เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๙ ก.ย. ๒๕๕๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ในเรื่องโลกนะ เรื่องโลก แต่เราเกิดมาในโลก เราเกิดมานี่เกิดมาจากพ่อจากแม่ก็เป็นโลก เราเกิดมาจากโลก เราอยู่กับโลก แต่ในโลกนี้นะเวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ในบรรดาสัตว์สองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด” เพราะมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมา เวลาเทศนาว่าการมา ได้พระอัญญาโกณฑัญญะเป็นสงฆ์องค์แรกของโลก

เราชาวพุทธถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นแก้วสารพัดนึก เป็นที่พึ่งที่อาศัย ถ้าแก้วสารพัดนึกนะ เรานึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยนี้ไว้ เวลาเราศึกษานะเราศึกษาโดยโลกไง ถ้าศึกษาโดยโลก เห็นไหม เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ในบรรดาสัตว์สองเท้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด”

ประเสริฐที่ไหนล่ะ? ประเสริฐที่ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองสัตว์โลกอยากรื้อสัตว์ขนสัตว์ แต่เวลารื้อสัตว์ขนสัตว์ทำไมท้อใจล่ะ? จนพรหมต้องมานิมนต์ แล้วเวลามองไป สิ่งใดที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ได้ ก็จะรื้อแต่พวกที่มีอำนาจวาสนา ผู้ที่เขาสร้างบุญบารมีของเขามา แต่ผู้ที่ไม่ได้สร้างอำนาจวาสนามา ไปบอกเขานี่เขาไม่เชื่อไม่ฟังหรอก ไม่เชื่อไม่ฟังขึ้นมาเขาเพ่งโทษขึ้นมาอีกด้วย ถ้าเขาเพ่งโทษเอา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่พูด ไม่พูดไม่กล่าวกับผู้ที่เขาจะเพ่งโทษ นี่เขาบอกว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เสมอภาค องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ต้องขนไปให้หมด รื้อสัตว์ขนสัตว์แล้วถ้าพูดไปต้องคนเข้าใจด้วย

นี่คิดประสาโลกไง เราเกิดมาในโลกนะเราก็เป็นโลก เราเกิดมาโดยอวิชชา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ สร้างอำนาจวาสนามาขนาดนั้นยังละล้าละลังนะ ไปเห็นคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย มันจะเป็นอย่างไรได้? มันจะเป็นอย่างไรได้? นี่เกิดมาโดยอวิชชา เราเกิดมานี่เหมือนเจ้าชายสิทธัตถะเกิด แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป นี่ท่านเข้าใจเรื่องโลกๆ หมดไง แต่พวกเราไม่เข้าใจเรื่องโลก ศึกษาธรรมวินัยมาต้องเสมอภาค สิทธิมนุษยชนต้องเสมอภาค รัฐธรรมนูญถึงเขียนไว้ว่า สิทธิความเป็นมนุษย์ ทุกคนเป็นมนุษย์มีความเสมอภาคกัน

เราเสมอภาคกันนะ คนที่เป็นธรรมนะ เราเห็นมนุษย์ เห็นคน เรามีความเอื้ออาทรไหม? เราสงสารเขาไหม? เราสงสารเขา แต่เราจะไปช่วยเหลือเขาได้อย่างไรล่ะ ก็เขาไม่ฟังเรา เขาไม่ฟังเรา เขาไม่สนใจเลย เขาเอาแต่ใจของเขา เขาเอาแต่ความพอใจของเขา เขาเอาแต่ทิฏฐิมานะของเขา เขาดิ้นรนไปตามของเขา แล้วก็บอกว่าเขาทุกข์ เขาทุกข์นะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกนะ ในกาลครั้งหนึ่ง มีบุคคลผู้ฉลาดได้ทิ้งดุ้นไฟนั้นไปแล้ว นี่ความร้อนก็หายไป แต่พวกเราชาวโลกถือดุ้นไฟไปคนละดุ้น แล้วก็บ่นกันว่าร้อน ร้อน ร้อน...แล้วร้อนเอ็งกอดไว้ทำไมล่ะ? แล้วร้อนทำไมเอ็งทิ้งไม่ได้ล่ะ? ถ้าร้อนเอ็งทิ้งไม่ได้ แล้วทิ้งอย่างไรล่ะ? ถ้าทิ้งแบบโลกทิ้งไม่ได้ เห็นไหม เขียนเป็นรัฐธรรมนูญเลยนะ นี่สิทธิความเป็นมนุษย์ต้องมีความเสมอภาคกัน แล้วเสมอภาคจริงไหมล่ะ?

มันเสมอภาค ความเป็นมนุษย์มันเสมอภาค เรามองทางโลกก็ช่วยเหลือเจือจานกันไป ผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็มีเบี้ยยังชีพ คนทุกข์คนยากเขาก็มีสถานสงเคราะห์ นี่ก็พยายามจะทำให้ดีที่สุด แต่มันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรม มันไม่มีใครพอใจหรอก ทุกคนขัดข้องในหัวใจทั้งนั้นแหละ แล้วขัดข้องในหัวใจแล้วมันจะแก้กันที่ไหนล่ะ? นี่เราเป็นชาวพุทธ เรานับถือพุทธศาสนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มันไม่มีสิ่งใดแก้ไขหัวใจของใครได้หรอก ถ้าไม่มีธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราไม่เอาธรรมนี้มาชำระล้างใจเรา

นี่ว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญาๆ ปัญญาอะไรล่ะ? ปัญญายิ่งคิดยิ่งเบียดเบียน ยิ่งบีบบี้สีไฟในหัวใจ ปัญญาอย่างนี้ทำไมทุกข์ยากขนาดนี้ล่ะ? ปัญญาทำไมละล้าละลังขนาดนี้? ปัญญาทำไมมันเดือดร้อนขนาดนี้? นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญามันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเราทำความสงบของใจให้ได้ก่อน เรามีสติมีปัญญาของเรา เราทำความสงบของใจให้ได้ก่อน ถ้าปัญญาของกิเลส ปัญญาของอวิชชา ปัญญาของความเป็นโลกๆ อย่างนี้มันก็แผดเผาเราอยู่ขณะนี้

นี่เวลาเราพูดถึง เวลานิพพานเป็นความเสมอภาค ภราดรภาพ เราก็อยากให้ถึงที่สุดอย่างนั้น เวลาเขาพูดกันนะ สมัยเราอยู่ในป่า พวกสหายเขาบอกเลย คอมมิวนิสต์คนแรกคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงความเสมอภาค เขาบอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคอมมิวนิสต์องค์แรก เราบอกว่าเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นไปไม่ได้ ความเสมอภาค นี่นิ้วของคนยังไม่เท่ากัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ ท่านรู้ ท่านรู้ถึงว่าความเสมอภาคมันเสมอภาค

เราเกิดมานี่ผลของวัฏฏะ ด้วยเวรด้วยกรรม เราเกิดมาเป็นมนุษย์เรามีเวรมีกรรมกันมา เป็นมนุษย์ด้วยความเสมอภาคแบบนี้ แต่ถ้าใครมีวิชชา อวิชชา เห็นไหม ใครมีอวิชชา ใครมีวิชชามันแตกต่างกัน ถ้าเป็นอวิชชาความไม่รู้ของเรา เราก็ดิ้นรนของเรากันไปเพื่อความสงบ เพื่อความเป็นจริงของเรา เราก็คิดของเราไป แล้วไม่มีอะไรจริงสักอย่าง ตะครุบเงาแล้วมีแต่ความเร่าร้อนทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าความเร่าร้อน เห็นไหม เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระโมคคัลลานะบอกว่า

“โมคคัลลานะ เธอจะไปติเรื่องกาม กามคุณ ๕ เธอติอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเราตถาคตก็เกิดจากกาม”

เราเกิดจากพ่อจากแม่กันทั้งนั้นแหละ เกิดมาด้วยความไม่รู้ทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าความไม่รู้เราต้องมีความตั้งมั่นก่อน เราทำความสงบของใจก่อน ถ้าใจมันสงบ เวลามันเกิดปัญญาขึ้นมานะตื่นเต้น ทั้งตื่นเต้น ทั้งขนพองสยองเกล้า ทั้งมีอำนาจกดความไม่รู้ไว้ ทั้งมีกำลังที่กดอวิชชาไว้ มีกำลังกดสิ่งที่มันบีบบี้สีไฟไง เวลาคิดโดยโลกๆ นะคิดจนสมองแตก คิดจนเดือดร้อนไปทั้งหมดเลย ทำไมมันไม่เข้าใจล่ะ?

พอจิตมันสงบนะ พอมันมีปัญญาขึ้นมามันเห็นของมัน โอ้โฮ มันปล่อยวางหมด มันร่มเย็นเป็นสุขไปหมดเลย แล้วมันแตกต่างกันอย่างไรล่ะ? ทำไมมันเป็นอย่างนี้ล่ะ? แล้วพอเป็นอย่างนี้ นี่มันชอบใจ พอใจ อยากได้อีก พอปฏิบัติอีกๆ มันก็ไม่ได้ มันไม่ได้เพราะจิตมันไม่สงบ เห็นไหม จิตสงบกับจิตไม่สงบ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินี่ข้อเท็จจริงมันจะฟ้องในหัวใจเลย ถ้ามันฟ้องในหัวใจ เราถึงต้องทำความสงบของใจ เพื่อเวลาเกิดปัญญาเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่บอกว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา

ศาสนาแห่งปัญญาคือปัญญาที่จิตมันสงบ จิตที่ไม่เป็นโลก จิตที่มันไม่เอาสิ่งที่มันเคยชินมา สิ่งที่เป็นพันธุกรรมของมัน สิ่งที่เป็นความพอใจของมันมาอ้างอิง ทุกคน ทุกความรู้สึกนึกคิดก็บอกตัวเองคิดถูกหมดแหละ ทุกคนจะไม่บอกว่าตัวเองผิดเลย ทุกคนว่าตัวเองคิดถูกหมดเลย แล้วคิดถูกทำไมมันไม่แก้กิเลสล่ะ? มันคิดถูกโดยอวิชชาไง คิดถูกโดยความไม่รู้ของเราเองไง แต่ถ้ามันสงบไปแล้วนะ จิตสงบเข้าไปมันไม่มีสิ่งเร้า มันไม่มีตัวอวิชชา ไม่มีตัณหาคอยกระตุ้น ถ้าไม่คอยกระตุ้น ถ้ามันจะเกิดขึ้นมามันก็ต้องเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาจะเกิดจากการภาวนา

พอปัญญามันเกิดจากภาวนานะ มันเห็นตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์นะ นี่มันสลัดทิ้งหมดเลย พอมันสลัดทิ้งหมดเลยมันก็แช่มชื่นหัวใจนะ โอ้โฮ ทำไมมันมหัศจรรย์ขนาดนี้? แล้วก็อยากได้ พออยากได้นะ อยากได้ก็ตะครุบเงา อยากตะครุบเงา อยากจะปีนภูเขาเพื่อจะเอามันให้ได้ ไม่ได้หรอก ไม่ได้ ต้องกลับมาที่ใจ กลับมาที่ความสงบของเรานี่แหละ ถ้าไม่กลับมาที่ความสงบนะ หลวงปู่มั่นท่านได้สั่งได้เสียหลวงตาท่านไว้นะ บอกว่า

“ถ้าไม่มีครูไม่มีอาจารย์ ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย”

ในการปฏิบัติให้อยู่กับผู้รู้ คือหัวใจของเรา อยู่กับความรู้สึกนึกคิดอันนี้ อย่าปล่อยให้ไปอยู่ที่สัญญาอารมณ์ อยู่ที่นิมิต อยู่ที่มันสร้างขึ้นมา อยู่ที่ความรู้ที่มันหลอกขึ้นมา อย่าตามมันไป อย่าตามมันไป...กลับมาที่ผู้รู้ กลับมาที่ผู้รู้ ถ้ากลับมาที่ผู้รู้ สิ่งที่มันจะเร้า สิ่งที่มันพยายามจะจูงเราไปนะมันไปไม่ได้หรอก เพราะเราไม่ตามมันไป เห็นไหม ถ้าไม่มีครูมีอาจารย์ให้อยู่กับผู้รู้ ให้อยู่กับพุทโธจะไม่เสีย ถ้าทิ้งผู้รู้ ทิ้งผู้รู้มันก็ไปตามเงาไง ตามสิ่งที่มันรู้สึกนึกคิดนั้นไง พอมันตามสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดนั้นไปมันก็ไปไง ถ้ามันไปแล้ว แล้วก็บอกภาวนาแล้วทำไมมันเหนื่อยขนาดนี้ล่ะ? ภาวนาแล้วทำไมมันเป็นแบบนี้ล่ะ? ก็ภาวนาด้วยความไม่รู้ไง

นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา แต่ปัญญามันต้องเป็นปัญญาโดยอริยสัจ ปัญญาโดยข้อเท็จจริงอันนั้น ถ้าปัญญาข้อเท็จจริงอันนั้นนะมันจะเข้ามาๆ มาเห็นตามความเป็นจริงของเรา ถ้าเป็นความจริงของเรา สิ่งนี้ เห็นไหม ความเสมอภาค ความเป็นมนุษย์ นี่ความเสมอภาค สิทธิความเป็นมนุษย์ ถ้าสิทธิความเป็นมนุษย์เราให้ความเสมอภาค เรามีความเมตตาทั้งนั้นแหละ เราเข้าใจทั้งนั้นแหละ เพราะทุกคนเกลียดความทุกข์ปรารถนาความสุข แต่คนมันไม่รู้ว่าอะไรคือความสุขจริงของมัน ถ้ามันไม่รู้ความสุขจริงของมันนะมันก็อยากได้

ดูสิไปถามหาความสุขของคนสิว่าอะไรเป็นความสุขของเขาล่ะ? มันก็บ้าห้าร้อยจำพวกไง ใครชอบสิ่งใดก็ว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข ใครต้องการสิ่งใด ปรารถนาสิ่งใด มันก็ว่าสิ่งนั้นมันก็เป็นความสุข แล้วพอมันได้มามันสุขจริงไหมล่ะ? มันได้มาแล้วนะมันก็อยากได้อีก พอมันได้มานะ พอมันคุ้นชินแล้วมันก็อยากได้อีก อยากได้ของใหม่ มันไม่เป็นความสุขจริง มันไม่มีหรอก ถ้ามันไม่มีหรอก มันไม่มี แต่เพราะความที่ว่ามันมีตัณหาคือความต้องการอย่างนั้น มันก็ว่าได้สิ่งนั้นแล้วมันจะเป็นความดีของมัน เป็นความดีของมัน มันไม่ใช่หรอก

ถ้ามันไม่ใช่นะ เวลามาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา นี่ถ้าเราเสียสละได้มากเท่าไหร่ เราเสียสละคือเราละได้เท่าไหร่ เราละความขุ่นข้องหมองใจเราเท่าไหร่ นั้นคือผลของการปฏิบัติ เราละความยึดมั่นถือมั่น เวลาภาวนาไปนะ เห็นจริงไหม? จริง แต่ความเห็นนั้นเป็นจริงไหม? ไม่จริง เห็นจริงๆ นี่แหละ เวลาภาวนานะไปเห็นนี่เราเห็นด้วยตา เห็นด้วยใจนี่แหละ ไม่จริงหรอก ไม่จริงเพราะอะไร? เพราะใจมันยังไม่จริง ถ้าใจยังไม่จริงนะ สิ่งที่เห็นนั้นจริงไหม? จริง แต่ความเห็นนั้นจริงหรือเปล่า? ไม่จริง

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเชื่อเราไง เราเชื่อเรา เราไม่เสียสละ เราไม่ละไว้ก่อน เราเชื่อไปเราก็ตะครุบเงาไป แล้วมันจริงไหมล่ะ? มันจริงไหมล่ะ? มันไม่จริงสักอย่างหนึ่ง แต่เห็นจริงไหม? จริง เห็นเพราะอะไร? เห็นเพราะสัญชาตญาณของมนุษย์ การเกิดเป็นมนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ การเกิดเป็นเทวดามีขันธ์ ๔ การเกิดของพรหมมีขันธ์เดียว ผัสสะเท่านั้น สถานะของมนุษย์มันก็มีสัญชาตญาณ มีความรู้สึกนึกคิดแบบนี้

ถ้าความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ เห็นไหม มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ แล้วมันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นไปตามความเป็นมนุษย์ แล้วเวลาเราปฏิบัติขึ้นไปแล้ว นี่มนุษย์เหมือนกัน แต่เวลามันถอดมันถอนของมัน ถ้ามันถอดมันถอนของมัน ทำไมเทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์หลวงปู่มั่นล่ะ? ทำไมเทวดา อินทร์ พรหมต้องมาฟังเทศน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าล่ะ?

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นมนุษย์ แล้วมนุษย์สอนเทวดา มนุษย์สอนผู้ไม่รู้ โดยจิตเขาไม่รู้ เพราะมันเป็นผลของวัฏฏะใช่ไหม? เกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม มันก็ปุถุชนทั้งนั้นแหละ มันไม่รู้เรื่องหัวใจของตัวหรอก แต่เราเกิดเป็นมนุษย์ในปัจจุบันนี้ แต่เพราะเราพบพุทธศาสนา พุทธศาสนานี่ ถ้าเราจะทำบุญทำทานกันก็เพื่อเป็นผลของอามิส เป็นพาหะ เป็นบุญกุศลที่พาเกิดในวัฏฏะ ถ้าใครมีจิตใจที่เข้มแข็งขึ้นมา เราก็จะภาวนาของเรา ถ้าเราภาวนาของเรา เห็นไหม เราจะรื้อเราจะถอน

ใจก็เหมือนกัน ตัวจิตตัวนี้ตัวเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์นรกอเวจีก็จิตดวงนี้แหละ แล้วจิตดวงนี้เวลามันประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันเข้ามาชำระล้างของมัน นี่พรหมก็มีจิตดวงนี้ เทวดาก็มีจิตดวงนี้ นี่ไปเกิดสถานะไหน แล้วเราชำระจิตของเรา จิตที่มันเป็นกลางที่หมุนไปในวัฏฏะนี้ แล้วในจิตที่เป็นวัฏฏะนี้เรามาแก้ไขของเรา แล้วเทวดา อินทร์ พรหม เขาก็มีจิตเหมือนกัน แต่เขามีจิตของเขาเขามาฟังใคร? เขามาถามใคร? เขามาถามผู้รู้ไง เขามาถามผู้รู้ แล้วผู้รู้มันอยู่ที่ไหนล่ะ?

ผู้รู้ถ้ามันมีอวิชชาครอบงำมันอยู่ มันก็เป็นอวิชชาครอบงำอยู่ มันก็ไหลตามมันไปไง แต่ถ้าผู้รู้ที่มันกระจ่างแจ้งขึ้นมาล่ะ? ผู้รู้ที่มันเปิดหัวใจของมันล่ะ? แล้วมันเปิดอย่างไรล่ะ? เห็นไหม มันเปิดเพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ไป พระอัญญาโกณฑัญญะเห็นตาม เห็นเป็นจริงขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มันเป็นความรำพึงที่มีความพอใจมาก เหมือนอาจารย์ที่สอนลูกศิษย์ แล้วลูกศิษย์นั้นมีความรู้ขึ้นมา อาจารย์จะมีความภูมิใจแค่ไหน? อาจารย์จะมีความปลื้มใจแค่ไหน?

เวลาค้นคว้ามาแทบเป็นแทบตาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารื้อค้นมาแทบเป็นแทบตาย “แล้วจะสอนใครได้หนอ? สอนใครได้หนอ?” พอสอนไปนี่พระอัญญาโกณฑัญญะรู้องค์แรก มันเป็นผลสำเร็จไง มันเป็นผลสำเร็จที่ทำมาแล้วมันได้ผลมาไง นี่ “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” มีพยานแล้ว มีคนรู้แล้ว แล้วความรู้อันนั้นมันเกิดที่ไหนล่ะ? เกิดที่เรานี่ไง เกิดในหัวใจของเรานี่แหละ เราไม่สบประมาทใคร

การเกิดเป็นมนุษย์เกิดโดยกรรมดี การเกิดเป็นมนุษย์เป็นอริยทรัพย์ แต่เกิดเป็นมนุษย์แล้วเราทุกข์ไหม? เราเดือดร้อนไหม? เราข้องใจไหม? แต่เราเดือดร้อนขนาดไหน สถานะความเป็นมนุษย์นี้มันก็มีหัวใจอยู่ในหัวอกเรานี่ไง หัวใจนี้ นี่เชาวน์ปัญญา เห็นไหม เขาบอกการศึกษาด้วยสมองนั้นเป็นการศึกษาทางโลก แต่ปฏิภาณไหวพริบนี้มันอยู่ที่เวรที่กรรม ปฏิภาณไหวพริบ ถ้าเรานั่งสมาธิ เราพุทโธ พุทโธ มันจะทำให้เราเกิดปฏิภาณไหวพริบ เราจะไม่เป็นเหยื่อของสิบแปดมงกุฎ เราจะไม่เป็นเหยื่อในตัวของเราเอง

ถ้าเราไม่เป็นเหยื่อในตัวของเราเอง ถ้าเราทำใจของเรา ใจที่ในวัฏฏะนี้ ทุกสถานะที่เกิดมีใจทั้งหมด แล้วใจดวงนี้อยู่กับเรา เราเกิดมานี่มีธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษานี่เป็นโลกๆ ศึกษาโดยโลกแล้วอย่าเชื่อ วางไว้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดเอง กาลามสูตรไม่ให้เชื่อแม้แต่อาจารย์สอน ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น ไม่ให้เชื่อ ศึกษาเป็นแนวทาง ศึกษาเป็นร่องรอยที่เราจะทำ แต่ไม่ให้เชื่อ แล้วทำขึ้นมา พอทำขึ้นมานะ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ เห็นไหม อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ นี่รู้จริง ถ้ารู้จริงแล้วหมดปัญหานะ ถ้าไม่รู้จริงมันจะมีปัญหาไปตลอด แล้วมีปัญหาไปเพราะความไม่รู้ของเรานี่แหละมันทำให้เราล้มลุกคลุกคลาน

ฉะนั้น ถ้าเราเสียสละทานก็เป็นเรื่องของทาน ถ้าเรารักษาศีลก็เป็นเรื่องของศีล ถ้าเราภาวนาขึ้นมามันเป็นเรื่องของปัญญา ภาวนามยปัญญาจะแก้ไขใจของเรา เห็นไหม เราเกิดเป็นชาวพุทธ เราเรียกร้องสิทธิความเสมอภาค เราเรียกร้องความเป็นธรรม แต่เราไม่เห็นเลยว่ากิเลส มารในหัวใจของเรา กับธรรมะที่เราสร้างขึ้นมา มันต่อสู้แข่งขันกันในหัวใจของเรา ถ้าเราเรียกร้องความเป็นธรรม เราต้องให้ใจเราเป็นธรรม ให้ธรรมในหัวใจเรามันข่มขี่กิเลส ข่มขี่มาร แล้วทำลายมารในหัวใจขึ้นมา ให้มันเป็นธรรมจริงขึ้นมาสิ

ความยุติธรรมมันจะเกิดที่หัวใจของเรา ถ้าความยุติธรรมมันเกิดที่นี่แล้วเราจะไม่เรียกร้องหาใครเลย เพราะใจเราเป็นธรรม ใจเป็นธรรมเราจะเข้าใจหมด เราจะรู้หมด จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง ใจดวงหนึ่งได้แก้ไขแล้ว ใจดวงหนึ่งได้รู้แจ้งแล้ว มันมีเทคนิคจะสอนใจดวงต่อๆ ไปที่จะให้เข้าถึงใจของเขา อย่าเชื่อใครทั้งสิ้น ให้เชื่อปัจจัตตัง สันทิฏฐิโกในหัวใจของเราที่มันทุกข์ มันยากอยู่นี่ แล้วถ้ามันทำจริงขึ้นมาแล้วมันจะเป็นความจริงขึ้นมา อริยสัจมีหนึ่งเดียวเท่านั้น เอวัง