ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธาตุ ๖

๒ ก.ย. ๒๕๕๕

 

ธาตุ ๖
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๑๒๖. นะ

ถาม : เรื่อง “สอบถามความเห็น”

๑. ความรู้สึกเป็นเพียงแค่ธาตุใช่ไหมครับ?

๒. ตอนนี้รู้สึกว่าเรายิ่งสู้กับกิเลสมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็จะเอาเราคืนแรงเหมือนที่เราทำมัน เดินจงกรมทีไรน้ำตาไหล สงสารตัวเอง แต่ก็นึกถึงหลวงพ่อ หลวงตา หลวงปู่

๓. บางครั้งผมสอนหนังสือแล้วเกรงว่า ใช้ความคิดความเห็นของเรามากเกินไป เพราะพอทำภาวนามากขึ้นรู้สึกว่าตัวเองโหดกว่าเดิมครับ จะไม่ทำอะไรเลยก็สงสาร สมัยนี้เอาแต่ปัญญาความรู้แต่เรื่องชีวิต ไม่มีใครใส่ใจสอนเลย

๔. ขอบคุณหลวงพ่อมากครับ เวลาหลวงพ่อพูดถึงความพยายาม ผมน้ำตาไหลทุกทีเลยครับ จะตั้งใจภาวนาสร้างเหตุต่อไป ทุกข์ยากนะครับหลวงพ่อแต่สุขใจ

(นี่เขาถามข้อที่ ๑. ไง)

ข้อ ๑. ความรู้สึกเป็นเพียงแค่ธาตุใช่ไหมครับ?

ตอบ : ถ้าพูดถึงทางปริยัตินะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงธาตุ ๔ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เราเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะมันเป็นพื้นฐานธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดในพระไตรปิฎก เวลาพูดถึงความละเอียดลึกขึ้นท่านจะพูดถึงธาตุ ๖ ธาตุ ๖ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุรู้ อากาศธาตุ อากาศ อากาศในโพรงกระดูก

ธาตุรู้เป็นธาตุอันหนึ่ง ธาตุ ๖ เวลาธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ เราเข้าใจได้ แต่พอธาตุ ๖ นี่อากาศธาตุ คืออากาศในโพรงกระดูก นี่อากาศคืออวกาศ แล้วเวลาธาตุรู้ เห็นไหม นี่เขาบอกว่า

ถาม : ความรู้สึกเป็นเพียงธาตุใช่ไหมครับ

ตอบ : ถ้าพูดถึงปริยัตินี่ใช่ แต่เวลาพูดถึงปฏิบัติมันละเอียดกว่านี้เยอะมากเลย เวลาธาตุรู้ เวลาพูดถึงธาตุรู้ เวลาพูดถึงความรู้สึกเราก็เทียบถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าธาตุรู้ก็ความรู้สึกเรานี่ไง ความรู้สึกนี่ไง แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา นี่ครูบาอาจารย์บอกว่าถ้าอยากจะรู้จิตของตัวเองให้กั้นลมหายใจไว้ เวลาเรากั้นลมหายใจไว้มันไม่คิด กั้นลมหายใจไว้นั่นแหละคือตัวธาตุรู้ แต่เราปล่อยลมหายใจสิมันคิดไปร้อยแปดเลย แล้วร้อยแปดอย่างนี้มันเป็นธาตุรู้ไหม?

ทีนี้ธาตุรู้นี่มันมีธาตุรู้อย่างหยาบ ธาตุรู้อย่างกลาง ธาตุรู้อย่างละเอียด ถ้าธาตุรู้อย่างหยาบๆ นี่ใช่ เวลาจิตเราเข้าอัปปนาสมาธินี่ใส นี่ธาตุรู้ แต่ แต่กิเลสเต็มหัว กิเลสมันเต็มหัว แต่ถ้าเป็นธาตุรู้ล่ะ? เวลาหลวงตาท่านปฏิบัติไปแล้วนะท่านใช้คำว่า “ธรรมธาตุ” ธาตุรู้นี่กลายเป็นธาตุธรรม แล้วธาตุธรรมมันทำอย่างไรถึงเป็นธาตุธรรมล่ะ?

ฉะนั้น ถ้าบอกว่าความรู้สึกนี้เป็นธาตุใช่ไหม? ใช่ในปริยัติ ในปริยัติคือทางวิชาการไง ทางวิชาการคือเราตั้งชื่อให้ แต่ความตั้งชื่อให้ นี่นายสมชาย สมชายๆๆ สมชายมีเป็นหมื่น เป็นแสน สมชายเป็นโจรก็มี สมชายเป็นคนดีก็มี สมชายเป็นเศรษฐีก็มี สมชายเป็นขอทานก็มี อ้าว สมชายเหมือนกัน นี้คำว่าธาตุรู้ไง คำว่าธาตุรู้ๆ ก็เหมือนชื่อ แต่สมชายที่เขาเป็นคนดี สมชายที่เขาเป็นเศรษฐี สมชายที่เขามีความสุข สมชายที่เป็นคนดีนี่ก็ชื่อหนึ่ง ธาตุรู้ ถ้าธาตุรู้อย่างหยาบๆ นี่มันทุกข์ทนเข็ญใจมันก็ธาตุรู้ของมันเหมือนกัน นั้นธาตุรู้ที่มีกิเลสไง

ฉะนั้น ถ้าเราทำความสงบของใจเข้ามา กิเลสสงบตัวลง เห็นไหม ถ้ากิเลสไม่สงบตัวลงเป็นสมาธิไม่ได้ นี่สมาธิที่เป็นไม่ได้เพราะมันฟุ้งซ่าน มันฟุ้งซ่าน ความคิดมันแผ่กระจายไปทั่ว นี่เวลามันออกรู้ ถ้าเวลามันจะสงบมันรวบเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามาหมดเลยเป็นสักแต่ว่ารู้ ถ้าสักแต่ว่ารู้ นี่ธาตุรู้ ธาตุรู้แต่ถ้าเป็นสมาธิล่ะ? สัมมาสมาธิ เห็นไหม ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ สมาธิกับความรู้สึกนี้แตกต่างกันไหม?

ถาม : ความรู้สึกนี้เป็นเพียงแค่ธาตุใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ มันเริ่มต้นจากการใช้ปัญญา การใช้ปัญญาเราศึกษาเป็นปริยัติมา แต่เวลาเราปฏิบัติมาเราก็พยายามวิจัย วิจัยความรู้สึกของเรา ถ้าวิจัยความรู้สึกของเรา นี้คืออะไร? ถ้าบอกว่าเวลามันเหนื่อย มันเมื่อย มันล้านี่คือเวทนา เวลามันเศร้า มันหมองนะบอกว่านี่คือเวทนา พอบอกเวทนานี่นะมันหยุดเลย พอบอกเวทนามันปล่อย แต่ถ้าเรายังไม่รู้จักชื่อมัน เวลาเราเมื่อย เราล้ามันก็หงุดหงิด แล้วเวลามันยิ่งทุกข์ใจนะมันยิ่งหงุดหงิดใหญ่เลย แต่บอกนี่คือเวทนามันจบเลยนะ พอเวทนานี่หยุดทันทีเลยนะ มันไม่คิดต่อ

นี่ก็เหมือนกัน ถามว่าความรู้สึกนี้เป็นธาตุรู้ใช่ไหม? ถ้าความรู้สึกนี้เป็นธาตุรู้ ถ้าเราใช้ปัญญามา เออ เป็นธาตุรู้ ถ้าธาตุรู้ก็อยู่กับผู้รู้นี่นะอย่าคิดไปนอกเรื่อง มันไม่คิดออกไป นี่ถ้าเป็นการวิจัย การพิจารณาจิตอย่างนี้ใช่

ถาม : ความรู้สึกเป็นเพียงธาตุใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ แล้วคำว่าใช่นี่นะ เวลาปฏิบัติเริ่มต้นเราก็ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมะๆ นี่อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดสุด มันจะละเอียดมากไปกว่านี้ ทีนี้คำว่าใช่ คำว่าใช่เพราะมันใช่จริงๆ นั่นแหละ แต่เวลามันพัฒนาขึ้นไปแล้วนะมันจะละเอียดไปกว่านี้ ถ้าละเอียดไปกว่านี้ ปฏิบัติมันจะมีคุณสมบัติมากกว่านี้ อย่างเช่น นี่เวลาหลวงตาท่านพูดบ่อย เวลาท่านปฏิบัติใหม่ๆ นะล้มลุกคลุกคลานทุกข์มาก ท่านบอกว่าเริ่มต้นจิตเสื่อมนะ จาก ๑ ปีกับ ๕ เดือนจิตมันเสื่อม ท่านบอกไม่มีทุกข์ใดในโลกนี้เท่ากับจิตเสื่อมครั้งนี้เลย

เวลาจิตมันเสื่อมมันไม่มีทางไปเลยนะ มันทุกข์ร้อนมาก ทุกข์ร้อนมาก ไม่มีใครจะแก้ไขนะก็ไปหาหลวงปู่มั่น นี่พอไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นแก้ไข พอแก้ไขขึ้นมา พอท่านกำหนดพุทโธ พุทโธจนเข้ามาสงบได้ ตั้งแต่บัดนั้นท่านไม่ยอมทิ้งพุทโธเลย นี่อยู่กับสิ่งนี้ได้ ฉะนั้น เวลาที่เราปฏิบัติไป เห็นไหม เวลามันทุกข์มันร้อน เวลามันทุกข์ร้อน มันทุกข์มันยากมาก นี่เอาสิ่งนี้มาวิจัยได้ เอามาวิจัยได้ นี่เวลาจิตมันเสื่อม จิตมันทุกข์ จิตมันร้อน เวลาปฏิบัติไปแล้ว นี่ถ้าเป็นธาตุรู้ๆ แล้วมันเสื่อมมันเสื่อมไปไหนล่ะ? เวลามันเสื่อมมันเสื่อมไปหมดเลย

ฉะนั้น เวลาบอกว่า “ไม่เคยมีทุกข์ใดในชีวิตนี้เท่ากับจิตเสื่อม” จิตเสื่อมนี่ทุกข์ร้อนมาก แต่ก็หาทางแก้ไขๆ เราจะบอกว่าเวลามันหยาบๆ นะ เวลาจิตมันคิดประสามันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราเคยทำความสงบของใจเข้ามาแล้ว ถ้ามันเสื่อมไปเราก็ทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ธาตุรู้ ธาตุรู้มีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ถ้าเราบอกว่าอันนี้ใช่ คำตอบแค่นี้ใช่ไหม? แล้วพอต่อไปเวลามันไปเห็นธาตุรู้ที่มันละเอียดขึ้นมา แล้วนี่มันคืออะไร?

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า

ถาม : ความรู้สึกเป็นเพียงธาตุใช่ไหมครับ?

ตอบ : ใช่ แต่ธาตุที่มันใช่เพราะมันเป็นธาตุรู้ ธาตุที่มีชีวิต มันมหัศจรรย์มากนะเวลาภาวนาเข้าไป เราศึกษาตัวเราเอง ศึกษาหัวใจของเรานี่มหัศจรรย์มาก แล้วพอศึกษาความเป็นไปของจิต ถึงเวลาแล้วเวลามันถึงที่สุดนะมันยิ่งมหัศจรรย์เข้าไปใหญ่เลย มหัศจรรย์เข้าไปมหาศาลเลย พอมหาศาลแล้ว พอมหัศจรรย์แล้วนะ

นี่ดูสิเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปนะ เวลาพระอานนท์บอกว่า

“ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้วจะไปพึ่งใคร? จะไปที่ไหน?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ เราไม่ได้เอาสมบัติของใครไปเลย เราเอาสมบัติของเราไปเท่านั้นเอง”

นี่สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมและวินัยคือทฤษฎี คือกิริยาของธรรม สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอน ชี้เข้าไปถึงใจของผู้ที่ปฏิบัติ สิ่งนั้นจะเป็นที่พึ่งของเธอ อันนี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าเวลาเราปฏิบัติไป สิ่งที่ว่าเป็นธาตุรู้ๆ เห็นไหม สิ่งที่มีชีวิต สิ่งที่ความรู้สึกนึกคิดอันนี้ เวลาถ้ามันละเอียดเข้าไปเรายังมีโอกาสที่มันจะพัฒนาขึ้นไปมากกว่านี้ไง

ฉะนั้น เริ่มต้นการใช้ปัญญา เขาถามว่า

ถาม : ความรู้สึกเป็นเพียงธาตุใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ ใช่แล้วถ้าเราดำเนินการต่อไปมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะมันเป็นแค่ธาตุ ถ้าเราเข้าไปสู่ความรู้สึกอันนี้ แล้วถ้ามันออกใช้ปัญญานะเราก็ใช้ปัญญาของเราไป ถ้ามันเป็นธาตุ ๖ ธาตุ ๖ นะ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุและธาตุรู้ นี่ธาตุ ๖ ธาตุ ๔ ธาตุ ๖ มันก็เหมือนอายตนะ เห็นไหม อายตนะภายนอก อายตนะภายใน อายตนะ ๖ อายตนะภายนอก อายตนะภายในก็เป็น ๑๒ อายตนะอีกเป็น ๑๘ อายตนะมันก็มีหลายซับหลายซ้อน อายตนะภายนอก ภายใน

นี่ก็เหมือนกัน เขาบอกว่าความรู้สึกเป็นเพียงธาตุใช่ไหม? ความรู้นอก ความรู้ใน แล้วธาตุรู้นอก ธาตุรู้ในมันจะพัฒนาไป เรายังเปิดกว้างต่อไปไง แต่ถ้าเราใช้ปัญญาของเรา แล้วเราเห็นตามความเป็นจริงของเราว่าความรู้สึกนี้เป็นเพียงแค่ธาตุรู้ใช่ไหม? ใช่ เพราะอันนี้คือผลงาน ผลงานของใจดวงนั้นที่ใช้ปัญญาแล้วรู้ได้อย่างนี้ พอรู้ได้อย่างนี้ปลื้มมากนะ คนเราใช้ปัญญาไปแล้ว ถ้ามันตอบโจทย์ในใจปลื้มมากเลย นี่คือปัจจัตตัง สมบัติส่วนตนไง ตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เขาทำวิจัยแล้วเขามีผลงานของเขา เขาจะมีความสุขของเขา นี่คือผลงานของเรา

ถาม : ความรู้สึกในใจเป็นเพียงแค่ธาตุใช่ไหม?

ตอบ : ใช่ แต่ถ้าเวลาปฏิบัติไปแล้วนะ ตามทฤษฎีนี่ธาตุ ๖ แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วมันจะละเอียดกว่านี้ เพราะธาตุรู้นี้ถ้ามีสัมมาสมาธิ ถ้ามีสติขึ้นมาแล้วมันจะออกใช้ปัญญาของมัน แล้วถ้ามันชำระล้างตัวมันเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปนะ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้จะเป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” นี่ข้อที่ ๑

ถาม : ๒. ตอนนี้รู้สึกว่าเรายิ่งสู้กับกิเลสมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็จะเอาเราคืนแรงเหมือนที่เราทำกับมัน เดินจงกรมทีไรน้ำตาไหล สงสารตัวเอง แต่ก็นึกถึงครูบาอาจารย์เพื่อเป็นที่พึ่ง

ตอบ : นี่ถ้าเราไม่ได้ภาวนา เราจะไม่รู้จักกิเลสของเรา แล้วเราจะไม่เห็นกิเลสของเรา แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่าสิ่งที่เป็นกุศล อกุศล สิ่งที่เป็นอกุศลคือความไม่ดี นี่เป็นกิเลสๆ เราก็ว่ากิเลสมันเป็นอย่างไร? กิเลสมันเป็นอย่างไร? เราก็ว่าเราถูกต้องดีงามหมดแล้ว ทำดีก็ทำดีทุกอย่างแล้ว ทำไมมันทำแล้วมันไม่ได้ผลสิ่งใดเลย?

นี่เพราะอันนั้นเราได้แต่ชื่อมันมา เราไม่เคยเห็นตัวกิเลสไง แต่เวลาเราภาวนาขึ้นไป เห็นไหม ถ้าจิตมันสงบแล้วมันเห็นกิเลส กิเลสเวลาเราพิจารณาไป เวลาจิตมันสงบใช้ปัญญาพิจารณาไปมันปล่อยวาง พอมันปล่อยวาง มันปล่อยวางนั่นแหละคือเราไง เสื้อผ้านะ ผ้าของเราสกปรกมาก ไม่เคยซัก ไม่เคยดูแลเลย มันก็อยู่อย่างนั้นแหละ นี่ผ้าขี้ริ้วเช็ดเท้านะ เช็ดแล้วเช็ดอีก เช็ดแล้วเช็ดอีกนะ แต่เอาผ้าขาวมาวางสิ พอฝุ่นมันลงไปแล้วนี่เห็นความสกปรกทันทีเลย

ใจของเรานี่เราไม่เคยพัฒนาเลย ใจของเรานี่เราไม่เคยดูแลมันเลย เราก็ไม่รู้หรอกว่าใจของเราเวลามันไปกระทบสิ่งใดก็ว่าไม่เป็นไรๆๆ แต่ใจของคนภาวนานะ นี่ที่ว่าหูหาเรื่องๆ พอผ้าสะอาด สิ่งสกปรกเข้าไปเปื้อนหน่อยเดียวมันจะเห็นชัดเจนเลย จิตใจของเรานะถ้าเราทำความสงบของใจ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ เราใช้ปัญญาพิจารณา เวลามันปล่อยวางๆ นี่เราเริ่มซักผ้า เราเริ่มชำระล้างใจของเรา ถ้าเราเริ่มชำระล้างใจของเรา เราจะรู้ว่าสิ่งที่กลิ่น ความสกปรกที่มันเจือจางจากผ้าเราไป นี่คือกิเลส ทีนี้พอกิเลสมันโดนชำระล้าง กิเลสมันโดนรุกมันรู้แล้ว มันรู้ว่าใจดวงนี้ ใจดวงที่มันอาศัยอยู่นี่ฝักใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติ ฝักใฝ่ในธรรม กิเลสกลัวธรรมๆ ไง

หลวงตาพูดบ่อย “กิเลสนี้กลัวธรรมมาก กิเลสไม่กลัวสิ่งใดเลย กิเลสกลัวแต่ธรรมะเท่านั้น”

ธรรมะคืออะไร? ธรรมะคือศีล สมาธิ ปัญญา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญานี่กิเลสมันกลัว พอมันฝึกหัด พอกิเลสมันเริ่มกระเทือนแล้ว นี่มันก็เริ่มจะต่อสู้ ฉะนั้น เวลาปฏิบัติไปตรงนี้สำคัญนะ สำคัญที่ว่าทุกคนปฏิบัติไป พอเราปฏิบัติแล้วกิเลสจะตบมือให้เรา กิเลสจะเชียร์เรา กิเลสจะบอกว่าให้เราฆ่ามันเลย (หัวเราะ) ไม่เคยเห็น อ้าว เราปฏิบัติเราก็เรียกร้องกันอย่างนั้นใช่ไหม? ทำความดีต้องได้ความดีสิ ทำสมาธิต้องได้สมาธิสิ สร้างปัญญาขึ้นมา ปัญญาก็ต้องคมกล้าสิ ทำแล้วมันก็ต้องได้ผลสิ ทำความดีก็ต้องความดี

ใช่ธรรมะเป็นแบบนี้ แต่กิเลสมันเป็นศัตรู กิเลสมันเป็นฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามเขาจะยอมให้เราชำระเขาโดยง่ายดายมันมีที่ไหน? แล้วมันเป็นบ้านเป็นเรือนของเขา กิเลสอาศัยอยู่บนหัวใจของเรานะ ถ้ากิเลสมันอาศัยอยู่บนหัวใจของเรา แล้วธรรมะรุกเข้าไปนี่มันยอมไหม? ดูสิเวลาเขารุกที่กัน รุกที่ไปที่ข้างเคียง ข้างเคียงเขายอมไหม? เขาไม่ยอมหรอก เขาไม่ยอมหรอก

นี่ก็เหมือนกัน เวลาธรรมะมันเริ่มขยับตัว เห็นไหม รุกล้ำเข้าไป เวลากิเลสมันรู้ตัวขึ้นมา นี่มันเอาคืนไง คนจะพูดอย่างนี้ได้มันต้องแบบว่าเห็นจริงไง เวลาเราต่อสู้กิเลสมากเท่าไหร่ กิเลสก็เอาคืนแรงเท่านั้น หลวงตาท่านพูดหนักกว่านี้นะ บอกว่า “ถ้ากิเลสมันหลับอยู่ เราภาวนานี่ดี๊ดี ภาวนาเจริญงอกงาม ภาวนาดีมากเลย แต่ถ้ากิเลสมันงัวเงียเฉยๆ นะ งัวเงียขึ้นมาเราก็ล้มแล้ว มันยังไม่ทันตื่นเลย แล้วถ้ามันตื่นขึ้นมานะ มันตื่นขึ้นมานี่เลิกเลย”

เออ เราเป็นฆราวาสก็ทำบุญได้ มานั่งสมาธินี่ลำบากมากเลย ออกไปแค่ทำบุญก็พอแล้ว เวลามันตื่นมันยกเลิกเลยไง มันทำให้เราไม่ทำเลย พอเราไม่ทำนะกิเลสมันก็ยิ้ม เพราะอะไร? เพราะศัตรูที่จะไปสู้กับมันไม่มี เหมือนเชื้อโรค เชื้อโรคถ้าไม่มียาไปกำจัดมัน มันก็สบาย ถ้าเชื้อโรคมียาเข้าไปกำจัดมัน มันก็ต้องหาทางต่อต้าน กิเลสก็เป็นแบบนี้

ฉะนั้น สิ่งที่บอกว่าเวลามันเอาคืน มันเอาคืนเราแรงมากเลย มันเอาคืนเราแรงมาก ถ้าเอาคืนเราแรงมากนะ กรณีอย่างนี้คนที่ปฏิบัติแล้วมันจะรู้ นี่เราจะพูดถึงหลวงตาบ่อยมาก เพราะหลวงตาท่านทำ แล้วท่านพูดถึงความฝังใจของท่าน ท่านบอกนะเวลาต่อสู้กับกิเลส เวลามันสงบได้ก็ดีใจ แต่ถ้ากิเลสมันแข็งแรงขึ้น มันเอานะ มันเอาจนเราน้ำตาไหลเลยล่ะ พอน้ำตาไหลเราก็รู้อยู่เราอยากทำความดี แต่เราทำความดีทำไมเราทำไม่ได้ล่ะ? พอเราทำไม่ได้แล้วนะท่านบอกท่านนั่งน้ำตาไหล เออ เอ็งเอากูแรงขนาดนี้นะ กูจะจำไว้ แล้วกูจะไม่ลืม แล้วกูจะสู้กับมึง พอสู้กับมันนี่นั่งตลอดรุ่ง อดอาหารจนตัวเหลือง นี่สู้กับมึง ก็สู้กับความรู้สึกเรานี่แหละ

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา”

มันก็อยู่ในจิตใจของเรานี่แหละ อยู่ในจิตใจของเรานะ ยิ่งเราคนที่เข้มแข็ง คนที่มีปัญญานะกิเลสมันฉลาดกว่านั้น เพราะมันเอาปัญญาของเราพลิกกลับมาทำลายเราเอง ฉะนั้น พอเราจะสู้กับมัน เราจะสู้อย่างไร? ถ้าจะสู้อย่างไร ถ้าเรามีปัญญาของเรา เห็นไหม ท่านพูดบ่อยว่าเวลาเราไปสู้เสือมือเปล่า สู้เสือมือเปล่า เราจะไปสู้กับเสือไม่มีอะไรไปสู้เลย เข้าไปนะมันตบเอาเลือดสาดเลย เวลาเสือมันตบเอา แล้วเราไปสู้อะไรกับมันล่ะ? เราก็ต้องฝึกของเราสิ ฝึกของเรานะ ฝึกหัดสติของเรา ฝึกหัดปัญญาของเรา ถ้าเรามีอาวุธแล้วมันตบมาเราก็หลบสิ เรามีอาวุธมันตบมาเราก็ตบมันสิ

นี่คำพูดอย่างนี้ ถ้าคนปฏิบัติแล้วนะ เวลามันเข้าไปเผชิญแล้วสิ่งนี้มันสะเทือนใจ แต่ถ้าจิตมันดีมันมีอย่างนี้ ถ้าจิตมันไม่ดีมันถอยกรูดๆ นะ เวลาจิตมันไม่ดีมันถอยกรูดๆ เลย ถ้าเราภาวนา เขาบอกว่า

ถาม : ถ้าความรู้สึกสู้กิเลสแรงมากขนาดไหน มันก็เอาคืนแรงมากขนาดนั้น

ตอบ : เวลามันเอาคืนมันเอาคืนที่แรงกว่า ถ้าแรงกว่านะเราก็บอกว่า เออ อย่างนั้นเรายอมมันดีกว่า อย่างนั้นเราอยู่ไปเพื่อชีวิตนี้ดีกว่า

ฉะนั้น ดูในสังคมคนปฏิบัตินะ เวลาปฏิบัติ ๔ ปี ๕ ปีมุมานะมาก สุดท้ายแล้วก็ปล่อยเลยมันไม่ไหว มันปล่อยไปเลย แต่ถ้าคนมีสติปัญญานะมันจะสู้ของมันไปเรื่อยๆ สู้ของมันไปเรื่อยๆ แล้วสู้ไปแล้วมันจะเห็นแบบนี้ เห็นแบบนี้แล้วนะ นี่หลวงตาท่านบอกว่าเวลามันเอาเรานะล้มลุกคลุกคลานเลยจนนั่งร้องไห้ มึงเอากูขนาดนี้เชียวหรือ? มึงเอากูขนาดนี้เชียวหรือ? เสียใจไง เสียใจกับที่เราไม่สามารถสู้มันได้ เสียใจกับที่เราแพ้

เราตั้งใจดีนะ เราตั้งใจเพื่อจะประพฤติปฏิบัติเพื่อจะพ้นจากกิเลส เพื่อจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ แต่พอมาปฏิบัติเริ่มต้นนี่ล้มลุกคลุกคลาน แล้วก็เสียใจเพราะมันไม่มีอะไรจะไปต่อกรกับมันเลย แต่ แต่มันมีดีที่ว่ามีหลวงปู่มั่นเป็นโรงงานใหญ่ ท่านว่าอย่างนั้นเลย มีหลวงปู่มั่นเป็นโรงงานใหญ่ มีหลวงปู่มั่นเป็นพี่เลี้ยงไง เป็นพี่เลี้ยง เวลาแพ้ขึ้นมาก็มาฟ้อง เหมือนเด็กๆ ไปฟ้องแม่เลย แม่ๆ หนูโดนรังแก แม่ๆ หนูโดนรังแก นี้เวลาสู้ไม่ไหวก็วิ่งกลับไปหาอาจารย์ วิ่งกลับไปหาอาจารย์ อาจารย์ก็สอนมา สอนมามันก็เข้มแข็งมา เข้มแข็งมาจนสิ้นสุดแห่งทุกข์ได้

นี้ทุกดวงใจนะ พวกเราปฏิบัติ เราก็แปลกใจว่าครูบาอาจารย์ของเราทำไมท่านปฏิบัติราบรื่น ทำไมพวกเราทุกข์ยากกัน ทำไมครูบาอาจารย์ท่านราบรื่น จริงๆ แล้วราบรื่นมันมีจริงหรือ? ไม่มีหรอก ทุกข์ยากทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าท่านจะเอามาเล่าให้เราฟัง หรือไม่เอามาเล่าให้เราฟังเท่านั้นเอง ถ้าท่านเอามาเล่าให้เราฟัง ก็เล่าให้เราฟังไว้เป็นคติเตือนใจไง ดูพระอรหันต์แต่ละองค์สมบุกสมบันมาแค่ไหน ทุกข์ยากมาแค่ไหนกว่าท่านจะชำระกิเลสของท่านได้แต่ละขั้นแต่ละตอน แล้วเวลาท่านสมบุกสมบันมาขนาดนั้น แล้วเวลาพวกเราจะแบบว่าชุบมือเปิบมันจะเป็นไปได้อย่างไร? แล้วเวลาปฏิบัติไปแล้ว สิ่งที่เขาเขียนนี่เพราะเขาทำแล้วเขาเห็นไง พอเขาเห็นขึ้นมานี่ถามมา ถามมามันก็เป็นประโยชน์อย่างนี้

นี่เขาสอบถามความเห็น นี่ข้อที่ ๒ เห็นไหม เวลากิเลสมันเล่นเราไง ขณะที่เราปฏิบัติเราไม่เจอมันนะ เราก็ยิ้มย่องผ่องใส อืม ปฏิบัติเก่ง ปฏิบัติดี ตลอดรุ่งก็นั่งได้ ภาวนาก็ทำได้ ทุกอย่างทำได้หมดเลย คือยังไม่เจอกิเลสไง พอไปเจอมันเท่านั้นแหละ เพราะถ้ายังไม่วิปัสสนาคือยังไม่เจอมัน เราพยายามทำสมถะคือทำความสงบของใจให้มันเข้มแข็งขึ้นมา แล้วเราฝึกหัดใช้ปัญญาคือเข้าไปเผชิญกับมัน พอเผชิญกับมันแล้วเราก็ใช้ปัญญาต่อสู้ ถ้ามันถูกต้องดีงามมันก็สงบตัวลง คือมันปล่อย แล้วต่อสู้เรื่อยๆ เข้าไป ต่อสู้เรื่อยๆ เข้าไป

จนถึงที่สุดเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี ถึงที่สุดแห่งทุกข์มันจะเป็นไปข้างหน้า แล้วไปข้างหน้านะ นี่เริ่มต้นพื้นฐานมันยังหลอกเราขนาดนี้ มันยังกลับเอาแรงขนาดนี้ แล้วถ้าไปข้างหน้านะมันจะขุดหลุมพรางไว้เลย นี่คือนิพพาน มันจะหลอกเข้าไปเลยให้ตกหลุมมันแล้วบอกนิพพาน แล้วถ้าสติเราไม่ทันนะเราก็ไปนอนอยู่ในหลุมนั่นแหละ เออ นิพพาน นิพพานอยู่ในหลุมนี่ไง หลุมนี่เป็นนิพพาน กิเลสมันหลอกอย่างนี้ มันจะล่อข้างหน้านะ พอจะมามันก็ไม่ให้มา พอเราปฏิบัติดีขึ้นไปนะมันก็จะขุดหลุมล่อไว้เลย

นี่อันนี้เป็นนิพพานนะติดหมดแหละ ติดทั้งนั้นแหละ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยช่วยเหลือนะ แล้วคอยให้คำแนะนำนะมันจะไปติดกับมันหมดเลย แต่ถ้าเรามีสติปัญญาแล้วเราสร้างบารมีมานะมันจะทดสอบกับปริยัติ คือธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มรรค ๔ ผล ๔ ๑ ๒ ๓ ๔ มรรค ๔ ผล ๔ จริงหรือเปล่า? ดีหรือเปล่า? เป็นไปได้หรือเปล่า? เทียบเคียงไป เทียบเคียงมาคือไม่เชื่อ ไม่เชื่อใดๆ ทั้งสิ้น

นี่ไม่เชื่อเลย กาลามสูตรไม่เชื่ออะไรเลย เชื่อความจริง แล้วความจริงถ้าเราไม่มีเราจะเอาความจริงมาจากไหน? ถ้าจิตเราไม่เป็นเราจะเอาอะไรมาเทียบเคียง ไม่มี นี่สิ่งที่มีคือสัญญาทั้งหมด สัญญาคืออากาศธาตุ คือความจำมา ไม่มีตัวจริง ถ้ามีตัวจริงแล้วเอาตัวจริงมาเทียบ พั่บ พั่บ พั่บ ถ้ามันเข้ากันได้ อืม ถูก ถ้ามันเข้าไม่ได้เราขาด เราบกพร่อง บกพร่องก็ต้องสู้ต่อไป ฉะนั้น ถ้ามันเอาคืนขนาดไหน ถ้าเรามีกำลังของเรา เราก็ต้องสู้ของเราต่อไป

ถาม : ๓. บางครั้งผมสอนหนังสือแล้วเกรงว่า ใช้ความคิดความเห็นของเรามากเกินไป เพราะพอเราภาวนามากขึ้นรู้สึกว่าตัวเองโหดกว่าเดิม จะทำอะไรก็สงสาร

ตอบ : นี่พอถึงทางสองแพร่ง ทางแพร่งหนึ่งคือทางโลก ทางแพร่งหนึ่งคือทางธรรม ทางสองแพร่งใช่ไหม? เพราะเราต้องสอนหนังสือ ถ้าเราสอนหนังสือเราก็ต้องทำของเราเต็มที่ ทำของเราเต็มที่เลย นี่บอกว่าเวลาสอนหนังสือต้องใช้ความคิดมาก ต้องใช้ความคิดมาก ก็หน้าที่ ทำแล้วก็วางไว้ตรงนั้น ถ้าวางไว้ตรงนั้น เวลาภาวนาเราก็มาภาวนาของเรา ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ถ้ามาภาวนาของเรา จิตเราสงบมันใช้ปัญญาขึ้นไป เราจะไปสอนหนังสือเราจะมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ คือสิ่งที่เป็นธรรมบวกเข้าไปในการสอนของเรา

อาจารย์ที่ดีนะเขาสอนหนังสือด้วย สอนให้คนเป็นคนดีด้วย การสอนหนังสือเราให้วิชาการเขา แต่ถ้าการดำรงชีวิตของเรา เห็นไหม โดยทั่วไปเวลาครูเขาสอนนักเรียนนะ เขาดูดบุหรี่ นักเรียนห้ามดูดบุหรี่นะ แล้วก็ (ฟืดๆ )นักเรียนมันเชื่อไหมล่ะ? นักเรียนไม่เชื่อหรอก เหล้า บุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่ดีนะหนู เหล้า บุหรี่ไม่ดีนะ (ฟืด) คือตัวอย่างที่ไม่ดีเด็กมันก็จำ แต่ถ้าบอกว่าเหล้า บุหรี่ไม่ดีนะเราไม่แตะเลย เหล้า บุหรี่ไม่ดีนะ อาจารย์ก็ไม่ดูด อาจารย์ก็ไม่กินนะ เหล้า บุหรี่มันไม่ดีนะ เป็นตัวอย่างที่ดีไง นี่เราสอนเขาด้วย แล้วสอนให้เขาเป็นคนดีด้วย

ฉะนั้น สิ่งที่ว่าเวลาเราสอนหนังสือเราต้องใช้ความคิด ความคิดก็ใช้ความคิด แล้วถ้ามันภาวนาได้นี่มันวางได้ ทางสองแพร่ง เพราะว่าถ้าพูดตอนนี้แล้วมันจะเข้าสู่พระไตรปิฎก ในพระไตรปิฎกทุกข้อนะ ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย วินัยนี้บัญญัติเพื่ออะไร? บัญญัติไว้เพื่อกดขี่คนที่แข็งกระด้าง ส่งเสริมคนที่ดี เพื่อความอยู่สงบร่มเย็นของสังคมสงฆ์ เพื่อประโยชน์กับคนที่ศรัทธาแล้วให้ศรัทธามากขึ้น เพื่อป้องกันคนที่ศรัทธาแล้วไม่ให้เสื่อมศรัทธา แล้วข้อสุดท้าย เห็นไหม นี่ข้อสุดท้ายปฏิบัติไว้เพื่อการปฏิบัติสม่ำเสมอ การที่ปฏิบัติไม่สม่ำเสมอมันจะไม่ถึงธรรมนี้ไง

นี่กรณีนี้มันเหมือนกัน มันเหมือนกันหมายความว่าเวลาเราไปสอนหนังสือ พอเราสอนหนังสือขึ้นมาเราก็ใช้ความคิดของเราใช่ไหม? ใช้ความคิดของเราเพราะมันเป็นหน้าที่การงานของเรา แต่เวลาเรามาปฏิบัติล่ะ? นี่มาปฏิบัติเพราะว่าย้อนกลับมาที่พระไตรปิฎก จะพูดคำนี้ก่อน คำที่ว่าทางของคฤหัสถ์เป็นทางที่คับแคบ ทางของนักบวชเป็นทางที่กว้างขวาง

อยู่ในพระไตรปิฎกทุกข้อเลย ทางของนักบวชเป็นทางที่กว้างขวาง เพราะว่ามันทำหน้าที่ นักบวช เห็นไหม บวชมาเพื่อประพฤติปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมงมันได้ภาวนา แต่ทางของคฤหัสถ์เป็นทางคับแคบ คับแคบเพราะเราต้องทำหน้าที่การงาน อย่างเช่นสอนหนังสือ เราสอนหนังสือก็อาชีพของเรา ถ้าอาชีพของเรานี่เราสอนหนังสือ พอสอนหนังสือเสร็จแล้วเราค่อยมาภาวนา นี่มันคับแคบตรงนี้ไง หน้าที่การงานเอาเวลาเราไปครึ่งหนึ่ง แล้วเราปฏิบัติครึ่งหนึ่ง แล้วปฏิบัติครึ่งหนึ่งเรายังต้องดำรงชีวิตของเราอีก

ฉะนั้น ทางโลกถึงเป็นทางคับแคบ คับแคบในการปฏิบัติ ทีนี้เราอยู่ในทางโลก นี่ทางโลกทางมันจะคับแคบขนาดไหน เราก็ต้องพยายามให้ทางของเรากว้างมากขึ้น เราก็ต้องรู้จักบริหารจัดการของเรา เราต้องวางเวลาสอนหนังสือที่เวลาเราสอนแล้วมันมีสิ่งใดเกิดขึ้น กรณีนี้นะมันย้อนกลับมาหลวงตา หลวงตาท่านบอกว่าวัดของท่านไม่ให้รับกิจนิมนต์ ถ้ารับกิจนิมนต์ไปแล้ว หนึ่งไปกลับมาก็ ๓ ชั่วโมง

ท่านพูดบ่อยในเทปไปฟังสิ ท่านบอกว่ากว่าจะไป กว่าจะกลับมาท่านจับเวลาเลยนะ เวลาไปรับกิจนิมนต์กลับมาแล้วท่านจับเวลาว่าพระนี่ออกไปฉันข้างนอก เวลากลับมาถึงวัดแล้วล้างบาตร เช็ดบาตรเสร็จ ไปกลับใช้เวลาเท่าไหร่? วันหนึ่งมันเอาเวลาไป ๓-๔ ชั่วโมง ท่านถึงไม่รับกิจนิมนต์เลย อยู่ที่บ้านตาดไม่มีกิจนิมนต์ ถ้าใครนิมนต์เป็นผู้ที่แบบว่ามีผลประโยชน์ หรือว่าเป็นคนที่เคยมีบุญคุณต่อกันมาท่านจะไปของท่านองค์เดียว ท่านไปองค์เดียวเพื่อไม่ให้ใครไปด้วยไง นี่มันเอาเวลาไปหมดไง

ฉะนั้น ไม่ให้มีกิจนิมนต์ กิจนิมนต์มันเอาเวลาของพระไป ฉะนั้น กิจนิมนต์เอาเวลาของพระไป แล้วพระบวชมาทำไมเห็นแก่ตัว ทำไมไม่ช่วยสังคมโลก ช่วยเหลือ ช่วยเหลือเพราะอะไร? เพราะสังคมนี่พระมันมีเยอะแยะไป พระที่เขารับกิจนิมนต์ เขารอรับกิจนิมนต์มากมาย แต่พระที่อยากจะพ้นจากทุกข์ พระที่อยากประพฤติปฏิบัติเราต้องเปิดโอกาสให้เขา ถ้าเปิดโอกาสให้เขา ถ้าเขาทำของเขาได้ เห็นไหม นี่มันจะเข้ามาตรงนี้ มันเป็นทางสองแพร่งนะ อยู่ที่แบบว่าหน้าที่การงานเราต้องทำ ทำแล้วเราจะวางอย่างไร? ถ้าเราวางได้ เวลาปฏิบัติมันจะดีขึ้น แล้วพอปฏิบัติดีขึ้นแล้ว ใจเราดีแล้ว เวลาเราจะไปสอนหนังสือมันเมตตานะ ย้อนกลับมาเขาบอกว่า

สมัยนี้เอาแต่ปัญญาความรู้ แต่เรื่องชีวิตไม่มีใครสนใจเลย แล้วเราสนใจหรือเปล่าล่ะ? ถ้าเขาไม่สนใจเราก็ต้องสนใจของเรา ถ้าเราสนใจของเราแล้ว ถ้าเรารู้แจ้งแล้วเราจะพูดให้เขาได้ ร่มโพธิ์ร่มไทรนะ ถ้าร่มโพธิ์ร่มไทร นกกามันจะอาศัย ร่มโพธิ์ร่มไทร ใต้ร่มโพธิ์นั่นน่ะมันเป็นที่ร่มเย็น คนจะไปพักพิง พึ่งพิงได้ ถ้าพักพิง พึ่งพิงได้ เห็นไหม ถ้าเขาไม่สนใจเราก็ต้องสนใจก่อน ถ้าเราสนใจแล้ว เราเป็นที่พึ่งพิงของคนอื่นได้ มันจะเป็นประโยชน์ได้

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนยังพึ่งตัวเองไม่ได้ แล้วใครจะมาพึ่งเราล่ะ? เพราะเรายังพึ่งตัวเองไม่ได้ คนต้องพึ่งตัวเองให้ได้ก่อน ถ้าเราพึ่งตัวเองได้ ใครๆ ก็จะมาพึ่งพาอาศัยเราได้ ถ้าเราเกิดปัญญา เราเกิดมีการกระทำ เราเกิดมีการรู้จริงขึ้นมา เห็นไหม เราพึ่งตัวเองได้ ถ้าเราพึ่งตัวเองได้เราถึงจะสั่งสอนได้ ถ้ากรณีนี้มันก็เหมือนกับเวลาเขามานิมนต์เรา เวลาพูดพูดอย่างนี้ เวลาเขานิมนต์ไปเทศน์ไม่ยอมไป ใครมานิมนต์ก็ไม่ไป

มีคนมานิมนต์ไปเทศน์เยอะนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่มีใครสนใจ มีคนมานิมนต์เยอะ ไม่ไป อย่างไรก็ไม่ไป เพราะหลวงตาท่านพูดอย่างนี้ เอาน้ำพริกไปละลายทะเล อย่าว่าแต่แม่น้ำเลย เอาน้ำพริกไปละลายทะเล เพราะเวลาไปสังคมโลกเขาคิดอย่างหนึ่ง แล้วธรรมะของเรา ถ้าเวลาเราพูดแล้วเราต้องพูดความจริง ถ้าพูดความจริงแล้วก็กระเทือนกันหมด โอ้โฮ ด่าขนาดนี้เชียวหรือ? ก็นิมนต์มาเทศน์ พอเวลาเทศน์มันบอกว่าด่า โอ้โฮ ด่าแรงมากเลย อ้าว ก็นิมนต์มา ฉะนั้น เลยไม่ไปด่าใคร ไม่ไปด่าใครเลย ใครมานิมนต์ก็ไม่ไป

ย้อนกลับมาที่เวลาบอกเขา แต่เวลาบอกเขาทำไมบอกเขาอย่างนี้ล่ะ? บอกเขาว่าถ้าเวลาเราไปสอน ถ้าเรามีคุณธรรมเราจะสอนเขาได้เยอะ ก็ในเมื่อโลกมันเป็นแบบนี้ไง แต่ในเมื่อถ้ามันเป็นธรรมนะ เขาว่าธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลก ธรรมเหนือโลกมันมองไปที่ไหนมันก็เห็นแต่ความบกพร่อง ถ้าเห็นความบกพร่องนี่จะบอกหรือไม่บอก

ถ้าไม่บอก มันก็เหมือนกับเราเจอทรัพย์แล้วไม่บอกเขาว่านี่คือทรัพย์ คือความบกพร่องของเขามันเป็นความเสียหายของเขา ถ้าเราบอกเขาคือความผิดพลาดของเขา ถ้าเขาปิดซะทรัพย์ก็เกิดกับเขา แต่ถ้าเราไม่บอกเขาล่ะ? แต่ถ้าบอกเขาไปมันสมควรไหมล่ะ? บอกเขาไปก็บอกว่าไปจับผิดเขา อ้าว ถ้าไม่บอก ไม่บอกก็บอกว่าไม่ชี้ทรัพย์สมบัติให้เขาอีก อ้าว แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะ? บอกก็ผิด ไม่บอกก็ผิด ฉะนั้น ไม่ไปไหนเลย ไม่ไปดีกว่า ไม่ต้องยุ่งกับใคร ฉะนั้น อันนี้เราคอยดูนะแล้วรักษาของเราเอง

ถาม : ๔. ขอบคุณหลวงพ่อมาก เวลาหลวงพ่อพูดถึงความพยายาม น้ำตาผมมันจะไหลทุกครั้งเลยครับ ผมจะตั้งใจภาวนาสร้างเหตุต่อไป

ตอบ : ทีนี้ปฏิบัติแล้วมันก็สุขใจ อันนี้มันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของคน ถ้าอำนาจวาสนาบารมีของคนนะ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์แล้วมันสะเทือนใจเรานะ ขนนี่ลุกหมดเลย คนนั้นมีโอกาส เขาเรียกว่าธรรมะมันเข้าสู่ใจ เวลาครูบาอาจารย์เทศน์นะ พูดจนเหนื่อยเลย ไอ้เราฟังแล้วว่าไม่เห็นเทศน์สักที เทศน์วันนี้ไม่เข้าใจเลย เทศน์วันนี้ไม่เห็นสะเทือนใจเลย แหม เทศน์วันนี้จื๊ดจืดไม่เห็นเอาไหนเลย จิตใจมันหยาบ มันรับไม่ได้ ถ้าจิตใจมันดีนะ เวลาเทศน์มานี่มันสะเทือนใจน้ำตาไหลนะ ถ้าน้ำตาไหล เห็นไหม นี่ธรรมะเข้าสู่ใจ ถ้าธรรมะเข้าสู่ใจมันสะเทือนหัวใจมากนะ

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ไม่ต้องเทศน์หรอก ท่านแสดงกิริยาท่านเห็น บางทีเราซึ้งมาก สะเทือนใจนะ พอมันสะเทือนใจ คนถ้ามันสะเทือนใจมันก็อยากจะขวนขวายทำ มันอยากขวนขวายนะ คนเรานี่เหมือนนักมวยเลย ระฆังไม่ดังสักที ระฆังไม่ดังสักทีมันชกมาจนเกือบตายแล้ว ชกมาจนเดินก็เดินไม่ไหว หมดแรง หมดทุกอย่างเลย ระฆังไม่ดังสักที ดังมันจะได้พักไง ถ้ามันดังปั๊บ เป้ง เออ พักยกมันก็สบายใจหน่อย ระฆังไม่ดังสักที เกือบตายแล้ว นี่ถ้ามันมีครูบาอาจารย์มันเป็นแบบนี้ เหมือนมีระฆังไง

เราพูดบ่อยนะกับหมู่คณะ เพื่อนๆ พระนี่จะบอกเขา บอกว่าเวลาเมื่อก่อนอยู่บ้านตาดนะเรามีหลวงตา มีครูบาอาจารย์เหมือนเชือก เราเหมือนนักมวย มันได้พิงเชือก เวลาเราหมดแรงนะเราได้พิงเชือก ถ้าศัตรูเข้ามานะ เราได้เชือกพยุงตัวเราออกไปสู้กับมันใหม่ เรามีครูบาอาจารย์ เราคิดของเราอย่างนั้นตลอดนะ เวลาอยู่กับครูบาอาจารย์เหมือนนักมวย เวทีนี่มันพิงได้ หลบได้ พิงได้ อาศัยเกาะได้ นี่มันใช้ได้ไง

ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์เทศน์ เพราะเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เวลาท่านเทศน์ ถ้ามันสะเทือนใจนะมันสะเทือนใจมาก ขนนี่ลุกหมดเลย อย่างท่านเทศน์ บางทีคนนี่น้ำตาไหลๆ นั่นแหละมันเข้าสู่ใจ แล้วหลวงตาท่านสอนประจำ บอกว่าถ้าแสดงธรรมนะ ถ้าเป็นธรรมที่จริง ต้องพูดความจริง ไม่ลูบหน้าปะจมูก จมูกต้องขาดไปเลย ต้องพูดความจริงอย่างเดียว แล้วถ้าพูดความจริงมันเสียมรรยาทสังคม มรรยาทสังคมเขาห้ามพูดแทงใจดำกัน ต้องพูดด้วยมรรยาทสังคม พูดยกยอปอปั้นไง คนนี้ดี๊ดี คนนี้ยอดคน แต่ถ้าเป็นธรรมะนะใส่เข้าไปหัวใจเลย ซากศพเดินได้ ซากศพเดินได้

คนไงมันเดินมาโดยไม่มีสติ เหมือนซากศพ ถ้าเราบอกว่าเราเป็นซากศพที่เดินได้ โกรธไหม? โกรธทันทีเลย ซากศพที่ไหนยังมีชีวิตอยู่ ยังเดินได้อยู่ ท่านบอกซากศพเดินได้ คิดสิมันขาดอะไรไป? มันขาดสติ ขาดความระมัดระวัง ขาดปัญญา ขาดความรอบคอบ ขาดทุกอย่างเลยเหมือนซากศพ เวลาซากศพเดินมา นี่เวลาพูดไปพูดตรงนี้เพื่ออะไร? พูดเพื่อแทงใจดำ ถ้าแทงใจดำนะแทงถึงขั้วหัวใจ ขั้วหัวใจเวลามันสะเทือน เห็นไหม ถ้าเป็นซากศพเดินได้นะมันก็สั่นเลย มันสะเทือนมาก พอสะเทือนมากมันก็ตั้งสติ

ถ้าพูดแสดงธรรมท่านบอกว่าต้องพูดจี้เข้าไปที่ใจดำ เพราะกิเลสมันอยู่ที่นั่น แต่โดยมรรยาทสังคม เจริญพรๆ ไม่กล้าพูดแทงใจคน ถ้าแทงใจคนเป็นการเสียมรรยาทสังคม แต่ถ้าเป็นธรรม นั้นคือการแสดงธรรม สุดยอดของธรรม คือมันพุ่งเข้าสู่ใจดำ มันพุ่งเข้าสู่หัวใจ มันสะเทือนหัวใจให้คนคนนั้นสะดุ้ง ถ้ามันสะดุ้งขึ้นมามันจะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิด โปรแกรมมันจะเปลี่ยน โปรแกรมที่ย้ำคิดย้ำทำจนเป็นจริต เป็นนิสัย

เดินจงกรมวันละ ๕ นาที นั่งสมาธิก็นั่งพอเป็นพิธี นั่งเสร็จแล้วก็บอกว่านั่งสมาธิก็ไม่ได้สมาธิ เดินจงกรมแล้วก็ไม่ได้อะไรเลย นี่มันทำของมันอยู่อย่างนั้นแหละวันละ ๕ นาที ๑๐ นาที เวลามันโดนธรรมะจี้เข้าไปใจดำ พอจี้ใจดำ อืม เราทำน้อยเกินไป เราทำอย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง เราทำอย่างนี้เราต้องพัฒนาขึ้นมา เห็นไหม มันไปเปลี่ยนโปรแกรม เปลี่ยนความคิด คนที่วันละ ๕ นาทีมันก็เพิ่มเป็นครึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง มันก็พัฒนาขึ้น

ถ้าธรรมะเข้าไปถึงใจมันเปลี่ยนโปรแกรมเลย มันเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดเลย มันพัฒนาตัวมันไปเลย นี่ถ้าพูดอย่างนี้แล้วมันเป็นประโยชน์ไหม? เป็น ถ้ามันเป็นประโยชน์แล้ว แล้วทำไมไม่พูดล่ะ? เพราะพูดไม่ได้มันเสียมรรยาท ไปแทงใจดำเขาได้อย่างไร? ไม่มีมรรยาทเลย พอไม่มีมรรยาทมันก็เลยกลายเป็นธรรมะอย่างนั้นไปตลอดใช่ไหม? แต่ถ้าเป็นความจริงก็เป็นความจริงอย่างนี้

ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : ๔. ขอบคุณหลวงพ่อมากเวลาพูดถึงความพยายาม

ตอบ : นี่ถ้าพูดถึงความพยายามเพราะอะไร? เพราะมันทำมาอย่างนี้ไง คนเราทำมาอย่างนี้ ได้ผลมาอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ได้ผลอย่างนี้ ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านพูดจนน่าเบื่อนะ ตอนนี้เราก็รู้สึกว่าเบื่อเหมือนกันแล้ว พูดทุกวัน แล้วต่อไปก็เจริญพรแล้วแหละ ต่อไปก็ต้องเจริญพรบ้างแล้ว เพราะพูดมาพอแล้ว เพราะพอเจริญพรขึ้นมาก็ อ้าว ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา เริ่มต้นก็พูดธรรมะไง พอจบท้ายก็กลายเป็นบ้องกัญชา อันนั้นมันเป็นจริตนิสัยของคนนะ

ฉะนั้น ถ้าเขาพูดอย่างนี้ บอกว่า

ถาม : ขอบคุณมากพูดถึงความพยายามทีไร ผมน้ำตาไหลเลย คำว่าน้ำตาไหลเลยมันสะเทือนใจไง นี่ปัญหาคือว่าสอบถามความเห็น คือปฏิบัติขึ้นมาแล้วมันมีความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ แล้วปฏิบัติ นี่สอบถามมาว่าความเห็นแบบนี้ถูกต้องไหม? ถ้าความเห็นนี้ถูกต้องไหม นี่เอามาพูดให้ฟังว่าถ้าไม่มีธรรมในใจเลยมันฟังแล้วหงุดหงิด ฟังแล้วเป็นการติเตียน เป็นการกล่าวร้าย ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดเลย แต่พอจิตใจเป็นธรรมขึ้นมา เห็นไหม นี่พอฟังหลวงพ่อพูดทีไรน้ำตาไหลๆ

น้ำตาไหล เพราะ เพราะว่ามันเป็นทางเดียวกัน มรรคโคทางอันเอก ทางมีเส้นเดียว พระอรหันต์นะ เอตทัคคะ ๘๐ องค์ เวลาจะสิ้นกิเลสนะอาสวักขยญาณเหมือนกัน เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อภิญญา ๖ พระอรหันต์ทุกประเภท สุกขวิปัสสโกว่าแห้งแล้งๆ มันก็มรรคญาณเหมือนกัน มันต้องเป็นมรรค ๘ เหมือนกัน แล้วสมุจเฉทปหานกิเลสขาดเหมือนกัน ทางมีทางเดียวแล้วตรวจสอบได้ ถ้าพูดไม่เหมือนกันต้องคนหนึ่งผิด ถ้าพระอรหันต์กับพระอรหันต์ทะเลาะกันนะต้องมีพระอรหันต์องค์หนึ่งผิดแน่นอน เอวัง