใจถึงใจ เวลาใครญาติพี่น้องเสีย เห็นไหม อทาสิ เม อกาสิ เมฯ พระพุทธเจ้าสอน เมื่อก่อนคนยังโง่อยู่ เวลากราบก็กราบดวงอาทิตย์ กราบภูเขา กราบก้อนเมฆ กราบไฟ กราบต่างๆ เดี๋ยวนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้ว “เวลาญาติพี่น้องของเราเสียไป ตายไป อย่าเสียใจ อย่าร้องไห้ ให้ทำบุญกุศล แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ถึงกัน” นี่ใจสู่ใจ ใจของเรานะ คิดถึง ระลึกถึง เราคิดแต่ความดีๆ ต่อกัน เห็นไหม เวลาลูกหลานเราอยู่ห่างตัวเรา เราห่วงเขาไหม เราคิดถึงเขาไหม อันนี้สำคัญ ความคิดถึงกัน ความระลึกถึงกัน

ฉะนั้น เวลาเราทำบุญกุศลแล้วอุทิศให้กันนี่มันถูกต้องไหม นี่อุทิศคืออะไรล่ะ?

อุทิศก็ความรู้สึกเราไง ถ้าไม่มีความรู้สึก เอาอะไรอุทิศ ใจดวงนี้อุทิศให้กับเจ้ากรรมนายเวรของเรา ความรู้สึกของเรา ความรู้สึกเราคิดถึงพ่อถึงแม่ถึงญาติของเรา คิดถึงคุณงามความดีของท่าน แล้วเราอุทิศส่วนกุศลของเราให้ท่าน ให้ท่าน อุทิศตรงนี้แล้วถึง

คิดถึงได้ไหม ห่วงอาทรไหม? ห่วง ห่วงแล้วเราเอาความดี เพราะเราเอาความดีของเรา เอาเจตนาที่ดีๆ เอาความรู้สึกที่ดีๆ อุทิศให้ต่อกัน

เด็ก ลูกหลานของเรามันคบเพื่อนของมัน เพื่อนมันก็ชวนไป บอกว่าอย่าไปเชื่อนะพ่อแม่ พ่อแม่ไดโนเสาร์ เรามันวัยรุ่น เชื่อวัยรุ่นดีกว่า เห็นไหม นี่เราอุทิศให้เขา อุทิศให้เขาระลึกถึงเรา ถ้าคำพูดอย่างนั้น กรอกหูเขาอย่างนั้น เขาจะได้ไม่ไปตามเพื่อนเขา นี่ถึงเขาอยู่กับเพื่อนเขาเขาก็คิดถึงเรา เด็กบางคนคิดถึงพ่อถึงแม่ เด็กบางคนไม่ระลึกถึงพ่อถึงแม่เลย เด็กบางคนคิดครึ่งๆ กลางๆ นี่อุทิศส่วนกุศล

ทั้งๆ ที่เราก็รักษาเขาแล้ว เราก็สั่งสอนแล้ว เราก็ปกครองดูแลเขาแล้ว แต่เรื่องลึกๆ ในใจ เรื่องลึกๆ ในใจเราก็เอาบุญกุศลคุ้มครอง เอาบุญกุศลดูแล ดูแลเขา เขาอยู่ในเหตุการณ์อย่างนั้น สถานะอย่างนั้น เด็กมันต้องคบเพื่อนมันเป็นธรรมดา เขามีสังคมของเขา ทุกคนมีสังคมของตัวเอง แล้วสังคมของเขา ในสังคมอย่างนั้นเขาก็เชื่อถือกัน แล้วอย่างเรามันต่างวัย ต่างวัยปั๊บเขาก็บอกว่าเต่าล้านปี ไอ้ไดโนเสาร์ ก็ไดโนเสาร์นี่เลี้ยงมันมา ก็ไดโนเสาร์ดูแลมันมาทั้งนั้นน่ะ แต่มันว่าไดโนเสาร์ นี่อุทิศส่วนกุศล ใจถึงใจไง

ฉะนั้น บอกว่า

ถาม : อุทิศบุญกุศลอย่างใดครับ เจ้ากรรมนายเวรถึงจะได้รับ

ตอบ : อุทิศจากความรู้สึกของเรา ถ้าบุญกุศลเราทำที่ไหนแล้วนี่ระลึกถึงแล้วอุทิศไป อุทิศไป ความรู้สึกของเรามันตีตราแล้ว ไม่ต้องให้ใครมารับประกันหรอก ความรู้สึกของเรามันตีตราเพราะเราอุทิศของเรา เราทำของเราแล้ว ประโยชน์ของเราสำเร็จแล้ว เราทำเพื่อตรงนี้ นี่พูดถึงปัญหานี้นะ จบ

ถาม : ข้อ ๑๐๘๙. เรื่อง “ความเหมือนและความต่าง”

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพเป็นอย่างสูง หนูขออนุญาตเล่าเรื่องราวและสอบถามจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากการภาวนาเจ้าค่ะ

๑. เมื่อช่วงวันเข้าพรรษาหนูได้ไปภาวนาที่วัด และได้มีโอกาสฟังธรรมหลวงพ่อตอบคำถามผู้ภาวนาท่านหนึ่ง เกี่ยวกับที่เขาภาวนาแล้วเกิดความคิด แล้วเขาพิจารณาแยกความคิดออกเป็นอย่างๆ ประมาณนี้ หลวงพ่อก็สอนเพิ่มเติม (ตอนนั้นหนูจำได้ ตอนนี้หนูลืมแล้ว) แต่ตอนที่ฟังอยู่หนูก็เปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนูตอนภาวนาว่ามีบางอย่างเหมือนกัน แต่การพิจารณาต่างกัน ตอนนั้นหนูก็คิดแล้วว่าเดี๋ยวเขียนมาถามหลวงพ่อดีกว่า

คือครั้งหนึ่งหนูภาวนาพุทโธจนถึงเหตุการณ์ คือหนูเห็นความคิดมันเกิดขึ้น เรามองเห็นเขาร้อยเรียงเรื่องระยะหนึ่งแล้วก็หยุด แล้วเรื่องใหม่ก็ออกมาอีก ร้อยเรียงสักพักก็หยุด ครั้งแล้วครั้งเล่า มันเหมือนเรายืนหันหลังอยู่ แล้วมีคนคนหนึ่งอยู่ข้างหลังเรา เขาปล่อยความคิดออกมา แล้วเรายืนมองอยู่ เห็นความคิดและรู้ว่ามีใครอีกคนเป็นคนปล่อยออกมา แต่เราไม่ได้ยืนมอง ทำอะไรไม่ได้ แล้วหนูก็เกิดความรู้สึกว่า

“นี่ไงที่ว่าเป็นเรา แม้แต่ความคิดเรายังควบคุมไม่ได้เลย จะเป็นเราได้อย่างใด”

แล้วน้ำตาก็ไหลออกมา มันเศร้าหรือสังเวชใจประมาณนั้นค่ะ แล้วมันก็คลายออกจากสมาธิออกมา หนูก็ไม่ได้เล่าให้ครูบาอาจารย์ฟัง เพราะไม่รู้สึกว่ามันผิดปกติอะไร รู้สึกว่าถูกแล้วที่มันเห็นเป็นอย่างนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันถูกหรือเปล่าคะ

๒. เมื่อระยะนี้ค่ะ หนูจะมีเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันเกิดขึ้น แล้วหนูสังเกตใจตัวเองตลอดเวลา เรารู้สึกอะไรไหม อารมณ์เปลี่ยนแปลง มันรู้สึกว่าใจนี่เป็นปกติ แต่สักพักมันก็ออกไปที่กาย คือที่ไหล่มันจะแข็ง เริ่มจะปวดหัว หนูจะรู้สึกหรือคิดว่านี่เราเครียดนะ ทั้งที่เมื่อกี้เรายังว่าเฉยๆ แล้วหนูดูรูปต่างๆ ก็เป็นประเภทเดียวกัน สักพักความรู้สึกที่ผิดปกติ ร่างกายมันเกร็ง หนูจึงเลิกดูทันที แล้วคิดว่ารูปภาพเหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกของเรา เพียงแต่เราแยกไม่ออกว่าเรารู้สึกอย่างไร มันทำให้เกิดความคิดว่านี่เป็นกิเลสที่มันละเอียดขึ้นจนเราจับไม่ได้ หรือว่าจิตเรามันเสื่อมลงจนจับความรู้สึกไม่ได้กันแน่

๓/๑. หลวงพ่อคะ หนูขออนุญาตสงสัยนิดหนึ่ง เมื่อเราภาวนาแล้วเกิดเวทนาแบบสุดๆ (กระดูกขาแทบหัก) แล้วมันก็ดับเอง ไล่ขึ้นมาจนเหลือแต่ความรู้สึกจุดเดียวประมาณตรงระหว่างคิ้ว แค่รู้สึกระยะหนึ่ง (เรารู้ในที่มืดสนิท) แล้วมันก็คลายออกจากสมาธิ ความรับรู้ต่างๆ เริ่มกลับมา ตัวเราก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เมื่อเหตุการณ์มันผ่านไปแล้ว อยากรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้มันมีผลกระทบจิตเราอย่างใด แล้วมันเกิดขึ้นเพื่ออะไรคะ

๓/๒. กับอีกอย่างที่เราเกิดเวทนาสุดๆ เหมือนกัน (ขามันเหมือนเนื้อจะแตก) ตอนนั้นพระอาจารย์ท่านสอนให้พิจารณาอนัตตา แล้วตัวเราก็คิดขึ้นมาเองว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา มันเศร้าและน้ำตาไหล แล้วมันก็ปล่อยเวทนา เหลือแต่ความรู้สึกจุดเดียวเหมือนกัน แต่คราวนี้อยู่ในที่สว่างเหมือนเมฆสักระยะหนึ่งแล้วคลายออกมา คราวนี้มันรู้สึกสลดใจว่า มันคงคิดว่าเป็นตัวเรามานานแสนนานแล้ว หนูก็คิดเอาเองว่าครั้งนี้มันมีผลต่อจิตแน่นอน เพียงแต่ไม่รู้ว่ามีผลอย่างใด หนูคิดถูกหรือเปล่าคะ

๒ ครั้งนี้หนูเห็นว่ามันมีที่แตกต่างกันและเหมือนกัน

เหตุการณ์ข้อ ๑ และข้อ ๓ เกิดขึ้นตอนหนูภาวนายุบหนอพองหนอ

เหตุการณ์ข้อ ๓/๑ หนูภาวนาแบบยุบหนอพองหนอ

เหตุการณ์ข้อ ๓/๒ หนูพิจารณาอนัตตา

๒ ข้อนี้เกิดขึ้นที่หนูเริ่มภาวนาพุทโธ หลังจากภาวนาพุทโธแล้วมีเหตุการณ์ตามข้อที่ ๑ จนถึงปัจจุบันค่ะ มันเหมือนเอาเรื่องเก่ามาพูด แต่หนูสังเกตตัวเองว่าระยะหลังมานี้หนูฟังหลวงพ่อรู้เรื่องขึ้น ฟังแล้วมันเปรียบเทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้เลย ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ฟังแล้วมันนึกไม่ออกหรือมันไม่นึก ต่างกับเดี๋ยวนี้ที่มันมีความรู้สึก

ตอบ : อันนี้คำถามมันยาว เราอ่านให้หมดเลย เพราะมันมีหลายนัยที่เราจะอธิบาย

นัยหนึ่งพิจารณาเวทนาที่มันหยุด มันดับเลย แบบยุบหนอพองหนอ แล้วมันไม่รู้อะไรเลย กับคราวหนึ่งพิจารณาเวทนา ที่มันพิจารณาแบบอนัตตา ความรู้สึกมันแตกต่างกันไง

เอาข้อ ๑ นี่ก่อนเนาะ เอาข้อที่ว่าเขาภาวนาเริ่มต้น ว่าภาวนาพุทโธ แล้วที่ว่าเห็นคน เห็นไหม บอกว่าฟังคนอื่นเขาพูด เวลาอธิบายถึงปัญญาไง ถึงว่าที่เห็นความรู้สึกนึกคิด เขาบอกเขาเคยเห็นเหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิดของเขาเวลาเขาภาวนาพุทโธๆ ข้อที่ ๑ ภาวนาพุทโธๆ แล้วเป็นแบบนี้ ภาวนาพุทโธไปแล้ว พอเวลาจิตสงบแล้วเห็นความรู้สึกของตัว เห็นความคิดไง

ที่เขาว่าดูจิตๆ ดูจิตเขาก็พยายามจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ดูจิตคือดูความรู้สึกนึกคิด แล้วถ้าความรู้สึกนึกคิดมันปล่อยวางหดเข้ามามันก็เป็นสมาธิ พอเป็นสมาธิ พอมันเห็นความคิด นี่ความคิด เพราะความคิด จิตเห็นอาการของจิต อาการของจิตไม่ใช่จิต ตัวจิตคือตัวภวาสวะ ตัวภพ เห็นไหม ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ กิเลสสวะ อวิชชาสวะ ภวาสวะ ตัวภพ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าตัวภพคือจิตเดิมแท้ ทีนี้จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้คือตัวเองรู้จักตัวเองมันไม่มี ตัวเองรู้จักตัวเองไง แต่ความรู้สึก ความคิดมันจินตนาการต่างๆ มันเลยเห็นได้ ฉะนั้น พอจิตมันคิดเราก็อยู่ที่ความคิดกัน เราไม่เห็นความรู้สึกหรอก เราเห็นแต่ความคิด คิดแล้วมันก็เอาความรู้สึกนี้มาตกอยู่ที่ความรู้สึก อยู่ที่ตัวภพ

ฉะนั้น เวลาเราภาวนา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอเวลามันปล่อยเข้ามามันจะเป็นสมาธิ พอสมาธิ พอมันเห็นความคิดไง พอเห็นความคิดขึ้นมา เห็นไหม นี่เขาบอกว่า

ถาม : เหมือนเรายืนมองอยู่ ความคิดที่เรารู้ว่ามีใครอีกคนหนึ่งที่ปล่อยความคิดออกมา แต่เราได้แต่ยืนมอง ทำอะไรไม่ได้

ตอบ : พูดถึงถ้าสติมันทันนะ นี่สติมันทันความคิด ถ้าสติทันความคิด ความคิดมันดับ เหมือนเราบอก ทุกคนบอกว่าเรามีกิเลส แต่กิเลสอยู่ไหนไม่รู้ ถ้าเราทำอะไรผิด หรือเราคิดสิ่งใดผิดนะ แล้วเรามีสติตามความรู้สึกทันนี่เราอายนะ เวลาเราทำอะไรผิด แล้วเรารู้ว่าเราผิดนี่มันอายนะ ถ้าเรารู้ว่านี่เราทำผิดแล้ว แต่ถ้าเราทำอะไรผิดแล้วเราไม่รู้นะ แล้วมีใครมาบอกว่าเราทำผิดนะ เถียงหัวชนฝาเลย มันเถียงจนตาย เพราะมันไม่รู้ว่ามันผิดไง

เวลามันผิด มันไม่เห็นความผิดมัน ใครมาบอกว่าเราผิดนะ เถียงจนตาย เถียงหัวชนฝาเลย ไม่ผิดๆๆ เหตุผลร้อยแปดพันเก้ามันเอามายืนยันความไม่ผิดของมัน แต่จริงๆ คือผิด แต่ไม่รู้สึกตัว แต่ถ้าวันไหนรู้สึกตัวว่าผิดนะ มันอาย ไม่ต้องให้ใครบอกหรอก มันอายนะ “เออ! เราทำผิดเนาะ เราทำผิด” มันมีความละอาย

เราใช้ปัญญาตามความคิด เห็นไหม สติตามความคิดไป พอมันทัน นี่มันเห็นไง

เขาบอกว่า เหมือนมีอีกคนหนึ่งปล่อยความคิดออกมา เราได้แต่ยืนมอง เห็นไหม ยืนมองนี่สติมันทัน ถ้ายืนมอง มันมีคนที่ยืนมองเขา มันมีจิต มีความรู้สึกรู้จักความคิดไง ความคิดมันลากเราไปถูลู่ถูกังเลย ความคิดนี่มันทำให้เราทุกข์ยากมากเลย เรามีปัญญาอบรมสมาธิ

ที่ว่าดูจิตๆ ดูจิตหลวงปู่ดูลย์พูดสั้นๆ แต่ความจริงถ้าพูดคำเต็มๆ ก็คือปัญญาอบรมสมาธิ คือมันมีสติทันความคิดเข้ามา ความคิดมันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็มีผู้ยืนดู ยืนดูมันก็เห็น ถ้ายืนดู มันเห็นนะ นี่จิตเห็นอาการของจิต

แต่ถ้าคนใช้ปัญญาอบรมสมาธิ พอมันปล่อยแล้ว “อืม! ปล่อย นิพพาน ปล่อยแล้วก็เป็นนิพพาน ปล่อยแล้วก็เป็นความว่าง” เห็นไหม นั่นแหละคือสมาธิ แต่เป็นมิจฉา มิจฉาเพราะอะไร เพราะหลง ถ้ามันมีสติ มันมีสมาธิใช่ไหม มีสมาธิมันไปรับรู้นะ นี่เป็นสัมมา สัมมาสมาธิคือมันมีสติ มันมีสติ มีความรู้สึกในตัวสมาธินั้น แล้วมันเอาสมาธินั้นออกทำงาน มันเป็นประโยชน์ นี่ก็เป็นสัมมา ถ้าเป็นมิจฉานะ เป็นมิจฉามันปล่อยนะ ปล่อย “อืม! นิพพาน โอ๋ย! ว่างหมดเลย โอ๋ย! ดี๊ดี” นั่นแหละมิจฉา

มิจฉาคือหลงไง หลงความรู้สึกนึกคิดของตัวเองนั่นคือมิจฉา แต่ถ้ามันมีสัมมานะ สมาธิก็เป็นสมาธิไม่ใช่ปัญญา ปัญญาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรามีสติปัญญาแล้วจับไง เห็นไหม ใครปล่อยความคิดมา ความคิดที่ออกไปแล้วมันไปทำร้ายใครบ้าง ความคิดนี่ออกไปทำร้ายใคร ความคิดนี่ออกไปทำความดีให้ใคร ถ้าความคิดออกไปทำร้ายใคร ความคิดออกไปทำความดีให้ใคร เห็นไหม รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

ถ้าเห็นทันนะ มันปล่อย มันปล่อยเข้ามาเรื่อยๆ มันขาดได้ พอขาดได้สมาธิทำได้ชัดเจนขึ้น พอมันจับความคิดที่มันเสวยอารมณ์นะ จับอาการของใจได้ พิจารณาไปมันจะเป็นขันธ์แล้ว ถ้ามันปล่อยขันธ์ได้มันจะละเอียดเข้ามา นี่พูดถึงว่าถ้าสติมันทันความคิดนะ

ถาม : แล้วหนูก็มีความรู้สึกว่า นี่ไงที่ว่าเป็นเรา แม้แต่ความคิดเรา เรายังคุมไม่ได้เลย น้ำตาไหล

ตอบ : นี่ถ้ากำหนดพุทโธ เวลาความคิดไม่ใช่เรา จับความคิดได้ ความคิดมันยังเป็นอนัตตา มันยังเป็นเลย นี่มันมีความรู้สึกอย่างนี้ไง น้ำตาไหลเพราะเกิดธรรมสังเวชไง ถ้าพูดถึงเราทำอย่างนี้ เราพิจารณาของเราอย่างนี้มันจะเข้ามา มันจะเป็นปัญญาที่ว่าภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการภาวนา ไม่ใช่ปัญญาเกิดขึ้นจากสุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นมาจากการศึกษา

ปัญญาเกิดขึ้นมาจากจินตนาการ ถ้าปัญญาเกิดขึ้นมาจากการจินตนาการ ปัญญาอย่างนั้นมันเป็นปัญญาไหม? เป็น ไบร์ทไหม? ไบร์ทมาก อธิบายได้ชัดเจนมาก แต่ไม่ได้แก้กิเลสหรอก มันจะมาเสริมกิเลส เสริมที่ไหน เสริมที่เรารู้ไง “โอ้โฮ! ปัญญาเกิดขึ้น เรารู้ธรรมะ เราเข้าใจสิ่งต่างๆ” มันจะมาเสริมกิเลสของตัว ปัญญาอย่างนั้น สุตมยปัญญา

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญานี่มันสำรอกไง มันสังเวช มันเศร้า มันเศร้าไง เศร้าว่ากิเลสทำไมมันร้ายนัก กิเลสมันควบคุมเรา มันทำให้เราหลง พอเราทันขึ้นมานี่มันเศร้า มันเศร้า มันเห็นโทษ เห็นโทษมันก็คลาย คลาย นี่มันจะเป็นประโยชน์เข้าไป

ถ้าพุทโธนี่มันเป็นอย่างนี้ พุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิ หรือวิปัสสนามันเป็นอย่างนี้ นี่ภาวนาแบบพระป่า

แต่ถ้าภาวนาแบบมิจฉานี่มันเป็นโลกๆ โลกสร้างกลไกขึ้นมา คือสร้างระบบขึ้นมา สร้างระบบความคิดขึ้นมา สร้างสิ่งที่ตัวเองเข้าใจขึ้นมาแล้วให้เดินตามนั้น พอเดินตามนั้นเสร็จ พอจบก็เป็นโสดาบัน พอจบระบบที่เราตั้งขึ้นมาก็เป็นสกิทาคามี จบระบบที่เราตั้งขึ้นมา...นี่กิเลสมันสร้างภาพลวงขึ้นมา แล้วสร้างค่ายกลขึ้นมา แล้วเราก็ไปติดค่ายกลของตัวเอง ไปติดค่ายกลของกิเลสไง

กิเลสมันสร้างสถานะขึ้นมา แล้วเราก็ทำตามนั้นน่ะ ตามนั้นคืออะไร? ก็พุทธพจน์ไง พุทธพจน์มีอยู่แล้วไง ก็ตั้งขึ้นมาแล้วทำตาม เป็นจริงไหม? ไม่เป็น มิจฉา หลง หลงไปตามกิเลส ทั้งๆ ที่ปฏิบัติธรรมนั่นแหละ มันก็หลงตามมันไป นี่พูดถึงว่าข้อที่ ๑ เขาบอกว่าเขาภาวนาพุทโธแล้วเขามีอาการแบบนี้ ถ้ามีอาการแบบนี้มันก็ทำแบบนี้

ถาม : ๒. แต่ระยะนี้หนูจะมีเหตุการณ์ชีวิตประจำวันเกิดขึ้น แล้วหนูสังเกตตัวเองตลอดเวลาว่าเรารู้สึกอะไรไหม อารมณ์เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกจากจิตมันเหมือนปกติ แต่สักพักหนึ่งมันออกไปที่กาย พอออกไปที่กายเหมือนแข็ง

ตอบ : ความรู้สึกตัวแข็ง ความรู้สึกต่างๆ สิ่งนี้มันจะเอาสิ่งนี้มาเป็นอุปสรรคแล้ว

นี่เวลาคนภาวนาไปนะ เริ่มต้นเราจะภาวนาของเราได้ เราภาวนาของเรา เราภาวนาแล้วมันจะมีผล มีผลคือจิตของเราร่มเย็น จิตของเราเห็น นี่ธรรมโอสถไง เวลาจิตสงบขึ้นมามันก็มีหลักมีเกณฑ์ในใจ เวลาใช้ปัญญาไปแล้วมันสะเทือนหัวใจมากนะ มันสำรอก มันคาย นี่มันเป็นประโยชน์แล้ว แต่กิเลสที่มันละเอียดกว่า กิเลสที่มันละเอียดกว่าเพราะกิเลสมันตั้งตัวไม่ทัน

เวลาเราไม่เคยปฏิบัติเลย กิเลสคือมารที่มันครอบคลุมใจเรา มันใช้ความรู้สึกนึกคิดของเราอยู่ในอำนาจของมัน เราคิดตามมันไปตลอดเวลา แล้วมันก็คิดว่าเรานี่อยู่ในอำนาจของมันตลอด แต่พอเรามาปฏิบัติธรรม แล้วพอจิตของเราไปเห็นอาการต่างๆ เห็นไหม มันเศร้า มันมีความเศร้า น้ำตาไหลพรากต่างๆ กิเลสมันบอกว่า โอ้โฮ! เราพลาดไปแล้ว

นี่จิตดวงนี้ได้ปฏิบัติธรรม จิตดวงนี้มีธรรมโอสถ จิตดวงนี้รู้ถูก รู้ผิด

พอจิตรู้ถูก รู้ผิดใช่ไหม เวลาปฏิบัติไป ก่อนหน้านั้นกิเลสมันเผลอ เราก็ปฏิบัติได้ผลมาก พอกิเลสมันรู้ตัวว่าจิตดวงนี้ปฏิบัตินะ รู้ถูก รู้ผิดแล้ว กิเลสมันฟื้นมาแล้ว กิเลสมันจะครองใจนี้แล้ว พอครองใจนี้ พอเราปฏิบัติต่อไป เห็นไหม นี่จิตสงบแล้วมองไปที่กาย เห็นกายมันแข็งไง บ่าก็แข็ง พอกิเลสมันตื่นไง พอกิเลสมันตื่น ปฏิบัติไปมีอุปสรรคแล้ว นี่จิตดวงทุกดวงจิต เวลาปฏิบัติไป ถ้ากิเลสมันเผลอนะ ปฏิบัตินี่ แหม! ราบรื่น ดีงามหมดเลย พอกิเลสมันตื่นขึ้นมานะ ล้มลุกคลุกคลาน

แล้วกิเลสมันคือใครล่ะ

กิเลสคือความสะสมมาในใจ เวรกรรมของใครสร้างมาอย่างใด มันมีเวรมีกรรมจากใจดวงนั้น ฉะนั้น เวลาใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้น กิเลส นี่เวรกรรมในใจ ถ้ามันไม่ได้แสดงตน เราปัจจุบันไง ปัจจุบันเราศรัทธาในศาสนา เราศรัทธาในการประพฤติปฏิบัติ แล้วเราปฏิบัติขึ้นมาได้ผล มันสะเทือนถึงกิเลสหมดน่ะ

ฉะนั้น ถ้ามันออกมารู้ที่กาย ออกมารู้ที่ต่างๆ แล้วมันแข็ง มันเกร็ง นี่เราวางได้ เราวางได้กลับมาที่พุทโธ ถ้ากลับมาที่พุทโธๆ มันกลับไปสู่ตัวจิต

ถ้าจิตมันออกไปรู้ที่กาย นี่มันยื่นมือออกไป พอยื่นมือออกไปจับสิ่งใดแล้วมันก็ผิดพลาด ถ้าความผิดพลาด เราจะพยายามพิสูจน์มันก็จะตามแต่กิเลสมันหลอกไปเรื่อยๆ ถ้าเราปล่อยวางสิ่งนั้นแล้วพุทโธชัดๆ กลับมาสู่ที่ใจ คือเราปล่อยมือ มือปล่อยจากวัตถุที่เราจับต้อง ที่เราสงสัย มือจับต้องสิ่งใดสงสัย เราก็จะพิสูจน์สิ่งนั้น ยิ่งพิสูจน์สิ่งนั้น สิ่งที่น้ำหนักในมือนั้นจะมีมากขึ้น ความที่สงสัยมันจะมากขึ้น...วางซะ ในเมื่อวุฒิภาวะ จิตใจดวงนี้ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะพิสูจน์ตรวจสอบสิ่งใดได้ วางสิ่งนั้นแล้วพุทโธเข้ามา ปล่อยวาง

ไม่ต้องไปสงสัยว่ามันแข็งที่ไหล่ มันแข็งที่ไหน...ไม่มีอะไรแข็ง มันก็ปกตินี่แหละ แต่ด้วยทิฏฐิ ด้วยความเห็นผิด ด้วยความยึดของมัน เห็นไหม ดูสิเวลาอุปาทานมันเกิดที่ไหน มันจะมีผลไปตามนั้นน่ะ นี่กิเลสมันหลอก พอกิเลสมันตื่นแล้วมันหลอกนะ คนปฏิบัตินี่หัวปั่นหมดเลย

เราปล่อย ปล่อยว่าร่างกายมันจะแข็ง มันจะมีสิ่งใดที่ผิดปกติ มันจะเกร็งนี่ปล่อย พุทโธไว้ พุทโธชัดๆ พุทโธชัดๆ คือว่าไม่ให้กิเลสมันปล่อยจากกายมามันก็มาติดที่ความรู้สึกนะ มันติดหมดน่ะ เวลากิเลสมันตื่นแล้ว ทำอะไรไปมีอุปสรรคไปหมด พุทโธชัดๆ ไว้ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ปล่อยวาง ปล่อยให้มันชัดเข้ามา เดี๋ยวพอปล่อยแล้วนะ ไม่เห็นมีอะไรแข็งเลย ที่บ่าที่ว่าแข็ง สิ่งใดที่ว่าแข็ง ไม่เห็นมีเลย มันปล่อยหมด พอมันปล่อยหมด เพราะเป็นนามธรรม นามธรรมคือนามธรรม นามคือความรู้สึก ถ้านามคือความรู้สึก นามธรรมมันมีอะไรไปกดถ่วงมัน มีอะไรไปกดถ่วงมัน

ทีนี้นามธรรมไม่มีอะไรไปกดถ่วงมันได้ มันถึงอ้างไง มันอ้างว่าบ่ามันแข็งไง ไปดูรูปภาพนั้น ไปดูรูปภาพนี้...ปล่อยหมด ให้จิตสงบเข้ามา พอจิตสงบแล้วนะ เราพิจารณาของเรา จับสิ่งใดได้พิจารณาไปได้

เพราะสิ่งที่เราเห็นนะ เราเห็นของเรา เวลาพิจารณากาย เวลาพิจารณาเวทนา พิจารณาถึงความรู้สึกนึกคิด เวลามันเป็นอนิจจัง แม้แต่ความคิดเรายังคุมไม่ได้เลย แม้แต่สิ่งใดที่เกิดขึ้นมาเรายังคุมไม่ได้เลย มันถึงเป็นอนัตตาไง พอเป็นอนัตตามันเห็นตามความเป็นจริงไง มันก็น้ำตาไหล น้ำตาพรั่งพรูเลย

น้ำตาพรั่งพรู นี่น้ำตาที่ชำระล้าง กับน้ำตาที่สะสมนะ น้ำตาที่เจ็บช้ำน้ำใจ น้ำตาที่เกิดอย่างนี้มันจะเหยียบหัวใจนะ น้ำตาที่มันออกมาชำระล้าง น้ำตาเหมือนกัน เห็นไหม เวลาคนพลัดพรากจากกัน เวลาเจอหน้ากัน โอ้โฮ! กอดคอกันร้องไห้ มันดีใจ น้ำตาที่สุข น้ำตาที่เรามีความซาบซึ้ง กับน้ำตาที่เจ็บช้ำ น้ำตาที่มันเหยียบย่ำ เห็นไหม น้ำตาเหมือนกัน แต่มันเกิดมาจากคนละเหตุผลกัน

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาเราเห็นแล้วนี่น้ำตาไหล น้ำตาพราก นี่มันเป็นอนัตตา แต่ถ้ามันยึดมันมั่น นี่แก้ไขอย่างนี้

นี่พูดถึงว่าข้อ ๑ คือกำหนดพุทโธแล้ว

ข้อ ๒ เวลากำหนดพุทโธแล้วมันมีการเกร็ง การต่างๆ แล้ว อุปสรรคนี่ไม่ใช่อยู่ที่พุทโธ ไม่ใช่อยู่ที่สิ่งใดๆ เลย อยู่ที่กิเลสของเรา อยู่ที่เวรกรรมของเรา แล้วต้องแก้ไขตามนั้น อย่าไปโทษพุทโธ อย่าไปโทษการปฏิบัติ โทษถึงกิเลสของเรา

นี้ข้อ ๓/๑ ใช่ไหม

ถาม : หลวงพ่อคะ หนูขออนุญาตเล่าสักนิดหนึ่ง หนูเคยปฏิบัติ พิจารณาแบบเวทนาสุดๆ แบบยุบหนอพองหนอ ถึงเวลาสุดๆ มันจะดับไปเอง ดับไปแล้วไม่เหลืออะไรเลย ไม่เหลือสิ่งใดเป็นจุดเดียวหมดเลย อยู่ระหว่างคิ้ว อยู่อย่างนี้ มืดสนิท แล้วมันก็คลายจากสมาธิ ก็รับรู้เท่านี้ แล้วก็มาปฏิบัติใหม่ก็งงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งใด (นี่เป็นคำถามนะ)

ตอบ : เวลาพิจารณาเวทนา เห็นไหม เพราะการยุบหนอพองหนอ “หนอ หนอ หนอ” มันจุดใดจุดหนึ่ง เห็นไหม รู้ตัวทั่วพร้อมตามไป พวกอภิธรรมตามไปอย่างนี้จุดหนึ่ง เราใช้คำว่า “สต๊าฟจิตไว้” ถ้าจิตมันปล่อยฟุ้งซ่านมันก็ว่ามันทุกข์

นี่เรามาปฏิบัติกัน เราพุทโธๆ พุทโธต้องพุทโธๆๆ

“พุทโธมันจะได้อะไร พุทโธเป็นสมถะไม่มีสิ่งใดเลย ต้องใช้ปัญญา ปัญญาก็รู้ตัวทั่วพร้อม” หนอไปหมดเลย หนอก็หยุดไง หยุดก็สต๊าฟไว้ไง สต๊าฟไว้จุดนั้นไง ถ้าไม่ได้ ไม่ได้ก็หนออยู่นั่น ต้องช้าๆ นี่สต๊าฟจิตไว้

ถ้าจิตมันสต๊าฟไว้นะ จิตที่มันสต๊าฟไว้มันจะดำเนินการอะไรต่อไปได้ไหม แต่ถ้ามันไม่สต๊าฟไว้ ไม่สต๊าฟไว้ก็ฟุ้งซ่าน ไม่สต๊าฟไว้มันก็คิดร้อยแปดไง พอคิดร้อยแปดเราก็ไม่ให้คิดมันเป็นอิสรภาพใช่ไหม เราก็คิดจุดใดจุดหนึ่ง “หนอ ก้าวหนอ รู้หนอ เหยียดหนอ หนอๆๆ” จิตมันก็ไม่คิดต่อไปใช่ไหม สต๊าฟมันไว้

แล้วถ้าสต๊าฟมันไว้ พอมันรั้งจิตไว้ จิตนี้มันมหัศจรรย์ เป็นได้หลากหลาย พอสต๊าฟมันไว้ มันไม่คิดออกไปนอกเรื่อง มันก็ปล่อยหมด พอปล่อยหมดแล้วทำอย่างไรต่อ “อ้าว! รู้ตัวทั่วพร้อมนี่เป็นวิปัสสนา”

ไม่ใช่! เป็นมิจฉา นี่มิจฉาเพราะมันหยุดหมด

เห็นไหม นี่รู้จักเวทนา กระดูกขามันจะหัดหมดใช่ไหม เวทนาก็เวทนาหนอ ปวดหนอๆๆ ปวดจนหายปวดเลย ปวดหมด หายหมด แล้วเป็นอย่างไรต่อ เหลือจุดดำๆ หยุดอยู่เฉยๆ แล้วไปไหนต่อ ไปไหนต่อ

เพราะมันไม่เป็นวงจรศีล สมาธิ ปัญญา มีศีลเป็นความปกติของใจ พอใจปกติ นี่ทำความสงบของใจ ถ้าใจสงบแล้วออกใช้ปัญญา

ฉะนั้น ข้อ ๓/๒ เวลาข้อ ๓/๒ นะ นี่พิจารณาเหมือนกัน เวลาพิจารณา เห็นไหม พิจารณาเวทนาเหมือนกัน พิจารณาที่ขา

ถาม : ตอนนั้นท่านอาจารย์สอนว่าให้พิจารณาเวทนา

ตอบ : เวลาพิจารณาเวทนา พอจิตมันพิจารณาเวทนา บอกเวทนาสุดเหมือนกัน แต่ให้พิจารณาเป็นเวทนา นี้พิจารณาเป็นอนัตตา แล้วตัวเราก็เกิดขึ้นมาว่า

ถาม : แล้วตัวเราก็คิดขึ้นมาเองว่า ใช่ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา มันเศร้า มันน้ำตาไหล แล้วมันก็ปล่อยเวทนา เหลือแต่ความรู้สึกจุดเดียวเหมือนกัน แต่คราวนี้ในที่สว่างเหมือนเมฆ สักระยะหนึ่งแล้วคลายออกมา คราวนี้ความรู้สึกสลดใจ มันคงคิดว่าเป็นตัวของเรามานานแสนนาน หนูมีความคิดเองว่าครั้งนี้มันมีผลต่อจิตใจ

ตอบ : มันมีผลต่อจิตใจ ถ้าเราพิจารณานะ เรากำหนดพุทโธๆๆ หรือเราพิจารณาปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ พอจิตมันสงบเราจับเวทนา กาย เวทนา จิต ธรรม เวลาพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม ใครเป็นคนพิจารณา

เวลาหนอนี่หนอๆๆ รู้ๆๆ รู้จนหายไปเลย ปล่อยหมด

แต่เวลาจิตมันสงบนะ จิตมันจับ จิตนี่จับ จิตนี้เห็นกาย จิตนี้เห็นเวทนา จิตนี้เห็นจิต จิตนี้เห็นธรรม

เวลาจิตเห็นเวทนา เวทนาไม่ใช่จิต เพราะจิตมันจับเวทนา จิตเป็นผู้พิจารณาเวทนา พอพิจารณาเวทนา นี่มันปล่อยเวทนา ใครเป็นคนปล่อย? จิตเป็นคนปล่อย จิตเป็นคนปล่อยเวทนา จิตมันมีตัวของมัน พอจิตมีตัวของมัน มันก็รู้ไง นี่ไงเป็นอนัตตา เป็นอนัตตามันก็ปล่อย ปล่อยแล้วสักระยะหนึ่งมันมีความรู้สึกตัวของมัน

ถาม : นี่มันมีความรู้สึก มันมีความสลดใจ มันคงคิดว่าเป็นมันมานานแสนนาน

ตอบ : “มันคงคิดว่า” เห็นไหม ปัญญามันเกิด ตัวจิตมันเกิด

ถาม : ตัวจิตมันคงคิดว่าเป็นของมันมานานแสนนาน

ตอบ : มันนานแสนนานจนไม่มีภพไม่มีชาติไง นี่ภพชาติมันมา มันเป็นของมันนานแสนนาน แล้วพอมันรู้ขึ้นมา มันเป็นมานานแสนนานแล้วมันปล่อย ใครเป็นคนปล่อย นี่จิตมันพิจารณาเวทนา เห็นไหม

ถ้าเราพิจารณาเวทนานะ ถ้าผู้ปฏิบัติใหม่ เวลาเป็นเวทนานี่อู้ฮู! เวทนาเจ็บ เวทนาปวด เวทนาเป็นเรา พอเวทนาเป็นเรานะ มันเจ็บปวดนัก แต่ถ้าจิตมันสงบ จิตสงบมันจับเวทนา เวทนาไม่ใช่เรา จิตมันจับเวทนา เหมือนกับของร้อน แล้วมันมีเครื่องมือไปจับของร้อน เห็นไหม มันพลิกแพลงได้ แต่ถ้าของร้อน เราเป็นของร้อนล่ะ เราเป็นของร้อนล่ะ ถ้าจิตมันสงบแล้วตัวจิตมันจับเวทนา

พอจับเวทนานะ เวทนาไม่ใช่เรา มันจะพิจารณาเวทนา นี่ใครเป็นเวทนา แข้งเป็นเวทนา ขาเป็นเวทนา จิตเป็นเวทนา ตัวเราเป็นเวทนาหรือ เวทนาคือความสุข ความทุกข์ นี่จิตมันเป็นหรือ ถ้าจิตมันเป็นมันต้องอยู่กับเราตลอดไปสิ เวลามันปล่อยเวทนามันเหลืออะไรล่ะ มันเหลืออะไร

นี่ถ้าพิจารณาแบบวิปัสสนามันเป็นแบบนี้ มันไม่พิจารณาแบบหนอ

ถ้าหนอจบแล้วมันคือสต๊าฟ สต๊าฟแล้วมันไม่มีใครไปและไม่มีใครมา คือความรู้เป็นเรา ทุกอย่างเป็นเราไปหมดเลย แล้วเราก็ดับไปด้วย แล้วมันเหลืออะไร แต่ถ้าพุทโธๆๆ หรือปัญญาอบรมสมาธิมันมีตัวจิต มันมีตัวสมาธิ แล้วตัวสมาธิเป็นผู้จับกาย จับเวทนา จับจิต จับธรรมตามความเป็นจริง แล้วมันก็แยกไง แยกเวทนา เห็นไหม เวทนาเป็นเรา

เราบอกกายเป็นกาย กายมันคืออะไร นี่เห็นนิมิตก็เป็นกาย กายคืออะไร ถ้าใช้ปัญญาพิจารณา นี่กายมันเกิดอย่างไร มันพิจารณาของมันได้ มันมีผู้พิจารณา มันมีจิตเป็นผู้พิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม เวลามันปล่อย เห็นไหม กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ แล้วจิตรวมลง เวลาพิจารณาจิต ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ แล้วใครพิจารณาขันธ์ ๕ ล่ะ แล้วใครปล่อยขันธ์ ๕ ล่ะ

นี่มันแตกต่างกัน มันแตกต่างกันนะ ถ้าสติมันทันความคิด นี่มันจากความรู้สึก สติมันตามทันแล้ว ถ้ามันเป็นหนอ มันเป็นอภิธรรม มันก็เป็นเรื่องของมันไป ถ้าเรื่องของมันไป มันก็จบไปเรื่องของมัน นี่พูดถึงเขาถามว่า

ถาม : ๓/๑. พิจารณาเวทนาแบบยุบหนอพองหนอ พิจารณาจบแล้วจิตมันดับ มันดับหมด แล้วมันรู้สึกที่ระหว่างคิ้วอย่างเดียว

แต่พิจารณาเวทนา โดยที่ว่ากำหนดพุทโธแล้วพิจารณาเวทนา เวลาพิจารณาเวทนา ถ้ามันปล่อยเวทนาไปแล้วมันมีความสลด มันมีความคิดเป็นตัวเองว่าเราเป็นตัวเรามานานแสนนาน หนูคิดเอาเองว่าครั้งนี้มันมีผลต่อจิตใจแน่นอน เพียงแต่ไม่รู้ว่ามันมีผลอย่างใด หนูคิดถูกหรือเปล่าคะ

๒ ครั้งที่หนูเห็นนี้มันมีความแตกต่างกันอย่างไร และเหมือนกันอย่างไรคะ

ตอบ : เห็นเวทนาเหมือนกันแต่มันคนละชั้น เห็นเวทนาแบบหนอๆ ก็เห็นแบบโลกๆ เห็นแบบโลกียะ แต่ถ้าจิตสงบแล้วนะถ้าเห็นเวทนา นี่จิตเห็นเวทนา กับที่ว่าเราเห็นเวทนาแบบโลกๆ สรรพสิ่งเป็นเราทั้งหมด อยู่เป็นเรื่องโลกๆ แล้วปฏิบัติเป็นเรื่องโลกๆ ปฏิบัติแบบประเพณีวัฒนธรรมมันก็อยู่ในเรื่องของโลกไง เกิดขึ้นกับโลก ตั้งอยู่กับโลก แล้วปล่อยอยู่กับโลก

แต่เวลาพิจารณาแบบพุทโธ ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ จากโลก เริ่มต้นจากโลก พอพิจารณาแล้วมันก็อยู่ระหว่าง เห็นไหม ระหว่างที่ว่ามันจะเริ่มจากเป็นโลกุตตระ พอพิจารณาเป็นโลกุตตระ ถ้าพิจารณาก็เป็นธรรม เป็นธรรมมันปล่อยแล้วมันมีผู้ปล่อย ผู้รู้ ผู้เห็น แล้วมัน ยถาภูตํ เกิดญาณทัสสนะ เกิดความรู้ โอ๋ย! มันเกิดต่อเนื่องไปเลย แต่มันเป็นอะไรล่ะ? มันเป็นนามธรรม มันเป็นความรู้สึก

“ถ้าความรู้สึกแล้วก็ต้องพูดออกมาให้เป็นปริยัติสิ พูดออกมาให้เป็นพระไตรปิฎกเลย ขั้นนั้นๆ”

ปัญญาคนมันไม่เหมือนกันหรอก ปัญญาคนทำอย่างนั้นไม่ได้

ฉะนั้น ว่า

ถาม : มันแตกต่างและเหมือนกันอย่างไร

ตอบ : มันไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันที่เราทำอยู่นี่แหละ ฉะนั้น สิ่งที่เราพูดมานี่เราพูดมาเพื่อประโยชน์นะ คำถามมันถามมาอย่างนี้ เราตอบแล้ว เราตอบแล้วนะ ทีนี้ตอบอันนี้จบ

ฉะนั้น ต่อไปข้อ ๑๐๙๑.

ถาม : ข้อ ๑๐๙๑. เรื่อง “หนังสือพิจารณาจิต”

ผมได้อ่านหนังสือเล่ม “สมมุติว่าจิต” หน้า ๔๕ อาจารย์ได้กล่าวถึงหนังสือ ชื่อหนังสือ “การพิจารณาจิต” เล่มไหนครับ

ตอบ : ถ้า “สมมุติว่าจิต” เวลาคำว่า “สมมุติว่าจิต” จิตนี้เป็นนามธรรม ถ้าจิตนี้เป็นนามธรรม ถ้าจิตโดยโลกๆ มันก็คุยกันได้ แต่เวลาถ้ามันเป็นธรรมที่สูงขึ้นๆ มันเป็นอกุปปธรรม มันเหนือโลก ฉะนั้น เวลาเขาจะคุยกันเขาก็สมมุติว่าจิต เราใช้คำว่า “สมมุติว่าจิต”

แล้วถ้าจะพูดถึงเรื่องจิตให้ชัดเจน เราบอกว่า การพิจารณา เราเคยพิจารณาจิต การพิจารณาจิตนี่เคยเทศน์ไว้ แล้วพิมพ์อยู่ในหนังสือ “ปลูกดอกบัวที่ใจ” แล้ว “การพิจารณาจิต” เป็นกัณฑ์สุดท้าย มันมี ๔ กัณฑ์ในหนังสือ “ปลูกดอกบัวที่ใจ” การพิจารณาจิต อ่านเล่มนั้นแล้วก็วิถีแห่งจิต จิตที่มันเป็นไปแล้วเทียบกัน ฉะนั้น เวลาพูดถึงเราพูดเอง

ฉะนั้น เขาถามกลับมาว่า

ถาม : ผมได้อ่านหนังสือเล่ม “สมมุติว่าจิต” หน้า ๔๕ อาจารย์ได้กล่าวถึงหนังสือชื่อ “การพิจารณาจิต” เล่มไหนครับ

ตอบ : เล่ม “ปลูกดอกบัวที่ใจ” กัณฑ์ที่ ๔ กัณฑ์สุดท้าย เอวัง