ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เหตุและปัจจัย

๑๖ ก.ย. ๒๕๕๕

 

เหตุและปัจจัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ข้อ ๑๑๔๓. เนาะ

ข้อ ๑๑๔๓. เรื่อง “ทำไมสติจึงมีๆ หายๆ ไม่ต่อเนื่อง”

๑. กระผมฝึกกำหนดสติ รู้สึกตัวในอิริยาบถมาประมาณ ๒ ปี ทำไมสติมันขาดๆ หายๆ บางวันก็หายไปหลายชั่วโมง บางวันหายไปไม่ถึง ๑๐ นาที ทำไมถึงเป็นแบบนี้?

๒. การพิจารณาขันธ์ ๕ เราควรพิจารณาในลักษณะใดครับ ผมใช้หลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือรูปไม่เที่ยง รูปเป็นทุกข์ รูปไม่ใช่ตัวตน ถูกต้องไหมครับ

๓. ความเป็นอยู่ทางโลกยังขาดแคลน จะแก้ปัญหาด้วยหลักธรรมข้อไหนดีครับ

ถาม : ข้อ ๑. กระผมฝึกกำหนดสติ รู้สึกตัวในอิริยาบถมาประมาณ ๒ ปี ทำไมสติมันขาดๆ หายๆ ไปครับ

ตอบ : เพราะว่าการกระทำของเรา นี่เพราะเราเชื่อ เราเชื่อผู้นำ เราเชื่อผู้สั่งสอน บอกว่าเราต้องรู้อิริยาบถตลอดเวลา เรารู้การเคลื่อนไหวตลอดเวลา รู้แล้วมันทำอย่างไรต่อไปล่ะ? แต่ถ้าเป็นกรรมฐานนะ กรรมฐานจะบอกว่าให้กำหนดพุทโธ พุทโธ ต้องทำจิตให้สงบ ถ้าจิตสงบแล้ว มันออกมารับรู้มันจะชัดเจนกว่า แต่ถ้าเราบอกว่าเรารู้อิริยาบถทุกอิริยาบถด้วยปัญญาของเรา นี่มันดีตอนเริ่มต้น

ดีตอนเริ่มต้นหมายความว่าถ้าจิตมันฟุ้งซ่าน จิตมันออกนอกลู่นอกทางมันก็จับให้เข้ารูปเข้ารอย เข้ารูปเข้ารอยเท่านั้นแหละ เพราะ เพราะมันเป็นมิติเดียวกับโลก คือโลกียปัญญา เรื่องโลก โลกคือสิ่งที่เป็นสามัญสำนึก สามัญสำนึกมันอยู่แค่นี้ แล้วสติมันก็ขาดๆ หายๆ เพราะมันไม่มีคำบริกรรม มันไม่มีคำบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามีปัญญาอบรมสมาธิ มีปัญญาอบรมสมาธิเพราะมีสติ

มีสติ พอปัญญาอบรมสมาธิก็ความคิดเหมือนกันแต่มันปล่อย มันมีสติพร้อมขึ้นมา จิตมันปล่อยเข้ามันจะรู้ตัวของมัน ถ้ารู้ตัวของมันมันก็ต้องมีสติ สติมันก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเวลามันขาด เวลามันเผลอมันก็ต้องฝึกหัดไป แต่ถ้าอิริยาบถเรารู้ตัวทั่วพร้อมตลอดเวลา เราเข้าใจกันว่ามันเป็นวิปัสสนา มันเป็นปัญญา พอเป็นปัญญาแล้วทำไมสติมันขาดๆ หายๆ ล่ะ? ขาดๆ หายๆ เพราะว่าเราฝึกงานนะ เราเคยฝึกงานที่ไหนก็แล้วแต่ เราฝึกงานแล้วต้องให้หัวหน้าเขาเซ็นว่าเราฝึกงานผ่านหรือไม่ผ่าน แล้วฝึกงานแต่ละงาน ก็เป็นของบริษัทนั้นแหละ

นี่ก็เหมือนกัน ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราฝึกของเราๆ เราฝึกของเรามันไม่เข้าถึงสัจจะ มันไม่เข้าถึงจิตของเรา ถ้าเข้าถึงจิตของเรามันจะเข้าไปสู่ความสงบ แล้วความสงบนั้นเวลาทำสิ่งใดแล้วผลมันจะเกิดกับเรา มันเป็นปัจจัตตัง ปัจจัตตังหมายถึงว่าเป็นงานของเราไง ถ้าเป็นงานของเรา เราทำสิ่งใดขาดตกบกพร่องเราก็รู้ ถ้าเราประสบความสำเร็จเราก็ได้ผลตอบแทน ถ้าเราขาดทุนเราก็ไม่ได้ผลตอบแทน แล้วยังเข้าเนื้อเราอีกด้วย

นี้ปฏิบัติก็เหมือนกัน แต่นี้เราบอกว่าเราไปรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวทั่วพร้อมมันเป็นการฝึกงาน ฝึกงานโดยธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จิตเรามันไม่มีหลักมีเกณฑ์ นี่มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวจะมีต่อไปข้างหลัง

ถาม : ๒. การพิจารณาขันธ์ ๕ เราควรพิจารณาในลักษณะใดครับ ผมใช้หลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ตอบ : เห็นไหม มันก็พิจารณาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่พิจารณาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้ามันเป็นปัญญาอบรมสมาธิมันจะเห็นอย่างนี้ได้ แล้วมันปล่อยเข้ามา ถ้าปล่อยเข้ามา การพิจารณาขันธ์ ๕ นี่มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิถ้ามันเป็นสัมมาทิฏฐิ แต่ถ้ามันคิดว่าสิ่งนี้เป็นการวิปัสสนา สิ่งนี้เป็นการแก้ไขกิเลส สิ่งนี้เป็นขันธ์ ๕ พิจารณาขันธ์ ๕ โดยการสร้างภาพ พิจารณาขันธ์ ๕ โดยอุปาทาน เพราะมันไม่ใช่ขันธ์ ๕ จริง เพราะตัวขันธ์ ๕ ตัวขันธ์ ๕ เพราะเรามีความรู้สึกนึกคิดมันถึงอยู่ด้วยขันธ์

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณคือความรู้สึกนึกคิด แล้วเราเอาความรู้สึกนึกคิดไปพิจารณาขันธ์ ๕ นี่มันไม่เข้าถึงตัวจิต แต่ถ้าเราพิจารณาขันธ์ ๕ ด้วยสติปัญญานี่มันปล่อย ปล่อยขันธ์ ๕ เข้ามามันไปสู่ตัวจิต คือมันว่างๆ มันมีสติพร้อม มันมีความรู้สึกตื่นเต้น นี่ตัวนี้คือตัวจิต แล้วตัวจิตเห็นอาการของจิตคือเห็นขันธ์ ๕ ถ้าเห็นขันธ์ ๕ พิจารณาขันธ์ ๕ ตามข้อเท็จจริงนี่เป็นงานของเรา แต่เราพิจารณาขันธ์ ๕ ด้วยความรู้สึกนึกคิดของเรา เพราะเราไม่เคยทำความสงบของใจ เราไม่เคยกำหนดพุทโธ เราไม่มีคำบริกรรม เพราะจิตเรามันไม่สงบเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสิ่งที่มันจะเป็นโลกุตตรปัญญา เป็นปัญญาที่ภาวนามยปัญญามันไม่เกิดขึ้น

พอไม่เกิดขึ้นเราก็พิจารณาของเราด้วยว่า พิจารณานี่ขันธ์ ๕ ด้วยเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นความรู้สึกนึกคิด เป็นสัญชาตญาณ มันไม่ได้เป็นความจริงขึ้นมา พิจารณาอย่างนี้ไป พิจารณาแล้วมันก็ว่าเป็นปัญญาๆ ปัญญาของโลกไง ปัญญาแบบฝึกหัด การฝึกหัดอย่างนี้มันก็เป็นอย่างนี้ มันก็เลยบอกว่า คำถาม หัวข้อนะ “ทำไมสติมันจึงมีๆ หายๆ ไม่ต่อเนื่อง”

มันมีต่อเมื่อเรามีสติพร้อม พอสติเรามันอ่อนด้อยลง หรือการกระทำของเรามันไปสู่ทางตันของมัน มันก็เวิ้งว้างไปหมด มันเป็นความตัน เวิ้งว้างหมายความว่ามันไม่เข้าใจ มันปล่อยวางโดยความเข้าใจผิด นี่พูดถึงว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นไง นี่พูดถึงข้อที่ ๒

ถาม : ๓. ความเป็นอยู่ทางโลกมันขาดแคลน จะแก้ปัญหาด้วยทางธรรมอย่างใด?

ตอบ : ความเป็นอยู่ทางโลกขาดแคลน ถ้าใจมันไม่ขาดแคลน จะไม่มีสิ่งใดขาดแคลนเลย สิ่งที่มันขาดแคลน คนเกิดมา เห็นไหม คนเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน เพราะคนเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองมา แต่เขาไม่สนใจทางศาสนาเลย เขาเกิดมาเสียชาติเกิด เกิดมาเป็นมนุษย์คาบช้อนเงินช้อนทองมา มีความสุขทั้งนั้น

ในพุทธกาลนะ ในพระไตรปิฎกที่ว่ามี ๓ สกุลที่เป็นเศรษฐี มีเงิน มีทองมาก แล้วเอาเงินนี่ไปซื้อลูกซื้อเมียคนอื่นไง ถึงเวลาตายไปแล้วตกนรก เห็นไหม ตกนรกอเวจี เขาเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองมา แต่ถ้าเขาไม่สนใจของเขา เขาอยู่ด้วยความเป็นโลกของเขา ถ้าอยู่ด้วยความเป็นโลกของเขา นี่มันจะเป็นประโยชน์สิ่งใด? เราเกิดมาเราขาดแคลน เราขาดแคลนปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าขาดแคลนปัจจัยเครื่องอาศัยเราจะแก้ปัญหาด้วยธรรมะอย่างใด?

เราแก้ปัญหาด้วยธรรมะว่าเราทำมาเอง เราทำมาเอง เราทำมาเองนะเรายังเกิดมามีอาการ ๓๒ ครบบริบูรณ์ เรายังเป็นมนุษย์สมความเป็นมนุษย์ เรามีสติปัญญาของเราที่เราจะหาเงินหาทองของเรา เราทำหน้าที่การงานของเราด้วยสติ ด้วยปัญญาของเรา ด้วยอาการ ๓๒ ของเรา เราจะขาดแคลนขนาดไหนแต่เรายังมีมือมีเท้า เรายังมีสติปัญญาที่เราจะหาอยู่หากินของเรา นี่ถ้ามันคิดได้อย่างนี้นะมันก็มีสติขึ้นมา มันก็พอใจในสภาพที่เรามีอาการ ๓๒ ครบสมบูรณ์ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาเราจะหาอยู่หากินของเราด้วย นี่แก้ด้วยธรรมแก้ด้วยอย่างนี้ไง แล้วถ้าทำสิ่งใดทำเพื่อประโยชน์กับตัว เพื่อประโยชน์กับความเป็นอยู่ของเรา

เวลาพระนะบวชมา นี่พระบวชมา บิณฑบาตได้มา ได้มานี่มันสันโดษ ยังมักน้อยเอาแต่น้อย ถ้าใครบิณฑบาตได้สิ่งใดมาก็ฉันเอาตามธาตุขันธ์ของตัวที่พอใจ เสร็จแล้วก็ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง เสร็จแล้วก็เอาหัวทิ่มบ่อ สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์อะไร? แม้แต่บิณฑบาตได้มาแล้วเขายังรู้จักมักน้อย ยังรู้จักมักน้อยเพราะอะไร? เพราะสิ่งนั้นเป็นเรื่องของโลก ใครๆ ก็แสวงหาได้ ใครๆ ก็มีได้ปัจจัยเครื่องอาศัย แต่หัวใจสิ หัวใจที่มันเข้มแข็ง หัวใจที่มีหลักมีเกณฑ์ เราเอาชนะตัวเราเองได้ เราหาของเรามาเองนะ

บิณฑบาตมาด้วยปลีแข้ง พอได้สิ่งใดมาแล้วนะ นี่ฉันแค่คำเดียว ๒ คำ ๓ คำเท่านั้นเอง ฉันเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ภิกษุฉันอาหารเหมือนกับหยอดล้อเกวียนเพื่อไม่ให้มีเสียงดังเท่านั้นแหละ ถ้าขณะเวลาภาวนานะอดอาหารเลย ผ่อนอาหารเลยเพื่ออะไร? ก็เพื่อให้จิตใจมันก้าวเดิน เพื่อพัฒนาหัวใจของเรา ฉะนั้น เรื่องโลกมันเป็นส่วนประกอบ เพราะเราเกิดมาเป็นมนุษย์ไง เรามีร่างกายอาการ ๓๒ เหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไป แต่เรามีจิตใจที่เรายังแสวงหาของเราอยู่

นี้พูดถึงเรื่องโลกนะ เราเกิดมาเป็นมนุษย์เท่ากัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ไอ้สมบัติพัสถานจะมีมากมีน้อยนั้น มันเป็นเรื่องวาสนาของเราเกิดมาในชาติ ในตระกูลใด แต่เกิดมานี่เกิดมาเท่ากัน มีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน ฉะนั้น มีสติปัญญาคิดมาได้แล้วนะมันจะมีกำลังใจขึ้นมา แล้วอย่างที่การภาวนาก็ภาวนาอย่างที่ว่ากันไป นั้นมันเป็นเรื่อง เพราะมันจะมีข้างหลังอีก ข้างหลังจะมีปัญหานี้มา

ต่อไปข้อ ๑๑๔๕. นะ

ถาม : นั่งสมาธิเพื่อดูเวทนา นั่งได้ ๒ ชั่วโมงกว่า เหงื่อออกมากเต็มตัว ไม่อยากจะเลิก อยากจะดูว่ามันเป็นอย่างไร แต่ต้องไปทำงานจึงต้องหยุด ทำไมเหงื่อถึงออกมากมาย พอเลิกนั่งแล้วก็ไม่มีเหงื่อ เวลานั่งสมาธิ ไม่ได้ภาวนาพุทโธแต่ดูลมหายใจ เมื่อเย็นแล้วไม่มีอะไรก็ตามดูเวทนาแทน รู้สึกว่าสนใจดีกว่าดูตัวโยก แต่เวลาเดินจงกรมตามดูลมไม่ได้ พุทโธก็ไม่ได้ไม่สงบ ต้องฟังธรรมคือภาวนาว่า “ขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” ซ้ำๆ เร็วๆ ตลอดเวลา เพราะชอบไปคิดเรื่องอื่น หลวงพ่อเมตตาช่วยแนะนำด้วย

ตอบ : พอนั่งสมาธิไปแล้ว เห็นไหม นานๆ ไปเกิดเหงื่อออก พอเหงื่อออกแล้วทำไมเหงื่อออกมากๆ เวลาเลิกแล้วทำไมเหงื่อมันหาย อาการแบบนี้มีทุกคน อาการแบบนี้เหมือนที่ว่าแผ่นเสียงตกร่องๆ ถ้าจิตใจนี่พอมันคิดสิ่งใด ไปเกาะเกี่ยวสิ่งใด อย่างเช่นพอนั่งสมาธิปั๊บกลืนน้ำลายอึก แล้วก็นึกถึงการกลืนน้ำลายนะมันจะมาเรื่อยๆ ตลอดเวลา แต่ถ้าเราไม่กลืนน้ำลายนะมันก็เป็นปกติ ต่อมน้ำลายมันไม่สร้างน้ำออกมาให้มากเราก็ไม่ต้องไปกังวลกับมัน

เวลานั่งสมาธิไป เวลาเหงื่อมันออก นี่เหงื่อออกแล้วเป็นความรู้สึกชัดเจนมาก ชัดเจนมากนี่จิตมันเป็นตัวกระตุ้น พอจิตเป็นตัวกระตุ้น ต่อมเหงื่อมันก็แตกใหญ่เลย แตกใหญ่เลย เราก็รำคาญ รำคาญน่าดูเลย เวลาเลิกภาวนาแล้วทำไมเหงื่อมันไม่มีล่ะ? ก็มันไม่มีความรู้สึกนึกคิดไปกระตุ้นมันไง ถ้าเรารู้ว่าเราไปกระตุ้นมัน เราก็ไม่ต้องไปกระตุ้นมันสิ เรานั่งกำหนดลมหายใจเฉยๆ ถ้าเรากำหนดลมหายใจ กำหนดลมหายใจชัดๆ ไว้

ถ้าเรากำหนดลมหายใจนะ ถ้าเวลาภาวนาเหงื่อมันออกมาก เวลาเลิกแล้วเหงื่อมันไม่ออก นี่เรารู้เราเห็นของเราได้ เวลาภาวนาไป จิตมันไปกระตุ้นโดยที่เราไม่รู้ เราไม่รู้หรอก เราก็บอกเราไม่ได้คิด เราไม่ได้ทำ มันไม่เป็นไปอย่างนั้นทำไมมันถึงออกล่ะ? แล้วเวลามันเลิกทำไมมันไม่ออกล่ะ? พอเลิกแล้วมันไม่ออก เพราะว่าเวลาเรานั่งสมาธิกำหนดลมหายใจใช่ไหมมันสนใจไง

พอเหงื่อออก เพราะจิตใต้สำนึกมันไม่อยากให้ออก อยากนั่งแล้วมีแต่ความสุข ความสบาย นั่งแล้วประสบความสำเร็จ นั่งแล้วไม่มีอุปสรรคใดๆ เลย แต่ก็ไปสนใจตรงเหงื่อออก เพราะเหงื่อนี่เป็นอุปสรรคมันก็เลยสนใจ พอสนใจนั่นคือกระตุ้น พอกระตุ้นเหงื่อมันก็ออก การกลืนน้ำลาย การโยก การคลอน การต่างๆ อันนี้มันเป็นเรื่องปัจจุบันนะ แต่ถ้ามันเป็นอุปาทาน อุปาทานคือความที่มันฝังใจอยู่ คนมีสิ่งใดฝังใจอยู่ ทำอีกครั้งที่ ๒ ก็เป็นอีก ครั้งที่ ๓ ก็เป็นอีก ครั้งที่ ๔ ก็เป็นอีก ยิ่งทำบ่อยครั้งยิ่งเป็นบ่อยครั้ง

กลับมาดูลมหายใจเฉยๆ เหงื่อจะออกหรือไม่ออกมันเรื่องของเหงื่อ ถ้าเหงื่อมันออก เวลาฝนตกตกมากกว่านี้อีก ฝนตกทั่วฟ้า ตกทีหนึ่งน้ำท่วมเลย เหงื่อนี่สู้น้ำท่วมไม่ได้หรอก ถ้าคิดอย่างนั้นปั๊บนะจบเลย เพราะเรื่องเหงื่อเป็นเรื่องของเล็กน้อยมาก พอเล็กน้อยมันไม่สนใจมันก็ปล่อย มันก็จบ จบเห็นไหม เหงื่อก็คือเหงื่อ เหงื่อก็คือน้ำในร่างกาย เวลาจิตไปกระตุ้นแล้วต่อมเหงื่อมันก็ขับออกมา แต่พอเราเลิกแล้วนะ ไม่มีสิ่งใดไปกังวลมันก็ไม่มีสิ่งใด นี่พูดถึงต่อมเหงื่อนะ

ถาม : ๒. เวลานั่งสมาธิไปแล้วไม่ภาวนาพุทโธ ดูลมหายใจมันเย็นไม่มีอะไร จึงมาดูเวทนา รู้สึกว่าสนใจดีกว่าดูความโยกตัว

ตอบ : ถ้าดูลมหายใจ ลมหายใจคืออานาปานสติ พุทโธคือพุทธานุสติ เวลาคิดถึงความตายคือมรณานุสติ คิดถึงอัฐิๆ กระดูกๆ เห็นไหม นี่เราต้องมีสิ่งที่จิตเกาะ ต้องมีคำบริกรรม ถ้าไม่มีคำบริกรรม เหมือนเราทำงาน ทำงานถ้าเรามีพิมพ์เขียว เรามีหลักวิชาการ เราทำสิ่งใดจะประสบความสำเร็จ คือว่าเราเอาหลักวิชาการเป็นตัวเทียบ แต่ถ้าเราทำด้วยความพอใจของเรานะ ไม่มีสิ่งใดมาเทียบเคียงเลย มันเร่ร่อน กำหนดจิตไว้เฉยๆ กำหนดจิตตามความพอใจ เดี๋ยวก็เรียบร้อย มันดีอยู่พักๆ หนึ่ง

เริ่มต้นนี่ดีเพราะอะไร? เพราะมีเจตนาดี เพราะเราทำอะไรเหมือนพิมพ์เขียวใช่ไหม? ทำอะไรผิดเราดูพิมพ์เขียวก็รู้เลยว่า เออ นี่สร้างผิด นี้ทำผิด ต้องแก้ให้ถูกพิมพ์เขียว นี่ก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป ถ้าจิตมันเกาะพุทโธไปให้มันเกาะพุทโธไว้ ถ้าดูลมหายใจก็ดูลมหายใจไปเรื่อยๆ ดูลมหายใจเรื่อยๆ นี่ถ้าลมหายใจนะลมมันจะละเอียด ลมหายใจสักแต่ว่าลมเลย สักแต่ว่า คำว่าสักแต่ว่านะ สักแต่ว่ามันมีอยู่นะไม่ใช่มันไม่มี

นี่ก็เหมือนกัน พอดูลมหายใจปั๊บมันเย็นขึ้นมา ดีขึ้นมาก็ไปดูเวทนา พอดูเวทนามันสนใจมากกว่า คำว่าสนใจมากกว่า สิ่งที่การกระทำ ผู้ที่ปฏิบัตินี่ดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งคือจิตมันขวนขวาย จิตมันอยากได้ มันไม่ออกนอกลู่นอกทางนะ จากทิ้งเหงื่อมาก็มาสู่ลมหายใจ ลมหายใจก็มาดูตัวโยก พอดูตัวโยกมามันก็มากำหนด แต่

ถาม : เวลาเดินจงกรมตามดูลมไม่ได้ ทำไมจะตามไม่ได้

ตอบ : ทำไมจะตามไม่ได้? เวลาเดินจงกรมเท้าก็เดินไปโดยสัญชาตญาณของเท้า ลมก็อยู่ที่ปลายจมูก นี่เดินจงกรมนะ กำหนดพุทโธก็พุทโธได้ กำหนดอะไรก็ได้ นี่นั่งสมาธิ เดินจงกรมเหมือนกัน

ฉะนั้น

ถาม : เวลาเดินจงกรมดูลมไม่ได้ พุทโธก็ไม่ได้

ตอบ : เดินไปนี่พุทโธก็ส่วนพุทโธ ลมก็ส่วนลม เท้าก็ส่วนเท้าทำไมจะไม่ได้ นี่พูดถึงโดยหลักมันได้ แต่เพราะกิเลส เพราะความเคยชินของเรา เราเคยชินอย่างใดเราก็อยากให้ได้อย่างนั้น ถ้าเราเคยชินของเรา เช่นต้องฟังธรรมเพื่อภาวนา ขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้มันเป็นอุบายของผู้ปฏิบัติ คนทำงานนะ เราทำงานอาชีพใดก็แล้วแต่ ขอให้ทำงานเป็นสัมมาอาชีวะ อาชีพนั้นบริสุทธิ์ แล้วได้ผลประโยชน์ตอบแทนมาเป็นอาชีพของเรานั้นถูกต้อง

การภาวนาก็เหมือนกัน พุทโธก็ได้ อานาปานสติก็ได้ มรณานุสติก็ได้ นี่คำว่าสติๆ คำว่าสิ่งที่มีคำบริกรรม จิตมันมีที่เกาะ ที่พัก มันมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ใช่ปล่อยให้มันไหลไป กิเลสพอปล่อย มันไม่มีหลักเกณฑ์นะ เวลากิเลสมันหลับอยู่ กิเลสมันต้องการ มันปล่อยให้เราเป็นอิสระเราก็ว่า แหม ดีมาก ภาวนาดีมาก ทุกอย่างดีไปหมดเลย พอกิเลสมันฟื้นมา กิเลสมันตื่นจากหลับมานี่ขัดข้องไปหมด

แต่ถ้าเรามีคำบริกรรม เรามีมรณานุสติ พุทธานุสติ เรามีลมหายใจเข้า-ออก ถ้ากิเลสมันตื่นมาเราก็มีที่พักไง เวลากิเลสมันตื่นมานะ มันจะเล่นอะไรเราก็ยังมีพี่เลี้ยงอยู่ มีลมให้เกาะ มันจะเบียดมาอย่างไรเราก็มีที่เกาะของเรา มันยังมีที่เราจะสู้มันได้ ถ้าเราสู้มันได้ มันมีหลักมีเกณฑ์มันจะภาวนาต่อเนื่องกันไปได้ เพียงแต่บอกว่าเราใช้ปัญญาของเราขอขมาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ก็ถูกต้อง ก็ใช้ได้ คำว่าใช้ได้นะเราทำประโยชน์กับเรา นี่มันเป็นประโยชน์กับเราทั้งนั้นแหละ

นี่พูดถึงแนวทางในการปฏิบัติ ที่ขณะกำหนดการฝึกอิริยาบถนี่ก็อย่างหนึ่ง อันนี้กำหนดพุทโธ พุทโธ เวทนาก็อย่างหนึ่ง แนวทางในการปฏิบัติ นี่กรรมฐาน ๔๐ ห้อง การทำความสงบ ๔๐ วิธีการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้ในพระไตรปิฎกว่าอะไรก็ได้ เห็นไหม ประกอบสัมมาอาชีวะ ประกอบอาชีพอะไรก็ได้ ขอให้ทำแล้วเราได้ผลตอบแทน ไม่ใช่ประกอบสัมมาอาชีวะแล้วไม่มีเงินมีทอง ทุกข์ยากไปหมดเลย อันนั้นเพราะว่าเราเชื่อผู้นำๆ ผู้นำมีความรู้สึกอย่างไร ผู้นำมีความเห็นอย่างไร อันนั้นเป็นเรื่องของผู้นำ

ถาม : ข้อ ๑๑๔๖. เรื่อง “สิ่งที่ควรระลึกถึงเมื่อลมหายใจสุดท้าย”

ลูกขอถามพระอาจารย์ว่า สิ่งที่ควรระลึกถึงเมื่อลมหายใจสุดท้ายมาถึงคืออะไร?

ตอบ : ลมหายใจสุดท้ายของใคร ถ้าลมหายใจสุดท้ายที่ว่าคนที่เขาจะเสียชีวิต เห็นไหม เขาไปดูใจกันๆ ลมหายใจสุดท้ายอย่างนั้นไหม? นั่นคือเขาตายไป แต่ถ้าพูดถึงลมหายใจสุดท้าย ลมหายใจสุดท้ายของใคร? ถ้าลมหายใจของผู้ปฏิบัติ ลมหายใจสุดท้ายอย่างนั้นหรือ? ถ้าลมหายใจสุดท้ายนะ เวลาเข้าอานาปานสติ เห็นไหม ดูสิเข้าอัปปนาสมาธิ เวลาพุทโธ พุทโธ พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ หรือใช้คำบริกรรม เวลามันเข้าไปนี่มันจะขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ อัปปนาสมาธิหมดเลย ลมหายใจไม่มี ทุกอย่างดับหมด แต่จิตไม่ดับ

นี่ลมหายใจสุดท้ายเวลาเข้าไปถึงอัปปนาสมาธิหมดเลย รวมใหญ่ลงสู่ฐีติจิต ลงสู่จิตเดิมแท้ ไม่มีสิ่งใดๆ เลย แต่ไม่เป็นอะไร นี่เวลามันรู้สึกตัวออกมามันก็คลายออกมา ลมหายใจสุดท้ายอย่างใด? นี่ถ้าลมหายใจสุดท้าย คำว่าสุดท้ายมันมีก่อนสุดท้ายแล้วสุดท้าย นี่เขาถึงบอกว่าลมหายใจสุดท้าย แต่ถ้ามันเป็นอัปปนาสมาธิโดยกำหนดลมหายใจนะ ละเอียดเข้าไปๆ ละเอียดจนเรารู้ไม่ได้ว่าตรงไหนมันสุดท้ายหรือไม่สุดท้าย แต่มันละเอียดเข้าไป ละเอียดเข้าไปจนสักแต่ว่า เพราะมันละเอียดเข้าไป

ถ้าไม่ละเอียดเข้าไป นี่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ มันรู้ลมอยู่ มันเห็นของมันอยู่ มันรับรู้ของมันอยู่ นี่อุปจารสมาธิ แต่ถ้าละเอียดเข้าไปจนเป็นอัปปนานี่สักแต่ว่ามันปล่อยหมดเลย ลมไม่มี ไม่หายใจเลย แล้วเวลาเข้าสมาบัติก็เหมือนกัน ถ้าเข้าสมาบัติ นิโรธสมาบัติ เวลาเข้าไปดับ ๗ วัน ๘ วันเข้าไปอยู่โดยที่นั่งอยู่เฉยๆ ๗ วัน ๘ วัน ไม่มีลม ไม่มีสิ่งใดเลยมันอยู่ได้อย่างไร?

นี่พูดถึงว่าลมหายใจสุดท้าย สุดท้ายอย่างไรล่ะ? สุดท้ายถ้ามันเป็นที่ว่าตัวเองช็อกหลับไปมันก็อีกเรื่องหนึ่ง นี่ลมหายใจสุดท้าย ลมหายใจสุดท้ายของใคร? ลมหายใจสุดท้ายของโลก หรือลมหายใจสุดท้ายของการภาวนา ลมสุดท้ายของผู้ที่ปฏิบัติมันเป็นของมันอย่างใด

ต่อไปข้อ ๑๑๔๗. นะ

ถาม : ๑๑๔๗. เรื่อง “วินัยของสงฆ์”

การที่พระภิกษุวิจารณ์แนวการสอนของพระภิกษุองค์อื่นถือว่าเป็นการผิดวินัยหรือไม่?

ตอบ : การวิจารณ์แนวทางปฏิบัติ คำว่าวิจารณ์แนวทางปฏิบัติ วิจารณ์แนวทางปฏิบัติด้วยอคติ ด้วยความเห็นผิด หรือการวิจารณ์แนวทางปฏิบัติด้วยการกลั่นกรอง ให้ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้รับความถูกต้อง ถ้าเป็นการกลั่นกรองผู้ที่ประพฤติปฏิบัติได้รับความถูกต้อง อันนั้นถูกวินัย ถูกวินัย ธรรมและวินัย ถ้าเป็นธรรม ธรรมก็ต้องมีความเป็นธรรม ถ้าคำว่าผิดวินัยๆ ถ้ามันเป็นอธรรมแล้วยังบอกว่าถูกวินัยอยู่ไหม? ถ้าเป็นอธรรมมันจะถูกวินัยอยู่ไหม?

คำว่าอธรรมคือทำสิ่งนั้นมันไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นความจริงนั่นเป็นอธรรม ถ้าเป็นความจริงมันเป็นธรรมนะ เพราะอะไร? เพราะผู้ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลามาหาครูบาอาจารย์เหมือนเราไปหาหมอ ถ้าเราไปหาหมอ ดูสิในทางการแพทย์ แม้แต่เด็กที่ว่าโรคเท้าเปื่อยๆ พอมีโรคเท้าเปื่อยที่ไหนปั๊บ ทางการแพทย์เขาต้องไปทำความสะอาดในโรงเรียน ในต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กนั้นติดโรคเท้าเปื่อยไป

ทางภาคอีสานนะ เวลาทางภาคอีสานเขาชอบกินพวกลาบ พวกก้อย พวกลาบ พวกก้อยทางการแพทย์เขาบอกเลยนะ ภาคอีสานถ้าใครกินเนื้อดิบๆ มันจะเป็นพยาธิในตับ นี่ไงแล้วถ้าเป็นพยาธิในตับเพราะเหตุใดล่ะ? ก็เพราะการกินอาหารใช่ไหม? นี่การติดเชื้อ ติดเชื้อเพราะอะไร? เพราะมันมีเชื้อใช่ไหม? มันมีไวรัสใช่ไหม? ถ้ามีไวรัสมันติดต่อมันเป็นโรคต่อกันไป

นี่ก็เหมือนกัน แนวทางปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติถูกต้อง แนวทางก็ต้องถูกต้องเหมือนกัน ถ้าพูดถึงแนวทางปฏิบัติ มันก็เหมือนเวลาเกิดเชื้อโรคขึ้นมา นี่เวลาผู้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เขาก็ปฏิบัติขึ้นมาแล้วเขาก็มีอาการของเขา ถ้าอาการของเขา เวลาปฏิบัติแล้วว่างๆ เฉยๆ เขามาถามปัญหา แล้วปัญหามาจากไหนล่ะ? กำหนดอย่างไรล่ะ? ถ้ากำหนดอย่างไร เพราะทำอย่างนั้น เห็นไหม เพราะทำอย่างนั้นผลก็เป็นแบบนี้ไง ถ้าเป็นแบบนี้เราบอกถึงสมุฏฐานของโรค บอกถึงที่มาของโรค บอกถึงแนวทางปฏิบัติ นี่มันฟ้อง

ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ถ้าเหตุมันไม่เป็นจริงขึ้นมา มันก็ฟ้องถึงผลของการปฏิบัติ ถ้าฟ้องการปฏิบัติ ถ้าเป็นทางการแพทย์ ดูทางการแพทย์นะเวลาเราเข้าไปโรงพยาบาล เห็นไหม ถ้าหมอที่ดี เขารักษาไปเขาจะบอกว่าคนนี้มีอาการอย่างนั้น รักษาแล้วมีความถูกต้องของเขา แต่ถ้าทางการแพทย์นะ เวลาถึงที่สุดของเขาไม่มีทางออกใช่ไหม ทนพิษบาดแผลไม่ไหว หัวใจล้มเหลว เวลาเขาตายขึ้นมานะตายเพราะหัวใจล้มเหลว ตายเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว แล้วตายอย่างไรล่ะ? ตายอย่างไร? ทำไมไม่รับผิดชอบล่ะ?

นี่ก็เหมือนกัน แนวทางปฏิบัติที่เขาไม่รับผิดชอบ เวลาเขาสอนไปแล้วเขาไม่รับผิดชอบอะไรเลยใช่ไหม? นี่เวลาบอกว่าตายแล้วทนพิษบาดแผลไม่ไหว เวลาตายไปหัวใจล้มเหลว ไม่รับผิดชอบอะไรเลย นี่แนวทางปฏิบัติสอนๆๆ กันไป แล้วเวลาคนปฏิบัติไปมันไปไม่รอด มันไปไม่ได้ พอมันไปไม่รอด มันไปไม่ได้ มันมาหาเรา ถ้าเราบอกเขาว่าผลการปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ แล้วเขาบอกว่ามันเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร? เพราะเขาเรียนมาจากครูบาอาจารย์ของเขา เขาปฏิบัติมาถูกต้องตามธรรมวินัยทั้งหมด

ถูกต้องตามธรรมวินัยทั้งหมดมันก็ต้องพูดถึงที่มาของโลก มันต้องพูดถึงที่มาของเชื้อโรค ของไวรัสที่มันทำให้เกิดโรคนี้ ถ้าเกิดโรคนี้คือโรคภาวนาว่างๆ ไง ภาวนาแล้วดีไปหมดเลย แล้วดีอย่างไรล่ะ? มันดีอย่างไร? พอบอกว่าดี อ้าว

ถาม : การที่พระภิกษุวิจารณ์แนวทางการสอนของภิกษุองค์อื่นถือว่าผิดวินัยหรือไม่?

ตอบ : แล้วเอ็งว่าผิดหรือเปล่าล่ะ? สอนให้คนหลงทาง ให้คนมีความทุกข์ คนที่แบกทุกข์มาทั้งภูเขา แล้วเราปลดเปลื้องภูเขาออกจากอกเขาผิดวินัยข้อไหน? ผิดวินัยข้อไหน? นี่มันไม่มีทางออกแล้วใช่ไหม? ถ้ามันมีทางออกมันถึงเป็นความจริงของมัน มันเหตุและปัจจัย ถ้าเหตุมันถูก ผลมันต้องเป็นถูกแน่นอน ถ้าผลมันบิดเบี้ยวอย่างนี้ ผลของมันเวลาภาวนามาแล้วมันบิดเบี้ยวอย่างนี้ ถ้าบิดเบี้ยวอย่างนี้แล้วจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร?

คนที่มาหาเขาถามว่าแล้วจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร? พอเดินหน้าต่อไปอย่างไรก็บอกว่าต้องมีการปฏิบัติ ต้องมีคำบริกรรม ต้องทำความสงบของใจเข้ามา อ้าว ก็อาจารย์ก็สอนอย่างนี้ๆ ถ้าสอนอย่างนี้ นี่ไงธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เวลาเหตุ เพราะเขายึดเหตุอย่างนั้น เขายึดเชื้อโรคอย่างนั้น ไวรัสเขาจับแล้ว เด็กนี่เท้า-ปากเปื่อยไปหมดเลย พอเท้า-ปากเปื่อยไปหมดเลย เท้า-ปากเปื่อยมันมาจากไหนล่ะ? มันมาจากไวรัสนั้น แล้วไวรัสนั้นอาจารย์ให้มา ไวรัสนั้นอาจารย์เขาสอนมา

อ้าว แล้วบอกไวรัสมันถูกไหม? เชื้อไวรัสเท้า-ปากเปื่อยมันถูกไหม? มันก็ไม่ถูก อ้าว ถ้ามันถูกทำไมไปล้างมันล่ะ? ไม่ถูกไปทำความสะอาดมันก็.. ปล่อยให้มันระบาดไปทั่วประเทศสิ นี่เชื้อไวรัสนี้ดี เด็กจะได้เป็นเท้า-ปากเปื่อยทั้งประเทศ เพราะพระจะได้ไม่ผิดวินัยสงฆ์ไง เอาอย่างนั้นไหม? ถ้าเอาอย่างนั้นมันก็ไม่ผิดวินัยสงฆ์ กลัวจะผิดวินัยสงฆ์ แล้วปล่อยให้ประชาชนตายไปหมดเลย ตายไปเพราะอะไร? ตายไปเพราะความเล่ห์เหลี่ยม ตายไปเพราะความไม่รับผิดชอบ

ผู้ที่สั่งสอนมาไม่รับผิดชอบ นี่ถ้ามันรับผิดชอบก็ต้องว่ามันสิ มันถูกต้องอย่างไร? มันผิดอย่างไร? ถ้ามันผิดอย่างไรมันต้องแก้ไขตรงนั้นให้มันถูกต้องขึ้นมา นี่มันแก้ไขกันไม่ได้ แก้ไขไม่ได้เพราะไม่รู้ เวลาสิ่งใดเกิดขึ้นมาแล้วนะปัดให้กรรมหมดเลย เพราะเป็นกรรมของเขา กรรมของเขา เวลาทำขึ้นมานี่ไม่รับผิดชอบสิ่งใดเลย ถ้าเป็นความดีนะเป็นของเรา แต่เวลาผู้ปฏิบัติมีปัญหา นั่นเป็นกรรมของเขา นี่มันไม่มีสิ่งใดเป็นความจริงขึ้นมาเลยใช่ไหม? ถ้ามันมีความจริงขึ้นมานะมันต้องพูดได้ ถ้ามันพูดได้นะก็ต้องว่ากันมาตามข้อเท็จจริง

นี่เวลาพูดถึงแนวทางปฏิบัติมันมีมา กรรมฐาน ๔๐ ห้อง ในการประพฤติปฏิบัตินะ ในการปฏิบัติที่มันทำความสงบมา ๔๐ วิธีการ ถ้ามันเป็นจริง เป็นจริงก็คือเป็นจริง เราทำอาชีพกันมาหลากหลายอาชีพที่มานั่งอยู่นี่ แล้วดูสิผลตอบแทนก็เงินในกระเป๋าเหมือนกันหมดเลย แบงก์นี่มันแตกต่างกันตรงไหน? แบงก์ก็คือแบงก์ แต่อาชีพเรามันแตกต่างหลากหลายทั้งนั้นแหละ

ในการปฏิบัติก็ต้องเป็นแบบนั้น มันไม่มีอาชีพเดียวหรอก โลกนี้ไม่มีอาชีพเดียวแล้วก็อยู่กันทั้งโลก ไม่มี ในการปฏิบัติมันก็มีบอก วิธีเดียวไม่มีหรอก มันก็มีแตกต่างหลากหลาย แต่มันถูกหรือผิดไง อาชีพใดก็แล้วแต่เป็นสัมมาอาชีวะ อาชีพอะไรก็ให้มันสะอาดบริสุทธิ์ ไม่ใช่อาชีพใดก็ว่าฉันก็ทำอาชีพนี้เหมือนกัน แต่ฉันคด ฉันโกง เออ ฉันทำความดี ก็ทำอาชีพเดียวกัน อาชีพเดียวกันเท่ากับทำคุณงามความดีมันก็เป็นความดีของเขา เราก็อาชีพเดียวกับเขา แต่เราไปทุจริตแล้วจะเป็นความดีได้อย่างไร?

นี่ก็เหมือนกัน ในการปฏิบัติแนวทางไหน ไปวิจารณ์แนวทางของใคร? มันไม่ได้วิจารณ์แนวทางของใคร แต่ แต่เพราะมันมีเหตุทุกที คนไข้มาหาหมอ แล้วหมอต้องวิเคราะห์โรคไหม? ต้องบอกถึงสมุฏฐานของโรค ที่มาของโรคไหม? ถ้าไม่มีที่มาของโรคจะพูดอย่างไร? แล้วถ้าที่มาของโรค เห็นไหม นี่กิเลส เพราะเขาทิฐิไง เวลามาหานะ อ้าว ก็นี่ตามตำราเปี๊ยะเลย ตำราก็คือตำรา นี่ถ้าทางแผนที่นะ แผนที่ถ้ามันบิดเบี้ยว แผนที่พิกัดมันไม่ถูกต้อง เอ็งหาจนตายก็ไม่เจอหรอก ถ้าตำรามันผิดนะ

ตำราที่เขียนกันมานี่ใครเป็นคนเขียน เวลาดูพระเทศน์ พระองค์ไหนเทศน์ ในวงการใดก็แล้วแต่ ในวงการแพทย์เขาจะรู้เลยว่าแพทย์คนไหนเขามีความสามารถและไม่มีความสามารถ ในวิชาชีพทุกวิชาชีพ เขาจะรู้กันเองในวิชาชีพของเขา พระก็รู้ในแนวปฏิบัติของพระ ถ้าพระมีหลักมีเกณฑ์นะ เว้นไว้แต่ ในวิชาชีพของใครก็แล้วแต่ แต่เขาไม่มีหลักเกณฑ์ของเขา แต่เขาไม่มีโอกาสได้เข้าไปในวิชาชีพนั้น เขาจะไม่มีความรู้จริงของเขา

ฉะนั้น ในวิชาชีพอะไรเขาก็ไม่รู้หรอก เขาไปตามกระแสทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าในวงการใดก็แล้วแต่ ถ้ามีบุคคลที่เขามีความรู้ของเขา เขามีความสะอาดบริสุทธิ์ในใจของเขา เขาจะรู้ว่าอะไรจริง อะไรปลอม แล้วพูดได้หรือพูดไม่ได้ เพราะ เพราะกระแสสังคม กระแสสังคมเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ แต่ความจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความจริงก็คือความจริง กระแสสังคมก็คือกระแสสังคม เพราะสังคม สังคมมันมาจากไหนล่ะ? ก็มาจากมนุษย์รวมกันเป็นสังคมขึ้นมา แล้วกระแสสังคม สังคมนี่เพราะปัญญาอย่างนั้น มันถึงมีความรู้สึกอย่างนั้น

ฉะนั้น เวลาบอกว่าตามตำรา ตามหนังสือเลย หนังสือของใคร? หนังสือของใคร? หนังสือนี่เริ่มตั้งแต่ทางวิชาชีพ เอ่ยชื่อมันก็รู้แล้วว่าใครเป็นใคร นี่เพราะอะไร? เพราะในการปฏิบัติเวลาในมงคลชีวิต ในมงคล ๓๘ ประการ เห็นไหม ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ หลวงตาท่านพูดบ่อยมาก เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านไปเยี่ยมหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านอยู่บนกุฏิ หลวงตาท่านจะคอยมองว่าครูบาอาจารย์องค์ไหนมาเยี่ยมหลวงปู่มั่น ถ้าองค์ไหนมีคุณธรรมท่านจะรีบเข้าไปฟัง เพราะมันจะได้คติไง

เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านมาเยี่ยมหลวงปู่มั่นใช่ไหม บอกว่า

“แหม กลิ่นห๊อม หอม ไม่ใช่หอมธูป หอมเทียน มันหอมสิ่งใด?”

หลวงปู่มั่นบอก “เออ” นี่เวลาพูดไป ผู้รู้กับผู้รู้เขาคุยกัน

ฉะนั้น พอผู้รู้กับผู้รู้คุยกัน นี่เวลาหลวงปู่ฝั้นท่านมากราบหลวงปู่มั่น แล้วท่านมาสนทนาธรรมกัน แล้วหลวงปู่ฝั้นท่านก็กลับ พอหลวงปู่ฝั้นท่านกลับ หลวงตาท่านเป็นพระอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ทีนี้ท่านเป็นผู้น้อย เวลาท่านสนทนาธรรมกันท่านยังมีความรู้อย่างนั้น ท่านยังสงสัยอยู่ ท่านก็ไปถามหลวงปู่มั่นว่า หลวงปู่ฝั้นท่านบอกว่า

“นี่เข้ามาในกุฏิหลวงปู่มั่น กลิ่นห๊อม หอม แต่ไม่ใช่หอมธูป หอมเทียน มันคืออะไร?”

หลวงปู่มั่นท่านก็บอก นี่เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านเห็นของท่าน ผู้ที่มีความรู้กับผู้ที่มีความรู้ หัวใจมันถึงกันมันเห็นไง เพราะหลวงปู่ฝั้นท่านพูดเท่านี้ หลวงปู่มั่นท่านก็รับของท่านเท่านั้น เพราะคนรู้กับคนรู้มันไม่ต้องพูดกันมาก แต่ไอ้คนที่ไม่รู้ ไอ้คนที่ไม่รู้มันได้ยินแล้วมันงง พองงขึ้นมา พอหลวงปู่ฝั้นท่านกลับแล้ว ท่านขึ้นไปถามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็บอก

“ทำไมจะไม่มีล่ะ? เทวดาเต็มไปหมดเลย รุกเขเทวดาเต็มต้นไม้ไปหมดเลย”

เพราะ เพราะเวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์นะ ท่านเทศนาว่าการ เห็นไหม เราเป็นหูมนุษย์เราก็ฟังนะ แต่ที่เป็นทิพย์ล่ะ? เราไม่เห็นหรอก เราไม่เห็นของเรา แต่เขาเห็นของเขา ถ้าเห็นของเขา นี่เพราะว่าเขาก็ต้องการธรรมเหมือนกัน ถ้าต้องการธรรมมันก็เป็นประโยชน์ สิ่งที่ผู้รู้กับผู้รู้เขารู้ทันกัน เขาเห็นกัน ถ้าเขามีความรู้เหมือนกัน ถ้ามีความรู้เหมือนกันมันก็ไม่มีประเด็นให้ต้องบอกว่าเวลาวิจารณ์เขามันผิดอะไร?

ถาม : การที่ภิกษุวิจารณ์แนวทางการสอนของภิกษุองค์อื่นถือว่ามีความผิดวินัยหรือไม่?

ตอบ : ถ้าพูดถึงโดยความสะอาดบริสุทธิ์นะ ความสะอาดบริสุทธิ์ นี่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน มารนิมนต์แล้วนิมนต์อีก ดลใจแล้วดลใจอีก

“มารเอย เมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็งตามความเป็นจริง เข้มแข็งโดยจิตใจที่รู้แจ้งเห็นจริง ถ้าเมื่อใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเรายังไม่เข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วง คือกล่าวแก้พวกธรรมปฏิรูป สิ่งที่ไม่เป็นความจริงในศาสนา เรายังไม่ยอมนิพพาน”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมอยู่ ๔๕ ปีนะ สร้างสมพระอรหันต์ขึ้นมา สร้างสมสิ่งที่เป็นประโยชน์ขึ้นมากับในศาสนา จนมารนิมนต์แล้วนิมนต์อีก ถึงที่สุดองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บอกว่า

“มารเอย บัดนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาของเราเข้มแข็ง สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่างๆ ได้ อีก ๓ เดือนข้างหน้าเราจะนิพพาน”

นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากไว้ให้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่เข้มแข็ง มีความรู้จริงๆ สามารถ แล้วถ้าสามารถถ้ามันคุยกัน ความจริงกับความจริงมันหนีกันไหม? ถ้ามันเป็นความจริงเราจะไปวิจารณ์อะไร? การที่ภิกษุวิจารณ์แนวทางสอนคนอื่นจะวิจารณ์อะไร? แต่นี่มันเป็นเชื้อโรค มันเป็นไวรัส มันเป็นปาก-เท้าเปื่อย แล้วมันระบาดไปหมด แล้วสังคมมันเป็นไปหมด แล้วเราทำความสะอาด เอาเครื่องเล่นเด็ก เอาเครื่องใช้ไม้สอยมาทำความสะอาด ผิดหรือ? ผิดไหม?

นี่เขาถามมา เราพูดโต้ให้คนถามให้ได้คิดไง ถ้าคนถามมันได้คิดนะ สิ่งที่เรารู้ เราเห็น ตั้งสตินะแล้วพิจารณาดูว่าอะไรถูก อะไรผิด วินัยก็คือวินัย วินัยใครก็รู้เวลาบวชพระ ถ้าบวชพระวินัยก็คือวินัย ฉะนั้น ถ้าบอกว่าวิจารณ์คำสอน มันไปวิจารณ์ใคร? ไปวิจารณ์ใคร? โธ่ คนที่เขามีคุณธรรมเขารู้นะ รู้ถูก รู้ผิด แล้วรู้ด้วยว่าพูดออกไปมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ แต่ แต่เวลาที่เขาถามปัญหาขึ้นมาทุกคนจะอ้างอย่างนี้ อ้างว่าทำตามตำรา ทำตามครูบาอาจารย์สอน ก็เอ็งทำตามครูบาอาจารย์สอน เอ็งมาหากูทำไม? มึงมาถามกูทำไม? ก็มึงมาถามกู แล้วกูบอกว่ามึงผิด พอมึงผิดมึงก็บอกว่าอาจารย์มึงสอน พอบอกอาจารย์มึงสอน อ้าว ก็ต้องวิเคราะห์กันว่าอาจารย์มึงสอนถูกหรือสอนผิด แล้วก็บอกว่านี่ไปวิจารณ์แนวการสอนคนอื่น เออ

ถ้าแนวทางของเอ็งถูกต้อง เอ็งจะสร้างศาสนทายาทได้มากมาย ถ้าแนวทางเอ็งถูกต้องดีงาม ศาสนทายาทจะเต็มประเทศไทย ศาสนทายาทจะอยู่ในโลกนี้เต็มไปหมดด้วยคุณงามความดี ด้วยมรรคญาณของผู้ที่สอนถูกต้อง แต่ลูกศิษย์เวลาปฏิบัติไปแล้วมันคา มันตัน มันไปไม่รอด แล้วเขามาหาเรา เขามาหาเรา ฉะนั้น เวลาพูดถึงผลแล้วทุกคนจะอ้างไง นี่ขโมยนะเวลาตำรวจจับมันบอกว่ามันไม่ได้ทำ มันไม่ได้ทำ แล้วใครทำล่ะ? มันโทษคนอื่นหมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เวลามาถามก็คิดว่าตัวเองมีหลักมีเกณฑ์ เวลาพูดธรรมะไปแล้ว อ้าว ก็ทำตามครูบาอาจารย์ แล้วอาจารย์องค์ไหนล่ะ? มันก็ไปนู่น

ฉะนั้น มันสาวไปด้วยเหตุด้วยผลไง ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุนะ มันเป็นเหตุ เป็นปัจจัย มันมีเหตุ มีปัจจัยมามันถึงจะสาวไปถึงต้นเหตุ ถ้าไม่สาวไปถึงต้นเหตุมันแก้ปัญหาไม่ได้ คือมันแก้ปัญหาใจผู้ที่มาถามไม่ได้ เพราะเขาสงสัย เขาก็สงสัยว่าเขาก็ทำตามหลักวิชาการทั้งหมด แล้วมันก็ไปไม่ได้ แล้วมันก็ติด แล้วก็มาถามเรา ทีนี้พออย่างนั้นมันก็ต้องสาวไปถึงต้นเหตุคือหลักวิชาการนั้น วิชาการนั้นมันถูก-ผิดอย่างใด? วิชาการนั้นถูก-ผิดอย่างใด? ทองแท้ ยิ่งเผาไฟมันยิ่งสุก ยิ่งเปล่งปลั่ง นี่ทองแท้ ถ้าวิชาการนั้นมันถูกต้อง ในเมื่อพิสูจน์ตรวจสอบมันก็ยิ่งแวววาว ยิ่งถูกต้อง ยิ่งดีงามไปหมดเลย แล้วเวลาสาวไปนี่ผิดวินัยข้อไหน? ผิดวินัยข้อไหน? เออ มันแปลกนะ โธ่ ให้มันจริงมาเถอะ

ฉะนั้น สิ่งที่พูด นี่เพราะถ้าไม่ตอบเขาก็จะหาว่าไม่จริง เวลาตอบนะ ไอ้กรณีอย่างนี้มันเป็นการที่เราเอาเหตุผลมาโต้แย้งกัน เวลามันจริง หมอเขาจะดูต่อเมื่อรักษาคนไข้ ถ้ารักษาคนไข้หาย หมอรักษาคนไข้แล้วรักษาคนไข้อีก คนไข้เจ็บไข้ได้ป่วยมาหาหมอ หมอรักษาหายตลอดไป นี่ไม่ต้องบอกหรอกว่าหมอคนนี้ดีหรือไม่ดี เกียรติศัพท์ เกียรติคุณเขาจะรู้ของเขาเอง ถ้าหมอคนไหนนะมันรักษาคนไข้ แล้วคนไข้ออกไปง่อยเปลี้ยเสียขาทุกคนเลย หมอคนนั้นมันจะไปรักษาคนไข้ที่ไหน ใครจะให้หมอคนนี้รักษา

นี่มันเป็นที่ตรงนั้น มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่นั่น ฉะนั้น ไอ้วิจารณ์แนวการสอนๆ ถ้าหมอมันรักษาดีมา มันดีมาหมด แล้วถ้าหมอรักษาไม่ดี เห็นไหม นี่ไปหาหมอที่ไหนมา? แล้วหมอก็ต้องมารื้อฟื้น มาแก้ไข มาซ่อมแซม ถ้ามันทำดีมามันเป็นดีอยู่แล้ว ฉะนั้น มันวัดกันที่นั่น มันวัดกันที่ผู้ที่ทำแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผล เว้นไว้แต่ เว้นไว้แต่ผู้ที่ว่าไม่มีวุฒิภาวะ นี่อยู่ในการครอบงำของกระแสก็ไปอยู่อย่างนั้นแหละ แล้วโลกเป็นอย่างนี้ไปหมด เป็นอย่างนี้กันไปหมดเลย แล้วก็อ้างว่าเป็นพุทธๆ นะ อ้างว่าศาสนาพุทธสอนอย่างนี้ ศาสนาพุทธสอนอย่างนี้

ศาสนาพุทธสอนนะ เห็นไหม ศาสนาพุทธสอนถึงความเสมอภาค ศาสนาพุทธสอนถึงความเป็นอิสระ ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้ความเป็นทาส ถ้าความเป็นทาสนะ ต้องเป็นทาส ต้องพยายามครอบงำกัน อย่างนั้นไม่ใช่ ศาสนาพุทธสอนให้เป็นอิสระ เพราะพระอรหันต์แต่ละองค์เป็นอิสระหมด อิสระจากกิเลส ถ้าอิสระอย่างนั้นนั่นเป็นความจริง แล้วถ้าเป็นอิสระแล้วเขาจะเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เขาจะสอนคนอื่นให้เป็นอิสระต่อไป แต่ถ้าองค์ไหนสอนแล้วมีแต่การครอบงำ แล้วต้องบอกว่าเป็นสายบุญสายกรรม ต้องอยู่ในการครอบงำนั้น อันนั้นสอนแบบฟาร์ม แบบฟาร์มที่มันอยู่ในคอก สอนแบบนั้น ถ้าอย่างนั้น นี่พิสูจน์กันอย่างนั้นสิ ถ้าพิสูจน์กันอย่างนั้นมันจะจบอย่างนั้น ถ้าจบอย่างนั้นมันคือจบกันไป

ฉะนั้น

ถาม : ข้อ ๑๑๔๗. วินัยสงฆ์เป็นอย่างใด?

ตอบ : วินัยสงฆ์ ธรรมและวินัยนะ ถ้าธรรมและวินัย นี่เราอยู่ในป่า ในเขานะ เวลาคนที่อยู่ในป่า ในเขา แล้วป่าเขาที่เขาว่าที่แรง ถ้าที่แรงนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านจะขึ้นไปที่ถ้ำสาริกา พอไปถึงที่ถ้ำสาริกา ชาวบ้านบอกอย่าขึ้นไปเลย อย่าขึ้นไปเลย เพราะเคยมีพระมาตายที่นี่หลายองค์แล้ว หลวงปู่มั่นบอกว่าขอให้ไปดูก่อนเถอะ จะอยู่หรือไม่อยู่แล้วขอพิสูจน์อีกทีหนึ่ง พอขึ้นไปถึงถ้ำสาริกาท่านดูแล้วมันเป็นที่วิเวก ที่สงัดดีท่านขออยู่ที่นั่น เห็นไหม แล้วท่านภาวนาที่นั่น

พอภาวนาที่นั่นท่านมีโรคประจำตัวอยู่ เคยกินยาทีไรก็หายทุกที แต่สุดท้ายกินยาแล้วก็ไม่หาย กินยาไม่หายท่านทิ้งยาหมดเลยแล้วท่านพิจารณาของท่านเอง พิจารณาของท่าน รักษาใจของท่าน แล้วท่านพิจารณาว่า พระที่อยู่ที่นั่นทำไมถึงตาย นี่มันอยู่ในประวัติหลวงปู่มั่นนะว่าพระที่มาอยู่นี่ทำไมถึงตาย เพราะที่ถ้ำสาริกาเมื่อก่อนมันห่างไกลจากหมู่บ้านมาก มันต้องบิณฑบาตไกล พระที่บิณฑบาตมาแล้ว บิณฑบาตมาฉันอาหารวันนี้ แล้วของที่เก็บได้เก็บไว้กินวันรุ่งขึ้น นี่เขาเรียกว่าสันนิธิ เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ นี่เพราะเหตุนี้เจ็บไข้ได้ป่วยจนตาย

เวลาหลวงปู่มั่นไปนะ หลวงปู่มั่นไปมันก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน นี่เวลาภาวนาไปๆ ท่านเป็นโรคท้องร่วง มีโรคประจำตัว เคยกินยาต้มแล้วมันหาย คราวนั้นไม่หาย พอไม่หายท่านทิ้งเลย กินหม้อนี้เป็นหม้อสุดท้าย ถ้าไม่หายทิ้งเลย แล้วท่านก็ภาวนาของท่าน ท่านภาวนาท่านพิจารณาของท่านไป นี่พิจารณาจนจิตมันรวมลง เห็นไหม รวมลงเห็นเจ้าที่เจ้าทางยืนอยู่เลยนะ พอยืนอยู่จะเข้ามาทำร้ายท่าน ท่านเทศนาว่าการนะ เทศน์ว่า “ท่านมีอำนาจขนาดไหน? ท่านไม่ตายหรือ? ท่านก็ต้องตายทั้งนั้นล่ะ” พอเทศน์ธรรมะให้เขาฟัง เขาสลดใจนะเขาก้มลงกราบเลย แล้วเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น

นี่เวลาที่มันแรงๆ เรื่องนี้ เรื่องการภาวนาจริงหรือไม่จริงมันจะพิสูจน์กันที่นั่น เรื่องวินัยๆ วินัยเวลาเข้าป่าไปแล้วมันจะพิสูจน์กันว่าถ้าวินัยไม่จริงนะ พอเข้าป่าที่มันที่แรงๆ หรือเข้าป่าไป เวลาครูบาอาจารย์ของเราไปอยู่ในป่านะ เสือตัวใหญ่ๆ เสือตัวเท่ารถสิบล้อนี่เขาเรียกเสือเทพ ถ้าเสือปกตินะอย่างมากมันก็ ๔-๕ ศอกเท่านั้นล่ะ ถ้าเสือใหญ่ๆ นี่เสือเทพทั้งนั้นแหละ นั่นน่ะมันจะพิสูจน์กันที่นั่น

ไอ้ธรรมวินัยๆ อย่าพูดกันที่นี่ ธรรมวินัยเวลาเป็นความจริงมันจะรู้ของมันจริง ไอ้นี่อ้างธรรมวินัย อ้างธรรมวินัยมันอยู่ในเมืองกันไง อ้างธรรมวินัยแล้วเอาสิ่งนี้มาหากินกันไง แล้วก็บอกว่า “การที่ภิกษุวิจารณ์แนวการสอนของภิกษุองค์อื่นจะผิดวินัยข้อไหน?” เอวัง