เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะ เห็นไหม สุภาษิตเขาว่า “หวานเป็นลม ขมเป็นยา” สิ่งที่หวานเป็นลม ของหวาน ของต่างๆ มันให้โทษกับร่างกายก็ได้ เป็นอาหารก็ได้ แต่ของขมเป็นยา สิ่งที่เป็นยานะ ในปัจจุบันนี้เขาว่ากินอาหารเป็นยา สิ่งที่เรากินเป็นอาหารเราให้มันเป็นยา เป็นยาหมายถึงว่ามันมีคุณประโยชน์กับร่างกายนี้ไง หวานเป็นลม ขมเป็นยา

เวลาหัวใจของเรานะเราเลือกแต่สิ่งที่เราพอใจ เราเลือกสิ่งที่ใครพูดแล้วหวานหู นี่โลกธรรม ๘ สรรเสริญชอบนัก นินทานี่ปฏิเสธ คำว่านินทานะ คำว่านินทานั่นคือไม่มีเหตุมีผล แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเหตุมีผล ถ้ามีเหตุมีผลเราจะเลือกเชื่อถือไหม? ถ้าเราจะเลือกเชื่อถือนะ เราเลือกประพฤติปฏิบัติ เราต้องคัดแยกเอา

ถ้าเราคัดแยกเอา หวานเป็นลม ขมเป็นยา ทางการแพทย์ สิ่งใดถ้ามันขมเกินไปเขาจะผสมให้มันพอจะกินได้ ทางโลก เห็นไหม สิ่งที่เราพอใจเราก็ชอบปรารถนา ถ้าสิ่งใดที่เราไม่พอใจ เราก็คัดเลือกเอามันก็เป็นสีเทาๆ ในปัจจุบันนี้ออกสีเทาๆ หมด จะถูกก็ไม่ใช่ จะผิดก็ไม่เชิง จะประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมคืออะไร? ธรรมคืออะไร? เรามาปฏิบัติกัน เรามาปฏิบัติ มาวัดมาวานี่มาปฏิบัติกัน

หลวงปู่ฝั้นท่านบอกมาวัดมาวัดใจ ข้อวัตรปฏิบัติไงมาวัดหัวใจของเรา แต่พอเจอข้อวัตรปฏิบัตินี่ล้มลุกคลุกคลานหมดเลย ถ้าข้อวัตรปฏิบัตินั่นน่ะมันเป็นระเบียบ กฎระเบียบของคน คนจะเป็นคนดีเขามีกฎมีระเบียบของเขา แต่ถ้าคนไม่เอาไหนมันทำอะไรตามแต่ความพอใจของมัน ระรานเขาไปทั่ว แล้วว่าสิ่งนี้เป็นธรรมไง เพราะมันไม่ยึดติดไง ปล่อยวางหมด ไม่ยึดติดใดๆ เลย ถ้าไม่ยึดติดทำไมไปกวนคนอื่นล่ะ? ไม่ยึดติดทำไมไปเบียดเบียนคนอื่นล่ะ? นี่ไม่ยึดติดเพราะเราพอใจ แต่ถ้าเขามากวนเราบ้าง เขามาทำให้เราเดือดร้อนบ้าง ไม่พอใจ ไม่พอใจเลย

นี่อย่างนี้เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะมันพอใจ แต่ถ้ามันเป็นความจริงล่ะ? ความจริง เห็นไหม เราไม่ชอบสิ่งใด คนอื่นก็ไม่ชอบสิ่งนั้นเหมือนกัน มนุษย์เกิดมาปรารถนาความสุข เกลียดความทุกข์ แต่มนุษย์เกิดมานะ กว่าจะลอดจากช่องแคบนั้นออกมาถึงได้มีชีวิตมา เกิดมาตายในครรภ์ก็มี คลอดออกมาตายก็มี คลอดออกมาแล้วกว่าจะโตขึ้นมา

มนุษย์เกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข แต่ไม่รู้หรอกว่าชีวิตนี้มันจะได้มาด้วยความทุกข์ยากขนาดไหน? กว่าจะลอดช่องแคบนั้นมา เกือบเป็นเกือบตายถึงได้มานั่งกันอยู่นี่ไง เกือบเป็นเกือบตายถึงได้ชีวิตนี้มา ทั้งๆ ที่สร้างบุญกุศลมานะ เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นมนุษย์สมบัติ เป็นอริยทรัพย์ เพราะความเป็นมนุษย์นี้หาได้ยากมาก แต่หาได้ยากมากทำไมคนมันเกิดมามากมายมหาศาลขนาดนี้?

จิตยังมีอีกมากมายนะที่อยากเกิด ถ้าเกิดไม่ได้สมความปรารถนาก็เป็นสัมภเวสี สัมภเวสีคือแสวงหาที่เกิดไป ทุกข์ๆ ยากๆ ไป ถึงเวลาก็ต้องการบุญกุศลจากคนที่อุทิศส่วนกุศลมาให้ เพราะทำสิ่งใดไม่ได้ แต่เราเกิดเป็นมนุษย์นี่ทำดีก็ได้ ทำชั่วก็ได้ แต่มันจะเลือกเทาๆ เลือกสิ่งเทาๆ ที่มันพอใจ แต่ถ้ามันจะคัดแยกกัน เห็นไหม คนเราต้องมีกฎระเบียบ

ถ้ามีกฎระเบียบ นี่เวลาเราพูดกันทางโลก วัดเป็นศูนย์รวมทุกๆ อย่าง แต่ถ้าเวลาประพฤติปฏิบัติ เราจะเข้าป่าเข้าเขาของเราไป วัดไม่เหมือนบ้าน บ้านไม่เหมือนวัด บ้าน บ้านคือสังคม คือครอบครัวของเรา วัด วัดคือการวัดใจ ข้อวัตรปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นวัดในสังคม วัดที่เป็นศูนย์รวม นั้นโลกเป็นใหญ่ โลกเป็นใหญ่คือสังคมเป็นใหญ่ มนุษย์เป็นใหญ่ แต่ถ้าเป็นวัดธรรมและวินัยเป็นใหญ่ ธรรมวินัยเป็นใหญ่คือข้อวัตรปฏิบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเชิดชูพระนะ ถ้าพระไปองค์เดียวไปแบบนอแรด เวลาไปองค์เดียวนี่ไปแบบนอแรด ไปคนเดียวนี่สุดยอดที่สุด เวลาออกธุดงค์ เวลาสุดยอดที่สุดเวลามีเพื่อนมีฝูงเราก็อบอุ่นหัวใจ อยู่ยังไงก็มีความสุขได้ ไปอยู่คนเดียวก็เหงาก็หงอย เวลาคนไปอยู่ในที่มืดคนก็กลัวผี เวลาพระองค์เดียวไปเที่ยวป่าช้า ไปอยู่ในป่าในเขา นี่ในป่าในเขาเราจะไม่รู้สิ่งใดเลยว่ามันจะเกิดสิ่งใดขึ้นต่อหน้าเรา สัตว์ร้ายต่างๆ มันจะมีมารบกวนเราไหม? แล้วภูต ผี ปิศาจ สิ่งที่เราว่าไม่มี จิตไม่มีๆ ไง แต่เวลาไปทำไมมันกลัวล่ะ?

นี่ไปแบบนอแรด ไปแบบนอแรดเพราะมันต้องเป็นที่พึ่งของตัวเองให้ได้ ถ้าเรามั่นคงในศีลของเรา ศีลเราสะอาดบริสุทธิ์ ถ้าศีลเราสะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดจะมาทำอะไรเราได้ สีเลนะสุคะติง ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา ศีลมีโภคทรัพย์ นี่มีโภคทรัพย์ ศีลถึงที่สุดแห่งทุกข์ เวลาศีลถึงนิพพานได้ถ้าเราทำของเรา ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ของเรา ถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์ของเรา เราอยู่ในป่าในเขาเรามั่นใจของเรา ถ้าเรามั่นใจของเรานะ เวลามันเกิดความกลัวขึ้นมา ความกลัว กลัวในอะไร? กลัวนี่เห็นไหม หวานเป็นลม ขมเป็นยาไง กลัวในสิ่งที่เราไม่ชอบไง

ถ้ามันอยู่ในสังคม อยู่ในหมู่ชน เราก็ปลื้มใจ มีความอบอุ่น ไปอยู่คนเดียวมันไม่ชอบใจ ไม่ชอบสิ่งใดเลย นี่ไม่มีสิ่งใดที่เป็นความสะดวกสบายเลย ไม่มีสิ่งใดที่เราต้องการปรารถนาเลย มีแต่ความไม่ต้องการทั้งนั้นเลย มันก็มีความกลัว ความวิตกกังวลขึ้นมา ถ้าความกลัวเราพยายามกำหนดพุทโธ พุทโธ เพราะมันไม่มีที่พึ่งแล้ว ถ้าเราอยู่ในกลุ่มชน เราอยู่ในสังคมนี่นอนสบายเลย พอเจ็บไข้ได้ป่วย เดี๋ยวกดปุ่มรถพยาบาลมารับเลย แต่อยู่ในป่าในเขานะ ถ้าเสือมันมาคาบหัวไปมันก็เอาไปกิน

ถ้าอยู่สิ่งใดนะ เราอยู่คนเดียวมันจะไปไหนล่ะ? มันมีแต่ป่ามันจะวิ่งหนีไปไหน? มันไปไหนไม่รอดหรอก พอมันไม่มีทางไปมันไม่มีที่พึ่ง พอไม่มีที่พึ่งต้องมาแสวงหาที่พึ่งของมัน ถ้ามันแสวงหาที่พึ่งของมันนะมันระลึกถึงพุทโธไง พุทโธนี่ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธานุสติไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่พึ่งอาศัยแล้ว จนตรอกแล้ว จะเป็นจะตายอยู่แล้วเราจะไปพึ่งใคร? ก็ต้องพุทโธ พุทโธ พุทโธ

แต่นี่มันไม่คิดแล้ว มันไม่คิดไปนอกเรื่องนอกราว มันไม่คิดไปตามประสามัน แต่ถ้าอยู่ในสังคมนะ แหม พรุ่งนี้จะไปนั่น พรุ่งนี้จะไปนี่ โอ๋ย มันคิดไปร้อยแปดเลย แต่มันไม่คิดในปัจจุบันไง แต่พอมันไปอยู่ในสิ่งที่มันไม่พอใจ สิ่งที่มันกลัว สิ่งที่มันไม่ต้องการ มันคิดอย่างอื่นไปไม่ได้ พอคิดอย่างอื่นไม่ได้ กลัวจนขนหัวลุกนะ เพราะมันเป็นความมืด พอมันคิดว่ามีผี ผีก็ตัวใหญ่ขึ้น มันบอกผีกำลังจะรัดคอมันแล้ว

นี่พอความคิดมันจินตนาการ กิเลสมันร้ายนัก มันจินตนาการไปเรื่อย ผี ๕ ตัว ๑๐ ตัวมันกำลังจะเอาพระองค์นี้ ผี ๕ ตัว ๑๐ ตัวมันจะเอาผู้ที่ปฏิบัตินี้ ผู้ที่ปฏิบัตินี้เป็นคนที่ไม่เอาไหน นี่ความคิดมันจะคิดไปเรื่อยแล้ว เราไม่มีที่พึ่ง เราต้องเอาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พุทธานุสติ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธมันไม่คิดสิ่งใด มันหาที่พึ่งเพราะมันกลัว มันไปไหนไม่รอดมันต้องหาที่พึ่ง พอหาที่พึ่งของมันนะ ถ้าจิตมันเข้ามาพุทโธ พุทโธ จนพุทโธเป็นตัวมันเอง แล้วถ้ามันลง เวลามันลงนะ มันอัปปนาสมาธินี่สว่างหมดเลย แล้วไปกลัวอะไร?

อยู่ในที่มืด อยู่ในที่วิตกกังวล อยู่ในที่ทุกข์ยากแสนยาก อยู่ในที่ที่ไม่มีสิ่งใดเป็นที่พึ่งเลย เวลาจิตมันลงขึ้นมานะมันสว่างไสวไปหมด ถ้าสว่าง ถ้ามันไม่สว่าง เวลามันสงบลงแล้วมันก็สงบลงเฉยๆ สงบลง สงบลงโดยที่ว่าไม่มีสิ่งใดจะมาทำร้ายจิตดวงนี้ได้เลย ไม่มีสิ่งใดจะมารังแก มาทำลายจิตดวงที่อยู่ในหัวใจเรานี้ได้เลย เพราะมันอาจหาญ มันอาจหาญในตัวของมัน มันรู้จักในตัวของมัน เพราะ เพราะมันไม่มีความฟุ้งซ่าน ไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีการจินตนาการมาหลอกลวงมัน แต่ถ้ามันไม่สงบนะมันมีความจินตนาการ ผีตัวใหญ่ๆ เสือตัวใหญ่จะมาคาบหัว มันจินตนาการ มันหลอกตัวมันเองจนมันทุกข์ยากไปหมด

นี่หวานเป็นลม ขมเป็นยา ขมไง คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เราเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ถ้าเราเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ถ้าจิตมันเจอกับความเป็นจริงแล้ว นี่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เห็นไหม ถ้าตนมันเข้ามาสู่ความสงบระงับถึงใจของมัน ใจที่มันเป็นนามธรรมนี่ใครมันจะมากิน ผีที่ไหนมันจะมาเอา ใครจะมาทำมันได้ ถ้ามันเป็นจริงของมันขึ้นมา

นี่สิ่งที่เป็นความทุกข์ความยาก เห็นไหม ไปแบบนอแรด เราไปแล้วเราก็ทุกข์เราก็ยากของเรา แล้วเราก็บอกว่าเราก็ไปแล้ว เราก็ประพฤติปฏิบัติมาแล้วทำไมมันไม่เป็นสักที? ทำไมมันไม่รวมสักที? ไม่รวมสักที คนเรานี่กิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลาง กิเลสอย่างละเอียด บางคนกิเลสมันก็หยาบมาก บางคนกิเลสก็ปานกลาง บางคนกิเลสมันก็เบาบาง

การประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นลงทุนด้วยเท่ากัน แต่การปฏิบัติมันไม่เหมือนกัน บางคนก็ลงได้ บางคนลงไม่ได้ ลงไม่ได้ก็ต้องครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ หรือต้องทำให้มันมากกว่านี้ เพราะเราทำเวรทำกรรมมาแบบนี้ คนเราสร้างเวรสร้างกรรมมาแตกต่างกัน โอกาสและจังหวะของคนก็แตกต่างกัน จิตที่มันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา คราวนี้สงบ ทำไมคราวหน้าปฏิบัติมันไม่สงบ? มันสงบแล้ว พอกิเลสมันรู้เท่ารู้ทันแล้ว มันก็หาเล่ห์หาเหลี่ยม หาสิ่งที่มาหลอกลวงเรา

ปฏิบัติครั้งแรกแบบเราไม่รู้สิ่งใดเลย เราไปเจอสิ่งใดเราก็เจอตามความเป็นจริง แต่เรารู้แล้ว เราจินตนาการได้เลยว่าเราเข้าไปเจอสิ่งนั้นๆ พอมันจินตนาการ นั่นแหละตัณหาซ้อนตัณหา แล้วมันจะไม่ได้อะไรเลย พอมันไม่ได้สิ่งใดเลย มันทำสิ่งใดแล้วมันทุกข์มันยากของมัน สุดท้ายแล้วนะมันบอก เออ ทำมาจนสุดกำลังแล้ว มันไม่ได้อะไรเลยก็วางซะเถอะ ก็ทำของเราไปตามข้อเท็จจริง พอมันหมดจินตนาการ หมดตัณหาซ้อนตัณหานะ มันมีตัณหาคือความอยากได้จิตใต้สำนึก แต่เรากำหนดพุทโธ พุทโธไว้ พอมันถึงที่สุดนะมันก็เป็นอีก มันก็ลงอีก มันก็เป็นอีก

มันเป็นไปได้ แต่เพราะเราหลอกตัวเองกันไง เห็นแล้วก็อยากได้ ถ้าเห็นแล้ว นี่สิ่งที่เห็น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สิ่งที่มันเป็นๆ ขึ้นมาเพราะเรามีสติ มีปัญญา เราพุทโธของเรา แล้วพุทธานุสติกับจิตมันเป็นอันเดียวกันโดยสัจจะโดยข้อเท็จจริงของมัน มันเป็นแบบวิทยาศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริงของมัน มันก็ลงของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่เคยลงแล้วเราก็คิดคาดหมาย คาดหวัง พอคาดหมายคาดหวัง เห็นไหม มันไม่เป็นตามความเป็นจริงของมัน มันจะเป็นความจริงของมันก็คาดไปก่อน คือถลำไปก่อน มันก็ไม่เป็นความจริง แล้วก็ทุกข์ แล้วก็ยาก แล้วก็ลำบากลำบน แล้วก็จับไม่ได้สักที

นี่การปฏิบัติมันเป็นแบบนี้ มันจะต้องมีประสบการณ์ ต้องมีการกระทำให้มันเป็นความจริงของมันขึ้นมา ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา เห็นไหม หวานเป็นลม ขมเป็นยา สิ่งที่เป็นสิ่งที่หอมหวาน เขาบอกว่าทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ ทำสิ่งใดมันก็ได้มาง่ายดาย ความได้มานี่หวานเป็นลม หวานเป็นลม สิ่งที่มันเคยเป็นไปได้เพราะอะไร? เพราะสิ่งนี้เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันมีธรรมวินัยอยู่แล้วใครก็คาดจินตนาการสิ่งนั้นได้ หวานเป็นลม ขมเป็นยา

นี่ขมเป็นยา สิ่งที่เราจะรักษาหัวใจของเรา เราจะมีสติปัญญาของเรา เราจะกระทำของเรา นี่ความที่กระทำ มันลงทุนลงแรงมันลำบากไหม? มันมีการกระทำไหม? มันหวานชื่นจริงไหม? การปฏิบัตินั่งแล้วมันจะรื่นเริง นั่งแล้วมันจะเป็นไปได้ เดินจงกรมแล้วสิ่งที่มีผลประโยชน์มันจะตกมาใส่เราเลย มันจะเป็นไปได้ไหม?

นี่ขมเป็นยา เราทำของเรา เราต้องการข้อเท็จจริงของเรา เราอยากได้สิ่งที่เป็นความจริงของเรา ถ้าความเป็นจริงของเรา เห็นไหม ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองตามข้อเท็จจริง แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมไว้สิ่งใด ถ้าเราทำความเป็นจริงของเราขึ้นมาแล้วนี่เหมือนกันๆ รู้ทันหมด รู้เหมือนกัน นี่การปฏิบัติมันถึงทันกันได้ เห็นไหม เราทำหน้าที่การงาน การศึกษานี่เราทันกันได้ ถึงเวลาเราปฏิบัติก็ทันกันได้ เราปฏิบัติของเราด้วยความวิริยะ ด้วยความอุตสาหะ

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “มนุษย์จะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร”

ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะในการกระทำ เพียร เพียรของร่างกาย ร่างกายก็ทำหน้าที่การงานของเรา เพียรของใจ เวลาปัญญามันหมุน ความเพียร เห็นไหม นี่ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ ความมีเชาวน์ปัญญา ไม่เชื่อสิ่งใดง่ายๆ ต้องตรวจสอบ จิตสงบแล้ว ถ้าสงบแล้วก็มีความสุข ความสงบระงับใช้ปัญญาไป พอใช้ปัญญาไปแล้วมันก็จะเป็นสัญญา คือเป็นข้อมูล เป็นความจำ เป็นสิ่งที่มันไม่เป็นตามข้อเท็จจริง เราต้องกลับมาทำความสงบอีก เราพิสูจน์ เราตรวจสอบของเรา

นี่เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา มันจะเข้าใจสิ่งใดๆ โดยแบบว่าเราจะไม่หลงไปอีกแล้ว เราจะไม่เชื่อสิ่งใดๆ อีกแล้ว เราจะรู้เท่าความจริงอีกแล้ว เวลามันเกิดปัญญานะ เวลาจิตมันเสื่อมมันไปไหนไม่รอดเลย ไอ้ที่ปัญญาๆ ที่มันมีปัญญาขึ้นมา ที่เราเข้าใจทุกๆ อย่างหมด มันหายไปไหนหมดไม่รู้ ทำไมมันไปไหนไม่รอดเลย ทำไมหัวคิดสิ่งใดก็ไม่ออก ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ ทำไมมันเป็นแบบนี้? การปฏิบัติมันมีเจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ ระหว่างที่เราก้าวเดิน ระหว่างที่มีการกระทำมันจะมีที่ว่าถ้าเป็นธรรม นี่เก้าอี้ดนตรีบนหัวใจ

ถ้าเป็นธรรมก็มีความปลอดโปร่งรื่นเริงนัก ถ้าเป็นกิเลส กิเลสมันนั่ง มีแต่ความอึดอัดขัดข้องไปทุกๆ อย่างเลย เห็นไหม เก้าอี้ดนตรี ระหว่างธรรมกับกิเลสมันแย่งกันนั่งบนหัวใจของเรา แล้วเราก็ต้องประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้ามันเป็นธรรมนั่งจนถึงที่สุด ครอบงำเป็นธรรมธาตุ เป็นสัจจะความจริง กิเลสจะขึ้นมาไม่ได้อีกเลย กิเลสจะไม่มีที่นั่ง กิเลสจะไม่มีที่อยู่ กิเลสจะไม่มีที่อยู่บนหัวใจของใจดวงนั้น แต่มีอยู่ในดวงใจของทุกๆ ดวง

ดวงใจดวงอื่นมีกิเลสหมด เพราะเราเกิดจากอวิชชา เราเกิดจากความไม่รู้ เราเกิดจากช่องแคบ พ้นจากช่องแคบนั้นมา แล้วมานั่งอยู่เป็นมนุษย์นี้ แล้วเรายังต้องเกิดซ้ำเกิดซาก เกิดเป็นโอปปาติกะเกิดแล้วโตเป็นผู้ใหญ่เลย เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์ เกิดเป็นนรก ก็โอปปาติกะเหมือนกัน กำเนิด ๔ ของจิตนี้ จิตจะเวียนตายเวียนเกิดไปทั้งหมด ถ้าเราชำระล้างด้วยสิ่งที่เป็นของขม สิ่งที่เป็นยา สิ่งที่เป็นความเพียร สิ่งที่เป็นความวิริยะ เป็นความอุตสาหะ มีการกระทำของเรา

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีโอกาสคัดเลือก เรามีโอกาสทำ เราจะเลือกสิ่งใด เรื่องโลกกับธรรม ความจริงกับความจอมปลอม ใจของเราสุขกับทุกข์ เราเลือกของเราเอง เราทำของเราเอง แล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา ดอกบัวจะบานอยู่ท่ามกลางหัวใจของสัตว์โลก ดอกบัวมันจะบานอยู่ท่ามกลางของหัวใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เรามีหัวใจของเราอยู่ แต่เราไม่ปลูกหน่อของพุทธะ เราไม่ปลูกหน่อของปัญญาขึ้นมาในใจของเรา เราจะมีสิ่งใดเป็นที่พึ่งของเรา

ทำบุญกุศลนี้เป็นอามิส เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อความสะดวกความสบายใจ แต่การชำระกิเลสต้องเป็นมรรคญาณ เป็นปัญญาพร้อมกับสมาธิที่จะชำระกิเลสในหัวใจเท่านั้น เรามีชีวิตอยู่ มีโอกาสอยู่ควรขวนขวาย ถ้าตายแล้วไปเกิดสถานะใหม่มันจะรู้จักอย่างนี้ไหม? มันจะคิดสิ่งนี้ได้ไหม? ถ้ามีอำนาจวาสนาสิ่งนี้จะตามหัวใจของเราไป ทำเพื่อใจของเรา เอวัง